open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

j'accuse la BBC (II) วิวาท วิทยุบีบีซี

J’accuse la BBC. (II)

Voici une photo publiée dans le site-web de la BBC, montrée la fameuse Mademoiselle qui, à l’heure actuelle, est de la renommé internationale grâce à son absence complète de distinction, et, à cause de la vulgarité de ses manières ou de son goût, seul Dieu sait; elle a su faire honte à toute une nation et à la DÉMOCRATIE même.

Yingluck Shinawatra has appeared more natural with ordinary Thais than her opponents

My comment on BBC's photo caption: Has Mr.Jonathan Head verified that this is not a Hakka community reunion? Ordinary Thais, who? Has Mr.Jonathan Head done a bit of investigative journalism to see whether this is "ordinary Thais" or Hakka women community?

วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

HV5/12 ปรัชญา-ความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ ตอน 05

สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล
เรื่องความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ Episode 05/12  

--------------------------------------------------
คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

ประเด็นที่คอยตีกรอบจำกัดการปกครอง  ที่แม้แต่เสียงข้างมากก็ไม่อาจจะหักล้างได้ คือ อะไร

----------------------------------------------------


มือปืนรับจ้าง
Episode 05 part 1

ในตอนก่อน ศ.แซนเดล ทิ้งท้ายด้วยเรื่องการปกครองโดยได้รับความยินยอม  ตามความคิดของอาจารย์จอห์น ล็อค ที่เห็นว่า มนุษย์ ยินยอม เข้ามาอยู่กันเป็นบ้านเมือง ยอมรับขื่อแปของบ้านเมืองปกครอง  ซึ่งขื่อแปนี้ไม่ใช่กฎธรรมชาติ  และไม่ใช่กฎของพระเจ้า  แต่เป็นกฎของมนุษย์ 

อย่างไรก็ดี คำถามที่ ศ.แซนเดลตั้งทิ้งท้ายไว้ มีว่า  ประเด็นที่คอยตีกรอบการเมือง จำกัดการปกครอง  ที่แม้แต่เสียงข้างมาก ก็ไม่อาจจะหักล้างได้ คือ อะไร

กรณี สิทธิในทรัพย์สิน  ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสิทธิตามธรรมชาติ อันมิอาจพรากไปจากมนุษย์ได้ ตามความเห็นของ อาจารย์ จอห์น ล็อค นั้น  ความยินยอมที่จะอยู่ในบ้านเมือง ยอมรับขื่อแปของบ้านเมือง  ก็เท่ากับมนุษย์ยินยอมให้รัฐเก็บภาษีอากร ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ การพรากเอาทรัพย์ไปจากผู้คน  แต่ทั้งนี้ กรอบของกฎหมายภาษีอากรดังกล่าวจะต้อง  บังคับใช้กับทุกคนเสมอหน้ากัน  มิใช่เพ่งเล็งเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ  ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจทางการเมือง  เช่น ออกกฎหมายมาเก็บภาษีเจาะจงเอากับ นายบิล เกต เพื่อนำเงินไปทำสงครามอิรัค เป็นต้น     

สรุปว่า ในตอนก่อน ศ.แซนเดล ตีประเด็นแตกไปแล้วหนึ่งประเด็น คือ เรื่องสิทธิในทรัพย์สิน  ในการบรรยายครั้งนี้  ท่านได้กล่าวต่อไปถึง สิทธิในชีวิต  “The right to life”  กล่าวคือ รัฐจะเกณฑ์ผู้คนเป็นทหารไปรบได้หรือไม่  ในเมื่อมนุษย์เป็นเจ้าของตัวเขาเอง  สิทธิในชีวิตก็เป็นสิทธิหนึ่งในสาม ที่ใครจะพรากไปเสียจากมนุษย์ไม่ได้  ดังนั้น จะถูกหรือไม่ ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ บังคับประชาชนจำนวนหนึ่งว่า พวกคุณจะต้องไปเสี่ยงชีวิตเพื่อรบในอิรัค  

เรื่องนี้ จอห์น ล็อค เห็นว่า ทำได้และถูกต้อง - ถ้าออกกฎหมายมาบังคับเสมอภาคกัน ถ้วนหน้า

อาจารย์ แซนเดล ถามความเห็นของนักศึกษา กรณีที่ ถ้ากองทัพสหรัฐฯซึ่งไปรบสงครามอิรัค ขาดแคลนกำลังพล  แล้วมีผู้เสนอแก้ไขปัญหาด้วยวิธีสามวิธีดังต่อไปนี้  หากนักศึกษาผู้ใดเห็นด้วยกับข้อไหน  ขอใ้ห้ยกมือ

1)   เพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการ เพื่อจูงใจให้คนมาสมัครเป็นทหารจำนวนมากขึ้น 
นักศึกษายกมือ ท่วมท้น
2) เกณท์ทหารด้วยวิธีออกลอตเตอรี  เลขใครออก คนนั้นต้องไปรบ
นักศึกษายกมือ ราวหนึ่งโหล

3) ใช้วิธี outsourcing คือ จ้างคนต่างชาติจากทั่วโลก ไปรบแทน
นักศึกษายกมือ สองสามโหล

ศ. แซนเดลเล่าว่า ในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ  ชายที่ถูกเกณฑ์ทหาร  มีทางเลือกที่จะไม่ต้องไปรบ  เขาสามารถส่งตัวแทนเข้ากองทัพแทนตนได้  

ศ. แซนเดล ถามนักศึกษาว่า นโยบายเช่นนั้นยุติธรรมหรือไม่ นักศึกษาหลายคนเห็นว่า ไม่ยุติธรรม  การอนุญาตให้คนมั่งมี เลี่ยงการเสี่ยงชีวิตรับใช้ชาติ  ด้วยการจ่ายเงินจ้างคนด้อยโอกาส ให้ไปรบแทนตนนั้น เป็นการไม่ยุติธรรม

จึงมีการอภิปรายในชั้นเรียน เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งอาจจะแย้งกับ หลักเรื่องความยินยอม  ในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น

  • กองทัพอาสาสมัคร เช่นที่กองทัพสหรัฐฯเป็นอยู่ทุกวันนี้ เข้าข่ายเดียวกันกับกองทัพสมัยสงครามกลางเมือง--ใช่หรือไม่ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ระบบตลาด เข้ามามีส่วนไม่มากก็น้อย ในการสรรหาคนเข้ากองทัพ

  • การรับราชการทหาร ควรให้ตลาดเป็นผู้กำหนด หรือควรใช้วิธีเกณฑ์ทหาร--เพราะถือว่าเป็นหน้าที่พลเมือง

  • ความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง มีบทบาทอย่างไร  และในฐานะประชาชนพลเมือง คนเรามีพันธะกรณี ที่จะต้องปฏิบัติต่อชาติบ้านเมืองหรือไม่อย่างไร

  • การรับใช้ประเทศชาติ เป็นหน้าที่พลเมือง หรือไม่

  • ถ้า การเป็นทหารรับใช้ประเทศชาติ เป็นหน้าที่พลเมือง ทางฝ่ายผู้นับถือปรัชญาประโยชน์นิยม กับผู้นับถือปรัชญาเสรีนิยม จะสามารถกำหนดภาระความรับผิดชอบต่อหน้าที่นี้ ตามแนวคิดปรัชญาของตน ได้หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นปรัชญาประเด็นเหล่านี้ ผู้สรุปภาษาไทยเห็นว่า สำหรับสังคมอเมริกัน การได้ยกขึ้นเป็นประเด็นเพื่อการอภิปราย ก็เป็นการประเทืองสติปัญญาพอแล้ว ข้อสรุปไม่สำคัญสักเท่าใด

หมายเหตุ: เปรียบเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทย กฎหมายเกณท์ทหารสมัยใหม่ของไทย  ได้แก่ พระราชบัญญัติเกณท์ทหาร พ.ศ. ๒๔๖๐”  ซึ่งออกมาประมาณ 50 ปี หลังสงครามกลางเมืองอเมริกัน มาตรา ๔ ความตอนหนึ่งว่า

          ผู้ชายที่เป็นไทยตามความในพระราชบัญญัติสัญชาติ พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ มาตรา ๓  มีหน้าที่ต้องรับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน 

ให้สังเกตว่า บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ด้วยตนเอง”




ความเป็นแม่ ที่ซื้อขายกันได้
Episode 05 part 2


ศ. แซนเดล พิเคราะห์หลักการตลาดเสรี โดยสาธกปัญหาปัจจุบัน เรื่องตลาดการสืบพันธุ์ --  ธุรกิจการซื้อขายไข่ในรังไข่สตรี กับธุรกิจน้ำเชื้อชาย โดยยกตัวอย่างคดี ทารก เอ็ม อันเป็นคดีดังในช่วงกลางทศวรรษที่ 80  คดีดังกล่าวประกอบด้วยทั้งปัญหาข้อกฎหมาย ปัญหาข้อเท็จจริง และปัญหาปรัชญา

โดยที่ข้อใหญ่ใจความของคดี อยู่กับปริศนาที่ ว่า ผู้ใดคือเจ้าของทารก  กันแน่

เรื่องราวมีดังนี้  เมื่อปี 1985 สตรีชื่อ นางแมรี เบธ ไวท์เฮด ได้ลงนามในสัญญา กับสองสามีภรรยาชาวนิวเจอร์ซี  ตกลงกันว่า นางไวท์เฮดยินยอมทำหน้าที่เป็นแม่อุ้มท้องให้  ทั้งนี้ โดยรับค่าจ้างจำนวน 10,000 ดอลลาร์  โดยที่สองสามีภรรยาผู้ว่าจ้างจะออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด  ครั้นทารกคลอดแล้ว ปรากฏว่านางไวท์เฮด เปลี่ยนใจ เธอปรารถนาจะได้ทารกไว้เอง  คดีนี้ขึ้นสู่ศาลรัฐนิวเจอร์ซี

ศ. แซนเดล ให้นักศึกษายกมือว่า การบังคับคดี ตามสัญญาฉบับนั้น  เป็นสิ่งที่ถูกที่ควร ที่ยุติธรรมหรือไม่  หรือว่าสิ่งที่ถูกที่ควร ที่ยุติธรรม คือ ไม่ควรบังคับสัญญา  แล้วปล่อยให้นางไวท์เฮดได้เป็นเจ้าของทารก  ผลการยกมือปรากฏว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ให้บังคับตามสัญญา คือ ทารกจะต้องตกเป็นของสามีภรรยาผู้ว่าจ้างการอุ้มท้อง

ศ. แซนเดล ขอให้นักศึกษาอภิปราย ว่าทำไมจึงเห็นว่าควรบังคับสัญญา และทำไมจึงเห็นว่าไม่ควรบังคับสัญญา  ซึ่งก็มีนักศึกษาแสดงเหตุผลทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  ทั้งนี้โดยอยู่ในกรอบแห่ง - ความยินยอม  เรื่อง - การรู้ข้อมูลอย่างเพียงพอของคู่สัญญา ตลอดจนเรื่อง - ศิลธรรมในการซื้อขายมนุษย์ กับเรื่อง - สิทธิแห่งผู้เป็นแม่

ศาลชั้นต้นรัฐนิวเจอร์ซีตัดสินว่า สัญญาฉบับนี้ย่อมบังคับได้ คู่สัญญาไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจต่อรองสูงกว่ากัน  มีการกำหนดค่าบริการ  และมีการตกลงสัญญากันด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจเหนือ คอยบังคับฝ่ายใด 

