open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

Village Life: พญาครุฑ กับสถาบันการเมืองการปกครอง

คติพราหมณ์เรื่อง พระวิศณุเป็นใหญ่ หรือ “ไวษณพนิกาย” ในศาสนาพราหมณ์ อ่านว่า ไว-สะ-นบ-นิ-กาย  มาจากสันสกฤต เขียนด้วยเทวนาครี ว่า “ वैष्णववाद

ศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ที่เรามักจะพบทั่วไปเวลานี้ เป็นนิกายที่ถือองค์ พระศิวะ เป็นใหญ่  จึงเป็นคนละแนวคิดกันกับ ไวษณพนิกาย

พระราชาราชวงศ์คุปตะองค์สำคัญ อันได้แก่ พระเจ้าจันทรคุปตะที่สอง ทรงนับถือไวษณพนิกาย  และกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะหลายพระองค์ ก็นับถือนิกายเดียวกันนี้  พระเจ้าจันทรคุปตะที่สอง ครองราชย์ ประมาณ ค.ศ. 380-415  มีพระนามที่รู้จักกันทั่วไป อีกนามหนึ่งว่า จันทรคุปตะ วิกรมาทิตย์  เขียนด้วยเทวนาครี ว่า चंद्रगुप्त विक्रमादित्य 

ศาสนาพราหมณ์นิกายนี้ สนับสนุนส่งเสริมการเมืองการปกครองแนว “ราชา เป็นสง่าแห่งแคว้น”  คือสนับสนุนระบอบราชาธิปไตย  คล้อยตามความเชื่อที่ว่า พระวิศณุ จะอวตารลงมาเป็นผู้ปกครองอยู่ในเมืองมนุษย์ การอวตารที่มีชื่อเสียง คือ อวตารเป็น พระราม ในเรื่องรามเกียรติ ซึ่งเป็นอวตารที่เจ็ด ของพระวิศณุ

สาม ท็อปเทพ ของฮินดู คือ พระวิศณุ พระพรหมณ์ และพระศิวะ โดยพระพรหมณ์เป็นผู้สร้าง พระวิศณุเป็นผู้รักษา และพระศิวะเป็นผู้ทำลาย

พระกฤษณะเป็นอวตารที่แปดของ พระวิศณุ อาจเทียบเป็นปัจจุบันได้กับว่า ได้อวตารเป็น ประธานาธิบดี โอบามา เพราะ กฤษณะ แปลว่า ดำ  อย่างไรก็ดี มเหสีของพระกฤษณะ คือ लक्ष्मी หรือ พระลักษมี นั่นเอง-ไม่ต้องตกใจ  เธอไม่ใช่ มิแชล

พื้นฐานความศักดิ์สิทธิ์และเฮี้ยนของพระกฤษณะ ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ มหาภารตะ กับคัมภีร์ต่อเนื่องอีกเล่มสองเล่ม  นอกจากนั้น ในกาลต่อมา ท้าวเธอ พระกฤษณะ ยังปรากฏในคัมภีร์ ภควคีตา เล่มที่สิบและสิบเอ็ด

พาหนะของพระวิศณุหรือพระนารายณ์ คือ ครุฑ สันสกฤตเขียนด้วยเทวนาครี ว่า गरुड   เพราะฉะนั้น ครุฑจึงศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย  อย่างไรก็ดี ครุฑ โดยตัวของตัวเอง ก็เป็นเทพองค์หนึ่งอยู่แล้ว ไม่ใช่นกธรรมดา การได้เป็นพาหนะของพระวิศณุ ยิ่งเสริมบารมีให้พญาครุฑ พลอยยิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปกันใหญ่  เหมือนกับที่ช้างเอราวัณ ได้เป็นพาหนะของพระพรหมณ์ และโคนันทิ เป็นพาหนะของ พระศิวะ

การพลอยใหญ่ตามนายนั้น ถ้าจะให้ดี ตัวเองต้องมีวีรกรรมด้วย ซึ่ง ครุฑ ก็ได้ร่วมรบกับพระกฤษณะ อันเป็นอวตารหนึ่งของพระวิศณุ โดยครุฑได้บินนำพระกฤษณะ ไปปราบยักษ์ชั่วร้ายนามว่า नरक असुर  หรือ นรกอสูร  เรื่องราวปรากฏอยู่ใน มหาภารตะ ดังภาพ



ในแง่มุมของปรัชญาการเมืองการปกครอง ในลำดับต่อมา ครุฑ ก็ได้กลายเป็นตราแผ่นดินของสองประเทศ คือ ประเทศอินโดเนเซีย และประเทศไทย
                                                                             


ครุฑ-ตราแผ่นดิน ประเทศอินโดเนเซีย                                           ครุฑ-ตราแผ่นดิน ประเทศไทย

ทั้งนี้เพราะราชวงศ์ชวาสมัยโบราณ ได้รับนับถือเรื่องพระนารายณ์ หรือพระวิศณุ เป็นใหญ่เช่นเดียวกันกับคติความเชื่อที่ไทยรับมา และราชวงศ์ชวาสมัยโบราณเกี่ยวดองเป็นญาติ กับราชวงศ์ที่เคยปกครองดินแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่เมืองไชยา ประเด็นนี้บันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ชวา          

ศาสนาพราห์มณ์ลัทธิพระนารายณ์เป็นใหญ่ หรือไวษวณพนิกาย ได้เดินทางจากลุ่มแม่น้ำกฤษณา เข้ามาในแผ่นดินทีเป็นประเทศไทยปัจจุบัน โดยเข้ามาอยู่ในดินแดนภาคใต้ก่อน ประมาณจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลุ่มแม่น้ำตาปี และจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน  เมื่อประมาณหนึ่งพันปี ก่อนกรุงสุโขทัย ตามหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่พิสูจน์ได้ในเวลานี้ เราคงต้องเชื่ออย่างนี้ไปก่อน จนกว่าจะมีการค้นพบหลักฐานอื่นมาหักล้าง

พิสูจน์?

แบบว่า ลุ่มแม่น้ำกฤษณา เป็นดินแดนของสกุลช่างสกุลหนึ่งของอินเดีย นักประวัติศาสตร์ศิลป์ยุคหลังขนานนามว่าสกุลช่าง อมราวดี (अमरावती)



พระนารายณ์รูปนี้ มีอายุประมาณหนึ่งพันปีก่อนกรุงสุโขทัย  พบที่นครศรีธรรมราช นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ เห็นว่าเป็นรุ่นเดียวกับพระนารายณ์ ที่พบที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งก็หมายความว่า เป็นสกุลศิลป์จากลุ่มแม่น้ำกฤษณา เช่นเดียวกัน แต่ว่า งานสร้างนั้น ทำขึ้นในพื้นที่ภาคใต้เอง

เทวรูปพระนารายณ์รูปนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ถูกจัดว่างไว้โดดเด่นดังภาพ(สี)





และยังมีเทวรูปพระนารายณ์อีกองค์หนึ่ง พบที่วัดพระเพลิง อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ลักษณะการปั้น(แกะสลัก)เช่นเดียวกับสองรูปนี้

อนึ่ง บางท่านอาจสงสัยเช่นเดียวกับผู้เขียน ว่าคำว่า กฤษณะ กับ กฤษณา เขียนเหมือนกันหรือไม่ในภาษาแขก ตอบว่า เขียนไม่เหมือนกัน

กฤษณะ เขียนว่า कृष्ण   ส่วนกฤษณา เขียนว่า  कृष्णा

โปรดสังเกตความแตกต่างกันเอาเอง อย่าให้ต้องบอกละเอียดทุกประเด็น คนเราโต ๆ กันแล้ว

          ส่วน แม่น้ำกฤษณา ก็จะเขียนว่า  कृष्णा नदी


ข้าพเจ้าไปอินเดียมาสามสี่ครั้ง ได้เดินทางจากตะวันออกสุดไปตะวันตกสุด ของดินแดนภารตะ ภาคที่อยู่ด้านเหนือทิวเขาวินธัย ดังที่พรรณนาไว้ในเพลงชาติอินเดีย ตอนหนึ่งว่า

          विंध्य हिमाचल
यमुना गंगा
          ภูเขาวินธัย  ภูเขาหิมาลัย
          แม่น้ำยมุนา แม่น้ำคงคา

และบังเอิญ ว่า ข้าพเจ้าอ่านเทวนาครีออกอยู่บ้าง  ข้าพเจ้าจึงไม่รู้สึกรกหูรกตากับแผ่นป้ายตามท้องถนน และตามสถานีรถไฟ ในภูมิภาคอินเดียเหนือ...

แต่ข้าพเจ้าไม่รู้จักดินแดนภารตะ ที่อยู่ใต้ลงไปจากทิวเขาวินธัย ซึ่งวางขวางแบ่งภูมิประเทศออกเป็นอินเดียเหนือ กับอินเดียใต้  ข้าพเจ้าเคยมีคนที่นับถือเป็นญาติห่าง ๆ แบบว่าห่างมาก อยู่เมืองวิสาขะปัทนัม ในรัฐอันตระประเทศ  แต่ใต้สุดเท่าที่ข้าเจ้าเคยลงไปคือ เมืองภูพาเนชวาร์ ในรัฐโอริสสา  ลุ่มน้ำกฤษณาอยู่ทางใต้ลงไปอีก เพราะฉะนั้นบทความชิ้นนี้เขียนจากการค้นคว้า ไม่ใช่จากประสบการณ์

และ ครุฑ เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมไทยภาคกลาง ได้อย่างไร?  ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ...แบบว่า
ไม่รู้อ่ะ

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ตอน 17 ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัย เยล จอห์น ล็อค ตอน 3/3


Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย

ทฤษฎีการเมืองการปกครอง ของ จอห์น ล็อค ตอน 3/3
Constitutional Government: Locke's Second Treatise (13-19)


ในขั้นนี้ ศ.สมิธ จะเน้นความคิดของ ล็อค ส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของ “อำนาจบริหาร” ในทฤษฎีการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้โดยเฉพาะอำนาจบริหารเมื่อเผชิญหน้ากับอำนาจนิติบัญญัติ  หลังจากนั้นในเรื่องที่สอง ศ.สมิธ จะหันไปมองเทียบเคียงความคิดของล็อค กับระบอบการเมืองการปกครองอเมริกันปัจจุบัน

