open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

VillageLife วีดีโอมิวสิคเพลง “ใกล้รุ่ง”


เพื่อนคนที่ผมเคยเขียนถึงอยู่ในบลอค แต่ในชีวิตจริง – ที่จริงอินเตอร์เนตก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริง – เราไม่ได้พบปะเจอะเจอกันนานปี  ล่าสุดพบกันที่บ้านเขาในซอย ถนนสุขุมวิท กทม. คุณแม่ของเพื่อนท่านมีเมตตาต่อผมมาก และผมเคารพรักท่านมาก รองจากแม่ผมเอง ผมจึงเสมือนคนมีแม่สองคน แม่จริงซึ่งเป็นชาวนาชาวสวน – สอนให้รู้จักมีน้ำอดน้ำทน สู้ชีวิตและสู้คน  กับแม่เชิงจิตวิญญาณที่เป็นคนนาครธรรม – สอนให้รู้จักดำเนินชีวิตที่ดีที่งาม(สำหรับตัวเอง)



จะหัวเด็ดตีนขาดอย่างไร ผมคงไม่เอ่ยชื่อเพื่อนในทางสาธารณะ  แต่เขาเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญ และปรากฏนามอยู่กับวีดีโอ Near Dawn ข้างบนนั้น

เพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” ผมชอบมากมาแต่สมัยรุ่น ๆ ทุกวันนี้ยังฮัมเพลงนี้และร้องเล่นประจำ เป็นความสบายอกสบายใจอย่างหนึ่ง

ผลงานมิวสิควีดีโอข้างบน การร้อง ดนตรี และการถ่ายทำ ตามอัตวิสัยผมเอง – เห็นว่าเป็นอย่างเอก หนึ่งไม่มีสอง ผมฟังและชมซ้ำ ๆ นับสิบครั้ง ไม่เบื่อ  ทั่วทั้งโลกไซเบอร์คงจะมีแต่คนไทยเท่านั้น ที่จะสามารถทำเพลงนี้ได้ผลงานออกมาวิเศษอย่างนี้

ขอบคุณผู้ที่นำมาแบ่งปันกันชมและฟัง เปิดโอกาสให้ผมได้แบ่งปันต่อไปกับมิตรสหาย ท่านผู้อ่านบลอคและเฟสบุค 

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

Village Life: คุณเจ้ ผู้บูชาท่านประธานเหมา


ผู้เขียนเคยมีสหายสตรีผู้หนึ่ง เธอมีเจ้ ผู้คลั่งประธานเหมาชนิดคำก็ประธานเหมา สองคำก็ประธานเหมา เช่น เธอเคยบอกผู้เขียนอย่างซีเรียส ว่า

“นี่แนะ ท่านประธานเหมาสั่งให้ดื่มน้ำหนึ่งแก้ว ตอนเช้า”

ครั้นอินเตอร์เนตแพร่หลายมากขึ้น ประมาณปี 2543 ผู้เขียนก็พบว่าใช่แต่ประธานเหมาเท่านั้น ประธานอื่น ๆ รวมทั้งคนที่ไม่ได้เป็นประธานอะไรอีกหลายคน ต่างก็พูดตรงกันว่า ให้ดื่มน้ำหนึ่งแก้วตอนเช้า



ฉบับแปลเป็นอังกฤษอย่างเป็นทางการ ต้นฉบับพิมพ์เผยแพร่โดย กองทัพปลดแอกประชาชนจีน

Quotations from Chairman Mao Tse-tung: Bilingual Edition, English and Chinese 毛主席语录: The Little Red Book by [毛泽东, Mao Tse-tung]


คุณเจ้ แกมีความคิดความอ่านแหลมคมฉับไว เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เธอเคยบอกผู้เขียนว่า ความสำเร็จของคนก็คือ นี่งัย $ เครื่องหมายยูเอสดอลลาร์  - ซัคเซส - Success ก็คือ ยูเอส ดอลลาร์ $ แบบว่า เยอะ ๆ

ผู้เขียนฟังความคิดความอ่านของเธออย่างสนใจ แต่ก็ไม่วายปนระคนสงสัย เช่น สงสัยว่าประธานเหมากับยูเอสดอลลาร์ จะมาปนคละกันอยู่ได้งัยเนี่ยะ ฟังดูคล้ายกับการเมืองสไตล์คอมมิวนิสต์ แต่เศรษฐกิจเป็นระบอบนายทุน - อะไรเทือกนั้น แต่ถ้าการเมืองเป็นแบบโดแนลทรัมพ์  แต่เศรษฐกิจเป็นระบอบเหมาเซตุง จะผสมพันธ์กันได้งัยเนี่ยะ

หรือยกตัวอย่างในบริบทจีน สมมติว่า พรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คอยู่ที่ปักกิ่ง ส่วนคอมมิวนิสต์ของเมาเซตุงอยู่ที่ ไทเป ไต้หวัน  อย่างนี้เจ้จะยัง “คลั่ง”ประธานเหมาอยู่หรือเปล่า?

อันที่จริง เจ้แกรู้จักและมักจี่คนใหญ่คนโตทั่วไป เช่น อดีตนายกรมต.ชวน หลีกภัย แกก็รู้จักมักจี่ อดีตนายกรมต.บัญญัติ บรรทัดฐาน แกก็รู้จักมักจี่ คนหลังนี้นัยว่าจะเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกันกับเธอด้วยซ้ำ

สมัยที่คุณบรรญัติ เป็นนายกรมต. เจ้แกก็เริ่มได้รับการแต่งตั้ง เข้าไปดำรงตำแหน่งใหญ่โต นั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยที่เธอมีตำแหน่งทางวิชาการ เป็นถึง “รองศาสตราจารย์” ใน คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องบัญน้ำบัญชีผู้เขียนเคยเรียนกับอาจารย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (L’Institut d’Administration des Entreprises) มหาวิทยาลัยบอร์โดส์ ฝรั่งเศส  ส่วนอาจารย๋ท่านสอนอะไรไว้บ้างนั้นก็ลืมหมดแล้ว – ขออภัย  แต่จำได้อยู่อย่าง คือท่านสอนไว้ว่า

“ในบรรดาความทรงจำสองสามอย่างที่มนุษย์ยากที่จะลืม หนึ่งในนั้นได้แก่ ความทรงจำทางการเงิน”

หรือภาษาฝรั่งเศสว่า ลา เม็มมัวร์ ฟิน็องซิแยร์ – la mémoire financière  หรือถ้าจะถือวิสาสะแปลเป็นภาษาอังกฤษ ก็น่าจะแปลได้ว่า financial memory

