open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2560

ที่บ้านน้ำท่วม ครับ


ขนำน้อยริมห้วย ในสวน ยามอากาศดี เห็นชั้นบน ที่เป็น loft หรือชั้นใต้หลังคา สร้างไว้เผื่อหนีน้ำท่วมใหญ่ เพราะถึงอย่างไร ที่บ้านก็น้ำท่วมทุกปี  บ้านและสวนผมอยู่ในท้องที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร  อยู่ค่อนไปทางอำเภอละแม จังหวัดชุมพร  ห่างจากสนามบินสุราษฎร์ธานี ประมาณ 100 กิโลเมตรเศษ


น้ำท่วมใหญ่ ปีนี้ 2560 ชั้นล่างน้ำสูงประมาณสองเมตร  ต้องขึ้นไปอยู่ชั้นใต้หลังคา(loft)  หรือภาษาใต้ที่บ้านเรียกว่า "หัวพร็อม"  พอน้ำท่วมก็ขึ้นไปอยู่บน "หัวพร็อม"  ภาพนี้ถ่ายจากชั้นใต้หลังคา(หัวพร็อม หรือ loft) มาทางหน้าบ้าน ต้นไม้พุ่มเล็กที่เห็นใบระน้ำ คือต้นพุดตานที่ปลูกเอง ภาษาใต้ที่บ้านเรียกต้น "โพ ตาน"  ถัดต้นโพตานไปเล็กน้อยคือลำห้วย  


-- ภาพข้างบน คือ ส้วมไว้บนเรือน ยามน้ำท่วม  นำมาลงเพราะคงจะหาดูได้ยาก  ถังปลาสติดลูกเตี้ย มีขอบหนากว่าปกติ ลูกละยี่สิบบาท  ทำให้นั่งง่าย ถุงปลาสติคมีสองชั้น สีขาวชั้นล่าง เผื่อรองรับอุบัติเหตุการรั่ว สีเขียวอยู่บน คือ กระโถนแท้จริง  เมื่อจบกิจกรรมแล้ว ก็ห่อถุงปลาสติคสีเขียว ทิ้งไปกับสายน้ำ...มีนะ บางคนขว้างไปไม่พ้นหลังคาบ้านชั้นล่าง  เวรกรรม (น้ำท่วมรอบใหม่ คงจะทำได้ดีกว่านี้)


ที่เห็นขวามือท่าน คือมุมนั่งทำงาน(เขียน) ในห้องใต้หลังคา หรือบนเรือน หนังสือเล่มเล็กบนสุดคือ พจนานุกรม อินโดเนเซีย-อังกฤษ อังกฤษ-อินโดเนเซีย, ล่างลงมาเป็น พจนานุกรม ฮินดี-อังกฤษ ของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ส่วนดิค อังกฤษ-ฮินดี มันไม่รักดี มันไปกะน้ำ บ๊าย-บาย, ล่างลงมาเป็นเล่มที่สาม พจนานุกรม สเปน-ฝรั่งเศส ฝรั่งเศส-สเปน ของสนพ.ลารูซ, สุดท้ายบนโต๊ะ พจนานุกรมคำวัด ของ พระธรรมกิตติวงศ์ ราชบัณฑิต

โปรดสังเกต หลังกองหนังสือ สังเกตดี ๆ จะเห็น ตะขอ 2 อัน แปะติดอยู่กับฝาไม้ไผ่สาน  เป็นตะขอที่สวยที่สุดในโลก (จนกว่าจะมีใครโชว์ตะขอที่สวยกว่านี้ ที่แปะอยู่กับฝาไม้ไผ่สาน)  ภาพล่างคือ ตะขอ ในมุมใกล้ครับ....

