open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ตอน 12 เลอไวอาธาน ของ โธมัส ฮ็อปส์ 1/3

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย

เลอไวเอธาน ของ โธมัส ฮ็อปป์
ตอน 1/3

ศ.สมิธ ยกย่อง โธมัส ฮ็อปป์ ว่าเขียนหนังสือรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ที่มีอยู่ในภาษาอังกฤษ ด้วยสไตล์ภาษาอังกฤษชั้นครู เนื้อหายอดเยี่ยม หาใดเสมอมิได้ ไม่ว่าในภาษาอังกฤษหรือภาษาใดๆ

หนังสือเล่มนั้น ชื่อ Leviathan เลอไวเอธาน มีความสำคัญต่อภาษาอังกฤษร้อยแก้ว พอ ๆ กับที่หนังสือ Paradise Lost สำคัญต่อภาษาอังกฤษร้อยกรอง

ถ้า มาเคียเวลลี เป็น เชอร์ล็อค โฮม โธมัส ฮ็อปป์ ก็เป็น ดร.วัตสัน  โดยที่ ฮ็อปป์ สร้างงานต่อเนื่องต่อจากงานของ มาเคียเวลลี  ถ้า มาเคียเวลลี ค้นพบโลกใหม่ในวิชารัฐศาสตร์ ฮ็อปป์เป็นผู้เข้าไปหักร้างถางพง ทำให้โลกใหม่ดังกล่าวนั้น สามารถอยู่อาศัยได้


ฮ็อปป์ มอบศัพท์สำนวนต่าง ๆ ที่เรายังใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ เวลาที่เราพูดถึง “รัฐสมัยใหม่”(หรือ modern state)

ศ.สมิธ  เตือนนักศึกษาว่า ให้ใช้ความรอบคอบในการอ่าน เพราะข้อเขียนของฮ็อปป์เป็นปริศนา เช่น มองแง่หนึ่งเหมือนว่า ฮ็อปป์จะเป็นนักปรัชญาการเมืองที่ปกป้องระบอบสมบูรณาญาสิทธิ(absolutism)อย่างหัวชนฝา โดยเสนอหลักการเรื่อง “รัฏฐาธิปัตย์”(sovereignty) โดยให้ผู้ปกครอง(sovereign)มีอำนาจสิทธิขาดในแผ่นดิน

ในหนังสือเล่มดั้งเดิม ตีพิมพ์ค.ศ.1651 ภาพของผู้ปกครอง(sovereign)ที่วาดไว้ในหนังสือ มือหนึ่งถือดาบอาญาสิทธิ อีกมือหนึ่งถือคฑา

โธมัส ฮ็อปป์ ให้อำนาจสิทธิขาดในแผ่นดินซึ่งเป็นอำนาจของผู้ปกครอง สามารถครอบคลุมถึงอำนาจในศาสนจักรด้วย กล่าวคือ ศาสนจักรจะต้องอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักร  ตลอดจนครอบคลุมถึงหลักสูตรการศึกษาและตำราที่ใช้ในสถาบันการศึกษา  พิจารณาตามข้อเขียนก็เท่ากับว่า ฮ็อปป์ เสนอระบอบการเมืองการปกครองที่รัฐบาลมีอำนาจ “สมบูรณาญาสิทธิ”(absolute government) และอำนาจดังกล่าวมีลักษณะ “แบ่งแยกมิได้”(indivisible)

อย่างไรก็ดี ฮ็อปป์เห็นว่า บุคคลมีพื้นฐานอันเสมอภาคกัน(fundamental equality) และมีสิทธิบางอย่างบางประการ อันจะละเมิดมิได้(inalienable right)

ประชาชน กับ อำนาจการเมืองการปกครอง เชื่อมโยงกันอย่างไรในความเห็นของฮ็อปป์? ทฤษฎีของฮ็อปป์ ก็คือ รัฎฐาธิปัตย์ ก่อตั้งขึ้นด้วยความยินยอม(consent) หรือโดยเจตนา(will) ของประชาชนพลเมือง  และ รัฎฐาธิปัตย์ ดังกล่าว ก็ดำรงอยู่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถูกปกครอง ด้วยการรักษาสันติสุขและความมั่นคงปลอดภัยทางแพ่ง(=ความมั่นคงปลอดภัยในสังคม)