ประธานเหมาสอนว่า เราต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ซึ่งที่จริงก็คือประเด็นของข้อเขียนชิ้นนี้นั่นเอง เพราะในบรรดาจุดต่างมากมาย ผู้เขียนมีจุดร่วมกับเจ้แกอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ผู้เขียนมีเงินก้อนหนึ่งอยู่กับเจ้ ในความทรงจำทางการเงินอันไม่ลืมเลือนของผู้เขียน เงินก้อนนั้นมีจำนวนหนึ่งล้านบาท แต่เจ้แกคืนให้มาแล้วห้าแสนบาท ยังคงเหลืออยู่กับเจ้อีกห้าแสนบาท

วันก่อน ผู้เขียนฝากญาติโทรศัพท์ไปทวงถามถึงเงินจำนวนห้าแสนบาทจำนวนดังกล่าว เจ้แกตะเพิดญาติผู้เขียนมาทางโทรศัพท์ว่า

“ทีหลัง อย่าโทรมาอีก นะ”

ท่านผู้อ่านไม่จำเป็นจะต้องเดา ก็รู้ชัดว่านั่นคือเหตุผล ที่จะต้องนำเรื่องนี้มาแถลงในบลอค ทั้งนี้ก็เพราะว่า เจ้แกห้ามใช้โทรศัพท์นั่นเอง – แต่แกไม่ได้ห้ามเขียนในบลอค

ในความทรงจำที่มิใช่ความทรงจำทางการเงิน หรือที่ไม่ใช่ เม็มมัวร์ ฟิน็องซิแยร์ ซึ่งมีสิทธิที่จะเลอะเลือนได้ แต่จำได้ว่า เจ้แกเป็นอาจารย์ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เจ้แกไม่ได้เป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาศาสตร์(Linguistics) คณะศิลปะศาสตร์ ซะหน่อย

วิชาภาษาศาสตร์มี มโนทัศน์ หรือ concept เกี่ยวกับการหยิบยืมที่อาจไม่เหมือนใคร และแน่ ๆ ว่าไม่เหมือนมโนทัศน์เรื่องเดียวกันในวิชาการบัญชี กล่าวคือ การยืมคำจากภาษาหนึ่งมาใช้ในอีกภาษาหนึ่ง กลายเป็นคำชนิดที่เขาเรียกว่า “คำยืม” นั้น เขายืมกันแล้ว ไม่คืน

ยกตัวอย่างเช่น ภาษาไทยยืมคำอังกฤษว่า นิว  กับยืมคำจีนว่า เปงเชียง  นำมาใช้เป็นคำยืมอยู่ในภาษาไทย – และไม่ยอมคืน ว่า – นิว เปงเชียง 



หรือภาษาจีนยืมคำไทยโบราณว่า สามแผ่น – หมายถึงไม้สามแผ่น ไปใช้ในภาษาจีนว่า ซำปัน หมายถึงเรือ สำปั้น ที่ในภายหลังไทยยืมกลับเข้ามาใช้ในภาษาไทย – และนี่ก็ไม่คืน

เรือสำปั้นพระบิณฑบาตร(เรือจำลอง)

แต่ว่า ยืมแล้วไม่คืน นั่นเป็นหลักในวิชาภาษาศาสตร์ ตามปกติแล้วหลักบัญชีอันเป็นสากล           
เดบิท_เงินสด แล้ว เครดิต_เจ้าหนี้ ครับ

แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่คน “คลั่งประธานเหมา” แต่ตัวเองก็มีเชื้อจีน สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า I’m a quarter Chinese. คือมีเชื้อจีนอยู่หนึ่งในสี่  อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับคนในเมืองจีนจำนวนมากในปัจจุบัน ที่คิดว่าประธานเหมาได้สร้างความเสียหายแก่แผ่นดินจีน สมควรถูกลงโทษ ผู้เขียนยังคงเห็นว่า ประธานเหมาสั่งสอนไว้น่าเคารพหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น วาทะประธานเหมา แปลภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการข้อที่ผู้เขียนทำตัวเอนและแปลไทยไว้ในวงเล็บ

วาทะประธานเหมา บางข้อ:

The Three Main Rules of Discipline are as follows:


(1) Obey orders in all your actions.

(2) Do not take a single needle piece of thread from the masses. (อย่ามั่วเอาเข็มแม้สักเล่ม หรือด้ายสักเส้นจากมวลชน – รวมทั้งจาก ปรีชา ด้วย)

(3) Turn in everything captured.

The Eight Points for Attention are as follows:


(1) Speak politely. (เจรจาสุภาพ - รวมทั้งอย่าตะเพิดญาติเจ้าหนี้ เวลาญาติเจ้าหนี้โทรมา)

(2) Pay fairly for what you buy.

(3) Return everything you borrow. (คืนทุกสิ่งที่ยืมมา - รวมทั้งเงินคงค้างอีก 500,000 บาทของ ปรีชา ด้วย)

(4) …… (5) ….. (6) ….. (7) ….. (8) …..


เพราะฉะนั้น หลังจากที่ได้ติดต่อท่านประธานเหมา ผ่าน การนั่งทางใน โดยอาจารย์ไสย(ศาสตร์)ประจำตำบลนาพญา อำเภอหลังสวน แล้ว  อาจารย์ไสยฯบอกว่า ท่านประธานเหมาสั่งมาว่า ให้ น.ส.ประนอม โฆวินิวพัฒน์ ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ คณะบัญชี ธรรมศาสตร์ ต้องคืนเงินต้นจำนวนห้าแสนบาท แก่นายปรีชา ทิวะหุต โดยที่นายปรีชา ทิวะหุต สมัครใจยกดอกเบี้ยกึ่งหนึ่งให้แก่ น.ส.ประนอม แบบให้เปล่า ส่วนดอกเบี้ยอีกกึ่งหนึ่งขอทำบุญกับ กองทุนวันเกิด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  – อย่าลืมออกใบเสร็จรับเงินให้ปรีชา ด้วยนะครับ รองศาสตราจารย์ประนอม

อนึ่ง ประเด็นต่อไปนี้สำคัญ ในการติดต่อท่านประธานเหมาด้วยการนั่งทางในนั้น ท่านอนุญาตให้เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง The Eight Points for Attention ของท่านเป็น Nine Points

โดยข้อใหม่ ข้อที่ (9) ความว่า


(9) Cheaters must be punished.


