open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560

Village Life: สวัสดีปีใหม่ ผมไม่ใช่ จิ้งหรีด นะครับ



          หัวเรื่องมีความหมายว่า ผู้เขียนบลอคมีชีวิตอยู่ด้วยการกินข้าว ไม่ใช่กินน้ำค้าง

          และเบอร์บัญชีของผม ที่ปรากฏอยู่ในคอลัมน์ขวามือท่าน บนหน้าบลอค บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เลขที่ 804-0-22901-4

          มันปรากฏอยู่ที่นั่นอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่โพสต์ไว้เล่น ๆ นะพี่

          นี่ไม่ใช่การเรี่ยไร ซึ่งผิดกฎหมายพ.ร.บ.เรี่ยไร  แต่นี่เป็นการ “ต่างตอบแทน”  หรือที่ภาษาอังกฤษกฎหมาย ตามพจนานุกรมนิติศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เรียกว่า reciprocity และแปลไว้ว่า “การตอบสนองกัน” หรือ “การถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ”

          อย่างไรก็ดี สำหรับผู้เขียน(บลอค)เรื่องนี้มีความหมายเป็นรูปธรรมชัดเจน จะขอใช้คำศัพท์บ่งชี้ชัดว่าเป็น “สัญญาต่างตอบแทน” หรือ reciprocal contract

          ตายโหง เขียนจนมึนเลยกู ดูซิดู ความที่กลัวจะติดตะราง

          เอางี้แล้วกัน จะทำแบบเดียวกับพวกเว็บไซด์ขายหนังโป้ คือ ฉายให้ดูฟรีสักแปดสิบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์  ถ้าจะชมส่วนที่ขยักเอาไว้ จะต้องจ่ายตัง

          สมมติว่า ผมจะเสนอบทความเรื่องทำนอง “ระบอบประชาธิปไตย มีข้อเสียอย่างฉกาจอย่างไรบ้าง?” ก็จะขยักช่วงตอนที่เด็ด ๆ ไว้โดยทำเป็นเส้นประ.......... สักสิบเปอร์เซ็นต์หรืออาจจะน้อยกว่านั้นอีก ไม่ถึงกับงกจัดหรอก งกนิด ๆ พอให้ชีวิตตื่นเต้น ครับ

          ที่เส้นประดังกล่าว จะทำมีรูป นางกวัก กำกับแจ้งไว้ชัดเจน ดังนี้ 

       


เส้นประ....................พื้นที่เชิงพาณิชย์ เติมเงินมา —แล้วจะเติมเนื้อหาเต็ม
หากสงสัย – โปรดอ่านคำชี้แจงที่ "ผมไม่ใช่ จิ้งหรีด นะครับ"



          พอพี่ใหญ่โอนเงินเข้าบัญชี ไม่ต้องมากครับ ร้อยสองร้อยก็พอแล้ว ผมก็จะปลดล็อคเส้นประ......................จะเติมข้อความให้เต็มในสัปดาห์ถัดไป  ถ้ามีคนโอนมาสักรายสองรายก็ปลดล็อคแล้วครับ และปลดให้สำหรับทุกท่าน  จะกลายเป็นงานสาธารณะไปทั้งชิ้น  แม้ท่านที่ไม่ได้โอนเงินเข้ามาก็สามารถอ่านได้  คือว่าเราอย่า งก กันเกินไป เอาพอตื่นเต้นก็พอ

          ถึงแม้ผมจะไม่ใช่จิ้งหรีดกินน้ำค้าง  แต่ผมก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ประหยัดมาก หรือมาก ๆ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้จ่ายเงินมากมายอะไร  เงินทองที่ท่านผู้อ่านบลอคที่รัก – my dear blog readers โอนเข้าบัญชีให้นั้น จะถูกใช้จ่ายเพื่อการกินอยู่ประจำสัปดาห์ ไม่นำไปฟุ่มเฟือยที่ไหน  ถ้าจะสุขสันต์บันเทิงจะใช้เงินจากแหล่งอื่นครับ เพราะยังพอมี passive income เล็ก ๆ น้อย ๆ จากแหล่งอื่น ๆ อีกแหล่งสองแหล่ง เช่น ตัดปาล์มขาย เป็นต้น

          ค่าใช้จ่ายประจำสัปดาห์ หรือเดือน ของผู้เขียนซึ่งเลี้ยงสุนัขสองตัว เป็นดังนี้

          ซื้อข้าวสารชนิดถูกสุดมาหุงกิน  ที่ตลาดหลังสวนเขาขายกิโลละ 15 บาท ซื้อครั้งละหนึ่งกิโล แล้วซื้อข้าวสารชนิดดีขึ้นนิดนึง กิโลละ 20 บาท อีกหนึ่งกิโล กับซื้อข้างกล้องปากพนัง เป็นข้าวแดง กิโลละ 33 บาท อีกหนึ่งกิโล

           ข้าวสารสามกิโล สามชนิด สามราคา นำมาคลุกเคล้าผสมกัน  ตักมาหุงทีละ สองจอกเล็ก ๆ หุงหม้อเดียว กินได้ทั้งคนและหมา  ข้าวสารสามกิโลนั้นกินได้ประมาณสัปดาห์เศษ ๆ หรืออาจจะสองสัปดาห์

          จะเล่าให้ฟังว่า ข้าวสารชนิดถูกที่สุด ราคากิโลละ 15 บาท ซึ่งซื้อมากินประจำนั้น ที่ตลาดหลังสวนเขาเรียก “ข้าวหมา”   ถ้าอยากมีระดับ ดีกว่าหมาหน่อย ก็ให้นั่งรถไฟท้องถิ่น ขบวน 445 ชุมพร - หาดใหญ่ ไปลงที่สถานีสุราษฎร์ธานี ค่ารถไฟเที่ยวเดียว 22 บาท ไปกลับ 44 บาท  ข้าวสารชนิดเดียวกันเด้ะ ที่สุราษฎร์ฯเขาเรียกอย่างสุภาพว่า “ข้าวแข็ง”  เพราะสุราษฎร์ธานี แปลว่า เมืองคนดี  

          เขาพูดจาไพเราะกว่าภาษาบ้าน ๆ ของคนหลังสวน  แต่เขาขายกิโลละ 17 บาท!

