open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

HV8/12 part1 ความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร

คนเราเกิดมา ใบหูไม่เท่ากัน นิ้วชี้ก็ใหญ่ยาวไม่เ่ท่ากัน  ปรัชญาตะวันตกจะวิสัชนาปริศนาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน อย่างไร?  ท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความไม่เสมอภาค หรือ?

- ศ.แซนเดล ม.ฮาร์วาร์ด อาจจะมีคำตอบ.....

 

สำนึกในความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ  Episode 08/12                             

--สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล

--ปรีชา ทิวะหุต  ผู้สรุป


จุดเริ่มต้นที่เป็นธรรม คืออย่างไร?

Episode 08 part 1

ปมปรัชญาเรื่องความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร
-      หมายความว่า รายได้ ทรัพย์ อำนาจ และโอกาสในชีิวิตคน ควรได้รับการจัดสรรไปอย่างไร และด้วยหลักการอะไร จึงจะยุติธรรม?


สรุปแบบสรุป ๆ

          เก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน คิดด้วน ๆ แค่นี้จะพอหรือ  หรือว่าต้องคิดมากกว่านั้น? 

          อาจารย์จอห์น รอลส์ กล่าวว่า เราต้องคิดคำนึงเรื่องความยากดีมีจนมากกว่านั้น ไม่ใช่คิดด้วน ๆ เพียงว่า เก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน  ท่านให้เราลองทำการ “ทดลองทางความคิด”(thought experiment) หรือ “ทดลองในห้วงมโนนึก”  โดยสมมติว่า เราอยู่ใน โลกดั้งเดิม หลัง ม่านแห่งอวิชชา  รวมอยู่กับคนอื่น ๆ อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกันหมด  เพื่อที่เราจะได้เลือกกติกาจัดระบบการกระจายรายได้ และความมั่งคั่งในสังคมเสียใหม่ 

          แ่ต่ว่า เราต้องการการกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมกัน  หรือว่าต้องการการกระจายอย่างชนิดที่ผู้ด้อยโอกาสที่สุด จะได้รับการดูแลมากที่สุด  เพราะว่า เมื่อม่านแห่งอวิชชาเปิดออกแล้ว  เราจะไม่รู้ว่า ตัวเราจะถูกจัดไปเป็นคนชนิดใด (ตอนนี้ ทุกคนเสมอภาคกันหมด ม่านยังไม่เปิด)  เราอาจจับฉลากได้ไปเป็นผู้ด้อยโอกาสที่สุดในสังคม ก็เป็นได้ใครจะรู้

          แม้แต่ระบบที่ยึดถือความรู้ความสามารถความดีงาม(หรือที่เรียกว่า “merit system” ) ซึ่งกระจายรายได้และทรัพยากร โดยให้ความสำคัญต่อความเพียรของคน  ก็ไม่ได้ปรับพื้นที่การเล่น ให้เรียบเป็นระนาบเดียวกันหมดสำหรับทุก ๆ คน  เพราะว่าในที่สุดแล้ว คนที่มีบังเอิญมีความถนัด มีขีดสมรรถนะ และมีความสามารถประจำตัวสูง  เป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติติดตัวเฉพาะผู้นั้น ก็จะได้เปรียบผู้อื่นอยู่ดี  อาจารย์ จอห์น รอลส์ ท่านว่า

          แล้วไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่คนที่มีความถนัด ขีดสมรรถนะ และความสามารถประจำตัวสูง ในที่สุดก็ยังไม่อาจอ้างได้ว่า ตัวเองถึงจุดชัยชนะได้ด้วยความรู้ความสามารถของตนเองแท้ ๆ  เพราะว่า ความสำเร็จของตน อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ที่ดูไร้สาระ และอยู่นอกเหนือความรู้ความสามารถความดีงาม(--อยู่นอกเหนือ merit) เช่น เกิดมาเป็นลูกคนหัวปี เป็นต้น 

          ศ.แซนเดล ขยายความว่า งานวิจัยทางจิตวิทยาระบุว่า ลูกคนหัวปี จะมีความเพียรสูงกว่าลูกคนรอง ๆ  ศ.แซนเดล ขอใหันักศึกษาในห้องที่เกิดมาเป็นลูกคนหัวปี ยกมือขึ้น--ปรากฏว่า นักศึกษาส่วนมากในห้องนั้น ยกมือแสดงตัวว่า เกิดมาเป็นลูกคนหัวปี


สรุปแบบละเอียดขึ้น

          ศ.แซนเดล อ้างอิง จอห์น รอลส์  เรื่องความยุติธรรมในการกระจายรายได้ ความมั่งคั่ง และโอกาสในชีิวิต

