open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ตอน 11 มาเคียเวลลี ”เจ้าชาย” 2/2

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย



มาเคียเวลลี เจ้าชาย” 2/2
New Modes and Orders: Machiavelli's The Prince (chaps. 13-26)


ในคราวที่แล้ว ศ.สมิธ กล่าวถึง มาเคียเวลลี ว่า เขาได้นิยามคำศัพท์เกี่ยวกับคุณงามความดีเสียใหม่ ให้แตกต่างจากคุณงามความดีรุ่น เพลโต และแตกต่างจากศิลธรรมคริสเตียน ซึ่งอิงอยู่กับพระคัมภีร์ไบเบิล

นิยามใหม่ของ virtue หรือ คุณงามความดี มีความหมายแฝงการมีกำลังอำนาจ มีความกล้าหาญ  มาเคียเวลลี เปรียบว่า อำนาจวาสนาบารมีเป็นสตรี  เจ้าชาย จะต้องมีความรู้ คือรู้จักที่จะได้ครองสตรีนั้น  คือ ต้องใช้ความกล้า ความรุนแรง ความโหดร้าย เหล่านี้เป็นศัพท์สำนวนที่   มาเคียเวลลี ชอบใช้

มาเคียเวลลี เสนอข้อปรัชญาเรื่อง “มือสกปรก”(the problem of dirty hand) ซึ่ง ศ.สมิธ กล่าวว่า จะได้บรรยายข้อปรัชญานี้ในครั้งนี้  กล่าวง่าย ๆ ว่า ถ้าคุณปรารถนาจะมีส่วนร่วมในเกมการเมืองการปกครอง  คุณต้องพร้อมที่จะให้มือของคุณสกปรก


การที่จะสอน เจ้าชาย ให้รู้ว่าคนเราจะ “ไมดี” ได้อย่างนั้น  เราจะต้องย้อนกลับไปยังบ่อเกิดของศิลธรรม อันได้แก่ ศาสนา  แต่น่าประหลาด ที่ศาสนากลับไม่ได้เป็นพื้นฐานของหนังสือ “เจ้าชาย” มาเคียเวลลี สอนเจ้าชายว่า ให้ทำท่าทางภายนอก ฉาบหน้า ประหนึ่งว่า นับถือศาสนาเสียเต็มประดา และนับถือทุกศาสนา  รูปลักษณ์ภายนอกที่เคลือบฉาบศาสนาคริสต์อยู่นั้น มาเคียเวลลี เห็นว่า “ดี”  แต่ว่าลึกลงไปแล้ว “เป็นโทษ”(harmful)

ศ.สมิธ บรรยายว่า เพื่อที่จะเข้าใจว่า มาเคียเวลลี สอนเราเรื่องศาสนาว่าอย่างไร  เราต้องศึกษางานอีกชิ้นหนึ่งของเขาที่ชื่อ “Discourse” ซึ่งมาเคียเวลลี เสนอกฎศิลธรรมอันเป็นปฏิปักษ์กันอยู่สองระบบ คือ กฎศิลธรรมคริสเตียน กับ กฎศิลธรรมมิจฉาทิฏฐิ(หมายถึง พวกนอกรีต)

หรือพูดอีกแบบว่า ศืลธรรมศาสนจักร กับ ศิลธรรมแบบอาณาจักร(worldly)  มาเคียเวลลี เขียนไว้ในหนังสือ “Discourse” ว่า...

“ศาสนาของเรา ยกย่องคนอ่อนน้อมถ่อมตน และคนช่างคิด เช่น พระ นักบวช (the humble and contemplative men)  มากกว่าที่จะยกย่อง นักปฏิบัติ(men of action)

ในทางศาสนา คุณงามความดีสูงสุดของมนุษย์ ได้แก่ ความถ่อมตน ความอดทน ความไม่ละโมบโลภมาก  ในขณะที่ศิลธรรมนอกศาสนจักร(ตรงนี้ หมายถึงศิลธรรมยุคโรมันโบราณ – ผู้สรุปภาษาไทย) ยกย่องความใจกว้าง ยกย่องคนที่ร่างกายแข็งแรง และคนที่รู้จักที่จะกระทำการอย่างกล้าหาญ 

