--สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล วิชา "ความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ" Episode 01/12
--สรุปคำบรรยายปรัชญาและปรัชญาการเมือง
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล วิชา "ความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ" Episode 01/12
โดย ศ.ไมเคิล แซนเดล วิชา "ความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ" Episode 01/12
--ปรีชา ทิวะหุต ผู้สรุป
--ปรีชา ทิวะหุต ผู้สรุป
-----------------------------------------------------------------------------------
คำคัดเด็ด
ประจำตอนนี้
สรุปวิธีคิด
เพื่อความกระจ่างแจ้งในการพิจารณาปัญหาข้อศิลธรรมทางแพ่ง ศ.แซนเดล ได้สรุปวิธีคิด – เพื่อแสดงเหตุผลเชิงศิลธรรมทางแพ่ง
ในปรัชญาตะวันตก ไว้ว่า เราน่าจะลองคิดเรื่องนี้สองวิธี คือ ข้อศิลธรรม ตัดสินกันด้วยผลที่ตามมา
จากการกระทำ กับอีกวิธีหนึ่ง คือ ข้อศิลธรรม
พิจารณากันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา
------------------------------------------------------------------------------------
ฆาตกรรม พิจารณาแง่ศิลธรรม
Episode 01 part 1
ถ้าท่านต้องเลือกกระทำการ
(1) ฆ่าคนหนึ่งคน เพื่อรักษาชีวิตคนห้าคนเอาไว้ หรือ
(2) นิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า คนห้าคนจะต้องตายต่อหน้าต่อตาท่าน
ระหว่างสองกรณีนี้
ท่านจะเลือกทำประการใด กรณีใดเป็นเรื่องที่ถูกที่ควร อันพึงกระทำ?
ศ.แซนเดล
ยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมติ ขึ้นเป็นอุทาหรณ์ เพื่อประกอบการสอนประเด็น การคิดหาเหตุผลเชิงศิลธรรม
ที่ท่านสอนใน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
นักศึกษาส่วนมาก
ออกเสียงลงคะแนนในชั้นเรียน ให้ฆ่าคน ๆ
เดียว เพื่อรักษาชีวิตคนห้าคนเอาไว้ ศ.แซนเดล เล่าปริศนาศิลธรรมสามเรื่อง
แต่ละเรื่อง ออกแบบอย่างพิถีพิถัน ให้คิดอ่านตัดสินใจประเด็นนี้ ยากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้
เรื่องที่ 1 รถสิบล้อคันหนึ่ง เบรกแตก--แต่พวงมาลัยยังใช้ได้ เสียหลักพุ่งมาด้วยความเร็วสูง จนถึงทางสองแพร่ง (ทางสองแพร่ง มักจะเป็นตัวอย่างยอดฮิตชนิดหนึ่ง
ในการสาธกเรื่องแนวปรัชญา)
ทางหนึ่งมีคนยืนอยู่คนเดียว อีกทางหนึ่งยืนอยู่ห้าคน ท่านซึ่งเป็นคนขับรถ จะหมุนพวงมาลัยไปทางใด
เรื่องที่ 2 เรื่องคล้ายกัน แต่ไม่ใช่ทางสองแพร่ง
หากว่า เป็นทางตรงที่มีคนห้าคนยืนอยู่