ต่อมา คดีขึ้นสู่ศาลฎีกาัรัฐนิวเจอร์ซี  ศาลฎีกาฯตัดสินกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ว่าสัญญานี้จะบังคับไม่ได้  แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาฯได้มีคำสั่งให้นายสเตอร์น-ผู้เป็นเจ้าของน้ำเชื้อ ได้เป็นผู้ดูแลทารก  เพราะเห็นว่าจะดีแ่ก่ทารกที่สุด  ขณะเดียวกันก็คืนสิทธิแห่งความเป็นแม่ให้แก่นางไวท์เฮด  พร้อมกันนั้น ก็ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาตัดสินปรับรายละเอียดประเด็นอื่นๆ ให้เป็นไปตามนัยนี้       

ศาลฎีกาอ้างเหตุผลสองประการ ที่ตัดสินให้สัญญาเป็นโมฆะ(หมายความว่าบังคับไม่ได้) คือ 1) ผู้เป็นแม่โดยธรรมชาติ ได้ทำสัญญาด้วยความยินยอม โดยที่ไม่รู้ข้อมูลเพียงพอ  กล่าวคือ พันธะแห่งความเป็นแม่ที่มีต่อทารกนั้น ไม่อาจรู้ได้ก่อนทารกเกิด  สัญญานั้นจึงไม่ใช่นิติกรรมที่ทำด้วยใจสมัครเต็มร้อย  2) ศาลฎีกาฯไม่เห็นด้วยกับการนำทารกมาทำเป็นสินค้า  โดยเห็นว่าคดีนี้เกี่ยวด้วยการซื้อขายทารก หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นการขายสิทธิความเป็นแม่  ซึ่งรายการทางการค้าดังกล่าวนี้ มีเจตนาทำกำไร  ศาลเห็นว่าในสังคมที่ศิวิไลซ์ จะมีบางสิ่งบางอย่างที่จะซื้อขายกันไม่ได้

ศ. แซนเดล ชี้ให้เห็นประเด็นจากคดีตัวอย่างว่า ความยินยอม  จะไม่สมบูรณ์ได้ด้วยเหตุสองประการ คือ 1) ถ้าบุคคลถูกบังคับให้ยินยอม 2) ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีข้อมูลเพียงพอ

ศ. แซนเดลได้อ้างถึงนักปรัชญายุคปัจจุบัน อะลิซาเบธ แอนเดอสัน  ผู้ได้ศึกษาคดีนี้และทำความเห็นประกอบไว้  เธอเห็นว่าตามสัญญา แรงงานของแม่อุ้มท้องเป็นแรงงานแปลกแยก(alienated labour)  เธอชี้ว่า บางสิ่งบางอย่างไม่ควรถือเป็นสิ่งที่ใช้สอยกันได้ หรือมีไว้เพื่อการค้าทำกำไร  บางสิ่งบางอย่างเหล่านั้นมีวิธีประเมินค่า อันเป็นวิธีการที่แตกต่างจากความคิดคำนึงเรื่องประโยชน์ใช้สอย หรือกำไรขาดทุน  บางสิ่งบางอย่างเหล่านั้นเธอยกตัวอย่างว่า ได้แก่ ความรู้สึกเคารพ ความชื่นชม ความรัก เกียรติศักดิ์ ความรู้สึกทึ่ง ความศักดิ์สิทธิ์  สิ่งเหล่านี้ถ้าหากประเมินด้วยวิธีประเมินประโยชน์ใช้สอยหรือกำไรขาดทุน  เราจะไม่สามารถประเมินสิ่งเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ 

ศ. แซนเดล กล่าวตอนจบการบรรยายว่า  นักศึกษาจะได้ทำความรู้จักกับวิธีประเมินค่า  ที่ไม่ใช่การประเมินประโยชน์ใช้สอยหรือกำไรขาดทุน  ในคำบรรยายลำดับต่อ ๆ ไป

---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย ตอน:Episode 05/12 "มือปืนรับจ้าง กับ ความเป็นแม่ที่ซื้อขายกันได้"

ชมต้นฉบับวิดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
-สำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=8yT4RZy1t3s

บทสรุปภาษาไทยตอนนี้ ตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร MBA ฉบับ Oct-Nov 2014

นั่งเครื่องบินชั้นหนึ่ง ไม่ปลอดภัยอย่างไร? The danger of flying first class.


--เดฟ นาพญา


งานเขียน Travel writing – ดูทินกร จรจิระยง บทนี้ จะเล่าประสบการณ์เล็กๆน้อยๆส่วนตัว เกี่ยวกับการโดยสารเครื่องบินไปกับที่นั่งชั้นหนึ่งสองสามครั้งที่เคยนั่งมา

ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งเครื่องโบอิง 747 ชั้นหนึ่ง  ขึ้นจากสนามบินนาริตะ กรุงโตเกียว  ปลายทางที่นิวยอร์ค โดยลงที่สนามบินนูวาค ในนิวเจอร์ซีย์  ไม่ได้ลงที่สนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดี อันเป็นสนามบินหลักของนิวยอร์ค บนเกาะลอง ไอส์แลนด์

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

HV4/12 แผ่นดินนี้เราจอง กับ ความยินยอมระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกัน

Episode 04/12 สำนึกในความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ 
---------------------------------------------------
คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

...อาจารย์ จอห์น ล็อค บอกว่า มนุษย์ ยินยอม(consent)  มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมบ้านสังคมเมือง  มนุษย์ ยินยอม  ยอมรับขื่อแปของบ้านเมือง  เพื่อแลกกับการ บังคับใช้  กฎเกณท์  ทั้งนี้ เพราะว่า ในธรรมชาตินั้น  ทุก ๆ คนสามารถ บังคับใช้  กฎธรรมชาติกันได้เอง  คนมาลักขโมยข้าวโพดของเรา  เรามีสิทธิตามธรรมชาติที่จะ ฆ่า เขาเสียก็ได้  ทุก ๆ คนมีสิทธิบังคับใช้กฎ  ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า มนุษย์จะบังคับใช้กฎจนเกินเหตุ  เช่น มีคนมาขโมยมันฝรั่งสองหัว เราก็อาจโมโห ฆ่าเขาตาย  เป็นต้น  จึงเกิดเหตุฆ่ากันไปฆ่ากันมา ทำให้ชีวิตในธรรมชาติ ที่ฟังดูอ่อนโยน เอื้อเฟื้อ เมื่อแรกเห็น  ลึก ๆ แล้วเป็นสภาพที่โหดร้าย ไม่มีความมั่นคง และน่ากลัว... 

---------------------------------------------------

แผ่นดินนี้ เราจอง
Episode 04 part 1

จอห์น ล็อค นักปรัชญาสายเสรีนิยมคนสำคัญอีกคนหนึ่ง  เชื่อว่า บุคคล(หรือปัจเจกชน)มีเอกสิทธิ ส่วนตัวบางอย่างบางประการ ซึ่งสำคัญถึงขั้นเป็นขวัญ  ของคน  อันระบบการปกครองใด ๆ ก็ไม่อาจจะฉวยกระชาก เอาไปเสียจากคนได้  แม้จะเป็นระบอบการปกครอง แบบ เสียงข้างมาก  ก็ตาม

เอกสิทธิระดับ ขวัญ ดังกล่าวมี 3 ประการ คือ สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิต  และ สิทธิเสรีภาพ  

สิทธิทั้งสามนี้ติดตัวมนุษย์มา ตามธรรมชาติ   อีกนัยหนึ่ง มีอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดระบอบการปกครองใด ๆ  และก่อนที่จะมีระบบกฎหมายใด ๆ 

แต่จะกระนั้นก็ดี สิทธิตามธรรมชาติดังกล่าวนั้น อาจารย์จอห์น ล็อค เห็นว่า ก็ยังขึ้นกับ กฎอันมิใช่กฎหมายบ้านเมือง แต่เป็นกฎธรรมชาติ   ซึ่งบังคับไว้ว่า  เราจะ แยกสิทธิตามธรรมชาติ ออกเสียจากตัวตนของเรามิได้  หรือเราจะไปฉวย ฉกเอาสิทธิตามธรรมชาติของผู้อื่นมาก็ไม่ได้  หรือจะโยกย้ายถ่ายโอนสิทธิของตน ไปให้ผู้อื่นก็ไม่ได้ 

อาจารย์ จอห์น ล็อค (และอาจารย์ โธมัสเจฟเฟอร์สัน -ในลำดับต่อมา)  เห็นว่า  เหตุที่สิทธิตามธรรมชาติ จะพรากจากตนเสียมิได้ นั้น  (= unalienable right ) ก็เพราะว่า

1) พระเจ้าประทานมา  มนุษย์จึงพรากสิทธิออกจากตัว และจะพรากสิทธินั้นออกจากตัวผู้อื่น ไม่ได้  พระเจ้าทรงบุริมสิทธิเหนือมนุษย์ --ประเด็นนี้นั้น ศ. แซนเดล ตั้งคำถามว่า แล้วสำหรับผู้ไม่เชื่อพระเจ้าเล่า  เขาจะสมาทานความคิด เรื่องสิทธิตามธรรมชาติ อันจะพรากจากตนเสียมิได้นี้ ด้วยเหตุผลใด

2) อาจารย์ล็อค เห็นว่า กฎธรรมชาติ ก็คือ เหตุผล  ซึ่งเหตุผลสอนว่า คนเราเสมอ
ภาคกันและเป็นอิสระจากกัน  เพราะฉะนั้น เราจะไปเบียดเบียนผู้อื่นในเรื่องชีวิต สุขภาพ อิสรภาพ และทรัพย์สิน ไม่ได้  ถ้าไปเบียดเบียนกันในเรื่องเหล่านี้ได้  ก็จะกลายเป็นว่า  คนเกิดมาไม่เสมอภาคกัน และไม่เป็นอิสระแก่กัน 

อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกต ที่พิศดารอยู่ 2 ประการ  เกี่ยวกับลักษณะของสิทธิดังกล่าว  คือ

  1. ที่ว่าพิศดารประการแรก  คือ สิทธิตามธรรมชาติ ในความเห็นของอาจารย์จอห์นล็อค 
มีลักษณะ จำกัดสิทธิอยู่ในที  กล่าวคือ ใช่ว่าเราจะทำอะไรกับสิทธิได้ตามอำเภอใจ  จึงดูราวกับว่าสิทธินั้น จะไม่ได้เป็นของเราโดยสมบูรณ์  เนื่องจาก จะย้ายถ่ายโอนไปจากตนมิได้  สิทธิดังกล่าวจึงมีลักษณะคล้าย ตั๋วเครื่องบิน  ซึ่ง จำกัดสิทธิ  มากกว่าตั๋วรถไฟ  เพราะตั๋วรถไฟ เราจะยกให้เพื่อนก็ได้  หรือขายให้ผู้อื่นก็ได้  หรือเราทำตั๋วหล่นหาย  ผู้ที่เก็บตั๋วได้ เขาจะนำไปใช้เดินทางก็ได้  แต่ตั๋วเครื่องบิน เขาออกให้เฉพาะตัวเราเท่านั้น  ผู้อื่นจะถือตั๋วใบนั้นไปขึ้นเครื่อง ไม่ได้

  1. ที่ว่าพิสดารประการที่สอง ก็คือ มองอีกแง่หนึ่ง ลักษณะที่ใครจะ พรากสิทธิตาม
ธรรมชาติ ออกเสียจากตัวตนของเรามิได้  นั้น  ศ.แซนเดล กล่าวว่า มองอีกแง่หนึ่งยิ่งทำให้สิทธิดังกล่าว(ตั๋วเครื่องบิน) เป็นของเราเหนียวแน่นขึ้นอีก  และ อาจารย์ ล็อค ท่านคงจะเห็นตามมุมมองนี้ คือ ท่านไม่เห็นว่า การพรากจากตนไม่ได้ เป็นการจำกัดสิทธิ  แต่กลับเห็นเป็นการ ยืนยันสิทธิ  เหนียวแน่นขึ้นอีก

