open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

VillageLife อาทิตย์อัสดง - บทกวีของ ชาร์ลส์ โบเดแลร์ ตอนท้ายเล่าประสบการณ์ พาเพื่อน ไปซื้อของที่ฝรั่งเศส


เป็นครั้งแรกที่พบบทกวีประกอบวีดีทัศน์ที่น่าสนใจฟังและชม บทกวีนั้นดีอยู่แล้ว แต่การสร้างวีดีโอประกอบบทกวี หรือประกอบเพลง ส่วนมากห่วยแตก ดูแล้วเสียอารมณ์ ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่เอง เพราะคนเล่นเรื่องนี้ไม่ใช่มืออาชีพเหมือนพวกถ่ายหนังโป้ ซะเมื่อไหร่  นั่นเขาอยู่ในธุรกิจพันล้านหมื่นล้าน แต่วีดีโอประกอบบทกวี มือสมัครเล่นเขาทำกัน เพื่อความบันเทิงตัวเอง มิตรสหาย และคนคอเดียวกันในโลกอินเตอร์เนต รางวัลตอบแทนคงมีแต่คอมเม้นต์ชมเชยเท่านั้น

ผู้สร้างวีดีโอประกอบบทประพันธ์ “อาทิตย์อัสดง” ของ โบเดแลร์ ชื่อ นายโอเรียน เอสเชล เป็นชาวประเทศคอสตา ริกา ในอเมริกากลาง ทางใต้ติดประเทศปานามา ทิศเหนือติดนิคารากัว ตะวันออกมหาสมุทร์แอตแลนติค ตะวันตกมหาสมุทร์ปาซิฟิค เมืองหลวงชื่อ กรุงซาน โฮเซ ตั้งอยู่บนเส้นรุ้ง – latitude เดียวกันกับเมืองหลังสวน เพราะฉะนั้นประเทศเล็ก ๆ แห่งนั้นจะมีภูมิอากาศใกล้เคียงกัน มีพืชพันธ์คล้าย ๆ กัน กับที่บ้านผม เช่น มีปาล์มน้ำมัน มีดอกชบา มีภูเขาลำเนาไพร ลิงค่างบ่างชะนี เป็นต้น ที่สำคัญประเทศนั้นเขาอนุรักษ์ธรรมชาติขึ้นชื่อ จนมีคนเรียกว่าสวิสเซอร์แลนด์ของละตินอเมริกา(เมื่อไร ภาคใต้ของประเทศไทย จะได้ชื่อว่า สวิสเซอร์แลนด์แห่งอาเซียน? พูดเล่น ไม่ได้ทะเยอทะยานอะไรขนาดนั้นหรอก) – เขาใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ แต่ผู้คนจำนวนมากพูดภาษาอังกฤษได้ดี

แต่เดิมผู้เขียนติดตามชาวยูทูบคนดังของคอสตา ริกา ชื่อ Atua Moe มาก่อน ซึ่งสร้างวีดีโอว่าด้วยชีวิตประจำวันชนิด high energy - เล่นกระดานโต้คลื่น เที่ยวป่า เป็นต้น  ต่อมา โอเรียน เอสเชล – Orion Eshel ก็มาปรากฏตัวในช่องของ อะตั้ว โมเอ เพื่อแนะนำช่องของเขาซึ่งมีแนวที่แตกต่างจากช่องของอะตั้ว เพราะโอเรียนเป็นนักดำน้ำด้วย ไม่ได้เล่นกระดานโต้คลื่นอย่างเดียว และมีวีดีโอเสนอบทกวี ซึ่งที่ช่องของอะตั้วไม่มี


Why Sunsets Are So Special


The Sunset Of Romanticism - Poem by Charles Baudelaire
0:00:07  How beautiful a new sun is when it rises,
0:00:10  flashing out its greeting, like an explosion!
0:00:17  - Happy, whoever hails with sweet emotion
0:00:22  its descent, nobler than a dream, to our eyes!
0:00:32  I remember! I’ve seen all, flower, furrow, fountain,
0:00:38  swoon beneath its look, like a throbbing heart…
0:00:42  - Let’s run quickly, it’s late, towards the horizon,
0:00:48  to catch at least one slanting ray as it departs!
0:00:54  But I pursue the vanishing God in vain:
0:00:58  irresistible Night establishes its sway,
0:01:03  full of shudders, black, dismal, cold:
0:01:08  an odour of the tomb floats in the shadow,
0:01:15  at the swamp’s edge, feet faltering I go,
0:01:24  bruising damp slugs, and unexpected toads. 


ผู้เขียนไม่ได้แตะต้องบทกวี เพียงแต่ได้สร้าง เวลาวีดีโอ ของคำประพันธ์แต่ละบรรทัด กำกับไว้ เพื่อทำหน้าที่มัคคุเทศก์ในการชมวีดีโอให้กับท่านผู้อ่าน จะได้ทราบว่า ณ เวลาใด เขากำลังอ่านบรรทัดไหน เมื่อแรกชมและฟัง ตัวเองจะสร้างไฟล์เวอร์ดเปิดไว้ข้าง ๆ ไฟล์วีดีโอ ระหว่างชมวีดีโอก็เหลือบตาดูไฟล์เวอร์ดไปด้วย เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ได้รสชาติเพิ่มขึ้น.....อะไรประมาณนั้น

ผู้เขียนมีเพื่อนเป็นนักดำน้ำอยู่ที่ภูเก็ต ครั้งอยู่กรุงเทพฯเขาเป็นนักเรียนสาธิต ปทุมวัน ส่วนผู้เขียนเรียนเทพศิรินทร์  เพื่อนคนนี้ต่อมาเขาไปเรียนป.ตรีที่มหาวิทยาลัยอลาสกา ค่อนไปทางขั้วโลก มีป่าเขามาก ค่อนไปทางใกล้ชิดธรรมชาติ ต่อมาเขาก็ดำน้ำและสอนการดำน้ำลึกอยู่ที่ภูเก็ต เมียก็ดำน้ำด้วยกัน จนช่วยการสร้างสารคดีเกี่ยวกับการดำน้ำและโลกใต้น้ำ

นายโอเรียน เอสเชล เป็นนักดำน้ำ สร้างวีดีโอเรื่อง การดำน้ำในทะเลแดงไว้ด้วย เรื่องนี้ผู้เขียนไม่ประหลาดใจ เพราะรู้จากเพื่อนว่า นักดำน้ำเขาจะมีเป้าหมายการดำน้ำลึกในทะเลต่าง ๆ ซึ่งมีเกาะเต่า ใกล้ชุมพร กับที่ทะเลแดงอยู่ด้วย เขาถือเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำ เพื่อนเล่าว่าอย่างนั้น

อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนนักดำน้ำก็โทรมาจากภูเก็ต บอกว่าอยากได้หัวกะโหลกใส่ดำน้ำชนิดพิเศษ ที่สามารถติดต่อสื่อสารขึ้นมาเหนือน้ำได้ คือมันพูดอยู่ในกะโหลกใต้น้ำลึก คนบนผิวน้ำสามารถได้ยินได้ด้วยการรับสัญญาณที่ส่งขึ้นมา มันเล่าว่าเคยเห็นในรายการสารคดีต่างประเทศ แล้วมันติดตามสืบรู้ว่ามีขายที่ฝรั่งเศสแห่งเดียว มันใช้เวลาสืบหาสืบค้นอยู่แปดเดือนจึงได้ความและได้รายละเอียดข้อมูล มันขอให้ผู้เขียนพาไปซื้อ

ตอนนั้น ผู้เขียนเพิ่งจะกลับจากพามิตรสหายชาวกรุงเทพฯไปเที่ยวฝรั่งเศส-สเปน ก็บอกมันไปว่า เนี่ยะกูเพิ่งกลับจากปารีสอาทิตย์ที่แล้วนี่เอง มึงจะให้พาไปเมื่อไหร่ มันบอกว่าเร็วที่สุดที่ผู้เขียนสะดวก จึงบอกมันว่าไปพรุ่งนี้เลย กูสะดวก

ประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เมียมันจัดการตีตั๋วเรียบร้อยทุกอย่าง ตั๋วราคาถูกของสายการบินตุรกีที่เพิ่งบินมากรุงเทพฯ แต่ต้องไปต่อเครื่องที่อิสตันบูล รอหลายชั่วโมงที่นั่น  ใกล้เวลาเดินทาง ผู้เขียนซึ่งเพื่อนมันส่งตั๋วมาให้แล้ว ก็นัดกับเพื่อนว่า เออแล้วเจอกันบนเครื่องเลย ไม่ต้องนัดที่สนามบิน ยุ่งเปล่า ๆ มันก็บอกว่าเออดี กูก็บินจากภูเก็ตไปต่อเครื่องที่กรุงเทพฯเลย พักนี้กูยุ่งอ่ะ

ในวันเดินทาง หลังจากที่เครื่องบินตุรกีขึ้นจากกรุงเทพฯแล้วนับชั่วโมง จนกินอาหารที่เขาเสิร์ฟบนเครื่องแล้ว ผู้เขียนก็ยังไม่เห็นเพื่อน นึกในใจว่า น่ากลัวกูนั่งเครื่องบินเล่นไปปารีสเปล๋า ๆ แน่เลย จึงได้ลุกจากที่นั่ง ออกไปเดินเที่ยวหามัน เพื่อดูว่ามันมารึเปล่า ถ้าไม่มา จะได้เตรียมตัวเตรียมใจว่าถึงปารีสก็จะหาทางบินกลับเลย

ปรากฏว่า พบมันนอนหลับซุกอยู่กับที่นั่งริมหน้าต่างด้านหน้าสุดของชั้นประหยัด จึงสะกิดปลุกมัน แล้วบอกมันว่า อ๋อมึงมาเหมือนกันหรือ กูนึกว่าไม่มา มันก็ตื่นขึ้นมาอู้อี้บอกว่ากูเหนื่อยฉิบหายเลย ง่วงนอนมาก ๆ เลย แสดงว่ามัน sleep deprived มาหลายวัน ผู้เขียนบอกว่า มึงมาก็ดีแล้วนอนไปเหอะ ถึงอิสตันบูลแล้วกูจะมาหา พามึงไปต่อเครื่อง

เราเดินทางถึงปารีสโดยสวัสดิภาพ ปรากฏว่าบริษัทที่ขายลูกกะโหลกที่ว่านั่นอยู่นอกเมือง ไกลมาก ผู้เขียนพามันนั่งรถไฟชานเมืองออกไปจนสุดสาย แล้วเรียกแท้กซี่จากที่นั่นต่อไป ค่าแท้กซี่จะได้ถูกลง บริษัทนั้นมันรับเงินสดเท่านั้น คิดเป็นเงินไทยประมาณสองแสนกว่าบาท เมียเพื่อนมันเตรียมเงินตราต่างประเทศเป็นเงินสดมาเรียบร้อย - มันเก่งนะ อีนั่นหนะ

บริษัทตั้งอยู่ในทุ่งข้าวสาลี เลยไปจากสุดสายรถไฟชานเมืองอีกไกล ในการซื้อขาย บริษัทมันขอตรวจพาสปอร์ต ถ่ายเอกสารไว้ และซักไซ้ไล่เรียงเพื่อน พอสมควร แลกหมูแลกแมวกันเสร็จ ผู้เขียนก็ขอให้คนบริษัทช่วยโทรเรียกแท้กซี่ ให้ไปส่งเราที่สถานีรถไฟชานเมืองเพื่อเข้าปารีส

ผู้เขียนถามเพื่อนว่า ที่มานี่มึงไม่ให้เงินติดกระเป๋า – per diem กะกูมั่งเลยหรือ เพื่อนมันบอกว่า มึงมากะกู ค่ารถเมล์รถไฟเครื่องบินอะไรกูก็ออกให้ทุกอย่าง แดกก็แดกอยู่กะกู มึงไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย ยังจะมาเอา per diem ส้นตีนอะไรกะกูอีกล่ะ

ผู้เขียนจึง หุบปาก-จำนนต่อเหตุผล เพราะถ้าไปเถียงมันว่า ก็ค่าแรงงัย  มันก็จะบอกว่า มึงออกแรงอาไร๊ ทุก ๆ วันมึงก็ต้องเดินไปเดินมาอยู่แล้ว แล้วมึงก็หายใจเข้าหายใจออกประจำอยู่แล้ว มึงไม่ได้ออกแรงอะไรเพิ่มเลย-ไอ้ส้นตีน

