open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

จะอยู่เป็นบ้านเป็นเมือง กันอย่างไรดี? บทแนะนำ

- ปรัชญาการเมือง 
ศาสตราจารย์สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล สหรัฐอเมริกา


บทแนะนำ 


ปรัชญาการเมือง ถือกันว่า เป็นวิชาสังกัดอยู่ในรัฐศาสตร์ เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ เช่น วิชาการปกครองอเมริกัน(-เป็นวิชาที่มีสอนทั่วไป ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยอเมริกัน – ผู้สรุปภาษาไทย) การเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น

แต่ถ้ามองอย่างนั้น คือถือว่า ปรัชญาการเมือง เป็นวิชาย่อยอยู่ในรัฐศาสตร์  ก็อาจจะเป็นทัศนคติที่แคบไป เพราะ ปรัชญาการเมือง เป็นเรื่องเก่าแก่โบราณ เก่าที่สุดในบรรดาเรื่องรัฐศาสตร์ทั้งหลาย และเป็นพื้นฐานของวิชารัฐศาสตร์ ที่เรียนและสอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

ปรัชญาการเมือง เช่นที่เราจะว่ากันเป็นลำดับต่อไปนั้น จะเริ่มด้วยตำราหลักที่สำคัญ อันเป็นตำราโบราณ ผลงานของ เพลโต อะริสโตเติล มาเคียเวลลี มาร์ก เฮเกล ฮ็อป ท็อควิลล์ นิชช์ เป็นต้น  ปรัชญาการเมืองเป็นวิชาสังคมศาสตร์ ที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาวิชาสังคมศาสตร์ทั้งปวง

การศึกษาตำราเก่าแก่ของนักคิดที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย จะว่าดีก็ดี จะว่าไม่ดีก็ได้  ที่ว่าไม่ดีก็คือเราอาจจะนึกระย่อท้อถอย แล้วหมอบราบคาบแก้ว กลายเป็นสาวกของครูรุ่นโบราณ จนขาดความเป็นตัวของตัวเอง  เวลานี้ มีแต่ปรัชญาการเมืองกับรัฐศาสตร์เท่านั้น ที่ยังศึกษาตำราเก่าแก่  ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่อ่านงานของ อะดัม สมิธ กันแล้ว  และนักจิตวิทยาก็เลิกอ่านงานของ ฟรอยด์  มีแต่นักรัฐศาสตร์ที่ยังต้องอ่านงานของ เพลโต อะริสโตเติล ล็อค ฮ็อป มาเคียเวลลี ฯลฯ

เหตุที่ นักรัฐศาสตร์ยังต้องศึกษาตำราโบราณ ทั้ง ๆ ที่โลกวิวัฒนาการไปจนเกิดโลกาภิวัตน์แล้วก็เพราะตำราเหล่านั้น ช่วยปูความคิดพื้นฐานอันแข็งแรง เรื่องการบ้านการเมือง  ตำราเหล่านั้นตั้งคำถาม เป็นปริศนาที่ยังทันสมัย ซึ่งแม้คนยุคปัจจุบัน ก็ยังพิศวงกับปัญหาเหล่านั้นกันอยู่  ปริศนาของ เพลโต อะริสโตเติล มาเคียเวลลี ฮ็อป และท่านอื่น ๆ  มีความกระจ่างแจ้ง ชัดเจน กอปรด้วยความรู้ที่ลึกซึ้งถึงแก่น 

ในโลกปัจจุบัน ยังมีคนจำนวนมากผู้ถือว่าตนเป็นสานุศิษย์ของอะริสโตเติล เป็นศิษย์โธมัส ฮ็อป ศิษย์เอมมานูเอล คานต์ หรือแม้พวกมาร์กซิสต์ ก็ยังอ้างครูบาอาจารย์เก่า ๆ เหล่านั้น

ความคิดเห็นของบรมครู ไม่ล้าหลัง  ยังคงมีลักษณะเป็นปัจจุบัน ยังมีลมหายใจอยู่กับเรา ในแต่ละวัน

เพราะฉะนั้น ปรัชญาการเมือง จึงไม่ใช่ภาคผนวกของวิชาประวัติศาสตร์  หรือเรื่องย่อยในสาขารัฐศาสตร์  ถ้าผู้ใดสงสัยความสำคัญของปรัชญาการเมือง ให้ลองอ่านงานของ จอห์น
เมนาร์ด เคนส์ ที่ได้กล่าวไว้ในปี 1935 ว่า ความคิดของนักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญาการเมือง ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิด ทรงพลังอำนาจ มากกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจกัน  นักปฏิบัติทั้งหลาย ที่นึกทึกทักเอาเองว่า ตนเองเป็นกรณียกเว้น เพราะตนคิดอะไรเอาเอง ไม่เคยได้รับปัญญาความคิด มาจากใครที่ไหนเลย  ที่จริงแล้วคนเหล่านั้น ก็มักเป็นทาสความคิดของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่าบางคน ที่ตายไปแล้ว  พวกคนบ้าที่มีอำนาจ ผู้ร้องตะโกนประกาศวาทะบ้าคลั่ง ก็ล้วนแต่เก็บตกความคิด มาจากนักขีดเขียนงานวิชาการรุ่นเก่าก่อน เมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น




ศาสตราจารย์ สมิธ สรุปในชั้นนี้ว่า การเรียนวิชาปรัชญาการเมืองกับท่าน ก็คือการศึกษางานของนักขีดนักเขียนโบราณเหล่านั้น  ผู้ได้สร้างผลงานอันยังประทับใจคนจำนวนมาก และทรงพลังความคิด เป็นปฐมภูมิให้มีการสร้างสถาบันการเมืองต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบัน  อย่างไรก็ดี ท่านเตือนว่า ห้ามศึกษางานเหล่านั้น ดุจจะว่าเป็นคำตอบสำเร็จรูป สำหรับแก้ไขปัญหาการเมืองปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่จะหาทางออกให้แก่ปัญหาปัจจุบันได้ คือ เราผู้เป็นคนร่วมสมัยเท่านั้น  มิใช่ผู้รู้ในอดีต  เพียงแต่ว่า งานชิ้นสำคัญทั้งหลายในอดีต จะปูพื้นความคิดด้วยหลักการพื้นฐาน ที่นักรัฐศาสตร์ทั้งหลาย ยังคงใช้อ้างอิงกันอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้

นักคิดนักเขียนปรัชญาการเมืองผู้ยิ่งยงทั้งหลายในอดีต ไม่ได้มีชื่อเสียงเพราะได้สร้างผลงานเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ให้คนไปชม และไปชื่นชม แต่แล้วในที่สุดผลงานก็ยังคงเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์  เหมือนของเก่าที่เก็บอยู่ใน หอศิลป์เมโทรโปลิตัน นครนิวยอร์ค  แต่งานของนักปรัชญาการเมือง ทรงความสำคัญข้ามยุคสมัย เพราะว่า งานเหล่านั้นได้ช่วยตีกรอบนิยามหลายสิ่งหลายอย่าง ที่นักวิชาการรุ่นหลัง ได้อาศัยเป็นเครื่องมือ ไว้คอยตีความความเป็นไปต่าง ๆ ในโลก

ศ.สมิธ ยกอุทาหรณ์ว่า นักคณิตศาสตร์โบราณท่านหนึ่ง เคยพูดว่า โจทย์ทุกข้อ จะมีคำตอบที่ถูกต้อง อยู่เพียงคำตอบเดียว  ความคิดเห็นนี้ต่อมาถูกต่อต้านคัดค้านอย่างกว้างขวาง  ผู้รู้ทั้งหลายส่วนมาก จะไม่เห็นด้วย  แต่สำหรับผู้รู้ทั้งหลายด้านปรัชญาการเมือง มักจะมีความเห็นขัดแย้งกันอย่างลึกซึ้ง ต่อเรื่องสำคัญ ๆ เช่น ความยุติธรรม สิทธิ และเสรีภาพ เป็นต้น  ในปรัชญาการเมือง เราจะกล่าวเป็นที่ยุติว่า เพลโตว่าอย่างนี้ นิชช์ว่าอย่างนั้น หาได้ไม่  คำตอบสุดท้ายสำหรับปริศนาปรัชญาการเมือง ไม่มี

ก็ด้วยเหตุนี้อย่างไรเล่า ที่ทำให้เรา(นักศึกษาปรัชญาการเมือง)แทรกเข้าไปในวงสนทนาของคนโบราณได้  โดยแรกทีเดียว เราศึกษา อ่าน และฟัง  ต่อมา เราก็พิจารณาตัดสินใจว่า อะไรถูก อะไรดี อะไรผิด  แต่วิธีที่เราจะตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ทำด้วยการยกผู้รู้ขึ้นมาอ้าง เป็นที่ยุติ ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  แต่เราต้องอาศัยความสามารถในการอ้าง(แสดง)เหตุผลของเราเอง เป็นเครื่องมือช่วยคิดตัดสิน

