open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ฆ่านายกรัฐมนตรีหญิง ไม่บาป กรณีนางสาว อินทิรา ปริยัทรศินี คานธี


-- สรุป สารคดีของ โทรทัศน์อินเดีย เวลาประมาณสิบนาที
https://www.youtube.com/watch?v=1Br6_dFKBws
วันที่ 31 เดือนอัคทูบาร - (ตุลาคม) 1984(2527)

            เวลาวีดีโอ 0:36              -- เวลาเช้า ทำเนียบนายกฯ เลขที่ 1 ถนน सफदरजंग  สัฟทระชังคะ - ช่างทำผม กำลังแต่งผมนายกฯก่อนออกจากที่พัก  จะไปให้สัมภาษณ์ นายปีเตอร์ อูสตินอฟ ศิลปินชื่อดังชาวอังกฤษ
 
            เวลาวีดีโอ 1:01              -- เวลาใกล้กัน นายเบ-อัน ซิงห์  ทหารรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ(นายกฯ) ก็กำลังแต่งเครื่องแบบ

          เวลาวีดีโอ 1:15            -- นายเบ-อัน ซิงห์ เสียบปืนพก .38 ลงซองปืนข้างเอว

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

HV8/12 part1 ความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร

คนเราเกิดมา ใบหูไม่เท่ากัน นิ้วชี้ก็ใหญ่ยาวไม่เ่ท่ากัน  ปรัชญาตะวันตกจะวิสัชนาปริศนาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน อย่างไร?  ท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความไม่เสมอภาค หรือ?

- ศ.แซนเดล ม.ฮาร์วาร์ด อาจจะมีคำตอบ.....

 

สำนึกในความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ  Episode 08/12                             

--สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล

--ปรีชา ทิวะหุต  ผู้สรุป


จุดเริ่มต้นที่เป็นธรรม คืออย่างไร?

Episode 08 part 1

ปมปรัชญาเรื่องความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร
-      หมายความว่า รายได้ ทรัพย์ อำนาจ และโอกาสในชีิวิตคน ควรได้รับการจัดสรรไปอย่างไร และด้วยหลักการอะไร จึงจะยุติธรรม?


สรุปแบบสรุป ๆ

          เก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน คิดด้วน ๆ แค่นี้จะพอหรือ  หรือว่าต้องคิดมากกว่านั้น? 

          อาจารย์จอห์น รอลส์ กล่าวว่า เราต้องคิดคำนึงเรื่องความยากดีมีจนมากกว่านั้น ไม่ใช่คิดด้วน ๆ เพียงว่า เก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน  ท่านให้เราลองทำการ “ทดลองทางความคิด”(thought experiment) หรือ “ทดลองในห้วงมโนนึก”  โดยสมมติว่า เราอยู่ใน โลกดั้งเดิม หลัง ม่านแห่งอวิชชา  รวมอยู่กับคนอื่น ๆ อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกันหมด  เพื่อที่เราจะได้เลือกกติกาจัดระบบการกระจายรายได้ และความมั่งคั่งในสังคมเสียใหม่ 

          แ่ต่ว่า เราต้องการการกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมกัน  หรือว่าต้องการการกระจายอย่างชนิดที่ผู้ด้อยโอกาสที่สุด จะได้รับการดูแลมากที่สุด  เพราะว่า เมื่อม่านแห่งอวิชชาเปิดออกแล้ว  เราจะไม่รู้ว่า ตัวเราจะถูกจัดไปเป็นคนชนิดใด (ตอนนี้ ทุกคนเสมอภาคกันหมด ม่านยังไม่เปิด)  เราอาจจับฉลากได้ไปเป็นผู้ด้อยโอกาสที่สุดในสังคม ก็เป็นได้ใครจะรู้

          แม้แต่ระบบที่ยึดถือความรู้ความสามารถความดีงาม(หรือที่เรียกว่า “merit system” ) ซึ่งกระจายรายได้และทรัพยากร โดยให้ความสำคัญต่อความเพียรของคน  ก็ไม่ได้ปรับพื้นที่การเล่น ให้เรียบเป็นระนาบเดียวกันหมดสำหรับทุก ๆ คน  เพราะว่าในที่สุดแล้ว คนที่มีบังเอิญมีความถนัด มีขีดสมรรถนะ และมีความสามารถประจำตัวสูง  เป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติติดตัวเฉพาะผู้นั้น ก็จะได้เปรียบผู้อื่นอยู่ดี  อาจารย์ จอห์น รอลส์ ท่านว่า

          แล้วไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่คนที่มีความถนัด ขีดสมรรถนะ และความสามารถประจำตัวสูง ในที่สุดก็ยังไม่อาจอ้างได้ว่า ตัวเองถึงจุดชัยชนะได้ด้วยความรู้ความสามารถของตนเองแท้ ๆ  เพราะว่า ความสำเร็จของตน อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ที่ดูไร้สาระ และอยู่นอกเหนือความรู้ความสามารถความดีงาม(--อยู่นอกเหนือ merit) เช่น เกิดมาเป็นลูกคนหัวปี เป็นต้น 

          ศ.แซนเดล ขยายความว่า งานวิจัยทางจิตวิทยาระบุว่า ลูกคนหัวปี จะมีความเพียรสูงกว่าลูกคนรอง ๆ  ศ.แซนเดล ขอใหันักศึกษาในห้องที่เกิดมาเป็นลูกคนหัวปี ยกมือขึ้น--ปรากฏว่า นักศึกษาส่วนมากในห้องนั้น ยกมือแสดงตัวว่า เกิดมาเป็นลูกคนหัวปี


สรุปแบบละเอียดขึ้น

          ศ.แซนเดล อ้างอิง จอห์น รอลส์  เรื่องความยุติธรรมในการกระจายรายได้ ความมั่งคั่ง และโอกาสในชีิวิต

          ท่านว่า จอห์น รอลส์ มีคำตอบอย่างละเอียด เรื่อง หลักความยุติธรรม ว่าจะต้องมาจากสัญญาประชาคมสมมติ  โดยให้เรา ทำการทดลองทางความคิด   ติ้ต่างว่า ทุก ๆ คนถูกเปลื้องออกจากคุณสมบัติ สุขภาพ และสมบัติพัสถานที่เคยมี  แล้วไปรวมตัว เสมอภาคกัน อยู่หลัง ม่านแห่งอวิชชา  แล้วประชุมหารือกัน เพื่อตั้งกติกาสังคมเสียใหม่ 

          ทั้งนี้โดยที่ เมื่อม่านแห่งอวิชชาถูกม้วนกลับขึ้นฟ้าไป  คนแต่ละคน จะไม่มีใครมีหลักประกันว่า ตนจะได้เข้าไปครองตำแหน่งใดในสังคมใหม่  ทั้งนี้เพราะการกลับเข้าไปอยู่ในสังคมรอบใหม่นี้ จะตัดสินกันด้วยการจับสลาก หรือปั่นแปะ หรือออกหวย

          ด้วยหลักคิดเช่นนี้ จอห์น รอลส์ เห็นว่า การประชุมตกลงจัดตั้งกติกาสังคมที่เรียกว่า สัญญาประชาคมสมมติ ดังกล่าว เราจึงจะได้สังคมที่ยุติธรรม

          ศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาย้อนระลึกถึงการทดลองทางความคิด(thought experiment) ว่า ในขณะที่กำลังปรึกษาหารือเลือกกติกาสังคมกันอยู่นั้น  ในที่สุดทางเลือกทางหนึ่ง(แต่ไม่ใช่ทางของ จอห์น รอลส์)ในการสร้างสังคมที่ยุติธรรม ได้แก่ทางของปรัชญาประโยชน์นิย(GHGN)  

            สมมติแล้วกันว่า แนวทางของปรัชญาประโยชน์นิยม ถูกยกขึ้นมาพิจารณา..... 

          พวกประโยชน์นิยมเห็นว่า การกระทำที่ มีประโยชน์เป็นการกระทำ ที่ถูกที่ควร  อันพึงทำ หรือเป็นการกระทำที่ เป็นธรรม  โดยที่การกระทำที่มีประโยชน์จะได้แก่ การกระทำที่จะยังผลให้เกิดผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด  บางท่าน    เรียกย่อ ๆ ว่า GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of people เช่น การที่เราหมุนพวงมาลัยรถสิบล้อ ให้ชนคนตายคนเดียว  เพื่อให้คนอีกห้าคนรอดตาย  เป็นต้น 

          ผู้คนที่เสมอภาคกันอยู่เบื้องหลังม่านแห่งอวิชชา จะเลือกแนวทางนี้หรือไม่? 