ตลอดมา เรื่องที่ล็อคย้ำก็คือ ระบบการเมืองการปกครองที่มีขอบเขต มีการตีกรอบ เขาเห็นชอบกับการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ  นิกายการเมืองของล็อคคือนิกายที่ต้องมีการตรวจสอบ ถ่วงอำนาจ ซึ่งกันและกัน  อย่างไรก็ดี ล็อค เน้นอำนาจนิติบัญญัติเป็นสำคัญ  ซึ่งสอดคล้องกับระบอบการเมืองการปกครองของอังกฤษปัจจุบัน ที่เรียกว่า “parliamentary supremacy” หรือจะแปลอย่างง่าย ๆ ลำลองได้ว่า “รัฐสภาเป็นใหญ่”

วัตถุประสงค์ของการเมืองการปกครอง(หรือรัฐบาล)สำหรับล็อค ไม่ใช่เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้บ้านเมืองเกิดกลียุค ถอยกลับไปหาสภาพธรรมชาติ ล็อค ไม่ได้ห่วงประเด็นนั้น แต่ห่วงว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นมาในบ้านเมือง(tyrannical or despotic power)

จะอย่างไรก็ตาม ลอ็ค ก็ไม่ได้ละเลยเรื่องอำนาจบริหาร ไม่ว่าอำนาจบริหารนั้นจะตกแก่พระมหากษัตริย์ เจ้าชาย หรือกลุ่มคน หรือคณะบุคคลใด ๆ  ล็อคมองอำนาจบริหารว่าเป็น “ผู้ทำการแทน” ให้แก่อำนาจนิติบัญญัติ หน้าที่ของอำนาจบริหารสายตาของล็อค ก็คือ นำเจตนาของอำนาจนิติบัญญัติมาทำให้ปรากฏเป็นรูปธรรม  อำนาจบริหารเป็นรองอำนาจนิติบัญญัติ

กระนั้น ล็อค ก็เข้าใจดีว่า ทุก ๆ ชุมชนสังคม จะมีเรื่องเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ล็อคเรียกอำนาจที่จะกระทำการเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพว่า the federative power โดยล็อคเห็นว่า ชุมชนสังคมแต่ละชุมชน ก็เหมือนบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีเรื่องเกี่ยวพันกับบุคคลอีกคนหนึ่ง  ชุมชนหนึ่งกับอีกชุมชนหนึ่งก็ “มีเรื่อง” ระหว่างกันได้ เพราะฉะนั้น the federative power จึงจำเป็นจะต้องมี เพื่อใช้เมื่อชุมชนวิวาทกัน  อำนาจนี้ล็อคเห็นว่าไม่ผูกพันกับตัวบทกฎหมายที่มีอยู่เดิม จะต้องว่ากันตามความเห็นของกลุ่มที่บริหาร ว่าผลประโยชน์ส่วนรวม – หรือผลประโยชน์สาธารณะ อยู่ที่ไหน คืออะไร ในบัดนั้น

อำนาจ the federative power นี้ตกแก่ฝ่ายบริหาร  สงครามและสันติภาพไม่ใช่เรื่องของอำนาจนิติบัญญัติ หรือกฎหมายที่มีอยู่เดิม แต่เป็นเรื่องของผู้นำในบัดนั้น ซึ่งเขาเรียกว่า God-like princes คือ เจ้าชายที่คล้ายเทพ ศ.สมิธ เห็นว่า ความคิดเรื่อง “เจ้าชายที่คล้ายเทพ” ของ ล็อค คล้ายกับความคิดของ มาเคียเวลลี ที่เคยพูดถึง “armed prophet” หรือ “ศาสดาที่ถืออาวุธ” กล่าวคือ ผู้ทรงอำนาจบริหารมี “เอกสิทธิ์” ที่จะกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม (เอกสิทธิ ในที่นี้ท่านใช้คำว่า prerogative) เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงขั้นนี้ ล็อค ก็ผ่อนคลายความเข้มงวดที่ว่าอำนาจบริหารขึ้นอยู่กับอำนาจนิติบัญญัติ กลายเป็นว่าอำนาจบริหารมี “เอกสิทธิ” ของตนเองในสถานการณ์สงครามและสันติภาพ หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีต้องฟังอำนาจนิติบัญญัติ

“เอกสิทธิ” ของอำนาจบริหารของล็อคนั้น เกิดจากการที่อำนาจนิติบัญญัติไม่สามารถเล็งเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าในอนาคตได้ ล็อค ยกตัวอย่าง กรณีเกิดไฟไหม้ในเมือง บางทีพนักงานดับเพลิงต้องตัดไฟไม่ให้ลุกลามใหญ่โต ด้วยการรื้อทำลายบ้านเรือนราษฎรทิ้งเสียบ้าง  เรื่องนี้เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม  ถึงแม้จะเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของคนก็ตาม

ศ.สมิธ ยกตัวอย่างในสหรัฐฯว่า บางครั้ง รัฐบาลก็ต้อเวนคืนทรัพย์สินของประชาชนสหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงเรียน สร้างสนามกีฬา หรือสร้างสนามบิน เป็นต้น

อำนาจในการกระทำการตามตัวอย่างข้างต้น คือ อำนาจที่เรียกว่า prerogative power หรือ “เอกสิทธิ” ของอำนาจบริหารในสายตาของล็อค ซึ่งศ.สมิธ ยกตัวอย่างเรื่องการที่สหรัฐฯกักกันผู้(ถูกกล่าวหาว่า)ก่อการร้ายที่กวนตานาโม(บนเกาะคิวบา) ตลอดจนการสอดแนมประชาชน โดยอ้างเรื่องการป้องกันการก่อการร้าย การใช้เอกสิทธิของอำนาจบริหารดังกล่าวนี้ มักจะมีปัญหาโต้แย้งกันเสมอ ว่าเป็นการเผด็จการหรือไม่?

ศ.สมิธ ยกตัวอย่าง นักปรัชญากฎหมายเยอรมันศตวรรษที่ 20 ชื่อ Carl Schmitt ผู้แสดงเหตุผลว่า การใช้อำนาจในยามวิกฤตเป็นประเด็นสำคัญในทางการเมืองการปกครอง  บุคคลก็ดีองค์กรทางการเมืองก็ดีที่มีสิทธิ/อำนาจ ที่จะประกาศใช้ “เอกสิทธิ” ของอำนาจบริหาร ได้แก่ บุคคลหรือองค์กรที่ทรงสิทธิเป็นรัฏฐะ(sovereign) และมีสิทธิใช้อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนุญ(extra constitutional power) เมื่อรัฐธรรมนูญก็ดี ตัวบทกฎหมายก็ดี ไม่มีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติการได้

แต่ ศ.สมิธ เสนอวิธีพิจารณาประเด็น เอกสิทธิ ของอำนาจบริหาร(prerogative power) อีกทางหนึ่งว่า บางทีการใช้อำนาจนี้อาจมีอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วก็ได้ ศ.สมิธให้พิจารณากรณีประธานาธิบดีลิงคอล์น ให้พัก habias corpus ในระหว่างสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ(ผู้สรุปภาษาไทย ไม่มีความรู้เรื่องนี้ ท่านผู้อ่านโปรดหาความรู้กันเอาเอง) ลิงคอล์นไม่ได้อ่างอำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญ แต่กลับอภิปรายว่า เอกสิทธิของอำนาจบริหารอนุญาตอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ลิงคอล์นอ้างรัฐธรรมนูญว่าอนุญาตให้กรณีเกิดการขบถ หรือประเทศถูกรุกราน ศ.สมิธ ถามนักศึกษาว่า ในปัจจุบันนี้เรา(สหรัฐฯ)กำลังอยู่ในภาวะถูกรุกราน หรือไม่?

แล้วถ้าเกิดกรณีใช้อำนาจโดยมิชอบขึ้นมาล่ะ?(abuse) ล็อคมีความเห็นว่าอย่างไร?

ล็อค เห็นว่า กรณีที่มีการใช้อำนาจบริหารที่เป็นอำนาจ “เอกสิทธิ” โดยมิชอบนั้น  ประชาชนไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากอุทธรณ์ขึ้นไปยัง “สวรรค์”(appeal to heaven) ซึ่งหมายความว่าให้ประชาชน ลุกขึ้นมาก่อการปฏิวัติ ล้มล้างรัฐบาล

เราเห็นแล้วว่า ล็อค พยายามจะสมานแนวคิดเข้าด้วยกันสองสามเรื่อง คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย กับเอกสิทธิ์ของอำนาจบริหาร และการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญ หมายความว่า เอกสิทธิของอำนาจบริหารแฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วใช้หรือไม่?  เรื่องเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น การสอดแนมประชาชน(หรือสิทธิส่วนตัวของประชาชน เป็นต้น

ศ.สมิธ เห็นว่า การที่ล็อค ให้ประชาชนอุทธรณ์ต่อสวรรค์(ให้ลุกขึ้นจับอาวุธล้มล้างรัฐบาล) นับได้ว่า ล็อค เป็นนักปฏิวัติกลาย ๆ ผู้หนึ่ง

อย่างไรก็ดี หลักการเมืองการปกครองที่ว่า อำนาจนิติบัญญัติต้องมาเหนือสุด(doctrine of legislative supremacy) กับ หลักเรื่องความยินยอม(doctrine of consent) ทำให้ล็อค มีชื่อเสียงในวงการนักประชาธิปไตย และนักประชาธิปไตยตกของ(radical democrats)  ส่วนหลักเรื่องการพิทักษ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล ก็น่าที่จะทำให้เขามีชื่อเสียงในกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มเสรีนิยม แนวคิดของล็อค ยังคงเป็นรากฐานของระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยทั่วไปในทุกวันนี้ และวิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยทั่วไปในเวลานี้โดยมาก ก็จะเป็นวิกฤตการณ์ ที่ตั้งอยู่บนรากฐานปรัชญาการเมืองการปกครองของ จอห์น ล็อค

ศ.สมิธ ตั้งประเด็นการบรรยายในลำดับต่อไป โดยโยงแนวคิดของล็อค กับการเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่า ล็อค มีอิทธิพลต่อความคิดของบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ(founding fahthers) เท่ากับล็อค มีส่วนช่วยก่อตั้งประเทศสหรัฐฯด้วยผู้หนึ่ง

