open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เจตนา วิบัติิได้อย่างไร? --ฆาตกรรม กับ บทกวี ตอนสาม

ฆาตกรรม กับ บทกวี
ตอนสาม-เจตนา วิบัติิได้อย่างไร?

เราคงจะต้องรู้กันเสียก่อนว่า  ที่ว่าวิบัตินั้น เป็นฉันใด?  หรือ วิบัติ คือ อะำไร?

หลังจากศึกษาเรื่อง วิบัติ  แบบที่วิญญูชนสมัยปัจจุบันทำกันทุกคน คือด้วยการ 1) เคาะชมเว็บไซด์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคำ ๆ นี้ -ตรึม!  2) ฟังพ็อดคาสต์เรื่องวิบัติ -เพียบ!  3) ชมยูตูบเกี่ยวกับเรื่องนี้ -อื้อ!  จนตาเหล่ (--ตอแหลเปล่า?)  สรุปได้ดังนี้ครับ

คำว่า วิบัติ  ของเราท่านทั้งหลาย เขานำคำเก่ามาใช้  ในภาษาสันสกฤตคำนี้เขียนด้วยอักขระเทวนาครี ว่า विपत्ति อ่านว่า วิ-ปะติ  แขกออกเสียงว่า “หวี่ ป้ะ ติ้”  แปลว่า ฉิบหาย หรือ คลาดเคลื่อน ก็ได้ และแปลอย่างอื่นในทำนองวายป่วงได้อีก เช่น นำไปใช้เป็นคำคุณศัพท์ เรียกสัญญาณฉุกเฉินซึ่งจะดังขึ้นในห้องโดยสาร เวลาที่เครื่องบินตั๋วถูกลำที่ท่านกำลังนั่งอยู่นั้น ประสบอุบัติเหตุกลางเวหา และจะต้องพลัีดตกทำลายลง  สัญญาณดังกล่าวนั้นท่านเรียกว่าสัญญาณ วิ-ปะติ  และเครื่องบินลำนั้นในภาษาฮินดีปัจจุบัน ท่านก็เรียกว่ากำลังอยู่ในสภาพ หวี่ ป้ะ ติ้

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

HV7/12 part1 เรียนรู้เกี่ยวกับการตอแหล -- สำนึกในความยติธรรม

Episode 07/12 ตอนที่ 1 เรียนรู้เกี่ยวกับการตอแหล

--สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล
                                                                                                ปรีชา ทิวะหุต ผู้สรุป

---------------------------------------------------

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

การพูดความจริงชนิดที่มีคุณสมบัติเลี่ยงการพูดปด แต่สามารถลวงฆาตกรได้ ก็ยังมีคุณค่าทางศิลธรรมอยู่

----------------------------------------------------

Episode 07 part 1  เรียนรู้เกี่ยวกับการตอแหล

เปิดฉากการบรรยาย ศ.แซนเดล ประกาศว่า

การที่เราจะเข้าใจหลักศิลธรรม(=หลักเรื่อง-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ) ของ เอ็มมานูเอล คานท์ ได้นั้น  เราจะต้องรู้จักที่ตอบคำถามระดับแก่นหรือแกนนำ สาม คำถามด้วยกัน

การบรรยายช่วงแรก part 1 เรียนรู้เกี่ยวกับการตอแหล นี้  ศ.แซนเดล ตั้งคำถามสำคัญสามข้อนั้น ขึ้นในห้องเรียน แล้วมีนักศึกษาฮาร์วาร์ดลุกขึ้นตอบ  ไล่เป็นข้อ ๆ จนกระทั่งจบการบรรยาย เพื่อเป็นตัวช่วย อำนวยความสะดวกแก่บางท่าน ให้การชมวีดีทัศน์ต้นฉบับ แบบชมไปพลางแล้วสะกัดฟัง คำถาม-คำตอบ ทั้งสามได้สะดวกขึ้น กับเพื่อบริการให้อีกบางท่านที่ต้องการฝึกฝนภาษาประกิต ซึ่งกำลังฮิตอยู่ในเวลานี้ ให้สามารถอ่าน เรียนรู้ คำถามคำตอบ จนพอเข้าใจข้อปรัชญาได้--เสียก่อนที่จะชมวีดีทัศน์  เพื่อว่า ท่านจะได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศการเรียนการสอนในวีดีโอได้สนุกขึ้น   