ซึ่งขณะนั้น ท่านยืนอยู่บนสะพานลอยเหนือถนน
เป็นสะพานลอยที่ปราศจากราวสะพาน
บนสะพานลอยมีชายอ้วนมากคนหนึ่งยืนมองเหตุการณ์ ถ้าท่านผลักคนอ้วนตกสะพานลอย
เขาจะลงไปขวางทางรถในจังหวะนั้นพอดีเลย
รถสิบล้อก็จะชนคนอ้วนตาย
แล้วแฉลบเสียหลัก
คนห้าคนรอดตาย
ท่านจะนิ่งเฉยปล่อยให้คนห้าคนตาย
หรือว่าท่านจะผลักชายอ้วนให้ตกสะพาน ลงไปขวางทางรถ
เรื่องที่ 3 เหมือนเรื่องที่ 2 ทุกอย่าง แต่ท่านไม่ต้องลงมือผลักคนอ้วนด้วยตนเอง เพราะว่าเขายืนอยู่บนพื้นที่ ที่บังเอิญว่าเป็นกระดานกล มีกระเดื่องกลผูกเชือกโยงมาไกลหลายวา จนถึงจุดที่ท่านยืนอยู่ เพียงแต่ท่านกระตุกเชือกกระเดื่องกลนิดเดียว พื้นกระดานกลที่คนอ้วนยืนอยู่นั้น
จะกระดกเทคนอ้วนตกลงไปขวางทางรถด้านล่าง
ท่านก็รักษาชีวิตคนห้าคนนั้นไว้ได้ คนอ้วนตายคนเดียว
และท่านไม่ต้องลงมือผลักชายอ้วนโดยตรง ด้วยตนเอง
ระหว่างที่นักศึกษาลุกขึ้นยืนพูดอภิปราย
แสดงเหตุผล ปกป้องการเลือกลงมือกระทำ อย่างหนึ่งอย่างใด อยู่นั้น การที่นักศึกษาส่วนมาก ออกเสียงลงคะแนนให้ฆ่าคน ๆ
เดียว เพื่อรักษาชีวิตคนห้าคนเอาไว้--ตามตัวอย่างเรื่องแรก
ก็น่าจะสอดคล้องกับความคิดเรื่องเสียงข้างมากเป็นใหญ่
แต่ในตัวอย่างต่อมา
นักศึกษาเริ่มรวนเร ชักไม่แน่ใจว่า
เสียงข้างมากจะเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรเสมอไปทุกกรณี--จริงหรือไม่ เพราะในตัวอย่างที่ 2 นักศึกษาทั้งหลายก็ไม่อยากจะลงมือผลักชายอ้วน ให้ตกลงไปตาย ด้วยตนเอง และแม้ตามตัวอย่างที่ 3 หลายคนก็ไม่อยากดึงกระเดื่องเพื่อพลิกกระดานกล
กรณีตามตัวอย่างในห้องเรียน ทำให้เราพลอยเห็นกระจ่างไปด้วยว่า
ความคิดความอ่านที่รองรับศิลธรรมของเราท่านอยู่นั้น
มักจะเป็นความคิดอ่านที่ขัดแย้งกันอยู่
เพราะฉะนั้น
ข้อปุจฉาปริศนาศิลธรรม ที่ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรเลว
จึงอาจจะไม่ได้มีคำตอบที่เด็ดขาดชัดเจน ดุจสีขาวตัดกับสีดำ เสมอไปทุกกรณี
เรื่องที่ 4 สมมติว่าท่านเป็นแพทย์ผ่าตัด มีผู้ป่วยหนักจะต้องตาย
จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนอวัยวะอยู่ในความดูแลรวมห้าคน คนหนึ่งต้องเปลี่ยนตับ อีกคนต้องเปลี่ยนไต ฯลฯ แต่เวลานั้น ไม่มีผู้บริจาคอวัยวะเลย ขณะนั้นบังเอิญว่า มีชายสุขภาพดีคนหนึ่ง แวะมาตรวจสุขภาพตามปกติ
กำลังนอนหลับอยู่ในห้องข้าง ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้ท่านสามารถเข้าไปควักเอาอวัยวะทั้งห้าออกจากร่างเขา มาเปลี่ยนให้คนใข้ห้าคนของท่านได้ ท่านจะลงมือทำหรือไม่? เพราะถ้าท่านเชื่อตามหลักเสียงข้างมาก