แนวคิดของล็อค เรื่องกฎธรรมชาติ สิทธิ ความยินยอม สิทธิที่จะทำการปฏิวัติ เหล่านี้ล้วนเป็นเสาหลักความคิด ของระบอบการเมืองการปกครองสหรัฐฯ  การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการเมืองการปกครองสหรัฐฯ มีค่าเท่ากับวิจารณ์แนวคิดทางการเมืองการปกครองของ จอห์น ล็อค โดยปริยาย

ตลอดเวลาสองร้อยปีกว่าที่ผ่านมา ปรัชญาการเมืองของล็อค ที่ปรากฏรูปธรรมเป็นระบอบการปกครองของสหรัฐฯ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า ใช้การได้ดี  แต่ก็มีนักปรัชญาการเมืองจำนวนหนึ่ง ไม่มากนัก ที่มองว่าหลักการดังกล่าวยังบกพร่อง ศ.สมิธ ยกตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนขึ้นในยุค 1950s โดยนักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาการเมืองที่มีชื่อเสียง ชื่อ หลุยส์ ฮาร์ท หนังสือชื่อ “The Liberal tradition in America” วิจารณ์ว่า อเมริกาหลงใหลปรัชญา จอห์น ล็อค อย่างไร้เหตุผล หมายความว่า ลักษณะดังกล่าวนั้น ปิดกั้นแนวความคิดอย่างอื่นที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯเสียสิ้น

เช่น ทำไมแนวคิดเชิงสังคมนิยมจึงไม่เกิดขึ้นได้ในสหรัฐฯ  ทำไมการเมืองการปกครองสหรัฐฯจึงไม่พัฒนาไปตามแนวที่ยุโรปได้พัฒนา คือ เกิดแนวคิดและการเมืองแนวสังคมประชาธิปไตย หรือสังคมนิยม-ประชาธิปไตย  ทำไมสหรัฐฯไม่มีพรรคสังคมนิยม อย่างเช่น พรรคกรรมกรในอังกฤษ หรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยบนภาคพื้นยุโรป

ผู้เขียนหนังสือเล่มนั้น กล่าวหาว่า สหรัฐฯติดกับดักความคืดของ จอห์น ล็อค จนมืดบอดมองไม่เห็นความคิดทางการเมืองแบบอื่น นักวิจารณ์บางคนเห็นว่า การที่ล็อคยกย่องสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลไว้สูง มีผลโยงไปยังเศรษฐกิจแบบตลาด และยกย่องตลาดว่าเป็นตัวกำหนดคุณค่าทั้งหลาย เหนือคุณค่าอื่นใดหมด 

ในชั้นหลังนี้ ผู้วิจารณ์อีกกลุ่มหนึ่งในแนวชุมชนนิยม เห็นว่า การที่ล็อคเน้นเรื่อง “สิทธิ” และ “สิทธิอันพรากไปจากคนมิได้”(unalienable rights) มีลักษณะเป็นการมองการเมืองการปกครองในสายตาของนักนิติศาสตร์มากไป จนปิดกั้นไม่ให้มีการพิจารณาเรื่อง “สาธารณสมบัติ”(public goods) หรือสมบัติส่วนรวม ตลอดจนรูปแบบผลประโยชน์ส่วนรวมทั้งหลาย  เพราะฉะนั้น จะว่าไป ว่าปรัชญาการเมืองอเมริกันยอมรับล็อคเต็มที่ ปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ คงจะไม่ได้

ถึงปัจจุบันนี้ ศ.สมิธ เล่าว่า แนวคิดเสรีนิยมของ ล็อค ยังเผิชญกับการต่อต้านรูปแบบใหม่ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากแนวคิดเสรีนิยมเช่นเดียวกับล็อค ศ.สมิธ อ้างถึง หนังสือชื่อ “The Theory of Justice” ของนักปรัชญาการเมืองยุคปัจจุบันชื่อ จอห์น เราส์

หนังสือเล่มนี้ เป็นความพยายามที่จะสร้างความทันสมัยแก่แนวคิดรัฐเสรีนิยม โดยเริ่มจากทฤษฎีเรื่อง “สิทธิ”  หนังสือเล่มนี้เป็นแนวคิดแองโกล-อเมริกัน ที่สำคัญที่สุดในระยะหลัง ๆ นี้ ที่เริ่มจาก ล็อค เอมมานูเอล คานต์ และจอห์น สจวต มิลล์

จอห์น เราส์ เสนอ “ทฤษฎีความยุติธรรม” อันวางอยู่บนรากฐานของทฤษฎีเรื่องสิทธิ

โดยที่ ล็อค เขียนว่า
Every man has property in his own person. This nobody has any right to but himself and where there is property,” he writes, “there can be justice and injustice.”

“มนุษย์แต่ละคนต่างก็มีทรัพย์อันมีค่าอยู่ในตัว อันผู้อื่นจะมาถือสิทธิเอาไม่ได้ เว้นแต่ตัวเขาเองผู้เดียวเท่านั้น  และที่ไหนมีทรัพย์สิน ที่นั่นก็จะมีความยุติธรรม และความอยุติธรรม”

ส่วน จอห์น เราส์ เขียนว่า
Each person,” Rawls writes,”possesses an inviolability founded on justice that even the welfare of society as a whole cannot override. For this reason,” he continues, “justice denies that the loss of freedom for some is made right by a greater good shared to others.”

“บุคคลแต่ละคน เป็นเจ้าของสิ่งอันละเมิดมิได้ ที่วางอยู่บนรากเหง้าแห่งความยุติธรรม อันแม้แต่สวัสดิภาพภของสังคมส่วนรวมทั้งสังคม ก็จะมาลบล้างเสียมิได้  ด้วยเหตุนี้ ความยุติธรรมจึงปฏิเสธว่า การที่คนบางคนสูญเสียอิสรภาพ จะถูกแก้ให้กลายเป็นดีได้ ถ้าผู้อื่นจำนวนมากได้รับคุณความดี”

สรุปว่า ต่างฝ่ายต่างก็เห็นแก่ความศักดิ์สิทธิ์ของตัวบุคคลด้วยกันทั้งคู่ และทั้งคู่ก็เห็นว่ารัฐบาลมีหน้าที่ดูแลเรื่องความยุติธรรม ทั้งนี้โดยได้รับความยินยอม หรือความยินยอมอย่างรู้เท่าถึงการณ์(informed consent)มาจากผู้ถูกปกครอง  แต่ทั้งคู่แตกต่างกันอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับแหล่งที่มาของ “สิทธิ”(the source of rights) เพราะฉะนั้น บทบาทของรัฐบาลในอันที่จะดูแลพิทักษ์ความยุติธรรมก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย

ศ.สมิธ อธิบายประเด็นนี้ว่า สำหรับล็อค “สิทธิ” ก่อกำเนิดขึ้นจากทฤษฎีความเป็นเจ้าของ(theory of ownership) ดังได้กล่าวแล้วว่าคนทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าข้าวเจ้าของตัวตนเขาเอง ไม่มีผู้ใดจะมาเรียกร้องสิทธิเอากับเขาได้นอกจากตัวเอง  สิทธิตามธรรมชาติก็ดี ความยุติธรรมก็ดี และรัฐบาล(การเมืองการปกครอง)ก็ดี ที่มีขีดจำกัด(limited government) เหล่านี้  ล็อค สร้างทฤษฎีขึ้นจากการที่มนุษย์เป็นเจ้าของตัวตนเขาเอง

พูดอีกแบบว่า มนุษย์มีอัตตลักษณ์และมีเอกลักษณ์ เพราะว่ามีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่สร้างสรรค์ตัวเองขึ้นมา  เราคือผลงานของเราเอง เราสร้างตัวตนขึ้นมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของเรา หรือที่สำคัญคือจากการงานของเรา โลกนี้ทั้งโลกก็เป็นผลงานการสร้างสรรค์อย่างเสรีของมนุษย์ มิใช่เกิดมีขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดมีขึ้นได้จากบุคคลทั้งหลาย และสิทธิก็เกิดมีขึ้นได้ตรงนี้

เราส์ ช่วยแต่งเติมความคิดนี้ ด้วยการเสนอหลักการที่เขาเรียกว่า “หลักแห่งความแตกต่าง” (the Difference Principle) ซึ่งแถลงว่า ความสามารถตามธรรมชาติของเรา พรสวรรค์ของเรา ภูมิหลังด้านครอบครัวของเรา ประวัติชีวิตเรา สถานะทางสังคมของเรา เหล่านี้  ในเชิงศิลธรรม(moral point of view)ล้วนแต่เป็นเรื่องลมเพลมพัด ไร้หลักการหรือกฎเกณท์ เป็นความบังเอิญ เป็นหวยชีวิต หรือลอตเตอรี สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเราจริง ๆ เราไม่สร้างมากับมือ แต่ได้มาเพราะโชค เป็นลอตเตอรีของยีนส์(genetic lottery) หรือลอตเตอรีสังคม(social lottery)  เราอยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์(beneficiary) ไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าข้าวเจ้าของ(possessor)

ผลก็คือ ตัวเราไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินเหล่านั้นแต่เพียงผู้เดียว แนวคิดนี้ยังผลเชิงสังคมหรือนโยบายสังคม อย่างไร?

ตามแนวของ ล็อค เขาสนับสนุน ระบบคุณธรรมนิยม(meritocracy) ซึ่งให้เกียรติความสามารถส่วนบุคคล ถือว่าเขาสร้างเขาทำขึ้นมาเอง จึงเป็นของเขา  แต่สำหรับ เราส์ ไม่ถือว่าความสามารถเหล่านั้นเป็นของเราจริง ๆ แต่เพียงผู้เดียว ทว่าเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม  สังคมส่วนรวมมีสิทธิมาแบ่งปันไปได้

เราส์ กล่าวว่า “The Difference Principle represent in effect an agreement to regard the distribution of natural talents as a common asset and to share in the benefits of this distribution whatever it turns out to be.”