          อาจารย์ จอห์น รอลส์ เห็นว่า พวกเขาจะไม่เลือกปรัชญาสังคมแนวประโยชน์นิยม เพราะว่า ทุกคนเกรงว่า เมื่อตัวกลับเข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ หากตัวโชคไม่ดี  จับฉลากได้-กลายเป็นคนกลุ่มน้อย ซึ่งโดยปรัชญา GHGN ที่ยึดประโยชน์ของคนหมู่มาก  ตัวเองก็มีสิทธิจะถูกคนหมู่มาก - greater number of people - อ้างประโยชน์ของคนหมู่มาก  เผด็จการข่มเหงเอาได้  เพราะคนเหล่านั้น(คนหมู่มาก) อ้างว่าระบอบประชาธิปไตยได้ให้ความ่ชอบธรรมแก่ ระบบ สุนัขหมู่ (หมาหมู่)เรียบร้อยอยู่แล้วในตัว  ฝูงสุนัขหมู่ ย่อมฉีกกินลูกแกะได้-เพราะว่า เราเป็นประชาธิปไตยแนวประโยชน์นิยม

          อาจารย์ จอห์น รอลส์ เห็นว่า คนทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน ทุกคนรักชีวิตตนไม่แพ้แก่กัน ชีวิตใคร ใครก็รัก ความรักนี้ชั่งแล้วเท่ากันหมด  ทุกคนมีค่าที่เกิิดเป็นคน ทุกคนอยากได้รับการยอมรับนับถือจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  เราไม่อยากโดนผู้อื่นล่วงละเมิดเอาได้ตามอำเภอใจ  ถ้าแม้นว่าเราจับฉลากได้เป็นคนกลุ่มน้อย เราก็ไม่อยากถูกกดขี่ ข่มเหง จากคนหมู่มาก  เพราะฉะนั้น ระหว่างประชุมกันหลังม่านแห่งอวิชชา  เราก็จะเลือกเอาสังคมที่สิทธิพื้นฐานแห่งความเป็นคน  ได้รับการค้ำประกันว่าเสมอภาคกัน  สิทธิพื้นฐานแห่งความเป็นคน-ตามความเห็นของ อาจารย์จอห์น รอลส์ ได้แก่ เสรีภาพในการพูดแสดงความคิดเห็น ในการชุมนุม ในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพบปะชุมนุม เสรีภาพในความสำนึกหรือความนึกคิด(freedom of conscience) และเสรีภาพในทรัพย์สิน เป็นต้น  ซึ่งก็ำได้แก่เนื้อหาของเสรีภาพทั้งหลายตามปรัชญาตะวันตก

          เพราะฉะนั้น หากเราเป็นคนสุขภาพดี แล้วเราไปตรวจร่างกายในโรงพยาบาลตามปกติ  เราก็ไม่ต้องกลัวว่า  แพทย์ผู้ที่สมาทานปรัชญา GHGN จะมาขโมยควักตับไตใส้พุงและหัวใจของเรา ไปช่วยคนป่วยห้าคนให้รอดตาย  แม้ว่าคนป่วยห้าคนนั้นจะประกอบด้วย  คนที่1)อภิมหาเศรษฐี  คนที่2)มหาเศรษฐี  คนที่3)เศรษฐี  คนที่4)ศิลปินแห่งชาติ  คนที่5)เด็กยากจน-แต่หัวแหลม  ก็ตาม      

          และด้วยเหตุผลข้างต้น จอห์น รอลส์ เห็นว่าปรัชญายึดคนหมู่มากเป็นใหญ่ (GHGN) จะถูกที่ประชุมเบื้องหลังม่านแห่งอวิชชา ปฏิเสธ-ไม่ยอมรับ  จอห์น รอลส์ กล่าวว่าพวกประโยชน์นิยมคิดผิด--ที่ไม่ยอมรับนับถือ ความแตกต่างระหว่างบุคคล     

          และจอห์น รอลส์ เห็นว่า คนจะไม่ยอมแลกสิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระแห่งตน กับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  นี่เป็นหลักการ หลักแรก ของ จอห์น รอลส์ (--ท่านผู้อ่านเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร  โปรดอย่าเพิ่งนึกค้าน ถ้าอยากเข้าใจความคิดเขา ก็ต้องนึกตามเขาไปก่อน-ผู้สรุปภาคภาษาไทย)

          หลักที่สอง จะเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจ  ซึ่งเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ประชุมหลังม่านแห่งอวิชชาจะเลือกหลักการใด? 

          อย่าลืมว่า เราไม่อาจแน่ใจได้ว่า เราจะได้เกิดในครอบครัวมั่งคั่ง หรือยากเข็ญ  เพราะฉะนั้น ในเบื้องแรก เราอาจจะคิดแบบขอปลอดภัยไว้ก่อนจะดีกว่า เราขอตั้งกติกาให้กระจายรายได้และทรัพย์สิน--แบบเท่า ๆ กันทุกคน  แต่พอได้คิดทบทวนสักครู่หนึ่ง เราก็ตระหนักขึ้นมาได้ว่า เราน่าจะสร้างระบบสังคมที่ดีกว่าที่จะทำกัีนแบบง่าย ๆ ด้วยการหาร ๆ เท่ากันทุกคน  ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเราจะโชคร้ายจับฉลากได้ใบห่วย ๆ ทำให้เรากลายเป็นชนชั้นใต้ถุน ในสังคมใหม่นั้น ก็ตาม

          โดย จอห์น รอลส์ ตั้งกติกาหลักความแตกต่าง(difference principle) ว่า

          “ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ ทำงาน เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น
 ๆโดยเฉพาะที่จะเป็นคุณต่อคนชั้นล่างสุดเท่านั้น ที่เราจะอนุญาตให้มีได้
          (เวลาวีดีโอ 5:20)

          เพราะฉะนั้น ตามหลักนี้ เรายอมรับความไม่เท่าเีทียมกันของคน  คนเราเกิดมาเต้านมเท่ากันที่ไหน อวัยวะเพศยังใหญ่ยาวไม่เท่ากัน--แม้จะฉีดซิลิโคนแล้ว ทั้งเต้านมและองคชาต  แต่หลักนี้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมกันชนิดที่จะทำงานเป็นประโยชน์ต่อคนผู้ยากจนที่สุดเท่านั้น จึงจะเป็นความไม่เท่าเทียมกันที่ ยุติธรรม

          ศ.แซนเดล ยกตัวอย่าง นายไมเคิล จอร์แดน กับ นายบิล เกต ขึ้นมาอีก แล้วบอกว่าการที่คนทั้งสองมีรายได้มาก  แต่ว่า ถ้าเขาอยู่ในระบบสังคมที่มีกลไกคอยดูแล คอยทำให้ความมั่งคั่งของคนร่ำรวย  ทำงานเพื่อประโยชน์ของคนชั้นล่างสุด เมื่อนั้นความร่ำรวยของคนทั้งสอง ทั้งนายไมเคิล จอร์แดน และนายบิล เกต ก็จะถือได้ว่า ยุติธรรมแล้ว

          ระบบดังกล่าวนั้น เป็นฉันใด? 

          ศ.แซนเดล กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าในสังคมทุกสังคม จำต้องมีระบบแรงจูงใจบางอย่างบางประการ  ดังนั้น ผลตอบแทนจากการทำงานจึงไม่เ่ท่ากัน  ทั้งนี้ก็เพื่อจูงใจคน ให้ได้คนที่เหมาะกับงานมาลงตำแหน่งต่าง ๆ  โดยที่เมื่อเราได้คนที่เหมาะกับงานแล้ว  เมื่อนั้นระบบที่ยุติธรรม ก็จะทำงานไปเพื่อประโยชน์ของคนอื่นทุก ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อคนชั้นล่าง และเมื่อนั้น ก็ถือว่าเราได้สังคมที่ ยุติธรรม (คือยุติธรรมในความคิดของจอห์น รอลส์  และตามความเห็นของเขา ที่ว่า หลักความยุติธรรมแบบนี้ จะได้รับเลือกมาจากที่ประชุมหลังม่านแห่งอวิชชา)   

          ศ.แซนเดล เชิญชวนให้นึกศึกษา แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับจอห์น รอลส์ อย่างไร

          นักศึกษาชื่อ ไมค์ เห็นว่าการเลือกคนลงตำแหน่งต่าง ๆ ถ้าจะให้ยุติธรรมต้องเลือกตาม “merit”(=ความรู้+ความสามาถ+ความดีงาม)ของบุคคล  ไม่ใช่เลือกเพราะว่าคน ๆ นั้นจะทำงานเป็นประโยชน์ต่อคนชั้นล่าง เช่น การเลือกคนเข้าเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปีละประมาณ 1600 คน นั้น  ถ้าไม่ได้คำนึงถึง ความรู้+ความสามารถ+ความดีงาม(merit)ของคนเป็นที่ตั้ง  การคัดเลือกย่อมไม่ยุติธรรม และนักเรียนมัธยมปลายผู้ที่ต้องการศึกษาระดับปริญญาในมหาวิทยาลัยชั้นดี ก็ไม่รู้ว่าจะทำความเพียรไปเพื่ออะไร


          [ ผู้สรุปภาคภาษาไทย มีหลานชาย-ลูกเพื่อน เกิดในสหรัฐฯ เข้าเรียนฮาร์วาร์ดตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และต่อมาก็เรียนแพทย์ที่นั่น  เขาเตรียมตัวเรื่อง ความรู้+ความสามารถ มาแต่เด็ก  แต่พอขึ้นชั้นมัธยมปลาย ก็ต้องหันมาเตรียมตัวเรื่อง ความดีงาม  เพื่อว่า เวลาสมัครเข้าฮาร์วาร์ด  มหาวิทยาลัยนั้นจะได้แลเห็น “merit” – หรือ คุณธรรมครบถ้วนของเขา การเตรียมตัวเรื่องความดีงามของเขา คือ 1) ตอนปิดเทอม ได้มาทำงานอาสา ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ อยู่ในค่ายอพยพคนพม่า ที่ชายแดนไทย-พม่า 2) ปิดเทอมอีกปีหนึ่ง ก็ไปทำงานกุศลอยู่กับ สำนักแม่ชีเทเรซา ในกัลกัตตา--พวกเราก็ไม่ใช่คนร่ำคนรวย การเล่าเรียนทั้งหมดนั้น กู้เงินเขามาเรียน  ซึ่งก็เข้าสูุตรเศรษฐกิจสูตรหนึ่ง คือสูตรที่ว่า สำหรับคนจน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเล่าเรียนเป็นการ ลงทุน  แต่สำหรับคนร่ำรวยเขาถือเป็น ค่าใช้จ่าย ธรรมดา ๆ เหมือนซื้อยาสีฟัน -- ปรีชา]