ในกรณีที่ศาสนาของเรา  เกิดเรียกร้องว่า ขอให้ในตัวเจ้า มีความแข็งแรง  นั่นหมายความว่า ต้องการให้เราทนต่อความทุกข์ยากได้  ศาสนาไม่ได้กำลังจะให้เราสามารถกระทำการอย่างกล้าหาญ แต่ประการใดเลย”

การที่ศาสนาสอนให้คนนุ่มนวลลงนี้ มีผลร้ายต่อการเมืองการปกครอง  มาเคียเวลลี เห็นว่า การสอนในลักษณะนี้ ทำให้โลกอ่อนแอ  ทำให้คนตกเป็นเหยื่อของคนชั่วร้าย  ทำให้คนไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้ปกป้องความเป็นอิสระ และเสรีภาพแห่งตน

การสร้างบ้านสร้างเมืองของโรมันนั้น  ตำนานว่าแรกเริ่มเกิดจากที่พี่น้องฆ่ากัน  หลังจากนั้นได้มีการสถาปนาโรมกันใหม่ คือ เป็นการเกิดครั้งที่สองของโรม  ผู้ก่อตั้ง คือ นูมะ บุคคลผู้นั้นเห็นว่า ครั้งแรกโรมถูกสร้างด้วยกำลังอำนาจ  ครั้งที่สองนี้จะสร่างใหม่ด้วยความยุติธรรมและกฎหมาย ตลอดจนด้วยศรัทธาที่ถูกที่ควร(คือ มีศาสนา)

มาเคียเวลลี อ่านเรื่องสร้างกรุงโรมแล้ว ตั้งประเด็นเกี่ยวกับศาสนาว่า  เราไม่พึงประเมินศาสนาด้วยคำสอน  แต่พึงประเมินศาสนาด้วยผลต่อสังคม ที่ศาสนาก่อขึ้น

มาเคียเวลลี เห็นว่า ในยุคต้นของกรุงโรม ศาสนาจำเป็นเพื่อทำให้คนโรมันเชื่องลง ไม่กระหายสงคราม แต่สำหรับชาวเราวันนี้ (หมายถึง ยุคโน้นของมาเคียเวลลี) มาเคียเวลลี เห็นว่าศาสนาควรสนองสังคมในทางตรงกันข้ามกับแต่ก่อน  คือต้องสอนให้คนต่อสู้ มีจิตคิดสู้ไม่ถอย เพื่อป้องกันอิสรภาพของตน 

ศาสนาพึงสอนให้คนไว้ใจ อาวุธที่ตนพกอยู่ มากกว่าที่จะคิดพึ่งพระเจ้า  มาเคียเวลลี นำเรื่อง เดวิดสู้ยักษ์(โกลิอัท)ในไบเบิล มาดัดแปลงเล็กน้อย  แล้วเล่าใหม่ว่า เดวิดพกมีดไปด้วย เมื่อเขาไปสู้กับยักษ์

ศ.สมิธ สรุปว่า มาเคียเวลลี กำลังสอนเราว่า คิดพึ่งพระเจ้าได้อยู่หรอก แต่ควรพกมีดไปด้วย (เผื่อพลาด)  ศ.สมิธ เล่าเรื่องขำขันของนักมวยที่ขอให้พระช่วยสวดมนตร์วิงวอนให้แก่ตน พระบอกนักมวยว่า แล้วจะสวดให้ แต่ถ้าเอ็งต่อยหนัก ก็จะช่วยให้เรื่องมันง่ายขึ้น

ศ.สมิธ กล่าวว่า ถ้าจะว่ากันคร่าว ๆ นั่นก็คือ คำสอนของ มาเคียเวลลี

มาเคียเวลลี รู้สึกว่า ประเทศของเขาพร่องอย่างมากเรื่องคุณสมบัติด้านการต่อสู้ อันจะช่วยให้บ้านเมืองรุ่งเรืองรุ่งโรจน์  แล้วนี่ก็คือเค้าเรื่องของบทกวียืดยาวที่เขาเขียน  เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ - น้อยคนจะคิดว่า มาเคียเวลลี เขียนกวีไว้ด้วย บทประพันธ์ของเขาชื่อ “ความทะเยอทะยาน” ที่กล่าวหาและน้อยใจว่า เพื่อนร่วมชาติของเขา ขาดความสำนึกรับผิดชอบทางแพ่ง(สำนึกถึงบ้านเมือง)  และจึงสมควรได้รับการศึกษาเรื่องศิลปะการสงคราม(the art of war)