เพราะฉะนั้น บทสรุปภาษาไทยของข้าพเจ้า จึงได้จับคำถามคำตอบมาเรียงให้เห็นกันจะ ๆ 

เนื่องจากปรัชญานั้น--ถ้าเราฟังไปเรื่อย ๆ เราก็จะพาลได้ยินเสียงแว่ว ๆ ไปเรื่อย ๆ คล้ายฟังแหล่  พอตัวเองโดนตัวของตัวเอง ถามตัวเองเข้าให้ว่า แล้วประเด็นคืออะไร  ก็จะอึกอักตอบตัวของตัวเองไม่ถูก ว่าได้ยินอะไรมาบ้าง  เก้าสิบในร้อยมักจะเป็นเช่นนั้น รวมทั้งตัวผู้สรุปภาคภาษาไทยเองด้วย  รูปแบบลายลักษณ์อักษรจึงช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ดี กว่าที่จะฟังรูปแบบเดซิเบลกับชมภาพเคลื่อนไหว อย่างเดียว

ระหว่างการบรรยาย ศ.แซนเดล ได้ฉายสไลด์เป็นลายลักษณ์อักษร ย้ำความเข้าใจกับนักศึกษาเป็นระยะ

          คำถามแรกมีว่า:      เสรีภาพกับหน้าที่ จะไปกันได้อย่างไ?
                                      How can duty and autonomy go together?

          วิสัชนา: การปฏิบัติตามหน้าที่ ก็คือ ปฏิบัติตามหลักศิลธรรมที่เราบังคับเอากับตัวเราเอง  ด้วยเหตุนี้ หน้าที่จึงสอดคล้องกับความมีเสรีภาพ  เพราะว่าที่จริงแล้ว--ฉันก็เชื่อฟังกฎ ซึ่งฉันบัญญัติขึ้นเอง

ผลตามนั้้นก็คือ ปฏิบัติตามหน้าที่  = ปฏิบัติอย่างเสรี

เสรี--ในความหมายที่ว่า เป็นการปฏิบัติตาม อัตโน-อนุมัติ  ดังแถลงไว้แล้วในตอนก่อน และอาจขยายความต่อไปได้ว่า อัตโน-อนุมัติ ก็คือ การปกครองตนเอง-การบริหารตัวเอง--ไม่ได้มีใครมาบังคับขับไส เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย เพราะฉะนั้น การปฏิบัติตามหน้าที่ กับ การปฏิบัติอย่างเสรี จึงเป็นเรื่องเดียวกันแท้ ๆ เลยพี่--ถ้าจะว่ากันตามข้อปรัชญาของ คานท์

          คำถามที่สองมีว่า:   หลักศิลธรรม จะไม่มีมากมายหลายหลัก ละหรือ ?
                                      How many moral laws are there?

          วิสัชนา: การแสวงหาคำตอบให้กับคำถามข้อที่สองนี้  ทำให้เกิดคำถามซ้อนขึ้นมาว่า ก็ในเมื่อแต่ละคนต่างก็ปฏิบัติตนตาม อัตโน-อนุมัติ  ซึ่งมีคุณค่าเชิงศิลธรรมแฝงอยู่  ฉะนี้แล้ว จะมีอะไรมา ประกัน ได้ว่า ความสำนึกเรื่องสิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำของข้าพเจ้า จะตรงกับความสำนึกของท่าน?  หลักศิลธรรมของฉัน จะตรงกับหลัีกศิลธรรมของท่าน ได้อย่างไร? --ในเมื่อเราต่างคนต่างก็ อัตโน-อนุมัติ  