ดังที่ โธมัส เจฟเฟอร์สัน ผู้เป็นที่นับถือกันว่า เป็นบิดาผู้หนึ่ง ในกลุ่มผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ(founding fathers)  และเป็นนักคิด ผู้ยกร่างคำประกาศอิสรภาพ   ได้ยืมความคิดอาจารย์จอห์น ล็อค  เรื่องสิทธิตามธรรมชาติ ที่จะพรากออกเสียจากตัวตนของเรามิได้  มาเป็นเครื่องมือทางความคิด ก่อตั้งประเทศ โดยบัญญัติไว้ในคำประกาศอิสรภาพ สหรัฐอเมริกา ว่า

เราถือว่า ข้อความจริงต่อไปนี้ชัดแจ้งอยู่ในตัว กล่าวคือ มนุษย์ทั้งหลายถูกสร้างขึ้นมาอย่างเสมอภาค  พระผู้สร้างได้ประทานสิทธิ อันจะแยกออกเสียจากตัวคนมิได้ มาบางประการ อาทิเช่น สิทธิในชีวิต สิทธิเสรีภาพ และสิทธิที่จะแสวงสุข

-ทั้งนี้โดย โธมัส เจฟเฟอร์สัน ได้เปลี่ยน ทรัพยสิทธิ  ของ จอห์น ล็อค มาเป็น สิทธิที่จะแสวงสุข” =the persuit of happiness

สิทธิในชีวิต และ สิทธิเสรีภาพ น่าจะพอเข้าใจกันได้ ไม่มากก็น้อย  เหลือแต่เรื่อง สิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งอาจารย์ ล็อค บอกว่า เป็นสิทธิที่มีติดตัวมนุษย์อยู่ในธรรมชาติ  ไม่ได้เพิ่งจะมาก่อตั้งสิทธิกันในเวลาที่คนเข้ามาอยู่เป็นบ้านเมือง มีระบบกฎหมายแล้ว ซะเมื่อไหร่   

ท่านอ้างเหตุผลว่า ด้วยเหตุที่ เราเป็นเจ้าของตัวเราเอง  เพราะฉะนั้น หยาดเหงื่อแรงงาน น้ำพักน้ำแรงของเรา ที่ไปเจือสมอยู่กับสิ่งใด  สิ่งนั้นก็เป็นของเรา  รวมทั้งการคราดไถพลิกฟื้นที่ดินว่างเปล่า  ไปทำไร่ข้าวโพดหรือไร่มันฝรั่ง  หรือไปล้อมรั้ว  ที่ดินนั้นก็เป็นของเรา 

ซึ่งประเด็นนี้มีผู้วิจารณ์กันว่า  เป็นปรัชญาที่คิดขึ้นมา หาเหตุผลสนับสนุน การครอบครองแผ่นดินโลกใหม่(ทวีปอเมริกา)ของพวกฝรั่ง

ศ. แซนเดล สรุปการบรรยายครั้งนี้  ด้วยการตั้งคำถามว่า สิทธิตามธรรมชาติ ได้รับความกระทบกระเทือนประการใด หรือไม่  เมื่อเรายินยอมเข้ามาอยู่ในสังคม  แล้วเรายอมอยู่ใต้บังคับของระบบกฎหมายบ้านเมือง  (ซึ่งเป็น กฎที่มนุษย์สร้างขึ้น มิใช่กฎธรรมชาติ และไม่ใช่กฎของพระเจ้า)

และท่านตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีก ว่า สิทธิตามธรรมชาติทั้งสามประการนี้  คือ สิ่งที่คอยตีกรอบ กำหนดขอบเขต อำนาจการปกครองของรัฐบาล  ปรัชญาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของ จอห์น ล็อค  หรือ อำนาจรัฐ  ของ จอห์น ล็อค  สร้างขึ้นจากสิทธิพื้นฐานตามธรรมชาติทั้งสาม อันจะพรากไปเสียมิได้ จากตัวมนุษย์ (the Unalienable Right)


ความยินยอม ในระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกัน
Episode 04 part 2

องค์ประกอบ ของแนวความคิดหลัก ในเรื่องการเมืองของอาจารย์ จอห์น ล็อค มีอยู่สองประการ  คือ ประการที่ 1) เรื่องสิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิต และสิทธิเสรีภาพ  ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติ ที่ไม่อาจพรากไปได้จากคน  และประการที่ 2) เรื่องความยินยอม ในระหว่างคนโต ๆ ด้วยกันแล้ว -  consenting adults

ก็ในเมื่อ เรามีสิทธิตามธรรมชาติ  ซึ่งกฎธรรมชาติระบุว่า ผู้ใดจะพรากสิทธินั้น จากเราไปไม่ได้ คือ สิทธิในชีวิต สิทธิในทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพ  ฉะนี้แล้ว และในเมื่อเราก็อยู่กันตามธรรมชาติ และอยู่กับกฎธรรมชาติดี ๆ อยู่แล้ว  ทำไมเล่า มนษย์จึงเข้ามาอยู่ในบ้านในเมือง  ซึ่งมีขื่อแป มีกฎหมายบ้านเมือง อันเป็นกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่กฎธรรมชาติ  ทำไมเราจึงยินยอมให้ขื่อแปของบ้านเมือง  คอยกำกับควบคุม ความเป็น ความอยู่ และการอยู่ร่วมกัน  ซึ่งกฎหมายบ้านเมืองนั้น  อาจกระทบกระเทือน สิทธิตามธรรมชาติของเรา

[ หมายเหตุขนาดยาวของผู้เขียนสรุปภาษาไทย นานมาแล้ว ครั้งแรก ๆ ที่ได้ยินแนวคิดเรื่อง กฎธรรมชาติ ของอาจารย์ จอห์น ล็อค  ผู้เขียนก็จะพยายามจินตนาการ ตามประสาผู้ยังอ่อนประสบการณ์ และอ่อนข้อมูล  ว่า อาจารย์ จอห์น ล็อค  ท่านบรรยายความเป็นไปในประเทศอังกฤษ  เพราะว่า ท่านเป็นคนอังกฤษ  เวลาท่านพูดถึงทรัพย์ อันเกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของเรา ไปเจือสมกับสิ่งใด รวมทั้งการทำไร่ทำนา หรือการหักร้างถางพง  กระทั่งที่สำคัญคือการล้อมรั้วที่ดิน ซึ่งก็ทำให้ที่ดินนั้นกลายเป็นของเรา  ผู้เขียนก็จะพยายามจินตนาการ ให้แลเห็นที่ดินในหุบเขาแม่น้ำเธมส์  ที่เรียกว่า Thames river valley ในประเทศอังกฤษ  แต่ความเล็กของเกาะอังกฤษ ประกอบกับความที่เกาะอังกฤษ มีคนอยู่อาศัยกันมากมานานแล้ว  จินตนาการเรื่องกฎธรรมชาติก็ดี เรื่องการล้อมรั้วแล้วได้สิทธิครอบครองที่ดินก็ดี  สำหรับผู้เขียนยังพร่ามัว ไม่ชัดเจน ไม่ลงตัว มองไม่เห็นว่าจะไปล้อมรั้วแล้วถือสิทธิครอบครองที่ดิน ที่ไหนได้ ในเมื่อคนอยู่กันเต็มไปหมด  และทำให้ไม่ค่อยเข้าใจความคิดเรื่องนี้ของ อาจารย์ จอห์น ล็อค  ว่าเกิดขึ้น และพัฒนาขึ้นมา ได้อย่างไร

ครั้นได้ฟังคำบรรยายของ ศ. แซนเดล  มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  จึงทราบว่า ทั้งหมดทั้งนั้น  ท่านอาจารย์ จอห์น ล็อค ท่านใช้โลกใหม่ คืออเมริกา เป็นฉากหลังให้กับปรัชญาการเมืองของท่าน  เพราะว่า ท่านได้รับแต่งตั้งจากทางการอังกฤษ ให้เป็นผู้บริหารดินแดนอาณานิคมแห่งหนึ่งในอเมริกา ในยุคที่ฝรั่งในอเมริกา เริ่มทะเลาะเบาะแว้ง แย่งชิงดินแดน กับพวกอินเดียแดง

ความเข้าใจที่ชัดแจ้งขึ้นของผู้เขียน ก็เกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ กฎธรรมชาติ คือ กฎที่บรรยายสภาพดั้งเดิมในโลกใหม่ อันได้แก่ทวีปอเมริกา  การทำไร่ข้าวโพดหรือไร่มันฝรั่ง ก็ล้วนเป็นพืชพื้นเมืองในทวีปอเมริกา  อาจารย์ จอห์น ล็อค ท่านกำลังพยายามหาความชอบธรรม ให้กับการเข้าไปครอบครองพื้นที่ ที่ดินในอเมริกา ของพวกฝรั่ง  ข้อสรุปในลักษณะเช่นนี้ ก็ปรากฏอยู่ในคำบรรยายของ ศ.แซนเดล ด้วย—ไม่ใช่ผู้เขียนคำสรุปภาษาไทย เข้าใจอยู่เองแต่ผู้เดียว]         

อาจารย์ จอห์น ล็อค อธิบายว่า มนุษย์ ยินยอม(consent)  มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมบ้านสังคมเมือง  มนุษย์ ยินยอม  ยอมรับขื่อแปของบ้านเมือง  เพื่อแลกกับการ บังคับใช้  กฎเกณท์  ทั้งนี้ เพราะว่า ในธรรมชาตินั้น  ทุก ๆ คนสามารถ บังคับใช้  กฎธรรมชาติกันได้เอง  คนมาลักขโมยข้าวโพดของเรา  เรามีสิทธิตามธรรมชาติที่จะ ฆ่า เขาเสียก็ได้  ทุก ๆ คนมีสิทธิบังคับใช้กฎ  ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า มนุษย์จะบังคับใช้กฎจนเกินเหตุ  เช่น มีคนมาขโมยมันฝรั่งสองหัว เราก็อาจโมโห ฆ่าเขาตาย  เป็นต้น  จึงเกิดเหตุฆ่ากันไปฆ่ากันมา ทำให้ชีวิตในธรรมชาติ ที่ฟังดูอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเมื่อแรกเห็น  ลึก ๆ ลงไปแล้วเป็นสภาพที่โหดร้าย ไม่มีความมั่นคง และน่ากลัว  [ถึงช่วงนี้  เราอาจจินตนาการเห็น สภาพอเมริกาดั้งเดิม เห็นพวกอินเดียแดงฆ่าล้างเผ่า แย่งฝักข้าวโพดกัน หรืออะไรเว่อ ๆ ทำนองนั้น  อันเป็นสภาพที่กฎหมายบ้านเมือง ไม่มีผู้เขียนสรุปภาษาไทย]   

เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมือง  มนุษย์ก็มีระบบความยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ศาลสถิตยุติธรรม และอ.บ.ต. มาคอยบังคับใช้กฎ(หมาย)ให้  มนุษย์ไม่ต้องเสี่ยง เปลืองตัว บังคับใช้กฎเอง  เช่น เราเป็นความกับเพื่อนบ้าน คดีคอมพ์ เราชนะคดี  กรมบังคับคดีก็ไปยึดคอมพ์ในบ้านเพื่อนบ้าน มาให้เรา  เราไม่ต้องเสี่ยงภัย ลุยเข้าไปในบ้านเขา เพื่อยึดคอมพ์ เสียเอง