          ท่านว่า จอห์น รอลส์ มีคำตอบอย่างละเอียด เรื่อง หลักความยุติธรรม ว่าจะต้องมาจากสัญญาประชาคมสมมติ  โดยให้เรา ทำการทดลองทางความคิด   ติ้ต่างว่า ทุก ๆ คนถูกเปลื้องออกจากคุณสมบัติ สุขภาพ และสมบัติพัสถานที่เคยมี  แล้วไปรวมตัว เสมอภาคกัน อยู่หลัง ม่านแห่งอวิชชา  แล้วประชุมหารือกัน เพื่อตั้งกติกาสังคมเสียใหม่ 

          ทั้งนี้โดยที่ เมื่อม่านแห่งอวิชชาถูกม้วนกลับขึ้นฟ้าไป  คนแต่ละคน จะไม่มีใครมีหลักประกันว่า ตนจะได้เข้าไปครองตำแหน่งใดในสังคมใหม่  ทั้งนี้เพราะการกลับเข้าไปอยู่ในสังคมรอบใหม่นี้ จะตัดสินกันด้วยการจับสลาก หรือปั่นแปะ หรือออกหวย

          ด้วยหลักคิดเช่นนี้ จอห์น รอลส์ เห็นว่า การประชุมตกลงจัดตั้งกติกาสังคมที่เรียกว่า สัญญาประชาคมสมมติ ดังกล่าว เราจึงจะได้สังคมที่ยุติธรรม

          ศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาย้อนระลึกถึงการทดลองทางความคิด(thought experiment) ว่า ในขณะที่กำลังปรึกษาหารือเลือกกติกาสังคมกันอยู่นั้น  ในที่สุดทางเลือกทางหนึ่ง(แต่ไม่ใช่ทางของ จอห์น รอลส์)ในการสร้างสังคมที่ยุติธรรม ได้แก่ทางของปรัชญาประโยชน์นิย(GHGN)  

            สมมติแล้วกันว่า แนวทางของปรัชญาประโยชน์นิยม ถูกยกขึ้นมาพิจารณา..... 

          พวกประโยชน์นิยมเห็นว่า การกระทำที่ มีประโยชน์เป็นการกระทำ ที่ถูกที่ควร  อันพึงทำ หรือเป็นการกระทำที่ เป็นธรรม  โดยที่การกระทำที่มีประโยชน์จะได้แก่ การกระทำที่จะยังผลให้เกิดผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด  บางท่าน    เรียกย่อ ๆ ว่า GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of people เช่น การที่เราหมุนพวงมาลัยรถสิบล้อ ให้ชนคนตายคนเดียว  เพื่อให้คนอีกห้าคนรอดตาย  เป็นต้น 

          ผู้คนที่เสมอภาคกันอยู่เบื้องหลังม่านแห่งอวิชชา จะเลือกแนวทางนี้หรือไม่? 

          อาจารย์ จอห์น รอลส์ เห็นว่า พวกเขาจะไม่เลือกปรัชญาสังคมแนวประโยชน์นิยม เพราะว่า ทุกคนเกรงว่า เมื่อตัวกลับเข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ หากตัวโชคไม่ดี  จับฉลากได้-กลายเป็นคนกลุ่มน้อย ซึ่งโดยปรัชญา GHGN ที่ยึดประโยชน์ของคนหมู่มาก  ตัวเองก็มีสิทธิจะถูกคนหมู่มาก - greater number of people - อ้างประโยชน์ของคนหมู่มาก  เผด็จการข่มเหงเอาได้  เพราะคนเหล่านั้น(คนหมู่มาก) อ้างว่าระบอบประชาธิปไตยได้ให้ความ่ชอบธรรมแก่ ระบบ สุนัขหมู่ (หมาหมู่)เรียบร้อยอยู่แล้วในตัว  ฝูงสุนัขหมู่ ย่อมฉีกกินลูกแกะได้-เพราะว่า เราเป็นประชาธิปไตยแนวประโยชน์นิยม

          อาจารย์ จอห์น รอลส์ เห็นว่า คนทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน ทุกคนรักชีวิตตนไม่แพ้แก่กัน ชีวิตใคร ใครก็รัก ความรักนี้ชั่งแล้วเท่ากันหมด  ทุกคนมีค่าที่เกิิดเป็นคน ทุกคนอยากได้รับการยอมรับนับถือจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  เราไม่อยากโดนผู้อื่นล่วงละเมิดเอาได้ตามอำเภอใจ  ถ้าแม้นว่าเราจับฉลากได้เป็นคนกลุ่มน้อย เราก็ไม่อยากถูกกดขี่ ข่มเหง จากคนหมู่มาก  เพราะฉะนั้น ระหว่างประชุมกันหลังม่านแห่งอวิชชา  เราก็จะเลือกเอาสังคมที่สิทธิพื้นฐานแห่งความเป็นคน  ได้รับการค้ำประกันว่าเสมอภาคกัน  สิทธิพื้นฐานแห่งความเป็นคน-ตามความเห็นของ อาจารย์จอห์น รอลส์ ได้แก่ เสรีภาพในการพูดแสดงความคิดเห็น ในการชุมนุม ในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพบปะชุมนุม เสรีภาพในความสำนึกหรือความนึกคิด(freedom of conscience) และเสรีภาพในทรัพย์สิน เป็นต้น  ซึ่งก็ำได้แก่เนื้อหาของเสรีภาพทั้งหลายตามปรัชญาตะวันตก

