open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ตอน 9 ปกครองด้วยกฎหมาย ตำราการเมือง อริสโตเติล เล่ม VII

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย



ปกครองด้วยกฎหมาย – ตำราการเมือง อริสโตเติล เล่ม VII เจ็ด
The Mixed Regime and the Rule of Law: Aristotle's Politics, VII


“Aristotle’s discovery of America.”


ศ.สมิธ ประกาศเริ่มการบรรยาย อย่างน่าตื่นเต้นว่า “อริสโตเติล ค้นพบ อเมริกา”

การบรรยายครั้งนี้ ศ.สมิธ ยกเรื่อง ฝักฝ่ายทางการเมืองการปกครอง(political faction) จากหนังสือ การเมืองการปกครอง(Politics)ของ อริสโตเติล ขึ้นมาพูด

อริสโตเติล เห็นว่า ระบอบการเมืองการปกครองที่ควบคุมความเป็นฝักฝ่าย และควบคุมการขัดแย้งได้ดีที่สุด คือ ระบอบการเมืองการปกครอง ชนิดที่อริสโตเติลเรียกว่า “Polity” -- ซึ่งเป็นส่วนผสมของ การปกครองโดยคนสองสามคน(oligarchy) กับ การปกครองโดยคนจำนวนมาก(democracy) 


การผสมผสานของทั้งสองระบอบนี้ จะมีผลคานกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจควบคุมอย่างเด็ดขาดแต่ฝ่ายเดียว  เราอาจสรุปเป็นสมัยใหม่ได้ว่า ระบอบการเมืองการปกครองแบบ Polity ของ อริสโตเติล ก็คือ การปกครองโดยชนชั้นกลาง

การต่อสู้ระหว่างชนชั้น ระหว่างส่วนน้อยคือคนสองสามคน(oligarchy)ผู้ร่ำรวย กับ ส่วนมาก(democracy)คนมากคนผู้ยากจน  ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายทางการเมืองการปกครอง(factional conflict)  จะเกิดขึ้นในระบอบนี้ น้อยกว่า ในระบอบอื่น ๆ

ศ.สมิธ กล่าวว่า อริสโตเติล ค้นพบก่อน เจมส์ เมดิสัน ผู้เขียนความเรียงชุดที่มีชื่อเสียงช่วงก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อ Federalst Papers(1787) เขาเขียนว่า ฝักฝ่ายและความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่าย ในระบอบการเมืองการปกครอง จะคอยคานอำนาจกัน ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเผด็จการของเสียงส่วนใหญ่

ศ.สมิธ เห็นว่า เรื่องการคานอำนาจนั้น อริสโตเติล เขียนไว้ก่อนแล้ว ก่อนเจมส์ แมดิสัน ถึงกว่าสองพันปี กล่าวได้ว่า อริสโตเติล เป็น “ผู้ค้นพบ” รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ  ทั้งนี้ ศ.สมิธ ได้อ้างบทความของ ศ.ปีเตอร์ซิมสัน มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ขึ้นมาสนับสนุนความเห็นประเด็นนี้

อริสโตเติล เขียนไว้อีกว่า โลกเรานี้เป็นอมตะ ไม่มีวันตาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลก ได้ถูกค้นพบมาก่อนแล้วทั้งนั้น  โลกเราเคยผ่านความเจริญและความเสื่อมมาก่อน  อารยธรรมล่มสลายกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน แล้วต่อมาก็ฟื้นคืนชีพ ขึ้นมาสร้างอารยธรรมกันได้ใหม่

ศ.สมิธ จึงเห็นว่า ถ้าแนวคิดข้างบนนั้นเป็นจริง ก็ไม่แปลกที่รัฐธรรมนูญที่คล้ายรัฐธรรมนูญอเมริกัน จะเคยเกิดมีมาก่อนแล้ว และเป็นไปได้ว่า อริสโตเติล ได้เคยพบรัฐธรรมนูญนั้น

อย่างไรก็ดี ความคิด อริสโตเติล เกี่ยวกับระบอบผสม แตกต่างจากความคิดในรัฐธรรมนูญอเมริกันอยู่บ้าง  อริสโตเติล เห็นว่า ควรให้มีการถ่วงดุลระหว่างชนชั้น  คือชนชั้น คน คนเดียว-คนสองสามคน-และคนมากคน(the one-the few-the many)  แต่ อริสโตเติล ไม่ได้เน้นในแง่การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ทางการเมืองการปกครอง อย่างที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอเมริกัน

อริสโตเติล เห็นว่า เพียงแต่ขอให้คนแต่ละชั้นชน ได้มีส่วนร่วมในอำนาจการปกครอง ก็พอแล้ว

แต่ คนอเมริกัน อาจเห็นว่า หลักการเรื่องการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่การเมืองการปกครอง หรือที่เรียกว่า การกระจายอำนาจ เป็นหลักสำคัญที่คอยประกัน สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และประกันความมั่นคงในชีวิต ให้แก่พลเมือง (ความมั่นคงในชีวิต คือ จะไม่โดน “ตื้บ” กันง่าย ๆ)  ถ้าอำนาจไม่กระจาย แต่เข้มข้นอยู่ในมือคนคน ๆ เดียว หรือคนสองสามคน (the one and the few)  เมื่อนั้น เราก็จะเสี่ยงกับการถูกปกครองตามอำเภอใจ และชีวิตพลเมืองก็จะขาดความมั่นคง(คือ โดนตื้บง่าย)

สำหรับ อริสโตเติล ไม่คำนึงถึงประเด็นที่พลเมืองจะ “โดนตื้บง่ายๆ” หรือ “โดนตื้บยาก” เขาคำนึงถึงกิจการงานเมือง ที่ควรจะดำเนินไปอย่างราบรื่น มากกว่า

ความแตกต่างระหว่างระบอบการเมืองการปกครองระบอบอเมริกัน กับระบอบผสมของอริสโตเติล  ศ.สมิธ แนะนำให้นักศึกษาอ่านหนังสือ “จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย”(Spirit of the Law) เล่มที่ 11 ของ ม็งเตสกิเออ นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส กับ อ่าน Federalist Papers เปรียบเทียบกัน

ใช่แต่ว่า อริสโตเติล จะเข้าใจเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ การคานอำนาจ มาก่อนนักคิดอเมริกันรุ่นแรก ๆ  เขายังเข้าใจเรื่องความสำคัญของทรัพย์สิน คือ ทรัพย์สินส่วนบุคคล กับการค้าการขาย การเซ็งลี้ ว่าสำคัญต่อบ้านเมืองที่จะเจริญรอบด้าน

ทั้งนี้ อริสโตเติล ได้วิพากษ์วิจารณ์การเสนอให้รวบยอดทรัพย์สินภายในบ้านเมือง ตามแนว โสคราติส ที่ปรารถนาจะให้ทรัพย์สินเป็นของกลาง เป็นของส่วนรวม ไม่ต้องมีทรัพย์สินส่วนบุคคล  อริสโตเติล กล่าวว่า บ้านเมืองไม่ได้เป็นอะไรเพียงหนึ่งเดียว บ้านเมืองกอรปด้วยความแตกต่างหลากหลาย  ถ้าทรัพย์สินไม่กระจายในหมู่พลเมือง แต่เป็นทรัพย์ส่วนกลางเสียทั้งหมด  ทรัพย์สินนั้นก็จะไม่มีผู้ดูแลอย่างแท้จริง  ทรัพย์สินส่วนรวมย่อมคู่ไปกับการละเลยไม่เอาใจใส่โดยส่วนรวม(common ownership = common neglect)

อริสโตเติล กล่าวว่า ถ้าบ้านเมืองถูกรวมและรวบเข้ากลายเป็นสิ่งเดียวหนึ่งเดียว บ้านเมืองนั้นก็จะไม่เป็นบ้านเป็นเมืองอีกต่อไป  เพราะเนื้อหาของบ้านเมือง คือ ความหลากหลาย ถ้าไร้ความแตกต่างหลากหลายกลายเป็นมวลเดียวกันหมด(unity)  บ้านเมืองนี้นก็จะกลับกลายคล้ายเป็นครัวเรือน ๆ หนึ่ง  ไม่ใช่บ้านเมือง หรือนครรัฐ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่า อริสโตเติล จะเห็นความสำคัญของทรัพย์สินส่วนบุคคล และการค้าขาย-เซ็งลี้-หรือประกอบธุรกิจส่วนบุคคล  แต่เขาก็ต่างจากปราชญ์ทางเศรษฐกิจ เช่น อดัม สมิธ ผู้เขียน “The Wealth of Nations” เพราะ อริสโตเติล เห็นว่า จุดมุ่งหมายของบ้านเมืองไม่ใช่ความ “มั่งคั่ง”  วัตถุประสงค์ของความเป็นบ้านเป็นเมืองไม่ได้เป็นไปเพื่อ “ผลิตความมั่งคั่ง”

