ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์
สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย
เยล
Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย
เลอไวเอธาน ของ โธมัส ฮ็อปป์
ตอน 2/3
การบรรยายครั้งนี้ ศ.สมิธ เปิดประเด็นเรื่อง
“สภาพธรรมชาติ”(the state of nature) ซึ่งเป็น
“การค้นพบ” ที่น่าทึ่งของ โธมัส ฮ็อปป์
ทั้งนี้ โดยที่ท้ายตอนที่แล้ว
ศ.สมิธได้แถลงหัวใจของปรัชญาการเมืองการปกครองของ ฮ็อปป์ ว่าอยู่ที่คำถาม
หรือข้อสงสัย ที่ว่าอะไรคืออำนาจ/อำนาจหน้าที่(authority) อะไรที่เป็นเหตุทำให้อำนาจ/อำนาจหน้าที่
เป็นไปได้?อะไรที่ทำให้อำนาจ/อำนาจหน้าที่ ถูกต้องตามกฎหมาย?
เพื่อที่จะตีประเด็นดังกล่าวให้แตก
ฮ็อปป์เสนอแนวคิดเรื่อง “สภาพธรรมชาติ”
สำหรับ ฮ็อปป์ สภาพธรรมชาติ
ได้แก่สภาพชีวิตมนุษย์ในกรณีที่ปราศจากกฎระเบียบ กฎหมาย มาตีกรอบ ในสภาพเช่นนั้น
ชีวิตมนุษย์จะเป็นฉันใด? เช่น ในภาวะสงครามกลางเมือง บ้านแตกสาแหรกขาด ตัวอย่างในชีวิตจริงของ
ฮ็อปป์ ก็คือ สภาพบ้านเมืองอังกฤษในช่วงสงครามกลางเมือง ค.ศ.1640 เป็นต้น
ฮ็อปป์ ใช้วิธีศึกษาอย่างเป็น “วิทยาศาสตร์”
ซึ่งเขาวางแนวไว้ตั้งแต่ตอนต้นของหนังสือ
เขาขอให้เราลองใช้การทดลองทางความคิด(thought
experiment) ลองคิดดูว่าถ้ามนุษย์อยู่ในหลอดทดลองขนาดใหญ่
มนุษย์ถูกปอกเปลือก ลอกออกเสียจากคุณลักษณะทางสังคม ขนบธรรมเนียม
ประเพณีทั้งปวง มนุษย์จะอยู่ในสภาพเช่นไร?
หลังจากนั้น ให้พิจารณษดูว่า
มนุษย์ในสภาพเช่นนั้น จะติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกันและกันอย่างไร?
ศ.สมิธ ลงความเห็นว่า ฮ็อปป์ เป็นนักศิลธรรม(a moralist) ซึ่งเป็นความเห็นที่แปลกประหลาด
คนที่มองโลกมืดมนอย่างนั้น จะเป็นนักศิลธรรมได้อย่างไร
ฮ็อปป์เสนอการมองคนเป็น “ปัจเจก”(individual) และเห็นว่า ปัจเจก คือ ตัวพาหะของศิลธรรม ความคิดชนิดนี้จะไม่เก่าเกินศตวรรษที่ 17
เพราะก่อนหน้านั้น มนุษย์ในอารยธรรมตะวันตกไม่ได้มองตัวเองเป็น ปัจเจก โดด ๆ แต่มองว่าตนเป็นคนในสังกัดอะไร เช่น
สังกัดตระกูลนั้นตระกูลนี้ สังกัดเมืองนั้น สมาคมอาชีพโน้น หรือ คนในศาสนานั้น
นิกายนี้ คนสมัยโน้นไม่มองตัวเองเป็น
“ปัจเจก”
ศ.สมิธ อ้างว่า แม้กระทั่งศตวรรษที่ 19 อะเล็กซี
เดอ ต็อควิลล์ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสผู้เดินทางมาสังเกตการณ์ความเป็นไปในสหรัฐอเมริกา
เขียนไว้ในหนังสือ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” อันมีชื่อเสียงของเขา ว่า
ความเป็นปัจจเจก เป็นศัพท์สำนวนใหม่ ถือกำเนิดจากความคิดใหม่ ศ.สมิธ เห็นว่า
แนวคิดใหม่เรื่องปัจเจกนั้น สามารถสาวไปได้ถึง ฮ็อปป์
โดยที่ ฮ็อปป์ มองว่า เราเป็น “ตัวตน”(being) ที่มีพื้นฐานอยู่กับเจตนา และ การเลือก(willing