ศ.สมิธ อ่านข้อความสั้น ๆ จากบทกวีของ มาเคียเวลลี

          “ถ้าคุณกล่าวหาธรรมชาติว่า เป็นเหตุให้อิตาลีเสื่อมโทรม
          คำกล่าวหานั้น ไม่เพียงพอที่จะลบเลือนความขี้ขลาดตาขาวของเรา
          การศึกษา ย่อมช่วยเสริม ส่วนที่ธรรมชาติสร้างมาบกพร่อง
การศึกษาอันเข้มงวด ช่วยให้อิตาลีรุ่งเรืองและรุ่งโรจน์จนสามารถลุกขึ้นมาครองโลกโบราณ
          แต่บัดนี้ อิตาลีกลับตกอยู่ในสภาพน้ำตาตก มีชีวิตอยู่ใต้ซากปรักหักพัง และชตากรรม
          ที่เก็บเกี่ยวขึ้นจากการขาดความหมั่นเพียร อย่างยาวนาน”

มาเคียเวลลี เห็นว่า การขาดความหมั่นเพียรยาวนาน - ทำให้ผู้คนอ่อนแอ สันติสุขยาวนาน-ทำให้คนอ่อนแอ คนเราจะต้องทำตัวให้เข้มแข็ง จึงจะทำให้อิตาลีรุ่งเรือง

ศ.สมิธ สรุปว่า ประเด็นที่ มาเคียเวลลี จะพูดก็คือ ถ้าคุณอยากได้อิสรภาพ/เสรีภาพ คุณต้องรู้จักที่จะทำ “ไม่ดี” (how not to be good) อย่างน้อยก็ต้อง “ไม่ดี” ในสายตาของคริสเตียน  เราต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยให้มือเรา “สกปรก”  ประเด็นนี้ คือ สิ่งที่มาเคียเวลลีสอน ซึ่งตรงข้ามกับที่ศาสนาคริสต์สอน

เจ้าชาย ที่แท้จริงจะต้องเตรียมตัวที่จะรักประชาชนพลเมือง รักศิลธรรม โดยมีความโหดร้ายทารุณแฝงอยู่ด้วย ซึ่งผู้ปกครองที่ใหญ่ยิ่งทุกคน มีคุณสมบัติเช่นนี้

การรู้จักว่ากาลเทศะใดจะใช้ความโหดร้ายรุนแรง ก็เป็นความรู้สำคัญ  มาเคียเวลลี ใช้สำนวนว่า cruelty well-used – ความโหดร้ายทารุณที่นำมาใช้เป็นอย่างดี และนั่นเป็น “คุณงามความดี” แบบของ มาเคียเวลลี

ศ.สมิธ ยกตัวอย่างว่า สหรัฐฯยุคประธานาธิบดี คาร์เตอร์  เป็นยุคที่สับสนระหว่างคุณงามความดีทางศาสนา กับเหตุผลด้านการเมืองการปกครอง(reason of state) ประเด็นนี้เป็นประเด็นปรัชญาการเมืองการปกครองที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อว่า “problem of dirty hand” (ปมปรัชญาเรื่องมือสกปรก)  ปรัชญาข้อนี้เรียกชื่อตามบทละครการเมืองการปกครอง ของนักปรัชญาฝรั่งเศสร่วมสมัย นายฌัง-ปอล ซาร์ต

ละครของ ฌัง-ปอล ซาร์ต ท้องเรื่องเกิดในประเทศยุโรปตะวันออกที่สมมติขึ้น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  โดยพลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านสงคราม ต่อว่าต่อขานสมาชิกคนหนุ่มที่มาเข้าพรรคฯ แล้วเขาดึงดื้อ ลังเลา ที่จะกระทำการฆาตกรรมทางการเมือง ตามคำสั่งของพรรค คนในพรรคคอมมิวนิสต์ ถามเขาว่า คุณมาเข้ากับพวกเราทำไม? ความซื่อบริสุทธิ์เป็นคุณงามความดีแบบของพวกโยคี หรือพระ  คุณนึกว่า จะมีใครปกครองบ้านเมืองอย่างซื่อบื้อบริสุทธ์ไร้เดียงสา ได้หรือ? (governing innocently)

