open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

HV 11/12 part 2 ความภักดี เป็นศิลธรรมทางแพ่ง ใช่หรือไม่



---------------------------------------------------

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้
อาจารย์รอลส์ อภิปรายเรื่องหนี้การบ้านการเมืองว่า ถ้าใครคนหนึ่งสมัครเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง หรือสมัครเป็นทหาร ก็แปลว่าเขากระทำโดยสมัครใจ(เจตนายินยอม) หนี้การเมืองหรือหนี้หมู่คณะ จึงเกิดขึ้นได้โดยความยินยอมดังกล่าว  แต่สำหรับประชาชนทั่วไป อาจารย์รอลส์เห็นว่า ไม่มีหนี้การเมืองหรือหนี้สังคม เพราะไม่ใช่พันธะผูกพันโดยตรงของเขาและไม่รู้ว่าใครมาก่อหนี้เข้าไว้  เว้นเสียแต่ว่า ประชาชนผู้นั้นสมัครใจที่จะรับภาระหนี้ชนิดนี้เอง  และการรับภาระหนี้ความภักดีต่อชาติ บ้านเมือง สังคม กลุ่ม พวก เผ่าพงศ์วงวานดังกล่าวนั้น ก็ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นอันเป็นสากล หรือสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาในสังคม

----------------------------------------------------

ความภักดี เป็นศิลธรรมทางแพ่ง ใช่หรือไม่?
Episode 11 part 2

          ในส่วนที่สองนี้ ศ.แซนเดล ตั้งประเด็นว่า ความภักดี เป็นศิลธรรมทางแพ่ง ใช่หรือไม่? และได้นำนักศึกษาอภิปรายให้เหตุผล เรื่องหนี้(หรือพันธะกรณี)แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว หรือหนี้สมาชิกภาพ หรือหนี้ต่อชุมชน เช่น ในประเด็นที่ว่า เราเป็นหนี้เพื่อนร่วมชาติมากกว่าที่จะเป็นหนี้เพื่อนมนุษย์ หรือคนชาติอื่นหรือไม่?  ลักษณะชาตินิยมเป็นคุณค่า/คุณงามความดีอย่างหนึ่ง หรือว่าชาตินิยมเป็นการแสดงความเดียดฉันท์เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน? 

          นักศึกษาคนหนึ่ง นายพัททริค อภิปรายไว้ในครั้งก่อนทำนองว่า หากเรามีหนี้ชุมชน แล้วถ้ามีกรณีเป็นทำนองว่า คนเรามีชีวิตสังกัดชุมชนหลายลักษณะในคราวเดียว เช่น เราเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนั้น เป็นศิษย์หลวงพ่อนี่ นั่นโน่น เป็นคนหมู่บ้านนี้ บางโน้น มาบนู้น หรือหุบเขาโน้น เป็นคนนามสกุลนี้ เป็นชาวเกย์ชาวเลสเบี้ยน สังกัดกลุ่มเลดี้บอย คนแปลงเพศ ฯลฯ  จะเป็นไปได้ไหมว่า หนี้ชุมชนต่างชุมชน ที่เราเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะขัดแย้งกันเอง?  

          แนวต้าน ค้ดค้านเรื่องหนี้ชุมชน อีกแนวหนึ่ง ก็คือ ตัวอย่างเรื่องนักบินฝรั่งเศสในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ไม่ยอมบินไปทิ้งระเบิดหมู่บ้านตัวเอง กับเรื่องอิสราเอลช่วยชาวยิวเอธิโอเปีย ระหว่างเกิดภาวะอดอยากในประเทศนั้น แต่ไม่ได้ช่วยคนเอธิโอเปียกลุ่มอื่น  การคัดค้านหนี้ชุมชนแนวที่สองนี้ ให้เหตุผลว่า เรื่องของหนี้ชุมชนลักษณะนี้ เป็นเรื่องของความรู้สึก ความผูกพันทางอารมณ์ เป็นเรื่องของ emotion ไม่ใช่ obligation จึงไม่ใช่หนี้หรือพันธะทางศิลธรรมอย่างแท้จริง

          อีกแนวหนึ่ง ที่คัดค้านหนี้ชาตินิยม หรือหนี้ประเภทรักชาติยิ่งชีพ  อ้างเหตุผลว่าความชาตินิยม เป็นหนี้แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวหรือหนี้ความเป็นสมาชิก ที่อุบัติขึ้นมาโดยปราศจากความยินยอมของเจ้าตัว (an obligation of solidarity and membership BEYOND consent) หนี้ชาตินิยมลักษณะนี้ ถูกคัดค้าน 

          แต่ทั้งนี้ ก็โดยยอมรับว่า คนเราย่อมมีหนี้ต่อชุมชน บ้านเมือง เผ่าพงศ์ วงวาน ที่เราอยู่อาศัยหรือสังกัด  แต่มองว่าหนี้ชนิดนี้ ที่จริงแล้ว ก็เป็นความคิดเสรีนิยม และไปกันได้กับความคิดแนวเสรีนิยม  เพราะความยินยอมจะโดยนัย โดยแจ้งชัด หรือโดยต่างตอบแทน จะเป็นความคิดเสรีนิยมเช่นเสรีนิยมของคานต์ ที่เห็นว่าหนี้ชุมชนนั้นเกิดขึ้นได้จากความยินยอม(เกิดโดยเจตนา)  ทุกคนมีเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความภักดีต่อชุมชน สังคม ชาติบ้านเมือง เผ่าพงศ์วงวาน  ดังนั้น แนวคิดเรื่องความภักดีโดยไม่ได้เจตนา(เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม) จึงเป็นแนวคิด ที่ไม่จำเป็นจะต้องสอดเข้ามาอธิบายประเด็นนี้

          อาจารย์รอลส์ อภิปรายเรื่องหนี้บ้านเมืองว่า ถ้าใครคนหนึ่งสมัครเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง หรือสมัครเป็นทหาร ก็แปลว่า เขากระทำโดยสมัครใจ(มีเจตนายินยอม) หนี้การเมืองหรือหนี้หมู่คณะ จึงเกิดขึ้นได้โดยความยินยอมดังกล่าวนั้น  แต่สำหรับประชาชนทั่วไป อาจารย์รอลส์เห็นว่า พวกเขาไม่มีหนี้การเมืองหรือหนี้สังคม เพราะไม่ใช่พันธะผูกพันโดยตรงของเขา และไม่รู้ว่าใครมาก่อหนี้เข้าไว้  เว้นเสียแต่ว่า ประชาชนผู้นั้นสมัครใจ ที่จะรับภาระหนี้ชนิดนี้เอง  และการรับภาระหนี้ความภักดีต่อชาติ บ้านเมือง สังคม กลุ่ม พวก เผ่าพงศ์วงวานดังกล่าวนั้น ก็ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นอันเป็นสากล หรือสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาในสังคม

          ความคิดคัดค้านหนี้ความภักดี มีอยู่อีกประเด็นหนึ่ง คือ มีผู้ค้านว่า หนี้ความภักดีที่จริงเป็นการแสดงออกซึ่ง ความเห็นแก่ตัวแบบกลุ่ม(collective selfishness)  จึงเกิดปริศนาขึ้นมาค้านว่า ความเห็นแก่ตัว  สมควรได้รับการให้เกียรติ ถือเป็นข้อศิลธรรม ละหรือ?  จะไม่ใช่การแบ่งแยกรังเกียจเดียดฉันท์กันละหรือ?