and choosing) เราเป็นตัวตนที่แสดงเจตนาด้วยการกระทำ
ความสุขของคนเราขึ้นอยู่กับว่าสามารถกระทำการตามเจตนาได้มากน้อยแค่ไหน
และสามารถเลือกกระทำได้มากแค่ไหน ชีวิตเป็นการแสดงเจตนาที่ต่อเนื่อง
และเป็นการกระทำการเลือกที่ต่อเนื่อง จนกระทั่งตาย ทั้งนี้ความสุขคือได้ดังปรารถนา ส่วนการอยู่ดี(well-being)
ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถที่เราจะได้สมปรารถนาในสิ่งที่เราเลือก
สภาพดังกล่าวนี้ คือ ความสุข
เป็นไปไม่ได้ดอกที่คนจะหยุดปรารถนา
ชีวิตคือการเคลื่อนไหวไปตามความปรารถนา เคลื่อนไหวไปตามความกลัว
และตามการรับรู้ของอายตนะ(desire, fear, and senses) นี่คือ
คุณสมบัติของชีวิตตามความเห็นของ ฮ็อปป์
แม้แต่ศัพท์ทางศิลธรรม เช่น ดี ชั่ว
ก็ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความชอบ หรือไม่ชอบ ของปัจเจก คนเราชอบอะไร ไม่ใช่เพราะว่าสิ่งนั้นดี
แต่เราบอกว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดดี ก็เพราะเราชอบมัน
และก็เพราะความเป็นปัจเจกนี่เอง
ที่ทำให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขัน และสงคราม ศ.สมิธ ยกความเห็นในหนังสือบทที่ 11
ความว่า
“มนุษย์เราทั้งหลาย
ชอบที่จะปรารถนาอำนาจไม่มีที่สิ้นสุด กระทั่งตาย”
อีกนัยหนึ่งเป็น general
inclination of all mankind
ลักษณะอีกประการของ ฮ็อปป์
ที่เป็นปรัชญาพื้นฐานได้แก่เรื่อง “จิตกังขา”(skepticism) ที่เกิดจากปริศนาที่ว่า “What can I know.” – ฉัน
สามารถ รู้ อะไร? หรือ “What am I entitled to believe?” –
ฉัน มี สิทธิ ที่จะ รู้ อะไร?
ประเด็นนี้เป็นข้อปรัชญาที่นักปราชญ์รุ่นนั้น
เช่น มงแตนญ์ เดส์การ์ต สปิโนซา เป็นต้น ก็พยายามจะไขปัญหาด้วยเหมือนกัน เรื่องนี้ชี้ถึงพื้นฐานแห่งจิตกังขา
ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องความรู้
ฮ็อปป์ เห็นว่า เหตุผลก็คือความรู้จักคิด ด้วยการบวกลบคูณหาร
นาม(ศัพท์)ต่าง ๆ ที่ยอมรับกันทั่วไป
อีกนัยหนึ่ง ความรู้เป็น “สิ่งสร้าง”ของมนุษย์(human construction) ที่สร้างขึ้นจาก นาม(ศัพท์)ต่าง ๆ
ที่ยอมรับกันทั่วไปอยู่ก่อนแล้ว คือเป็น shared terms
เพราะฉะนั้น เมื่อความรู้เป็นสิ่งสร้างของมนุษย์
เรื่องที่เพลโต และอริสโตเติล สอนไว้เกี่ยวกับ “สติปัญญาของเทวดา”(devine intelligence) ที่มีสิทธิมาคอยกระซิบอยู่ในส่วนลึกของจิตใจคน
สติปัญญาเทวดาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากคน เทวดาเป็นสิ่งที่ไม่ใช่คน ดังนี้
คำสอนของเพลโตและอริสโตเติล จึงไม่ถูกต้อง
ประเด็นนี้ นำไปสู่เรื่องของความเชื่อและศรัทธาในศาสนา
ด้วยเหตุที่มนุษย์อยากรู้ไม่มีที่สิ้นสุด
มนุษย์ค้นหาต้นตอของสิ่งต่าง ๆ เมื่อค้นไปค้นมาก็พบ “พระเจ้า”
