open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

นักปรัชญา กับ พระราชา ตอน 2/3

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย


นักปรัชญา กับ พระราชา ตอน 2/3
Plato’s Republic III-IV


การบรรยายตอนนี้ ศ.สมิธ นำเสนอตัวละครที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ สาธารณรัฐของ เพลโต

เริ่มจาก โพลิมากุส(Polemarchus) บุตรของ เกอเฟลุส(Cephalus) โพลิมากุส เป็นสุภาพบุรุษแบบกรีกโบราณ ซึ่งไม่ใช่สุภาพบุรุษแบบที่คนสมัยใหม่บางคนเข้าใจ คือ ผู้หลีกทางให้สตรีเดินเข้าลิฟต์ก่อน หรือจับบานประตูไว้ให้ผู้สูงอายุเดินเข้าห้าง อะไรทำนองนั้น

สุภาพบุรุษแบบกรีกโบราณ หมายความว่า รักเพื่อนรักฝูง ไม่ใช่เอาตัวรอดคนเดียวแบบบิดาของเขา(เกอเฟลุส) ผู้ซึ่งหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องเงินกับกามารมณ์  อีกนัยหนึ่ง สนใจสนองตัณหาราคะทางกายภาพ ไม่คิดถึงบ้านเมือง  ในขณะที่บุตรชาย คือ โพลิมากุส ชอบที่จะคิดคำนึงเรื่องเกียรติยศ และความมั่นคงของบ้านเมือง


โพลิมากุส เห็นว่า ความยุติธรรม คือการทำคุณงามความดีต่อเพื่อนและทำร้ายศัตรู  ความยุติธรรมหมายถึงความภักดีต่อหมู่คณะ  คล้าย ๆ ความชาตินิยมในสมัยนี้  หรือความรักสถาบัน หรือรักทีมฟุตบอล




โสคราติส ท้าทาย โต้แย้ง โพลิมากุส ว่าความภักดีต่อหมู่คณะ โดยโดด ๆ ไม่อาจนับเป็นคุณงามความดี(virtue)ได้  เขาถามว่า

เราไม่มองคนผิดพลาด กันบ้างเลยหรือ? 
ความเป็นเพื่อน กับ ความเป็นศัตรู สังเกตกันที่ตรงไหน? 
เราไม่เคยเข้าใจผิด คิดว่าศัตรูคือเพื่อน และเพื่อนคือศัตรูบ้างหรือ?

เรื่องความเข้าผิดนี้ เกิดขึ้นได้แก่ปุถุชนทุกคน เพราะฉะนั้น เราจะพูดได้อย่างไรว่า ความยุติธรรมคือการช่วยเพื่อนและทำลายล้างศัตรู? ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า ใครคือมิตร ใครคือศัตรู

เพราะฉะนั้น ความภักดีต่อหมู่คณะ จะไม่นำไปสู่ความอยุติธรรม ละหรือ?

อย่างไรก็ดี โพลิมากุส ก็ยังคงยืนยันความเชื่อของตน ว่า นครรัฐหรือบ้านเมือง จะดำรงอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อนครรัฐ(บ้านเมือง)นั้นมีสำนึกชัดเจนว่า ตนเองคืออะไร ตนดำรงอยู่เพื่ออะไร และที่สำคัญก็คือ “สิ่งที่ไม่ใช่ตนคืออะไร?”  และ “ใครคือศัตรูของตน?”

