ชีวิตฉัน--ฉันอยากมีอยากได้ไปหมดทุกอย่าง ฉันนึกอยากกินรวบ
โกยเอามาไว้เป็นของฉันทั้งนั้นเลย ทั้งของที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ทั้งสิ่งที่จับ คลำได้ และสิ่งที่จับต้องไม่ได้
เอ้ะ--แต่จริง
ๆ แล้ว ชีวิตฉัน ฉันสมควรจะพึงมีพึงได้อะไรบ้าง?
ปรัชญาตะวันตกจะวิสัชนาปัญหานี้ให้ฉันฟังได้อย่างไร?
----------------------------------------------------------------------------------------
ในชีวิตฉันนั้น ฉันสมควรจะมี สมควรจะได้
อะไรบ้าง
Episode 08 part 2
ศ.แซนเดล ถามว่า รายได้
ความมั่งคั่งร่ำรวย และโอกาสในชีวิต สมควรที่จะจัดสรรแบ่งปันกันไปอย่างไร
จึงจะยุติธรรม
ทั้งนี้โดยได้อ้างแนวคิดทฤษฎีสามแนวทาง ที่ได้บรรยายและอภิปรายกันมาแล้ว ก่อนหน้านี้
อันได้แก่
1) ความคิดเสรีนิยม--libertariansim
2) ระบบคุณธรรม หรือ นิยมคุณความดี--the meritocratic system—ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์
3) หลักเสมอภาคของ จอห์น รอลส์ ที่เรียกชื่อว่า หลักความแตกต่าง--the
difference principle
หมายเหตุ – คำแปลของ meritocratic system ที่แปลว่า
ระบบคุณธรรม หรือ นิยมคุณความดี นั้น แปลคล้อยตาม ราชบัณฑิตฯ – พจนานุกรมศัพท์นิติศาสตร์
ที่แปล merit system ว่า ระบบคุณความดี, ระบบคุณธรรม
ศ.แซนเดล
เริ่มอภิปรายเรื่อง ความยุติธรรมของการจัดสรรรายได้ในสังคมอเมริกันสมัยนี้
โดยยกตัวอย่างว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกา(ศาลสูง)ของสหรัฐฯ ได้รับผลตอบแทนปีละ 200,000
ดอลลาร์
ขณะที่นักจัดรายการโทรทัศน์ผู้ใช้นามว่า “ผู้พิพากษา จูดี” มีรายได้ถึงปีละ 25 ล้าน ดอลลาร์
ศ.แซนเดล ตั้งคำถามว่า ยุติธรรมไหมล่ะ?
ศ.แซนเดล ทบทวนให้ฟังว่า
ครั้งก่อนได้สอบถามนักศึกษา เรื่องลำดับการถือกำเนิด ว่า ใครเป็นลูกคนหัวปีบ้าง? ปรากฏว่านักศึกษาประมาณ 75-85% ในห้องเรียนยกมือ แปลว่านักศึกษาส่วนใหญ่ในห้อง เกิดมาเป็นลูกคนแรก ซึ่งงานวิจัยทางจิตวิทยาระบุว่า “ลูกคนหัวปี” มักจะมีความมานะพยายาม และประสบความสำเร็จในชีวิต
สูงกว่าลูกคนรอง ๆ ซึ่ง ศ. แซนเดล ชี้ว่า คุณสมบัติข้อนี้
คนเราได้มาโดยการถือกำเนิด มิใช่ได้มาด้วยความสามารถของตนเอง
ในลำดับต่อไป
ศ.แซนเดล จะโยงให้นักศึกษาเห็นว่า
ประเด็นนี้จะเกี่ยวข้องกับหลักความยุติธรรมในการกระจายทรัพยากร(เช่น รายได้)
อย่างไร
การบรรยายครั้งที่แล้ว
ได้พิเคราะห์ทฤษฎี(หรือหลักความคิด)ต่าง ๆ
เกี่ยวกับความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งหมายถึง รายได้ ความมั่งคั่ง
โอกาสในชีวิต และสิ่งดี ๆ ทั้งหลายของชีวิต
ว่ามีหลักยุติธรรมอยู่สามหลักดังนี้
หลักที่หนึ่ง. เราต้องจัดสรรทรัพยากร(หรือกระจายรายได้) ตามหลักเสรีนิยม –libertarian
theory จึงจะยุติธรรม กล่าวคือต้องใช้ระบบตลาดเสรี ทั้งนี้โดยที่หน้าที่การงานทั้งหลายทั้งปวง
จะต้องเปิดโอกาสให้แก่ทุกคนได้แข่งขันกันอย่างเสรี ใครดีใครได้ เพื่อให้ได้ลงตำแหน่งงานนั้น