“กฎแห่งความแตกต่างบ่งว่า การกระจายความสามารถตามธรรมชาติเป็นสาธารณสมบัติ และจะต้องแบ่งปันกันไป”

และด้วยแนวคิดเชิงสาธารณสมบัติเช่นนี้ นี่เองที่เป็นพื้นฐานของความยุติธรรมในการกระจายทรัพยากรและรัฐสวัสดิการ ของ จอห์น เราส์  เช่นเดียวกับที่ทฤษฎีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของตัวตนของ ล็อค ที่เป็นพื้นฐานของหลักการการเมืองการปกครองที่มีขีดจำกัดในการใช้อำนาจ เป็นรัฏฐะ ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เราส์ บอกว่า ความยุติธรรมบ่งว่า การจัดระเบียบสังคมนั้นจะต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ด้อยโชคที่สุดในระบบลอตเตอรีสังคม หรือลอตเตอรี ยีนส์  ดังนั้น การทำสาธารณสมบัติมากระจายกันใหม่ ไม่ได้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอันศักดิ์สิทธิ(the sanctity of the individual) เพราะว่า สิ่งที่เราว่าเป็นของเรานั้น ไม่ได้เป็นของเราแต่ผู้เดียวมาแต่ต้น

ล็อค กับ เราส์ ต่างก็เป็นพวกเสรีนิยมด้วยกัน แต่มีมุมมองสังคมเสรีที่แตกต่างกัน  คนหนึ่งเน้นเสรีภาพ อีกคนหนึ่งเน้นความเสมอภาค ศ.สมิธ เห็นว่า ทฤษฎีการเมืองอเมริกันเอียงไปทาง ล็อค มากว่าไปทาง เราส์ คำประกาศอิสรภาพสหรัฐฯ บ่งว่า บุคคลมีสิทธิส่วนตัวอันผู้ใดจะพรากเสียมิได้  ไม่มีเอกสารการเมืองใดที่จะบอกว่า ควรมีการกระจายทรัพย์สินอย่างยุติธรรมทั่วทั้งสังคม(อเมริกัน)

-----------------------------------------------------------------------------------------------
สนใจ ต้นฉบับวีดีโอสำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง



ตอน 16 ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัย เยล จอห์น ล็อค ตอน 2/3


Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย

ทฤษฎีการเมืองการปกครอง ของ จอห์น ล็อค ตอน 2/3
Constitutional Government: Locke's Second Treatise (7-12)
ตอน 2/3

ศ.สมิธ ลำดับประเด็นที่จะพูดต่อไปเกี่ยวกับ ล็อค คือ เรื่องสปิริตของระบบทุนนิยม เรื่องการปกครองโดยได้รับความยินยอม และความคิดเรื่องกฎธรรมชาติ แนวคิดสำคัญที่ ล็อค มอบให้แก่ปรัชญาการเมืองการปกครอง – คือ การปกครองโดยความยินยอม(consent)

หนังสือของ ล็อค ห้าบทแรก ล็อคได้นำเราทัศนามานุษยวิทยาปรัชญา(philosophical anthropology)  เริ่มจาก สภาพธรรมชาติสู่สภาพสงคราม สู่การสร้างทรัพย์สินส่วนตัว และในบทที่ห้าว่าด้วย สภาพธรรมชาติที่คล้ายระบอบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม กระทั่งเกิดการสร้างทรัพย์สินส่วนตัว ที่เกิดจากแรงงานของคน  จวบจนจบบทที่ห้า ล็อคก็นำเรามาสู่ ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เต็มรูป(full scale market economy) ที่มีความไม่เท่าเทียมกัน มากมายหลายแบบ

ศ.สมิธ เห็นว่า ล็อค นำเรื่องราว ความเป็นมาของมนุษย์ที่ตามปกติ(ในสมัยนั้น) จะเป็นเนื้อหาอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น  ล็อคเริ่มจากมนุษย์อยู่ในสภาพธรรมชาติ ที่ปราศจากกฎ ระเบียบการปกครอง มนุษย์ในสภาพนั้นก่อกำเนิดทรัพย์สินส่วนตัวขึ้นมาได้อย่างไร  เพียงด้วยการใช้แรงงาน และด้วยการทำงาน  ล็อคบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์แสวงหาและสะสมทรัพย์  แม้กระทั่งในสภาพธรรมชาติ ที่ปราศจากกฎระเบียบของบ้านเมือง มนุษย์ก็มีทรัพย์สินส่วนตัว

ปัญหาของสภาพธรรมชาติก็คือ ความไร้เสถียรภาพ

เพราะไม่มีอำนาจบ้านเมืองมาพิพากษาข้อข้อแย้ง โดยเฉพาะข้อขัดแย้งเรื่องทรัพย์สิน การที่คนจะได้ใช้ทรัพย์ บันเทิงกับทรัพย์ที่เกิดจากแรงงานแห่งตนอย่างสันติสุขนั้น เป็นไปได้ยากในสภาพธรรมชาติ เนื่องจากมีข้อขัดแย้ง มีการรบราแย่งชิงกัน เพราะฉะนั้นเราจะมีความมั่นคงได้อย่างไร เราจะมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างไร ถ้าปราศจากผู้กำกับดูแลกฎและระเบียบ ผู้คอยเป็นหลักประกันความมั่นคง ในสภาพธรรมชาตินั้นแต่ละคนต้องดูแลตัวเอง แก้แค้นกันเอาเอง และแย่งชิงกันได้เอง ล็อคสรุปว่า การเมืองการปกครองและการอยู่เป็นบ้านเป็นเมือง กำเนิดจากการที่มนุษย์จำเป็นต้องมีหลักประกัน มีความมั่นคง ในเรื่องทรัพย์สิน(property right)  รัฐบาลเกิดมีขึ้น เพื่อพิทักษ์คุ้มครองทรัพย์สินส่วนบุคคล

ล็อค เป็นนักปรัชญาการเมืองการปกครองคนแรก ที่เห็นว่า มนุษย์มารวมอยู่ด้วยกันด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือ การพิทักษ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่มีนักปราชญ์ผู้ใด ก่อนหน้าล็อค ที่พูดชัดเจนว่า จุดประสงค์หลักของการเมืองการปกครอง ได้แก่ การพิทักษ์ปกป้องสิทธิในทรัพย์สิน และทรัพย์สินตามความหมายของล็อค ไม่ได้หมายความเพียงสิ่งของรอบตัวเรา แต่ทรัพย์สินฝังลึก สิงอยู่ในตัวตนของคน  คนเราเกิดมาพร้อมกับมีทรัพย์สินอยู่ในตัว (เช่น แรงงาน) ทรัพย์สินไม่ได้จำกัดอยู่ที่ อสังหาริมทรัพย์ แต่อยู่ที่ชีวิต เสรีภาพ และสิ่งที่เราเป็นเจ้าของ

          Property = things proper to us

ล็อค ยังย้ำอยู่ตลอด เรื่องความไม่แน่นอนของสภาพตามธรรมชาติ  เขาบอกว่า ชีวิตในสภาพธรรมชาติเต็มไปด้วยความหวาดกลัว และมีภยันตรายรอบด้าน ซึ่งผลักด้นให้เราหันหน้าหาความศิวิไลซ์( หา อารยธรรม)

การเปลี่ยนแปลงจาก สภาพธรรมชาติสู่สภาพศิวิไลซ์ ของ ล็อค ต่างจากของ ฮ็อปส์ เพราะล็อค ได้ทำให้คำสอนของฮ็อปส์อ่อนโยนลง ขณะที่ฮ็อปส์เน้นน่ากลัวสุดขีดในสภาพธรรมชาติ แต่สำหรับล็อค สภาพธรรมชาติเป็นเพียงสภาพแห่งความไม่สบายกายไม่สบายใจ ไม่มั่นคง หรือบางทีเขาใช้คำว่า “ความไม่สะดวก”

ศ.สมิธ ตั้งคำถามว่า ความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจที่ล็อคพูดถึง เขากำลังหมายถึงจิตใจอันประหวั่นของชนชั้นกลุ่มใหม่ในสังคมหรือเปล่า? อันได้แก่ ชนชั้นค้าขายกลุ่มใหม่ (new commercial class) ซึ่งกำลังแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ของตนในสังคม

งานชิ้นนี้ของ ล็อค ถือเป็นงานเกี่ยวกับ “ชนชั้นกลาง”  หรือที่พวกมาร์กซิสต์ เรียกว่า “พวกกฎุมพี”(bourgeois)  เวลาที่ล็อคพูดว่า โลกนี้พระเจ้าสร้างไว้ให้แก่คนที่ขยันขันแข็ง และมีเหตุผล  ล็อค กำลังหมายถึง ชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ที่มีสิทธิในการเมืองการปกครองได้ ไม่ใช่เพราะด้วยยศ หรือบรรดาศักดิ์ หรือเป็นชนชั้น “ผู้ดี”  แต่มีสิทธิในการเมืองการปกครอง เพราะมีความขยันขันแข็ง สู้งานหนัก มัธยัสถ์

ศ.สมิธ กล่าวว่า อดีตนักศึกษาของท่านผู้หนึ่ง เห็นว่า หนังสือเล่มสองของ ล็อค น่าจะมีชื่อว่า “the Capitalist Manifesto”(คำประกาศของลัทธินายทุน)  หรือ “คำประกาศแอนตี้คอมมิวนิสต์”  ศ.สมิธสรุปว่า แนวคิดของล็อค ก็คือ แนวคิดแบบของ มาเคียเวลลี ที่มีหน้าตาเป็นมนุษย์มนามากขึ้น (มีมนุษยธรรม มากขึ้น)  การเมืองการปกครองของ “เจ้าชาย” ของ มาเคียเวลลี ก็เป็นการเมืองการปกครองที่อยู่นอกกรอบจารีตดั้งเดิม  แนวคิดของล็อคคล้ายกับของมาเคียเวลลี เช่น เรื่องจริยธรรมของคนผู้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยลำแข้งตนเอง(self-made man) ผู้มีชีวิตอยู่ในความหวาดหวั่น ตื่นกลัว อยู่ไม่สุข ล็อคทดแทนจริยธรรมแห่งการพิชิตสงคราม และการข่มเหงรังแก ของ มาเคียเวลลี มาเป็นการสู้งานหนัก ทำงานหนัก

แต่ ศ.สมิธ ก็เสนอแนะว่า แนวคิดทางการเมืองการปกครองของล็อค นำไปสู่หนังสือที่มีชื่อเสียงของ แม็ก เวเบอร์ เรื่อง “จริยธรรมโปรเตสแตนท์ และจิตวิญญาณของระบอบทุนนิยม”  เวเบอร์เห็นว่า การสะสมทุนและการแสวงหาทรัพย์อย่างไม่มีขีดจำกัด ดุจจะเหมือนศรัทธาในศาสนา ก็เพราะพระเจ้ามอบโลกไว้ให้แก่คนขยันและมีเหตุผล  ไม่ได้มอบให้พวกชอบทะเลาะวิวาท หาเรื่อง มากเรื่อง  ไม่ได้มอบให้แก่พวกขุนน้ำขุนนาง ผู้มุ่งแต่จะมีอำนาจเหนือผู้อื่น ชอบขึ้นขี่คนอื่น