ปรีชา ทิวะหุต
บ้านนาพญา
อำเภอหลังสวน
จังหวัดชุมพร




ลิงก์ข้างล่างทั้งหมด 10 ลิงก์ โยงไปหา รองศาสตราจารย์ ประนอมฯ

หรือที่

ตั้ง 2 กรรมการใหม่ แทน ประนอม โฆวินวิพัฒน์ -วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ชอบด้วยกฎหมาย

รายย่อยจับมือ "ทวิช" เสนอชื่อ 6 อรหันต์

ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกพิจารณากลั่นกรองบทความ วารสารวิชาการบริหารธุรกิจ

บทความนี้ เผยแพร่อยู่ที่ 

โปรด ช่วยแชร์ลิงก์ - ขอบคุณครับ


วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

VillageLife มหาเศรษฐี สามหมื่นสองพันล้านบาท จากการเขียนหนังสือ


การที่ท่านอุตส่าห์ติดตามอ่านบลอคนี้ ผู้เขียนนึกขอบคุณท่านผู้อ่านเสมอ  แม้ผู้เขียนจะรู้สึกอายที่จะเปิดเผยตัวเลข เพราะจำนวนท่านผู้อ่านบลอคไม่ได้มากมายอะไรเลย และตลอดมาเป็นปี ก็ไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นสักกี่คน

แต่สัจธรรมข้อหนึ่งได้รับการพิสูจน์ยืนยัน จากความจริงดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ คนมีคุณภาพย่อมมีจำนวนเพียงกระหยิบมือเดียว น้อยนิดกระจิ๋วหริวกว่าพวกโหลยโถ้ย ชัวร์ ๆ อยู่แล้ว

เพราะรู้คุณและเห็นค่าท่านผู้อ่าน ผู้เขียนได้เพียร คิด คิด คิด คิด คิดว่าจะหาของขวัญสักชิ้นหนึ่ง เป็นของขวัญปีใหม่ 2562 แก่ท่านผู้อ่านที่เคารพจำนวนไม่มากของบลอคนี้ – ไม่ต้องเป็นกังวลครับ พบแล้ว

ทำเสื้อยืดแจก แหงเลย?  แล้วเขียนที่อกเสื้อว่า

                                      We’re fans of
                                      Dev Napya

                                      เรา คือ แฟน
                                      เดฟ นาพญา

โอเค ทำเล้ยยยยยยย....ไม่กี่ตัวเอง!!!

ขอโทษครับ – ท่านเดาคลาดเคลื่อน เลื่อนเปื้อนไปกันใหญ่  โปรดชมวีดีโอต่อไปนี้





วีดีโอนี้รวบรวมคำแนะนำของนักเขียนคนแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่เพียงด้วยปลายปากกาของเธอ สามารถสร้างทรัพย์สินมีมูลค่า ปี 2561 ประมาณหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ สามหมื่นสองพันล้านบาท

ถ้านำมูลค่าทรัพย์สินของเธอ มาเทียบกับทำเนียบมหาเศรษฐีเมืองไทย  ถึงแม้เธอจะไม่ติดอันดับระดับต้น ๆ แต่เธอก็ไม่ใช่มหาเศรษฐีปลายแถว  อย่าลืม – สามหมื่นสองพัน ล้านบาทครับ

เธอคือ เจ.เค. โรลลิง – J.K. Rowling (ไฮเปอร์ลิงก์) นักเขียนผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง แฮรี ปอตเตอร์
แฟนผู้สร้างวีดีโอเรื่องนี้ ได้รวบรวมคำพูดตามที่ต่าง ๆ ต่างกรรมต่างวาระของเธอ มารวบรวมไว้ในที่เดียว คัดเฉพาะที่เขาเห็นว่าเป็นคำแนะนำที่มีค่า ไม่เฉพาะกับผู้มีใจรักการขีดเขียน แต่ผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ ก็น่าที่จะนำไปปรับใช้ได้  ทั้งหมดมี 10 ประการ

ผู้เขียนบลอคมีเจตนาทำงานชิ้นนี้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ท่านผู้อ่านบลอค  ไม่ได้แปลคำแนะนำของ เจ เค โรลลิง แบบคำต่อคำ วลีต่อวลี หรือประโยคต่อประโยค  แต่ได้ใช้วิธีพยายามทำความเข้าใจ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทย ให้ได้ใจความชนิดที่เห็นว่า นี่แหละใช่ ดังนี้ครับ


1)   ความล้มเหลว ช่วยให้เราพบตัวตนแท้จริงของเรา

การที่เราล้มเหลวทำให้เราเกิดความมั่นคงภายใน ที่เราไม่อาจหาได้จากประสบการณ์อื่นใดในชีวิต  ความล้มเหลวสอนฉันว่า ที่จริงฉันเป็นคนมีความตั้งใจแข็งแรงมั่นคง อดทน และมีวินัยกว่าที่ฉันเคยคิด

ความล้มเหลวยังทำให้ฉันพบอีกว่า ฉันยังมีมิตรสหาย มีเพื่อน ผู้มีคุณค่าสูงกว่าเพชรนิลจินดาใด ๆ

เราฟันฝ่าผ่านอุปสรรคมาได้ พร้อมกับจิตใจที่เฉลียวฉลาดขึ้นกว่าเดิม แปลว่าตลอดไปในภายภาคหน้า เราจะมั่นคงอยู่กับขีดความสามารถที่จะรู้รักษาตัวรอดของเราเอง

อนึ่ง เราไม่อาจรู้จักตนเอง หรือรู้ถึงความแข็งแรงแห่งสัมพันธภาพที่เรามีอยู่ ตราบเท่าที่ทั้งสองสิ่งนี้ ไม่เคยผ่านการทดสอบจากอุปสรรคขวากหนาม ความรู้ข้อนี้เป็นของกำนัลอันมีค่าแก่ชีวิต ที่เราจะได้จากประสบการณ์อันเจ็บปวด และเป็นคุณสมบัติวิเศษ เลอเลิศกว่าคุณสมบัติอื่นใดที่ฉันเคยมีมาก่อนหน้านี้


2)   ลงมือทำ ตามความคิดของเรา

ฉันได้ความคิดมาเขียนเรื่อง แฮรี ปอตเตอร์ ระหว่างนั่งรถไฟจากเมืองแมนเชสเตอร์ มากรุงลอนดอน

อย่างแปลกประหลาดที่สุด ฉันรู้สึกแวบขึ้นมาในใจ แล้วฉันก็รู้ว่า นี่เป็นความคิดอันวิเศษ โอ พระเจ้า ฉันรักที่จะเขียนตามความคิดนี้มาก ฉันพบแล้ว พอลงจากรถไฟ ก็ตรงกลับบ้าน นั่งลงเขียนทันที

เมื่อถูกถามว่า คุณไม่เคยมีความคิดทำนองนี้มาก่อนบ้างเลยหรือ  เธอตอบว่า เคย ทำไมจะไม่เคย แต่ไม่เคยมีความคิดใดที่จับจิตจับใจเท่านี้


3)   เราจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์

วรรณคดี ดนตรี และภาพยนตร์ ล้วนเป็นอัตวิสัยสุด ๆ ขึ้นอยู่กับคนแต่ละคน เพราะฉะนั้น เป็นธรรมดาอยู่เองที่เราจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่นั่นเป็นสัจธรรม นั่นคือความเป็นความอยู่ของงาน  นั่นคือจิตวิญญาณของงาน คือเป็นการแสดงออกซึ่งอัตวิสัยอย่างแท้จริง ที่จะต้องถูกวิจารณ์

