#1 โหมโรง
ผู้เขียนกำลังจะเขียนถึงชื่ออำเภอ
“หลังสวน” จังหวัดชุมพร ไม่ใช่ชื่อซอยหลังสวน ถนนเพลินจิต กทม.
สำหรับผู้เขียน
ชื่ออำเภอหลังสวน เป็นชื่อลึกลับอีกนามหนึ่ง บนคาบสมุทร์ภาคใต้ของประเทศไทย
ไม่แพ้คำว่า “คันธุลี” (hyperlink) อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นคำที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสองพันปี
และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยืนยันสนับสนุน เช่น จดหมายเหตุจีน กับศิลปวัตถุที่พบในบริเวณใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม
คำว่า “คันธุลี” ไม่มีใครกล่าวถึงกันมากนัก อาจจะเป็นเพราะว่าฟังดูแปลกเกินไป
และไม่มีที่จะอ้างอิงในคลังคำไทย(Thai lexicon) ไม่รู้ที่จะขึ้นต้นคอมเม้นว่างัยดี – ขอข้ามไปดีกว่า
อะไรประมาณนั้น
ท้าทายการสันนิษฐานคาดเดา
แถมมีที่อ้างอิงอยู่ในคลังคำไทย ทั้งที่พิจารณารวมทั้งคำและแยกพิเคราะห์ออกเป็นแต่ละ
มอร์ฟีม(แยกพยางค์) – เพราะฉะนั้นชื่ออำเภอ “หลังสวน” บ้านผม
จึงมีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็น คอมเม้น กันไม่น้อย
ทั้งคนในระบอบราชการ
ท่านผู้รู้ นักวิชาการอิสระ รวมถึงชาวบ้านทั่วไปในยุคอินเตอร์เนต เช่น คนในกลุ่มผู้นำชุมชน
หมู่บ้านตำบล ในเขตอำเภอหลังสวน ดังหลักฐานที่อาจพบได้ทั่วไปในเนต
#2 แล้วทำไมจะต้องเป็นอาตมา(กู)กะเขาอีกคน ด้วยเล่า?
คนหลายคนในอำเภอหลังสวน
เขาเกิดที่ไหนก็อยู่ที่นั่น แต่ผู้เขียนซึ่งเป็นชาวหลังสวนโดยกำเนิด
เกิดที่ตำบลบางมะพร้าว มาเติบโตในวัยเด็กที่ตำบลบ้านควน
และปัจจุบันอยู่อาศัยในตำบลนาพญา ผู้เขียนคุ้นเคยกับเรือกสวนตำบลบางมะพร้าว
ควนเนินและภูเขาของตำบลบ้านควน ตลอดจนทุ่งกว้างของตำบลนาพญา
ตอนเด็ก ๆ เคยวิ่งเล่นตามทุ่งนาฤดูเก็บเกี่ยว
ในทุ่งนาพญา เคยดำนาในที่นาแปลงเล็ก ๆ หว่างเนินเขาในตำบลบ้านควน และเมื่อเติบใหญ่ก็ได้ยกที่นาของตนในตำบลนาพญา
ขึ้นเป็นสวนผลไม้ ต่อมาฟันทิ้งหมดเพื่อปลูกไม้ยืนต้นขาย
และต่อมาอีกก็ตัดไม้ขายเปลี่ยนเป็นทำสวนปาล์มอยู่ในปัจจุบัน(งัยล่ะเพ่!)
ครั้งที่มาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯชั้นมัธยมต้น
ความสนใจอย่างจริงจังกับคำว่า “หลังสวน”
ก็เกิดมีขึ้นเมื่อได้อ่านพบบทความในวารสารสมาคมชาวปักษ์ใต้ ซึ่งออกในกรุงเทพฯ
เป็นข้อเขียนของนักวิชาการอิสระ-นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาวสงขลาท่านหนึ่ง
ท่านได้เขียนเล่าเรื่องที่มาของคำว่า “หลังสวน” ซึ่งเป็นชื่ออำเภอหลังสวน
ว่ามาจากไหน อย่างไร
บทความชิ้นนั้น เป็นตัวจุดประกายความสนใจ
#3 ใคร หรืออะไร ที่จุดตะเกียง ในเวลาต่อมา?