          นักศึกษาบางคนเห็นว่า  ความรู้+ความสามารถ+ความดีงามของบุคคล(merit) ก็ยังขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นมาจากครอบครัวที่อยู่ในระดับเศรษฐกิจสังคมสูง หรือว่า เขาเกิดอยู่ในครอบครัวผู้ด้อยโอกาส  การคัดคนตาม “merit”(ความรู้+ความสามารถ+ความดีงาม)อาจยังไม่ยุติธรรมก็เป็นได้  เพราะบุคคลเริ่มออกวิ่งจากเส้นสตาร์ทที่ลักลั่นกัน บางคนต้องวิ่งขึ้นบันไดไปชั้นที่สิบ  แต่บางคนไ้ด้เปรียบคนอื่น--วิ่งเข้าประตูลิฟต์ แล้วกดลิฟต์ขึ้นไป


          [ ในเมืองจีน เมื่อความบ้าคลั่ง เสียสติ ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมผ่านพ้นไป เมา เซตุง ตายแล้ว พ.ศ.2519  และมีการจับกุมคณะแก๊งสี่คนและนางเจียง ชิง --ซึ่งหน้าตาคล้าย ๆ ภรรยาหมอเหว็ง คนที่เป็นหมอฟ้น ไปขึ้นพิจารณาคดีในศาล  ต่อมานางเจียง ชิง ฆ่าตัวตายในคุก  ในพ.ศ.2520 จีนก็หันมาใช้ระบบการสอบคัดเลือก เพื่อคัดคนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยจีน--และใช้มาจนกระทั่งบัดนี้  ไม่ใช่ทำแบบเมื่อก่อน ที่ไปคัดคนมาจาก นารวม  ซึ่งจะได้คนที่คล้ายกระบือ มาเข้ามหาวิทยาลัยจีน--ปรีชา ]


          ศ.แซนเดล ฉายสไลด์(10:48)แสดงสถิติเกี่ยวกับภูมิหลังทางเศรษฐกิจ ของครอบครัวนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยมีคุณภาพของสหรัฐฯ รวม 146 สถาบัน [สหรัฐฯ มีมหาวิทยาลัย กว่า 2000 แห่ง--ผู้สรุปภาษาไทย] พบว่า นักศึกษาที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย(ระดับรายได้อยู่ในกลุ่ม 25% ด้านล่างสุด) มีเพียง 3% ของนักศึกษาทั้งหมด  และนักศึกษากว่า 70% มาจากครอบครัวคนฐานะเศรษฐกิจดี

          มีคนเถียงการอ้างเหตุผลของ จอห์น รอลส์ ว่า บางทีที่ประชุมหลังม่านแห่งอวิชชาอาจอยากเสี่ยงก็ำเป็นได้ วิญญาณนักการพนันเข้าสิง  นึกอยากเสี่ยง-เพราะคิดว่า เมื่อม่านแห่งอวิชชาเปิดแล้ว  บางทีตัวเองอาจจะจับฉลากได้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งสังคมสูง ๆ ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น อย่าหารเท่า ๆ กันเลย ให้มีมากมีน้อยมีสูงมีต่ำไว้แหละดี--เผื่อฟลุ้ค 

          แต่ จอห์น รอลส์ ก็ยังมีหลักคิดชัดเจนอีกหลักหนึ่ง คอยสนับสนุนว่า ทำไมที่ประชุมหลังม่านแห่งอวิชชา จะเลือก principle of difference ของเขา

          “การกระจายรายได้ และความมั่งคั่ง และโอกาสในชีวิต ไม่ควรที่จะขึ้นอยู่กับ         ปัจจัยใด ๆ ก็ดีที่บุคคลไม่อาจอ้างได้ว่าเกิดจากตัวเอง หรือที่บุคคลสามารถอ้างเอาได้ตามอำเภอใจ ไม่คำนึงถึงข้อศิลธรรม (arbitrary from moral point of view)”

          ผู้สรุปภาคภาษาไทยขอสรุปประเด็นในย่อหน้าบน ว่า(ผิดพลาด-ขออภัย)  บุคคลชิงรางวัลจากสังคมได้ เฉพาะเรื่องที่ตนสร้างเองทำเองเท่านั้น  ความชอบธรรมจะอยู่ที่การสร้างเองทำเอง  ถ้าพ้นไปจากนี้ท่านถือว่า อ้างเอาตามอำเภอใจ (arbitrary from moral point of view)

          เพื่อทำประเด็นนี้ให้กระจ่างขึ้น  อาจารย์ รอลส์ ได้หันมองโดยรอบเพื่อหาทางเลือกมาประกอบการพิจารณาหลักความยุติธรรม  อาจารย์ได้ศึกษาทางเลือกต่าง ๆ ที่แข่งขันกันอยู่ เช่น ระบบยึดชาติกำเนิดในยุคกลาง เป็นต้น  คุณเกิดมาในชนชั้นทาสติดที่ดิน(peasants and serfs) หรือชนชั้นสูง(aristocrats)  แล้วชีวิตคน-ซึ่งก็คือชีวิตคุณ ก็จะขยับปรับเปลี่ยนไม่ได้ตลอดชาติ  เกิดมาอย่างไรต้องเป็นไปตามนั้น  อันเป็นสภาพยุโรปบางส่วนในยุคกลาง  ซึ่งคนทุกวันนี้ ศ.แซนเดล เห็นว่า คงไม่มีใครเห็นด้วยกับระบบนี้ ซึ่งตัดสินชีวิตคนด้วย อุบัติเหตุ แห่งการถือกำเนิด

          เพราะไม่เห็นด้วยกับระบบนั้น กาลต่อมา จึงเกิดหลักปฏิบัติขึ้นมาว่า คนทุกคน ไม่ว่า อุบัติเหตุ แห่งกำเนิดจะไปตกอยู่ที่ไหน ทุก ๆ คนมีเสรีภาพที่จะทำความเพียร ที่จะขยันขันแข็ง และสามารถสมัครงานตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ก็ได้ในสังคม 

          [เช่น ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส มีกฎหมายออกมาให้ชาวฝรั่งเศส สามารถเข้ารับตำแหน่งราชการ ได้อย่างเสมอภาคกัน ซึ่งแต่เดิมจะตกแก่ ชนชั้นสูงเท่านั้น – ปรีขา]

          อาจารย์ จอห์น รอลส์ เห็นว่า การเปิดกว้างทางสังคมเช่นนั้น ถือเป็นพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น  แต่การยึดหลักเสมอภาคของพวกเสรีนิยมดังกล่าวนั้น ก็ยังไม่ไกลพอ  อาจารย์ รอลส์ บอกว่า เสมอภาคกันก็จริงอยู่--คือ ทุกคนมีสิทธิลงสนามแข่งขัน ได้ (อาจารย์ รอลส์ ยกตัวอย่างเรื่องการวิ่งแข่ง ขึ้นเป็นอุทาหรณ์)  แต่ว่า ถ้าคนแต่ละคนไม่ได้ออกวิ่งจากจุดสตาร์ทเดียวกัน การแข่งขันจะยุติธรรมได้อย่างไร?  เพราะคนที่วิ่งเก่ง-วิ่งชนะ อาจารย์ รอลส์ ถามว่า วิ่งเก่งเพราะตัวเอง-หมายถึงตัวเองได้ทำความเพียร มุมานะ ฝึกฝนตน จริงหรือ?

          ความ อยุติธรรม ที่เห็นชัดเจน ในระบบความเสมอภาคของพวกเสรีนิยม อยู่ที่ระบบนั้น ปล่อยให้การกระจายทรัพยากร อยู่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของปัจจัยนอกเหนือศิลธรรม--ที่นักปรัชญาศิลธรรมทางแพ่ง ถือว่าเป็นปัจจัยแบบ “ตามอำเภอใจ” ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ตัวอย่างเช่น ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีการศึกษาดีกว่าใครหรือไม่ เป็นต้น  ซึ่งก็ขึ้นต่อไปกับว่าคุณเกิดมาในครอบครัวที่เห็นคุณค่าของการศึกษา สนับสนุน อบรมสั่งสอน จูงใจให้คุณขยันหมั่นเพียร จนทำให้คุณมีโอกาสดีกว่าคนอื่น ๆ หรือเปล่า  หรือว่าคุณเกิดมาในครอบครัวที่ด่าเช้าด่าเย็น หัวเราำะไม่มีเหตุผล ขำผิดกาลเทศะ ขึ้นเสียงผิดคีย์ หรือเป็นอะไรที่น่ากลุ้มใจมาก ๆ อะไรทำนองนั้น--รึเปล่า?  

