open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ตอน 15 ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัย เยล จอห์น ล็อค ตอน 1/3



Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย

ทฤษฎีการเมืองการปกครอง ของ จอห์น ล็อค ตอน 1/3
Constitutional Government: Locke's Second Treatise (1-5)
ตอน 1/3

ศ.สมิธ กล่าวว่า หนังสือของ จอห์น ล็อค เล่มเล็กนิดเดียว ประมาณร้อยกว่าหน้า ไม่น่าเชื่อเลยว่า หนังสือเล่มนี้จะมีผลเปลี่ยนแปลงโลกได้ ผู้ใดก็แล้วแต่ที่คิดว่า แนวคิดทางการเมืองการปกครองในอดีตไร้ผล ไม่สำคัญ  ศ.สมิธ ท้าให้ลองประเมินประวัติและอิทธิพลทางความคิด ของ จอห์น ล็อค

จอห์น ล็อค มีความคิดหรือแนวคิดด้านปรัชญาการเมืองการปกครอง ที่ โธมัส เจฟเฟอสัน บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ ยอมรับนำมาปฏิบัติทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อ โธมัส เจฟเฟอสัน เขียนคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้น จอห์น ล็อค จึงมีฐานะคล้าย ๆ เป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยผู้หนึ่ง

จอห์น ล็อค เชื่อเรื่องเสรีภาพโดยธรรมชาติของมนุษย์ และคุณภาพของคน  เขาเชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาติ ในชีวิตและทรัพย์สิน  จอห์น ล็อค เห็นว่าการปกครอง โดยเฉพาะการปกครองที่ชอยด้วยกฎหมาย เป็นการปกครองด้วยความยินยอมของปวงชน  และเป็นการปกครองที่มีขอบเขต มีการแบ่งแยกอำนาจ  เมื่อใดที่การปกครอง(หรือ รัฐบาล)กดขี่ข่มเหงสิทธิตามธรรมชาติของคน เมื่อนั้นประชาชนก็มีสิทธิที่จะทำการปฏิวัติ

นอกจากนี้ จอห์น ล็อค ยังขึ้นชื่อเรื่องความอดทนต่อความแตกต่างด้านศาสนา  ชื่อของ จอห์น ล็อค ผูกพันใกล้ชิดกับสิ่งที่เราเรียกกันว่า เสรีนิยมประชาธิปไตย หรือประชาธิปไดยโดยมีรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ

กระนั้นก็ดี ความคิดของ ล็อค ไม่ได้เกิดจากอากาศธาตุ ข้อเขียนของ ล็อค มาจากแหล่งบางแหล่ง  ส่วนหนึ่งเกิดจาก มาเคียเวลลี ผู้ตายไปก่อนหน้าล็อคจะเกิด ประมาณหนึ่งร้อยปี  แต่สำคัญที่สุดคือ เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักเขียนอังกฤษอีกผู้หนึ่ง ได้แก่ โธมัส ฮ็อปส์

ทั้งนี้ โดยที่ ฮ็อปส์ นำความคิดเรื่อง “เจ้าชาย” ของ มาเคียเวลลี มาพัฒนาจนกลายเป็นทฤษฎีเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งได้กลายเป็นระบอบการปกครองโดยผ่านตัวแทน(representative government) ฮ็อปส์ ปรับปรุงการปกครองของเจ้าเมือง (หรือ เจ้าชาย) ให้กลายเป็น “ระบบ” หรือเป็น “สำนักงาน”(an office) แล้วสำนักงานดังกล่าวนั้นก็เป็นที่กำเนิดของสัญญาประชาคม(social contract)

ผู้ปกครอง หรือองค์รัฏฐาธิปัตย์(the sovereign) มีฐานะเป็นตัวแทนปวงชน ผู้ได้สร้างสำนักงานขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันสันติสุข ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งถ้าปราศจากอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เสียแล้ว เราก็จะตกอยู่ในสภาพธรรมชาติ(the state of nature) อันเป็นคำศัพท์ที่ฮ็อปส์คิดขึ้น เพื่อใช้หมายถึง โลกที่ปราศจากนาครธรรม ปราศจากอำนาจทางแพ่ง(civil authority) ไม่มีอำนาจมาบังคับใช้กฎหมาย