ท่านทำให้คนตายคนเดียว เพื่อจะให้มีคนรอดตายห้าคน
กรณีนี้นั้น
นักศึกษาส่วนมากยกมือว่า จะไม่ฆ่าคน ๆ เดียวเพื่อรักษาชีวิตคนห้าคน ซึ่งเป็นการยกมือที่ขัดแย้งกับหลักเสียงข้างมาก
หรือเสียงส่วนใหญ่
สรุปวิธีคิด
เพื่อความกระจ่างแจ้งในการพิจารณาปัญหาข้อศิลธรรมทางแพ่ง ศ.แซนเดล ได้สรุปวิธีคิด เพื่อการแสดงเหตุผลเชิงศิลธรรมทางแพ่งในปรัชญาตะวันตก
ว่า เรามีวิธีคิดเรื่องนี้สองวิธี คือ ศิลธรรม ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา
จากการกระทำ กับอีกวิธีหนึ่ง คือ ศิลธรรม
พิจารณากันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา
เช่น ถ้าเราหมุนพวงมาลัยรถสิบล้อเบรกแตก
เข้าทางที่มีคนยืนอยู่เพียงคนเดียว ก็เป็นเพราะเราเห็นว่า “ศิลธรรม--ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา จากการกระทำ” กล่าวคือ คนรอดตายห้าคน
ดีกว่าคนรอดตายคนเดียว
กรณีที่เราเป็นแพทย์ผ่าตัด
แล้วปล่อยให้คนไข้ตายห้าคน โดยที่เราไม่ยอมควักอวัยวะห้าชิ้น
ออกมาจากคนสุขภาพดี ก็เพราะเราเห็นว่า “ศิลธรรม--พิจารณากันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา” กล่าวคือ เราไม่ยอมฆ่าชายสุขภาพดี
ที่นอนอยู่ในห้องข้าง ๆ เพื่อควักอวัยวะออกมาช่วยคนห้าคนที่กำลังจะตาย ทั้ง ๆ
ที่รู้ว่าการฆ่านั้น จะช่วยชีวิตคนถึงห้าคนได้ เราก็ไม่ทำ เพราะเราถือว่า การฆ่าคน
เป็นเรื่องไม่ดีมาก ๆ โดยตัวของมันเอง
ท้ายที่สุด
ศ.แซนเดล เตือนไว้แต่ต้น ว่า เรื่องศิลธรรมทางแพ่งนี้ เป็นเรื่องสอนยาก เพราะเป็นเรื่องที่นักศึกษาทั้งหลาย “รู้ ๆ กันอยู่แล้ว” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่อย่างไรก็ดี ท่านประกันว่า
หลังจากจบการบรรยายทั้งหมดของท่านแล้ว
เรื่องที่นักศึกษารู้ ๆ กันอยู่แล้วนั้น
จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
โลกของนักศึกษาจะเปลี่ยนไป...
คนกินคน--คดีดังในอังฤษ
Episode 01 part 2
ศ. แซนเดล
แนะนำให้เรารู้จักเอตทัคคะของแนวคิดที่ว่า “ศิลธรรม ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา
จากการกระทำ” คือ อาจารย์เจเรมี
เบนแธม
ท่านผู้นี้ ประกาศข้อศิลธรรมแนวประโยชน์นิยม
ที่มีหลักเข้าใจง่าย ๆ ว่า
มนุษย์ถูกบัญชาด้วยความต้องการจะ เป็นสุขกับหนีทุกข์ เพราะฉะนั้น “ประโยชน์”
ของการกระทำใด ๆ ในความเห็นของท่าน ก็คือ เมื่อหักกลบลบผลจากการกระทำแล้ว
ปรากฏว่าได้ยอดออกมาเป็นสุขมากกว่าเป็นทุกข์
และท่านบัญญัติศัพท์เรียกการกระทำที่ให้ผลแบบนี้ ว่า กระทำที่ “มีประโยชน์”
เพราะฉะนั้น
1.