ศ.สมิธ กล่าว่า ประโยคที่ว่า “จะมีใคร ปกครองบ้านเมืองอย่างซื่อบื้อบริสุทธ์ไร้เดียงสา ได้หรือ?” นั้น เป็นคำพูดของ แซงต์ จุสต์ นักปฏิวัติผู้หนึ่ง ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส(เป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดี และนักประวัติศาสตร์บางคนลงความเห็นว่า เขาเป็นคู่เกย์ของ โรแบสปิแอร์ – ผู้สรุปภาษาไทย)

มาเคียเวลลี เชื่อง่าย ๆ ว่า คนแข็งแรงย่อมชนะคนอ่อนแอ เท่านั้นหรือ?  เขาเขียนหนังสือขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ แสดงเหตุผล สนับสนุนความจริงอันสามัญ ที่ประจักษ์แก่ตาทุกผู้ทุกนามข้อนี้  กระนั้นหรือ?

ลำดับต่อไป ศ.สมิธ ตั้งคำถามว่า มาเคียเวลลี คิดว่ารัฐบาลเช่นไร เป็นรัฐบาลที่ดีที่สุด?

ในตอนต้นของหนังสือ เจ้าชาย มาเคียเวลลี บอกว่า ระบอบการเมืองการปกครอง มีสองระบอบ คือ ระบอบสาธารณรัฐ(republic)  กับระบอบแว่นแคว้นของเจ้าชาย(principality)  แต่ละระบอบมีลักษณะพื้นฐานที่ตรงข้ามกัน  ลักษณะพื้นฐานดังกล่าว มาเคียเวลลีเรียกว่า “อารมณ์”(humour)

ในทุก ๆ สังคม มาเคียเวลลี เห็นว่า มีอารมณ์นำ อยู่สองอารมณ์ คือ อารมณ์ของประชาชนที่ไม่ต้องการถูกบังคับปกครองและกดขี่โดยผู้ยิ่งใหญ่  กับอารมณ์ที่ผู้ยิ่งใหญ่ต้องการปกครองบังคับกดขี่ประชาชนพลเมือง  มาเคียเวลลี บอกว่า นี่เป็นอารมณ์นำอันสำคัญของการเมืองการปกครอง

มาเคียเวลลี ได้อาศัยจิตวิทยาพื้น ๆ ดังกล่าว มาแบ่งชั้นชนในสังคมออกเป็นสองพวก ศ.สมิธ กล่าวว่า ทฤษฎีอารมณ์ ของ มาเคียเวลลี มีเค้าความคิดมาจาก เพลโต ที่ว่าด้วย จิตวิญญาณสามชนิด(three classes of the soul)

มาเคียเวลลี เห็นว่า แต่ละชั้นชนในรัฐถูกคุมโดยอารมณ์ โดยที่อารมณ์ทั้งสองนั้นไม่ได้มีพื้นฐานมาจากเหตุผล คือ พวกผู้ยิ่งใหญ่ถูกคุมโดยอารมณ์ที่ต้องการปกครองและกดขี่ประชาชน ส่วนพวกประชาชนก็มีอารมณ์ไม่ต้องการให้ใครมาปกครองหรือกดขี่

ศ.สมิธ กล่าวว่า คนทั่วไปอาจคิดว่า หนังสือ เจ้าชาย น่าจะเข้าข้างฝ่ายผู้ยิ่งใหญ่ แต่ที่จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น มาเคียเวลลี เป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายผู้ยิ่งใหญ่

ทั้งนี้ มาเคียเวลลี เห็นว่า วัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเมืองการปกครองของประชาชน บริสุทธิ์ผุดผ่องกว่า(more decent)วัตถุประสงค์ของผู้ยิ่งใหญ่  เพราะประชาชนไม่ต้องการถูกกดขี่ข่มเหง แต่พวกผู้ยิ่งใหญ่ปรารถนาจะกดขี่ประชาชน  ด้วยประการฉะนี้ มาเคียเวลลี จึงสอนว่า เจ้าชาย ต้องสร้างอำนาจวาสนาบารมี โดยอิงอยู่กับประชาชน แทนที่จะเกาะอาศัยผู้ยิ่งใหญ่ หรือพวกผู้ลากมากดี หรือพวกผู้ดี(noble)  เนื่องจากพวกผู้ลากมากดีมีความทะเยอทะยานต้องการมีอำนาจ  ดังนั้น จึงเป็นกลุ่มคน ที่จะคุกคาม เจ้าชาย อยู่เสมอ