ทฤษฎีการเมืองการปกครองของ ฮ็อปป์ ประกอบด้วยสองฝ่าย คือ ฝ่าย รัฎฐาธิปัตย์ กับ ฝ่ายประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ดังนั้น เมื่อ ค.ศ.1551 จึงมีผู้สงสัยว่า ฮ็อปป์กำลังปกป้องอำนาจของพระราชา(อังกฤษสมัยนั้น) หรือว่าเห็นชอบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน?
ศ.สมิธ เห็นว่า สำหรับประเด็นนี้  ฮ็อปป์เป็นคนตามยุคตามสมัย – ในยุคนั้น ความเป็นบ้านเมืองสมัยสมัย หรือ modern state ในยุโรปกำลังเพิ่งจะเริ่มขึ้น ย้อนไปเพียงสามปีก่อนพิมพ์หนังสือ Leviathan(ค.ศ. 1551) ยุโรปเพิ่งจะลงนามในสนธิสัญญาเวสฟาเลีย อันเป็นสัญญาสันติภาพที่ยุติสงครามศาสนาในยุโรปที่ดำเนินมา กว่าร้อยปี เป็นสงครามที่ประทุขึ้นจากการฟื้นฟูศาสนาของพวกโปรเตสแตนท์ ที่เรียกว่า Reformation

ในทางปฏิบัติเรียกกันว่า สัญญายุติสงครามสามสิบปี ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในสัญญาก็คือ ยอมรับว่านับแต่นั้นต่อมา บ้านเมืองต่าง ๆ มี “รัฎฐาธิปัตย์” หรือ อำนาจปกครองเด็ดขาดในแผ่นดินของตน  ทั้งนี้ยังมีนัยยะสำคัญทางการเมืองการปกครองและทางศาสนาว่า สภาพที่เรียกกันว่า “อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์”(the Holy Roman Empire) จะมาครอบงำบ้านเมืองใด ๆ ๆ ไม่ได้อีกแล้ว รัฐแต่ละรัฐในยุโรปมีสิทธิสมบูรณ์(รัฎฐาธิปัตย์)ในการปกครองตนเอง

นอกจากนั้น อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ผู้นำสูงสุดในแต่ละรัฐ มีสิทธิที่จะกำหนดศรัทธาในศาสนา ภายในบ้านเมืองของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้ก็เท่ากับประกาศยุติข้อเรียกร้อง(claim) หรือการใช้สิทธิเรียกร้องเรื่องความเป็นสากลของศาสนจักร(โรมันคาธอลิค)

ศ.สมิธ ตั้งคำถามว่า ฮ็อปป์ คือ ใคร?

ฮ็อปป์ เกิดปี ค.ศ.1588 ปีที่อังกฤษขับไล่กองทัพเรืออาร์มาดาของสเปน ที่มุ่งมาตีเกาะอังกฤษ แตกพ่ายไป  เขาเติบโตในยุคอะลิซาเบธที่หนึ่ง เมื่ออายุได้สิบสี่ปี บิดาที่เป็นนักเทศน์ส่งเขาเข้ามหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด จบการศึกษาแล้วก็ประจำทำงานอยู่กับขุนนางตระกูลคาเวนดิช ทำหน้าที่เป็นติวเตอร์ให้กับบุตรชายตระกูลนั้น  ต่อมาก็ได้เป็นมัคคุเทศก์นำบุตรชายตระกูลคาเวนดิชไปท่องยุโรป และได้พบกับนักปรัชญาฝรั่งเศส เรอเน เดส์การ์ต์ กับนักวิทยาศาสตร์อิตาลี กาลิเลโอ