          เพื่อแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่พวกเสรีนิยมเสนอ(ความเสมอภาค คือ ให้ทุกคนมีสิทธิลงสนามแข่งขัน)  จึงเกิดระบบ ความยุติธรรม ในแง่ของโอกาสในชีวิต  ซึ่งก็ได้แก่ระบบที่นักศึกษาชื่อ ไมค์ ได้เสนอในตอนต้น คือ คุณธรรมนิยม -meritocracy – (ความรู้+ความสามารถ+ความดีงาม”)

          [ที่บ้านผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย -- เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2556  นักการเมืองท้องถิ่น ลงสมัครแข่งขันตำแหน่ง ประธานอบต. เท่าที่ได้ฟังจากรถโฆษณาหาเสียง  ผู้สมัครโฆษณาตัวเองตามครรลอง ความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม หรือ meritocracy ผู้สมัครท่านหนึ่งประกาศโฆษณา ว่า ท่าน 1)จบปริญญา 2)ท่านมีผลงานหลายอย่าง 3)ท่านเป็นคนดีไม่ค้ายาบ้า ยาไอซ์ 4)ท่านเป็นคนตรง ถูกเป็นถูกผิดเป็นผิด ]

          ศ.แซนเดล กล่าวว่า สังคมที่ยึด ความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม  จะเข้าไปจัดระบบบางอย่างบางประการ เพื่อนำคนทุกคนในสนามแข่งขันมายังเส้นสตาร์ทเดียวกัน ท่านว่าแบบนี้จึงจะยุติธรรม เช่น ส่งเสริมความเสมอภาคด้านการศึกษา ด้วยโครงการเฮดสตาร์ท โครงการอุดหนุนโรงเรียนในเขตเสื่อมโทรม ฯลฯ (ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลต่าง ๆ ในสหรัฐฯ)  

          แต่ จอห์น รอลส์ ก็ยังเห็นว่า แม้กระนั้นก็ตาม ระบบคุณธรรมนิยม- meritocracy ที่ยึด ความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม ซึ่งมีเรื่องความยุติธรรมของโอกาสในชีวิตเข้ามาเป็นส่วนเสริม ก็ยังแก้ไขอิทธิพลของปัจจัยนอกเหนือศิลธรรม--ที่มีลักษณะ ตามอำเภอใจ ใครมือยาวสาวได้สาวเอา  ไม่ได้

          ใคร ผู้ใด จะชิงรางวัลของสังคมได้ ตามระบบความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม ที่มีเรื่องความยุติธรรมของโอกาสชีิวิตเข้ามาเป็นส่วนเสริม?  เมื่อทุกคนถูกปรับสภาพจนมาเริ่มต้นการแข่งขัน ที่เส้นสตาร์ทเดียวกันได้แล้ว ใครจะชนะการแข่งขัน? --อาจารย์ รอลส์ ตั้งคำถาม

          คำตอบก็คือ คนที่วิ่งเร็วที่สุด จะชนะไป  แต่การเป็นคนวิ่งเร็วมีปัจจัยหลักเรื่องร่างกาย คือมีลักษณะร่างกายที่เหมาะแก่การวิ่งแข่ง  คุณสมบัติทางกายภาพเช่นนี้ เจ้าของร่างนั้น ได้สร้างหรือทำขึ้นมาเองที่ไหนกัน?  อาจารย์ รอลส์ บอกว่าระบบนี้ ยังคง.....

          [17:00]  “…..but it still permits the distribution of wealth and income
          to be determined by the natural distribution of abilities and talents”
                                                                                     
                                                                                      --John Rawls

          “.....ยังคงปล่อยให้ การกระจายรายได้และความมั่งคั่ง  ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่ติดตัวมาตามธรรมชาติ”    
                                                                                      --จอห์น รอลส์


          จอห์น รอลส์ กล่าวว่า ถ้าจะให้ยุติธรรมกันจริง ๆ เราต้องก้าวเลยระบบ “meritocracy” ไปอีกขั้นหนึ่ง  แต่ปริศนามีอยู่ว่า ก็ในเมื่อทุกคนมีสิทธิลงสนามเสมอภาคกันแล้ว  ครั้นลงสนามแล้วก็มีโปรโมชั่นส่วนเสริม(เช่น โครงการณ์นมโรงเรียน) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าเส้นสตาร์ทเดียวกัน  ไม่ใช่บางคนอยู่ใกล้หลักชัย  ส่วนอีกหลาย ๆ คนตั้งหลักอยู่ไกลสุดกู่  ทำขนาดนี้แล้วยังจะต้องแก้ไขเรื่องข้อได้เปรียบตามธรรมชาติอีกหรือ?--แล้วจะให้ปรับระนาบนี้กันอย่างไรดี?  [17:30]

          มีผูุ้้เสนอว่า แบบนี้ต้องมีการ ต่อแต้ม (to handicap fast runners) เช่น ห้ามคนที่มีร่างกาย ได้เปรียบ ตามธรรมชาติเกี่ยวกับการวิ่งแข่ง เช่น สูงเพรียว ขายาว กระดูกเบา เป็นต้น คนพวกนี้ห้ามสวมรองเท้ากีฬาวิ่ง ให้ใส่เกี๊ยะ(รองเท้าไม้)แทน  ศ.แซนเดล เห็นว่า ถ้าทำเช่นนั้น ก็เท่ากับล้มกระดานอันเป็นหัวใจของการวิ่งแข่ง แล้วเราจะมาวิ่งแข่งขันกันทำไม--ไปเล่นเกมกด หรือเล่นหมากเก็บ หรือทอยสะบ้า จะดีกว่า
         

          [หรือกรณีของคุณอรอุมา ผู้ที่สโมสรวอลเลย์บอลต่างประเทศเชิญไปร่วมทีม ด้วยค่าสมนาคุณสูงนับล้านบาทนั้น  ถึงแม้ตัวเธอจะไม่สูงใหญ่อย่างกับยักษ์ แต่เธอก็สามารถกระโดดตบได้สูง  เราน่าจะ handicap เธอ ด้วยการหล่อเหล็กเป็นกำไลข้อเท้า มาสวมข้อเท้าเธอไว้หลาย ๆ อัน  แต่ถ้าทำเช่นนั้น ก็ไม่รู้ว่าจะเล่นวอลเลย์บอลกันไปทำไมปรีชา]


          อาจารย์ รอลส์ เห็นว่า เพื่อที่เราจะก้าวโพ้น meritocracy  เราไม่จำเป็นต้องปรับระนาบให้คนเสมอภาคกันหรอก  ตรงกันข้าม เราควรสนับสนุน ส่งเสริม ผู้มีพรสวรรค์ หรือมีความสามารถเฉพาะตัว ให้ได้ใช้พรสวรรค์ของเขา หรือความสามารถเฉพาะตัวของเขาให้เต็มที่ แบบจัดหนัก-จัดเต็มกันไปเลย  เพียงแต่ว่า เขาไม่มีสิทธิจะคิดว่า ตัวเขาเองโดยแท้ ๆ เนื้อ ๆ ล้วน ๆ เพียว ๆ ที่หาเงินได้นับล้าน ๆ นั้นได้โดยปราศจาก ตัวช่วย  เพราะฉะนั้น เราจะหันมาจัดระบบเกี่ยวกับ ผลได้ ของเขา และนั่นก็คือสิ่งที่เรียก ว่า difference principle ของ จอห์น รอลส์

          ทั้งนี้โดยที่เรา จะนำ ผลได้ บางส่วนของคนที่มีพรสวรรค์ มีความสามารถพิเศษ ที่ได้มาจากธรรมชาติหรือหรือได้ตำแหน่งฐานะทางสังคม  มาทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น ๆ ที่ขาดพรสวรรค์และด้อยความสามารถ  เช่น เก็บภาษีรายได้ของ ไมเคิล จอร์แดน หรือบิล เกต มาช่วยคนอื่น ๆ เป็นต้น

          [19:07]  “Those who have been favored by nature, whoever they are, may                    gain from their good fortune only on terms that improve the situation of        those who have lost out.” John Rawls

          ข้ออ้างหรือการให้เหตุผล ของจอห์น รอลส์ นั้น  ทำไปเพื่อลบล้างประเด็นที่บุคคลอ้างเอาประโยชน์ตามอำเภอใจ ไม่คำนึงถึงข้อศิลธรรมจรรยา(moral arbitrariness)  แล้วก็ขว้างทิ้งระบบ ความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม(meritocracy)  โผไปหาระบบ ใครมือยาว-สาวได้สาวเอา (a free market) มาใช้แทน

          การก้าวเลยระบบคุณธรรมนิยม “meritocracy” ไปอีกขั้นหนึ่งนี้  จึงไม่ใช่การขว้างทิ้งระบบ ความรู้-ความสามารถ-ความดีงาม (meritocracy)  แล้วโผเข้าหา ใครมือยาว-สาวได้สาวเอา (a free market) แทน  แต่จะหันมาใช้การจัดระบบเกี่ยวกับ ผลได้ ของเขาเสียใหม่  ให้คนอื่นทุกคนโดยเฉพาะคนที่ไม่มีพรสวรรค์อย่างเขา ได้รับประโยชน์จากการใช้พรสวรรค์ของเขา  และนั่นคือ difference principle ของ จอห์น รอลส์  ที่ส่งเสริมความสามารถหรือพรสวรรค์ของคน  แต่ขอแบ่ง ผลได้ มาทำประโยชน์แ่ก่ส่วนรวม