ค้างที่ปารีสคืนหนึ่ง เวลาว่างก็พามันไปดูหนังโรง กับพาไปซื้อกระเป๋าไว้ใส่หัวกะโหลกดำน้ำจากร้านค้าประเภทยี่สิบบาททุกอย่าง อะไรประมาณนั้น เพราะเพื่อนไม่ใช่ fan ของปารีส คือไม่ได้สนใจใยดีอะไรกับกรุงปารีส มันเคยอยู่อลาสกา ชอบธรรมชาติ เวลานั้นมันก็เป็นครูสอนดำน้ำ ชอบดำน้ำลึก มันบอกว่าอยู่ที่ก้นทะเล เงียบดี เงียบสงัดดีจริง ๆ มันไม่สนใจพิพิธภัณฑ์ ลูฟ หรือ ฯลฯ ของปารีส

ครั้นกลับถึงกรุงเทพฯ ต้องผ่านด่านศุลกากร ผู้เขียนถามมันก่อนจะถึงด่านว่า มึงจะเอาของออกไปยังไงเนี่ยะ ค่าภาษีหูตูบ มันบอกว่าเดี๋ยวมีพรรคพวกมารอรับช่วยพาออกไป ผู้เขียนก็พยักหน้า แต่ไม่แน่ใจ.....เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า เกี่ยวกับ people skills ไอ้นี่สอบตก

จริงดังคาด สักครู่ หลังจากที่มันคุยโทรศัพท์กับเมียที่รออยู่ด้านนอก มันก็บอกว่าพรรคพวกสากกะเบือที่ว่านั่น ไม่มา

ผู้เขียนนึกในใจว่า กูนึกกลัวอยู่แล้วเชียว และผู้เขียนจึงได้แสดงความสามารถ รับภาระมาไว้กับตัว บอกมันว่า เอากระเป๋าหัวกะโหลกมา เดี๋ยวกูพาออกเอง ซึ่งมันมอบให้ทันทีเพราะมันชื่นชมผู้เขียนเรื่อง people skills

เจ้าหน้าที่ตรวจเป้เดินทางของผู้เขียนแล้ว พี่แกก็รูดซิปเปิดกระเป๋าใส่หัวกะโหลก พี่แกเอามือล้วงเข้าไปคลำหัวกะโหลก มองหน้าผู้เขียนแล้วถามว่า อะไรนี่? ผู้เขียนก็มองหน้าคุณพี่ผู้นั้นโดยซื่อ และตอแหลตอบไปว่า ขอผ่านเถอะครับพี่ ของมหาวิทยาลัยบูรพา.....


คุณพี่แกพยักหน้า ผู้เขียนก็ฉวยกระเป๋าหัวกะโหลกเดินฉลุยออกมา เพื่อนมันไม่ขอบใจผู้เขียนสักคำเดียว แต่ไม่เป็นไร รู้ว่ามันขอบใจอยู่ในใจ


เดฟ นาพญา

บทความนี้ เผยแพร่อยู่ที่ 

โปรด ช่วยแชร์ลิงก์ - ขอบคุณครับ




วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ภาษาสันสกฤต ของประสิทธิ ไชศีรษะ - स्थूल

ประสิทธิ ไชศีรษะ อดีตสส.จังหวัดสุรินทร์ เป็นเอตทัคคะเลิศประเสริฐศรีเรื่องการใช้ภาษา ผู้เขียนเคารพนับถือเป็น “อภิมหาจารย์” คืออาจารย์ยิ่งใหญ่ อภิมหา + อาจารย์ 


ที่เวลาวีดีโอ 0:46  ประสิทธิ ไชศีรษะ อภิมหาจารย์ พูดว่าตนไม่ได้ทำ ถ่อย เถื่อน สถุล




ผู้เขียนบลอคนี้ ขอแสดงความเห็น เป็นคอมเม้น ดังนี้

#1. เคยคอมเม้นต์เอาไว้ว่า ในทางภาษาศาสตร์ ถ่อย กับ เถื่อน เป็นคำมอร์ฟีมเดี่ยว(single morpheme) ส่วนคำว่า สถุล  เป็นคำทวิมอร์ฟีม และมีสองพยางค์ คอมเม้นต์นี้อยู่ในบทความเรื่อง รักประชาธิปไตยฯ

#2. อย่างไรก็ดี ภายหลังนึกขึ้นได้ว่า “ฉะเชิงเทรา”  เป็นคำมอร์ฟีมเดี่ยว ทั้ง ๆ ที่มีถึงสามพยางค์ เอ้ะ ที่เขียนไปก่อนหน้านี้ เป็นปัญหาละซี?

#3. ภาษาศาสตร์แยก มอร์ฟีม กับ พยางค์(syllable) ออกจากกัน ภาษาศาสตร์ไม่ได้สนใจพยางค์ แต่ถือว่า มอร์ฟีม – morpheme คือ หน่วยเล็กที่สุดของภาษาที่วิชาภาษาศาสตร์สนใจศึกษา
มอร์ฟีม หมายถึง หน่วยเล็กที่สุดในภาษาพูดของมนุษย์ ที่เมื่อเปล่งเสียงออกมาแล้ว มีความหมายเป็นที่เข้าใจกัน หรือได้ใจความ

#4. คำว่า ฉะเชิงเทรา คล้ายคำว่า Washington ในแง่นี้  คือแม้จะมีสามพยางค์ – three syllables  แต่รวมกันแล้วมีความหมายเดียว เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ของเมืองหรือเขตการปกครองแห่งหนึ่ง ถือเป็นคำมอร์ฟีมเดียว

#5. แต่คำว่า “สถุล  ผมคอมเม้นต์อยู่ในบทความ รักประชาธิปไตยฯ ว่า เป็นคำสองมอร์ฟีม จะต้องถูกหรือ? ก็ในเมื่อรวมกันแล้ว หมายถึงลักษณะหรือความประพฤติอันหยาบคาย เหี้ย ๆ โหลยโถ้ย คือ รวมแล้วมีความหมายเดียวเดี่ยว ๆ ไปในทาง หยาบช้า อนารยะ สวะ

#6. ประเด็นนี้เราต้องย้อนกลับไปดูนิยามที่ว่า มอร์ฟีม เป็นหน่วยเล็กที่สุดในภาษาพูดของมนุษย์ ที่เวลาเปล่งเสียงออกมาแล้ว มีความหมาย(ได้ใจความ) คำว่า Washington นั้น แต่ละพยางค์ไม่ได้มีความหมายอันเป็นที่เข้าใจกัน ต่อเมื่อรวมกันแล้วจึงเกิดความหมาย  คำว่า ฉะเชิงเทรา ก็เหมือนกัน ฉะ--ไม่ได้มีความหมายที่สามารถเข้าใจกันได้ทั่วไป เชิง--ก็เช่นเดียวกัน หรือ เทรา--ยิ่งไปกันใหญ่ เข้าใจไม่ได้เลย แต่ว่าเมื่อเปล่งเสียงออกมารวมกันทั้งสามพยางค์ ก็เกิดเป็นคำ(word)ที่ความหมายชัดเจนแน่นอน ว่าหมายถึงจังหวัดหนึ่ง  คำสองคำนี้ ฉะเชิงเทรา กับ Washington จึงถือเป็นคำมอร์ฟีมเดียว