ว่าเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง
ฮ็อปป์ไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง “วิวรณ์”(revelation) แต่ ฮ็อปป์เห็นว่า
ผู้ใดได้รับ “วิวรณ์”(มาจาก พระเจ้า) ผู้นั้นไม่มีสิทธิมาบอกกล่าวให้ผู้อื่นเชื่อตามตน
เพราะว่า ผู้อื่นทั้งหลาย ไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่า บุคคลผู้นั้นรับ “วิวรณ์”(revelation) มาอย่างนั้นจริง
ดังนั้น จะว่า ฮ็อปป์ ไม่นับถือพระเจ้าก็ไม่ได้
ศ.สมิธ กล่าว และกล่าวต่อไปว่า ฮ็อปป์ ไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง “วิวรณ์”(revelation)อันเป็นความเชื่อพื้นฐานของคริสต์ศาสนา(และศาสนาอิสลาม
– ผู้สรุปภาษาไทย) เพียงแต่ ฮ็อปป์ ปฏิเสธว่า บุคคลผู้รับวิวรณ์มา
ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำความรู้นั้นมาบังคับให้ผู้อื่นเชื่อตาม
เพราะผู้อื่นไม่มีทางพิสูจน์ได้
ศ.สมิธ กล่าวว่าประเด็นนี้ไม่ได้ส่อว่า ฮ็อปป์
เป็นคนนอกศาสนา(คริสต์) แต่ส่อว่า เขาผู้ถือปรัชญา “จิตกังขา”(skepticism)
ในสภาพธรรมชาติที่ปราศจากกฎระเบียบใด ๆ
อำนาจ/อำนาจหน้าที่(authority) ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร?
มนุษย์แต่ละคนที่เป็นปัจเจกอันแตกต่างกัน ปรุงขึ้นจากปัจจัยนานาที่ไม่ซ้ำกันเสียทีเดียว
ปัจเจกเหล่านั้น จะมาเชื่อฟังกฎระเบียบกฎเดียวกันได้อย่างไร?
หรือมีความสำนึกเรื่องพันธกรณีศิลธรรมต่อกันและกัน ได้อย่างไร? คำถามเหล่านี้แฝงอยู่ในหนังสือ เลอวิเอธาน
แทบจะทุกหน้าก็ว่าได้
ตามสภาพธรรมชาติ ใช่ว่าปัจเจกแต่ละคนจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่เกี่ยวข้องกัน หามิได้ คนยังติดต่อสัมพันธ์กันในสภาพธรรมชาติ
เพียงแต่ว่าการติดต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสภาพเช่นนั้น ไร้แบบแผน
ไม่ได้มีกฎระเบียบใด ๆ มาควบคุมกำกับ
สภาพธรรมชาติเป็นสภาพไร้กฎเกณท์
ทุกคนเป็นปฏิปักษ์กับคนอื่นทุกคน(all against
all) ความระแวงและไม่ไว้ใจกันแฝงอยู่ทั่วไป ฮ็อปป์ บอกผู้อ่านว่า อย่าเชื่อเขา(ตัวฮ็อปป์เอง)
ให้ถามตัวเองดูว่า เวลาเข้าบ้านแล้ว คุณล็อคประตูหรือเปล่า? หรือเวลาออกเดินทางไกล
ทำไมคุณต้องมีอาวุธติดตัว? นี่เป็นข้อพิสูจน์ใช่หรือไม่ว่า มนุษย์วางใจกันไม่ได้ –
ทั้ง ๆ ที่ เราอยู่อาศัยในสังคมบ้านเมืองที่มีกฎหมายและมีผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
สภาพธรรมชาติสำหรับ ฮ็อปป์
ไม่ใช่สภาพบ้านป่าเมืองเถื่อน
การล็อคประตูบ้านยามค่ำคืนเกิดขึ้นในบ้านเมืองปกติของมนุษย์ สภาพธรรมชาติอยู่กับเราตลอดเวลา
ความรู้สึกไม่มั่นคง บอกให้เรารู้ว่า นี่คือ สภาพธรรมชาติ
ทำอย่างไร เราจะพ้นจากสภาพธรรมชาติ
สู่สภาพสังคมศิวิไลซ์?