อริสโตเติล กล่าวว่า ถ้าการเซ็งลี้และความมั่งคั่ง เป็นจุดหมายปลายทางของบ้านเมืองแล้วละก้อ พวกโฟนิเชียน (เผ่าพันธุ์โบราณในทะเลเมดิเตเรเนียน ที่ขึ้นชื่อว่ามีการเซ็งลี้อยู่ในสายเลือด) คงจะสร้างบ้านสร้างเมืองและวางระบอบการเมืองการปกครองได้ดีที่สุด  ด้วยประการฉะนี้ อริสโตเติล ก็ย่อมไม่เห็นด้วยกับอดีตประธานาธิบดีอเมริกันผู้หนึ่ง ผู้เคยกล่าวว่า

          “The business of America is business.”

อริสโตเติล เห็นว่า ความสมัครสมานทางการเมืองต้องเป็นไปเพื่อคุณงามความดีที่สูงขึ้นไป(a noble act)  อริสโตเติล กล่าวว่า

“ความมั่งคั่งก็ดี ทรัพย์สินก็ดี เป็นอยู่มีอยู่เพื่อคุณงามความดี 
ไม่ใช่คุณงามความดีอยู่เพื่อเงิน” 

“Wealth, propery exist for the sake of virtue,
Not virtue for the sake of wealth.”

อริสโตเติล วิจารณ์ไว้ล่วงหน้าสองพันกว่าปี ถึงลักษณะของอเมริกันที่มีแนวโน้มชอบตั้งกลุ่ม สมาคม พรรค หรือสโมสร(คลับ)  ซึ่งยิ่งช่วยกระพือความขัดแย้งทางการเมืองการปกครองให้ขยายตัวใหญ่ขึ้น แทนที่จะควบคุมขนาดเอาไว้ พรรคก็ดี คลับก็ดี สมาคมสโมสรก็ดี จะใช้อิทธิพล(=influence ในความหมายที่มิใช่ อันธพาล) ปลุกระดมประชาชน ฉวยโอกาสจากอารมณ์สุดขีดบางอย่าง  ลักษณะนี้ทำให้นักการเมืองการปกครองอเมริกัน มีลักษณะคล้าย “นักปลุกระดม”(demagogue) มากกว่าที่จะเป็น รัฐบุรุษผู้แสดงเหตุผลให้คนประจักษ์แจ้งความจริง

อริสโตเติล ยังวิจารณ์อีกว่า การเลือกตั้งอเมริกัน แปลกประหลาด  เขาเห็นว่าการเลือกตั้งอเมริกันเป็นส่วนหนึ่งของการปลุกระดม  แต่ละคนที่อยากได้ตำแหน่งทางการเมือง ต่างก็พากันหน้าด้าน เล่นกับอารมณ์ของม็อบ สัญญาสิ่งที่ตนเองก็รู้ว่าทำไม่ได้ กับประชาชน (พวกกรีกวางคนลงตำแน่งการเมืองการปกครองโดย practice of appointing political offices by lot)

ส่วนการที่บางคนภูมิใจว่า ระบอบอเมริกันเปิดกว้างสำหรับทุกคน อริสโตเติล ขัดคอว่า เปิดกว้างเฉพาะกับคนรวยเท่านั้น หรือกับคนที่มีคนรวย ๆ สนับสนุน  เพราะฉะนั้น ระบอบการเมืองการปกครองอเมริกัน จึงเป็นระบอบชนิด ปกครองโดยคนสองสามคน(oligarchy) ที่ปลอมตัวกันมาทำเป็นว่า ข้าประชาธิปไตย

แล้ว อริสโตเติล เสนอสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด”(the best regime) กล่าวคือ ให้คนดีที่สุดสองสามคนมาปกครอง เรียกว่า ระบอบสาธารณรัฐขุนนาง(aristocratic republic) ซึ่งมีลักษณะดังนี้

1)   ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด มีวัตถุประสงค์ เป็นไปเพื่อสันติสุข มิใช่เพื่อสงคราม พลเมืองของระบอบฯที่ดีที่สุด  อดทนต่อการยั่วยุให้ทำสงคราม ระบอบนี้จะปกครองเพื่อสันติสุข และความผาสุกสนุกสนานหรรษา(leisure)