หรือคำว่า เหฺมฺร้  ในภาษาใต้ ที่ต้องออกเสียงควบกันทั้งสามเสียงอักษร คือ ห+ม+ร แล้วจึงได้ความหมายว่า หมายถึงไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ดอกและผลสีม่วง เด็ก ๆ ชอบกินเล่น นี่ก็คำมอร์ฟีมเดียว แม้จะกล้ำปนกันอยู่ถึงสามเสียง


#7. กระนั้น ก็มีประเด็นแย้งว่า กรุงเทพ เป็นคำสองพยางค์และหมายถึงท้องถิ่นทางภูมิศาสตร์อันเฉพาะเจาะจง  แต่ทำไมภาษาศาสตร์กลับถือว่า กรุงเทพ เป็นคำ สองมอร์ฟีม  ทำไม?  ทำไมจึงไม่เป็นมอร์ฟีมเดียวอย่าง Washington หรือ ฉะเชิงเทรา?

อีกแล้ว เราต้องย้อนกลับไปหานิยามทางภาษาศาสตร์ที่ว่า มอร์ฟีม เป็นหน่วยเล็กที่สุดในภาษาพูดของมนุษย์ ที่เวลาเปล่งเสียงออกมาแล้ว มีความหมาย(ได้ใจความ) คำว่า กรุงเทพ แยกออกได้สองเสียง กรุง + เทพ พยางค์ว่า กรุง หมายถึงเมืองใหญ่ จึงถือเป็นหนึ่งมอร์ฟีม พยางค์ว่า เทพ หมายถึงผู้สถิตบนสรวงสวรรค์ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งมอร์ฟีม พยางค์แต่ละพยางค์ แต่ละเสียง เมื่อเปล่งออกมาเดี่ยว ๆ ต่างก็ได้ใจความทั้งสองเสียง จึงถือว่า กรุงเทพ  เป็นคำสองมอร์ฟีม

#8. กลับไป ถ่อย เถื่อน และ สถุล  ในวีดีโอ  ที่ ประสิทธิ ไชศีรษะ ผู้เทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งชาวสุรินทร์จำนวนมากเคารพนับถือเป็น อภิมหาจารย์  สองคำแรกเป็นคำมอร์ฟีมเดียว แต่คำที่สาม สถุล  เป็นคำสองมอร์ฟีม เพราะแต่ละเสียง(พยางค์)ล้วนมีความหมาย ได้ใจความ

เอ้ะ ได้ใจความว่าอย่างไร? มั่วเปล่า?  เรื่องนี้เราต้องดูที่ต้นตอของคำว่า สถุล ในภาษาสันสกฤต ที่เขียนด้วยอักขระเทวนาครี ว่า  स्थूल  

ใจเย็น ๆ ไม่ต้องตกใจ อย่าคลิกหนีไปเสียก่อน  ผู้เขียนเกรงว่าท่านผู้อ่านบางท่าน อาจเพิ่งได้เห็นต้นฉบับคำว่า สถุล  ในสันสกฤต เขียนด้วยเทวะนาครี กะตาตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิต จึงนึกว่าผีหลอก คลิกหนีไปโดยอัตโนมัติ

#9. สถุล ในภาษาสันสกฤตมีความหมายเหมือนในภาษาไทย คือ หยาบคาย โหลยโถ้ย ระยำบัดซบ สาระเลว เหี้ย ๆ ส้นตีนแหนะครับ งี่เง่า ไอ้เบื้อก  แต่ว่าคำนี้ภาษาสันสกฤตใช้สระเสียงยาว ต่างกับภาษาไทยที่ใช้สระเสียงสั้น  สันสกฤตใช้สระ “อู” ขณะที่ภาษาไทยใช้สระ “อุ”

สระอู ในสันสกฤต เขียนด้วยอักขระเทวนาครีเป็นอักษรตัวเต็มว่า  อย่างไรก็ดี เทวนาครีมีทั้งระบบอักขระตัวเต็มและอักษรตัวย่อ สระอูอย่างย่อเขียนว่า “”  ซึ่งก็คือ “” ที่เราเห็นอยู่ใต้คำว่า स्थूल  ของ ประสิทธิ ไชศีรษะ นั่นเอง 

ถ้าเป็นสระอุ—เขาจะเขียนตีนนอนหงาย กลับหางมาข้างหน้า เป็น ตัวอย่างเช่น คำต่อไปนี้ตีนหงายมาข้างหน้า थु อ่านว่า ปุ  ส่วนคำต่อไปตีนคว่ำไปด้านหลัง थू อ่านว่า ปู เป็นต้น -- ภาษาไทยใช้ตัว ก.ไก่ -- กะ กา กิ กี กึ กือ เป็นมาตรฐานการอ่านผสมสระ  แต่สันสกฤตใช้ตัว ป.ปลา เป็นมาตรฐาน -- ปะ ปา ปิ ปี ปุ ปู เป ไป โป เปา เป็นต้น

#10. คำว่า स्थूल  ในภาษาสันสกฤตจึงออกเสียงว่า สะ-ถูล  เสียงสระ “อู”  โดยที่ “ถูล” แปลว่า หยาบคาย โหลยโถ้ย ระยำ สาระเลว ส้นตีนแหนะครับ โคดงี่เง่า ไอ้สัตว์นรก ดังกล่าวแล้ว 

ส่วนคำว่า “สะ” ก็มีความหมาย – หมายถึง การเป็นที่รวม  ดังนั้น คำว่า स्थूल ของ ประสิทธิ ไชศีรษะ จึงเป็นคำสองมอร์ฟีม เพราะแต่ละเสียงต่างมีความหมายของมันเอง แต่ครั้น  เมื่อรวมกันก็หมายความว่า เป็นที่รวมของเหี้ย ๆ ทั้งหลาย