          แล้วอย่าไปบ่นกะเขานะว่า  โอ้โห ที่หลังสวนขายโลละ 15 บาทเอง  เขาจะตอบว่า แล้วมาสุราษฎร์ ทำไมอ่ะ?  อยู่หลังสวนก็ดีแล้ว

          ที่เล่าให้ฟังนี้  โดนมาแล้ว

          ที่จริงสุราษฎร์ธานี อาจไม่ได้แปลว่าเมืองคนดีก็ได้  เพราะชื่อนี้ตั้งเลียนแบบชื่อ เมือง สุหรัด ในอินเดีย อยู่ในรัฐกุจราต ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตาปีในอินเดีย  ส่วนแม่น้ำตาปีในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางภาคใต้ของประเทศไทยนั้น เดิมเรียก “แม่น้ำหลวง”

          จากค่าข้าวสารก็มาถึงค่าผักหญ้า  ซึ่งบางทีก็เก็บกินเอาในสวน  แต่บางทีก็ต้องซื้อหา  ค่าผักประมาณสัปดาห์ละ 40 บาท

          จากผักก็มาถึงเนื้อสัตว์ กินไก่สดแช่แข็งจากร้านเฟรชมาร์ต ของซีพี ในตลาดหลังสวน หรือกินปลาทะเลจากตลาดสด ราคาประมาณ ๆ กัน  คนและหมาสองตัวกินสัปดาห์ละประมาณสองกิโล ราคารวมประมาณ 125-150 บาท  ราคาปลาผันแปรตามฤดูกาลและตามคลื่นลมในทะเล

          ค่าน้ำกิน ซื้อน้ำถังมากิน ซึ่งมีบริษัทธุรกิจ เขาสูบน้ำขึ้นจากแม่น้ำหลังสวน มากรองขาย  ค่าน้ำกินประมาณสัปดาห์ 30 บาท  ค่าน้ำใช้ไม่เสียเพราะมีแท้งก์น้ำทำด้วยปล่องบ่อ รวมสี่แท้งก์ ๆ ละสี่ปล่อง รวมทั้งหมด 16 ปล่อง จึงมีน้ำใช้เหลือเฟือตลอดทั้งปี -ฟรี

          ที่บ้านไม่มีตู้เย็น ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นใด นอกจากพัดลม หม้อหุงข้าว และเครื่องรับวิทยุคลื่นสั้น(short wave radio receiver) กินไฟเพียง 10 วัตต์ เปิดวิทยุวันละประมาณสี่ชั่วโมง เช้าหนึ่งชั่วโมง 06.00 07.00 และเย็นค่ำสามชั่วโมง 17.00 20.00 น. ตามเวลาที่สถานีเจ้าประจำ เขากระจายเสียง ส่งคลื่นสั้นมาครอบคลุมถึงภาคใต้ของประเทศไทย  ฟังสถานีนี้มานานนับสิบปีแล้ว

          ผู้เขียนไม่มีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เนต จากที่บ้านหรือจากโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้เพราะต้องการมีวินัยในการใช้เนต  เมื่อจะใช้อินเตอร์เนตจะเดินทางเข้าไปในเมือง ซึ่งอยู่ห่างจากสวนและบ้าน ไปประมาณสิบกิโลเมตรเศษ ๆ 

          อย่างไรก็ดี เวลานี้มีอุปสรรคในการทำงานอยู่อย่าง คือ โน้ตบุคเสีย 

          เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และได้หาทางออกให้แก่ตัวเองมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกสหายผู้หนึ่ง ซึ่งผู้เขียนช่วยเขาขายของในเนต  ได้มอบโน้ตบุคมือสองให้  ใช้ได้ประมาณหนึ่งปีก็เสีย  จึงร้องขอไปที่ญาติผู้หนึ่งซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ  เขามีเมตตาส่งโน้ตบุคเก่าของเขามาให้  เวลานี้ก็เสียอีกแล้ว  ยังไม่ได้ซ่อม กำลังคิดว่าจะเก็บตัง ซื้อเครื่องใหม่สักเครื่อง

          ผู้เขียนฝึกนิสัยสำรองไฟล์เป็นประจำ  เวลาเครื่องเสีย จึงไม่ได้สูญเสียงานที่กำลังทำ

          ขณะนี้ ราคาปาล์มตกต่ำมาก  ส่วนราคายางพาราไม่ต้องพูดถึง ขอโทษ - ถูกคล้าย “ขี้”  หมายถึง ขี้ไก่ที่เขาบรรจุถุงขายเป็นปุ๋ย  ท่านผู้อ่านที่เคารพ ลองตรึกตรองดูครับ  ถ้าผลผลิตกับปุ๋ยราคาเท่ากัน  อาชีพทำสวนมันจะไม่ดูตลกหรือ?  ใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้กิน มันกินแล้วมีดอกผล ขายได้พอมีเงินเพียงแค่ไปซื้อปุ๋ยมาให้มันกินต่อ  ก็เอาเงินไปซื้อปุ๋ยมาให้มันกินต่อไปอีก - สงสารมัน  เฮ้ย วนเวียนทำอยู่อย่างนี้ - บ้าเปล่า?  ตลกแต่ตัวเองอดแดก ไม่ใช่ตลกแดก  ต้นไม้มีกินก็จริง แต่คนทำสวนจะกินอะไร?

          ฟังแล้วไม่ค่อยจะสร้างสรรค์  พูดเรื่องสร้างสรรค์ของเราดีกว่า  ว่าเงินที่ท่านผู้อ่านเข้าบัญชีให้  ถ้าเหลือจากการกินการใช้ในแต่เดือนแต่ละสัปดาห์  ก็จะเก็บสะสมไว้ทีละน้อย รวมกับรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็น passive income จากแหล่งอื่น  กะจะซื้อโน้ตบุคใหม่สักตัว  ไม่ได้นำเงินนั้นไปใช้จ่ายอีลุ่ยฉุยแฉก ฟุ่มเฟือย ที่ไหน  

          อีกประการหนึ่ง กำลังคิดโครงการใหญ่ กะจะเขียนขาย พิมพ์เองขายเอง เป็นหนังสือ อีเล็กฯ (โทรนิค) บนเวทีของอะเมซอน ดอท คอม  เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ใช้นามปากกาใหม่ ไม่เปิดเผย

          รายการนี้กะรวย  โธ่ คิดดูซิ นักบอลไทยสมัยนี้  บางคนค่าตัวตั้งสามสิบล้าน ห้าสิบล้าน  บางคนก็ไปค้าแข้งอินเตอร์  แล้วคนเขียนหนังสือล่ะ?

          ผมมีสิทธิมั้ยครับ?

          โอกาสทองของคนเขียนหนังสือหากินสมัยนี้  อยู่ที่การเขียนขายเป็นหนังสืออีเล็กฯ ซึ่งขายได้ทั่วโลก ขายกับตลาดคนในเนตสี่พันล้านคน  เพราะฉะนั้น เงินล้านสองล้าน หรือห้าล้านสิบล้าน หรือแม้แต่ห้าสิบล้านร้อยล้าน  ไม่ใช่เรื่องฝันกันไม่ได้  taboo - ต้องห้าม ในต่างประเทศคนเขียนหนังสือหลาย ๆ คนเขาเอื้อมถึงกันแล้ว....แต่อย่างว่า คนพวกนี้มีจำนวนน้อยนิด อาจไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของคนที่พิมพ์เองขายเอง อยู่บนเวทีคินเดิล  นี่คือความจริง แต่นั่นไม่สำคัญ  สำคัญอยู่ที่เรามีสิทธิที่จะ “ฝัน” 

