open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อ่าน อิสลาม ตอนที่สอง

ตอนที่ 2. หนึ่งในสี่ ที่สองของหนังสือ 
หน้า325 ถึงหน้าประมาณหน้า 600 เศษ
เสนออีก 7 ประเด็น ๆ ที่ 8 - 14



ประเด็นที่ 8 เกี่ยวกับการค้าทาส ในโลกมุสลิมโบราณ

ทาสผิวขาว(ฝรั่ง)ในอาณาจักรโอโตมาน(แขกเตอร์ก)นั้น  พวกตาด หรือ ตาตา จะเป็นคนค้าทาส โดยไปปล้นเอาคนมาจากหมู่บ้านในอูเครน และดินแดนใกล้เคียง แล้วนำมาขายเป็นทาสในนครอิสตันบุล หรือเมืองอื่น ๆ ในอาณาจักรโอโตมาน  กิจกรรมนี้พวกตาดทำมานานนับศตวรรษ

ส่วนทาสผิวดำจากอัฟริกา เส้นทางค้าทาสสมัยโบราณมายังโลกมุสลิม มีสามทางคือ
1)   จากอัฟริกาตะวันตก  ซึ่งปัจจุบันเราจะพบประเทศ ๆ หนึ่ง ชื่อ ประเทศกิเนีย  คำ ๆ นี้มาจากภาษาพวกแบร์แบร์ ในอัฟริกาเหนือ ที่ไม่ใช่คนผิวดำ แปลว่า “ดำ”  พวกฝรั่งนำคำ ๆ นี้มาตั้งชื่อเกาะในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก อินโดเนเซียปัจจุบัน ว่าเกาะนิวกิเนีย  ทาสจะถูกต้อนข้ามทะเลทรายซาฮารา เข้ามาในประเทศมอรอคโค ในอัฟริกาเหนือ ริมทะเลเมดิเตอเรเนียน
2)   เส้นทางตามลำน้ำไนล์ ทาสจะถูกนำมาจากประเทศซูดาน ล่องตามลำน้ำเข้ามาในประเทศ    อีจิปต์
3)   จากอัฟริกาตะวันออก ติดมหาสมุทร์อินเดีย ทาสจะถูกลำเลียงเข้ามาทางทะเลแดง มายัง  ดินแดนอาระเบีย อิรัค อิหร่าน เป็นต้น  (หนังสือ ประมาณหน้า 350)

และยังมีการค้าทาสลักษณะพิเศษ ได้แก่ พ่อค้าคหบดีที่เดินทางจากอัฟริกา มาเมกกะหรือเมดินะ จะมีพวกลูกหาบ บ่าวไพร่ บริวาร ช่วยแบกหามมาเป็นกระพรวน  พอเดินทางถึงอาระเบีย  คหบดีท่านก็จะปลดระวางลูกหาบ บริวาร บ่าวไพร่ เหล่านั้น โดยนำไปขายในตลาดค้าทาส  เสี่ยรับทรัพย์เหนาะ ๆ  นักประวัติศาสตร์บางท่านเรียกทาสประเภทนี้ว่า “เช็คเดินทาง” หรือ “travellers’ cheques”


ประเด็นที่ 9 อิสลาม มองศาสนาคริสต์และศาสนายิว อย่างไร

ทั้งอิสลาม คริสต์ และยิว ต่างก็เป็นศาสนานับถือพระเจ้าองค์เดียว(monotheism)  ซึ่งศาสนาพระเจ้าองค์เดียวจะวางรากฐานอยู่กับการประทานสัจธรรม(revelation)ขององค์พระผู้เป็นเจ้า  โดยที่ ผู้รับสมาทานสัจธรรม ทางอิสลามท่านเรียกว่า “ahl al-kitab”  แปลว่า “คนของหนังสือ” ภาษาอังกฤษว่า people of the book ถ้าจะแปลว่า ผู้นับถือพระคัมภีร์ ก็ไม่น่าจะผิด  และพระคัมภีร์ที่ว่านั้น ได้แก่ คัมภีร์ตัลมุด ของคนยิว ไบเบิล ของคริสเตียน และพระคัมภีร์ อัล กุระอ่าน ของอิสลาม

ผู้เขียนบลอค เคยได้ยินพวกฝรั่งที่สนใจเทววิทยา พูดคำ ๆ นี้บ่อย ๆ คือ คำว่า “คนของหนังสือ” หรือ people of the book  ซึ่งศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเป็นใหญ่ ก็จะถือว่า “หนังสือ” นั้นคือโองการของพระเจ้า หรืออย่างน้อยก็ต้องเขียนขึ้นจากแรงดลใจของพระเจ้า  แต่ฝรั่งผู้หนึ่งที่ใช้วลีนี้ เขานำมาใช้นอกเขตศาสนจักร  คือ นำมาอ้างเพื่อส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือ ให้เห็นความสำคัญของหนังสือ

