open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ตอน 10 มาเคียเวลลี "เจ้าชาย" 1/2

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย



มาเคียเวลลี ”เจ้าชาย” 1/2
                               New Modes and Orders: Machiavelli's The Prince (chaps. 1-12)


มาเคียเวลลี คือ ใคร?
เราจะอ่านหนังสือเรื่อง “เจ้าชาย” (เดอะ ปรินซ์) ของเขา อย่างไรดี?

มาเคียเวลลี เป็นชาวนครฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นสาธารณรัฐอิสระทำนอง “นครรัฐ” กรีก  มาเคียเวลลีใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเมืองฟลอเรนซ์ อันเป็นศูนย์กลางการฟื้นฟูศิลปวิทยา ทีเรียกกันว่า ยุคเรอเนสซ้องต์ ที่ผู้รู้หันกลับไปศึกษาศิลปวิทยาการของโลกยุคโบราณ ยุคกรีกและโรมัน กันใหม่


มาเคียเวลลี ตั้งใจจะสร้างสรรค์งานเขียน เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ทิ้งไว้แก่วงการศึกษารัฐศาสตร์ เช่นเดียวกับที่คนร่วมสมัยเขา ที่มีชื่อเสียง เช่น ลีโอนาโด ดา วินชี และ ไมเคิล แองเจโล ได้สร้างงานศิลป์ไว้แก่วงการศิลปะ

มาเคียเวลลีต้องการฟื้นฟูจิตวิญญาณโบราณเกี่ยวกับการเมืองการปกครองขึ้นมาใหม่ โดยปรับปรุงแต่งเติมด้วยประสบการณ์ส่วนตัว ด้านการเมืองการปกครองที่ตนมีอยู่ เขาเขียนหนังสือ ชื่อ “เจ้าชาย” (เดอะ ปรินซ์) ขึ้นมา โดยมีส่วนผสมของจิตวิญญาณโบราณ ประกอบกับจิตวิญญาณร่วมสมัย(สมัยเขา) ถือกันว่า รัฐศาสตร์ของมาเคียเวลลี เป็นรัฐศาสตร์สมัยใหม่

มาเคียเวลลี เติบโตขึ้นมาในยุคที่ตระกูลเมดิชิ มีอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง ครอบงำเมืองฟลอเรนซ์ และเขาได้เห็นตระกูลนั้นถูกขับไล่ไปโดยนักบวชโดมินิกัน ซึ่งยึดอำนาจการปกครองแล้วกะจะปกครองนครฟลอเร็นซ์ด้วยระบอบการเมืองการปกครองระบอบเทวราช(theocracy) หรือ ระบอบการเมืองการปกครองที่ว่าตามศาสนา จะทำให้นครฟลอเรนซ์ กลายเป็นนครรัฐคริสเตียน เชิดชูคติธรรมของชาวคริสต์  แต่ไม่ช้าไม่นานชาวฟลอเรนซ์ก็ไม่เห็นด้วย การนั่งเมืองของนักบวชจึงสิ้นสุดลงในเวลาอันสั้น

นครฟลอเรนซ์กลับไปปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐอีกครั้งหนึ่ง  ครั้งนี้มาเคียเวลลีได้รับตำแหน่งเลขานุการ กรมการเมือง อันดับสอง ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งการทูต  มาเคียเวลลี อยู่ในตำแหน่งประมาณสี่ปี ระหว่างคศ.1498-1512 ครั้นสาธารณรัฐล่มลงอีก และตระกูลเมดิชิ กลับเข้ามามีอำนาจใหม่ ใช้ระบอบการเมืองการปกครองแบบราชาธิปไตย มาเคียเวลลี ถูกเนรเทศออกจากเมืองฟลอเรนซ์ ไปอยู่ในชนบทนอกเมือง  บ้านชนบทของเขาถูกอนุรักษ์ไว้จนบัดนี้

มาเคียเวลลี ใช้สถานที่แห่งนั้น สร้างสรรค์ ผลงานชิ้นสำคัญของเขา เช่น “เจ้าชาย” และ “ศิลปะการสงคราม” เป็นต้น

นอกจากนั้น มาเคียเวลลี ยังเขียนจดหมาย จากบ้านไร่นาเราของเขา ถึงเพื่อนมากมายหลายฉบับ แสดงความคิดเห็นด้านการเมืองการปกครอง เพราะเขาขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้รู้” ด้านนี้  ในจดหมายฉบับหนึ่ง เขาเล่าให้เพื่อนฟังว่า ทำไมเขาจึงได้เขียนหนังสือ “เจ้าชาย” ข้อความตอนหนึ่ง...ว่า

