open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาธิปไตยในอเมริกา ตอน 1/3 อะเล็กซี เดอ ต็อควิล

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย

Democratic Statecraft: de Tocqueville's Democracy in America          รัฐนาวาประชาธิปไตย: เดอ ต็อควิล – ประชาธิปไตยในอเมริกา
ตอนที่ 1/3

ศ.สมิธ เปิดการบรรยายด้วยการตั้งคำถามว่า ต็อควิล เขียนหนังสือเล่มนี้ “Democracy in America” ขึ้นมาทำไม?  เกี่ยวกับอะไร? เขาต้องการตอบปริศนาอะไร?

ศ.สมิธ ย้อนประวัติศาสตร์ ปูพื้นให้เราทราบว่า ในศตวรรษที่ 17 และ 18 นั้นแนวความคิดเรื่องเสรีภาพ อิสรภาพ และความเสมอภาค (freedom and equality) เป็นแนวความคิดด้านการเมืองการปกครอง และสังคม ที่ผนึกแน่นควบคู่มาด้วยกัน ไม่ว่าจะในปรัชญาการเมืองการปกครองของ ฮ็อปส์ หรือ ล็อค หรือรุซโซ ทั้งสามต่างเชื่อว่าในสภาพธรรมชาติ มนุษย์เราเกิดมาเป็นอิสระ มีเสรี และเสมอภาค  แต่ด้วยความเป็นอยู่ “ศิวิไลซ์” อยู่กันเป็นสังคมบ้านเมืองเช่นที่เป็นอยู่ในระบอบเก่า(ancient regime)ของยุโรป ทำให้เกิดลำดับชั้นในสังคม ซึ่งเป็นศัตรูต่อความเสมอภาค ดังนั้น ความคิดอันเป็นแสงสว่างในศตวรรษที่ 17/18 เรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคจึงรวมตัวกันแน่นแฟ้น อยู่เบื้องหลังความคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตย ที่กำลังก่อกำเนิด

กระทั่งถึงต้นศตวรรษทึ่ 19 นักปรัชญาการเมืองการปกครองทั้งในยุโรปและอเมริกา เริ่มสงสัยว่า ที่จริงแล้ว เสรีภาพ กับ ความเสมอภาค ไม่ได้เป็นคนละเรื่องเดียวกันหรือ ต็อควิล และนักปรัชญาการเมืองการปกครองคนอื่น ๆ มองว่า สังคมประชาธิปไตยที่กำลังก่อกำเนิดในอเมริกาและยุโรปนั้น กำลังสร้างรูปแบบใหม่ของ “อำนาจสังคม” ที่คุกคามเสรีภาพ/อิสรภาพของมนุษย์ ฐานของอำนาจใหม่ได้แก่กลุ่มกฎุมพี(หรือคนชั้นกลาง) หรือ bourgeois ที่กำลังเติบใหญ่อยู่ในสังคมอเมริกัน อังกฤษ และฝรั่งเศส

ปมประเด็นสำหรับนักปรัชญาการเมืองการปกครอง เช่น ต็อควิล ได้แก่ จะบรรเทาความเข้มข้น หรือความรุนแรง ของอำนาจการเมืองชนิดใหม่นี้ ได้อย่างไร

คำตอบของ ล็อค ได้แก่ ให้มีการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งรัฐธรรมนูญอเมริกันรับแนวคิดนี้มา แต่ ต็อควิล ไม่ค่อยมั่นใจกับวิธีนี้ ต็อควิล เขียน “ประชาธิปไตยในอเมริกา” หลังยุค รุซโซ ประมาณ 75 ปี เขาไม่ค่อยไว้ใจ “เจตนาทั่วไป” หรือ ระบอบอำนาจอธิปไตยของปวงชนอย่างที่ รุซโซ เสนอ

ทั้ง ๆ ที่ สมัย รุซโซ ระบอบประชาธิปไตยดูเหมือนจะเป็นรัฐในอุดมคติ ในฝัน ที่ห่างไกล เลือนราง แต่ สำหรับ ต็อควิล เขากำลังมีชีวิตอยู่กับกำเนิดของรัฐประชาธิปไตย ทั้งในอเมริกาและฝรั่งเศส สังคมประชาธิปไตยเป็น “สังคมปัจจุบัน” ของ ต็อควิล ไม่ใช่สังคมในฝัน ของ รุซโซ