เนื่องจากผู้เขียนบลอค เป็นนักเรียนภาษาฮินดี อ่านอักขระเทวนาครีออก และเวลานี้ก็เป็นนักเรียนภาษาอินโดเนเซียด้วย  จึงพบว่า คำว่า กิ-ต้าบ หรือ kitab นั้น ได้กลายเป็นคำยืมอยู่ในภาษาฮินดีและภาษาอินโดเนเซีย  ทั้งสองภาษานี้เรียกหนังสือว่า “กิ-ต้าบ”  โดยที่ เทวนาครี อันเป็นอักขระที่ใช้เขียนสันสกฤตและฮินดี เขียน กิ ต้าบ ว่า किताब

เนื่องจาก คัมภีร์ทั้งของยิว คริสต์ และอิสลาม เฉพาะตอนต้น ๆ จะคล้าย ๆ กัน เล่าเรื่องเดียวกัน เช่น เรื่องราวในพระคัมภีร์เก่า หรือ The Old Testament ของคริสเตียน ที่ปัจจุบันเมื่อแปลไบเบิลกันใหม่ ก็เรียกพระคัมภีร์เก่าในไบเบิล ว่า “พันธสัญญาเดิม” นั้น ก็จะมีอยู่ใน อัล กุระอ่าน  ดังนั้น คำถามจึงมีว่า แล้วอิสลามมองหนังสือ(คัมภีร์)ก่อนหน้า อัล กุระอ่าน อย่างไร?  ในเมื่อต่างก็เป็นโองการ หรือการดลใจ ของพระเจ้าองค์เดียวกัน

แรก ๆ ที่แปลคัมภีร์ไบเบิล ออกเป็นภาษาอินโดเนเซีย  ยังแปลคำว่า “พระเจ้า” เป็นภาษาอินโดเนเซีย ว่า “องค์อัลเลาะห์”  ในการแปลลำดับต่อ ๆ มาดอก ที่เลิกแปล “God” ว่า อัลเลาะห์ ในภาษาอินโดเนเซีย

ผู้เขียนบลอคเห็นว่า การเข้าใจประเด็นนี้ คือ อิสลามมองคัมภีร์ที่มาก่อนหน้า อย่างไร? น่าจะเป็นกุญแจดอกหนึ่ง ที่จะช่วยให้เราเห็นความแตกต่างของทั้งสามศาสนานั้น โดยอาศัยมุมมองของอิสลามิก ทั้งนี้เพราะว่าเรานับถือเทพหลายองค์ และไม่คุ้นเคย ไม่เข้าใจ กับศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวเป็นใหญ่

อัลเลาะห์ รักษ์ รามัน ศิลปินผู้เรียบเรียงเสียงประสาน(ดนตรี)มือหนึ่งของอินเดีย  ผู้ทำดนตรีให้หนังสือบอลลีวูดดัง ๆ ผู้เรียบเรียงเสียงประสานให้กับเพลงชาติอินเดีย(ชะนะ คะณะ มานะ) ผู้ทำดนตรีให้กับเพลง ไหว้พระแม่ธรณี(บันเด มาตะรัม) อันเป็นเพลงระดับชาติของอินเดีย ฯลฯ  แต่เดิมเขานับถือศาสนาฮินดูซึ่งมีเทพเต็มสวรรค์ไปหมด แต่ต่อมาเขาหันมานับถือศาสนาอิสลาม  เขาให้เหตุผลว่า ชีวิตเขาง่ายขึ้นเยอะ ตั้งแต่หันมานับถือศาสนาพระเจ้าองค์เดียว


ภาพถ่ายหนังสือ หน้า 467

หนังสือ อิสลาม ของ ลิววิส หน้า 467 ตามภาพถ่าย  ย่อหน้าที่ 3 ระบุว่า  อิสลามถือว่าศาสนายิว และ คริสต์ เป็นรูปแบบเก่าของการประทานสัจธรรมของพระเจ้า ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ และยังไม่แล้วเสร็จ  โดยที่แท้จริงแล้ว ทั้งยิวและคริสต์ ก็คือ อิสลาม นั่นเอง  แต่เป็นอิสลามที่ยังไม่สมบูรณ์ และยังไม่แล้วเสร็จ


ประเด็นที่ 10 คำสอนที่กินใจ


การแผ่ขยายของอิสลามระยะแรก ปกคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ในตะวันออกกลาง และอัฟริกาเหนือ  ดินแดนดังกล่าวนั้นมีทั้งคนยิว คริสเตียน พวกโซโรอาสเตอร์ และอื่น ๆ อยู่อาศัยกันมาแต่เก่าก่อน จึงเลี่ยงไม่พ้นที่ผู้ปกครองที่เป็นมุสลิม จะต้องมีคนนอกศาสนาอยู่ใต้การปกครองของตน