ความเห็นของ มาเคียเวลลี ตรงกันข้ามกับ เพลโต และ อริสโตเติล สองคนหลังนี้เห็นว่าประชาชน(demos) มีอารมณ์ปรวนแปร ลมเพลมพัด ทำตามอำเภอใจ ไว้วางใจไม่ได้ จิตใจไม่มั่นคง  แต่ มาเคียเวลลี กลับเห็นว่า ลักษณะลมเพลมพัด ตามอำเภอใจ วางใจไม่ได้ เป็นลักษณะของพวกผู้ยิ่งใหญ่ ต่างหาก

ประสบการณ์เลวร้ายที่สุดที่ เจ้าชาย จะพบจากฝ่ายประชาชน ก็คือ ถูกประชาชนทอดทิ้ง  แต่กับกลุ่มผู้ยิ่งใหญ่ไฮโซนั้น  หากไปตีรังแตนเข้า พวกนั้นจะมุ่งร้ายหมายขวัญ เจ้าชาย  เพราะฉะนั้น พวกผู้ยิ่งใหญ่ จึงมีอันตรายต่อสวัสดิภาพของเจ้าชายมากกว่าพวกประชาชน

หน้าที่หลักของการเมืองการปกครอง จึงอยู่ที่การรู้จักบริหารจัดการกลุ่มผู้ยิ่งใหญ่ไฮโซ เพราะกลุ่มนี้จะเป็นแหล่ง หรือเป็นบ่อเกิด ของความขัดแย้งในบ้านเมืองเสมอ  ซึ่งก็เพราะความทะเยอทะยานประสงค์อำนาจนั่นเอง  เจ้าชาย จะต้องรู้จักจัดการกับความทะเยอทะยานดังกล่าว ให้เชื่องลง  ประเด็นนี้ ศ.สมิธ กล่าวว่า เราจะได้ศึกษากันในลำดับต่อไป เพราะจะเป็นประเด็นหลักในปรัชญาการเมืองการปกครอง ของ โธมัส ฮ็อป

สำหรับ เจ้าชาย มาเคียเวลลี ก็มีคำแนะนำไว้ว่า ให้ดำเนินการกำกับควบคุม ความทะเยอทะยานกระหายอำนาจของพวกผู้ยิ่งใหญ่ไฮโซ ด้วยการไต่สวนสาธารณะ พิจารณาคดีด้านการเมืองการปกครอง และการประหารชีวิต เช่น การประหารชีวิตด้วยการผ่าซีกทั้งเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ไฮโซรายหนึ่ง กลางลานในเมือง  ซึ่งสร้างความตกตลึง พรั่นพรึง ในหมู่ประชาชน แต่ในเวลาเดียวกันประชาชนก็นึกชอบ “พอใจ”  ภาษาอังกฤษว่า stupified and satisfied  นี่เป็นตัวอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อการกำกับควมคุมความทะเยอทะยาน ของพวกผู้ยิ่งใหญ่ไฮโซ แล้วชนะใจประชาชน ทำให้ประชาชนมาอยู่ข้างเรา(เจ้าชาย)

ศ.สมิธ สรุปว่า ถึงแม้ว่า เจ้าชาย จะไม่ใช่พวกนิยมประชาธิปไตย  แต่ เจ้าชาย รับรู้ถึงความบริสุทธิ์ของประชาชน(decency)  และรับรู้ความจริงทางการเมืองการปกครอง ที่จะต้องรักษาศรัทธาของประชาชนไว้ ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง(decency)ของประชาชนนั้น หมายความว่า ประชาชนปราศจากความทะเยอทะยานกระหายอำนาจ ที่จะควบคุมบังคับกดขี่ผู้อื่น

