สรุปข้อคิดจากตอนที่หนึ่ง -- นักวิจารณ์วรรณศิลป์ นายอานันทะ กุมาระสวามี เห็นว่า งานศิลป์ก็เหมือนกับ การฆาตกรรม กล่าวคือ เจตนาของศิลปินเจ้าของงานเป็นข้อมูลขั้นมูลฐาน ที่จะบ่งชี้ว่า บทกวีบทนั้น หรืองานศิลป์ชิ้นนั้น จะมีคุณค่า มีความหมาย และสัมฤทธิ์ผลอย่างมีศิลปะหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร
ผู้พิจารณา-วิเคราะห์-วิจารณ์งานศิลป์ ก็เหมือนกับผู้พิพากษาที่จะต้องรู้เจตนาของฆาตกร เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินคดีฆาตกรรม หรือในกรณีงานศิลป์-ก็เพื่อวิเคราะห์วิจารณ์ตัดสินงานศิลป์
ตัวอย่างเช่น การที่เราจะประเมินคุณค่าของภาพเขียน “โมนาลิซา” เราก็ต้องรู้เจตนาของศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน เราจะประเมินวิเคราะห์วิจารณ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าเราไม่ทราบเจตนาในการสร้างสรรค์อนุสาวรีย์นั้น ไม่รู้ใจศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่นว่าทำไมอนุสาวรีย์จึงมีสี่ปีก จะหมายถึง ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์-รัฐธรรมนูญ หรือว่าจะหมายถึง เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ-และการเลือกตั้ง(เป็นปีกที่สี่) หรือว่าหมายถึง อำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ-และอำนาจเงินตรา หรือว่าอะไรกันแน่
การยึดเจตนาของเจ้าของงานเป็นหลัก เพื่อวิเคราะห์วิจารณ์และพิพากษางานศิลป์ ไม่ใช่ความคิดของ อานันทะ กุมาระสวามี เพียงผู้เดียว -- แต่การยกตัวอย่างเทียบเคียงกับฆาตกรรม เป็นความคิดของท่าน
สำหรับท่านผู้อ่านที่นึกว่า อานันทะ กุมาระสวามี เป็นแขกตี้-หรือแขกขี้ ๆ หรือทอดกล้วยแขกขาย หรือขายโรตี--เข้าใจผิดถนัด ท่านผู้นี้เป็นเสาหลักเสาหนึ่งในวงการวิเคราะห์วิจารณ์งานศิลป์ ทั้งตะวันตกและตะวันออก แต่ทั้งนี้โดยที่ตะวันออกจะหมายถึงแค่ชมพูทวีป ไม่ได้หมายถึงปลายบูรพา จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี ส่วนนามสกุล “กุมาระสวามี” ก็ไม่ได้แปลว่า “มีผัวเด็ก”
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ท่านปฏิเสธ ดื้อแพ่ง ไม่ยอมโดนเกณท์เข้าทัพอังกฤษเพื่อไปรบในสงคราม ท่านถือว่า ตราบใดที่อินเดียยังไม่มีอิสรภาพ ท่านจะไม่ร่วมรบใต้ธงอังกฤษ ผลก็คือ “เจ้านายอังกฤษ หรือ British Raj” เนรเทศท่านให้ไปเสียให้พ้นจากจักรวรรดิอังกฤษ หรือ the British Empire
คิดดูแล้วกันเวลานั้น จักรวรรดิอังกฤษตะวันไม่ตกดิน ครอบคลุมครึ่งค่อนโลก ใครโดนเนรเทศออกนอกจักรวรรดิอังกฤษ ก็เกือบจะตกโลกไปเลย โชคยังดีที่ อานันทะ กุมาระสวามี ได้รับการเอื้อเฟื้อจากสหรัฐอเมริกา อนุุญาตให้เข้าไปอยู่ในสหรัฐฯ และท่านก็ได้ขนทรัพย์สินมีค่า ได้แก่ ศิลปวัตถุของชมพูทวีปที่ท่านสะสมไว้ ไปอยู่สหรัฐฯด้วยกันกับท่าน ของเก่าจำนวนนี้ ได้กลายเป็นรากฐานการสะสมศิลปะอันมีค่าของอินเดีย ในสหรัฐฯในกาลต่อมา
บุตรของท่านชื่อ รามา กุมาระสวามี เป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจ อยู่ในนครนิวยอร์ค ปัจจุบันนี้แก่งั่ก หรืออาจตายแล้วก็ไม่รู้
แนวคิดที่ยึดเจตนาเป็นตัวตั้ง ถูกแย้ง
นักวิเคราะห์วิจารณ์งานศิลป์ท่านอื่น ๆ ในตะวันตกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยทั่วไปต่างก็มีความเห็นในแนวยึดเจตนาของผู้สร้างสรรค์งานเป็นหลัก แต่--ครั้นถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แนวคิดแบบนี้ถูกโต้แ้ย้ง
เพราะว่า ถ้างานศิลป์มีลักษณะละม้าย ฆาตกรรม แล้วใครเล่า จะอาจล่วงรู้ได้บ้างว่า จริง ๆ แล้ว จอห์น สไตเบค เขียนนวนิยาย “เดอะ เกรพ ออฟ วราธ” ด้วยเจตนาอะไรแน่? หรือผู้ที่วาดรูปโมนาลิซา มีเจตนาอะไรจึงได้วาดออกมาอย่างนั้น?