ถึงปี 1640 เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศอังกฤษ พระเจ้าชาร์ลที่หนึ่งถูกสำเร็จโทษ ฮ็อปป์เดินทางออกจากอังกฤษไปอยู่ในฝรั่งเศส เช่นเดียวกับคนในตระกูลขุนนางบางคน กับเจ้าอังกฤษอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งพากันห่วงสวัสดิภาพของตนเอง-ถ้าจะอยู่ในอังกฤษต่อไป

ศ.สมิธเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ว่า ผู้พิพากษาสามนายที่ตัดสินประหารชีวิตพระเจ้าชาร์ลที่หนึ่ง ในที่สุดก็ถึงคราวที่ตนจะต้องเผ่นออกจากอังกฤษบ้าง  คนทั้งสามอพยพมาอยู่ที่เมือง นิว ฮาเวน สหรัฐฯ อันเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเยล ในปัจจุบัน

สงครามกลางเมืองอังกฤษปี 1640 มีผลกระทบทางจิตใจต่อ โธมัส ฮ็อปป์ เขาครุ่นคิดถึงสาเหตุและความเป็นไปของสงครามกลางเมืองครั้งนั้น และได้เขียนบทความขนาดยาวเป็นเชิงทฤษฎีขึ้นมา ต่อมาอีกสามปีให้หลัง เนื้อความในบทความขนาดยาวดังกล่าว ก็ได้ถูกขยายความออกสมบูรณ์แบบ กลายเป็นหนังสือ Leviathan

ปีที่พิมพ์ Leviathan ฮ็อปป์อายุหกสิบสามปี เขาเดินทางกลับอังกฤษ และได้ใช้ชีวิตต่อมาศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ กับ เรื่องการเมืองการปกครอง เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในอังกฤษ ซึ่งยังเป็นหนังสือแบบฉบับ สำหรับศึกษาประเด็นความขัดแย้งในสังคม

ครั้นถึงวัยใกล้ฝั่ง ฮ็อปป์หันไปศึกษาเรื่องโบราณยุคกรีกอีกครั้งหนึ่ง เขาแปลงานของ โฮเมอร์ ชื่อ อีเลียด กับ โอเสซี ออกเป็นภาษาอังกฤษ ฮ็อปป์ตายปี 1679 อายุ 91 ปี

มีผู้เขียนชีวประวัติ ซึ่งรู้จัก ฮ็อปป์ ดี เขียนไว้ว่า หนังสือ Leviathan ของ ฮ็อปป์ เป็นหนังสือที่สร้างความสับสนในวงการผู้อ่าน และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากผู้อ่านหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มศาสนา เห็นว่า เขาเป็นคนไม่มีศาสนา ไม่นับถือพระเจ้า ฝ่ายที่นิยมระบอบสาธารณรัฐในอังกฤษ เห็นว่า เขาเป็นพวกนิยมราชาธิปไตย และผู้นิยมราชาธิปไตย เห็นว่า เขาเป็นนักคิดเสรี ที่มีอันตราย

ศ.สมิธ กล่าวว่า ฮ็อปป์ เป็นคนเดินเรื่องต่อจาก มาเคียเวลลี ซึ่งเป็นผู้วางแนวคิดเรื่องรัฐสมัยใหม่ ที่เรียกว่า modern state เราสามารถสรุปได้ว่า ฮ็อปป์ ไปไกลเกินกว่า มาเคียเวลลี ดังนี้