          ศ.แซนเดล จัดกลุ่มอภิปรายกลุ่มเล็ก ๆ ขึ้นมาในห้องเรียน  กลุ่มหนึ่งสนับสนุน/เห็นด้วยกับความภักดีต่อชุมชน หรือหนี้ชุมชน  อีกกลุ่มหนึ่งคัดค้าน

          พวกที่เห็นด้วยกับหนี้ความภักดี/หนี้ชุมชน อภิปรายว่า ความรักชาติ/รักพวก/รักชุมชน ไม่ต้องมีความยินยอม เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ตัวตนของคน  ความรักชาติ-ไม่ถือว่าเป็นความอยุติธรรมต่อชาติอื่น ความรักบิดามารดาของเรา-ไม่ถือว่าเป็นความอยุติธรรมต่อบิดามารดาผู้อื่น  และเราไม่ได้ “เลือก” บิดามารดา เช่นเดียวกับที่ เราไม่ได้ “เลือก” ชาติกำเนิด

          นักศึกษาชื่อ เอ เจ กุมาร์ เห็นว่า ฉันเป็นหนี้ครอบครัวฉัน มากกว่า ที่ฉันเป็นหนี้ชุมชน ฉันเป็นหนี้ชาติบ้านเมือง มากกว่า เป็นหนี้มนุษย์ชาติทั่วไป เพราะว่าชาติบ้านเมืองมีส่วนอย่างสำคัญใน ความเป็นตัวตนของฉัน  การที่ฉันรักชาติบ้านเมืองไม่ได้แปลว่า ฉันมีจิตใจลำเอียงต่อชาติอื่น ฉันใดก็ฉันนั้น การที่ฉันรักพ่อแม่ก็ไม่ได้แปลว่า ฉันเป็นคนใจลำเอียง ต่อบิดามารดาผู้อื่น   

          นักศึกษาอีกคนหนึ่ง มีความเห็นแย้ง ว่า ถ้าเขาเกิดเป็นพลเมืองเยอรมันนาซี เมื่อแปดสิบปีที่แล้ว และเขาก็ได้รับประโยชน์จากการกระทำของนาซี  แต่เขาก็ไม่เห็นว่า เขาจะต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนี้พวกนาซี แต่ประการใด  

          นักศึกษาหญิงผู้หนึ่ง ลุกขึ้นอภิปราย(เวลาวีดีโอ 34:54)ว่า เธอเห็นว่า เราจะพูดได้ว่าเรามีหนี้สังคม ด้วยเหตุผลเรื่อง ต่างตอบแทน (หรือ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน) “reciprocity” ก็เพราะว่า เรามีส่วนร่วมในสังคม ด้วยการเสียภาษีอากร ด้วยการไปลงคะแนนเสียง  เพราะฉะนั้นเราก็พูดได้ว่าเรามีหนี้สังคม  แต่ถ้าเกินไปกว่านี้ เธอไม่เห็นว่าจะมีอะไรอาจมาผูกพันเป็นพันธะกรณีได้  เพราะเพียงแต่เราเป็นสมาชิกอยู่ในสังคมอย่างเดียว ไม่อาจกล่าวได้ว่าเราเป็นหนี้อะไรต่อสังคมนั้น  หากว่าสังคมให้อะไรต่อเรา เช่น ปกป้องคุ้มครองเรา ให้ความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิต อย่างนี้ก็บอกได้ว่าเราเป็นหนี้สังคม  แต่เราก็จะไม่เป็นหนี้สังคมเกินไปจากที่เรา “ให้” (หรือเรียกว่า “มีส่วนร่วม”) กับสังคม

          นักศึกษาชาย ชื่อเป็นภาษาสเปนว่า ราอูล(ภาษาอังกฤษ ก็คือ ราฟ) ลุกขึ้นอภิปรายที่เวลา 35:24 ว่า เราคงไม่อาจยื่นเช็คศิลธรรมเปล่า(blank check) ให้สังคมนำไปเขียนตามใจ  แต่ถ้าเราสละพื้นที่ ไม่ยอมมีส่วนร่วมกับชีวิตสังคม -ไม่มีความรับผิดชอบทางสังคม  เมื่อนั้น ก็เท่ากับเราได้ยื่นเช็คเปล่าให้สังคม เช่นเราเห็นว่า การอภิปรายเรื่องชาตินิยมไม่สำคัญ เพราะชาตินิยมเป็นสิ่งชั่วร้าย  คิดเสียอย่างนั้นแล้ว เราก็ถอยหนีไป  คนอื่นที่อาจมีความคิดสุดโต่ง จะเข้ามาแทนที่ ในพื้นที่อันเราควรจะได้ยืนอยู่ แล้วเขาก็อาจหาทางบีบบังคับสังคม/ชุมชน 

          ศ.แซนเดล เสนอความเห็นว่า ประเด็นการอภิปราย น่าจะคมขึ้นได้ ถ้าได้เห็นตัวอย่างกรณีที่ความภักดีต่อส่วนย่อย ต้องเผชิญหน้า กับศิลธรรมส่วนรวม แล้วในที่สุดความภักดีต่อส่วนย่อย มีน้ำหนักมากกว่า ศิลธรรมส่วนรวม(สิ่งที่ส่วนรวมเห็นว่า “ดี”)

          ซึ่งนักศึกษาผู้หนึ่งลุกขึ้นยกตัวอย่างว่า ถ้าตนรู้ว่ารูมเมท-เพื่อนร่วมห้องในหอพัก-ของตนโกงการบ้าน  ตนก็จะไม่ฟ้องเพื่อน ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ  ความคิดนี้มีเพื่อนนักศึกษาลุกขึ้นมาสนับสนุน โดยให้เหตุผลว่า การรายงานความผิดของรูมเมท เท่ากับได้ใช้ข้อมูลภายใน insight information ไปทำร้ายเขา-ซึ่งไม่ยุติธรรม--มีนักศึกษาแสดงความเห็นประเด็นนี้กันหลายคน

          ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างนักการเมืองรัฐแมสซาชูเซตส์ นายบิลลี่ บัลเจอร์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาแห่งรัฐ และตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์  ซึ่งมีพี่ชายเป็นอันธพาลระดับหัวหน้าแก้ง พี่ชายถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับคดีฆาตกรรมหลายคดี  เมื่อนายบิลลี่ บัลเจอร์ ถูกอัยการเชิญไปสอบปากคำต่อหน้าคณะลูกขุน  นายบิลลี่ ปฏิเสธไม่ยอมบอกว่า พี่ชายอยู่ที่ไหน  อัยการถามว่า คุณบิลลี่ บัลเจอร์ คุณภักดีต่อพี่ชายคุณ มากกว่าประชาชนชาวรัฐแมสซาชูเซตส์ทั้งมวลหรือ?  นายบิลลี่ ตอบว่า ผมไม่ได้คิดในแนวนั้น เพียงแต่ผมมีความรักภักดีต่อพี่ชายจริง ผมเป็นห่วงเป็นใยเขา และผมไม่มีพันธะทีจะนำใครที่ไหน ไปจับพี่ชายผม

          ตัวอย่างจากประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ได้แก่ กรณีของนายพลโรเบิร์ต อี. ลี ซึ่งปฏิเสธเมื่อประธานาธิบดีลิงคอล์น เสนอให้เขาเป็นแม่ทัพของกองทัพฝ่ายเหนือ ขณะที่สงครามกลางเมืองอเมริกันกำลังก่อหวอด  ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวของมลรัฐฝ่ายใต้ อันเป็นฝ่ายบ้านเกิดของเขา  (ครั้นสงครามเกิดขึ้นแล้ว-เขากลับไปเป็นแม่ทัพให้กับฝ่ายใต้ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ฝ่ายใต้ แยกตัวออกไปจากสหรัฐฯ)

          สรุปว่า ระหว่างความภักดีต่อส่วนเล็กกับส่วนใหญ่ การอภิปรายในห้องเรียนยังหาหลักการเป็นที่ยุติไม่ได้ว่า ภักดีต่อส่วนเล็กอันเฉพาะเจาะจง ดีกว่าส่วนใหญ่อันเป็นสากล หรือส่วนใหญ่ดีกว่าส่วนเล็ก หรือว่าน่าจะมีหลักการอื่นมาตัดสินเรื่องนี้ แทนที่จะยึดหลักเรื่องของขนาด(เล็ก/ใหญ่)

          ศ.แซนเดล ชวนให้พวกเรามองหานัยยะอันเนื่องด้วยความยุติธรรม จากการอภิปรายในชั้นเรียนครั้งนี้  ความกังวลลึก ๆ ที่แฝงอยู่ ได้แก่ การอ้างเหตุผลที่ดูเหมือนว่าจะหาหลักแห่งความยุติธรรมไม่พบ หมายความว่า ความยุติธรรมที่แปลกแยกไปจากอุดมการณ์ของชุมชน ดูเหมือนว่า จะเป็นไปไม่ได้

          ถ้าหากว่า เหตุผลของพวกชุมชนนิยมถูกสมมติว่า เราสามารถพักเรื่องสิทธิกันไว้ได้ก่อนเวลาที่สิทธิต้องแข่งกับอุดมการณ์สังคม  สมมติว่า สิทธิกับอุดมการณ์ของสังคมเป็นเรื่องเดียวกัน(แปลว่า สิ่งที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์สังคม ไม่ใช่ “สิทธิ”)  ฉะนี้แล้ว ก็แปลว่าความยุติธรรมเป็นเพียง “เด็กสร้าง” หรือ “เด็กในคาถา” ของจารีตประเพณี  ความยุติธรรมต้องขึ้นอยู่กับค่านิยม หรือเรื่องที่สังคมในขณะนั้นให้คุณค่า

          ตามครรลองดังกล่าว  ศ.แซนเดล อ้างข้อเขียนของ ไมเคิล วอลสเตอร์ ที่บ่งไว้ชัดแจ้ง ดังนี้
         
                   “ความยุติธรรม มีลักษณะสัมพัทธ์ และขึ้นอยู่กับนัยยะของสังคม
                   สังคมใดจะยุติธรรมได้ ก็ต่อเมื่อชีวิตที่เป็นรูปธรรมในสังคมนั้น
                   ดำเนินไปตามครรลองคลองธรรม อันสอดคล้องกับ
                   ความเข้าใจร่วม ของสมาชิกทั้งหลาย”

                                                          --ไมเคิล วอลเซอร์

                   “Justice is relative to social meanings.
                   A given society is just if its substantive
                   life is lived in a certain way, in a way
                   that is faithful to the shared
                   understandings of the members.”

                  --Michael Walzer

          ศ.แซนเดล ตีความ ความคิดของอาจารย์ ไมเคิล วอลเซอร์ ว่า ก็ในเมื่อเราไม่สามารถหาหลักยุติธรรม ที่เป็นอิสระจากครรลองคลองธรรมที่สังคมในบัดนั้นเห็นว่าดี  เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากความยุติธรรมอันสอดคล้องกับความภักดี หรือความซื่อสัตย์ต่อความเห็น ต่อการให้คุณค่า ต่อค่านิยม หรือต่อจารีตประเพณีในเวลานั้นของสังคม/ชุมชน  แต่ศ.แซนเดล ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า เพียงเท่านั้นพอแล้วหรือ ในการคิดคำนึงถึงความยุติธรรมของเรา?
 
          ศ.แซนเดล ขอให้เราลองพิจารณาคลิปสั้น ๆ จากสารคดีที่สร้างสมัยทศวรรษ 1950s เกี่ยวกับความเห็นของชาวภาคใต้(ของสหรัฐฯ) ผู้ศรัทธาจารีตประเพณีการแบ่งแยกผิว  และมีความภักดีต่อจารีตประเพณีดังกล่าว  ข้อความในวีดีโอ ความว่า

                   “.....แผ่นดินนี้ ประกอบด้วยความสำนึกอันต่างกันสองสำนึก
                   คือสำนึกของคนผิวขาว กับสำนึกของคนผิวสี  และฉันก็มีชีวิตอยู่
                   ใกล้ชิดกับทั้งสองสำนึก  บัดนี้ เขาบอกฉันว่า พวกเราต้องเปลี่ยนแปลง
                   ความคิดความอ่านเสียใหม่  การเปลี่ยนความคิดดังกล่าวมาไวกว่าที่
                   ฉันคาดมาก  ฉันถูกบังคับให้ตัดสินใจตามแนวคิดใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับ
                   ฉัน  มันยากกับฉันและยากกับคนใต้ทุกคน” 

                   “…..this land is composed of two different conscience,
                   a white conscience and a colored conscience, and I’ve lived
                   close to them all my life. But I’m told now that we must
                   change. This change is coming faster than I’ve expected. And
                   I’m required to make decision on the basis of a new way of
                   thinking, and it’s difficult. It’s difficult for me and it’s difficult
                   for all southerners.”

