open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ตอน 16 ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัย เยล จอห์น ล็อค ตอน 2/3


Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย

ทฤษฎีการเมืองการปกครอง ของ จอห์น ล็อค ตอน 2/3
Constitutional Government: Locke's Second Treatise (7-12)
ตอน 2/3

ศ.สมิธ ลำดับประเด็นที่จะพูดต่อไปเกี่ยวกับ ล็อค คือ เรื่องสปิริตของระบบทุนนิยม เรื่องการปกครองโดยได้รับความยินยอม และความคิดเรื่องกฎธรรมชาติ แนวคิดสำคัญที่ ล็อค มอบให้แก่ปรัชญาการเมืองการปกครอง – คือ การปกครองโดยความยินยอม(consent)

หนังสือของ ล็อค ห้าบทแรก ล็อคได้นำเราทัศนามานุษยวิทยาปรัชญา(philosophical anthropology)  เริ่มจาก สภาพธรรมชาติสู่สภาพสงคราม สู่การสร้างทรัพย์สินส่วนตัว และในบทที่ห้าว่าด้วย สภาพธรรมชาติที่คล้ายระบอบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม กระทั่งเกิดการสร้างทรัพย์สินส่วนตัว ที่เกิดจากแรงงานของคน  จวบจนจบบทที่ห้า ล็อคก็นำเรามาสู่ ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เต็มรูป(full scale market economy) ที่มีความไม่เท่าเทียมกัน มากมายหลายแบบ

ศ.สมิธ เห็นว่า ล็อค นำเรื่องราว ความเป็นมาของมนุษย์ที่ตามปกติ(ในสมัยนั้น) จะเป็นเนื้อหาอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น  ล็อคเริ่มจากมนุษย์อยู่ในสภาพธรรมชาติ ที่ปราศจากกฎ ระเบียบการปกครอง มนุษย์ในสภาพนั้นก่อกำเนิดทรัพย์สินส่วนตัวขึ้นมาได้อย่างไร  เพียงด้วยการใช้แรงงาน และด้วยการทำงาน  ล็อคบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์แสวงหาและสะสมทรัพย์  แม้กระทั่งในสภาพธรรมชาติ ที่ปราศจากกฎระเบียบของบ้านเมือง มนุษย์ก็มีทรัพย์สินส่วนตัว

ปัญหาของสภาพธรรมชาติก็คือ ความไร้เสถียรภาพ

เพราะไม่มีอำนาจบ้านเมืองมาพิพากษาข้อข้อแย้ง โดยเฉพาะข้อขัดแย้งเรื่องทรัพย์สิน การที่คนจะได้ใช้ทรัพย์ บันเทิงกับทรัพย์ที่เกิดจากแรงงานแห่งตนอย่างสันติสุขนั้น เป็นไปได้ยากในสภาพธรรมชาติ เนื่องจากมีข้อขัดแย้ง มีการรบราแย่งชิงกัน เพราะฉะนั้นเราจะมีความมั่นคงได้อย่างไร เราจะมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างไร ถ้าปราศจากผู้กำกับดูแลกฎและระเบียบ ผู้คอยเป็นหลักประกันความมั่นคง ในสภาพธรรมชาตินั้นแต่ละคนต้องดูแลตัวเอง แก้แค้นกันเอาเอง และแย่งชิงกันได้เอง ล็อคสรุปว่า การเมืองการปกครองและการอยู่เป็นบ้านเป็นเมือง กำเนิดจากการที่มนุษย์จำเป็นต้องมีหลักประกัน มีความมั่นคง ในเรื่องทรัพย์สิน(property right)  รัฐบาลเกิดมีขึ้น เพื่อพิทักษ์คุ้มครองทรัพย์สินส่วนบุคคล

ล็อค เป็นนักปรัชญาการเมืองการปกครองคนแรก ที่เห็นว่า มนุษย์มารวมอยู่ด้วยกันด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือ การพิทักษ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่มีนักปราชญ์ผู้ใด ก่อนหน้าล็อค ที่พูดชัดเจนว่า จุดประสงค์หลักของการเมืองการปกครอง ได้แก่ การพิทักษ์ปกป้องสิทธิในทรัพย์สิน และทรัพย์สินตามความหมายของล็อค ไม่ได้หมายความเพียงสิ่งของรอบตัวเรา แต่ทรัพย์สินฝังลึก สิงอยู่ในตัวตนของคน  คนเราเกิดมาพร้อมกับมีทรัพย์สินอยู่ในตัว (เช่น แรงงาน) ทรัพย์สินไม่ได้จำกัดอยู่ที่ อสังหาริมทรัพย์ แต่อยู่ที่ชีวิต เสรีภาพ และสิ่งที่เราเป็นเจ้าของ