          22:10 นักศึกษาอภิปรายประเด็นนี้ 

          ศ.แซนเดล ชี้แจงว่า  แม้คนเราจะได้ใช้ความเพียรส่วนตัว - effort - เพื่อบรรลุเป้าหมายในชีวิต  แต่ปัจจัยแห่งความไม่เท่าเทียมกันของคนบางอย่าง ยังมีส่วนช่วย - เอื้อต่อการทำความเพียร  มีงานวิจัยทางจิตวิทยาระบุว่า ลูกคนหัวปี มักจะมีความมานะพยายามสูงกว่าลูกคนรอง ๆ การเกิดมาเป็นลูกคนหัวปี เป็นเรื่องธรรมชาติ  ข้อได้เปรียบข้อนี้ เราไม่ได้ทำขึ้นเอง 

          ศ.แซนเดล ขอใหันักศึกษาในห้องที่เกิดมาเป็นลูกคนหัวปี ยกมือขึ้น--ปรากฏว่า นักศึกษาในห้องนั้นส่วนมาก ยกมือแสดงตัวว่า ตนเกิดมาเป็นลูกคนหัวปี

          24:00 จอห์น รอลส์ ท้าทายว่า ทำไมรายได้ ความมั่งคั่ง โอกาสในชีวิตคน จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อยู่นอกเหนือศิลธรรม เช่น ปัจจัย ลำดับการถือกำเนิด-birth order ด้วยเล่า? (เช่น การเกิดมาเป็นลูกคนหัวปี)

          ปัญหาศิลธรรมข้อนี้ จอห์น รอลส์ ตั้งคำถามต่อระบบใครมือยาวสาวได้สาวเอา - หรือระบบตลาดเสรี - market economy  ศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาฮาร์วาร์ด ในห้องนั้นซึ่งส่วนมากก็ได้รับประโยชน์จากระบบนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ได้นำไปคิดดู.....

-----------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย: Episode 08/12 ตอน 1 จุดเริ่มต้นที่เป็นธรรม คืออย่างไร?

ท่านสามารถชมต้นฉบับวิดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับการบรรยาย episode 08/12 ได้ตามลิงก์ครับ






(สนใจ โปรดติดตามอ่าน ในนิตยสาร MBA ตั้งแต่ฉบับ July-Aug 2014/2557 เป็นต้นมา)

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

"รายการข่าว น้ำเน่ากว่าละคร" news programs are more of sewage than telenovela

เจตนา               -เพื่อทำความเข้าใจ เชิงวิจารณญาณ กับข่าวทุกข่าว
แรงบันดาลใจ     -ได้จากเมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงศึกษาธิการ ฝรั่งเศส
ทำ คู่มือการรับฟังข่าวสาร ให้นักเรียนมัธยมฝรั่งเศส ได้ศึกษา

บทความนี้เป็นงานสั้น ๆ เริ่มเผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2554 อ่านตอนหนึ่งตอนใด ก่อนหลังก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอ่านเรียงลำดับ ครับ -ข้อเขียน รวมไว้-ข้างล่าง รวม 14 ตอน ดังต่อไปนี้ ครับ

[ตอน 1]
เชื่อหรือไม่ ข่าวน้ำเน่ายิ่งกว่า ละคร

นับได้นานปีมาแล้วที่รายการข่าวน้ำเน่า ยิ่งกว่า ละคร 

แต่ละวัน จะมีสักสองสามข่าวเท่านั้น ที่จะดีต่อชีวิตเรา เพราะฉะนั้น เราท่านทั้งหลายจะยัง ดู-ชม-อ่าน-ฟัง ข่าวให้ประสาทกินกันไปทำไม ไม่เชื่อใช่ไหม ทดลองได้ด้วยตนเอง

เมื่อที่บ้านยังมีเครื่องรับโทรทัศน์ ครูด้านสุขภาพจิตท่านหนึ่ง แนะวิธีทดลองบำบัดอาการเสพติดข่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า
ขั้นแรก เปิดโทรทัศน์ชมแต่ภาพอย่างเดียว แต่ปิดเสียง จิตประสาทของเราจะเบาภาระลงมาก ครั้นภาพข่าวน่าสนใจ จึงค่อยเปิดเสียงเบา ๆ เบาที่สุดดีที่สุด ครั้นฟังจบเรื่องแล้ว ให้ปิดเสียงทันที

คำแนะนำของท่านฟังดูสมเหตุสมผล ผู้เขียนได้ลองปฏิบัติ พบว่าจิตใจดีขึ้น

ส่วนขั้นต่อมา ท่านบอกว่า ให้ยกเครื่องรับโทรทัศน์ฝากคนเก็บขยะไปทิ้ง

[เผยแพร่ ศุกร์ที่ 15เมษา 54] 

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ฆาตกรรมกับบทกวี ตอนที่สี่ โคตรพ่อโคตรแม่ ก็ไม่มี

ฆาตกรรม กับ บทกวี
ตอนสี่-โคตรพ่อโคตรแม่ ก็ไม่มี

ประติมากรรมสัมฤทธิ์ตามตัวอย่าง ชื่อ Nuclear Energy ที่ตั้งประติมากรรม--เดิมเคยเป็นอัฒจันทร์สนามฟุตบอลเก่าของมหาวิทยาลัยชิคาโก  ต่อมาพื้นที่สนามฟุตบอลซึ่งหมายถึงอเมริกันฟุตบอล ไม่ใช่ฟุตบอลแบบอังกฤษที่เราคุ้นเคยกัน ถูกพัฒนาเสียใหม่ สร้างเป็นห้องสมุดกลางขนาดใหญ่  ส่วนบริเวณที่เคยเป็นอัฒจันทร์--ซึ่งขณะที่อเมริกากำลังพัฒนานิวเคลียร์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  อาจารย์ภาควิชาฟิสิคส์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ทดลองสร้าง เตาปฏิกรณ์ปรมาณู หยาบ ๆ เป็นเตาทดลองเตาแรกขึ้นที่ใต้อัฒจันทร์นั้น

ประติมากรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นและตั้งไว้กลางแจ้ง  ณ จุดอันเคยเป็นที่ตั้งเตาทดลอง เพื่อระลึกถึงการที่มนุษย์สามารถควบคุมการแตกตัวของอะตอมได้เป็นครั้งแรก (ไม่ใช่ระลึกถึงความดีอกดีใจ ที่จะสร้างระเบิดปรมาณูไปถล่มญี่ปุ่นได้สำเร็็จ)

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

HV7/12 part2 สัญญา ต้องเป็นสัญญา


สัญญา ต้องเป็นสัญญา                                                                                     

สำนึกในความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ  Episode 07/12  ตอน 2                          

--สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล
                                                                                                           
                                                                                                            --ปรีชา ทิวะหุต  ผู้สรุป


สัญญา ต้องเป็นสัญญา
Episode 07 part 2

เกริ่นเรื่องสำหรับการบรรยาย  ตอน สัญญา ต้องเป็นสัญญา

ศ. แซนเดล แนะนำให้เราได้รู้จักนักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ผู้หนึ่ง คนใหม่มาก-จนถือได้ว่าเป็นคนยุคปัจจุบัน  ท่านเป็นอดีตอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ด ชื่อ จอห์น รอลส์  มีความคิดปฏิปักษ์ต่อแนวประโยชน์นิยม เช่นเดียวกับ คานท์  บุคคลผู้นี้เป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่า นักปรัชญาการเมืองตะวันตกไม่ได้มีอายุสองพันกว่าปีอย่าง เพลโต อะริสโตเติล หรือหกร้อยปีอย่าง แมคเคียเวลลี หรือสามสี่ร้อยปีอย่างคนช่างคิดทั้งหลาย--ในยุคแสงสว่างทางปัญญาในอัศดงคต

ศ.แซนเดล ชี้ชวนให้เราได้รู้จักกับ ทฤษฎี สัญญาประชาคมโดยสมมติ ของอาจารย์จอห์น รอลส์ ที่แถลงเหตุผลว่า  หลักความยุติธรรมจะต้องกำเนิดจาก การตกลงแบบพิเศษ  ชนิดหนึ่ง  ไม่ใช่เกิดจากการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ 

พิเศษอย่างไร? กล่าวคือ ในกรณีที่เราตกลงกันเลือกกติกาอย่างใดอย่างหนึ่ง(ข้อตกลง) ขึ้นมาบังคับใช้เป็นขื่อแปบ้านเมือง(ประชาคม-ตำบล-หมู่บ้าน-อบต.)  กติกาที่ ยุติธรรมนั้นกระบวนการตกลงกำหนดกติกา  ต้องไม่มีใครมีอำนาจต่อรองเหนือใคร ต้องเป็นคนเสมอภาคกันหมด มาร่วมกันคิดอ่านตกลงด้วยกัน 

แล้วเราจะประกันได้อย่างไร ว่าสมาชิกในที่ประชุม จะไม่มีใครมีอำนาจต่อรองเหนือใคร? 