ต็อควิล เขียนว่า

          “ในสหรัฐอเมริกา ลัทธิอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน(the sovereignty of the people)
ไม่ใช่ลัทธิโดดเดี่ยว เกิดขึ้นมาโดด ๆ แต่เป็นลัทธิความเชื่ออันเป็นลำดับขั้นตอนสุดท้าย ในพัฒนาการของแนวคิดทางการเมืองการปกครอง ของโลกอังกฤษ-อเมริกัน(Anglo-American World)”

อย่างไรก็ดี สำหรับ ต็อควิล แล้ว บ้านเมืองในระบอบอำนาจรัฐมาจากปวงชน หรือรัฐประชาธิปไตยที่เกิดใหม่ ใช่ว่าจะยุติธรรมกว่า หรือปราศจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจกว่ารัฐในระบอบเก่า ไม่ว่าจะเป็นระบอบใด ๆ ที่เคยมีกันมา  เพราะฉะนั้น ในยุคประชาธิปไตย ปัญหาการเมืองการปกครอง ได้แก่ ปัญหาว่า จะตรวจสอบการใช้อำนาจที่มาจากปวงชน ได้อย่างไร?

ต็อควิล เห็นว่า ในระบอบเก่าของฝรั่งเศสและยุโรปอื่น ๆ พระราชาไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะพระราชาถูกจำกัดและคานอำนาจโดยพวกขุนนาง ที่มีอยู่ทั่วแผ่นดิน แต่ละคนก็มีลักษณะเป็น “ขุนศึก” ด้วยกันทั้งนั้น และมีสิทธิทำให้พระราชานอนไม่หลับ

ปัญหาที่ ต็อควิล ถามก็คือ ก็ในเมื่อ “ปวงชน” มีอำนาจดุจจะเป็น “ราชา” เสียเองแล้วเช่นนี้ แล้วใคร หรือผู้ใด หรืออะไร จะคอยคานอำนาจ คอยตรวจสอบการใช้อำนาจการเมืองการปกครองแบบใหม่ ที่ถือว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน” หรือมาจาก “เจตนาทั่วไป” ของ รุซโซ

ประเด็นนี้ สำหรับ ต็อควิล คือประเด็นที่เป็นเนื้อหาของรัฐศาสตร์สมัยใหม่ และเป็นเรื่องที่     ต็อควิล พยายามหาคำตอบ ศ.สมิธ กล่าวว่า เราทุกคนในปัจจุบันเป็นสานุศิษย์ของ ต็อควิล ด้วยกันทั้งนั้น ในแง่ที่ว่า รัฐศาสตร์ของพวกเรายังคงเผชิญกับปริศนาเรื่องการกำกับดูแลและตรวจสอบ การแสดงอำนาจทางการเมืองการปกครอง ที่เป็นอำนาจประชาธิปไตย (อันเป็นเรื่องที่ ต็อควิล ตั้งข้อสังเกตไว้)

How to combine popular government with political wisdom? เราจะผสมผสานการปกครองด้วยอำนาจของปวงชน เข้ากับภูมิปัญญาทางการเมืองการปกครอง ได้อย่างไร? นี่คือปัญหาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในความเห็นของต็อควิล

ถึงขั้นนี้ ศ.สมิธ หยุดพักการเดินเรื่อง หันมาแนะนำให้นักศึกษาทราบว่า ใคร คือ อะเล็กซี เดอ ต็อควิล? ตามประวัติเขาเกิดหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี 1805 ในดินแดนของพวกนอร์มัน ทางเหนือของฝรั่งเศส เกิดในตระกูลผู้ดีเก่า คฤหาสน์ของต็อควิลยังคงอยู่ในมือของคนรุ่นหลังของตระกูล จนตราบเท่าทุกวันนี้ ศ.สมิธ เล่าว่า ตนได้เคยเดินทางไปเยือนคฤหาสน์แห่งนั้น อันเคยเป็นบ้านของ ต็อควิล และได้พบกับลูกหลานของต็อควิล

ขุนนางตระกูลนี้สืบสายไปถึงยุคพระเจ้าวิลเลียม เดอะ ค็องเคอเรอ (หรือที่ฝรั่งเศสเรียก กิโยม เลอ ก็อง เก ร็อง) ผู้ยกทัพจากนอร์มังดีข้ามไปตีดินแดนบนเกาะอังกฤษ และปกครองอังกฤษอยู่นานนับร้อยปี

ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส บิดามารดาของต็อควิล ถูกจับและคุมขังอยู่ในคุกประมาณหนึ่งปี  กระทั่ง โรเบสปิแอร์ นักปฏิวัติที่มีชื่อเสียงถูกตัดหัวด้วยกิโยติน คนทั้งสองจึงพ้นจากคุกและรอดตาย  ตัวต็อควิลเอง เกิดในยุคนะโปเลียน ได้รับการศึกษาอบรมเลี้ยงดู มาอย่างอนุรักษ์นิยม(แบบฝรั่งเศส) ศึกษากฎหมายที่ปารีส และได้พบเพื่อนสนิท เป็นพวกผู้ดีเก่าด้วยกันที่นั่น ต่อมาคนทั้งสอง เมื่ออายุ 25 ปี ได้เดินไปสหรัฐอเมริกาด้วยกัน ระหว่างพฤษภาคม 1831/2374 -กุมภาพันธ์ 1832/2375) เพื่อดูงานเกี่ยวกับระบบงานราชทัณฑ์ โดยทุนจากรัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ฟิลลิป(ช่วงนั้นฝรั่งเศสกลับไปปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย) พวกเขาได้เดินทางขึ้นเหนือในมลรัฐนิวอิงแลนด์ ลงใต้สุดถึงเมืองนิวออร์ลีนส์ และตะวันตกสุดไปถึงบริเวณทะเลสาปมิชิแกน

ต็อควิล ได้ใช้โอกาสนั้น สังเกตการณ์และศึกษาความเป็นไปทางการเมืองการปกครองในสหรัฐอเมริกาด้วย และได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียง “ประชาธิปไตยในอเมริกา”(Democracy in America)

หนังสือ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ศ.สมิธ เห็นว่า เป็นหนังสือที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย ศ.สมิธกล่าวว่า น่าแปลกที่หนังสือที่ดีที่สุดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในอเมริกา เขียนขึ้นโดยผู้ดีเก่าชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งน่าที่จะเป็นปฏิปักษ์และเป็นคนแปลกหน้าที่สุด ต่อระบอบประชาธิปไตย

ตั้งแต่เมื่อพิมพ์ครั้งแรกในปี 1835/2378 หนังสือเล่มนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานยอดเยี่ยม จอห์น สจวต มิล นักปรัชญาการเมืองการปกครองอังกฤษเห็นว่า เป็นผลงานดีที่สุดแห่งยุค ต็อควิล ยืนเคียงข้าง “บิดา – ผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา”(founding fathers) ดุจจะว่าเขาเป็นผู้นำช่าวอเมริกันกับเขาด้วยผู้หนึ่ง การแปลเป็นภาษาอังกฤษสำนวนล่าสุด ได้ถูกบรรจุไว้ในผลงานอมตะเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกา ในชุดที่เรียกว่า the American Series

ต็อควิล เดินทางไปอเมริกาเหมือนผ้าขาวผืนหนึ่ง การได้พบเห็นความเป็นไปในสังคมประชาธิปไตยอเมริกัน มีส่วนเปลี่ยนแปลงเขาอย่างมาก ในจดหมายถึงมิตรผู้หนึ่ง ผู้เป็นเพื่อนบ้านชาวนอร์มังดีด้วยกัน เขาบอกให้มิตรผู้นั้นรู้ว่า ทำไมเขาถึงได้เขียนหนังสือเล่มนี้

1)   เขาได้ครุ่นคิดเรื่องประชาธิปไตยในอเมริกามานานหลายปี ก่อนมีโอกาสได้เดินทางมาอเมริกา เพื่อพิสูจน์ความคิด
2)   เขาไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อประโยชน์ของชาวอเมริกัน ซึ่งเขาเห็นว่า ไม่มีรสนิยมเรื่องปรัชญา เขาเขียนเพื่อประโยชน์ของคนฝรั่งเศส เขาต้องการโน้มน้าฝเพื่อนร่วมชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ยังคิดจะฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยกลับคืน ให้คนกลุ่มนั้นเห็นแจ้งว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคมอเมริกัน นั่นแหละคือ อนาคตของฝรั่งเศส ดูเหมือนต็อควิลกำลังประกาศว่า อเมริกา คือ อนาคตของโลก

โดยรวม ต็อควิล มองการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา ด้วยความระคนสงสัย ปนกับความหวาดกลัว ศ.สมิธ วิเคราะห์ว่า มีคำถามย่อยอีกสองคำถามที่ ต็อควิล ต้องการคำตอบ

