open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

VillageLife มหาเศรษฐี สามหมื่นสองพันล้านบาท จากการเขียนหนังสือ


การที่ท่านอุตส่าห์ติดตามอ่านบลอคนี้ ผู้เขียนนึกขอบคุณท่านผู้อ่านเสมอ  แม้ผู้เขียนจะรู้สึกอายที่จะเปิดเผยตัวเลข เพราะจำนวนท่านผู้อ่านบลอคไม่ได้มากมายอะไรเลย และตลอดมาเป็นปี ก็ไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นสักกี่คน

แต่สัจธรรมข้อหนึ่งได้รับการพิสูจน์ยืนยัน จากความจริงดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ คนมีคุณภาพย่อมมีจำนวนเพียงกระหยิบมือเดียว น้อยนิดกระจิ๋วหริวกว่าพวกโหลยโถ้ย ชัวร์ ๆ อยู่แล้ว

เพราะรู้คุณและเห็นค่าท่านผู้อ่าน ผู้เขียนได้เพียร คิด คิด คิด คิด คิดว่าจะหาของขวัญสักชิ้นหนึ่ง เป็นของขวัญปีใหม่ 2562 แก่ท่านผู้อ่านที่เคารพจำนวนไม่มากของบลอคนี้ – ไม่ต้องเป็นกังวลครับ พบแล้ว

ทำเสื้อยืดแจก แหงเลย?  แล้วเขียนที่อกเสื้อว่า

                                      We’re fans of
                                      Dev Napya

                                      เรา คือ แฟน
                                      เดฟ นาพญา

โอเค ทำเล้ยยยยยยย....ไม่กี่ตัวเอง!!!

ขอโทษครับ – ท่านเดาคลาดเคลื่อน เลื่อนเปื้อนไปกันใหญ่  โปรดชมวีดีโอต่อไปนี้





วีดีโอนี้รวบรวมคำแนะนำของนักเขียนคนแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่เพียงด้วยปลายปากกาของเธอ สามารถสร้างทรัพย์สินมีมูลค่า ปี 2561 ประมาณหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ สามหมื่นสองพันล้านบาท

ถ้านำมูลค่าทรัพย์สินของเธอ มาเทียบกับทำเนียบมหาเศรษฐีเมืองไทย  ถึงแม้เธอจะไม่ติดอันดับระดับต้น ๆ แต่เธอก็ไม่ใช่มหาเศรษฐีปลายแถว  อย่าลืม – สามหมื่นสองพัน ล้านบาทครับ

เธอคือ เจ.เค. โรลลิง – J.K. Rowling (ไฮเปอร์ลิงก์) นักเขียนผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง แฮรี ปอตเตอร์
แฟนผู้สร้างวีดีโอเรื่องนี้ ได้รวบรวมคำพูดตามที่ต่าง ๆ ต่างกรรมต่างวาระของเธอ มารวบรวมไว้ในที่เดียว คัดเฉพาะที่เขาเห็นว่าเป็นคำแนะนำที่มีค่า ไม่เฉพาะกับผู้มีใจรักการขีดเขียน แต่ผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ ก็น่าที่จะนำไปปรับใช้ได้  ทั้งหมดมี 10 ประการ

ผู้เขียนบลอคมีเจตนาทำงานชิ้นนี้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ท่านผู้อ่านบลอค  ไม่ได้แปลคำแนะนำของ เจ เค โรลลิง แบบคำต่อคำ วลีต่อวลี หรือประโยคต่อประโยค  แต่ได้ใช้วิธีพยายามทำความเข้าใจ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทย ให้ได้ใจความชนิดที่เห็นว่า นี่แหละใช่ ดังนี้ครับ


