--เดฟ นาพญา
งานเขียน Travel writing – ดูทินกร จรจิระยง บทนี้ จะเล่าประสบการณ์เล็กๆน้อยๆส่วนตัว เกี่ยวกับการโดยสารเครื่องบินไปกับที่นั่งชั้นหนึ่งสองสามครั้งที่เคยนั่งมา
ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งเครื่องโบอิง 747 ชั้นหนึ่ง ขึ้นจากสนามบินนาริตะ กรุงโตเกียว ปลายทางที่นิวยอร์ค โดยลงที่สนามบินนูวาค ในนิวเจอร์ซีย์ ไม่ได้ลงที่สนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดี อันเป็นสนามบินหลักของนิวยอร์ค บนเกาะลอง ไอส์แลนด์
พบว่า ส่วนหัวของเครื่อง 747 ลำนั้นมีที่นั่งสองชั้น ที่นั่งชั้นหนึ่งเขาจัดไว้ที่ส่วนหัวชั้นล่าง ซึ่งเวลาประสบอุบัติเหตุ บางทีจะตายก่อนเพื่อน และมักจะตายเรียบ แบบว่านิดๆหน่อยๆก็ตาย ดังกรณี เครื่อง 747 ของสายการบินสิงห์คโปร์แอร์ไลน์ กำลังวิ่งจะขึ้นอยู่บนทางวิ่งที่ไต้หวัน ปรากฏว่ามีชิ้นส่วนของเครื่องบินลำที่ขึ้นไปก่อน พลัดตกอยู่บนรันเวย์ ชิ้นส่วนโลหะดังกล่าวดีดขึ้นมาโดนท้องเครื่อง 747 ส่วนหน้า ซึ่งตามปกติก่อนจะขึ้นได้ เครื่องบินก็จะวิ่งอยู่บนรันเวย์ด้วยความเร็วประมาณกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไฟลุกไหม้เครื่องส่วนหน้า ดูในภาพข่าวเห็นที่นั่งส่วนหัวอันเป็นที่นั่งชั้นหนึ่ง ไหม้ดำเป็นตอตะโกเลยพี่...ดูยังกะบ้านร้าง ยังไงยังงั้น มีคนรอดตายจากอุบัติบนรันเวย์ครั้งนั้นหลายคน เป็นพวกนั่งชั้นสามทั้งเลย ชั้นหนึ่งตายเรียบ
เมื่อผู้เขียนขึ้นเครื่องที่สนามบินนาริตะ เห็นว่าที่นั่งชั้นหนึ่งเขาจัดผังที่นั่ง ให้วางสนุ้กกัน แบบว่าผู้โดยสารแต่ละที่ จะได้มีความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องเผชิญหน้ากับเพื่อนผู้โดยสารคนอื่น คือว่าเห็นกันน้อยที่สุดในระหว่างผู้โดยสารด้วยกัน เก้าอี้ชั้นหนึ่งเที่ยวนั้นก็กว้างและเอนนอนได้เกือบจะราบ ผู้โดยสารเกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีที่นั่งๆนอนๆอย่างกว้างขวาง ไม่แออัดยัดทะนานแบบที่นั่งชั้นสาม(ชั้นประหยัด) ส่วนรายการบันเทิงผู้เขียนเข้าใจว่าจะเป็นชุดเดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยก และทราบมาว่ารายการบันเทิงบนเครื่องบินสมัยนี้ มีมากมายก่ายกอง จนขนาดที่ว่าระบบคอมพิวเตอร์สำหรับรายการบันเทิงของเที่ยวบินทางไกล ใหญ่โตกว่าระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยขับเครื่องบินเสียอีก
เนื่องจากผู้เขียนไม่เคยมีเรื่อง กับแอร์โฮสเตสหรือสจ้วตของสายการบินสายนั้น จึงไม่จำเป็นต้องคดห่อขึ้นไปกิน กะว่าจะกินกับเขา โดยทำท่า“เย็นจัด”(very cool) ราวกับว่านั่งชั้นหนึ่งมาตลอดชีวิต เมื่อถึงเวลาเสิร์ฟอาหาร แอร์โฮสเตสก็จะมีผ้าปูโต๊ะ มาปูโต๊ะชนิดติดตั้งได้กับที่นั่ง ภาชนะก็จะเป็นถ้วยชามกระเบื้องจริง ไม่ใช่ภาชนะปลาสติกที่เสิร์ฟในที่นั่งชั้นสาม ซึ่งที่ชั้นสามนั้นเขาใส่ของคาวของหวานรวมปนกันมา เสือกถาดวางตรงหน้าเรา เห็นแล้วไม่รู้ว่าจะกินของหวานก่อนดีไหม ชวนให้นึกถึงกล่องข้าวที่แม่คดห่อให้ไปกินที่โรงเรียน เปิดขึ้นมาทีไร เจอแต่ใข่ทอดกับมะพร้าวขูด ใส่กะปิ เกือบทุกวัน สยองน้อยกว่านี้ มีมั๊ย?