          สรุปแล้วกันว่า สำหรับการเขียนที่บลอค ผู้เขียนพอใจที่จะเห็นท่านผู้อ่านร้อยคน โอนเงินเข้าบัญชีให้คนละร้อยบาท  มากกว่าที่จะเห็นท่านเดียว โอนมาหนึ่งหมื่นบาท  อยากมีเพื่อนร้อยคน มากกว่าที่จะมีเพื่อนคนเดียว  ทั้งนี้มีเหตุผลที่ดี คือ เพื่อนคนเดียวของเรา  ถ้าเขาหายไปจากชีวิตเราด้วยประการใด ๆ ก็ดี  เราก็จะว้าเหว่ ขาดมิตร  แต่เพื่อนร้อยคน อนุญาตให้หายไปได้ 99 คน ผมก็จะยังเหลือเพื่อนอีกหนึ่งคน

          ท่านผู้อ่านที่รักและเคารพ จะตอบแทนงานเขียนหรือไม่ อย่างไรนั้น  คุณค่าของงานที่ผู้เขียนเพียรทำเสนอเป็นเรื่องสำคัญ  ถ้างานมีคุณค่า - ก็น่าจะมีคนตอบแทน

          ส่วนการที่ท่านผู้อ่าน จะสนองกลับอย่างไร มากน้อยเพียงใด ไม่สำคัญ  เพียงท่านเคาะเข้ามาเยี่ยมชม เข้ามาอ่าน ก็เป็นพระคุณมากแล้ว  เพราะการตอบแทนลักษณะเปิดเสรีเช่นนี้  มีเสน่ห์ตรงที่ จะไปกะเกณฑ์อะไรกันไม่ได้ทั้งนั้น น่าตื่นเต้น  เอ็กไซติ้งกว่าเขียนลงในสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีค่าตอบแทนตายตัว  ปกติสมัยนี้ ชิ้นละสามพันบาท  เสน่ห์อีกอย่างของการเขียนบลอค คือ เรามีเสรีภาพมากขึ้นในการเขียน  ไม่ต้องระแวงระวังว่า กองบ.ก.ท่านมีแนวนิยมวางไว้อย่างไร?

          ท่านที่ปรารถนาจะอ่านฟรี  ท่านก็ยังได้อ่านฟรี ๆ  อยู่เหมือนเดิมครับ  ไม่มีใคร – รวมทั้งผู้เขียนบลอคเอง จะไปว่าอะไรท่านได้  ตัวผู้เขียนเองก็ตัวดี อ่านฟรีของท่านผู้อื่นอยู่เป็นประจำครับ  เราไม่ว่ากัน
          เขียนไปเขียนมาชักซ้ำซาก ย่ำอยู่กับที่  ขออนุญาตพอเท่านี้นะครับ – ท่านผู้เจริญ  แต่ถ้าท่านอุตส่าห์อ่านมาจนจวบเท่าถึงบรรทัดนี้  อย่าลืมโอนมาสักร้อยสองร้อยนะครับ จะเป็นพระคุณ  ข้าวสารหมดพอดี...

          หมาน้อยสองตัวที่บ้าน ฝากกราบขอบพระคุณท่านด้วย  โฮ่ง ๆ ๆ โฮ่ง ๆ ๆ  ไม่เห็นแก่คน งัยก็ -- เห็นแก่หมาน้อย บ้างละกัน 


วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560

VillageLife: มันไม่ค่อยทำ

Village Life: มันไม่ค่อยทำ...


ผัวหนุ่มเมียสาวคู่หนึ่งในหมู่บ้าน เป็นระดับผู้นำหมู่บ้าน อันเป็นตำแหน่งหน้าที่การงานเกี่ยวข้องกับราชการ ซึ่งมีอยู่หลายตำแหน่งในหมู่บ้าน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อบต. เป็นต้น  และยังมีหน้าที่การงานเกี่ยวกับสาธารณสุขและเกษตรอีก ซึ่งผู้เขียนไม่ทราบรายละเอียด

เนื่องจากผัวเมียคู่นี้อยู่ในระดับผู้นำ จึงเป็นที่เพ่งเล็งใส่ใจ สนใจ และสู่รู้  ของชาวบ้านทั้งหลายรวมทั้งผู้เขียนด้วย ความสนใจเรื่องนี้ ในลักษณะนี้ เก่าแก่โบราณ กล่าวถึงไว้ในหนังสือ กามสูตร (कामसूत्र)  ของฤษี วาสยายนะ (वात्स्यायन)  ในตอนต้น ๆ ของบทที่ 5

อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนบ้านสตรีผู้หนึ่ง ก็เอ่ยขึ้นมาในกลุ่มสนทนาที่บ้านอบต.ว่า ผู้นำผู้บ้านผู้นั้น ซึ่งเป็นสตรี เธอเลิกกับผัวแล้ว ผัวของเธอสมมติว่าชื่อ น้องไข่ แล้วกัน

อ้าวงั้นหรือ ผู้เขียนเอ่ยขึ้น แสดงความประหลาดใจ แต่ที่จริงรู้เรื่องนี้มานานแล้ว

เพื่อนบ้านสตรีผู้นั้น ค็อมเมนต์ว่า ดูซิดู คนดี ๆ ไม่เอา...  เธอนินทาว่าร้ายผู้เป็นเมีย ที่บอกเลิกกับผัว

ผู้เขียนก็ประสมโรงว่า นั่นนะซี ไอ้น้องไข่มันนิสัยดีจะตายไป

เพื่อนบ้านสตรีผู้นั้น กล่าวกับผู้เขียนในวงสนทนา(นินทา)ว่า “เขาบอกว่า มันไม่ค่อยทำ...”

ประเด็นนี้ผู้เขียนเถียงแทนขึ้นมาทันทีว่า ทำไมมันจะไม่ทำ ดูเด่ะ ตอนอยู่กับมัน สวนทั้งสวนเตียนไปหมด มันขยันตัดหญ้า  มันยังแทงปาล์ม แต่งทางปาล์มอีก  เวลาว่างก็ออกไปรับจ้างทำงานนอก  มันขยันทำกินจะตายไป  ผัวใหม่นี่โคดขี้เกียจ ทั้งบ้านทั้งสวน รกไปหมด...

แต่สหายสตรี เพื่อนบ้าน เจ้าของประเด็นการสนทนา(นินทา)ไม่ยอมแพ้ เธอยังยืนต่อไปกับผู้เขียนว่า “เออ นั่นแหละ ๆ แต่เขาว่า มันไม่ค่อยทำ...”

สหายในวงสนทนาอีกผู้หนึ่งสะกิดผู้เขียนให้หุบปาก อย่าไปเถียงกับเขา  ผู้เขียนจึงโอนอ่อนผ่อนตาม ร้องเบา ๆ ว่า “อ๋อ...งั้นหรือ?”

เธอผู้เป็นเจ้าของประเด็น หันมาพูดซ้ำย้ำคำกับผู้เขียนว่า
“ก็ยังงั้นล่ะเซ่ะ  มันไม่ค่อยทำ...”

ผู้เขียนได้แต่นึกเถียงอยู่ในใจว่า 
คนเรามันต้องพิจารณาตัวเองเหมือนกันนะ ว่าตัวเองนั้นมันน่า “ทำ”  รึเปล่า?




