open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

VillageLife ชีวิตชนบท ไม่ใช่ชีวิตสำหรับทุกคน


หลายคนมองชีวิตชนบทว่าโรแมนติค ใกล้ชิดธรรมชาติ เรียบง่าย มีความสุข  แต่ว่าคนเรานั้นปรุงแต่งขึ้นมาจากนานาปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน - นี่มองแบบพุทธ  ถ้าจะมองแบบคติที่ว่าพระเจ้าสร้างโลกและมนุษย์ ก็อาจพูดได้ว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วยรูปกายเหมือนพระองค์ก็จริง แต่ทรงสร้างคนแต่ละคนแตกต่างกัน

สรุปว่าชีวิตชนบทไม่ได้เหมาะแก่คนทุกคน บางคนอยู่ได้ บางคนอยู่ไม่ได้ ตัวอย่างใกล้ ๆ ในละแวกบ้านเดียวกับผู้เขียนก็มี เขาขายที่ขายสวนกลับไปอยู่ในเมือง และคนท้องที่นี้เอง ที่เขาไม่ชอบจะอยู่ก็มี เขาก็อพยพเข้าเมือง เพื่อนผู้เขียนบางคนทำอย่างนั้น






เพราะฉะนั้น ชีวิตชนบท คงไม่ได้โรแมนติคจริง สำหรับทุกคนเสมอหน้ากัน เพื่อนสตรีชาวกรุงผู้หนึ่ง เคยบอกผู้เขียนว่า เธออยากมาเที่ยวที่บ้านผู้เขียน เธอจะมา “นุ่งกระโจมอก” อาบน้ำในห้วย ผู้เขียนได้แต่อุทานอยู่ในใจว่า “ฉิบหายแล้วกู”

สำหรับความใกล้ชิดธรรมชาตินั้น เคยเขียนเล่าแล้วว่า ใกล้ชิดธรรมชาติหมายความว่า จะต้องปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิที่ผันผวน ผันแปร ตลอดทั้งวัน รวมทั้งความชื้นในอากาศด้วย  บางท่านกล่าวว่าน่าจะดีแก่ระบบภูมคุ้มกัน – immune system  แต่นั่นต้องใช้เวลานาน นับเดือนนับปี ไม่ใช่วันสองวันหรือสัปดาห์สองสัปดาห์  ดังนั้นช่วงเวลาที่ใช้เพื่อการปรับตัวในแง่ของร่างกาย คนบางคนก็ไปไม่รอดเสียแล้ว ที่ตายไปก็มีนะจะบอกให้ ไม่ได้แกล้งพูด

ผู้เขียนเตรียมกายและใจ ก่อนจะมาปักหลักอยู่ที่บ้านสวนในชนบทนอกเมืองหลังสวน ซึ่งเป็นบ้านเดิม-บ้านเกิดแต่ว่าได้จากไปนาน จึงต้องเตรียมตัวด้วยการฟิตร่างกาย เดินออกกำลังกายอยู่ในกรุงเทพฯทุกวัน เริ่มวันแรกเดินได้เพียงเจ็ดร้อยเมตร เพิ่มระยะทางขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหนึ่งกิโลเมตร สอง-สาม-สี่-ห้า—ถึงสิบกิโลเมตร และลดน้ำหนักไปพร้อมกัน ด้วยการดูแลตัวเองเรื่องอาหาร ภายในหนึ่งปีลดน้ำหนักลงให้ 20 กิโลกรัม พร้อมกับร่างกายที่ฟิตขึ้น 

หลังจากนั้นใช้เวลาเลิกบุหรี่ที่สูบมานานนับสิบ ๆ ปี ใช้เวลาลด-ละ-เลิก พร้อมกับไปว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำเป็นประจำ ประมาณหนึ่งปีเลิกบุหรี่ได้  ในระหว่างสองปีนั้นก็เรียนรู้เรื่องการทำสมาธิ และฝึกทำสมาธิ รวมทั้งได้หาอุบายควบคุมจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน ด้วยการไปลงเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกับเรียนภาษาฮินดีไปด้วย ใช้เวลาถึงปีครึ่งเพื่อเรียนเขียนอักขระเทวนาครี ในขณะที่บางคนเขามีความสามารถ เขาเรียนที่โรงเรียนภารตะวิทยา ที่ใกล้เสาชิงช้า เขาเรียนแค่หกเดือนก็เขียนได้  ครั้นเมื่อประเมินว่าตัวเองพร้อมแล้ว ผู้เขียนจึงได้กลับมาอยู่บ้านสวนในชนบท

ชีวิตชนบทมีความวิเวกก็จริง แต่ในความวิเวกมันมี background noise ที่ระงมอยู่ตลอดเวลา นะจะบอกให้ สรรพสำเนียงเสียงที่เป็นฉากหลังนั้น คือ อะไร? ผู้เขียนเคยนับจำนวนนกนานาชนิดที่บินอยู่ในสวนหรือบินผ่านสวน นับได้ถึงประมาณยี่สิบชนิด บางตัวบางชนิดเล็กเท่าหัวแม่มือ บางตัวสีสันสวยงามเช่นนกกระเต็น มีนกยางขี้ควายสีขาวบินเหนือลำห้วย มีนกหางตะไกรที่ทำเสียงได้มากเสียง บางเสียงทำเหมือนแมวร้อง แล้วนกที่โผจากต้นไม่ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งและส่งเสียงดัง คือ นกกระปูด(ภาษาใต้ที่บ้านเรียกว่า นกคูด) บนฟ้าสูง ๆ มีนกบินหลา(นกกางเขน) ฯลฯ

นอกจากเสียงนกกาแล้วยังมีเสียงกบเขียดหริ่งหรีดเรไร ระงมทั้งวัน ถ้าเรามีโสตประสาทที่มีสติสงบบระงับ เราจะได้ยินเสียงตลอดเวลา  ประเด็นนี้ผู้เขียนฟังทางทฤษฎีมาจากฝรั่งคนหนึ่ง เขาเขียนไว้ว่าในป่าเขตร้อน หรือ tropical forest นั้น มันไม่ได้เงียบเหมือนนั่งดูรูปแผ่นโปสการ์ด เขาบอกว่าจริง ๆ แล้ว It is very noisy. 

ในภาคปฏิบัติผู้เขียนสดับตรับฟังด้วยหูตนเอง ขอยืนยันตามนั้นว่า ในความวิเวกของชนบทที่บ้าน มันจะมี background noise อยู่ตลอดเวลา มันไม้ได้เงียบสงัด ยกเว้นเวลาที่น้ำท่วม เราจะประจักษ์แก่ใจ รู้ซึ้งถึงความเงียบ เวลาน้ำท่วมทั่วทั้งทุ่งทั้งสวน background noise จะหายไป มันจะ “โคดเงียบ” สงัดวิเวกวังเวง เงียบจริง ๆ ปราศจากสรรพสำเนียงที่เคยระงมคุ้นหู มันเงียบมากจนนึกระแวงว่า หูกูฝาดไปเปล่าเนี่ย?

เสียงนกกากบเขียดหริ่งหรีดเรไรในชนบทที่บ้านนั้น บางท่านเรียกอย่างโรแมนติคว่า “symphony of the jungle”


เดฟ นาพญา


บทความนี้ เผยแพร่อยู่ที่ 

โปรด ช่วยแชร์ลิงก์ - ขอบคุณครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น