กาหลิบ อุมาร์ที่หนึ่ง (เป็นกาหลิบที่สำคัญมาก ๆ ในประวัติศาสตร์อิสลามตอนต้น ได้ขยายอิสลามปกครองดินแดนถึงสองในสาม ของพื้นที่อาณาจักรโรมันตะวันออก) ได้เคยเตือนไว้ว่า

“ระวังนะ ถ้าจะแต่งตั้งคริสเตียนหรือยิว ไว้ในตำแหน่งอันสูง เพราะโดยศาสนาของพวกเขา เขาเป็นคนขี้ฉ้อ  และการคอรัปชันขัดต่อหลักอิสลาม”

ต่อมา นักกฎหมายอิสลามผู้หนึ่ง ในศตวรรษที่สิบสาม ได้แสดงความเห็นไว้ชัดเจน เกี่ยวกับการแต่งตั้งคนนอกศาสนาไว้ในตำแหน่งอันสูง  ความตอนหนึ่งปรากฏในหนังสือหน้า 476 ดังภาพถ่าย ความว่า

Dieu dit: Ô vous qui croyez, ne mettez pas votre confiance en des gens qui ne sont pas de vôtres car ils ne reculeront devant rien pour vous nuire; leur désir est que vous soyez ruinés; leur haine se manifeste par la bouche, mais ce qui est caché dans leur cœurs est pire encore …..
 หนังสือหน้า 476
แปล:
พระเจ้าตรัสว่า: โอ เจ้าผู้ศรัทธา เจ้าอย่าได้วางใจกับคนที่ไม่ใช่หมู่เหล่าของเจ้า  เพราะว่า พวกเขาจะไม่ยั้งมือที่จะทำร้ายเจ้า  ความปรารถนาของพวกเขาก็คือความหายนะของเจ้า  ความเกลียดชังของพวกเขาแสดงออกด้วยวาจา  แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจ ยิ่งร้ายไปกว่า.....



ภาพถ่ายหนังสือหน้า 476


ประโยคที่กินใจ คือ mais ce qui est caché dans leur cœurs est pire encore ….. 
แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจ ยิ่งร้ายไปกว่า.....


อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติของการเมืองการปกครอง พวก “ดฮิมมิ”(dhimmi)หรือศาสนิกในศาสนาอื่น ที่อยู่ใต้การปกครองของมุสลิม โดยทั่วไปแล้วก็ไม่ได้ถูกกดขี่หรือกีดกันอย่างรุนแรงแต่ประการใด ตัวอย่างเช่น เมื่ออาณาจักรไบแซนไทน์(อาณาจักรโรมันตะวันออก) ส่วนที่อยู่ในตะวันออกกลาง ต้องตกเป็นของพวกอาหรับ  ประชาชนให้การต้อนรับเจ้านายรายใหม่ด้วยดี เพราะเห็นว่า กดขี่ข่มเหงน้อยกว่าอำนาจการปกครองของไบแซนไทน์ (ย้อนกลับไปหนังสือหน้า 113)

หรือแม้แต่คนยิว ก็ไม่ได้ถูกบังคับขับไสมากอย่างคนยิวที่อยู่ใต้การปกครองของคริสเตียน(หน้า 476)  แต่ตามธรรมเนียมประเพณี คนมุสลิมในตะวันออกกลางยุคโน้น ก็เห็นว่า คนยิวคือพวกลิง ส่วนคริสเตียนคือหมูหมา(หน้า 479)


ประเด็นที่ 11 แบ่งยุคประวัติศาสตร์ ตะวันออกกลาง

เพื่อให้เราเข้าใจความเป็นมาเป็นไป ของมุสลิมในตะวันออกกลางได้ชัดเจนขึ้น ไม่มั่วปนพันกันอีรุงตุงนังอยู่ในหัวสมอง แบร์นาร์ด ลิววิส เสนอว่าเราน่าจะแบ่งยุคประวัติศาสตร์ ตามการเข้ามา(หรือการรุกราน) ดินแดนตะวันออกกลางโดยหมู่ชนต่าง ๆ ซึ่งแบ่งได้เป็นสามระลอก คือ

          1.การเข้ามาของอาหรับ ที่เป็นมุสลิม และขึ้นมาจากอาระเบีย ในศตวรรษที่เจ็ด และศตวรรษที่แปด  การเข้ามาหรือรุกรานครั้งสำคัญนี้ ได้นำศาสนาอิสลามมา ได้นำภาษาใหม่คือภาษาอาหรับเข้ามา และได้นำระบอบการปกครองรูปแบบใหม่ หรือระบบการเมืองใหม่ เข้ามา คือ ระบบกาหลิบ

          2.การเข้ามาหรือรุกรานดินแดนตะวันออกกลางระลอกที่สอง ได้แก่ การเข้ามาในตะวันออกกลางของเผ่าพันธุ์จากทุ่งหญ้าสเต็ปป์ในเอเซียกลาง  พวกนี้เข้ามาในตะวันออกกลางทางทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ  เริ่มแรกได้แก่ พวกเตอร์ก ในศตวรรษที่สิบและสิบเอ็ด  ต่อมาได้แก่พวกมงโกล ในศตวรรษที่สิบสาม  พวกเตอร์กและมงโกล ได้ทำลาย ยกเลิกระบอบการปกครองแบบกาหลิบ และเปิดศักราชใหม่ทางการเมือง

