open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

นักปรัชญา กับ พระราชา ตอน 1

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé สรุปเป็นภาษาไทย



นักปรัชญา กับ พระราชา ตอน 1
Plato’s Republic I-II


การบรรยายลำดับต่อไป รวมสามตอน จะพูดถึงหนังสือ “สาธารณรัฐ” - Republic ของ เพลโต 

ศ.สมิธ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ของ เพลโต เป็นจุดเริ่มของการศึกษาวิชาการเมือง หรือรัฐศาสตร์  หนังสือเล่มอื่นในแนวการเมือง ที่ตามมาจากเล่มนี้ ตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน  ต่างล้วนได้รับการจุดประกายจากหนังสือ Republic ทั้งสิ้น  นักศึกษาหลายคนอาจจะประจักษ์ในภายหลังว่า การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เป็นการผจญภัยทางสติปัญญาที่ทรงคุณค่า ที่ตนได้รับจาก มหาวิทยาลัย เยล


อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ในแง่หนึ่ง ก็เป็นหนังสืออ่านยาก คือ ยากที่ใครจะสรุปลงได้ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร หลังจากได้อ่านครั้งแรกจบลง  หรือแม้จะได้อ่านครั้งที่สิบจบลง ก็อาจยังสรุปไม่ได้  หนังสือเล่มนี้ เพลโต เป็นคนเขียน แต่ตัวละครในหนังสือมีมากมาย คนสำคัญคนหนึ่งคือ โสคราติส ผู้เป็นอาจารย์ของ เพลโต

หนังสือ สาธารณรัฐ เป็นหนังสือที่หนามาก ในชั้นเรียนนี้ ที่มหาวิทยาลัย เยล จะอ่านกันเพียงห้าบท หรือครึ่งแรกของหนังสือ ซึ่งจะว่าด้วย รัฏฐะ หรือ นครรัฐ(city) รูปแบบต่าง ๆ   

ศ.สมิธ เชิญชวนนักศึกษา พิจารณาคำถามเบื้องต้นกันก่อนว่า “หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร?”  ซึ่งตามความเห็นของศ.สมิธ เห็นว่า

1)   ว่าด้วย ความยุติธรรม ใช่หรือไม่?
2)   เกี่ยวกับ จิตวิทยาศิลธรรม –moral psychology ใช่หรือไม่?
3)   เกี่ยวกับ อำนาจของบทกวีและนิยายปรัมปรา หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกว่า เป็นเรื่องวัฒนธรรม อันเป็นเรื่องพัฒนาจิตใจ ใช่หรือไม่?
4)   หรือเป็นหนังสือเกี่ยวกับ อภิปรัชญา(ธาตุแท้ของความจริง) หรือไม่?  คือความเป็นอยู่ มีอยู่ คงอยู่ ของมนุษย์คืออะไร?

ศ.สมิธ กล่าวว่า สาธารณรัฐ มีเนื้อหาเกี่ยวกับทั้งสี่เรื่องนั้น และเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง 

รูปแบบการเขียนเป็น บทสนทนา  เพราะฉะนั้น เราน่าจะสัมผัสและหาประสบการณ์การอ่านหนังสือเล่มนี้ เสมือนหนึ่งกำลังอ่านวรรณคดีเอกเล่มหนึ่ง เช่น แฮมเลต, ดอน กิโฮเต, วอร์ แอนด์ พีซ เป็นต้น  และเทคนิคในการอ่านก็คือ ให้อ่านอย่างฉาบฉวยไปก่อน อย่าเพิ่งอ่านละเอียดและลึกเสียตั้งแต่แรก จำไว้ว่า  only the surface of things reveals the essence of things

และการที่รูปแบบการเขียนเป็น บทสนทนา ก็เท่ากับว่า ผู้เขียนปรารถนาจะเชื้อเชิญให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมด้วย


คำว่า สาธารณรัฐ ยังหมายถึง รัฐในอุดมคติ หรือ utopia แต่คำว่า utopia นี้เป็นคำเกิดทีหลังหนังสือ สาธารณรัฐ นับพันปี  คำว่า utopia นี้ โธมัส ม้วร์ นักปรัชญาชาวอังกฤษคิดขึ้น  ส่วนรัฐในอุดมคติของเพลโตก็คือรูปแบบรัฐชนิดสุดขั้วแบบหนึ่ง “รัฐอุดมคติ” เป็นความคิดสุดขั้วในทางการเมือง  เพราะฉะนั้น หนังสือสาธารณรัฐ จึงเสนอโลกทัศน์ทางการเมืองชนิดสุดโต่ง  ซึ่งเนื้อหาของหนังสือถูกนำเสนอในรูปการเสวนา ระหว่างจิตใจสองภาค คือส่วนที่เป็นการเมือง กับ ส่วนที่เป็นจิตวิญญาณของปัจเจกชน

