open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

นำเที่ยว สถานีรถไฟ ที่สำคัญที่สุดในโลก...(ขนาดนั้น)

รายการวีดีโอนำเที่ยว สั้น ๆ กำลังนำท่านไปยังสถานีรถไฟ ที่สำคัญที่สุดบนแหลมมลายู และบนโลก...

ก่อนอื่น ก่อนจะถึงสถานีนั้น ข้างล่างนี่คือ สถานีรถไฟ ยูเนี่ยน สเตชัน ในนครชิคาโก ที่ผู้เขียนเคยใช้บริการหลายครั้ง เมื่อเป็นนักเรียนที่นั่น  เพื่อเดินทางไป กรุงวอชิงตัน ในช่วงปิดภาคเรียน...

จะเดินทางไปกับรถด่วน แคปปิตอล ของการรถไฟแห่งอเมริกา(แอมแทรค - Amtrak) แล่นระหว่าง ชิคาโก-วอชิงตัน ดีซี  ออกจาก ยูเนียน สเตชัน แห่งนี้ เวลาย่ำค่ำ ถึงวอชิงตัน ประมาณแปดโมงเช้า...



แนะนำ อีกสถานีหนึ่ง ด้านล่างคือสถานีรถไฟ บอร์โดส์ เมืองบอร์โดส์ ฝรั่งเศส ที่ผู้เขียนเคยใช้บริการหลายครั้ง เมื่อเป็นนักเรียนที่นั่น เดินทางเข้ากรุงปารีส  ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง  ขึ้นขบวนรถด่วนกลางคืน ออกจากบอร์โดส์ ค่ำ ๆ ถึงปารีสช่วงเช้าที่สถานี โอสแตลิท...

ต่อมาเขามีรถไฟความเร็วสูง เตเจเว(TGV) บอร์โดส์-ปารีส ใช้เวลาสามชั่วโมง เดี๋ยวนี้วิ่งเร็วขึ้นอีกเป็น 320 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเพียงสองชั่วโมง




แต่ว่า สองสถานีข้างบนนั้น จิบจ้อย ไม่ใช่สถานีสำคัญที่สุดในโลก(สำหรับผู้เขียน) สุดท้ายนี่สิ สำคัญที่สุดในโลก... โปรดชมวีดีโอที่ถ่ายทำเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง  ให้สังเกตต้นมะขามเฒ่า ด้านขวามือ อยู่หลังสถานี...มะขามเฒ่าต้นนั้น มีมาก่อนผมเกิด


ขออภัย เพื่อความปลอดภัย จากการรบกวนของเจ้าหนี้ทั้งหลาย และเพื่อความเป็นส่วนตัว  จึงได้ยกกล้องขึ้นฟ้า ไม่ให้ชื่อสถานีปรากฏ (โธ่ ชื่อนั้น สำคัญไฉน?) นี่คือ สถานีที่บ้านผมเอง...


วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

หมู่บ้าน ชื่อกวนตีน ถึงสามภาษา...

เป็นยังงัย มายังงัย? หมู่บ้านอะไร?

หมู่บ้านนี้ ชื่อภาษาไทย-เขมร-มลายู ว่า "เขา พนม แบก"
พนม ภาษาเขมรแปลว่า ภูเขา เช่น เขา พนม รุ้ง(หรือ รุ่ง)

แต่ เขา พนม แบก คำเขมรว่า พนม ไม่ได้มาจากกัมพูชาโดยตรง แต่ขึ้นมาจากด้านใต้บนแหลมมลายู ดินแดนมาเลเซียตอนเหนือ กาลครั้งหนึ่ง เคยขึ้นกับเขมร จึงมีคำเขมรเหลืออยู่ในภาษามลายู เช่น ภูเขา ที่มลายูตอนเหนือ จะไม่เรียก กุหนุง แต่เรียกว่า "พนม"