What are these problems?  ศ.สมิธ ถามนักศึกษาว่า แล้วปัญหา ปริศนา ที่ปรัชญาการเมืองสนใจ มีอะไรบ้าง?  เนื้อหาของปรัชญาการเมืองคืออะไร?  นักรัฐศาสตร์ต้องการแสวงหาคำตอบให้แก่ปมปริศนาการเมือง ปมใด?  ศ.สมิธ กล่าวว่า ถ้าเราจะทำบัญชีหางว่าวขึ้นมา ประเด็นจะมีมากมาย บัญชียาวมาก ยกตัวอย่างปมสำคัญ ๆ ที่เก่าแก่แต่โบราณ และยังทันสมัยเสมอ ได้แก่

          ความยุติธรรม คืออย่างไร
          จุดหมายของสังคมที่ดี เป็นไฉน
          พลเมือง ควรได้รับการศึกษา อย่างไร
          เราต้องเคารพกฎหมายบ้านเมือง ไปทำไม
          แล้วพันธะเรื่องหนี้ของเรา มีขอบเขตหรือไม่ เพียงใด
          เกียรติภูมิของมนุษย์ วางอยู่กับอะไร
          อิสรภาพ คุณงามความดี ความรัก มิตรภาพ เป็นอย่างไร
          พระเจ้ามีจริงหรือไม่ และพระเจ้าคืออะไร
          หน้าที่ของเรา ในฐานะมนุษย์ และในฐานะพลเมือง มีอะไรบ้าง

ทั้งหมดนั้น คือ ส่วนหนึ่งของข้อปริศนาพื้นฐาน ในการศึกษาเรื่องการเมืองการปกครอง

แต่ก็มีปริศนาเก่าแก่ที่สุด ของปรัชญาการเมือง อยู่เรื่องหนึ่ง  ได้แก่
What is a regime?” – หรือ “ระบอบการเมืองการปกครอง” คือ อะไร
เป็นอย่างไร มีกี่ชนิด?

ความพยายามที่จะขบประเด็น “ระบอบการเมืองการปกครอง” – หรือ “regime” นี้ ย้อนไปได้ถึงยุค เพลโต ซึ่งหนังสือชื่อ รีปับบลิค ของเขา ที่จริงแล้วก็จะว่าด้วย “ระบอบการเมืองการปกครอง” หรือ “regime”  อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ยุคโบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน เวลาใครคิดเรื่อง ระบอบการเมืองการปกครอง หรือ regime  ฉากหลังในกระบวนการคิดคำนึงนั้น  เขาต้องการคำตอบ-ต่อคำถามที่ว่า “What is the best regime?”

ก่อนอื่น ก่อนจะหาคำตอบว่า ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด คือ อะไร? เรามาดูกันก่อนว่า ระบอบการเมืองการปกครอง คือ อะไรศ.สมิธ กล่าวว่า ระบอบการเมืองการปกครอง ส่อถึง “รูปแบบ” การปกครอง หรือ รูปแบบการเมือง ประชาชนถูกปกครองอย่างไร? ตำแหน่งทางการเมือง ถูกจัดสรรไปอย่างไร?  เช่น จัดสรรโดยการเลือกตั้ง โดยชาติกำเนิด โดยคุณสมบัติ ความสามารถ ประสบการณ์ ความสำเร็จในชีวิต นอกจากนั้นระบอบการเมืองการปกครอง ยังครอบคลุมเรื่อง สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองด้วย ว่าเป็นอย่างไร? 

โดยเฉพาะเจาะจงชี้ชัดลงมา ระบอบการเมืองการปกครอง(regime) ยังหมายถึง รูปแบบของรัฐบาล ซึ่งตามความที่เป็นจริงแล้ว โลกการเมืองไม่ได้มีความหลากหลายมากมายอะไรเลย รูปแบบการเมืองการปกครอง ที่เรียกว่า regime types มีไม่กี่ชนิด เราจะเห็นเด่นชัดขึ้น เมื่อนำชนิดหนึ่งมาเทียบเคียงกับชนิดอื่นที่ต่างรูปแบบกัน หรือตรงข้ามกัน  ระบอบการเมืองการปกครองต่างรูปแบบ มักจะแฝงไว้ด้วยความเป็นปฏิปักษ์กัน 

นอกจากนั้น ระบอบการเมืองการปกครอง ยังมีลักษณะพวกใครพวกมัน(partisan) เป็นฝักฝ่ายที่แฝงไว้ด้วยความภักดี และแฝงอารมณ์ร่วมต่อพวกเดียวกัน คล้าย ๆ แฟนทีมกีฬา ใครเป็นแฟนทีมนิวยอร์ค แยงกี ใครแฟนทีมบอสตัน เรดซ็อก  หรือความรักสถาบันการศึกษา เช่น ใครศิษย์เยล เป็นต้น  ความรู้สึกภักดีและมีอารมณ์ร่วมกับพวกเดียวกัน ยังแยกลึกลงไปถึงภายในพรรคการเมืองพรรคเดียวกันด้วย  ซึ่งก็มีการแบ่งมุ้ง แบ่งกลุ่ม ออกไปหลายหมู่เหล่า  เป้าหมายก็เพื่อชิงชัยเอาอำนาจ เกียรติ และผลประโยชน์(power, honor, and interest)

ศ.สมิธ ยกตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่ง เฮนรี อะดัม ตั้งข้อสังเกตอย่างถากถางไว้ว่า การเมืองเป็นการรวมกลุ่มของความเกลียดชัง(organization of hatred) 

ศ.สมิธ เห็นว่าคำกล่าวนั้นมีมูล แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายความดีงามด้วย ในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรเราจะผันความไม่พอใจซึ่งกันและกัน หรือกลุ่มแห่งความเกลียดชัง ออกไปสู่การสร้างสรรค์ความดีงามให้แก่สังคมร่วมกัน  ทำอย่างไรเราจะผันความไม่กินเส้นกัน ให้กลายเป็นมิตรภาพ? จะทดแทนความขัดแย้งกันด้วยความสมัครสมานสามัคคี จะได้ไหม?

ประเด็นนี้ มีผู้คิดใคร่ครวญกันมิใช่น้อย แม้กระทั่งในวงกว้างถึงระดับสากล  ก็ยังคิดกันว่าเป็นไปได้ไหม ที่เราจะหาสิ่งอื่นมาทดแทน regime politics เช่น จะแทนด้วยระบบความยุติธรรมสากล และกฏหมายระหว่างประเทศ จะเป็นไปได้ไหม?  ศ.สมิธ เห็นว่า หากโลกกลายสภาพเป็นสากลมาก ๆ อยู่ร่วมกันด้วยกฎหมายโลกและศาลโลก  เมื่อนั้นก็จะไม่มีการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องเฉพาะที่ เกิดมีอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยโครงสร้างและสถาบัน ของระบอบการเมืองการปกครองในท้องถิ่นพื้นที่นั้น ๆ เอง เป็นเครื่องเกาะเกี่ยว

แต่ ระบอบการเมืองการปกครองหนึ่ง ๆ(a regime) ก็มีลักษณะกินความมาก กว้างขวางลึกซึ้ง เกินกว่าเรื่องโครงสร้าง และเรื่องสถาบันการเมืองการปกครอง  ระบอบการเมืองการปกครองครอบคลุมลึกซึ้ง จนมีผลถึงวิถีชีวิตของคนทั้งชีวิต – the entire way of life  กินความถึงทั้งเรื่อง ศิลธรรมจรรยา ศาสนปฏิบัติ นิสัยใจคอ จารีตประเพณี รวมทั้งความรู้สึก และความรู้สึกนึกคิด ทั้งหมดนี้ได้รวมกันเข้า สร้างคน ให้เป็นคน เฉกเช่นที่เขาเป็นอยู่

ระบอบการเมืองการปกครอง สร้างลักษณะคนให้แตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าคน ๆ นั้นจะอยู่กับระบอบไหน การศึกษาระบอบการเมืองการปกครอง จึงบ่งชี้ไปถึงลักษณะประจำชาติ ของบรรดาพลเมืองทั้งหลาย  ศ.สมิธ ได้ยกตัวอย่าง การศึกษาระบอบการเมืองการปกครองอเมริกัน ของนักสังเกตการณ์ชาวฝรั่งเศส นายอะเล็กซี เดอ ต็อควิลล์ 

โดยเขาเริ่มศึกษาแบบแผนที่เป็นทางการก่อน คือ ศึกษาสถาบันการเมืองการปกครองในสหรัฐฯ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและเอกสารสำคัญ ซึ่งว่าด้วย การแบ่งแยกอำนาจ การคานอำนาจ อำนาจของรัฐบาลกลาง และอำนาจรัฐบาลมลรัฐ เป็นต้น  หลังจากนั้น ต็อควิลล์ ก็หันมาศึกษาแบบแผนที่ไม่เป็นทางการ หรือขนบธรรมเนียมอเมริกัน เช่น กิริยามารยาท และความเคร่งศิลธรรมของอเมริกัน แนวโน้มของชาวอเมริกันที่จะรวมกลุ่มกันตั้งสมาคม ลักษณะศาสนาปฏิบัติและศิลธรรมแปลก ๆ ของชาวอเมริกัน ความอ่อนไหวของชาวอเมริกันต่อเรื่องประชาธิปไตย  หัวข้อทั้งหลายเหล่านั้น อันว่าด้วยศิลธรรมจรรยา ภูมิปัญญา ธรรมเนียมปฏิบัติ และประเพณี ได้ร่วมกันสร้างระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย(ในอเมริกา) – a democratic regime

ซึ่ง ที่สุดแล้ว เมื่อมองในแง่นี้ จะเห็นว่าระบอบการเมืองการปกครอง จะพรรณนาคุณลักษณะ หรือเหลื่อมสี(tone) ของสังคมหนึ่ง ๆ ชี้ให้เราเห็นว่า สังคมนั้นบูชาอะไร? (What the society finds praiseworthy? What it looks up to?)  เราจะไม่สามารถเข้าใจระบอบการเมืองการปกครองระบอบใดได้ เว้นไว้แต่ว่า เราจะเข้าใจว่า ระบอบนั้น บูชาอะไร?