The aim of the Republic is to establish a harmonious city based on a conception of justice that harmonizes the individual and society. – แปล: วัตถุประสงค์ของ หนังสือสาธารณรัฐ ก็คือการรังสรรค์นครรัฐที่สมัครสมาน โดยอาศัยพื้นฐานเรื่องความยุติธรรม อันเป็นความยุติธรรมที่สมานสามัคคีปัจเจกชน เข้ากับ สังคมการเมือง

ทำอย่างไร จึงจะไปถึงอุดมคติดังกล่าวได้? 

นครรัฐที่ดีที่สุด ย่อมเป็นนครรัฐที่สามารถสร้างปัจเจกชนที่ดีที่สุดขึ้นมาได้  คำตอบต่อคำถามข้างต้น ได้แก่ คำตอบอันมีชื่อเสียงของเขาที่ว่า นครรัฐใด ๆ ก็ดี จะไม่มีวันที่จะปราศจากความแตกแยกร้าวฉาน ตราบกระทั่งพระราชาได้กลายเป็นนักปรัชญา(หรือ นักปราชญ์)  และนักปรัชญา(หรือ นักปราชญ์)ได้กลายเป็นพระราชา (Kings become philosophers, and philosophers become kings.)

หนังสือ สาธารณรัฐ ตั้งคำถามว่า ถ้านครรัฐปกครองโดยนักปราชญ์ เช่น โสคราติส เป็นต้น  นครรัฐนั้นจะมีสภาพอย่างไร?  นครรัฐดังกล่าว โสคราติส ระบุว่าจะต้องเซ็นเซ่อร์บทกวี และการเคารพนับถือเทพยดา ตลอดจนยกเลิกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ยกเลิกสภาพครอบครัว  แล้วหันมาใช้การโฆษณาชวนเชื่อ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการปกครอง

ศ.สมิธ กล่าวว่า รัฐสมัยใหม่ในปัจจุบันที่เรารู้จักกันโดยทั่ว ๆ ไป (ผู้สรุปภาษาไทย – ศ.สมิธหมายถึง สหรัฐฯและรัฐอุตสาหกรรมทั้งหลาย) มีสภาพแตกต่างจากสภาพนครรัฐของเพลโต เพราะรัฐสมัยใหม่แยกเรื่องส่วนตัว civil society และ private life กับ เรื่องการเมืองการปกครอง(governing authority) ออกจากกัน  ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มีผู้กล่าวหาว่า เพลโตเสนอระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เพราะเพลโตไม่ได้แยกเรื่องส่วนตัว ออกจากเรื่องการเมือง

ระบอบการเมืองการปกครอง(เรจีม – régime)ของเพลโต แตกต่างจากระบอบการเมืองการปกครองของเรา(สหรัฐฯ)ที่มุ่งขยายขอบเขตเสรีภาพส่วนบุคคลออกไปให้มากที่สุด(maximizing individual liberty)  แต่ระบอบของเพลโตมุ่งเรื่อง การศึกษาของพลเมือง เป็นจุดหมายสูงสุด  เพื่อให้พลเมืองได้มีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบ ในการเมืองการปกครองนครรัฐ(city) หรือรัฏฐะ

ทั้งนี้ ศ.สมิธ เน้นว่า เพลโตนั้นมีจิตวิญญาณเป็นครู  ในตะวันตกถือว่า เพลโต คือผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกตะวันตก  โดยสำนักศึกษาของ เพลโต เรียกชื่อว่า “The Academy” ซึ่ง อริสโตเติล ก็เป็นศิษย์จากสำนักนี้   ต่อมาสำนักศึกษารูปแบบดังกล่าวก็แพร่หลายทั่วไปในนครรัฐกรีกนครรัฐต่าง ๆ กระทั่งถึงยุคโรมัน ก็ได้สืบทอดแนวทางนี้กันต่อมา กระทั่งกรุงโรมล่มสลาย  แนวคิดเรื่องสำนักการเรียนดังกล่าว ก็ถูกรับเข้าไว้อยู่ตามวัดคริสต์  จนต่อมาก็ได้กลายเป็นสำนักการศึกษา อันเป็นมหาวิทยาลัยแรก ๆ ในยุโรป ได้แก่ ที่โบโลนญา-ในอิตาลี ที่ปารีส-ฝรั่งเศส และที่อ็อกฟอร์ด-ในอังกฤษ ในลำดับต่อมาอีก รูปแบบสถาบันการศึกษาดังกล่าวก็แพร่สู่โลกใหม่ จัดตั้งขึ้นที่เมืองเคมบริดจ์(หมายถึง เมืองที่ตั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา) และที่เมืองนิว เฮเวน(ผู้สรุปภาษาไทย – หมายถึง เมืองที่ตั้งมหาวิทยาลัย เยล) 

