open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ตอน 17 ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัย เยล จอห์น ล็อค ตอน 3/3


Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย

ทฤษฎีการเมืองการปกครอง ของ จอห์น ล็อค ตอน 3/3
Constitutional Government: Locke's Second Treatise (13-19)


ในขั้นนี้ ศ.สมิธ จะเน้นความคิดของ ล็อค ส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของ “อำนาจบริหาร” ในทฤษฎีการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้โดยเฉพาะอำนาจบริหารเมื่อเผชิญหน้ากับอำนาจนิติบัญญัติ  หลังจากนั้นในเรื่องที่สอง ศ.สมิธ จะหันไปมองเทียบเคียงความคิดของล็อค กับระบอบการเมืองการปกครองอเมริกันปัจจุบัน

ตลอดมา เรื่องที่ล็อคย้ำก็คือ ระบบการเมืองการปกครองที่มีขอบเขต มีการตีกรอบ เขาเห็นชอบกับการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ  นิกายการเมืองของล็อคคือนิกายที่ต้องมีการตรวจสอบ ถ่วงอำนาจ ซึ่งกันและกัน  อย่างไรก็ดี ล็อค เน้นอำนาจนิติบัญญัติเป็นสำคัญ  ซึ่งสอดคล้องกับระบอบการเมืองการปกครองของอังกฤษปัจจุบัน ที่เรียกว่า “parliamentary supremacy” หรือจะแปลอย่างง่าย ๆ ลำลองได้ว่า “รัฐสภาเป็นใหญ่”

วัตถุประสงค์ของการเมืองการปกครอง(หรือรัฐบาล)สำหรับล็อค ไม่ใช่เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้บ้านเมืองเกิดกลียุค ถอยกลับไปหาสภาพธรรมชาติ ล็อค ไม่ได้ห่วงประเด็นนั้น แต่ห่วงว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นมาในบ้านเมือง(tyrannical or despotic power)

จะอย่างไรก็ตาม ลอ็ค ก็ไม่ได้ละเลยเรื่องอำนาจบริหาร ไม่ว่าอำนาจบริหารนั้นจะตกแก่พระมหากษัตริย์ เจ้าชาย หรือกลุ่มคน หรือคณะบุคคลใด ๆ  ล็อคมองอำนาจบริหารว่าเป็น “ผู้ทำการแทน” ให้แก่อำนาจนิติบัญญัติ หน้าที่ของอำนาจบริหารสายตาของล็อค ก็คือ นำเจตนาของอำนาจนิติบัญญัติมาทำให้ปรากฏเป็นรูปธรรม  อำนาจบริหารเป็นรองอำนาจนิติบัญญัติ

กระนั้น ล็อค ก็เข้าใจดีว่า ทุก ๆ ชุมชนสังคม จะมีเรื่องเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ล็อคเรียกอำนาจที่จะกระทำการเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพว่า the federative power โดยล็อคเห็นว่า ชุมชนสังคมแต่ละชุมชน ก็เหมือนบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีเรื่องเกี่ยวพันกับบุคคลอีกคนหนึ่ง  ชุมชนหนึ่งกับอีกชุมชนหนึ่งก็ “มีเรื่อง” ระหว่างกันได้ เพราะฉะนั้น the federative power จึงจำเป็นจะต้องมี เพื่อใช้เมื่อชุมชนวิวาทกัน  อำนาจนี้ล็อคเห็นว่าไม่ผูกพันกับตัวบทกฎหมายที่มีอยู่เดิม จะต้องว่ากันตามความเห็นของกลุ่มที่บริหาร ว่าผลประโยชน์ส่วนรวม – หรือผลประโยชน์สาธารณะ อยู่ที่ไหน คืออะไร ในบัดนั้น