ต่อจากปริศนานี้ ก็มีปริศนาตามมาว่า แล้วระบอบการเมืองการปกครอง ก่อตั้งกันขึ้นจากอะไร? (How are regimes founded?) และอะไรที่หนุน แบกรับ เอื้ออำนวย ให้ระบอบการเมืองการปกครองระบอบหนึ่งคงอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน  นักคิดอย่าง ต็อควิลล์ เห็นว่า ระบอบการเมืองการปกครอง แฝงอยู่ลึกล้ำในโครงสร้างของประวัติศาสตร์มนุษย์ การก่อตั้งระบอบหนึ่ง ๆ ใช้เวลานานนับร้อยปี

นักคิด นักปรัชญาการเมืองการปกครอง ท่านอื่น ๆ เช่น เพลโต มาเคียเวลลี รุสโซ เชื่อว่าระบอบการเมืองการปกครอง สร้างขึ้นได้จากเจตนามนุษย์ ผู้เป็นรัฐบุรุษ อย่างที่มักเรียกกันว่า “บิดา ผู้ก่อตั้ง” หรือที่ในประวัติศาสตร์อเมริกันจะเรียก “founding fathers”  บรรดารัฐบุรุษเหล่านั้น มาเคียเวลลี ยกตัวอย่าง โรมูลุส โมเสส ไซรัส และศ.สมิธ เห็นว่าสำหรับชาวอเมริกัน ก็น่าจะเป็น วอชิงตัน เจฟเฟอร์สัน อะดัม เป็นต้น บุคคลเหล่านี้วาดโครงการสร้างคนและสถาปนาสถาบันทางการเมือง

แต่  แฮมิลตัน ได้ตั้งคำถามปฐมภูมิเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ระบอบการเมืองการปกครอง ถูกสร้างจากการคิดคำนึงด้วยภูมิปัญญามนุษย์ และจากการเลือก(เจตนามนุษย์) หรือว่าเกิดจาก เหตุสุดวิสัย อุบัตเหตุ สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม ธรรมเนียมประเพณี และประวัติศาสตร์

ถ้าระบอบการเมืองการปกครอง อาจสร้างได้จากภูมิปัญญามนุษย์ ผู้เป็นรัฐบุรุษ  ก็มีปริศนาต่อมาว่า แล้วใครคือ รัฐบุรุษ? ปริศนานี้เป็นคำถามเก่าแก่แต่โบราณอีกคำถามหนึ่ง ซึ่งนักรัฐศาสตร์ยุคปัจจุบัน ก็ยังถามกันอยู่  แต่ โดยที่ นักรัฐศาสตร์ปัจจุบันมักจะระแวงสงสัยแนวคิดเรื่อง “รัฐบุรุษ”  แต่ว่า ตั้งแต่โบราณมา รัฐศาสตร์จะว่าด้วย “รัฐนาวา”(statecraft) ซึ่งก็ต้องมี “รัฐบุรุษ”(stateman) ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ถือหางเสือเรือรัฐนาวา  คนโบราณคิดคำนึงกันว่า เขาผู้นี้พึงมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

รัฐนาวา กับพาหนะชนิดอื่น ต่างกันอย่างไร? รัฐบุรุษควรเป็นนักปรัชญา – อย่างที่ เพลโต ว่าไว้หรือไม่ ซึ่งจะต้องเชี่ยวชาญเรื่อง บทกวี คณิตศาสตร์ อภิปรัชญา(=ปรัชญาที่ว่าด้วยความจริงในธรรมชาติ - metaphysics) หรือจะต้องเป็นอย่างของ อะริสโตเติล คือต้องมีประสบการณ์ มีทักษะอันมีประโยชน์ใช้สอย มีวิจารณญานคิดตัดสินใจ  หรือจะต้องมีความโหดเหี้ยม ไม่เกรงกลัวต่อบาป อย่างที่ มาเคียเวลลี ว่าไว้ จึงจะประคองรัฐนาวาได้  หรือต้องสามารถเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์ได้ อย่างที่ รุสโซ ว่าไว้  หรือว่า รัฐฎาธิปัตย์ จะมาจากระบบราชการ คล้าย ๆ พวกซีอีโอ ในธุรกิจ ตามที่ ฮ็อป ยืนยัน





ตำราที่จะอ่านกันในวิชานี้ ได้แก่ เดอะ รีปับบลิก, เดอะ โปลิติค, เดอะ ปรินซ์, เดอะ โซเชียล คอนแทร็ค, เหล่านี้ ล้วนมีความเห็นต่างกัน เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ถือพังงา หรือถือบังเหียนหรือบริหารรัฐนาวา  ณ บัดนี้ จะเห็นได้ว่า ปรัชญาการเมือง เป็นวิชาที่มีรูปธรรมเชิงปฏิบัติ ไม่ได้มุ่งแต่ความคิดความอ่านแต่อย่างเดียว ปรัชญาการเมือง เป็นเรื่องของการให้คำปรึกษา – advice giving  นักปรัชญาการเมืองที่เราศึกษางานของท่าน ไม่ใช่ฤษีชีไพรอยู่โดดเดี่ยวตามป่าเขา  แต่ต่างล้วนมีชีวิตเชิงปฏิบัติ เช่น เพลโต เคยเดินทางไกล ที่มีอันตราย ถึงสามครั้งไปเกาะซิชิลี เพื่อไปเป็นที่ปรึกษาพระราชาที่นั่น  อะริสโตเติล ทำหน้าที่เป็นติวเตอร์ของ อะเล็กซานเดอมหาราช  มาเคียเวลลี ใช้เวลาในชีวิตหลายปีอยู่กับงานด้านต่างประเทศ ของเจ้าผู้ครองนครฟลอเรนซ์ และต่อมาได้เขียนงานเรื่อง เดอะ ปรินซ์ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ตระกูลเมดิชิ ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในฟลอเรนซ์  ฮ็อป เป็นติวเตอร์แก่ราชสำนัก และติดตามพระราชาอังกฤษ ลี้ภัยไปต่างประเทศ ระหว่างเกิดสงครามกลางเมืองในอังกฤษ  ล็อค ก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับตระกูลที่ต้องหนีออกนอกประเทศ ข้อหารวมหัวกันจะล้มล้างกษัตริย์อังกฤษ  รุซโซ ไม่มีเส้นสายเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่ก็เคยถูกทาบทามให้เขียนรัฐธรรมนูญให้แก่ โปแลนด์และคอร์ซิกา 
ส่วน ต็อควิลล์ เป็นสมาชิกสภาฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมาศึกษา “ประชาธิปไตยอเมริกัน”

จะเห็นได้ว่า นักปรัชญาการเมืองที่เราจะศึกษางานของท่าน ต่างล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในยุคสมัยของท่าน ไม่มากก็น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความคิดและประสบการณ์ของท่านทั้งหลายเหล่านั้น จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อความคิดความอ่านของพวกเรา ว่า เราควรปกครองบ้านเมืองกันอย่างไร?

เนื่องจาก ระบอบการเมืองการปกครอง(regime) มีส่วนในการสร้างอุปนิสัยใจคอ วิถีชีวิต ของประชาชนพลเมือง ช่วยบ่งบอกให้รู้ถึง ความคิดความเชื่อของพวกเขา ว่า พวกเขาเชื่อว่าอะไรที่มีส่วนมาช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขา มีคุณค่าน่าดำรงอยู่และดำเนินไป(What they believe make their lives worth living?)  เพราะฉะนั้น การศึกษาระบอบการเมืองการปกครอง จึงมีแนวโน้มที่จะนำเรา ก้าวไปสู่เรื่องระบอบการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ ได้รู้เรื่องระบอบการเมืองการปกครองหลาย ๆ ระบอบ ที่แตกต่างกัน และแต่ละระบอบก็จะมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบอื่นที่ไม่เหมือนตัว

ปริศนาที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ ในการศึกษาเรื่องนี้ก็คือ สรุปแล้วระบอบไหน ดีที่สุด? ซึ่งคำถามนี้เป็นปริศนาพื้นฐานของการศึกษาปรัชญาการเมือง  ตั้งแต่โบราณกาลจนกระทั่งปัจจุบันและอนาคต(แม้กระทั่ง ในนิยายวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ก็ยังหนีไม่พ้นปัญหาปรัชญาการเมืองการปกครอง ในโลกวิทยาศาสตร์นั้น ๆ หรือในยานอวกาศที่กำลังเดินทางข้ามเอกภพ ว่าจะเป็นอย่างไร? – ผู้เรียบเรียงสรุปภาษาไทย)