1)   ความล้มเหลว ช่วยให้เราพบตัวตนแท้จริงของเรา

การที่เราล้มเหลวทำให้เราเกิดความมั่นคงภายใน ที่เราไม่อาจหาได้จากประสบการณ์อื่นใดในชีวิต  ความล้มเหลวสอนฉันว่า ที่จริงฉันเป็นคนมีความตั้งใจแข็งแรงมั่นคง อดทน และมีวินัยกว่าที่ฉันเคยคิด

ความล้มเหลวยังทำให้ฉันพบอีกว่า ฉันยังมีมิตรสหาย มีเพื่อน ผู้มีคุณค่าสูงกว่าเพชรนิลจินดาใด ๆ

เราฟันฝ่าผ่านอุปสรรคมาได้ พร้อมกับจิตใจที่เฉลียวฉลาดขึ้นกว่าเดิม แปลว่าตลอดไปในภายภาคหน้า เราจะมั่นคงอยู่กับขีดความสามารถที่จะรู้รักษาตัวรอดของเราเอง

อนึ่ง เราไม่อาจรู้จักตนเอง หรือรู้ถึงความแข็งแรงแห่งสัมพันธภาพที่เรามีอยู่ ตราบเท่าที่ทั้งสองสิ่งนี้ ไม่เคยผ่านการทดสอบจากอุปสรรคขวากหนาม ความรู้ข้อนี้เป็นของกำนัลอันมีค่าแก่ชีวิต ที่เราจะได้จากประสบการณ์อันเจ็บปวด และเป็นคุณสมบัติวิเศษ เลอเลิศกว่าคุณสมบัติอื่นใดที่ฉันเคยมีมาก่อนหน้านี้


2)   ลงมือทำ ตามความคิดของเรา

ฉันได้ความคิดมาเขียนเรื่อง แฮรี ปอตเตอร์ ระหว่างนั่งรถไฟจากเมืองแมนเชสเตอร์ มากรุงลอนดอน

อย่างแปลกประหลาดที่สุด ฉันรู้สึกแวบขึ้นมาในใจ แล้วฉันก็รู้ว่า นี่เป็นความคิดอันวิเศษ โอ พระเจ้า ฉันรักที่จะเขียนตามความคิดนี้มาก ฉันพบแล้ว พอลงจากรถไฟ ก็ตรงกลับบ้าน นั่งลงเขียนทันที

เมื่อถูกถามว่า คุณไม่เคยมีความคิดทำนองนี้มาก่อนบ้างเลยหรือ  เธอตอบว่า เคย ทำไมจะไม่เคย แต่ไม่เคยมีความคิดใดที่จับจิตจับใจเท่านี้


3)   เราจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์

วรรณคดี ดนตรี และภาพยนตร์ ล้วนเป็นอัตวิสัยสุด ๆ ขึ้นอยู่กับคนแต่ละคน เพราะฉะนั้น เป็นธรรมดาอยู่เองที่เราจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่นั่นเป็นสัจธรรม นั่นคือความเป็นความอยู่ของงาน  นั่นคือจิตวิญญาณของงาน คือเป็นการแสดงออกซึ่งอัตวิสัยอย่างแท้จริง ที่จะต้องถูกวิจารณ์

ถ้าคุณอยากได้ยินแต่คำสรรเสริญเยินยอ แซ่สร้องสดุดีไม่หยุดปาก คุณก็ควรออกไปเสียจากวงการนี้


4)   อย่าลืมกำพืดแท้จริงของเรา อย่าลืมจุดเริ่มต้นของเรา

เธอนำผู้ถ่ายทำวีดีโอเยี่ยมแฟลตเก่าที่เธอเคยอยู่  เป็นที่ ๆ เธอเขียน แฮรี ปอตเตอร์ เธอเล่าว่า ทุกอย่างเริ่มจากที่นั่น เวลานั้นชีวิตเธอยากจนและลำบากแสนสาหัส หมอวิเคราะห์ว่า เธอเป็นโรคหดหู่อย่างแรง