โสคราติส ตั้งข้อสงสัยต่อความคิดของ โพลิมากุสในตอนต้น ๆ ของหนังสือ สาธารณรัฐ  แต่แล้วในตอนหลังก็ยอมรับความคิดนี้ของ โพลิมากุส  โดยที่ โสคราติส ยอมรับว่า ถึงแม้นครรัฐ(บ้านเมือง)จะอยู่อย่างสันติสุข มีความสามัคคีภายในก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างนครรัฐ(บ้านเมืองต่าง ๆ)นั้น จะไว้ใจไม่ได้  ดังนั้น นครรัฐจะต้องสร้างชนชั้นนักรบ(a warrior class) หรือ สร้างพลเมืองที่เป็นนักรบ(warrior citizen)ขึ้นไว้  การสงครามและความพร้อมรบเป็นเรื่องจำเป็น แก่ความเป็นอยู่ของนครรัฐ(บ้านเมือง)

ความคิดทางการเมืองลักษณะนี้ ก็มีนักปรัชญาการเมืองในศตวรรษที่ยี่สิบ นำมาคิดต่อ  โดยเห็นว่า ความเป็นมิตรและศัตรู เป็นเรื่องสำคัญทางการเมือง  ซึ่งก็เท่ากับตอกย้ำข้อคิดจากบทที่หนึ่งในหนังสือ สาธารณรัฐ

บุคคลต่อมาจาก โพลิมากุส ที่ปรากฏตัวใน สาธารณรัฐ ได้แก่ ธราสซิมากุส(Thrasymachus) บุคคลผู้นี้เป็นปัญญาชนผู้ “คิดต่าง” จาก โสคราติส  และทำตัวดุจจะเป็นเงาตามตัวคู่ขนานกับ โสคราติส  เขาถือตัวว่าเป็นผู้ทรงความรู้ความคิด และตั้งตัวเป็น “อาจารย์” เช่นเดียวกับ โสคราติส  อย่างไรก็ดี ธราสซิมากุสไม่ได้เห็นด้วยกับ โพลิมากุส เรื่องความยุติธรรม ที่ โพลิมากุส เห็นว่าความยุติธรรม เป็นเรื่องของความภักดีต่อหมู่คณะ และเกี่ยวกับความเป็นมิตร ความเป็นศัตรู 

แต่เขาเห็นว่า ความยุติธรรมก็คือผลประโยชน์ของผู้ที่แข็งแรงกว่า  เขาบอกว่า ระบอบการเมืองทุกแห่งหนประกอบด้วยผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง  และความยุติธรรมได้แก่เรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง(rulers)

ศ.สมิธ เห็นว่า ธราสซิมากุส เป็นปัญญาชนผู้พยายามนำความจริงที่ยากแก่การกล้ำกลืน ขึ้นมาพูด  เขาเป็นคนผู้มีความสุขกับการขจัดความมืด สร้างความสว่างกระจ่างใส  เทียบได้กับผู้ที่จะบอกเด็ก ๆ ว่า ซานตาคลอส ไม่มีจริงหรอก

ธราสซิมากุส สอนว่า มนุษย์ชนล้วนกระหายอำนาจ อยากที่จะบังคับข่มเหงผู้อื่น นอกจากเรื่องเข่นเขาโคขืน แล้ว มนุษย์ก็จะไม่สนใจเรื่องอื่นใดอีก  ซึ่งประเด็นนี้ นักปรัชญาการเมืองสมัยต่อมา คือ โธมัส ฮ็อปส์ ก็ได้หยิบขึ้นมาพัฒนาความคิดต่อไป

ความกระหายอำนาจ ธราสซิมากุส เห็นว่า เป็นจริงสำหรับปัจเจกชนทั่วไปและเป็นจริงสำหรับกลุ่มคน หรือสังคมด้วยเหมือนกัน รัฎฐะทั้งหลายก็อยากมีอำนาจเหนือรัฎฐะอื่น  หรือพูดเป็นภาษาปัจจุบันว่า การเมืองสำหรับ ธราสซิมากุส นั้น ได้แก่ zero sum game ซึ่งหมายความว่า ขาหนึ่งเล่นได้มากเท่าไร  อีกขาหนึ่งก็จะเล่นเสียมากเท่านั้น

และ กฎแห่งความยุติธรรมก็คือ กฎหมายที่ผู้ชนะในเกมจัดตั้งขึ้น เพื่อพิทักษ์และส่งเสริมผลประโยชน์ของตนเอง

คำโต้แย้งจาก โสคราติส ในประเด็นนี้ก็คือ เราไม่เคยสำคัญผิดกันบ้างเลยหรือว่า
อะไรคือผลประโยชน์ของเรา? 