“เจตนาวิบัติ” -- คำ ๆ นี้จึงถูกประดิษฐ์คิดขึ้นมา ใช้เป็นหัวหอกในการต่อต้านความคิดความเชื่อ ที่ยึดเจตนาของศิลปินเป็นใหญ่ ในการพิพากษาบทกวี วรรณศิลป์ หรืองานศิลป์ใด ๆ ก็ดี
คำว่า เจตนาวิบัติ ไม่ใช่ศัพท์อันเป็นหลักคิดในแวดวงปรัชญาและวงการกฎหมาย สำหรับวิชาปรัชญาโดยเฉพาะภาคส่วนที่ว่าด้วยตรรกะวิทยา มีแต่การศึกษาเรื่อง เหตุผลวิบัติ แต่ไม่ได้กล่าวถึง เจตนาวิบัติ
สำหรับกฎหมายนั้น ในประมวลกฎหมายแพ่งฯ ส่วนที่กล่าวถึงเจตนาแบบเน้น ๆ จะได้แก่ ลักษณะ ๔ หมวด ๒ การแสดงเจตนา เราอาจสรุปพูดเป็นภาษาชาวบ้าน-ไม่ใช่เขียนตรง ๆ ตามตัวอักษรของภาษากฎหมาย-เราอาจพูดเป็นภาษาปาก ได้ว่า มีการกล่าวถึง “เจตนาซ่อนเร้น”(มาตรา 154) “เจตนาลวง”(มาตรา 155 วรรค 1) “เจตนาอำพราง”(มาตรา 155 วรรค 2) “เจตนาโดยสำคัญผิด”(มาตรา 156 และ158) “เจตนาเพราะโดนกลฉ้อฉล”(มาตรา 159) “เจตนาเพราะถูกข่มขู่”(มาตรา 164) และอาจจะมีกว่านี้อีก ท่านผู้อ่านต้องถามจากท่านผู้รู้ที่เป็นนักกฎหมาย
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา ส่วนที่กล่าวถึงเจตนาแบบเน้น ๆ ได้แก่ ภาค ๑ ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป หมวด ๔ ความรับผิดในทางอาญา
เริ่มจากมาตรา 59 วรรค 1 ซึ่งเป็นหัวใจในเรื่องของความรับผิดทางอาญา ที่ได้เน้นย้ำเรื่องเจตนาไว้แต่ต้นว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระำทำโดยเจตนา...” ซึ่งครูสอนกฎหมายที่รับผิดชอบ จะเพียรเน้นย้ำกับนักเรียนกฎหมายถึงประเด็นนี้ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพราะกลัวนักศึกษาจะลืม--ไม่ใช่เพราะว่า ครูแก่แล้วเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซะเมื่อไหร่
แล้วต่อจากนั้น ยังใช้คำว่าเจตนาอีกในตอนท้ายวรรค ว่า “...หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัด ให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา”
ซึ่งก็ส่งลูกต่อไปยัง ลักษณะ ๒ บทบัญญัติที่ใช้แ่ก่ความผิดลหุโทษ มาตรา 104 บัญญัติว่า “การกระทำความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายนี้ แม้กระทำโดยไม่มีเจตนาก็เป็นความผิด...” เรื่องของเจตนาในกฎหมายอาญาอาจจะมีกว่านี้อีก ท่านผู้อ่านต้องถามจากท่านผู้รู้กฎหมาย
การบินสำรวจเรื่องราวของคำว่า “เจตนา” เท่าที่ยกมานั้น ทั้งในการศึกษาปรัชญาที่มีแต่เรื่องเหตุผลวิบัติ และในประมวลกฎหมายที่กล่าวถึงเจตนาลักษณะต่าง ๆ แต่ไม่ได้กล่าวถึง “เจตนาวิบัติ” เราพากันไปสำรวจก็เพื่อยืนยันกับท่านผู้อ่าน ว่า เจตนาวิบัติ ของเรา เป็นเรื่องที่พิเศษออกไป อยู่นอกวงปรัชญาหรือวงการกฎหมาย อันเป็นแวดวงที่ท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะคุ้นเคยอยู่แล้ว
เจตนาวิบัติในบทกวี กับ ในการฆาตกรรม
ถ้าเราจะยกเทียบ บทกวี เข้ากับ ฆาตกรรม ตามครรลองของ อานันทะ กุมาระสวามี ยกตัวอย่างเช่น กรณีฆาตกรรมที่กำลังเป็นคดีดัง(กรณีฆ่าคุณเอกยุทธ อัญชันบุตร) แนวคิดอันกำเนิดขึ้นในแวดวงศิลปะเรื่อง เจตนาวิบัติ จะมาประยุกต์เสนอแง่มุมอีกมุขหนึ่ง ในการพิเคราะห์พิจารณาคดีฆาตกรรมรายนี้ ได้หรือไม่-อย่างไร โปรดลองอ่าน-แล้วค่อย ๆ คิดกันเอาเอง