“เวลาย่ำค่ำ ฉันเดินกลับเข้าบ้าน แล้วตรงไปยังห้องหนังสือ ที่ประตูห้อง ฉันถอดเสื้อผ้าชุดทำงานในสวนที่เปื้อนดินโคลนออก แล้วสวมเครื่องแต่งกายที่ใช้ในราชสำนัก ประหนึ่งว่า ฉันกำลังเข้าไปในราชสำนักโบราณ ข้าราชสำนักโบราณทักทายฉันด้วยอัธยาศัยไมตรี  ฉันได้อยูในหมู่ชนที่เป็นพวกฉัน  ฉันเกิดมาในหมู่คนเหล่านั้น

ในที่นั้น ฉันจะไม่เคอะเขินที่ได้สนทนากับพวกเขา ได้สอบถามพวกเขาถึงหน้าที่การงานที่พวกเขาได้ทำลง พร้อมกับขอทราบเหตุผล ซึ่งพวกเขาก็มีเมตตาตอบคำถาม

ทุกค่ำคืน ประมาณคืนละสี่ชั่วโมง ฉันลืมทุกข์โศก ฉันไม่นึกเบื่อเลย ฉันไม่กลัวความยากจน ไม่เกรงกลัวมรณะ ฉันทุ่มเทจิตวิญญาณทั้งหมดอยู่กับพวกเขา

และฉันก็ได้เริ่มเขียนงานเรื่อง “แว่นแคว้น”(Principality) ซึ่งฉันได้ปล่อยความคิดคำนึง ให้ลุ่มลึกเท่าที่จะทำได้ ฉันอภิปรายว่า แว่นแคว้น คืออะไร มีชนิดใดบ้าง มีเงื่อนไขแห่งการคงอยู่อย่างไร บำรุงรักษากันไว้ได้อย่างไร และล่มสลายลงเพราะเหตุใด”

ตามข้อความที่คัดมา มาเคียเวลลี กำลังแจ้งผู้อ่านว่า เขาทุ่มเทและลุ่มลึกเพียงใด ในการสร้างสรรค์งานเขียน

อย่างไรก็ดี ศ.สมิธ กล่าวว่าในภายหลัง ผู้ที่ศึกษางานของ มาเคียเวลลี บางคน ที่ได้อ่าน “เจ้าชาย” เห็นว่าหนังสือเล่มนั้นหลอกลวง ตลบตะแลง และมาเคียเวลลีได้ชื่อว่า เป็นเอกในการหลอกลวง ตลบตะแลง

หนังสือ “เจ้าชาย” เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง นักศึกษาแทบทุกคนคงเคยได้ยินชื่อเสียงของหนังสือเล่มนี้ และบางคนอาจมีอคติหรือความเชื่อฝังหัวเชิงลบ มาก่อนที่จะได้อ่านจริง ๆ

ศ.สมิธ สรุปเบื้องต้นว่า ได้ลองค้นหน้าเว็บ แล้วก็ได้พบหนังสือเล่มใหม่เล่มหนึ่งเกี่ยวกับ มาเคียเวลลี ชื่อว่า “ชุดแต่งกายของ มาเคียเวลลี: แนะนำแฟชั่นชาย”

ตัวอย่างนี้ ยืนยันว่า ชื่อของ มาเคียเวลลี พบได้ทั่วไปในแทบจะทุกวงการ ตั้งแต่ในห้องประชุมผู้บริหารระดับสูง จนถึงวงการแฟชั่น ทุกคนพากันนึกว่า ตนเองอรู้ว่า หนังสือของมาเคียเวลลี พูดเรื่องอะไร

และชื่อของ มาเคียเวลลี ยังบ่งบอกถึง การหลอกลวง ความตลบตะแลง ทรยศ หักหลัง เล่ห์กระเท่ห์ และการแอบแทงข้างหลัง

ศ.สมิธ ขอให้นักศึกษาได้พิจารณาปกหนังสือ “เจ้าชาย” ที่มีภาพ มาเคียเวลลี ปรากฏอยู่ ให้ลองมองดูใบหน้าของเขาให้เต็มตา ดูรอยยิ้มอันเจ้าเล่ห์ของเขา  เขาทำท่าเหมือนจะบอกเราว่า “ฉันรู้บางสิ่งบางอย่าง ที่พวกคุณไม่รู้”