ฮ็อปส์ ได้มอบความหมายให้แก่ สมบูรณาญาสิทธิด้านอาณาจักร(secular absolutism) (สมัยก่อนหน้านั้น สมบูรณาญาสิทธิ จะมาจากพระเจ้า คือ มาจากศาสนจักร ฝรั่งจึงเรียกสิ่งนั้นว่า divine right – ผู้สรุปภาษาไทย) สมบูรณาญาสิทธิทางอาณาจักรมีอำนาจสิทธิขาดที่จะบังคับใช้กฎหมาย อำนวยความยุติธรรม และเสถียรภาพด้านการเมืองการปกครอง และฮ็อปส์เป็นผู้เสนอทฤษฎีการเมืองการปกครองทีเปิดกว้างเรื่องเสรีภาพ

ส่วน จอห์น ล็อค ผู้มาทีหลังได้ริเริ่มทำให้สมบูรณาญาสิทธิด้านอาณาจักร(secular absolutism) ของ ฮ็อปส์ อ่อนโยนลง  งานของ ล็อค ที่เกี่ยวกับปรัชญาการเมือง ได้แก่ ความเรียงสองเรื่องที่ว่าด้วยการเมืองการปกครอง

ศ.สมิธ บอกว่า เราจะอ่านงานของล็อค ในชั้นเรียนนี้ เฉพาะเล่มที่สอง ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในนาม “ความเรียงเรื่องที่สองของ ล็อค” (the second treatise)  สำหรับความเรียงเรื่องแรกซึ่งไม่ได้นำมาเรียนนั้น มีเนื้อหายาวกว่าเรื่องที่สอง และว่าด้วยการรื้อ(deconstruction)ทฤษฎีการเมืองการปกครองเรื่อง เทวสิทธิของราชา(the divine right  of king) ที่อ้างว่าเป็น “เทวสิทธิ” นั้น  เป็นเพราะนักปรัชญาท่านหนึ่งในยุคนั้น ตีความว่า อำนาจทางการเมืองการปกครองมาจากการที่พระเจ้า ประทานสิทธิให้แก่ อาดัม มนุษย์คนแรก  เริ่มจากจุดนั้นผู้ทรงสิทธิด้านการเมืองการปกครอง เช่น พระราชา ก็ถือว่าเป็นผู้ทรงสิทธิ ที่เป็น “เทวสิทธิ”(divine right)

ความคิดของ จอห์น ล็อค ปรากฏชัดเจนเฉพาะในความเรียงเรื่องที่สอง ซึ่งมีเจตนาให้สามารถนำมาปฏิบัติได้ เป็นเรื่องเชิงปฏิบัติมากกว่าที่จะเป็นทฤษฎี และเขียนด้วยภาษาอังกฤษสามัญ เพื่อคนอังกฤษสามัญทั้งหลายในยุคนั้น เขาเขียนขึ้นมาเพื่อสะท้อนสามัญสำนึกแห่งยุคสมัย(the common sense of his time)

ล็อค เป็นคนมีความสามารถพิเศษ รู้จักที่จะนำความคิดใหม่ ที่ปฏิวัติความคิดเดิม มานำเสนอด้วยการใช้ภาษาและรูปแบบการนำเสนอ ที่ทำให้ผู้คนพากันนึกว่า นี่เป็นความคิดอ่านที่ตนเองมีอยู่ตั้งนานแล้ว

ล็อคได้สร้างสำนวนภาษาการเมืองการปกครองขึ้นมาใหม่ ให้มีลักษณะสั้น กระชับ และธรรมดา

ล็อค มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางการเมืองการปกครองที่เข้มข้น ความขัดแย้งทางศาสนาก็รุนแรง ชีวิตวัยเด็กของล็อค ระหว่างอยู่ในโรงเรียน ได้พบกับเหตุการณ์กรณีพระเจ้าชาร์ลที่หนึ่ง ถูกสำเร็จโทษ  ครั้นโตขึ้น เขาก็พบกับเหตุการณ์กรณีพระเจ้าเจมส์ที่สองถูกล้มล้าง ต้องอพยพหนีลี้ภัยไปต่างประเทศ

