ญาติผู้น้อยผู้นี้ของผู้เขียน
เขาเป็นคนยุคใหม่ เขามีทั้ง roots และมีทั้ง wings
มีปีกที่จะโผผินบินไป
และมีรากเหง้าที่จะกลับมาลงหลักปักฐานได้ สำหรับคนรุ่นก่อนคือรุ่นบรรพชน
ในครั้งกระโน้นการคมนาคมและการสื่อสารไม่ได้สะดวกทั่วถึงอย่างทุกวันนี้
ท่านไม่มีทางเลือก บินไปแล้วไปเลย ยากที่จะหวนคืนกลับมา ผู้ใหญ่ผู้มีอุปการะคุณต่อผู้เขียน(ลุง)
ท่านจากอำเภอหลังสวนไปไหนต่อไหน จะไม่เล่าให้ยืดยาว แล้วในที่สุดท่านก็ไปลงที่กรุงเทพฯ
ในตำแหน่งสรรพากรจังหวัดพระนครในสมัยก่อน ซึ่งสมัยนี้ตำแหน่งที่ว่านี้ถูกยุบเลิกเปลี่ยนแปลงไปนานแล้ว
ท่านเล่าให้ฟังว่า
ซื้อที่สวนไว้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งใจว่าเมื่อเกษียณอายุ ก็จะกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่นั่น
เพราะแรกมาอยู่กรุงเทพฯ ไม่รู้จักใคร ไร้ญาติขาดมิตร แต่ครั้นอยู่กรุงเทพฯนานปีเข้า
ก็รู้จักคนมากขึ้นรวมทั้งข้าราชการจากทางใต้ที่เคยรู้จักกัน
ก็ย้ายเข้ามารับตำแหน่งที่สูงขึ้นในกรุงเทพฯหลายคน บางคนก็ดองกัน
ชีวิตในกรุงเทพฯก็อุ่นอกอุ่นใจขึ้น ครั้นถึงเวลาเกษียณอายุจริง ๆ ก็ปรากฏว่าท่านยังได้ทำงานด้านการเงินต่อไปอีก
ในองค์กรกึ่งเอกชน โอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตบ้านสวนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเช่นที่หวัง
ก็ริบหรี่ลงเพราะอายุมีแต่จะมากขึ้น หยั่งรากลงที่กรุงเทพฯลึกขึ้น จนในที่สุดท่านก็ขายที่ขายทางในจังหวัดสุราษฎร์ธานีทิ้งไป
พลิกไปซื้อที่ติดทะเลในจังหวัดระยอง ซึ่งมีหลาย ๆ อย่างคล้ายทางภาคใต้ เช่น
ลูกเนียง สะตอ ก็มีกิน เป็นต้น แต่พระอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นตรงเด้ะทางทิศตะวันออก จากทะเล
ญาติรุ่นหลังผู้จากไปของผู้เขียนนั้น
ผู้เขียนรู้สึกลึกซึ้งในทาง “ชีวิตจิตใจ”
ว่า เขาจากไปเพราะเขาไม่อยากจะอยู่แล้ว.....