คานท์ วิเคราะห์ประเด็นนี้ว่า  สิ่งที่จะมาประกันว่าคนในสังคมจะสำนึกตรงกัน ก็คือ ความมีเหตุผลของคนเรา   

นักศึกษาหญิงผู้หนึ่งลุกขึ้นมาอภิปรายว่า สิ่งที่สั่งให้เราเลือกที่จะปฏิบัติตน อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเสรี (หรืออย่างอัตโน-อนุมัติ) ไม่มีกิเลสปรุงแต่งจากอายตนะเข้ามาเกี่ยวข้องคอยบังคับ  สิ่งนั้นก็คือการที่เราต่างคนต่างก็คิดเอาเองตาม เหตุผลบริสุทธิ์ --แล้วจึงปฏิบัติ  ซึ่งในที่สุดทุกคนก็จะคิดด้วยเหตุผลบริสุทธิ์เหตุผลเดียวกัน  เพราะเหตุผลบริสุทธิ์มีอยู่เพียงหนึ่งเดียว  ไม่ใช่เหตุุผลใครเหตุผลมัน  จึงเป็นไปได้ว่าคนจำนวนมากจะเลือกกฎศิลธรรมอย่างเดียวกัน  เพราะว่าเหตุผลบริสุทธิ์มันจะ transcend -- คือว่ามันอยู่เหนือ อยู่เลยโพ้น อยู่ในต่างมิติ กับความรู้สึกอันแตกต่างกันของนานามนุษย์  เหตุผลบริสุทธิ์อยู่ต่างมิติกับความรู้และประสบการณ์อันแตกต่างกันของมนุษย์ทั้งหลาย

          คำถามสุดท้าย คือ: ถ้าแม้นว่า เรายอมรับข้อหนึ่งและข้อสองไว้แล้ว  แต่...
                                      กฎสมบูรณ์ จะมีได้ด้วยหรือ หลักศิลธรรม จะเกิดมีขึ้นมาได้                                        อย่างไร
                                     
                                      (กฎสมบูรณ์ ก็คือ หลักศิลธรรมของคานท์ ซึ่งบางท่านเรียก                                               ย่อว่า CI =categorical imperative)   

                                      How is a categorical imperative possible?
                                      How is morality possible?

          วิสัชนา: เอ็มมานูเอล คานท์ บอกว่า จะตอบคำถามข้อสุดท้ายนี้ได้  เราต้องรู้จักแยก จักรวาลสองจักรวาล  ออกจากกัน  ซึ่งจักรวาลทั้งสอง ต่างก็ล้วนเป็นปริมณฑลแห่งการรับรู้โลกของตัวเราเอง ด้วยกันทั้งสองจักรวาล
                                     
ในจักรวาลแรก  เราเป็นตัวรองรับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากการรับรู้ของอายตนะ  ในจักรวาลแรกนี้การกระทำทั้งหลายของเรา อยู่ใต้บังคับของกฎธรรมชาติ  การกระทำของเราเป็นเหตุเป็นผลของความเป็นธรรมดาธรรมชาติ เช่น เราเชื่อฟังความหิวกระหาย  สยบยอมต่อความรักความใคร่  คล้อยตามความทะยานอยากต่าง ๆ  ในจักรวาลแรกนี้ที่จริงเราเป็น ตัวถูกกระทำ  

ในจักรวาลที่สอง  เรามีฐานะ ตัวกระทำ  เป็นประธานผู้กระทำกิริยาต่าง ๆ ตามความคิดของตัวเอง  ชีวิตภาคส่วนนี้ของเรา คานท์ เห็นว่าธำรงอยู่ในจักรวาลแห่งสติปัญญา ความสว่างแจ้ง การรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล  ในจักรวาลที่สองนี้เรามีเสรีภาพ เพราะเราเป็นอิสระปลอดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย  หมายความว่า--กฎธรรมชาติไม่มายุ่มย่าม ก้าวก่าย เข้ามาถือสิทธิบังคับชีวิตภาคส่วนนี้ของเรา  เราเป็นอิสระจากธรรมชาติื  ชีวิตในจักรวาลที่สองนี้ เราจะสามารถเข้าถึงความมีเสรีภาพ มีิอิสระสมบูรณ์  เพราะว่า เราจะประพฤติปฏิบัติตน ก็เฉพาะตามกฎที่เราวางไว้ให้แก่ตัวเราเอง