เวลานี้ สืบค้นในกูเกิล
เราจะไม่พบข้อเขียนของนักวิชาการอิสระท่านนั้น แต่เราจะพบความคิดเห็นที่น่าสนใจ
ขอยกตัวอย่างสักสองความเห็น คือ
ความเห็นของกระทรวงคมนาคม
พ.ศ.2459 (hyperlink)
เนื่องจากหลังสวนเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ชื่อที่เรียกจึงยากที่จะหาหลักฐานได้ว่ามีที่มาอย่างไร
แต่เนื่องจากหลังสวนเป็นเมืองที่มีผลไม้มากจนกลายเป็นสินค้าสำคัญของเมืองนี้
ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้สันนิษฐานในปี พ.ศ. 2459 ว่า คำว่า “หลังสวน“ น่าจะเพี้ยนมากจากคำว่า “รังสวน” หรือ “คลังสวน”
ซึ่งหมายถึงแหล่งหรือที่รวมของผลไม้ทุกชนิดนั่นเอง
ความเห็น พระยาอุปกิตศิลปสาร (hyperlink)
เมื่อครั้งที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (hyperlink) เดินทางไปตรวจราชการที่เมืองหลังสวน
ก็ได้สันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของคำว่า “หลังสวน”
ไว้ดังนี้
“…คำว่าหลังสวน
จะผิดหรือถูกขอฝากไว้ในที่นี้ด้วยคือ ริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ
ไม่เห็นมีบ้านเรือนอย่างแม่น้ำเรา มีแต่สวนครึ้มทั้งสองฟาก
มีแต่ทางขึ้นลงจากแม่น้ำเท่านั้น ถามผู้แจวเรือว่า แถวนี้ไม่มีบ้านดอกหรือ
เขาตอบว่า มี แต่อยู่หลังสวนขึ้นไป ภายหลังข้าพเจ้าไปเที่ยวตามบ้านเหล่านั้น
ก็ได้เห็นจริงตามที่เขาพูด จึงสันนิษฐานว่า “เมืองหลังสวน”
คงมาจากเค้าที่บ้านเมืองอยู่ข้างหลังสวนลึกเข้าไป…”
#4 ประเด็นเพื่อวินิจฉัย – รังสวน? คลังสวน? หรือ หลังสวน?
เริ่มกันที่ “รังสวน”
ซึ่งกระทรวงคมนาคมฯ
สันนิษฐานไว้ในปี 2459 หรือเมื่อ 102 ปีมาแล้ว(นับถอยจากปี 2561 นี้) โดยเห็นว่า
หลังสวน น่าจะเพี้ยนมาจาก “รังสวน” หมายถึงแหล่งหรือที่รวมของผลไม้ทุกชนิด
1) รังสวน
เป็นคำประสมในภาษาไทย ระหว่างคำไทยด้วยกัน
รัง +
สวน = รังสวน
2) พิจารณาคำว่า
“รัง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ
พ.ศ. 2542 นิยามว่า
“สิ่งซึ่งพวกนก
หนู และแมลงเป็นต้น ทำขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย กำบัง และฟักไข่เลี้ยงลูก.....”