สนใจ VillageLife บทอื่น ๆ โปรดคลิกนี่เลย

ประชาธิปไตยในอเมริกา ตอน 1/3 อะเล็กซี เดอ ต็อควิล

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย

Democratic Statecraft: de Tocqueville's Democracy in America          รัฐนาวาประชาธิปไตย: เดอ ต็อควิล – ประชาธิปไตยในอเมริกา
ตอนที่ 1/3

ศ.สมิธ เปิดการบรรยายด้วยการตั้งคำถามว่า ต็อควิล เขียนหนังสือเล่มนี้ “Democracy in America” ขึ้นมาทำไม?  เกี่ยวกับอะไร? เขาต้องการตอบปริศนาอะไร?

ศ.สมิธ ย้อนประวัติศาสตร์ ปูพื้นให้เราทราบว่า ในศตวรรษที่ 17 และ 18 นั้นแนวความคิดเรื่องเสรีภาพ อิสรภาพ และความเสมอภาค (freedom and equality) เป็นแนวความคิดด้านการเมืองการปกครอง และสังคม ที่ผนึกแน่นควบคู่มาด้วยกัน ไม่ว่าจะในปรัชญาการเมืองการปกครองของ ฮ็อปส์ หรือ ล็อค หรือรุซโซ ทั้งสามต่างเชื่อว่าในสภาพธรรมชาติ มนุษย์เราเกิดมาเป็นอิสระ มีเสรี และเสมอภาค  แต่ด้วยความเป็นอยู่ “ศิวิไลซ์” อยู่กันเป็นสังคมบ้านเมืองเช่นที่เป็นอยู่ในระบอบเก่า(ancient regime)ของยุโรป ทำให้เกิดลำดับชั้นในสังคม ซึ่งเป็นศัตรูต่อความเสมอภาค ดังนั้น ความคิดอันเป็นแสงสว่างในศตวรรษที่ 17/18 เรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคจึงรวมตัวกันแน่นแฟ้น อยู่เบื้องหลังความคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตย ที่กำลังก่อกำเนิด

กระทั่งถึงต้นศตวรรษทึ่ 19 นักปรัชญาการเมืองการปกครองทั้งในยุโรปและอเมริกา เริ่มสงสัยว่า ที่จริงแล้ว เสรีภาพ กับ ความเสมอภาค ไม่ได้เป็นคนละเรื่องเดียวกันหรือ ต็อควิล และนักปรัชญาการเมืองการปกครองคนอื่น ๆ มองว่า สังคมประชาธิปไตยที่กำลังก่อกำเนิดในอเมริกาและยุโรปนั้น กำลังสร้างรูปแบบใหม่ของ “อำนาจสังคม” ที่คุกคามเสรีภาพ/อิสรภาพของมนุษย์ ฐานของอำนาจใหม่ได้แก่กลุ่มกฎุมพี(หรือคนชั้นกลาง) หรือ bourgeois ที่กำลังเติบใหญ่อยู่ในสังคมอเมริกัน อังกฤษ และฝรั่งเศส

ปมประเด็นสำหรับนักปรัชญาการเมืองการปกครอง เช่น ต็อควิล ได้แก่ จะบรรเทาความเข้มข้น หรือความรุนแรง ของอำนาจการเมืองชนิดใหม่นี้ ได้อย่างไร

คำตอบของ ล็อค ได้แก่ ให้มีการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งรัฐธรรมนูญอเมริกันรับแนวคิดนี้มา แต่ ต็อควิล ไม่ค่อยมั่นใจกับวิธีนี้ ต็อควิล เขียน “ประชาธิปไตยในอเมริกา” หลังยุค รุซโซ ประมาณ 75 ปี เขาไม่ค่อยไว้ใจ “เจตนาทั่วไป” หรือ ระบอบอำนาจอธิปไตยของปวงชนอย่างที่ รุซโซ เสนอ

ทั้ง ๆ ที่ สมัย รุซโซ ระบอบประชาธิปไตยดูเหมือนจะเป็นรัฐในอุดมคติ ในฝัน ที่ห่างไกล เลือนราง แต่ สำหรับ ต็อควิล เขากำลังมีชีวิตอยู่กับกำเนิดของรัฐประชาธิปไตย ทั้งในอเมริกาและฝรั่งเศส สังคมประชาธิปไตยเป็น “สังคมปัจจุบัน” ของ ต็อควิล ไม่ใช่สังคมในฝัน ของ รุซโซ

ต็อควิล เขียนว่า

          “ในสหรัฐอเมริกา ลัทธิอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน(the sovereignty of the people)
ไม่ใช่ลัทธิโดดเดี่ยว เกิดขึ้นมาโดด ๆ แต่เป็นลัทธิความเชื่ออันเป็นลำดับขั้นตอนสุดท้าย ในพัฒนาการของแนวคิดทางการเมืองการปกครอง ของโลกอังกฤษ-อเมริกัน(Anglo-American World)”

อย่างไรก็ดี สำหรับ ต็อควิล แล้ว บ้านเมืองในระบอบอำนาจรัฐมาจากปวงชน หรือรัฐประชาธิปไตยที่เกิดใหม่ ใช่ว่าจะยุติธรรมกว่า หรือปราศจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจกว่ารัฐในระบอบเก่า ไม่ว่าจะเป็นระบอบใด ๆ ที่เคยมีกันมา  เพราะฉะนั้น ในยุคประชาธิปไตย ปัญหาการเมืองการปกครอง ได้แก่ ปัญหาว่า จะตรวจสอบการใช้อำนาจที่มาจากปวงชน ได้อย่างไร?

ต็อควิล เห็นว่า ในระบอบเก่าของฝรั่งเศสและยุโรปอื่น ๆ พระราชาไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะพระราชาถูกจำกัดและคานอำนาจโดยพวกขุนนาง ที่มีอยู่ทั่วแผ่นดิน แต่ละคนก็มีลักษณะเป็น “ขุนศึก” ด้วยกันทั้งนั้น และมีสิทธิทำให้พระราชานอนไม่หลับ

ปัญหาที่ ต็อควิล ถามก็คือ ก็ในเมื่อ “ปวงชน” มีอำนาจดุจจะเป็น “ราชา” เสียเองแล้วเช่นนี้ แล้วใคร หรือผู้ใด หรืออะไร จะคอยคานอำนาจ คอยตรวจสอบการใช้อำนาจการเมืองการปกครองแบบใหม่ ที่ถือว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน” หรือมาจาก “เจตนาทั่วไป” ของ รุซโซ

ประเด็นนี้ สำหรับ ต็อควิล คือประเด็นที่เป็นเนื้อหาของรัฐศาสตร์สมัยใหม่ และเป็นเรื่องที่     ต็อควิล พยายามหาคำตอบ ศ.สมิธ กล่าวว่า เราทุกคนในปัจจุบันเป็นสานุศิษย์ของ ต็อควิล ด้วยกันทั้งนั้น ในแง่ที่ว่า รัฐศาสตร์ของพวกเรายังคงเผชิญกับปริศนาเรื่องการกำกับดูแลและตรวจสอบ การแสดงอำนาจทางการเมืองการปกครอง ที่เป็นอำนาจประชาธิปไตย (อันเป็นเรื่องที่ ต็อควิล ตั้งข้อสังเกตไว้)