ผ้าปาเต้ะ ที่ปูโต๊ะ มาจาก บ้านพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ฯ



ภาพล่าง คือ มุมเขียนหนังสือ บนเรือน ในห้องใต้หลังคา(loft)  ถ่ายในโหมดกะลังทำงาน...ไม่ใช่โหมด จัดโชว์ แบบรูปบน




สวัสดีครับ ขอบคุณที่ติดตาม  และสำคัญที่สุด ขอขอบพระคุณบุคคล หน่วยงาน องค์กรรัฐและเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือ ขอบคุณเป็นพิเศษกับ เทศบาลท่าเรือ จ.กาญจนบุรี ที่มาแจกข้าวสารอาหารแห้ง และน้ำดื่ม ที่ตำบลนาพญา อ.หลังสวน ขอบคุณมากครับ

---------------------------------------------------

โปรดช่วยแชร์ลิงก์ จะขอบคุณมาก ๆ


วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

สว้สดี ปีใหม่ 2560

ขอบุญกุศล บังเกิดแก่ทุกท่าน ที่ได้ฟังบทสวดมนต์นี้ ด้วยเทอญ....



ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร  ต้นฉบับ อยู่ที่ 
https://www.youtube.com/watch?v=aXAUxrBMQKg
- ขอบคุณท่านผู้สร้างวิดีทัศน์ และเผยแพร่

ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ที่พุทธคยา ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีทั้งห้า จึงเสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ปัจจุบันคือ สารนาถ ใกล้เมืองพาราณสี เพื่อโปรดปัญจวัคคี ด้วยเทศนากัณฑ์แรก "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" ในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปัจจุบันคือ วันอาสาฬหบูชา


พระพุทธรูป ปางปฐมเทศนา ศิลปะคุปตะ ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์สารนาถ  
หลายท่านถือว่า เป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุด ที่พบในอินเดีย



พระพุทธรูป ปางปฐมเทศนา ศิลปะไทย


วิดีทัศน์ด้านล่าง พระพุทธรูป ปางปฐมเทศนา องค์ใหญ่ 
"พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล"
วัดเขากง จังหวัดนราธิวาส





ผู้เขียนเคยเดินทางไป สารนาถ सारनाथ--ชื่อปัจจุบันของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สองครั้ง ที่เห็นนี้ยังไม่ได้ลดน้ำหนัก หลังจากกลับจากอินเดียครั้งนั้น(เคยไปอินเดียรวมสี่ครั้ง) ได้กลับมาเดินออกกำลังกาย และควบคุมปริมาณอาหาร ลดน้ำหนักลงประมาณ 20 กิโลกรัม

จากที่ตรัสรู้ - พุทธคยา และที่แสดงปฐมเทศนา - ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในนาม สารนาถ(सारनाथ) ผู้เขียนก็มาพักที่เกสต์เฮาส์ ริมแม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี (वाराणसी)  (ประมาณ 10 กิโลเมตร จากสารนาถ) ราคาค่าที่พัก คืนละสองร้อยบาท

ต่อจากนั้นก็เดินทางต่อไปเรื่อย ๆ ชม ทัชมาฮาล เมืองอัคระ และ กรุงนิวเดลี  แล้วเดินทางต่อไปเป็นวันเป็นคืน เข้าไปในรัฐราชสถาน (राजस्थान) เพื่อจะเดินทางต่อไปในทะเลทรายธาระ थार मरुस्थल อ่านว่า "ธาระ มรูสถล" แปลว่า ทะเลทรายธาระ...ดังที่เคยไฝ่ฝันไว้

ใน "ธาระ มรูสถล" เดินทางด้วยอูฐ ภาพที่เห็น-กำลังพักอูฐ ครับ


หมายเหตุ - เขียนเทวนาครีกำกับชื่อต่าง ๆ ไว้ เพราะว่า ตัวเองอ่านและเขียนเทวนาครีได้พอสมควร ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

ภาษาสเปน: สำเนียงละตินอเมริกา

นำเสนอภาษาสเปนมาหลายโพสต์ แสดงเฉพาะภาษาสเปนสำเนียงกาสติย่า คือ สำเนียงดั้งเดิมในสเปน