2)   แต่ วัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนานหรรษา จะไม่ใชการพักผ่อนหย่อนใจอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่ อริสโตเติล บอกว่า leisure คือ การศึกษา การศึกษาปรัชญา ซึ่งจะคล้าย ๆ ศึกษาศิลปะศาสตร์ทั่วไป ที่ทุกวันนี้เรียกกันว่า liberal education  ไม่ใช่ศึกษาปรัชญาชนิดที่เป็นความคิดนามธรรม  ทั้งนี้เพื่อให้ศิลปะศาสตร์ สร้างคนที่เป็น “ผู้มีจิตวิญญาณน่าเลื่อมใส” (the great soul person)

อริสโตเติล เห็นว่า “ผู้มีจิตวิญญาณน่าเลื่อมใส” จะเป็นที่เหมาะสมที่สุด ที่น่าจะได้รับการศึกษาตามข้อ 2)  และเป็นผู้อ่านอันเป็นอุดมคติ ของหนังสือ “การเมืองการปกครอง” (the politics) ของ อริสโตเติล  บุคคลชนิดนี้จะไม่ใช่ พระราชา-นักปรัชญา( philosopher king) ของ เพลโต

ทั้งนี้ อริสโตเติล พรรณนาไว้ชัดเจนว่า “ผู้มีจิตวิญญาณน่าเลื่อมใส” คือ คนเช่นไร?  เขาจะต้องเป็นผู้มีมรดกมากพอสมควร เป็นที่ดินในชนบทนอกเมือง  แต่ว่า วิถีชีวิตของเขาจะเป็นวิถีอย่างคนเมือง คือว่าเป็นพวกไฮโซ หรือพวกผู้ดี ในเมือง 

โดยมีลักษณะชัดเจน ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ดังนี้

1)   ไม่สนใจเรื่องจุกจิกหยุมหยิม ติฉินนินทา อย่างชาวบ้านทั่วไป
2)   เดินเหินเนิบ ๆ ยกเว้น มีเหตุสำคัญ
3)   ตอบแทนบุญคุณเสมอ เพื่อที่จะไม่ตกเป็นหนี้บุญคุณใคร
4)   พูดจาจากใจ ไม่กลัวใคร  เพราะการตอแหล หรือฉอเลาะสรรเสริญ เป็นพฤติกรรมต่ำ สำหรับเขา
5)   อาจสร้างความปวดร้าวให้แก่ผู้อื่นเป็นบางครั้ง  แต่ทั้งนี้ ไม่ได้ทำจากความใจดำ อำมหิต คิดมิชอบ
6)   เขาเป็นเจ้าของสิ่งอันสวยงาม หลายสิ่งหลายอย่าง ที่ล้วนแล้วแต่ ไร้ประโยชน์ใช้สอย (beautiful but useless things)  คุณสมบัติข้อนี้ส่อว่า นอกจากจะรวยแล้ว เขายังเป็นคนมีรสนิยม เขาเป็นเจ้าของสิ่งที่เท่ แม้จะกินไม่ได้
7)   เขาเดินช้า ๆ เพราะการเดินรีบ ๆ ทำให้ไม่สง่า  เขาเป็นคนรูปร่างสูง และพูดจาน้ำเสียงลุ่มลึก

ศ.สมิธ หัวเราะชอบใจ เมื่อแถลงคุณสมบัติของ “ผู้มีจิวิญญาณน่าเลื่อมใส” จบลง  และกล่าวว่าเป็นที่ชัดเจนมาก ว่า ผู้มีจิตวิญญาณน่าเลื่อมใส ในสายตามของ อริสโตเติล มีคุณสมบัติอย่างไร

นอกจากนั้น ในแง่คุณสมบัติที่เป็นเรื่องของสภาพจิตใจ อริสโตเติล เน้นว่า ผู้นำดังกล่าวจะมีคุณลักษณะพิเศษ ที่เรียกว่า “วิจารณญาณ”(practical intelligence, practical judgement) หรือจะเรียกว่า “มีปัญญาหยั่งรู้ในเชิงปฏิบัติ”(practical wisdom) ก็น่าจะได้