How to combine popular government with political wisdom? เราจะผสมผสานการปกครองด้วยอำนาจของปวงชน เข้ากับภูมิปัญญาทางการเมืองการปกครอง ได้อย่างไร? นี่คือปัญหาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในความเห็นของต็อควิล

ถึงขั้นนี้ ศ.สมิธ หยุดพักการเดินเรื่อง หันมาแนะนำให้นักศึกษาทราบว่า ใคร คือ อะเล็กซี เดอ ต็อควิล? ตามประวัติเขาเกิดหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี 1805 ในดินแดนของพวกนอร์มัน ทางเหนือของฝรั่งเศส เกิดในตระกูลผู้ดีเก่า คฤหาสน์ของต็อควิลยังคงอยู่ในมือของคนรุ่นหลังของตระกูล จนตราบเท่าทุกวันนี้ ศ.สมิธ เล่าว่า ตนได้เคยเดินทางไปเยือนคฤหาสน์แห่งนั้น อันเคยเป็นบ้านของ ต็อควิล และได้พบกับลูกหลานของต็อควิล

ขุนนางตระกูลนี้สืบสายไปถึงยุคพระเจ้าวิลเลียม เดอะ ค็องเคอเรอ (หรือที่ฝรั่งเศสเรียก กิโยม เลอ ก็อง เก ร็อง) ผู้ยกทัพจากนอร์มังดีข้ามไปตีดินแดนบนเกาะอังกฤษ และปกครองอังกฤษอยู่นานนับร้อยปี

ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส บิดามารดาของต็อควิล ถูกจับและคุมขังอยู่ในคุกประมาณหนึ่งปี  กระทั่ง โรเบสปิแอร์ นักปฏิวัติที่มีชื่อเสียงถูกตัดหัวด้วยกิโยติน คนทั้งสองจึงพ้นจากคุกและรอดตาย  ตัวต็อควิลเอง เกิดในยุคนะโปเลียน ได้รับการศึกษาอบรมเลี้ยงดู มาอย่างอนุรักษ์นิยม(แบบฝรั่งเศส) ศึกษากฎหมายที่ปารีส และได้พบเพื่อนสนิท เป็นพวกผู้ดีเก่าด้วยกันที่นั่น ต่อมาคนทั้งสอง เมื่ออายุ 25 ปี ได้เดินไปสหรัฐอเมริกาด้วยกัน ระหว่างพฤษภาคม 1831/2374 -กุมภาพันธ์ 1832/2375) เพื่อดูงานเกี่ยวกับระบบงานราชทัณฑ์ โดยทุนจากรัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ฟิลลิป(ช่วงนั้นฝรั่งเศสกลับไปปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย) พวกเขาได้เดินทางขึ้นเหนือในมลรัฐนิวอิงแลนด์ ลงใต้สุดถึงเมืองนิวออร์ลีนส์ และตะวันตกสุดไปถึงบริเวณทะเลสาปมิชิแกน

ต็อควิล ได้ใช้โอกาสนั้น สังเกตการณ์และศึกษาความเป็นไปทางการเมืองการปกครองในสหรัฐอเมริกาด้วย และได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียง “ประชาธิปไตยในอเมริกา”(Democracy in America)

หนังสือ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ศ.สมิธ เห็นว่า เป็นหนังสือที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย ศ.สมิธกล่าวว่า น่าแปลกที่หนังสือที่ดีที่สุดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในอเมริกา เขียนขึ้นโดยผู้ดีเก่าชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งน่าที่จะเป็นปฏิปักษ์และเป็นคนแปลกหน้าที่สุด ต่อระบอบประชาธิปไตย

ตั้งแต่เมื่อพิมพ์ครั้งแรกในปี 1835/2378 หนังสือเล่มนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานยอดเยี่ยม จอห์น สจวต มิล นักปรัชญาการเมืองการปกครองอังกฤษเห็นว่า เป็นผลงานดีที่สุดแห่งยุค ต็อควิล ยืนเคียงข้าง “บิดา – ผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา”(founding fathers) ดุจจะว่าเขาเป็นผู้นำช่าวอเมริกันกับเขาด้วยผู้หนึ่ง การแปลเป็นภาษาอังกฤษสำนวนล่าสุด ได้ถูกบรรจุไว้ในผลงานอมตะเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกา ในชุดที่เรียกว่า the American Series

ต็อควิล เดินทางไปอเมริกาเหมือนผ้าขาวผืนหนึ่ง การได้พบเห็นความเป็นไปในสังคมประชาธิปไตยอเมริกัน มีส่วนเปลี่ยนแปลงเขาอย่างมาก ในจดหมายถึงมิตรผู้หนึ่ง ผู้เป็นเพื่อนบ้านชาวนอร์มังดีด้วยกัน เขาบอกให้มิตรผู้นั้นรู้ว่า ทำไมเขาถึงได้เขียนหนังสือเล่มนี้

1)   เขาได้ครุ่นคิดเรื่องประชาธิปไตยในอเมริกามานานหลายปี ก่อนมีโอกาสได้เดินทางมาอเมริกา เพื่อพิสูจน์ความคิด
2)   เขาไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อประโยชน์ของชาวอเมริกัน ซึ่งเขาเห็นว่า ไม่มีรสนิยมเรื่องปรัชญา เขาเขียนเพื่อประโยชน์ของคนฝรั่งเศส เขาต้องการโน้มน้าฝเพื่อนร่วมชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ยังคิดจะฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยกลับคืน ให้คนกลุ่มนั้นเห็นแจ้งว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคมอเมริกัน นั่นแหละคือ อนาคตของฝรั่งเศส ดูเหมือนต็อควิลกำลังประกาศว่า อเมริกา คือ อนาคตของโลก

โดยรวม ต็อควิล มองการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา ด้วยความระคนสงสัย ปนกับความหวาดกลัว ศ.สมิธ วิเคราะห์ว่า มีคำถามย่อยอีกสองคำถามที่ ต็อควิล ต้องการคำตอบ

1)   การปรับเปลี่ยนระบอบเก่าที่ไม่เสมอภาค เป็นระบอบใหม่ – ที่วางอยู่บนความเสมอภาค ทำอย่างไร? ปัญหานี้คือปริศนาเรื่อง “regime change” หรือ “regime transformation” (การเปลี่ยนระบอบ หรือการแปรรูประบอบ)
2)   ทำไม การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในอเมริกาจึงได้ค่อนข้างนุ่มนวลอ่อนโยน ในขณะที่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศส ดุเดือดรุนแรง  และการเปลี่ยนแปลงในอเมริกาเป็นไปในแนวเสรีนิยม ในขณะที่ในฝรั่งเศสผันไปสู่ระบอบเผด็จการ (โดย นะโปเลียน)

ศ.สมิธ ลงความเห็นว่า ต็อควิลเขียนหนังสือเล่มนี้เหมือนครูสอนศิษย์ เขาไม่ใช่คนจดบันทึกการสังเกตการณ์ขนบธรรมเนียมอเมริกัน แต่เขาเขียนเพื่อให้การศึกษาด้านการเมืองการปกครองแก่ผู้นำชาวยุโรปในอนาคต ศ.สมิธ สรุปว่า รัฐบุรุษยุคประชาธิปไตยควรได้อ่านงานของ มาเคียเวลลี กับงานของ เดอ ต็อควิล ควบคู่กันไป