1)   มาเคียเวลลี พูดถึงเจ้าชาย(the Prince) แต่ฮ็อปป์ พูดถึง ผู้เป็นรัฎฐาธิปัตย์(the sovereign)อันเป็นอำนาจการเมืองการปกครอง ที่ก่อตั้งขึ้นจากสัญญาประชาคม วิธีคิดของ ฮ็อปป์ ดูจะเป็นวิชาการ มีเหตุผลสนับสนุน ส่วนวิธีคิดของ มาเคียเวลลั ได้ข้อสรุปจากประวัติศาสตร์ บวกกับ ประสบการณ์ส่วนตัว
2)   ขณะที่ มาเคียเวลลี พูดถึงความโหดร้ายอันแฝงเร้น(sublime cruelty) แต่ ฮ็อปป์ พูดภาษาการเมืองการปกครองเรื่องการรักษาอำนาจเอาไว้ อีกนัยหนึ่ง พูดเรื่อง power politics ทั้งนี้โดยที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเกียรติยศเกียรติศักดิ์ แต่มีเป้าหมายเพียงเพื่อรักษาตัวรอด(self-preservation)
3)   มาเคียเวลลี เน้นเรื่องการมีอาวุธ หรือการพกอาวุธ แต่ฮ็อปป์ พูดประเด็นนี้ให้จางลง กลายเป็นเน้นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
4)   โดยสรุป ศ.สมิธ เห็นว่า ฮ็อปป์ พยายามพูดให้คนยอมรับได้มากขึ้น เกี่ยวกับแนวคิด รัฐสมัยใหม่(modern state) ที่ มาเคียเวลลี เสนอไว้

ฮ็อปป์ เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เขาต้องการบรรลุผลสำเร็จอะไร?

ฮ็อปป์ ก็เช่นเดียวกับมาเคียเวลลี คือ เป็นผู้บุกเบิกด้านความคิด เขาเรียกศาสตร์การเมืองการปกครองอย่างใหม่ของเขาว่า “ศาสตร์ทางแพ่ง”(civil science)  ฮ็อปป์ คิดว่าตนกำลังก่อตั้งศาสตร์ชนิดใหม่(หรือ ที่เรารู้จักกันในวันนี้ว่า รัฐศาสตร์) ฮ็อปป์ ถือว่าตนเองอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ(natural scientist) ซึ่งสมัยนั้นเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ลุกขึ้นมาล้มล้างความคิดทางวิทยาศาสตร์ของอริสโตเติล ส่วนฮ็อปป์กำลังล้มล้างศาสตร์สังคม ของ อริสโตเติล

ฮ็อปป์ ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อ อริสโตเติล ในเรื่องนี้ เขาเขียนไว้ใน Leviathan ว่า

“...ไม่มีอะไรจะไร้สาระยิ่งกว่า ที่พวกนักปราชญ์รุ่นเก่าบางคนว่าเอาไว้ ไม่มีอะไรจะโง่บัดซบไปกว่าวิทยาศาสตร์ที่เขียนไว้ในเมตาฟิสิคส์ของ อริสโตเติล....

และไม่มีอะไรจะไร้ประโยชน์ต่อการเมืองการปกครอง มากไปกว่าที่เขียนไว้ในหนังสือ Politics และยิ่งโง่บัดซบไปกันใหญ่ ได้แก่ ที่เขียนไว้ในหนังสือ Ethics”

ฮ็อปป์ วิเคราะห์ว่า มนุษย์เป็นเสมือนเครื่องกลชนิดหนึ่ง มีชีวิตด้วยการเคลื่อนไหวอวัยวะ ทางฝ่ายอริสโตเติลมองในจิตใจ ว่า กิจกรรมของมนุษย์มีวัตถุประสงค์ คือ มีเป้าหมายในการกระทำ(goal oriented) หรือมี “telos”  กิจกรรมของมนุษย์เป็นไปเพื่ออนุรักษ์สิ่งที่ มีอยู่-เป็นอยู่ หรือไม่ก็ทำเพื่อให้มันดีขึ้น

ฮ็อปป์ มองคนค่อนข้างติดลบ เขาเห็นว่า ความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ก็คือ การกระทำต่าง ๆ ของคน ไม่ใช่เพื่อทางบวก คนเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อจะ “ทำดี” แต่กระทำลงเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะ “ทำเลว”

ฮ็อปป์ ก็เช่นเดียวกับ มาเคียเวลลี ในแง่ของการมองโลกติดลบ ฮ็อปป์มองหาทฤษฎีการเมืองการปกครองจากภาวะสงคราม ภาวะวุ่นวายในสังคม และเหตุการณ์สุดขั้วต่าง ๆ ฮ็อปป์ ตำหนิวิจารณ์อิทธิพลความคิดของอริสโตเติลในสังคมตะวันตก เขาไม่เห็นด้วยว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมืองตามธรรมชาติ การสอนให้คนมีส่วนร่วมในทางการเมืองของอริสโตเติล ในสังคมตะวันตกระยะหลัง ๆ คือ รากเหง้าของปัญหาสังคม

แล้ว ฮ็อปป์ เสนออะไร?