          Property = things proper to us

ล็อค ยังย้ำอยู่ตลอด เรื่องความไม่แน่นอนของสภาพตามธรรมชาติ  เขาบอกว่า ชีวิตในสภาพธรรมชาติเต็มไปด้วยความหวาดกลัว และมีภยันตรายรอบด้าน ซึ่งผลักด้นให้เราหันหน้าหาความศิวิไลซ์( หา อารยธรรม)

การเปลี่ยนแปลงจาก สภาพธรรมชาติสู่สภาพศิวิไลซ์ ของ ล็อค ต่างจากของ ฮ็อปส์ เพราะล็อค ได้ทำให้คำสอนของฮ็อปส์อ่อนโยนลง ขณะที่ฮ็อปส์เน้นน่ากลัวสุดขีดในสภาพธรรมชาติ แต่สำหรับล็อค สภาพธรรมชาติเป็นเพียงสภาพแห่งความไม่สบายกายไม่สบายใจ ไม่มั่นคง หรือบางทีเขาใช้คำว่า “ความไม่สะดวก”

ศ.สมิธ ตั้งคำถามว่า ความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจที่ล็อคพูดถึง เขากำลังหมายถึงจิตใจอันประหวั่นของชนชั้นกลุ่มใหม่ในสังคมหรือเปล่า? อันได้แก่ ชนชั้นค้าขายกลุ่มใหม่ (new commercial class) ซึ่งกำลังแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ของตนในสังคม

งานชิ้นนี้ของ ล็อค ถือเป็นงานเกี่ยวกับ “ชนชั้นกลาง”  หรือที่พวกมาร์กซิสต์ เรียกว่า “พวกกฎุมพี”(bourgeois)  เวลาที่ล็อคพูดว่า โลกนี้พระเจ้าสร้างไว้ให้แก่คนที่ขยันขันแข็ง และมีเหตุผล  ล็อค กำลังหมายถึง ชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ที่มีสิทธิในการเมืองการปกครองได้ ไม่ใช่เพราะด้วยยศ หรือบรรดาศักดิ์ หรือเป็นชนชั้น “ผู้ดี”  แต่มีสิทธิในการเมืองการปกครอง เพราะมีความขยันขันแข็ง สู้งานหนัก มัธยัสถ์

ศ.สมิธ กล่าวว่า อดีตนักศึกษาของท่านผู้หนึ่ง เห็นว่า หนังสือเล่มสองของ ล็อค น่าจะมีชื่อว่า “the Capitalist Manifesto”(คำประกาศของลัทธินายทุน)  หรือ “คำประกาศแอนตี้คอมมิวนิสต์”  ศ.สมิธสรุปว่า แนวคิดของล็อค ก็คือ แนวคิดแบบของ มาเคียเวลลี ที่มีหน้าตาเป็นมนุษย์มนามากขึ้น (มีมนุษยธรรม มากขึ้น)  การเมืองการปกครองของ “เจ้าชาย” ของ มาเคียเวลลี ก็เป็นการเมืองการปกครองที่อยู่นอกกรอบจารีตดั้งเดิม  แนวคิดของล็อคคล้ายกับของมาเคียเวลลี เช่น เรื่องจริยธรรมของคนผู้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยลำแข้งตนเอง(self-made man) ผู้มีชีวิตอยู่ในความหวาดหวั่น ตื่นกลัว อยู่ไม่สุข ล็อคทดแทนจริยธรรมแห่งการพิชิตสงคราม และการข่มเหงรังแก ของ มาเคียเวลลี มาเป็นการสู้งานหนัก ทำงานหนัก