สมัยโบราณ สำหรับระบอบสาธารณรัฐ อะริสโตเติล เชื่อว่า สาธารณรัฐของชนชั้นผู้ลากมากดี เป็นดีที่สุด (aristocratic republic)  ขณะที่ในปัจจุบัน ในสหรัฐฯก็เชื่อว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตย ดีที่สุด (democratic republic) ซึ่งระบอบนี้เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดชั้นชน ได้เข้ามาสวมตำแหน่งทางการเมือง  ศ.สมิธ เห็นว่า ระบอบที่ดีที่สุดจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรื่องที่หนีไม่พ้น ได้แก่ ระบอบนั้นย่อมเล็งเห็นคุณค่า ของคุณสมบัติ/คุณลักษณะบางอย่างบางประการของคน อันเป็นคุณลักษณะที่ระบอบเห็นว่าเป็นคุณสมบัติที่ ดี เหมาะสม(character traits) เช่น ระบอบประชาธิปไตยเห็นคุณค่าคนสามัญทั่วไป หรือ common man ส่วนระบอบชนชั้นผู้ลากมากดี ก็จะเห็นคุณค่าของคนที่มีรสนิยมและมีเงิน บางระบอบอาจเห็นค่าของนักรบ และบางระบอบอาจเห็นค่าของนักบวช เป็นต้น
รัฐศาสตร์หนีไม่พ้นการศึกษาเรื่อง ระบอบการเมืองการปกครอง “ที่ดี” เปรียบเทียบกับระบอบฯ “ที่เป็นอยู่”  อะริสโตเติล แยกคนดีออกเป็น มนุษย์ที่ดี กับ พลเมืองที่ดี (good human being กับ good citizen) พลเมืองทีดีของระบอบฯต่างระบอบฯกัน ย่อมไม่เหมือนกัน ศ.สมิธ ยกตัวอย่างว่า พลเมืองที่ดีของประเทศอิหร่านปัจจุบัน ย่อมผิดกับพลเมืองอเมริกันที่ดีในปัจจุบัน

อะริสโตเติล เห็นว่า มนุษย์ที่ดี กับ พลเมืองที่ดี แตกต่างกัน พลเมืองที่ดีขึ้นอยู่ระบอบการเมืองการปกครอง แต่ มนุษย์ที่ดี ถือว่าดีทั่วไป ดีทุกที่ ไม่จำกัดระบอบฯ  ถ้ามนุษย์ที่ดีพอใจกับระบอบฯ ก็ไม่ได้แปลว่า เพราะระบอบนั้นเป็นระบอบฯของเขา หากว่าเป็นเพราะระบอบนั้นเป็น ระบอบที่ดี  เรื่องนี้ ศ.สมิธ ยกตัวอย่างความเห็นของประธานาธิบดี ลิงคอล์น ที่มีต่อ นายเฮนรี เคลย์

          He loves his country partly because it was his own country, but mainly      because it was a free country. 

ซึ่งความเห็นนี้ ศ.สมิธ เชื่อว่าประธานาธิบดีลิงคอล์น มองเห็นความเป็นนักปรัชญาของ นายเคลย์  คือ นายเคลย์ เขาชอบที่จะมีความคิดความอ่าน อันได้แก่ ความคิดเรื่องความเป็นอิสรเสรี ซึ่งความคิดนี้ ไม่ได้เป็นสมบัติของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ  แต่เป็นความคิดที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งอยู่กับสังคมที่ดี  ตามลักษณะนี้จึง ดูเหมือนว่า มนุษย์ที่ดีน่าจะเป็นนักปรัชญา หรืออย่างน้อย ๆ ก็มีลักษณะบางอย่างเป็นปรัชญา แฝงอยู่ในตัวตน และเขาจะอยู่อาศัยในระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดได้ ดุจจะเหมือนบ้านตัวเอง

ปัญหาก็คือ ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด ไม่ได้มีรูปธรรมอยู่ในความเป็นจริงของโลกมนุษย์ ทุกคนรู้ความจริงข้อนี้อยู่ในใจ คือจริง ๆ แล้ว ระบอบที่ดีที่สุดไม่เคยมีปรากฏมาก่อนเลย(It’s never existed.)  เพราะฉะนั้น นักปรัชญาจึงยากที่จะเป็นพลเมืองที่ดี ของระบอบการเมืองการปกครองจริง ๆ ใด ๆ ได้  นักปรัชญายากที่จะรู้สึกว่าอยู่สบายกับบ้านเมืองใด ๆ ศ.สมิธ สรุปว่า นักปรัชญาไม่อาจภักดีต่อระบอบใดได้จริง ยกเว้น ระบอบที่ดีที่สุด

ความที่ถ่างอยู่ ระหว่างระบอบที่ดีที่สุด กับ ระบอบที่เป็นอยู่จริง ทำให้เกิดวิชาปรัชญาการเมืองการปกครอง  สมมติว่าระบอบที่ดีที่สุด เกิดขึ้นมาได้จริง เมื่อนั้น วิชาปรัชญาการเมืองก็ไร้ประโยชน์ เพราะจะกลายเป็นการพูดจาซ้ำซากกับสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่แล้ว  ปรัชญาการเมืองจะวางอยู่ระหว่าง “the is” กับ “the ought”  หรือ “ความที่เป็นจริง” กับ “ความที่ควรจะเป็น”  หรืออยู่ระหว่าง “the actual” กับ “the ideal”  หรือ “ปัจจุบัน” กับ “อุดมคติ”

ด้วยประการฉะนี้ การเรียนปรัชญาการเมืองจึงเป็นเรื่องเสี่ยงอยู่บ้าง  ผู้ที่ออกเดินทางแสวงหา ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด อาจไม่ได้กลับมาเป็น “คนเดิม”  แต่จะกลับมาพร้อมกับความภักดีอย่างใหม่ ผิดกับที่เคยมีแต่เดิม  อย่างไรก็ดี คุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการนี้ ก็มีอยู่ไม่น้อย  บรมครูชาวกรีกโบราณ อะริสโตเติล มีคำไพเราะใช้เรียก ความปรารถนาที่จะแสวงหาระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด นี้ว่า EROS  หรือ ความรัก 

ศ.สมิธ  กล่าวว่า นักศึกษาทั้งหลายอาจไม่ได้คิดมาก่อน ว่าในที่สุด การศึกษาปรัชญาการเมือง อาจจะเป็นการยกย่องบูชาอย่างสูงที่สุด ต่อ ความรัก


-------------------------------------------------------------------------
Dan Bailé สรุปเป็นภาษาไทย 
ชมต้นฉบับ วีดีโอคำบรรยาย ของ ศ.สตีเวน บี. สมิธ มหาวิทยาลัยเยล ได้ที่
Introduction to Political Philosophy

บทความ เผยแพร่แล้วใน นิตยสาร MBA ฉบับ Jan-Feb 2016


วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อ่าน อิสลาม ตอนที่สอง

ตอนที่ 2. หนึ่งในสี่ ที่สองของหนังสือ 
หน้า325 ถึงหน้าประมาณหน้า 600 เศษ
เสนออีก 7 ประเด็น ๆ ที่ 8 - 14



ประเด็นที่ 8 เกี่ยวกับการค้าทาส ในโลกมุสลิมโบราณ

ทาสผิวขาว(ฝรั่ง)ในอาณาจักรโอโตมาน(แขกเตอร์ก)นั้น  พวกตาด หรือ ตาตา จะเป็นคนค้าทาส โดยไปปล้นเอาคนมาจากหมู่บ้านในอูเครน และดินแดนใกล้เคียง แล้วนำมาขายเป็นทาสในนครอิสตันบุล หรือเมืองอื่น ๆ ในอาณาจักรโอโตมาน  กิจกรรมนี้พวกตาดทำมานานนับศตวรรษ

ส่วนทาสผิวดำจากอัฟริกา เส้นทางค้าทาสสมัยโบราณมายังโลกมุสลิม มีสามทางคือ
1)   จากอัฟริกาตะวันตก  ซึ่งปัจจุบันเราจะพบประเทศ ๆ หนึ่ง ชื่อ ประเทศกิเนีย  คำ ๆ นี้มาจากภาษาพวกแบร์แบร์ ในอัฟริกาเหนือ ที่ไม่ใช่คนผิวดำ แปลว่า “ดำ”  พวกฝรั่งนำคำ ๆ นี้มาตั้งชื่อเกาะในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก อินโดเนเซียปัจจุบัน ว่าเกาะนิวกิเนีย  ทาสจะถูกต้อนข้ามทะเลทรายซาฮารา เข้ามาในประเทศมอรอคโค ในอัฟริกาเหนือ ริมทะเลเมดิเตอเรเนียน
2)   เส้นทางตามลำน้ำไนล์ ทาสจะถูกนำมาจากประเทศซูดาน ล่องตามลำน้ำเข้ามาในประเทศ    อีจิปต์
3)   จากอัฟริกาตะวันออก ติดมหาสมุทร์อินเดีย ทาสจะถูกลำเลียงเข้ามาทางทะเลแดง มายัง  ดินแดนอาระเบีย อิรัค อิหร่าน เป็นต้น  (หนังสือ ประมาณหน้า 350)

