open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ฆาตกรรมกับบทกวี ตอนที่สี่ โคตรพ่อโคตรแม่ ก็ไม่มี

ฆาตกรรม กับ บทกวี
ตอนสี่-โคตรพ่อโคตรแม่ ก็ไม่มี

ประติมากรรมสัมฤทธิ์ตามตัวอย่าง ชื่อ Nuclear Energy ที่ตั้งประติมากรรม--เดิมเคยเป็นอัฒจันทร์สนามฟุตบอลเก่าของมหาวิทยาลัยชิคาโก  ต่อมาพื้นที่สนามฟุตบอลซึ่งหมายถึงอเมริกันฟุตบอล ไม่ใช่ฟุตบอลแบบอังกฤษที่เราคุ้นเคยกัน ถูกพัฒนาเสียใหม่ สร้างเป็นห้องสมุดกลางขนาดใหญ่  ส่วนบริเวณที่เคยเป็นอัฒจันทร์--ซึ่งขณะที่อเมริกากำลังพัฒนานิวเคลียร์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  อาจารย์ภาควิชาฟิสิคส์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ทดลองสร้าง เตาปฏิกรณ์ปรมาณู หยาบ ๆ เป็นเตาทดลองเตาแรกขึ้นที่ใต้อัฒจันทร์นั้น

ประติมากรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นและตั้งไว้กลางแจ้ง  ณ จุดอันเคยเป็นที่ตั้งเตาทดลอง เพื่อระลึกถึงการที่มนุษย์สามารถควบคุมการแตกตัวของอะตอมได้เป็นครั้งแรก (ไม่ใช่ระลึกถึงความดีอกดีใจ ที่จะสร้างระเบิดปรมาณูไปถล่มญี่ปุ่นได้สำเร็็จ)


เมื่อครั้งยังเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก  ประธานาธิบดีโอบามา พักอยู่ไม่ไกลจากประติมากรรมสัมฤทธิ์ชิ้นนี้  เวลานี้บ้านหลังนั้นก็ยังคงเป็นบ้านส่วนตัวของประธานาธิบดี  ตั้งอยู่ประมาณถนนที่ห้าสิบเอ็ด ส่วนประติมากรรมอยู่ประมาณถนนที่ห้าสิบห้า  ระยะทางห่างกัน ถ้าใช้เวลาเดินเท้า ใช้เวลาประมาณสามสิบนาที

ขณะที่กำลังเขียนนี้ เดือนสิงหาคม 2556 --คดีดังในอเมริกาที่ดังไม่แพ้คดีคุณ เอกยุทธ อัญชันบุตร ถูกฆ่า  ก็คือคดี เทรวอน มาร์ติน คนหนุ่มผิวดำ ถูกฆ่า  ซึ่งผลการตัดสินของกระบวนการยุติธรรมอเมริกัน  คือศาลรัฐฟลอริดาที่มีคณะลูกขุนร่วมตัดสินความผิดในคดีนี้  เห็นว่าชายผิวขาวผู้ฆ่า ไม่ผิด

คำตัดสินในข้อเท็จจริง(verdict)ของคณะลููกขุน  สร้างความไม่พอใจแก่คนผิวสีทั่วสหรัฐฯ  วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2556  ประธานาธิบดี โอบามา ได้แสดงความวิตก และได้เตือนสติชาวอเมริกัน โดยใช้วิธีส่งข้อความผ่านทางอินเตอร์เนต ออกมาจากทำเนียบขาว ขอร้องให้ชาวอเมริกันมีสติยั้งคิด อย่าวู่วามเกี่ยวกับเรื่องนี้  ท่านบอกว่าสังคมอเมริกันเป็นสังคมกฎหมาย 