วิจารณญาณ หรือ ปัญญาหยั่งรู้ในเชิงปฏิบัติ ดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ความเฉลียวฉลาดหยั่งรู้ในเชิงปรัชญาที่เป็นนามธรรม แต่เป็นผู้ที่จิตใจสามารถสรุป ตัดสินใจ กับสถานการณ์ยาก ๆ ซับซ้อน ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถมองลึก เห็นรอบ แล้วสรุปออกมาได้เป็นวิธีปฏิบัติ หรือเป็นทางปฏิบัติ ที่เหมาะแก่สถานการณ์นั้น ๆ

สภาพจิตชนิดนี้ แตกต่างจากจิตใจชนิดคิดคาดการณ์ของนักทฤษฎี นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์   ศ.สมิธ เรียกสภาพจิตชนิดนี้ว่า มี “horse sense”  หรือมีความสำนึกรู้อย่างม้า และตั้งคำถามว่า คนเรา จะมีสภาพจิตชนิดนี้ ได้อย่างไร? จะได้มาจากไหน?

อริสโตเติล บอกว่า จิตวิญญาณชนิดนี้ มีประโยชน์ที่สุด ต่องานด้านการเมืองการปกครอง

เป็นสภาพจิตที่รู้จักทำ/รู้จักปฏิบัติ(know how to act)  และทำ/ปฏิบัติได้อย่างดี(and acting well) ซึ่งสภาพจิตที่รู้จักทำนี้ ก็ต้องอาศัยความรู้ วิจารณญาณ และรู้จักคิดอย่างรอบคอบ(to deliberate) และเป็นผู้มีทักษะที่จะคิดอย่างรอบคอบ(a deliverative skill) อริสโตเติล กล่าวว่า นี่เป็นศิลปะหรือฝีมือของรัฐบุรุษ หรือบุคลากรชั้นสูงทางการเมืองการปกครอง ที่มีขีดความสามารถระดับผู้ก่อตั้งบ้านเมือง(founding fathers) หรือผู้วางระบอบการเมืองการปกครอง

ศ.สมิธ กล่าวว่า หนังสือ “การเมืองการปกครอง”(Politics) ของ อริสโตเติล มีเนื้อหาเพื่อสอนให้คนอ่าน มีทักษะชนิดนั้น

คุณสมบัติทางการเมืองการปกครองเช่นนี้ นักปรัชญาการเมืองการปกครองอังกฤษ ชื่อ ไอซาย เบอร์ลิน(Sir Isaiah Berlin) ได้เขียนความเรียงชื่อ “วิจารณญาณทางการเมืองการปกครอง”(Political Judgement) อธิบายไว้น่าอ่าน โดยตั้งคำถามว่า “สติปัญญาชนิดใด ที่รัฐบุรุษมี  อันแตกต่างไปจากสติปัญญาชนิดอื่น ๆ?”

คุณสมบัติชนิดนี้ มีอยู่ทั้งในตัวนักการเมืองการปกครอง ที่ดี  และนักการเมืองการปกครอง ที่เลว เช่น มีอยู่ที่ บิสมาร์ค ดิสราเอลลี แกลดสโตนส์ เคมาลปาชา อะตาเตอร์ก เป็นต้น

ที่แปลกก็คือ จิตวิญญาณชนิดดังกล่าว ก็มีอยู่ในนักเขียนนวนิยายคลาสสิค เช่น ตอลสตอย    เฮนรี เจมส์ และเจน ออสเตน เป็นต้น ด้วย

แต่นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาเช่น ไอสไตน์ เบอร์ทรัล รัซเซล ฟรอยด์ นิวตัน ล้วนขาดจิตวิญญาณ และทักษะชนิดนี้

จิตวิญญาณ สติปัญญา ชนิดนี้ มีความสังหรณ์ใจ รู้ว่าอะไรเป็นไปได้--อะไรเป็นไปไม่ได้ (what will work, and what will not work) เป็นขีดความสามารถในการ “สังเคราะห์”(synthesis) มากกว่าที่จะเป็นจิตวิญญาณแห่งการ “วิเคราะห์”(analysis)

เป็นความรู้แบบเดียวกับที่ผู้ฝึกสัตว์เลี้ยง รู้ใจสัตว์เลี้ยง หรือบิดามารดารู้ใจบุตร หรือวาทยากรรู้ใจวงออเคสตรา อันเป็นความรู้ที่ตรงกันข้ามกับความรู้ของนักเคมี ผู้รู้ว่าองค์ประกอบของของเหลวในหลอดแก้ว มีอะไรบ้าง หรือที่นักคณิตศาสตร์รู้จักกฎที่สัญลักษณ์ในสูตรเชื่อฟัง