ๆ แต่วิธีนี้ อาจารย์ จอห์น รอลส์
วิจารณ์ว่า แม้จะดีกว่าใช้ระบบชนชั้นและวรรณะสมัยโบราณ มาจัดสรรทรัพยากร แต่วิธีกระจายรายได้แบบตลาดเสรีก็ยังไม่ยุติธรรม
เพราะว่า การเปิดเสรีใครดีใครได้นั้น คนที่มาจากครอบครัวมั่งคั่ง
ซึ่งที่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี มีการอบรมบ่มเพาะที่ดี คนพวกนี้ย่อมมีโอกาสแข่งขัน
ชิงชัย ในตลาดเสรีได้ดีกว่าผู้อื่น
วิเคราะห์ให้ลึก
จะเห็นว่าระบบตลาดเสรีไม่ยุติธรรม เพราะในที่สุดแล้ว ความบังเอิญอันเกิดจากการถือกำเนิด
กลายเป็นตัวตัดสินการจัดสรรทรัพยากร อาจารย์
รอลส์ กล่าวว่าคนจำนวนมากในอดีต เห็นความไม่ยุติธรรมในแง่นี้ ดังนั้น พวกเขาจึงได้หันมาพิจารณาหลักที่สอง
หลักที่สอง. ความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร เกิดจาก ความเสมอภาคของโอกาสในชีวิต – fair
equality of opportunity -- ซึ่งได้นำไปสู่แนวคิดที่เรียกว่า ระบบคุณธรรม
หรือ ระบบนิยมคุณความดี – meritocracy -- ที่เน้นให้ทุกคนมีโอกาสในชีวิตเสมอภาคกัน
เพราะหลักนี้มีศรัทธาว่า บุคคลพึงประสบความสำเร็จด้วยความสามารถตนเอง-ไม่ใช้อภิสิทธิ์
แต่
อาจารย์ รอลส์ ตั้งคำถามว่า ถ้านักวิ่งเริ่มออกวิ่งจากเส้นสตาร์ทเดียวกัน คนที่วิ่งเร็วที่สุดย่อมเป็นผู้กำชัย แบบนี้คนขาสั้นหรือคนอ้วนก็แย่ซี รอลส์บอกว่า ระบบคุณธรรมก็ไม่ยุติธรรม
เพราะก็ยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอันเป็นเหตุบังเอิญ อาจารย์ รอลส์ เห็นว่า เราต้องคิดต่อไปให้ตลอด
ถึง
หลักที่สาม. หลักความแตกต่าง--the difference principle อาจารย์รอลส์
คิดขึ้น โดยที่รอลส์ ไม่เห็นด้วยว่า
หนทางที่จะเยียวยาความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นเพราะบางคนมีพรสวรรค์
หรือมีความสามารถโดยธรรมชาติเหนือผู้อื่น
เยียวยาได้โดยการ ปรับระดับ ให้เสมอกัน – leveling equality
– เช่น ทำให้คนจนเสมอกันหมด ไม่มีใครรวยกว่าใคร เป็นต้น
แต่ รอลส์ เห็นว่า
วิธีจัดการกับความไม่ยุติธรรมที่เกิดจากความบังเอิญ เช่น
บังเอิญเกิดมาเป็นลูกคนหัวปี หรือบังเอิญเกิดมามีพรสวรรค์ โดย รอลส์ เห็นว่าควรปล่อยให้แต่ละคนวิ่งไปให้สุดความสามารถแห่งตน
ให้เขาได้รับผลสำเร็จจากความสามารถของเขา แม้ความสามารถนั้นจะเป็นความบังเอิญ--เราก็จะไม่ว่ากัน แต่ผลประโยชน์ที่เขาได้รับมา เขาต้องรับมาเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ด้อยโอกาส
– the least well-off ด้วย
เพื่อสาธกยกอุทาหรณ์ประเด็นนี้ อาจารย์ แซนเดล ยกตัวอย่าง
รายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันในสหรัฐฯ เช่น ครูโรงเรียนในสหรัฐฯ มีรายได้เฉลี่ยราว 42,000
ดอลลาร์/ปี ในขณะที่ผู้จัดรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงอย่าง
นายเดวิด เล็ตเตอร์แมน มีรายได้ถึง 31 ล้านดอลลาร์/ปี ศ.แซนเดล ถามนักศึกษาว่า ยุติธรรมหรือไม่?