แต่ ความบริสุทธิ์ลักษณะนี้ มีข้อเสีย และไม่ใช่ “ความดี”(goodness)  ข้อเสียของฝ่ายประชาชนก็คือ ชอบที่จะจมลงสู่ความเกียจคร้าน เห็นกิจการ การบ้านการเมืองการปกครอง เป็นเรื่อง “ธุระไม่ใช่”  เพราะฉะนั้น ประชาชนพึงได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการรู้จักปกป้องคุ้มครองอิสรภาพของตนเอง  อดีต 1,500 ปี ที่ยุโรปตกอยู่ภายใต้คำสอนคริสเตียนนั้น มาเคียเวลลี เห็นว่า ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ไร้ขีดความสามารถที่จะสำแดงกำลังความรับผิดชอบด้านการเมืองการปกครอง

เจ้าชาย จึงมีหน้าที่ ควมคุมความกระหายอำนาจของพวกผู้อยากใหญ่อยากโต และขณะเดียวกัน ก็มีหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้เกิดในหมู่ประชาชน

ศ.สมิธ อ้างว่า ผู้อ่านงานของ มาเคียเวลลี บางคนเชื่อว่า มาเคียเวลลี เป็นนักประชาธิปไตยประเภท “แอบจิต”  เขียนหนังสือขึ้นมาเตือนผู้คนให้ระวัง เจ้าชาย ไว้ให้ดี เช่น สปิโนซา เขียนวิจารณ์มาเคียเวลลีไว้ว่า

“มาเคียเวลลี ต้องการแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ประชาชนจะต้องระมัดระวังเพียงใด ก่อนที่จะมอบความไว้วางใจแก่ เจ้าชาย เพียงผู้เดียว  มาเคียเวลลี เป็นคนมองการณ์ไกล และเห็นแก่อิสรภาพ เสรีภาพ”

สปิโนซา วิจารณ์ว่า หนังสือ “เจ้าชาย” นั้น มาเคียเวลลีเขียนขึ้นมาเหน็บแหนม เสียดสี การปกครองของเจ้าชาย ต่างหาก

ผู้อ่านที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง คือ ฌัง-ฌาค รุสโซ เขียนแสดงความเห็นไว้ว่า

“มาเคียเวลลี เป็นคนมีเกียรติ และเป็นประชาชนที่ดี ซึ่งทำงานอยู่กับตระกูลเมดิชิ เขาจำต้องซ่อนเร้นความรักเสรีภาพเอาไว้  หนังสือ เจ้าชาย จึงเขียนขึ้นซ่อนเร้น  โดยคำสอนแท้จริงของหนังสือเล่มนั้น ได้แก่ เสรีภาพของประชาชน”

สาธารณรัฐโบราณ รุ่นเพลโต อริสโตเติล ถูกปกครองโดยกลุ่มผู้ลากมากดีไฮโซในสังคม เป็นสุภาพบุรุษผู้มั่งคั่ง งานการไม่ทำ ชีวิตสุขโขสโมสร (wealth and leisure) เพลโต อริสโตเติล เห็นว่า คนกลุ่มนี้สามารถคิดนโยบายที่ดีได้ และปกครองบ้านเมืองได้

แต่ มาเคียเวลลี ต้องการผันทิศทางแห่งอำนาจ ให้เห ออกจากกลุ่มคนชั้นสูง เขาต้องการให้ประชาชนเป็นฝ่ายชี้นำบ้านเมือง และได้มีอำนาจการเมืองการปกครอง

ทำไม มาเคียเวลลี ต้องการเช่นนั้น?

เหตุผลประการหนึ่งก็คือ มาเคียเวลลี เห็นว่าประชาชน(หรือ มวลประชาชน) มีความมั่นคงหนักแน่น เพียงแต่ขอให้ได้สอนประชาชนให้รู้จักรักเสรีภาพแห่งตน รู้จักปกป้องอิสรเสรีภาพ ประชาชนก็จะเป็นรากฐานสำคัญเพื่อความรุ่งเรืองของรัฐ และเมื่อมีประชาชนเป็นพวก เจ้าชาย ก็จะบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องความเข้มแข็งของบ้านเมือง และเพื่อความเลื่องลือในเกียรติยศสำหรับตัว เจ้าชาย เอง

ท้ายที่สุด มาเคียเวลลี ก็แสดงความปรารถนาให้ชาวอิตาลี ลุกขึ้นมารักเสรีภาพ และขับไล่ชาวต่างชาติที่มายึดครองดินแดนอิตาลี

สรุปแล้ว กับหนังสือ เจ้าชาย นั้น มาเคียเวลลี ประสบผลสำเร็จอะไรบ้าง? เขาบรรลุความปรารถนาที่จะสร้างทวีปใหม่ให้แก่ ปรัชญาการเมือง หรือไม่?