ทางเดียวที่จะแน่ใจได้ว่า จะไม่มีใครมีอำนาจต่อรองเหนือใคร ในการประชุมตกลงกติกา อาจารย์จอห์น รอลส์ ให้เราลองใช้จินตนาการ ทำการทดลองทางความคิด  หรือทดลอง ในมโนนึก ลองนึกถึงสถานการณ์สมมติสถานการณ์หนึ่ง ที่คนทั้งหลายเสมอภาคกันหมด  ไม่มีผู้ใดแตกต่างกับใคร เรื่องอายุ เพศ ชาติพันธ์ ปัญญา พละกำลัง สถานะทางสังคม ตระกูลสกุลรุนชาติ สมบัติพัสถาน สัทธิความเชื่อ หรือศาสนา หรือแม้กระทั่งเป้าหมายในชีวิตและเบื้องหน้าเบื้องหลัง 

อาจารย์ รอลส์ เรียกสถานการณ์ในจินตนาการ ที่ไม่มีใครเหนือใคร ทุกคนเสมอหน้ากันหมด ว่าเป็นประชาคมที่อยู่หลัง ม่านแห่งอวิชชา  (--วลีนี้ท่านใช้โดยมีความหมายเชิงบวก ไม่ได้เกี่ยวกับการพร่องความรู้  ภาษาอังกฤษว่า the veil of ignorance)

------------------------------------------------

ตอนก่อน ศ.แซนเดลพูดเรื่อง กฎศิลธรรมของ คานท์ หรือ categorical imperative พร้อมกับนำมาปรับใช้กับเรื่อง การตอแหล

การบรรยายตอนที่สองนี้ ศ.แซนเดล กล่าวถึงการนำหลักศิลธรรมดังกล่าวของคานท์ มาใช้กับ การเมือง  โดยคานท์กล่าวว่า ธรรมนูญที่ยุติธรรมของบ้านเมือง จะกำเนิดขึ้นจากสัญญาประชาคมชนิดพิเศษชนิดหนึ่ง--ไม่ใช่เกิดจากการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีคนมาประชุมพบปะกันจริง ๆ  แต่จะเกิดจาก ความคิดอ่าน-ของเหตุผล 

ทำไมรึ? และเป็นอย่างไร?  เพราะว่า คนที่มาประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ  ผู้สรุปภาษาไทยขอยกตัวอย่างเองว่า เช่น พวกนายห้าง นายธนาคาร นายพล อดีตผู้พิพากษา อดีตอัยการ อดีตนายพลทหารตำรวจ อาจารย์มหาวิทยาลัย กำนันดัง ๆ ฯลฯ เหล่านี้  แต่ละคนก็มีผลประโยชน์ที่จะพิทักษ์รักษา--ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเราไม่ได้ว่าอะไรกันนะครับ--เราเพียงแต่แถลงความจริงว่า พวกเขามีผลประโยชน์ที่จะต้องปกป้อง  ซึ่งผลประโยชน์เหล่านั้น ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน 

ดังนั้น ที่ประชุม--ก็เลยจะกลายเป็นที่พบปะหาทางประนีประนอม รอมชอม หาทางประสานประโยชน์กันออกมาให้ได้  คานท์เห็นว่า กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่ได้จากการประชุมลักษณะนี้ จะ ไม่ยุติธรรม”  อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการเรื่อง สิทธิ  เพราะว่า กฎหมายที่ได้มา จะเกิดจากอำนาจต่อรองอันแตกต่างกันในหมู่สมาชิกทั้งหลาย (หมายความว่า สมาชิกไม่ได้มีสถานะเสมอภาคกัน)

คานท์ เห็นว่า just law” หรือ กฎหมายที่ยุติธรรม จะต้องถือกำเนิดจากสัญญาประชาคมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ  แต่จะมีที่มา จาก...

                   A contract that generates principles of right is merely an idea of reason, but it has undoubted pracitcal reality, because it can oblige every legislator to frame his laws in such a way that they could have been produced by the united will of the whole nation.    

                                                                                                                             -Immanuel kant

                                        สไลด์คำกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในคำบรรยาย ณ เวลาประมาณ 25:15

                   เหตุผล เป็นผู้ให้กำเนิดสัญญาที่ธำรงหลักการเรื่องสิทธิ  โดยสัญญา ดังกล่าวจะมีีสภาพการใช้งานจริงที่ไร้ข้อสงสัย และปราศจากข้อครหา  เพราะว่่าผู้ยกร่างแต่ละคน อยู่ในกรอบที่จะต้องยกร่างเสมือนกับว่า ได้สร้างกฎหมายขึ้น จากเจตนาอันประสานกันของประชาชนทั้งชาติ 

                                                                                      -ปรีชา ทิวะหุต แปล


สัญญาประชาคมฉบับดังกล่าวของ คานท์  มีลักษณะเป็น สัญญาสมมติ เกิดจากที่ประชุมสมมติ และเจตนาสมมติ

ศ.แซนเดล ตั้งคำถามว่า แล้วพลังทางศิลธรรมของสัญญาสมมติชนิดนี้ จะมาจากไหน?  ต่อคำถามนี้ ทฤษฎี สัญญาประชาคมโดยสมมติ (a hypothetical contract) ของอาจารย์จอห์น รอลส์  จะช่วยไขปริศนา

อาจารย์รอลส์ กับอาจารย์คานท์ ใจตรงกันในแง่ที่ต่างคนต่างก็แอนตี้พวกประโยชน์นิยมด้วยกันทั้งคู่  ดังที่อาจารย์ รอลส์ แถลงไว้ว่า

                   Each person possesses an inviolability founded on justice that even the welfare of society as a whole cannot override… The right secured by justice are not subject to political bargaining or to the calculus of social interest.

                                                                                      -John Rowls
                                        สไลด์คำกล่าวนี้ ปรากฏอยู่ในคำบรรยาย ณ เวลาประมาณ 26:37

 
                   มนุษย์แต่ละคน ผู้ใดจะล่วงละเมิดเขามิได้  สภาพอันล่วงละเมิดไม่ได้ของคน ตั้งอยู่บนกฎแห่งความยุติธรรม  ซึ่งแม้แต่ผลประโชน์ของสังคมส่วนรวมก็จะมาละเมิดมนุษย์ไม่ได้...สิทธิแห่งความเป็นคนที่มีความยุติธรรมค้ำประกันอยู่นี้  ไม่ขึ้นต่อการต่อรองทางการเมืองใด ๆ และไม่ขึ้นกับการคิดคำนวณเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม 
                                                                                    
  -ปรีชา ทิวะหุต แปล


นั่นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งที่อาจารย์ รอลส์  คล้อยตามอาจารย์ คานท์ ได้แก่เรื่องที่ว่า ความยุติธรรมจะต้องคิดอ่านกันออกมาจาก สัญญาประคมสมมติ คือสมมติทั้งสัญญาและประชาคม  ไม่ใช่คิดขึ้นจากโลกที่เป็นจริง

อาจารย์ รอลส์ ท่านสร้างตัวอย่างความคิดที่แยบคายและคมคาย กระจ่าง ชัดเจน ใคร ๆ ก็เข้าใจได้  ท่านเสนอแนวคิดเรื่อง ม่านแห่งอวิชชา(the veil of ignorance)

คือ.....

ผู้สรุปภาษาไทยขอยกตัวอย่างเอง ไม่ใช่จากคำบรรยายของ ศ.แซนเดล แต่ก็อยู่ในกรอบของท่านและลอกเลียนจากท่าน.....สมมติว่าในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในอินเดีย ซึ่งมีคนอยู่กันครบทุกวรรณะ  ถ้าเราเกณฑ์ชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน ให้ออกจากบ้านมายืนรวมกันที่ลานกว้างหน้าหมู่บ้าน  แล้วเราโรยม่านแห่งอวิชชาลงมาจากสวรรค์  ให้ม่านกั้นอยู่ระหว่าง ชาวบ้าน กับ หมู่บ้านของพวกเขา 

สมมติต่อไปว่า เทพบนสวรรค์ปกาศิต ถอดวรรณะออกจากตัวชาวบ้านทุกคน เปลื้องทุกคนออกจากกรรมเก่าของตน รวมทั้งความรู้ความสามารถที่แต่ละคนมีอยู่  เปลื้องสิทธิในสมบัติพัสถานที่มีอยู่เดิม ล้างออกหมด  แม้แต่อายุ และสุขภาพจะดีหรือไม่ก็ถูกล้างออกเช่นเดียวกัน  ชาวบ้านทุกคนถูกทำ รี-ฟอร์แมทโดยเทพปกาศิต

เพราะฉะนั้น บัดนี้ ก็จะไม่มีใครแตกต่างจากใคร  สถานการณ์ใหม่ของบรรดาชาวบ้านทั้งหลาย ที่ถูกทำรี-ฟอร์แมทแล้วนี้  อาจารย์จอห์น รอลส์ ท่านบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเรียกสถานการณ์สมมตินั้นว่า โลกต้นกำเนิด  อันเป็นแนวความคิดที่คู่อยู่กับ ม่านแห่งอวิชชา 

บัดนี้ ก็ขอให้ชาวบ้านทั้งหลาย ที่ถูกทำรีฟอร์แมทแล้วและกำลังอยู่ใน โลกต้นกำเนิดนั้น ได้อภิปรายกันก่อน ว่าจะจัดการการปกครอง ตลอดจนแบ่งสรรปันส่วน สถานะทางสังคม ชั้นวรรณะ สติปัญญา สมบัติพัสถาน อาชีพ รายได้ ฯลฯ ของคนในหมู่บ้านเดิมเสียใหม่อย่างไรจึงจะดี? 