ล็อค ได้นำจริยธรรมใหม่เกี่ยวกับทรัพย์สินมาเสนอ  ศ.สมิธ เห็นว่า ถ้าไม่มี จอห์น ล็อค ก็จะไม่มีวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะเขาบอกว่า การแสวงหาทรัพย์คือเสียงเรียกจากเบื้องบน และบทบาทหลักของการเมืองการปกครอง คือ การปกป้องทรัพย์สิน และสิทธิในทรัพย์สิน
และลำดับต่อไปจนตลอดการบรรยายครั้งนี้ ศ.สมิธ จะมุ่งประเด็นแนวความคิดของ ล็อค เรื่อง “ความยินยอม” (Locke’s idea of consent) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่า รัฐบาลที่ชอบธรรมทุกรัฐบาล – หรือ การปกครองที่ชอบธรรมทุกระบอบการปกครอง จะต้องมาจากความยินยอมของผู้ถูกปกครอง

ล็อค เสนอทฤษฎีบ่อเกิดของสังคมต่าง ๆ ว่า มนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเป็นเมืองเป็นสังคม โดยยอมสละเสรีภาพตามธรรมชาติ แล้วมาผูกพันธะด้วยกัน อยู่เป็นชุมชนสังคม ก็ด้วยการตกลงร่วมกันกับคนอื่น ๆ ทุก ๆ คน  มารวมกันอยู่เป็นชุมชน เพื่อความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และสันติสุข

จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์อันชอบธรรมของสังคมบ้านเมือง หรือบางทีเรียกว่า สังคมแพ่ง(civil society) ก็คือ ความสะดวกสบาย ความมั่นคงปลอดภัย และสันติสุข

ล็อค เห็นต่อไปว่า เมื่อใดที่คนจำนวนมากพอ ยินยอมมาร่วมกันอยู่เป็นชุมชน ๆ หนึ่ง คนเหล่านั้นจะรวมกันอยู่ที่นั่น เป็น “กลุ่มการเมืองการปกครองกลุ่มเดียว” (one body politics) โดยที่คนส่วนมาก “มีสิทธิ” ที่จะกระทำการและบงการเพื่อคนอื่นที่เหลือทั้งมวล

ศ.สมิธ เห็นว่า คำกล่าวสั้น ๆ ดังกล่าวของล็อค ดูเหมือนได้สร้างกรณีตัวอย่างที่ทรงพลังที่สุดเป็นครั้งแรก เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ศ.สมิธ ย้ำว่า แนวคิดที่ว่า การเมืองการปกครองเป็นไปตามความยินยอมของเสียงส่วนใหญ่ น่าจะสร้างความประหลาดใจให้แก่กษัตริย์อังกฤษสมัยนั้น แต่ถ้าได้ข้ามช่องแคบอังกฤษมาพบกับ หลุยส์ที่สิบสี่ ซึ่งอยู่ร่วมสมัย และเป็นเจ้าของคำพูดที่ว่า “L’État c’est moi.” หรือ “รัฏฐะ คือ ฉันงัย”  เมื่อได้ยินความคิดของ ล็อค นอกจากจะประหลาดใจแล้ว ยังจะขำกลิ้งอีกด้วย

การที่ ล็อค มีความคิดว่า การเมืองการปกครองต้องเป็นไปตามความยินยอมของเสียงส่วนใหญ่นั้น  จะหมายความว่า ล็อค ปฏิเสธการปกครองแบบอื่น ๆ ทั้งหมด หรือ?  เขาไม่เห็นด้วยกับอริสโตเติล ใช่ไหม? ที่ อริสโตเติล เห็นว่า รูปแบบการปกครองเป็นฉันใดไม่สำคัญ ขอให้ปกครองด้วยกฎหมาย และเดินสายกลางก็แล้วกัน

ล็อค เห็นว่า การตกลงเพื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเดียวกัน ไม่ใช่ว่าจะเหมือนกันทีเดียวกับการสร้างรูปแบบรัฐบาล(a form of government)  เพราะว่าการเลือกรูปแบบรัฐบาล – หรือรูปแบบการปกครองชนิดเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นประชาชาติเดียวกัน(one people) จะมาก่อนการเลือกรูปแบบรัฐบาล

ล็อค มีแนวคิดแค่ว่า รัฐบาลก่อตั้งขึ้นจากความยินยอมของผู้ถูกปกครอง แต่ไม่ได้พูดระบุชัดเจนว่า รูปแบบรัฐบาลจะพึงเป็นฉันใด  รูปแบบรัฐบาลรูปแบบเดียวที่ ล็อค ไม่เห็นด้วย ได้แก่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  นอกจากนั้น ล็อค ปล่อยตามใจผู้คน แล้วแต่ว่าผู้คนจะ “ยินยอม” กับรูปแบบรัฐบาลแบบใด ซึ่งมีความหมายต่อไปด้วยว่า ผู้คนอาจจะ “ยินยอม” กับระบอบใด ๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” เสมอไป

และ ศ.สมิธ เชื่อว่า แนวคิดเรื่อง “ความยินยอม” ของ ล็อค นี่เอง ที่เป็นพื้นฐานหลักของระบอบการเมืองอเมริกัน เสียยิ่งกว่าเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน  หลักการเรื่องความยินยอมนี้ จับจิตจับใจ “บิดา”ผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ(founding fathers)

เมื่อ เจฟเฟอร์สัน ประกาศว่า จุดมุ่งหมายของรัฐบาลก็คือการปกป้องคุ้มครองชีวิต เสรีภาพ และการแสวงสุข (life, liberty and the persuit of happiness) ดูเหมือนว่า เจฟเฟอร์สัน จะนำความคิดต้นตอมาจาก ล็อค แล้วปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย คล้าย ๆ กับ “ยกระดับ”การใช้ภาษาของล็อค  คือ แทนที่จะมุ่งลงตรงที่การแสวงหาทรัพย์อย่างของ ล็อค  ก็เปลี่ยนเป็น การแสวงสุข

นอกจากเจฟเฟอร์สันแล้ว อับราฮัม ลิงคอล์น ก็ได้รับอิทธิพลเรื่อง “ความยินยอม” มาจาก ล็อค ด้วย  ลิงคอล์น พูดไว้เมื่อ ปี 1854 ในการปราศรัยครั้งสำคัญของเขา ว่า

“เมื่อคนผิวขาว ปกครองตัวของเขาเอง เราเรียกว่า การปกครองตนเอง  แต่เมื่อเราปกครองตนเองพร้อม ๆ กับปกครองคนอื่นด้วย  นั่นมันเกินไปกว่าการปกครองตนเอง นั่นมัน เผด็จการกดขี่(despotism)  ศรัทธาปสาทะดั้งเดิมของข้าพเจ้า สอนข้าพเจ้าว่า จะไม่มีสิทธิทางศิลธรรมใด ที่มนุษย์คนหนึ่งจะเอามนุษย์อีกคนหนึ่งเป็นทาส  ข้าพเจ้ากำลังหมายว่า ไม่มีมนุษย์หน้าใหน ดีพอที่จะปกครองผู้อื่น – ถ้าผู้อื่นนั้น ไม่ได้ให้ความยินยอม”

สมัยนั้น ฝ่ายตรงข้ามของ ลิงคอล์น เห็นว่า ก็ถ้าคนส่วนใหญ่ยินยอมให้มีทาส การมีทาสก็น่าจะถูกต้องแล้ว ซึ่งประเด็นนี้ ลิงคอล์น พิจารณาละเอียดต่อไปว่า ความยินยอมไม่ใช่เช็คเป่ลา(a blank cheque) ให้นำไปเขียนจำนวนเลขได้ตามอำเภอใจ ลิงคอล์น เห็นว่า แนวคิดเรื่องความยินยอมยังต้องอยู่ในกรอบของข้อศิลธรรมบางอย่างบางประการ เช่น ความยินยอมให้มีทาสในบ้านเมือง ไม่สอดคล้องกับข้อศิลธรรมที่ว่า ไม่มีผู้ใดจะปกครองบังคับผู้อื่นได้ ถ้าผู้อื่นนั้นไม่ได้ให้ความยินยอม

อย่างไรก็ตาม ศ.สมิธ กล่าวว่า ความขัดแย้งในประเด็นนี้ เกิดจากภายในแนวคิดของ ล็อค เอง  เช่น รูปแบบรัฐบาลที่เกิดจากความยินยอมของคนส่วนใหญ่ พึงเป็นรูปแบบใด การปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากความยินยอมนั้น จะต้องทำทุกอย่างที่เสียงส่วนมากต้องการ กระนั้นหรือ?  จะไม่กลายเป็นทรราชย์โดยเสียงส่วนมาก หรือ? (tyranny of the majority) หรือว่ารัฐบาลจากความยินยอมของคนส่วนมาก จะต้องมีขอบเขต มีกรอบอะไรบางอย่างที่กำหนดว่า เสียงส่วนใหญ่ทำได้ หรือเสียงส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ล็อค มีหลักประกันอะไรว่ารัฐบาลจากความยินยอมของคนส่วนใหญ่ จะมาจากคนส่วนใหญ่ที่เข้าถึงข่าวสาร รู้จักวิเคราะห์แยกแยะข่าวสาร หรือว่าจะมาจากเสียงส่วนใหญ่ที่มีความยินยอมที่มีเหตุผล(rational consent)  คนเราสามารถยินยอมทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อที่จะถูกปกครองอย่างไรก็ได้ อย่างนั้นหรือ?

จะมีอะไรมาป้องกันไม่ให้เสียงส่วนใหญ่ กลายเป็นเสมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ทรราชย์ หรือเผด็จการกดขี่

ศ.สมิธ กล่าวทบทวน ชวนให้นักศึกษาระลึกว่า พวกตน(คนอเมริกัน)เป็นประชาชนของระบอบประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก(เพราะก่อนหน้าระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน ก็จะมีแต่ประชาธิปไตยช่วงสั้น ๆ สมัยกรีก เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ส่วนระบอบประชาธิปไตยฝรั่งเศส มาทีหลังระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน – ผู้สรุปภาษาไทย) อย่างไรก็ดี ศ.สมิธ ถามว่า เคยมีใครถามหาความยินยอมของชาวอเมริกัน ที่จะใช้ระบอบการเมืองการปกครองแบบนี้หรือ?