แต่ รัฐจะเรียกเก็บภาษีจากเรา  โดยอ้างกฎหมายภาษีอากร ที่ผู้แทนเสียงข้างมากลงมติเห็นชอบ  มาบังคับใช้กับเราได้แน่หรือ?  จะมิใช่เป็นการบังคับ เรียกเอาทรัพย์ จากคนบางคน หมายถึงคนในฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยที่บุคคลนั้น มิได้ ยินยอม ละหรือ  เพราะว่า สิทธิตามธรรมชาติ  อันมิอาจจะพรากจากตัวได้ ยังคงติดตัวมนุษย์มา  แม้มาอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมืองแล้ว  แล้วกฎหมายออกโดยฝ่ายเสียงข้างมาก จะมาพรากทรัพย์ ไปจากเราได้หรือ

ล็อค ตอบคำถามนี้ว่า เมื่อเรา ยินยอม  อยู่อาศัยในสังคมใด หรือในบ้านเมืองใด ก็เท่ากับว่าเราได้ ยินยอม โดยนัย ที่จะเชื่อฟังกฎหมายภาษีอากร อันฝ่ายเสียงข้างมาก เห็นชอบให้บังคับใช้  เพราะฉะนั้น การเรียกเก็บภาษี จึงชอบด้วยกฎหมาย และสอดคล้องกับหลักสิทธิตามธรรมชาติเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน  ตราบเท่าที่กฎหมายดังกล่าวนั้น ออกมาตามกระบวนการอันบริสุทธิ์ยุติธรรม  และออกมาบังคับใช้กับทุกคนเสมอหน้ากัน  มิใช่เพ่งเล็ง เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  เป็นการเฉพาะตัว(to single out)

ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในชีวิต ก็เช่นเดียวกัน  เมื่อกฎหมายออกมาเกณฑ์คนไปรบ  ซึ่งคนอาจสูญเสียชีวิตได้  แต่ถ้าบังคับใช้เสมอหน้ากัน  มิใช่เพ่งเล็งคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ –to single out- ก็ถือว่า ชอบด้วยแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ แล้ว 

แต่ ข้อปรัชญาของอาจารย์ จอห์น ล็อค แอนตี้กฎหมายที่แม้จะออกโดยเสียงข้างมาก  แต่เพ่งเล็งไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นการเฉพาะตัว(to single out)  เช่น ออกกฎหมายเสียงข้างมาก ไปเรียกเก็บภาษีจาก นายบิลล์ เกต เพื่อนำเงินไปทำสงครามในอิรัค เป็นต้น   

อาจารย์ แซนเดล  ทิ้งท้ายคำบรรยายว่า  ในครั้งต่อไป ท่านจะพูดเรื่อง ความยินยอม ในการซื้อขาย  อีกนัยหนึ่ง ความยินยอมในตลาดการค้า

---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย ตอน: Episode 04/12 "แผ่นดินนี้เราจอง  กับ ความยินยอมระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกัน"

ชมต้นฉบับวิดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและในโลก สำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ครับ

บทสรุปภาษาไทยตอนนี้ ตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร MBA ฉบับ Sept-Oct 2014

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

HV3/12 ปรัชญา-ความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ ตอน 03

สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล
เรื่องความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ Episode 03/12  

ฉันมีเสรีภาพ ที่จะเลือกทางฉันเอง                                                                                

ใครคือเจ้าของตัวฉัน

                                                                                                 --ปรีชา ทิวะหุต  ผู้สรุป

---------------------------------------------------------------

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

ศิลธรรมของชาวเสรีนิยม จึงละม้ายคล้ายกับศิลธรรมตลาดเสรี  แต่เราก็ต้องรู้กันก่อนนะว่า ศิลธรรมตลาดเสรี มิได้หยุดอยู่แค่ว่า ใครใคร่ค้าช้างค้า  ใครใคร่ค้าม้าค้า  เพราะยังมีเงื่อนไขต่อไปว่า 1) ช้างกับม้า ที่จูงมาค้ามาขายกันนั้น  ต้องเป็นของเราเอง ไม่ใช่ของโจร จะต้องไม่ไปลักขโมยเขามาขาย  และ  2) การค้าขายแลกเปลี่ยนกัน ก็ต้องทำด้วยความยินยอมของกันและกัน  ไม่ใช่บังคับซื้อบังคับขาย 

เราจะเห็นได้ว่า ความยินยอม  เข้ามามีบทบาท ทั้งในความคิดเสรีนิยม และความคิดตลาดเสรี

-------------------------------------------------------------

ฉันมีเสรีภาพ ที่จะเลือก...
Episode 03 part 1

         ในตอนที่แล้ว อาจารย์จอห์น สจวต มิลล์ ได้กล่าวปกป้องศิลธรรมประโยชน์นิยม  ท่านเห็นว่าการเคารพสิทธิมนุษย์ กับการทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมนั้น  สถิตอยู่ในกรอบอันดีงามของศิลธรรมประโยชน์นิยม  เพราะว่า พิจารณาในระยะยาวแล้ว  การเคารพสิทธิมนุษย์ก็ดี กับ การทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมก็ดี จะก่อให้เกิด GHGN (ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด  GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of people )ในบ้านเมืองในระยะไกล

        ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างว่า ถ้าหมอไม่เคารพสิทธิมนษยชน แล้วควักอวัยวะห้าอย่างออกจากร่างกายคนสุขภาพดี ที่มาตรวจร่างกายตามปกติ  แล้วนำอวัยวะทั้งห้านั้น ไปช่วยชีวิตผู้ป่วยห้าคนให้รอดตาย พิจารณาในระยะยาวแล้ว  การ ไม่ เคารพสิทธิมนุษย์เช่นนี้ ย่อมจะไม่มีผลให้เกิด GHGN ในสังคมในทางยาว  เพราะว่า เมื่อคนรู้เรื่องนี้ คนทั้งหลายก็จะไม่มาตรวจร่างกายกันอีกต่อไป  ศ.แซนเดล แสดงความกังวลใจกับนักศึกษา ว่า

  1. แต่การ ไม่ ฆ่าคนเพื่อเอาอวัยวะ  มีเหตุผลทางศิลธรรมเพียงเท่านี้ ละหรือ? 
  2. หรือว่า จะมีเหตุผลอื่นอีก ที่เคารพต่อสิทธิมนุษย์ โดยไม่ได้อ้างเรื่องความสุขของคนหมู่มาก(GHGN)?

        เพื่อคลายความกังวลดังกล่าว  ศ.แซนเดล ตั้งปริศนาระดับราก  ซึ่งก็เท่ากับเป็นการวิจารณ์ปรัชญาประโยชน์นิยม ของอาจารย์ มิลล์ นั่นเอง  ท่านตั้งคำถามสองข้อ คือ

  1. จะขอตั้งปริศนาขยายจาก ประสบการณ์ขั้นเทพ  ว่า จะมีเหตุผลทางศิลธรรมชนิดอื่นใดอีกหรือไม่ ที่จะประเมิน คุณค่า/ความคุ้มค่า ของความสุขสันต์หรรษาขั้นเทพ  และถ้าหาก ว่า ศิลธรรมประเภทนั้นมีอยู่  รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แบบว่าอยากรู้อ่ะ
หมายความว่า เราจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่สำนึกรู้ ว่า นี่คือขั้นเทพ โน่นคือขั้นเดรัจฉาน  (เนื่องจากเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วทั้งสองอย่าง  เราจึงสามารถฟันธง จัดประเภทประสบการณ์ได้)  แต่ การรู้จักที่จะจัดประเภทประสบการณ์  ยังมิใช่เป็นการประเมินคุณค่า ของประสบการณ์นั้น โดยตรง

  1. เหตุผล ของการเคารพมนุษย์แต่ละคน เป็นคน ๆ ไปไม่มียกเว้น โดยเห็นว่าเขามีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวของเขาเองด้วยกันทุกคน  เขาไม่ใช่ทางผ่าน เพื่อนับจำนวนไปออกยอด GHGN  ระบบความคิดความเชื่อ และการแสดงเหตุผลในแนวนี้  อันเป็นแนวที่ยอมรับสิทธิมนุษย์แบบเน้น ๆ เพียว ๆ และแข็งแรง  มีอยู่หรือไม่    
          เพื่อให้ได้คำตอบ ต่อข้อกังขาข้างต้น ซึ่งความคิดศิลธรรมแบบเห็นแก่ประโยชน์(ประโยชน์นิยม) ไม่สามารถตอบได้ชัดเจน  ศ. แซนเดล แนะนำให้เรารู้จักกับ ศิลธรรมแนวเสรีนิยมlibertarianism ซึ่งเป็นแนวศิลธรรมที่เน้นสิทธิส่วนบุคคล  โดยถือว่า สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ อีกนัยหนึ่ง ขวัญของคน  ก็คือ สิทธิเสรีภาพ(the right to liberty) ”  ซึ่งหมายถึง สิทธิที่จะเลือกอย่างเสรี ในการดำเนินชีวิตตามใจปรารถนา  แต่ทั้งนี้ โดยเคารพผู้อื่น ว่าเขาก็มีสิทธิ ที่จะทำเช่นนั้นได้ เช่นเดียวกับเรา 

         คล้าย ๆ กับสำนวนที่ว่า ทำได้ตามใจ คือ ไทแท้  อะไรประมาณนั้นรึเปล่าก็ไม่รู้  แต่ทั้งนี้ โดยให้ความเคารพว่า ฝรั่ง-แขก-จีน-จาม-อะแจ ทั้งหลาย ก็มีสิทธิชนิดนี้ด้วย คือ สามารถที่จะ ทำได้ตามใจ คือไทแท้ ได้เช่นเดียวกับเรา  แนวคิดศิลธรรมเสรีนิยม เน้นคนเป็นคน ๆ ไป  โดยเห็นว่า  คนแต่ละคน มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวเขาเอง  คนจึงไม่ใช่ทางผ่าน เพื่อไปออกยอด GHGN ในสังคม  อีกนัยหนึ่ง เขาไม่ได้เป็นตัวเบี้ย อยู่บนกระดานหมากรุก กระดานใด

         ด้วยเหตุนี้  การคิดคำนึงเรื่องสิทธิก็ดี ความยุติธรรมก็ดี โดยบวกรวมความชอบของคนแต่ละคน ซึ่งมีฐานะเอกชนผู้มีอิสระ เป็นเอกเทศจากกัน แล้วนำความชอบ ความปรารถนามารวมเข้าด้วยกัน ตามหลักการคิดหา GHGN  วิธีคิดแบบนี้ เป็นข้อผิดพลาดอย่างแรง ของแนวคิดศิลธรรมประโยชน์นิยม

         (--เพราะว่า คนแต่ละคน ศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว และเป็นปัจเจกผู้เป็นเอกเทศ  ความชอบไม่ชอบของปัจเจกแต่ละคน ต่างล้วนเป็นอิสระต่อกัน และไม่เกี่ยวอะไรกับความชอบไม่ชอบของปัจเจกคนอื่น ๆ  เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจจะนำมารวมกันได้  ถ้าจะคิดเป็นตัวเลขได้ ก็จะเป็นเลขคนละมิติกัน หรือเลขคนละฐาน-ซึ่งจะนำมารวมกันไม่ได้ ผิดกฎคณิตศาสตร์ นำเลขฐานสอง ไปบวกกับเลขฐานสิบ ได้หรือ?)