ความยากในการอ่านหนังสือ “เจ้าชาย” ก็คือ การที่พวกเราต่างก็นึกว่า ตนเองรู้เรื่องในหนังสือเล่มนั้นแล้ว ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด

มาเคียเวลลี เป็น “นักปฏิวัติ”  เขาเปรียบเทียบตัวเองกับโคลัมบัส เพราะเขาถือว่า ตนเองได้ค้นพบวิธีการใหม่ ระเบียบใหม่ กรรมวิธีใหม่ เทียบได้กับที่ โคลัมบัส ค้นพบแผ่นดินใหม่ สิ่งที่ โคลัมบัส ได้กระทำกับโลกภูมิศาสตร์ มาเคียเวลลีได้ทำกับโลกการเมืองการปกครอง – เขาพบวิธีใหม่ของการเมืองการปกครอง

โลกเก่าของ มาเคียเวลลี ในเวลานั้น ได้แก่ ระบอบจักรวรรดิที่เรียกชื่อว่า จักรวรรด์โรมันอันศักสิทธิ์ ซึ่งพยายามจะสืบทอดความคิดเรื่องความเป็นจักรวรรดิมาจากจักรวรรดิโรมันโบราณ (แต่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ หมายความว่าเป็นเรื่องของศาสนจักรไม่เกี่ยวกับศาสนา-ผู้สรุปภาษาไทย) ซึ่งทั้งสองจักรวรรดินี้ต่างก็มุ่งหวังความเป็นสากล สำหรับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นสากลก็คือ โลกสากลที่ปกครองโดยกษัตริย์คริสเตียน

มาเคียเวลลี ไม่เห็นด้วยกับจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธ์ อันเป็นระบอบการเมืองการปกครองร่วมสมัยของเขา เขาขอ “คิดต่าง” โดยเขียนไว้ใน “เจ้าชาย” ในบทที่ 15 ว่า

“ผมขอคิดต่างจากระบอบของผู้อื่น เนื่องจากผมต้องการเขียนอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน  ผมขอมุ่งตรงไปยังข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ตา มากกว่าที่จะพูดถึงจินตนาการ”

ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐและราชอาณาจักร ทีอยู่ในจินตนาการมีมากมาย  ต่างก็ล้วนแล้วแต่ไม่เคยมีจริงอยู่ในโลก ความคิดที่ว่า เราควรอยู่อย่างไร กับเราอยู่จริงกันมาอย่างไร ต่างกันมาก

ผู้ใดผละจากสิ่งที่กำลังทำอยู่จริง หันไปหาสิ่งที่ควรทำ(ในจินตนาการ) ผู้นั้นจะประสบความวิบัติทางการเมืองการปกครอง

หัวใจของบทเรียน หรือคำสอน ทางการเมืองการปกครองของ เมเคียเวลลี ได้แก่ การเมืองการปกครองที่เป็นจริง ไม่ใช่ การเมืองการปกครองที่ควรจะเป็น น่าจะเป็น พึงเป็น หรือการเมืองการปกครองในฝัน

ประเด็นสำคัญของความจริงทางการเมืองการปกครอง ที่เพลโตและอาริสโตเติล ละเลย เพิกเฉย มองข้าม ไม่เห็นความสำคัญ ได้แก่ การฆาตกรรมทางการเมืองการปกครอง การทำกลฉ้อฉลทางการเมืองการปกครอง การปฏิวัติ รัฐประหาร ฯลฯ

มาเคียเวลลี สนใจความชั่วร้ายของมนุษย์มากกว่าความดีงามที่มนุษย์เพ้อหา  และดูเหมือนว่า มาเคียเวลลี จะสนุกสนานกับผลที่เกิดขึ้นจริงในการเมืองการปกครอง จากการกระทำของคนเรา มากกว่า คำพูดคำจาอันสูงส่งของมนุษย์ ซึ่ง ณ จุดนี้ มาเคียเวลลี กำลังประกาศความแตกต่างทางความคิด จากนักคิดทั้งหลายก่อนหน้าเขาทั้งหมด

มาเคียเวลลี สร้างองค์กรทางการเมืองการปกครอง โดยศึกษาจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์(ในยุคร่วมสมัยของเขาเอง) กับศึกษาจากอาณาจักรโรมันโบราณ(อาณาจักร ไม่ใช่ ศาสนจักร) แล้วเขาก็เสนอระบอบการเมืองการปกครองที่เรียกว่า “รัฐสมัยใหม่”(the Modern State)