ล็อค กล่าวว่า เด็กเกิดมาโดยไม่ได้เป็นประชาชนพลเมืองของประเทศใด ๆ หรืออีกนัยหนึ่ง สำหรับล็อค การเป็นประชาชนพลเมือง(citizenship) ไม่ได้มาด้วยการถือกำเนิด ล็อคเห็นต่อไปอีกว่า ทารกเกิดมาในสภาพธรรมชาติ และอยู่ใต้การปกครอง(หรือ อยู่ใต้อำนาจ)ของบิดามารดาเท่านั้น เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วเขาเชื่อฟังอำนาจปกครองของรัฐใด ๆ นั่นไม่ใช่เพราะเขาเกิดที่นั่นหรือที่ไหน  แต่นั่นเป็นเพราะเขา “เลือก” เอง

ตรงนี้ ล็อค กำลังเบิกโรง หรือเปิดตัว ปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่ง คือ “การเลือก” ของคน

ล็อค พูดคล้าย ๆ กับว่าเมื่อเด็กโตขึ้นและบรรลุนิติภาวะ เมื่อนั้นเขาก็มีสิทธิที่จะ “เลือก” เชื่อฟัง หรือไม่เชื่อฟัง อำนาจของรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด  ประเด็นการ “เลือก” นี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง “ความยินยอม” ที่จะอยู่ใต้การปกครองของรัฏฐะ หรือรัฐบาลประเทศใด ๆ คล้าย ๆ กับการสาบานตัวตลอดชีวิต

ศ.สมิธ ยกตัวอย่างเรื่องที่คนอพยพเข้ามาในสหรัฐฯ ที่ประสงค์จะเป็นพลเมือง จะต้องผ่านกระบวนการแห่งการเข้าเป็นพลเมือง ซึ่งมีการสาบานตนว่า จะจงรักภักดีต่อสหรัฐฯ รวมอยู่ในกระบวนการนั้นด้วย

ก็หมายความว่า ประชาชนเต็มขั้นของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือตามตัวอย่างก็คือ ของสหรัฐอเมริกา จะได้แก่คนที่ผ่านกระบวนการสาบานตนมาแล้ว ซึ่งหมายความว่า ได้ให้ความยินยอมอย่างเป็นปัจจุบัน(active consent)

สำหรับคนที่ไม่ผ่านกระบวนการให้ความยินยอมดังกล่าว ล็อค ก็มีขั้นตอนอีกขั้นตอนหนึ่งเตรียมไว้ให้ เรียกว่า “tacit consent”(ยินยอมโดยนัย)  คนเหล่านี้แม้จะไม่ได้ผ่านพิธีการยินยอมอย่างเป็นทางการ ล็อค ก็ถือว่า คนพวกนี้ ได้ให้ความยินยอมแล้วโดยนัย(tacit consent)

คนเรา ให้ความยินยอมโดยนัย กันอย่างไร?

นี่คือปมปริศนาที่ ล็อค พยายามจะขบให้แตก เขามองว่าผู้ใดก็ตามที่รับประโยชน์จากการคุ้มครองของกฎหมายบ้านเมือง มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน คนเหล่านั้น ล็อค ถือว่าได้ให้ความยินยอมโดยนัย(tacit consent) ต่อรัฐบาลที่ปกครองอยู่นั้น  ความยินยอมโดยนัยดังกล่าวคนกระทำเงียบ ๆ ไม่ได้โจ๋งครึ่ม หรือโฉ่งฉ่าง

ศ.สมิธ ถามว่า “ความเงียบ(และการให้ความยินยอม)” กับ “ความเงียบเฉย ๆ” ต่างกันอย่างไร?  ทั้งนี้ ศ.สมิธ ได้ยกตัวอย่างพิธีแต่งงานของฝรั่ง ที่เขาจะต้องขอความยินยอมกันในพิธี ผู้ประกอบพิธีอาจเป็นนักบวช หรือเจ้าหน้าฝ่ายปกครอง จะถามความยินยอมของคู่บ่าวสาว ซึ่งหลายต่อหลายคู่ คู่บ่าวสาวให้ความยินยอมด้วยการนิ่งเงียบ ไม่ได้กล่าวอะไรออกมา

ความเงียบ จึงถูกถือเป็นทางหนึ่ง ของการให้ความยินยอมโดยนัย

ศ.สมิธ บรรยายว่า ล็อค ไม่ได้ชัดเจนเรื่องของการให้ความยินยอมอย่างเงียบ ๆ และยังมีคำถามอีกคำถามหนึ่ง ว่า ระหว่างพลเมืองที่ให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ (เช่น การสาบานตน) กับพลเมืองที่ให้ความยินยอมเงียบ ๆ คนสองกลุ่มนี้ มีสิทธิ แตกต่างกันหรือไม่?

ศ.สมิธ สรุปว่า เรื่องที่ทำให้ปรัชญาการเมืองการปกครองของ ล็อค โดดเด่น ได้แก่ ประเด็นที่ว่าไม่ว่าเสียงส่วนใหญ่จะตัดสินใจให้มีรัฐบาลรูปแบบใด รัฐบาลนั้นจะต้องจำกัดอำนาจขององค์รัฏฐาธิปัตย์(power of the sovereign) แนวคิดนี้ของล็อค ใกล้เคียงกับของ ลิงคอล์น เขาเห็นว่าความยินยอมไม่ได้แปลว่า ยอมอะไรก็ได้  ยอมไม้หลักปักขี้เลนอะไรก็ได้ ยอมให้องค์รัฏฐาธิปัตย์ทำอะไรก็ได้ ทฤษฎีการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญของล็อค เป็นการเมืองการปกครองที่ว่าด้วยอำนาจอันจำกัด อำนาจที่อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย  ขณะที่ ฮ็อปส์ ยกอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ให้เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ล็อค กลับเชื่อถือเรื่องอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มีขอบเขต ไม่ว่า “รัฏฐาธิปัตย์” นั้นจะอยู่กับคน ๆ เดียว คนสองสามคน หรือคนมากคน  ล็อคเชื่อว่า อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มีขอบเขตเท่านั้น ที่พอจะไว้วางใจได้ว่า จะปกปักษ์พิทักษ์ “สิทธิ” ทั้งหลายให้แก่ปวงชนได้

-----------------------------------------------------------------------------------------------
สนใจ ต้นฉบับวีดีโอสำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง



ตอน 15 ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัย เยล จอห์น ล็อค ตอน 1/3



Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย

ทฤษฎีการเมืองการปกครอง ของ จอห์น ล็อค ตอน 1/3
Constitutional Government: Locke's Second Treatise (1-5)
ตอน 1/3

ศ.สมิธ กล่าวว่า หนังสือของ จอห์น ล็อค เล่มเล็กนิดเดียว ประมาณร้อยกว่าหน้า ไม่น่าเชื่อเลยว่า หนังสือเล่มนี้จะมีผลเปลี่ยนแปลงโลกได้ ผู้ใดก็แล้วแต่ที่คิดว่า แนวคิดทางการเมืองการปกครองในอดีตไร้ผล ไม่สำคัญ  ศ.สมิธ ท้าให้ลองประเมินประวัติและอิทธิพลทางความคิด ของ จอห์น ล็อค

จอห์น ล็อค มีความคิดหรือแนวคิดด้านปรัชญาการเมืองการปกครอง ที่ โธมัส เจฟเฟอสัน บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ ยอมรับนำมาปฏิบัติทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อ โธมัส เจฟเฟอสัน เขียนคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้น จอห์น ล็อค จึงมีฐานะคล้าย ๆ เป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยผู้หนึ่ง

จอห์น ล็อค เชื่อเรื่องเสรีภาพโดยธรรมชาติของมนุษย์ และคุณภาพของคน  เขาเชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาติ ในชีวิตและทรัพย์สิน  จอห์น ล็อค เห็นว่าการปกครอง โดยเฉพาะการปกครองที่ชอยด้วยกฎหมาย เป็นการปกครองด้วยความยินยอมของปวงชน  และเป็นการปกครองที่มีขอบเขต มีการแบ่งแยกอำนาจ  เมื่อใดที่การปกครอง(หรือ รัฐบาล)กดขี่ข่มเหงสิทธิตามธรรมชาติของคน เมื่อนั้นประชาชนก็มีสิทธิที่จะทำการปฏิวัติ

นอกจากนี้ จอห์น ล็อค ยังขึ้นชื่อเรื่องความอดทนต่อความแตกต่างด้านศาสนา  ชื่อของ จอห์น ล็อค ผูกพันใกล้ชิดกับสิ่งที่เราเรียกกันว่า เสรีนิยมประชาธิปไตย หรือประชาธิปไดยโดยมีรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ

กระนั้นก็ดี ความคิดของ ล็อค ไม่ได้เกิดจากอากาศธาตุ ข้อเขียนของ ล็อค มาจากแหล่งบางแหล่ง  ส่วนหนึ่งเกิดจาก มาเคียเวลลี ผู้ตายไปก่อนหน้าล็อคจะเกิด ประมาณหนึ่งร้อยปี  แต่สำคัญที่สุดคือ เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักเขียนอังกฤษอีกผู้หนึ่ง ได้แก่ โธมัส ฮ็อปส์

ทั้งนี้ โดยที่ ฮ็อปส์ นำความคิดเรื่อง “เจ้าชาย” ของ มาเคียเวลลี มาพัฒนาจนกลายเป็นทฤษฎีเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งได้กลายเป็นระบอบการปกครองโดยผ่านตัวแทน(representative government) ฮ็อปส์ ปรับปรุงการปกครองของเจ้าเมือง (หรือ เจ้าชาย) ให้กลายเป็น “ระบบ” หรือเป็น “สำนักงาน”(an office) แล้วสำนักงานดังกล่าวนั้นก็เป็นที่กำเนิดของสัญญาประชาคม(social contract)

ผู้ปกครอง หรือองค์รัฏฐาธิปัตย์(the sovereign) มีฐานะเป็นตัวแทนปวงชน ผู้ได้สร้างสำนักงานขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันสันติสุข ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งถ้าปราศจากอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เสียแล้ว เราก็จะตกอยู่ในสภาพธรรมชาติ(the state of nature) อันเป็นคำศัพท์ที่ฮ็อปส์คิดขึ้น เพื่อใช้หมายถึง โลกที่ปราศจากนาครธรรม ปราศจากอำนาจทางแพ่ง(civil authority) ไม่มีอำนาจมาบังคับใช้กฎหมาย