สไตล์การกินบนที่นั่งชั้นหนึ่ง เขาก็จัดทำ สร้างฉาก ให้เรารู้สึกคล้ายๆกำลังกินภัตตาคารฝรั่งชั้นดี อาหารจะมาเป็นคอร์ส จำไม่ได้ว่ากี่คอร์ส แต่ไม่ใช่เจ็ดคอร์ส แบบที่เคยกินที่ร้านอาหารฝรั่งเศสแห่งหนึ่งในยุโรป ตั้งอยู่ในสวนชานเมืองที่จัดแต่งสบายหูสบายตา กินกันตั้งแต่ก่อนเที่ยงจนยันสี่โมงเย็น จบด้วยคอนญัคโคดหอมเลย คิดว่ายังจำกลิ่นได้จนบัดนี้
แอร์โฮสเตสบนที่นั่งชั้นหนึ่ง เขาจัดคนที่มีประสบการณ์สูง ซึ่งแปลว่าส่วนมากจะเป็นพวก “แอร์กี่” ในที่นั่งชั้นหนึ่งของสายการบินอเมริกันที่ผู้เขียนโดยสารครั้งนั้น “แอร์กี่” ที่มาบริการ รูปร่างใหญ่โตมโหฬาร ยังกะยักษ์ปักลั่น ท่าทางคล้ายๆกับจะทำหน้าที่ รปภ. บนเครื่องด้วยงั้นแหละ เธอนุ่งกางเกงทำงานสีน้ำเงินเข้ม สวมเสื้อสีขาว
ครั้งหนึ่ง บนที่นั่งชั้นหนึ่งของสายการบินเอเชียสายหนึ่ง แต่ไม่ใช่สิงห์คโปร์แอร์ไลน์ เพราะผู้เขียนกับมิตรสหายตั้งปณิธานกันไว้ว่า ตายเป็นตาย ไม่ขอขึ้นเครื่องบินอุบาทว์สายนี้(มีเหตุผลส่วนตัว) แอร์โฮสเตสบนสายการบินเอเชียดังกล่าว เล่าให้ฟังว่า กว่าที่พวกเธอจะได้มาให้บริการผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ไม่ใช่ง่ายๆ ผู้เขียนขอสรุปด้วยคำพูดตัวเองแล้วกันว่า เจ้าหน้าที่ชั้นหนึ่งนั้นมีภารกิจมากมาย เท่าที่เราเห็นกับตาที่เขาสัมผัสกับเรา เป็นเพียงส่วนน้อยนิด คนพวกนี้มีประสบการด้านทักษะมนุษย์(people skills)อย่างเลิศ เขาจะไม่ทำอะไรให้เราระคายเคืองเลยแม้แต่น้อย เพราะผู้โดยสารชั้นหนึ่งมักจะเป็นคนขี้รำคาญมนุษย์
กรณี “แอร์อาวุโส” ในที่นั่งชั้นหนึ่งของสายการบินอเมริกัน ที่ผู้เขียนโดยสารไปนิวยอร์คครั้งนั้น การพูดการจาของเธอสำรวมและประหยัดถ้อยคำ เธอจะพูดเพียง “พอดี” เท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะ “just right” ไปหมด โห_ยิ่งกว่าอยู่ในคลับเฮาส์กลางอากาศเสียอีก เพราะว่าคนตามคลับเฮาส์ส่วนใหญ่ ใช่ว่าจะนั่งเครื่องบินชั้นหนึ่งกันหมดทุกคน
