ชีวิตชนบทนั้น
บางท่านอาจมองว่ามีแต่ดีกับดี ที่จริงชีวิตชนบทก็เหมือนชีวิตสไตล์อื่น ๆ คือ
มีทั้งดีและเสีย
วันนี้เรามาลองดูประเด็นที่ไม่เป็นบวกของชีวิตชนบทกันบ้าง
จากมุมมองของผมเอง ที่เลือกใช้ชีวิตแบบนี้มากว่าสิบปีมาแล้ว และก็ต้องปรับตัวเข้ากับข้อเสียของชีวิตชนบท
#1. เรื่องของความผันผวนของอุณหภูมิ
สมัยที่ใช้ชีวิตอยู่เป็นคนในเมือง
ไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องความผันผวนของอุณหภูมิในชีวิตประจำวันมากนัก
อาจจะมีร้อนมีหนาวมีฝน แต่ก็ยังค่เพอนข้างเสถียรไม่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวนอย่างในชนบท
ซึ่งสามารถมีทั้งสามฤดูได้ในวันเดียวกัน ทั้งหน้าหนาว หน้าฝน และหน้าร้อน
ร่างกายเราจะต้องปรับตัวเรื่องนี้
อันที่จริงมนุษย์เราแต่ดึกดำบรรพ์ก็อยู่กับความแปรปรวนของอากาศ แต่ว่าระยะหลัง ๆ
ไม่นานมานี้ เราได้พยายามควบคุมอุณหภูมิ โดยใช้เครื่องทำความร้อนในเขตหนาว
และใช้เครื่องทำความเย็นในเขตร้อน
การปรับตัวของร่างกายที่อาจรวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน(immune system) น่าจะขึ้นสนิม
ไม่ได้ทำงานเท่าที่ควร
ช่วงกลางคืนผมจะใส่เสื่อผ้าเพิ่มขึ้น
เผื่อว่านอนหลับแล้วไม่ต้องตื่นขึ้นมาพบกับความเยือกเย็นตอนหัวรุ่ง เพราะว่าการสวมเสื้อผ้าน้อย
แล้วตื่นช่วงหัวรุ่งเพราะความหนาวเย็นปลุกให้ต้องตื่นพร้อมกับฝันร้าย
ไม่น่าจะดีต่อสุขภาพ - อาจจะไข้ได้
ครั้นตื่นขึ้นมาสวมเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น มันก็ไม่ช่วยได้ทันที
ต้องทรมานกายอีกพักหนึ่งจึงจะอุ่น
#2. ความวิเวก
ความวิเวกนี้
บางทีและสำหรับบางคนกลายเป็นความเงียบเหงา เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย เดียวแด
หันไปแลไม่เห็นใคร คำพูดติดปากที่มาช่วยแก้ไขสถานการณ์ก็คือ alone is not lonely คนสมัยนี้พยายามแยกออกระหว่างการอยู่ลำพังคนเดียว(alone)
กับความรู้สึกเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว(lonely)
บางคนก็ปลอบใจตัวเองว่า อยู่กันมากคนก็มีสิทธิรู้สึก lonely ได้
- อะไรประมาณนั้น อย่างไรก็ดี
ความวิเวกก็เป็นสิ่งน่าปรารถนาสำหรับคนบางคน เช่น ผมเอง เป็นต้น
โซเชียล
เนตเวอร์คกิ้ง หรือเครือข่ายสังคมสัมพันธ์
ช่วยบรรเทาความรู้สึกเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวได้อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ผมเคยฟัง นายมาร์ค ซัคเคอเบิร์ก
เจ้าของเฟสบุคพูดเองว่า คนเราจะต้องมีเพื่อนที่เป็นมนุษย์จริง ๆ อยู่ในชีวิต
ไม่ใช่มีเพื่อนเฉพาะในเครือข่ายสังคมสัมพันธ์แล้วจะเพียงพอ
ผมมีเพื่อนสมัยเด็ก ๆ ที่ไปผจญชีวิตกันที่อื่น
แล้วต่างก็กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดในภายหลัง เพื่อนพวกนี้มีอยู่สี่ห้าคน
ที่คบกันสนิทสนมจริง ๆ มีสองสามคน เพื่อนมนุษย์ตัวจริงจับต้องได้พวกนี้ ต่างล้วนใช้ชีวิตที่อื่นกันอย่างโชคโชนมาแล้ว
มองหน้ารู้ใจ ไม่ต้องพูดมาก คำสองคำพอ และพูดจริงตรงจากใจทุกคน ไม่มีใครโกรธใครกันแล้ว
ยอมรับความเป็นตัวตนของกันและกันทุกคน ใช้สรรพนาม มึง-กู-สู-เรา หมดทุกคน
คำสรรพนาม
มึง-กู ไม่ใช่คำหยาบในภาษาใต้ที่บ้านผม เป็นคำสามัญที่ใช้ทั่วไป แม่ผมก็พูด
มึงกู กับผม สู-เรา เป็นคำไทยโบราณที่ยังหลงเหลือใช้ในภาษาถิ่นที่บ้าน
สู - สรรพนามบุรุษที่สองใช้แทน มึง ในบางครั้ง บางอารมณ์
หมายความในเชิงรักใคร่เอ็นดู สนิทสนม
เพื่อนพวกนี้คือความสุขที่จับต้องได้
ซึ่งถ้าผมไม่กลับมาใช้ชีวิตชนบท ก็จะไม่ได้คบเพื่อนที่น่ารักเหล่านี้ คนหนึ่งเขาเปิดร้านอาหารชนิดมีดนตรีอยู่ในเมือง
ผันชีวิตตนเองมาเป็นนักร้อง ผมได้คุยเรื่องเพลงกับเขาประจำ – นอกจากคุยเรื่องชีวิตกลางคืนของคนสมัยนี้ อีกคนหนึ่งเขามีบ้านสวน
เราก็ได้คุยกันเรื่องการดูแลบ้านและสวนของเรา เช่นวิธีปราบปลวก เป็นต้น
อีกประการหนึ่ง
สังเกตดูซี คนที่เขาเป็นมิตรกับความวิเวกได้นั้น ล้วนน่าคบเป็นเพื่อน – they are friendworthy.
#3 ขอพูดเชิงบวกสักหนึ่งข้อ เป็นการจบเรื่อง
การมีชีวิตชนบทที่มีอินเตอร์เนต และมีกะจิตกะใจ กับมีเวลา ทำให้ได้ฟังฝรั่งอเมริกันคนหนึ่ง
พูดในเครือข่ายสังคมสัมพันธ์ของพวกเขา(และพวกเรา) ว่า
“older people might be old but they
are old because they are smart, strong, you don't get to be old by being
stupid.”
“คนสูงวัยนั้นอาจจะแก่
แต่พวกเขาอยู่จนแก่ได้ เพราะพวกเขาฉลาด เข้มแข็ง
คนเราจะมีชีวิตแก่เฒ่าด้วยความที่โง่ดักดานไม่ได้ดอก” อ้าวแล้วที่บอกว่า "แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นานล่ะ?"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น