ครั้งนี้ จะแนะนำภาษาสเปนสำเนียงละตินอเมริกาสักหนึ่งตัวอย่าง  โปรดชมวีดีโอแนะนำกระบวนความปลอดภัย บนเครื่องบิน สายการบิน อา เอ โร เมะ ฮิ โก ของประเทศเม็กซิโก




ผู้เขียนเคยเดินทางกับสายการบินหนึ่งครั้ง ไปเม็กซิโก ซิตี้ (หรือ ลา ซิวด้าด เด เมะ ฮิ โก) สำเนียงละตินอเมริกา ผู้เขียนฟังเท่าไรก็ไม่ไพเราะเท่าสำเนียงกาสติยา ทำไม?

เข้าใจว่าอย่างนี้ นะครับ เป็นความเข้าใจและรู้เอาเองจากประสบการณ์ ไม่ได้ค้นคว้าศึกษามาจากไหน ผิดพลาดขออภัย...

คือ รู้สึกว่าพวกละตินอเมริกาเขาพูด “ช้า”  ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คำว่า “ปารา”(para)ที่แปลว่า “เพื่อ”  ดังปรากฏครั้งแรกที่เวลาวีดีโอ 0023 พูดว่า Para abrocharlo... = เพื่อที่จะรัดเข็มขัด  และปรากฏในวีดีโออีกหลาย ๆ แห่ง  คำ ๆ นี้ พวกละตินอเมริกาเขาจะพูดชัดเจนว่า “ปา-รา” เพราะเขาพูดช้ากว่าสำเนียงสเปนในประเทศสเปน

พวกสเปนในประเทศสเปนเขาพูดเร็วมาก คำว่า “ปารา” เขาจะไม่ออกเสียงชัดถ้อยชัดคำให้เราได้ยินว่า “ปา-รา”  แต่เขาจะกล้ำไปเลย ว่า “ประ”

สำหรับผู้เขียน สำเนียงละตินอเมริกานั้น เวลาฟังทั้งประโยค หรือทั้งย่อหน้า จะรู้สึกว่ามัน “ยืด” เหมือนเทปปลาสติคสมัยก่อน ที่เวลาใช้มานาน มันจะยืด (ก็เลยฟังไม่ไพเราะ)

อีกประการหนึ่ง คนสเปนในประเทศสเปน เวลาพูดหนึ่งลมหายใจ คล้าย ๆ กับว่าเขาพูดจบหนึ่งย่อหน้า  หนึ่งย่อหน้า ต่อ หนึ่งลมหายใจ

ส่วนภาษาสเปนในละตินอเมริกา หนึ่งลมหายใจของเขา เขาพูดได้แค่ประโยคเดียว

ถ้าเราคุ้นกับจังหวะเร็ว เราก็หาความไพเราะจากจังหวะช้า ได้ยาก

ภาษาแม่ของผู้เขียนคือภาษาไทยใต้  ผู้เขียนจึงคุ้นเคยกับการพูดแบบ หนึ่งย่อหน้าต่อหนึ่งลมหายใจ มากกว่าการพูดชนิดหนึ่งย่อหน้า ต่อ หนึ่งประโยค

เวลาผู้เขียนแรกฟังคนเหนือพูดภาษาไทย จะรู้สึกรำคาญ เพราะเขาพูดช้าเกินไป (ในความรู้สึกของผู้เขียน)  สำหรับเราความมันส์และความไพเราะขึ้นอยู่กับความเร็ว  เราแลไม่เห็นความเพราะในความเชื่องช้า (ทั้ง ๆ ที่ ในความช้า ก็มีความไพเราะเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มี)

อาจเป็นเพราะผู้เขียนเป็นคนใต้ ที่ใช้ภาษาใต้มาแต่เด็ก(คนใต้ ที่ไม่พูดภาษาใต้ ก็มี)  ก็เลยพลอยชอบภาษาสเปนไปด้วย – จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ก็ไม่ทราบ?