แต่ ศ.สมิธ ก็เสนอแนะว่า แนวคิดทางการเมืองการปกครองของล็อค นำไปสู่หนังสือที่มีชื่อเสียงของ แม็ก เวเบอร์ เรื่อง “จริยธรรมโปรเตสแตนท์ และจิตวิญญาณของระบอบทุนนิยม”  เวเบอร์เห็นว่า การสะสมทุนและการแสวงหาทรัพย์อย่างไม่มีขีดจำกัด ดุจจะเหมือนศรัทธาในศาสนา ก็เพราะพระเจ้ามอบโลกไว้ให้แก่คนขยันและมีเหตุผล  ไม่ได้มอบให้พวกชอบทะเลาะวิวาท หาเรื่อง มากเรื่อง  ไม่ได้มอบให้แก่พวกขุนน้ำขุนนาง ผู้มุ่งแต่จะมีอำนาจเหนือผู้อื่น ชอบขึ้นขี่คนอื่น

ล็อค ได้นำจริยธรรมใหม่เกี่ยวกับทรัพย์สินมาเสนอ  ศ.สมิธ เห็นว่า ถ้าไม่มี จอห์น ล็อค ก็จะไม่มีวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะเขาบอกว่า การแสวงหาทรัพย์คือเสียงเรียกจากเบื้องบน และบทบาทหลักของการเมืองการปกครอง คือ การปกป้องทรัพย์สิน และสิทธิในทรัพย์สิน
และลำดับต่อไปจนตลอดการบรรยายครั้งนี้ ศ.สมิธ จะมุ่งประเด็นแนวความคิดของ ล็อค เรื่อง “ความยินยอม” (Locke’s idea of consent) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่า รัฐบาลที่ชอบธรรมทุกรัฐบาล – หรือ การปกครองที่ชอบธรรมทุกระบอบการปกครอง จะต้องมาจากความยินยอมของผู้ถูกปกครอง

ล็อค เสนอทฤษฎีบ่อเกิดของสังคมต่าง ๆ ว่า มนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเป็นเมืองเป็นสังคม โดยยอมสละเสรีภาพตามธรรมชาติ แล้วมาผูกพันธะด้วยกัน อยู่เป็นชุมชนสังคม ก็ด้วยการตกลงร่วมกันกับคนอื่น ๆ ทุก ๆ คน  มารวมกันอยู่เป็นชุมชน เพื่อความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และสันติสุข

จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์อันชอบธรรมของสังคมบ้านเมือง หรือบางทีเรียกว่า สังคมแพ่ง(civil society) ก็คือ ความสะดวกสบาย ความมั่นคงปลอดภัย และสันติสุข

ล็อค เห็นต่อไปว่า เมื่อใดที่คนจำนวนมากพอ ยินยอมมาร่วมกันอยู่เป็นชุมชน ๆ หนึ่ง คนเหล่านั้นจะรวมกันอยู่ที่นั่น เป็น “กลุ่มการเมืองการปกครองกลุ่มเดียว” (one body politics) โดยที่คนส่วนมาก “มีสิทธิ” ที่จะกระทำการและบงการเพื่อคนอื่นที่เหลือทั้งมวล

ศ.สมิธ เห็นว่า คำกล่าวสั้น ๆ ดังกล่าวของล็อค ดูเหมือนได้สร้างกรณีตัวอย่างที่ทรงพลังที่สุดเป็นครั้งแรก เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ศ.สมิธ ย้ำว่า แนวคิดที่ว่า การเมืองการปกครองเป็นไปตามความยินยอมของเสียงส่วนใหญ่ น่าจะสร้างความประหลาดใจให้แก่กษัตริย์อังกฤษสมัยนั้น แต่ถ้าได้ข้ามช่องแคบอังกฤษมาพบกับ หลุยส์ที่สิบสี่ ซึ่งอยู่ร่วมสมัย และเป็นเจ้าของคำพูดที่ว่า “L’État c’est moi.” หรือ “รัฏฐะ คือ ฉันงัย”  เมื่อได้ยินความคิดของ ล็อค นอกจากจะประหลาดใจแล้ว ยังจะขำกลิ้งอีกด้วย

การที่ ล็อค มีความคิดว่า การเมืองการปกครองต้องเป็นไปตามความยินยอมของเสียงส่วนใหญ่นั้น  จะหมายความว่า ล็อค ปฏิเสธการปกครองแบบอื่น ๆ ทั้งหมด หรือ?  เขาไม่เห็นด้วยกับอริสโตเติล ใช่ไหม? ที่ อริสโตเติล เห็นว่า รูปแบบการปกครองเป็นฉันใดไม่สำคัญ ขอให้ปกครองด้วยกฎหมาย และเดินสายกลางก็แล้วกัน