เพราะว่า ผลประโยชน์ไม่ใช่เรื่องแจ่มแจ้งประจักษ์ชัดแก่ตาเสมอไป คือว่า ผลประโยชน์มันไม่ได้ self-evident  ผู้ทรงอำนาจในบัดนั้น เขารู้แน่หรือว่า ผลประโยชน์ของตน คือ อะไร?  ความยุติธรรมไม่ได้อิงกับอำนาจอย่างเดียว  ความยุติธรรมเรียกร้องต้องการความรู้ ความคิด และการไตร่ตรอง ด้วย  ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้รู้ว่า ผลประโยชน์แท้จริงของตน คือ อะไร?

ความรู้ความคิด เป็นหลักสำคัญของปรัชญา โสคราติส  ซึ่งเห็นว่า คุณงามความดี(virtue)ทุกอย่าง ต้องอาศัยความรู้เป็นพื้นฐานรองรับ

ดังนั้น ปริศนา ก็คือ แล้วความรู้อะไรเล่า ที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม ถ้าความยุติธรรมพันอยู่กับความเห็นแก่ตัว(self-interest) และในเมื่อความเห็นแก่ตัวต้องการความรู้  ความรู้ชนิดนั้นจะเป็นฉันใด?
ธราสซิมากุส เห็นว่า ความยุติธรรมประกอบด้วยศิลปะแห่งการทำให้คนเชื่อฟังกฎ อันเป็นกฎที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของผู้อื่น เช่น ผลประโยชน์ของผู้ปกครอง ซึ่งเราต้องเชื่อฟัง เพราะเรากลัว “ผล” อันจะเกิดจากความ อยุติธรรม  (เราก็เลยทำตัวให้อยู่ในความยุติธรรมไว้ก่อน)  ผู้ปกครองแท้จริงได้แก่ ผู้ปกครองที่สามารถปฏิบัติอย่าง อยุติธรรม ได้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งตน  ผู้ปกครองแท้จริง ในความเห็นของ ธราสซิมากุส จึงเป็นเสมือนคนเลี้ยงแกะ ซึ่งปกครองฝูงแกะ  แต่เขาไม่ได้ปกครองฝูงแกะเพื่อประโยชน์ของแกะ  เขาปกครองฝูงแกะเพื่อผลประโยชน์ของเขาเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อ ธราสซิมากุส เห็นว่า ความยุติธรรมเป็น “คุณงามความดี”(virtue) โสคราติส จึงถามย้อนว่า คุณงามความดีชนิดใดหนอ ที่เกิดจากการตลบตะแลง ตบตาผู้อื่น  คนที่ยุติธรรมคือคนผู้เชื่อฟังกฎที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง  ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่สามารถกระทำการอัน อยุติธรรม ต่อผู้อื่นได้อย่างเต็มที่  กระนั้นหรือ?

คำถามเหล่านั้น ทำให้ ธราสซิมากุส “หน้าแดง” ด้วยความละอาย  เห็นว่า จริง ๆ แล้ว ตัวเองกำลังปกป้องพิทักษ์วิถีชีวิตของทรชน-เผด็จการ ซึ่งเป็น unjust life คือเป็น ชีวิตที่ไม่ถูกต้องยุติธรรม

หนังสือ สาธารณรัฐ เล่มที่หนึ่งจบลงตรงนี้  โดยไม่ได้มีข้อสรุปว่า ความยุติธรรม คือ อะไร?
โสคราติส ก็ไม่ได้บอกว่าอะไร ดี  บอกแต่ว่าสิ่งที่คนอื่นว่ามานั้น ไม่ดี