ล็อค มีชีวิตเป็นนักศึกษาและต่อมาก็ได้สอน ที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด หลายปี ต่อมาได้ทำงานเป็นเลขานุการนักเมืองในกลุ่มแอนตี้เจ้าอังกฤษ เมื่อนักการเมืองผู้นั้นต้องลี้ภัยไปอยู่ในฮอลแลนด์ ในลำดับต่อมา และ จอห์น ล็อค ก็อพยพตามไปด้วย

ศ.สมิธ กล่าวว่า หัวใจของความคิดทางการเมืองของ ล็อค อยู่ที่ “ทฤษฎีกฎธรรมชาติ”(his theory of natural law)

ประเด็นนี้ทำให้เราต้องกลับไปคิดเรื่อง สภาพธรรมชาติ(state of nature)กันก่อน เพื่อที่เราจะได้เข้าใจ“กฎธรรมชาติ”  สภาพธรรมชาติของ ล็อค ก็เหมือนกับสภาพธรรมชาติของ ฮ็อปส์  คือ ไม่ใช่ที่มีการปกครอง และการถูกปกครอง  ล็อค พรรณนาว่า สภาพธรรมชาติเป็นสภาพเสรีภาพสมบูรณ์(perfect freedom) ซึ่งตรงข้ามกับความคิดอริสโตเติล ที่คิดว่า มนุษย์เราเกิดมามีความผูกพัน หรือมีความสัมพันธ์ทางแพ่ง(civil bind) ระหว่างกัน เช่น การเป็นพลเมือง การอยู่ในบ้านเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สภาพธรรมชาติของ ล็อค ไม่ใช่สภาพจริง ๆ ที่มีอยู่ในโลก หรือในประวัติศาสตร์โลก  สภาพธรรมชาติสำหรับล็อค เป็นสภาพที่เกิดจากการได้ทำการทดลองทางความคิด(thought experiment) คือ ทดลองคิด “เล่นๆ” ดูว่าถ้ามนุษย์ไม่ได้มีอำนาจบ้านเมืองมาปกครอง สภาพชีวิตความเป็นอยู่และนิสัยใจคอของคนเรา จะเป็นอย่างไร?

ล็อค เสนอกับเราว่า สภาพธรรมชาติเป็นสภาพศิลธรรม มีกฎศิลธรรมปกครอง หรือเรียกว่ากฎหมายธรรมชาติก็ได้ เป็นกฎที่กำหนดโดยสันติสุขและการอยู่ร่วมกันโดยดีของมนุษย์ เป็นกฎธรรมชาติที่บ่งว่าผู้ใดจะทำร้ายผู้อื่นมิได้ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน  สภาพธรรมชาติของ ล็อค จึงผิดกับสภาพธรรมชาติของ ฮ็อปส์ ที่เป็นสภาพที่ทุกคนเป็นศัตรูกันหมด

ทฤษฎีกฎธรรมชาติของล็อค เข้ากันได้กับทฤษฎีศิลธรรมในเวลานั้น และเวลาก่อนหน้านั้น จนสืบไปได้ถึงยุคโรมัน

ตามกฎธรรมชาติของล็อค ที่วางอยู่บนรากฐานของสันติสุข และการอยู่ร่วมกันโดยดีระหว่างมนุษย์ ที่คนไม่เบียดเบียนกันในแง่ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน  ล็อคได้รวมความคิดศิลธรรมคริสเตียนไว้ในทฤษฎีของเขาแล้ว

แต่อย่างเพิ่งสบายใจ ศ.สมิธ อธิบายว่า ในย่อหน้าเดียวกันที่ล็อคพูดเรื่องกฎธรรมชาติ  เขาได้ปรับกฎธรรมชาติให้กลายเป็น สิทธิ ของคนที่จะดูแลรักษาตัวเอง(right of self preservation)  เพราะฉะนั้น เมื่ออ่านผ่าน ๆ มาแต่แรก  เราอาจเข้าใจว่ากฎธรรมชาติ ของ ล็อค พูดถึง “หน้าที่” ที่เราจะต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งในแง่ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน  แต่มาถึงตอนนี้ เขากำลังพูดคล้ายกับว่า กฎธรรมชาติ แสดง “สิทธิ” ของมนุษย์ต่างหาก

คือ มนุษย์มี “สิทธิ” ที่จะดูแลรักษาตัวเอง(right of self-preservation)