อำนาจ the federative power นี้ตกแก่ฝ่ายบริหาร  สงครามและสันติภาพไม่ใช่เรื่องของอำนาจนิติบัญญัติ หรือกฎหมายที่มีอยู่เดิม แต่เป็นเรื่องของผู้นำในบัดนั้น ซึ่งเขาเรียกว่า God-like princes คือ เจ้าชายที่คล้ายเทพ ศ.สมิธ เห็นว่า ความคิดเรื่อง “เจ้าชายที่คล้ายเทพ” ของ ล็อค คล้ายกับความคิดของ มาเคียเวลลี ที่เคยพูดถึง “armed prophet” หรือ “ศาสดาที่ถืออาวุธ” กล่าวคือ ผู้ทรงอำนาจบริหารมี “เอกสิทธิ์” ที่จะกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม (เอกสิทธิ ในที่นี้ท่านใช้คำว่า prerogative) เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงขั้นนี้ ล็อค ก็ผ่อนคลายความเข้มงวดที่ว่าอำนาจบริหารขึ้นอยู่กับอำนาจนิติบัญญัติ กลายเป็นว่าอำนาจบริหารมี “เอกสิทธิ” ของตนเองในสถานการณ์สงครามและสันติภาพ หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีต้องฟังอำนาจนิติบัญญัติ

“เอกสิทธิ” ของอำนาจบริหารของล็อคนั้น เกิดจากการที่อำนาจนิติบัญญัติไม่สามารถเล็งเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าในอนาคตได้ ล็อค ยกตัวอย่าง กรณีเกิดไฟไหม้ในเมือง บางทีพนักงานดับเพลิงต้องตัดไฟไม่ให้ลุกลามใหญ่โต ด้วยการรื้อทำลายบ้านเรือนราษฎรทิ้งเสียบ้าง  เรื่องนี้เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม  ถึงแม้จะเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของคนก็ตาม

ศ.สมิธ ยกตัวอย่างในสหรัฐฯว่า บางครั้ง รัฐบาลก็ต้อเวนคืนทรัพย์สินของประชาชนสหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงเรียน สร้างสนามกีฬา หรือสร้างสนามบิน เป็นต้น

อำนาจในการกระทำการตามตัวอย่างข้างต้น คือ อำนาจที่เรียกว่า prerogative power หรือ “เอกสิทธิ” ของอำนาจบริหารในสายตาของล็อค ซึ่งศ.สมิธ ยกตัวอย่างเรื่องการที่สหรัฐฯกักกันผู้(ถูกกล่าวหาว่า)ก่อการร้ายที่กวนตานาโม(บนเกาะคิวบา) ตลอดจนการสอดแนมประชาชน โดยอ้างเรื่องการป้องกันการก่อการร้าย การใช้เอกสิทธิของอำนาจบริหารดังกล่าวนี้ มักจะมีปัญหาโต้แย้งกันเสมอ ว่าเป็นการเผด็จการหรือไม่?

ศ.สมิธ ยกตัวอย่าง นักปรัชญากฎหมายเยอรมันศตวรรษที่ 20 ชื่อ Carl Schmitt ผู้แสดงเหตุผลว่า การใช้อำนาจในยามวิกฤตเป็นประเด็นสำคัญในทางการเมืองการปกครอง  บุคคลก็ดีองค์กรทางการเมืองก็ดีที่มีสิทธิ/อำนาจ ที่จะประกาศใช้ “เอกสิทธิ” ของอำนาจบริหาร ได้แก่ บุคคลหรือองค์กรที่ทรงสิทธิเป็นรัฏฐะ(sovereign) และมีสิทธิใช้อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนุญ(extra constitutional power) เมื่อรัฐธรรมนูญก็ดี ตัวบทกฎหมายก็ดี ไม่มีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติการได้