ทั้ง
ๆ ที่ดูภายนอก ชีวิตหน้าที่การงานกำลังก้าวหน้า
มีความหวังว่าจะได้เลื่อนยศสูงขึ้นอีก เป็นระดับนายพันตำรวจในเร็ว ๆ นี้ แต่สำหรับภายในจิตใจ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเขากำลังแบกภาระอะไร
หนักอึ้ง อยู่ในอกบ้าง เด็กชนบทคนหนึ่ง จากในโหมง ที่ต้องไปเติบใหญ่ปรับตัวเข้ากับชีวิตคนเมืองใหญ่
และเข้ากับระบบราชการ - ที่ลอกเลียนมาจากอังกฤษ เป็นระบบที่อังกฤษใช้บริหารกิจการในจักรวรรดิ์อังกฤษทั่วโลก(เป็นผลสำเร็จพอสมควร
นับว่าน่าทึ่งอยู่) ผู้เขียนเคยมีชีวิตกับระบบราชการเพียงชั่วครู่ พอรู้ตัวว่าเราคงปรับตัวเข้ากับพวกเขา(หมายถึง
ระบบ)ไม่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ดีนะครับ ปัญหาอยู่ที่ตัวเราเองต่างหาก จึงได้โบกมือลาออกมา
- รู้ตัวเองว่าตัวเราคงเข้ากับสภาพนั้นยาก เราก็ควรจากไปเสีย ความผิดเป็นของเราเอง
คนอื่น ๆ ที่เขาอยู่ได้และอยู่ดีมีสุข มีออกถมถืดไป
เพราะฉะนั้น
ในประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่มีประสบการณ์ ที่จะแนะนำต่อญาติรุ่นหลังผู้นี้ แต่คนใกล้ชิดกันเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังแว่ว
ๆ ว่า ถึงจุดหนึ่ง ญาติผู้ละสังขารไปแล้วนั้น ก็มีความคิดอยู่ว่า ตนจะลาออกจากงานมากินอิสระ
- เมื่อถึงจุดที่คิดว่าพอแล้ว แต่ประเด็นนี้เขาไม่เคยเล่าให้ผู้เขียนฟัง
สิ่งที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังบ่อย
จากปากเขาเอง ผ่านการโทรศัพท์มาคุยครั้งละนานนับชั่วโมง ล้วนเป็นปัญหาภายในครอบครัว
– หมายถึงเครือญาติสนิท ไม่ใช่ครอบครัวเฉพาะผัวเมีย คำว่าครอบครัวในความหมายชนบทไทย ไม่ได้ใช้ในความหมายอเมริกันว่า
ผัว-เมีย-ลูก เท่านั้น แต่กว้างออกไป ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า เขาหนักอึ้งเรื่องนี้
คือกินความรวมถึงพ่อแม่พี่น้อง ซึ่งคงจะเล่าเกินไปกว่านี้ไม่ได้
ความหนักอึ้งดังกล่าวนั้น
ผู้เขียนเห็นใจ เพราะรู้เห็นและประจักษ์อยู่แก่ตาและใจตนเอง
ภาษาฝรั่งเศสมีสำนวนอยู่สำนวนหนึ่ง
เป็นวลีสั้น ๆ ประกอบด้วยคำกิริยา + บุรพบท คือสำนวนว่า faire
avec คือเป็นสภาพที่ต้องยอมรับ
ซึ่งแฝงความหมายของ การยอมจำนน ปนอยู่ด้วย พูดเป็นคำไทยโบราณว่า กลืนไม่เข้า
คายไม่ออก
ถ้าเขาประสบสภาพดังกล่าวจริง(อาจจะไม่จริงก็ได้
ใครจะรู้) ก็ต้องถือว่าเป็นที่สุดแห่งความยากลำบาก คนอื่นอาจมีความสามารถพิเศษทนทาน หรือจัดการ กับสภาพนั้นได้
แต่ผู้เขียนคนหนึ่งละ ที่ไร้ความสามารถเรื่องนี้ แล้วในชีวิตใช่ว่าจะไม่เคยพบพาน
การแก้ปัญหาพวกนี้แต่ละเรื่องของผู้เขียน สร้างความเสียหายมาก เช่น
ความเสียหายทางการเงิน เป็นต้น ไม่นับเรื่องชีวิตจิตใจที่จะต้องปรับปรุงกันใหม่ คือ
จะต้องมี mind set อย่างใหม่ในแต่ละครั้งที่แก้ปัญหาชีวิต
ผู้เขียนเดาว่า
เขาคงไม่สามารถออกไปพ้นสภาพนั้น(ถ้านั่น คือปัญหา)
ขออภัยท่านผู้อ่านที่พูดจา(เขียน)เป็นนามธรรมไปหมด ไม่ระบุรูปธรรมออกมาให้ชัดเจน
ทั้งนี้ด้วยความเคารพต่อคนตาย ที่จริงท่านผู้อ่านผู้มีประสบการณ์คงจะนึกเดาได้ไม่ผิด