เมื่ออภิปรายจนตกลงกันได้แล้ว ว่า กติกาสังคมใหม่ในหมู่บ้านจะเป็นอย่างไร  จึงขอให้เทพม้วนม่านแห่งอวิชชากลับขึ้นฟ้า 

เปิดโอกาสให้ชาวบ้าน ได้เฮ!  วิ่งกลับเข้าหมู่บ้าน ซึ่งบัดนี้ได้จัดสังคมเสียใหม่แล้ว แต่จะกลับเข้าบ้านเก่าไม่ได้นะ  ทั้งนี้เพราะว่า ระหว่างที่ตกลงกติกาสังคมกันหลังม่านแห่งอวิชชานั้น  ก็จะไม่มีหลักประกันว่า ใครจะได้เข้าไปสวมสิทธิอะไร ในหมู่บ้านเดิมของตน  

เพราะว่า สถานะเดิมถูกยกเลิกไปหมดแล้ว ตัวเองก็โดน รีฟอร์แมท แล้ว

สังคมหมู่บ้านกลายเป็นสังคมใหม่  ซึ่งก็ไม่มีใครได้รับการค้ำประกันว่า ตนจะได้ลงตำแหน่งใด อายุเท่าไร มีสมบัติพัสถานอะไรบ้าง สติปัญญาจะเป็นอย่างไร (วิธีการนี้ชวนให้นึกถึงที่พวกเขมรแดงไล่ต้อนคน ออกจากกรุงพนมเปญในอดีต)  ส่วนการที่จะคัดสรรและจัดสรรผู้คนลง ณ ที่ใดในสังคมใหม่  ก็จะมีวิธีการที่เสมอภาคกัน เช่น จับสลาก หรือออกเบอร์ หรือปั่นแปะ เป็นต้น    

วิธีคิดแบบนี้มีข้อดีและมีประโยชน์  ตรงที่จะบังคับให้ผู้คิด หรือนักคิด ต้องไปคิดมาจากใจของผู้ด้อยโอกาสที่สุดในสังคม--ครับพี่  เพราะว่า ก็ในเมื่อเราไม่รู้ว่าพอม่านแห่งอวิชชาม้วนกลับเข้ากลีบเมฆไป  ตัวเราเองซึ่งโดนฟอร์แมทใหม่โล่งโจ้งล่อนจ้อนแล้วนี้  เราจะได้เข้าไปสวมบทบาทหรือตำแหน่งใดในสังคม  เพราะฉะนั้น เราย่อมคิดสร้างแบบแผนสังคม ที่ผู้ด้อยโอกาสที่สุด ก็ยังพออยู่ได้ตามอัตภาพ  ไม่ใช่ต้องอยู่แบบตกนรก--เผื่อว่าผู้ด้อยโอกาสที่สุดคนนั้น จะเป็นเรางัย! 

ศ. แซนเดล เดินเรื่องบรรยายต่อไปว่า กติกาที่ตกลงกันจากเบื้องหลังม่านแห่งอวิชชา ของอาจารย์รอลส์ จะยุติธรรมหรือไม่? อย่างไร?  โดยท่านได้ยกตัวอย่างข้อตกลงในโลกจริง ๆ ที่ได้ผลลัพธ์ ไม่ยุติธรรม

เรื่องนี้ท่านผู้อ่าน และผู้เขียนสรุปภาษาไทย เราคงมีประสบการณ์กันมาทุกคน ว่าบางทีเราไปเซ็็นสัญญาอะไรไว้ หรือไปตกลงกันด้วยวาจาไว้  ต่อมาภายหลังไม่นาน เรารู้สึกว่าสัญญาที่เราตกลงไปแล้วนั้น--ไม่ยุติธรรม  ในที่นี้ ศ.แซนเดล ต้องการจะชี้ว่า สัญญา ไม่ได้แปลว่าจะเป็นข้อตกลงที่ยุติธรรม  ดังจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้เรามีกฎหมายเกี่ยวกับข้อตกลงหรือข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (ซึ่งในประเทศไทยก็มี – ปรีชา)

ศ.แซนเดล ชวนให้นักศึกษาพิจารณา นิติกรรม-สัญญา ในโลกแห่งความเป็นจริง  ว่าจริง ๆ แล้วสัญญาต่าง ๆ ที่เราทำกันในชีวิตประจำวัน  โดยแท้จริงนั้นมีพลังทางศิลธรรมอันใด หนุนอยู่ หรือแฝงอยู่ หรือเจือสมอยู่บ้าง  อะไรที่ทำให้สัญญาเหล่านั้นใชับังคับกันได้--หมายถึงพลังในทางปรัชญา ไม่ใช่ลักษณะบังคับทางบ้านเมือง--แบบว่าเดี๋ยวเรียกตำรวจจับ หรือเดี๋ยวเหอะจะฟ้องศาล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เพื่อที่จะรู้พลังเบื้องหลังสัญญาประชาคมสมมติ  เราจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้จากสัญญาของจริง ที่ไม่ใช่สัญญาสมมติ  ดูซิว่าศิลธรรมของสัญญาของจริง ได้พลังมาจากไหน  ซึ่งตรงนี้มีคำถามที่เราจะต้องแสวงคำตอบ คือ

How do actual contracts bind me or obligate me?
1) สัญญาผูกพันฉัน หรือเรียกร้องเอาจากฉัน หรือก่อหนี้ให้ฉัน ได้อย่างไร?

          ตัวอย่างของศ.แซนเดล : ฉันจะจ่ายเงินให้คุณ 100 ดอลลาร์  ถ้าคุณไปหาหอย     นางรมมาให้กิน 100 ตัว  แต่ปรากฏว่า เมื่อฉันกินหมดแล้ว ฉันไม่จ่าย  คุณถามฉันว่า ทำไมไม่จ่าย ก็ในเมื่อเราได้ตกลงสัญญากันไว้แล้วอ่ะ? 

          กรณีนี้ สัญญา ผูกพัน  เพราะมีผลประโยชน์ต้องตอบแทนกัน  ฉันได้ประโยชน์จาก  หยาดเหงื่อแรงงานของคุณ  ฉันกินหอยนางรมหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ฉันก็ต้องตอบ แทนคุณด้วยการจ่ายเงิน 100 ดอลลาร์

          ทั้งนี้เพราะ ตัวสัญญาได้กลายเป็นเครื่องมือแห่งประโยชน์ร่่วม/หรือเครื่องมือแห่ง   ประโยชน์ชนิดต่างตอบแทน (an instrument of mutual benefit/reciprocal         exchange)
                               
หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย--กฎหมายไทย เรื่องสัญญาต่างตอบแทน อยู่ที่ประมวลแพ่งฯ มาตรา 369 ซึ่ง        สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ตามมาตรา 203-225

          ศ.แซนเดล ขยายมิติของตัวอย่างออกไปอีกเล็กนัอย  โดยสมมติว่า เพียงสองนาทีที่ได้ตกลงกัน  คุณยังไม่ทันจะได้ลงมือทำงาน  ฉันบอกเลิกสัญญา ประโยชน์ยังไม่เกิืด  เพราะฉะนั้น ฉันก็ไม่รู้จะตอบแทนคุณด้วยเรื่องอะไร จะตอบแทนอะไร--ในเมื่อคุณยังไม่ได้ทำอะไร 

          ศ.แซนเดล ตั้งคำถามกับนักศึกษาว่า กรณีเช่นนี้ ฉันยังจะต้องตอบแทนคุณ เพียง   เพราะ เราได้ทำสัญญากันไว้ เท่านั้นล่ะหรือคือเหตุุผล?

                   “ฉัน เป็นหนี้อะไร คุณ?

                   (ในความหมายที่ว่า Why do I owe you?
                   ไม่ใช่ ความหมาย What do I owe you?)

How do they justify the terms they produce?
2) การมีสัญญากัน แปลว่า ข้อตกลงนั้นเป็นธรรม จริงหรือ?

          ศ.แซนเดล ตอบว่า ไม่จริง

สัญญาในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่โลกของสัญญาประชาคมสมมตินั้น  ยากที่จะเป็นเครื่องมือศิลธรรมที่พอเพียงอยู่ในตัวเอง  หมายความว่า จะเกิดคำถามขึ้นได้เสมอว่า--ที่ตกลงกันนั้น ยุุติธรรมแล้วหรือยัง? (=หมายความว่า มีศิลธรรมหรือไม่)

เมื่อมีการตกลงเซ็นสัญญากันก็ดี หรือตกลงอะไรกันด้วยวาจาก็ดี  ไม่ได้แปลว่ามีความเป็นธรรม ความชอบธรรม หรือความยุติธรรมเกิดขึ้นแล้ว  หามิได้--คนเราลงนามในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมออกบ่อยไป (สัญญาไม่เป็นธรรม ในทางปรัชญาก็เท่ากับว่า สัญญานั้นผิดศิลธรรม)

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างหญิงชราชาวเมืองชิคาโก ที่ชักโครกรั่ว  ด้วยใจสมัคร-เธอลงนามในสัญญาซ่อมชักโครกกับช่างซ่อมเจ้าเล่ห์  ผู้เสนอซ่อมโดยคิดค่าซ่อมถึง 50,000 ดอลลาร์  แต่ต่อมา-โชคดีที่มีผู้เข้ามาช่วยเหลือ แก้ไขสถานการณ์ให้ร้ายกลายเป็นดี ไม่ต้องเสียเงินขนาดนั้น

สัญญาในโลกแห่งความเป็นจริง จึงไม่ใช่เครื่องมือศิลธรรมที่พอเพียงอยู่ในตัว  เพราะมีขีดจำกัดทางศิลธรรม--หมายความว่า คนอาจลงนามในสัญญาที่ผิดศิลธรรม ก็เป็นได้

