open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

HV5/12 ปรัชญา-ความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ ตอน 05

สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล
เรื่องความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ Episode 05/12  

--------------------------------------------------
คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

ประเด็นที่คอยตีกรอบจำกัดการปกครอง  ที่แม้แต่เสียงข้างมากก็ไม่อาจจะหักล้างได้ คือ อะไร

----------------------------------------------------


มือปืนรับจ้าง
Episode 05 part 1

ในตอนก่อน ศ.แซนเดล ทิ้งท้ายด้วยเรื่องการปกครองโดยได้รับความยินยอม  ตามความคิดของอาจารย์จอห์น ล็อค ที่เห็นว่า มนุษย์ ยินยอม เข้ามาอยู่กันเป็นบ้านเมือง ยอมรับขื่อแปของบ้านเมืองปกครอง  ซึ่งขื่อแปนี้ไม่ใช่กฎธรรมชาติ  และไม่ใช่กฎของพระเจ้า  แต่เป็นกฎของมนุษย์ 

อย่างไรก็ดี คำถามที่ ศ.แซนเดลตั้งทิ้งท้ายไว้ มีว่า  ประเด็นที่คอยตีกรอบการเมือง จำกัดการปกครอง  ที่แม้แต่เสียงข้างมาก ก็ไม่อาจจะหักล้างได้ คือ อะไร

กรณี สิทธิในทรัพย์สิน  ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสิทธิตามธรรมชาติ อันมิอาจพรากไปจากมนุษย์ได้ ตามความเห็นของ อาจารย์ จอห์น ล็อค นั้น  ความยินยอมที่จะอยู่ในบ้านเมือง ยอมรับขื่อแปของบ้านเมือง  ก็เท่ากับมนุษย์ยินยอมให้รัฐเก็บภาษีอากร ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ การพรากเอาทรัพย์ไปจากผู้คน  แต่ทั้งนี้ กรอบของกฎหมายภาษีอากรดังกล่าวจะต้อง  บังคับใช้กับทุกคนเสมอหน้ากัน  มิใช่เพ่งเล็งเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ  ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจทางการเมือง  เช่น ออกกฎหมายมาเก็บภาษีเจาะจงเอากับ นายบิล เกต เพื่อนำเงินไปทำสงครามอิรัค เป็นต้น     

สรุปว่า ในตอนก่อน ศ.แซนเดล ตีประเด็นแตกไปแล้วหนึ่งประเด็น คือ เรื่องสิทธิในทรัพย์สิน  ในการบรรยายครั้งนี้  ท่านได้กล่าวต่อไปถึง สิทธิในชีวิต  “The right to life”  กล่าวคือ รัฐจะเกณฑ์ผู้คนเป็นทหารไปรบได้หรือไม่  ในเมื่อมนุษย์เป็นเจ้าของตัวเขาเอง  สิทธิในชีวิตก็เป็นสิทธิหนึ่งในสาม ที่ใครจะพรากไปเสียจากมนุษย์ไม่ได้  ดังนั้น จะถูกหรือไม่ ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ บังคับประชาชนจำนวนหนึ่งว่า พวกคุณจะต้องไปเสี่ยงชีวิตเพื่อรบในอิรัค  

เรื่องนี้ จอห์น ล็อค เห็นว่า ทำได้และถูกต้อง - ถ้าออกกฎหมายมาบังคับเสมอภาคกัน ถ้วนหน้า

อาจารย์ แซนเดล ถามความเห็นของนักศึกษา กรณีที่ ถ้ากองทัพสหรัฐฯซึ่งไปรบสงครามอิรัค ขาดแคลนกำลังพล  แล้วมีผู้เสนอแก้ไขปัญหาด้วยวิธีสามวิธีดังต่อไปนี้  หากนักศึกษาผู้ใดเห็นด้วยกับข้อไหน  ขอใ้ห้ยกมือ

1)   เพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการ เพื่อจูงใจให้คนมาสมัครเป็นทหารจำนวนมากขึ้น 
นักศึกษายกมือ ท่วมท้น
2) เกณท์ทหารด้วยวิธีออกลอตเตอรี  เลขใครออก คนนั้นต้องไปรบ
นักศึกษายกมือ ราวหนึ่งโหล

3) ใช้วิธี outsourcing คือ จ้างคนต่างชาติจากทั่วโลก ไปรบแทน
นักศึกษายกมือ สองสามโหล

ศ. แซนเดลเล่าว่า ในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ  ชายที่ถูกเกณฑ์ทหาร  มีทางเลือกที่จะไม่ต้องไปรบ  เขาสามารถส่งตัวแทนเข้ากองทัพแทนตนได้  

ศ. แซนเดล ถามนักศึกษาว่า นโยบายเช่นนั้นยุติธรรมหรือไม่ นักศึกษาหลายคนเห็นว่า ไม่ยุติธรรม  การอนุญาตให้คนมั่งมี เลี่ยงการเสี่ยงชีวิตรับใช้ชาติ  ด้วยการจ่ายเงินจ้างคนด้อยโอกาส ให้ไปรบแทนตนนั้น เป็นการไม่ยุติธรรม