ทั้งนี้ ไอซาย เบอร์ลิน กล่าวว่า คนที่ขาดคุณสมบัติชนิดนี้ ไม่ว่าเขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา ที่ใหญ่โตปานใดก็ตาม หรือจะมีพรสวรรค์ในทางศิลปะใด ๆ  เขาคือ “คนไร้เดียงสา ทางการเมืองฯ” (politically inapt)

ประเด็นถัดมา ศ.สมิธ ถามว่า “หนังสือ การเมืองการปกครอง ของ อริสโตเติล ศึกษาเรื่องอะไร?”  “อริสโตเติล มีวิธีศึกษารัฐศาสตร์อย่างไร?”

ทุกวันนี้ รัฐศาสตร์เป็นเพียงหนึ่งในวิชาสาขาสังคมศาสตร์ เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา เป็นต้น  ซึ่งล้วนแล้วแต่พิจารณาความประพฤติปฏิบัติในแนวใดแนวหนึ่งของมนุษย์ เช่น เศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยการสร้างและกระจายทรัพย์ สังคมวิทยาศึกษาเรื่องสถานะทางสังคมของคนและชั้นชน มานุษยวิทยาศึกษาเรื่องวัฒนธรรม เป็นต้น  แล้ว รัฐศาสตร์ ศึกษาอะไ?

อริสโตเติล เห็นว่า (ซึ่ง ศ.สมิธ ก็เห็นด้วยกับอริสโตเติล) รัฐศาสตร์ศึกษาเรื่องการเมืองการปกครอง  การเมืองการปกครอง คือ พื้นฐานของกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์  รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์แม่บทของศาสตร์อื่นทั้งหลาย (the master science)  เพราะถ้าปราศจากเสียซึ่งความเป็นบ้านเป็นเมือง  เรื่องอื่น ๆ ก็ยากที่จะมีได้  ศ.สมิธกล่าวแก่นักศึกษาว่า เมื่อมาลงทะเบียนเรียนวิชานี้ นักศึกษาอาจคิดว่าลงทะเบียนเพื่อจะเรียนวิชารัฐศาสตร์  แต่บัดนี้ย่อมรู้แล้วว่า กำลังศึกษาศาตร์ อันเป็นแม่บทของศาสตร์ทั้งหลาย (the master science)

อริสโตเติล ให้เหตุผลว่า ก็เพราะ “มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองการปกครอง” (man is political animal) และการทีคนเป็นสัตว์การเมืองการปกครองได้ ก็เพราะคนมี “วาจาปราศรัย” (speech) ซึ่งรวมถึงความสามารถในการแสดงเหตุผล  ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความคิดที่มีอยู่ร่วมกัน ที่รู้ด้วยกันว่า อะไรยุติธรรม และอะไรไม่ยุติธรรม

การเมืองการปกครอง เป็นเรื่องของ ความขัดแย้งและความเห็นต่าง

ก็เพราะคนเป็นสัตว์ภาษา(linguistic animal) เราจึงสร้างสังคมบ้านเมืองขึ้นมาได้  เราตกลงกันได้ด้วยเหตุผล ในเรื่องของความยุติธรรม  ส่วนเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ หรือมีประเด็นใหม่ ๆ ผุดขึ้นมา มนุษย์ก็พูดจาปราศรัย อภิปราย กันต่อไป  เป็นกิจกรรมที่ไม่มีวันจะสิ้นสุดในบ้านเมือง  ส่วนคนที่ขอปลีกตัวไปอยู่วงนอก ปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจาอันไม่มีที่สิ้นสุดนี้ เขาจะต้องเป็นสิ่งมีชีวิตที่ “ต่ำกว่าคน”  หรือไม่ก็ต้องเป็น “คนเหนือคน” – อริสโตเติล เห็นอย่างนั้น

ถ้าจะเป็นคน เราต้องเป็นส่วนหนึ่งในเวทีแห่งการพูดจา เจรจา อภิปราย แสดงความคิดเห็น

คำถามต่อไปก็คือ แล้วเรียนเรื่องการเมืองการปกครอง กันไปทำไม?