          เพราะฉะนั้น หากเราเป็นคนสุขภาพดี แล้วเราไปตรวจร่างกายในโรงพยาบาลตามปกติ  เราก็ไม่ต้องกลัวว่า  แพทย์ผู้ที่สมาทานปรัชญา GHGN จะมาขโมยควักตับไตใส้พุงและหัวใจของเรา ไปช่วยคนป่วยห้าคนให้รอดตาย  แม้ว่าคนป่วยห้าคนนั้นจะประกอบด้วย  คนที่1)อภิมหาเศรษฐี  คนที่2)มหาเศรษฐี  คนที่3)เศรษฐี  คนที่4)ศิลปินแห่งชาติ  คนที่5)เด็กยากจน-แต่หัวแหลม  ก็ตาม      

          และด้วยเหตุผลข้างต้น จอห์น รอลส์ เห็นว่าปรัชญายึดคนหมู่มากเป็นใหญ่ (GHGN) จะถูกที่ประชุมเบื้องหลังม่านแห่งอวิชชา ปฏิเสธ-ไม่ยอมรับ  จอห์น รอลส์ กล่าวว่าพวกประโยชน์นิยมคิดผิด--ที่ไม่ยอมรับนับถือ ความแตกต่างระหว่างบุคคล     

          และจอห์น รอลส์ เห็นว่า คนจะไม่ยอมแลกสิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระแห่งตน กับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  นี่เป็นหลักการ หลักแรก ของ จอห์น รอลส์ (--ท่านผู้อ่านเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร  โปรดอย่าเพิ่งนึกค้าน ถ้าอยากเข้าใจความคิดเขา ก็ต้องนึกตามเขาไปก่อน-ผู้สรุปภาคภาษาไทย)

          หลักที่สอง จะเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจ  ซึ่งเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ประชุมหลังม่านแห่งอวิชชาจะเลือกหลักการใด? 

          อย่าลืมว่า เราไม่อาจแน่ใจได้ว่า เราจะได้เกิดในครอบครัวมั่งคั่ง หรือยากเข็ญ  เพราะฉะนั้น ในเบื้องแรก เราอาจจะคิดแบบขอปลอดภัยไว้ก่อนจะดีกว่า เราขอตั้งกติกาให้กระจายรายได้และทรัพย์สิน--แบบเท่า ๆ กันทุกคน  แต่พอได้คิดทบทวนสักครู่หนึ่ง เราก็ตระหนักขึ้นมาได้ว่า เราน่าจะสร้างระบบสังคมที่ดีกว่าที่จะทำกัีนแบบง่าย ๆ ด้วยการหาร ๆ เท่ากันทุกคน  ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเราจะโชคร้ายจับฉลากได้ใบห่วย ๆ ทำให้เรากลายเป็นชนชั้นใต้ถุน ในสังคมใหม่นั้น ก็ตาม

          โดย จอห์น รอลส์ ตั้งกติกาหลักความแตกต่าง(difference principle) ว่า

          “ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ ทำงาน เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น
 ๆโดยเฉพาะที่จะเป็นคุณต่อคนชั้นล่างสุดเท่านั้น ที่เราจะอนุญาตให้มีได้
          (เวลาวีดีโอ 5:20)

          เพราะฉะนั้น ตามหลักนี้ เรายอมรับความไม่เท่าเีทียมกันของคน  คนเราเกิดมาเต้านมเท่ากันที่ไหน อวัยวะเพศยังใหญ่ยาวไม่เท่ากัน--แม้จะฉีดซิลิโคนแล้ว ทั้งเต้านมและองคชาต  แต่หลักนี้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมกันชนิดที่จะทำงานเป็นประโยชน์ต่อคนผู้ยากจนที่สุดเท่านั้น จึงจะเป็นความไม่เท่าเทียมกันที่ ยุติธรรม

          ศ.แซนเดล ยกตัวอย่าง นายไมเคิล จอร์แดน กับ นายบิล เกต ขึ้นมาอีก แล้วบอกว่าการที่คนทั้งสองมีรายได้มาก  แต่ว่า ถ้าเขาอยู่ในระบบสังคมที่มีกลไกคอยดูแล คอยทำให้ความมั่งคั่งของคนร่ำรวย  ทำงานเพื่อประโยชน์ของคนชั้นล่างสุด เมื่อนั้นความร่ำรวยของคนทั้งสอง ทั้งนายไมเคิล จอร์แดน และนายบิล เกต ก็จะถือได้ว่า ยุติธรรมแล้ว

          ระบบดังกล่าวนั้น เป็นฉันใด? 