          เตอร์กและมงโกล มาทำให้การปกครองมั่นคง เป็นปึกแผ่น ด้วยการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  ด้านวัฒนธรรมก็มีการแสดงที่หลากหลายของภาษาสำเนียงเตอร์ก  ด้านศาสนาก็ยังคงยอมรับศาสนาอิสลามสืบมา  แต่ก็ได้ปรับปรุงอิสลามให้มีรูปแบบมากขึ้น มีลำดับชั้นขั้นตอนขึ้นมา รวมทั้งมีการแสวงหาความเป็นอิสลามดั้งเดิม

          3.การรุกราน หรือเข้ามาในระลอกที่สาม ได้แก่ การเข้ามาของชาวยุโรป  โดยที่ก่อนหน้าที่พวกยุโรปจะเข้ามาในตะวันออกกลาง ชาวมุสลิมได้รุกเข้าไปในยุโรปหลายครั้ง เช่น ชาวอาหรับเข้าไปอยู่ในสเปนและเกาะซิชิลี  พวกตาดที่นับถืออิสลาม ได้เข้าไปในรัสเซีย  ต่อมาพวกเตอร์กก็พยายามจะตีกรุงเวียนนาถึงสองครั้ง

          ต่อมา เมื่อชาวยุโรปได้ขับไล่ชาวมุสลิมพ้นแผ่นดินยุโรป ก็ได้ตามตีชาวมุสลิมถึงถิ่น เช่น พวกสเปนและโปรตุเกส ติดตามต่อตีชาวมุสลิมเข้าไปในมอรอคโคและในอัฟริกา  พวกออสเตรียและฮังการี ไล่ตีแขกเตอร์กในคาบสมุทร์บอลข่าน และผลักดันจนไปกระจุกอยู่ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล(อิสตันบูล-ปัจจุบัน)  ชาวรัสเซียขับไล่พวกตาดออกไปจากมอสโคว์ แล้วติดตามไล่ตีจนถึงทะเลดำ เทือกเขาคอเคซัส ทะเลสาบแคสเปียน จนประชิดแดนด้านเหนือของตะวันออกกลาง

โดยสรุปแล้ว ตอนศตวรรษที่สิบสามโดยประมาณ โลกมุสลิมมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ห้าศูนย์ คือ

1)   ในอินเดีย
2)   ในเอเชียกลาง
3)   ในอิหร่าน
4)   ในตุรกี
5)   อีจิปต์และซีเรีย
6)   ในอัฟริกาเหนือ


ประเด็นที่ 12 ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ และเรื่องเบ็ดเตล็ดบางประการ

1)   ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์
วันหยุดของสามศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวเป็นใหญ่ อันได้แก่ อิสลาม-ยิว-และคริสต์ ต่างก็อุบัติขึ้นในตะวันออกกลางทั้งสามศรัทธาความเชื่อ และต่างก็มีความเกี่ยวพันกันในระยะต้น  คัมภีร์บทต้น ๆ ของทั้งสามศรัทธาเล่าเรื่องเดียวกัน เช่น เนื้อหาของไบเบิลบรรพที่หนึ่งถึงห้า มีอยู่ในอัลกุรอาน  และชาวมุสลิมถือว่าคัมภีร์คือโองการอันสมบูรณ์ของพระเจ้า ศักดิ์สิทธิ์ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้  คนเผาคัมภีร์อัลกุรอานเคยถูกสังหารชีวิตมาแล้ว ในโลกปัจจุบันนี้เอง

แต่ ใครจะปฏิเสธความสัมพันธ์ใกล้ชิด ของทั้งสามศรัทธานี้ได้?

ปี ค.ศ. 1833 (หนังสือหน้า 512) มีหนังสือที่มีชื่อเสียง ภาษาเยอรมัน แปลเป็นฝรั่งเศสว่า Quel emprunts Mahomet a-t-il fais au judisme?  แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “พระมะหะหมัด ได้หยิบยืมสิ่งใด ในศาสนายิวมาหรือไม่?”  ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียง อภิปราย กันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

ระยะหลัง ๆ นี้ เมื่อเกิดปฏิกิริยาแอนตี้อิสลามขึ้นมาในโลกตะวันตก  ก็มีการชี้นิ้ว ว่า เรื่องนั้น เรื่องนี้อิสลามยืมมาจากพวกยิว  ซึ่งผู้ชี้ได้แก่ชาวคาธอลิคบางคน(หน้า 513) ทั้งนี้ทั้งนั้น คนเหล่านั้นก็ไม่ได้มีเจตนาจะยกย่องสรรเสริญศาสนายิวแต่ประการใด  ทว่า พวกเขาต้องการที่จะ ด้อยค่า ศาสนาอิสลาม ต่างหาก