· การที่ นักเลงกลอน “เจตนาจะให้ ฮ นกฮูก หมายถึง ข ใข่ ในบทกวี ห หีบ ”
· ไม่ได้เป็นเหตุ ที่ก่อให้เกิดผลว่า “ฮ นกฮูก หมายถึง ข ใข่ ในบทกวี ห หีบ ”
· เนื่องจากเจตนาของนักเลงกลอนโดยเนื้อแท้ ไม่ใช่พยานหลักฐานโดยตรง-direct evidence-ที่จะยืนยันได้ว่า เจตนา ฮ นกฮูก ก่อให้เกิดผล ข ใข่ อยู่ในบทกวี ห หีบ
ศรีปราชญ์ มีเจตนาอะไรในการเขียนคำโคลงบทนี้? และเจตนานั้นได้รับการถ่ายทอดออกมาครบถ้วนสมบูรณ์ในคำโคลงบทนี้ แล้วละหรือ? ใครจะอาสาตอบคำถามนี้บ้าง-ยกมือขึ้น...ปรากฏว่า ผู้อาสามีมากมาย รวมทั้งท่านผู้อ่านประมาณหนึ่งแสนราย และผู้เขียนบทความนี้ด้วยอีกคนหนึ่ง เราต่างก็อยู่ในขบวนการอาสาตอบแทนศรีปราชญ์ กันได้ทุกคน
เช่น เราบางคนอาจตอบว่า ศรีปราชญ์ได้รับความอยุติธรรม จากพระยานครฯ ด้วยความคับแค้นใจจึงใช้เท้าเขียนโคลงบทนี้ลงกับพื้นทราย อ้างพระแม่ธรณีเป็นพยาน อ้างครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง อ้างกฎศิลธรรมเรื่องความถูก-ผิดเป็นที่ตั้ง แล้วสาปแช่งพระยานครฯให้ตายตกไปตามกัน ด้วยมีดดาบเล่มเดียวกันนั้น ซึ่งในที่สุดคำสาปแช่งของศรีปราชญ์-ก็เป็นจริง เฮ้...
แต่ ขอถามหน่อยว่า เราจำเป็นจะต้องรู้เจตนาของศรีปราชญ์ด้วยหรือ ในอันที่เราจะพิจารณา พิพากษา หรือชื่นชมกับบทกวีบทนี้? สำหรับผู้ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าศรีปราชญ์เป็นใคร เขาจะชื่มชมและรู้สึก “อภิเชษฐ์”-appreciate-โคลงบทนี้ได้หรือไม่?
เพราะฉะนั้น ท่านก็สรุปว่า เจตนาของนักเลงกลอน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความหมายหรือคุณค่าของบทกวี
หรือสรุปเป็นหลักทั่วไปได้ว่า เจตนาของศิลปิน ไม่เกี่ยวกับความหมายหรือคุณค่าของงานศิลปะที่สร้างสำเร็จแล้ว เพราะเจตนา หรือความตั้งใจดั้งเดิม โดยตัวของมันเองไม่ใช่พยานโดยตรง(Direct Evidence) ที่เราจะถือเป็นหลักฐานได้ว่า “เจตนานั้้น” à คือเหตุที่ก่อให้เกิด à “ผลเช่นนี้”
และเมื่อยกกรณีการฆาตกรรมคุณเอกยุทธขึ้นเทียบเคียง ก็อาจเทียบได้ว่า เจตนาของฆาตกรที่มุ่งร้ายหมายขวัญคุณเอกยุทธนั้น ไม่เกี่ยวกับคุณค่า(value)หรือประโยชน์(utility) อันได้จากการฆาตกรรม เพราะเจตนาหรือความตั้งใจดั้งเดิม โดยตัวของมันเอง ไม่ใช่พยานโดยตรงที่เราจะถือเป็นหลักฐานได้ว่า “เจตนานั้น” คือเหตุที่ก่อให้เกิด “ผลงานการฆ่าเช่นนี้”
การที่ใครก็ดี จะ“อภิเชษฐ์”การฆาตกรรมรายนี้ได้ ก็ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องรู้เจตนาของฆาตกร เพราะว่า เจตนาของฆาตกรไม่ได้เป็นพยานหลักฐานโดยตรง(Direct Evidence)ของการฆาตกรรม
หมายเหตุ: กฎหมายลักษณะพยาน แบ่งพยานออก ตามลักษณะ“การรู้เห็น”
1) พยานโดยตรง(Direct Evidence)
2) พยานแวดล้อม(Circumstantial Evidence)
-ตอนต่อไปจะวิเคราะห์ว่า ”แล้วเจตนา--แม่งมันวิบัติได้อย่างไร?” รออ่าน-นะพี่
ยิ่งทีจะยิ่งลึก
เดฟ นาพญา
โพสต์เมื่อ 5 กรกฎาคม 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น