open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิจารณ์ มุกหอม วงศ์เทศ "มุสาแต่โดยเดา" ?

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555
วิจารณ์ มุกหอม วงศ์เทศ "มุสาแต่โดยเดา" ?

CRITICIZING the argument of the daughter of Thailand’s National Literary Award winner  
วิจารณ์บทความเรื่อง ความเป็นไทย”: อัตลักษณ์แห่งความดักดาน 
ของ คุณมุกหอม วงศ์เทศ
------------------------------------------------------------------


แผนการวิจารณ์
        ตอนหนึ่ง.    วิเคราะห์ศัพท์
        ตอนสอง.    Theme searching – ค้นหาแนวของบทความ
        ตอนสาม.    จิตวิพากษ์แบบตะวันตก ของคุณมุกหอม วงศ์เทศ
        ตอนสี่.        สไตล์การเขียน
        ตอนห้า.      สรุป

คำวิงวอนของผู้วิจารณ์  โปรดอ่านบทความของท่านผู้เขียน ให้จบเสียก่อนที่จะอ่านคำวิจารณ์-ขอบคุณครับ

ที่มาของบทความขอบคุณ เว็บไซด์ประชาไท

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------


ตอนหนึ่ง.   วิเคราะห์ศัพท์ 

ชื่อบทความ ความเป็นไทย”: อัตลักษณ์แห่งความดักดาน ของ คุณมุกหอม    วงศ์เทศ ประกอบด้วยคำหลักสามคำ ที่เปิดประเด็นใหญ่สามประเด็น คือ ความเป็นไทย อัตลักษณ์ และดักดาน  สำหรับสองคำแรกผู้วิจารณ์จะไม่ขอแปลหรือตีความ  เพราะเห็นว่าทั้งสองคำเป็นคำตรงไปตรงมา ใช้เรียกสิ่งหนึ่งอย่างตรงตัว

สำหรับคำที่สาม คือ ความดักดาน นั้น ไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างสองคำแรก ไม่ได้หมายถึงนามธรรมหรือวัตถุธรรมใดๆตรงตัว เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ความเป็นไทย เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ มดลูก หรือลูกอัณฑะ เป็นต้น 

แต่ ดักดาน หมายถึงความเป็นอยู่ อาการ หรือสภาวะสักอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเชิงซ้อนหลายมิติ  คงต้องวิเคราะห์ศัพท์กันสักเล็กน้อยตามความจำเป็นของการเขียน ทั้งนี้เพื่อสอบทาน ทวนสัญญาณกันว่าจะเข้าใจตรงกันหรือไม่อย่างไร  โดยจะขอวิเคราะห์เท่าที่จำเป็น จะไม่เยิ่นเย้อ ฟูมฟาย มากมาย

โดยสังเขปจากพจนานุกรมฯ  สกัดความหมายของคำว่า ดักดาน  ได้ว่า
       
        1) คงสภาพ
        2) ยาวนาน
        3) ไม่เจริญก้าวหน้า

มิติทั้งสามนี้แสดงออกอยู่ในตัวอย่างการใช้คำ ๆ นี้ ตามพจนานุกรมที่ว่า "โง่ดักดาน" ซึ่งผู้วิจารณ์เห็นว่าย่อมหมายถึง คงสภาพโง่อยู่ได้อย่างยาวนานไม่เจริญก้าวหน้า  เพราะฉะนั้น ความหมายของชื่อบทความของคุณมุกหอม วงศ์เทศ ก็จะได้แก่ ความเป็นไทยเป็นอัตลักษณ์ที่ คงสภาพ ยาวนาน ไม่เจริญก้าวหน้า

แยกมิติออกวิเคราะห์ที่ละมิติ ดังต่อไปนี้

        1) คงสภาพ

ประมาณบรรทัดที่ 10 คุณมุกหอม วงศ์เทศ เขียนว่า  “ในเมืองไทยสิ่งที่ควรจะรักษา.....คือมรดกวัฒนธรรมทางศิลปะ/วัตถุ(บางอย่าง.....) ”   

ประมาณบรรทัดที่ 15 เขียนว่า “เราควรอนุรักษ์โขนและดนตรีมโหรีปี่พาทย์ 
          แต่ลดละเลิก.....”   


ถัดไปไม่ไกลจากนั้น เขียนว่า “เราควรส่งเสริมการศึกษาภาษาไทย วรรณคดีไทย.....”  

สรุปแล้ว มรดกวัฒนธรรมบางอย่าง ศิลปะการแสดง ดนตรี ภาษาและวรรณคดีไทย  คุณมุกหอม วงศ์เทศ เห็นว่าบางอย่าง ไม่ใช่ทุกอย่าง ควรแก่การอนุรักษ์หรือรักษาไว้  แต่ไม่ได้แสดงเหตุผลว่า จะรักษาไว้ทำไม?

ผู้วิจารณ์เห็นว่า การอนุรักษ์โนราห์เอาไว้นั้นจำเป็นต้อง คงสภาพ ท่ารำ  ถ้าไม่คงสภาพท่ารำโนราห์ก็จะไม่เป็นโนราห์ เช่น การรำมโนราห์ของกรมศิลปากร กับ ระบำบัลเลต์เรื่อง พระสุธน-มโนราห์ เป็นต้น  ซึ่งแฟนโนราห์ดูอย่างไร การแสดงทั้งสองอย่างนั้นก็ไม่เป็นโนราห์   

การคงสภาพท่ารำ จึงเป็น raison d’être ของการรำโนราห์

เพราะฉะนั้น เราจะไปเลิกการ คงสภาพ ท่ารำคงจะไม่ได้--ถ้าเรายังอยากชมโนราห์  เนื่องจากท่าเต้นแอโรบิคก็ดี หรือท่าเต้นบัลเลต์ก็ดี ต่างก็ไม่ใช่โนราห์  หรือแม้กระทั่ง ภารตะนาฏยัม ก็ไม่ใช่โนราห์  แม้จะมีส่วนคล้ายโนราห์มากกว่าการเต้นแอโรบิค และเต้นบัลเลต์ ก็ตาม

ในมิติแรกนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่า คุณมุกหอม วงศ์เทศ ได้แสดงความเห็นชอบกับการคงสภาพความเป็นไทยบางประการ  อีกนัยหนึ่ง คุณมุกหอม วงศ์เทศ เห็นว่ามิติแห่งความดักดานมิตินี้  คุณมุกหอม วงศ์เทศ อนุญาตให้ดักดานได้อยู่บ้าง

        2) ยาวนาน 

ประมาณบรรทัดที่ 60 เศษ คุณมุกหอม วงศ์เทศ เขียนว่า   “.....”ความเป็นไทยไม่ใช่สิ่งติดตัวมาตามธรรมชาติที่ฝังอยู่ในหน่วยพันธุกรรม.....”   

และถัดมา “.....แต่ถูกสร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมานี้รวมทั้งถูกให้ความหมายปรับเปลี่ยนบิดผันไปตามการเมืองของแต่ละยุคสมัย.....

ผู้วิจารณ์เห็นว่า คุณมุกหอม วงศ์เทศ ได้แสดงเหตุผลชัดเจนว่า ความเป็นไทยนั้นอันที่จริงไม่ได้ยาวนาน เพราะว่าความเป็นไทยไม่ได้ฝังอยู่ในหน่วยพันธุกรรม  แต่ถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง  อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย

การอ้างเหตุผลของคุณมุกหอม วงศ์เทศ มุ่งไปยังประเด็นที่ว่า ความเป็นไทยไม่ได้ยาวนาน  เพราะฉะนั้น พิเคราะห์ตามมิตินี้ ผู้วิจารณ์ในฐานะผู้อ่านก็จะเข้าใจว่า ความเป็นไทยก็ไม่น่าที่จะดักดานแต่ประการใด เพราะนอกจากจะเกิดขึ้นมาไม่นานแล้ว ยังปรับเปลี่ยนเรื่อย ๆ

        3) ไม่เจริญก้าวหน้า

มิติ ไม่เจริญก้าวหน้าของความดักดานนั้น คุณมุกหอม วงศ์เทศ สาธยายไว้มาก และมีการแบ่งประเด็นย่อยซอยลงอีก  โดยประมาณบรรทัดที่ 65 แจงไว้ว่า ความเป็นไทยมีอยู่สามนัยยะใหญ่ๆ นัยยะที่หนึ่งคือ “.....อย่างแรกคือความเป็นไทยในฐานะโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมที่เป็นขนบทั่วไปของสังคม....” 

ประมาณบรรทัดที่ 70 ก็ประกาศนัยยะที่สองว่า “.....อย่างที่สองคือความเป็นไทยที่เป็นอุดมการณ์ที่ชนชั้นนำและฝ่ายจารีตนิยมไทยพยายามนิยาม หว่านล้อม และบังคับให้คนในสังคมเชื่อและปฏิบัติตาม.....” 