ถ้าคุณอยากได้ยินแต่คำสรรเสริญเยินยอ แซ่สร้องสดุดีไม่หยุดปาก คุณก็ควรออกไปเสียจากวงการนี้


4)   อย่าลืมกำพืดแท้จริงของเรา อย่าลืมจุดเริ่มต้นของเรา

เธอนำผู้ถ่ายทำวีดีโอเยี่ยมแฟลตเก่าที่เธอเคยอยู่  เป็นที่ ๆ เธอเขียน แฮรี ปอตเตอร์ เธอเล่าว่า ทุกอย่างเริ่มจากที่นั่น เวลานั้นชีวิตเธอยากจนและลำบากแสนสาหัส หมอวิเคราะห์ว่า เธอเป็นโรคหดหู่อย่างแรง

เธอไม่นึกเลยว่า ชีวิตเธอจะกลายเป็นประหนึ่งเทพนิยาย เช่นที่เธอกำลังเป็นอยู่นี้ เธอเล่าไปพลาง ร้องให้ไปพลาง

เธอยังกลับไปเยี่ยมอะพาร์ตเมนต์เก่าแห่งนั้นเสมอ เพราะที่นั่นคือรากฐานที่ส่งให้เธอประสบความสำเร็จ และมีชีวิตดุจเทพนิยาย


5)   ความเชื่อมั่น และ ศรัทธา

เธอเชื่อถือศรัทธาในตนอยู่อย่างหนึ่ง คือ เชื่อว่าตัวเธอสามารถที่จะเล่าเรื่องได้ เธอเป็นนักเล่านิทาน

ระหว่างกำลังเขียนนิยายเล่มแรกอยู่นั้น วันหนึ่งเธอลุกเดินจากโต๊ะในร้านกาแฟที่นั่งเขียน ระหว่างกำลังออกเดิน ก็มีเสียงแว่วอยู่ในมโนนึก วาบขึ้นมาว่า งานที่กำลังเขียนอยู่นั้นคงยากที่จะได้รับการตีพิมพ์ แต่ถ้าได้พิมพ์ จะประสบความสำเร็จมโหฬาร

เธอบอกว่า คนเราต้องมีศรัทธา ตัวเธอเองไม่ใช่คนมีความเชื่อมั่นในตนเองมากมายอะไรเลย เธอแทบจะไม่มีความมั่นใจอะไรสักอย่าง แต่มีอยู่อย่างหนึ่งในชีวิตที่เธอเชื่อและศรัทธา คือ เธอเชื่อว่าเธอสามารถเล่าเรื่องได้ เธอเป็นนักเล่านิทาน


6)   ความหวาดหวั่น

เธอเล่าว่า ทุกครั้งที่เธอเริ่มเขียนหนังสือ แฮรี ปอตเตอร์ เล่มใหม่ เธอจะเป็นกังวล หวั่นวิตกมากเสมอ เพราะเธอกลัวต่อการคาดหวังของผู้อ่านจำนวนนับล้านคน ซึ่งแต่ละคนต่างล้วนเป็นแฟนพันธ์แท้ของ แฮรี ปอตเตอร์ แฟน ๆ ทั้งหลายย่อมคาดหวัง หรือต้องการ ให้เรื่องราวเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้  

เธอจึงต้องคอยเตือนตนตลอดเวลาว่า นี่คือหนทางของเธอ แนวที่เธอจะเดินเรื่องไป เธอจะไม่ยอมให้การคาดหวังของแฟน ๆ มามีอิทธิพลต่อเค้าโครงเรื่องที่เธอตั้งใจไว้


7)   ชีวิตไม่ใช่บัญชีหางว่าวของสมบัติพัสถานที่เราสะสมมาได้ และไม่ใช่รายการกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำสำเร็จ 

คุณสมบัตินานาประการของเราก็ดี หรือแผ่นประวัติบุคคล(CV)ที่รวมประวัติการศึกษา ทักษะ ความสามารถ และหน้าที่การงาน ของเราก็ดี เหล่านี้ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ชีวิตที่มีความสุข แต่มีคนหลายคนทั้งที่เป็นคนรุ่นเดียวกับเธอและสูงวัยกว่าเธอ ต่างพากันนึกว่า ซีวี(CV) คือ ชีวิต

เธอกล่าวว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ยาก และเป็นเรื่องสลับซับซ้อน

ชีวิตอยู่นอกเหนือการกำกับควบคุมของเจ้าของชีวิต การที่เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รับรู้และคารวะต่อความจริงข้อนี้ จะช่วยให้เราเอาตัวรอด สามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการในชีวิตจนผ่านพ้นไปได้

8)   วิระยะ อุตสาหะ

ผู้อ่านวัยหนุ่มสาวชอบถามเธอว่า ถ้าพวกเขาอยากจะเป็นนักเขียนบ้าง เธอมีคำแนะนำดี ๆ ให้กับพวกเขาบ้างไหม เธอตอบว่า จะขอเล่าให้ฟังว่า เธอทำมาอย่างไรจะดีกว่าเธอบอกว่า เราต้องอ่านมาก ๆ นั่นเป็นวิธีเรียนเขียนที่ดี ซึ่งจะสอนเราให้รู้ว่าการเขียนที่ดี คืออย่างไร บางทีเราอาจลอกเลียน เลียนแบบ นักเขียนที่เราชอบก็ได้ นั่นก็เป็นวิธีเรียนรู้วิธีหนึ่ง ไม่มีอะไรเสียหาย

เราต้องอนุญาตให้ตัวเองเขียนห่วย ๆ เยอะ ๆ อย่าได้กลัว เขียนให้มากจนความห่วยออกไปพ้นระบบของเรา ไม่นานเราจะได้เห็นเองว่า เขียนดี คือ เขียนอย่างไร

และเรายังจะรู้ด้วยว่า ประเภท-ชนิดของการเขียนของเรา ควรเป็นงานขีดเขียนชนิดใด

ท้ายที่สุด คือ ความเพียรพยายาม ไม่ลดละ งานเขียนเป็นงานที่มีผลตอบแทนสูง – ฉันไม่ได้หมายถึงเงินทอง เธอกำลังบอกว่า การที่เราสามารถทำงานนี้ได้ตลอดชีวิต นั่นคือผลตอบแทนสูงสุดแล้ว  สำหรับบิดามารดาที่มีลูกชอบขีดเขียน อย่าได้ดุว่าเขา ว่าลูกเพ้อเจ้อ ไม่สัมผัสความจริง อย่าได้ว่ากล่าวลูกว่า เพ้อฝัน เป็นอันขาด