เธอไม่นึกเลยว่า ชีวิตเธอจะกลายเป็นประหนึ่งเทพนิยาย เช่นที่เธอกำลังเป็นอยู่นี้ เธอเล่าไปพลาง ร้องให้ไปพลาง

เธอยังกลับไปเยี่ยมอะพาร์ตเมนต์เก่าแห่งนั้นเสมอ เพราะที่นั่นคือรากฐานที่ส่งให้เธอประสบความสำเร็จ และมีชีวิตดุจเทพนิยาย


5)   ความเชื่อมั่น และ ศรัทธา

เธอเชื่อถือศรัทธาในตนอยู่อย่างหนึ่ง คือ เชื่อว่าตัวเธอสามารถที่จะเล่าเรื่องได้ เธอเป็นนักเล่านิทาน

ระหว่างกำลังเขียนนิยายเล่มแรกอยู่นั้น วันหนึ่งเธอลุกเดินจากโต๊ะในร้านกาแฟที่นั่งเขียน ระหว่างกำลังออกเดิน ก็มีเสียงแว่วอยู่ในมโนนึก วาบขึ้นมาว่า งานที่กำลังเขียนอยู่นั้นคงยากที่จะได้รับการตีพิมพ์ แต่ถ้าได้พิมพ์ จะประสบความสำเร็จมโหฬาร

เธอบอกว่า คนเราต้องมีศรัทธา ตัวเธอเองไม่ใช่คนมีความเชื่อมั่นในตนเองมากมายอะไรเลย เธอแทบจะไม่มีความมั่นใจอะไรสักอย่าง แต่มีอยู่อย่างหนึ่งในชีวิตที่เธอเชื่อและศรัทธา คือ เธอเชื่อว่าเธอสามารถเล่าเรื่องได้ เธอเป็นนักเล่านิทาน


6)   ความหวาดหวั่น

เธอเล่าว่า ทุกครั้งที่เธอเริ่มเขียนหนังสือ แฮรี ปอตเตอร์ เล่มใหม่ เธอจะเป็นกังวล หวั่นวิตกมากเสมอ เพราะเธอกลัวต่อการคาดหวังของผู้อ่านจำนวนนับล้านคน ซึ่งแต่ละคนต่างล้วนเป็นแฟนพันธ์แท้ของ แฮรี ปอตเตอร์ แฟน ๆ ทั้งหลายย่อมคาดหวัง หรือต้องการ ให้เรื่องราวเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้  

เธอจึงต้องคอยเตือนตนตลอดเวลาว่า นี่คือหนทางของเธอ แนวที่เธอจะเดินเรื่องไป เธอจะไม่ยอมให้การคาดหวังของแฟน ๆ มามีอิทธิพลต่อเค้าโครงเรื่องที่เธอตั้งใจไว้


7)   ชีวิตไม่ใช่บัญชีหางว่าวของสมบัติพัสถานที่เราสะสมมาได้ และไม่ใช่รายการกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำสำเร็จ 

คุณสมบัตินานาประการของเราก็ดี หรือแผ่นประวัติบุคคล(CV)ที่รวมประวัติการศึกษา ทักษะ ความสามารถ และหน้าที่การงาน ของเราก็ดี เหล่านี้ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ชีวิตที่มีความสุข แต่มีคนหลายคนทั้งที่เป็นคนรุ่นเดียวกับเธอและสูงวัยกว่าเธอ ต่างพากันนึกว่า ซีวี(CV) คือ ชีวิต

เธอกล่าวว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ยาก และเป็นเรื่องสลับซับซ้อน

ชีวิตอยู่นอกเหนือการกำกับควบคุมของเจ้าของชีวิต การที่เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รับรู้และคารวะต่อความจริงข้อนี้ จะช่วยให้เราเอาตัวรอด สามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการในชีวิตจนผ่านพ้นไปได้