“โดยปริยายเรียกสิ่งที่มีสภาพคล้ายคลึงเช่นนั้น”
ตัวอย่างการใช้
“รัง” โดยปริยาย – รังโจร รังรัก รังกล้วยไม้ รังดุม รังปืนกล รังเพลิง ฯลฯ
3) คำว่า
“รัง” พิจารณาตามครรลองในพจนานุกรม และตามตัวอย่างการใช้โดยปริยาย เป็น สมุหนาม –
คือคำนามที่ทำหน้าที่แสดงหมวดหมู่ของสามานยนามและวิสามานยนาม เช่น โขลงช้าง
ฝูงนก คณะครู กองทหาร รังหนู
โดยที่
ท่านผู้รู้กระทรวงคมนาคม(2459) ก็นำมาใช้เป็น สมุหนาม ในความหมายถึง แหล่งหรือที่รวมของสวนจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ในคลังคำไทย
ที่รวมของสวนท่านจะเรียกว่า “เรือกสวน” ไม่ได้เรียกว่า “รังสวน”
ตามพจนานุกรมฯ คำว่า เรือกสวน
ก็คือ ที่สวน ที่สวนนั้นตรงข้ามกับ
ที่นา ซึ่งมีคำรวมเรียกว่า ไร่นา
เรือกสวนกับไร่นาประสมกันกลายเป็นสำนวนที่เราได้ยินคุ้นหูว่า “เรือกสวนไร่นา” สำนวนภาษาไทยว่า “รังสวนไร่นา” ไม่มี
อนึ่ง “รัง”เป็นที่อยู่อาศัยที่กำบังตนได้ สวนผลไม้ต้องการกำบังตนจากอะไรหรือ-จึงได้รวมเรียกว่าอยู่เป็น
“รังสวน”? สวนผลไม้ต้องการความโล่งแจ้ง
รับแสงแดดและรับน้ำฝน สวนผลไม้ไม่ต้องการอุดอู้อยู่ในรัง แม้รังนั้นจะมโหฬารก็ตาม
4) ตามเหตุผลข้างต้น
ผู้เขียนขอวินิจฉัยว่า สมุหนาม “รัง” จะนำมาใช้กับ สามานยนาม “สวน”
ไม่ได้ คำว่า “รังสวน”
ตามความเห็นของกระทรวงคมนานาคมฯ(พ.ศ.2459) เป็นคำประดิษฐ์ ที่คิดขึ้นไม่คำนึงถึงสถานะอันจำเพาะของสมุหนามคำนี้ในคำไทย
ต่อด้วย
“คลังสวน”
เช่นเดียวกับ
“รังสวน” คือเป็นคำประสม เกิดจากคำมูลสองคำ คือ คลัง + สวน = คลังสวน
“คลัง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯนิยามไว้ว่า “สถานที่เก็บรักษาสิ่งของจำนวนมาก ๆ เช่น
คลังพัสดุ คลังสินค้า คลังเสบียง เป็นต้น”
ซึ่งในกาลต่อมา
ผู้เขียนพบว่ามีการนำมาใช้โดยปริยายว่า “คลังคำ” ซึ่งก็ไม่ได้ทิ้งแนวคิดเดิมเรื่อง
“ที่เก็บรักษาสิ่งของจำนวนมาก ๆ” เพราะ
คลังคำ จะหมายถึงคำจำนวนมากที่อยู่ในสมองคน(lexicon) หรืออยู่ในรูปหนังสือพจนานุกรม(dictionary)
ก็ได้
เพราะฉะนั้น
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า “คลังผลไม้” ละก้อได้ครับ แต่ “คลังสวน(ผลไม้)”
น่าจะเป็นปัญหา เพราะว่าโรงที่ใช้เก็บรักษา จะต้องใหญ่โตมโหฬาร บานตะไท อีกประการหนึ่งสวนผลไม้ต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง
ได้แดดได้ฝน ไม่ใช่อยู่ในโรงเก็บ
สุดท้ายคือ “หลังสวน” แบบซื่อ ๆ ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร
ท่าน ’เม้น ไว้ว่า “…คำว่าหลังสวน
จะผิดหรือถูกขอฝากไว้ในที่นี้ด้วยคือ ริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ
ไม่เห็นมีบ้านเรือนอย่างแม่น้ำเรา มีแต่สวนครึ้มทั้งสองฟาก
มีแต่ทางขึ้นลงจากแม่น้ำเท่านั้น ถามผู้แจวเรือว่า แถวนี้ไม่มีบ้านดอกหรือ
เขาตอบว่า มี แต่อยู่หลังสวนขึ้นไป ภายหลังข้าพเจ้าไปเที่ยวตามบ้านเหล่านั้น
ก็ได้เห็นจริงตามที่เขาพูด จึงสันนิษฐานว่า “เมืองหลังสวน” คงมาจากเค้าที่บ้านเมืองอยู่ข้างหลังสวนลึกเข้าไป…”
ใน ’เม้น ของท่าน ๆ ใช้คำว่า หลัง ในฐานะบุรพบท เป็นการใช้คำบุรพบทตามธรรมดา
ๆ เช่น
หลังสวน
หน้าสวน