       หลักศิลธรรมแนวเสรีนิยมนี้ เห็นว่า บ้านเมืองไม่ควรยุ่งเกี่ยววุ่นวาย กับชีวิตผู้คนพลเมือง  ถ้าจำเป็นจะต้องยุ่งเกี่ยว  หรือ เสือกบ้าง  ก็ขอให้ เสือกน้อยที่สุด  นักศิลธรรมเสรีนิยม มีเหตุผลเฉพาะเจาะจง 3 ประการ  ว่า บ้านเมืองไม่ควรตรากฎหมาย ด้วยวัตถุประสงค์  เพื่อที่จะ--

1) ป้องกันผู้คน จากภัยอันเกิดจากความประพฤติของตัวเขาเอง  เช่น การออกกฎหมายบังคับ ให้รัดเข็มขัดที่นั่งในรถยนต์ หรือสวมหมวกกันน็อค เป็นต้น  การสวมหมวกกันน็อค อาจเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ แต่ว่า นั่นเป็นเรื่องที่คนแต่ละคน จะต้องสำนึกรู้เอาเอง รัฐบาลจะออกกฎหมายมาบังคับเขาไม่ได้
 
2) ตรากฎหมายที่อิงศิลธรรมจรรยา ของคนบางหมู่เหล่า  มาบังคับใช้กับคนทั้งบ้านทั้งเมือง  เช่น กฎหมายทะเบียนสมรส ซึ่งจริง ๆ แล้วอิงอยู่กับศิลธรรมจรรยาแบบตะวันตก-ตัวอย่างนี้ผู้เขียนสรุปภาษาไทยยกขึ้นเอง  ศ.แซนเดล ท่านยกตัวอย่างกฎหมายเรื่อง การสมรสในหมู่เกย์ กับในหมู่เลสเบียน  โดยอาจารย์ท่านว่า รัฐบาลไม่มีหน้าที่จุ้นจ้านเรื่องนี้  โดยท่านเจตนาจะหมายความว่า รัฐบาลไม่มีหน้าที่ ที่จะออกใบรับรองสถานะภาพการสมรสให้
   
3) บังคับกระจายรายได้ จากคนรวยไปสู่คนจน  เช่น อัตราภาษีเงินได้แบบก้าวหน้า ใครได้มากต้องเสียมาก หรือนโยบายอื่น ๆ ที่เข้าข่ายนี้ เป็นต้น  ผู้ยึดถือความคิดเสรีนิยม เห็นว่า ภาษีที่เก็บ โดยมีเจตนาเพื่อกระจายรายได้จากคนรวย เช่นจาก นายบิล เกตส์ หรือ นายไมเคิล จอร์แดน ไปสู่คนจนนั้น มีลักษณะไม่ได้ต่างไปจาก การบังคับใช้แรงงานเอากับคนรวย  เพราะว่า เงินของคนรวยเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเขา  รัฐไปบังคับเอาเงินจากเขามา  เท่ากับไปเบียดเบียนเอาหยาดเหงื่อแรงงานของเขา มาใช้ฟรี ๆ  รัฐปฏิบัติต่อเขา(คนรวย)เยี่ยงทาส (โปรดชม Episode 03 at 09:56)

          ศ.แซนเดล แนะนำให้เรารู้จัก นักปรัชญาเสรีนิยมคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ อาจารย์ โรเบิร์ต โนสซิค  ซึ่งเป็นนักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกัน  สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เคยสอนที่ฮาร์วาร์ด  ท่านเห็นว่า เกี่ยวกับอำนาจรัฐนั้น ขอให้รัฐมีอำนาจน้อย ๆ  เพียงแค่สามารถเก็บภาษีระดับต่ำ ๆ ได้  เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับความจำเป็นพื้นฐานในบ้านเมือง เช่น การป้องกันประเทศ(กลาโหม) การป้องกันไม่ให้ประชาชนกัดกันเอง(ตำรวจ) การป้องกันการแย่งชิงทรัพย์สินที่ดินของกันและกัน(เช่น ประมวลแพ่งฯ บรรพ 4 ทรัพย์สิน) ตลอดจนดูแลให้แต่ละคนรักษาคำมั่นสัญญาระหว่างกัน(เช่น ประมวลแพ่งฯ บรรพ 2 ลักษณะ 2 สัญญา) ก็ให้มีระบบกฎหมายและศาล คอยดูแลกฎหมายเหล่านี้  ท่านว่า อำนาจรัฐมีไว้ทำเท่านี้ ก็พอแล้ว

        ศ.แซนเดล ได้ยกหัวข้อที่ 3) เรื่องการบังคับกระจายรายได้จากคนรวยไปให้คนจน ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ให้นักศึกษาได้ฝึกหัดคิดเรื่องศิลธรรมเสรีนิยม  โดยท่านยกสถิติ เรื่องการกระจายความมั่งคั่งในสหรัฐฯ ขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯเป็นประเทศประชาธิปไตยตะวันตก ที่กระจายความมั่งคั่งไม่เสมอภาคที่สุด  เมื่อเทียบกับประเทศประชาธิปไตยตะวันตกประเทศอื่น ๆ  ความมั่งคั่งในชาติในสหรัฐฯ 70% อยู่ในมือของคนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด เท่านั้น

        ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม?  อาจารย์โนสซิค บอกว่า  ถ้าเรารู้ว่า คนนั้นมั่งคั่งติดอันดับโน้น คนนู้นยากจนทะลุอันดับนี้  เราจะยังตัดสินไม่ได้ว่า การกระจายความมั่งคั่งยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม  ท่านบอกว่า เราต้องสาวไปหาสาเหตุแห่งความร่ำรวย  ว่าเขาได้มาอย่างไร  ทั้งนี้ท่านเสนอ หลักในการพิจารณากลั่นกรอง 2 หลัก คือ

1)  ปัจจัยเริ่มต้นเพื่อจะใช้สร้างความร่ำรวย เขาได้มาในทางที่เป็นธรรม ที่ถูกที่ควรหรือไม่  
     เช่นว่า ไปลักขโมยที่ดิน โรงงาน เครื่องมืออุปกรณ์ มาหรือเป่ลา  

2)  เมื่อผ่านการกลั่นกรองขั้นที่หนึ่งมาแล้ว  ท่านให้พิจารณาว่า การแสวงหาทางเพิ่มพูนความ
     มั่งคั่งร่ำรวยของเขานั้น  ได้ทำไปตามกระบวนการแห่งความยินยอมอย่างเสรีหรือไม่  
     หมายความว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยของเขา ผ่านกลไกตลาดเสรี หรือเปล่า 

         ศิลธรรมของชาวเสรีนิยม จึงละม้ายคล้ายกับศิลธรรมตลาดเสรี  แต่เราก็ต้องทราบกันด้วยนะว่า ศิลธรรมตลาดเสรี มิได้หยุดอยู่แค่ว่า ใครใคร่ค้าช้างค้า  ใครใคร่ค้าม้าค้า   แต่ว่า 1) ช้างกับม้าที่จูงมาค้ามาขายกัน  ต้องเป็นของเราเอง ไม่ใช่ของโจร จะต้องไม่ไปลักขโมยเขามาขาย  และ  2) การค้าขายแลกเปลี่ยนกัน ก็ต้องทำด้วยความยินยอมของกันและกัน  ไม่ใช่บังคับซื้อบังคับขาย 

          เราจะเห็นได้ว่า ความยินยอม (consent) เข้ามามีบทบาท ทั้งในความคิดเสรีนิยมและความคิดตลาดเสรี

          สรุปว่า เมื่อผ่านการกลั่นกรองสองชั้นมาได้แล้ว  ท่านก็จะถือว่า เขามั่งคั่งขึ้นมาอย่างยุติธรรม  การที่รัฐ จะไปเก็บภาษีผู้ร่ำรวย ที่มั่งคั่งขึ้นมาอย่างยุติธรรมนี้ แล้วนำเงินภาษีมาช่วยคนยากคนจน  ก็ถือว่าไม่เป็นการยุติธรรมต่อคนร่ำรวยเหล่านั้น  ทั้งนี้ อาจารย์โนสซิค แสดงเหตุผลว่า การเก็บภาษี ก็คือ ไปบังคับเอารายได้ของเขามา  การไปฉวยเอารายได้ของเขา เท่ากับไปปล้นเขา  หรือมองให้ลึก ก็จะเท่ากับบังคับใช้แรงงานเขา  ซึ่งการบังคับใช้แรงงาน อาจารย์โนสซิค ชี้ว่า เป็นการปฏิบัติต่อเขา เยี่ยงทาส นั่นเอง

          ท่านยังพิเคราะห์ต่อไปอีกขั้นหนึ่ง ว่า การที่คนถูกรัฐปฏิบัติเยี่ยงทาส  ก็แปลว่า เขาไม่ได้เป็นอิสระ หรือเป็นไทแก่ตัว อย่างแท้จริง  กลายเป็นว่า เขาสังกัดอยู่กับนายทาสหรือเจ้าของทาส  เขามีรัฐเป็นเจ้าของตัวเขาอยู่  เขาไม่ได้เป็นนายตัวเอง และไม่ได้เป็นเจ้าของตัวของเขาเองโดยบริบูรณ์ 

          ซึ่งด้วยการให้เหตุผล ชนิดไล่สายเป็นลำดับ เช่นที่แสดงมานั้น  ก็จะนำเรามาถึงจุดอันเป็นที่สุดแห่งศิลธรรมเสรีนิยม  ที่เคารพสิทธิมนุษย์อย่างแข็งแรง  อันได้แก่ หลักศิลธรรมที่ว่า  มนุษย์แต่ละคน เป็นเจ้าของและเป็นนายตัวเขาเอง

          เพราะฉะนั้น การกระทำใด ๆ ที่ทำลง ราวกับว่า เราเป็นเจ้าของตัวเขา เขาไม่ได้เป็นเจ้าของตัวเองโดยบริบูรณ์  เช่น  การไปควักเอาอวัยวะห้าชิ้นออกจากตัวเขา ไปช่วยชีวิตผู้ป่วยที่นอนรอการเปลี่ยนอวัยวะก็ดี  การบังคับกระจายรายได้บางส่วน จากผู้ร่ำรวยซึ่งมั่งคั่งขึ้นมาอย่างยุติธรรมก็ดี  การออกกฎหมายมาป้องกันภัย อันอาจเกิดจากการกระทำของตัวเขาเองก็ดี  หรือกฎหมายที่ออกมาบังคับให้เรามีวิถีชีวิตส่วนตัว อย่างนั้นอย่างนี้ก็ดี  ท่านว่า ล้วนแล้วแต่ผิดหลักศิลธรรมเสรีนิยม ทั้งสิ้น  และเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

          ศ.แซนเดล ทิ้งท้ายการบรรยายช่วงนี้ว่า  สำหรับนักศึกษาที่เห็นต่าง  ขอให้ไปเตรียมตัวมาแสดงความเห็นในการเรียนช่วงต่อไป  ทั้งนี้ โดยท่านแนะแนวให้ว่า ความเห็นต่างที่จะเด็ดขาดชัดเจน จะต้องสามารถ หักล้าง การแสดงเหตุผลชนิด ไล่สายมาโดยลำดับ ของความคิดเสรีนิยม ที่บอกว่า การเก็บภาษีจากผู้มั่งคั่ง --> ก็คือการบังคับเอารายได้จากเขา    --> การบังคับเอารายได้จากเขา --> เท่ากับบังคับใช้แรงงานเขา --> การบังคับใช้แรงงานเขา --> ก็เหมือนการปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงทาส --> ซึ่งที่สุดก็คือ --> เป็นการละเมิดหลักศิลธรรมเสรีนิยมที่ว่า  มนุษย์เป็นเจ้าของ ตัวของเขาเอง  