โปรดเข้าใจว่า
ท่านจึงไม่ได้หมายถึง ประโยชน์ใช้สอย
แบบที่เราเข้าใจกันในภาษาชาวบ้าน เพราะ
ถ้าการกระทำใดก็ดี ที่ก่อประโยชน์ใช้สอยแบบบ้าน ๆ มากมาย แต่หักกลบลบผลกันแล้ว
มีผลลัพธ์ทำให้คนทุกข์แสนสาหัส
การกระทำนั้น อาจารย์เบนแธมท่านเห็นว่า “ไม่มีประโยชน์”
และผิดศิลธรรม
2.
อนึ่ง
การนำคำเดิม ๆ มาใช้ เช่น คำว่า “มีประโยชน์” เป็นต้น แต่กลับมอบความหมายใหม่ให้กับมัน เป็นกิจวัตรปกติอย่างหนึ่งของนักคิดนักปรัชญา
ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจว่า ท่านเป็นกันอย่างนั้นเอง
การกระทำที่ “มีประโยชน์”
อาจารย์เบนแธม ท่านถือว่า เป็นการกระทำ“ที่ถูกที่ควร” อันพึงทำ
หรือเป็นการกระทำที่ “เป็นธรรม”
หรือเป็นการกระทำที่ “มีคุณค่าทางศิลธรรม”
ศิลธรรมง่าย ๆ
ของอาจารย์เบนแธมนั้น
ต่อมาก็มีผู้สรุปให้จำได้ง่ายขึ้นอีก ว่า หมายถึงการกระทำที่จะยังผลให้เกิด
“ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด” บางท่านเรียกย่อ ๆ ว่า GHGN = Greatest Happiness, for Greater
Number of people เช่น การที่เราหมุนพวงมาลัยรถสิบล้อ
ให้ชนคนตายคนเดียว เพื่อให้คนอีกห้าคนรอดตาย เป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม ผู้เป็นเอตทัคคะของแง่คิดฝ่ายค้าน
ที่คิดว่า “ศิลธรรม พิจารณากันที่ตัวการกระทำนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่จะตามมา” อันเป็นแนวคิดเชิงศิลธรรมที่แย้งกับศิลธรรม GHGN ได้แก่ อาจารย์เอ็มมานูเอล คานต์
นักคิดผู้มีชื่อเสียง และทรงอิทธิพลทางความคิด ชาวเยอรมัน ศ.แซนเดล กล่าวว่า
ท่านจะยกหลักศิลธรรมทั้งสองแนว
มาเทียบเคียงกันในการบรรยายลำดับต่อ ๆ ไป
ศ.แซนเดล
ยกตัวอย่างคดีอื้อฉาวในอังกฤษ ปลายศตวรรษที่สิบเก้า เรื่องลูกเรือเดนตายสามคน ที่เรือล่มกลางทะเลหลวง แล้วรอดตายด้วยการฆ่าเด็กรับใช้ในเรือ
กินเลือดประทังชีพ โดยที่--หลังจากลอยทะเลอยู่ในเรือบตชูชีพได้สิบเก้าวัน
กัปตันก็ตัดสินใจ ฆ่าลูกเรือคนที่เป็นเด็กรับใช้ประจำเรือ เพื่อให้คนอื่นอีกสามคนรอดตาย
ด้วยการบริโภคเลือดและเนื้อของคนตาย
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง
เคยเป็นคดีดังในศาลอังกฤษ ปัจจุบันก็ยังเป็นคดีตัวอย่าง ที่ศึกษากันทั่วโลก การอ้างเหตุผลแนวศิลธรรมประโยชน์นิยม
ถูกยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ในคดี ว่าฆาตกรได้กระทำไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ศ.แซนเดล
ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นข้ออภิปรายในห้องเรียน เพื่อพิจารณาศิลธรรมแบบประโยชน์นิยม
ที่มีหลักว่า การกระทำที่ถูกที่ควรอันพึงทำ คือ การกระทำที่จะก่อให้เกิด “ผลดี-อย่างใหญ่สุด แก่คน-จำนวนมากสุด”
ซึ่งในกรณีนี้ ผลดีอย่างใหญ่สุด
คือ การรอดชีวิตของคนเรือ จำนวนมากสุด อันได้แก่ ลูกเรือเดนตายสามคน และการกระทำที่ถูกที่ควรอันพึงทำ ก็คือ
ฆ่าเด็กรับใช้ประจำเรือกินเป็นอาหาร
ศ.แซนเดล
ขอให้นักศึกษาช่วยกันพิจารณาคดีนี้ ว่า ลูกเรือสามคนนั้น ผิด หรือ ไม่ผิด
หลังจากผู้เขียนชมวีดีโอการบรรยาย
จับใจความได้ว่า นักศึกษาส่วนใหญ่อภิปรายคัดค้าน
การอ้างเหตุผลในครรลองศิลธรรมประโยชน์นิยมในคดีนี้ แนวความคิดคัดค้าน ประมวลได้สามแนว คือ
- มนุษย์เรา มีสิทธิบางอย่างบางประการ ที่เป็น สิทธิขั้นพื้นฐาน
ของความเป็นคน ใช่หรือไม่? (เช่น
คนเรามี “ขวัญ”
ใช่ไหม?