ข้างสวน เป็นต้น
หนังสือ
หลักภาษาไทย ของ อาจารย์ กำชัย ทองหล่อ (hyperlink) นิยามคำบุรพบทไว้ว่า “คำที่แสดงความสัมพันธ์ ระหว่างคำหรือประโยค
เพื่อให้รู้ว่าคำหรือประโยคที่อยู่หลังบุรพบทนั้น
ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับคำหรือประโยคที่อยู่ข้างหลังอย่างไร”
ระหว่างอยู่ในเรือแจว
ในแม่น้ำหลังสวน ท่านถามคนแจวเรือว่า “แถวนี้ ไม่มีบ้านดอกหรือ”
คนแจวเรือตอบท่านว่า “มี
แต่อยู่หลังสวนขึ้นไป”
คำว่า หลังสวน
ของคนแจวเรือไม่ใช่คำประสม แต่เขาใช้บุรพบทตามปกติ เพื่อให้รู้ว่าคำว่า สวน
ที่อยู่หลังบุรพบท มี “บ้าน” อยู่ด้านหลัง สรุปว่า หลังสวนขึ้นไปเป็นบ้านคน
ท่านเจ้าคุณอุปกิตฯ
ท่านได้ไปเที่ยวตามบ้านเหล่านั้น ซึ่งอยู่ ด้านหลัง ของสวน แล้วท่านก็สรุปสันนิษฐานว่า “เมืองหลังสวน” คงมาจากเค้าที่บ้านเมืองอยู่ข้างหลังสวนลึกเข้าไป…”
ขอประทานโทษครับท่านเจ้าคุณฯ
บ้านเหล่านั้นเป็นบ้านสวน หรือบ้านตามเรือกสวน ไม่ใช่ “บ้านเมือง” ความเป็นเมืองของท่าน โผล่มาจากไหนครับ? ลึกเข้าไปจากสวนริมตลิ่ง เป็นบ้านสวน
ไม่ได้มีเมืองตั้งอยู่ ซะหน่อย ครับท่านเจ้าคุณ
การที่ปราชย์ราชบัณฑิตอย่าง
พระยาอุปกิตศิลปสาร ออกตัวไว้แต่ต้นว่า “…คำว่าหลังสวน
จะผิดหรือถูกขอฝากไว้ในที่นี้ด้วย…..” สำหรับผู้เขียนเชื่อว่า
ท่านค่อนข้างแน่ใจว่า “ผิดแน่” ม่ายงั้น ท่านจะไม่ออกตัวอย่างนั้นหรอก
ผู้เขียนลองทบทวนความจำย้อนไปสมัยเด็ก
เมื่อครั้งนั่งเรือเมล์จากตำบลบางมะพร้าว ย้อนทวนน้ำมายังตัวอำเภอหลังสวน
มองไปสองฝากฝั่ง จะเห็นแต่ที่สวนอยู่ริมน้ำ
เหมือนเมื่อครั้งพระยาอุปกิตศิลปสารพรรณนาไว้แต่โบราณก่อนหน้านั้น
เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนท้องที่ จึงไม่ต้องถามคนเรือว่าบ้านเรือนผู้คนอยู่ไหน
เพราะรู้โดยประสบการณ์ว่าอยู่เลย พ้นจากสวนริมตลิ่งขึ้นไป
คนจะไม่ปลูกเรือนอยู่ชายน้ำเหมือนในภาคกลาง เขากลัวฤดูน้ำเหนือหลากลงมา
แม่น้ำหลังสวนจะเชี่ยวกราก และคร่าชีวิตคนไปหลายชีวิต จนแม้ทุกวันนี้ในฤดูแข่งเรือ
ก็ยังมีคนตกน้ำตาย
พระยาอุปกิตฯ
คอมเม้น ไว้อีกว่า “.....ริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ ไม่เห็นมีบ้านเรือนอย่างแม่น้ำเรา”
คำว่า
แม่น้ำเรา ของท่านคงหมายถึงแม่น้ำในทุ่งราบภาคกลางของประเทศไทย
ที่คนนิยมสร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ ติดริมตลิ่ง
ผู้เขียนมีเพื่อนที่อยุธยาและชัยนาท เคยไปกินไปนอนบ้านเขา บ้านพวกเขาอยู่ริมแม่น้ำ
ส่วนเรือกสวนไร่นาอยู่หลังบ้าน ถัดออกไปไกลจากแม่น้ำ แต่ก็แปลกนะ ที่ไม่มีสักแห่งที่มีชื่อหมู่บ้านตำบลหรือเมืองว่า
“หลังบ้าน” หรือ “หน้าสวน” หรือ “ข้างสวน”
ผู้เขียนเคยว่ายน้ำข้ามแม่น้ำน้อย
ในจังหวัดชัยนาท ว่ายข้ามไป-กลับ อันเป็นกิจกรรมที่จะไม่กล้าทำในแม่น้ำหลังสวน เพราะกลัวน้ำเชี่ยวและน้ำวน
แต่ประสบการณ์จากการเคยอยู่กับแม่น้ำที่ค่อนข้างดุ ครั้นได้นั่งพิจารณาแม่น้ำน้อยหน้าบ้านเพื่อน
รู้สึกว่าช่างเป็นแม่น้ำที่ peaceful อะไรเช่นนั้น
จึงโดดลงไปว่ายข้ามฝั่ง...แต่แม่น้ำน้อย ก็ไม่ใช่แม่น้ำแคบ ๆ นะครับ
#5 จะมีเรื่องกับท่านผู้อ่าน
มั๊ยเนี่ยะ?