ใครคือเจ้าของตัวฉัน
Episode 03 part 2

          ในตอนก่อน อาจารย์ โรเบิร์ต โนสซิค  นักปรัชญาเสรีนิยมชาวอเมริกัน แสดงเหตุผลโต้แย้งการเก็บภาษีคนรวยเพื่อกระจายรายได้ ด้วยการนำเงินภาษีที่เก็บได้ ไปสร้างที่อยู่อาศัย ให้การรักษาพยาบาล และให้การศึกษาแก่คนจน  ท่านถือว่าเป็นการข่มเหงกัน และผิดหลักศิลธรรมเสรีนิยม

          ในชั้นเรียนตอนที่สองนี้  ศ.แซนเดล ยกเหตุผลของ อาจารย์ มิลตัน ฟริดแมน นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม มหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งได้ชี้ไว้ว่า งานหลายต่อหลายอย่างอันคนยึดถือกันมา ว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐ เช่น การประกันสังคมที่สร้างระบบเงินบำนาญ ไว้ให้แก่แรงงานเกษียณอายุทุกคน  ที่จริงก็ไม่น่าจะใช่หน้าที่ของรัฐ  หากประชาชนอยากกินอยู่อย่างฟู่ฟ่า หรือจมไม่ลง หรือไม่รู้จักที่จะเก็บออม  แล้วในที่สุด เขาก็ต้องแก่เฒ่าอย่างอนาถา  นั่นก็เป็นเสรีภาพ ที่เขาจะเลือกทางของเขาเอง  เพราะว่า เขาเป็นเจ้าของตัวของเขาเอง  รัฐไม่พึงไปข่มเหง เก็บเงินประกันสังคม เพื่อสร้างสวัสดิการแก่ประชาชน เพราะรัฐไม่ได้เป็น เจ้าของ ประชาชน 

         ในช่วงที่สอง  ศ.แซนเดล เปิดโอกาสให้นักศึกษาผู้สนับสนุนแนวศิลธรรมเสรีนิยม ได้จัดกลุ่มเล็ก ๆ อภิปรายปกป้องความคิดเสรีนิยม ที่ถูกคัดค้านมาตลอดการบรรยายช่วงก่อน  ซึ่ง ศ.แซนเดล ได้สรุปคำคัดค้านศิลธรรมเสรีนิยม  จากทั้งในชั้นเรียน และจากที่นักศึกษาส่งอีเมลมา  

          โดยผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย  จะขอสรุปคำคัดค้านของนักศึกษา โดยใช้สำนวนภาษาของผู้สรุปเอง ว่า

  1. รัฐต้องเก็บภาษีเพื่อกระจายรายได้  เพราะว่า คนจนจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าคนรวย  ถ้าเราแบ่งเงินจากคนรวยมาบาทสองบาท เขาไม่เดือดร้อนอะไร และเขาไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนบาทสองบาทนั้น  ขณะที่ เงินจำนวนเล็กน้อยดังกล่าว มีความหมายมาก ต่อคนจน

  1. การเก็บภาษี โดยได้รับความยินยอมจากผู้เสียภาษี ไม่ถือว่าเป็นการบังคับข่มเหง

  1. ผู้ประสบความสำเร็จทางการเงิน จนมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาได้  ต่างล้วนเป็นหนี้สังคมอยู่บางอย่างบางประการ  ถ้าเขาอยู่ในประเทศเอธิโอเปีย เขาอาจไม่มีสิทธิมั่งคั่งร่ำรวยระดับที่เป็นอยู่นี้ ก็เป็นได้  เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องชำระหนี้ ด้วยการเสียภาษีให้กับสังคมที่เขาอยู่อาศัย จนเขาสามารถสร้างความร่ำรวยขึ้นมาได้  

  1. ความมั่งคั่งร่ำรวยหลาย ๆ กรณี  มีโชคช่วยหรือรวยมรดก  ผู้เป็นเจ้าของครอบครองความมั่งคั่งร่ำรวยอยู่นั้น  จึงใช่ว่า จะเป็นผู้พึงมีพึงได้ทรัพย์สินเหล่านั้น เสมอไป

           นักศึกษากลุ่มหนึ่ง อาสาที่จะอภิปรายสนับสนุนและปกป้องปรัชญาเสรีนิยม เรียกชื่อกลุ่มว่า ทีมเสรีนิยม  นักศึกษากลุ่มนี้แสดงเหตุผลแย้ง คำคัดค้านทั้งสี่ประการข้างบน  ผู้เขียนสรุปภาษาไทยขอข้ามช่วงนี้ไป  แต่จะขอกล่าวรวม ๆ ว่า  ศ. แซนเดล ได้อาศัยการอภิปรายของนักศึกษามาชี้ประเด็นว่า--

           อาจารย์โนสซิค ไม่ได้พัฒนาแนวคิดเรื่อง มนุษย์เป็นเจ้าของเอง  แต่ท่านยืมมาจากนักปรัชญาคนสำคัญอีกคนหนึ่ง  ซึ่งเราจะได้ทำความรู้จักความคิดเรื่องนี้ และนักปรัชญาท่านนั้น อย่างละเอียดในตอนถัดไป

---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย ตอน: Episode 03/12  "ฉันมีเสรีภาพที่จะเลือก กับ ใครเป็นเจ้าของตัวฉัน"

ชมต้นฉบับวิดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและในโลก สำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ครับ

-บทสรุปภาษาไทยตอนนี้ ตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร MBA ฉบับ Sept-Oct 2014
คลิกที่นี่ อ่านตอนก่อนหน้านี้ Episode 02/12

คลิกที่นี่ อ่านบทความชุดนี้ ทุกตอน
http://pricha123.blogspot.com/p/blog-page_27.html

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

HV2/12 ปรัชญา-ความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ ตอน 02

--สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล
เรื่องความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ Episode 02/12  

ค่าของคน-คุณราคาเท่าไร                                                                                                                    และ จะวัดความสุขสันต์หรรษา ได้อย่างไร                      

                                                                                                --ปรีชา ทิวะหุต  ผู้สรุป

---------------------------------------------------------------------

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้
ศิลธรรมประโยชน์นิยมที่ยึดถือ ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด นั้น ได้ให้ความเคารพต่อเสียงข้างน้อย พอหรือยัง ?  และได้มองข้าม ขวัญ หรือ สิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนแต่ละคน ไปหรือเปล่า ?  ว่า ขวัญ หรือสิทธิพื้นฐาน เป็นสิ่งที่กำเนิดติดมาคู่อยู่กับชีวิตทุกชีวิต

 

เกิดเป็นมนุษย์ ที่สุขบ้างทุกข์บ้าง ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน  ก็ยังดีกว่า เกิดเป็นเหี้ยที่มีความสุขตลอดชีวิต  เป็นโสคราติส ที่สุขมั่งทุกข์มั่ง ก็ยังดีกว่า เกิดเป็นควายที่มีแต่สุขล้วน ๆ  แล้วที่ผมพูดเนี่ยะ  เหี้ยก็ดี ควายก็ดี อาจมีความเห็นต่าง...  แต่นั่น ก็เป็นเพราะ ทั้งเหี้ยและควาย ต่างก็มีขีดความสามารถ ที่จะมีประสบการณ์ ได้เฉพาะแต่ขั้นเดรัจฉาน เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  --อาจารย์ จอห์น สจวต มิลล์

----------------------------------------------------------------------


Episode 02 part 1 ค่าของคน ติดป้าย บอกราคาชีวิตมนุษย์ ได้ด้วยหรือ

ปัจจุบันนี้ การแสดงเหตุผลแบบอิงประโยชน์ หรือ ผลดี-อย่างใหญ่สุด แก่คน-จำนวนมากสุด  ตามความคิดอาจารย์เจอเรมี เบ็นแธม  ถูกนำมาใช้ประเมินความคุ้มค่าของการลงทุน   และประเมินความควร/ไม่ควร ในอันที่จะลงมือทำกิจกรรมใด ๆ  ทั้งในบริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการ  ตลอดจนใช้เพื่อการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน ของเราท่านทั้งหลาย  ทั้งนี้โดยเปรียบเทียบ ค่าใช้จ่าย  กับ ประโยชน์ที่จะได้รับ  จากกิจกรรมนั้น  หรือบางท่านเรียกเป็นภาษาไทย ว่า การวิเคราะห์ความคุ้มค่า

บริษัทบุหรี่ ฟิลลิป มอริส  วิเคราะห์ความคุ้มค่าของการสูบบุหรี่  ให้กับประเทศสาธารณรัฐเช็ค ซึ่งสมัยหนึ่งมีคนสูบบุหรี่มาก บริษัทฟิลลิป มอริส ดำเนินธุรกิจมีผลกำไรอยู่ที่นั่น  ผลการศึกษาของฟิลลิป มอริส ได้ความว่า  ประเทศสาธารณรัฐเช็คจะได้ประโยชน์จากการปล่อยให้ประชาชนสูบบุหรี่  เพราะว่า จะมีรายได้ภาษีบุหรี่ และคนจะตายไวขึ้น ทำให้ประหยัดค่ารักษาพยาบาล และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายดูแลคนแก่ (at 05:50 Episode 02)  อย่างไรก็ดี ศ.แซนเดลเล่าว่า ต่อมา บริษัทฟิลลิป มอริส ได้ออกมาขอโทษสาธารณชน เกี่ยวกับการศึกษาความคุ้มค่า ที่ใจดำและไร้จิตสำนึกเชิงมนุษยธรรมเรื่องนี้ 

ตัวอย่างการประเมินความคุ้มค่า มีชื่อเสียงอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ ศ.แซนเดล ยกขึ้นมาสาธก ได้แก่ กรณีศึกษาความคุ้มค่าการออกแบบรถ ฟอร์ด ปินโต เพื่อให้ปลอดภัยขึ้น  ซึ่งมีการตีค่าคนตายและบาดเจ็บออกมาเป็นตัวเงิน ผลการประเมินความคุ้มค่าระบุว่า ไม่คุ้มค่าที่บริษัทจะเพิ่มชิ้นส่วนเพื่อความปลอดภัย ไว้ในแบบรถยนต์  ผลการศึกษาถูกนำขึ้นแถลงในศาล เพราะผู้ได้รับความเสียหายฟ้องคดี  คณะลูกขุนห่อเหี่ยวกับความใจดำและไร้จิตสำนึก ของบริษัทฟอร์ด และได้ตัดสินคดี ให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก

ถึงแม้  การกำหนดราคาชีวิตมนุษย์จะมีปัญหายุ่งยาก  กับมีข้อพิจารณาว่าจะเหมาะสมหรือไม่  แต่ ศ.แซนเดล ได้ถามนักศึกษาว่า โดยภาพรวมแล้วนักศึกษา เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับแนวคิดศิลธรรมแบบ ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด  ( GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of people )  ผลการยกมือปรากฏว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ เห็นด้วย  ส่วนนักศึกษาที่ ไม่เห็นด้วย เป็นคนส่วนน้อย  ศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาฝ่ายข้างน้อย ซึ่งไม่เห็นด้วย ได้อภิปรายแสดงเหตุผลกันก่อน

ก่อนที่จะสรุปผลการแสดงเหตุผล  ศ.แซนเดล ได้ยกตัวอย่าง เรื่องราวในยุคโรมัน ที่ชาวโรมันโยนคนคริสเตียน ให้สิงโตกิน ในสนามโคลีเซียม  เพื่อจะได้ชมการต่อสู้มือเปล่า ระหว่างคนกับสิงโต  เป็นรายการบันเทิงยอดนิยมในกรุงโรมยุคหนึ่ง  ความทุกข์ทรมานของคนคริสเตียน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยนิด เพราะศาสนาคริสต์เพิ่งจะเกิด  ถ้าจะเทียบกับความสุขสนุกสนานของชาวโรมันที่เป็นคนส่วนใหญ่  คิดตามหลักผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด แล้ว  การโยนคนคริสเตียนให้สิงโตกินในสนามโคลีเซียม  ถือได้ว่า เป็นสิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ  ถูกต้องตามครรลองของศิลธรรมทางแพ่ง แนวประโยชน์นิยม