          ศ.แซนเดล ตั้งคำถามกับนักศึกษาว่า  เราไม่อาจนำความยุติธรรมไปผูกไว้กับความภักดีหรือความซื่อสัตย์ต่อค่านิยม หรือจารีตประเพณีในสังคม อย่างนั้นหรือ?

          หรือว่า วีดีโอดังกล่าว แสดงให้เราเห็นว่า เรายังพอมีทางที่จะผูกความยุติธรรมเข้ากับค่านิยมหรือจารีตประเพณี?    


-------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 11/12 part 2 ความภักดี เป็นศิลธรรมทางแพ่ง ใช่หรือไม่?
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 11 เชิญตามลิงก์ครับ


วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

HV 11/12 part 1 ข้อเรียกร้องของสังคม-ชุมชน ความภักดี-อยู่ที่ไหน



---------------------------------------------------

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

“ฉันถือกำเนิดมา พร้อมด้วยเรื่องราวจากอดีต
                             ดังนั้น การที่จะตัดตัวเอง ขาดจากอดีต
                             ก็เท่ากับบิดเบือนปัจจุบัน ของตัวฉันเอง”
                                                                              Alasdair MacIntyre
นักปรัชญาการเมืองยุคปัจจุบัน-ชาวสก็อต

----------------------------------------------------

ข้อเรียกร้องของสังคม-ชุมชน
The claim of community
Episode 11 part 1

ความเห็น อันขัดแย้งกัน ระหว่างคานต์กับอะริสโตเติล – ทั้งนี้ คานต์เห็นว่า 1)ความคิดอันยุติธรรมในเรื่องสิทธิ ที่ระบุว่า คนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ภายในกล่องได้ ตามครรลองที่ตนเห็นว่าดีว่างาม  กับ 2)การวางระบบกฎหมายและหลักความยุติธรรม ไว้กับแนวคิดเรื่องชีวิตที่ดีงาม ครรลองใดครรลองหนึ่ง เป็นการเฉพาะนั้น(การสร้างกล่อง)  คานต์เห็นว่า สองเรื่องนี้ เป็นคนละเรื่องกัน

โดยที่ เรื่องที่สอง(การสร้างกล่อง) เป็นแนวคิดของ อะริสโตเติล ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “การเมือง” ว่า การที่จะเสาะหา “กฎรัฐธรรมนูญ ที่เป็นอุดมคติ” เราจำต้องคิดหา “วิธีดำเนินชีวิตที่ดี” ให้ได้เสียก่อน(หากล่อง)

คานต์ ไม่เห็นด้วยกับ อะริสโตเติล  เพราะคานต์มองว่า การส่งเสริม “วิธีดำเนินชีวิตที่ดี” วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียว(ส่งเสริมกล่อง ๆ เดียว) ขัดต่อหลักเสรีภาพ

ศ.แซนเดล ได้ตั้งประเด็นว่า ความแตกต่างทางความคิดสองแนวนี้ ชี้ให้เห็นหลักปรัชญาสำคัญหลักหนึ่ง คือ ในที่สุดแล้ว ความคิดทั้งสองแบบมุ่งไปสู่ปฐมภูมิที่ว่า เสรีชน คือ คนเช่นไร?  (เป็นการพยายามมองทะลุกล่อง และทะลุการหากล่อง)

สำหรับ อะริสโตเติล เสรีภาพ หมายความว่า เราสามารถที่จะได้สำแดงศักยภาพของตัวเราเอง อันจักนำเราไปสวมบทบาทอันเหมาะสมแก่ตน(fit)  ซึ่งเป็นความเหมาะสมระหว่างบุคคลกับบทบาท(หรือตำแหน่งทางสังคม -- หรือคนกับกล่อง)  เพราะฉะนั้น เราก็ต้องรู้ตัวเองกันก่อนว่า เราเป็นอย่างไร - เหมาะกับอะไร  การดำเนินชีวิตอย่างเสรี จึงมีความหมายว่า เรามีเสรี -- เพราะเรามีโอกาสได้สำแดงศักยภาพเต็มที่ ได้เป็นคนเต็มคน เต็มตามศักยภาพ เช่น เกิดมามีศักยภาพเป็นนายท้ายเรือ  ต่อมาไปสวมบทบาทอันเหมาะสมแก่ตน(fit) ได้เป็น พันท้ายนรสิงห์ เป็นต้น  นี่คือเสรีภาพ ตามความคิดอะริสโตเติล (คือ มีเสรีภาพ ที่จะได้ไปลงกล่อง เด้ะ)

เอ็มมานูเอล คานต์ ไม่เห็นด้วยว่า ชีวิตตามความคิดอะริสโตเติล จะเป็นชีวิตที่มีเสรีภาพ  คานต์เสนอแนวคิดเรื่อง เสรีภาพอันเคร่งครัด ของเขา คือ คานต์เห็นว่า เสรีภาพแปลว่า สามารถที่จะปฏิบัติอย่าง อัตโน-อนุมัติ  เสรีภาพของคานต์หมายความว่า ทำตามกฎ ที่ฉันตั้งให้กับตัวฉันเอง เสรีภาพ คือ เป็นตัวของตัวเอง หรือ freedom = autonomy

(ประเด็นนี้ บางท่านอาจสงสัยว่า งั้นก็แปลว่า ทำตาม ”อำเภอใจ” ล่ะซี?  ซึ่งผู้สรุปภาษาไทยมีความเห็น จะถูกหรือจะผิด ก็สุดแล้วแต่ท่านผู้อ่านและท่านผู้รู้จะตรองเอาเอง--อาจจะผิดก็ได้ คือ ผู้สรุปภาษาไทยเห็นว่า อัตโน-อนุมัติ ของคานต์ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ เพราะตามความหมายภาษาไทย การทำอะไรตามอำเภอใจส่อความหลักลอย  แต่อัตโน-อนุมัติ ของคานต์ ไม่ใช่ประพฤติหลักลอย - มีหลักอยู่ครับ  แต่ว่า เป็นหลักหรือกฎ ที่ตนเองเห็นชอบด้วย แล้วจึงค่อยปฏิบัติตาม)