ฮ็อปป์ เสนอการปกครองทางอ้อม(indirect government) ซึ่งพูดเป็นภาษาปัจจุบันว่า ปกครองผ่านผู้แทน หรือ representative government ทั้งนี้โดยที่อำนาจแห่งรัฎฐาธิปัตย์ ได้มาจากประชาชนร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อปกครองกันเอง โดยที่ในปัจจุบันนี้ รัฎฐาธิปัตย์ ก่อกำเนิดขึ้นจากเจตนาของผู้แทนปวงชน

รัฎฐาธิปัตย์ ตาม ฮ็อปป์ คือ เจตนาของประชาชนที่สร้างขึ้นมาโดยตัวแทนปวงชน ทำหน้าที่กลั่นกรอง เจตนาประชาชนอีกชั้นหนึ่ง คือ เชื่อกันว่าคนมีความต้องการตามธรรมชาติที่จะปกครอง ดูแล ตนเอง(natural desire to rule myself) ฮ็อปป์ อยากให้ประชาชนขยับตัวห่างจากการเมืองการปกครอง โดยให้ตัวแทนทำหน้าที่แทน

ตัวแทนไม่ใช่คนจริง แต่เป็นคนเทียม คล้าย ๆ กับเป็น “สำนักงาน”(office) ทั้งนี้โดย ฮ็อปป์บอกว่า ศิลปะสร้าง รัฎฐาธิปัตย์(อำนาจเทียม) ศิลปะในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา ดังนั้น วิทยาศาสตร์ก็เป็นศิลปะชนิดหนึ่ง(สำหรับ ฮ็อปป์) นอกจากนั้น ศิลปะยังสามารถสร้าง artificial nature หรือสร้างธรรมชาติเทียม ฉันใดก็ฉันนั้น การเมืองการปกครองก็เป็นผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ ฮ็อปป์ไปไกลกว่า มาเคียเวลลี เพราะเขาเห็นว่า มนุษย์สามารถดัดแปลง และเป็นนายธรรมชาติได้

ปริศนาที่หนังสือ Leviathan พยายามจะตอบ ได้แก่ ปริศนาที่ว่า What makes authority possible? (อำนาจหรืออำนาจหน้าที่ เป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไร?)

หรือ จะปรับรูปปริศนาเสียใหม่ว่า How to create a legitimate authority?(เราจะสร้างอำนาจ/อำนาจหน้าที่ ที่ชอบด้วยกฎหมาย ขึ้นมาได้อย่างไร?)

ปริศนาสองข้อนี้ ศ.สมิธ เห็นว่า เป็นปริศนาสำหรับคนที่ต้องการสร้างชาติ หรือสร้างบ้านสร้างเมือง ให้เป็นรัฐสมัยใหม่(modern state)

ปัจเจกชนผู้มีคุณสมบัติทางชีววิทยาแตกต่างกัน ผู้พิจารณาตัดสินเหตุการณ์ความเป็นไปต่าง ๆ แตกต่างกันไป ต่างคนต่างจิตต่างใจ ปัจเจกชนคนเหล่านั้น ที่จริงก็ไม่ได้แน่ใจว่า จะไว้วางใจอีกคนหนึ่งได้สักแค่ไหนเพียงใด  ปัญหามีว่า แล้วทำอย่างไรปัจเจกชนเหล่านั้น จึงจะยอมรับ อำนาจหน้าที่อันเป็นหนึ่งเดียว ร่วมกันได้