ศ.สมิธ อ้างคำของ ฌัง-ฌาค รุสโซ ซึ่งเป็นผู้อ่าน สาธารณรัฐ ตัวยงคนหนึ่ง  เขาเขียนไว้ในหนังสือ เอ-มิล อันเกี่ยวกับการศึกษา ว่า

To get a good idea of public education, read Plato’s Republic. It is not a political treaty as those who merely judge book by their titles think. But it is the finest, most beautiful work on education ever written.” –

แปล – “เพื่อที่จะได้ความคิดที่ดีเกี่ยวกับการศึกษา  ให้อ่านหนังสือ สาธารณรัฐ ของเพลโต  หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือการเมืองการปกครอง เช่นที่ผู้ที่ชอบตัดสินหนังสือเพียงแค่ได้อ่านชื่อ มักจะคิด  แต่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่งดงามที่สุดเกี่ยวกับการศึกษา เท่าที่เคยเขียนกันมา”

ประโยคแรก ย่อหน้าแรก ในหน้าแรก ของหนังสือ สาธารณรัฐ เขียนว่า

          “I went down to the Piraiévs.” -- ฉันลงไปที่ ไพเรฟส์

ทำไม เพลโต เปิดฉากเริ่มต้นหนังสือ สาธารณรัฐ ด้วยประโยคนี้? 

[ ผู้เขียนสรุปภาษาไทย - รู้สึกสับสนเมื่อฟังคำบรรยายของศ.สมิธ ไม่แน่ใจว่า ใครกันแน่ที่ลงไปที่ ไพเรฟส์ จึงต้องไปหาอ่าน/ฟัง ต้นฉบับแปลภาษาอังกฤษของ สาธารณรัฐ จึงแน่ใจว่า โสคราติส ลงไปที่ไพเรฟ ส่วนเพลโต เป็นคนเล่าเรื่อง  ท่านผู้อ่านที่สนใจจะฟัง The Republic เป็นหนังสือโอดิโอ ท่านสามารถหาฟังได้เพียงแค่เขียนชื่อ The Republic ลงไปในช่องค้นหา ของยูทูบ] 

ไพเรฟส์ เป็นตำบลชายทะเล ด้านใต้กรุงเอเธนส์สมัยโน้น และแม้ในสมัยนี้ก็ยังใช้ชื่อนี้ ประโยคนี้ท่านว่า เขียนล้อ(หมายถึง เขียนตามอย่าง ไม่ใช่เขียนล้อเลียนแบบแลบลิ้นปลิ้นตา) เขียนเลียนแบบประโยคแรกในหนังสือมหากาพย์โอเดสซี ของโฮเมอร์ในยุคโน้น ซึ่งมหากาพย์โอเดสซี ของ โฮเมอร์ นั้น พอจะเทียบได้กับพระคัมภีร์ไบเบิ้ลในสมัยนี้  ประโยคนี้กำลังแจ้งแก่ผู้อ่านว่า พวกท่านจะได้เดินทางผจญภัยทางสติปัญญาและจิตใจ ดุจจะเช่นการผจญภัยในมหากาพย์  เพราะตำบลไพเรฟส์ คือท่าเรือของเอเธนส์ ที่คนจะได้ออกเดินทางท่องทะเล.....ไปไกลแสนไกลในโลกโบราณที่ชาวกรีกรู้จัก

[ ผู้เขียนสรุปภาษาไทย - เอเธนส์ยุคเพลโต มีประชากรประมาณสองแสนเศษ  เอเธนส์ยุคปัจจุบันที่ผู้เขียนฯเคยไปเที่ยวมาสองครั้ง มีประชากรประมาณสามล้านครึ่ง]