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

ภาษาสเปน: ทูตไทยถวายสาส์น ต่อพระเจ้าแผ่นดินสเปน

นางรัตติกุล จันทร์สุริยา เอกอัครราชทูตจากราชอาณาจักรไทย เข้าถวายพระราชสาส์นตราตั้งต่อ พระเจ้าแผ่นดินสเปน องค์ปัจจุบัน



คลิปวีดีโอ ของสำนักพระราชวังสเปน Casa Real


พระเจ้าเฟลิเป้ที่หก พระนามเต็มว่า “เฟลิเป้ ฮวน ปาโบล อัลฟ็องโส เด โตโด้ส โลส ซานโต้ส เด บอร์บ็อน อี เกรเซีย”  อยู่ในราชวงศ์ “บูร์บ็อง” ที่สืบเชื้อสายจากพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ของฝรั่งเศสในอดีต

พระเจ้าเฟลิเป้ที่หก เป็นโอรสของ พระเจ้า ฮวน คาร์โลส ซึ่งได้สละราชบัลลังก์ให้โอรสขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

พระเจ้าฮวน คาร์โลส พระราชบิดา มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับประเทศไทย เพราะทรงมีพระสหายเป็นนายทหารเรือไทย คือ พล.ร.อ. เกาะหลัก เจริญรุกข์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนนายเรือสเปน

พระเจ้าฮวน คาร์โลส เคยมีเรื่องตรัสอะไรมันส์ ๆ อยู่ครั้งหนึ่งที่เป็นข่าว คือ ในการประชุม
Cumbre Iberoamericana Conferencia Ibero-americana หรือ การประชุมร่วม อิเบโร-อเมริกาน่า ระหว่างสเปน-โปรตุเกส กับ ประเทศละตินอเมริกา ภาษาอังกฤษเรียกง่าย ๆ ว่า Ibero-American Summit  ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้ง พบปะกันระหว่างผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาสเปนหรือโปรตุเกส เป็นภาษาราชการ

ครั้งนั้น พระเจ้าฮวน คาร์โลส เสด็จไปประชุมกับนายกรัฐมนตรีสเปน  ในที่ประชุมครั้งนั้น ประธานาธิบดี ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา(ผู้หาชีวิตไม่แล้ว-ขอดวงวิญญาณไปสู่สุขคติ) ซึ่งภาษาสเปนเรียกประเทศนี้ ว่า “เบ-เน-ซวย-ล่า” ท่านกำลังฮึกเหิมและของขึ้น พล่ามพูดมากในที่ประชุม  ฮวน คาร์โลส รู้สึกไม่พอพระทัย คงจะหมั่นไส้หรืออะไรประมาณนั้น  จึงตรัสขึ้นด้วยพระสุรเสียง(เสียงก้องกังวาน เสียงของผู้มีอำนาจ)อันดัง ในที่ประชุม ว่า

          “เฮ้ย หุบปากของเอ็ง ซะเถอะ”

ทรงใช้ภาษาสเปนแบบท้องถนน หรือตลาด ๆ แบบมันส์ ๆ พ่ะย่ะค่ะ

ต่อมา นอกที่ประชุม ปธน.ชาเวซ แก้เผ็ด โดยพูดกับสื่อต่างประเทศ เหน็บเข้าให้ว่า

          “รู้มั๊ย พระเจ้าแผ่นดินสเปนเนี่ยะ ไม่มีสิทธิจะมาสั่งอะไรในละตินอเมริกา มาตั้งสี่ร้อยปีแล้ว”

หมายความว่า ตั้งแต่ประเทศละตินอเมริกาทั้งหลาย เริ่มรณรงค์สงคราม ดิ้นรนให้หลุดพ้นจากการปกครองของสเปน

ในวีดีโอคลิป เอกอัครราชทูตไทย ทูลพระเจ้าเฟลิเป้ที่หก ด้วยภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาสเปน  เข้าใจว่า-ถ้าเข้าใจผิดโปรดอภัย-ท่านทูตคงจะพูดสเปนไม่ได้  ซึ่งต่างกับผู้เขียนที่พูดได้ (โม้--แต่เป็นความจริง คือ เอาความจริงมาโม้)