8)   วิระยะ อุตสาหะ

ผู้อ่านวัยหนุ่มสาวชอบถามเธอว่า ถ้าพวกเขาอยากจะเป็นนักเขียนบ้าง เธอมีคำแนะนำดี ๆ ให้กับพวกเขาบ้างไหม เธอตอบว่า จะขอเล่าให้ฟังว่า เธอทำมาอย่างไรจะดีกว่าเธอบอกว่า เราต้องอ่านมาก ๆ นั่นเป็นวิธีเรียนเขียนที่ดี ซึ่งจะสอนเราให้รู้ว่าการเขียนที่ดี คืออย่างไร บางทีเราอาจลอกเลียน เลียนแบบ นักเขียนที่เราชอบก็ได้ นั่นก็เป็นวิธีเรียนรู้วิธีหนึ่ง ไม่มีอะไรเสียหาย

เราต้องอนุญาตให้ตัวเองเขียนห่วย ๆ เยอะ ๆ อย่าได้กลัว เขียนให้มากจนความห่วยออกไปพ้นระบบของเรา ไม่นานเราจะได้เห็นเองว่า เขียนดี คือ เขียนอย่างไร

และเรายังจะรู้ด้วยว่า ประเภท-ชนิดของการเขียนของเรา ควรเป็นงานขีดเขียนชนิดใด

ท้ายที่สุด คือ ความเพียรพยายาม ไม่ลดละ งานเขียนเป็นงานที่มีผลตอบแทนสูง – ฉันไม่ได้หมายถึงเงินทอง เธอกำลังบอกว่า การที่เราสามารถทำงานนี้ได้ตลอดชีวิต นั่นคือผลตอบแทนสูงสุดแล้ว  สำหรับบิดามารดาที่มีลูกชอบขีดเขียน อย่าได้ดุว่าเขา ว่าลูกเพ้อเจ้อ ไม่สัมผัสความจริง อย่าได้ว่ากล่าวลูกว่า เพ้อฝัน เป็นอันขาด

9)   ความฝัน สามารถกลายเป็นจริง ได้

ฉันต้องการเป็นนักเขียนมาโดยตลอด แล้วถ้าเรารักที่จะเขียนหนังสือ เราก็มักฝันกันว่า สักวันหนึ่ง เราจะสามารพเลี้ยงชีพได้ ด้วยงานเขียนของเรา

แต่งานเขียนนิยายให้เด็กอ่าน โอกาสที่จะขายดิบขายดีเป็นไปได้ยากมาก เพราะฉะนั้น ลักษณะงานชนิดนี้จะไม่เปิดโอกาสให้ฉันฝันได้ไกล ดังนั้น ผลสำเร็จที่เกิดแก่ฉันเวลานี้ จึงอยู่เหนือฝัน

และ ฉันรู้สึกปิติยินดีอย่างที่สุด

10)               เรามีอำนาจภายในตน ที่จะจินตนาการเห็นโลกที่ดีกว่านี้

ถ้าเรารู้จักเลือกที่จะใช้สถานภาพของเรา มิใช่เพียงเพื่อแสดงตนเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีอำนาจวาสนาบารมี แต่เราเลือกที่จะแสดงตนเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ไม่มีที่พึ่ง คนยากไร้ ถ้าเรารู้จักที่จะจินตนาการตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนสิ้นไร้ไม้ตอก ฉะนี้แล้ว ไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องของเราเท่านั้น แต่จะมีคนอีกนับล้านผู้ที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงดีขึ้น โดยที่เรามีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงนั้น พวกเขาจะมาร่วมเสียใจกับการจากไปของเรา

ไม่จำเป็นหรอกว่า จะต้องมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มาเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น เพียงอำนาจภายในตนของเรา ก็พอแล้ว


สวัสดีปีใหม่ 2562 ครับ

ปรีชา ทิวะหุต
บ้านนาพญา
อำเภอหลังสวน
จังหวัดชุมพร


บทความนี้ เผยแพร่อยู่ที่ 

โปรด ช่วยแชร์ลิงก์ - ขอบคุณครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น