#11. ท่านผู้อ่านที่เคารพคงจะเดาไม่ผิด ว่าเหตุใดผู้เขียนและชาวจังหวัดสุรินทร์จำนวนมาก พากันเคารพนับถือ ประสิทธิ ไชศีรษะ เป็นอภิมหาจารย์ ก็แกเล่นใช้ศัพท์สูง ๆ สูงลิบลิ่ว จากภาษาสันสกฤตอันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้จารคัมภีร์พระเวท เป็นภาษาที่คนยอมรับยกย่องทั่วทั้งชมพูทวีป ซึ่งกว้างใหญ่กว่าจังหวัดสุรินทร์เยอะมากเลย

แต่ว่า -- คำสรรเสริญใดต่อสันสกฤต หรือจะวิจิตรไปกว่าจาก เซอร์โมเนียร์ โมเนียร์-วิลเลียมส์ ผู้รู้สันสกฤตเมื่อครั้ง บริติช ราช  ยังปกครองอินเดีย

#12. ผู้เขียนรู้สึกน้อยใจผู้แทนราษฎร ประสิทธิ ไชศีรษะ นึกต่อว่า--ว่าช่างไม่สงสารประชาชนคนบ้านนอกบ้านนา รากหญ้าตาดำ ๆ ทั้งหลาย เช่น ตัวผมเอง เป็นต้น  ทำไมจ่าจึงใจดำจัง เพราะการใช้ภาษาสูง ๆ สูงลิบลิ่ว ทำให้ผมต้องปีนบันไดขึ้นไปปัดฝุ่นบนชั้นใต้หลังคา เปิด พจนานุกรมสันสกฤตฉบับ โมเนีย โมเนีย-วิลเลียมส์  ซึ่งเกือบลืมไปแล้วว่ามีอยู่ในโลก เหนื่อยแทบตาย

#13. ไม่รู้ว่า ประสิทธิ ไชศีรษะ เห็นด้วยกับผู้เขียนหรือเปล่า? นี่ไม่ได้เขียนคอมเม้นกล่อมหรือด่าจ่านะ ถ้ามึงเห็นต่าง-มึงประท้วงได้ ประท้วงได้เลย กูยิ่ง รักประชาธิปไตยฯ อยู่ด้วย






บ้านนาพญา
อำเภอหลังสวน
จังหวัดชุมพร




หมายเหตุ - บทความนี้ มี ไฮเปอร์ลิงก์ สองสามจุด ดับเบิ้ลคลิกบนนั้น จะส่งท่านไปยังเว็บไซด์อ้างอิง




วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

VillageLife ชีวิตชนบท ไม่ใช่ชีวิตสำหรับทุกคน


หลายคนมองชีวิตชนบทว่าโรแมนติค ใกล้ชิดธรรมชาติ เรียบง่าย มีความสุข  แต่ว่าคนเรานั้นปรุงแต่งขึ้นมาจากนานาปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน - นี่มองแบบพุทธ  ถ้าจะมองแบบคติที่ว่าพระเจ้าสร้างโลกและมนุษย์ ก็อาจพูดได้ว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วยรูปกายเหมือนพระองค์ก็จริง แต่ทรงสร้างคนแต่ละคนแตกต่างกัน

สรุปว่าชีวิตชนบทไม่ได้เหมาะแก่คนทุกคน บางคนอยู่ได้ บางคนอยู่ไม่ได้ ตัวอย่างใกล้ ๆ ในละแวกบ้านเดียวกับผู้เขียนก็มี เขาขายที่ขายสวนกลับไปอยู่ในเมือง และคนท้องที่นี้เอง ที่เขาไม่ชอบจะอยู่ก็มี เขาก็อพยพเข้าเมือง เพื่อนผู้เขียนบางคนทำอย่างนั้น






เพราะฉะนั้น ชีวิตชนบท คงไม่ได้โรแมนติคจริง สำหรับทุกคนเสมอหน้ากัน เพื่อนสตรีชาวกรุงผู้หนึ่ง เคยบอกผู้เขียนว่า เธออยากมาเที่ยวที่บ้านผู้เขียน เธอจะมา “นุ่งกระโจมอก” อาบน้ำในห้วย ผู้เขียนได้แต่อุทานอยู่ในใจว่า “ฉิบหายแล้วกู”

สำหรับความใกล้ชิดธรรมชาตินั้น เคยเขียนเล่าแล้วว่า ใกล้ชิดธรรมชาติหมายความว่า จะต้องปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิที่ผันผวน ผันแปร ตลอดทั้งวัน รวมทั้งความชื้นในอากาศด้วย  บางท่านกล่าวว่าน่าจะดีแก่ระบบภูมคุ้มกัน – immune system  แต่นั่นต้องใช้เวลานาน นับเดือนนับปี ไม่ใช่วันสองวันหรือสัปดาห์สองสัปดาห์  ดังนั้นช่วงเวลาที่ใช้เพื่อการปรับตัวในแง่ของร่างกาย คนบางคนก็ไปไม่รอดเสียแล้ว ที่ตายไปก็มีนะจะบอกให้ ไม่ได้แกล้งพูด

ผู้เขียนเตรียมกายและใจ ก่อนจะมาปักหลักอยู่ที่บ้านสวนในชนบทนอกเมืองหลังสวน ซึ่งเป็นบ้านเดิม-บ้านเกิดแต่ว่าได้จากไปนาน จึงต้องเตรียมตัวด้วยการฟิตร่างกาย เดินออกกำลังกายอยู่ในกรุงเทพฯทุกวัน เริ่มวันแรกเดินได้เพียงเจ็ดร้อยเมตร เพิ่มระยะทางขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหนึ่งกิโลเมตร สอง-สาม-สี่-ห้า—ถึงสิบกิโลเมตร และลดน้ำหนักไปพร้อมกัน ด้วยการดูแลตัวเองเรื่องอาหาร ภายในหนึ่งปีลดน้ำหนักลงให้ 20 กิโลกรัม พร้อมกับร่างกายที่ฟิตขึ้น 

หลังจากนั้นใช้เวลาเลิกบุหรี่ที่สูบมานานนับสิบ ๆ ปี ใช้เวลาลด-ละ-เลิก พร้อมกับไปว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำเป็นประจำ ประมาณหนึ่งปีเลิกบุหรี่ได้  ในระหว่างสองปีนั้นก็เรียนรู้เรื่องการทำสมาธิ และฝึกทำสมาธิ รวมทั้งได้หาอุบายควบคุมจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน ด้วยการไปลงเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกับเรียนภาษาฮินดีไปด้วย ใช้เวลาถึงปีครึ่งเพื่อเรียนเขียนอักขระเทวนาครี ในขณะที่บางคนเขามีความสามารถ เขาเรียนที่โรงเรียนภารตะวิทยา ที่ใกล้เสาชิงช้า เขาเรียนแค่หกเดือนก็เขียนได้  ครั้นเมื่อประเมินว่าตัวเองพร้อมแล้ว ผู้เขียนจึงได้กลับมาอยู่บ้านสวนในชนบท