ศ.สมิธ กล่าวว่า มาเคียเวลลี ประสบความสำเร็จในการแยกปรัชญาการเมือง(ใหม่) ออกเสียจากปรัชญาการเมืองรุ่นโบราณ(รุ่นกรีก-โรมัน) และแยกออกเสียจากการครอบงำของคัมภีร์ไบเบิล  เจ้าชายรุ่นใหม่ของมาเคียเวลลี รู้จักใช้ศาสนาให้เป็นประโยชน์เพื่อการเมืองการปกครอง ไม่ใช่ปล่อยให้ศาสนามาครอบงำการเมืองการปกครอง และเจ้าชาย ไม่ใช่เด็กในคาถาของพระคัมภีร์

นอกจากนั้น มาเคียเวลลี ยังได้นำเสนอ “ประชานิยม” รูปแบบหนึ่ง คือ ต้องการให้โยกย้ายอำนาจการเมืองการปกครอง จากชนชั้นสูง ไปยังชนชั้นสามัญในสังคม  บ้านเมืองกลายเป็นสาธารณรัฐแบบใหม่ ไม่ใช่สาธารณรัฐแบบกรีกโรมัน  ทั้งนี้ โดยที่มาเคียเวลลี จินตนาการถึงสาธารณรัฐ(แบบของเขา)ที่กระหายสงคราม ต้องการขยายตัว บริโภคความขัดแย้งเป็นภักษาหาร มีลักษณะจักรวรรดินิยม

ศ.สมิธ ถามนักศึกษาว่า ฟังดูคุ้น ๆ ใช่หรือไม่?  นี่คือ “เรา”(สหรัฐอเมริกา) ใช่ไหม?

ศ.สมิธ แนะนำให้นักศึกษาอ่านบทความที่ตนเห็นว่าดีน่าอ่าน ในวารสารรีปัปบลิกฉบับใหม่ เป็นบทความของ นายโรเบิร์ต เคกัน เขียนเรื่อง “Cowboy nation” ยกหลักฐาน มาพิสูจน์และแสดงเหตุผลอย่างน่าเชื่อถือ ว่า สาธารณรัฐอเมริกัน ตั้งแต่เริ่มต้นเลย มีลักษณะกระหายดินแดน กระหายสงคราม ก้าวร้าว...

สหรัฐอเมริกา ได้แย่งดินแดนมาจากพวกอินเดียนแดง ซื้อดินแดนหลุยเซียนาจากฝรั่งเศส และทำสงครามแย่งดินแดนกับเม็กซิโก และสเปน และ ฯลฯ  กระทั่งล่วงถึงศตวรรษที่ 20 จนย่างเข้าศตวรรษที่ 21 ก็ยังมีลักษณะจักรวรรดินิยม  โรเบิร์ต เคกัน บอกว่า นั่นคือ ประวัติศาสตร์ของเรา(อเมริกัน)

สิ่งที่ เคกัน ไม่ได้พูดก็คือ ลักษณะเช่นนี้มิใช่เป็นเพราะเป็นอเมริกัน คือ ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของประเทศสหรัฐฯ  แต่เป็นเพราะว่า “สาธารณรัฐ”ที่มีระบอบการเมืองการปกครอง(เรจีม)แบบนี้ ย่อมกระหายสงคราม เช่นเดียวกับที่เคยมีผู้พรรณนาสาธารณรัฐโรมันว่า คล้ายสุนัขป่า(wolf-like)

ศ.สมิธ ถามนักศึกษาว่า เราเป็นสาธารณรัฐแบบของมาเคียเวลลีกันมาโดยตลอด ใช่หรือไม่? 


-------------------------------------------------------------------------------------------------------

สนใจต้นฉบับวีดีโอ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง
New Modes and Orders: Machiavelli's The Prince (chaps. 13-26)

สนใจ คำบรรยาย ตอนอื่น ๆ ทั้งหมด เชิญตามลิงก์
https://pricha123.blogspot.com/p/blog-page_21.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น