ศ.แซนเดล กล่าวว่า ความคิดของคานต์ เย้ายวนน่านับถือ และทรงพลังทางศิลธรรม(=แปลว่า เป็นความคิดที่ดี) ตรงที่ถือว่า บุคคลได้แก่ตัวตนอันเป็นเอกเทศ ผู้รู้ผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตนเอง และสามารถที่จะเลือกจุดหมายปลายทางของตน ได้เอง

ศ.แซนเดล ชี้ต่อไปว่า ภาพที่ว่า บุคคลมีตัวตนเป็นเอกเทศ อิสระ มีเสรี ชวนให้เราโล่งใจและเกิดวิสัยทัศน์อันปลดปล่อย ปล่อยวาง  เพราะว่า ในฐานะเสรีชนผู้รู้ดีรู้ชั่วได้เอง(a free moral person)นั้น เราปลอดจากอดีตพันธะ ปลอดจากหนี้ทางประวัติศาสตร์  เป็นอิสระจากขนบธรรมเนียมประเพณี และไม่มีฐานะเป็นผู้รับมรดกใด ๆ ที่เราไม่ได้เลือกเอง  เพราะฉะนั้น เราไม่มีหนี้ทางศิลธรรมจรรยาใด ๆ ทั้งนั้น ถ้าเป็นหนี้ที่เราไม่ได้เลือกรับไว้ด้วยตนเอง นี่คือสภาพของบุคคลผู้เป็นเอกเทศ เป็นอิสระ และมีเสรี    

พวกชุมชนนิยม – the communitarian – วิจารณ์เสรีนิยมแนวคานต์กับรอลส์  แต่ทั้งนี้ ก็โดยยอมรับในเบื้องต้นก่อน ว่า แนวคิดเสรีนิยมของคานต์และรอลส์น่านับถือ มีคุณลักษณะส่งเสริมกำลังใจ เพราะมีความเห็นเรื่องเสรีภาพว่า ตัวตนของคนเป็นตัวตนอิสระ ไม่ขึ้นต่อใคร  คนเลือกกระทำการต่าง ๆ ด้วยตนเอง  สิ่งที่พวกชุมชนนิยมไม่เห็นด้วย แสดงโดยข้อแย้งที่ว่า เสรีนิยมแนวคานต์และรอลส์ มองบางสิ่งบางอย่างผิดพลาด  คือ มองข้ามมิติทั้งมิติของชีวิตเชิงศิลธรรมและชีวิตการเมือง 

กล่าวคือ เสรีนิยมแบบคานต์และรอลส์ ไม่สามารถประเมินความหมายของประสบการณ์เชิงศิลธรรมในชีวิตคน – (ประสบการณ์เชิงศิลธรรม หมายความถึง ประสบการณ์ชีวิตที่เกิดจากการตัดสินว่า อะไรดีอะไรชั่ว – ผู้เขียนคำสรุปภาษาไทย) เหตุที่เสรีนิยมแบบคานต์และรอลส์ ไม่อาจจับต้องประสบการณ์เชิงศิลธรรมในชีวิตคนได้นั้น ก็เพราะว่า ไม่สามารถประเมินพันธะกรณี(หรือหนี้) หรือ obligations เชิงศิลธรรมและการเมือง ที่บุคคล รับรู้ร่วมกัน  และบางทีก็ เล็งเห็นคุณค่าร่วมกัน

หนี้เชิงศิลธรรม และหนี้การเมือง ดังกล่าวนั้น มีอะไรบ้าง?

เช่น พันธะกรณี หรือหนี้แห่งการมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่ง หรือหนี้การเป็นสมาชิก หนี้ความภักดี หนี้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และหนี้ความผูกพันทางจิตใจ  หนี้หรือพันธะกรณี หรือ obligations เหล่านี้ เรียกร้องเอาจากตัวเรา โดยอ้างอิงอาศัยเหตุผล ที่เรามิอาจสามารถสาวไปหาความยินยอมในส่วนของเราเองได้ ว่า เราได้ยินยอมให้หนี้นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร?

นักปรัชญาศิลธรรม และปรัชญาการเมือง ยุคปัจจุบัน นาย Alasdair Chalmers MacIntyre ซึ่งเป็นชาวสก็อต เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอังกฤษและอเมริกัน  ได้พยายามตีประเด็นนี้โดยเสนอเรื่อง “ความเป็นตัวตนของคน” เสียใหม่ ว่า

                   “คนเรา ..... โดยเนื้อแท้แล้ว เป็นสัตว์ที่มีตำนาน
                   ซึ่งหมายความว่า ฉันจะตอบคำถาม ว่า
                   จะให้ฉันทำอะไรได้  ก็ต่อเมื่อ
                   ฉันสามารถตอบคำถามก่อนหน้านั้น  ที่ถาม ว่า
                   ฉันเป็นส่วนหนึ่ง อยู่ในเรื่องราว เรื่องใด?’ “

                                                          อะลัสแดร์ แม็คอินไตร์

“Man is … essentially a story-telling animal.
That means I can only answer the question
‘what am I to do?’ if I can answer
the prior question of ‘what story or stories do
I find myself a part?’ “

Alasdair MacIntyre

อาจารย์แม็คอินไตร์ เห็นว่า ความเป็นตัวตนของคนเรา จะปรากฏเป็นตัวตนขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อ อยู่เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวสักเรื่องหนึ่ง – a narrative conception of the self  คือว่า ตัวตนของคนจะต้องอยู่ในตำนาน ในพงศาวดาร ในนิทาน ในนิยาย ในเรื่องราว ในกาละครั้งหนึ่ง.....

ถ้าปราศจาก “กาละครั้งหนึ่ง.....”  หรือ “กิระดั่งได้ยินมา.....”  มนุษย์ไม่สามารถจะปรากฏเป็นตัวเป็นตนได้  มนุษย์ไม่ใช่ลิง ที่เดินตะลุย ดุ่ย ๆ อยู่ในทุ่งหญ้า หรือนั่งกินกล้วยหยับ ๆ อยู่ในถ้ำเฉย ๆ โดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไม่มีเรื่องราวอะไร มาประกอบการวิ่ง การเดิน หรือการกินนั้น  มนุษย์ไม่ใช่มดง่าม ที่เที่ยวเดินพล่านอยู่บนลานดิน ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร  และมนุษย์ไม่ใช่ลูกตุ้มนาฬิกา ที่แกว่งไป-แกว่งมา 

คำถามเกิดขึ้นว่า แล้วความคิดนี้ เกี่ยวอะไรด้วย กับแนวคิดเรื่องความเป็นชุมชน ความที่เราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม  แม็คอินไตร์ แถลงว่า –