ประเด็นนี้
คิดตามหลักของ อาจารย์ รอลส์ ตอบได้ว่า ขึ้นอยู่กับว่าโครงสร้างพื้นฐานของสังคม
ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้มีการนำรายได้ส่วนหนึ่ง – ด้วยการเก็บภาษี -- ของ นายเดวิด
เล็ตเตอร์แมน ไปใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสในสังคม หรือไม่?
อีกตัวอย่างหนึ่ง
ผู้พิพากษาศาลสูง(ศาลฎีกา)สหรัฐฯ เช่น นางซานดรา เดย์ โอคอนเนอร์ ผู้พิพากษาศาลสูงคนแรกที่เป็นสตรี เธอได้รับผลตอบแทนปีละประมาณ 200,000
ดอลลาร์ แต่มี “ผู้พิพากษา” อีกนางหนึ่ง
คือผู้ที่ใช้ชื่อเรียกตัวเอง ว่า “ผู้พิพากษา จูดี” ซึ่งเป็นนักจัดรายการโทรทัศน์ อันเป็นรายการเกี่ยวกับกระบวนกายุติธรรม
เธอมีรายได้ถึงประมาณปีละ 25 ล้านดอลลาร์
ศ.แซนเดล ถามนักศึกษาว่า ยุติธรรมหรือไม่?
คำตอบตามแนว
อาจารย์ รอลส์ ก็คือ ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้น
มีระบบที่จะนำรายได้ของผู้มีเงินได้สูง
ไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสในสังคม(the least well-off) หรือเปล่า?
ก่อนที่จะดำเนินการบรรยาย
ต่อไป ศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาพิจารณา
ข้อคัดค้านทฤษฎีของอาจารย์ รอลส์ เรื่อง หลักแห่งความแตกต่าง – the
difference principle กันก่อน ว่า หลักการนี้มีผู้เห็นต่าง แสดงความคิดแย้งอยู่สามความเห็นหลัก
ๆ คือ
1) แล้วเรื่องแรงจูงใจ ล่ะ? What about incentives? เราจะละเลยเรื่องแรงจูงใจกันเลย
ล่ะหรือ? หลักแห่งความแตกต่างของอาจารย์ รอลส์ มองข้ามเรื่องแรงจูงใจ
ประเด็นนี้
นักศึกษาบางคน ก็ได้เคยยกขึ้นมาคัดค้านในการบรรยายครั้งที่แล้ว ทำนองว่า ถ้าอัตราภาษีสูงมาก ๆ นายไมเคิล
จอร์แดน ก็อาจไม่อยากเล่นบาสเกตบอล และนายเดวิด เล็ตเตอร์แมน ก็อาจเลิกทำรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ และบรรดาผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจ อาจบอกเลิก
หันไปประกอบอาชีพอื่น ศ.แซนเดล
ขอให้นักศึกษาผู้ที่เห็นคล้อยตามความคิดของ รอลส์ ลุกขึ้นมาอภิปรายก่อน
นักศึกษา(นายทิม)ลุกขึ้นอภิปราย
ที่เวลาวีดีโอ 33:15 ว่า ความคิดของ รอลส์ที่ว่า ควรมีแรงจูงใจ
ในระดับที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสให้มากที่สุด ดังนั้น ถ้าเน้นความเสมอภาคมากเกินไป
ผู้ด้อยโอกาสก็จะเสียประโยชน์ ในแง่ที่ว่า