ดังนั้น ถ้าผู้เขียนเป็นท่านทูต(แต่ตอนนี้ ทำสวน-เป็นชาวสวน และขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรอย่างเป็นทางการ กับสำนักงานเกษตรอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร) คงจะได้ทูลเป็นภาษาสเปน เป็นแน่

อย่างไรก็ดี ท่านทูตกราบทูลเป็นภาษาอังกฤษ ฟังความพอสรุปได้ว่า  พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงแต่งตั้งตนเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม จากราชอาณาจักรไทย มายังราชอาณาจักรสเปน...

ครั้น ถวายพระราชสาส์นตราตั้งแล้ว เฟลิเป้ที่หก ก็ทรงเชิญท่านทูตนั่งสนทนา  ตรัสเป็นภาษาอังกฤษถามท่านทูตว่า คุ้นเคยกับประเทศสเปนหรือไม่  ท่านทูตทูลว่า เคยมาในฐานะนักท่องเที่ยว...

โห เหมือนผมเด้ะเลย!  ผมก็เคยไปประเทศสเปนในฐานะนักท่องเที่ยว – เกือบสิบครั้งเห็นจะได้  แต่เวลาไปสเปน ผมพูดสเปนนะครับ  ตอนที่ท่านทูตไปสเปนในฐานะนักท่องเที่ยว หรือที่ท่านกล่าวว่า as a tourist นั้น ท่านคงจะพูดภาษาอังกฤษ ชัวร์

Yo no hablo español.

กระนั้น ก็ต้องชมท่านทูตว่า แต่งตัวสง่างามด้วยไหมไทย และท่านถอนสายบัวงามมาก เรื่องนี้ผมคงไม่มีปัญญาจะทำได้ดีเสมอท่าน

เรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งต่อขึ้นในสเปน กล่าวได้ว่าเป็นเรือพี่เรือน้อง sister ship กับเรือบรรทุกเครื่องบินสเปนชื่อ “ปรินซิเป้ เด อาสตูริอาส” หรือ เจ้าชายแห่งอาสตูริอาส  อันเป็นชื่อตำแหน่งมกุฎราชกุมารสเปน ที่ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อเรือ  แต่ของเราขนาดย่อมกว่าของเขาหน่อย

เหตุที่ผู้เขียนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับท้องทะเลและกองทัพเรือ  อาจจะเป็นเพราะเป็นชาวจังหวัดชุมพร ซึ่งจำนวนมาก ไม่ใช่ทุกคน จะผูกพันกับกองทัพเรือเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม  หลานผมคนหนึ่งถูกเกณฑ์ทหารเข้ากองทัพเรือ ปลดประจำการแล้วก็หางานทำอยู่ในทะเล  แรก ๆ ทำงานในเรือบรรทุกน้ำมัน ต่อมาอยู่กับเรือสินค้า ที่แล่นในทะเลตะวันออก ไปจีน ญี่ปุ่น เกาหลี

แล้วในที่สุด เขาก็ตายในทะเล ตั้งแต่อายุยังน้อย  เพราะเรือสินค้าลำนั้นถูกพายุพัดจมลง...


--------------------------------------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง ในชุดเดียวกันนี้

วิจารณ์ การพูดของ น้อง คาร์โลส ก็อนซาเลซ
https://pricha123.blogspot.com/2016/12/blog-post.html

พระเจ้าอยู่หัว เสด็จสเปน
https://pricha123.blogspot.com/2016/12/9.html

ภาษาสเปน สำเนียงก้าสติย่า ของ แฟนันโด อารานา
https://pricha123.blogspot.com/2016/12/blog-post_21.html

ละคร ซีรีส์ดัง ของสเปน
https://pricha123.blogspot.com/2016/12/los-serrano.html

โปรดช่วยแชร์ลิงก์ จะขอบคุณมาก