ส่วนนัยยะที่สามของคุณมุกหอม วงศ์เทศ นั้น  ผู้วิจารณ์ได้เพียรค้นหา แต่ก็หาไม่พบ ที่คิดว่าพบก็ไม่แน่ใจว่าจะใช่  จึงจะไม่ขอยกขึ้นมาวิจารณ์  ท่านผู้อ่านท่านใดพบนัยยะที่สาม ก็ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จะขอบพระคุณมาก จะเขียนไว้ในคอมเมนต์ใต้บทวิจารณ์นี้ก็ได้ หรือจะส่งมาทางอีเมลก็ได้อีก 

เท่าที่คุณมุกหอม วงศ์เทศ ได้อภิปรายไว้จนถึงประมาณบรรทัดที่ 80 เศษ ล้วนชี้ไปในแนวที่ว่า ความเป็นไทยได้เจริญก้าวหน้ามาในแนวต่างๆโดยตลอด  ประมาณบรรทัดที่ 90 คุณมุกหอม วงศ์เทศ ระบุถึงลักษณะพิเศษที่ผู้วิจารณ์เห็นว่า คุณมุกหอม วงศ์เทศ ได้ช่วยตอกย้ำความก้าวหน้าของความเป็นไทย โดยคุณมุกหอม วงศ์เทศ เขียนว่า 

“.....แม้แต่การใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยในสื่อทันสมัยก็เป็นอะไรที่ ไทยๆอีก  เพราะต้องเขียนแบบ “Thank you kha”  “See you tomorrow krub”  No problem na ja” …..Etc. etc.  

ซึ่งก็เท่ากับว่า คุณมุกหอม วงศ์เทศ กำลังรับรองความก้าวหน้าของความเป็นไทยว่า ในปัจจุบันนี้พัฒนาคู่ไปกับโลกโลกาภิวัตน์ของสื่อทันสมัย  ตรงนี้เข้าใจว่า คงจะหมายถึงสื่อดิจิทัลและอินเตอร์เนต 

อีกตัวอย่างหนึ่ง ประมาณบรรทัดที่ 100 
“.....และเมื่อสืบสาวไล่เลาะทีละเปลาะไปจนถึงสุดปลายโซ่  เราก็จะพบว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้มีหลักการอันน่าเคารพอะไรทั้งสิ้น  ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างพิกลพิการ อย่างสิ้นคิด อย่างตลบตะแลง หรืออย่างโหดเหี้ยมอำมหิต.....

ตามข้อความนี้ ผู้วิจารณ์ก็เห็นว่าคุณมุกหอม วงศ์เทศ กำลังรับรองความเจริญก้าวหน้าเป็นขั้นเป็นตอน เป็นข้อๆหรือเปลาะๆ ในวิวัฒนาการตามกาลเวลาของความเป็นไทย 
ตัวอย่างต่อไป อยู่ที่ประมาณบันทัดที่ 105  

“.....ประวัติศาสตร์ของการเมืองการสร้าง ความเป็นไทยจึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งการสร้าง มายาคติเกี่ยวกับชาติไทย คนไทย สังคมไทย วัฒนธรรมไทย ศิลธรรมไทย ไม่ว่าจะการนิยาม อุปนิสัยใจคอของคนไทยโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่เป็นที่รับรู้แพร่หลายว่าประกอบด้วย.....” 

ตัวอย่างที่ต่อเนื่องกับตัวอย่างด้านบน อยู่ที่ประมาณบรรทัด 110 คุณมุกหอม วงศ์เทศ ก็ไล่ติตั้งแต่สมัยสุโขทัยลงมา  

“.....หรือการปรับเปลี่ยนอุปนิสัยประจำชาติของคนไทยอันมี เชื้อแถวมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยหลวงวิจิตรวาทการ ว่าคนไทยรักความก้าวหน้า มุ่งมั่น มานะอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร.....

คุณมุกหอม วงศ์เทศ ยังไม่ยอมหยุดเล่าถึงความก้าวหน้าของสังคมไทยแต่เพียงนั้น  ยังกล่าวต่อมาอีกว่า 

“.....หรือการวาดภาพอันงดงามแบบนิทานกล่อมเด็กก่อนนอนให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพุทธศาสนาค้ำจุน....”  ฯลฯ

พยานหลักฐานที่คุณมุกหอม วงศ์เทศ ยกขึ้นมาสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของความเป็นไทยอย่างชัดเจน และเป็นประเด็นแปลกใหม่เพิ่มขึ้น ได้แก่ข้อความประมาณบรรทัดที่ 120-125  ส่วนหนึ่งเขียนว่า  

.....สถาบันสมัยใหม่ที่เลียนแบบตะวันตกทุกชนิด ไม่ว่าจะสถาบันตุลาการ, การศึกษา, ระบบราชการ, กองทัพ, สื่อมวลชน และอาจจะแม้แต่วิทยาศาสตร์.....

       
ผู้วิจารณ์เข้าใจว่า สำหรับมิติ ไม่ก้าวหน้า”  นั้น ตัวอย่างและการอ้างพยานหลักฐาน หรืออ้างเหตุผล หรืออากิวเมนต์ ทั้งหมดของคุณมุกหอม วงศ์เทศ ล้วนบ่งบอกถึง dynamism หรือการเคลื่อนไหวปรับตัวไม่หยุดหย่อนของ ความเป็นไทย”  ซึ่งบางกรณี ปรับตัวมากจนขนาดจะคล้ายกับ ความเป็นจีน เช่น ความเป็นไทยของหลวงวิจิตรวาทการ ที่คุณมุกหอม วงศ์เทศ ได้ยกขึ้นอ้าง เป็นต้น  และที่เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก ได้แก่ การเลียนแบบตะวันตกแบบสุด ๆ  ซึ่งก็เป็นการพัฒนาความเป็นไทย เจริญก้าวหน้าทันสมัย ไปอีกขั้นหนึ่ง

การแสดงเหตุผลของคุณมุกหอม วงศ์เทศ จึงไม่ได้ชวนให้เชื่อได้ว่า ความเป็นไทย   ไม่ เจริญก้าวหน้า


สรุป การวิจารณ์ตอนหนึ่ง. วิเคราะศัพท์
       
ผู้วิจารณ์ได้แยกความหมายคำว่า ดักดาน ออกตามความในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ปี 2542  ซึ่งระบุว่า ลักษณะแห่งความดักดานประกอบด้วยองค์สาม คือ 1) คงสภาพ 2) ยาวนาน 3) ไม่เจริญก้าวหน้า  เช่น โง่ดักดานเป็นต้น
       
ชื่อบทความ เมื่อนำมาเรียบเรียงเสียใหม่ เพื่อความสะดวกในการประเมินการอ้างเหตุผล(argument)  สามารถเขียนได้ว่า  ความเป็นไทย เป็นอัตลักษณ์คงสภาพ ยาวนาน ไม่เจริญก้าวหน้า

เนื้อหาอันอลวนของการเขียนอ้างเหตุผล(argument) ของคุณมุกหอม วงศ์เทศ นั้น  ผู้วิจารณ์ได้จัดรูปเสียใหม่  เพื่อความชัดเจน โดยจัดแยกพิจารณาเป็นสามประเด็น คือ คงสภาพ ยาวนาน ไม่เจริญก้าวหน้า  ครั้นได้ศึกษาการเขียนอ้างเหตุผล และประเมินการอ้างเหตุผลแล้ว เห็นว่า เป็นการอ้างเหตุผลที่ ไม่สมเหตุสมผลและไม่สมบูรณ์ (not valid and unsound)

ข้อเขียนของคุณมุกหอม วงศ์เทศ  จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ข้อความที่ว่า “ความเป็นไทย” : อัตลักษณ์แห่งความดักดาน  นั้น  จะถูกต้องเป็นจริง 

แต่กระนั้นก็ตาม การที่ผู้วิจารณ์สรุปเช่นนี้ ก็ไม่ได้ส่อความหมายว่า  ความเป็นไทย เป็นอัตลักษณ์ที่ ไม่ ดักดาน  แต่ประการใดเลย

ผู้วิจารณ์สรุปได้แต่เพียงว่า  การอ้างเหตุผลของคุณมุกหอม วงศ์เทศ เพื่อจะยืนยันความคิดความเชื่อที่ว่า ความเป็นไทยเป็นอัตลักษณ์แห่งความดักดาน นั้น  เป็นการเขียนอ้างเหตุผล ที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่สมบูรณ์


ปรีชา ทิวะหุต (แดง ใบเล่)
                                                         โพสต์เมื่อ 19 ธันวาคม 2555
ลำดับต่อไปจะโพสต์ ตอนสอง. Theme searching – ค้นหาแนวของบทความ

------------------------------------------------------------------------------------------------------------

  

ตอนสอง. THEME searching – ค้นหาแนวของบทความ

งานเขียนชิ้นนี้ ท่านผู้เขียนมั่นหมายจะสื่อสิ่งใดกับผู้อ่านหรือ?  หรือว่าต้องการให้เราผู้อ่าน จดจำอะไรไปได้บ้างจากการอ่าน?  สิ่งนั้นคือสิ่งที่เขาเรียกกันว่า theme