ล็อค เห็นว่า การตกลงเพื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเดียวกัน ไม่ใช่ว่าจะเหมือนกันทีเดียวกับการสร้างรูปแบบรัฐบาล(a form of government)  เพราะว่าการเลือกรูปแบบรัฐบาล – หรือรูปแบบการปกครองชนิดเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นประชาชาติเดียวกัน(one people) จะมาก่อนการเลือกรูปแบบรัฐบาล

ล็อค มีแนวคิดแค่ว่า รัฐบาลก่อตั้งขึ้นจากความยินยอมของผู้ถูกปกครอง แต่ไม่ได้พูดระบุชัดเจนว่า รูปแบบรัฐบาลจะพึงเป็นฉันใด  รูปแบบรัฐบาลรูปแบบเดียวที่ ล็อค ไม่เห็นด้วย ได้แก่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  นอกจากนั้น ล็อค ปล่อยตามใจผู้คน แล้วแต่ว่าผู้คนจะ “ยินยอม” กับรูปแบบรัฐบาลแบบใด ซึ่งมีความหมายต่อไปด้วยว่า ผู้คนอาจจะ “ยินยอม” กับระบอบใด ๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” เสมอไป

และ ศ.สมิธ เชื่อว่า แนวคิดเรื่อง “ความยินยอม” ของ ล็อค นี่เอง ที่เป็นพื้นฐานหลักของระบอบการเมืองอเมริกัน เสียยิ่งกว่าเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน  หลักการเรื่องความยินยอมนี้ จับจิตจับใจ “บิดา”ผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ(founding fathers)

เมื่อ เจฟเฟอร์สัน ประกาศว่า จุดมุ่งหมายของรัฐบาลก็คือการปกป้องคุ้มครองชีวิต เสรีภาพ และการแสวงสุข (life, liberty and the persuit of happiness) ดูเหมือนว่า เจฟเฟอร์สัน จะนำความคิดต้นตอมาจาก ล็อค แล้วปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย คล้าย ๆ กับ “ยกระดับ”การใช้ภาษาของล็อค  คือ แทนที่จะมุ่งลงตรงที่การแสวงหาทรัพย์อย่างของ ล็อค  ก็เปลี่ยนเป็น การแสวงสุข

นอกจากเจฟเฟอร์สันแล้ว อับราฮัม ลิงคอล์น ก็ได้รับอิทธิพลเรื่อง “ความยินยอม” มาจาก ล็อค ด้วย  ลิงคอล์น พูดไว้เมื่อ ปี 1854 ในการปราศรัยครั้งสำคัญของเขา ว่า

“เมื่อคนผิวขาว ปกครองตัวของเขาเอง เราเรียกว่า การปกครองตนเอง  แต่เมื่อเราปกครองตนเองพร้อม ๆ กับปกครองคนอื่นด้วย  นั่นมันเกินไปกว่าการปกครองตนเอง นั่นมัน เผด็จการกดขี่(despotism)  ศรัทธาปสาทะดั้งเดิมของข้าพเจ้า สอนข้าพเจ้าว่า จะไม่มีสิทธิทางศิลธรรมใด ที่มนุษย์คนหนึ่งจะเอามนุษย์อีกคนหนึ่งเป็นทาส  ข้าพเจ้ากำลังหมายว่า ไม่มีมนุษย์หน้าใหน ดีพอที่จะปกครองผู้อื่น – ถ้าผู้อื่นนั้น ไม่ได้ให้ความยินยอม”

สมัยนั้น ฝ่ายตรงข้ามของ ลิงคอล์น เห็นว่า ก็ถ้าคนส่วนใหญ่ยินยอมให้มีทาส การมีทาสก็น่าจะถูกต้องแล้ว ซึ่งประเด็นนี้ ลิงคอล์น พิจารณาละเอียดต่อไปว่า ความยินยอมไม่ใช่เช็คเป่ลา(a blank cheque) ให้นำไปเขียนจำนวนเลขได้ตามอำเภอใจ ลิงคอล์น เห็นว่า แนวคิดเรื่องความยินยอมยังต้องอยู่ในกรอบของข้อศิลธรรมบางอย่างบางประการ เช่น ความยินยอมให้มีทาสในบ้านเมือง ไม่สอดคล้องกับข้อศิลธรรมที่ว่า ไม่มีผู้ใดจะปกครองบังคับผู้อื่นได้ ถ้าผู้อื่นนั้นไม่ได้ให้ความยินยอม