มีเรื่องเล่า ซึ่ง ศ.สมิธ ได้ยินมาและบอกว่าไม่รับรองว่าจริงหรือไม่จริง  แต่ท่านได้ยินมาว่า เมื่อนักปรัชญาชาวเยอรมัน ไฮเดกเกอร์ สอนเรื่อง สาธารณรัฐ หนึ่งเทอมการศึกษา ท่านอ่านประโยคแรกนี้เพียงประโยคเดียว  แล้วใช้เวลาบรรยายทั้งเทอม โดยไม่อ่านเกินไปจากประโยคแรกนั้นเลย

[ ผู้สรุปภาษาไทย – นึกคันปาก มีเรื่องเล่ากับเขาเหมือนกัน คือตัวเองเคยลงไปจากกลางกรุงเอเธนส์ ไปที่ ไพเรฟส์ สองครั้งสองครา  แต่ไม่ได้เดินไปอย่างโสคราติสหรือเพลโต นั่งรถเมล์ไปครับ เพื่อจะไปขึ้นเรือที่ท่าเรือไพเรฟส์  ปัจจุบัน ไพเรฟส์ เป็นท่าเรือท่องเที่ยว เพื่อเดินทางไปยังเกาะต่าง ๆ ของกรีก  ผู้เขียนกับมิตรสหายชาวไทยอีกสองคน ลงไปที่นั่นเพื่อไปขึ้นเรือท่องทะเลดังกล่าว  เพราะฉะนั้น ผู้เขียนและสหายอีกสองคนนั้น เราแต่ละคนก็สามารถพูดได้เหมือนกับ โสคราติสหรือเพลโต ว่า

I went down to Piraievs.” 

เพียงแต่ว่า พวกเราพูดได้เท่านั้นแล้วก็ จบเห่ ใบ้รับประทาน ไม่อาจสามารถแต่งหนังสือ ที่มีสารัตถะให้คนสนใจศึกษากันต่อ ๆ มาได้ยาวนานกว่าพันปี  แต่เราก็ภาคภูมิใจนะว่า เราก็เคยได้ลงไปที่ ไพเรฟส์ เหมือนกับ เพลโต และ โสคราติส ]

เพลโต เกิดในครอบครัวมั่งคั่ง เมื่อปี 427 ก่อนคริสตกาล  หรือสี่ปีหลังสงครามเปโลโปเนเซียน(สงครามเอเธนส์-สปาตา) ซึ่งเอเธนส์แพ้  ถึงปี 399 อันเป็นปีที่ โสคราติส ถูกตัดสินประหารชีวิต เพลโต ผู้เป็นศิษย์ก้นกุฎิ ก็ได้พบเห็นการบ้านการเมืองอันโกลาหลวุ่นวายของเอเธนส์ ต่อมา เขาจึงได้ออกเดินทางท่องไปในโลกโบราณ  แล้วกลับมาตั้งโรงเรียนที่เอเธนส์เรียกว่า อาเคดเดมมี มีเจตนาจะสร้างพลเมืองแบบใหม่ ให้เป็นผู้นำเอเธนส์  ต่อมา เพลโต ถูกระบอบประชาธิปไตยเอเธนส์ตัดสินประหารชีวิต เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยของเอเธนส์ ไม่ชอบ เสรีภาพในการแสดงออก และ อิสรภาพในการพูด เพลโต ถูกพิพากษาให้ดื่มยาพิษ เขาตายเมื่ออายุได้แปดสิบปี

…..and so I said that the nations of the world will never cease from trouble until either the true breed of philosophers shall come to political office, or until that of the rulers shall by some divine law take to the pursuit of philosophy.”  -- Plato, Republic

 “.....และผมจึงขอบอก ว่า ประเทศชาติทั้งหลายในโลก จะไม่มีวันปลอดจากความยุ่งยากวุ่นว่าย  จนกว่านักปราชญ์พันธ์แท้จะเข้ามาสู่วงการเมือง หรือจนกว่ากลุ่มผู้ปกครองทั้งหลาย ด้วยฟ้าดินบันดาล พากันหันมาศึกษาปรัชญา” – เพลโต ในหนังสือ สาธารณรัฐ

โสคราติสกับลูกศิษย์มิตรสหาย พากันลงไปที่ตำบล “ไพเรฟส์” ทำไม?