ฮ็อปส์ ได้มอบความหมายให้แก่ สมบูรณาญาสิทธิด้านอาณาจักร(secular absolutism) (สมัยก่อนหน้านั้น สมบูรณาญาสิทธิ จะมาจากพระเจ้า คือ มาจากศาสนจักร ฝรั่งจึงเรียกสิ่งนั้นว่า divine right – ผู้สรุปภาษาไทย) สมบูรณาญาสิทธิทางอาณาจักรมีอำนาจสิทธิขาดที่จะบังคับใช้กฎหมาย อำนวยความยุติธรรม และเสถียรภาพด้านการเมืองการปกครอง และฮ็อปส์เป็นผู้เสนอทฤษฎีการเมืองการปกครองทีเปิดกว้างเรื่องเสรีภาพ

ส่วน จอห์น ล็อค ผู้มาทีหลังได้ริเริ่มทำให้สมบูรณาญาสิทธิด้านอาณาจักร(secular absolutism) ของ ฮ็อปส์ อ่อนโยนลง  งานของ ล็อค ที่เกี่ยวกับปรัชญาการเมือง ได้แก่ ความเรียงสองเรื่องที่ว่าด้วยการเมืองการปกครอง

ศ.สมิธ บอกว่า เราจะอ่านงานของล็อค ในชั้นเรียนนี้ เฉพาะเล่มที่สอง ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในนาม “ความเรียงเรื่องที่สองของ ล็อค” (the second treatise)  สำหรับความเรียงเรื่องแรกซึ่งไม่ได้นำมาเรียนนั้น มีเนื้อหายาวกว่าเรื่องที่สอง และว่าด้วยการรื้อ(deconstruction)ทฤษฎีการเมืองการปกครองเรื่อง เทวสิทธิของราชา(the divine right  of king) ที่อ้างว่าเป็น “เทวสิทธิ” นั้น  เป็นเพราะนักปรัชญาท่านหนึ่งในยุคนั้น ตีความว่า อำนาจทางการเมืองการปกครองมาจากการที่พระเจ้า ประทานสิทธิให้แก่ อาดัม มนุษย์คนแรก  เริ่มจากจุดนั้นผู้ทรงสิทธิด้านการเมืองการปกครอง เช่น พระราชา ก็ถือว่าเป็นผู้ทรงสิทธิ ที่เป็น “เทวสิทธิ”(divine right)

ความคิดของ จอห์น ล็อค ปรากฏชัดเจนเฉพาะในความเรียงเรื่องที่สอง ซึ่งมีเจตนาให้สามารถนำมาปฏิบัติได้ เป็นเรื่องเชิงปฏิบัติมากกว่าที่จะเป็นทฤษฎี และเขียนด้วยภาษาอังกฤษสามัญ เพื่อคนอังกฤษสามัญทั้งหลายในยุคนั้น เขาเขียนขึ้นมาเพื่อสะท้อนสามัญสำนึกแห่งยุคสมัย(the common sense of his time)

ล็อค เป็นคนมีความสามารถพิเศษ รู้จักที่จะนำความคิดใหม่ ที่ปฏิวัติความคิดเดิม มานำเสนอด้วยการใช้ภาษาและรูปแบบการนำเสนอ ที่ทำให้ผู้คนพากันนึกว่า นี่เป็นความคิดอ่านที่ตนเองมีอยู่ตั้งนานแล้ว

ล็อคได้สร้างสำนวนภาษาการเมืองการปกครองขึ้นมาใหม่ ให้มีลักษณะสั้น กระชับ และธรรมดา

ล็อค มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางการเมืองการปกครองที่เข้มข้น ความขัดแย้งทางศาสนาก็รุนแรง ชีวิตวัยเด็กของล็อค ระหว่างอยู่ในโรงเรียน ได้พบกับเหตุการณ์กรณีพระเจ้าชาร์ลที่หนึ่ง ถูกสำเร็จโทษ  ครั้นโตขึ้น เขาก็พบกับเหตุการณ์กรณีพระเจ้าเจมส์ที่สองถูกล้มล้าง ต้องอพยพหนีลี้ภัยไปต่างประเทศ

ล็อค มีชีวิตเป็นนักศึกษาและต่อมาก็ได้สอน ที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด หลายปี ต่อมาได้ทำงานเป็นเลขานุการนักเมืองในกลุ่มแอนตี้เจ้าอังกฤษ เมื่อนักการเมืองผู้นั้นต้องลี้ภัยไปอยู่ในฮอลแลนด์ ในลำดับต่อมา และ จอห์น ล็อค ก็อพยพตามไปด้วย

ศ.สมิธ กล่าวว่า หัวใจของความคิดทางการเมืองของ ล็อค อยู่ที่ “ทฤษฎีกฎธรรมชาติ”(his theory of natural law)

ประเด็นนี้ทำให้เราต้องกลับไปคิดเรื่อง สภาพธรรมชาติ(state of nature)กันก่อน เพื่อที่เราจะได้เข้าใจ“กฎธรรมชาติ”  สภาพธรรมชาติของ ล็อค ก็เหมือนกับสภาพธรรมชาติของ ฮ็อปส์  คือ ไม่ใช่ที่มีการปกครอง และการถูกปกครอง  ล็อค พรรณนาว่า สภาพธรรมชาติเป็นสภาพเสรีภาพสมบูรณ์(perfect freedom) ซึ่งตรงข้ามกับความคิดอริสโตเติล ที่คิดว่า มนุษย์เราเกิดมามีความผูกพัน หรือมีความสัมพันธ์ทางแพ่ง(civil bind) ระหว่างกัน เช่น การเป็นพลเมือง การอยู่ในบ้านเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สภาพธรรมชาติของ ล็อค ไม่ใช่สภาพจริง ๆ ที่มีอยู่ในโลก หรือในประวัติศาสตร์โลก  สภาพธรรมชาติสำหรับล็อค เป็นสภาพที่เกิดจากการได้ทำการทดลองทางความคิด(thought experiment) คือ ทดลองคิด “เล่นๆ” ดูว่าถ้ามนุษย์ไม่ได้มีอำนาจบ้านเมืองมาปกครอง สภาพชีวิตความเป็นอยู่และนิสัยใจคอของคนเรา จะเป็นอย่างไร?

ล็อค เสนอกับเราว่า สภาพธรรมชาติเป็นสภาพศิลธรรม มีกฎศิลธรรมปกครอง หรือเรียกว่ากฎหมายธรรมชาติก็ได้ เป็นกฎที่กำหนดโดยสันติสุขและการอยู่ร่วมกันโดยดีของมนุษย์ เป็นกฎธรรมชาติที่บ่งว่าผู้ใดจะทำร้ายผู้อื่นมิได้ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน  สภาพธรรมชาติของ ล็อค จึงผิดกับสภาพธรรมชาติของ ฮ็อปส์ ที่เป็นสภาพที่ทุกคนเป็นศัตรูกันหมด

ทฤษฎีกฎธรรมชาติของล็อค เข้ากันได้กับทฤษฎีศิลธรรมในเวลานั้น และเวลาก่อนหน้านั้น จนสืบไปได้ถึงยุคโรมัน

ตามกฎธรรมชาติของล็อค ที่วางอยู่บนรากฐานของสันติสุข และการอยู่ร่วมกันโดยดีระหว่างมนุษย์ ที่คนไม่เบียดเบียนกันในแง่ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน  ล็อคได้รวมความคิดศิลธรรมคริสเตียนไว้ในทฤษฎีของเขาแล้ว

แต่อย่างเพิ่งสบายใจ ศ.สมิธ อธิบายว่า ในย่อหน้าเดียวกันที่ล็อคพูดเรื่องกฎธรรมชาติ  เขาได้ปรับกฎธรรมชาติให้กลายเป็น สิทธิ ของคนที่จะดูแลรักษาตัวเอง(right of self preservation)  เพราะฉะนั้น เมื่ออ่านผ่าน ๆ มาแต่แรก  เราอาจเข้าใจว่ากฎธรรมชาติ ของ ล็อค พูดถึง “หน้าที่” ที่เราจะต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งในแง่ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน  แต่มาถึงตอนนี้ เขากำลังพูดคล้ายกับว่า กฎธรรมชาติ แสดง “สิทธิ” ของมนุษย์ต่างหาก

คือ มนุษย์มี “สิทธิ” ที่จะดูแลรักษาตัวเอง(right of self-preservation)

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถูกรังแก หรือถูกเบียดเบียน ย่อมมี “สิทธิ” ที่จะลงโทษคนที่มากระทำต่อตน เช่น การริบเอาทรัพย์สินของผู้ละเมิดสิทธิ หรือกระทำการลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง  สรุปว่าพื้นฐานหรือหัวใจของกฎธรรมชาติ ก็คือ "สิทธิของคนที่จะดูแลรักษาตนเอง"  ในสภาพธรรมชาติเช่นนี้ มนุษย์เราแต่ละคน มีสิทธิที่จะดูแลรักษาตัวตน ตามกำลัง เช่น สามารถฆ่าคนที่พยายามจะสังหารตน เช่นเดียวกับที่ฆ่าเสือที่ทำร้ายตน  เพราะว่ามนุษย์ที่จะเอาชีวิตเรา เขาไม่เข้าใจเหตุผล เขาไม่รู้จักกฎหรือระเบียบใด ๆ นอกจากกฎป่า(กฎแห่งความโหดร้าย)  เพราะฉะนั้น เขาก็พึงได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นสัตว์ร้าย

ล็อค ดูจะพูดเรื่องสองเรื่องควบกันไป คือเรื่องกฎธรรมชาติตามความคิดดั้งเดิม ที่มนุษย์มี “หน้าที่” ต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นเป็นปฐม กับอีกเรื่องหนึ่งคือพูดตามแนวคิดสมัยใหม่ของ ฮ็อปส์ เรื่อง “สิทธิ” ตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่จะดูแลรักษาตัวเองเป็นประการแรก

แล้วเขาให้ความสำคัญกับเรื่องไหนมากกว่ากัน?  ล็อค คือ ฮ็อปส์ ที่เปลี่ยนเสื้อคลุมหรือ? หรือว่า ล็อค สับสนทางความคิด?