อาจจะเป็นเพราะเราเป็นนักเขียน เราจึงสนใจเรื่องถ้อยคำของคนมากกว่าผู้ประกอบอาชีพอื่น การสรรหาเฉพาะคำที่พอดี พอเพียงมาใช้ ของแอร์โฮสเตส เข้าใจว่าเธอคงจะได้มาจากการฝึกฝนของสายการบิน แต่ก็ชวนให้นึกถึงคำแนะนำเรื่องการเขียนของ โฟลฺแบร์ เรื่อง “mot juste” คือคำที่ตรงตัวพอดีแ่ก่การสื่อความ ไม่มากไม่น้อย พอดีเด้ะ(โคดยาก)
คำที่ไม่เคยได้ยินที่อื่น แต่ไปได้ยินบนที่นั่งชั้นหนึ่งสายการบินอเมริกันครั้งนั้น ได้แก่ เวลาเราขอบใจเขา แอร์อาวุโสเธอจะตอบกลับว่า “delighted.” เธอไม่พูดว่า you are welcome. เข้าใจว่าจะเป็นภาษาของสายการบิน อ้อ แล้วอีกอย่างเวลาเธอเชื้อเชิญให้เรารับประทานอาหาร เธอไม่ใช้คำฝรั่งเศสว่า bon appetit แต่เธอใช้คำอเมริกันสมัยใหม่ โดยพูดเชื้อเชิญให้กิน ว่า “Enjoy.” หมายความว่า ขอให้เรามีความสุขกับการกิน
อีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยนั่งเครื่องบินชั้นหนึ่ง สายการบินไชน่า แอร์ไลน์ จากกรุงปักกิ่งมาฮ่องกง เวลานั้นแม้เมืองจีนจะเปิดประเทศมาหลายปีแล้ว แต่หลายๆสิ่งหลายๆอย่างก็ยังไม่เข้าที่สักเท่าใดนัก รู้กันนะว่า แอร์โฮสเตสในที่นั่งชั้นหนึ่ง ล้วนแต่เป็นลูกหลานคนใหญ่คนโตในพรรคคอมมิวนิสต์จีน พูดภาษาอังกฤษวิบัติแต่เส้นใหญ่ และจะเป็นแอร์เด็กสาว ไม่ใช่พวกแอร์กี่ที่คร่ำประสบการณ์ พอถึงเวลาที่เธอจะเสิร์ฟอาหาร ผู้เขียนกำลังนั่งคิดสะระตะ เครียดๆ เพลินๆ เธอมาถามว่า “Eat?”
โต๊ะ-จัย-โหมะ-เลย์ ต้องสั่นหัวแล้วถามกลับไป ว่า “What?” อาหมวยเส้นใหญ่ก็ถามซ้ำว่า “Eat?”
อีกครั้งหนึ่ง นั่งชั้นหนึ่งแอร์ ฟร้านซ์ จากกรุงเทพฯ ไปปารีส แอร์โฮสเตส ก็ตามเคยของสายการบินฝรั่ง คือเป็น แอร์กี่ เนื่องคนฝรั่งเศสตัวเล็ก จึงดูคล้ายๆคุณป้าขายขนมครกกับขนมดั้ง ที่ตลาดนัดประจำตำบล ยังไงยังงั้น ครั้งนั้นหลังอาหารค่ำ คุณป้าก็เสิร์ฟของหวาน มหัศจรรย์—ไม่คาดคิด มีข้าวเหนียวมะม่วงด้วย คุณป้าให้มะม่วงทั้งลูกเลย ไอ้เรายังติดนิสัยเกรงใจคน ก็ไม่กล้าจะหยิบมะม่วงที่มีอยู่ลูกเดียว วางอยู่ในตะกร้าเล็กๆที่คุณป้านำมาเสิร์ฟ แต่ใจก็อยากได้ จึงทำเป็นลังเลใจ ถามว่าหยิบได้ทั้งลูกเลยหรือ เธอบอกว่า เอาไปเถอะ ผู้เขียนก็บอกว่า แล้วคนอื่นล่ะ คุณป้าส่ายหน้าแล้วบอกว่า เอาไปเถอะ
โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2556
[ยังมีต่อ.....]