9)   ความฝัน สามารถกลายเป็นจริง ได้

ฉันต้องการเป็นนักเขียนมาโดยตลอด แล้วถ้าเรารักที่จะเขียนหนังสือ เราก็มักฝันกันว่า สักวันหนึ่ง เราจะสามารพเลี้ยงชีพได้ ด้วยงานเขียนของเรา

แต่งานเขียนนิยายให้เด็กอ่าน โอกาสที่จะขายดิบขายดีเป็นไปได้ยากมาก เพราะฉะนั้น ลักษณะงานชนิดนี้จะไม่เปิดโอกาสให้ฉันฝันได้ไกล ดังนั้น ผลสำเร็จที่เกิดแก่ฉันเวลานี้ จึงอยู่เหนือฝัน

และ ฉันรู้สึกปิติยินดีอย่างที่สุด

10)               เรามีอำนาจภายในตน ที่จะจินตนาการเห็นโลกที่ดีกว่านี้

ถ้าเรารู้จักเลือกที่จะใช้สถานภาพของเรา มิใช่เพียงเพื่อแสดงตนเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีอำนาจวาสนาบารมี แต่เราเลือกที่จะแสดงตนเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ไม่มีที่พึ่ง คนยากไร้ ถ้าเรารู้จักที่จะจินตนาการตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนสิ้นไร้ไม้ตอก ฉะนี้แล้ว ไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องของเราเท่านั้น แต่จะมีคนอีกนับล้านผู้ที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงดีขึ้น โดยที่เรามีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงนั้น พวกเขาจะมาร่วมเสียใจกับการจากไปของเรา

ไม่จำเป็นหรอกว่า จะต้องมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มาเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น เพียงอำนาจภายในตนของเรา ก็พอแล้ว


สวัสดีปีใหม่ 2562 ครับ

ปรีชา ทิวะหุต
บ้านนาพญา
อำเภอหลังสวน
จังหวัดชุมพร


บทความนี้ เผยแพร่อยู่ที่ 

โปรด ช่วยแชร์ลิงก์ - ขอบคุณครับ


วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

VillageLife รังสวน คลังสวน หลังสวน?


#1 โหมโรง


ผู้เขียนกำลังจะเขียนถึงชื่ออำเภอ “หลังสวน”  จังหวัดชุมพร  ไม่ใช่ชื่อซอยหลังสวน ถนนเพลินจิต กทม.

สำหรับผู้เขียน ชื่ออำเภอหลังสวน เป็นชื่อลึกลับอีกนามหนึ่ง บนคาบสมุทร์ภาคใต้ของประเทศไทย ไม่แพ้คำว่า “คันธุลี” (hyperlink) อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นคำที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสองพันปี และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยืนยันสนับสนุน เช่น จดหมายเหตุจีน กับศิลปวัตถุที่พบในบริเวณใกล้เคียง


อย่างไรก็ตาม คำว่า “คันธุลี” ไม่มีใครกล่าวถึงกันมากนัก อาจจะเป็นเพราะว่าฟังดูแปลกเกินไป และไม่มีที่จะอ้างอิงในคลังคำไทย(Thai lexicon) ไม่รู้ที่จะขึ้นต้นคอมเม้นว่างัยดีขอข้ามไปดีกว่า อะไรประมาณนั้น


ท้าทายการสันนิษฐานคาดเดา แถมมีที่อ้างอิงอยู่ในคลังคำไทย ทั้งที่พิจารณารวมทั้งคำและแยกพิเคราะห์ออกเป็นแต่ละ มอร์ฟีม(แยกพยางค์) – เพราะฉะนั้นชื่ออำเภอ “หลังสวน” บ้านผม จึงมีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็น คอมเม้น กันไม่น้อย

ทั้งคนในระบอบราชการ ท่านผู้รู้ นักวิชาการอิสระ รวมถึงชาวบ้านทั่วไปในยุคอินเตอร์เนต เช่น คนในกลุ่มผู้นำชุมชน หมู่บ้านตำบล ในเขตอำเภอหลังสวน ดังหลักฐานที่อาจพบได้ทั่วไปในเนต

#2 แล้วทำไมจะต้องเป็นอาตมา(กู)กะเขาอีกคน ด้วยเล่า?

คนหลายคนในอำเภอหลังสวน เขาเกิดที่ไหนก็อยู่ที่นั่น แต่ผู้เขียนซึ่งเป็นชาวหลังสวนโดยกำเนิด เกิดที่ตำบลบางมะพร้าว มาเติบโตในวัยเด็กที่ตำบลบ้านควน และปัจจุบันอยู่อาศัยในตำบลนาพญา ผู้เขียนคุ้นเคยกับเรือกสวนตำบลบางมะพร้าว ควนเนินและภูเขาของตำบลบ้านควน ตลอดจนทุ่งกว้างของตำบลนาพญา 

ตอนเด็ก ๆ เคยวิ่งเล่นตามทุ่งนาฤดูเก็บเกี่ยว ในทุ่งนาพญา เคยดำนาในที่นาแปลงเล็ก ๆ หว่างเนินเขาในตำบลบ้านควน และเมื่อเติบใหญ่ก็ได้ยกที่นาของตนในตำบลนาพญา ขึ้นเป็นสวนผลไม้ ต่อมาฟันทิ้งหมดเพื่อปลูกไม้ยืนต้นขาย และต่อมาอีกก็ตัดไม้ขายเปลี่ยนเป็นทำสวนปาล์มอยู่ในปัจจุบัน(งัยล่ะเพ่!)

ครั้งที่มาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯชั้นมัธยมต้น ความสนใจอย่างจริงจังกับคำว่า “หลังสวน” ก็เกิดมีขึ้นเมื่อได้อ่านพบบทความในวารสารสมาคมชาวปักษ์ใต้ ซึ่งออกในกรุงเทพฯ เป็นข้อเขียนของนักวิชาการอิสระ-นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาวสงขลาท่านหนึ่ง ท่านได้เขียนเล่าเรื่องที่มาของคำว่า “หลังสวน” ซึ่งเป็นชื่ออำเภอหลังสวน ว่ามาจากไหน อย่างไร

บทความชิ้นนั้น เป็นตัวจุดประกายความสนใจ

#3 ใคร หรืออะไร ที่จุดตะเกียง ในเวลาต่อมา?