ในลำดับต่อมา บุคคลที่ปรากฏตัวใน สาธารณรัฐ ได้แก่ สองพี่น้อง เกลาคอน กับ อะไดมาตุส (Glaucon and Adeimatus) ผู้มีความเห็นว่า เพียงแค่สามารถให้เหตุผลได้ว่า ความยุติธรรมแบบนั้นแบบนี้ ไม่ถูก ไม่ดี เพียงเท่านั้นยังไม่พอ  แต่จะต้องบอกได้ด้วยว่า ความยุติธรรม นั้นดีอย่างไรโดยตัวของมันเอง – justice praised for itself

          A kind of good we delight in it for its own sake.
          แปล – ความดีที่เราพึงพอใจ ด้วยตัวของมันเอง

เกลาคอน ถาม โสคราติส ว่า ความดีชนิดนั้นมีไหม?

เกลาคอน กับ อะไดมาตุส มาจากชนชั้นผู้ดี(aristocrat) มีอุดมการณ์สูง เคยออกรบมาก่อน เห็นว่าความยุติธรรมต้องเป็นไปเพื่อความยุติธรรมนั้นเอง ไม่ใช่ดีเพราะผลทีจะตามมา(consequence of justice)  สองคนนี้ไม่สนใจ “ผลที่ตามมา”  พวกเขาบอกว่า อย่ายกผลดีของความยุติธรรม ขึ้นมาเป็นเหตุผลเพื่อความยุติธรรม

เกลาคอน เล่าเรื่องชายผู้หนึ่ง ผู้มีแหวนวิเศษ ที่ทำให้ตัวเขาล่องหนหายตัวได้ ลองนึกดูซิว่า เราจะทำอะไรบ้าง ถ้าเรามีอำนาจเช่นนี้ – อำนาจที่จะล่องหนหายตัวได้  ชายผู้นั้นใช้อำนาจดังกล่าว สังหารพระราชา แล้วได้มเหสีมาเป็นเมีย  แล้วเขาตั้งตัวเป็นราชาเสียเอง

ศาสตราจารย์สมิธ ให้นักศึกษาลองตรองดู ว่า ถ้าตนมีอำนาจหายตัวได้ สามารถก่ออาชญากรรมได้ ทำความชั่วช้าสามานย์อะไรก็ได้ แล้วไม่ต้องโทษ  ถ้าคุณทำได้อย่างนั้น คุณจะยังหาความยุติธรรมไปทำไม?  เกลาคอน ท้าทายโสคราติสด้วยกรณีตัวอย่างดังกล่าว  ทำไม ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และมีภูมิคุ้มกันโดยสมบูรณ์  จะยังต้องการความยุติธรรม มากกว่า  ความอยุติธรรม ?ช่วยตอบผมหน่อย โสคราติส–เกลาคอน ถาม  

Why would someone with absolute power and complete immunity to punishment, why would they prefer justice to injustice, tell me that Socrates?
ถ้าความยุติธรรม มีดีอยู่ในตัวเองอย่างเป็นเอกเทศ โดด ๆ โสคราติส จะต้องตอบคำถามนี้ แก่ เกลาคอนได้

ทางฝ่าย อะไดมาตุส(Adeimatus)ก็เข้ามาแทรกบ้าง  เขาบอกว่าเคยได้ยินคำสรรเสริญความยุติธรรม ในทำนองต่าง ๆ นานา  แต่คำสรรเสริญเหล่านั้นล้วนแล้วแต่กล่าวถึงสิ่งที่ความยุติธรรมจะนำมาให้(the consequence of justice)ภายในชาตินี้ หรือภายหลังภพชาติ

เพราะฉะนั้น ความยุติธรรมจึงเป็นคุณงามความดีสำหรับคนอ่อนแอ คนพิการ คนขี้ขลาด – ถ้าเราคิดคำนึงถึงแต่ผลของความยุติธรรม

อะไดมาตุส พูดถึงเรื่อง self-guardianship หรือ self-control  เขาบอกว่า มนุษย์ควรมีความสามารถที่จะดูแลพิทักษ์ตัวเอง จากอิทธิพลของคนอื่น  ทำอย่างไรเราจะพัฒนาคุณสมบัติ self-guardianship ขึ้นมาได้?  เขาขอถามโสคราติส