                   “ฉันไม่มีทาง ที่จะแสวงหา คุณงามความดี
                   หรือ แสดงออก ซึ่งคุณสมบัติใด ๆ ในฐานะ
                   ส่วนตั๊วส่วนตัวจริง ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับใครเลย ได้ดอก ... เราต่างก็เข้าถึง
                   สถานการณ์ชีวิต ในฐานะผู้ทรงเอกลักษณ์
                   เฉพาะอย่าง บางอย่างบางประการทางสังคม  เช่น ฉันเป็น
บุตรชาย หรือบุตรสาว ของใครคนใดคนหนึ่ง ฉันเป็น
ประชาชนพลเมือง ของเมืองนั้นเมืองนี้
ฉันเป็นคนสังกัดก๊กนี้ เผ่าพันธุ์นั้น หรือประเทศโน้น”
                                                        
อะลัสแดร์ แม็คอินไตร์




                             “ I am never able to seek for the good
or exercise the virtues only qua
individual … we all approach our
own circumstances as bearers of
a particular social identity. I am
someone’s son or daughter, a citizen
of this or that city. I belong to this
clan, that tribe, this nation.”

                                                                   Alasdair Macintyre

                   “ด้วยประการฉะนี้ อะไรที่ดีแก่ฉัน ก็ย่อมจะต้อง
                   ดีแก่คนอื่นอีกบางคน ผู้ที่จะรับทอดสืบสานบทบาทเหล่านี้
                   เช่น ฉันรับทอดอดีตของโคตรเง่าฉัน เมืองฉัน
                   เผ่าพงศ์ฉัน หมู่เหล่าฉัน ประเทศฉัน ในรูปลักษณ์ของหนี้นานาชนิด
                   มรดกหลายประเภท ความใฝ่ฝัน คาดหวังนานาประการ
                   และ พันธะกรณี(หนี้)ต่าง ๆ นานา”
                  
อะลัสแดร์ แม็คอินไตร์

“Hence, what is good for me has to
be the good for someone who
inhabits these roles. I inherit from
the past of my family, my city,
my tribe, my nation a variety of debts,
inheritances, expectations
and obligations.”

                                                                   Alasdair Macintyre

                   สิ่งเหล่านั้น ประกอบเข้าด้วยกัน เป็นชีวิตฉัน
                   เป็นความสำนึกผิดชอบชั่วดีขั้นปฐมภูมิ ของฉัน
นี่เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ชีวิตฉัน มีสำนึกผิดชอบชั่วดี อันมีลักษณะเฉพาะตัว”
                                                          อะลัสแดร์ แม็คอินไตร์

                             “These constitute the given of my life,
                             my moral starting point. This is,
in part, what gives my life its moral particularity.”

                                                                    Alasdair Macintyre

ศ.แซนเดล สรุปว่า ที่กล่าวไปนั้น เป็นแนวคิดเรื่องตัวตน ที่ถือว่า ตัวตนต้องมีตำนาน-หรือมีเรื่องราวมาประกอบ ตัวตนเปลือยเปล่า ตัวตนแบบดุ่ย ๆ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์  ทฤษฎีนี้ถือว่า อย่างน้อยที่สุด บางส่วนของตัวตนของคน ประกอบด้วยหนี้ประวัติศาสตร์ หรือหนี้ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือหนี้ชุมชน  ซึ่งตัวตนนั้น ๆ เกิดมาเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น  มิฉะนั้น มนุษย์เรา จะไม่อาจสร้างสำนึกในชีวิต หรือเกิดความรู้สำนึกตนได้ ไม่ว่าในเชิงจิตวิทยา หรือเชิงความสำนึกรู้ดีรู้ชั่ว  

อนึ่ง มนุษย์จะไม่อาจตอบคำถาม ว่า จะให้ฉันทำอะไรได้ ถ้ามนุษย์ทำเป็นปฏิเสธ ถ้ามนุษย์ทำเป็นแสร้งแลไม่เห็น ภาคส่วนหนึ่งในตัวตนของคนเรา อันได้แก่ ภาคส่วนเรื่องหนี้ ที่เรามี ต่อชุมชน สังคม หมู่เหล่า ที่เราสังกัดอยู่

อาจารย์ แม็คอินไตร์ รับทราบว่า ลักษณะของตัวตนตามครรลองนี้ ขัดกับปรัชญาเสรีนิยมและปรัชญาปัจเจกนิยมแห่งโลกปัจจุบัน 

เพราะปัจเจกนิยมปัจจุบัน เชื่อว่า ฉันคือคนที่ฉันเลือกที่จะเป็น  เชิงชีวะวิทยาฉันอาจเป็นบุตรของคุณพ่อฉัน แต่จะให้ฉันต้องรับผิดชอบ ต่อสิ่งที่พ่อฉันได้ทำลง—หาได้ไม่  เว้นไว้แต่ว่าฉันจะเลือกที่จะรับผิดชอบเอง  และจะให้ฉันต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ประเทศฉันทำ หรือเคยได้ทำลงไปแล้วในอดีต—ก็หาได้ไม่  เว้นแต่ว่าฉันเลือกที่จะยอมรับความผิดความชอบนั้น ด้วยตัวฉันเอง         

อาจารย์แม็คอินไตร์ กล่าวว่า ความคิดดังกล่าว ส่อถึงความตีบตื้นทางศิลธรรม(การรู้ผิดชอบชั่วดี) กระทั่งอาจจะส่อถึง ความมืดบอดทางศิลธรรมด้วยซ้ำ  เป็นความบอดที่ไร้ความรับผิดชอบ  ซึ่งบางครั้งความรับผิดชอบในชีวิตมนุษย์ พัวพันไปถึงความรับผิดชอบของกลุ่ม หรือความรับผิดชอบเชิงสังคมส่วนรวม  อันอาจย้อนหลัง และย้อนรอย ลึกและไกลไปถึงความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ด้วย

อาจารย์แม็คอินไตร์ ยกตัวอย่างว่า ปัจเจกนิยมชนิดตีบตื้นตาบอดนี้ แสดงออกโดยชาวอเมริกันร่วมสมัยบางคน ผู้มักกล่าวว่า ตนไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อเรื่อง ทาสคนดำในอดีต เพราะตัวเองตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยมีทาสกะเขาซะหน่อย  หรือคนหนุ่มสาวเยอรมันผู้เชื่อว่าการที่ตนเกิดมาหลังปี 1945 แปลว่า สิ่งที่พวกนาซีกระทำกับยิว ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ส่งผลผูกพันเป็นความรับผิดชอบทางศิลธรรมมาถึงพวกตน  แม็คอินไตร์เห็นว่า ทัศนคติวางยาสลบประวัติศาสตร์ลักษณะเช่นนี้  มีค่าเท่ากับขอสละ ขอละบัลลังก์ทางศิลธรรม หรือขอหย่าขาด จากความคิดเชิงศิลธรรม หมายความว่า ฉันขอเป็นผู้ปลอดพันธะและปลอดภาระ ทางศิลธรรมทั้งปวง  ฉันเป็นผู้จุติขึ้นมาอย่างเปล่าเปลือย ล่อนจ้อนบริสุทธิ์