ชีวิตชนบทมีความวิเวกก็จริง แต่ในความวิเวกมันมี background noise ที่ระงมอยู่ตลอดเวลา นะจะบอกให้ สรรพสำเนียงเสียงที่เป็นฉากหลังนั้น คือ อะไร? ผู้เขียนเคยนับจำนวนนกนานาชนิดที่บินอยู่ในสวนหรือบินผ่านสวน นับได้ถึงประมาณยี่สิบชนิด บางตัวบางชนิดเล็กเท่าหัวแม่มือ บางตัวสีสันสวยงามเช่นนกกระเต็น มีนกยางขี้ควายสีขาวบินเหนือลำห้วย มีนกหางตะไกรที่ทำเสียงได้มากเสียง บางเสียงทำเหมือนแมวร้อง แล้วนกที่โผจากต้นไม่ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งและส่งเสียงดัง คือ นกกระปูด(ภาษาใต้ที่บ้านเรียกว่า นกคูด) บนฟ้าสูง ๆ มีนกบินหลา(นกกางเขน) ฯลฯ

นอกจากเสียงนกกาแล้วยังมีเสียงกบเขียดหริ่งหรีดเรไร ระงมทั้งวัน ถ้าเรามีโสตประสาทที่มีสติสงบบระงับ เราจะได้ยินเสียงตลอดเวลา  ประเด็นนี้ผู้เขียนฟังทางทฤษฎีมาจากฝรั่งคนหนึ่ง เขาเขียนไว้ว่าในป่าเขตร้อน หรือ tropical forest นั้น มันไม่ได้เงียบเหมือนนั่งดูรูปแผ่นโปสการ์ด เขาบอกว่าจริง ๆ แล้ว It is very noisy. 

ในภาคปฏิบัติผู้เขียนสดับตรับฟังด้วยหูตนเอง ขอยืนยันตามนั้นว่า ในความวิเวกของชนบทที่บ้าน มันจะมี background noise อยู่ตลอดเวลา มันไม้ได้เงียบสงัด ยกเว้นเวลาที่น้ำท่วม เราจะประจักษ์แก่ใจ รู้ซึ้งถึงความเงียบ เวลาน้ำท่วมทั่วทั้งทุ่งทั้งสวน background noise จะหายไป มันจะ “โคดเงียบ” สงัดวิเวกวังเวง เงียบจริง ๆ ปราศจากสรรพสำเนียงที่เคยระงมคุ้นหู มันเงียบมากจนนึกระแวงว่า หูกูฝาดไปเปล่าเนี่ย?

เสียงนกกากบเขียดหริ่งหรีดเรไรในชนบทที่บ้านนั้น บางท่านเรียกอย่างโรแมนติคว่า “symphony of the jungle”


เดฟ นาพญา


บทความนี้ เผยแพร่อยู่ที่ 

โปรด ช่วยแชร์ลิงก์ - ขอบคุณครับ


วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

VillageLife - ข้อเสีย ของชีวิตชนบท


ชีวิตชนบทนั้น บางท่านอาจมองว่ามีแต่ดีกับดี ที่จริงชีวิตชนบทก็เหมือนชีวิตสไตล์อื่น ๆ คือ มีทั้งดีและเสีย  วันนี้เรามาลองดูประเด็นที่ไม่เป็นบวกของชีวิตชนบทกันบ้าง จากมุมมองของผมเอง ที่เลือกใช้ชีวิตแบบนี้มากว่าสิบปีมาแล้ว และก็ต้องปรับตัวเข้ากับข้อเสียของชีวิตชนบท






#1. เรื่องของความผันผวนของอุณหภูมิ
สมัยที่ใช้ชีวิตอยู่เป็นคนในเมือง ไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องความผันผวนของอุณหภูมิในชีวิตประจำวันมากนัก อาจจะมีร้อนมีหนาวมีฝน แต่ก็ยังค่เพอนข้างเสถียรไม่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวนอย่างในชนบท ซึ่งสามารถมีทั้งสามฤดูได้ในวันเดียวกัน ทั้งหน้าหนาว หน้าฝน และหน้าร้อน

ร่างกายเราจะต้องปรับตัวเรื่องนี้ อันที่จริงมนุษย์เราแต่ดึกดำบรรพ์ก็อยู่กับความแปรปรวนของอากาศ แต่ว่าระยะหลัง ๆ ไม่นานมานี้ เราได้พยายามควบคุมอุณหภูมิ โดยใช้เครื่องทำความร้อนในเขตหนาว และใช้เครื่องทำความเย็นในเขตร้อน  การปรับตัวของร่างกายที่อาจรวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน(immune system) น่าจะขึ้นสนิม ไม่ได้ทำงานเท่าที่ควร

ช่วงกลางคืนผมจะใส่เสื่อผ้าเพิ่มขึ้น เผื่อว่านอนหลับแล้วไม่ต้องตื่นขึ้นมาพบกับความเยือกเย็นตอนหัวรุ่ง เพราะว่าการสวมเสื้อผ้าน้อย แล้วตื่นช่วงหัวรุ่งเพราะความหนาวเย็นปลุกให้ต้องตื่นพร้อมกับฝันร้าย ไม่น่าจะดีต่อสุขภาพ - อาจจะไข้ได้  ครั้นตื่นขึ้นมาสวมเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น มันก็ไม่ช่วยได้ทันที ต้องทรมานกายอีกพักหนึ่งจึงจะอุ่น


#2. ความวิเวก
ความวิเวกนี้ บางทีและสำหรับบางคนกลายเป็นความเงียบเหงา เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย เดียวแด หันไปแลไม่เห็นใคร คำพูดติดปากที่มาช่วยแก้ไขสถานการณ์ก็คือ alone is not lonely  คนสมัยนี้พยายามแยกออกระหว่างการอยู่ลำพังคนเดียว(alone) กับความรู้สึกเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว(lonely) บางคนก็ปลอบใจตัวเองว่า อยู่กันมากคนก็มีสิทธิรู้สึก lonely ได้ - อะไรประมาณนั้น  อย่างไรก็ดี ความวิเวกก็เป็นสิ่งน่าปรารถนาสำหรับคนบางคน เช่น ผมเอง เป็นต้น