เช่นเพลงอินโดฯ แม่น้ำโซโล (เบิก กะ วัน โซโล) ที่เวลาวีดีโอ 1:44 ศิลปินร้องว่า 

terkurung gunung seribu แปลว่า อยู่ในโหมง(หุบเขา)พันลูก 

ภูเขาคือ กุหนุง(gunung) อันเป็นคำสามัญเรียกภูเขาในภาษามลายู-อินโดฯ 


นอกจากนั้น มาเลเซียตอนเหนือยังเรียก "หมู่บ้าน" เป็นภาษาเขมร ว่า "กัม ปง" อีกด้วย 

ปกติ หมู่บ้าน ในภาษามลายู-อินโดฯ เขาเรียก เด-ซา มีคำเขมรอยู่ในภาษามลายู-อินโดฯปัจจุบัน คือ คำว่า "กบาล เดซา" คือ กบาลของหมู่บ้าน แปลว่า ผู้ใหญ่บ้าน

เขา พนม แบก  เป็นคำ "พนม" ที่ขึ้นมาจากมาเลเซียตอนเหนือ มากับชุมชนมุสลิม หมู่บ้าน "เขา พนม แบก" แต่ดั้งเดิมเป็นชุมชนมุสลิม ตอนเด็ก ๆ ผู้เขียนมีอาอยู่คนหนึ่ง เรียกแกว่า "อาเซ็น" แกเป็นมุสลิมมาจากบ้านเขาพนมแบก  

แต่ว่า งานบวชพี่ชายผู้เขียน แกก็มางาน บอกไป แกก็มา...

นอกจากมีบรรพบุรุษเป็นจีนฮกเกี้ยน ดั้งเดิมอยู่ที่อำเภอท่าชนะแล้ว ผู้เขียนก็มีบรรพบุรุษเป็นคนแขก(มุสลิม) มาจากนครศรีธรรมราช  คุณตาทวดเล่าให้ฟัง...เป็นชาวนา  แล้วก็ไม่ได้ประกอบวีรกรรมอะไรในประวัติศาสตร์ดอก คุณตาทวดเล่าว่า หนีทหารมา...อยู่ที่หลังสวน  ที่ตัวยังมีรอยสัก ซึ่งก็แปลว่าเป็นพวกเลกไพร่  คือพวกไพร่ที่เขาสักตัวเอาไว้เรียกใช้งาน  หนีมาอยู่ที่บ้านท่าแขก 

ที่มาเลเซียตอนเหนือ สมัยขึ้นกับไทยก็ต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง แสดงความเป็นเมืองขึ้น  ภาษามลายูเขาเรียก "ดอกไม้ทอง" เฉย ๆ คือ ต้องทำ "บุหงา มาส" ส่ง  และทำกันเป็นงานพิธีใหญ่

(บุหงา-ดอกไม้  มาส-ทอง เช่น ตันหยงมาส = พิกุลทอง)



วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560

นำเที่ยว เขาสง ทิวเขายาวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

เขาสง ไม่ใช่ เขาสก-ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติบริเวณเขื่อนเชี่ยวหลาน
(รัชชประภา)

แต่เขาสง เป็นทิวเขายาวหลายกิโลเมตร ขนานไปกับทางรถไฟสายใต้ระหว่างสถานีท่าชนะ เรื่อยลงใต้ไปทางสถานีเขาพนมแบก หัวเขาที่ท่านเห็นอยู่ไกล ๆ ด้านขวามือในวีดีโอ คือ หัวเขาสง ในอำเภอท่าชนะ




การสร้างทางรถไฟสายใต้นั้น ไม่ใช่เรื่องซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา แต่เป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าใครอยากจะศึกษาภาคสนาม เป็นกรณีศึกษา(case study)เกี่ยวกับการแผ่อำนาจอิทธิพล ของนักล่าอาณานิคม นักเลงโต สมัยก่อน อันได้แก่ อังกฤษ  บทเรียนเรื่องนี้ยังคงใช้ได้ดีสำหรับอนาคต...แม้นักเลงโต จะเปลี่ยนตัว

การศึกษากรณีนี้ละเอียด อาจทำให้เราเห็นใจญี่ปุ่นสมัยนั้นมากขึ้น ว่าทำไมญี่ปุ่นจึงลุกขึ้นมาไล่ฝรั่งไปจากแหลมมลายู...