ณ เวลาในวีดีโอ ประมาณ 37:00  ศ.แซนเดล ฉายสไลด์แสดงพลังทางศิลธรรมที่แฝงอยู่กับ ข้อสัญญาในโลกแห่งความเป็นจริง --ที่ไม่ใช่ประชาคมสมมติ  แสดงเหตุผลว่า 


สัญญาหรือข้อตกลง ก่อให้เกิดพันธะผูกพัน(หรือ หนี้) ได้อย่างไร?
How do actual contracts generate obligation?

a.    consent-based --------à AUTONOMY
          สัญญาเกิดจากความยินยอม ซึ่งหมายถึง อัตโนอนุมัติ ของ คานท์
                   เมื่อฉันทำสัญญา หนี้ที่เกิดขึ้นจึงเป็น self imposed คือว่า ด้วยใจสมัคร

b. benefit-based  -------à RECIPROCITY
                   สัญญาอิงผลประโยชน์ หมายถึงลักษณะ ต่างตอบแทน ซึ่งกันและกัน
                   คือเป็น mutual benefit --ผลประโยชน์ร่วมกัน

พิจารณาตามข้อ b. ก็แปลว่า สัญญาอาจเกิดขึ้นได้ในลักษณะ ต่างตอบแทน โดยที่ ความยินยอม (ใจสมัคร)จะไม่ใช่เงื่อนไขหลักของการเกิดสัญญา  ศ.แซนเดล แจงเหตุผลว่า เมื่อมีลักษณะต่างตอบแทน-มีการแลกเปลี่ยนกัน  ดังนั้น ผู้รับประโยชน์ย่อมมีพันธะ(เกิดหนี้) แม้จะไม่ได้สมัครใจที่จะก่อหนี้ก็ตาม-แต่หนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

[หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย--กฎหมายไทย ที่ว่า ความยินยอม  เป็นองค์ประกอบหนึ่งของนิติกรรม  อยู่ที่ประมวลแพ่งฯ มาตรา 149 โดยที่บัญญัติเรียกว่า ด้วยใจสมัคร”]


ศ.แซนเดล ยกตัวอย่าง นักปรัชญาศิลธรรม(ทางแพ่ง)ชื่อดัง ชาวสก็อต นายเดวิด ฮูม ผู้แอนตี้ ความยินยอม  ว่า ความยินยอมไม่ใช่พื้นฐานหลักแห่งการเกิดข้อสัญญา  เรื่องราวมีว่า..... 

เดวิด ฮูม ถูกทดสอบแนวความคิดของตนเอง ด้วยเหตุการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง กล่าวคือ ฮูม มีบ้านอยู่หลังหนึ่งในนครเอดินเบอะเรอะ เขาให้มิตรผู้หนึ่งเช่าบ้านหลังนั้น แล้วมิตรผู้นั้นนำบ้านไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง  ต่อมาผู้เช่าช่วงเห็นว่า บ้านหลังนั้นสมควรทาสีเสียใหม่ จึงว่าจ้างช่างมาทาสี แล้วส่งใบเสร็จไปเก็บเงินที่ฮูม และฮูมปฏิเสธไม่จ่าย

ทั้ง ๆ ที่ ฮูม เคยเขียนหนังสือแอนตี้เรื่องความยินยอมว่าเป็นรากฐานของสัญญา  แต่เมื่อความขึ้นศาล  เขากลับแก้ตัวว่า ช่างทาสีทำไปโดยพละการ เขาไม่ได้ให้ความยินยอม  ช่างทาสีแย้งว่า บ้านฮูมอยู่ในสภาพที่ต้องการการทาสี และเขาก็ได้ทาสีให้อย่างดี  ฮูมโต้ว่า ถ้าจะใช้เหตุุผลเช่นนั้นแล้วละก้อ ช่างทาสีผู้นี้สามารถหาเรื่องทาสีให้แก่บ้านหลังไหนก็ได้ในเอดินเบอะเรอะ  แต่-ในที่สุดศาลตัดสินให้ฮูม จ่ายเงิน ด้วยเหตุว่าเขาเป็นผู้รับประโยชน์ เขาต้องตอบแทน ตามหลักศิลธรรมเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทน-Reciprocity อันเป็นรากเหง้าหนึ่งของสัญญา


[หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย--กฎหมายไทย มีตัวบทว่าด้วย การจัดการงานนอกสั่งและลาภมิควรได้ ไว้กำกับกรณีนี้  ประกอบด้วยมาตราสำคัญ และมีชื่อเสียงโด่งดัง สามมาตรา ในประมวลแพ่งฯ คือ
         
                   มาตรา เสือก  395 บัญญัติว่า บุคคลใด เข้าทำกิจการแทนผู้อื่น โดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำ.....

                   มาตรา เสือกไม่เข้าท่า  396 บัญญัติว่า ถ้าการที่เขาเข้าจัดการงานนั้น เป็นการ
ขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ.....

                   มาตรา เสือกเข้าท่า  401 บัญญัติว่า  ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้น เป็นการสมประโยชน์ของตัวการ.....”]


สรุป

ศ.แซนเดล สรุปเรื่อง สัญญา ต้องเป็นสัญญา ว่า สัญญาในโลกแห่งความเป็นจริง มีรากเหง้าศิลธรรมอยู่สองเหง้า คือ อัตโนอนุมัติ(ตัวเองยินยอมทำสัญญาเอง) กับ ต่างตอบแทน

แต่ในความเป็นจริง สัญญาทุกสัญญามักจะพร่องพลังทางศิลธรรมสองประการนั้น เช่น อัตโนอนุมัติ อาจจะพร่อง เพราะคู่สัญญามีอำนาจต่อรองไม่เท่าเทียมกัน  ส่วนประเด็น ต่างตอบแทน ก็อาจจะพร่องได้ เพราะคู่สัญญารู้ข้อมูลไม่เท่าเทียมกัน จึงประเมินคุณค่าหรือราคาของสิ่งที่จะตอบแทนผิดพลาด ประเภทเอาทองดีแลกกระเบื้อง เป็นต้น

ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังได้อ้างมานั้น  เราน่าจะลองจินตนาการถึงการทำสัญญาสักฉบับหนึ่ง  ที่สมบูรณ์พร้อม ไม่ว่าจะเป็น อัตโนอนุมัติ หรือ ต่างตอบแทน  และมีหลักประกันว่าคู่สัญญาเสมอภาคกัน--ทั้งในแง่กำลังอำนาจและแง่ข้อมูลความรู้  ต่างฝ่ายต่างมีสถานะทัดเทียมกัน มิใช่แตกต่างกัน  ซึ่งสภาพเช่นนี้ก็คือแนวคิดของอาจารย์ รอลส์ ที่ว่า วิธีคิดถึงความยุติธรรม จะต้องคิดจากสัญญาสมมติที่ตกลงกันหลังม่านแห่งอวิชชา--อันเป็นสถาพแห่งความเสมอภาค  ฉะนี้แล้ว สัญญาจึงจะยุติธรรม  


---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย: Episode 07/12 ตอน 2 สัญญาคือสัญญา 

ท่านสามารถชมต้นฉบับวิดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับการบรรยาย episode 07/12 ได้ที่ลิงก์ครับ


(สนใจอ่านบทสรุปภาษาไทย โปรดติดตามอ่านได้ ในนิตยสาร MBA ตั้งแต่ฉบับ สิงหาคม 2557 เป็นต้นมา)

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เจตนา วิบัติิได้อย่างไร? --ฆาตกรรม กับ บทกวี ตอนสาม

ฆาตกรรม กับ บทกวี
ตอนสาม-เจตนา วิบัติิได้อย่างไร?

เราคงจะต้องรู้กันเสียก่อนว่า  ที่ว่าวิบัตินั้น เป็นฉันใด?  หรือ วิบัติ คือ อะำไร?

หลังจากศึกษาเรื่อง วิบัติ  แบบที่วิญญูชนสมัยปัจจุบันทำกันทุกคน คือด้วยการ 1) เคาะชมเว็บไซด์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคำ ๆ นี้ -ตรึม!  2) ฟังพ็อดคาสต์เรื่องวิบัติ -เพียบ!  3) ชมยูตูบเกี่ยวกับเรื่องนี้ -อื้อ!  จนตาเหล่ (--ตอแหลเปล่า?)  สรุปได้ดังนี้ครับ

คำว่า วิบัติ  ของเราท่านทั้งหลาย เขานำคำเก่ามาใช้  ในภาษาสันสกฤตคำนี้เขียนด้วยอักขระเทวนาครี ว่า विपत्ति อ่านว่า วิ-ปะติ  แขกออกเสียงว่า “หวี่ ป้ะ ติ้”  แปลว่า ฉิบหาย หรือ คลาดเคลื่อน ก็ได้ และแปลอย่างอื่นในทำนองวายป่วงได้อีก เช่น นำไปใช้เป็นคำคุณศัพท์ เรียกสัญญาณฉุกเฉินซึ่งจะดังขึ้นในห้องโดยสาร เวลาที่เครื่องบินตั๋วถูกลำที่ท่านกำลังนั่งอยู่นั้น ประสบอุบัติเหตุกลางเวหา และจะต้องพลัีดตกทำลายลง  สัญญาณดังกล่าวนั้นท่านเรียกว่าสัญญาณ วิ-ปะติ  และเครื่องบินลำนั้นในภาษาฮินดีปัจจุบัน ท่านก็เรียกว่ากำลังอยู่ในสภาพ หวี่ ป้ะ ติ้