ฮ็อปป์ บอกว่า มนุษย์มีอารมณ์จูงใจอย่างแรง(passion) ที่สำคัญอยู่สองประการ คือ ความเย่อหยิ่งจองหอง
กับ ความกลัว (pride and fear) ซึ่ง มาเคียเวลลี
ก็ได้พูดเรื่องคล้ายกันนี้ เมื่อเขากล่าวถึง “อารมณ์นำ” ของชนสองชั้นในสังคม คือ
ความปรารถนาของคนร่ำรวยผู้มีอำนาจ ที่จะควบคุมกำกับผู้อื่น กับ
ความปรารถนาของคนจนและไร้อำนาจวาสนา ที่ไม่ต้องการจะให้ใครมาบังคับขับไส
หรือเคี่ยวเข็ญ
ความเย่อหยิ่งจองหองนั้น ฮ็อปป์เห็นว่า
เป็นความปรารถนาที่จะเป็นหนึ่ง เป็นเอก เป็นคนแรก(the
desire to be first) ตลอดจนปรารถนาจะถูกเห็นเป็นคนแรก(ปรากฏให้คนอื่นเห็นเป็นคนแรก)
หรือ to be seen to be first….. ฮ็อปป์เห็นว่า
ความเย่อหยิ่งจองหองเป็นสภาพของคน ที่มั่นใจในตัวเองอย่างเกินจริง ฮ็อปป์ ถือว่า ความเย่อหยิ่งจองหองพองขน
มีค่าเท่ากับ ความเพ้อเจ้อ ละเมอเพ้อพก หรือเพ้อฝัน หรือความเพ้อเฉย ๆ(vanity)
พูดอีกแบบว่า เป็นความมั่นใจในตนเองที่เกินจริง และเกินการ (over
self-confidence) นึกว่าตนเองเหนือคนอื่น
เมื่อเห็นว่า ความเย่อหยิ่งจองหองพองขน เป็นอารมณ์จูงใจประการสำคัญของมนุษย์ เรื่องอันตรงข้ามกัน อันได้แก่ ความกลัว(fear) ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ฮ็อปป์ เชื่อว่า
ความกลัวที่ว่าตนเองจะถึงตายเมื่อใดก็ได้ ใครจะรู้
นี่เป็นความกลัวที่แฝงเร้นอยู่กับสภาพธรรมชาติ
ศ.สมิธ กล่าวว่า ข้อนี้ ฮ็อปป์ อาจจะมองเกินเลยไปหน่อย ก็เป็นได้
แต่ความกลัวมีมากชนิด กว่าความกลัวตายอย่างเดียว ความกลัวยังครอบคลุมถึง ความกลัวการสูญเสีย
กลัวว่าสังคมจะมองว่าตนเป็น “ผู้แพ้”(loser)
ซึ่งจะนำความอับอายขายหน้ามาให้
เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ว่า
“คนอื่นจะมองเราอย่างไร” จึงเป็นพื้นฐานปรัชญาสังคมของ ฮ็อปป์ เขาพยายามหาคำตอบว่า
“แล้วเราจะปราบเรื่องนี้ให้เชื่องลง ได้อย่างไร?”
โดยเฉพาะ ความเย่อหยิ่งจองหองนั้น ฮ็อปป์ต้องการจะทำให้เชื่องลง
อย่างมาก ชื่อหนังสือว่า เลอวิเอธาน
มาจากความหมายว่า king of children of
pride “ราชา แห่งความเย่อหยิ่งจองหอง” ศ.สมิธ กล่าวว่าประเด็นเรื่องการลดทอนความจองหอง
มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล ศ.สมิธ
ยกคำคัดจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ว่า
“Pride never helps, it only hurts.” – ความจองหองไม่เคยช่วยอะไรเรา
มีแต่จะทำร้ายเรา
สำหรับ ความกลัว นั้นเล่า
ก็เป็นเหตุให้คนละทิ้งสภาพธรรมชาติ หันหน้าเข้าหานาครธรรม คนไม่ได้ทิ้งธรรมชาติด้วยเหตุผล
แต่ทิ้งธรรมชาติด้วยความกลัว ความกลัวตายทำให้คนมองหาสันติภาพ อย่างไรก็ดี
มีคนหลายคนไม่กลัวตายอย่างที่ควรจะกลัว เช่น ผู้ดีชั้นสูงผู้ประสงค์ความตาย
มากกว่าความเสื่อมเกียรติ
คนคลั่งศาสนาผู้ยอมตายเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ รวมทั้ง ปัจเจก ผู้เสี่ยงตายป่ายปีนขึ้นยอดเขาเอฟเวอเรสต์
เพื่อให้ได้เกียรติประวัติ