เพราะขวัญเป็นพื้นฐานของความเป็นคน
ถ้าขวัญบิน หรือขวัญหนี ความเป็นคนของเราก็น้อยลง เราจะใกล้เดรัจฉาน
หรือซ็อมบีผีดิบ มากขึ้น) ต้วอย่าง-เด็กรับใช้ประจำเรือ มีสิทธิในชีวิต
ที่ผู้อื่นจะมาบั่นชีพเขาไม่ได้ นี่เป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานของเขา
- การกระทำการใด ๆ ก็ดี ที่มี ขั้นตอนเป็นธรรม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร
ก็อาจถือได้ว่าการกระทำนั้น มีศิลธรรม ใช่ไหม? ตัวอย่างเช่น— สมมติว่า ให้คนเรือจับฉลากกัน
เพื่อถูกฆ่า
ถ้าการจับฉลากถือว่าเป็นขั้นตอน ที่เป็นธรรมแล้วละก้อ
การที่เราซวยจับโดนเบอร์ที่จะถูกเขาฆ่า แปลว่า การที่เราโดนฆ่า
เป็นการยุติธรรมแล้วใช่ไหม?
เพราะขั้นตอน – การจับฉลาก – เป็นขั้นตอนที่ยุติธรรม
- ความยินยอม มีบทบาทอะไร
ในกระบวนการยุติธรรม?
ทำไมการกระทำบางอย่าง
คนเห็นว่า ผิดศิลธรรมอยู่ในตัวของมันเอง(หรือ โดยตัวของมันเอง) แต่ครั้นคู่กรณีให้ความยินยอม การกระทำนั้นก็พลิกตัว กลับกลายเป็นถูกศิลธรรม ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กรับใช้ประจำเรือ
ยินยอมให้ฆ่าโดยสมัครใจ การฆ่าคนในกรณีนี้ จะกลายเป็น “ถูกศิลธรรม” หรือไม่?
ศ.แซนเดล บอกนักศึกษาว่า
เพื่อจะตอบข้อสงสัยเหล่านี้
เราจะต้องอ่านงานของนักปรัชญาประโยชน์นิยมคนสำคัญสองคน คือ เจอเรมี แบนแธม
กับ จอห์น สจวต มิลล์
ซึ่งท่านจะได้เสนอในการบรรยายครั้งต่อ ๆ ไป
จบสรุปภาษาไทย ตอน:Episode 01/12 “ฆาตกรรม พิจารณาแง่ศิลธรรม กับ คนกินคน คดีดังในอังกฤษ"
------------------------------------------------------------------------------
บทความตอนนี้-ตีพิมพ์แล้ว ในนิตยสาร MBA ฉบับ July-Aug 2014--
บทความตอนนี้-ตีพิมพ์แล้ว ในนิตยสาร MBA ฉบับ July-Aug 2014--
- ชมต้นฉบับวิดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและในโลก สำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น