จากประสบการณ์การอ่าน ผู้วิจารณ์เคยพบว่า บางทีข้อเขียนเรื่องหนึ่งจะมีหลายเค้าเงื่อนและหลายท่วงทำนอง  อาจจะประกอบด้วยความเห็นหลักกับความเห็นรองมากกว่าหนึ่งชุดก็เป็นไปได้  ในฐานะผู้อ่าน เราก็มีหน้าที่ต้องเปิดใจให้กว้าง พยายามอย่าให้ความคิดความเชื่อเดิม ๆ ใด ๆ ของเรา  มาเป็นอุปสรรคขวากหนามในการค้นหาข้อคิดของท่านผู้เขียน  การอ่านด้วยวิธีนี้พูดง่าย-แต่ทำไม่ง่ายอย่างที่พูด ต้องการการฝึกฝน  ซึ่งเมื่อฝึกแล้วก็จะช่วยให้ประสบการณ์การอ่านข้อเขียนใด ๆ ก็ดี สดชื่น ใหม่เอี่ยมเสมอ และสนุุกสนานบันเทิงตั้งแต่เริ่มอ่าน

Theme หรือ อรรถบท ของข้อเขียนชิ้นนี้ ท่านผู้เขียนได้ให้ความสะดวกแก่เรา โดยท่านประกาศ อรรถบท ไว้ตั้งแต่บรรทัดแรก ว่า

          “ข้าพเจ้าคิดว่า ความเป็นไทยมากมายหลายอย่าง เป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติไทย       และคนไทย

ซึ่งทำให้เราทราบว่า  ท่านกำลังชี้ให้เราเห็นว่า  ความเป็นไทย บางอย่าง
เป็นตัวถ่วงความเจริญฯ  เพราะคำว่า มากมายหลายอย่าง ตามภาษาธรรมดาเมื่อนำมาเข้าฟอร์มภาษาตรรกวิทยา ก็จะมีค่าเท่ากับ บาง   ดังนั้น เราก็เตรียมใจทำความรู้จักกับความเป็นไทย บางอย่าง  ที่เป็นตัวถ่วงความเจริญฯ ดังนี้

        1.     ......
        2.     ......
        3.     ......

แต่ ยังไม่ทันที่เราจะตั้งใจแล้วเสร็จ  คุณมุกหอม วงศ์เทศ ก็เปลี่ยนโวหารจากโวหารเดิม มาเป็นโวหารใหม่ที่ คุณมุกหอม วงศ์เทศ บอกเราว่า จะพูดแบบ กำปั้นทุบดิน” 

โดยเขียนใหม่ ว่า

          “.....หรือกล่าวอย่างกำปั้นทุบดินได้ว่า  ความล้าหลังและลักษณะอนุรักษ์นิยมจัดของ       สังคมไทยมีสาเหตุหลักๆมาจากความเป็นไทยนั่นเอง.....

จริงหรือว่า เมื่อพูดข้อความเดิมด้วยโวหารใหม่ จะยังพูดใจความเดิม

ข้อสงสัยนี้เป็นเรื่องที่ผู้อ่าน ซึ่งอ่านเชิงวิจารณญาณ หรือ critical reading จะระวังตัวว่าจริงหรือไม่ หรืออย่างไร  ผู้วิจารณ์จะขอยกเทียบคำพูด ของคุณมุกหอม วงศ์เทศ ทั้งสองโวหาร เปรียบกันดูดังนี้

โวหารเดิม
“.....ความเป็นไทยมากมายหลายอย่างเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติไทยและคนไทย

โวหารใหม่-กำปั้นทุบดิน
“.....ความล้าหลังและลักษณะอนุรักษ์นิยมจัดของสังคมไทยมีสาเหตุหลักๆมาจากความป็นไทยนั่นเอง.....

ขอทวนคำถามว่า โวหารใหม่นี้ยังคงหมายความดังเดิมอยู่ละหรือ?  ได้เปลี่ยนไปเฉพาะโวหาร หรือว่ากำลังเปลี่ยน ประพจน์ ?

THEME searching – การค้นหา อรรถบท  ของงานเขียนเรื่องนี้่  ผู้วิจารณ์มีวิธีดำเนินการอยู่สามประการ คือ

        1) นำวิธีการทางตรรกะ เข้ามาช่วย
        2) พิจารณาเปรียบเทียบเรื่อง ตัวถ่วง กับ สาเหตุแห่งความล้าหลัง
        3) วิเคราะห์สำนวน กำปั้นทุบดิน

โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) นำวิธีการทางตรรกะ เข้ามาช่วย

โวหารใหม่ ยังคงความหมายเดิมอยู่ละหรือ  ได้เปลี่ยนไปเฉพาะโวหาร หรือว่ากำลังเปลี่ยน ประพจน์ ? 

วิธีการทางตรรกะ ซึ่งท่านคิดอ่านวางแบบแผนไว้นับร้อยปีนับพันปีมาแล้ว ช่วยไขปริศนาให้เราได้  โดยเราจะลองเปลี่ยนทั้งคำพูดโวหารเดิม และ คำพูดโวหารใหม่ จากภาษาธรรมดา ให้เป็นประโยคตรรกะ หรือเป็น ประพจน์  เพื่อจะได้นำความจริงมาเทียบเคียงกันดู ตามระเบียบวิธีอันเข้มงวดของตรรกศาสตร์

โวหารเดิม
“.....ความเป็นไทยมากมายหลายอย่างเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติไทยและคนไทย

ข้อความนี้เปลี่ยนเป็น ประโยคตรรกะ ได้ง่าย เพราะท่านผู้เขียนเข้ารูปประโยคไวยากรณ์มาจนเกือบจะตรงประโยคตรรกะอยู่แล้ว  เราเพียงเปลี่ยนคำแสดงปริมาณภาคประธานจาก มากมายหลายอย่าง  ให้เป็นคำแสดงปริมาณสำหรับประโยคตรรกะ โดยใช้คำตรรกะว่า บาง  แทนคำภาษาธรรมดาว่ามากมายหลายอย่าง”   

โวหารเดิม เมื่อเปลี่ยนเป็นประพจน์แล้ว ก็จะเข้ารูปประโยคตรรกวิทยาชนิด

        Some S are P

โวหารเดิม เมื่อเปลี่ยนเป็นประพจน์แล้ว จะเป็นดังนี้
ความเป็นไทยบางอย่างเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติไทยและคนไทย

แสดงประพจน์นี้ ด้วยวงกลมออยเลอร์:

 
พื้นที่ ที่กากบาท X ไว้ ได้แก่ความเป็นไทย  เฉพาะส่วนที่เป็น ตัวถ่วงความเจริญ ของชาติไทยและคนไทย   

พื้นที่กากบาท หมายความว่า พจน์ประธาน(ความเป็นไทย)บางส่วน กระจายอยู่ในภาคนิเทศ(ตัวถ่วงความเจริญฯ)

ลำดับต่อไป  หันมาพิจารณาข้อความที่เจ้าของงานบอกผู้อ่านว่า ท่านจะพูดแบบ กำปั้นทุบดิน   ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ท่านกำลังพูดประโยคไวยากรณ์ที่ซับซ้อน ไม่ได้ใช้รูปประโยคง่ายๆ และไม่ได้กำปั้นทุบดินเลยสักหน่อย (--ประโยคไวยากรณ์ คือ ประโยคธรรมดาที่คนใช้กัน  แต่เวลาพูดเรื่องตรรกวิทยา ท่านจะเรียกกันว่าประโยคไวยากรณ์ เพื่อแยกออกเสียจาก ประพจน์-หรือประโยคตรรกะ)

โวหารใหม่-กำปั้นทุบดิน
“.....ความล้าหลังและลักษณะอนุรักษ์นิยมจัดของสังคมไทยมีสาเหตุหลักๆมาจากความป็นไทยนั่นเอง.....