น.ส.พ. ชิคาโก ตรีบูน  ออกในเมืองชิคาโก ฉบับวันที่ 17 กรกฎาคม 2013(2556) ไ้ด้ตีพิมพ์ บทบรรณาธิการ  แสดงความเห็นเกี่ยวกับคำตัดสินฯ สรุปได้ว่า ชาวอเมริกันควรเคารพคำตัดสินในข้อเท็จจริง(verdict)ของคณะลูกขุนที่ศาลฟลอริดา  และในกรณีีนี้ รัฐบาลกลางไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมระดับรัฐ (--รัฐบาลกลางผ่านกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ มีสิทธิที่จะหยิบคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่  แต่กระบวนการดังกล่าวซับซ้อนเกินกว่าที่จะค้นคว้ามาเขียนในบทความชิ้นนี้)  อย่างไรก็ดี ต่อมาเมื่อปลาย 28 สิงหาคม มีการชุมนุมที่อนุสรณ์สถานลิงคอล์น รำลึกถึงวันครบรอบ 50 ปี กึ่งศตวรรษ ของคำปราศรัย “I have a dream.”(28 สิงหาคม 1963)ของอดีตผู้นำผู้เรียกร้องสิทธิคนดำในสหรัฐฯ สาธุคุณ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง  งานนี้ใคร ๆ ก็รู้สึกได้ว่าวิญญาณของ เทรวอน มาร์ติน ก็ได้มาสิง ทะมึน ครอบงำ ในมหาสมาคมนั้นซึ่งประธานาธิบดี โอบามา มากล่าวคำปราศรัย

สมมติว่าฆาตกรรม นายเทรวอน มาร์ติน  กับฆาตกรรม นายเอกยุทธ อัญชันบุตร คือประติมากรรมสัมฤทธิ์นิวเคลียร์ เอนเนอยี  แล้วเจตนาของฆาตกรและของศิลปิน คืออะไร

เจตนาการสร้างสรรค์งานศิลป์ขิ้นนี้ คือเจตนาของนายเฮนรี มัวร์  เจตนาในฆาตกรรมคุณเอกยุทธ อัญชันบุตร คือเจตนา ของฆาตกรและคณะบุคคลเบื้องหลังตัวฆาตกร  เพราะการฆ่าคุณเอกยุทธ อัญชันบุตร เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นผลงานของคนลงมือฆ่าคนเดียว--แบบศิลปินเดี่ยว   แต่ประกอบด้วยคณะบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป--พิจารณาได้ตามครรลองของประมวลกฎหมายอาญาหมวด 6 ตัวการและผู้สนับสนุน  เริ่มด้วยมาตรา 83 ที่บัญญัติว่า  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป..... 

ซึ่งกฎหมายไทยเรื่องนี้ ว่าต่อไปถึงตัวผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำการฆ่า หรือที่ภาษาที่อิงกฎหมายเรียกว่า ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ตามมาตรา 84 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุุยงส่งเสริม.....   และนอกจากนั้นแล้ว ยังพันไปถึงตัวผู้สนับสนุน ตามมาตรา 86 

เพราะฉะนั้น ฆาตกรรมรายนี้จึงเป็นกรณีที่ครบเครื่อง--ควรแก่การศึกษาเชิงอาชญาวิทยา(Criminology)  ส่วนในแง่วรรณคดีวิจารณ์ของเรา ก็็เทียบได้กับงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เช่น เทียบกับประติมากรรม นิวเคลียร์ เอนเนอร์ยี ของ เฮนรี มัีวร์  ที่ข้างหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยชิคาโก อันได้ยกขึ้นมาเทียบเคียงตั้งแต่ต้น 

แล้วสำหรับงานประติมากรรมดังกล่าว  นายเฮนรี มัวร์ มีเจตนาสร้างสรรค์และลงมือกระทำ  ลำพังคนเดียวหรือ 

นายเฮนรี มัวร์ --เทียบได้กับ ฆาตกร ตามมาตรา 288 ที่บัญญัติระวางโทษไว้ว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น.....  แต่ว่าเขาจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 289 ซึ่งมีเจ็ดอนุมาตรา  โดยที่อนุฯสี่ บัญญัติเป็นกรณีพิเศษว่า ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน…..”