เป็นอันว่า
ได้ ’เม้น ไปหมดแล้ว ทั้งกลุ่มคนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกระทรวงคมนาคมฯ พ.ศ.2459 –
ร้อยกว่าปีมาแล้วจากปีนี้ 2561 และทั้งความเห็นของท่านเจ้าคุณอุปกิตฯ
ซึ่งเคยเป็นครูสอนภาษาไทยให้แก่ผู้ใหญ่ในกทม.ของผู้เขียน
เมื่อครั้งท่านเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพราะฉะนั้น
ลำดับต่อไปตัวเองจะต้องมีอะไรเจ๋ง ๆ มาเสนอนะ – ม่ายงั้น
อาจมีสิทธิมีเรื่องกับท่านผู้อ่านบางท่าน ก็เป็นได้ – ทำเล่นไป
ก่อนที่จะวิวาทกันถึงขั้นหัวร้างข้างแตก
จะขอเสนอคอมเม้นส่วนตัว ในสไตล์เจ๋งรองลงมา – ก่อนจะเจ๋งจริง
พอเป็นจานเรียกน้ำย่อยสักเรื่องหนึ่ง
สมมติว่า
ผู้เขียนถูกขอร้องให้ ’เม้นชื่อ “คันธุลี”(hyperlink) ผู้เขียนก็จะสามารถใช้สไตล์เจ้าคุณอุปกิตฯ
มา’เม้น ได้ว่า.....
อ๋อ
คันธุลี หรือครับ? โธ่ ของง่าย ๆ “คัน” ก็แบบว่ามันยิก ๆ คะเยอ อยากจะเกาสุด ๆ
งัย ส่วน “ธุลี” ใคร ๆ ก็รู้
คือฝุ่นละอองชนิดเล็กละเอียด เช่น ธุลีดิน เป็นต้น เพราะฉะนั้น “คันธุลี” ก็คือ
หมู่บ้านของพวกคันคะเยอ จากฝุ่นละออง เดินและนั่งเกากันยิก ๆ แม่งทั้งหมู่บ้านเลยงัย.....
เป็นงัยแพ่ ผมเม้นเจ๋งมั๊ยล่ะแพ่?
#6 เจ๋งแล้วจบ
ขออนุญาตท่านผู้อ่านกลับไปยังบทความในวารสารสมาคมชาวปักษ์ใต้
ที่ได้เอ่ยอ้างไว้ตอนต้นข้อเขียนชิ้นนี้
ความสนใจแหล่งที่มาของคำว่าอำเภอ
“หลังสวน” ถูกจุดเป็นประกายวาบขึ้นมาในใจผู้เขียน
ตั้งแต่ครั้งที่ได้อ่านบทความดังกล่าว สมัยที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ในกทม.