เราพิสูจน์ความซับซ้อนของประโยคนี้ได้  ขณะเมื่อเราพยายามจะปรับเปลี่ยนประโยคนี้้ให้เป็นประพจน์  ซึ่งเราจะประสบความยุ่งยากมากกว่ากรณีแรก หลังจากที่ผู้วิจารณ์ศึกษารูปประโยคแล้ว ก็ต้องใช้เวลาพักใหญ่  จึงเปลี่ยนประโยคโวหารใหม่ที่ท่านเจ้าของงานกล่าวว่า พูดแบบกำปั้นทุบดิน  ให้เป็นประโยคตรรกวิทยา 

โวหารใหม่-กำปั้นทุบดิน เมื่อเปลี่ยนเป็นประพจน์แล้ว จะเป็นดังนี้
“ความเป็นไทย เป็น สาเหตุหลักๆของความล้าหลังและลักษณะอนุรักษ์นิยมจัดของสังคมไทย” 

หมายเหตุ-ประโยคตรรกะ จะไม่ใช้กิริยาอื่นนอกจากกิริยา “เป็น” (verb to be)

เมื่อแสดงด้วย วงกลมออยเลอร์:

ตามคำพูดตรรกะใหม่ พจน์ที่ว่า “ความเป็นไทย” มีลักษณะเป็นชื่อเฉพาะ ทำนองเดียวกับ ความเป็นไหหลำ ความเป็นแคะ ความเป็นอเมริกัน และความเป็นฝรั่งเศส เป็นต้น  พจน์ชนิดนี้ ตรรกะถือว่าเป็นพจน์ที่กระจาย(distributive)  เช่นเดียวกับชื่อเฉพาะอื่นๆเช่น นายไข่นุ้ยหรือนางสาวตุ้ยตุ้มติ้ม เป็นต้น  คำเหล่านี้ที่ท่านถือว่าเป็นพจน์กระจายก็เพราะเวลาพูดถึง นายไข่นุ้ยหรือนางสาวตุ้ยตุ้มติ้ม เราจะหมายถึงนายไข่นุ้ยหรือนางสาวตุ้ยตุ้มติ้มทั้งตัว ไม่ใช่เฉพาะท่อนหัว  ดังนั้น ถ้าใช้คำที่เป็นชื่อเฉพาะเช่นคำว่า นางสาวตุ้ยตุ้มติ้ม หรือคำว่าความเป็นแคะ  ก็จะหมายถึงความเป็นแคะทั้งหมด  เว้นแต่จะพูดว่า ความเป็นแคะบางส่วน” เป็นสาเหตุหลักๆของความล้าหลังของสังคมไทย  เช่นนี้ดอก พจน์ประธานจึงจะไม่กระจาย(undistributive)

รูปประโยคตรรกวิทยา  ของประโยคโวหารใหม่-กำปั้นทุบดิน จึงเป็น

                All S are P

จากการวิเคราะห์การอ้างเหตุผล(argument) ของประพจน์ทั้งสองด้วยการวาดวงกลมออยเลอร์  พบว่า  ข้อความทั้งสองไม่ได้พูดเรื่องเดียวกัน  ดังนั้น ตามลักษณะนี้ อรรถบท  หรือ theme ของบทความชิ้นนี้ จึงจะได้แก่ ความเป็นไทย-ทั้งหมด เป็นสาเหตุหลักๆของความล้าหลังและลักษณะอนุรักษ์นิยมจัดของสังคมไทย  อรรถบทของบทความจึง ไม่ใช่  ข้อความตามชื่อเรื่อง คือไม่ใช่ "ความเป็นไทยบางอย่างเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติไทยและคนไทย"


2) พิจารณาเปรียบเทียบเรื่อง ตัวถ่วง  กับ สาเหตุแห่งความล้าหลัง

พจน์หลังของประโยคตรรกะทั้งสอง ยังเป็นพจน์เดียวกันอยู่หรือ

หลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง ที่ยืนยันว่าข้อความทั้งสองไม่ได้พูด อรรถบท(theme) เดียวกัน อยู่ที่ การที่พจน์ในภาคนิเทศ(predicate)ของประพจน์แรก ได้แก่ตัวถ่วง  ส่วนพจน์ในภาคนิเทศของประพจน์หลัง คือ สาเหตุแห่งความล้าหลัง  เป็นคนละสิ่งกัน

อันที่จริง ประโยคหลังสร้างเป็นประโยคตรรกะได้สองประโยค โดยอีกประโยคหนึ่งมีพจน์นิเทศ ว่า “ลักษณะอนุรักษ์นิยมจัด”  แต่ผู้วิจารณ์ขอละเว้นไว้ เพราะถ้าวิเคราะห์ก็จะได้ผลเป็นทำนองเดียวกัน จะเป็นการมากความเปล่าๆ  ภาษาจีนแต้จิ๋วท่านว่า “ต๋าติ”  ภาษาฝรั่งเศส-อังกฤษท่านว่าpedantic  ภาษาใต้พููดว่ามัน เหรียด เกินไป

กลับมาสู่เนื้อหาของเราว่า ตัวถ่วง กับ สาเหตุแห่งความล้าหลัง  คือของสิ่งเดียวกันละหรือ?

คือเป็นข้าวเจ้า แล้วแบ่งชนิดเป็นข้าวเจ้าเท่านั้นเปอร์เซ็นต์เท่านี้เปอร์เซ็นต์ หรือว่าจะเป็นคนละประเภทกัน  ครั้นได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่ใช่ของประเภทเดียวกันแต่ต่างชนิด  หากเป็นธัญญพืชคนละประเำภทกันไปเลย เช่น ข้าวเจ้า กับ เมล็ดข้าวโพด เป็นต้น  ต้องเก็บไว้คนละไซโล

ตัวถ่วง  ผู้วิจารณ์ทราบมาว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางช่างกล(mechanics)  ซึ่งแตกต่างจากตัวประวิง  อันเป็นเป็นอุปกรณ์ที่ใช้มากทางช่างอิเล็กทรอนิกส์ คอยประวิงเวลาไว้ ยังไม่ให้อะไรมันเกิด เช่น วางระเบิดโดยมีตัวประวิงเวลาการระเบิด เป็นต้น

แต่ การเรียกผีเข้าหม้อ แล้วนำหม้อไปถ่วงน้ำ เช่นกรณีแม่นาคพระโขนง กิจกรรมถ่วงน้ำ ทำแล้วทำเลย เจตนาจะให้ทั้งหม้อทั้งผีจมอยู่กับท้องน้ำ  ไม่ได้มีเจตนาประวิงเวลาเอาไว้ เพื่อชลอให้การอาละวาดครั้งต่อไป ทิ้งช่วงนานขึ้นแต่ประการใด

การถ่วงผีจึงทำเพื่อไม่ให้ผุดเกิดกันอีก  หรือนำคนไปถ่วงน้ำให้ตาย เช่น การนำบาทหลวงคอธอลิคในฝรั่งเศส ที่แข็งขืนต่อการปฏิวัติ ไปถ่วงน้ำในแม่น้ำลัวร์ หน้าเมืองนังต์ ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นต้น 

ลักษณะของกิริยาถ่วงเป็นการดึงลงด้านล่าง ตรงข้ามกับกิริยาชูหรือยก ซึ่งเป็นการส่งขึ้นข้างบน  อีกนัยหนึ่ง download กับ upload

การถ่วงมีความหมายไม่ใคร่จะดี เช่น ถ่วงความเจริญ ด้วยการนำความเจริญไปถ่วงไว้ในท้องน้ำ คู่อยู่กับหม้อแม่นาค เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในทางช่างนั้้น ตัวถ่วงที่ทำหน้าที่เร่งรัดให้งานเสร็จไว เรียบร้อย เฉียบขาด ก็มี  ตัวถ่วงชนิดนี้ก็จะมีความหมายเชิงบวก เช่น เมื่อคิดประดิษฐ์เครื่องกิโยตินขึ้นมาใหม่ ๆ ได้ทดลองนำไปตัดคอศพ ปรากฏว่าขาดบ้างไม่ขาดบ้าง หรือขาดร่องแร่งบ้าง  ด้วยความคิดทางช่าง เขาก็นำแท่งตะกั่วมาประกบเข้ากับใบมีดกิโยติน เพื่อเพิ่มน้ำหนักใบมีด  ผลก็คือการตัดหัวศพทดลอง เฉียบขาดและไม่พลาดให้เป็นที่อุจาดนัยน์ตา  แท่งตะกั่วที่เป็นตัวถ่วงใบมีดกิโยติน จึงได้กลายเป็นองค์ประกอบอันขาดเสียมิได้ ของนวัตกรรมใหม่แห่งศตวรรษที่ 18  เพราะช่วยให้งานเสร็จลุล่วงด้วยดี เฉียบขาด และโดยไว

นอกจากนั้น สมัยนี้ การตั้งศูนย์ถ่วงล้อรถยนต์ ก็มีความหมายเชิงบวก  เพราะฉะนั้น ตัวถ่วงหรือแม้แต่การถ่วง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะติดลบเสมอไปทุกกรณี

ส่วนพจน์อีกพจน์หนึ่งที่ผู้วิจารณ์จะยกขึ้นเทียบ ได้แก่ สาเหตุแห่งความล้าหลัง  ความล้าหลังเป็นพจน์สัมพัทธ์ คือความหมายจะเกิดต่อเมื่อมีการเปรียบเทียบ  จะล้าหลังอยู่โดดเดี่ยว บ้าอยู่คนเดียวไม่ได้  การเปรียบเทียบดังกล่าว อย่างน้อยต้องประกอบด้วยสิ่งเคลื่อนที่ได้สองสิ่ง เทียบกันดู  โปรดพิจารณารูปวาดโดยสังเขปของเกวียนเทียมควาย ด้านล่างนี้

เกวียนเทียมควายเล่มหลัง ล้าหลังเกวียนเล่มที่เยื้องอยู่ข้างหน้า  สาเหตุของความล้าหลัีงเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น 1) ควาย 2) คนขับเกวียน 3) ตัวเกวียน ตลอดจน 4) สินค้าที่บรรทุกอยู่ในเกวียน เป็นต้น คำว่า สาเหตุแห่งความล้าหลัง จึงมีความหมายได้หลากหลาย ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม  ผิดกับคำว่า ตัวถ่วง  ซึ่งความหมายดั้งเดิมมีเพียงความหมายเดียว