          ศ.แซนเดล กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าในสังคมทุกสังคม จำต้องมีระบบแรงจูงใจบางอย่างบางประการ  ดังนั้น ผลตอบแทนจากการทำงานจึงไม่เ่ท่ากัน  ทั้งนี้ก็เพื่อจูงใจคน ให้ได้คนที่เหมาะกับงานมาลงตำแหน่งต่าง ๆ  โดยที่เมื่อเราได้คนที่เหมาะกับงานแล้ว  เมื่อนั้นระบบที่ยุติธรรม ก็จะทำงานไปเพื่อประโยชน์ของคนอื่นทุก ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อคนชั้นล่าง และเมื่อนั้น ก็ถือว่าเราได้สังคมที่ ยุติธรรม (คือยุติธรรมในความคิดของจอห์น รอลส์  และตามความเห็นของเขา ที่ว่า หลักความยุติธรรมแบบนี้ จะได้รับเลือกมาจากที่ประชุมหลังม่านแห่งอวิชชา)   

          ศ.แซนเดล เชิญชวนให้นึกศึกษา แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับจอห์น รอลส์ อย่างไร

          นักศึกษาชื่อ ไมค์ เห็นว่าการเลือกคนลงตำแหน่งต่าง ๆ ถ้าจะให้ยุติธรรมต้องเลือกตาม “merit”(=ความรู้+ความสามาถ+ความดีงาม)ของบุคคล  ไม่ใช่เลือกเพราะว่าคน ๆ นั้นจะทำงานเป็นประโยชน์ต่อคนชั้นล่าง เช่น การเลือกคนเข้าเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปีละประมาณ 1600 คน นั้น  ถ้าไม่ได้คำนึงถึง ความรู้+ความสามารถ+ความดีงาม(merit)ของคนเป็นที่ตั้ง  การคัดเลือกย่อมไม่ยุติธรรม และนักเรียนมัธยมปลายผู้ที่ต้องการศึกษาระดับปริญญาในมหาวิทยาลัยชั้นดี ก็ไม่รู้ว่าจะทำความเพียรไปเพื่ออะไร


          [ ผู้สรุปภาคภาษาไทย มีหลานชาย-ลูกเพื่อน เกิดในสหรัฐฯ เข้าเรียนฮาร์วาร์ดตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และต่อมาก็เรียนแพทย์ที่นั่น  เขาเตรียมตัวเรื่อง ความรู้+ความสามารถ มาแต่เด็ก  แต่พอขึ้นชั้นมัธยมปลาย ก็ต้องหันมาเตรียมตัวเรื่อง ความดีงาม  เพื่อว่า เวลาสมัครเข้าฮาร์วาร์ด  มหาวิทยาลัยนั้นจะได้แลเห็น “merit” – หรือ คุณธรรมครบถ้วนของเขา การเตรียมตัวเรื่องความดีงามของเขา คือ 1) ตอนปิดเทอม ได้มาทำงานอาสา ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ อยู่ในค่ายอพยพคนพม่า ที่ชายแดนไทย-พม่า 2) ปิดเทอมอีกปีหนึ่ง ก็ไปทำงานกุศลอยู่กับ สำนักแม่ชีเทเรซา ในกัลกัตตา--พวกเราก็ไม่ใช่คนร่ำคนรวย การเล่าเรียนทั้งหมดนั้น กู้เงินเขามาเรียน  ซึ่งก็เข้าสูุตรเศรษฐกิจสูตรหนึ่ง คือสูตรที่ว่า สำหรับคนจน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเล่าเรียนเป็นการ ลงทุน  แต่สำหรับคนร่ำรวยเขาถือเป็น ค่าใช้จ่าย ธรรมดา ๆ เหมือนซื้อยาสีฟัน -- ปรีชา]


          นักศึกษาบางคนเห็นว่า  ความรู้+ความสามารถ+ความดีงามของบุคคล(merit) ก็ยังขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นมาจากครอบครัวที่อยู่ในระดับเศรษฐกิจสังคมสูง หรือว่า เขาเกิดอยู่ในครอบครัวผู้ด้อยโอกาส  การคัดคนตาม “merit”(ความรู้+ความสามารถ+ความดีงาม)อาจยังไม่ยุติธรรมก็เป็นได้  เพราะบุคคลเริ่มออกวิ่งจากเส้นสตาร์ทที่ลักลั่นกัน บางคนต้องวิ่งขึ้นบันไดไปชั้นที่สิบ  แต่บางคนไ้ด้เปรียบคนอื่น--วิ่งเข้าประตูลิฟต์ แล้วกดลิฟต์ขึ้นไป