รถไฟสายใต้ไม่ได้สร้างตรงจากกรุงเทพฯลงไป มีบางส่วนสร้างขึ้นมาจากข้างใต้ ซึ่งสมัยนั้น ไทรบุรี(เคดาห์ ในปัจจุบัน)ยังขึ้นกับไทย ผมมีมิตรอาวุโส เป็นคนไทยที่ตกค้างอยู่ที่ไทรบุรี ปัจจุบันท่านถือสัญชาติมาเลเซีย และรับราชการงานวิชาการกับรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อไม่กี่ปีนี้ยังได้เจอกันเลย

คนไทยพวกนี้ไม่เกี่ยวกับคนไทยในหมู่บ้านคนไทยสองสามหมู่บ้านในรัฐกลันตัน ซึ่งถูกเทครัวมาจากเชียงรุ่ง ถ้าจำไม่ผิด ผมเคยไปเที่ยวมาสองครั้ง ไปที่เมืองหลวงของกลันตัน คือ โกตาบารู แล้วนั่งรถเมล์ไป  โกตาบารู แปลว่า โกตา=ในเมือง หรือเมือง บารู=ใหม่  โกตาบารู คือ เมืองใหม่





กลันตัน อยู่ทางฝั่งตะวันออกของมาเลย์เซีย เหนือขึ้นมาจาก ปะหัง ที่ถือกันว่า เป็นมาเลเซี้ย-มาเลเซีย ที่สุดในบรรดารัฐมาเลย์ทั้งหลาย โปรดสังเกตว่า ทีมตะกร้อระดับชาติของมาเลเซีย จะมาจาก รัฐปะหัง

การสร้างทางรถไฟสายใต้ช่วง สถานีชุมพร ไปจังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงตอนที่เกี่ยวกับบ้านผม และเขาสง คือช่วงสถานีชุมพร ไป สถานีบ้านนาเดิม(ปัจจุบัน ท่านตัดคำว่า "เดิม" ออก เหลือแค่ สถานีบ้านนา อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี) ช่วงนี้เริ่มสร้าง ปีพ.ศ. 2453

เส้นทางเฉียดผ่านหัวเขาสง ชนิดเกือบจะเอื้อมมือไปแตะภูเขาได้ ถ้าไม่กลัวมือหัก โปรดชมในวีดีโอ จะเห็นหัวเขาเป็นหน้าผาหินปูน สูงชัน อยู่ใกล้ ๆ เส้นทางรถไฟ และเห็นทิวเขายาวเหยียดลงใต้หลายกิโล

เมื่อไม่นานมานี้เอง ท่านจะยังเห็นร่องรอยทางรถไฟเก่า ตรงไปยังเขาสง เพื่อขนหินที่ระเบิดแล้ว มาถมทำทางรถไฟช่วงนี้ 

อนึ่ง การสร้างทางรถไฟสายใต้ น่าจะเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ สำหรับผู้ที่ศึกษาขั้นสูง เกี่ยวกับเอเซียอาคเนย์ในมหาวิทยาลัยอังกฤษ เช่น ที่เคมบริดจ์  จะได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลซึ่งปัจจุบันเปิดเผยหมดแล้ว แหล่งข้อมูลอาณานิคมที่สำคัญแหล่งหนึ่ง อยู่ที่กัลกัตตา นะจ้ะ ปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ดูแลแหล่งข้อมูลดังกล่าว 

กัลกัตตา เป็น เมืองหลวงของอาณานิคมอังกฤษ มายาวนาน  ส่วนเดลลี เป็นเมืองหลวงระยะหลัง ๆ ก่อนได้รับเอกราชสามสิบกว่าปี  ในอดีตมีการเดินรถไฟด่วนเดลลี-กัลกัตตา ที่เรียกว่า ขบวนรถไฟ "ราชธานี" ซึ่งยังคงอยู่จนทุกวันนี้ และคำว่า "ราชธานี" ได้กลายพันธ์ุเป็นชื่อรถด่วน ที่เชื่อมเมืองหลวงของทุกรัฐ เข้ากับกรุงนิว เดลลี

วิดีโอ ขบวนรถด่วน เฮาราห์ ราชธานี (เชื่อม กรุงเดลลี กับ กัลกัตตา) ในปัจจุบัน




หมายเหตุ - คนที่ยืนอยู่ข้างทางรถไฟ แบกเป้ สวมเสื้อตาสก็อต ในช่วงท้ายวีดีโอ
ไม่ใช่ผมนะครับ อย่าเข้าใจผิด...