ในความเลือนรางแห่งความทรงจำ
ข้อความเล็ก ๆ ข้อความหนึ่งในบทความชิ้นนั้น
ยังติดตาตรึงใจมาตราบเท่าทุกว้นนี้
ท่านผู้เขียนบทความมีนามว่า “เยี่ยมยง สังขยุทธฯ” ขออภัย – จำชื่อท่านได้เพียงเท่านั้น
ท่านเป็นชาวสงขลา
ผู้ใหญ่ของผู้เขียน(ลุง)เคยรับราชการที่สงขลา
และเคยได้รู้จักท่านผู้เขียนบทความชิ้นนั้น (รู้จักกันเพียงห่าง ๆ)
คุณเยี่ยมยง
เขียนไว้ทำนองว่า เมืองหลังสวนเป็นเมืองเก่า ท่านอ้างว่ามีผู้พบศิลปวัตถุของเมืองร้างในวัด
ๆ หนึ่ง(ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าวัดอะไร) วัดนั้นสร้างทับอยู่บนเมืองโบราณ
และท่านยังเล่าต่อไปว่า
“คำว่าหลังสวน เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำสันสกฤตว่า ลัง คุ สะ วะ นะ แปลว่า
เสียงคลื่น”
นี่คือประกายที่ถูกจุดขึ้นในใจผู้เขียนบลอคนี้
แต่ไม่ขอรับรองว่าจำมาได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจมีเพี้ยนได้บ้างไม่มากก็น้อย
ที่แน่นอนก็คือ
ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านบลอค ย่อมทราบอยู่แล้วว่าผู้เขียนไม่ได้เกิดมาพร้อมกับคาบ
พจนานุกรมสันสกฤตฉบับโมเนียร์-วิลเลียมส์ (hyperlink) ออกมาด้วย แต่ว่าเกิดมาแล้วตั้งนานกว่าจะรู้สันกฤตคำสองคำ
ซึ่งทำให้พบว่า
คำว่า “สะวะนะ” ที่แปลว่าเสียง และที่ท่านว่าได้กลายมาเป็นภาษาไทยว่า “สวน”
ในคำว่า “หลังสวน” นั้น คำนั้นค้นหาไม่ยาก คือนี่ครับ स्वन
เช่น บางท่านอาจเคยได้ยินบทสวนมนตร์ที่สวดว่า (เอาแต่เสียงนะครับ
อักขระ-ไม่รับประกัน)
ธัม
มัส สะวะนะ กาโล อยัมภฑันตา (ได้เวลาฟังธรรมแล้ว ท่านผู้เจริญ)
มีคำว่า สะวะนะ อยู่ในนั้น
บทสวดนี้เมื่อผู้เขียนบวชอยู่กับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(วิน) ซึ่งเป็นชาวตำบลนาพญา
อำเภอหลังสวน โดยบวชกับท่านที่วัดส้มเกลี้ยง(ราชผาฯ) ในกทม. ผู้เขียนเคยได้ยินพระพี่เลี้ยงสวดทำนองเสนาะ
ขึ้นต้นว่า ธัมมัสสะวะนะ กาโล ดังกล่าวแล้ว
ปัญหาอยู่ที่คำว่า “คลื่น” ซึ่งมีอยู่หลายคำในสันสกฤต ผู้เขียนขอเลือกคำนี้ तरल อ่านว่า
ตะระละ
เมื่อนำสองคำนั้นมาวางเรียงกัน
ก็จะอ่านได้ว่า
तरल स्वन ตะระละ สะวะนะ
หรือ
“คลื่น” อีกคำหนึ่ง คือ तरङ्ग อ่านว่า
ตะรังคะ
เมื่อนำมาวางเรียงกับคำว่า
“สวน” ก็จะได้
तरङ्ग स्वन ตะรังคะ สะวะนะ
ผู้เขียนไม่มีความรู้ที่จะวินิจฉัยชี้ขาด
ว่าสองคำนั้น - ซึ่งต่างก็ล้วนแปลว่า เสียงคลื่น หรือเปล่า ที่ได้กลายมาเป็นคำว่า “หลังสวน” ? ก็ขอจบข้อเขียนแต่เพียงเท่านี้ – ขอบพระคุณท่านผู้อ่านที่ไม่ได้เป็นชาวอำเภอหลังสวนทุกท่าน
ที่อุตส่าห์หลงติดตามอ่าน ขอบคุณครับ bye-bye
สำหรับท่านผู้อ่านชาวหลังสวนนั้น
แม้จะไม่ขอบใจที่ผู้เขียนอุตส่าห์เขียนประเด็นนี้ ผู้เขียนก็ไม่ว่าอะไรครับ
และ bye-bye
เช่นเดียวกัน
ปรีชา ทิวะหุต
บ้านนาพญา
อำเภอหลังสวน
จังหวัดชุมพร
พฤศจิกายน 2561
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น