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถูกรังแก หรือถูกเบียดเบียน ย่อมมี “สิทธิ” ที่จะลงโทษคนที่มากระทำต่อตน เช่น การริบเอาทรัพย์สินของผู้ละเมิดสิทธิ หรือกระทำการลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง  สรุปว่าพื้นฐานหรือหัวใจของกฎธรรมชาติ ก็คือ "สิทธิของคนที่จะดูแลรักษาตนเอง"  ในสภาพธรรมชาติเช่นนี้ มนุษย์เราแต่ละคน มีสิทธิที่จะดูแลรักษาตัวตน ตามกำลัง เช่น สามารถฆ่าคนที่พยายามจะสังหารตน เช่นเดียวกับที่ฆ่าเสือที่ทำร้ายตน  เพราะว่ามนุษย์ที่จะเอาชีวิตเรา เขาไม่เข้าใจเหตุผล เขาไม่รู้จักกฎหรือระเบียบใด ๆ นอกจากกฎป่า(กฎแห่งความโหดร้าย)  เพราะฉะนั้น เขาก็พึงได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นสัตว์ร้าย

ล็อค ดูจะพูดเรื่องสองเรื่องควบกันไป คือเรื่องกฎธรรมชาติตามความคิดดั้งเดิม ที่มนุษย์มี “หน้าที่” ต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นเป็นปฐม กับอีกเรื่องหนึ่งคือพูดตามแนวคิดสมัยใหม่ของ ฮ็อปส์ เรื่อง “สิทธิ” ตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่จะดูแลรักษาตัวเองเป็นประการแรก

แล้วเขาให้ความสำคัญกับเรื่องไหนมากกว่ากัน?  ล็อค คือ ฮ็อปส์ ที่เปลี่ยนเสื้อคลุมหรือ? หรือว่า ล็อค สับสนทางความคิด?

ผู้ศึกษางานของล็อค รุ่นปัจจุบันผู้หนึ่ง เห็นว่า ความคิดของล็อค เรื่องความเสมอภาคในสภาพธรรมชาตินั้น มาจากเทววิทยาคริสเตียน  ที่ถือว่า พระเจ้าเป็นพระผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง และสิ่งมีชีวิตที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา ต่างก็มีพันธะทางศิลธรรมผูกพันอยู่กับพระเจ้า

ศ.สมิธ เห็นว่า เรามองได้สองแง่ แง่หนึ่งนั้นแนวคิดของล็อคเรื่องความเสมอภาคในสภาพธรรมชาติ หรือแนวคิดเรื่องกฎศิลธรรมในสภาพธรรมชาติของล็อค ขึ้นอยู่กับความคิดศิลธรรมคริสเตียน หรือว่าความคิดของล็อค จะเกิดจากหลักพื้นฐานเรื่องเสรีภาพ(basic principle of freedom) เกิดจากธรรมชาติไม่ใช่ศาสนา

ประเด็นศิลธรรมทางศาสนาเป็นประเด็นที่ ล็อค ไม่พูดถึง ไม่เกี่ยวข้องด้วย ในหนังสือเล่มสองของเขา  ล็อค ไม่ได้เอ่ยชื่อพระเยซู เซ็น ปอล หรือพระคัมภีร์ฉบับพันธะสัญญาใหม่

ศ.สมิธ กล่าวถึง ระบอบการเมืองอเมริกัน ซึ่งถือว่า ความคิดของล็อค เป็นความคิดพื้นฐานในการสถาปนาประเทศ เช่น คำประกาศอิสรภาพ เป็นต้น  ประเด็นที่ว่าความคิดพื้นฐานของระบอบการเมืองอเมริกัน มีแหล่งกำเนิดมาจากเทววิทยาคริสเตียน หรือไม่? ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่แม้ในทุกวันนี้

ทั้งนี้ เพราะว่า เมื่อมีข้อถกเถียง เรื่องควรปิดประกาศบัญญัติสิบประการจากพระคัมภีร์ ในโรงศาลหรือไม่? ควรมีการสวดมนตร์ในโรงเรียนไหม? ประเด็นบทบาทของศาสนาในที่สาธารณะ ควรจะเป็นอย่างไร?  ในที่สุดก็ต้องย้อนกลับไปหาปรัชญาการเมือง เมื่อครั้งสถาปนาประเทศสหรัฐฯ