เมื่อเรารู้ว่า เราเป็นใครมาจากไหน เรามีพันธะกรณี หรือมีหนี้ อะไรบ้าง ประเด็นความเป็นมาของตัวตนเรา ก็ไม่อาจจะแยกออกได้จากเรื่องราวประวัติศาสตร์ ที่มีบทบาทกำหนดนิยามตัวตนของเรา  และอันที่จริงแล้ว ก็ไม่พึงจะแยกสองเรื่องนี้ออกจากกัน
         
          “ความโดดเด่นของแนวคิดตัวตน ที่อนุวัตรตามเรื่องราว-ตำนาน
          นั้นชัดแจ้ง เพราะเรื่องราวชีวิตฉัน
          ย่อมฝังอยู่กับ เรื่องราวตำนานของสังคม-ชุมชน
          ซึ่งฉันสืบทอดเอกลักษณ์มา”
         
          “ฉันถือกำเนิดมา พร้อมด้วยอดีต
          ดังนั้น การที่ฉันจะตัดตัวเอง ขาดจากอดีตดังกล่าว
          ก็เท่ากับบิดเบือนภาวะปัจจุบัน ของฉันเอง”

                             “The contrast with the narrative view
                             of the self is clear. For the story of
                             my life is always embedded in the
                             story of those communities from
                             which I derive my identity.”
                                              
                             “I am born with a past, and to try to
                             cut myself off from that past is to
                             deform my present relationships.”

                                                Alasdair MacIntyre

[ผู้สรุปภาคภาษาไทย ขออนุญาตท่านผู้อ่าน ยกตัวอย่างว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการจัดพิธีขอขมาลาโทษกัน ระหว่างผู้นำเนเธอแลนด์กับชาวอินโดเนเซีย โดยผู้นำเนเธอร์แลนด์รับผิดว่า เนเธอร์แลนด์ได้กระทำทารุณกรรม ละเมิดสิทธิชาวอินโดเนเซีย ระหว่างที่เป็นผู้ปกครองอาณานิคม  อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่กรณีที่จีน เรียกร้องให้ญี่ปุ่น ขอโทษและรับผิด กรณีการทารุณกรรมต่อคนจีนเมื่อครั้งมายึดเมืองนานกิง ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  กรณีนี้ผู้เขียนมีเพื่อนคนไทยผู้หนึ่ง เขามีภรรยาเป็นคนญี่ปุ่น เขาถือเป็นหน้าที่ ที่จะแก้แทนญี่ปุ่นในกรณีนี้  เขาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า กองทัพญี่ปุ่นมีความกลัว มีความประหวั่นพรั่นพรึง และจิตใจหวั่นไหว น่าสงสารอย่างไร  ระหว่างที่กำลังลุยเมืองจีน ก็เลยกระทำทารุณลงไป ด้วยความกลัวแท้ ๆ]

ศ.แซนเดล ขอฟังความเห็นนักศึกษาที่มีต่อ “พรรคพวกนิยม” (-ชุมชนนิยม) กับ “ปัจเจกนิยม” (-โดดเดี่ยวดุ่ย ๆ นิยม)  โดยศ.แซนเดล ขอแปลงความคิดให้เป็นรูปธรรมเสียก่อน ด้วยการยกตัวอย่าง  เพื่อไม่ให้แนวความคิดเป็นทฤษฎีเกินไป แล้วจึงให้นักศึกษาแสดงความเห็นต่อตัวอย่างรูปธรรมนั้น ๆ  แล้วแต่ว่า นักศึกษาผู้ใด จะถือปรัชญาแนวใด

สำหรับแนวเสรีนิยม แง่คิดเชิงศิลธรรมและการเมือง เกิดขึ้นได้สองทาง คือ ทางหนึ่ง – ถือเป็นหน้าที่ - ที่เราเป็นหนี้มนุษยชาติ  ถือเป็นหน้าที่ - ที่เราต้องเคารพต่อความเป็นคน พันธะข้อนี้เสรีนิยมถือว่า เป็นหนี้อันเป็นสากล  อีกทางหนึ่ง – แง่คิดเชิงศิลธรรมและการเมือง จะเป็นดังที่อาจารย์ รอลส์ ว่าไว้ คือ เป็นหนี้ที่เราเจตนารับไว้ด้วยตนเอง เรามีพันธะต่อบุคคลอื่นบางคนเป็นการเฉพาะตัว เพราะเราได้ตกลงไว้กับเขา สัญญากันไว้ หรือให้คำมั่นไว้

ณ จุดนี้ มีประเด็นใหม่เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องตัวตน ระหว่างพวกเสรีนิยม กับ พวกชุมชน(พรรคพวก)นิยม  คือเกิดปัญหาว่า แล้วหนี้ชนิดที่สามมีหรือไม่?

ฝ่ายพวกชุมชนนิยมเห็นว่า ตัวตนมนุษย์มีหนี้ประเภทที่สาม  ได้แก่ หนี้น้ำหนึ่งใจเดียว หรือหนี้ความภักดี หรือหนี้ความเป็นส่วนหนึ่ง-การเป็นสมาชิกอยู่ในสังคม-ชุมชน  ปรัชญาแนวชุมชนนิยมเห็นว่า พวกที่ยึดว่า ตัวตนมนุษย์มีหนี้สองประเภท – หนี้ตามธรรมชาติ กับหนี้ตามเจตนา พลาดข้อเท็จจริงประเภทที่สาม อันได้แก่ หนี้ความภักดี/หนี้น้ำหนึ่งใจเดียว/หนี้การเป็นสมาชิก  หนี้ประเภทที่สามนี้ มีพลังทางศิลธรรมคอยยึดเหนี่ยวตัวตน ซึ่งหากทำเป็นไม่รับรู้เสียแล้ว ก็จะทำให้เราไม่เข้าใจตัวเอง เฉกเช่นที่เราเป็นอยู่จริง

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างพันธะของการเป็นสมาชิก ชนิดที่ตัวเรามิได้ให้ความยินยอม หรือไม่ได้สมัครใจมาแต่แรก ได้แก่ การเป็นสมาชิกครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับบิดรมารดา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตร

สมมติว่า เด็กสองคนกำลังจมน้ำตาย เราสามารถช่วยชีวิตเด็กได้ เพียงหนึ่งคนในสองคนนั้น  ปรากฏว่า คนหนึ่งเป็นลูกเราเอง ส่วนเด็กอีกคนหนึ่ง เป็นลูกใครก็ไม่รู้  เรามีพันธะที่จะต้องต้องปั่นแปะเพื่อดูผลหัวก้อย ก่อนจะลงมือช่วยชีวิตเด็ก คนใดคนหนึ่ง  หรือว่าความรู้สึกทางศิลธรรมแห่งการเป็นสมาชิกครอบครัว ชี้ฟันธงมาเลยว่า เราต้องช่วยชีวิตลูกเรา 

แต่ กรณีนี้นักศึกษาอาจแย้งว่า บิดามารดาได้ตกลงยินยอมมาก่อนแล้ว ที่จะมีบุตร  ความสัมพันธ์เชิงพ่อแม่กับลูก จึงเป็นพันธะที่พ่อแม่ “เลือก” เอง  ศ.แซนเดลได้ขอเปลี่ยนตัวอย่าง เป็นว่า มีคนแก่สองคนกำลังจะจมน้ำตาย คนหนึ่งเป็นพ่อหรือแม่เรา  ส่วนอีกคนเป็นบิดาหรือมารดาของคนแปลกหน้า  กรณีช่วยพ่อแม่ที่กำลังจะจมน้ำตายนี้  เราไม่อาจสืบสาวความสัมพันธ์ อันเกิดจากความยินยอม/หรือการเลือก ได้  เพราะว่าเราไม่ได้ “เลือก” พ่อแม่  ศ.แซนเดล บอกว่า ที่จริง เราไม่ได้เลือกที่จะมีบิดามารดาด้วยซ้ำ เราเกิดมาไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างทางการเมืองบ้าง  ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเยอรมันยึดครองฝรั่งเศส ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดดินแดนฝรั่งเศส ภาคที่เยอรมันยึดครองอยู่  ในบรรดานักบินสัมพันธมิตร ก็มีคนฝรั่งเศสอยู่ด้วย  ครั้งหนึ่ง นักบินที่เป็นชาวฝรั่งเศสได้รับมอบหมายให้บินไปทิ้งระเบิดหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเมื่อเขารู้รายละเอียดในแผนที่แล้ว พบว่า เป็นบ้านเกิดตัวเอง เขาปฏิเสธที่จะบินไปทิ้งระเบิดเที่ยวนั้น โดยให้เหตุผลว่า การที่เขาจะบินไปทิ้งระเบิดคนในหมู่บ้านเขาเอง เขาถือเป็นการกระทำอาชญากรรมทางศิลธรรม  แม้ว่าจะกระทำลง เพื่อวัตถุประสงค์ใหญ่ที่เขาก็เห็นด้วย คือ การปลดปล่อยฝรั่งเศสให้เป็นอิสระ จากการยึดครองของกองทัพนาซี ก็ตาม

ศ.แซนเดล ถามว่า เราชื่นชมนักบินฝรั่งเศสคนนั้นหรือไม่  ถ้าเรานึกนิยมเขา ก็แปลได้ว่า เราเป็นคนที่เห็นด้วยกับหนี้ชุมชน หรือหนี้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว

อีกตัวอย่างหนึ่ง ไม่นานมานี้ เมื่อเกิดภาวะอดอยากขึ้นในประเทศเอธิโอเปีย รัฐบาลอิสราเอลได้จัดเครื่องบินบรรเทาทุกข์ บินไปรับคนยิวเอธิโอเปียนับพันคนมาอยู่ในอิสราเอล แต่คนเอธิโอเปียอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยิว จำนวนแสนคน ถูกเพิกเฉยเพราะอิสราเอลไม่อาจช่วยคนทั้งประเทศเอธิโอเปียได้  การกระทำนั้น เป็นการเลือกที่รักมักที่ชังหรือเปล่า หรือว่ารัฐบาลอิสราเอลเห็นว่า ตนมีพันธะหนี้ชุมชน/หนี้ความเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนยิวด้วยกัน  ดังนั้น เที่ยวบินบรรเทาทุกข์เพื่อคนยิวในเอธิโอเปีย ก็เกิดขึ้นเพื่อสนองหนี้นั้น

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างกรณีชุมชนที่กว้างออกไป คือ เรื่องความเป็นชาติ  ที่ชายแดนรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา มีเมือง ๆ หนึ่งชื่อเมืองแฟรงคลิน แต่เมื่อข้ามแม่น้ำเล็ก ๆ ที่กั้นพรมแดนไปฝั่งเม็กซิโก ก็มีเมืองชื่อแฟรงคลินเหมือนกัน อยู่คนละฝั่งแม่น้ำกัน  แต่ทำไมคนอเมริกัน จึงรู้สึกว่า มีพันธะที่จะให้บริการสุขภาพ การศึกษา การสวัสดิการต่าง ๆ ต่อชาวเมืองแฟรงกลิน รัฐเทกซัส มากกว่าที่จะใส่ใจกับ ชาวเมืองแฟรงคลิน ในเม็กซิโก?  

ตามความเห็นของแนวคิดชุมชนนิยมแล้ว การที่เราสังกัดอยู่กับกลุ่มเพื่อนผองน้องพี่ หรือสมาชิกภาพของเรา ในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เป็นสิ่งมีค่า  ดังนั้น ชาตินิยมจึงมีสิทธิที่จะเป็นคุณงามความดีอย่างหนึ่ง หรือเป็นข้อศิลธรรมข้อหนึ่ง ในฐานะที่ชาตินิยมเป็นการแสดงออกซึ่งหนี้ หรือพันธะ ของการเป็นพลเมือง

ศ.แซนเดล ถามนักศึกษาว่า ใครเห็นคล้อยตามความคิดที่ว่า หนี้หรือพันธะชนิดที่สาม อันได้แก่ พันธะแห่งการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน/หนี้สมาชิกภาพ  และใครไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น  เพราะเห็นว่า หนี้หรือพันธะของมนุษย์ รวมอยู่ในหนี้สองประเภทแรกหมดแล้ว  นักศึกษาสองสามคนได้ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็น กรณีที่ หนี้ต่อครอบครัว ขัดแย้งกับ หนี้ชุมชน/ประเทศชาติ  ซึ่งประเด็นนี้ จะได้อภิปรายกันต่อไปในคราวหน้า


---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 11/12 part 1and2 ข้อเรียกร้องของสังคม-ชุมชน ความภักดีอยู่ที่ไหน
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 11 เชิญตามลิงก์ครับ