ประเด็นเทียบเคียงระหว่าง ตัวถ่วง กับ สาเหตุแห่งความล้าหลัง  ผู้วิจารณ์ต้องการยกขึ้นเทียบเพียงเพื่อให้ตัวเองอ่านบทความของคุณมุกหอม วงศ์เทศ แตก  ทำให้เห็นกระจ่างว่า สองสิ่งนี้เป็นของต่างประเภทกัน 

อย่างไรก็ดี ในแง่ของความคิดอ่าน ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นแล้่วว่าคิดเรื่อง ตัวถ่วง  ง่ายกว่าการคิดเรื่อง สาเหตุแห่งความล้าหลัง

เพราะฉะนั้น ถึงบัดนี้ ประพจน์สองประพจน์ที่สร้างขึ้นจากคำพูดสองโวหาร ที่คุณมุกหอม วงศ์เทศ บอกว่าเป็นข้อความเดียวกันเพียงแต่พูดใหม่ “แบบกำปั้นทุบดิน” ก็ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ว่าที่จริงกำลังพูดคนละเรื่องเดียวกันโดยแท้


3) วิเคราะห์สำนวน กำปั้นทุบดิน  -the manipulative rhetoric

คนอ่านหนังสือ ยังอยู่ในโลกดึกดำบรรพ์ อยู่อีกหรือ

สมัยดึกดำบรรพ์ คือประมาณเมื่อสิบกว่าปีก่อน วิธีการนี้ยังใช้ได้ผลดี  ครั้นมาถึงยุคดิจิทัลซึ่งประสิทธิ์ประสาทอำนาจให้แก่ปัจเจกชน  มวลมหาประชาชนได้มีโอกาสอันกว้างใหญ่ไพศาลและล้ำลึก  ที่จะสืบค้น ค้นคว้าหาวิชาความรู้ ข้อมูุลและหนังโป้  เสียค่าบูชาครูเป็นค่าชั่วโมงอินเตอร์เนต ชั่วโมงละ 15 บาท เท่านั้น  การใช้โวหารแปลงสาส์นด้วยเทคนิคพื้นๆวิธีนี้  จะยังใช้ได้อยู่ละหรือ?

รู้กันทั่วแล้ว--อย่างน้อยทุกคนในวงการสื่อโฆษณา บริษัทมีเดีย ธุรกิจการตลาด และก็อปปี้ ไรเตอร์ รู้หมด  สำนวนฝรั่งเศสเรียกกิจกรรมที่รู้กันทั่ว ว่าวิเยอ เฌอ  vieux jeu หรือ เกมเก่าๆ

วิธีการก็ไม่มีอะไรมาก  เช่นที่คุณมุกหอม วงศ์เทศ ได้กระทำไปนั้น เข้าสูตรเต็มร้อย กล่าวคือ จะประกาศสำนวนคำพูดขึ้นหน้า ชนิดที่จะทำให้ผู้อ่านปล่อยวาง ไม่ระวังตัว เช่นสำนวนที่ว่า พูดแบบกำปั้นทุบดิน  เป็นต้น  ซึ่งจะเป็นคำพูดขึ้นหน้าเพื่อกล่อมให้ผู้อ่าน “ลดการ์ด” หรือ “การ์ดตก

หรือใช้สำนวนอื่นที่เคยนิยมกัน และพบมาก เช่น  พูดจริงๆนะเนี่ยะ  ขอบอกตรงๆนะว่า  เว้ากันซื่อๆดีกว่าว่า  เป็นต้น

วัตถุประสงค์? เจตนา?  ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางไปสู่การตอแหลในข้อความที่จะกล่าวตามมา  เมื่อผู้ฟังหรือผู้อ่านเกิดอาการ “การ์ดตก” ก็จะไม่ระวังตัวกับคำพูดเท็จ ที่จะตามมาติด ๆ  และโดยไม่รู้ตัว-ก็จะพาลนึกว่านั่นคือ ความจริง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้วิจารณ์อ่านสะดุดสำนวนที่คุณมุกหอม วงศ์เทศ ประกาศเกริ่นว่า หรือกล่าวอย่างกำปั้นทุบดินได้ว่า.....   โดยประสบการณ์-ผู้วิจารณ์ก็จะระวังตัวไว้ก่อนกับประโยคที่จะตามมา  และด้วย stress response ก็จะฉุกคิดว่า นี่เขากำลังจะโกหกตอแหล หรือหลอกต้มอะไรเราหรือเปล่า  และเขาจะโป้ปดมดเท็จกับเราว่าอย่างไร  คำพูดที่จะตามมาติด ๆ ต่อจากสำนวนพูดกล่อมให้ “ลดการ์ด” หรือทำให้ “การ์ดตก”  จะถูกผู้วิจารณ์พิเคราะห์อย่างละเอียด 

กิจกรรมชนิดนี้ ท่านสอนกันเป็นส่วนหนึ่งของวิธีอ่านด้วย จิตวิพากษ์  หรือcritical reading

ซึ่งก็ปรากฏว่า ก็ได้พบกับความเป็นจริง ตามที่ได้บรรยายไว้ตามข้อ 1) นำวิธีการทางตรรกะ เข้ามาช่วย  กับในข้อ 2) ความแตกต่างเป็นคนละเรื่องเดียวกันระหว่าง ตัวถ่วง กับ สาเหตุแห่งความล้าหลัง 

การใช้โวหารแปลงสาส์นด้วยวิธีพื้นๆบ้องตื้นวิธีนี้  จะยังใช้ได้แต่กับควายเท่านั้น ละกระมัง


สรุป--ตอนสอง. THEME searching – ค้นหาแนวของบทความ

1) อรรถบท ของบทความชิ้นนี้ ได้แก่ ความเป็นไทย-ทั้งหมด เป็นสาเหตุหลักๆของความล้าหลังและลักษณะอนุรักษ์นิยมจัดของสังคมไทย  อรรถบทของบทความจึง ไม่ใช่  ความเป็นไทยบางอย่างเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติไทยและคนไทย

2) ประเด็นเทียบเคียงระหว่าง ตัวถ่วง กับ สาเหตุแห่งความล้าหลัง  ผู้วิจารณ์ต้องการทำให้เห็นกระจ่างว่า สองสิ่งนี้เป็นของต่างประเภทกัน และในแง่ของประโยคตรรกะ พจน์สองพจน์นี้ก็ยังสังกัดอยู่ในภาคนิเ้ทศคนละประพจน์กัน ตลอดจนความคิดอ่านเรื่อง ตัวถ่วง  ก็น่าจะง่ายกว่าการคิดเรื่อง สาเหตุแห่งความล้าหลัง

3) การประกาศเกริ่นว่า หรือกล่าวอย่างกำปั้นทุบดินได้ว่า.....  นั้น  เป็นสำนวนที่พูดกล่อมให้ผู้อ่าน “ลดการ์ด” หรือทำให้ “การ์ดตก”  เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่การตอแหลในข้อความที่จะกล่าวตามมา

4) สรุปว่าอยู่ๆก็ตะแบงจาก พูดจิ๋ม  หันมา พูดหำ  

5) โตะ-จัย-โหมะ-เลย์ ! 





ปรีชา ทิวะหุต (แดง ใบเล่)
โพสต์เมื่อ 26 ธันวาคม 2555
ลำดับต่อไปจะโพสต์ ตอนสาม. จิตวิพากษ์แบบตะวันตก

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------



ตอนสาม. “จิตวิพากษ์แบบตะวันตก


จิตวิพากษ์แบบไหนแน่

การวิจารณ์ประเด็นที่สาม คุณมุกหอม วงศ์เทศ ควรได้รับคำขอบคุณจากผู้อ่านทุกท่าน  เพราะได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญในโลกสากล โดยออกชื่อชัดเจน ตั้งแต่ประมาณบรรทัดที่ 20 ว่า จิตวิพากษ์แบบตะวันตก  ทำให้เราไม่ต้องพะวงสงสัยว่า กำลังพูดถึงจิตวิพากษ์ชนิดใด 

เมื่อกำหนดชนิดจิตมาแจ่มแจ้ง ก็เป็นอันมั่นใจได้ว่ากำลังหมายถึง l’esprit critique  ซึ่งคำฝรั่งเศสคำนี้ ต่อมามีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า critical thinking และแปลเป็นไทยว่า จิตวิพากษ์

คุณมุกหอม วงศ์เทศ ช่างกระสันต์(--คุณมุกหอม วงศ์เทศ ใช้กิริยาคำนี้ ประมาณบรรทัดที่ 150)ร้องหาความคิดอ่านชนิด จิตวิพากษ์แบบตะวันตก  อย่างอึงอื้อน่าสังเกต เพราะนอกจากจะกล่าวถึงตรงๆ ประมาณบรรทัดที่ 20 แล้ว ก็ยังเอ่ยถึงคำอื่นๆอีกอื้อซ่า ที่เกี่ยวกับจิตวิพากษ์แบบตะวันตก  ดังแสดงหลักฐานตามตารางต่อไปนี้


ตารางหลักฐาน ร้องอึงอื้อหา จิตวิพากษ์แบบตะวันตก   และ คำที่เกี่ยวข้อง


ผู้วิจารณ์จะเริ่มวิจารณ์ประเด็นนี้ ด้วยการตั้งข้อสังเกตกับท่านผู้อ่านว่า จิตวิพากษ์แบบตะวันตก  เป็นจิตชนิดใด?