          [ ในเมืองจีน เมื่อความบ้าคลั่ง เสียสติ ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมผ่านพ้นไป เมา เซตุง ตายแล้ว พ.ศ.2519  และมีการจับกุมคณะแก๊งสี่คนและนางเจียง ชิง --ซึ่งหน้าตาคล้าย ๆ ภรรยาหมอเหว็ง คนที่เป็นหมอฟ้น ไปขึ้นพิจารณาคดีในศาล  ต่อมานางเจียง ชิง ฆ่าตัวตายในคุก  ในพ.ศ.2520 จีนก็หันมาใช้ระบบการสอบคัดเลือก เพื่อคัดคนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยจีน--และใช้มาจนกระทั่งบัดนี้  ไม่ใช่ทำแบบเมื่อก่อน ที่ไปคัดคนมาจาก นารวม  ซึ่งจะได้คนที่คล้ายกระบือ มาเข้ามหาวิทยาลัยจีน--ปรีชา ]


          ศ.แซนเดล ฉายสไลด์(10:48)แสดงสถิติเกี่ยวกับภูมิหลังทางเศรษฐกิจ ของครอบครัวนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยมีคุณภาพของสหรัฐฯ รวม 146 สถาบัน [สหรัฐฯ มีมหาวิทยาลัย กว่า 2000 แห่ง--ผู้สรุปภาษาไทย] พบว่า นักศึกษาที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย(ระดับรายได้อยู่ในกลุ่ม 25% ด้านล่างสุด) มีเพียง 3% ของนักศึกษาทั้งหมด  และนักศึกษากว่า 70% มาจากครอบครัวคนฐานะเศรษฐกิจดี

          มีคนเถียงการอ้างเหตุผลของ จอห์น รอลส์ ว่า บางทีที่ประชุมหลังม่านแห่งอวิชชาอาจอยากเสี่ยงก็ำเป็นได้ วิญญาณนักการพนันเข้าสิง  นึกอยากเสี่ยง-เพราะคิดว่า เมื่อม่านแห่งอวิชชาเปิดแล้ว  บางทีตัวเองอาจจะจับฉลากได้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งสังคมสูง ๆ ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น อย่าหารเท่า ๆ กันเลย ให้มีมากมีน้อยมีสูงมีต่ำไว้แหละดี--เผื่อฟลุ้ค 

          แต่ จอห์น รอลส์ ก็ยังมีหลักคิดชัดเจนอีกหลักหนึ่ง คอยสนับสนุนว่า ทำไมที่ประชุมหลังม่านแห่งอวิชชา จะเลือก principle of difference ของเขา

          “การกระจายรายได้ และความมั่งคั่ง และโอกาสในชีวิต ไม่ควรที่จะขึ้นอยู่กับ         ปัจจัยใด ๆ ก็ดีที่บุคคลไม่อาจอ้างได้ว่าเกิดจากตัวเอง หรือที่บุคคลสามารถอ้างเอาได้ตามอำเภอใจ ไม่คำนึงถึงข้อศิลธรรม (arbitrary from moral point of view)”

          ผู้สรุปภาคภาษาไทยขอสรุปประเด็นในย่อหน้าบน ว่า(ผิดพลาด-ขออภัย)  บุคคลชิงรางวัลจากสังคมได้ เฉพาะเรื่องที่ตนสร้างเองทำเองเท่านั้น  ความชอบธรรมจะอยู่ที่การสร้างเองทำเอง  ถ้าพ้นไปจากนี้ท่านถือว่า อ้างเอาตามอำเภอใจ (arbitrary from moral point of view)

          เพื่อทำประเด็นนี้ให้กระจ่างขึ้น  อาจารย์ รอลส์ ได้หันมองโดยรอบเพื่อหาทางเลือกมาประกอบการพิจารณาหลักความยุติธรรม  อาจารย์ได้ศึกษาทางเลือกต่าง ๆ ที่แข่งขันกันอยู่ เช่น ระบบยึดชาติกำเนิดในยุคกลาง เป็นต้น  คุณเกิดมาในชนชั้นทาสติดที่ดิน(peasants and serfs) หรือชนชั้นสูง(aristocrats)  แล้วชีวิตคน-ซึ่งก็คือชีวิตคุณ ก็จะขยับปรับเปลี่ยนไม่ได้ตลอดชาติ  เกิดมาอย่างไรต้องเป็นไปตามนั้น  อันเป็นสภาพยุโรปบางส่วนในยุคกลาง  ซึ่งคนทุกวันนี้ ศ.แซนเดล เห็นว่า คงไม่มีใครเห็นด้วยกับระบบนี้ ซึ่งตัดสินชีวิตคนด้วย อุบัติเหตุ แห่งการถือกำเนิด

          เพราะไม่เห็นด้วยกับระบบนั้น กาลต่อมา จึงเกิดหลักปฏิบัติขึ้นมาว่า คนทุกคน ไม่ว่า อุบัติเหตุ แห่งกำเนิดจะไปตกอยู่ที่ไหน ทุก ๆ คนมีเสรีภาพที่จะทำความเพียร ที่จะขยันขันแข็ง และสามารถสมัครงานตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ก็ได้ในสังคม 