และ  เฉพาะในจักรวาลที่สองนี้เท่านั้น  ที่เราอาจพูดได้ว่า ฉันมีเสรีภาพ  ฉันเป็นอิสระ ฉันเป็นไทแก่ตัวจริง ๆ  เพราะตามปรัชญาของ คานท์ การเป็นอิสระหลุดพ้นจากใต้บังคับของโลกที่รับรู้ด้วยอายตนะเท่านั้น ที่ทำให้มนุษย์มีเสรี  

          “When we think of ourselves as free, we transfer ourselves into the           intelligible world as members and recognize the autonomy of the will.”      --Immanuel Kant
ข้อความนี้ ปรากฏฉายอยู่ในวีดีโอ ที่เวลาประมาณ 07:23

แต่ถ้าหากว่า เราเป็นเพียงตัวตนทางกายภาพ(คือมนุษย์มีแต่กาย) เป็นก้อนเลือดก้อนเนื้อก้อนหนึ่ง ที่อาจนำมาชั่งตวงวัดได้-เพียงเท่านี้เท่านั้น-ที่ เป็นเรา   ตามที่ปรัชญาประโยชน์นิยมเข้าใจและยึดถือกัน  ความเป็นไปของเลือดเนื้อก้อนนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่ากิเลสตัณหา ความใคร่ความอยากความมักมาก จะชักนำบงการ  ถ้ามนุษยชนคือ เพียงเท่านี้  มนุษย์ทั้งหลายย่อมไร้ขีดความสามารถที่จะเข้าถึง เสรีภาพ  คานท์ว่าอย่างนั้น

ทำไมหรือ?  ก็เพราะว่า หากการณ์เป็นเช่นนั้น การแสดงออกซึ่งเจตนาทั้งหลายทั้งปวงของเรา  ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ใต้บังคับของความอยากและกิเลสตัณหาทั้งหลาย  การที่เราเลือกจะปฏิบัติการใด ๆ ก็ดี  ล้วนแต่เลือกกระทำ เพราะกิเลสตัณหามาชักนำบังคับให้ทำ

แต่ ช้าก่อน-อย่าเพิ่งเข้าใจผิด  สถานการณ์ตรงข้ามกับกิเลสตัณหานำทาง ไม่ได้แปลว่าหมดกิเลสตัณหา  คนละปรัชญากัน-นะพี่  สำหรับ คานท์ การประพฤติปฏิบัติที่ตรงข้ามกับกิเลสบงการ ก็คือปฏิบัติโดยที่มี เหตุผล ชักนำ (ไม่ใช่ ธรรมมะ  หรือ ศรัทธาในศาสนา  มาชักนำ  หรือ พระเจ้า หรือ องค์อัลเลาะห์  มาบงการ  เว้นเสียแต่ว่า ธรรมมะ ศรัทธาศาสนา หรือพระเจ้า หรือองค์อัลเลาะห์  แปลว่า เหตุผล)

เมื่อคิดตาม คานท์ มาถึงขั้นนี้  ปมที่อาจเป็นประเด็นอยู่ก็คือ การมนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกพร้อม ๆ กันทั้งสองจักรวาล  กลายเป็นว่าเราเป็นพวกทวิภพ เราอยู่ทั้งในจักรวาลที่หนึ่ง--ซึ่งมีกิเลสตัณหาชักนำ  ในขณะเวลาเดียวกันนั้น เราก็มีชีวิตอยู่ในจักรวาลที่สอง--ที่ปกครองด้วยเหตุผล