นั่งเครื่องบินไปปารีสเที่ยวนั้น รู้สึกว่าหลับๆตื่นๆไม่นานก็ถึงแล้ว ถึงไวกว่าครั้งใดๆก่อนหน้านั้น—นี่ว่ากันตามความรู้สึก คงจะเป็นเพราะได้กินข้าวเหนียวมะม่วงก่อนนอน แน่เลย คงจะไม่เกี่ยวกับการได้นั่งชั้นหนึ่ง แต่นั่นแหละ ถ้าไม่ได้นั่งชั้นหนึ่งก็จะไม่ได้กินข้าวเหนียวมะม่วง นี่ถ้าเขามีชั้นหนึ่ง “พิเศษ” เขาคงจะตำส้มตำให้กินกันบนเครื่องแหงเลย งัยก็-อย่าถึงขนาดปิ้งแย้-แล้วกัน
จากประสบการณ์เล็กๆน้อยๆของตัวเอง ในที่นั่งชั้นหนึ่ง ทำให้อนุมานและประเมินเภทภัยอันอาจเกิดขึ้นได้กับคนรวยๆ ที่นั่งเครื่องชั้นหนึ่งเป็นประจำ--นอกจากภัยที่เห็นจะๆเรื่องแอร์โฮสเตสจะสาดกาแฟใส่ เราสามารถสรุปเภทภัยได้ดังนี้
1) ภัยจากอาหารและ้เครื่องดื่ม
2) ภัยจากความโดดเดี่ยวลำพัง ของที่นั่งชั้นหนึ่ง
3) ภัยจากการปราศจากอาวุธป้องกันตัว
1) ภัยจากอาหารและเครื่องดื่ม หรือเกี่ยวกับอาหารการกินนั้น ก็อย่างที่ได้เรียนแล้วว่า การเสิร์ฟอาหารในที่นั่งชั้นหนึ่ง เขาไม่ได้เสือกถาดมาให้เราทั้งถาดแบบที่นั่งชั้นสาม แต่เขาพยายามทำให้เรารู้สึกว่า เรากำลังกินอาหารที่ร้านอาหารฝรั่งชั้นดี เขาจัดเตรียมอาหารกันในครัวเล็กๆบนเครื่องบิน อยู่้ติดกับบริเวณชั้นหนึ่ง การเตรียมอาหารก็ต้องใช้เวลา การได้เสียเวลากับการกิน ถือว่าคุณเป็นคนมั่งคั่งผู้มีรสนิยม คุณไม่ใช่พวกชนชั้น “แดกด่วน” ก็อย่างที่เคยเล่าประสบการณ์กรณีกินอาหารฝรั่งเศสบนพื้นดิน ที่กินกันจนยันบ่ายสี่โมง การกินยาวนานขนาดนั้น ลองคิดดูเถิดว่า ถ้าสิ่งมีชีวิตที่นั่งรับประทานอยู่กับเราเป็นควายหรือตะกวด ความสุขจากการกินของเราจะมาจากไหน เพราะว่าควายกับตะกวดหรือเหี้ยเนี่ยะ ต่อให้อาหารจะวิเศษอย่างไร พอพวกมันอ้าปากพูดขึ้นมาสักคำสองคำเท่านั้นแหละ รสชาติอาหารจะเหี้ัยหรือกลายเป็นควายไปหมดทั้งจาน หรือบางทีมันไม่ต้องพูดสักคำด้วยซ้ำ แค่กิริยาการยัดทานเหมือนหมูหมาของพวกมัน ก็มีสิทธิทำให้เรารู้สึกผะอืดผะอม สิ้นหวังกับอาหารมื้อนั้น ก็เป็นไปได้
คนที่เขานั่งกินนั่งคุยกันได้นานๆ ในร้านอาหารฝรั่งเศสที่เงียบสงบสักแห่งหนึ่งในยุโรป หรือแม้กระทั่งที่ฮ่องกง—บนเส้นทางบนเขา ทางไปมหาวิทยาลัยฮ่องกง