บ้านภูเขาไฟเก่า ดึกดำบรรพ์ : บ้านดวด


เวลานั่งรถไฟผ่านสถานีบ้านดวด ยามหน้าหนาว สมัยที่หลังสถานียังเป็นท้องทุ่ง จะมองเห็นภูเขาลูกเล็ก มีควันขึ้นโขมง ควันนั้นคือ ไอน้ำร้อน

เขาเล็ก ๆ ลูกนั้นชื่อ เขาพลู ซึ่งไม่ใช่เขาหินปูนอย่างที่เราจะพบเห็นได้ทั่วไปในภาคใต้ แต่เป็นเขาหินภูเขาไฟ  แต่ละก้อนจะมีรูพรุนอยู่โดยรอบ เกิดจากหินหลอมละลายด้วยความร้อนที่สะดือโลก แบบว่าไฟนรก แล้วระเบิดดันทะลุเปลือกโลกบริเวณบ้านดวดขึ้นมา กลายเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ เมื่อหลายพัน หรือหลายหมื่นปีก่อน....


อายุเขาพลู นักประวัติศาสตร์หรือนักโบราณคดีคงกำหนดไม่ได้  ต้องเป็นนักธรณีวิทยา จึงอาจจะคะเนอายุได้ ตามหลักวิชาของเขา

ก้อนหินใหญ่น้อยที่มีรูพรุน กองอยู่กับพื้นเชิงเขาพลู ซึ่งเวลานี้ อบต.ที่นั่น ทำทางโบกปูนไว้ให้คนเดินได้โดยรอบเขา  บนเขามีถ้ำใหญ่อยู่หนึ่งถ้ำ เขาทำบันไดให้เดินขึ้นไปได้ สบาย ๆ ไม่น่ากลัว

แผ่นดินบริเวณนั้น ยังคงร้อนระอุ น้ำใต้ดินเป็นน้ำร้อน เขาขุดบ่อน้ำร้อนไว้หลายบ่อ และทำห้องอาบน้ำ กับสร้างสระกว้างแต่ตื้น ปูกระเบื้องอย่างดี ไว้ให้คนลงไปแช่น้ำร้อนได้ ว่ากันว่าเป็น "วารีบำบัด" ที่แก้ไขได้หลายโรค ทั้งโรคจิตโรคประสาท และโรคผิวหนัง ตลอดจนปวดไขข้อ และปวดบั้นเด้า (แปลว่า บริเวณกระดูกเชิงกราน กระมัง? ดูซิดู ยิ่งเขียนยิ่งอุบาทว์)

พวกที่เป็นประสาท ๆ ไปอาบแล้วหายประสาท สติกลับมาบ้องแบ๊วเหมือนเดิม

ส่วนพวกที่ปวดบั้นเด้า ไปอาบมาแล้ว กลับมาเด้าจะไม่ปวด เขาลือกันอย่างนั้น ยังไม่ได้พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ยังเจือไสยฯ นิด ๆ เชื่อก็เชื่อ ไม่เชื่ออย่าเชื่อ

รีบ ๆ ไปอาบกันซะนะ สักวันหนึ่ง มันอาจจะระเบิด พวยพุ่งขึ้นมาอีกก็ได้ ใครจะตรัสรู้  ดูแต่สุนามิซี ยังเกิดได้เลย  อย่างไรก็ดี บ้านและสวนผมอยู่ห่างจากภูเขาไฟเก่าลูกนี้ ประมาณสิบห้ากิโลเมตร คะเนว่าเป็นระยะห่างที่ปลอดภัย....แต่ไม่ถึงกับชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์