หัวใจของทฤษฎีกฎธรรมชาติ ในสภาพธรรมชาติ(the theory of natural law, in the state of nature) ของ ล็อค ผูกอยู่กับเรื่องทรัพย์สิน  อีกนัยหนึ่งทรัพย์สินเป็นแก่นของทฤษฎีการเมืองของล็อค  ทั้งนี้ ล็อค มองมนุษย์ว่า เป็นสัตว์ที่ชอบสะสมสิ่งของ(ทรัพย์)  อริสโตเติล บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองการปกครอง แต่ล็อค บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ขอบแสวงหาและสะสมทรัพย์

มนุษย์มีสิทธิในทรัพย์สิน เนื่องจากได้ลงแรงทำงานกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แรงงาน(labour)ก่อให้เกิดความมีคุณค่า หรือความมีค่า  แต่ในสภาพธรรมชาตินั้น ความเป็นเจ้าของเป็นเรื่องของการเป็นเจ้าของร่วมกัน หรือที่ คาร์ล มาร์ก เรียกว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม ทุกคนมีสิทธิร่วมกันในป่าเขา  ล็อคบอกว่า ทรัพย์สินสิ่งของจะกลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวได้ ก็ต่อเมื่อเราได้ลงแรงไว้กับมัน

ล็อค กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนมีทรัพย์สินอยู่ในตัว(หรือในตัวตน) ซึ่งผู้อื่นใดไม่มีสิทธิต่อทรัพย์สินนี้นอกจากเจ้าตัว  คนเราเกิดมาในโลกพร้อมกับทรัพย์สินส่วนตัวบางอย่าง เป็นทรัพย์ในตน(property in our person) ซึ่งคนอื่นไม่มีสิทธิต่อทรัพย์สินในตนของเรา  ล็อค กล่าวว่า แรงงานที่จากร่างกายมนุษย์ ลงไปในงานที่ทำกับมือ ของสิ่งนั้นจะต้องเป็นของเขา  เพราะว่า แรงงานเป็นทรัพย์สินที่โต้แย้งไม่ได้ของเจ้าของแรงงานนั้น แรงงาน คือ สิ่งที่ทำให้ทรัพย์ส่วนตัวแยกออกจากทรัพย์สินส่วนรวม และก็ได้กลายเป็นสิทธิส่วนตัวของคน ซึ่งต่อมาก็คือ “สิทธิในทรัพย์สิน”

ล็อค ดูเหมือนจะพูดว่า กฎธรรมชาติก่อให้เกิดทรัพย์สินส่วนตัว(the natural law dictates private property) แล้วรัฐบาล(หรือ ระบอบการเมืองการปกครอง) ก็เกิดขึ้นมาเพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิดังกล่าว  ล็อค กล่าวว่า โลกนี้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้มีการเพาะปลูก และเพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น ผู้ใดที่ทำงานปรับปรุงธรรมชาติดีขึ้น ผู้ได้เสริมแต่งให้กับธรรมชาติ ด้วยน้ำพักน้ำแรง ผู้นั้นเป็นผู้ทำคุณแก่มนุษยชาติทั้งมวล

พระเจ้ามอบโลกให้แก่มนุษย์เพื่อใช้ร่วมกัน แต่เนื่องจากพระเจ้ามอบโลกให้แก่มนุษย์เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เอง เพื่อให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายขึ้น สุดแท้แต่มนุษย์จะหาประโยชน์ได้จากโลก  เพราะฉะนั้น โลกนี้จะอยู่ในสภาพใช้ร่วมกันตลอดไปหาได้ไม่ พระเจ้ามอบโลกให้แก่คนที่ขยันขันแข็ง ผู้มีเหตุผล ไม่ได้มอบแก่มนุษย์ผู้เพ้อเจ้อ ชอบทะเลาะวิวาท และขี้อิจฉา

(ความเห็นของผู้สรุปภาษาไทย – ข้อความข้างบนนั้น ผู้ใดไม่เคยเรียนพระคัมภีร์มาก่อน ฟังหรืออ่านแล้ว จะไม่สามารถเข้าใจได้ อย่างลึกซึ้งถึงแก่น คงเข้าใจเพียงพอทำเนาเท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น “และขี้อิจฉา” ข้อความนี้หมายถึงใครในพระคัมภีร์? ซาตาน ครับ ซาตานเป็นทูตสวรรค์ที่ขี้อิจฉาพระเจ้า)