ประเด็นในการสั่งสอนของ ต็อควิล ได้แก่ สิ่งเขาเรียกว่า a mother thought (ภาษาฝรั่งเศส ว่า l’idée mère) ซึ่งหมายถึง ความคิดหลักที่เชื่อมโยงสมานทุกส่วนของหนังสือเล่มนั้นเข้าด้วยกัน จะเรียกว่า central idea ก็น่าจะได้ ความคิดแม่ดังกล่าวคือ ความเสมอภาค – equality

ต็อควิล เน้นว่า ตลอดเวลาที่เขาเดินทางท่องไปในสหรัฐอเมริกา สิ่งหนึ่งที่แตะตาเขา คือ ความเสมอภาคของสภาพความเป็นอยู่ – equality of condition เรื่องนึ้ไม่ใช่เรื่องการเมืองการปกครอง แต่เป็นเรื่องสังคมหรือสังคมวิทยา ความเสมอภาคในสภาพความเป็นอยู่จะนำหน้าระบอบประชาธิปไตย เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดระบอบประชาธิปไตย โดยที่ความเสมอภาคในสภาพความเป็นอยู่นั้นได้แพร่หลาย แผ่ขยาย ในยุโรปและอเมริกาก่อนเรื่องการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ความเสมอภาคในสภาพความเป็นอยู่ เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ก่อนรุ่งอรุณของโลกสมัยใหม่(modern age) ต็อควิล อ้างถึงประวัติความเสมอภาคในสภาพความเป็นอยู่ ไปไกลก่อนยุคของเขาราว 700 ปี ย้อนไปเริ่มที่ในกลางของโลกยุคกลาง(medieval world)

แตกต่างจาก ฮ็อปส์และล็อค ต็อควิล ไม่ได้ปักหลักความคิดเรื่องความเสมอภาพไว้กับ “สภาพธรรมชาติ” ฮ็อปส์ กับ ล็อค คิดว่าคนเกิดมาเสรี เสมอภาคในสภาพธรรมชาติ ต่อมาความ “ศิวิไลซ์” ได้เข้ามาทำลายสภาพเสมอภาคของมนุษย์ โดยสร้างธรรมเนียมประเพณีและชั้นชนขึ้นมาในสังคม-บ้านเมือง

แต่ ต็อควิล เห็นตรงข้าม เขาอ้างว่าความเป็นอยู่ของคนได้กลายสภาพเหินห่างจากสภาพ ไม่เสมอภาค ในโลกยุคโบราณมาสู่ความเสมอภาคเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคหลัง ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เป็นประวัติศาสตร์ของความเสมอภาพ(equalization) แบบค่อยเป็นค่อยไป ความเสมอภาคเคือพลังประวัติศาสตร์(historical force) ต็อควิล ไม่ได้คิดว่าความเสมอภาคเป็นปัจจัยหลักให้เกิดระบอบประชาธิปไตย แต่ความเสมอภาคเป็นปัจจัยก่อกำเนิด(a generative factor) ต็อควิล ตั้งข้อสังเกตว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น จากปัจจัยก่อกำเนิดอันได้แก่ความเสมอภาค ประเด็นอื่น ๆ จึงได้เกิดขึ้นตามมา.....

ต็อควิล ใช้คำว่า “provident force” มาพูดถึงวิวัฒนาการของความเสมอภาคในประวัติศาสตร์ ซึ่งตามปกติ คำ ๆ นี้ใช้หมายถึง พระผู้เป็นเจ้า(God)  แต่ ต็อควิล นำมาใช้เพื่อหมายถึงลักษณะทั่วไปอันเป็นสากล หรือเท่ากับคำว่า universal

พลังประวัติศาสตร์ของความเสมอภาคที่ค่อยเป็นค่อยไป มีลักษณะสองประการ คือ

          1) มีลักษณะ สากล
          2) ปัจเจกชนไม่สามารถขัดขวางได้

ต็อควิล เขียนว่า (...ในปี 1830) มีประเทศเดียวในโลก ที่กำลังเกิดการปฏิวัติทางสังคมขนานใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงแปรรูปจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศ.สมิธ เห็นว่า ภายใต้กรอบดังกล่าว ต็อควิล จึงได้ตั้งชื่อหนังสือว่า “ประชาธิปไตย ใน อเมริกา” แทนที่จะใช้ “ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน” ทั้งนี้ เพราะว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องสากลในวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ สหรัฐอเมริกาเป็นเพียงกรณีศึกษาเรื่องประชาธิปไตย ต็อควิล เห็นว่า ประชาธิปไตยมีได้หลายรูปแบบ ประชาธิปไตยไม่ได้มีแบบอเมริกันแบบเดียว อย่างไรก็ดี สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา จะบ่งบอกอนาคตของยุโรป เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่พึงศึกษาสำหรับรัฐบุรุษยุโรปในอนาคต

เอกลักษณ์ประชาธิปไตยสไตล์อเมริกัน ที่ ต็อควิล สังเกตเห็นเป็นอย่างไร?

1)   ความเข้มข้นในความสำนึกรู้ เรื่องการปกครองตนเองในท้องถิ่น ของชาวอเมริกัน
2)   ความนิยมที่จะรวมตัวกัน เป็นสมาคมต่าง ๆ ในหมู่ประชาชนชาวอเมริกัน
3)   ความสำนึกในศาสนา

สำหรับประเด็นแรก ความเข้มข้นในความสำนึกรู้เรื่องการปกครองตนเองในท้องถิ่น ศ.สมิธ สรุปความเห็นของ ต็อควิล ว่า คนอเมริกันเป็นคนท้องถิ่นนิยม(localism) จนทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นมาในท้องถิ่น มีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ตำบลหมู่บ้าน หรือ “เมืองชนบท” ของอเมริกัน(township) คือ รากฐานของประชาธิปไตยสไตล์อเมริกัน แล้ว ต็อควิล ก็ได้ยกตัวอย่างเมืองชนบทในนิวอิงแลนด์ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของแนวคิดเรื่อง “เจตนาทั่วไป” และ “สัญญาสังคม” ของ รุซโซ ซึ่งต็อควิล นับถือเป็นอาจารย์ ซึ่งผู้คนร่วมกันกำหนดตัวบทกฎหมาย ต็อควิล ใช้สายตาของคนที่เลื่อมใสปรัชญารุซโซ มามองเมืองชนบทอเมริกัน

ต็อควิล เล่าว่า เขาอ่านงานของ รุซโซ หรือไม่ก็ ปาสกาล ไม่เว้นแต่ละวัน – เขาเล่าเรื่องนี้ไว้ในจดหมายถึงเพื่อน

ในยุโรป การเมืองการปกครองวิวัฒนาการมาในแนวของการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง จิตวิญญาณเรื่องการปกครองท้องถิ่น หรือท้องถิ่นนิยมถูกทำลายลงมาก และยาวนาน การปกครองท้องถิ่นจึงไม่ได้เข้มข้นและเข้มแข็งอย่างในสหรัฐอเมริกา