          [เช่น ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส มีกฎหมายออกมาให้ชาวฝรั่งเศส สามารถเข้ารับตำแหน่งราชการ ได้อย่างเสมอภาคกัน ซึ่งแต่เดิมจะตกแก่ ชนชั้นสูงเท่านั้น – ปรีขา]

          อาจารย์ จอห์น รอลส์ เห็นว่า การเปิดกว้างทางสังคมเช่นนั้น ถือเป็นพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น  แต่การยึดหลักเสมอภาคของพวกเสรีนิยมดังกล่าวนั้น ก็ยังไม่ไกลพอ  อาจารย์ รอลส์ บอกว่า เสมอภาคกันก็จริงอยู่--คือ ทุกคนมีสิทธิลงสนามแข่งขัน ได้ (อาจารย์ รอลส์ ยกตัวอย่างเรื่องการวิ่งแข่ง ขึ้นเป็นอุทาหรณ์)  แต่ว่า ถ้าคนแต่ละคนไม่ได้ออกวิ่งจากจุดสตาร์ทเดียวกัน การแข่งขันจะยุติธรรมได้อย่างไร?  เพราะคนที่วิ่งเก่ง-วิ่งชนะ อาจารย์ รอลส์ ถามว่า วิ่งเก่งเพราะตัวเอง-หมายถึงตัวเองได้ทำความเพียร มุมานะ ฝึกฝนตน จริงหรือ?

          ความ อยุติธรรม ที่เห็นชัดเจน ในระบบความเสมอภาคของพวกเสรีนิยม อยู่ที่ระบบนั้น ปล่อยให้การกระจายทรัพยากร อยู่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของปัจจัยนอกเหนือศิลธรรม--ที่นักปรัชญาศิลธรรมทางแพ่ง ถือว่าเป็นปัจจัยแบบ “ตามอำเภอใจ” ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ตัวอย่างเช่น ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีการศึกษาดีกว่าใครหรือไม่ เป็นต้น  ซึ่งก็ขึ้นต่อไปกับว่าคุณเกิดมาในครอบครัวที่เห็นคุณค่าของการศึกษา สนับสนุน อบรมสั่งสอน จูงใจให้คุณขยันหมั่นเพียร จนทำให้คุณมีโอกาสดีกว่าคนอื่น ๆ หรือเปล่า  หรือว่าคุณเกิดมาในครอบครัวที่ด่าเช้าด่าเย็น หัวเราำะไม่มีเหตุผล ขำผิดกาลเทศะ ขึ้นเสียงผิดคีย์ หรือเป็นอะไรที่น่ากลุ้มใจมาก ๆ อะไรทำนองนั้น--รึเปล่า?  

          เพื่อแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่พวกเสรีนิยมเสนอ(ความเสมอภาค คือ ให้ทุกคนมีสิทธิลงสนามแข่งขัน)  จึงเกิดระบบ ความยุติธรรม ในแง่ของโอกาสในชีวิต  ซึ่งก็ได้แก่ระบบที่นักศึกษาชื่อ ไมค์ ได้เสนอในตอนต้น คือ คุณธรรมนิยม -meritocracy – (ความรู้+ความสามารถ+ความดีงาม”)

          [ที่บ้านผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย -- เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2556  นักการเมืองท้องถิ่น ลงสมัครแข่งขันตำแหน่ง ประธานอบต. เท่าที่ได้ฟังจากรถโฆษณาหาเสียง  ผู้สมัครโฆษณาตัวเองตามครรลอง ความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม หรือ meritocracy ผู้สมัครท่านหนึ่งประกาศโฆษณา ว่า ท่าน 1)จบปริญญา 2)ท่านมีผลงานหลายอย่าง 3)ท่านเป็นคนดีไม่ค้ายาบ้า ยาไอซ์ 4)ท่านเป็นคนตรง ถูกเป็นถูกผิดเป็นผิด ]

          ศ.แซนเดล กล่าวว่า สังคมที่ยึด ความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม  จะเข้าไปจัดระบบบางอย่างบางประการ เพื่อนำคนทุกคนในสนามแข่งขันมายังเส้นสตาร์ทเดียวกัน ท่านว่าแบบนี้จึงจะยุติธรรม เช่น ส่งเสริมความเสมอภาคด้านการศึกษา ด้วยโครงการเฮดสตาร์ท โครงการอุดหนุนโรงเรียนในเขตเสื่อมโทรม ฯลฯ (ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลต่าง ๆ ในสหรัฐฯ)  

          แต่ จอห์น รอลส์ ก็ยังเห็นว่า แม้กระนั้นก็ตาม ระบบคุณธรรมนิยม- meritocracy ที่ยึด ความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม ซึ่งมีเรื่องความยุติธรรมของโอกาสในชีวิตเข้ามาเป็นส่วนเสริม ก็ยังแก้ไขอิทธิพลของปัจจัยนอกเหนือศิลธรรม--ที่มีลักษณะ ตามอำเภอใจ ใครมือยาวสาวได้สาวเอา  ไม่ได้