เวลานี้ สืบค้นในกูเกิล เราจะไม่พบข้อเขียนของนักวิชาการอิสระท่านนั้น แต่เราจะพบความคิดเห็นที่น่าสนใจ ขอยกตัวอย่างสักสองความเห็น คือ


เนื่องจากหลังสวนเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชื่อที่เรียกจึงยากที่จะหาหลักฐานได้ว่ามีที่มาอย่างไร แต่เนื่องจากหลังสวนเป็นเมืองที่มีผลไม้มากจนกลายเป็นสินค้าสำคัญของเมืองนี้ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้สันนิษฐานในปี พ.ศ. 2459 ว่า คำว่า หลังสวนน่าจะเพี้ยนมากจากคำว่า รังสวนหรือ คลังสวนซึ่งหมายถึงแหล่งหรือที่รวมของผลไม้ทุกชนิดนั่นเอง




เมื่อครั้งที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (hyperlink) เดินทางไปตรวจราชการที่เมืองหลังสวน ก็ได้สันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของคำว่า หลังสวนไว้ดังนี้
“…คำว่าหลังสวน จะผิดหรือถูกขอฝากไว้ในที่นี้ด้วยคือ ริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ ไม่เห็นมีบ้านเรือนอย่างแม่น้ำเรา มีแต่สวนครึ้มทั้งสองฟาก มีแต่ทางขึ้นลงจากแม่น้ำเท่านั้น ถามผู้แจวเรือว่า แถวนี้ไม่มีบ้านดอกหรือ เขาตอบว่า มี แต่อยู่หลังสวนขึ้นไป ภายหลังข้าพเจ้าไปเที่ยวตามบ้านเหล่านั้น ก็ได้เห็นจริงตามที่เขาพูด จึงสันนิษฐานว่า เมืองหลังสวนคงมาจากเค้าที่บ้านเมืองอยู่ข้างหลังสวนลึกเข้าไป…”

#4 ประเด็นเพื่อวินิจฉัย – รังสวน? คลังสวน? หรือ หลังสวน?

เริ่มกันที่ “รังสวน”


ซึ่งกระทรวงคมนาคมฯ สันนิษฐานไว้ในปี 2459 หรือเมื่อ 102 ปีมาแล้ว(นับถอยจากปี 2561 นี้) โดยเห็นว่า หลังสวน น่าจะเพี้ยนมาจาก “รังสวน” หมายถึงแหล่งหรือที่รวมของผลไม้ทุกชนิด



1)   รังสวน เป็นคำประสมในภาษาไทย ระหว่างคำไทยด้วยกัน

รัง + สวน = รังสวน



2)   พิจารณาคำว่า “รัง”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ พ.ศ. 2542 นิยามว่า

“สิ่งซึ่งพวกนก หนู และแมลงเป็นต้น ทำขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย กำบัง และฟักไข่เลี้ยงลูก.....”



“โดยปริยายเรียกสิ่งที่มีสภาพคล้ายคลึงเช่นนั้น”
ตัวอย่างการใช้ “รัง” โดยปริยาย – รังโจร รังรัก รังกล้วยไม้ รังดุม รังปืนกล รังเพลิง ฯลฯ

3)   คำว่า “รัง” พิจารณาตามครรลองในพจนานุกรม และตามตัวอย่างการใช้โดยปริยาย เป็น สมุหนาม – คือคำนามที่ทำหน้าที่แสดงหมวดหมู่ของสามานยนามและวิสามานยนาม เช่น โขลงช้าง ฝูงนก คณะครู กองทหาร รังหนู

โดยที่ ท่านผู้รู้กระทรวงคมนาคม(2459) ก็นำมาใช้เป็น สมุหนาม ในความหมายถึง แหล่งหรือที่รวมของสวนจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ในคลังคำไทย ที่รวมของสวนท่านจะเรียกว่า “เรือกสวน” ไม่ได้เรียกว่า “รังสวน”
ตามพจนานุกรมฯ คำว่า เรือกสวน ก็คือ ที่สวน  ที่สวนนั้นตรงข้ามกับ ที่นา ซึ่งมีคำรวมเรียกว่า ไร่นา เรือกสวนกับไร่นาประสมกันกลายเป็นสำนวนที่เราได้ยินคุ้นหูว่า “เรือกสวนไร่นา”  สำนวนภาษาไทยว่า “รังสวนไร่นา” ไม่มี
อนึ่ง “รัง”เป็นที่อยู่อาศัยที่กำบังตนได้  สวนผลไม้ต้องการกำบังตนจากอะไรหรือ-จึงได้รวมเรียกว่าอยู่เป็น “รังสวน”?  สวนผลไม้ต้องการความโล่งแจ้ง รับแสงแดดและรับน้ำฝน สวนผลไม้ไม่ต้องการอุดอู้อยู่ในรัง แม้รังนั้นจะมโหฬารก็ตาม

4)   ตามเหตุผลข้างต้น ผู้เขียนขอวินิจฉัยว่า สมุหนาม “รัง” จะนำมาใช้กับ สามานยนาม “สวน” ไม่ได้  คำว่า “รังสวน” ตามความเห็นของกระทรวงคมนานาคมฯ(พ.ศ.2459) เป็นคำประดิษฐ์  ที่คิดขึ้นไม่คำนึงถึงสถานะอันจำเพาะของสมุหนามคำนี้ในคำไทย


ต่อด้วย “คลังสวน”
เช่นเดียวกับ “รังสวน”  คือเป็นคำประสม  เกิดจากคำมูลสองคำ คือ คลัง + สวน = คลังสวน

“คลัง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯนิยามไว้ว่า “สถานที่เก็บรักษาสิ่งของจำนวนมาก ๆ เช่น คลังพัสดุ คลังสินค้า คลังเสบียง เป็นต้น”

ซึ่งในกาลต่อมา ผู้เขียนพบว่ามีการนำมาใช้โดยปริยายว่า “คลังคำ”  ซึ่งก็ไม่ได้ทิ้งแนวคิดเดิมเรื่อง “ที่เก็บรักษาสิ่งของจำนวนมาก ๆ”  เพราะ คลังคำ จะหมายถึงคำจำนวนมากที่อยู่ในสมองคน(lexicon) หรืออยู่ในรูปหนังสือพจนานุกรม(dictionary) ก็ได้

เพราะฉะนั้น ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า “คลังผลไม้” ละก้อได้ครับ แต่ “คลังสวน(ผลไม้)” น่าจะเป็นปัญหา เพราะว่าโรงที่ใช้เก็บรักษา จะต้องใหญ่โตมโหฬาร บานตะไท อีกประการหนึ่งสวนผลไม้ต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง ได้แดดได้ฝน ไม่ใช่อยู่ในโรงเก็บ

สุดท้ายคือ “หลังสวน”  แบบซื่อ ๆ ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร
ท่าน เม้น ไว้ว่า “…คำว่าหลังสวน จะผิดหรือถูกขอฝากไว้ในที่นี้ด้วยคือ ริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ ไม่เห็นมีบ้านเรือนอย่างแม่น้ำเรา มีแต่สวนครึ้มทั้งสองฟาก มีแต่ทางขึ้นลงจากแม่น้ำเท่านั้น ถามผู้แจวเรือว่า แถวนี้ไม่มีบ้านดอกหรือ เขาตอบว่า มี แต่อยู่หลังสวนขึ้นไป ภายหลังข้าพเจ้าไปเที่ยวตามบ้านเหล่านั้น ก็ได้เห็นจริงตามที่เขาพูด จึงสันนิษฐานว่า “เมืองหลังสวน” คงมาจากเค้าที่บ้านเมืองอยู่ข้างหลังสวนลึกเข้าไป…”