ศ.สมิธ เห็นว่า สองคนนี้เป็นพวกที่มีความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม คล้ายกับพวกลูกชายกฎุมพีชั้นสูง ผู้รู้สึกว่าตัวเองต่ำลงเพราะสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ไร้สาระ เสแสร้ง  คนแบบนี้ ศ.สมิธ เห็นว่า มีศักยภาพที่จะเป็น ผู้ปกครอง เป็นนักปราชญ์ หรือเป็นนักปฏิวัติ

ต่อคำท้าทายดังกล่าวข้างต้นของสองพี่น้อง(เกลาคอน กับ อะไดมาตุส)  โสคราติส เชิญชวนให้ทุกคนลองจินตนาการ สร้างนครรัฐ(บ้านเมือง)ขึ้นมาในมโนนึก  ทำการทดลองทางความคิด(a thought experiment)  แล้วอย่ามองความยุติธรรมในระดับปัจเจกชน  แต่ให้ขยายขอบข่ายการมองเป็นความยุติธรรมระดับนครรัฐ(บ้านเมือง)  แล้วค่อยย้อนกลับมาพิจารณาความยุติธรรมระดับปัจเจกชน ภายหลัง

ความคิดที่ว่า นครรัฐเทียบได้กับจิตวิญญาณของปัจเจกชน เป็นความคิดหลักของหนังสือ สาธาณรัฐ

อุทาหรณ์เรื่องนี้ โสคราติส ต้องการสาธกให้สองหนุ่มเข้าใจง่ายขึ้น ว่า ความยุติธรรมจะมีผลอย่างไรต่อจิตวิญญาณปัจเจกชน  โดยเทียบว่าการปกครองจิตวิญญาณของตนเอง ย่อมคล้ายการปกครองบ้านเมือง

ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราบอกว่า คน ๆ นั้น ท่าทางจะเป็นคนอเมริกันแบบฉบับ(typically American)  เราย่อมหมายความว่า บุคคลผู้นั้นมีคุณสมบัติละม้ายแม้น ภาพตัดขวางของคนในสังคมอเมริกัน  เรากำลังเข้าใจว่า ถ้าได้ขยายคุณสมบัติของคน ๆ นั้นให้ใหญ่ขึ้น เราก็จะได้ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเด็นนี้ ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาจนกลายเป็น ความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ระหว่าง คุณสมบัติบุคคล กับ สถาบันทางการเมืองการปกครอง  ในฐานะปัจเจกชนเรามีส่วนร่วมสร้างสรรค์คุณลักษณะของสังคม ขณะเดียวกัน สังคมก็มีอิทธิพลกำหนดคุณสมบัติ/คุณลักษณะของปัจเจกชน

ปริศนาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ทำไมบ้านเมือง(นครรัฐ) กับ ปัจเจกชน จึงได้คล้ายกัน? 

ยกตัวอย่างเช่น สำหรับสังคมอเมริกัน ศาลสูงสหรัฐฯ สภาคองเกรส และตำแหน่งประธานาธิบดี สถิตอยู่ในจิตวิญญาณปัจเจกชนคนอเมริกันด้วยหรือ?  ศ.สมิธ กล่าวว่า ถ้าคิดอย่างนั้นก็เหมือนบ้า คือไร้สาระที่สุด(absurd)

ประชาธิปไตยอเมริกัน หรือประชาธิปไตยใด ๆ ก็ดี มีส่วนช่วยก่อให้เกิดจิตวิญญาณปัจเจกชนที่เป็นประชาธิปไตย - หรือ?  คล้ายกับที่ระบอบปกครองเก่า(the old regime)ของฝรั่งเศส ที่มีส่วนก่อให้เกิดจิตวิญญาณแบบหนึ่ง  ระบอบการปกครองทุกระบอบย่อมก่อให้เกิดพลเมืองที่มีจิตวิญญาณเฉพาะแบบ - กระนั้นหรือ? 