โซเชียล เนตเวอร์คกิ้ง หรือเครือข่ายสังคมสัมพันธ์ ช่วยบรรเทาความรู้สึกเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวได้อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด  ผมเคยฟัง นายมาร์ค ซัคเคอเบิร์ก เจ้าของเฟสบุคพูดเองว่า คนเราจะต้องมีเพื่อนที่เป็นมนุษย์จริง ๆ อยู่ในชีวิต ไม่ใช่มีเพื่อนเฉพาะในเครือข่ายสังคมสัมพันธ์แล้วจะเพียงพอ  

ผมมีเพื่อนสมัยเด็ก ๆ ที่ไปผจญชีวิตกันที่อื่น แล้วต่างก็กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดในภายหลัง เพื่อนพวกนี้มีอยู่สี่ห้าคน ที่คบกันสนิทสนมจริง ๆ มีสองสามคน เพื่อนมนุษย์ตัวจริงจับต้องได้พวกนี้ ต่างล้วนใช้ชีวิตที่อื่นกันอย่างโชคโชนมาแล้ว มองหน้ารู้ใจ ไม่ต้องพูดมาก คำสองคำพอ และพูดจริงตรงจากใจทุกคน ไม่มีใครโกรธใครกันแล้ว ยอมรับความเป็นตัวตนของกันและกันทุกคน ใช้สรรพนาม มึง-กู-สู-เรา หมดทุกคน
คำสรรพนาม มึง-กู ไม่ใช่คำหยาบในภาษาใต้ที่บ้านผม เป็นคำสามัญที่ใช้ทั่วไป แม่ผมก็พูด มึงกู กับผม  สู-เรา เป็นคำไทยโบราณที่ยังหลงเหลือใช้ในภาษาถิ่นที่บ้าน สู - สรรพนามบุรุษที่สองใช้แทน มึง ในบางครั้ง บางอารมณ์ หมายความในเชิงรักใคร่เอ็นดู สนิทสนม

เพื่อนพวกนี้คือความสุขที่จับต้องได้ ซึ่งถ้าผมไม่กลับมาใช้ชีวิตชนบท ก็จะไม่ได้คบเพื่อนที่น่ารักเหล่านี้  คนหนึ่งเขาเปิดร้านอาหารชนิดมีดนตรีอยู่ในเมือง ผันชีวิตตนเองมาเป็นนักร้อง ผมได้คุยเรื่องเพลงกับเขาประจำ – นอกจากคุยเรื่องชีวิตกลางคืนของคนสมัยนี้  อีกคนหนึ่งเขามีบ้านสวน เราก็ได้คุยกันเรื่องการดูแลบ้านและสวนของเรา เช่นวิธีปราบปลวก เป็นต้น 

อีกประการหนึ่ง สังเกตดูซี คนที่เขาเป็นมิตรกับความวิเวกได้นั้น ล้วนน่าคบเป็นเพื่อน – they are friendworthy.


#3 ขอพูดเชิงบวกสักหนึ่งข้อ เป็นการจบเรื่อง การมีชีวิตชนบทที่มีอินเตอร์เนต และมีกะจิตกะใจ กับมีเวลา ทำให้ได้ฟังฝรั่งอเมริกันคนหนึ่ง พูดในเครือข่ายสังคมสัมพันธ์ของพวกเขา(และพวกเรา) ว่า

older people might be old but they are old because they are smart, strong, you don't get to be old by being stupid.”

“คนสูงวัยนั้นอาจจะแก่ แต่พวกเขาอยู่จนแก่ได้ เพราะพวกเขาฉลาด เข้มแข็ง คนเราจะมีชีวิตแก่เฒ่าด้วยความที่โง่ดักดานไม่ได้ดอก” อ้าวแล้วที่บอกว่า "แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นานล่ะ?"

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

VillageLife บ้านคุณพ่อของนักเขียน ทวีป วรดิลก ที่ตัวเมืองหลังสวน


บ้านคุณพระทวีปธุรประศาสน์ (วร วรดิลก) หลังเดิมที่เห็นนี้ บุตรชายของท่านที่เคยเป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองหลังสวน ได้สร้างหลังใหม่ก่ออิฐถือปูนใหญ่โตอยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่ไม่ปรากฏในภาพ 

ส่วนคุณทวีป วรดิลก บุตรชายที่เป็นนักเขียนนั้น เป็นบุตรคนรอง ๆ ลงมาของคุณพระทวีปฯ และท่านมีพี่น้องเป็นนักเขียนอีกคนหนึ่ง คือ คุณสุวัฒน์ วรดิลก ผู้ใช้นามปากกา รพีพร และเขียนเรื่อง ลูกทาส






คุณทวีป วรดิลก เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านคือผู้ที่ได้นำทำนองเพลง ลา มาร์เซยแยส เพลงชาติฝรั่งเศส มาใส่เนื้อร้องภาษาไทย กลายเป็นเพลงมหาวิทยาลัย ชื่อ
เพลง มาร์ช มธก.   ซึ่งก็ยังร้องกันอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้






สาเหตุที่ในอำเภอหลังสวนมีคนในตระกูลขุนนางเหลืออยู่ ก็เพราะหลังสวนเคยเป็น “จังหวัด” มาก่อน  ก่อนที่จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนการปกครองตั้งชุมพรเป็นจังหวัด ยุบหลังสวนลงเป็นอำเภอในภายหลัง นี่คือคำอธิบายเล็ก ๆ ว่า ทำไมที่หลังสวนจึงมีคนในตระกูลขุนนางเหลืออยู่ แต่ที่ชุมพรอันเป็นตัวจังหวัด กลับไม่มี

สมัยที่หลังสวนเป็นหัวเมืองสำคัญ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า เคยเสด็จหลังสวน และได้จารึกพระนามาภิไธยไว้ที่ผนังถ้ำพระ ที่ตำบลท่ามะพลา ริมแม่น้ำหลังสวน  มีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่า เรือยาวที่ชื่อ “เรือมะเขือยำ” ได้นำเสด็จเรือพระที่นั่ง เข้ามาตามลำน้ำหลังสวน  ทุกวันนี้เรือมะเขือยำเก็บรักษาอยู่ในวัดแห่งหนึ่งริมฝั่งน้ำหลังสวน  และเรือมะเขือยำก็เป็นส่วนหนึ่งของตำนานการแข่งเรือในลำน้ำหลังสวน ด้วยกติกาที่ได้กลายเป็นแบบแผนการแข่งเรือในท้องถิ่นใกล้เคียง คือกติกาเรื่อง “การขึ้นโขน ชิงธง”  ซึ่งไม่มีในภูมิภาคอื่น และจะครบ 175 ปีในปี 2561 นี้