ผู้ด้อยโอกาสก็จะไม่ได้ชมรายการโทรทัศน์(ของนายเดวิด เลตเตอร์แมน) หรือก็จะไม่มีงานทำ
เพราะพวกซีอีโอพากันเลิกทำงาน หันไปประกอบอาชีพอื่น เพราะฉะนั้น
อัตราภาษีก็จะต้องมีสมดุล เพื่อให้คนด้อยโอกาส
ยังได้รับประโยชน์จากขีดความสามารถของผู้อื่นอยู่ (เช่น ความสามารถในการจัดรายการ
ของ นายเดวิตเลตเตอร์แมน)
ซึ่ง ศ.แซนเดล
สรุปให้ว่า นายทิม พิจารณาอัตราภาษี มิใช่จากปริมาณรายได้มหาศาลของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เห็นว่า
อัตราภาษีจะต้องคำนึงถึงการที่ผู้ด้อยโอกาส จะได้หรือเสียโอกาส ซึ่งตรงกับที่ รอลส์ คิด ศ.แซนเดล คัดคำของ
อาจารย์ รอลส์ เกี่ยวกับประเด็นนี้ ที่เวลาวีดีโอ 34:44 ว่า
“ The
naturally advantaged are not to gain merely because they are more gifted, but
only to cover the costs of training and education and for using their endowments
in ways that help the less fortunate as well.”
--John
Rawls
คำแปล – “ผู้ที่ได้เปรียบเพราะชาติกำเนิด เขาจะไม่ได้ รับประโยชน์โภชผลเพราะพรสวรรค์หรือความถนัด
แต่พวกเขาจะได้รับประโชน์เพื่อให้คุ้มทุนแห่งการฝึกฝนอบรม
และค่าใช้จ่ายการศึกษา ตลอดจนต้นทุนในการใช้ขีดความสามารถของตน
ในทางที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม” –จอห์น รอลส์
เพราะฉะนั้น
คุณรักษาเรื่องแรงจูงใจไว้ได้ คุณปรับอัตราภาษีได้ แต่ต้องไม่ให้คนชั้นล่าง
หมายถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคม เสียประโยชน์
ศ.แซนเดล เห็นว่า เรื่องแรงจูงใจมีอยู่แล้วในความคิดของ รอลส์ เรื่องขาดแรงจูงใจจึงไม่ใช่คำคัดค้าน
หรือความเห็นต่างที่มีน้ำหนักพอ
ยังมีผู้มีความเห็นแตกต่างซึ่งมีข้อแย้งที่มีน้ำหนักมากกว่านี้ อยู่อีกสองความคิด แนวคิดหนึ่งมาจากพวกที่ยึดถือ “ระบบคุณธรรม” – meritocracy
– เชื่อว่าบุคคลพึงใช้ความสามารถของตนเอง-ไม่ใช้อภิสิทธิ์ ดังนี้
2) แล้วเกี่ยวกับความเพียรพยายามของคนล่ะ? What about the effort? เวลาวีดีโอ 35:50
คนที่ทำงานหนัก หรือทำด้วยความพากเพียรทนทานมานาน
ครั้นเขาได้อะไรมา
เขาย่อมมีสิทธิในสิ่งที่เขาทำมาหาได้
สิทธิดังกล่าวนี้เป็นสิทธิของข้อศิลธรรมทางแพ่ง ที่เรียกว่า ความพึงมีพึงได้ – moral
desert เขาต้องพึงมีพึงได้ในสิ่งที่เขาเพียรทำขึ้นมา
3) แล้วเกี่ยวกับเรื่อง ฉันเป็นเจ้าของตัวฉันเอง ของพวกเสรีนิยม – Libertarian
ล่ะ พวกเขาก็มีข้อแย้งว่า What about self-ownership?