เขาคงจะมีเรื่องพูดคุยที่น่าสนใจ ต้องตามรสนิยมของกันและกัน หมายความว่ามีทั้งเนื้อหาการสนทนาที่ดี และทั้งศิลปะในการพูดคุย ต้องพร้อมด้วยกันทั้งสองอย่าง ถ้าพูดกันแต่เนื้อๆล้วนๆ ตามสไตล์ที่ว่าใว้ในคัมภีร์ไบเบิล ว่า “God said: Let there be light! And there was light.” “พระเจ้าตรัสว่า: ขอให้มีแสงสว่าง! แล้วแสงสว่างก็มีขึ้นมา”
โครงสร้างประโยคง่ายๆชนิดนั้น ไม่ได้ดีเลิศประเสริฐศรีไปเสียทุกสถานการณ์ การเลียนแบบโองการพระเจ้า ไม่ได้ช่วยให้เราศักดิ์สิทธิ์ หรือทำให้เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งของเรา น่าสนใจราวกับเรื่องพระเจ้าสร้างโลก เพราะบางครั้งผู้ฟังเขาก็ต้องการ ทั้งอรรถและรส เรียกว่าต้องการ อรรถรส ไม่ใช่ อรรถ อย่างเดียว พููดแต่อรรถอย่างเดียวไม่เลือกกาลเทศะ จะกลายเป็นพูดหยาบ กระด้าง มะนาวไม่มีน้ำ เป็นที่ระคายหูผู้ฟัง คนเขาไม่อยากฟัง และนึกรังเกียจหรือน่ารำคาญ หรือเบื่อคนพูด(หรือคนเขียน)
ท่านหนึ่งจึงว่าไว้ว่า “It is easier to write short sentences than to read them……”
การพููดก็น่าจะเหมือนกัน ถ้าพูดผั้วะๆสรุป ผั้วะๆสรุปๆ ผั้วะๆสรุปๆ จะเป็นการพูดที่ง่ายสำหรับผู้พูด แต่ฟังยาก.....ไม่ชวนฟัง สำหรับผู้ฟัง
ลักษณะการจัดเตรียมอาหารและการเสิร์ฟ ที่เลียนแบบร้านอาหารฝรั่งเศสชั้นดีในที่นั่งชั้นหนึ่ง ทำให้ผู้ที่ประสงค์จะทำร้ายเรา หรือปองร้ายเรา มีโอกาสอย่างกว้างขวางมาก ที่จะใส่สลอดหรือวางยาพิษกัมมันตภาพรังสี ในอาหารและน้ำดื่ม
ไม่เหมือนที่นั่งชั้นสาม ซึ่งมีเพื่อนผู้โดยสารนั่งติดๆกัน คอยเป็นหูเป็นตาให้กัน และถาดอาหารที่เสิร์ฟแบบเสือกมาให้เราทั้งถาด ก็สั่งตรงจากโรงครัว จัดถาดใส่ตู้กับข้าวพร้อมเสิร์ฟ มาตั้งแต่ภาคพื้นดิน ใครจะไปรู้ว่าอาหารถาดใดจะเสิร์ฟให้ผู้โดยสารคนไหน
2) ภัยลำดับต่อไปได้แก่ สภาพโดดเดี่ยวลำพัง ของที่นั่งชั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้คล้ายๆกับกำลังเดินทางไปในที่เปลี่ยว