เพราะฉะนั้น การต้องมีชีวิตทวิภาคเช่นนี้ เราจึงมักจะพบกับช่องว่าง--อันถ่างอยู่--ระหว่างสิ่งที่เราได้กระทำลงไปแล้ว  กับสิ่งที่เรา น่าที่จะควรได้กระทำ  เสมอ

ซึ่ง คานท์ สรุปพื้นฐานปรัชญาศิลธรรมของเขาว่า ศิลธรรมไม่อาจรับรู้ได้ด้วยอายตนะ(not empirical) ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นในโลกและรับรู้ด้วยอายตนะ รวมทั้งการค้นพบหรือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์  ไม่สามารถนำมาตัดสินปัญหาศิลธรรมได้  ศิลธรรมอยู่นอกโลก-หมายถึงโพ้นจากโลกที่เรารับรู้ได้ด้วยอายตนะ  ด้วยเหตุนี้ วิทยาศาสตร์หรือศาสตร์ทั้งหลาย จึงไม่อาจนำสัจธรรมมาตีแผ่แสดง ให้แจ้งแก่เราได้้เลย     

แต่ เดี๋ยวก่อนครับ-ท่านผู้อ่านบทสรุปภาษาไทยของข้าพเจ้า  อายตนะของฝรั่งกับของไทยต่างกัน  ฝรั่งมีห้าอายตนะ ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย(เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสแต่ อายตนะไทย  มี ใจ  เติมเข้า่มาเป็นอายตนะที่หก(ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ) 

ดังนั้น อายตนะที่ คานท์ พูดถึงจึงหมายถึง อายตนะแบบฝรั่ง—และผู้เขียนสรุปภาษาไทยเห็นว่า ก็เพราะว่าไม่มีใครชี้ประเด็นความแตกต่างตรงนี้ จึงอาจทำให้ผู้ศึกษา คานท์ บางท่านในประเทศไทย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด งงกับคานท์  พากันเข้ารกเข้าพงไปกันใหญ่เดี๋ยวก็เสือกัดตายหมดหรอก  ศาสนาอิสลามในประเทศไทยหรืออาจรวมถึงในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดด้วย-ผู้เขียนขออนุญาตตีกรอบตัวเอง-ครูมุสลิมของผู้เขียนท่านบอกว่า จิตใจคนก็สำคัญ เวลาไม่สบายนอนป่วยอยู่ มุสลิมก็สามารถใช้จิตใจนึกทำละหมาดอยู่ในใจก็ได้ ท่านไม่ว่า

เอ็มมานูเอล คานต์  วางทฤษฎีศิลธรรมไว้เข้มงวด ปิดโอกาสที่จะให้มีข้อยกเว้น โดยคานต์ เห็นว่าการกล่าวเท็จ แม้จะเป็นเพียงการพูดปดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ถือว่าผิดกฎศิลธรรม(หรือผิด CI=the categorical imperative)

เมื่อบรรยายมาถึงใจความสำคัญข้อนี้  ศ.แซนเดล ก็ทดสอบนักศึกษาฮาร์วาร์ดของท่าน ด้วยข้อสอบที่ยากที่สุด ซึ่งลอกมาจาก คานท์ โดยตรง

          สมมติว่า ถ้าเพื่อนเรา ซ่อนอยู่ในบ้านของเรา แล้วอาชญากรผู้หมายหัวจะฆ่าเพื่อน มาเคาะ          ประตูบ้าน ถามเราว่า เพื่อนเราคนนั้นอยู่ในบ้านหรือไม่ สถานการณ์เช่นนี้ ถ้า    เราพูดปดปฏิเสธกับฆาตกร ว่าเพื่อนไม่ได้อยู่ในบ้าน เราจะผิดศิลธรรมหรือไม่