แต่ ศ.สมิธ เสนอวิธีพิจารณาประเด็น เอกสิทธิ ของอำนาจบริหาร(prerogative power) อีกทางหนึ่งว่า บางทีการใช้อำนาจนี้อาจมีอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วก็ได้ ศ.สมิธให้พิจารณากรณีประธานาธิบดีลิงคอล์น ให้พัก habias corpus ในระหว่างสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ(ผู้สรุปภาษาไทย ไม่มีความรู้เรื่องนี้ ท่านผู้อ่านโปรดหาความรู้กันเอาเอง) ลิงคอล์นไม่ได้อ่างอำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญ แต่กลับอภิปรายว่า เอกสิทธิของอำนาจบริหารอนุญาตอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ลิงคอล์นอ้างรัฐธรรมนูญว่าอนุญาตให้กรณีเกิดการขบถ หรือประเทศถูกรุกราน ศ.สมิธ ถามนักศึกษาว่า ในปัจจุบันนี้เรา(สหรัฐฯ)กำลังอยู่ในภาวะถูกรุกราน หรือไม่?

แล้วถ้าเกิดกรณีใช้อำนาจโดยมิชอบขึ้นมาล่ะ?(abuse) ล็อคมีความเห็นว่าอย่างไร?

ล็อค เห็นว่า กรณีที่มีการใช้อำนาจบริหารที่เป็นอำนาจ “เอกสิทธิ” โดยมิชอบนั้น  ประชาชนไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากอุทธรณ์ขึ้นไปยัง “สวรรค์”(appeal to heaven) ซึ่งหมายความว่าให้ประชาชน ลุกขึ้นมาก่อการปฏิวัติ ล้มล้างรัฐบาล

เราเห็นแล้วว่า ล็อค พยายามจะสมานแนวคิดเข้าด้วยกันสองสามเรื่อง คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย กับเอกสิทธิ์ของอำนาจบริหาร และการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญ หมายความว่า เอกสิทธิของอำนาจบริหารแฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วใช้หรือไม่?  เรื่องเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น การสอดแนมประชาชน(หรือสิทธิส่วนตัวของประชาชน เป็นต้น

ศ.สมิธ เห็นว่า การที่ล็อค ให้ประชาชนอุทธรณ์ต่อสวรรค์(ให้ลุกขึ้นจับอาวุธล้มล้างรัฐบาล) นับได้ว่า ล็อค เป็นนักปฏิวัติกลาย ๆ ผู้หนึ่ง

อย่างไรก็ดี หลักการเมืองการปกครองที่ว่า อำนาจนิติบัญญัติต้องมาเหนือสุด(doctrine of legislative supremacy) กับ หลักเรื่องความยินยอม(doctrine of consent) ทำให้ล็อค มีชื่อเสียงในวงการนักประชาธิปไตย และนักประชาธิปไตยตกของ(radical democrats)  ส่วนหลักเรื่องการพิทักษ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล ก็น่าที่จะทำให้เขามีชื่อเสียงในกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มเสรีนิยม แนวคิดของล็อค ยังคงเป็นรากฐานของระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยทั่วไปในทุกวันนี้ และวิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยทั่วไปในเวลานี้โดยมาก ก็จะเป็นวิกฤตการณ์ ที่ตั้งอยู่บนรากฐานปรัชญาการเมืองการปกครองของ จอห์น ล็อค

ศ.สมิธ ตั้งประเด็นการบรรยายในลำดับต่อไป โดยโยงแนวคิดของล็อค กับการเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่า ล็อค มีอิทธิพลต่อความคิดของบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ(founding fahthers) เท่ากับล็อค มีส่วนช่วยก่อตั้งประเทศสหรัฐฯด้วยผู้หนึ่ง

แนวคิดของล็อค เรื่องกฎธรรมชาติ สิทธิ ความยินยอม สิทธิที่จะทำการปฏิวัติ เหล่านี้ล้วนเป็นเสาหลักความคิด ของระบอบการเมืองการปกครองสหรัฐฯ  การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการเมืองการปกครองสหรัฐฯ มีค่าเท่ากับวิจารณ์แนวคิดทางการเมืองการปกครองของ จอห์น ล็อค โดยปริยาย