ศ.สมิธ แจ้งแก่นักศึกษาว่า อีกสองประเด็นหลัง จะได้บรรยายในครั้งต่อไป
-----------------------------------------------------------------------------------------------
สนใจ ต้นฉบับวีดีโอสำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง



Village Life: คนเข้ามาชีวิตเรา ตามกาละและเหตุผล

Village Life:

คนเข้ามาในชีวิตเรา ตามกาลเทศะ และด้วยเหตุผล

ซึ่งหมายความว่า เมื่อกาลนั้นสิ้นสุดลง เขาก็จากไป  

หรือเมื่อเหตุผลสิ้นสุดลง เขาก็จะจากไปเช่นเดียวกัน  

ภาษาอังกฤษท่านว่า มนุษย์ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ด้วย season และ reason

ทำให้นึกถึงคำพูดของศิลปินเอกแห่งภารตะยุคปัจจุบัน หรือค่อนข้างปัจจุบัน นักร้องและนักแสดง ละตา มังเกศการ์ ผู้ได้รับเครื่องราชฯสูงสุดของอินเดีย “ภารตะ รัตนะ” แก้วแห่งภารตะ

เธอพูดเมื่อคนใกล้ชิดโทรศัพท์ไปแจ้งข่าวรัฐบาลอินเดีย มอบเครื่องราชสูงสุดให้เธอ ระหว่างที่เธอกำลังเดินทางอยู่ในประเทศอังกฤษ เธอกล่าวว่า เธอเชื่อว่าคนเราไม่ควรได้รับอะไรดี ๆ มาง่าย ๆ

ส่วนผู้รู้ที่กล่าวว่า คนเข้ามาในชีวิตเรา ตามกาละ และเหตุผล นั้นเป็นนักเขียนสารคดีชาวอเมริกันยุคปัจจุบัน  เธอมีประสบการณ์ชีวิตเข้มข้น เธอได้ออกเดินทางแสวงหา “ธรรมมะ” ในอินเดีย ไปฝึกทำวิปัสสนาสมาธิในอาศรมแห่งหนึ่ง ต่อมาเธอเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “Eat, Pray, Love” ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ถึงสิบล้านเล่ม  อันเป็นเรื่องสุดฝันสำหรับคนเขียนหนังสือส่วนใหญ่

เคยมีคนท้วงว่า เธอไม่ได้รู้จักอินเดียแท้จริง เธอรู้จักแค่ “อาศรม” แห่งนั้นอันเป็นสถานที่สะอาดสะอ้านราวกับคลินิค ไม่ใช่อินเดียแท้จริง เมื่อไรเธอจะสละเวลาทำความรู้จักกับอินเดียแท้จริง

เธอตอบว่า เธอเสียใจที่เธอไม่รู้จักอินเดียแท้จริง แต่เธอได้ระมัดระวังการพูดตลอดเวลา เธอบอกว่าเธอไป “อาศรม” เธอไม่เคยพูดว่า เธอไปอินเดีย  เธอไม่เคยไป “อินเดีย” เธอเคยไปแต่ที่ “อาศรม” แห่งนั้นเท่านั้น

ชีวิตในหนังสือของเธอถูกสร้างเป็นหนัง และฉายแล้วในภาษาไทย เคาะหาชมตัวอย่างได้ทางยูทูบ

ในการเดินทางเพื่อทำความรู่จักกับตัวตนแท้จริง เธอได้พบกับมิตรชายผู้หนึ่ง ที่อาศรมในอินเดีย เขาเป็นผู้มีอันจะกินชาวเทกซัส เขาเป็นโรคหัวใจ  ต่อมาจากนั้นเธอได้คบกับเขา แบบมิตรทางไกล – long distant friend

เธอเล่าว่า ก่อนเขาจะตาย เขาโทรศัพท์มาหาเธอ และบอกว่า เขากำลังฝึกวิปัสสนาสมาธิ ภาคที่เกี่ยวกับ “มรณานุสติ”  เขากล่าวว่าเป็นการฝึกจิตที่ดีมาก

เธอเล่าว่า วันหนึ่งหลังจากวันนั้น  เขาออกไปนอกบ้านกับเพื่อน กลับเข้าบ้านยามย่ำค่ำ  นั่งที่โซฟาในหัองนั่งเล่น ในท่าฝึกทำสมาธิ  ด้วยมือประสานอยู่บนตัก.....

เช้าวันรุ่งขึ้น มีผู้พบเขานั่งหลับตาอยู่ในท่านั้น ที่นั่น...
สิ้นลมแล้ว





วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

Village Life: พญาครุฑ กับสถาบันการเมืองการปกครอง

คติพราหมณ์เรื่อง พระวิศณุเป็นใหญ่ หรือ “ไวษณพนิกาย” ในศาสนาพราหมณ์ อ่านว่า ไว-สะ-นบ-นิ-กาย  มาจากสันสกฤต เขียนด้วยเทวนาครี ว่า “ वैष्णववाद

ศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ที่เรามักจะพบทั่วไปเวลานี้ เป็นนิกายที่ถือองค์ พระศิวะ เป็นใหญ่  จึงเป็นคนละแนวคิดกันกับ ไวษณพนิกาย

พระราชาราชวงศ์คุปตะองค์สำคัญ อันได้แก่ พระเจ้าจันทรคุปตะที่สอง ทรงนับถือไวษณพนิกาย  และกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะหลายพระองค์ ก็นับถือนิกายเดียวกันนี้  พระเจ้าจันทรคุปตะที่สอง ครองราชย์ ประมาณ ค.ศ. 380-415  มีพระนามที่รู้จักกันทั่วไป อีกนามหนึ่งว่า จันทรคุปตะ วิกรมาทิตย์  เขียนด้วยเทวนาครี ว่า चंद्रगुप्त विक्रमादित्य 

ศาสนาพราหมณ์นิกายนี้ สนับสนุนส่งเสริมการเมืองการปกครองแนว “ราชา เป็นสง่าแห่งแคว้น”  คือสนับสนุนระบอบราชาธิปไตย  คล้อยตามความเชื่อที่ว่า พระวิศณุ จะอวตารลงมาเป็นผู้ปกครองอยู่ในเมืองมนุษย์ การอวตารที่มีชื่อเสียง คือ อวตารเป็น พระราม ในเรื่องรามเกียรติ ซึ่งเป็นอวตารที่เจ็ด ของพระวิศณุ

สาม ท็อปเทพ ของฮินดู คือ พระวิศณุ พระพรหมณ์ และพระศิวะ โดยพระพรหมณ์เป็นผู้สร้าง พระวิศณุเป็นผู้รักษา และพระศิวะเป็นผู้ทำลาย

พระกฤษณะเป็นอวตารที่แปดของ พระวิศณุ อาจเทียบเป็นปัจจุบันได้กับว่า ได้อวตารเป็น ประธานาธิบดี โอบามา เพราะ กฤษณะ แปลว่า ดำ  อย่างไรก็ดี มเหสีของพระกฤษณะ คือ लक्ष्मी หรือ พระลักษมี นั่นเอง-ไม่ต้องตกใจ  เธอไม่ใช่ มิแชล