การสร้างสรรค์งานศิลป์ของนายเฮนรี มัวร์ ผู้เขียนมีความเห็นว่าน่าจะเข้าข่าย อนุฯสี่ คือมีการไตร่ตรองไว้ก่อน --แต่ท่านผู้อ่านบทความนี้ ที่กำลังตั้งใจจะฆ่าใคร โปรดสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเอาจากนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญ

ว่ากันโดยเบื้องต้น  มาตรา 289 หนักกว่า 288 เพราะว่ามาตรา 288 มีระวางโทษ 1) ประหารขีิวิต 2) จำคุกตลอดชีวิต หรือ 3) จำคุุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี  ในขณะที่มาตรา 289 มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว  นายเฮนรี มัวร์ โดนมาตรา 289 ชัวร์!  เนื่องจากกว่าจะสร้างประติมากรรมขึ้นได้  แกไตร่ตรองมาก่อนตั้งหลายตลบ 

นายเฮนรี มัวร์ ไม่ได้กระทำอาชญากรรมลำพังคนเดียว  เพราะว่า มีผู้ว่าจ้างให้แกทำงานนี้ กฎหมายเรียกว่าผู้ใช้ให้กระทำความผิด  กล่าวคือ หอศิลป์แห่งชิคาโก (the Art Institute of Chicago) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล ได้แสดงเจตนาจ้างเหมา(commission) ให้นายเฮนรี มัวร์ สร้างงานชิ้นนี้ 

ดังนั้น ในแง่กฎหมายอาญาไทย หอศิลป์แห่งชิคาโก(โดยผู้บริหาร) ต้องรับโทษเสมอกับตัวฆาตกร ตามมาตรา 84 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ.....  ซึ่งหมายความต่อไปว่า เข้าข่ายมาตรา 83 คือเป็น ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน  อีกนัยหนึ่ง--เป็นฆาตกรกับเขาด้วยผู้หนึ่ง  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น  ซึ่งตามกรณีสมมติของเราก็คือ โทษประหารชีวิตให้ตายตกไปตามกันสถานเดียว

แบบฝึกหัดเพื่อท่านผู้อ่าน ในช่วงท้ายการโพสต์ตอนก่อนไม่มีข้อเฉลย.....เพราะว่า ถูกทุกข้อที่แต่ละท่านคิดตัดสิน งานนี้ เรามีแต่ความคิดความเห็นที่แตกต่างกัน ไม่มีความคิดใดผิดและไม่มีความคิดใดถูก  ความผิดความถูกอยู่ที่การรู้จักคิดหรือไม่รู้จักคิด--เท่านั้น  บางท่านอาจตัดสินว่าประติมากรรมนั้นคล้าย ก้อนอึ เราก็ไม่ว่ากัน.....เพราะแม้แต่นักวิจารณ์งานศิลป์ที่มากประสบการณ์ ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน--ซึ่งน่าจะเป็นธรรมดาธรรมชาติของการมองศิลปะ 

สำหรับคำถามข้อนี้ในช่วงท้ายตอนก่อนที่ว่า  ท่านผู้อ่านคิดว่า เจตนาของศิลปิน-คืออะไร  แม้ไม่มีข้อเฉลยก็จริงอยู่  แต่จำเป็นจะต้องขยายผล-ของปริศนา

เพราะว่า ถ้าเราจะตัดสินชิ้นงานโดยอ้างเจตนาของศิลปิน กรณีนี้ก็คือนายเฮนรี มัวร์ มาเป็นเกณฑ์ เรามีปัญหาแน่  เพราะว่า.....แกไม่เคยเล่าให้ใครฟังว่า เจตนาในการสร้างสรรค์งานศิลป์ชิ้นนี้ของแกคืออะไร  แกมีเจตนาจะปั้น ก้อนอึของมนุษย์  หรือ รูปสมองคน  หรือ ภาพดอกเห็ด อันเกิดจากระเบิดปรมาณู  หรือ ไม่ใช่ทั้งสามสิ่งนั้น

ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าเราจะตัดสินฆาตกรรมโดยอ้างเจตนาของฆาตกร กรณีของเราปรากฏว่าฆาตกรมีหลายคน ไ่ม่ใช่เฉพาะคนลงมือรัดคอคุณเอกยุทธ อัญชันบุตร เพียงคนเดียว  และเจตนาของฆาตกรแต่ละคนแตกต่างกัน  คนลงมือรัดคอให้คุณเอกยุทธ อัญชันบุตร ตาย อาจอยากได้เงินค่าที่ลงมือทำ  แต่ผู้จ้างวานเขาไม่ได้อยากได้เงิน เขาอยากเสียเงินด้วยซ้ำ--เอ้ะ ไม่อยากได้เงินซะหน่อย แล้วมีเจตนาอะไรหรือ  เราจะพบกันปริศนาซับซ้อนแน่ เพราะว่า.....ผู้ร่วมกระทำฆาตกรรมแต่ละคนไม่เคยเล่าให้ใครฟังว่า เจตนาในการฆ่าครั้งนี้ของพวกเขา-ฆาตกรแต่ละคน--คืออะไร  ฆาตกรแต่ละคนมีเจตนาแท้จริงคืออะไร

การตัดสินงานศิลป์ ตามแนวใหม่แบบอังกฤษ-อเมริกัน(Anglo-American New Criticism) คือแนวที่เห็นว่าเจตนาวิบัติกันได้  เขาจึงไม่สนใจเจตนาของศิลปิน  โดยให้เหตุผล(argue)ว่า  ความคิดหรือเจตนาของเจ้าของงาน ไม่มีใครอาจล่วงรู้ได้และถึงรู้ได้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น เพราะจะยึดถือเจตนาของศิลปินเป็นมาตรฐานอ้างอิง เพื่อการตัดสินความสำเร็จของงานศิลป์ไม่ได้  ยิ่งงานวรรณศิลป์ก็ยิ่งแล้วไปกันใหญ่  สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราคือ ลายลักษณ์อักษร (text) เท่านั้น  และผู้ทำงานพิเคราะห์พิจารณ์ไม่มีหน้าที่จะต้องเที่ยวแส่ไปรู้ว่าเจตนาของเจ้าของงานคืออะไร  ให้ดูตามลายลักษณ์อักษร(text)ให้ทะลุเป็นพอ  ผลงานมันอยู่ตรงหน้าเราอยู่แล้ว -- แล้วเราพิจารณาเห็นว่ามันเป็นอย่างไรเล่า

ท่านให้เหตุผลต่อไป ในทำนองที่ว่า :
 
                   น้องก็ไร้ ญาติวงศ์ พงศา
                   หมายพึ่ง บาทา พระโฉมศรี
                   โคตรพ่อ โคตรแม่ ก็ไม่มี
                   อยู่ถึง เมืองตานี เขาตีมา

การที่บอกว่าตัวละครเอก คือ นางประแดะ  ไม่มีโคตรพ่อโคตรแม่ นั้น  ไม่ทราบว่าพระมหามนตรีผู้ประพันธ์ มีเจตนาอะไร จึงกล่าวอ้างถึงความอันผิดข้อเท็จจริงทางชีววิทยาได้ขนาดนั้น  เพราะฝรั่งแขกจีนจามอะแจทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่เมืองตานีหรือเดลลี  เขาก็มีโคตรพ่อโคตรแม่กันทั้งนั้นแหละ  สำหรับปริศนาข้อนี้ Anglo-American New Criticism ท่านก็จะสอดเข้ามาแก้ประเด็นให้ในครรลองที่ว่า เจตนาของพระมหามนตรีไม่เกี่ยวกับการที่เราจะประเมิน พิจารณา ตัดสินบทประพันธ์  เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปถาม หรือไปสู่รู้ 