เรื่องหนึ่งที่กล่าวหากันก็คือ การที่มุสลิมยึดวันศุกร์เป็นวันหยุด เช่น ที่พวกยิวยึดวันเสาร์ – คือ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินของวันศุกร์ จนถึงดวงอาทิตย์ตกดิน วันเสาร์ ถือเป็นวันสะบาโต(หรือ ซับบัต) ของชาวยิว ภาษาฮิบรู แปลว่า “พักผ่อน” หรือ “หยุดพัก” และคริสต์ยึดวันอาทิตย์เป็นวันหยุดพัก(คัมภีร์ไบเบิล ฉบับแปลโลกใหม่ ปฐมกาล 1: 22)  ทางฝ่ายอิสลามก็ปรารถนาจะทำตัวให้แตกต่างจากยิวและคริสต์  จึงหันมาถือเอาวันศุกร์




ภาพถ่าย คัมภีร์ไบเบิล ฉบับแปลใหม่ ตอนพระเจ้าสร้างโลก 
และให้วันที่ 7 (วันอาทิตย์) เป็นวันหยุดพัก


คำกล่าวหาดังกล่าวนั้น ตอบข้อสงสัยไม่ครบถ้วนกระบวนความ  เพราะเนื้อหาของการหยุดผิดกัน

อิสลามตั้งแต่เริ่มต้น ในสมัยโบราณโน้น ท่านไม่ได้ถือว่า วันศุกร์เป็นวันหยุดงาน หรือหยุดพักผ่อน ภาษาอาหรับเรียกวันศุกร์ว่า yawn al-djum’a (หนังสือหน้า 516) หรือวันแห่งการสมาคม วันศุกร์ของชาวมุสลิมเป็นวันประชุมสวดมนต์ร่วมกัน  พูดแบบคร่าว ๆ ลวก ๆ พอเป็นเค้าให้คนพุทธเข้าใจ ก็จะคล้ายกับ วันธรรมสวนะ หรือวันพระ มากกว่า คือ วันขึ้น 8 ค่ำ กับขึ้น14 หรือ 15 ค่ำ

การถือวันศุกร์เป็นวันหยุดพักผ่อน เช่น คติของชาวคริสต์นั้น ครูผู้รู้ในศาสนาอิสลาม ท่านตำหนิมาโดยตลอด ถึงแม้ว่า รัฐอิสลามส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะถือว่าวันศุกร์เป็นวันหยูดพัก ก็ตาม

2)   สำหรับคนยิว การเข้าแขก ง่ายกว่า เข้าคริสต์
ในหนังสือหน้า 528 พูดถึง คำภาษาฝรั่งเศส ว่า parjure การละเมิดคำสวด และหมายถึง การทรยศ  น่าจะแปลว่า ทำผิดคำสอน ก็น่าจะได้




ภาพถ่ายหนังสือ หน้า 528 ข้อ 1 พูดถึง perjure – การละเมิด ที่พอยอมรับได้


สำหรับคนยิว การเปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลาม หมายความว่า จะต้องยอมรับนับถือว่า พระมะหะหมัด เป็นศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า(
le Prophète de Dieu) นั้นเป็นการละเมิดศาสนายิว หรือ parjure ที่ยังน้อยกว่าการไปเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ เพราะว่า จะต้องยอมรับว่า พระเยซู คือ บุตรของพระเจ้า

เรื่องหลังนี้ ยิวรับไม่ได้ และเรื่องแรกพอจะกล้ำกลืนได้

3)   ท็อปกะปิ
ชื่อพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก ของประเทศตุรกี มีเอกสารทรงคุณค่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อิสลาม

เช่น กรณีอิสลามห้ามสร้างรูปเคารพ เพราะฉะนั้น งานศิลปะอิสลามจึงไม่มีรูปคน

แต่ สุลต่านมูราดที่สาม ดำรงตำแหน่งประมาณค.ศ. 1600 สั่งให้สร้างหนังสือเล่าเรื่องพระมะหะหมัด องค์ศาสดา โดยมีภาพประกอบ หนังสือดังกล่าวใช้ภาษาเตอร์ก ซึ่งถ่ายทอดมาจากฉบับเก่าประมาณศตวรรษที่ 14 อันได้แปลจากภาษาอาหรับ ที่เก่าแก่กว่านั้น

หนังสือนี้ เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ ท็อปกะปิ

เชิญชม วีดีโอ แนะนำพิพิธภัณฑ์ พระราชวัง ท็อปกะปี อิสตันบุล ตุรกี
https://www.youtube.com/watch?v=FZrMkhaKiSo