หนังสือ สาธารณรัฐ ส่วนที่เหลือได้พยายามสร้างระบอบการปกครองที่จะมีส่วนก่อให้เกิดปัจเจกชนพลเมือง ที่มีคุณสมบัติเฉพาะ  เพราะฉะนั้น จึงมีผู้เห็นว่าหนังสือ สาธารณรัฐ เป็นหนังสือ utopia(รัฐในอุดมคติ) ปัจเจกชนพลเมืองที่ สาธารณรัฐ ต้องการจะสร้างขึ้น คือ นักปรัชญา/นักปราชญ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคนที่สร้างขึ้นได้ยาก...

ถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันจบประเด็นเรื่อง นครรัฐ กับ จิตวิญญาณ

การปฏิรูปบทกวี และ ศิลปะ
The reform of poetry and the arts

อะไดมาตุส เสนอแนวคิดเรื่องรัฎฐะ(city)ที่ตั้งอยู่บนความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ เพียงให้อยู่กันอย่างประหยัดมัธยัสถ์ เรียกว่า รัฎฐะอย่างง่าย – a simple city

ซึ่ง ศ.สมิธ เห็นว่า เป็นการสะท้อนถึงจิตวิญญาณของ อะไดมาตุส ที่ต้องการความเรียบง่ายอย่างผู้ดี(noble simplicity)  และเห็นว่า กายมนุษย์มีกิเลสที่จำเป็นเพียงไม่กี่อย่าง บ้านเมืองของ อะไรมาตุส จึงประกอบด้วยหมู่บ้านเคหะสงเคราะห์ พอให้อยู่กันได้

เกลาคอน พูดเหน็บแนม อะไดมาตุส ว่า รัฎฐะของอะไดมาตุส เหมาะแก่ “หมูหมา” เท่านั้น ไม่เหมาะกับมนุษย์  ผิดกับ รัฎฐะ ของเกลาคอน ที่ส่งเสริมกิเลสตัณหาทุกอย่างทุกประการของคน เช่น ให้บ้านเมืองมีรางวัลเกียรติยศแก่ผู้ทะยานอยาก ให้มีการแข่งขัน ให้มีการสงคราม  จึงเป็นรัฎฐะ ที่ผู้คนอยู่กับแบบ ไข้ขึ้นมิรู้ส่าง  ผู้คนแข่งขันอยากจะเป็นที่หนึ่ง อยากเกินหน้าเกินตาผู้อื่น

เพลโต เรียกสิ่งที่ เกลาคอนเสนอว่า “ความทะยานอยาก”(spiritedness) ซึ่งความทะยานอยากนี้เอง ที่เป็นจิตวิทยาอันเป็นหัวใจของ สาธารณรัฐ  โดยที่หนังสือ สาธารณรัฐ มีวัตถุประสงค์จะทำความทะยานอยากให้ “เชื่อง”  ต้องการจะควบคุมความทะยานอยาก ซึ่งต้องการเกียรติยศ ชื่อเสียง และอภิสิทธิ์(หรือความสง่า)  ความต้องการเหล่านี้ ทำให้เราอยากเข้าไปกำกับควบคุมผู้อื่น บังคับเข่นเขา ออกคำสั่ง ว้ากเพ้ย...

ซึ่งว่ากันจริง ๆ ความต้องการชนิดนี้ ก็มีอยู่ในใจคนทุกคน

เรื่องนี้คือประเด็นที่ โสคราติส นำมาคิด คือนำมาคิดว่า ทำอย่างไรจะโน้มนำให้ความทะยานอยากอันป่าเถื่อนของคน ถูกนำมาแปลงให้กลายเป็นพลังสร้างความดีงามเพื่อประโยชน์ของคนทั่วไป หรือของสังคม-บ้านเมือง  ทำอย่างไรจะทำให้ เกลาคอน เชื่องลงได้?