ศ.แซนเดล อ้างความเห็นนักปรัชญาฝรั่งเศส เบนจาแม็ง ก็งสตังต์ ว่าการพูดความจริงในกรณีเช่นนี้นั้น--บัดซบที่สุด ผิดชัด ๆ จะถูกไปไม่ได้เลย  เพราะว่า อาชญากร/ฆาตกรไม่ใช่ผู้ที่สมควรจะได้รับความจริงจากเรา

แต่ว่า กรณีตามอุทาหรณ์ การกล่าวเท็จแม้เพื่อป้องกันชีวิตเพื่อน ก็ยังผิดกฎศิลธรรมอันเคร่งครัดของคานต์  แต่...ถ้าเรายกข้อความที่เป็นความจริงขึ้นมาพูด ทว่าเป็นความจริงชนิดที่มีคุณสมบัติลวงฆาตกรได้  การกระทำดังกล่าวของเรา จะยังมีคุณค่าเชิงศิลธรรม(=ถูก/ผิด ศิลธรรม)อย่างไร หรือไม่

ศ.แซนเดล กำลังแยกให้นักศึกษาเห็นความแตกต่างระหว่าง การตอแหลตรง ๆ  กับ การพูดความจริงที่ชวนให้เข้าใจผิด (an outright lie กับ a misleading truth)  

ลงท้ายการอภิปราย ด้วยการฉายวีดีโอคลิป ให้นักศึกษาชมตัวอย่างการกล่าวถ้อยคำ เลี่ยงการพูดปด  อันเป็นกรณีโด่งดังเมื่อไม่นานมานี้ คือ กรณีที่ประธานาธิบดี คลินตัน พูดถึงสัมพันธ์สวาท กับนางสาวโมนิกา ลิววินสกี         

ในที่สุด ศ.แซนเดล ก็วิสัชนาว่า: การพูดความจริงชนิดที่มีคุณสมบัติเลี่ยงการพูดปด แต่สามารถลวงฆาตกรได้ ก็ยังมีคุณค่าทางศิลธรรมอยู่

ทั้งนี้เพราะว่า การพูดความจริงชนิดนี้ อย่างน้อยที่สุด ก็ยังให้ความเคารพต่อ หน้าที่ ซึ่งหมายความว่า ยังเคารพต่อกฎศิลธรรม(-โปรดกลับไปอ่าน คำถามแรกที่ว่า: เสรีภาพกับหน้าที่ จะเข้ากันได้อย่างไร)  และการพูดความจริงที่ชวนให้เข้าใจผิด ยังต่างกับการตอแหลตรง ๆ ซึ่งไม่แสดงความเคารพต่อหลักการอะไรเลย

---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 07 part 1  เรียนรู้เกี่ยวกับการตอแหล   
                                                                                 
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 07 เชิญตามลิงก์ครับ
http://www.youtube.com/watch?v=KqzW0eHzDSQ
(สนใจ บทสรุปภาษาไทย โปรดติดตามอ่าน ในนิตยสาร MBA ตั้งแต่ฉบับ สิงหาคม 2557 เป็นต้นมา)

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เจตนาวิบัติ-ฆาตกรรมกับบทกวี ตอนสอง


          สรุปข้อคิดจากตอนที่หนึ่ง -- นักวิจารณ์วรรณศิลป์ นายอานันทะ กุมาระสวามี เห็นว่า งานศิลป์ก็เหมือนกับ การฆาตกรรม  กล่าวคือ เจตนาของศิลปินเจ้าของงานเป็นข้อมูลขั้นมูลฐาน ที่จะบ่งชี้ว่า บทกวีบทนั้น หรืองานศิลป์ชิ้นนั้น จะมีคุณค่า มีความหมาย และสัมฤทธิ์ผลอย่างมีศิลปะหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

          ผู้พิจารณา-วิเคราะห์-วิจารณ์งานศิลป์ ก็เหมือนกับผู้พิพากษาที่จะต้องรู้เจตนาของฆาตกร เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินคดีฆาตกรรม  หรือในกรณีงานศิลป์-ก็เพื่อวิเคราะห์วิจารณ์ตัดสินงานศิลป์