open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พลเมือง ตามแบบ โสคราติส ตอนที่ 2

ปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์ สตีเวน บี. สมิธ
มหาวิทยาลัย เยล

Dan Bailé ผู้สรุปเป็นภาษาไทย


พลเมือง ตามแบบ โสคราติส ตอนที่ 2
ตอนที่ 2 Socratic citizenship: Plato’s Crito


การที่ทางการนครรัฐเอเธนส์ ไต่สวน โสคราติส มีนัยยะอย่างไร?

ศ.สมิธ เริ่มการบรรยายด้วยการสอบถามนักศึกษาในชั้นเรียน ว่าหลังจากที่ได้อ่านหนังสือ อะโปโลจี แล้ว  ใครเห็นด้วยว่า โสคราติส บริสุทธิ์-สมควรปล่อยตัว  กับใครเห็นว่า โสคราติส ผิด-สมควรได้รับโทษ  ผลการยกมือปรากฏว่านักศึกษาพวกที่เห็นว่า ไม่ผิด-สมควรปล่อยตัว มีจำนวนมากกว่า พวกที่เห็นว่า ผิด-สมควรได้รับโทษ


ความอันขัดแย้งกันอยู่ ในตอนท้ายของการบรรยายครั้งก่อน คือ โสคราติส เสนอแนวคิดสร้างพลเมืองรูปแบบใหม่ แตกต่างไปจากพลเมืองรูปแบบเดิม ที่สืบสานความคิดมหากาพย์ของโฮเมอร์ เน้นความภักดี ชาตินิยม ตลอดจนค่านิยมต่าง ๆ อันปรากฏในมหากาพย์ของโฮเมอร์ เช่นการเคารพนับถือเทพยดาของเอเธนส์  พลเมืองแนวใหม่ของ โสคราติส นั้น จะต้องเป็นคนรู้จักใช้เหตุผล และคิดพิจารณาด้วยเหตุผล  ซึ่งพลเมืองรูปแบบใหม่นี้ต้องอาศัยการรู้จักคิดอย่างเป็นอิสระด้วยตนเอง

แล้ว โสคราติส ก็บอกว่าตลอดชีวิตของเขา เขาแสวงหาคำตอบแก่ปัญหาส่วนตัว แต่จะหลีกเลี่ยงปัญหาการเมือง pursuing private matters and not public matters  ศ.สมิธ ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า พลเมืองเอเธนส์ จะรูปแบบเก่าหรือรูปแบบใหม่หรือรูปแบบใด ๆ ก็ดี ถ้ามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับปัญหาส่วนตัว ไม่คำนึงถึงปัญหาบ้านเมือง แล้วจะเป็น “พลเมือง” ในบ้านเมืองได้อย่างไรกัน?


วิหารนี้ ผู้แปลสรุปเป็นภาษาไทย
เคยไปชมมาสองหน ครั้งหนึ่ง เดินขึ้นเขาไปเอง
เดินจากเกสต์เฮ้าส์ กลางกรุงเอเธนส์


เพราะฉะนั้น การประกาศเช่นนั้น โสคราติส จะหมายความว่าอย่างไรแน่?  เพราะลักษณะความประพฤติเพื่อแสวงหาคำตอบต่อข้อปริศนาต่าง ๆ  โสคราติส เที่ยวเดินถามผู้คนในที่สาธาณะ ผู้คนเหล่านั้นที่เป็นช่างก็มี เป็นนักการเมืองก็มี เป็นพ่อค้าแม่ขาย และใครต่อใครที่มาในตลาดใหญ่กลางกรุงเอเธนส์ ที่เป็น public forum อันเป็นที่สิงสู่ของเขา  ลักษณะการใช้ชีวิตในที่แจ้งอย่างนั้น ไม่ใช่การดำเนินชีวิตอย่างรโหฐานหรือเป็นการส่วนตัว

แต่ก็เป็นไปได้ว่า โสคราติส ถือว่าถึงอย่างไรเขาก็ยึดถือความคิดความอ่านการหาเหตุผลจากใจตนเองเป็นหลัก power of private individual judgment ไม่ได้อ้างอิงอาศัยขนบธรรมเนียมประเพณีความคิดความอ่าน ที่เป็นอยู่ มีอยู่ ในบ้านเมือง ไม่ได้อ้างอำนาจหเมืองใด ๆ มาสนับสนุนความคิดตน