หนังสือ เลอวิเอธาน สอนคนให้เห็นอันตรายของความเย่อหยิ่งจองหอง
และเห็นคุณค่าของสันติภาพ
เมื่อได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี
ความกลัวจะนำไปสู่สันติภาพ ไปสู่นาครธรรม(civil
society) ความกลัวจุดประกายให้คนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล
และมุ่งหาสันติสุข
ต่อจากนั้น ฮ็อปป์ เสนอยกร่างกฎธรรมชาติ 19
ประการ ซึ่ง ศ.สมิธ ไม่ลงรายละเอียด
แต่ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวเป็นบางประการ ฮ็อปป์เชื่อว่ากฎธรรมชาติดังกล่าวนั้น
เป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมแพ่ง-นาครธรรม(civil
society) เป็นกฎที่คนพึงปฏิบัติ แต่กฎดังกล่าวนั้นถูกเรียกว่า กฎธรรมชาติ
ซึ่งเป็นการเรียกชื่อที่ไม่เหมาะสม ศ.สมิธ
ถามว่า ถ้า ฮ็อปป์ เห็นว่าไม่เหมาะสม
เหตุใดจึงเรียกกฎนั้นว่า “กฎธรรมชาติ” หรือว่า
ฮ็อปป์กำลังให้เกียรติวิธีคิดวิธีพูด ของคนโบราณ ที่มักอ้าง “ธรรมชาติ”
กฎธรรมชาติของ ฮ็อปป์ เป็นคล้าย ๆ
ข้อสันนิษฐานเชิงเหตุและผล เช่น ถ้าคุณต้องการ X คุณต้องทำ Y ดังนี้เป็นต้น ถ้าคุณต้องการสันติสุข
คุณต้องทำอย่างนี้ ฯลฯ แล้ว ฮ็อปป์
เรียกวิธีทำทั้ง 19 ประการนั้นว่าเป็น กฎธรรมชาติ และขณะเดียวกันก็เป็นข้อศิลธรรมด้วย
ในช่วงนี้ ศ.สมิธ วิจารณ์
ความคิดเรื่องกฏธรรมชาติของ ฮ็อปป์ ว่า
ดูจะเป็นกฎศิลธรรมที่สรุปลงได้ประโยคเดียวว่า “จงแสวงหาสันติภาพ
มากกว่าที่จะแสวงหาสิ่งอื่น”(to seek
peace above all other goods)
ฮ็อปป์ได้เปรียบเทียบ สงคราม กับ สันติภาพ สรุปได้ว่า
อารยธรรมมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นจากภาวะสันติสุข
ศ.สมิธ วิจารณ์ด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมสันติภาพจึงสำคัญมากขนาดนั้น
เรื่องอื่น ๆ เช่น ความยุติธรรม เกียรติยศ ศรัทธา หรือชีวิตที่ได้รับการตรวจสอบ(the examined life) ด้อยค่ากว่านั้นหรือ
ศ.สมิธ สรุปชี้ลงว่า สันติภาพ/สันติสุข
นำไปสู่ชีวิต ฮ็อปป์
เห็นว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่างก็รักชีวิตของตน
ดูเหมือนว่าสิ่งมีชีวิตมีสิทธิโดยธรรมชาติที่จะมีชีวิตอยู่ ฮ็อปป์เห็นว่า
การอนุรักษ์ชีวิตไม่เพียงเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เป็น “สิทธิโดยชอบธรรม”
เป็นข้อศิลธรรมของมนุษย์
แต่กระนั้น ฮ็อปป์ เขียนไว้ด้วยว่า
“The value
or worth of a man is of all things his price.”
ข้อความนี้ คาร์ล มาร์ก ได้นำไปพูดต่อ
เพื่อแสดงให้เห็นความใจดำของสังคมกฎุมพีของ ฮ็อปป์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
สนใจ ต้นฉบับวีดีโอ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง
The
Sovereign State: Hobbes' Leviathan
สนใจ คำบรรยาย ตอนอื่น ๆ ทั้งหมด เชิญตามลิงก์
https://pricha123.blogspot.com/p/blog-page_21.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น