ท่านว่า:
        L’esprit critique consiste en une attitude méthodique du sujet,
        1) qui n’accepte aucune assertion sans mettre à l’epreuvesa valeur,
        2) qui ne tient une proposition pour vraie que si elle a été établie come telle selon des procédures rationnelles et rigoureuses.

ถ่ายทอดสดเป็นภาษาไทย-ผู้วิจารณ์แปลเอง:

        จิตวิพากษ์ได้แก่จิตที่ คิดเป็นระเบียบระบบ  ซึ่งจะ
        1) ไม่ยอมรับคำบอกเล่าใดๆ โดยไม่ได้ ตรวจสอบคุณค่าของ คำบอกเล่า นั้น ว่าจะมีค่าควรแก่การยอมรับหรือไม่
        2) ไม่ยอมรับข้อความแสดงเหตุผลข้อความใดว่าเป็นจริง  จนกว่าจะได้พิสูจน์แล้วตามขั้นตอนของการแสดงเหตุผล อันเป็นขั้นตอนที่เข้มงวด

ซึ่งเราจะสามารถสกัดหัวใจของ “จิตวิพากษ์(แบบตะวันตก)”  ออกมาได้สามประการคือ         1.คิดเป็นระเบียบระบบ  2.ตรวจสอบคุณค่าของคำบอกเล่า 3.ขั้นตอนของการแสดงเหตุผล อันเป็นขั้นตอนที่เข้มงวด

ทั้งหมดนั้น หมายความว่ากระไร?

ท่านที่สนใจตรรกวิทยา ตลอดจนวิธีคิดอ่านอ้างเหตุผลอย่างตะวันตก(Reasoning)  ทุกท่าน ย่อมจะเห็นเค้าว่าข้อความทั้งสาม สรุปวิธีการตรรกะและวิธีการอ้างเหตุผลแบบตะวันตก  ทั้งที่เป็นตรรกะนิรนัยของอะริสโตเติล-ซึ่งต่อมาปรับปรุงโดย เบอร์ทรัล รัซเซล  และตรรกะอุปนัยของฟราสซิส เบคอน-ซึ่งต่อมาปรับปรุงโดย จอห์น สจวต มิลล์  รวมทั้งวิธีคิดอย่างเป็นระเบียบระบบของ เดส์การ์ต 

แล้วเชิงศิลปะเล่า ความมีเหตุผลทั้งหมดนั้นแสดงออกทางรูปศิลป์ซึ่งรู้จักกันทั่วพื้นพิภพ เป็นรูปปั้นคนนั่งคิดอันมีชื่อเสียงของ โรแด็ง  ที่ทุกวันนี้ซอฟแวร์ป้องกันไวรัสชื่อดัง ลอกเลียนรูปแบบนำมาเป็นเครื่องหมายการค้า 

ในสังคมสมัยใหม่ ตรรกวิทยาถูกนำมาใช้ทั่วไปหมด  ตั้งแต่ช่างซ่อมแอร์ ศูนย์บริการรถยนต์ การวินิจฉัยโรคของแพทย์ การสืบสวนของตำรวจ การทำคดีของทนายความและอัยการ การพิพากษาของศาล การพยากรณ์อากาศ การเขียนโปรแกรม การอภิปรายปัญหาการเมือง ตลอดจนความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของพ่อบ้านแม่บ้าน รวมทั้งการวางแผนการศึกษาของบุตรธิดา ฯลฯ  เวลานี้ตรรกวิทยาที่เกี่ยวกับกาลเวลา(temporal logics) ก็พัฒนาไปตามความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสร้างเกม  จะขอยกตัวอย่าง ที่ครูเคยแนะนำให้รู้จักกับตรรกะกาลเวลาอันกำลังรุ่งอยู่ในปัจจุบัน โปรดอ่านข้อความตรรกะต่อไปนี้ แล้วคิดต่อเอาเอง

        It is raining today.
        Therefore tomorrow it will have been raining yesterday. 

จากมุมมองหนึ่ง จิตวิพากษ์แบบตะวันตก คือกระบวนการแสวง ความจริงโดยเฉพาะความจริงจาก คำพูดของคน  แม้จะเป็นความจริงที่แสลงใจก็ตาม ทั้งนี้เพราะผู้แสวงความจริง เชื่อว่า ความจริงมีอยู่จริง

        อันความจริง หนีจริง สิ่งนี้ยาก
        กินปูนมาก ร้อนท้อง ไม่ต้องแหนง

หาไปทำไมกัน-ความจริง?  กิระดั่งได้ยินมา ท่านว่าการแสวงความจริงผิดกับการเข้าป่าหาหน่อไม้ หรือขึ้นดอยไปเก็บเห็ด หรือไปรุนเคยอยู่ชายทะเล เพราะความจริงรับประทานไม่ได้  ท่านว่าเขาแสวงกันเพื่อนำมาพิจารณาใช้ลดทอนความผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้นได้ ในการตัดสินใจกับประเด็นปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น จอคอมพ์เสีย จะซ่อมได้มั๊ยเนี่ยะ  ประเด็นชีวิตในทางสั้น เช่น สัปดาห์หน้าเสบียงกรังในครัวร่อยหรอลงแล้ว ควรซื้อหาอะไรมาเพิ่มเท่าไรดี  ชีวิตในทางกลาง เช่น ปีหน้าอยากเดินทางท่องเที่ยวทางไกล แบบดูทินกร จรจิระยง จะหาเบี้ย(สตางค์)มาได้จากไหน  และประเด็นชีวิตทางยาว เช่น ควรหางานรับจ้างทำดี หรือว่าจะอยู่บ้านตัดปาล์มขายไปวัน ๆ ดีกว่า

จิตวิพากษ์แบบตะวันตก จึงไม่ใช่อาการจี้ดขึ้นสมองของคนประสาทแดก หรือการออกอาการกำเริบของคนขี้ระแวง ขี้สงสัย และคนมักติโดยสันดาน

แล้วคนที่จะมีจิตวิพากษ์แบบตะวันตกได้ หมายความว่าอย่างไร?

ท่านว่า:
        Avoir l’esprit critique, c’est être capable de s’interroger avec exigence et rationalité de faits et de relations prétendus, puis sur leur interpretations.

ถ่ายทอดสดเป็นภาษาไทย-ผู้วิจารณ์แปลเอง:

        การจะมีจิตวิพากษ์ ก็คือ มีขีดความสามารถที่จะสืบสวนอย่างรัดกุมและอย่างมีเหตุผล  ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และความสัมพันธ์ต่างๆที่ถูกยกขึ้นกล่าวอ้าง  รวมถึงการแปลความข้อเท็จจริงและความสัมพันธ์นั้น

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราพบข้อเท็จจริงสองอย่าง อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความสำเร็จรูปว่า ข้อเท็จจริงทั้งสองนั้น จะมีความสัมพันธ์เชิงเป็นเหตุเป็นผลกัน

ตัวอย่างที่    1) เมื่อดาวหางโคจรผ่านมา จะเกิดข้าวยากหมากแพง

                ดาวหางโคจรผ่านมา เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง  ข้าวยากหมากแพง ก็เป็นข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งเกิดขึ้นตามมา

                แต่ด้วยเหตุที่มีจิตวิพากษ์แบบตะวันตก  และเรามีขีดความสามารถที่จะสืบสวนความเป็นจริง เช่น ศึกษาประวัติศาสตร์  แล้วเราก็พบว่ายามฟากฟ้าปกติ ก็เคยเกิดข้าวยากหมากแพงเหมือนกัน 

                เราจึงไม่สร้างข้อสรุปสำเร็จรูปขึ้นมาว่า ข้อเท็จจริงก่อน(คือ ดาวหางปรากฎบนฟ้า) เป็นเหตุให้เกิดผลตามมา คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  เราไม่หลงกลเหตุผลวิบัติเรื่อง โยงเหตุการณ์ก่อนหน้า

ตัวอย่างที่   2) น้องนฤมเยี่ยมหน้าที่หน้าต่าง แล้วมอเตอร์ไซด์จะแล่นผ่าน 
 
                บ้านน้องนฤมลอยู่กลางซอย  ปากซอยมีวินมอร์เตอร์ไซด์วินใหญ่ ท้ายซอยมีชุมชนหนาแน่น  ยามเช้าเจ็ดนาฬิกา ขณะที่น้องนฤมลกำลังเยี่ยมหน้าแฉล้ม อยู่ที่หน้าต่างบ้านด้านติดซอย  พร้อมกันนั้นก็จะมีรถมอร์เตอร์ไซด์ อย่างน้อยหนึ่งคันแล่นผ่าน