          ใคร ผู้ใด จะชิงรางวัลของสังคมได้ ตามระบบความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม ที่มีเรื่องความยุติธรรมของโอกาสชีิวิตเข้ามาเป็นส่วนเสริม?  เมื่อทุกคนถูกปรับสภาพจนมาเริ่มต้นการแข่งขัน ที่เส้นสตาร์ทเดียวกันได้แล้ว ใครจะชนะการแข่งขัน? --อาจารย์ รอลส์ ตั้งคำถาม

          คำตอบก็คือ คนที่วิ่งเร็วที่สุด จะชนะไป  แต่การเป็นคนวิ่งเร็วมีปัจจัยหลักเรื่องร่างกาย คือมีลักษณะร่างกายที่เหมาะแก่การวิ่งแข่ง  คุณสมบัติทางกายภาพเช่นนี้ เจ้าของร่างนั้น ได้สร้างหรือทำขึ้นมาเองที่ไหนกัน?  อาจารย์ รอลส์ บอกว่าระบบนี้ ยังคง.....

          [17:00]  “…..but it still permits the distribution of wealth and income
          to be determined by the natural distribution of abilities and talents”
                                                                                     
                                                                                      --John Rawls

          “.....ยังคงปล่อยให้ การกระจายรายได้และความมั่งคั่ง  ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่ติดตัวมาตามธรรมชาติ”    
                                                                                      --จอห์น รอลส์


          จอห์น รอลส์ กล่าวว่า ถ้าจะให้ยุติธรรมกันจริง ๆ เราต้องก้าวเลยระบบ “meritocracy” ไปอีกขั้นหนึ่ง  แต่ปริศนามีอยู่ว่า ก็ในเมื่อทุกคนมีสิทธิลงสนามเสมอภาคกันแล้ว  ครั้นลงสนามแล้วก็มีโปรโมชั่นส่วนเสริม(เช่น โครงการณ์นมโรงเรียน) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าเส้นสตาร์ทเดียวกัน  ไม่ใช่บางคนอยู่ใกล้หลักชัย  ส่วนอีกหลาย ๆ คนตั้งหลักอยู่ไกลสุดกู่  ทำขนาดนี้แล้วยังจะต้องแก้ไขเรื่องข้อได้เปรียบตามธรรมชาติอีกหรือ?--แล้วจะให้ปรับระนาบนี้กันอย่างไรดี?  [17:30]

          มีผูุ้้เสนอว่า แบบนี้ต้องมีการ ต่อแต้ม (to handicap fast runners) เช่น ห้ามคนที่มีร่างกาย ได้เปรียบ ตามธรรมชาติเกี่ยวกับการวิ่งแข่ง เช่น สูงเพรียว ขายาว กระดูกเบา เป็นต้น คนพวกนี้ห้ามสวมรองเท้ากีฬาวิ่ง ให้ใส่เกี๊ยะ(รองเท้าไม้)แทน  ศ.แซนเดล เห็นว่า ถ้าทำเช่นนั้น ก็เท่ากับล้มกระดานอันเป็นหัวใจของการวิ่งแข่ง แล้วเราจะมาวิ่งแข่งขันกันทำไม--ไปเล่นเกมกด หรือเล่นหมากเก็บ หรือทอยสะบ้า จะดีกว่า
         

          [หรือกรณีของคุณอรอุมา ผู้ที่สโมสรวอลเลย์บอลต่างประเทศเชิญไปร่วมทีม ด้วยค่าสมนาคุณสูงนับล้านบาทนั้น  ถึงแม้ตัวเธอจะไม่สูงใหญ่อย่างกับยักษ์ แต่เธอก็สามารถกระโดดตบได้สูง  เราน่าจะ handicap เธอ ด้วยการหล่อเหล็กเป็นกำไลข้อเท้า มาสวมข้อเท้าเธอไว้หลาย ๆ อัน  แต่ถ้าทำเช่นนั้น ก็ไม่รู้ว่าจะเล่นวอลเลย์บอลกันไปทำไมปรีชา]


          อาจารย์ รอลส์ เห็นว่า เพื่อที่เราจะก้าวโพ้น meritocracy  เราไม่จำเป็นต้องปรับระนาบให้คนเสมอภาคกันหรอก  ตรงกันข้าม เราควรสนับสนุน ส่งเสริม ผู้มีพรสวรรค์ หรือมีความสามารถเฉพาะตัว ให้ได้ใช้พรสวรรค์ของเขา หรือความสามารถเฉพาะตัวของเขาให้เต็มที่ แบบจัดหนัก-จัดเต็มกันไปเลย  เพียงแต่ว่า เขาไม่มีสิทธิจะคิดว่า ตัวเขาเองโดยแท้ ๆ เนื้อ ๆ ล้วน ๆ เพียว ๆ ที่หาเงินได้นับล้าน ๆ นั้นได้โดยปราศจาก ตัวช่วย  เพราะฉะนั้น เราจะหันมาจัดระบบเกี่ยวกับ ผลได้ ของเขา และนั่นก็คือสิ่งที่เรียก ว่า difference principle ของ จอห์น รอลส์