4)   กำประโด หรือ กัมประโด
คำนี้มีใช้มาตั้งแต่ในตะวันออกกลาง เมื่อนานมาแล้ว หนังสือหน้า 506-507 เล่าว่า คนยิวกับคนคริสต์ในตะวันออกกลางยุคประมาณปลายศตวรรษที่ 18 – 19 เมื่อฝรั่งเริ่มขยายอิทธิพลทางการเมืองและการค้าเข้ามาในตะวันออกกลาง รวมทั้งความคิดสมัยใหม่ในยุโรป เช่น จากการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นต้น

เวลานั้น คนยิวกับคนคริสต์เป็นพลเมืองชั้นสอง  แต่เมื่อพวกฝรั่งเข้ามา คนยิวกับคริสต์ก็เริ่มมีฐานะดีขึ้น เนื่องจากติดต่อ ค้าขาย เป็นคนกลาง ให้กับชาวยุโรป กลายเป็นกลุ่มกฎุมพีรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า compradore


ประเด็นที่ 13 อิสลาม คือ อะไร?

“L’ISLAM ET LES AUTRES RELIGIONS” หรือ “อิสลาม กับ ศาสนาอื่นๆ” ลิววิส ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในหน้า 451-510 รวม 59 หน้า ผู้เขียนบลอคนี้ จะขอเล่าสรุปให้ท่านฟัง(อ่าน)เพียงสองหน้าครึ่ง กระดาษเอสี่ ดังนี้ ครับ

ประเด็นแรกที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง คือ เรื่องความอยุติธรรม ที่อิสลามได้รับ จากนักวิชาการตะวันตกในอดีต ซึ่งได้สร้างภาพพจน์(หรือ ภาพลักษณ์) ผิด ๆ ให้แก่อิสลาม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความอดทนต่อความแตกต่างทางศรัทธาความเชื่อ

ภาพติดลบภาพแรก มาจากหนังสือประวัติศาสตร์ที่โด่งดังในอดีต ของ นายเอ็ดเวิร์ด กิบบอน ชื่อ “ประวัติศาสตร์ ความเสื่อมและการล่มสลาย ของอาณาจักรโรมัน”

ซึ่งได้เสนอภาพทำนองว่า อัศวินขี่ม้าชาวอาหรับ ผู้บ้าคลั่งศาสนา อยู่ ๆ ก็โผล่ขึ้นมาจากทะเลทราย มือหนึ่ง-ควงมีดดาบเงื้อง่า อีกมือหนึ่ง-ถือคัมภีร์อัลกุรอาน พลางร้องถามเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายว่า ให้เลือกเอาว่า จะเอาอย่างไหน?

ลิววิส เห็นว่า ภาพนั้นเป็นเท็จ ขัดกับข้อเท็จจริง

ตามธรรมเนียมความเชื่ออิสลาม มือซ้ายมีไว้ใช้ทำหน้าที่ไม่บริสุทธิ์ - impure ซึ่งเรื่องของบริสุทธิ์-pure และไม่บริสุทธิ์-impure อิสลามบัญญัติไว้ชัดเจน และอิสลามิก “ถือ” เรื่องนี้มาก  มือซ้ายเป็นเรื่องของมลทิน แปดเปื้อน จะไม่มีอิสลามิกผู้ใด ที่เป็นอิสลามแท้จริง แม้แต่ในทุกวันนี้ ที่จะใช้มือซ้ายถือพระคัมภีร์

ภาพติดลบภาพต่อมา ตรงข้ามกับภาพแรก กล่าวคือจะพรรณนาสังคมที่คนต่างศาสนา ต่างเผ่าพันธุ์ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ดั่งโลกในจินตนาการ เสมอภาคกันหมดต่อหน้ากฎหมายเดียวกัน มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาสร้างความเจริญก้าวหน้า ให้แก่บ้านเมือง

แล้วก็หลับหูหลับตา สรรเสริญว่า อิสลามในอดีตกาลนั้น ช่างศิวิไลซ์ละม้ายแม้น สหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ และตรงข้ามกับนาซีเยอรมันของฮิตเล่อร์

ภาพสร้างทั้งสองภาพของอิสลาม ที่สร้างจากโลกตะวันตก ผิดเพี้ยน บิดเบือน ทั้งสองภาพ  และเกิดจากทัศนะใหม่ในตะวันตก อันได้แก่ “toleration” กับ “intoleration”  หรือความอดทนหรือไม่อดทนต่อความแตกต่างทางความคิด-ศรัทธา

ในอดีตกาลโบราณนานโพ้น ทั้งอารยธรรมคริสเตียนและอารยธรรมอิสลาม ต่างก็ไม่ได้ยกย่องสรรเสริญ คติเรื่องความอดทน/ไม่อดทนต่อความแตกต่างทางศรัทธา ว่าเป็นค่านิยมที่ดี มีคุณค่า