การที่ “หลักแห่งความแตกต่าง”
ถือว่า ความสามารถเฉพาะตัวตามธรรมชาติก็ดี หรือคุณสมบัติพิเศษของฉันก็ดี เป็นสาธารณสมบัตินั้น
จะไม่ขัดต่อความคิดที่ว่า
ฉันเป็นเจ้าของตัวฉันเอง ล่ะหรือ?
ลำดับแรก
--ศ.แซนเดล จะพิจารณาประเด็น ที่ 3) What about self-ownership? ก่อน
โดยอ้างคำพูดของ
ศ. มิลตัน ฟริดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล มหาวิทยาลัยชิคาโก
ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมอย่างจัด ที่เคยกล่าวว่า
“Life is not fair. It is tempting
to believe that government can rectify what nature has spawned.”
-
Milton Friedman
ซึ่ง ศ.แซนเดล
เห็นว่า ฟริดแมน กำลังพูดส่งเสริมให้คนยอมจำนน ทำนองว่า ชีวิตมันไม่ยุติธรรมดอก
เราต้องทำใจ Life is unfair, but get over it! หลังจากยอมจำนนแล้ว
จึงค่อยคิดดูซิว่า เราพอจะหาข้อดีอะไรกับภาวะจำนนได้บ้าง
ศ.แซนเดล
รู้สึกขำ กับการให้เหตุผลของ ฟริดแมน ซึ่งฟริดแมนเห็นต่อไปว่า
ทางเดียวที่จะให้เสมอภาคกันได้ คือ ให้นักวิ่งทุกคน ไม่ว่าจะวิ่งมาจากไหน
เข้าถึงเส้นชัยพร้อม ๆ กัน – a leveling equality of outcome เมื่อนั้น จึงจะเสมอภาคจริง ซึ่งศ.แซนเดล เห็นว่าถ้าทำอย่างนั้น – ก็จะบ้ากันหมด
วงแตก
ต่อกลุ่มเสรีนิยมนั้น
อาจารย์ รอลส์ มีคำตอบที่ ศ.แซนเดล เห็นว่า เป็นคำตอบที่แข็งแรงและทรงพลังที่สุด
ในปรัชญาเรื่องความยุติธรรม ของ รอลส์
ดังนี้
“The
natural distribution is neither just nor unjust; nor is it unjust that persons
are born into society at some particular position. These are simply natural
facts. What is just and unjust is the way that institutions deal with these
facts.”