งานแข่งเรือ หรือภาษาใต้เรียก “งานเรือแข่ง”  เป็นเทศกาลประจำปีที่สำคัญของเมืองหลังสวน จะยกเว้นเท่าที่จำได้ ก็เพียงปีเดียว คือ ปีที่พระเจ้าอยู่หัวสวรรคต

ชาวหลังสวนที่อพยพไปอยู่ท้องถิ่นอื่น มักจะกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดในช่วงเทศกาล เรือแข่ง  และในวันเทศกาล ชาวหลังสวนจะมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เบิกบานใจ.....และ “friendly”

การเกณฑ์ทหารในอำเภอหลังสวน ทราบมาจากญาติ ๆ ที่ลูกหลานถูกเรียกเกณฑ์ประจำ ว่าตามสถิติแล้วพูดได้ว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของกำลังพลล้วนเป็นทหาร “สมัครใจขอเข้าเป็นทหาร” ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งนั้น จับใบดำใบแดงเข้ามา ผู้เขียนมีหลานชายคนหนึ่ง ที่ตำบลบางมะพร้าว มันทะเลาะกับพ่อมัน มันไม่พอใจพ่อมัน มันก็เก็บความไม่พอใจเงียบไว้ พอถึงวันเกณฑ์ทหาร มันเดินเข้าไปสมัครเฉยเลย พ่อแม่ห้ามไม่ทัน  มันบอกผู้เขียนว่ามันอยากจะไปรบที่ปัตตานี แล้วอยากตายได้ธงชาติคลุมโลงศพกลับบ้าน.....

เกี่ยวกับผู้คนในอำเภอหลังสวน น้าผมซึ่งเป็นนายทหารฝ่ายการข่าว(ถึงแก่กรรมแล้ว) เคยเล่าให้ฟังว่าประมาณ 70% ล้วนนับญาติถึงกันทั้งนั้น  ตัวอย่างเช่น ตัวผมเอง ก็จะเป็นญาติกับคนในสกุล นาคสวัสดิ์ เจียมวิจิตร และ โตบางมะพร้าว  เป็นต้น  นามสกุล โตบางมะพร้าว ของคุณย่านั้น ปัจจุบันก็ยังมีคนใช้กันหลายคน ที่เป็นผู้นำหมู่บ้าน ก็มี


วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

VillageLife ขนำน้อย ริมห้วย la cabana cerca de arroyo




VillageLife ขนำน้อย ริมห้วย la cabana cerca de arroyo 


ก่อนที่จะสร้าง ขนำน้อยริมห้วย หลังนี้ ผู้เขียนมีแนวอยู่ในใจนานมาก มีแนวทางทั้งที่ได้จากบ้านเรือนในชนบทอำเภอหลังสวน โดยเฉพาะที่ตำบลบางมะพร้าวบ้านเดิมของย่าและแม่เฒ่า(ยาย) 

ไอเดียถูกปรับปรุงอยู่ในหัวคิดเรื่อยมา พอจะลงมือสร้างแน่ ก็ได้เรียนถามผู้ใหญ่ที่เคารพที่กรุงเทพฯ คือ ศาสตราจารย์เฉลิม รัตนทัศนีย์ คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ

ขอคำแนะนำจากท่านเป็นปริศนาว่า “ถ้าผมจะสร้างบ้านเล็กในชนบท สร้างอย่างไรดี ที่จะไม่ร้อน”  ท่านมองหน้าแวบหนึ่ง แล้วตอบว่า “ดู งอบ สร้างเหมือนงอบ แล้วจะไม่ร้อน”

ผมไปไชยา แล้วซื้อหมวกใบลาน มาใบหนึ่ง (ภาษาถิ่น – หมวกใบลาน = งอบ)

เพื่อให้แน่ใจขึ้นอีก ผมเดินทางไปเมืองมะละกา ในมาเลย์เซีย ซึ่งเขามีอุทยานแบบบ้านชนบทมาเลย์ จากทุกรัฐมาเลย์เซีย ซึ่งล้วนมีภูมิอากาสคล้ายที่บ้านผม และที่นั่นมีแบบบ้านจากประเทศอาเซียนด้วย มีเรือนไทยหลังใหญ่ ไว้ให้คนชม

ผมก็ได้แรงบันดาลใจบางส่วน จากนิยายอเมริกันชุดบ้านเล็ก ที่เคยอ่านสมัยวัยรุ่น

ผมว่าจ้างช่างพื้นบ้านมาสองคน เขามีลูกมือมาด้วยคนหนึ่ง แล้วเราก็เริ่มสร้าง ขนำน้อยริมห้วยหลังที่เห็นในภาพ ผมวาดแบบให้พวกเขาดู แล้วบอกว่าสร้างตามนี้แหละ ใช้เวลาประมาณห้าเดือนเสร็จ มีชั้นใต้หลังคาที่ฝรั่งเรียกว่า loft (ไม่ใช่ attic นะจ้ะ) loft เป็นชั้นใต้หลังคาของบ้านเล็ก หรือกระท่อมน้อย ส่วน attic นั่นมันชั้นใต้หลังคาของพวกคฤหาสน์ แล้วละ

ผมมีน้องอยู่คนหนึ่ง แม่งบ้า มันชอบอยู่คฤหาสน์ แม่งสร้างบ้านใหญ่โตมโหฬาร  ผมเคยถามมันว่า แล้วมึงจะปัดกวาดเช็ดถูยังงัยวะเนี่ย?

ผมก็มีความสุขกับการอยู่ ขนำน้อยริมห้วย  เวลาแขกไปใครมา ก็ให้พวกเขาขึ้นไปนอนบน loft อยู่ได้สามสี่คน สบาย ๆ ไม่อึดอัด

พระราชดำรัสเรื่องความพอเพียง ถ้าใครนำมาปรับใช้ปฏิบัติได้ ตามสถานะแห่งตน จะเป็นมงคลชีวิต และเป็นประโยชน์มาก

ฝรั่งคนหนึ่งพูดว่า It is not what you earn, but what you don’t spend.

ทุก ๆ เช้าตื่นขึ้นมา รู้สึกราวกับว่า วันนี้เป็นวันคริสต์มาส.....หรืออย่างน้อยผมตั้งใจ ว่าจะพยายามทำให้วันนี้เป็นวันเทศกาล