และยังมีการค้าทาสลักษณะพิเศษ ได้แก่ พ่อค้าคหบดีที่เดินทางจากอัฟริกา มาเมกกะหรือเมดินะ จะมีพวกลูกหาบ บ่าวไพร่ บริวาร ช่วยแบกหามมาเป็นกระพรวน  พอเดินทางถึงอาระเบีย  คหบดีท่านก็จะปลดระวางลูกหาบ บริวาร บ่าวไพร่ เหล่านั้น โดยนำไปขายในตลาดค้าทาส  เสี่ยรับทรัพย์เหนาะ ๆ  นักประวัติศาสตร์บางท่านเรียกทาสประเภทนี้ว่า “เช็คเดินทาง” หรือ “travellers’ cheques”


ประเด็นที่ 9 อิสลาม มองศาสนาคริสต์และศาสนายิว อย่างไร

ทั้งอิสลาม คริสต์ และยิว ต่างก็เป็นศาสนานับถือพระเจ้าองค์เดียว(monotheism)  ซึ่งศาสนาพระเจ้าองค์เดียวจะวางรากฐานอยู่กับการประทานสัจธรรม(revelation)ขององค์พระผู้เป็นเจ้า  โดยที่ ผู้รับสมาทานสัจธรรม ทางอิสลามท่านเรียกว่า “ahl al-kitab”  แปลว่า “คนของหนังสือ” ภาษาอังกฤษว่า people of the book ถ้าจะแปลว่า ผู้นับถือพระคัมภีร์ ก็ไม่น่าจะผิด  และพระคัมภีร์ที่ว่านั้น ได้แก่ คัมภีร์ตัลมุด ของคนยิว ไบเบิล ของคริสเตียน และพระคัมภีร์ อัล กุระอ่าน ของอิสลาม

ผู้เขียนบลอค เคยได้ยินพวกฝรั่งที่สนใจเทววิทยา พูดคำ ๆ นี้บ่อย ๆ คือ คำว่า “คนของหนังสือ” หรือ people of the book  ซึ่งศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเป็นใหญ่ ก็จะถือว่า “หนังสือ” นั้นคือโองการของพระเจ้า หรืออย่างน้อยก็ต้องเขียนขึ้นจากแรงดลใจของพระเจ้า  แต่ฝรั่งผู้หนึ่งที่ใช้วลีนี้ เขานำมาใช้นอกเขตศาสนจักร  คือ นำมาอ้างเพื่อส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือ ให้เห็นความสำคัญของหนังสือ

เนื่องจากผู้เขียนบลอค เป็นนักเรียนภาษาฮินดี อ่านอักขระเทวนาครีออก และเวลานี้ก็เป็นนักเรียนภาษาอินโดเนเซียด้วย  จึงพบว่า คำว่า กิ-ต้าบ หรือ kitab นั้น ได้กลายเป็นคำยืมอยู่ในภาษาฮินดีและภาษาอินโดเนเซีย  ทั้งสองภาษานี้เรียกหนังสือว่า “กิ-ต้าบ”  โดยที่ เทวนาครี อันเป็นอักขระที่ใช้เขียนสันสกฤตและฮินดี เขียน กิ ต้าบ ว่า किताब

เนื่องจาก คัมภีร์ทั้งของยิว คริสต์ และอิสลาม เฉพาะตอนต้น ๆ จะคล้าย ๆ กัน เล่าเรื่องเดียวกัน เช่น เรื่องราวในพระคัมภีร์เก่า หรือ The Old Testament ของคริสเตียน ที่ปัจจุบันเมื่อแปลไบเบิลกันใหม่ ก็เรียกพระคัมภีร์เก่าในไบเบิล ว่า “พันธสัญญาเดิม” นั้น ก็จะมีอยู่ใน อัล กุระอ่าน  ดังนั้น คำถามจึงมีว่า แล้วอิสลามมองหนังสือ(คัมภีร์)ก่อนหน้า อัล กุระอ่าน อย่างไร?  ในเมื่อต่างก็เป็นโองการ หรือการดลใจ ของพระเจ้าองค์เดียวกัน

แรก ๆ ที่แปลคัมภีร์ไบเบิล ออกเป็นภาษาอินโดเนเซีย  ยังแปลคำว่า “พระเจ้า” เป็นภาษาอินโดเนเซีย ว่า “องค์อัลเลาะห์”  ในการแปลลำดับต่อ ๆ มาดอก ที่เลิกแปล “God” ว่า อัลเลาะห์ ในภาษาอินโดเนเซีย

ผู้เขียนบลอคเห็นว่า การเข้าใจประเด็นนี้ คือ อิสลามมองคัมภีร์ที่มาก่อนหน้า อย่างไร? น่าจะเป็นกุญแจดอกหนึ่ง ที่จะช่วยให้เราเห็นความแตกต่างของทั้งสามศาสนานั้น โดยอาศัยมุมมองของอิสลามิก ทั้งนี้เพราะว่าเรานับถือเทพหลายองค์ และไม่คุ้นเคย ไม่เข้าใจ กับศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวเป็นใหญ่

อัลเลาะห์ รักษ์ รามัน ศิลปินผู้เรียบเรียงเสียงประสาน(ดนตรี)มือหนึ่งของอินเดีย  ผู้ทำดนตรีให้หนังสือบอลลีวูดดัง ๆ ผู้เรียบเรียงเสียงประสานให้กับเพลงชาติอินเดีย(ชะนะ คะณะ มานะ) ผู้ทำดนตรีให้กับเพลง ไหว้พระแม่ธรณี(บันเด มาตะรัม) อันเป็นเพลงระดับชาติของอินเดีย ฯลฯ  แต่เดิมเขานับถือศาสนาฮินดูซึ่งมีเทพเต็มสวรรค์ไปหมด แต่ต่อมาเขาหันมานับถือศาสนาอิสลาม  เขาให้เหตุผลว่า ชีวิตเขาง่ายขึ้นเยอะ ตั้งแต่หันมานับถือศาสนาพระเจ้าองค์เดียว


ภาพถ่ายหนังสือ หน้า 467

หนังสือ อิสลาม ของ ลิววิส หน้า 467 ตามภาพถ่าย  ย่อหน้าที่ 3 ระบุว่า  อิสลามถือว่าศาสนายิว และ คริสต์ เป็นรูปแบบเก่าของการประทานสัจธรรมของพระเจ้า ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ และยังไม่แล้วเสร็จ  โดยที่แท้จริงแล้ว ทั้งยิวและคริสต์ ก็คือ อิสลาม นั่นเอง  แต่เป็นอิสลามที่ยังไม่สมบูรณ์ และยังไม่แล้วเสร็จ


ประเด็นที่ 10 คำสอนที่กินใจ


การแผ่ขยายของอิสลามระยะแรก ปกคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ในตะวันออกกลาง และอัฟริกาเหนือ  ดินแดนดังกล่าวนั้นมีทั้งคนยิว คริสเตียน พวกโซโรอาสเตอร์ และอื่น ๆ อยู่อาศัยกันมาแต่เก่าก่อน จึงเลี่ยงไม่พ้นที่ผู้ปกครองที่เป็นมุสลิม จะต้องมีคนนอกศาสนาอยู่ใต้การปกครองของตน

กาหลิบ อุมาร์ที่หนึ่ง (เป็นกาหลิบที่สำคัญมาก ๆ ในประวัติศาสตร์อิสลามตอนต้น ได้ขยายอิสลามปกครองดินแดนถึงสองในสาม ของพื้นที่อาณาจักรโรมันตะวันออก) ได้เคยเตือนไว้ว่า

“ระวังนะ ถ้าจะแต่งตั้งคริสเตียนหรือยิว ไว้ในตำแหน่งอันสูง เพราะโดยศาสนาของพวกเขา เขาเป็นคนขี้ฉ้อ  และการคอรัปชันขัดต่อหลักอิสลาม”

ต่อมา นักกฎหมายอิสลามผู้หนึ่ง ในศตวรรษที่สิบสาม ได้แสดงความเห็นไว้ชัดเจน เกี่ยวกับการแต่งตั้งคนนอกศาสนาไว้ในตำแหน่งอันสูง  ความตอนหนึ่งปรากฏในหนังสือหน้า 476 ดังภาพถ่าย ความว่า

Dieu dit: Ô vous qui croyez, ne mettez pas votre confiance en des gens qui ne sont pas de vôtres car ils ne reculeront devant rien pour vous nuire; leur désir est que vous soyez ruinés; leur haine se manifeste par la bouche, mais ce qui est caché dans leur cœurs est pire encore …..
 หนังสือหน้า 476
แปล:
พระเจ้าตรัสว่า: โอ เจ้าผู้ศรัทธา เจ้าอย่าได้วางใจกับคนที่ไม่ใช่หมู่เหล่าของเจ้า  เพราะว่า พวกเขาจะไม่ยั้งมือที่จะทำร้ายเจ้า  ความปรารถนาของพวกเขาก็คือความหายนะของเจ้า  ความเกลียดชังของพวกเขาแสดงออกด้วยวาจา  แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจ ยิ่งร้ายไปกว่า.....