          ทั้งนี้โดยที่เรา จะนำ ผลได้ บางส่วนของคนที่มีพรสวรรค์ มีความสามารถพิเศษ ที่ได้มาจากธรรมชาติหรือหรือได้ตำแหน่งฐานะทางสังคม  มาทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น ๆ ที่ขาดพรสวรรค์และด้อยความสามารถ  เช่น เก็บภาษีรายได้ของ ไมเคิล จอร์แดน หรือบิล เกต มาช่วยคนอื่น ๆ เป็นต้น

          [19:07]  “Those who have been favored by nature, whoever they are, may                    gain from their good fortune only on terms that improve the situation of        those who have lost out.” John Rawls

          ข้ออ้างหรือการให้เหตุผล ของจอห์น รอลส์ นั้น  ทำไปเพื่อลบล้างประเด็นที่บุคคลอ้างเอาประโยชน์ตามอำเภอใจ ไม่คำนึงถึงข้อศิลธรรมจรรยา(moral arbitrariness)  แล้วก็ขว้างทิ้งระบบ ความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม(meritocracy)  โผไปหาระบบ ใครมือยาว-สาวได้สาวเอา (a free market) มาใช้แทน

          การก้าวเลยระบบคุณธรรมนิยม “meritocracy” ไปอีกขั้นหนึ่งนี้  จึงไม่ใช่การขว้างทิ้งระบบ ความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม (meritocracy)  แล้วโผเข้าหา ใครมือยาว-สาวได้สาวเอา (a free market) แทน  แต่จะหันมาใช้การจัดระบบเกี่ยวกับ ผลได้ ของเขาเสียใหม่  ให้คนอื่นทุกคนโดยเฉพาะคนที่ไม่มีพรสวรรค์อย่างเขา ได้รับประโยชน์จากการใช้พรสวรรค์ของเขา  และนั่นคือ difference principle ของ จอห์น รอลส์  ที่ส่งเสริมความสามารถหรือพรสวรรค์ของคน  แต่ขอแบ่ง ผลได้ มาทำประโยชน์แ่ก่ส่วนรวม

          22:10 นักศึกษาอภิปรายประเด็นนี้ 

          ศ.แซนเดล ชี้แจงว่า  แม้คนเราจะได้ใช้ความเพียรส่วนตัว - effort - เพื่อบรรลุเป้าหมายในชีวิต  แต่ปัจจัยแห่งความไม่เท่าเทียมกันของคนบางอย่าง ยังมีส่วนช่วย - เอื้อต่อการทำความเพียร  มีงานวิจัยทางจิตวิทยาระบุว่า ลูกคนหัวปี มักจะมีความมานะพยายามสูงกว่าลูกคนรอง ๆ การเกิดมาเป็นลูกคนหัวปี เป็นเรื่องธรรมชาติ  ข้อได้เปรียบข้อนี้ เราไม่ได้ทำขึ้นเอง 

          ศ.แซนเดล ขอใหันักศึกษาในห้องที่เกิดมาเป็นลูกคนหัวปี ยกมือขึ้น--ปรากฏว่า นักศึกษาในห้องนั้นส่วนมาก ยกมือแสดงตัวว่า ตนเกิดมาเป็นลูกคนหัวปี

          24:00 จอห์น รอลส์ ท้าทายว่า ทำไมรายได้ ความมั่งคั่ง โอกาสในชีวิตคน จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อยู่นอกเหนือศิลธรรม เช่น ปัจจัย ลำดับการถือกำเนิด-birth order ด้วยเล่า? (เช่น การเกิดมาเป็นลูกคนหัวปี)

          ปัญหาศิลธรรมข้อนี้ จอห์น รอลส์ ตั้งคำถามต่อระบบใครมือยาวสาวได้สาวเอา - หรือระบบตลาดเสรี - market economy  ศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาฮาร์วาร์ด ในห้องนั้นซึ่งส่วนมากก็ได้รับประโยชน์จากระบบนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ได้นำไปคิดดู.....

-----------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย: Episode 08/12 ตอน 1 จุดเริ่มต้นที่เป็นธรรม คืออย่างไร?

ท่านสามารถชมต้นฉบับวิดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับการบรรยาย episode 08/12 ได้ตามลิงก์ครับ






(สนใจ โปรดติดตามอ่าน ในนิตยสาร MBA ตั้งแต่ฉบับ July-Aug 2014/2557 เป็นต้นมา)