                ข้อเท็จจริงเรื่องน้องนฤมลกำลังเยี่ยมหน้าที่หน้าต่าง กับข้อเท็จจริงที่ว่ามอร์เตอร์ไซด์แล่นผ่าน  เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

                แต่ด้วยจิตวิพากษ์แบบตะวันตก  เราจะไม่กระโจนเข้าสรุปว่า เพราะว่าน้องนฤมลออกมาเยี่ยมหน้าที่หน้าต่าง จึงมีรถมอร์เตอร์ไซด์แล่นผ่าน  เราไม่หลงกลเหตุผลวิบัติเรื่อง การโยงเหตุการณ์พร้อมกัน            

ตัวอย่างที่   3) คนแคะเล่นการเมืองสังกัดพรรคของคุณทักษิณ
  
                คุณสุดารัตน์ เล่นการเมืองสังกัดพรรคคุณทักษิณ เพราะฉะนั้นคุณสุดารัตน์ เป็นคนแคะ

                ข้ออ้างข้อหนึ่งบอกว่า คนแคะเล่นการเมืองสังกัดพรรคของคุณทักษิณ ข้ออ้างอีกข้อหนึ่งบอกว่า คุณสุดารัตน์ เล่นการเมืองสังกัดพรรคคุณทักษิณ  ข้อสรุป-ลงความเห็นว่าเพราะฉะนั้น คุณสุดารัตน์เป็นคนแคะ 
       
                ด้วยจิตวิพากษ์แบบตะวันตก  เราจะไม่หลงกลข้อสรุปทำนองนี้ เพราะเป็นเหตุผลวิบัติชนิดที่ท่านเรียกว่า ยืนยันผล – confirming the consequent (-จะไม่ขอลงรายละเอียด เดี๋ยวฟุ้ง) 

                อีกประการหนึ่ง ในโลกแห่งความเป็็นจริงนั้น คุณสุดารัตน์เป็นคนแคะอยู่แล้ว  ดังนั้นในแง่นี้ การพิสููจน์ความจริงด้วยการอ้างเหตุผลจากประโยคตรรกะดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลวิบัติในเง่ที่ว่า พิสูจน์โดยการอ้างเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนเพื่อสนับสนุนข้อสรุป

ผู้วิจารณ์ยุติข้อสังเกตเรื่อง จิตวิพากษ์แบบตะวันตก เพียงเท่านี้  เพราะเริ่มเกิดอาการประสาทกิน นึกระแวงขึ้นมาว่า แล้วคุณมุกหอม วงศ์เทศ เป็นจีนแคะด้วยหรือเปล่า  เพราะจากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า โดยเชื้อสาย คุณมุุกหอม วงศ์เทศ มีความเป็นไทยอยู่น้อยมาก น้อยกว่า 25%

สำหรับการแสดงออกซึ่ง จิตวิพากษ์แบบตะวันตก ในส่วนของคุณมุกหอม วงศ์เทศ เองนั้นเล่า  เมื่อได้ศึกษางานชิ้นนี้กลับไปกลับมาหลายตลบ ก็ไม่พบแม้แต่ “งาจันทร์ในอันยัดตะกวด” ของจิตวิพากษ์แบบตะวันตก  เจอแต่จิตเก็บกดป่วยไข้แบบปลายบูรพาทิศ(extreme orient)  ดังนั้น ถ้าจะพัวพันถึงจิตวิพากษ์แบบตะวันตกแล้วละก้อ  กล่าวได้ว่า คุณมุกหอม วงศ์เทศ มีลัคนามืดมนอนธกาลพ้นประมาณ ดวงเดิมไม่ดีพอ  สมควรบั่นทอนภพชาติไปเกิดใหม่ได้แล้ว  ชาตินี้อย่าได้ทำเครซี่ งอแงร้องหาจิตวิพากษ์แบบตะวันตก เพราะแค่ฝันหาก็ถือว่าทะเยอทะยานเกินตัวเสียแล้ว  โปรดเปิดใจให้กว้าง ถ่างขึ้นอีกสักนิด ยอมรับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ประการหนึ่ง อันได้แก่ผังดีเอ็นเอของตนเอง

โอ พระเจ้า :  พยาธิบิดในพุงกระบือ   ร้องอึงอื้อจะฟังสีซอ







ปรีชา ทิวะหุต (แดง ใบเล่)
โพสต์เมื่อ 3 มกราคม 2556
ลำดับต่อไปจะโพสต์ ตอนสี่. สไตล์การเขียน

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------



ตอนสี่. สไตล์



เชื่อหรือไม่ว่า สไตล์การเขียน สะท้อนตัวผู้เขียน ?

ครูสอนการเขียนท่านหนึ่ง  ท่านจึงจะใจอ่อนเสมอเมื่อมาถึงการวิจารณ์สไตล์  แต่สำหรับการวิจารณ์งานชิ้นนี้ ผู้วิจารณ์รู้สึกอ่อนใจที่จะใจอ่อนตามครู

สมัยก่อน ท่านพิเคราะห์คนกันที่ลายมือ ลูกผู้ชาย ลายมือ นั้นคือยศ   แต่สมัยนี้ สไตล์การเขียน  ได้กลายเป็นการแสดงออกด้วยลายลักษณ์อักษร เป็นเงาสะท้อนถึงตัวคนเขียน  หน่วยงานสืบราชการลับจะจ้างคนรู้ภาษาไว้คอยวิเคราะห์ข้อเขียน เช่น หน่วยงานข่าวกรองของฝรั่งเศสจ้างสายลับจำนวนหนึ่งที่รู้ภาษาอูระดู อันเป็นภาษาที่ใช้มากในปากีสถาน เมื่อต้นปีที่แล้ว(2555) 

เรื่องอื่นอาจไม่เป็นส่วนตัวของตัวตนคนเขียนนัก  ทว่า เวลาพูดถึงสไตล์ก็คล้าย ๆ กับกำลังแตะต้องถึงเนื้อถึงตัว  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่านว่าเราก็ต้องแยกให้ออกว่า style กับ stylishness ต่างกัน  คล้ายกับที่ simple กับ simplisticต่างกัน โดยคำแรกหมายความว่า เรียบง่าย  แต่คำหลังหมายความว่าดัดจริตทำเป็นเรียบง่าย  เพราะฉะนั้น stylishness ก็จะเป็นการดัดจริตทำเป็นว่ามีสไตล์ 

วัฒนธรรมไทยและฝรั่งเศส สำหรับผู้เห็นคุณค่าในเนื้อหาวัฒนธรรมทั้งสอง ผู้ที่ไม่ใช่ตัวเพรียงเกาะอยู่แค่เปลือก จะทราบโดยไม่ต้องดัดจริตว่า สองวัฒนธรรมนี้สอนให้เรารู้สำนึกถึง Sense of Style  เช่น สายบัวบอกลึกตื้น ชลธาร  เป็นต้น  หรือ “Le style est l’homme même.”  เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้มีความคิดความเชื่อดังได้เกริ่นไปนั้น  ผู้วิจารณ์ก็ยังจะขอแตะสไตล์การเขียนของคุณมุกหอม วงศ์เทศ อยู่ดี  เพราะได้ตั้งปณิธานไว้ว่าต่อแต่นี้ไปจะไม่หมูกับใคร  แต่จะทำโดยสังเขป ทำพอทำเนาและอย่างสั้นที่สุด

คำที่คุณมุกหอม วงศ์เทศ เลือกใช้  อันเป็น “กลุ่มคำเด็ด” ที่ผู้วิจารณ์คิดว่าเป็นคันฉ่องส่องตัวตนของคุณมุกหอม วงศ์เทศ  ส่วนจะคมชัดสัตย์ซื่้อแค่ไหนเพียงใด เป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านต้องใช้วิจารณณาณดูเอาเอง ตาดีได้ตาร้ายเสีย  ผู้วิจารณ์จะเสนอข้อเท็จจริงเท่านั้น  จะไม่ขอพิพากษาตัดสิน 

ขอคัดคำเด็ดสะท้อนตัวตน ออกมาเรียงลำดับก่อนหลัง ตามที่ปรากฏในบทความ  ดังนี้

                รสนิยมที่เลว  ศิลปกรรมชั้นเลว  ทุเรศทุรังกา
                ทำปลอมห่วยๆ  บัดซบ  อุจาด  สังเวช
                หน้าไหว้หลังหลอก  ตลบตะแลง  เสื่อมทราม
                สามานย์  เละเทะ  มั่วซั่ว  อีเดียดสุดขีด
                สับปลับ  ปลิ้นปล้อน  มือถือสากปากถือศิล กระสันต์  

การเรียงคำให้ดูกันจะๆ ก็เท่ากับได้เสนอความคิดอย่าง“ ได้แรงอกพอแรง ” แล้ว(สำนวนใต้)  ผู้วิจารณ์จึงงดเว้นที่จะ กระสันต์ ออกความเห็นเพิ่มเติม เพราะถึงอย่างไรความเห็นของผู้วิจารณ์ ก็จะตรงกับที่ท่านผู้อ่านกำลังนึกอยู่ในใจเป้ะเลย คือว่า สไตล์ส่อรสนิยม  ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดยังสงสัยประเด็นนี้ โปรดอ่านทวนย่อหน้าบนซึ่งบรรจุ “กลุ่มคำเด็ดดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง  หากยังกังขาอยู่นั่นแล้ว ก็โปรดอ่านย่อหน้าบน ซ้ำอีกครั้ง  ถ้ายังคิกขุอะโนเนะไม่เลิก อ่านเท่าไรก็ไม่เข้าใจว่าส่อรสนิยมอะไร  โปรดอ่านวลีแรก--วลีเดียวเป็นพอ

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนสไตล์ของคุณมุกหอม วงศ์เทศ ได้แก่ที่ประมาณบรรทัด 60 เขียนว่า ...ความเป็นคนไทย’ ไม่ใช่สิ่งติดตัวมาตามธรรมชาติที่ฝังอยู่ในหน่วยพันธุกรรมของชนชาติไทย... 