พื้นฐานความศักดิ์สิทธิ์และเฮี้ยนของพระกฤษณะ ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ มหาภารตะ กับคัมภีร์ต่อเนื่องอีกเล่มสองเล่ม  นอกจากนั้น ในกาลต่อมา ท้าวเธอ พระกฤษณะ ยังปรากฏในคัมภีร์ ภควคีตา เล่มที่สิบและสิบเอ็ด

พาหนะของพระวิศณุหรือพระนารายณ์ คือ ครุฑ สันสกฤตเขียนด้วยเทวนาครี ว่า गरुड   เพราะฉะนั้น ครุฑจึงศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย  อย่างไรก็ดี ครุฑ โดยตัวของตัวเอง ก็เป็นเทพองค์หนึ่งอยู่แล้ว ไม่ใช่นกธรรมดา การได้เป็นพาหนะของพระวิศณุ ยิ่งเสริมบารมีให้พญาครุฑ พลอยยิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปกันใหญ่  เหมือนกับที่ช้างเอราวัณ ได้เป็นพาหนะของพระพรหมณ์ และโคนันทิ เป็นพาหนะของ พระศิวะ

การพลอยใหญ่ตามนายนั้น ถ้าจะให้ดี ตัวเองต้องมีวีรกรรมด้วย ซึ่ง ครุฑ ก็ได้ร่วมรบกับพระกฤษณะ อันเป็นอวตารหนึ่งของพระวิศณุ โดยครุฑได้บินนำพระกฤษณะ ไปปราบยักษ์ชั่วร้ายนามว่า नरक असुर  หรือ นรกอสูร  เรื่องราวปรากฏอยู่ใน มหาภารตะ ดังภาพ



ในแง่มุมของปรัชญาการเมืองการปกครอง ในลำดับต่อมา ครุฑ ก็ได้กลายเป็นตราแผ่นดินของสองประเทศ คือ ประเทศอินโดเนเซีย และประเทศไทย
                                                                             


ครุฑ-ตราแผ่นดิน ประเทศอินโดเนเซีย                                           ครุฑ-ตราแผ่นดิน ประเทศไทย

ทั้งนี้เพราะราชวงศ์ชวาสมัยโบราณ ได้รับนับถือเรื่องพระนารายณ์ หรือพระวิศณุ เป็นใหญ่เช่นเดียวกันกับคติความเชื่อที่ไทยรับมา และราชวงศ์ชวาสมัยโบราณเกี่ยวดองเป็นญาติ กับราชวงศ์ที่เคยปกครองดินแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่เมืองไชยา ประเด็นนี้บันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ชวา          

ศาสนาพราห์มณ์ลัทธิพระนารายณ์เป็นใหญ่ หรือไวษวณพนิกาย ได้เดินทางจากลุ่มแม่น้ำกฤษณา เข้ามาในแผ่นดินทีเป็นประเทศไทยปัจจุบัน โดยเข้ามาอยู่ในดินแดนภาคใต้ก่อน ประมาณจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลุ่มแม่น้ำตาปี และจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน  เมื่อประมาณหนึ่งพันปี ก่อนกรุงสุโขทัย ตามหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่พิสูจน์ได้ในเวลานี้ เราคงต้องเชื่ออย่างนี้ไปก่อน จนกว่าจะมีการค้นพบหลักฐานอื่นมาหักล้าง

พิสูจน์?

แบบว่า ลุ่มแม่น้ำกฤษณา เป็นดินแดนของสกุลช่างสกุลหนึ่งของอินเดีย นักประวัติศาสตร์ศิลป์ยุคหลังขนานนามว่าสกุลช่าง อมราวดี (अमरावती)



พระนารายณ์รูปนี้ มีอายุประมาณหนึ่งพันปีก่อนกรุงสุโขทัย  พบที่นครศรีธรรมราช นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ เห็นว่าเป็นรุ่นเดียวกับพระนารายณ์ ที่พบที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งก็หมายความว่า เป็นสกุลศิลป์จากลุ่มแม่น้ำกฤษณา เช่นเดียวกัน แต่ว่า งานสร้างนั้น ทำขึ้นในพื้นที่ภาคใต้เอง

เทวรูปพระนารายณ์รูปนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ถูกจัดว่างไว้โดดเด่นดังภาพ(สี)





และยังมีเทวรูปพระนารายณ์อีกองค์หนึ่ง พบที่วัดพระเพลิง อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ลักษณะการปั้น(แกะสลัก)เช่นเดียวกับสองรูปนี้

อนึ่ง บางท่านอาจสงสัยเช่นเดียวกับผู้เขียน ว่าคำว่า กฤษณะ กับ กฤษณา เขียนเหมือนกันหรือไม่ในภาษาแขก ตอบว่า เขียนไม่เหมือนกัน

กฤษณะ เขียนว่า कृष्ण   ส่วนกฤษณา เขียนว่า  कृष्णा

โปรดสังเกตความแตกต่างกันเอาเอง อย่าให้ต้องบอกละเอียดทุกประเด็น คนเราโต ๆ กันแล้ว

          ส่วน แม่น้ำกฤษณา ก็จะเขียนว่า  कृष्णा नदी


ข้าพเจ้าไปอินเดียมาสามสี่ครั้ง ได้เดินทางจากตะวันออกสุดไปตะวันตกสุด ของดินแดนภารตะ ภาคที่อยู่ด้านเหนือทิวเขาวินธัย ดังที่พรรณนาไว้ในเพลงชาติอินเดีย ตอนหนึ่งว่า

          विंध्य हिमाचल
यमुना गंगा
          ภูเขาวินธัย  ภูเขาหิมาลัย
          แม่น้ำยมุนา แม่น้ำคงคา

และบังเอิญ ว่า ข้าพเจ้าอ่านเทวนาครีออกอยู่บ้าง  ข้าพเจ้าจึงไม่รู้สึกรกหูรกตากับแผ่นป้ายตามท้องถนน และตามสถานีรถไฟ ในภูมิภาคอินเดียเหนือ...

แต่ข้าพเจ้าไม่รู้จักดินแดนภารตะ ที่อยู่ใต้ลงไปจากทิวเขาวินธัย ซึ่งวางขวางแบ่งภูมิประเทศออกเป็นอินเดียเหนือ กับอินเดียใต้  ข้าพเจ้าเคยมีคนที่นับถือเป็นญาติห่าง ๆ แบบว่าห่างมาก อยู่เมืองวิสาขะปัทนัม ในรัฐอันตระประเทศ  แต่ใต้สุดเท่าที่ข้าเจ้าเคยลงไปคือ เมืองภูพาเนชวาร์ ในรัฐโอริสสา  ลุ่มน้ำกฤษณาอยู่ทางใต้ลงไปอีก เพราะฉะนั้นบทความชิ้นนี้เขียนจากการค้นคว้า ไม่ใช่จากประสบการณ์

และ ครุฑ เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมไทยภาคกลาง ได้อย่างไร?  ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ...แบบว่า
ไม่รู้อ่ะ