จึงมีการอภิปรายในชั้นเรียน เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งอาจจะแย้งกับ หลักเรื่องความยินยอม  ในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น

  • กองทัพอาสาสมัคร เช่นที่กองทัพสหรัฐฯเป็นอยู่ทุกวันนี้ เข้าข่ายเดียวกันกับกองทัพสมัยสงครามกลางเมือง--ใช่หรือไม่ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ระบบตลาด เข้ามามีส่วนไม่มากก็น้อย ในการสรรหาคนเข้ากองทัพ

  • การรับราชการทหาร ควรให้ตลาดเป็นผู้กำหนด หรือควรใช้วิธีเกณฑ์ทหาร--เพราะถือว่าเป็นหน้าที่พลเมือง

  • ความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง มีบทบาทอย่างไร  และในฐานะประชาชนพลเมือง คนเรามีพันธะกรณี ที่จะต้องปฏิบัติต่อชาติบ้านเมืองหรือไม่อย่างไร

  • การรับใช้ประเทศชาติ เป็นหน้าที่พลเมือง หรือไม่

  • ถ้า การเป็นทหารรับใช้ประเทศชาติ เป็นหน้าที่พลเมือง ทางฝ่ายผู้นับถือปรัชญาประโยชน์นิยม กับผู้นับถือปรัชญาเสรีนิยม จะสามารถกำหนดภาระความรับผิดชอบต่อหน้าที่นี้ ตามแนวคิดปรัชญาของตน ได้หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นปรัชญาประเด็นเหล่านี้ ผู้สรุปภาษาไทยเห็นว่า สำหรับสังคมอเมริกัน การได้ยกขึ้นเป็นประเด็นเพื่อการอภิปราย ก็เป็นการประเทืองสติปัญญาพอแล้ว ข้อสรุปไม่สำคัญสักเท่าใด

หมายเหตุ: เปรียบเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทย กฎหมายเกณท์ทหารสมัยใหม่ของไทย  ได้แก่ พระราชบัญญัติเกณท์ทหาร พ.ศ. ๒๔๖๐”  ซึ่งออกมาประมาณ 50 ปี หลังสงครามกลางเมืองอเมริกัน มาตรา ๔ ความตอนหนึ่งว่า

          ผู้ชายที่เป็นไทยตามความในพระราชบัญญัติสัญชาติ พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ มาตรา ๓  มีหน้าที่ต้องรับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน 

ให้สังเกตว่า บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ด้วยตนเอง”




ความเป็นแม่ ที่ซื้อขายกันได้
Episode 05 part 2


ศ. แซนเดล พิเคราะห์หลักการตลาดเสรี โดยสาธกปัญหาปัจจุบัน เรื่องตลาดการสืบพันธุ์ --  ธุรกิจการซื้อขายไข่ในรังไข่สตรี กับธุรกิจน้ำเชื้อชาย โดยยกตัวอย่างคดี ทารก เอ็ม อันเป็นคดีดังในช่วงกลางทศวรรษที่ 80  คดีดังกล่าวประกอบด้วยทั้งปัญหาข้อกฎหมาย ปัญหาข้อเท็จจริง และปัญหาปรัชญา

โดยที่ข้อใหญ่ใจความของคดี อยู่กับปริศนาที่ ว่า ผู้ใดคือเจ้าของทารก  กันแน่

เรื่องราวมีดังนี้  เมื่อปี 1985 สตรีชื่อ นางแมรี เบธ ไวท์เฮด ได้ลงนามในสัญญา กับสองสามีภรรยาชาวนิวเจอร์ซี  ตกลงกันว่า นางไวท์เฮดยินยอมทำหน้าที่เป็นแม่อุ้มท้องให้  ทั้งนี้ โดยรับค่าจ้างจำนวน 10,000 ดอลลาร์  โดยที่สองสามีภรรยาผู้ว่าจ้างจะออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด  ครั้นทารกคลอดแล้ว ปรากฏว่านางไวท์เฮด เปลี่ยนใจ เธอปรารถนาจะได้ทารกไว้เอง  คดีนี้ขึ้นสู่ศาลรัฐนิวเจอร์ซี

ศ. แซนเดล ให้นักศึกษายกมือว่า การบังคับคดี ตามสัญญาฉบับนั้น  เป็นสิ่งที่ถูกที่ควร ที่ยุติธรรมหรือไม่  หรือว่าสิ่งที่ถูกที่ควร ที่ยุติธรรม คือ ไม่ควรบังคับสัญญา  แล้วปล่อยให้นางไวท์เฮดได้เป็นเจ้าของทารก  ผลการยกมือปรากฏว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ให้บังคับตามสัญญา คือ ทารกจะต้องตกเป็นของสามีภรรยาผู้ว่าจ้างการอุ้มท้อง