ศ.สมิธ ยกตัวอย่างว่า คนจำนวนมากทุกวันนี้ ที่หันมาสนใจศึกษาเรื่องการเมืองการปกครอง มักจะตอบว่า เพราะได้ยินได้ฟังข่าวสาร ที่ระดมมาจากทุกสารทิศ เรื่องการเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง คำปราศรัยของผู้นำทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนข่าวความวุ่นวายในบ้านเมืองต่าง ๆ ข่าวสงคราม การปฏิวัติ รัฐประหาร ฯลฯ คนเราก็เลยหันมาสนใจเรื่องการเมืองการปกครอง

อริสโตเติล เห็นว่า รัฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาความรู้ชนิดแก่ทฤษฎี เช่น ฟิสิคส์ คณิตศาสตร์ ปรัชญา หมายความว่า รัฐศาสตร์ไม่ใช่รู้ไปเพื่อความรู้ แต่รัฐศาสตร์ อริสโตเติลกล่าวว่า – รู้ไปเพื่อปฏิบัติ

รัฐศาสตร์ ตามความหมายของ อริสโตเติล เป็นไปเพื่อความดีงามของมนุษย์ คนทุกคนทำทุกอย่างก็เพื่อความดีงามบางอย่าง พฤติกรรมของมนุษย์เป็นไปเพื่อบรรลุคุณงามความดีบางอย่าง

ปฏิบัติการทางการเมืองการปกครองเป็นไปทั้งเพื่อการอนุรักษ์ และเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น  หรือเพื่อพยุงไว้ไม่ให้เลวลง โดยนัยแห่งความประพฤติของคน ก็คือ เรามีมาตรฐานความดีบางอย่างอยู่ในใจ ทำหน้าที่เป็นมาตรวัดอยู่

การศึกษาการเมืองการปกครองไม่ได้เป็นไปเพื่อความรู้อย่างเดียว แต่เพื่อได้ใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ต่อระบอบการเมืองการปกครอง เพื่อทำให้ระบอบฯดีขึ้น หรือป้องกันไม่ให้เลวลง วัตถุประสงค์จึงไม่ได้เพื่อจะรู้มากขึ้น  แต่ให้รู้ว่า เพื่อจะทำอย่างไร

                   Not to know more,
                    But to know how.

ศิลปะและทักษะเรื่องการเมืองการปกครอง จะช่วยให้รัฐนาวาลอยลำแล่นไป ช่วยให้รัฐบุรุษถือพังงาเรือแล่นเข้าเทียบท่าได้อย่างปลอดภัย  รัฐศาสตร์ของอริสโตเติลจึงเป็นศาสตร์แห่งการถือพังงาเรือ – ซึ่ง รัฐศาสตร์สมัยใหม่ ไม่สนใจเรื่องนี้

รัฐบุรุษ หรือนักการเมืองการปกครองระดับผู้นำ มีคุณสมบัติอย่างไร? เช่น เป็นนักปรัชญา-พระราชา(ตามปรัชญา เพลโต) หรือ เป็นผู้มีจิตวิญญาณสูงส่ง(ตาม อริสโตเติล)  ความเห็นของ อริสโตเติล เห็นว่า รัฐศาสตร์ คือ การศึกษาเพื่อเป็นผู้นำรัฐนาวา(statemanship) ผู้มีศักยภาพจะเป็นผู้นำพึงศึกษาศาสตร์แม่บทแห่งศาสตร์ทั้งหลาย(master science) ซึ่งแตกต่างจาก “ศาสตร์” ประเภทที่...

          -ที่รวมข้อเท็จจริง คละมั่วปนกัน (a jumble of facts)
          -มิจฉาทิฐิ (heresy)
          -มุสาแต่โดยเดา(inspired guess)
          -ที่รวมข้อมูลเชิงลึกส่งเดช(collection of insights and observations)

เหล่านี้ ที่ปราศจากวิธิการการได้มา และระเบียบการจัดการความรู้

ถ้าฉะนั้น-วิธีการของ อริสโตเติล คือ อย่างไร?

ปรากฏว่า อริสโตเติล ไม่ได้ตอบคำถามนี้ คือ ไม่เล่นเกม “วิธีการ”  แต่ได้พูดไว้ในหนังสือชื่อ “จริยธรรม”(Ethics) ว่า

          “การสนทนาอภิปรายของเรา ก็เพียงพอแล้ว  ถ้าการอภิปรายนั้นบรรลุความกระจ่าง อยู่ภายในขอบเขตของเรื่อง”
          “Our discussion will be adequate if it achieves clarity within a limit of its subject.”