คนโบราณทั้งสองอารยธรรม ท่านไม่ได้สนใจประเด็นนี้ ชาวคริสต์โบราณนอกจากจะไม่ได้ยกย่องเรื่องความอดทนต่อความแตกต่างทางศาสนาแล้ว ก็ยังไม่ได้ปฏิบัติหลักการนี้ด้วยซ้ำ  เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีชุมชนชาวมุสลิมชุมชนใด จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหลักการนี้  ชาวคริสต์โบราณก็หาได้สนใจหรือใส่ใจไม่ และจะไม่ยกย่อง แต่ขณะเดียวกันก็จะไม่ชี้นิ้วกล่าวหา...(หน้า 452)

ประเด็นเรื่องความอดทนฯนี้ เป็นประเด็นที่เกิดในโลกยุคใหม่  ส่วนความจริงในยุคโบราณ ก็ไม่ได้สุดกู่(ในแง่นี้)ไปในทางใดทางหนึ่ง ข้อเท็จจริงในโลกโบราณซับซ้อน มากมิติ และละเอียดอ่อน

ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องนี้ ท่านว่า เราควรหาคำตอบให้ได้เสียก่อนว่า อิสลาม คือ อะไร? (หน้า 453) ซึ่งคำตอบก็ไม่ได้ง่าย ๆ สุกเอาเผากิน อย่างที่เราบางคนมักจะคิด อย่างมักง่าย

อีกคำถามหนึ่งที่จะต้องตอบก็คือ ความอดทนต่อความแตกต่าง คือ อย่างไร? อย่างไรจึงจะเรียกได้ว่าอดทนต่อความแตกต่าง?

ผู้เขียนฯ(บลอค) จะนำมาเล่าสู่กันฟังกับแฟน ๆ เฉพาะคำถามแรก คือ อิสลาม คือ อะไร? ซึ่งคำว่า อิสลาม ถูกนำมาใช้ในความหมายหลายความหมาย ที่ไม่เหมือนกัน

ความหมายแรก หมายถึง สิ่งที่ชาวมุสลิมเคารพนับถือ ว่าเป็นโองการสุดท้ายของพระเจ้า ซึ่งได้ตรัสแก่ พระศาสดามะหะหมัด ดำรัสนั้นปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์อัลกุรอานอันศักดิ์สิทธิ์

ใจความทั้งมวลในพระคัมภีร์ คือ แก่นของอิสลามดั้งเดิม ซึ่งรวมถึงหลักธรรมและคำสั่งอันเป็นบทบัญญัติ เหล่านี้คือรากฐาน และเนื้อนาบุญ ของศาสนาที่รู้จักกันในนามว่า ศาสนาอิสลาม

ความหมายที่สอง คำว่า อิสลาม มีความหมายกว้างออกไปกว่าความหมายแรก พอจะเทียบได้กับการใช้คำทางศาสนาอื่น เช่น คำว่า “คริสต์” “พุทธ” “ฮินดู” เป็นต้น  คำเหล่านี้มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เรื่อยมา คำว่า “อิสลาม” ก็เช่นเดียวกัน

นับแต่สิ้นพระศาสดาผู้ก่อตั้ง อิสลาม-ตามความหมายที่สอง กินความรวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติและพิธีกรรม ตลอดจนหลักเทววิทยา และความศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงกฎหมายอิสลามและศิลปะการเมืองการปกครอง รวมไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่คนมุสลิมได้ครุ่นคิด ได้พูด ได้กระทำลง ในนามของศรัทธาปสาทะที่มีต่อองค์อัลเลาะห์

อิสลาม ตามความหมายนี้ พูดคร่าว ๆ ก็จะคล้ายกับท่วงทำนองศาสนาคริสต์ ของ พระเจ้าคอนสแตนติน(จักรพรรดิโรมัน ผู้น้อมรับคริสต์ศาสนา) และพระราชาคณะรุ่นหลัง ๆ ที่พัฒนา วิวัฒนาการความเป็นคริสต์ หลังจากสิ้นพระเยซู

อย่างไรก็ดี คริสต์ที่วิวัฒนาการมาในประวัติศาสตร์หลังสิ้นพระเยซู กับคริสต์ดั้งเดิมของพระเยซู แตกต่างกัน มากกว่า อิสลามดั้งเดิม กับอิสลามที่วิวัฒนาการตามประวัติศาสตร์

เพราะว่า พระเยซูสิ้นชีพอยู่กับไม้กางเขน แต่พระศาสดามะหะหมัด มีอายุยืนยาว จนได้ทรงอำนาจแท้จริงในทางอาณาจักร ได้เป็นผู้นำบ้านเมือง มีอำนาจทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนได้เป็นผู้นำกองทัพ ได้เป็นผู้เก็บภาษีอากร เป็นผู้พิพากษา และผู้บัญญัติกฎหมาย ฯลฯ

การตีความข้อวิสัชฌนาอันเนื่องด้วยข้อธรรมะก็ดี ประเด็นอำนาจทางการเมืองการปกครองก็ดี ค่อนข้างจะมีหลักที่เที่ยงอยู่ในศาสนาอิสลาม ถึงแม้กาลเวลาและประวัติศาสตร์จะล่วงเลยไปนานเท่านาน  อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเสียเลย

หลังจากพระศาสดาสิ้นแล้ว พระเจ้ากาหลิบองค์ต่าง ๆ ต่อมา ก็ได้นำพาอิสลามผ่านยุคประวัติศาสตร์ เหมือนกับที่จักรวรรดิโรมันนำพาศาสนาคริสต์ ผ่านโลกที่ซับซ้อน กว้างใหญ่ขึ้น  การเปลี่ยนแปลงย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา

ความหมายที่สาม คำว่า อิสลาม ที่ใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา หรือศรัทธาความเชื่ออย่างเดียว  แต่หมายถึงอารยธรรมอิสลามิกโดยรวม ซึ่งมีมิติหลากหลาย และบางทีก็ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาเลยด้วยซ้ำ

เช่น ศิลปะอิสลาม ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาในโลกมุสลิม สื่อแสดงลักษณะวัฒนธรรมหลายอย่าง ที่ไม่ใช่ศาสนา เช่น บางทีใช้คำว่า วิทยาศาสตร์อิสลาม ซึ่งหมายถึง วิทยาการนานาประการ ทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิคส์ เคมี ฯลฯ ที่พัฒนาขึ้นมาในโลกมุสลิม แสดงออกด้วยภาษาอาหรับ หรือภาษาอื่นของโลกมุสลิม

เพลง "โย ราน โด  ปอ กระนาดา"
ภาษาสเปน พรรณนาถึงความเสียใจ
ที่แขกมัวร์เสียเมืองกระนาดา ในสเปน แก่กษัตริย์คาธอลิค
ภาพพื้นหลังของวีดีทัศน์ คือ วังอัลฮัมบรา ที่กระนาดา
อันเป็นศิลปะมุสลิม ประเภทสถาปัตยกรรม เพชรน้ำหนึ่ง ชิ้นเอกของโลก


บางกรณี ศาสนาและศิลปะเหล่านั้น ผู้สร้างสรรค์ก็อาจจะไม่ใช่คนมุสลิม แต่อาจจะเป็นคนยิว คนคริสต์ ผู้อยู่อาศัยในบ้านเมืองที่ผู้ปกครองเป็นมุสลิม คนยิวและคริสต์เหล่านั้นก็นับเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในโลกอิสลามด้วย


ประเด็นที่ 14 ชะตากรรมของคนยิว ในอิหร่านสมัยก่อน


กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19  ผู้สื่อสารชาวยิว ชื่อ เจ.เจ. เบนจามิน ส่งรายงานการเดินทางไปสังเกตการณ์สภาพชีวิตชาวยิวในอิหร่าน ประมาณปี 1865  ขอคัดเลือกมาเล่าต่อบางประเด็นเท่านั้น ดังนี้

1-ทั่วทั้งเปอร์เซีย คนยิวจะต้องอยู่เป็นสัดส่วน ในเขตที่เขาจัดให้อยู่
2-ห้ามคนยิว ค้าขายผ้า
3-เนื่องจากถือกันว่า คนยิว “ไม่บริสุทธิ์” (คือ แปดเปื้อนมลทิน) เพราะฉะนั้น ถ้าคนยิว เดินหลงเข้าไปในเขตคนมุสลิม พวกเด็ก ๆ จะขว้างก้อนหินไล่

4-ห้ามคนยิวตากฝน เพราะถือว่า น้ำฝนทีชะล้างคนยิว จะนำสิ่งสกปรกและมลทินมาเปื้อนคนมุสลิม
5-หากพบคนยิวตามถนน คนยิวจะถูกด่าว่า ถ่มน้ำลายรดหน้า หรือโดนไล่ตี
6- เวลาคนยิวเดินเข้าร้านขายของชำ ห้ามคนยิวเดินเข้าใกล้สินค้า ให้ยืนถามราคาอยู่ห่าง ๆ  ถ้าบังเกิดว่ามือไปแตะต้องของสิ่งใด จะต้องซื้อของชิ้นนั้น

7-ถ้าคนยิววิวาทกับคนเปอร์เซีย ให้จับคนยิวขึ้นศาลศาสนา ลงโทษหนัก หรือเสียค่าปรับสูง


-----------------------------------------------------------------------------------

[ยังมีต่อ.....สนใจ โปรดแวะเยือน เดือนละครั้งสองครั้ง ว่าโพสต์ต่อหรือยัง จะว่าตามหนังสือครับ ดีก็จะบอกว่าดี ไม่ดีบอกว่าไม่ดี  ถ้าสั้นก็จะบอกว่าสั้น  ส่วนถ้ายาวก็จะบอกว่า.....ยาว]


------------------------------------------------------------------------


ขออภัย ส่วนนี้อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ 
-- Sorry, underconstruction, coming soon ครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น