เคยมีกรณีเกิดขึ้นบนเที่ยวบินของสายการบินระดับโลก รู้กันทั่ว ว่าผู้โดยสารชั้นหนึ่งผู้โดดเีดี่ยว โดนขโมยเงินสดที่นำติดตัวไป คนนั่งชั้นหนึ่งบางคนเขาเป็นอภิมหาเศรษฐี เขามานั่งเครื่องบินพาณิชย์ชั้นหนึ่ง แทนที่จะใช้เครื่องบินโดยสารส่วนตัว เพราะเขาใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และคนพวกนี้อาจพกเงินสดติดตัวทีละโกฎิครึ่งโกฎิ เพราะพวกเขามีเงินนับเป็นอสงไขย ครั้นโดนลักหยิบไปแค่หมื่นสองหมื่น หารู้ตัวไม่ พนักงานบนเครื่องบินสายการบินระดับโลกรายนั้น ที่ขโมยเงินสดผู้โดยสารชั้นหนึ่ง แกขโมยเงินผู้โดยสารมาตั้งนานหลายปี กว่าจะโดนจับได้ น่ากลัวแกจะผ่อนคอนโดหลุดไปนานแล้ว ด้วยการแอบบังคับหยิบเอาค่าทิป จากผู้โดยสาร
สำหรับผู้โดยสารที่นั่งชั้นสาม ขโมยเงินกันยาก เนื่องจากเงินของเรามีน้อย เราก็จะงุบงิบเก็บงำ ไม่ใช่อะไรหรอก-กลัวคนจะรู้ว่าเราจนจริง เช่นเราจะใส่ไว้ในเข็มขัดที่ฝรั่งเรียก money belt เป็นต้น นอกจากนั้น แม้เราจะเดินทางโดยลำพัง แต่เพื่อนผู้โดยสารที่นั่งติดๆกันกับเราก็มี และหน้าสลอนไปหมด แอร์โฮสเตสจะมาล้วงๆควักๆเราได้งัย หรือจะมาลักหลับเราก็ไม่ได้นะ จะบอกให้-หมดสิทธิ์
เคยมีคดีขึ้้นศาล เรื่องของผู้โดยสารรถไฟชั้นหนึ่งในอินเดีย เธอโดนพนักงานประจำตู้รถไฟชั้นหนึ่งข่มขืน ซึ่งคดีทำนองเดียวกันนี้ ก็เคยขึ้นศาลไทยเหมือนกัน ระยะเวลาใกล้เคียงกันกับคดีที่อินเดีย ใครสนใจก็น่าจะลองไปค้นอ่านคดีที่ศาลได้ เหตุเกิดประมาณห้าหกปีที่แล้ว ผู้โดยสารสตรีในตู้รถไฟชั้นหนึ่งของไทยและของอินเดีย ถูกการ์ดรถข่มขืน
โอ-พระเจ้า ราม-โอ-ราม! ยังไม่เคยได้ยินว่า ผู้โดยสารที่นั่งชั้นหนึ่งของสายการบินใด โดนแอร์โฮสเตสหรือสจ้วตข่มขืน ทั้งๆที่สภาพแวดล้อมและบรรยากาศอำนวย เหตุผล? อาจจะเป็นเพราะว่า ส่วนมากแล้วผู้โดยสารเครื่องบินชั้นหนึ่ง มีสภาพร่างกายคล้ายหมูตอน อึ่งอ่าง หรือถ้าผอมแห้ง รูปร่างหน้าตาก็จะดูคล้ายผลงานสร้างสรรค์ของแฟรงเคนสไตน์ พวกเขาเป็น “Frankenstein re-construction” ไม่มีใครกล้าข่มขืน โธ่--ใครบอกว่าแอร์โฮสเตสกับสจ้วต ไม่กลัวผี?
3) ภัยประการที่สามของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง คือ สภาพปราศจากอาวุธป้องกันตัว ชีวิตทั้งชีวิตแขวนอยู่กับพนักบริการไม่กี่คน ก่อนขึ้นเครื่องก็จะถูกปลดอาวุธเกลี้ยง ต้องเดินขึ้นเครื่องโดยปราศจากปืนผาหน้าไม้หรือมีดพก และก็ดังได้เกริ่นไปบ้างแล้วว่า ที่นั่งชึ้นหนึ่งเป็น “ที่เปลี่ยว” ผิดกับที่นั่งชั้นสามซึ่งสนุกสนาน แออัดยัดทะนาน เฮฮา รำวงวันลอยกระทง...