อย่างไรก็ตาม ศ.สมิธ กล่าวว่า ความขัดแย้งในประเด็นนี้ เกิดจากภายในแนวคิดของ ล็อค เอง  เช่น รูปแบบรัฐบาลที่เกิดจากความยินยอมของคนส่วนใหญ่ พึงเป็นรูปแบบใด การปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากความยินยอมนั้น จะต้องทำทุกอย่างที่เสียงส่วนมากต้องการ กระนั้นหรือ?  จะไม่กลายเป็นทรราชย์โดยเสียงส่วนมาก หรือ? (tyranny of the majority) หรือว่ารัฐบาลจากความยินยอมของคนส่วนมาก จะต้องมีขอบเขต มีกรอบอะไรบางอย่างที่กำหนดว่า เสียงส่วนใหญ่ทำได้ หรือเสียงส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ล็อค มีหลักประกันอะไรว่ารัฐบาลจากความยินยอมของคนส่วนใหญ่ จะมาจากคนส่วนใหญ่ที่เข้าถึงข่าวสาร รู้จักวิเคราะห์แยกแยะข่าวสาร หรือว่าจะมาจากเสียงส่วนใหญ่ที่มีความยินยอมที่มีเหตุผล(rational consent)  คนเราสามารถยินยอมทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อที่จะถูกปกครองอย่างไรก็ได้ อย่างนั้นหรือ?

จะมีอะไรมาป้องกันไม่ให้เสียงส่วนใหญ่ กลายเป็นเสมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ทรราชย์ หรือเผด็จการกดขี่

ศ.สมิธ กล่าวทบทวน ชวนให้นักศึกษาระลึกว่า พวกตน(คนอเมริกัน)เป็นประชาชนของระบอบประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก(เพราะก่อนหน้าระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน ก็จะมีแต่ประชาธิปไตยช่วงสั้น ๆ สมัยกรีก เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ส่วนระบอบประชาธิปไตยฝรั่งเศส มาทีหลังระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน – ผู้สรุปภาษาไทย) อย่างไรก็ดี ศ.สมิธ ถามว่า เคยมีใครถามหาความยินยอมของชาวอเมริกัน ที่จะใช้ระบอบการเมืองการปกครองแบบนี้หรือ?

ล็อค กล่าวว่า เด็กเกิดมาโดยไม่ได้เป็นประชาชนพลเมืองของประเทศใด ๆ หรืออีกนัยหนึ่ง สำหรับล็อค การเป็นประชาชนพลเมือง(citizenship) ไม่ได้มาด้วยการถือกำเนิด ล็อคเห็นต่อไปอีกว่า ทารกเกิดมาในสภาพธรรมชาติ และอยู่ใต้การปกครอง(หรือ อยู่ใต้อำนาจ)ของบิดามารดาเท่านั้น เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วเขาเชื่อฟังอำนาจปกครองของรัฐใด ๆ นั่นไม่ใช่เพราะเขาเกิดที่นั่นหรือที่ไหน  แต่นั่นเป็นเพราะเขา “เลือก” เอง

ตรงนี้ ล็อค กำลังเบิกโรง หรือเปิดตัว ปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่ง คือ “การเลือก” ของคน

ล็อค พูดคล้าย ๆ กับว่าเมื่อเด็กโตขึ้นและบรรลุนิติภาวะ เมื่อนั้นเขาก็มีสิทธิที่จะ “เลือก” เชื่อฟัง หรือไม่เชื่อฟัง อำนาจของรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด  ประเด็นการ “เลือก” นี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง “ความยินยอม” ที่จะอยู่ใต้การปกครองของรัฏฐะ หรือรัฐบาลประเทศใด ๆ คล้าย ๆ กับการสาบานตัวตลอดชีวิต

ศ.สมิธ ยกตัวอย่างเรื่องที่คนอพยพเข้ามาในสหรัฐฯ ที่ประสงค์จะเป็นพลเมือง จะต้องผ่านกระบวนการแห่งการเข้าเป็นพลเมือง ซึ่งมีการสาบานตนว่า จะจงรักภักดีต่อสหรัฐฯ รวมอยู่ในกระบวนการนั้นด้วย