ว่าเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสจริง
ชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์(--มองในแง่มุมหนึ่ง)
ชีวิตใครชีวิตมัน พ่อแม่-ลูกหลานจะมา “มีชีวิต” แทนเราไม่ได้
เราต้องมีชีวิตของเราเอาเอง เหมือนกับว่าไม่มีใครจะหายใจให้เราได้นั่นเอง
อีกประการหนึ่ง
ชีวิตคนวัยทำงานสมัยนี้ที่สื่อสารถึงกันหมดทั้งโลก ด้วยข้อความส่วนมากร้าย ๆ ทั้งนั้น
ไม่ใช่เรื่องดี ๆ ชีวิตจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่สักแต่ว่ามีเงินแล้วจะบันดาลได้ไปเสียหมด
คนมีเงินจำนวนมากแพ้ภัยตัวเอง ซึ่งแต่ก่อนคงจะมีแต่คนจน เช่น ผู้เขียน เป็นต้น
เท่านั้น ที่จะถูกปัญหาท่วมท้นกระทบจนสำลัก แต่เศรษฐีที่แพ้ภัยตัวเอง
มีตัวอย่างให้เราเห็นมิใช่น้อย ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารถึงกันเยี่ยงนี้
ทำให้นึกถึงคำสอนคำเตือน
ของ มหาเศรษฐีจากงานเขียน มหาเศรษฐีจากงานเขียน J.K. Rowlingลิงก์ผู้ประพันธ์หนังสือ แฮรี ปอตเตอร์
ที่เธอเตือนไว้ในข้อ 7 ว่า “ชีวิตเป็นเรื่องยาก” ความโดยละเอียดว่า
คุณสมบัตินานาประการของเราก็ดี
หรือแผ่นประวัติบุคคล(CV)ที่รวมประวัติการศึกษา
ทักษะ ความสามารถ และหน้าที่การงาน ของเราก็ดี
เหล่านี้ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ชีวิตที่มีความสุข แต่มีคนหลายคน ทั้งที่เป็นคนรุ่นเดียวกับเธอและสูงวัยกว่าเธอ
ต่างพากันนึกว่า ซีวี(CV) คือ ชีวิต
เธอกล่าวว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ยาก
และเป็นเรื่องซับซ้อน
ชีวิตอยู่นอกเหนือการกำกับควบคุมของเจ้าของชีวิต
การที่เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รับรู้และคารวะต่อความจริงข้อนี้
จะช่วยให้เราเอาตัวรอด สามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการในชีวิตจนผ่านพ้นไปได้
ความยากลำบากในการประคองชีวิตในยุคสมัยนี้
ซึ่งเป็นยุค frenetic world ผู้เขียนเห็นใจญาติมิตรทุกคน
เพราะประสบอยู่กับตัวเอง ที่ต้องระดมสรรพกำลังมาสู้เพื่อความอยู่รอดในแง่มุมนี้ ไม่ได้อวดดี
นะ – แต่ทักษะความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ(อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน
และภาษาตะวันออกบางภาษา อีกเล็กน้อย) บวกกับแง่ดีของการสื่อสารที่ถึงกันทั่วโลก ได้ช่วยประคับประคองให้ผู้เขียนยังพอเอาตัวรอดมาได้ถึงบัดนี้
ด้วยการเคาะหาครูผู้รู้มาสั่งสอนเตือนตน – นั่นคือความเป็นไปเท่าที่ได้เป็นมา.....
แต่ความเป็นไปในอนาคต เป็นสิ่งที่ “บ่แน่ดอกนาย” ซึ่งผู้เขียนก็ยอมรับต่อข้อความจริง
อันเป็นอนิจจัง ข้อนี้
ก็ขอให้เขาประสบแต่ความสุข
ในสัมปรายภพเทอญ วันหนึ่งข้างหน้า
เราทุกคนก็จะตามเขาเช่นเดียวกัน -- นี่พูด(เขียน)ไปตามความจริง
ไม่ได้เขียนเอาใจใคร ไม่ว่าจะคนเป็นหรือคนตาย
เดฟ นาพญา
บ้านนาพญา
อำเภอหลังสวน
จังหวัดชุมพร
ประเทศ – ไทย
ดาว – โลก
ระบบดาว – สุริยจักรวาล
กาแลกซี - ทางช้างเผือก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น