open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ตอน 14 เลอไวอาธาน ของ โธมัส ฮ็อปส์ ตอน 3/3

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย

เลอไวเอธาน ของ โธมัส ฮ็อปป์
ตอน 3/3

ศ.สมิธ สรุปย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า โธมัส ฮอปส์ เป็นต้นคิดทฤษฎีการเมืองการปกครองที่สำคัยสองความคิด คือ

1)    ทฤษฎีสภาพธรรมชาติ (the state of nature)
2)    ทฤษฎีรัฏฐาธิปัตย์ (the sovereignty)

ในคราวก่อน ได้พูดเรื่องสภาพธรรมชาติมาแล้ว ว่าเป็นอย่างไร และมีส่วนผลักดันให้คนแสวงหานาครธรรม สำหรับครั้งนี้ จะได้กล่าวถึงเรื่อง รัฏฐาธิปัตย์ (หรือ อำนาจอธิปไตย)



(หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย – คำว่า ทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษาปรัชญาการเมือง ไม่ว่าจะเป็นของอาจารย์โบราณท่านใด  “ทฤษฎี” มีความหมายว่า เป็นแนวความคิดหรือเป็นสมมติฐาน  ทฤษฎี ในทางปรัชญาการเมืองไม่ได้หมายความว่า เป็นสัจธรรม หรือ ความจริงแท้ นะจ้ะ)

โดยที่ สภาพธรรมชาติเป็นสภาพที่ชีวิตไม่มั่นคง ไม่แน่นอน แต่ละคนมีสิทธิจะทำร้ายกัน แก้แค้นกัน (ผู้สรุปภาษาไทย - สภาพธรรมชาติเมื่อมองในเชิงปรัชญาการเมืองการปกครอง จึงมีสภาพคล้าย ๆ “พาราสาวัตถี” ในกาพย์พระไชยสุริยา ของ สุนทรภู่)

สรุปภาษาไทย - การพิจารณาสภาพธรรมชาติ ในแง่ การเมืองการปกครอง ของ โธมัส ฮ็อปส์ จึงไม่ใช่การมองในแง่วิชาธรรมชาติวิทยา หรือนิเวศวิทยา หรือมองแบบโรแมนติคว่า ในธรรมชาติมีแต่ความเอื้อเฟื้อต่อกัน ส่วนในเมืองมีแต่จะกัดกัน หรือเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด

สิ่งที่ โธมัส ฮอปส์ เสนอเป็นคำตอบต่อสภาพธรรมชาติในแง่ของการเมืองการปกครอง คือเรื่อง รัฏฐาธิปัตย์(sovereignty) ซึ่ง ฮ็อปส์ เปรียบให้ฟังว่า คล้ายกับเทพที่มีชีวิต(a mortal god)

และ รัฏฐาธิปัตย์ ที่ว่านั้น จะต้องมีลักษณะเด็ดขาด จึงจะสามารถระงับสภาพอัน “โหดร้าย” ของธรรมชาติได้

ศ.สมิธ กล่าวต่อไปถึงลักษณะบางประการที่เราพึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับ รัฏฐาธิปัตย์ ของ โธมัส ฮ็อปส์

รัฎฐาธิปัตย์ สำหรับ ฮ็อปส์ ไม่เชิงว่าจะหมายถึงตัวบุคคล(a person)  แต่เขาพิจารณาในเชิงเป็น “สำนักงาน”(an office)  รัฏฐาธิปัตย์ จึงไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถึงแม้ผู้สรุปภาษาไทยจะเคารพนับถือท่านสักเพียงใด แต่ sorry เสียใจ  รัฏฐาธิปัตย์ ไม่ใช่ท่าน

เพราะว่า รัฏฐาธิปัตย์ จะหมายถึง สำนักนายกรัฐมนตรีและอำนาจหน้าที่(authority)ที่รองรับสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ ต่างหาก  สำหรับท่านที่นิยมการปกครองระบอบสาธารณรัฐ แบบสหรัฐฯ หรือฝรั่งเศส  รัฏฐาธิปัตย์ ก็ไม่ใช่ นายโดแนล ทรัมพ์ หรือ นายฟร็องซัวส์ อ็อลล็ง  แต่จะหมายถึง ทำเนียบขาว หรือทำเนียบเอลิเซ่ ต่างหาก

อำนาจ(หรืออำนาจหน้าที่)ของรัฏฐาธิปัตย์ อาจเป็นอำนาจของคน ๆ เดียว หรือคนสองสามคน หรือคนจำนวนมาก ก็ได้ แต่อำนาจนั้นจะต้องเด็ดขาดและแบ่งแยกมิได้(indivisible) ทรงอำนาจที่จะควบคุมกำกับกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สิน สิทธิที่จะประกาศสงครามหรือยอมรับสันติภาพ – อีกนัยหนึ่ง อำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการต่างประเทศ  ตลอดจนมีอำนาจประสิทธิประสาทความยุติธรรม(rule of justice) ซึ่งหมายความเฉพาะถึงกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับชีวิตคน มีอำนาจทีจะควบคุมกำกับว่า หนังสือเล่มใด ความคิดชนิดไหน พึงได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ได้ – คือ อำนาจที่จะเซ็นเซ่อร์

ศ.สมิธ กล่าวว่า ถ้าจะพูดสั้น ๆ แนวคิดเรื่อง รัฏฐาธิปัตย์ ของ ฮ็อปส์ ก็คือ แหล่งกำเนิดกฎหมายทั้งปวง(the source of laws) หรือ the law is what the sovereign commands – กฎหมาย คือ สิ่งที่ รัฏฐาธิปัตย์ สั่งมา  และจะไม่มีการอุทธรณ์ที่สูงไปกว่านั้น  นี่หมายความว่าจะอุทธรณ์ไปยังองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็ไม่ได้

ในเมื่อ รัฏฐาธิปัตย์ เป็นแหล่งกำเนิดกฎหมาย ย่อมหมายต่อไปว่าเป็นแหล่งกำเนิดความยุติธรรม  ดังนั้น รัฏฐาธิปัตย์ จะไม่ยุติธรรมไม่ได้  อันนี้เป็นเหตุผลอยู่ในตัว ฮ็อปส์ ยกตัวอย่างจากคัมภีร์ไบเบิล เรื่องพระเจ้าเดวิด ผู้เป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอล และปรารถนาพระนางชีบา  พระเจ้าเดวิดได้ฆ่าสวามีของนาง เพื่อตนเองจะได้ชีบามาครอง  ฮ็อปส์ให้เหตุผลว่า เดวิดกระทำการอันบาปต่อพระเจ้า (sin against God)  แต่ เดวิด ไม่ได้กระทำการอัน “ไม่ยุติธรรม” ต่อสวามีของพระนางชีบา

ศ.สมิธ ติงตรงนี้ว่า ถ้าได้ถามสวามีของชีบา เขาอาจ “เห็นต่าง” ในประเด็นนี้  แต่ เดวิด มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำเช่นนั้นได้ เพราะตนเองคือองค์รัฏฐาธิปัตย์ผู้ออกกฎหมาย ผู้ประสาทความยุติธรรม

ประเด็นนี้ โต้แย้งและโต้เถียงกันมาก ฮ็อปส์เสนอแนวคิดเสริม เรื่องความแตกต่างระหว่างกฎหมายที่ยุติธรรม(a just law) กับ กฎหมายที่ดี(a good law) โดย ฮ็อปส์ บอกว่ากฎหมายที่ดี คือ กฎหมายที่ดีต่อประชาชนทั้งมวล ซึ่ง ศ.สมิธ ตั้งคำถามว่า แล้วอะไรละที่จะดีแก่ประชาชนทั้งหลาย  เรากำหนด “ดีต่อประชาชน” กันอย่างไร?

ฮ็อปส์ เสนอความเห็นต่อไปว่า กฎหมาย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อ “กำกับควบคุม”ประชาชน  แต่เพื่อ “เอื้ออำนวย” ต่อประชาชน  กฎหมายไม่ได้มีไว้เพื่อมัดมือมัดตีนประชาชน  แต่เพื่อป้องกันประชาชน อย่าให้พวกเขาทำร้ายตัวเอง เป็นภัยต่อตัวเองด้วยกิเลส ตัณหาของตัว  ฮ็อปส์ยกตัวอย่างด้วยว่า กฎหมายไม่ใช่เครื่องกีดกั้น ไม่ให้คนเดินทาง  แต่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การสัญจรของผู้คน  กฎหมายที่ออกด้วยวัตถุประสงค์กำกับควบคุม คอยห้ามนั่น ห้ามนี่ จะเป็นกฎหมาย “ที่ดี” ไปไม่ได้  วัตถุประสงค์ ของกฎหมายที่ดี คือ การช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์

ซึ่ง ศ.สมิธ อ้างว่า แนวความคิดนี้โยงถึงเรื่อง รัฏฐาธิปัตย์ ด้วย  กล่าวคือรัฎฐาธิปัตย์ มิได้ธำรงอยู่เพื่อกำกับควบคุมประชาชน แต่ดำรงอยู่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

แต่ ฮ็อปส์ คิดไกลต่อไปว่า อำนาจของกฎหมายคลุมไปถึงเรื่อง “ความคิดเห็น” ด้วย  ซึ่งศ.สมิธ เปรียบเทียบประเด็นนี้กับรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนาและการแสดงความคิดเห็น  ที่เรียกว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่หนึ่ง – the first amendment  แต่ฮ็อปส์ เห็นว่า จะต้องมีการควบคุมการแสดงความคิดเห็น เพราะว่าความคิดเห็นนำไปสู่การกระทำ  ฮ็อปส์บอกว่า ถ้าเราจะปกครองคน เราต้องปกครองความคิดเห็นของคนกันก่อน  เพราะฉะนั้น รัฎฐาธิปัตย์ (หรือ อำนาจอธิปไตย – ทวนความจำ กันลืม) มีสิทธิที่จะตัดสินว่า หนังสือเล่มใด ความคิดเห็นใดนำไปสู่สันติสุข และหนังสือ ความคิดเห็นใด ทีมุ่งแต่จะก่อความวุ่นวาย สงคราม และความไม่พอใจ

ศ.สมิธ ชี้ว่า ความคิดเรื่องการปกครองความคิดเห็นของ ฮ็อปส์ เล็งไปที่สถาบันทางสังคมสมัยนั้นสองสถาบัน คือ องค์กรศาสนา และมหาวิทยาลัย  สองสถาบันนี้ ฮ็อปส์ เห็นว่าต้องอยู่ใต้การควบคุมของ รัฏฐาธิปัตย์  องค์กรศาสนานั้น ฮ้อปส์ เล็งไปที่นิกายโปรเตสแตนท์ชนิด “เคร่งจัด” ที่กำเนิดขึ้นมาในสมัยนั้น ซึ่งสมาชิกนิกายโปรเตสแตนท์ดังกล่าว ในที่สุดก็ต้องอพยพไปอยู่ในอเมริกา

นิกายเหล่านั้นเห็นว่า จิตสำนึกของปัจเจกชนมีอำนาจสูง พอที่จะพิจารณาตัดสิน รัฏฐาธิปัตย์ ได้  คนเหล่านั้นในนิกายเคร่งจัด คือ เหล่ากำลังพลของกองทัพของ ครอมเวล ที่ฮึดสู้ราชาธิปไตยอังกฤษ จนเกิดสงครามกลางเมือง ทั้งนี้ ฮ็อปส์ ถือว่าจิตสำนึกที่จะตัดสินใจอะไรได้เอง จะมีอยู่เฉพาะในสภาพธรรมชาติเท่านั้น  เมื่อคนละสภาพธรรมชาติเข้ามาสู่นาครธรรม(บ้านเมือง) คนต้องเคารพกฎของบ้านเมือง  ปัจเจกชนได้มอบสิทธิในการพิจารณาตัดสินด้วยตนเอง ให้แก่บ้านเมืองไปแล้ว

ส่วนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนั้น  ฮ็อปส์ไม่พอใจที่มหาวิทยาลัยสอนคำสอนของ อริสโตเติล ที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยชนิดที่ให้ประชาชนตัดสินโดยตรง(direct democracy) คือ ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาปกครองบ้านเมือง ฮ็อปส์เห็นว่า คำสอนจากยุคกรีกและโรมัน ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองในอังกฤษ และเกิดการสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ล ที่หนึ่ง  โดยพวกที่นิยมระบอบสาธารณรัฐ ทั้งนี้ฮ็อปส์ พูดทำนองเสียดสีหรือกระแนะกระแหน ว่า หนังสือพวกนั้นให้สิทธิผู้คนฆ่าพระราชาได้ เพียงแต่ก่อนจะลงมือทำ ให้เรียกพระราชาเสียใหม่ว่า “ทรราชย์” เท่านั้นเอง

ศ.สมิธ เตือนนักศึกษาว่า นักปรัชญาพวกนี้ เช่น ฮ็อปส์ก็ดี มาเคียเวลลีก็ดี หรืออริสโตเติลก็ดี ถือตนว่าตนเองเป็น “ติวเตอร์” ให้แก่ “เจ้าชาย” หรือเจ้านายทั้งหลาย  หรืออีกนัยหนึ่ง บรรดาพวกผู้ปกครองบ้านเมือง  เพราะฉะนั้น การก่อร่างสร้าง “ความคิดเห็น” เกี่ยวกับการเมืองการปกครองจึงเป็นเรื่องสำคัญ  และขณะเดียวกัน ฮ็อปส์ ก็ต้องการปฏิรูปความคิดเห็น เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

เกี่ยวกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย  ฮ็อปส์เห็นว่า ควรเลิกเรียนเรื่องการปกครองของ เพลโต และ อริสโตเติล เช่น หนังสือ Politics ของ อริสโตเติลนั้นน่าจะเลิกเรียนเลิกสอนไปเลย แล้วให้มหาวิทยาลัยสอนหนังสือ “เล วิ เอ ธาน” ของตนแทน

ศ.สมิธ พรรณนาว่า ตนได้พูดเรื่องของ ฮ็อปส์ ในแง่ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การรวบอำนาจ อำนาจหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ มามากแล้ว  บัดนี้จะขอพิจารณาแง่ความใจกว้าง และการเปิดเสรีภาพทางความคิด ในแง่ของ ฮ็อปส์บ้าง

ศ.สมิธ กล่าวว่า ฮ็อปส์ ได้ตีกรอบการใช้อำนาจของ รัฏฐาธิปัตย์เอาไว้ โดยให้อยู่ในกรอบของกฎหมายจ และความยุติธรรม(justice and the rule of law)  ฮ็อปส์ เน้นประเด็นนี้มากกว่า มาเคียเวลลี

ตัวอย่างเช่น บุคคลจะถูกบังคับให้กล่าวโทษตนเอง มิได้  ภรรยาหรือบิดามารดาจะถูกบังคับให้กล่าวโทษ สามีหรือบุตรธิดา มิได้  และการลงโทษจะนำมาใช้ในครรลองของการ “แก้แค้นตอบแทน”(revenge) มิได้  การลงโทษจะต้องเป็นไปเพื่อแก้ไขผู้กระทำผิด มิ่ใช่แก้แค้น  ฮ็อปส์ยืนยันเสมอว่า กฎหมายมีไว้เพื่อความเท่าเทียมกันทางสังคม กล่าวคือ จะยากดีมีจน กฎหมายบังคับเสมอหน้ากันหมด ยศถาบรรดาศักดิ์ของขุนน้ำขุนนาง เป็นไปเพื่อคุณงามความดีที่ผู้ดำรงยศได้กระทำต่อผู้ที่มีฐานะด้อยกว่าตน  และฮ็อปส์ เห็นว่า รัฏฐะ จะต้องดูแลคนยากคนจน – คล้าย ๆ เสนอการประกันสังคม  ไม่ใช่ปล่อยคนยากคนจนให้ขึ้นอยู่กับความใจบุญสุนทาน ของคนร่ำรวย

ในที่สุด ศ.สมิธ สรุปลงว่า พลังความคิดทฤษฎีการเมืองการปกครอง ของฮ็อปส์นั้น ตั้งอยู่บนรากฐานความเชื่อใน “ปัจเจกชน”(individual) เชื่อว่าในธรรมชาติปัจเจกชนมีสิทธิที่จะทำอะไรได้ตามใจ  สิทธิดังกล่าวนั้นยังคงอยู่เมื่อมาอยู่ในนาครธรรม  แต่ฮ็อปส์ต้องการจะให้มีการกำกับควบคุมการใช้สิทธิดังกล่าว ไม่ใช่ปล่อยไว้เหมือนในธรรมชาติ ใครจะฆ่าใครก็ได้  หรือทุกคนเป็นศัตรูของกันและกัน

ตามแนวนี้ ถือว่า ฮ็อปส์ เป็นบิดาของลัทธิเสรีนิยม ผู้เชื่อเรื่องสิทธิมาก่อนหน้าที่(right over duty)

ฮ็อปส์ แยกให้เห็นว่า เสรีนิยมของคนโบราณสมัยกรีกโรมัน กับเสรีนิยมสมัยใหม่ ต่างกัน  ฮ็อปส์บอกว่า คนโบราณเข้าใจผิดเกี่ยวกับเสรีภาพของมนุษย์  คนโบราณเห็นว่า เสรีภาพ คือ การได้ใช้ชีวิตอยู่ใน สาธารณรัฐ ที่ทุกคนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจ  เพราะฉะนั้น เสรีภาพของคนโบราณไม่ได้จำกัดอยู่แค่บุคคล แต่ขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองการปกครองด้วย  เสรีภาพสมัยโบราณคือเสรีภาพที่ระบอบการเมืองการปกครอง จะละเมิดปัจเจกบุคคลได้  เสรีภาพเป็นสมบัติของส่วนรวม ไม่ใช่สมบัติของปัจเจกชน

ในขณะที่ สำหรับ ฮ็อปส์ เสรีภาพของฮ็อปส์ เป็นคล้ายเสรีภาพที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน คือ การที่ปัจเจกบุคคล จะสามารถกระทำการต่าง ๆ ได้โดยปราศจากการขัดขวาง  ถ้ากฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ คนก็สามารถทำได้ตามที่เขาจะเลือกกระทำ  เสรีภาพของฮ็อปส์หมายถึงเสรีภาพส่วนบุคคล

รัฐสมัยใหม่ ถือกำเนิดจากความปรารถนาของบุคคล เกี่ยวกับความภาคภูมิและความกลัว(pride and fear) ความกลัวนั้นเราได้พูดกันมาแล้ว ว่าทำให้คนหันเข้าหานาครธรรม  ส่วนความภาคภูมิ เกี่ยวข้องกับ ชื่อเสียง(glory) เกียรติยศ(honor)  และการเป็นที่ยอมรับนับถือ ตลอดจนความทะเยอะทะยานรักดี(ambition)  ทั้งหมดนั้น คือ เนื้อหาของบ้านเมืองสมัยใหม่ สไตล์ฮ็อปส์(Hobbesian modern state)

ศ.สมิธ สรุปว่า สันติสุข ความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นั้นยังคงต้องอาศัยคนอื่น ๆ อีกหลาย ๆ คนที่พร้อมจะเสี่ยงชีวิตเพื่อวัตถุประสงค์อันสูงขึ้นไป เช่นชื่อเสียง เกียรติยศ และหน้าที่  ลักษณะนั้น “ไร้เหตุผลหรือ?” 

ตามความคิดของ ฮ็อปส์ เชื่อว่านั่นไร้เหตุผล  แต่คนจำนวนมากในโลกนี้ไม่ได้คิดอย่างนั้น เช่น บางสังคมมีวัฒนธรรมเรื่อง “หน้าตา” และ “การเสียหน้า”

-----------------------------------------------------------------------------
ต้นฉบับคำบรรยาย ตอนนี้
14. The Sovereign State: Hobbes' Leviathan



สนใจ คำบรรยาย ตอนอื่น ๆ ทั้งหมด เชิญตามลิงก์
https://pricha123.blogspot.com/p/blog-page_21.html








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น