และก็อาจเป็นไปได้ว่า การไม่ยุ่งกับการเมืองของเขานั้น เขาหมายถึง การงดเว้นไม่ร่วมกิจกรรมทางการเมือง “abstinence” from public life (ผู้เขียนสรุปภาษาไทย – คงจะคล้าย ๆ เข้าพรรษา หรือถือบวช หรือถือศิลกินเจ อะไรประมาณนั้น?) ถ้ามองในแง่นี้ ก็จะมีตัวอย่างรูปธรรมอยู่ใน อะโปโลจี สองตัวอย่าง คือ 1) โสคราติส ปฏิเสธไม่ไปรายงานตัว ร่วมพิจาณาโทษนายพล ผู้ไม่เก็บศพทหารเอเธนส์ที่ตายในที่รบสมรภูมิหนึ่ง ในสงครามเปโลโปเนเซียน(สงครามกับสปาตา)  ซึ่งในที่สุดนายพลผู้นั้นถูกประหารชีวิต 2) มีคดีสำคัญอีกคดีหนึ่งที่ โสคราติส ไม่ไปรายงานตัวเพื่อร่วมจับกุมถูกกล่าวหา  และในที่สุดผู้ถูกกล่าวหานั้น ก็ถูกประหารชีวิต 

ศ.สมิธ ตั้งข้อสังเกตว่า โสคราติส ยึดถือความคิดตนเองเป็นใหญ่ ตัดสินใจเอาเองว่า ตนควรไปร่วม หรือไม่ไปร่วม กับกิจกรรมทางการเมือง(กิจกรรมบ้านเมือง-กิจกรรมส่วนรวม)เมื่อถูกเรียกให้ไปรายงานตัว  ซึ่งเป็นลักษณะการขัดขืน ชนิด “ดื้อแพ่ง”(civil disobedience, civil=แพ่ง disobedience=ดื้อ) ที่ เฮนรี เดวิด ธอโร นักปรัชญาการเมืองอเมริกัน ในยุคหลังก็ใช้วิธีนี้ และมหาตมะ คานธี กับมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้นำคนอเมริกันดำ ก็ศึกษาจาก ธอโร และนำมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง 

ศ.สมิธ จึงเห็นว่า บางทีการดื้อแพ่งนี่เอง ที่เป็นเหตุให้โสคราติส ถูกกล่าวหาว่ายุแยงตะแคงบอน(corruption) และไม่เคารพนับถือเทพเจ้า(impiety)  ข้อกังขาที่ตามมาก็คือ พลเมืองสามารถที่จะยึดเอาจิตใจตัวเอง ความสำนึกส่วนตน(conscience)เป็นใหญ่  แล้วตัดสินใจเอาเองว่า เลือกที่จะเชื่อฟังกฎหมายข้อนั้น แต่ไม่เชื่อฟังกฏหมายข้อนี้ ได้ละหรือ?  ซึ่งประเด็นนี้ ศ.สมิธ กล่าวว่า เราจะได้ศึกษากันต่อไปในช่วงปลายเทอม เมื่อเราพูดถึง โธมัส ฮ็อป นักปรัชญาการเมืองที่มีชื่อเสียงอีกผู้หนึ่ง 

อย่างไรก็ดี โสคราติส ได้ปกป้องวิธี งด-อด-ออม การมีส่วนร่วมทางการเมือง มุ่งแต่เรื่องส่วนตัวของตนว่า.....

“ข้าพเจ้าเป็นชาวเอเธนส์ ข้าพเจ้าจะไม่ให้การเพื่อตนเอง แต่จะให้ปากคำเพื่อท่านทั้งหลาย  สิ่งที่ข้าพเจ้ากล่าว ข้าพเจ้าพูดเพื่อท่านทั้งหลาย เพื่อว่า ท่านจะได้ไม่กระทำผิดเกี่ยวกับของกำนัลจากเทพยดา(the gift of the god – ซึ่งโสคราติส หมายถึง ตนเอง-ว่าเป็นของขวัญที่เทพยดาฟ้าดิน ประทานให้แก่ชาวเอเธนส์) ด้วยการออกเสียงลงคะแนนลงโทษข้าพเจ้า  เพราะว่าถ้าท่านประหารข้าพเจ้า ท่านจะไม่พบคนใหม่ที่เหมือนข้าพเจ้าได้ง่าย ๆ ผู้ซึ่งพูดไปก็เหมือนพูดตลก กล่าวคือเป็นผู้ที่เทพยดาฟ้าดินประทานให้แก่เอเธนส์ ซึ่งเอเธนส์อยู่ในสภาพคล้ายม้าตัวโตที่อืดอาดเชื่องช้า สมควรที่ได้รับการกระตุ้นให้ตื่น ด้วยแมลงวันตอมโค(gladfly)  ตัวข้าพเจ้านั้น ก็เข้าทำนองแมลงวันตอมโค ที่เทพยดามอบให้แก่ชาวเอเธนส์  ข้าพเจ้าได้ปลุก ได้เตือนสติ ได้ว่ากล่าว พวกท่านแต่ละคน ตลอดแต่ละวัน ตลอดมา.....”  -- โสคราติส  