มาเคียเวลลี เป็นผู้ค้นพบและก่อตั้งความคิดเรื่อง รัฐสมัยใหม่ อันรัฐทางอาณาจักร ไม่อิงศาสนา และมีบูรณภาพ เป็นอิสระ ปกครองตนเอง

แนวคิดนี้ได้รับการปรับปรุง ปรุงแต่ง ขัดเกลา จากนักปรัชญาการเมืองคนต่าง ๆ ในศตวรรษต่อ ๆ มา เช่น งานของ ฮ็อป ล็อค รุสโซ ไม่นับนักเขียนรุ่นร่วมสมัยทั้งซ้ายและขวา เช่น แม็ก เว็บเบอร์ ชมิดท์ ฯลฯ

รัฐ แบบของ มาเคียเวลลี มีอุดมการณ์สากล เช่นเดียวกับรัฐคริสเตียน(จักรวรรด์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์) และจักรวรรดิโรมัน(เฉย ๆ)  แต่ มาเคียเวลลี บอกว่า รัฐสมัยใหม่ตามความคิดเขา เป็นรัฐที่เป็นอิสระจาก คุณงามความดีแบบคริสเตียน(Christian virtue) ตลอดจนเป็นอิสระจาก คุณงามความดีแบบคลาสสิค Classical virtue หรือ คุณงามความดีแบบโรมัน(โบราณ)

ผู้นำรัฐสมัยใหม่ มาเคียเวลลี เรียกว่า “เจ้าชาย” ซึ่งเขาใช้คำนี้หมายถึงผู้นำทางการเมืองการปกครองพันธุ์ใหม่ มีความทะเยอทะยานอย่างใหม่ รักเกียรติศักดิ์(เกียรติศักดิ์รักของข้าฯ มอบไว้แก่ตัว – ผู้สรุปภาษาไทย) มีคุณสมบัติคล้ายศาสดาพยากรณ์(prophet)ในศาสนา (หมายถึง ศาสนาที่มีพระเจ้าเป็นใหญ่องค์เดียว และพระเจ้ามีโองการ พูดผ่าน ศาสดาพยากรณ์ – prophet) ที่สำคัญคือ มีบุญญาบารมี ที่เรียกว่า charisma

(ประเด็นนี้ ทำให้ผู้สรุปภาษาไทย นึกถึงงานของท่านผู้มีชื่อเสียง ที่รู้จักกันทั่วไปว่า “หม่อมป้า”  กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว หม่อมป้า เขียนวิวาทกับพวกอเมริกัน ที่วุ่นวายอยู่ในเมืองไทยเวลานั้น  ใจความเล็ก ๆ ความหนึ่ง หม่อมป้า ท่านเห็นว่า อเมริกันพวกนั้น มันไม่รู้จักคำว่า บารมี – charisma  ซึ่งผู้สรุปฯเองก็ได้รู้จักคำ ๆ นั้น จากข้อเขียนของท่าน และนึกขอบพระคุณ บัดนี้เมื่อพิจารณาตามบริบท ก็ทราบโดยนัยว่า ท่านกำลังพูดถึง มาเคียเวลลี แหง ๆ เลย)

รัฐสมัยใหม่ ปกครองโดยเจ้าชายพันธ์ใหม่ ซึ่งไม่ได้มีอำนาจขึ้นมาจากการรับมรดก หรือสืบสายเลือด แต่เป็นคนมีความกล้าที่จะสร้างบุญญาบารมีของตนขึ้นมาได้เอง ไม่ใช่นั่งกินบุญเก่าอย่างเดียว พิจารณาแบบอเมริกัน ศ.สมิธ กล่าวว่า เจ้าชายพันธุ์ใหม่ของ มาเคียเวลลี จะคล้าย ๆ กับเศรษฐีชนิด self-made man

หนังสือ “เจ้าชาย” บทที่ 6 มาเคียเวลลี พรรณนาให้ผู้อ่านรู้ว่า เจ้าชายพันธุ์ใหม่ของเขา มีคุณสมบัติอย่างไร โดยยกตัวอย่างผู้นำคนดัง ๆ ในอดีต เช่น โมเสส ไซรัส โรมูลุส ฯลฯ ผู้นำเหล่านั้น “สมบัติ”ของพวกเขา คือ “โอกาส” มิใช่อะไรอื่น  พวกเขา “มีโอกาส” ที่จะได้วางรูปแบบและเนื้อหาการเมืองการปกครอง (นี่ มาเคียเวลลี ยืมศัพท์ ของ อาริสโตเติล มาใช้)