ครั้นมาถึงประมาณบรรทัด 150 กลับไพล่ไปพูดว่า  “ความเป็นไทย เป็นเรื่องธรรมชาติอยู่ในสายโลหิตก็จริงอยู่...

ข้อความทั้งสอง เมื่ออ่านด้วยสามัญสำนึก วิญญูชนก็เข้าใจได้ทันทีว่าพจน์ที่ว่า หน่วยพันธุกรรม กับพจน์ สายโลหิต  ถูกใช้ในความหมายเดียวกัน  ดังนั้น พิจารณาตามสามัญสำนึก ถ้าปฏิเสธ “พันธุกรรม” มาก่อนแล้ว ยังจะมายอมรับ “สายโลหิต” ได้อยู่ละหรือ 

แต่ถ้าไม่ใช้สามัญสำนึก ต้องการจะอ้างเหตุผลตามจิตวิพากษ์แบบตะวันตก ผู้วิจารณ์ขอสรุปวิธีการดังนี้  ประโยคที่ว่า“ ความเป็นไทย เป็นเรื่องธรรมชาติอยู่ในสายโลหิตก็จริงอยู่”  เป็นประโยคไวยากรณ์ที่เ้ข้ารูปประโยคตรรกะอยู่แล้ว  ซึ่งถ้าจะใช้ หลักการคิดหาเหตุผลโดยตรง (immediate inference) โดยอาศัยกฎแห่งความเป็นปรปักษ์(Law of Opposition) กฎข้อที่หนึ่ง.Contrary Opposition ของประพจน์แบบ A E  เราก็จะคิดหาเหตุผล และอนุมาน ได้ดังนี้

        ถ้า ประพจน์(-ประโยคตรรกะ) ของประโยคไวยากรณ์ที่ว่า “ ความเป็นไทยเป็นเรื่องธรรมชาติ อยู่ในสายโลหิตก็จริงอยู่.....”  นั้น เป็นจริง 

        ประพจน์(-ประโยคตรรกะ) ของประโยคไวยากรณ์ที่ว่า “...ความเป็นคนไทย’ ไม่ใช่สิ่งติดตัวมาตามธรรมชาติที่ฝังอยู่ในหน่วยพันธุกรรมของชนชาติไทย.....”  ต้องเป็นเท็จ

การอนุมานโดยตรง ด้วยจิตวิพากษ์แบบตะวันตกดังแสดงข้างบน ในที่สุดก็ได้ผลทำนองเดียวกับการใช้สามัญสำนึก

ขอยุติการวิจารณ์สไตล์ โดยจะกล่าวสั้นๆเพียงว่า สไตล์การเขียนงานชิ้นนี้ของ คุณมุกหอม วงศ์เทศ เป็นสไตล์ของกาฝากเกาะเปลือก ประเภท:

มุสาแต่โดยเดา  -- ขออภัย ถ้าสะกดผิด






ปรีชา ทิวะหุต (แดง ใบเล่)
โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2556
ลำดับต่อไปจะโพสต์ ตอนห้า. สรุปการวิจารณ์

  ----------------------------------------------------------------------------------------------------------



ตอนห้า. สรุปการวิจารณ์

ท่านผู้อ่านไม่เชื่อใช่ไหมว่า คุณมุกหอม วงศ์เทศ กำลังพบกับ มิตรแท้?

ถ้าจะถือตามคำนักเขียน ผู้ที่ถูกอ้างอิงเป็นอันดับต้น ๆ ในโลกวรรณคดีอังกฤษ  นายออสการ์ ไวล์ เจ้าของวาทะ มิตร ย่อมจ้วงแทงท่าน ซึ่งหน้า (Friends stab you in the front.)  ตามครรลองนี้ ผู้วิจารณ์ก็กำลังพิสูจน์ให้คุณมุกหอม วงศ์เทศ ประจักษ์ว่า กำลังพบกับมิืตรแท้...

กระนั้น น้ำหน้าอย่างผู้วิจารณ์โดยลำพัง มีหรือที่จะมีโอกาสได้เพลิดเพลินกับการแสดงความเป็นมิตรซึ่งหน้า้ ถ้าหากคุณมุกหอม วงศ์เทศ ไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานอันมีลักษณะโดดเด่น กระดกกระดนโด่ ระคายและสาก น่าสะใจและท้าทายการสรรเสริญ ขึ้นมาก่อน  ในประเด็นนี้
ผู้วิจารณ์รู้สึกสำนึกขอบคุณ คุณมุกหอม วงศ์เทศ อย่างลึกซึ้งและจริงใจ

ผู้วิจารณ์อยากเห็นคอลัมนิสต์ฝีมือดีอย่าง คุณมุกหอม วงศ์เทศ เขียนหนังสือมากๆ  เพื่อว่า นักอ่านจะได้พบกับประสบการณ์การอ่านแบบมันๆ แซ่บๆ แสบแก้วหู ราวกับได้ยินเสียงหวีดร้อง ที่แผดมาจากส่วนลึกและไกลสุด ในอุุโมงค์น้ำโสโครกขนาดมหึมามืดมิดรวมสิ่งปฏิกูล  อันเป็นที่อยู่อาศัยก่ายกันยั้วเยี้ยของ ชาวชุมชนเหตุผลวิบัติ ชนิดอุบาทว์จัญไร – ขออภัย ถ้าสะกดผิด

ยกเว้นคุณดา(ผู้อยากมี)ตอร์ปิโด ที่ตัดช่องน้อยเข้าไปเสวยสุขารมณ์ในฮาเร็มสตรีล้วน เลี้ยงดูปูเสื่อโดยสถาบันราชทัณฑ์แล้ว  ก็มีหวังอยู่แต่คุณมุกหอม วงศ์เทศ ผู้เดียวเท่านั้น ที่จะสร้างสรรค์งานทรงคุณค่า วิจิตรเจิดจ้ารัศมี แจ่มแจ้งแสงเค้ากวง ได้ระดับวรรณศิลป์อึ้งกิมกี่พอๆกัน  แม้รายแรกจะเป็นงานพูดบนเวที ส่วนรายหลังเป็นงานเขียน ก็ตาม 

คงจะไม่ได้ดูผิด--ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่ากำลังดูถูก  คงจะไม่ได้ประเมิน คุณมุกหอม วงศ์เทศ ต่ำไป--แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากำลังหยาม  หากหาญพยากรณ์ว่าในชาติภพปัจจุบัน รางวัลวรรณกรรมระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับโลก และระดับสุริยจักรวาล-ถ้าหากมี  ล้วนอยู่ในเงื้อมมือของ คุณมุกหอม วงศ์เทศ ผู้นี้

ภาษาฝรั่งเศสมีคำอยู่คำหนึ่ง ว่า l’écriture  หมายความถึงทั้งลายมือและลายลักษณ์อักษร ตลอดจนท่วงทำนองการเขียนด้วย เช่น une belle écriture (= a beautiful writing) เป็นต้น  คำว่า “เอ-คริ-ตู  เป็น คำนามเพศหญิง  ในภาษาฝรั่งเศส 

ถ้าจะ ถือเพศ ตามภาษาฝรั่งเศส  ชิ้นงานที่ถูกวิจารณ์อยู่นี้ก็เป็นสตรีเพศ และคงไม่ได้ดูผิด--ถ้าจะสรุปว่า “เธอเป็นหญิงกักขฬะ และถ่อย

ที่สุด เมื่อคุณมุกหอม วงศ์เทศ ทิ้งทวน “ขออัญเชิญไปลงนรกเสียเถิดความเป็นไทย”  ผู้วิจารณ์ขอถามสักนิด จะไม่เป็นการสมเหตุสมผลกว่าละหรือ ถ้าคุณมุกหอม วงศ์เทศ ไปลงนรกเสียเอง

หรือว่า คุณมุกหอม วงศ์เทศ อยู่ที่นั่นอยู่แล้ว?

-      จบ  -

ปรีชา ทิวะหุต (แดง ใบเล่)
โพสต์เมื่อ 17 มกราคม 2556



หน้าเฟสบุค http://www.facebook.com/devnapya