เพราะว่าพวกเขาจะไปเที่ยวงานบุญ ซึ่งมีการแห่แหน เทพเจ้าองค์ใหม่  ขากลับปรากฏว่ามีนักเลงโต(ชื่อ โพลิมากุส - Polemarchus) คนใหญ่คนโตคนหนึ่งในเอเธนส์ ซึ่งเพลโตและโสคราติสรู้จัก ให้ทาสของตัววิ่งมาบอกโสคราติสและคณะว่า นายสั่งให้พวกคุณหยุดรออยู่ก่อน  เมื่อ โพลิมากุส เดินมาทัน ก็กล่าวแก่ โสคราติสและสหายว่า มากับเรา

เห็นไหมว่า พวกเรามากแค่ไหน?  

หรือไม่ ก็พิสูจน์ให้เราเห็นว่า พวกคุณแข็งแรงกว่าพวกเรา

โสคราติส ถามย้อนไปว่า

แล้วถ้าเรา สามารถโน้มน้าว คุณ ให้ปล่อยพวกเราไป คุณจะว่าอย่างไร? 

นักเลงโต(โพลิมากุส) บอกว่า

ไม่มีทาง คุณจะกล่อมเราไม่ได้ดอก ถ้าเราไม่ฟังคุณซะอย่าง…..

โสคราติสและคณะ เดินตามนักเลงโต โพลิมากุส (ซึ่งจริง ๆ แล้วรู้จักและคุ้นเคยกัน) ไปยังบ้านบิดาของโพลิมากุส ชื่อ เกอเฟลุส(Cephalus) ซึ่งเขาเลี้ยงอาหารเย็นแก่ทั้งคณะ  หลังอาหารค่ำแล้ว พวกเขาก็กลับไปเที่ยวงานคานาวาลกันต่อไป เพื่อชมการแข่งม้า

ทำไม เพลโต จึงเปิดฉากหนังสือสาธารณรัฐ ด้วยเรื่องราวซึ่งดูเหมือนไร้สาระ เช่นนี้?
– ศ.สมิธ ตั้งคำถาม  บางทีข้อความสองสามย่อหน้าต่อไปนี้ อาจจะเป็นคำตอบ
   
Can democracy that expresses the will of the majority, the will of the greater number, be rendered compatible with the need of philosophy and the reclaim to respect only reasons and the better arguments? That seems to be the question already posed in this opening scene.

แปล: ระบอบประชาธิปไตยที่แถลงเจตนาของคนหมู่มาก เจตนาของตัวเลขที่ใหญ่กว่า จะสามารถไปกันได้หรือไม่ กับความจำเป็นเชิงปรัชญาที่เห็นว่า เราจะต้องเคารพเหตุผลและการอ้างเหตุผลที่ดีกว่า?  เรื่องนี้ดูเหมือนจะแจ้งอยู่แล้วในฉากเริ่มต้นของหนังสือ (เห็นไหมว่า พวกเรามากแค่ไหน  และ แล้วถ้าเรา สามารถโน้มน้าวคุณให้ปล่อยเราไปได้ล่ะ )

Can a compromise be reached between the two? Can the strength of number as well as the respect for reasons and the better arguments be in some sense harmonized? Can they be brought together? Is the just city, perhaps, that Socratis will later consider a combination of these two, of both force and persuasion?

แปล: จะประนีประนอมกันได้หรือไม่ ระหว่างสองกลุ่มความคิดดังกล่าว?  

1)ความพวกมาก กับ 2)การรู้จักเคารพเหตุผลและการอ้างเหตุผลที่ดีกว่า จะสามารถสมานสามัคคีกันได้อย่างไรหรือไม่?  จะนำมาสมาคมกันได้ไหม?  หรือว่า นครรัฐที่ยุติธรรม ที่อยู่ในใจ โสคราติส นั้น มีองค์ประกอบของสองกลุ่มนี้อยู่แล้ว คือ องค์ประกอบของกำลังคนหมู่มาก และพลังแห่งการอ้างเหตุผล? (แล้วถ้าเราสามารถโน้มน้าวคุณ ให้ปล่อยพวกเราไป)

-----------------------------------------------------------------------------------------
ชมต้นฉบับ วีดีโอคำบรรยาย ของ ศ.สตีเวน บี. สมิธ มหาวิทยาลัยเยล

ตอน  Philosophers and Kings: Plato's Republic, I-II ได้ที่



บทความ เผยแพร่แล้วในนิตยสาร MBA ฉบับ March-April 2016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น