ณ จุดนี้ก็มีประเด็นขึ้นมาว่า เหตุใด โสคราติส จึงเรียกหาและอ้างอิงเทพยดาฟ้าดิน ซึ่งอยู่ในโลกสมมติของคนรุ่นเก่า คือ พวกนับถือบทกวีของโฮเมอร์ อันเป็นพลเมืองกลุ่มที่ โสคราติส ปรารถนาที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน เป็นพลเมืองที่คิดอ่านหาเหตุผลด้วยตนเอง ผู้ไม่อ้างอิงเทวดา

ศ.สมิธ ตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อ โสคราติส ถูกกล่าวหาว่าไม่นับถือเทพยดาที่ชาวเอเธนส์เคารพนับถือ(empiety)  การอ้างอิงเทวดาเป็นการพยายามหาเสียงเอากับคณะลูกขุน – ซึ่งเป็นพวกนับถือเทพ หรือเปล่า?

และที่สุดแล้ว เพลโต ผู้เขียนหนังสือ อะโปโลจี เพื่อเล่าเรื่องโสคราติส ต้องการจะนำเสนอ โสคราติส กับพวกเราในแง่ไหนกันแน่.....

          1) โสคราติส เป็นคนมีหลักการสูง ผู้ยืนยันเพื่อความคิดความเชื่อของตน แม้ตัวจะต้องถูกประหาร
          2) โสคราติส เป็นเพียงนักก่อกวน สร้างความแตกแยก ในสังคม  ซึ่งสังคมนั้นไม่พึงอดทนด้วย  เพราะโสคราติส ก็ไม่ได้ยอมรับนับถือหลักการใด ๆ อันเป็นพื้นฐานของสังคมนั้น

ศ.สมิธ เห็นว่าประเด็นข้างบน มีมูลด้วยกันทั้งสองประเด็น  และบางทีคำตอบอาจจะอยู่ในบทสนทนาที่คู่กันมากับ อะโปโลจี ชื่อ ไครโต(Crito) ก็เป็นได้ โดยที่ อะโปโลจี เป็นเรื่อง โสคราติสกล่าวหาอำนาจรัฐ  ส่วน ไครโต เป็นเรื่องอำนาจรัฐกล่าวหาโสคราติส

ศ.สมิธ สรุปความอันตัดกัน ตรงข้ามกัน  ระหว่างเอกสารบันทึกบทสนทนาสองชิ้น อะโปโลจี กับ ไครโต ไว้สี่ประเด็น ดังนี้

1)   หนังสือ อะโปโลจี บันทึกคำอภิปรายของโสคราติส ต่อหน้าธารกำนัลที่มีคนมาชุมนุมกันทำหน้าที่เป็นศาล ประมาณ 500 คน  แต่ หนังสือ ไครโต เป็นคำสนทนาระหว่างโสคราติส กับลูกศิษย์เพียงคนเดียว
2)   อะโปโลจี เป็นคำพูดในที่สาธารณะ  ไครโต เป็นคำสนทนาในที่รโหฐาน คือในห้องขัง ที่คุมขังโสคราติสหลังจากที่ศาลพิพากษาแล้ว
3)   อะโปโลจี บรรยายถึงการที่โสคราติส อ้างเหตุผลป้องกันตนเองและวิถีชีวิตของตนโดยกล่าวว่า ตนเป็นของขวัญจากเทพยดา a gift of the god  ซึ่งมีคุณประโยชน์นานาต่อชาวเอเธนส์  แต่ใน ไครโต บรรยายให้เห็นว่า โสคราติส เป็นพลเมืองผู้เคารพเชื่อฟังกฎหมาย และก้มหน้ายอมรับคำพิพากษาโดยดุษณี
4)   อะโปโลจี เสนอเนื้อความให้เห็นว่า โสคราติส เป็นผู้ยอมตายเพื่อความคิดความเชื่อ(ปรัชญา)ของตน  แต่ ไครโต กลับมองว่า ความตายของโสคราติส ถูกต้องดีแล้ว และเป็นไปตามความยุติธรรม

ศ.สมิธ ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากหนังสือทั้งสองเรื่อง เพลโต เป็นคนเขียน(หรือเรียบเรียง)ขึ้น  เพลโต มีเจตนาอะไรหรือ จึงได้เสนอมุมมองที่แตกต่าง ตรงกันข้ามกัน อย่างนั้น?