สรุปฝ่ายค้าน ศ.แซนเดล สรุปว่า  คำค้านแบ่งออกได้เป็นสองประเด็น คือ

  1. ศิลธรรมประโยชน์นิยมที่ยึดถือ ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด นั้น ได้ให้ความเคารพต่อเสียงข้างน้อย พอหรือยัง ?  และได้มองข้าม ขวัญ หรือสิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนแต่ละคน ไปหรือเปล่า? ว่า ขวัญ หรือสิทธิพื้นฐาน เป็นสิ่งที่กำเนิดติดมาคู่อยู่กับชีวิตทุกชีวิต

(อีกนัยหนึ่ง ผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย ขออนุญาตยกตัวอย่างว่า ในประเทศไทย คนมุสลิมเป็นคนส่วนน้อย เพราะฉะนั้น เพื่อประโยชน์สุข และ ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด ซึ่งเป็นชาวพุทธ  เราจะย่ำยีคนมุสลิมอย่างไร ก็จะดีไปหมด เช่น อุ้มฆ่าทนายความสมชาย เป็นต้น  หรือในทางกลับกัน  ในประเทศบังคลาเทศ คนพุทธเป็นคนส่วนน้อย อยู่กันแถวเมืองจิตตะกองเท่านั้น  เพราะฉะนั้น เพื่อ ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด  ซึ่งเป็นชาวมุสลิม  เราจะกระทำอย่างไรกับคนพุทธ ก็จะดีทั้งนั้น เช่น (สมมติ) อุ้มฆ่าท่านทูต อรรณพ กุมาร จักกะมะ  เอกอัครราชทูตบังคลาเทศคนปัจจุบัน ประจำประเทศพม่า เป็นต้น -- ซึ่งท่านเป็นคนพุทธ บังคลาเทศส่งคนพุทธมาเป็นทูตที่พม่า  หากการยกตัวอย่าง กระทบกระเทือนความรู้สึกของท่านผู้อ่านท่านใด  ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้)

  1. ความทรงคุณค่า ของสิ่งทั้งหลายในโลกมนุษย์ทุก ๆ เรื่อง สามารถตีออกมาเป็นหน่วยเงินตรา เพื่อจะได้บวกรวมตัวเลข ไปออกยอดเป็น ผลดีอย่างใหญ่สุด  ได้จริงหรือ ?

เพื่อ สรุปให้กับฝ่ายสนับสนุน  ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างงานวิจัยด้านจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่ง ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในโลกตะวันตก เมื่อทศวรรษที่ 30  งานวิจัยชิ้นนั้นพยายามพิสูจน์ว่า  คุณค่าทั้งหลายในโลกมนุษย์ทุกเรื่อง สามารถตีราคาออกมาได้เป็นหน่วยเงินตรา  โดยผู้วิจัยได้สอบถามผู้ประสบภัยเศรษฐกิจวิบัติ ที่มาขอรับการสงเคราะห์ ว่าถ้าจะให้ทำกิจกรรมอันน่าสะอิดสะเอียน หรือเจ็บปวด ไม่น่าพึงปรารถนา ดังต่อไปนี้  เขาอยากได้เงินจำนวนเท่าใด จึงจะยอมทำ? เช่น 1) ดึงฟันหน้าให้หลุด หนึ่งซี่  2) ตัดนิ้วเท้าก้อย หนึ่งนิ้ว  3) กินใส้เดือนตัวยาวที่ยังมีชีวิต หนึ่งตัว  4) ใช้ชีวิตที่ยังเหลือทั้งชีวิต ในไร่นาในมลรัฐแคนซัส - ซึ่งถือกันในสมัยนั้นว่า ล้าหลัง น่าเบื่อหน่าย  5) บีบคอแมวเรร่อนตัวหนึ่ง จนตายคามือ 

n  ผลการสอบถามพบว่า ข้อ 4 จะต้องจ่ายเงินมากที่สุด รองลงมาคือ ข้อ 3 ฯลฯ

ผู้ทำการวิจัย ได้ข้อสรุปว่า กิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งปวงของมนุษย์ มีอยู่  ใน ปริมาณหนึ่ง มากน้อยต่างกันไป  สังเกตดูเถิด คนเราไม่ได้รู้สึกอยากอะไร ในปริมาณความอยากที่เท่า ๆ กันเสมอไปทุกครั้ง ทุกกรณี หรือเหมือน ๆ กันทุกคน  ก็ในเมื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งปวง มีอยู่  ในปริมาณหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความอยากทั้งหลายนี้ ย่อมจะต้องวัดค่าออกมาได้ เพราะความที่มันมี ปริมาณ อยู่นั่นเอง

แต่ จริงหรือว่า  ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ สนับสนุนศิลธรรมแนวประโยชน์นิยม  ที่ว่าคุณค่าและความมีราคาทั้งปวง สามารถตีออกมาได้ด้วยหน่วยวัด ที่เป็นเอกภาพเดียวกันทั่วไปหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เช่น หน่วยเงินตรา เป็นต้น  เมื่อมีหน่วยวัดหน่วยเดียวกัน(หน่วยเงินตรา)  ดังนั้น จึงสามารถนำมาบวกรวมกันได้ เพื่อหาผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากที่สุด 

หรือว่า การณ์กลับตรงกันข้าม  คือพิจารณาอีกทางหนึ่ง สิ่งทรงคุณค่าและมีราคาทั้งหลายทั้งปวงในมนุษยโลกนั้น  นอกจากจะหลากหลายแล้ว ยังผิดกันไกลและสถิตอยู่ในต่างมิติกัน  จนเราไม่สามารถใช้หน่วยวัดค่า หน่วยเดียวกันวัดทุกอย่างได้อย่างมีเอกภาพ  แต่ละเรื่องต่างก็มีหน่วยวัดจำเพาะเรื่องตน เช่น ระยะทาง--วัดด้วยหน่วยวัดเป็นกิโลเมตร  แต่วัดน้ำหนัก--กลับใช้หน่วยกิโลกรัม เป็นต้น  

โดยที่ หนึ่งกิโลเมตร ไม่ใช่  หนึ่งกิโลกรัม  และ ไม่ใช่ หนึ่งกิโลวัตต์  และ ไม่ใช่ หนึ่งกิโลไบต์

ซึ่ง  ก็ในเมื่อ  เราไม่สามารถตีราคา สิ่งมีค่าทั้งหลายในสากลโลก  ออกมาได้โดยใช้หน่วยวัดเดียวกันอย่างมีเอกภาพ  แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับปรัชญาประโยชน์นิยม? อันวางอยู่บนพื้นฐานเรื่องการรวมค่าผลดีนานาชนิดของนานาบุคคล มาบวกรวมเข้าด้วยกัน  เพื่อหาผลดีอย่างใหญ่สุด มาเป็นตัวกำหนดศิลธรรม


จะวัดความสุขสันต์หรรษา ได้อย่างไร
Episode 02 part 2


ประเด็นที่ศิลธรรมประโยชน์นิยม ที่ถูกวิจารณ์

  1. ศิลธรรมประโยชน์นิยมซึ่งยึดถือ ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด นั้น ถูกวิจารณ์ว่า ได้ให้ความเคารพต่อเสียงข้างน้อย พอหรือยัง ?  ได้มองข้าม ขวัญ หรือ สิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนแต่ละคน ไปหรือเปล่า ?  เข่นมองข้ามไปว่า ขวัญ หรือ สิทธิพื้นฐาน เป็นสิ่งที่กำเนิดติดตัวมา คู่อยู่กับชีวิตทุกชีวิต ไม่มีใครมีสิทธิล่วงละเมิดขวัญของใคร

  1. ความชอบ หรือ ค่าของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกมนุษย์นั้น มีฐานะเท่า ๆ กัน และสามารถตีค่าออกมาด้วยหน่วยวัดหน่วยเดียวกัน เพื่อจะได้รวมตัวเลข มาออกยอดเป็น ผลดีอย่างใหญ่สุด  ได้จริงหรือ ?  คำพูดฟันธงแบบประโยชน์นิยมที่ว่า ค่าของสิ่งต่าง ๆ มี ศักดิ์เท่ากัน ของอาจารย์เบ็นแธม กล่าวไว้ว่า ด้วยปริมาณเท่ากัน การเล่นหมากเก็บ หรือการอ่านบทกวี  ต่างก็จรรโลงใจได้ทัดเทียมกัน

    • เป็นไปได้หรือ ที่เราจะตีราคา ความทรงคุณค่าหรือความชอบทั้งหลาย  ออกมาด้วยหน่วยวัดหน่วยเดียวกัน อย่างมีเอกภาพ เช่น หน่วยเงินตรา ?
    • ความทรงคุณค่า หรือความชอบทุก ๆ ชนิด  มี ศักดิ์ เท่ากันหรือ ? ความสุขของชาวโรมัน ที่โห่ร้อง ชมคนคริสเตียนถูกสิงโตฉีกกินอยู่สนามโคลีเซียม  ไม่ได้เป็นความสุขที่มี ศักดิ์ ติดลบหรือ ?  แล้วความสุขชนิดนั้นจะมี ศักดิ์ เท่าเทียม กับ ความสุขหรือความรู้สึกดี อันเกิดจากการทำบุญตักบาตร-สำหรับคนพุทธ หรือทำบุญกับเด็กกำพร้า-สำหรับคนมุสลิม หรือไม่ ? (ตัวอย่างเกี่ยวกับพุทธ/มุสลิม ผู้เขียนบทสรุปยกขึ้นเอง ศ.แซนเดล ยกเฉพาะคริสเตียน)

เพื่อสาดความกระจ่างเข้าสู่ข้อปริศนา  ศ.แซนเดล ได้แนะนำให้เรารู้จัก นักปรัชญาศิลธรรมประโยชน์นิยม คนสำคัญอีกผู้หนึ่ง คือ นายจอห์น สจวต มิลล์ บิดาของท่านผู้นี้เป็นศิษย์ของเจอเรมี เบ็นแธม

นายจอห์น สจวต มิลล์ พยายามจะปกป้องหลักปรัชญาศิลธรรมประโยชน์นิยม  เพราะเขาถือว่าในทางปฏิบัติ แนวคิดนี้จะก่อให้ เกิดผลดีใหญ่สุด ต่อคนจำนวนมากสุด  ถือเป็นกฎศิลธรรมสูงสุดแล้ว  โดยที่เขาพยายามแสดงเหตุผลว่า หลักการนี้สอดคล้องกับการพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคล และยังใจกว้างเปิดช่องให้สามารถแบ่งชนิดความสุขสันต์หรรษา ออกเป็น ขั้นเทพ กับ ขั้นเดรัจฉาน ได้ด้วย  และสามารถพิสูจน์กันได้ 

ศ.แซนเดล ถามนักศึกษาว่า พิสูจน์ได้อย่างไร ? 

ซึ่งนักศึกษาก็ตอบถูกต้องตรงตามวาทะของ จอห์น สจวต มิลล์ ที่เขาพูดไว้ว่า  ...ระหว่างความสุขสันต์หรรษาสองอย่าง  ซึ่งผู้คนได้ลองลิ้มชิมกันมาแล้วทั้งสองอย่าง  ถ้าอย่างหนึ่งเป็นที่ต้องใจของคนทั้งหมด หรือของคนเกือบทั้งหมด โดยวัดจากความรู้สึกสถานเดียว ไม่นำมาตรฐานใดเข้ามาเกี่ยวข้อง  ฉะนี้แล้ว ประสบการณ์อย่างแรกนั้น ถือว่าเป็นความสุขสันต์หรรษา อันน่าปรารถนามากกว่าอย่างหลัง  –จอห์น สจวต มิลล์  หมายความว่า อย่างแรกเป็นขั้นเทพ อย่างหลังเป็นขั้นเดรัจฉาน

ศ.แซนเดล ทดสอบทฤษฎีดังกล่าวของ มิลล์ ในชั้นเรียน  ด้วยการฉายคลิปวีดีโอ 3 คลิป นำมาจากรายการบันเทิง 3 ประเภท คือ 1) การแสดงเรื่องแฮมเลต ของ เชคสเปียร์  2) รายการเรียลลิตี้ โชว์ เฟียร์ แฟคเตอร์ และ  3) รายการการ์ตูน เดอะ ซิมสันส์ 
หลังจากนั้น นักศึกษาได้อภิปรายถึงประสบการณ์ จากการชมรายการบันเทิงทั้งสาม  อันก่อให้เกิดความสุขสันต์หรรษา ทั้งชนิดที่เป็นขั้นเทพและขั้นเดรัจฉาน 

นักศึกษาผู้หนึ่ง  ขออนุญาตออกนอกเรื่อง เล่าตัวอย่างจากวิชาชีววิทยา ที่ตนได้เรียนเมื่อปีก่อน  ว่า อาจารย์ได้บรรยายให้ฟังเรื่องหนูทดลอง ที่ถูกกระตุ้นต่อมหรรษาในสมอง มันก็เลยสุขสันต์หรรษาจนไม่กินอาหาร และสุขสันต์จนดิ้นตาย  ความหรรษาชนิดนั้น ถือว่าเป็นระดับเดรัจฉาน  นักศึกษาผู้นั้นบอกว่า เขาต้องการความสุขสันต์ขั้นเทพ เพื่อจะได้ไม่ต้องตายไปแบบหนูทดลอง  อย่างไรก็ดี การที่ผู้ใดจะมีความสุขกับบทละครเช็คสเปียร์ได้ เขาก็ต้องผ่านการเรียนรู้ และได้รับคำแนะนำมาก่อน  ผิดกับการชมรายการการ์ตูน เดอะ ซิมสันส์ ที่ไม่ได้เรียกร้องความพร้อมอะไรมากนัก

แต่ในที่สุด ทั้งนักศึกษาและอาจารย์แซนเดล ก็เห็นพ้องกันว่า การยกเรื่องความสุขสันต์หรรษาขึ้นมาแบ่งเป็น ขั้นเทพ กับ ขั้นเดรัจฉาน นั้น  อาจารย์จอห์น สจวต มิลล์ น่าจะมีวาระซ่อนเร้นอยู่บางอย่าง  ซึ่งในที่สุด  ศ.แซนเดล ได้แสดงให้เราเห็น คำคัดจากงานของ มิลล์ ที่ชี้บ่งว่า วาระซ่อนของอาจารย์มิลล์ คือ อะไร?  ทั้งนี้ พบว่าอาจารย์มิลล์ เห็นว่า คนที่มีประสบการณ์ทั้งสองอย่าง จะตระหนักได้เอง โดยไม่ต้องมีใครมาชี้นำหรือจูงจมูก ว่า ความสุขสันต์หรรษาขั้นเทพ มี ศักดิ์ สูงกว่า หรือมี น้ำหนักมากกว่าขั้นเดรัจฉาน  และนอกจากจะแยกแยะได้เองแล้ว ยังจะนึกชอบประสบการณ์ขั้นเทพ มากกว่าขั้นเดรัจฉาน อีกด้วย 

โดยที่อาจารย์ มิลล์ ได้กล่าววาทะไว้ แปลเป็นไทย ว่า  

เกิดเป็นมนุษย์ ที่สุขบ้างทุกข์บ้าง ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน  ก็ยังดีกว่า เกิดเป็นเหี้ยที่มีความสุขตลอดชีวิต  เป็นโสคราติส ที่สุขมั่งทุกข์มั่ง ก็ยังดีกว่า เกิดเป็นควายที่มีแต่สุขล้วน ๆ  แล้วที่ผมพูดเนี่ยะ  เหี้ยก็ดี ควายก็ดี อาจมีความเห็นต่าง...  แต่นั่น ก็เป็นเพราะ ทั้งเหี้ยและควาย ต่างก็มีขีดความสามารถ ที่จะมีประสบการณ์ ได้เฉพาะแต่ขั้นเดรัจฉาน เพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

-----------------------------------------------------------------------
หมายเหตุสำหรับคำแปลภาษาไทย ผู้แปลซึ่งก็คือผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย  มีพื้นการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์  เพราะฉะนั้น ก็เลยนับถืออาจารย์ จอห์น เมนาร์ด เคนส์  ซึ่งท่านเคยพูดไว้เกี่ยวกับการเลือกใช้ถ้อยคำ ว่า
 
“Words ought to be a little wild for they are the assaults of thought on the unthinking.”  -John Maynard Keynes  ขอบคุณ ที่ท่านผู้อ่านบางท่าน เข้าใจ

สุดยอด ! เล่นเอาเกือบเคลิ้ม  กล่อมกันเปล่าเนี่ยะ ? 

สมมติว่า-สมมติเท่านั้น นะครับ-สมมติว่า เราคล้อยตามอาจารย์มิลล์ในประเด็นนี้--ที่ว่า คนที่มีประสบการณ์ทั้งสองอย่าง จะตระหนักได้เองว่า ความสุขสันต์หรรษาแบ่งได้เป็น ขั้นเทพกับขั้นเดรัจฉาน  และจะรู้ได้ด้วยตนเองอีกเหมือนกันว่า ความสุขขั้นเทพมีน้ำหนักมากกว่าความสุขขั้นเดรัจฉาน และแถมยังจะนึกชอบประสบการณ์ขั้นเทพมากกว่าขั้นเดรัจฉาน  เพราะฉะนั้น ตามตัวอย่างในชั้นเรียน จึงมีนักศึกษาบางคนเห็นว่า  ถ้าจะต้องใช้ชีวิตส่วนที่ยังเหลืออยู่ทั้งชีวิต  อยู่กับไร่นาอันกันดารในมลรัฐแคนซัส  แล้วให้เลือกเอาระหว่างวีดีโอบทละครเช็คสเปียร์ชุดหนึ่ง หรือวีดีโอการ์ตูน เดอะ ซิมสัน ชุดหนึ่ง (สมมติว่า อินเตอร์เนตยังไม่มี) ก็จะขอเลือกอยู่กับวีดีโอชุดบทละครเช็คสเปียร์  จะไม่ขอเอาวีดีโอการ์ตูน เดอะ ซิมสัน 

ผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย  จะขอเสนอตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ว่า  ท่านที่เคยเดินทางไป กรุงปารีส แม้จะเพียงครั้งเดียวก็ตาม  บริษัททัวร์เขาก็มักจะแนะนำให้ท่านรู้จัก ย่านปิกาลล์  ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านสื่อโป้ทั้งหลาย เช่น หนังสือ ดีวีดี อุปกรณ์ ชุดชั้นใน ฯลฯ  ยังไม่รวมบาร์ ร้านเหล้า และโรงแรมขายชั่วโมง ตามซอกซอยแถวนั้น  อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง กรุงปารีสก็มี โรงละครริชเชอลิเยอ ที่ จัตุรัสก็อลแลตต์  ซึ่งเป็นโรงละครหลัก ของคณะละครหลวงแห่งฝรั่งเศส ที่เล่นละครต่อเนื่องมา ตั้งแต่ยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  บทละครบางเรื่องของ โมลลิแยร์ แสดงมาแล้วกว่าสามพันครั้ง ตลอดระยะเวลาประมาณสามร้อยปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  นักท่องเที่ยว คนที่สามารถมีประสบการณ์ทั้งสองอย่าง เท่านั้น  ที่จะแยกออกได้ว่า ประสบการณ์ในโรงละครริชเชอลิเยอ เป็นประสบการณ์ขั้นเทพ  ส่วนประสบการณ์ที่ย่านปิกาลล์ คือประสบการณ์ขั้นเดรัจฉาน  และเขาจะชอบประสบการณ์ที่โรงละครริชเชอลิเยอ  มากกว่า  ประสบการณ์ที่ย่านปิกาลล์ โดยอัตโนมัติด้วยตัวของเขาเอง ไม่ต้องมีใครมาชี้นำ บอกกล่าว สั่งสอน 

กล่อมกันเปล่าเนี่ยะ ?  เรายังไม่ได้รับคำตอบ ต่อปริศนาซ้อน ที่แฝงอยู่กับปริศนาข้อนี้  กล่าวคือ  ปริศนาซ้อนมีว่า  นักท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์ทั้งสองอย่าง  เขาจะแยกออกได้อย่างไร ?  ทำไมเขาถึงได้สำนึกรู้ ได้ด้วยตัวของเขาเอง ว่า ประสบการณ์ที่ย่านปิกาลล์เป็นประสบการณ์เดรัจฉาน  แต่ประสบการณ์ที่โรงละครริชเชอลิเยอคือขั้นเทพ ?  เขารู้ได้อย่างไร ?  ดัดจริต-เปล่า ?  โห...ทำไมเขาเสแสร้ง เป็นนักแสดง เก่งได้ขนาดนั้น ?

ศ.แซนเดล ช่วยไขปริศนาซ้อนข้อนี้ให้เรา(Episode 02 ที่เวลาวีเดโอ 49:05)  แต่ผู้เขียนจะขอสรุปตามครรลองเดียวกันนั้น โดยใช้ตัวอย่างที่ยกขึ้นเองข้างบน เกี่ยวกับ ย่านปิกาลกับโรงละครริชเชอลิเยอ ก็แล้วกัน ว่า.....

เราผู้สามารถมีประสบการณ์ทั้งสองอย่าง  ประสบการณ์ทั้งสองนั้น จะบอกเราเองว่า ความสุขขั้นเทพ ที่โรงละครริชเชอลิเยอ เรียกร้องขีดความสามารถที่หลากหลาย รอบด้าน ครบเครื่อง และต้องการการพัฒนาตนเองที่สูงขึ้น มากกว่าประสบการณ์ความสุขขั้นเดรัจฉานของเราเอง (ไม่ใช่ของใคร)ที่ย่านปิกาลล์  เช่น เราจะต้องรู้ภาษาฝรั่งเศสขั้นสูงขึ้น กว่าภาษาฝรั่งเศสที่ใช้กันในย่านปิกาลล์ เป็นต้น  คนที่มีประสบการณ์ได้แต่กับย่านปิกาลล์เพียงอย่างเดียว  จะรู้แต่คำว่า เงี่ยน   ส่วนผู้ที่สามารถจะมีประสบการณ์ได้ทั้งสองแห่ง  นอกจากจะรู้จัก เงี่ยน แบบที่ปิกาลล์แล้ว  เขายังไปโรงละครริชเชอลิเยอ ที่จัตุรัสก็อลแล็ต เพื่อจะเพลินเพลิน เอ็นจอย กับการพูดจาแสดงออกซึ่งคำว่า เงี่ยน เสียใหม่ว่า ผาณิตผิชิดมด ฤจะอดบ่อาจมี  เป็นต้น 


จบ--สรุปภาษาไทย 
Episode 02/12  "ค่าของคน-คุณราคาเท่าไร กับ ความสุขสันต์หรรษา
-----------------------------------------------------------------------------
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและในโลก สำหรับตอนนี้เชิญตามลิงก์ครับ