1)   การปรับเปลี่ยนระบอบเก่าที่ไม่เสมอภาค เป็นระบอบใหม่ – ที่วางอยู่บนความเสมอภาค ทำอย่างไร? ปัญหานี้คือปริศนาเรื่อง “regime change” หรือ “regime transformation” (การเปลี่ยนระบอบ หรือการแปรรูประบอบ)
2)   ทำไม การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในอเมริกาจึงได้ค่อนข้างนุ่มนวลอ่อนโยน ในขณะที่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศส ดุเดือดรุนแรง  และการเปลี่ยนแปลงในอเมริกาเป็นไปในแนวเสรีนิยม ในขณะที่ในฝรั่งเศสผันไปสู่ระบอบเผด็จการ (โดย นะโปเลียน)

ศ.สมิธ ลงความเห็นว่า ต็อควิลเขียนหนังสือเล่มนี้เหมือนครูสอนศิษย์ เขาไม่ใช่คนจดบันทึกการสังเกตการณ์ขนบธรรมเนียมอเมริกัน แต่เขาเขียนเพื่อให้การศึกษาด้านการเมืองการปกครองแก่ผู้นำชาวยุโรปในอนาคต ศ.สมิธ สรุปว่า รัฐบุรุษยุคประชาธิปไตยควรได้อ่านงานของ มาเคียเวลลี กับงานของ เดอ ต็อควิล ควบคู่กันไป

ประเด็นในการสั่งสอนของ ต็อควิล ได้แก่ สิ่งเขาเรียกว่า a mother thought (ภาษาฝรั่งเศส ว่า l’idée mère) ซึ่งหมายถึง ความคิดหลักที่เชื่อมโยงสมานทุกส่วนของหนังสือเล่มนั้นเข้าด้วยกัน จะเรียกว่า central idea ก็น่าจะได้ ความคิดแม่ดังกล่าวคือ ความเสมอภาค – equality

ต็อควิล เน้นว่า ตลอดเวลาที่เขาเดินทางท่องไปในสหรัฐอเมริกา สิ่งหนึ่งที่แตะตาเขา คือ ความเสมอภาคของสภาพความเป็นอยู่ – equality of condition เรื่องนึ้ไม่ใช่เรื่องการเมืองการปกครอง แต่เป็นเรื่องสังคมหรือสังคมวิทยา ความเสมอภาคในสภาพความเป็นอยู่จะนำหน้าระบอบประชาธิปไตย เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดระบอบประชาธิปไตย โดยที่ความเสมอภาคในสภาพความเป็นอยู่นั้นได้แพร่หลาย แผ่ขยาย ในยุโรปและอเมริกาก่อนเรื่องการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ความเสมอภาคในสภาพความเป็นอยู่ เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ก่อนรุ่งอรุณของโลกสมัยใหม่(modern age) ต็อควิล อ้างถึงประวัติความเสมอภาคในสภาพความเป็นอยู่ ไปไกลก่อนยุคของเขาราว 700 ปี ย้อนไปเริ่มที่ในกลางของโลกยุคกลาง(medieval world)

แตกต่างจาก ฮ็อปส์และล็อค ต็อควิล ไม่ได้ปักหลักความคิดเรื่องความเสมอภาพไว้กับ “สภาพธรรมชาติ” ฮ็อปส์ กับ ล็อค คิดว่าคนเกิดมาเสรี เสมอภาคในสภาพธรรมชาติ ต่อมาความ “ศิวิไลซ์” ได้เข้ามาทำลายสภาพเสมอภาคของมนุษย์ โดยสร้างธรรมเนียมประเพณีและชั้นชนขึ้นมาในสังคม-บ้านเมือง

แต่ ต็อควิล เห็นตรงข้าม เขาอ้างว่าความเป็นอยู่ของคนได้กลายสภาพเหินห่างจากสภาพ ไม่เสมอภาค ในโลกยุคโบราณมาสู่ความเสมอภาคเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคหลัง ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เป็นประวัติศาสตร์ของความเสมอภาพ(equalization) แบบค่อยเป็นค่อยไป ความเสมอภาคเคือพลังประวัติศาสตร์(historical force) ต็อควิล ไม่ได้คิดว่าความเสมอภาคเป็นปัจจัยหลักให้เกิดระบอบประชาธิปไตย แต่ความเสมอภาคเป็นปัจจัยก่อกำเนิด(a generative factor) ต็อควิล ตั้งข้อสังเกตว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น จากปัจจัยก่อกำเนิดอันได้แก่ความเสมอภาค ประเด็นอื่น ๆ จึงได้เกิดขึ้นตามมา.....