ภาพถ่ายหนังสือหน้า 476


ประโยคที่กินใจ คือ mais ce qui est caché dans leur cœurs est pire encore ….. 
แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจ ยิ่งร้ายไปกว่า.....


อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติของการเมืองการปกครอง พวก “ดฮิมมิ”(dhimmi)หรือศาสนิกในศาสนาอื่น ที่อยู่ใต้การปกครองของมุสลิม โดยทั่วไปแล้วก็ไม่ได้ถูกกดขี่หรือกีดกันอย่างรุนแรงแต่ประการใด ตัวอย่างเช่น เมื่ออาณาจักรไบแซนไทน์(อาณาจักรโรมันตะวันออก) ส่วนที่อยู่ในตะวันออกกลาง ต้องตกเป็นของพวกอาหรับ  ประชาชนให้การต้อนรับเจ้านายรายใหม่ด้วยดี เพราะเห็นว่า กดขี่ข่มเหงน้อยกว่าอำนาจการปกครองของไบแซนไทน์ (ย้อนกลับไปหนังสือหน้า 113)

หรือแม้แต่คนยิว ก็ไม่ได้ถูกบังคับขับไสมากอย่างคนยิวที่อยู่ใต้การปกครองของคริสเตียน(หน้า 476)  แต่ตามธรรมเนียมประเพณี คนมุสลิมในตะวันออกกลางยุคโน้น ก็เห็นว่า คนยิวคือพวกลิง ส่วนคริสเตียนคือหมูหมา(หน้า 479)


ประเด็นที่ 11 แบ่งยุคประวัติศาสตร์ ตะวันออกกลาง

เพื่อให้เราเข้าใจความเป็นมาเป็นไป ของมุสลิมในตะวันออกกลางได้ชัดเจนขึ้น ไม่มั่วปนพันกันอีรุงตุงนังอยู่ในหัวสมอง แบร์นาร์ด ลิววิส เสนอว่าเราน่าจะแบ่งยุคประวัติศาสตร์ ตามการเข้ามา(หรือการรุกราน) ดินแดนตะวันออกกลางโดยหมู่ชนต่าง ๆ ซึ่งแบ่งได้เป็นสามระลอก คือ

          1.การเข้ามาของอาหรับ ที่เป็นมุสลิม และขึ้นมาจากอาระเบีย ในศตวรรษที่เจ็ด และศตวรรษที่แปด  การเข้ามาหรือรุกรานครั้งสำคัญนี้ ได้นำศาสนาอิสลามมา ได้นำภาษาใหม่คือภาษาอาหรับเข้ามา และได้นำระบอบการปกครองรูปแบบใหม่ หรือระบบการเมืองใหม่ เข้ามา คือ ระบบกาหลิบ

          2.การเข้ามาหรือรุกรานดินแดนตะวันออกกลางระลอกที่สอง ได้แก่ การเข้ามาในตะวันออกกลางของเผ่าพันธุ์จากทุ่งหญ้าสเต็ปป์ในเอเซียกลาง  พวกนี้เข้ามาในตะวันออกกลางทางทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ  เริ่มแรกได้แก่ พวกเตอร์ก ในศตวรรษที่สิบและสิบเอ็ด  ต่อมาได้แก่พวกมงโกล ในศตวรรษที่สิบสาม  พวกเตอร์กและมงโกล ได้ทำลาย ยกเลิกระบอบการปกครองแบบกาหลิบ และเปิดศักราชใหม่ทางการเมือง

          เตอร์กและมงโกล มาทำให้การปกครองมั่นคง เป็นปึกแผ่น ด้วยการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  ด้านวัฒนธรรมก็มีการแสดงที่หลากหลายของภาษาสำเนียงเตอร์ก  ด้านศาสนาก็ยังคงยอมรับศาสนาอิสลามสืบมา  แต่ก็ได้ปรับปรุงอิสลามให้มีรูปแบบมากขึ้น มีลำดับชั้นขั้นตอนขึ้นมา รวมทั้งมีการแสวงหาความเป็นอิสลามดั้งเดิม

          3.การรุกราน หรือเข้ามาในระลอกที่สาม ได้แก่ การเข้ามาของชาวยุโรป  โดยที่ก่อนหน้าที่พวกยุโรปจะเข้ามาในตะวันออกกลาง ชาวมุสลิมได้รุกเข้าไปในยุโรปหลายครั้ง เช่น ชาวอาหรับเข้าไปอยู่ในสเปนและเกาะซิชิลี  พวกตาดที่นับถืออิสลาม ได้เข้าไปในรัสเซีย  ต่อมาพวกเตอร์กก็พยายามจะตีกรุงเวียนนาถึงสองครั้ง

          ต่อมา เมื่อชาวยุโรปได้ขับไล่ชาวมุสลิมพ้นแผ่นดินยุโรป ก็ได้ตามตีชาวมุสลิมถึงถิ่น เช่น พวกสเปนและโปรตุเกส ติดตามต่อตีชาวมุสลิมเข้าไปในมอรอคโคและในอัฟริกา  พวกออสเตรียและฮังการี ไล่ตีแขกเตอร์กในคาบสมุทร์บอลข่าน และผลักดันจนไปกระจุกอยู่ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล(อิสตันบูล-ปัจจุบัน)  ชาวรัสเซียขับไล่พวกตาดออกไปจากมอสโคว์ แล้วติดตามไล่ตีจนถึงทะเลดำ เทือกเขาคอเคซัส ทะเลสาบแคสเปียน จนประชิดแดนด้านเหนือของตะวันออกกลาง

โดยสรุปแล้ว ตอนศตวรรษที่สิบสามโดยประมาณ โลกมุสลิมมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ห้าศูนย์ คือ

1)   ในอินเดีย
2)   ในเอเชียกลาง
3)   ในอิหร่าน
4)   ในตุรกี
5)   อีจิปต์และซีเรีย
6)   ในอัฟริกาเหนือ


ประเด็นที่ 12 ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ และเรื่องเบ็ดเตล็ดบางประการ

1)   ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์
วันหยุดของสามศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวเป็นใหญ่ อันได้แก่ อิสลาม-ยิว-และคริสต์ ต่างก็อุบัติขึ้นในตะวันออกกลางทั้งสามศรัทธาความเชื่อ และต่างก็มีความเกี่ยวพันกันในระยะต้น  คัมภีร์บทต้น ๆ ของทั้งสามศรัทธาเล่าเรื่องเดียวกัน เช่น เนื้อหาของไบเบิลบรรพที่หนึ่งถึงห้า มีอยู่ในอัลกุรอาน  และชาวมุสลิมถือว่าคัมภีร์คือโองการอันสมบูรณ์ของพระเจ้า ศักดิ์สิทธิ์ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้  คนเผาคัมภีร์อัลกุรอานเคยถูกสังหารชีวิตมาแล้ว ในโลกปัจจุบันนี้เอง

แต่ ใครจะปฏิเสธความสัมพันธ์ใกล้ชิด ของทั้งสามศรัทธานี้ได้?

ปี ค.ศ. 1833 (หนังสือหน้า 512) มีหนังสือที่มีชื่อเสียง ภาษาเยอรมัน แปลเป็นฝรั่งเศสว่า Quel emprunts Mahomet a-t-il fais au judisme?  แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “พระมะหะหมัด ได้หยิบยืมสิ่งใด ในศาสนายิวมาหรือไม่?”  ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียง อภิปราย กันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

ระยะหลัง ๆ นี้ เมื่อเกิดปฏิกิริยาแอนตี้อิสลามขึ้นมาในโลกตะวันตก  ก็มีการชี้นิ้ว ว่า เรื่องนั้น เรื่องนี้อิสลามยืมมาจากพวกยิว  ซึ่งผู้ชี้ได้แก่ชาวคาธอลิคบางคน(หน้า 513) ทั้งนี้ทั้งนั้น คนเหล่านั้นก็ไม่ได้มีเจตนาจะยกย่องสรรเสริญศาสนายิวแต่ประการใด  ทว่า พวกเขาต้องการที่จะ ด้อยค่า ศาสนาอิสลาม ต่างหาก

เรื่องหนึ่งที่กล่าวหากันก็คือ การที่มุสลิมยึดวันศุกร์เป็นวันหยุด เช่น ที่พวกยิวยึดวันเสาร์ – คือ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินของวันศุกร์ จนถึงดวงอาทิตย์ตกดิน วันเสาร์ ถือเป็นวันสะบาโต(หรือ ซับบัต) ของชาวยิว ภาษาฮิบรู แปลว่า “พักผ่อน” หรือ “หยุดพัก” และคริสต์ยึดวันอาทิตย์เป็นวันหยุดพัก(คัมภีร์ไบเบิล ฉบับแปลโลกใหม่ ปฐมกาล 1: 22)  ทางฝ่ายอิสลามก็ปรารถนาจะทำตัวให้แตกต่างจากยิวและคริสต์  จึงหันมาถือเอาวันศุกร์