ล็อค ดูเหมือนจะชี้ว่า สาธารณรัฐแบบของล็อค จะเป็นสาธารณรัฐ “ค้าขาย”  ในขณะที่นักปรัชญาการเมืองการปกครองยุคโบราณ เช่น เพลโต อริสโตเติล มองว่า การค้าขาย เป็นเรื่องรองในชีวิตของประชาชนพลเมือง(citzen) เพลโต ดูเหมือนจะมองทรัพย์สินแบบคอมมิวนิสต์  อริสโตเติล เห็นความสำคัญของทรัพย์สินส่วนตัว แต่เป็นไปเพื่อเปิดโอกาสให้คนส่วนน้อยที่มีทรัพย์ จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง  เศรษฐกิจจะเป็นเรื่องรองในปรัชญาการเมืองอริสโตเติล ซึ่ง จอห์น ล็อค คิดตรงข้าม เขามีความเห็นเรื่องเศรษฐกิจใกล้กับ อดัม สมิธ มากกว่าที่จะใกล้กับนักปรัชญาโบราณคนอื่นใด

สำหรับ ล็อค แล้ว การแสวงหาและสะสมทรัพย์สิน ไม่มีข้อจำกัดโดยธรรมชาติ (no natural limit) การนำเงินตราเข้ามาใช้ในสภาพธรรมชาติ ทำให้การสะสมทุน(capital accumulation) กลายเป็นกฎศิลธรรม คือ เรามีหน้าที่จะต้องใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบตามธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเรา ด้วยการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตัวเอง  การทำตัวเองให้รวยก็เท่ากับกำลังทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย โดยไม่ได้ตั้งใจ

แรงงาน ได้กลายเป็นที่มาของคุณค่าทั้งหลาย  แรงงานช่วยให้สิ่งของมีคุณค่าเพิ่มขึ้นร้อยเท่าพันเท่า  พระเจ้ามอบโลกให้แก่มนุษย์ใช้ร่วมกัน ต่อจากนั้น ล็อค เห็นว่ามนุษย์เป็นเจ้าของตัวตนของเขาเอง แล้วการที่มนุษย์ออกแรงเก็บผลแอปเปิลจากต้น  การออกแรงนั้นทำให้มนุษย์ผู้นั้นได้เป็นเจ้าของผลแอปเปิลผลนั้น  การให้เหตุผลระบบนี้พัฒนาต่อไป กลายเป็นเรื่องทรัพย์สินส่วนตัว และระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

ล็อค เห็นว่า การปกป้องความแตกต่างของคุณสมบัติในการแสวงหาทรัพย์ คือ หน้าที่แรกของรัฐบาล (หรือ ของการเมืองการปกครอง)

ศ.สมิธ เห็นว่า เจม แมดิสัน ได้รับอิทธิพลโดยตรงจาก ล็อค ในการเขียน เฟดเดอรัล เปเปอร์ หมายเลยสิบ  ซึ่งบางคนเห็นว่า เป็นงานเขียนความคิดทางการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด ของสหรัฐฯ (ผู้สรุปภาษาไทย – ท่านผู้อ่านควรเคาะหาความกระจ่างเรื่องนี้ เช่น ที่วิกิ ก็นำเสนอไว้ดีมาก เรื่อง Federalist No. 10)

ล็อค ได้มอบเกียรติยศและศิลธรรมให้แก่การค้าขาย การแสวงหาเงินตรา การสะสมทรัพย์  ซึ่งปราชญ์โบราณยุคกรีกโรมันไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้  ล็อค บอกว่า การค้าขายช่วยให้คนมีกิริยานุ่มนวลลง ไม่กระหายเลือด กระหายสงคราม มีความเป็นอารยะ  ล็อค บอกว่า การค้าขายไม่เรียกร้องต้องการให้เราเสี่ยงชีวิต หรือสละเลือด


---------------------------------------------------------------------------------------------

สนใจ ต้นฉบับวีดีโอสำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น