ไครโต คือชื่อของลูกศิษย์และมิตร ของโสคราติส  ผู้เข้าไปอยู่เป็นเพื่อนในห้องขังภายหลังที่ โสคราติส ถูกพิพากษาประหารชีวิต  ไครโต ชวนให้ โสคราติส หนีออกจากที่คุมขัง ไปอยู่สบาย ๆ ที่เกาะครีต ทั้งนี้โดยที่ยามรักษาการณ์ ถูกติดสินบนไว้แล้ว

เพื่อที่จะปฏิเสธคำชักชวนของ ไครโต  โสคราติสพูดไว้เป็นบทสนทนาบทหนึ่ง ว่าด้วยการไม่เชื่อฟังกฎหมาย  ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นข้อเขียนที่เพลโตเขียนเล่าไว้ และใช้ชื่อเรียกว่า “ไครโต”  โสคราติส ให้เหตุผลว่า

“รัฐใดก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไร้กฎกติกา  พลเมืองไม่อาจเลือกปฏิบัติกฎหมายได้ตามใจชอบ ว่ากฎหมายข้อนี้ ฉันจะปฏิบัติตาม ข้อโน้น ฉันไม่เอา ฉันจะไม่เชื่อฟัง  เพราะฉะนั้น การดื้อแพ่งต่อกฎหมายใด ๆ ก็ดี  เป็นการพยายามทำลายกฎหมายทั้งระบบ  นำไปสู่ภาวะบ้าไบ้ถือแก่ใจ กลียุค เพราะฉะนั้นการไม่เชื่อฟังกฎหมายแม้แต่ข้อเดียว ก็เท่ากับตั้งคำถาม เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมายทั้งระบบ”

ศ.สมิธ เห็นว่า โสคราติส กำลังหาเหตุผลมาเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเอง  ถ้าตนไม่เชื่อฟังกฎหมายด้วยการหนีออกจากที่คุมขัง ตามคำชวนของ ไครโต

โสคราติส ยังแสดงเหตุผลต่อไปว่า พลเมืองจะคงภาวะพลเมืองอยู่ได้ ก็เพราะกฎหมายทั้งระบบค้ำจุนความเป็นพลเมืองให้  พลเมืองของรัฐถือกำเนิดขึ้นมาจากครรภ์ของกฎหมาย – the law begat us – กฎหมายจึงเปรียบเสมือนบิดรมารดาของพลเมือง  การไม่เชื่อฟังกฎหมายไม่ว่าฉบับใด  จึงถือเป็นการไม่จงรักภักดีต่อเทพยดา(impiety)

บทสนทนาที่ชื่อ ไครโต จึงเป็นบทสนทนาเรื่องความจงรักภักดี ความนับถือเทพยดาที่ชาวเอเธนส์เคารพนับถืออยู่  โสคราติส ยอมรับกฎหมายทั้งระบบ เคารพกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์  ไครโต จึงเป็นบทสนทนา(dialogue)ที่สนับสนุน “absolute obedience”

ในขณะที่ อะโปโลจี ยกย่องปัจเจกชนเหนือรัฎฐะ เห็นว่า อำนาจใหญ่ยิ่งของคน – sovereign reason of the individual – คืออำนาจของปัจเจกชนที่ใช้ปกครองตนเอง  หรือดูแลตัวเอง  ด้วยอำนาจนี้ ปัจเจกชนสามารถ “ดื้อแพ่ง” ต่ออำนาจรัฎฐะ ก็ได้  เพราะว่าในชีวิตการเมืองย่อมมีความไม่ยุติธรรมและความชั่วร้ายแฝงปนอยู่  อันอาจเป็นอันตรายต่อปัจเจกชนได้

แต่สรุปแล้ว โสคราติส จะสอนเราให้เชื่ออย่างไหนแน่?  เหตุผลของปัจเจกชน หรือ เหตุผลของรัฎฐะ?  ในเมื่อเหตุผลสองชนิดนี้เป็น คุณธรรม คนละอย่างกันและเข้ากันไม่ได้เลย



-----------------------------------------------------------------------------
บทความ ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วใน นิตยสาร MBA ฉบับ Feb-Mar 2016

ชมต้นฉบับ วีดีโอคำบรรยาย ของ ศ.สตีเวน บี. สมิธ มหาวิทยาลัยเยล ได้ที่
Socratic Citizenship: Plato’s Crito
https://www.youtube.com/playlist?list=PL8D95DEA9B7DFE825

อ่านตอนอื่น ๆ ได้ที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น