กลับไปหาคำที่ มาเคียเวลลี ใช้เรียกเจ้าชายพันธุ์ใหม่ ว่า “ศาสดาพยากรณ์ติดอาวุธ” (armed prophet) ทำไมใช้คำว่า ศาสดาพยากรณ์(prophet)?  ตามปกติในความเข้าใจของคนยุคนั้นและแม้ยุคนี้ ศาสดาพยากรณ์ คือ คนที่พระเจ้าผู้เป็นใหญ่พูดด้วย พระเจ้าเผยธรรมให้เห็น เป็นผู้รับการเผยธรรม หรือ Revelation จากองค์พระผู้เป็นเจ้า (ภาษาไทย เรียก “วิวรณ์” -ผู้สรุปภาษาไทย)

มาเคียเวลลี บอกว่า ศาสดาพยากรณ์ติดอาวุธ(armed prophet)จะรุ่งเรือง  ส่วนศาสดาพยากรณ์มือเปล่า จะวิบัติ

แต่ศาสดาพยากรณ์ของ มาเคียเวลลี ไม่เกี่ยวกับพระเจ้า ไม่ใช่มนุษย์ผู้รับ “วิวรณ์” จากองค์พระผู้เป็นเจ้า  และพระเจ้าก็ไม่ได้ “ดลใจ” เขา  เขาเพียงแต่เป็นคนที่มีคุณสมบัติพิเศษ และมีโอกาสเปิดที่ทำให้เขาสร้างบ้านสร้างเมืองแบบใหม่ได้  เขามีคุณสมบัติเป็นครู มากกว่าที่จะเป็นอันธพาลการเมือง เขาเป็นผู้กระทำการสถาบันสถาปนา...

นักศึกษาอาจสงสัยว่า ศาสดาพยากรณ์ติดอาวุธ ของ มาเคียเวลลี ต่างจากพระราชา-นักปรัชญา ของ เพลโต และผู้นำชนิดจิตใจสูง ของ อาริสโตเติล อย่างไร?

พระเยซู  ไม่ปรากฏพระนาม ในบัญชีรายชื่อผู้นำที่พึงเอาเยี่ยงอย่างของ มาเคียเวลลี พระเยซูไม่มีอาวุธ ปราศจากกองทัพ แต่เอาชนะได้ด้วยคำสอนอย่างเดียว  กระทั่งในที่สุด ลัทธิเล็ก ๆ ของพระองค์ ก็ได้กลายเป็น “จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์” ในหลายร้อยปีต่อมา
มาเคียเวลลี เองก็เป็นตัวอย่างของศาสดาไม่ติดอาวุธ ผู้พยายามเอาชนะด้วยคำสอน ให้คนรู้ว่า คุณงามความดี กับ ความชั่วความเลว คือ อย่างไร? ความยุติธรรม กับความอยุติธรรม คืออย่างไร? ศาสดาพยากรณ์ ของ มาเคียเวลลี จึงต้องเป็นนักปราชญ์(หรือ นักปรัชญา) กับเป็นนักปฏิรูปศาสนา(หรือ ปฏิรูปศิลธรรม) ไปด้วยในตัว

ศิลธรรม ของ มาเคียเวลลี คือ อะไร?

หนังสือบทที่ 15 มาเคียเวลลี สอน “เจ้าชาย” ว่า เราจะ “ไม่ดี” ได้อย่างไร? ซึ่งทำให้นักเขียนรุ่นหลังผู้หนึ่ง เรียก มาเคียเวลลี ว่าเป็น “ครูสอนความชั่วร้าย”(the teacher of evil)

แต่ ศ.สมิธ สรุปว่า เขาสอนชั้นเชิงทางการเมืองการปกครอง ให้รู้จักปรับปรุงวิธีการ เพื่อสนองวัตถุประสงค์บั้นปลาย – how to adjust means to the ends” และมาเคียเวลลี เสนอมากกว่านั้น เขาเสนอ “ความไร้ศิลธรรม”(immoralism) ให้กับวงการ การเมืองการปกครอง