ณ จุดนี้ โสคราติส ได้เสนอข้อคิดที่อาจเป็นข้อคิดที่เป็นปัญหาน่าฉงนมากที่สุดของเขา ในการคิดสร้างรัฎฐะ(บ้านเมือง)ที่ยุติธรรม  โดย โสคราติส เสนอว่า การที่จะสร้างบ้านเมืองที่ยุติธรรมขึ้นได้  เราจะต้องกำกับควบคุม ดนตรี บทกวี และศิลปะ

งานแรกของผู้คิดสร้างรัฎฐะ(บ้านเมือง) ได้แก่ การดูแลเรื่องการศึกษา  การที่ โสคราติส เสนอให้ปฏิรูปบทกวี – ซึ่งหมายถึงบทกวีของโฮเมอร์  นับได้ว่าเป็นการปฏิวัติทางความคิด แยกทางไปจากความคิดเชื่อและการศึกษา ของกรีกสมัยนั้น 

ทำไมการศึกษา และบทกวี จึงสำคัญมากสำหรับ โสคราติส? 

ศ.สมิธ ตอบแทนว่า ผู้สร้างตำนาน(myth makers) นักเล่านิทาน(story tellers) ศิลปิน นักดนตรี คนทำหนัง คนสร้างละครโทรทัศน์ จากคนพวกนี้ที่เราเรียนรู้ และเกิดความประทับใจ กับเทพยดาและชีวิตหลังตายแล้ว  นิยายที่เราพบเห็นแต่เด็ก ก่อรูปร่างช่วยสร้างตัวตนของเรา จนเท่าเราเติบใหญ่  มหากาพย์โฮเมอร์นั้น สำหรับคนกรีกโบราณเทียบได้กับ พระคัมภีร์ไบเบิล ในโลกตะวันตกยุคปัจจุบัน

เพลโต วิจารณ์บทกวีของโฮเมอร์ในหนังสือ สาธารณรัฐ ทั้งในแง่เทววิทยาและแง่การเมือง ว่า โฮเมอร์ วาดภาพเทวดากรีกทั้งหลาย ให้ทำตัวตามอารมณ์ เอาแน่นอนอะไรบ่ได้ ไม่สมควรแก่การเคารพบูชา เป็นตัวอย่างที่เลวสำหรับผู้ตาม(ผู้นับถือ)  เทวดาเหล่านั้นหมกมุ่นในกาม เห็นแก่เงิน โหดร้าย ไม่เคารพศพของฝ่ายตรงข้ามในสนามรบ  วีรบุรุษของโฮเมอร์ เป็นคนงี่เง่า โง่งก ตัณหาราคะจัด ขี้โกรธอย่างไม่มีเหตุผล คิดแค้น – คิดแต่จะล้างแค้น  ด้วยลักษณะเช่นนั้น บุคคลประเภทนั้น จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่รัฎฐะที่ยุติธรรมได้อย่างไร?

โสคราติส ต้องการจะล้างมนตร์ขลังของนักเล่าตำนาน นักสร้างเรื่องลึกลับ โดยให้มีสิ่งทดแทนคือ ปรัชญา  โสคราติส ต้องการให้ไล่กวีไปเสียจากเมือง อันเป็นนครรัฎฐะที่ยุติธรรมที่ โสคราติส คิดสร้าง

เป็นไปได้ไหมว่า ความคิดที่จะเซ็นเซ่อร์บทกวี และไล่กวีไปเสียจากเมือง ส่อว่า โสคราติส นิยมเผด็จการ?  การที่จะให้ทดแทนบทกวีและดนตรีเดิม เสียด้วยบทกวีและดนตรีแบบโสคราติส – นั้นเป็นอย่างไร?  โสคราติส ไม่ได้นิยามไว้


-----------------------------------------------------------------------------------------
ชมต้นฉบับ วีดีโอคำบรรยาย ของ ศ.สตีเวน บี. สมิธ มหาวิทยาลัยเยล

ตอน  Philosophers and Kings: Plato's Republic, III-IVได้ที่



บทความนี้ พิมพ์เผยแพร่แล้วใน นิตยสาร MBA ฉบับ April-May 2016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น