หมายความว่า อย่างไร?  ศ.สมิธ ตีความให้นักศึกษาฟังว่า อริสโตเติล กล่าวว่า การเรียกร้องกะเกณฑ์ จะเอาวิธีการอันบริสุทธิ์ กับเรื่องการเมืองการปกครอง อันเป็นเรื่องที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องคาดการไม่ได้  เราไม่พึงเรียกร้องต้องการวิธีการศึกษา ให้ชัดเจนมากไปกว่าที่เนื้อหาของเรื่องจะอนุญาต

ซึ่งก็มีคำถามต่อไปอีกว่า แล้วเนื้อหาของเรื่องอนุญาตแค่ไหน เพียงใด? เราจะรู้ได้อย่างไร?

อริสโตเติล บอกว่า วิธีการมันเป็นวิธีการชั่วคราว(ad hoc) ที่ว่ากันตามเนื้อหาของประเด็น  กล่าวคือ วิธีการนี้เหมาะกับเนื้อหานี้ ไม่ใช่ยกวิธีการขึ้นตั้ง แล้วพยายามจัดให้เนื้อหาต่าง ๆ มาลงล็อคกับวิธีการ  ถ้าเราศึกษาเรื่องการเมืองการปกครองในแนวนี้  ก็เท่ากับบังคับเอาความเป็นหนึ่งเดียวอันจอมปลอม เอากับการศึกษาเรื่องการเมืองการปกครอง อันเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาแตกต่าง หลากหลาย มากมาย เต็มไปด้วยเหตุเฉพาะกิจ ที่มีลักษณะลื่นไหล กอรปด้วยความไม่แน่นอน และไม่เคยหยุดนิ่ง

อย่างไรก็ดี อริสโตเติล เสนอว่า มีคำถามเป็นข้อปุจฉาพื้นฐานที่นักรัฐศาสตร์พึงพิจารณา ในการศึกษาเรื่องการเมืองการปกครอง ดังนี้

1)   สมมติว่า สถานการณ์บ้านเมืองเป็นปกติ และบ้านเมืองนั้นอยู่ในภาวะสันติสุข  ในสภาพเช่นนี้ ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองดังกล่าว ควรจะเป็นอย่างไร?

2)   สมมติว่า บ้านเมืองหนึ่ง สถานการณ์บ้านเมืองไม่เป็นปกติ และบ้านเมืองนั้นไม่ได้อยู่ในภาวะสันติสุข ตามสภาพเช่นนี้ อันเป็นสภาพที่ less than optimal circumstances  ระบอบการเมืองการปกครองในบ้านเมืองนั้น ควรจะเป็นอย่างไร?

3)   นักรัฐศาสตร์(ในสายตาของ อริสโตเติล) ต้องมีความรู้ที่จะปฏิบัติจัดการ กับระบอบเมืองการปกครองใด ๆ ก็ดี ไม่ว่าระบอบดังกล่าว(หรือ บ้านเมืองดังกล่าว) จะมีสภาพกะพร่องกะแพร่ง ไม่สมบูรณ์ในขั้นไหน  นักรัฐศาสตร์จะต้องรู้จักที่จะทำให้บ้านเมืองนั้น มีเสถียรภาพมากขึ้น อยู่กับต่องกับรอยมากขึ้น 

4)   นักรัฐศาสตร์(ในสายตาของ อริสโตเติล) จะต้องรู้ภาคปฏิบัติของการปฏิรูป(technique of reform) และรู้จ้กพูดจาโน้มน้าวผู้คน คือ มีชิวหาทางการเมืองการปกครอง(political rhetoric)  เพื่อที่จะโน้มนำให้ระบอบการเมืองการปกครองที่ไม่สมบูรณ์ มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพที่ดีที่สุด






ต้นฉบับวีดีโอ ตอน
ปกครองด้วยกฎหมาย – ตำราการเมือง อริสโตเติล เล่มVII
The Mixed Regime and the Rule of Law: Aristotle's Politics, VII


สนใจ คำบรรยาย ตอนอื่น ๆ ทั้งหมด เชิญตามลิงก์
https://pricha123.blogspot.com/p/blog-page_21.html







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น