ตลอดเวลาสองร้อยปีกว่าที่ผ่านมา ปรัชญาการเมืองของล็อค ที่ปรากฏรูปธรรมเป็นระบอบการปกครองของสหรัฐฯ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า ใช้การได้ดี  แต่ก็มีนักปรัชญาการเมืองจำนวนหนึ่ง ไม่มากนัก ที่มองว่าหลักการดังกล่าวยังบกพร่อง ศ.สมิธ ยกตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนขึ้นในยุค 1950s โดยนักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาการเมืองที่มีชื่อเสียง ชื่อ หลุยส์ ฮาร์ท หนังสือชื่อ “The Liberal tradition in America” วิจารณ์ว่า อเมริกาหลงใหลปรัชญา จอห์น ล็อค อย่างไร้เหตุผล หมายความว่า ลักษณะดังกล่าวนั้น ปิดกั้นแนวความคิดอย่างอื่นที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯเสียสิ้น

เช่น ทำไมแนวคิดเชิงสังคมนิยมจึงไม่เกิดขึ้นได้ในสหรัฐฯ  ทำไมการเมืองการปกครองสหรัฐฯจึงไม่พัฒนาไปตามแนวที่ยุโรปได้พัฒนา คือ เกิดแนวคิดและการเมืองแนวสังคมประชาธิปไตย หรือสังคมนิยม-ประชาธิปไตย  ทำไมสหรัฐฯไม่มีพรรคสังคมนิยม อย่างเช่น พรรคกรรมกรในอังกฤษ หรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยบนภาคพื้นยุโรป

ผู้เขียนหนังสือเล่มนั้น กล่าวหาว่า สหรัฐฯติดกับดักความคืดของ จอห์น ล็อค จนมืดบอดมองไม่เห็นความคิดทางการเมืองแบบอื่น นักวิจารณ์บางคนเห็นว่า การที่ล็อคยกย่องสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลไว้สูง มีผลโยงไปยังเศรษฐกิจแบบตลาด และยกย่องตลาดว่าเป็นตัวกำหนดคุณค่าทั้งหลาย เหนือคุณค่าอื่นใดหมด 

ในชั้นหลังนี้ ผู้วิจารณ์อีกกลุ่มหนึ่งในแนวชุมชนนิยม เห็นว่า การที่ล็อคเน้นเรื่อง “สิทธิ” และ “สิทธิอันพรากไปจากคนมิได้”(unalienable rights) มีลักษณะเป็นการมองการเมืองการปกครองในสายตาของนักนิติศาสตร์มากไป จนปิดกั้นไม่ให้มีการพิจารณาเรื่อง “สาธารณสมบัติ”(public goods) หรือสมบัติส่วนรวม ตลอดจนรูปแบบผลประโยชน์ส่วนรวมทั้งหลาย  เพราะฉะนั้น จะว่าไป ว่าปรัชญาการเมืองอเมริกันยอมรับล็อคเต็มที่ ปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ คงจะไม่ได้

ถึงปัจจุบันนี้ ศ.สมิธ เล่าว่า แนวคิดเสรีนิยมของ ล็อค ยังเผิชญกับการต่อต้านรูปแบบใหม่ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากแนวคิดเสรีนิยมเช่นเดียวกับล็อค ศ.สมิธ อ้างถึง หนังสือชื่อ “The Theory of Justice” ของนักปรัชญาการเมืองยุคปัจจุบันชื่อ จอห์น เราส์

หนังสือเล่มนี้ เป็นความพยายามที่จะสร้างความทันสมัยแก่แนวคิดรัฐเสรีนิยม โดยเริ่มจากทฤษฎีเรื่อง “สิทธิ”  หนังสือเล่มนี้เป็นแนวคิดแองโกล-อเมริกัน ที่สำคัญที่สุดในระยะหลัง ๆ นี้ ที่เริ่มจาก ล็อค เอมมานูเอล คานต์ และจอห์น สจวต มิลล์

จอห์น เราส์ เสนอ “ทฤษฎีความยุติธรรม” อันวางอยู่บนรากฐานของทฤษฎีเรื่องสิทธิ

โดยที่ ล็อค เขียนว่า
Every man has property in his own person. This nobody has any right to but himself and where there is property,” he writes, “there can be justice and injustice.”