แต่ น่าแปลก ที่ มาเคียเวลลี พร่ำพูดคำว่า “คุณธรรมความดี”(virtue) อยู่บ่อย ๆ ในหนังสือของเขา เพียงแต่ว่า เขานิยามศิลธรรมเสียใหม่ โดยพิจารณาเหตุการณ์สุดขั้ว(extreme)ทางการเมืองการปกครอง เช่น สงคราม การปฏิวัติ รัฐประหาร ความวุ่นวาย แล้วถือว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเรื่องปกติของการเมืองการปกครอง และที่สำคัญคือ เขาพยายามหาข้อศิลธรรมให้กับสถานการณ์เหล่านั้น

เขาบอกเราว่า เราต้องเรียนรู้ที่จะ ไม่ดี (how not to be good) เพราะว่า ความอยู่รอดของบ้านเมือง ได้กลายเป็นเดิมพันอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้น และธรรมชาติ ธาตุแท้ของคน ก็เผยตัวเองออกมา เขาบอกว่า เราจะรู้จักมนุษย์จริง ๆ ได้ก็ในสถานการณ์สุดขั้วเท่านั้น

ศ.สมิธ ยกตัวอย่างบุคคลสำคัญ ผู้นำในวงการ การเมืองการปกครอง ในสถานการณ์สุดขั้ว ว่า

                   ดยุค ออฟ มาลโบโร จะเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่มี พระเจ้าหลุยส์ที่ 14
                   จอร์จ วอชิงตัน จะเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่มี พระเจ้าจอร์จที่3
                   ลิงคอล์น จะเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่มี เรื่องทาส
                   เชอชิลล์ จะเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่มี ฮิตเลอร์

สิ่ง “ดี” ทั้งหลายในวงการ การเมืองการปกครอง ล้วนแล้วแต่เกิดจากสิ่ง “ชั่วร้าย” ทั้งสิ้น ในวงการการเมืองการปกครอง ความชั่วคือพื้นฐานของความดี แม้แต่ความดียิ่งใหญ่ เช่น การสร้างบ้านสร้างเมือง ยังต้องมีการฆาตกรรม เช่น กรณีโรมูลุส หรือ เคน  การฆาตกรรมเป็นพื้นฐานของการสถาปนาระบอบการเมืองการปกครอง และสร้างอารยธรรม

สำหรับ มาเคียเวลลี การสร้างระบอบการเมืองการปกครอง ต้องอาศัยความเลือดเย็น ใจดำอำมหิต โหดร้าย เหล่านี้เป็นปกติของการเมืองการปกครอง

ศิลธรรม ของ มาเคียเวลลี เกิดขึ้นในบริบทของ ความวุ่นวาย ความรุนแรง ความวิกฤต การไร้กฏไร้ระเบียบ ที่คุกคามโลกการเมืองการปกครอง และในเวลาเช่นนั้น ศาสดาพยากรณ์ของมาเคียเวลลี จะเกิดขึ้นมา เพื่อทรงคุณงามความดีแบบของเขา เจ้าชายของมาเคียเวลลีเห็นว่าจากความวิกฤตผิดปกติ ความรุนแรง ความวุ่นวาย เท่านั้นที่บ้านเมืองจะเจริญได้ ส่วนความสงบ สันติสุข ปกติสุข จะนำมาซึ่งความงี่เง่า

ดังนั้น คนดีในสายตาของคริสเตียน ผู้เชิดชูคุณธรรมคริสเตียน เช่น Faith, Hope, Charity จึงเป็นคนละคนกันกับคนดีของมาเคียเวลลี (ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่สำนักวาติกัน ถือว่าหนังสือ เจ้าชาย ของมาเคียเวลลี เป็นหนังสือต้องห้าม มาเป็นเวลาประมาณ 200 ปีเศษ –ข้อมูลจากแหล่งอื่น นอกคำบรรยาย – ผู้สรุปภาษาไทย)

คนดีในสายตาของมาเคียเวลลี คือ ผู้แสดงอำนาจ กล้า ใจดำอำมหิต ใช้ความรุนแรง โหดร้ายทารุณ ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการเมืองการปกครองของตน


-------------------------------------------------------------------------

ต้นฉบับวีดีโอ ตอนมาเคียเวลลี “เจ้าชาย” New Modes and Orders: Machiavelli's The Prince (chaps. 1-12)



สนใจ คำบรรยาย ตอนอื่น ๆ ทั้งหมด เชิญตามลิงก์
https://pricha123.blogspot.com/p/blog-page_21.html









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น