ภาพถ่าย คัมภีร์ไบเบิล ฉบับแปลใหม่ ตอนพระเจ้าสร้างโลก 
และให้วันที่ 7 (วันอาทิตย์) เป็นวันหยุดพัก


คำกล่าวหาดังกล่าวนั้น ตอบข้อสงสัยไม่ครบถ้วนกระบวนความ  เพราะเนื้อหาของการหยุดผิดกัน

อิสลามตั้งแต่เริ่มต้น ในสมัยโบราณโน้น ท่านไม่ได้ถือว่า วันศุกร์เป็นวันหยุดงาน หรือหยุดพักผ่อน ภาษาอาหรับเรียกวันศุกร์ว่า yawn al-djum’a (หนังสือหน้า 516) หรือวันแห่งการสมาคม วันศุกร์ของชาวมุสลิมเป็นวันประชุมสวดมนต์ร่วมกัน  พูดแบบคร่าว ๆ ลวก ๆ พอเป็นเค้าให้คนพุทธเข้าใจ ก็จะคล้ายกับ วันธรรมสวนะ หรือวันพระ มากกว่า คือ วันขึ้น 8 ค่ำ กับขึ้น14 หรือ 15 ค่ำ

การถือวันศุกร์เป็นวันหยุดพักผ่อน เช่น คติของชาวคริสต์นั้น ครูผู้รู้ในศาสนาอิสลาม ท่านตำหนิมาโดยตลอด ถึงแม้ว่า รัฐอิสลามส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะถือว่าวันศุกร์เป็นวันหยูดพัก ก็ตาม

2)   สำหรับคนยิว การเข้าแขก ง่ายกว่า เข้าคริสต์
ในหนังสือหน้า 528 พูดถึง คำภาษาฝรั่งเศส ว่า parjure การละเมิดคำสวด และหมายถึง การทรยศ  น่าจะแปลว่า ทำผิดคำสอน ก็น่าจะได้




ภาพถ่ายหนังสือ หน้า 528 ข้อ 1 พูดถึง perjure – การละเมิด ที่พอยอมรับได้


สำหรับคนยิว การเปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลาม หมายความว่า จะต้องยอมรับนับถือว่า พระมะหะหมัด เป็นศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า(
le Prophète de Dieu) นั้นเป็นการละเมิดศาสนายิว หรือ parjure ที่ยังน้อยกว่าการไปเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ เพราะว่า จะต้องยอมรับว่า พระเยซู คือ บุตรของพระเจ้า

เรื่องหลังนี้ ยิวรับไม่ได้ และเรื่องแรกพอจะกล้ำกลืนได้

3)   ท็อปกะปิ
ชื่อพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก ของประเทศตุรกี มีเอกสารทรงคุณค่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อิสลาม

เช่น กรณีอิสลามห้ามสร้างรูปเคารพ เพราะฉะนั้น งานศิลปะอิสลามจึงไม่มีรูปคน

แต่ สุลต่านมูราดที่สาม ดำรงตำแหน่งประมาณค.ศ. 1600 สั่งให้สร้างหนังสือเล่าเรื่องพระมะหะหมัด องค์ศาสดา โดยมีภาพประกอบ หนังสือดังกล่าวใช้ภาษาเตอร์ก ซึ่งถ่ายทอดมาจากฉบับเก่าประมาณศตวรรษที่ 14 อันได้แปลจากภาษาอาหรับ ที่เก่าแก่กว่านั้น

หนังสือนี้ เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ ท็อปกะปิ

เชิญชม วีดีโอ แนะนำพิพิธภัณฑ์ พระราชวัง ท็อปกะปี อิสตันบุล ตุรกี
https://www.youtube.com/watch?v=FZrMkhaKiSo




4)   กำประโด หรือ กัมประโด
คำนี้มีใช้มาตั้งแต่ในตะวันออกกลาง เมื่อนานมาแล้ว หนังสือหน้า 506-507 เล่าว่า คนยิวกับคนคริสต์ในตะวันออกกลางยุคประมาณปลายศตวรรษที่ 18 – 19 เมื่อฝรั่งเริ่มขยายอิทธิพลทางการเมืองและการค้าเข้ามาในตะวันออกกลาง รวมทั้งความคิดสมัยใหม่ในยุโรป เช่น จากการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นต้น

เวลานั้น คนยิวกับคนคริสต์เป็นพลเมืองชั้นสอง  แต่เมื่อพวกฝรั่งเข้ามา คนยิวกับคริสต์ก็เริ่มมีฐานะดีขึ้น เนื่องจากติดต่อ ค้าขาย เป็นคนกลาง ให้กับชาวยุโรป กลายเป็นกลุ่มกฎุมพีรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า compradore


ประเด็นที่ 13 อิสลาม คือ อะไร?

“L’ISLAM ET LES AUTRES RELIGIONS” หรือ “อิสลาม กับ ศาสนาอื่นๆ” ลิววิส ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในหน้า 451-510 รวม 59 หน้า ผู้เขียนบลอคนี้ จะขอเล่าสรุปให้ท่านฟัง(อ่าน)เพียงสองหน้าครึ่ง กระดาษเอสี่ ดังนี้ ครับ

ประเด็นแรกที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง คือ เรื่องความอยุติธรรม ที่อิสลามได้รับ จากนักวิชาการตะวันตกในอดีต ซึ่งได้สร้างภาพพจน์(หรือ ภาพลักษณ์) ผิด ๆ ให้แก่อิสลาม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความอดทนต่อความแตกต่างทางศรัทธาความเชื่อ

ภาพติดลบภาพแรก มาจากหนังสือประวัติศาสตร์ที่โด่งดังในอดีต ของ นายเอ็ดเวิร์ด กิบบอน ชื่อ “ประวัติศาสตร์ ความเสื่อมและการล่มสลาย ของอาณาจักรโรมัน”

ซึ่งได้เสนอภาพทำนองว่า อัศวินขี่ม้าชาวอาหรับ ผู้บ้าคลั่งศาสนา อยู่ ๆ ก็โผล่ขึ้นมาจากทะเลทราย มือหนึ่ง-ควงมีดดาบเงื้อง่า อีกมือหนึ่ง-ถือคัมภีร์อัลกุรอาน พลางร้องถามเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายว่า ให้เลือกเอาว่า จะเอาอย่างไหน?

ลิววิส เห็นว่า ภาพนั้นเป็นเท็จ ขัดกับข้อเท็จจริง

ตามธรรมเนียมความเชื่ออิสลาม มือซ้ายมีไว้ใช้ทำหน้าที่ไม่บริสุทธิ์ - impure ซึ่งเรื่องของบริสุทธิ์-pure และไม่บริสุทธิ์-impure อิสลามบัญญัติไว้ชัดเจน และอิสลามิก “ถือ” เรื่องนี้มาก  มือซ้ายเป็นเรื่องของมลทิน แปดเปื้อน จะไม่มีอิสลามิกผู้ใด ที่เป็นอิสลามแท้จริง แม้แต่ในทุกวันนี้ ที่จะใช้มือซ้ายถือพระคัมภีร์

ภาพติดลบภาพต่อมา ตรงข้ามกับภาพแรก กล่าวคือจะพรรณนาสังคมที่คนต่างศาสนา ต่างเผ่าพันธุ์ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ดั่งโลกในจินตนาการ เสมอภาคกันหมดต่อหน้ากฎหมายเดียวกัน มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาสร้างความเจริญก้าวหน้า ให้แก่บ้านเมือง

แล้วก็หลับหูหลับตา สรรเสริญว่า อิสลามในอดีตกาลนั้น ช่างศิวิไลซ์ละม้ายแม้น สหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ และตรงข้ามกับนาซีเยอรมันของฮิตเล่อร์

ภาพสร้างทั้งสองภาพของอิสลาม ที่สร้างจากโลกตะวันตก ผิดเพี้ยน บิดเบือน ทั้งสองภาพ  และเกิดจากทัศนะใหม่ในตะวันตก อันได้แก่ “toleration” กับ “intoleration”  หรือความอดทนหรือไม่อดทนต่อความแตกต่างทางความคิด-ศรัทธา

ในอดีตกาลโบราณนานโพ้น ทั้งอารยธรรมคริสเตียนและอารยธรรมอิสลาม ต่างก็ไม่ได้ยกย่องสรรเสริญ คติเรื่องความอดทน/ไม่อดทนต่อความแตกต่างทางศรัทธา ว่าเป็นค่านิยมที่ดี มีคุณค่า

คนโบราณทั้งสองอารยธรรม ท่านไม่ได้สนใจประเด็นนี้ ชาวคริสต์โบราณนอกจากจะไม่ได้ยกย่องเรื่องความอดทนต่อความแตกต่างทางศาสนาแล้ว ก็ยังไม่ได้ปฏิบัติหลักการนี้ด้วยซ้ำ  เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีชุมชนชาวมุสลิมชุมชนใด จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหลักการนี้  ชาวคริสต์โบราณก็หาได้สนใจหรือใส่ใจไม่ และจะไม่ยกย่อง แต่ขณะเดียวกันก็จะไม่ชี้นิ้วกล่าวหา...(หน้า 452)

ประเด็นเรื่องความอดทนฯนี้ เป็นประเด็นที่เกิดในโลกยุคใหม่  ส่วนความจริงในยุคโบราณ ก็ไม่ได้สุดกู่(ในแง่นี้)ไปในทางใดทางหนึ่ง ข้อเท็จจริงในโลกโบราณซับซ้อน มากมิติ และละเอียดอ่อน

ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องนี้ ท่านว่า เราควรหาคำตอบให้ได้เสียก่อนว่า อิสลาม คือ อะไร? (หน้า 453) ซึ่งคำตอบก็ไม่ได้ง่าย ๆ สุกเอาเผากิน อย่างที่เราบางคนมักจะคิด อย่างมักง่าย

อีกคำถามหนึ่งที่จะต้องตอบก็คือ ความอดทนต่อความแตกต่าง คือ อย่างไร? อย่างไรจึงจะเรียกได้ว่าอดทนต่อความแตกต่าง?