การเดินทางด้วยที่นั่งชั้นหนึ่งไปนิวยอร์คครั้งนั้น ผู้เขียนเดินทางไปกับเที่ยวบินกลางคืนเพื่อไปสว่างที่โน่น ดังนั้น จึงมีค่าเสมือนกับว่า ผู้เขียนเดินทางโดยลำพัง ไปในที่เปลี่ยว ในยามวิกาล
โห...บรื๋ออออ
แต่ก็มีสิ่งปลอบใจรออยู่ คือเมื่อสว่างเหนือประเทศแคนาดา รับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่บินตรงไปยังสนามบินรัฐนิวเจอร์ซี ของสหรัฐฯ เครื่องบินจะบินเหนือช่องแคบเรียวๆรูปรีๆ อยู่ระหว่างเกาะลอง ไอส์แลนด์ กับแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ที่รู้จักกันในนาม ช่องแคบลอง ไอส์แลนด์ หรือ “Long Island Sound” (sound=ช่องแคบ) เมื่อเดินทางมานิวยอร์คครั้งก่อนๆ--เพราะเคยไปนิวยอร์คมาสิบกว่าครั้ง และก็เคยบินผ่านตรงนั้นมาแล้ว แต่ครั้งก่อนๆแผ่นดินแผ่นน้ำสองฝั่งช่องแคบลอง ไอส์แลนด์ ไม่มีความหมายอะไรต่อผู้เขียน ได้แต่นั่งเหม่อมองผ่านทางช่องหน้าต่างเครื่องบินออกไปอย่างไร้สาระ เนื่องจากก่อนหน้าครั้งนั้น ยังไม่ได้อ่านนวนิยายเรื่อง “เดอะ เกรท แกทสบี”
นวนิยายเรื่องนั้น ใช้สถานที่ เกาะลอง ไอส์แลนด์ เมืองนิวยอร์ค และช่องแคบลอง ไอส์แลนด์ เป็นฉาก โดยบ้านพระเอกอยู่บนเกาะลอง ไอส์แลนด์ ด้านที่ติดกับผืนน้ำช่องแคบ Long Island Sound ส่วนบ้านนางเอกอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ฝั่งตรงข้าม เวลาเดินทางไปมาหากันทางบก ก็ต้องขับรถทะลุเมืองนิวยอร์ค ครั้นได้อ่านนวนิยายเล่มนั้นแล้ว เกาะลองไอส์แลนด์และช่องแคบลองไอแลนส์ จึงมีความหมายแก่ผู้เขียน เมื่อตื่นขึ้นจากการ เดินทางโดยลำพัง ไปในที่เปลี่ยว ในยามวิกาล กับที่นั่งชั้นหนึ่งของสายการบินอเมริกันในครั้งนั้น
ผู้เขียนเดินทางไปนิวยอร์คครั้งแรก ในวัยที่ยังเยาว์และยากจน พักที่หอพักวายเอ็มซีเอ ชื่อสโลนเฮ้าส์ อยู่ประมาณถนนสี่สิบกว่าๆ ราคาคืนละไม่กี่เหรียญ ส่วนครั้งล่าสุดที่ไปนิวยอร์ค ได้พักที่โรงแรมโซฟิเทล—อันเป็นที่ๆนายสโตรส คาห์น อดีตผ.อ.ไอเอ็มเอฟ ชาวฝรั่งเศสโดนจับคดีพยายามข่มขืนพนักงานโรงแรมและก็มีโอกาสได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสในนิวยอร์คที่นั่น--เกิดความรู้สึกหลอนใจสำคัญตนเองผิดๆว่า เราเป็นคน...ฮื่มมม...เย็นจัด(I am cool.)
-จบ-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น