“มนุษย์แต่ละคนต่างก็มีทรัพย์อันมีค่าอยู่ในตัว อันผู้อื่นจะมาถือสิทธิเอาไม่ได้ เว้นแต่ตัวเขาเองผู้เดียวเท่านั้น  และที่ไหนมีทรัพย์สิน ที่นั่นก็จะมีความยุติธรรม และความอยุติธรรม”

ส่วน จอห์น เราส์ เขียนว่า
Each person,” Rawls writes,”possesses an inviolability founded on justice that even the welfare of society as a whole cannot override. For this reason,” he continues, “justice denies that the loss of freedom for some is made right by a greater good shared to others.”

“บุคคลแต่ละคน เป็นเจ้าของสิ่งอันละเมิดมิได้ ที่วางอยู่บนรากเหง้าแห่งความยุติธรรม อันแม้แต่สวัสดิภาพภของสังคมส่วนรวมทั้งสังคม ก็จะมาลบล้างเสียมิได้  ด้วยเหตุนี้ ความยุติธรรมจึงปฏิเสธว่า การที่คนบางคนสูญเสียอิสรภาพ จะถูกแก้ให้กลายเป็นดีได้ ถ้าผู้อื่นจำนวนมากได้รับคุณความดี”

สรุปว่า ต่างฝ่ายต่างก็เห็นแก่ความศักดิ์สิทธิ์ของตัวบุคคลด้วยกันทั้งคู่ และทั้งคู่ก็เห็นว่ารัฐบาลมีหน้าที่ดูแลเรื่องความยุติธรรม ทั้งนี้โดยได้รับความยินยอม หรือความยินยอมอย่างรู้เท่าถึงการณ์(informed consent)มาจากผู้ถูกปกครอง  แต่ทั้งคู่แตกต่างกันอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับแหล่งที่มาของ “สิทธิ”(the source of rights) เพราะฉะนั้น บทบาทของรัฐบาลในอันที่จะดูแลพิทักษ์ความยุติธรรมก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย

ศ.สมิธ อธิบายประเด็นนี้ว่า สำหรับล็อค “สิทธิ” ก่อกำเนิดขึ้นจากทฤษฎีความเป็นเจ้าของ(theory of ownership) ดังได้กล่าวแล้วว่าคนทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าข้าวเจ้าของตัวตนเขาเอง ไม่มีผู้ใดจะมาเรียกร้องสิทธิเอากับเขาได้นอกจากตัวเอง  สิทธิตามธรรมชาติก็ดี ความยุติธรรมก็ดี และรัฐบาล(การเมืองการปกครอง)ก็ดี ที่มีขีดจำกัด(limited government) เหล่านี้  ล็อค สร้างทฤษฎีขึ้นจากการที่มนุษย์เป็นเจ้าของตัวตนเขาเอง

พูดอีกแบบว่า มนุษย์มีอัตตลักษณ์และมีเอกลักษณ์ เพราะว่ามีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่สร้างสรรค์ตัวเองขึ้นมา  เราคือผลงานของเราเอง เราสร้างตัวตนขึ้นมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของเรา หรือที่สำคัญคือจากการงานของเรา โลกนี้ทั้งโลกก็เป็นผลงานการสร้างสรรค์อย่างเสรีของมนุษย์ มิใช่เกิดมีขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดมีขึ้นได้จากบุคคลทั้งหลาย และสิทธิก็เกิดมีขึ้นได้ตรงนี้