ผู้ศึกษางานของล็อค รุ่นปัจจุบันผู้หนึ่ง เห็นว่า ความคิดของล็อค เรื่องความเสมอภาคในสภาพธรรมชาตินั้น มาจากเทววิทยาคริสเตียน  ที่ถือว่า พระเจ้าเป็นพระผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง และสิ่งมีชีวิตที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา ต่างก็มีพันธะทางศิลธรรมผูกพันอยู่กับพระเจ้า

ศ.สมิธ เห็นว่า เรามองได้สองแง่ แง่หนึ่งนั้นแนวคิดของล็อคเรื่องความเสมอภาคในสภาพธรรมชาติ หรือแนวคิดเรื่องกฎศิลธรรมในสภาพธรรมชาติของล็อค ขึ้นอยู่กับความคิดศิลธรรมคริสเตียน หรือว่าความคิดของล็อค จะเกิดจากหลักพื้นฐานเรื่องเสรีภาพ(basic principle of freedom) เกิดจากธรรมชาติไม่ใช่ศาสนา

ประเด็นศิลธรรมทางศาสนาเป็นประเด็นที่ ล็อค ไม่พูดถึง ไม่เกี่ยวข้องด้วย ในหนังสือเล่มสองของเขา  ล็อค ไม่ได้เอ่ยชื่อพระเยซู เซ็น ปอล หรือพระคัมภีร์ฉบับพันธะสัญญาใหม่

ศ.สมิธ กล่าวถึง ระบอบการเมืองอเมริกัน ซึ่งถือว่า ความคิดของล็อค เป็นความคิดพื้นฐานในการสถาปนาประเทศ เช่น คำประกาศอิสรภาพ เป็นต้น  ประเด็นที่ว่าความคิดพื้นฐานของระบอบการเมืองอเมริกัน มีแหล่งกำเนิดมาจากเทววิทยาคริสเตียน หรือไม่? ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่แม้ในทุกวันนี้

ทั้งนี้ เพราะว่า เมื่อมีข้อถกเถียง เรื่องควรปิดประกาศบัญญัติสิบประการจากพระคัมภีร์ ในโรงศาลหรือไม่? ควรมีการสวดมนตร์ในโรงเรียนไหม? ประเด็นบทบาทของศาสนาในที่สาธารณะ ควรจะเป็นอย่างไร?  ในที่สุดก็ต้องย้อนกลับไปหาปรัชญาการเมือง เมื่อครั้งสถาปนาประเทศสหรัฐฯ

หัวใจของทฤษฎีกฎธรรมชาติ ในสภาพธรรมชาติ(the theory of natural law, in the state of nature) ของ ล็อค ผูกอยู่กับเรื่องทรัพย์สิน  อีกนัยหนึ่งทรัพย์สินเป็นแก่นของทฤษฎีการเมืองของล็อค  ทั้งนี้ ล็อค มองมนุษย์ว่า เป็นสัตว์ที่ชอบสะสมสิ่งของ(ทรัพย์)  อริสโตเติล บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองการปกครอง แต่ล็อค บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ขอบแสวงหาและสะสมทรัพย์

มนุษย์มีสิทธิในทรัพย์สิน เนื่องจากได้ลงแรงทำงานกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แรงงาน(labour)ก่อให้เกิดความมีคุณค่า หรือความมีค่า  แต่ในสภาพธรรมชาตินั้น ความเป็นเจ้าของเป็นเรื่องของการเป็นเจ้าของร่วมกัน หรือที่ คาร์ล มาร์ก เรียกว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม ทุกคนมีสิทธิร่วมกันในป่าเขา  ล็อคบอกว่า ทรัพย์สินสิ่งของจะกลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวได้ ก็ต่อเมื่อเราได้ลงแรงไว้กับมัน

ล็อค กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนมีทรัพย์สินอยู่ในตัว(หรือในตัวตน) ซึ่งผู้อื่นใดไม่มีสิทธิต่อทรัพย์สินนี้นอกจากเจ้าตัว  คนเราเกิดมาในโลกพร้อมกับทรัพย์สินส่วนตัวบางอย่าง เป็นทรัพย์ในตน(property in our person) ซึ่งคนอื่นไม่มีสิทธิต่อทรัพย์สินในตนของเรา  ล็อค กล่าวว่า แรงงานที่จากร่างกายมนุษย์ ลงไปในงานที่ทำกับมือ ของสิ่งนั้นจะต้องเป็นของเขา  เพราะว่า แรงงานเป็นทรัพย์สินที่โต้แย้งไม่ได้ของเจ้าของแรงงานนั้น แรงงาน คือ สิ่งที่ทำให้ทรัพย์ส่วนตัวแยกออกจากทรัพย์สินส่วนรวม และก็ได้กลายเป็นสิทธิส่วนตัวของคน ซึ่งต่อมาก็คือ “สิทธิในทรัพย์สิน”

ล็อค ดูเหมือนจะพูดว่า กฎธรรมชาติก่อให้เกิดทรัพย์สินส่วนตัว(the natural law dictates private property) แล้วรัฐบาล(หรือ ระบอบการเมืองการปกครอง) ก็เกิดขึ้นมาเพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิดังกล่าว  ล็อค กล่าวว่า โลกนี้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้มีการเพาะปลูก และเพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น ผู้ใดที่ทำงานปรับปรุงธรรมชาติดีขึ้น ผู้ได้เสริมแต่งให้กับธรรมชาติ ด้วยน้ำพักน้ำแรง ผู้นั้นเป็นผู้ทำคุณแก่มนุษยชาติทั้งมวล

พระเจ้ามอบโลกให้แก่มนุษย์เพื่อใช้ร่วมกัน แต่เนื่องจากพระเจ้ามอบโลกให้แก่มนุษย์เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เอง เพื่อให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายขึ้น สุดแท้แต่มนุษย์จะหาประโยชน์ได้จากโลก  เพราะฉะนั้น โลกนี้จะอยู่ในสภาพใช้ร่วมกันตลอดไปหาได้ไม่ พระเจ้ามอบโลกให้แก่คนที่ขยันขันแข็ง ผู้มีเหตุผล ไม่ได้มอบแก่มนุษย์ผู้เพ้อเจ้อ ชอบทะเลาะวิวาท และขี้อิจฉา

(ความเห็นของผู้สรุปภาษาไทย – ข้อความข้างบนนั้น ผู้ใดไม่เคยเรียนพระคัมภีร์มาก่อน ฟังหรืออ่านแล้ว จะไม่สามารถเข้าใจได้ อย่างลึกซึ้งถึงแก่น คงเข้าใจเพียงพอทำเนาเท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น “และขี้อิจฉา” ข้อความนี้หมายถึงใครในพระคัมภีร์? ซาตาน ครับ ซาตานเป็นทูตสวรรค์ที่ขี้อิจฉาพระเจ้า)

ล็อค ดูเหมือนจะชี้ว่า สาธารณรัฐแบบของล็อค จะเป็นสาธารณรัฐ “ค้าขาย”  ในขณะที่นักปรัชญาการเมืองการปกครองยุคโบราณ เช่น เพลโต อริสโตเติล มองว่า การค้าขาย เป็นเรื่องรองในชีวิตของประชาชนพลเมือง(citzen) เพลโต ดูเหมือนจะมองทรัพย์สินแบบคอมมิวนิสต์  อริสโตเติล เห็นความสำคัญของทรัพย์สินส่วนตัว แต่เป็นไปเพื่อเปิดโอกาสให้คนส่วนน้อยที่มีทรัพย์ จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง  เศรษฐกิจจะเป็นเรื่องรองในปรัชญาการเมืองอริสโตเติล ซึ่ง จอห์น ล็อค คิดตรงข้าม เขามีความเห็นเรื่องเศรษฐกิจใกล้กับ อดัม สมิธ มากกว่าที่จะใกล้กับนักปรัชญาโบราณคนอื่นใด

สำหรับ ล็อค แล้ว การแสวงหาและสะสมทรัพย์สิน ไม่มีข้อจำกัดโดยธรรมชาติ (no natural limit) การนำเงินตราเข้ามาใช้ในสภาพธรรมชาติ ทำให้การสะสมทุน(capital accumulation) กลายเป็นกฎศิลธรรม คือ เรามีหน้าที่จะต้องใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบตามธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเรา ด้วยการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตัวเอง  การทำตัวเองให้รวยก็เท่ากับกำลังทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย โดยไม่ได้ตั้งใจ

แรงงาน ได้กลายเป็นที่มาของคุณค่าทั้งหลาย  แรงงานช่วยให้สิ่งของมีคุณค่าเพิ่มขึ้นร้อยเท่าพันเท่า  พระเจ้ามอบโลกให้แก่มนุษย์ใช้ร่วมกัน ต่อจากนั้น ล็อค เห็นว่ามนุษย์เป็นเจ้าของตัวตนของเขาเอง แล้วการที่มนุษย์ออกแรงเก็บผลแอปเปิลจากต้น  การออกแรงนั้นทำให้มนุษย์ผู้นั้นได้เป็นเจ้าของผลแอปเปิลผลนั้น  การให้เหตุผลระบบนี้พัฒนาต่อไป กลายเป็นเรื่องทรัพย์สินส่วนตัว และระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

ล็อค เห็นว่า การปกป้องความแตกต่างของคุณสมบัติในการแสวงหาทรัพย์ คือ หน้าที่แรกของรัฐบาล (หรือ ของการเมืองการปกครอง)

ศ.สมิธ เห็นว่า เจม แมดิสัน ได้รับอิทธิพลโดยตรงจาก ล็อค ในการเขียน เฟดเดอรัล เปเปอร์ หมายเลยสิบ  ซึ่งบางคนเห็นว่า เป็นงานเขียนความคิดทางการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด ของสหรัฐฯ (ผู้สรุปภาษาไทย – ท่านผู้อ่านควรเคาะหาความกระจ่างเรื่องนี้ เช่น ที่วิกิ ก็นำเสนอไว้ดีมาก เรื่อง Federalist No. 10)

ล็อค ได้มอบเกียรติยศและศิลธรรมให้แก่การค้าขาย การแสวงหาเงินตรา การสะสมทรัพย์  ซึ่งปราชญ์โบราณยุคกรีกโรมันไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้  ล็อค บอกว่า การค้าขายช่วยให้คนมีกิริยานุ่มนวลลง ไม่กระหายเลือด กระหายสงคราม มีความเป็นอารยะ  ล็อค บอกว่า การค้าขายไม่เรียกร้องต้องการให้เราเสี่ยงชีวิต หรือสละเลือด


---------------------------------------------------------------------------------------------

สนใจ ต้นฉบับวีดีโอสำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง