open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ตอน 8 ปกครองด้วยกฎหมาย - ตำราการเมือง อริสโตเติล เล่มสี่

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย



ปกครองด้วยกฎหมาย – ตำราการเมือง อริสโตเติล เล่มสี่
          The Mixed Regime and the Rule of Law: Aristotle's Politics, IV


อริสโตเติล เห็นว่า ระบอบการเมืองการปกครอง(regime) คือ อะไร?

คำตอบของอริสโตเติล ได้แก่

1)   ระบอบการเมืองการปกครอง ย่อมระบุ สิทธิ และ หน้าที่ ภายในบ้านเมืองหนึ่ง ๆ ว่า มีอะไรบ้าง
2)   ระบอบการเมืองการปกครอง ยังหมายความรวมถึง วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพลเมือง รวมทั้งประเพณี กิริยามารยาท กฎหมาย นิสัยใจคอ ศิลธรรมจรรยา และความรู้สึกนึกคิด

คำถามต่อไป อริสโตเติล ถามว่า เอกลักษณ์ของบ้านเมือง (หรือ นครรัฐ) คือ อะไร?



คำตอบคือ เอกลักษณ์ของบ้านเมือง ก็คือ ระบอบการเมืองการปกครอง(regime) ของบ้านเมืองนั้น ๆ

อริสโตเติล แบ่งลักษณะระบอบการเมืองการปกครอง ออกเป็นสองรูปลักษณ์ คือ เนื้อหา กับ รูปแบบ

เนื้อหาของระบอบการเมืองการปกครอง เกี่ยวข้องกับมวลมหาประชาชนพลเมือง(citizen body) คุณลักษณ์และคุณสมบัติของมวลมหาประชาชนพลเมือง กอรปกันเป็นเนื้อหาของระบอบการเมืองการปกครอง

ในการนี้ อริสโตเติล แสดงเหตุผลเชิงปฎิเสธไว้บางอย่างบางประการ  โดยปฎิเสธว่า มวลมหาประชาชนพลเมือง ไม่ได้หมายความถึง คนจำนวนมากที่อยู่อาศัยภายในกำแพงเมือง หรืออยู่บนแผ่นดินเดียวกัน

และอริสโตเติล ปฏิเสธว่า ระบอบการเมืองการปกครองไม่ได้หมายถึงสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน เพื่อต่อต้านการรุกราน  ซึ่งในกรณีนี้ ก็แปลว่า สำหรับอริสโตเติลแล้ว องค์การนาโต ไม่ใช่ ระบอบการเมืองการปกครอง(not a political regime)

ขณะเดียวกัน ระบอบการเมืองการปกครอง ก็ไม่ใช่คนจำนวนมาก ร่วมกันพิทักษ์ปกป้องการค้าขายของตน เพราะฉะนั้น องค์การการค้าโลก(WTO) จึงไม่ใช่ระบอบการเมืองการปกครอง  เพราะว่า ระบอบการเมืองการปกครอง ไม่ใช่พันธมิตรเพื่อการเซ็งลี้(commercial alliance)

พลเมืองของนครรัฐ(หรือ ของบ้านเมือง) คือ อะไร?
พลเมืองของระบอบการเมืองการปกครอง ได้แก่ การที่คนรวมอยู่ด้วยกันได้ เพราะมีพันธะแห่งความรักร่วมกัน  มีมิตรไมตรีและความภักดี พันธมิตรทางการเมืองอยู่ได้ด้วยความรักสมัครสมาน –อริสโตเติล เห็นเช่นนั้น

ความเป็นเพื่อนและมิตรภาพนั้น อริสโตเติล เห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญต่อบ้านเมือง  เพราะถ้าคนมีจิตพิสมัยกันเสียอย่าง อะไรต่าง ๆ ก็จะง่ายขึ้น  ความขัดแย้งก็จะน้อยลง(แต่ก็ยังมี)

ความเป็นเพื่อนหรือมิตรภาพ ที่อริสโตเติล พูดถึง คือ อย่างไร? คล้าย ๆ กับความรักความภักดี เยื่อใย ที่คนมีต่อเพื่อนสนิท พ่อแม่ พี่น้อง  คล้าย ๆ อย่างนี้ใช่ไหมที่ผูกใจชาวเมืองไว้ด้วยกัน 

เรื่องนี้ อริสโตเติล ตอบว่า “ไม่ใช่”

เพราะความรัก หรือมิตรภาพทางการเมือง ไม่ได้เรียกร้องให้เราสละความเป็นตัวของตัวเองลง เหมือนกับที่มักเรียกร้องกันอยู่ในความรักฉันท์ชู้สาว หรือความรักอื่น ๆ ในทางส่วนตัว

ความรักทางการเมืองเป็นความรักทางแพ่ง(civic) เป็นความรักระหว่างพลเมือง ระหว่างคนในฐานะพลเมืองของบ้านเมือง ไม่ใช่คนในฐานะส่วนตัว  จึงเป็นความรักระหว่าง “หุ้นส่วนทางแพ่ง”(civic partners)  ซึ่งอาจมีการแข่งขันกันเพื่อให้ได้ตำแหน่งทางการเมือง หรือเกียรติยศ

ในแง่นี้ ก็จะคล้ายกับพี่น้องแข่งขันกันเอง ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า sibling rivalry เช่น พี่น้องแข่งกันแย่งชิงความรักของพ่อแม่  ซึ่งสำหรับความรักชนิดหุ้นส่วนทางแพ่ง พ่อแม่ก็คือ นครรัฐ หรือบ้านเมือง

พันธะทางแพ่ง หรือ civic bond ของ อริสโตเติล เปรียบเทียบอีกแบบหนึ่งก็จะคล้ายกับความผูกพันในแฟนคลับ ของทีมฟุตบอลเดียวกัน มากกว่าที่จะคล้ายกับความรักในทางส่วนตัวอย่างที่เรามักจะเข้าใจ

ความภักดี ความไว้เนื้อเชื่อใจ ย่อมมีเจือสมอยู่ในพันธะทางแพ่ง – civic bond หรือความรักผูกพันทางการเมือง หรือความรักผูกพันระหว่างสมาชิกแฟนคลับเดียวกัน

อริสโตเติล เห็นว่า ความรักผูกพันทางการเมือง หรือพันธะทางแพ่ง  เป็นความรักผูกพันด้วยวัตถุประสงค์สูงส่งขึ้นไป ที่ไม่ใช่ความรักชนิดอยากอยู่ใกล้ชิด เช่นความรักฉันท์ชู้สาว หรือความรักญาติสนิทมิตรสหาย แต่เป็นความรัก เพื่อบ้านเพื่อเมือง

คนที่มีเยื่อใยผูกพันกันในลักษณะนี้ ประกอบกันเข้าเป็นพลเมืองของ นครรัฐ (หรือ ของบ้านเมือง) เป็นผู้คนที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง ในตำแหน่งการเมือง ไม่ใช่คนที่อยู่อย่างคนอาศัย มาอาศัยบ้านเมืองเพียงเพื่ออยู่เพื่อกิน สถานเดียว

อริสโตเติล เห็นว่า พลเมืองเช่นนี้เหมาะแก่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคนในระบอบประชาธิปไตยแต่ละคน รู้จักที่จะเป็นผู้ปกครอง และรู้จักที่จะเป็นผู้ถูกปกครอง

ประเด็นต่อไป อริสโตเติล ถามว่า คนดี กับ พลเมืองดี เป็นคน ๆ เดียวกันใช่หรือไม่?

ครั้นตั้งข้อปุจฉาแล้ว ปรากฏว่าข้อวิสัชฌนาของอริสโตเติล ค่อนข้างคลุมเครือ ไม่กระจ่าง

โดย อริสโตเติล ตอบว่าพลเมืองดี-ขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองการปกครอง(regime) พลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพลเมืองดีในระบอบการปกครองแบบอื่น เช่น ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช(absolute monarchy) หรือระบอบอมาตยาธิปไตย(aristocracy)

อริสโตเติล ทิ้งท้ายว่า ในระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดเท่านั้น ที่ คนดี กับ พลเมืองดี จะเป็นคน ๆ เดียวกัน

ซึ่งก็มีคำถามต่อไปว่า แล้วระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด คือ อะไร?  อริสโตเติล ไม่ได้ตอบคำถามนี้

อย่างไรก็ดี ตรงนี้ก็มีประเด็นที่ชี้ว่า ระบอบการเมืองการปกครองมีหลายระบอบ เพราะฉะนั้น พลเมืองดี ก็คงมีหลายแบบ

พลเมืองที่ดี ขึ้นอยู่กับ “รูปแบบ” ของระบอบการเมืองการปกครอง กล่าวคือ ระบอบนั้นมีการแบ่งอำนาจและกระจายอำนาจกันอย่างไรในหมู่พลเมือง

ทุก ๆ ระบอบการเมืองการปกครอง ต่างล้วนมีฐานะเป็นคำตอบรูปธรรม ต่อคำถามดึกดำบรรพ์ที่ว่า ใครคือผู้ปกครอง หรือใครควรได้เป็นผู้ปกครอง

ณ จุดนี้ ศ.สมิธ แสดงความเห็น วิจารณ์การศึกษาการเมืองการปกครองสมัยปัจจุบันว่า สนใจแต่ “รูปแบบ” ของการเมืองการปกครอง แต่ไม่สนใจศึกษา มวลมหาประชาชนพลเมือง(citizen body)  ไม่สนใจศึกษาว่า พลเมืองที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร?

“ฟอร์ม” หรือ “รูปแบบ” หรือ the formality that makes up a regime อริสโตเติล พรรรณนาไว้ว่า

          The regime is an arrangement of a city with respect to its offices particularly       the one who has the authority over all  matters, for what has the authority on          the city is everywhere the governing body. And the governing body is the     regime.

          ระบอบการเมืองการปกครอง ได้แก่ การจัดเรียบเรียงตำแหน่งหน้าที่การงานของงาน        เมือง โดยเฉพาะงานเมืองที่มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมกิจการทั้งปวง  นครรัฐ ทั่วทุกแห่ง        จะมีอำนาจหน้าที่อยู่ที่ตำแหน่งปกครอง ตำแหน่งปกครองก็คือ ระบอบการเมืองการ ปกครอง

อริสโตเติล ยังให้นิยามที่สองไว้ด้วย ว่า

          For a regime is an arrangement in a city connected with offices established in      the manners in which they have been distributed: what the authoritative      elements of the regime is, and what the end of the partnership is in each        case.

          ระบอบการเมืองการปกครอง ก็คือ การจัดเรียบเรียงตำแหน่งหน้าที่การงานของงานเมือง   ตามครรลองของการกระจายอำนาจหน้าที่ โดยพิจารณาว่า อำนาจหน้าที่ คืออะไร และ       การสิ้นสุดของอำนาจหน้าที่เป็นอย่างไร

สรุปได้จากนิยามของ อริสโตเติล ว่า ระบอบการเมืองการปกครองเกี่ยวกับการกระจาย แบ่งแยก อำนาจในชุมชน ว่า อำนาจการเมืองการปกครองสมควรกระจายไปเป็นของคน ๆ เดียว(the one) ของคนสองสามคน(the few) หรือของคนมากคน(the many)  หรือว่าจะผสมผสานกันระหว่าง the one – the few – the many

อริสโตเติล เห็นว่า การเมืองการปกครองทุกระบอบ คนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนั้น จะเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจปกครอง(the ruling body)  และกลุ่มผู้มีอำนาจปกครองจะเป็นตัวกำหนดนิยามระบอบการเมืองการปกครอง

ในอีกมิติหนึ่ง อริสโตเติล แบ่งว่า ระบอบการเมืองการปกครอง พิจารณาได้ด้วยว่า ปกครองกันอย่างเป็นระเบียบ(well ordered) กับที่ ปกครองไม่เป็นระเบียบ(corrupt หรือ variant)

ที่ปกครองเป็นระเบียบ คือ สมบูรณาญาสิทธิราช(absolute monarchy)  อำมาตยาธิปไตย(aristocracy) และ Polity(อริสโตเติล เรียกอย่างนั้น ไม่ทราบว่าแปลเป็นไทยว่าอย่างไร?)

ที่ปกครองไม่เป็นระเบียบ คือ ทรราชย์(tyranny) คณาธิปไตย(oligarchy) และประชาธิปไตย

อริสโตเติล แบ่งระบอบการเมืองการปกครองออกเป็น 6 ระบอบดังกล่าวข้างบน โดยอาศัยมาตรฐานอะไร ใช้ปัจจัยอะไรตัดสิน?  ประเด็นนี้ ศ.สมิธ กล่าวว่า อริสโตเติล เขียนพรรณนาไว้หลายระบอบ แต่ละระบอบมีข้อดีและข้อเสีย ไม่มีระบอบใดระบอบหนึ่งที่มีแต่ข้อเสียล้วน ๆ เช่น อริสโตเติล สอนไว้ว่า ระบอบทรราชย์ควรทำตัวอย่างไรจึงจะดี เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในการสอน ศ.สมิธ จะยกเรื่องระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ขึ้นมากล่าว

ซึ่ง อริสโตเติล ปกป้องระบอบประชาธิปไตยว่า “โดยรวมแล้ว มีวิจารณญาณและสติปัญญา มากกว่าระบอบการเมืองการปกครอง โดยคน ๆ เดียว หรือคนสองสามคน” (collectively greater wisdom than the regime ruled by the one or the few)  เพราะว่า ผู้มีส่วนร่วมในการปกครองมีมาก แต่ละคนนำคุณงามความดีและความรอบคอบระมัดระวัง มารวมกันเข้า ก็จะเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติและจิตวิญญาณ ที่ดีขึ้นกว่าที่จะเป็นของคนแต่ละคนโดยเอกเทศ

อริสโตเติล ยังพูดถึง กระบวนการพิจารณาตัดสินใจ อย่างเป็นประชาธิปไตย(the process of democratic deliberation) ว่าเป็นวิธีการที่ดีมาก เพื่อการตัดสินใจ เรื่องการเมืองการปกครอง ดีกว่าที่จะให้พลเมืองแต่ละคน ทำโดยเดี่ยว ๆ

เมื่อการเมืองการปกครองนครรัฐ กอร์ปด้วยคนมากคน การคอรัปชันก็จะยากขึ้น การติดสินบนคนมากคน ยากว่าติดสินบนคนสองสามคน  อริสโตเติล เทียบระบอบประชาธิปไตยกับงานเลี้ยงอาหาร ที่คนหลายคนช่วยกันทำอาหารมาร่วมงานเลี้ยง  คนมากคนนำอาหารมามากชนิด มากรสชาติ ดีกว่าที่จะมีกุ๊กเพียงคนเดียว

ขณะเดียวกัน อริสโตเติล ก็แสดงเหตุผลสนับสนุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มีพระราชาองค์เดียวว่าราชการ  ซึ่งไอเดียนี้คล้ายกับเรื่องพระราชา-นักปรัชญา หรือนักปรัชญา-พระราชา ของ เพลโต ซึ่งปกครองเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง(rule for the good of all)  อริสโตเติล ขนานนามราชาองค์เดียว ปกครองเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวงว่า “ราชาที่เป็นสากล”(the universal king) หมายความว่า ต้องเป็นคนที่เหนือคนทั้งปวง(the king over all)

ศ.สมิธ แสดงความเห็นว่า ตามแนวคิดนี้ อริสโตเติล น่าจะแฝงคติการเมืองการปกครองมาจากบ้านเกิด-แคว้นมาซิโดเนีย ที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อันเป็นประเทศของอเล็กซานเดอร์มหาราช

อริสโตเติล เห็นว่า ประเทศเขตหนาวในยุโรป พลเมืองเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา(spiritedness) หรือภาษากรีกเรียกว่า ธูโมส-thumos  คนเหล่านั้นด้อยเรื่องการให้เหตุผล ขาดความคิดอ่านที่มีเหตุผล  ดังนั้นพวกเขาจึงอยู่กันอย่างอิสระ ปราศจากระบอบการเมืองการปกครอง(political governance)

ส่วนประเทศในเอเชีย(หมายถึง เอเชียน้อย หรือตะวันออกกลางเดี๋ยวนี้) รวมถึงอีจิปต์และเปอร์เซีย(อิหร่าน)  คนพวกนี้มีเหตุผล มีจิตวิญญาณที่รู้จักคิดอ่าน แต่พวกเขาด้อยเรื่องกิเลสตัณหา พวกนี้จึงถูกคนอื่นปกครอง และถูกเอาเป็นทาส

อย่างไรก็ดี อริสโตเติล กล่าวว่ากรีกมีองค์คุณทั้งสองประการบริบูรณ์ ซึ่งก็คล้ายภูมิศาสตร์ที่ตั้งประเทศ ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลาง กลางทางระหว่างยุโรปกับเอเชีย  กรีกมีทั้งกิเลสตัณหาและรู้จักคิดอ่านอย่างมีเหตุผล เพราะฉะนั้น กรีกจึงเป็นอิสระและปกครองตนเอง  พวกกรีกมีขีดความสามารถ ที่ปกครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล ให้อยู่ในระบอบการเมืองการปกครองเดียวกันได้

กรณีข้างบนนั้น ศ.สมิธ ตั้งคำถามว่า อริสโตเติล ต้องการจะให้โลกทั้งโลก ปกครองด้วยระบอบการเมืองการปกครองชนิด ราชาธิบดีอันเป็นสากล – universal monarchy โดยมีกษัตริย์ชาวกรีก(the universal king) เป็นผู้ปกครอง รึเปล่า?

ลำดับต่อมา ศ.สมิธ ได้อ่านข้อความจากหนังสือของ อริสโตเติล โดยตรง จับประเด็นมาเล่าสู่กันฟัง ได้ดังนี้

1)   เป็นการให้ข้อมูลสำคัญยิ่ง เกี่ยวกับความคิดของ อริสโตเติล ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ปฏิกิริยาที่เกิดจากการกระตุ้น(impulse) กับ เหตุผล

กิเลสตัณหา(spiritedness) เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความอยากปกครอง และอยากต่อต้านการถูกเขาปกครอง

กิเลสตัณหา เป็นแหล่งภายในตน ที่ก้าวร้าว อาละวาด ยืนหยัด ขณะเดียวกันก็ต่อต้านการก้าวร้าวของผู้อื่นที่กระทำกับตน

ศ.สมิธ เห็นว่า นี่เป็นจิตวิทยาสำคัญ เพื่อที่เราจะทำความเข้าใจ กับเรื่องการเมืองการปกครอง

2)   ข้อเขียนของ อริสโตเติล ระบุว่า ยังมีเหตุผลนอกเหนือการเมือง(extra-political factors) ที่จะทำให้เราเข้าใจเรื่องระบอบการเมืองการปกครอง ได้แก่ ปัจจัยภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบของการพัฒนาระบอบการเมืองการปกครอง

ทั้งนี้เพราะว่า ธูโมส-thumos(กิเลสตัณหา) กับเหตุผลและกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองการปกครอง(deliberation) ไม่ได้กระจายอย่างเสมอภาคกันในหมู่มนุษย์ภูมิภาคต่าง ๆ

อริสโตเติล กล่าวว่า คนทางเหนือ(ของ ยุโรป) เป็นคน spiritedness – มีกิเลสตัณหามาก จึงกระหายสงคราม  แต่ขาดความมีเหตุผล

แต่คนทางใต้ของยุโรป เทียบกับปัจจุบันคือตะวันออกกลาง อิหร่าน และอีจิปต์ เป็นคนมีสติปัญญา ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  แต่ขาดคุณสมบัติที่จะปกครองตนเอง

แนวคิดทำนองนี้ ปรากฏแก่ปราชญ์ยุคหลัง คือ ม็งเตสกิเออ ในหนังสือชื่อ “จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย” ที่ได้กล่าวถึงภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ว่ามีส่วนกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองการปกครอง ของชนทั้งปวง

3)   ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ที่เหมาะสม ชาวกรีกสามารถที่จะทำการ “ปกครองทั่วไป”(universal rule) ถ้าชาวกรีกประสงค์

อริสโตเติล เห็นว่า ระบอบการเมืองการปกครองมีมากมายหลายระบอบ เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมแต่ละชนิด ไม่มีระบอบการเมืองการปกครองชนิดใด ที่จะเป็น one-size-fit-all หรือเบอร์เดียวใส่ใด้ทุกคน

อริสโตเติล เห็นว่า ระบอบการเมืองการปกครองเป็นเรื่องสัมพัทธ์(relative)  และกษัตริย์ที่ปกครองแต่ผู้เดียวได้ทั้งหมด ทั่วไปหมด(the universal king) เป็นบุคคลที่เรา ไม่ พึงคาดหวังว่าจะมี เพราะไม่ใช่จะมีได้จริง 

การเมืองเป็นเรื่องที่เล่นกับ less and best circumstances(ผู้สรุปภาษาไทย ไม่ทราบว่า นี่หมายความว่าอย่างไร?) ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด เป็นระบอบที่เราจะตั้งความหวังเท่านั้น แต่จะไม่ใช่ระบอบที่เราจะได้มาจริง ๆ

ระบอบการเมืองการปกครองทุกระบอบ จะเป็นส่วนผสมระหว่างการปกครองโดย คนสองสามคน กับ คนจำนวนมาก(the few and the many) คนรวย กับ คนจน(the rich and the poor)

ระบอบการเมืองการปกครองส่วนมาก จะเป็นการต่อสู้ดิ้นรน ระหว่างส่วนน้อย(the few)ปกครอง  หรือ ส่วนมาก(the many)ปกครอง ถ้าส่วนน้อยปกครองเรียกว่า oligarchy คือจะปกครองโดยคนรวย ๆ  ถ้าส่วนมากปกครอง เรียกว่า democracy หรือปกครองโดยคนจน(rule by the poor)

ประเด็นข้างบนนั้น อริสโตเติล ได้เสริมเรื่อง “เศรษฐกิจ”(รวย-จน) เข้ามาด้วย นอกจากเรื่องภูมิศาสตร์  เขามองว่าการเมืองการปกครองเป็นเรื่องของชนชั้น  แต่ อริสโตเติล แตกต่างจาก มาร์ก เพราะการต่อสู้ระหว่างชั้นชนของ อริสโตเติล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทรัพยากรเพียงอย่างเดียว  อริสโตเติล ไม่ได้ตั้งคำถามว่า ใครคือเจ้าของปัจจัยการผลิต?

การต่อสู้ระหว่างชนชั้นของ อริสโตเติล เป็นไปเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ “มีเกียรติ” และให้ได้ตำแหน่งทางการเมืองการปกครอง

ระบอบการเมืองการปกครองทุกระบอบ เป็นเวทีของความขัดแย้ง เป็นเวทีของการแข่งขันของฝ่ายต่าง ๆ ที่มีความเห็นเรื่องความยุติธรรมต่างกัน มีความเห็นแตกต่างกันว่า ใครควรเข้ามาปกครอง

ภายในระบอบการเมืองการปกครองเดียวกัน ก็ยังแบ่งกลุ่มพลเมือง หรือชนชั้น แข่งขันกันเรื่องความยุติธรรมและคุณงามความดี – ในที่นี้ หมายความว่า แข่งขันกันให้ได้ตำแหน่งมีเกียรติ และตำแหน่งด้านการเมืองการปกครอง

อริสโตเติล เห็นว่า พวกนิยมประชาธิปไตย คิดว่า คนเราเกิดมา เท่าเทียมกันในบางสิ่งบางอย่าง จึงสมควรที่จะต้องทำให้เท่าเทียมกัน ในทุกสิ่งทุกอย่าง

กลุ่มที่นิยมการปกครองโดยคนสองสามคน(the few หรือ oligarchy) เห็นว่า คนเราเกิดมา ไม่เท่าเทียมกันในบางสิ่งบางอย่าง สมควรที่จะทำให้ไม่เท่าเทียมกันในทุกสิ่งทุกอย่าง

การเมืองการปกครองของ อริสโตเติล คือ การประนีประนอมทางการเมืองการปกครอง เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง  เพราะการเมืองเป็นเวทีของความขัดแย้ง  วิชารัฐศาสตร์มีหน้าที่นำมาซึ่งสันติสุข-ในความขัดแย้งนั้น

อริสโตเติล เสนอยาแก้ สถานการณ์ขัดแย้ง โต้แย้ง ตอกกลับ อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดุจจะอยู่ในท่ามกลางสงครามอันไม่มีที่สิ้นสุด อันเกิดจากความแตกต่างทางความคิด ของคนหลายฝ่ายในสังคมการเมืองการปกครอง

ข้อเสนอ ยาแก้ ที่สำคัญที่สุดของ อริสโตเติล ก็คือ ให้ปกครองด้วย “กฎหมาย”(the rule of law)

อริสโตเติล กล่าวว่า กฎหมายจะเป็นหลักประกันเรื่องการปฏิบัติอย่างเสมอหน้ากันสำหรับพลเมืองทุกคน กฎหมายคอยป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจของคน ๆ เดียว(the one) ของคนสองสามคน(the few) และของคนจำนวนมาก(the many)

กฎหมายเป็นหลักประกันความเที่ยงธรรม(impartiality) เพราะกฎหมายนั่นเอง คือ ความเที่ยงธรรม

อริสโตเติล กล่าวว่า

     One who asked the law to rule is held to be asking god and intellect         alone to rule, while one who asked man asked the beast”.

                   ผู้ใด ร้องขอให้กฎหมายปกครอง ผู้นั้นกำลังสวดอ้อนวอนให้เทพเจ้าและ                       สติปัญญาปกครอง  ผู้ใดร้องขอให้มนุษย์ปกครอง ผู้นั้นกำลังวิงวอนต่อเดรัจฉาน

ควมอยากได้ใคร่ดี กิเลสตัณหา สามารถแทรกแซงผู้ปกครอง แม้เขาจะเป็นผู้ปกครองที่ดีที่สุด  กิเลสตัณหา(spiritedness)ก็อาจโยกสั่นคลอนได้  กฎหมายจึงเป็นที่พึ่ง ที่จะคุ้มครองเราจากความไม่เที่ยงธรรม

อริสโตเติล ตั้งคำถามว่า การปกครองด้วยกฎหมาย จะดีกว่าการปกครองโดยคนที่เป็นคนดีที่สุด หรือไม่? (the best individual)

อริสโตเติล ตอบคำถามนั้นเป็นสองแง่มุม

1)   เริ่มจากการเมืองการปกครองด้วยคนที่เป็นคนดีที่สุด ตามความคิดของเพลโต ซึ่งบอกว่า ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด ใช่ว่าจะตั้งอยู่กับการมีกฎหมายที่ดีที่สุด เพราะว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือที่งุ่มง่าม(clumsy tool) เพราะกฎหมายจะว่าด้วยกรณีทั่ว ๆ ไป จึงไม่สามารถปฏิบัติจัดการกับกรณีรูปธรรมกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเฉพาะได้

กฎหมายคอยมัดมือมัดเท้า รัฐบุรุษและผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งในชีวิตจริงพวกเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์อันไม่คาดคิด และไม่อาจคาดเดาได้ ตลอดเวลา

2)   อริสโตเติล แสดงเหตุผลสนับสนุนการปกครองโดยกฎหมาย ว่า การพิจารณาตัดสินโดยปัจเจกชน ไม่ว่าเขาจะดี มีสติปัญญา เฉลียวฉลาดสักเพียงใด ก็อาจฉ้อฉลได้ ด้วยความรัก ด้วยผลประโยชน์ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อริสโตเติล กล่าวว่า คน ๆ เดียวไม่อาจดูแลกิจการทุกเรื่องได้ทั้งหมด จะมีแต่กฎหมายเท่านั้น ที่จะพิจารณาพิพากษาได้ อย่างพอเพียง

สรุปว่า อริสโตเติล มีเหตุผลที่ดี ให้แก่ทั้งสองแง่มุม(มอง)

ลำดับต่อไป อริสโตเติล ตั้งคำถามว่า กฎหมายเปลี่ยนแปลงได้ไหม? และอย่างไร?

ต่อคำถามนี้ อริสโตเติล ก็ให้คำตอบเป็นสองทำนอง  ไม่ได้เสนอความคิดแนวเดียว  เขาเทียบกฎหมายกับ ศาสตร์และศิลป์ และแนะนำว่า วิทยาศาสตร์เช่นการแพทย์ มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อย กฎหมายก็ควรที่จะก้าวหน้าได้เช่นกัน  ความเก่าแก่ของกฎหมายใด ๆ เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่า กฎหมายนั้นดีอยู่แล้ว

ซึ่งประเด็นนี้ ศ.สมิธ เห็นว่า อริสโตเติล กำลังปฏิเสธความอนุรักษ์นิยมชนิดมืดบอด หลับหูหลับตา

คำตอบอีกทางหนึ่ง เขากลับเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายแม้เพียงน้อยนิด และแม้จะเป็นไปเพื่อสิ่งที่ดีกว่าเดิม เป็นเรื่องอันตราย  เขาเขียนว่า  การทำให้คนคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอย่างละหลวม สะเพร่า นครรัฐ(หรือบ้านเมือง) จะไม่ได้ประโยชน์ แต่กลับจะมีโทษ คล้ายกับที่เกิดจากการที่ประชาชน เคยชินกับการไม่เชื่อฟังผู้ปกครอง

การเน้นความสำคัญของกฎหมาย ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงง่าย ๆ ศ.สมิธ เห็นว่า อริสโตเติล มีความคิดนิยมลัทธิจารีตนิยม(conventionalism) หรือเปล่า?  เมื่อเห็นว่าความยุติธรรมถูกกำหนดโดยกฎหมาย โดยขนบธรรมเนียมประเพณี กลายเป็นว่า ประเพณีนิยมคอยกำหนดความยุติธรรม

ซึ่ง ศ.สมิธ เห็นต่อไปว่า ความคิดเช่นนั้นมีลักษณะสัมพัทธ์-relative กล่าวคือ กลายเป็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงผันแปรไปตามสังคม  เพราะฉะนั้น ความยุติธรรม จึงขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองการปกครอง – justice seems to be regime dependence

แต่ อริสโตเติล บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองตามธรรมชาติ ดังนั้นตามครรลองนี้ สิทธิที่กลั่นกรองผ่านสังคมมา ก็ไม่น่าจะใช่สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์

ตามแนวคิดพื้นฐานที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองตามธรรมชาติ ดังนั้น มาตรฐานความยุติธรรม ก็น่าจะเป็นไปตามธรรมชาติ  แล้วมาตรฐานของสิทธิตามธรรมชาติของเรา คือ อย่างไร?

อริสโตเติล ตอบว่า สิทธิตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงได้ กลายพันธุ์ได้(mutable)  ซึ่งก็หมายความว่า สิทธิตามธรรมชาติไม่ใช่สิ่งสากล แต่แฝงรูปธรรมของความถูก/ผิด ขึ้นอยู่กับผู้นำชุมชน(สังคม) จะตัดสินมา

อริสโตเติล กล่าวว่า สิทธิตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป เพราะสถานการณ์ต่างกัน ย่อมต้องการการตัดสินใจ ที่ต่างกัน

เราจะสรุปได้ไหมว่า สำหรับอริสโตเติล ความยุติธรรมก็ดี สิทธิก็ดี ไม่ใช่เรื่องสากล แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เหมือนกับที่การเมืองย่อมขึ้นกับระบอบการเมืองการปกครอง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ความยุติธรรมและสิทธิ จะไม่กลายเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ไร้ขอบเขต ตามความคิดของ มัคเคียเวลลี หรือ?

ศ.สมิธ ตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น อริสโตเติล บอกว่า สิทธิกลายพันธุ์ได้ ก็เพื่อรักษาอิสรภาพในการบริหาร การปกครอง ให้แก่รัฐบุรุษ(บุรุษผู้ปกครองนครรัฐ) นักการเมืองการปกครองทุกคนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ ที่แหลมคม และเรียกร้องต้องการความคิดสร้างสรรค์ในการปฏิบัติ

ในสถานการณ์เช่นนั้น ซึ่งสำคัญขั้นวิกฤติ กระทบถึงความอยู่รอดของชุมชน/บ้านเมือง หรือเรียกว่า สถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบุรุษหรือนักการเมืองการปกครองผู้อยู่ในอำนาจ ต้องมีความเป็นอิสระ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเหมาะสม

กฎศิลธรรมใด ที่ปฏิเสธ มัดมือมัดเท้า รัฐบุรุษไว้ในยามฉุกเฉิน ไม่ได้เกิดจากหลักการเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ แต่ว่า เป็นคำสั่งให้ฆ่าตัวตายต่างหาก






ต้นฉบับวีดีโอ ตอน
ปกครองด้วยกฎหมาย – ตำราการเมือง อริสโตเติล เล่มสี่
The Mixed Regime and the Rule of Law: Aristotle's Politics, IV



สนใจ คำบรรยาย ตอนอื่น ๆ ทั้งหมด เชิญตามลิงก์
https://pricha123.blogspot.com/p/blog-page_21.html









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น