เพื่อตอบคำถามนี้ ฮ็อปป์ เล่าตำนานเรื่องของความเป็นธรรมดาธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่ สวนอีเดน ในคัมภีร์ไบเบิล และไม่ใช่สภาวะการเมืองการปกครองที่อริสโตเติลว่าไว้ เช่นที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมืองตามธรรมชาติ เป็นต้น

แต่สำหรับ ฮ็อปป์ สภาพธรรมชาติ คือ สภาพที่ขัดแย้ง ทะเลาวิวาท และสงคราม ซึ่งในสภาพธรรมชาติจะปราศจากอำนาจหน้าที่ อันเป็นที่ยอมรับกันเป็นหนึ่งเดียว

สงคราม อาจหมายถึง สงครามเย็น ก็ได้ ไม่ได้ลงมือรบกันจริง ๆ ในสภาพสงครามเย็นดังกล่าว สังคมจะอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมเต็มร้อย เผลอไม่ได้ นี่คือสภาพธรรมชาติของฮ็อปป์ ที่เชื่อว่า state of nature ก็คือ state of war  เมื่อเชื่อว่า สภาพธรรมชาติคือสภาพที่ต้องเตรียมพร้อม หรือพร้อมรบ ฮ็อปป์ก็สรุปว่า ธรรมชาติไม่ได้มีส่วนช่วยสมานฉันท์ หรือสร้างความสามัคคีในหมู่มนุษย์

ดังนั้น สำหรับฮ็อปป์ ก็จะมีแต่ศิลปะของมนุษย์(human art)เท่านั้น ที่จะนำสันติสุขมาสู่มนุษย์ได้

จึงสรุปต่อไปว่า อำนาจหน้าที่(authority) ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลงานของมนุษย์

แล้วทำไม ความคิดของ ฮ็อปป์ ที่ว่าสงครามคือสภาพธรรมชาติ ส่วนสันติภาพเป็นงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ –ทำไมความคิดเช่นนี้จึงน่าเชื่อถือ? เราบางคนเชื่อได้อย่างไร?

ความรู้สึกผ่านอายตนะ และประสบการณ์(senses and experiences) นี่คือทางแห่งการรู้โลกของคน ซึ่งเป็น body in motion ฮ็อปป์คิดเช่นนั้นตั้งแต่บทแรกของหนังสือ ว่ามนุษย์ดำเนินชีวิตไปตามกฎแห่งการดึงดูด(attraction)และการผลักออก(repulsion) สรุปแล้ว คนเป็นเครื่องกลชนิดหนึ่ง ที่เชื่อฟังเหตุปัจจัยบางอย่าง

สภาพธรรมชาติ หรือ stat of nature ที่จริงเป็นการทดลองทางความคิด ที่เรียกว่า thought experiment (วิธีการทดลองทางความคิด ที่ใช้กันแพร่หลายในวงการศึกษาปรัชญา –ผู้สรุปภาษาไทย) คือ ลอกมนุษย์ ปอกออกทีละกลีบเหมือนปอกหัวหอม ลอกเอาลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมทิ้งไปทีละชั้น แล้วดูว่าความเป็นคนล้วน ๆ จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร นั่นเป็นทางหนึ่งที่ทำให้วิธีคิดของ ฮ็อปป์ เป็นความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ อย่าลืมว่า ฮ็อปป์เคยเป็นเลขานุการของ ฟรานซิส เบคอน ผู้เป็นเจ้าของวิธีศึกษามนุษย์ด้วยการทดลอง ศ.สมิธ กล่าวว่า เชื่อได้ว่า ฮ็อปป์ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก ฟรานซิส เบคอน


-------------------------------------------------------------------------------------------------------

สนใจ ต้นฉบับวีดีโอ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง
The Sovereign State: Hobbes' Leviathan


สนใจ คำบรรยาย ตอนอื่น ๆ ทั้งหมด เชิญตามลิงก์
https://pricha123.blogspot.com/p/blog-page_21.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น