ใน เม้น ของท่าน ๆ ใช้คำว่า หลัง ในฐานะบุรพบท เป็นการใช้คำบุรพบทตามธรรมดา ๆ เช่น

หลังสวน
หน้าสวน
          ข้างสวน  เป็นต้น

หนังสือ หลักภาษาไทย ของ อาจารย์ กำชัย ทองหล่อ (hyperlink) นิยามคำบุรพบทไว้ว่า “คำที่แสดงความสัมพันธ์ ระหว่างคำหรือประโยค เพื่อให้รู้ว่าคำหรือประโยคที่อยู่หลังบุรพบทนั้น ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับคำหรือประโยคที่อยู่ข้างหลังอย่างไร”

ระหว่างอยู่ในเรือแจว ในแม่น้ำหลังสวน ท่านถามคนแจวเรือว่า “แถวนี้ ไม่มีบ้านดอกหรือ”
คนแจวเรือตอบท่านว่า “มี แต่อยู่หลังสวนขึ้นไป”

คำว่า หลังสวน ของคนแจวเรือไม่ใช่คำประสม แต่เขาใช้บุรพบทตามปกติ เพื่อให้รู้ว่าคำว่า สวน ที่อยู่หลังบุรพบท มี “บ้าน” อยู่ด้านหลัง สรุปว่า หลังสวนขึ้นไปเป็นบ้านคน

ท่านเจ้าคุณอุปกิตฯ ท่านได้ไปเที่ยวตามบ้านเหล่านั้น ซึ่งอยู่ ด้านหลัง ของสวน  แล้วท่านก็สรุปสันนิษฐานว่า เมืองหลังสวน” คงมาจากเค้าที่บ้านเมืองอยู่ข้างหลังสวนลึกเข้าไป…”

ขอประทานโทษครับท่านเจ้าคุณฯ บ้านเหล่านั้นเป็นบ้านสวน หรือบ้านตามเรือกสวน ไม่ใช่ “บ้านเมือง”  ความเป็นเมืองของท่าน โผล่มาจากไหนครับ?  ลึกเข้าไปจากสวนริมตลิ่ง เป็นบ้านสวน ไม่ได้มีเมืองตั้งอยู่ ซะหน่อย ครับท่านเจ้าคุณ








การที่ปราชย์ราชบัณฑิตอย่าง พระยาอุปกิตศิลปสาร ออกตัวไว้แต่ต้นว่า “…คำว่าหลังสวน จะผิดหรือถูกขอฝากไว้ในที่นี้ด้วย…..” สำหรับผู้เขียนเชื่อว่า ท่านค่อนข้างแน่ใจว่า “ผิดแน่” ม่ายงั้น ท่านจะไม่ออกตัวอย่างนั้นหรอก

ผู้เขียนลองทบทวนความจำย้อนไปสมัยเด็ก เมื่อครั้งนั่งเรือเมล์จากตำบลบางมะพร้าว ย้อนทวนน้ำมายังตัวอำเภอหลังสวน มองไปสองฝากฝั่ง จะเห็นแต่ที่สวนอยู่ริมน้ำ เหมือนเมื่อครั้งพระยาอุปกิตศิลปสารพรรณนาไว้แต่โบราณก่อนหน้านั้น เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนท้องที่ จึงไม่ต้องถามคนเรือว่าบ้านเรือนผู้คนอยู่ไหน เพราะรู้โดยประสบการณ์ว่าอยู่เลย พ้นจากสวนริมตลิ่งขึ้นไป คนจะไม่ปลูกเรือนอยู่ชายน้ำเหมือนในภาคกลาง เขากลัวฤดูน้ำเหนือหลากลงมา แม่น้ำหลังสวนจะเชี่ยวกราก และคร่าชีวิตคนไปหลายชีวิต จนแม้ทุกวันนี้ในฤดูแข่งเรือ ก็ยังมีคนตกน้ำตาย

พระยาอุปกิตฯ คอมเม้น ไว้อีกว่า “.....ริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ ไม่เห็นมีบ้านเรือนอย่างแม่น้ำเรา

คำว่า แม่น้ำเรา ของท่านคงหมายถึงแม่น้ำในทุ่งราบภาคกลางของประเทศไทย ที่คนนิยมสร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ ติดริมตลิ่ง ผู้เขียนมีเพื่อนที่อยุธยาและชัยนาท เคยไปกินไปนอนบ้านเขา บ้านพวกเขาอยู่ริมแม่น้ำ ส่วนเรือกสวนไร่นาอยู่หลังบ้าน ถัดออกไปไกลจากแม่น้ำ  แต่ก็แปลกนะ ที่ไม่มีสักแห่งที่มีชื่อหมู่บ้านตำบลหรือเมืองว่า “หลังบ้าน” หรือ “หน้าสวน” หรือ “ข้างสวน”

ผู้เขียนเคยว่ายน้ำข้ามแม่น้ำน้อย ในจังหวัดชัยนาท ว่ายข้ามไป-กลับ อันเป็นกิจกรรมที่จะไม่กล้าทำในแม่น้ำหลังสวน เพราะกลัวน้ำเชี่ยวและน้ำวน แต่ประสบการณ์จากการเคยอยู่กับแม่น้ำที่ค่อนข้างดุ ครั้นได้นั่งพิจารณาแม่น้ำน้อยหน้าบ้านเพื่อน รู้สึกว่าช่างเป็นแม่น้ำที่ peaceful อะไรเช่นนั้น จึงโดดลงไปว่ายข้ามฝั่ง...แต่แม่น้ำน้อย ก็ไม่ใช่แม่น้ำแคบ ๆ นะครับ


#5 จะมีเรื่องกับท่านผู้อ่าน มั๊ยเนี่ยะ?