ต็อควิล ใช้คำว่า “provident force” มาพูดถึงวิวัฒนาการของความเสมอภาคในประวัติศาสตร์ ซึ่งตามปกติ คำ ๆ นี้ใช้หมายถึง พระผู้เป็นเจ้า(God)  แต่ ต็อควิล นำมาใช้เพื่อหมายถึงลักษณะทั่วไปอันเป็นสากล หรือเท่ากับคำว่า universal

พลังประวัติศาสตร์ของความเสมอภาคที่ค่อยเป็นค่อยไป มีลักษณะสองประการ คือ

          1) มีลักษณะ สากล
          2) ปัจเจกชนไม่สามารถขัดขวางได้

ต็อควิล เขียนว่า (...ในปี 1830) มีประเทศเดียวในโลก ที่กำลังเกิดการปฏิวัติทางสังคมขนานใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงแปรรูปจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศ.สมิธ เห็นว่า ภายใต้กรอบดังกล่าว ต็อควิล จึงได้ตั้งชื่อหนังสือว่า “ประชาธิปไตย ใน อเมริกา” แทนที่จะใช้ “ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน” ทั้งนี้ เพราะว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องสากลในวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ สหรัฐอเมริกาเป็นเพียงกรณีศึกษาเรื่องประชาธิปไตย ต็อควิล เห็นว่า ประชาธิปไตยมีได้หลายรูปแบบ ประชาธิปไตยไม่ได้มีแบบอเมริกันแบบเดียว อย่างไรก็ดี สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา จะบ่งบอกอนาคตของยุโรป เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่พึงศึกษาสำหรับรัฐบุรุษยุโรปในอนาคต

เอกลักษณ์ประชาธิปไตยสไตล์อเมริกัน ที่ ต็อควิล สังเกตเห็นเป็นอย่างไร?

1)   ความเข้มข้นในความสำนึกรู้ เรื่องการปกครองตนเองในท้องถิ่น ของชาวอเมริกัน
2)   ความนิยมที่จะรวมตัวกัน เป็นสมาคมต่าง ๆ ในหมู่ประชาชนชาวอเมริกัน
3)   ความสำนึกในศาสนา

สำหรับประเด็นแรก ความเข้มข้นในความสำนึกรู้เรื่องการปกครองตนเองในท้องถิ่น ศ.สมิธ สรุปความเห็นของ ต็อควิล ว่า คนอเมริกันเป็นคนท้องถิ่นนิยม(localism) จนทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นมาในท้องถิ่น มีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ตำบลหมู่บ้าน หรือ “เมืองชนบท” ของอเมริกัน(township) คือ รากฐานของประชาธิปไตยสไตล์อเมริกัน แล้ว ต็อควิล ก็ได้ยกตัวอย่างเมืองชนบทในนิวอิงแลนด์ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของแนวคิดเรื่อง “เจตนาทั่วไป” และ “สัญญาสังคม” ของ รุซโซ ซึ่งต็อควิล นับถือเป็นอาจารย์ ซึ่งผู้คนร่วมกันกำหนดตัวบทกฎหมาย ต็อควิล ใช้สายตาของคนที่เลื่อมใสปรัชญารุซโซ มามองเมืองชนบทอเมริกัน

ต็อควิล เล่าว่า เขาอ่านงานของ รุซโซ หรือไม่ก็ ปาสกาล ไม่เว้นแต่ละวัน – เขาเล่าเรื่องนี้ไว้ในจดหมายถึงเพื่อน

ในยุโรป การเมืองการปกครองวิวัฒนาการมาในแนวของการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง จิตวิญญาณเรื่องการปกครองท้องถิ่น หรือท้องถิ่นนิยมถูกทำลายลงมาก และยาวนาน การปกครองท้องถิ่นจึงไม่ได้เข้มข้นและเข้มแข็งอย่างในสหรัฐอเมริกา

ศ.สมิธ แจ้งแก่นักศึกษาว่า อีกสองประเด็นหลัง จะได้บรรยายในครั้งต่อไป
-----------------------------------------------------------------------------------------------
สนใจ ต้นฉบับวีดีโอสำหรับตอนนี้ เชิญตามลิงก์ข้างล่าง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น