เราส์ ช่วยแต่งเติมความคิดนี้ ด้วยการเสนอหลักการที่เขาเรียกว่า “หลักแห่งความแตกต่าง” (the Difference Principle) ซึ่งแถลงว่า ความสามารถตามธรรมชาติของเรา พรสวรรค์ของเรา ภูมิหลังด้านครอบครัวของเรา ประวัติชีวิตเรา สถานะทางสังคมของเรา เหล่านี้  ในเชิงศิลธรรม(moral point of view)ล้วนแต่เป็นเรื่องลมเพลมพัด ไร้หลักการหรือกฎเกณท์ เป็นความบังเอิญ เป็นหวยชีวิต หรือลอตเตอรี สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเราจริง ๆ เราไม่สร้างมากับมือ แต่ได้มาเพราะโชค เป็นลอตเตอรีของยีนส์(genetic lottery) หรือลอตเตอรีสังคม(social lottery)  เราอยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์(beneficiary) ไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าข้าวเจ้าของ(possessor)

ผลก็คือ ตัวเราไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินเหล่านั้นแต่เพียงผู้เดียว แนวคิดนี้ยังผลเชิงสังคมหรือนโยบายสังคม อย่างไร?

ตามแนวของ ล็อค เขาสนับสนุน ระบบคุณธรรมนิยม(meritocracy) ซึ่งให้เกียรติความสามารถส่วนบุคคล ถือว่าเขาสร้างเขาทำขึ้นมาเอง จึงเป็นของเขา  แต่สำหรับ เราส์ ไม่ถือว่าความสามารถเหล่านั้นเป็นของเราจริง ๆ แต่เพียงผู้เดียว ทว่าเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม  สังคมส่วนรวมมีสิทธิมาแบ่งปันไปได้

เราส์ กล่าวว่า “The Difference Principle represent in effect an agreement to regard the distribution of natural talents as a common asset and to share in the benefits of this distribution whatever it turns out to be.”

“กฎแห่งความแตกต่างบ่งว่า การกระจายความสามารถตามธรรมชาติเป็นสาธารณสมบัติ และจะต้องแบ่งปันกันไป”

และด้วยแนวคิดเชิงสาธารณสมบัติเช่นนี้ นี่เองที่เป็นพื้นฐานของความยุติธรรมในการกระจายทรัพยากรและรัฐสวัสดิการ ของ จอห์น เราส์  เช่นเดียวกับที่ทฤษฎีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของตัวตนของ ล็อค ที่เป็นพื้นฐานของหลักการการเมืองการปกครองที่มีขีดจำกัดในการใช้อำนาจ เป็นรัฏฐะ ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เราส์ บอกว่า ความยุติธรรมบ่งว่า การจัดระเบียบสังคมนั้นจะต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ด้อยโชคที่สุดในระบบลอตเตอรีสังคม หรือลอตเตอรี ยีนส์  ดังนั้น การทำสาธารณสมบัติมากระจายกันใหม่ ไม่ได้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอันศักดิ์สิทธิ(the sanctity of the individual) เพราะว่า สิ่งที่เราว่าเป็นของเรานั้น ไม่ได้เป็นของเราแต่ผู้เดียวมาแต่ต้น

ล็อค กับ เราส์ ต่างก็เป็นพวกเสรีนิยมด้วยกัน แต่มีมุมมองสังคมเสรีที่แตกต่างกัน  คนหนึ่งเน้นเสรีภาพ อีกคนหนึ่งเน้นความเสมอภาค ศ.สมิธ เห็นว่า ทฤษฎีการเมืองอเมริกันเอียงไปทาง ล็อค มากว่าไปทาง เราส์ คำประกาศอิสรภาพสหรัฐฯ บ่งว่า บุคคลมีสิทธิส่วนตัวอันผู้ใดจะพรากเสียมิได้  ไม่มีเอกสารการเมืองใดที่จะบอกว่า ควรมีการกระจายทรัพย์สินอย่างยุติธรรมทั่วทั้งสังคม(อเมริกัน)

-----------------------------------------------------------------------------------------------
สนใจ ต้นฉบับวีดีโอสำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น