ศ. แซนเดล ขอให้นักศึกษาอภิปราย ว่าทำไมจึงเห็นว่าควรบังคับสัญญา และทำไมจึงเห็นว่าไม่ควรบังคับสัญญา  ซึ่งก็มีนักศึกษาแสดงเหตุผลทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  ทั้งนี้โดยอยู่ในกรอบแห่ง - ความยินยอม  เรื่อง - การรู้ข้อมูลอย่างเพียงพอของคู่สัญญา ตลอดจนเรื่อง - ศิลธรรมในการซื้อขายมนุษย์ กับเรื่อง - สิทธิแห่งผู้เป็นแม่

ศาลชั้นต้นรัฐนิวเจอร์ซีตัดสินว่า สัญญาฉบับนี้ย่อมบังคับได้ คู่สัญญาไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจต่อรองสูงกว่ากัน  มีการกำหนดค่าบริการ  และมีการตกลงสัญญากันด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจเหนือ คอยบังคับฝ่ายใด 

ต่อมา คดีขึ้นสู่ศาลฎีกาัรัฐนิวเจอร์ซี  ศาลฎีกาฯตัดสินกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ว่าสัญญานี้จะบังคับไม่ได้  แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาฯได้มีคำสั่งให้นายสเตอร์น-ผู้เป็นเจ้าของน้ำเชื้อ ได้เป็นผู้ดูแลทารก  เพราะเห็นว่าจะดีแ่ก่ทารกที่สุด  ขณะเดียวกันก็คืนสิทธิแห่งความเป็นแม่ให้แก่นางไวท์เฮด  พร้อมกันนั้น ก็ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาตัดสินปรับรายละเอียดประเด็นอื่นๆ ให้เป็นไปตามนัยนี้       

ศาลฎีกาอ้างเหตุผลสองประการ ที่ตัดสินให้สัญญาเป็นโมฆะ(หมายความว่าบังคับไม่ได้) คือ 1) ผู้เป็นแม่โดยธรรมชาติ ได้ทำสัญญาด้วยความยินยอม โดยที่ไม่รู้ข้อมูลเพียงพอ  กล่าวคือ พันธะแห่งความเป็นแม่ที่มีต่อทารกนั้น ไม่อาจรู้ได้ก่อนทารกเกิด  สัญญานั้นจึงไม่ใช่นิติกรรมที่ทำด้วยใจสมัครเต็มร้อย  2) ศาลฎีกาฯไม่เห็นด้วยกับการนำทารกมาทำเป็นสินค้า  โดยเห็นว่าคดีนี้เกี่ยวด้วยการซื้อขายทารก หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นการขายสิทธิความเป็นแม่  ซึ่งรายการทางการค้าดังกล่าวนี้ มีเจตนาทำกำไร  ศาลเห็นว่าในสังคมที่ศิวิไลซ์ จะมีบางสิ่งบางอย่างที่จะซื้อขายกันไม่ได้

ศ. แซนเดล ชี้ให้เห็นประเด็นจากคดีตัวอย่างว่า ความยินยอม  จะไม่สมบูรณ์ได้ด้วยเหตุสองประการ คือ 1) ถ้าบุคคลถูกบังคับให้ยินยอม 2) ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีข้อมูลเพียงพอ

ศ. แซนเดลได้อ้างถึงนักปรัชญายุคปัจจุบัน อะลิซาเบธ แอนเดอสัน  ผู้ได้ศึกษาคดีนี้และทำความเห็นประกอบไว้  เธอเห็นว่าตามสัญญา แรงงานของแม่อุ้มท้องเป็นแรงงานแปลกแยก(alienated labour)  เธอชี้ว่า บางสิ่งบางอย่างไม่ควรถือเป็นสิ่งที่ใช้สอยกันได้ หรือมีไว้เพื่อการค้าทำกำไร  บางสิ่งบางอย่างเหล่านั้นมีวิธีประเมินค่า อันเป็นวิธีการที่แตกต่างจากความคิดคำนึงเรื่องประโยชน์ใช้สอย หรือกำไรขาดทุน  บางสิ่งบางอย่างเหล่านั้นเธอยกตัวอย่างว่า ได้แก่ ความรู้สึกเคารพ ความชื่นชม ความรัก เกียรติศักดิ์ ความรู้สึกทึ่ง ความศักดิ์สิทธิ์  สิ่งเหล่านี้ถ้าหากประเมินด้วยวิธีประเมินประโยชน์ใช้สอยหรือกำไรขาดทุน  เราจะไม่สามารถประเมินสิ่งเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ 

ศ. แซนเดล กล่าวตอนจบการบรรยายว่า  นักศึกษาจะได้ทำความรู้จักกับวิธีประเมินค่า  ที่ไม่ใช่การประเมินประโยชน์ใช้สอยหรือกำไรขาดทุน  ในคำบรรยายลำดับต่อ ๆ ไป

---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย ตอน:Episode 05/12 "มือปืนรับจ้าง กับ ความเป็นแม่ที่ซื้อขายกันได้"

ชมต้นฉบับวิดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
-สำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=8yT4RZy1t3s

บทสรุปภาษาไทยตอนนี้ ตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร MBA ฉบับ Oct-Nov 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น