Anglo-American New Criticism ยังจะขยายความต่อไป  โดยสมมติว่า ถ้าพระมหามนตรียังมีชีวิตอยู่  แล้วเราไปถามท่านว่า มีเจตนาอะไรจึงเขียนว่า นางประแดะไม่มีโคตรพ่อโคตรแม่  คำตอบที่ออกมาจากปากของท่าน(พระมหามนตรี) สามารถถ่ายทอดเขียนออกมาได้ และจะกลายเป็นลายลักษณ์อักษรอีกชุดหนึ่ง(another text)  ซึ่งเราทุกคนก็จะต้องทำความเข้าใจกับลายลักษณ์อักษรชุดนั้น(the another text)กันต่อไป  และการทำความเข้าใจของเราท่านทั้งหลาย ก็มีสิทธิ์ที่จะแตกต่างกันไปได้ ตามใจคิดของเรา-ผู้อ่านหรือผู้วิจารณ์  ไม่จำเป็นหรอกว่าจะเข้าใจประเด็นตรงกันเด้ะ

ยิ่งกว่านั้น ผู้รู้ที่สนับสนุนเรื่องเจตนาวิบัติ ท่านยกตัวอย่างเป็นอุปมาอุปมัยว่า  สิ่งที่ได้ยินออกมาจากปากม้า แบบว่าได้ยินมากะหูเนื้อ ๆ เลยนะเนี่ยะ ไม่ได้แปลว่าม้ากำลังพูดความจริง  หรือม้ารู้ความจริง  หรือว่าสิ่งที่ม้าพูดเกี่ยวกับวรรณศิลป์บนหน้ากระดาษ จะน่าสนใจกว่าที่คนอื่น ๆ พูด  หรือสิ่งที่ม้ายืนพูดเกี่ยวกับงานประติมากรรม นิวเคลียร์ เอนเนอยี  ของ เฮนรี มัวร์ จะน่าสนใจกว่าสิ่งที่ท่านผู้อ่านแต่ละท่าน--ที่ทำการบ้านท้ายบทความนี้ตอนที่แล้ว ด้วยการประเมินประติมากรรม และเขียนใส่เศษกระดาษไว้

กรณีแห่งความคลาดเคลื่อน หรือความเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะยึดเอาเจตนาของศิลปิน มาเป็นบรรทัดฐานวิจารณ์ความสำเร็จของงานศิลป์  นั่นก็คือสิ่งที่ท่านขนานนามว่า เจตนาวิบัติ

เพราะฉะนั้น เมื่อมองจากสายตาของผู้สนใจงานศิลป์และการวิจารณ์งานศิลป์  คำรับสารภาพของผู้ต้องหาคดีฆ่าคุณเอกยุทธ อัญชันบุตร(=คำพูดจากปากม้า) ก็ยังมีสิทธิที่จะถูกตั้งสมมติฐานได้ว่า เป็นคำรับสารภาพเท็จ(false confession)  หรือถ้าคำรับสารภาพนั้นเป็นจริง--ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ายังสารภาพไม่สิ้นความจริง  ยังมีความจริงระดับกุญแจ ประเด็นเด็ด ซึ่งสารภาพไม่หมด--หรือยังไม่ได้พูดออกมาเลยแม้แต่น้อย ด้วยซ้ำ

--ขอบคุณ ที่ท่านอุตสาห์อ่าน

เดฟ นาพญา
                                                                      

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                        
โพสต์เมื่อ 30 สิงหาคม 2556
email: pricha123@yahoo.com  ไม่สงวนสิทธิ์ข้อเขียนในเวอร์ชันดิจิทัล  ต้นฉบับโพสต์ อยู่ที่ www.pricha123.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น