เป็นอันว่า ได้ เม้น ไปหมดแล้ว ทั้งกลุ่มคนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกระทรวงคมนาคมฯ พ.ศ.2459 – ร้อยกว่าปีมาแล้วจากปีนี้ 2561 และทั้งความเห็นของท่านเจ้าคุณอุปกิตฯ ซึ่งเคยเป็นครูสอนภาษาไทยให้แก่ผู้ใหญ่ในกทม.ของผู้เขียน เมื่อครั้งท่านเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพราะฉะนั้น ลำดับต่อไปตัวเองจะต้องมีอะไรเจ๋ง ๆ มาเสนอนะ – ม่ายงั้น อาจมีสิทธิมีเรื่องกับท่านผู้อ่านบางท่าน ก็เป็นได้ – ทำเล่นไป

ก่อนที่จะวิวาทกันถึงขั้นหัวร้างข้างแตก จะขอเสนอคอมเม้นส่วนตัว ในสไตล์เจ๋งรองลงมา – ก่อนจะเจ๋งจริง พอเป็นจานเรียกน้ำย่อยสักเรื่องหนึ่ง

สมมติว่า ผู้เขียนถูกขอร้องให้ เม้นชื่อ “คันธุลี”(hyperlink) ผู้เขียนก็จะสามารถใช้สไตล์เจ้าคุณอุปกิตฯ มาเม้น ได้ว่า.....

อ๋อ คันธุลี หรือครับ? โธ่ ของง่าย ๆ “คัน” ก็แบบว่ามันยิก ๆ คะเยอ อยากจะเกาสุด ๆ งัย  ส่วน “ธุลี” ใคร ๆ ก็รู้ คือฝุ่นละอองชนิดเล็กละเอียด เช่น ธุลีดิน เป็นต้น  เพราะฉะนั้น “คันธุลี” ก็คือ หมู่บ้านของพวกคันคะเยอ จากฝุ่นละออง เดินและนั่งเกากันยิก ๆ แม่งทั้งหมู่บ้านเลยงัย.....


เป็นงัยแพ่ ผมเม้นเจ๋งมั๊ยล่ะแพ่?

#6 เจ๋งแล้วจบ

ขออนุญาตท่านผู้อ่านกลับไปยังบทความในวารสารสมาคมชาวปักษ์ใต้ ที่ได้เอ่ยอ้างไว้ตอนต้นข้อเขียนชิ้นนี้

ความสนใจแหล่งที่มาของคำว่าอำเภอ “หลังสวน”  ถูกจุดเป็นประกายวาบขึ้นมาในใจผู้เขียน ตั้งแต่ครั้งที่ได้อ่านบทความดังกล่าว สมัยที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ในกทม.

ในความเลือนรางแห่งความทรงจำ ข้อความเล็ก ๆ ข้อความหนึ่งในบทความชิ้นนั้น ยังติดตาตรึงใจมาตราบเท่าทุกว้นนี้  ท่านผู้เขียนบทความมีนามว่า “เยี่ยมยง สังขยุทธฯ” ขออภัย – จำชื่อท่านได้เพียงเท่านั้น ท่านเป็นชาวสงขลา

ผู้ใหญ่ของผู้เขียน(ลุง)เคยรับราชการที่สงขลา และเคยได้รู้จักท่านผู้เขียนบทความชิ้นนั้น (รู้จักกันเพียงห่าง ๆ)

คุณเยี่ยมยง เขียนไว้ทำนองว่า เมืองหลังสวนเป็นเมืองเก่า ท่านอ้างว่ามีผู้พบศิลปวัตถุของเมืองร้างในวัด ๆ หนึ่ง(ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าวัดอะไร) วัดนั้นสร้างทับอยู่บนเมืองโบราณ

และท่านยังเล่าต่อไปว่า “คำว่าหลังสวน เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำสันสกฤตว่า ลัง คุ สะ วะ นะ แปลว่า เสียงคลื่น”  

นี่คือประกายที่ถูกจุดขึ้นในใจผู้เขียนบลอคนี้ แต่ไม่ขอรับรองว่าจำมาได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจมีเพี้ยนได้บ้างไม่มากก็น้อย

ที่แน่นอนก็คือ ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านบลอค ย่อมทราบอยู่แล้วว่าผู้เขียนไม่ได้เกิดมาพร้อมกับคาบ พจนานุกรมสันสกฤตฉบับโมเนียร์-วิลเลียมส์ (hyperlink) ออกมาด้วย แต่ว่าเกิดมาแล้วตั้งนานกว่าจะรู้สันกฤตคำสองคำ

ซึ่งทำให้พบว่า คำว่า “สะวะนะ” ที่แปลว่าเสียง และที่ท่านว่าได้กลายมาเป็นภาษาไทยว่า “สวน” ในคำว่า “หลังสวน” นั้น คำนั้นค้นหาไม่ยาก คือนี่ครับ स्वन

เช่น บางท่านอาจเคยได้ยินบทสวนมนตร์ที่สวดว่า (เอาแต่เสียงนะครับ อักขระ-ไม่รับประกัน)

                   ธัม มัส สะวะนะ กาโล อยัมภฑันตา (ได้เวลาฟังธรรมแล้ว ท่านผู้เจริญ)

มีคำว่า สะวะนะ อยู่ในนั้น บทสวดนี้เมื่อผู้เขียนบวชอยู่กับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(วิน) ซึ่งเป็นชาวตำบลนาพญา อำเภอหลังสวน โดยบวชกับท่านที่วัดส้มเกลี้ยง(ราชผาฯ) ในกทม. ผู้เขียนเคยได้ยินพระพี่เลี้ยงสวดทำนองเสนาะ ขึ้นต้นว่า ธัมมัสสะวะนะ กาโล ดังกล่าวแล้ว

ปัญหาอยู่ที่คำว่า “คลื่น”   ซึ่งมีอยู่หลายคำในสันสกฤต  ผู้เขียนขอเลือกคำนี้   तरल  อ่านว่า ตะระละ

เมื่อนำสองคำนั้นมาวางเรียงกัน ก็จะอ่านได้ว่า

                          तरल  स्वन        ตะระละ สะวะนะ


หรือ “คลื่น” อีกคำหนึ่ง คือ  तरङ्ग  อ่านว่า ตะรังคะ

เมื่อนำมาวางเรียงกับคำว่า “สวน” ก็จะได้

                    तरङ्ग  स्वन   ตะรังคะ สะวะนะ

ผู้เขียนไม่มีความรู้ที่จะวินิจฉัยชี้ขาด ว่าสองคำนั้น - ซึ่งต่างก็ล้วนแปลว่า เสียงคลื่น  หรือเปล่า ที่ได้กลายมาเป็นคำว่า “หลังสวน” ?  ก็ขอจบข้อเขียนแต่เพียงเท่านี้ – ขอบพระคุณท่านผู้อ่านที่ไม่ได้เป็นชาวอำเภอหลังสวนทุกท่าน ที่อุตส่าห์หลงติดตามอ่าน ขอบคุณครับ bye-bye

สำหรับท่านผู้อ่านชาวหลังสวนนั้น  แม้จะไม่ขอบใจที่ผู้เขียนอุตส่าห์เขียนประเด็นนี้ ผู้เขียนก็ไม่ว่าอะไรครับ และ bye-bye เช่นเดียวกัน









ปรีชา ทิวะหุต

บ้านนาพญา
อำเภอหลังสวน
จังหวัดชุมพร

พฤศจิกายน  2561