ก็หมายความว่า ประชาชนเต็มขั้นของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือตามตัวอย่างก็คือ ของสหรัฐอเมริกา จะได้แก่คนที่ผ่านกระบวนการสาบานตนมาแล้ว ซึ่งหมายความว่า ได้ให้ความยินยอมอย่างเป็นปัจจุบัน(active consent)

สำหรับคนที่ไม่ผ่านกระบวนการให้ความยินยอมดังกล่าว ล็อค ก็มีขั้นตอนอีกขั้นตอนหนึ่งเตรียมไว้ให้ เรียกว่า “tacit consent”(ยินยอมโดยนัย)  คนเหล่านี้แม้จะไม่ได้ผ่านพิธีการยินยอมอย่างเป็นทางการ ล็อค ก็ถือว่า คนพวกนี้ ได้ให้ความยินยอมแล้วโดยนัย(tacit consent)

คนเรา ให้ความยินยอมโดยนัย กันอย่างไร?

นี่คือปมปริศนาที่ ล็อค พยายามจะขบให้แตก เขามองว่าผู้ใดก็ตามที่รับประโยชน์จากการคุ้มครองของกฎหมายบ้านเมือง มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน คนเหล่านั้น ล็อค ถือว่าได้ให้ความยินยอมโดยนัย(tacit consent) ต่อรัฐบาลที่ปกครองอยู่นั้น  ความยินยอมโดยนัยดังกล่าวคนกระทำเงียบ ๆ ไม่ได้โจ๋งครึ่ม หรือโฉ่งฉ่าง

ศ.สมิธ ถามว่า “ความเงียบ(และการให้ความยินยอม)” กับ “ความเงียบเฉย ๆ” ต่างกันอย่างไร?  ทั้งนี้ ศ.สมิธ ได้ยกตัวอย่างพิธีแต่งงานของฝรั่ง ที่เขาจะต้องขอความยินยอมกันในพิธี ผู้ประกอบพิธีอาจเป็นนักบวช หรือเจ้าหน้าฝ่ายปกครอง จะถามความยินยอมของคู่บ่าวสาว ซึ่งหลายต่อหลายคู่ คู่บ่าวสาวให้ความยินยอมด้วยการนิ่งเงียบ ไม่ได้กล่าวอะไรออกมา

ความเงียบ จึงถูกถือเป็นทางหนึ่ง ของการให้ความยินยอมโดยนัย

ศ.สมิธ บรรยายว่า ล็อค ไม่ได้ชัดเจนเรื่องของการให้ความยินยอมอย่างเงียบ ๆ และยังมีคำถามอีกคำถามหนึ่ง ว่า ระหว่างพลเมืองที่ให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ (เช่น การสาบานตน) กับพลเมืองที่ให้ความยินยอมเงียบ ๆ คนสองกลุ่มนี้ มีสิทธิ แตกต่างกันหรือไม่?

ศ.สมิธ สรุปว่า เรื่องที่ทำให้ปรัชญาการเมืองการปกครองของ ล็อค โดดเด่น ได้แก่ ประเด็นที่ว่าไม่ว่าเสียงส่วนใหญ่จะตัดสินใจให้มีรัฐบาลรูปแบบใด รัฐบาลนั้นจะต้องจำกัดอำนาจขององค์รัฏฐาธิปัตย์(power of the sovereign) แนวคิดนี้ของล็อค ใกล้เคียงกับของ ลิงคอล์น เขาเห็นว่าความยินยอมไม่ได้แปลว่า ยอมอะไรก็ได้  ยอมไม้หลักปักขี้เลนอะไรก็ได้ ยอมให้องค์รัฏฐาธิปัตย์ทำอะไรก็ได้ ทฤษฎีการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญของล็อค เป็นการเมืองการปกครองที่ว่าด้วยอำนาจอันจำกัด อำนาจที่อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย  ขณะที่ ฮ็อปส์ ยกอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ให้เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ล็อค กลับเชื่อถือเรื่องอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มีขอบเขต ไม่ว่า “รัฏฐาธิปัตย์” นั้นจะอยู่กับคน ๆ เดียว คนสองสามคน หรือคนมากคน  ล็อคเชื่อว่า อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มีขอบเขตเท่านั้น ที่พอจะไว้วางใจได้ว่า จะปกปักษ์พิทักษ์ “สิทธิ” ทั้งหลายให้แก่ปวงชนได้

-----------------------------------------------------------------------------------------------
สนใจ ต้นฉบับวีดีโอสำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น