ผู้เขียนฯ(บลอค) จะนำมาเล่าสู่กันฟังกับแฟน ๆ เฉพาะคำถามแรก คือ อิสลาม คือ อะไร? ซึ่งคำว่า อิสลาม ถูกนำมาใช้ในความหมายหลายความหมาย ที่ไม่เหมือนกัน

ความหมายแรก หมายถึง สิ่งที่ชาวมุสลิมเคารพนับถือ ว่าเป็นโองการสุดท้ายของพระเจ้า ซึ่งได้ตรัสแก่ พระศาสดามะหะหมัด ดำรัสนั้นปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์อัลกุรอานอันศักดิ์สิทธิ์

ใจความทั้งมวลในพระคัมภีร์ คือ แก่นของอิสลามดั้งเดิม ซึ่งรวมถึงหลักธรรมและคำสั่งอันเป็นบทบัญญัติ เหล่านี้คือรากฐาน และเนื้อนาบุญ ของศาสนาที่รู้จักกันในนามว่า ศาสนาอิสลาม

ความหมายที่สอง คำว่า อิสลาม มีความหมายกว้างออกไปกว่าความหมายแรก พอจะเทียบได้กับการใช้คำทางศาสนาอื่น เช่น คำว่า “คริสต์” “พุทธ” “ฮินดู” เป็นต้น  คำเหล่านี้มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เรื่อยมา คำว่า “อิสลาม” ก็เช่นเดียวกัน

นับแต่สิ้นพระศาสดาผู้ก่อตั้ง อิสลาม-ตามความหมายที่สอง กินความรวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติและพิธีกรรม ตลอดจนหลักเทววิทยา และความศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงกฎหมายอิสลามและศิลปะการเมืองการปกครอง รวมไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่คนมุสลิมได้ครุ่นคิด ได้พูด ได้กระทำลง ในนามของศรัทธาปสาทะที่มีต่อองค์อัลเลาะห์

อิสลาม ตามความหมายนี้ พูดคร่าว ๆ ก็จะคล้ายกับท่วงทำนองศาสนาคริสต์ ของ พระเจ้าคอนสแตนติน(จักรพรรดิโรมัน ผู้น้อมรับคริสต์ศาสนา) และพระราชาคณะรุ่นหลัง ๆ ที่พัฒนา วิวัฒนาการความเป็นคริสต์ หลังจากสิ้นพระเยซู

อย่างไรก็ดี คริสต์ที่วิวัฒนาการมาในประวัติศาสตร์หลังสิ้นพระเยซู กับคริสต์ดั้งเดิมของพระเยซู แตกต่างกัน มากกว่า อิสลามดั้งเดิม กับอิสลามที่วิวัฒนาการตามประวัติศาสตร์

เพราะว่า พระเยซูสิ้นชีพอยู่กับไม้กางเขน แต่พระศาสดามะหะหมัด มีอายุยืนยาว จนได้ทรงอำนาจแท้จริงในทางอาณาจักร ได้เป็นผู้นำบ้านเมือง มีอำนาจทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนได้เป็นผู้นำกองทัพ ได้เป็นผู้เก็บภาษีอากร เป็นผู้พิพากษา และผู้บัญญัติกฎหมาย ฯลฯ

การตีความข้อวิสัชฌนาอันเนื่องด้วยข้อธรรมะก็ดี ประเด็นอำนาจทางการเมืองการปกครองก็ดี ค่อนข้างจะมีหลักที่เที่ยงอยู่ในศาสนาอิสลาม ถึงแม้กาลเวลาและประวัติศาสตร์จะล่วงเลยไปนานเท่านาน  อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเสียเลย

หลังจากพระศาสดาสิ้นแล้ว พระเจ้ากาหลิบองค์ต่าง ๆ ต่อมา ก็ได้นำพาอิสลามผ่านยุคประวัติศาสตร์ เหมือนกับที่จักรวรรดิโรมันนำพาศาสนาคริสต์ ผ่านโลกที่ซับซ้อน กว้างใหญ่ขึ้น  การเปลี่ยนแปลงย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา

ความหมายที่สาม คำว่า อิสลาม ที่ใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา หรือศรัทธาความเชื่ออย่างเดียว  แต่หมายถึงอารยธรรมอิสลามิกโดยรวม ซึ่งมีมิติหลากหลาย และบางทีก็ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาเลยด้วยซ้ำ

เช่น ศิลปะอิสลาม ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาในโลกมุสลิม สื่อแสดงลักษณะวัฒนธรรมหลายอย่าง ที่ไม่ใช่ศาสนา เช่น บางทีใช้คำว่า วิทยาศาสตร์อิสลาม ซึ่งหมายถึง วิทยาการนานาประการ ทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิคส์ เคมี ฯลฯ ที่พัฒนาขึ้นมาในโลกมุสลิม แสดงออกด้วยภาษาอาหรับ หรือภาษาอื่นของโลกมุสลิม

เพลง "โย ราน โด  ปอ กระนาดา"
ภาษาสเปน พรรณนาถึงความเสียใจ
ที่แขกมัวร์เสียเมืองกระนาดา ในสเปน แก่กษัตริย์คาธอลิค
ภาพพื้นหลังของวีดีทัศน์ คือ วังอัลฮัมบรา ที่กระนาดา
อันเป็นศิลปะมุสลิม ประเภทสถาปัตยกรรม เพชรน้ำหนึ่ง ชิ้นเอกของโลก


บางกรณี ศาสนาและศิลปะเหล่านั้น ผู้สร้างสรรค์ก็อาจจะไม่ใช่คนมุสลิม แต่อาจจะเป็นคนยิว คนคริสต์ ผู้อยู่อาศัยในบ้านเมืองที่ผู้ปกครองเป็นมุสลิม คนยิวและคริสต์เหล่านั้นก็นับเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในโลกอิสลามด้วย


ประเด็นที่ 14 ชะตากรรมของคนยิว ในอิหร่านสมัยก่อน


กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19  ผู้สื่อสารชาวยิว ชื่อ เจ.เจ. เบนจามิน ส่งรายงานการเดินทางไปสังเกตการณ์สภาพชีวิตชาวยิวในอิหร่าน ประมาณปี 1865  ขอคัดเลือกมาเล่าต่อบางประเด็นเท่านั้น ดังนี้

1-ทั่วทั้งเปอร์เซีย คนยิวจะต้องอยู่เป็นสัดส่วน ในเขตที่เขาจัดให้อยู่
2-ห้ามคนยิว ค้าขายผ้า
3-เนื่องจากถือกันว่า คนยิว “ไม่บริสุทธิ์” (คือ แปดเปื้อนมลทิน) เพราะฉะนั้น ถ้าคนยิว เดินหลงเข้าไปในเขตคนมุสลิม พวกเด็ก ๆ จะขว้างก้อนหินไล่

4-ห้ามคนยิวตากฝน เพราะถือว่า น้ำฝนทีชะล้างคนยิว จะนำสิ่งสกปรกและมลทินมาเปื้อนคนมุสลิม
5-หากพบคนยิวตามถนน คนยิวจะถูกด่าว่า ถ่มน้ำลายรดหน้า หรือโดนไล่ตี
6- เวลาคนยิวเดินเข้าร้านขายของชำ ห้ามคนยิวเดินเข้าใกล้สินค้า ให้ยืนถามราคาอยู่ห่าง ๆ  ถ้าบังเกิดว่ามือไปแตะต้องของสิ่งใด จะต้องซื้อของชิ้นนั้น

7-ถ้าคนยิววิวาทกับคนเปอร์เซีย ให้จับคนยิวขึ้นศาลศาสนา ลงโทษหนัก หรือเสียค่าปรับสูง


-----------------------------------------------------------------------------------

[ยังมีต่อ.....สนใจ โปรดแวะเยือน เดือนละครั้งสองครั้ง ว่าโพสต์ต่อหรือยัง จะว่าตามหนังสือครับ ดีก็จะบอกว่าดี ไม่ดีบอกว่าไม่ดี  ถ้าสั้นก็จะบอกว่าสั้น  ส่วนถ้ายาวก็จะบอกว่า.....ยาว]


------------------------------------------------------------------------


ขออภัย ส่วนนี้อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ 
-- Sorry, underconstruction, coming soon ครับ