-- John Rawls
“ การจัดสรรและกระจายตามธรรมชาติ ไม่ได้ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม หรือการที่ใครจะเกิดมา
ณ จุดใดในสังคม ก็ไม่ได้เกี่ยวกับความยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ความยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม
ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัติในสังคม ที่จัดการกับข้อเท็จจริงเหล่านั้น”
--จอห์น รอลส์
ศ.แซนเดล
เห็นว่า นี่เป็นคำตอบ ที่ จอห์น รอลส์ ตอบต่อคำพูดของ มิลตัน ฟริดแมน ที่ว่า ชีวิตมันไม่ยุติธรรมดอก
เราต้องทำใจ แล้วหาทางใช้สิ่งที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์ที่สุดแล้วกัน
แต่
ศ.แซนเดล กล่าวว่า ข้อโต้แย้งที่แข็งแรงที่สุดในกลุ่มเสรีนิยม ที่ไม่เห็นด้วยกับ
อาจารย์ รอลส์ ไม่ได้มาจากนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมอย่าง
ฟริดแมน แต่มาจากพวกที่คิดเรื่อง
ฉันเป็นเจ้าของตัวฉัน (อีกนัยหนึ่ง
พวกโลกสวย ? –ผู้สรุปภาษาไทย)
ซึ่ง
ได้พัฒนาแนวขึ้นตามที่ อาจารย์ โรเบิร์ต โนสซิค ว่าไว้ (--เกี่ยวกับ
อาจารย์ โนสซิค โปรดอ่าน episode 03 part 1&2) ตามความคิดแนวโลกสวย
(ฉันเป็นเจ้าของตัวฉัน –
ผู้สรุปภาษาไทย) นั้น เห็นว่า
การให้คนเริ่มจากจุดเริ่มต้นเดียวกันอย่างเสมอภาค เช่น ปรับปรุงระบบโรงเรียนสามัญศึกษาของสหรัฐฯ(public
school system)นั้น อาจเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ แต่ถ้าไปบังคับเก็บภาษีจากนายเดวิด
เล็ตเตอร์แมน เพื่อนำเงินมาใช้ในการนั้น ถ้าเป็นกรณีที่นายเลตเตอร์แมนไม่เห็นด้วยกับระบบโรงเรียนสามัญศึกษา
อยู่ ก็ถือเสมือนหนึ่งว่า ไปบังคับฝืนใจเขา
เหมือนกับว่ารัฐกำลังทำตัวเป้นโจร ไปปล้นเอาทรัพย์สินของเขามา ทั้งนี้ เพราะพวกเสรีนิยม(พวกโลกสวย)เห็นว่า
เราคือเจ้าของตัวเรา และเราเป็นเจ้าของความสามาถทั้งหลายทั้งปวงในตัวตนแห่งเรา นี่เป็นคำคัดค้านของพวกเสรีนิยม(โลกสวย)
ซึ่งประเด็นนี้
อาจารย์ รอลส์ มีคำตอบให้กับพวกโลกสวย(เสรีนิยม) ว่า เอาเข้าจริง ๆ
เราอาจจะไม่ได้เป็นเจ้าเข้าเจ้าของตัวตนของเราเอง อย่างเต็มที่ถึงขนาดนั้น แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้แปลว่า รัฐเป็นเจ้าเข้าเจ้าของตัวเรา
ถึงขนาดจะบังคับ ฝืนใจ ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า เข้ามาถือบังเหียนชีวิตเรา
อย่าลืมว่า
– แนวคิดเรื่องเบื้องหลังม่านแห่งอวิชชา--the veil of ignorance (-หมายถึง การทดลองทางความคิด
ให้ทุกคนเสมอภาคกันอยู่หลังม่านแห่งอวิชชา แล้วร่วมกันกำหนดว่า
กฎเกณฑ์สังคมเมื่อเปิดม่านอวิชชาออก สมควรจะเป็นเช่นไร โปรดดูตอน “สัญญา
ต้องเป็นสัญญา” episode 07 part 2 ) เราตกลงกันแล้วในเบื้องปฐมว่า
ทุก ๆ คนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในชีวิตอย่างเสมอภาคกัน – the principle
of equal basic liberties เช่น เสรีภาพในการพูด
เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในจิตสำนึก-หรือความรู้สึกนึกคิด – freedom
of conscience เป็นต้น
ลำดับต่อไปเป็นประเด็นที่
ถ้าฟังลวก ๆ (เวลาวีดีโอที่ประมาณ
40:30 – 41:03) อาจจะชวนให้เขว
เข้าใจยาก หรือเผลอไผลนึกว่าเข้าใจแล้ว – แต่ที่จริงเปล่า! หรืออาจจะฟังข้ามไปเลย ทั้ง ๆ ที่มีใจความแฝงเงื่อนปมสำคัญ อันผูกโยงเข้ากับระบบเศรษฐกิจเสรี
ดังนั้น จึงจะถ่ายทอดบทบรรยาย มาแปลคำต่อคำ ดังนี้ครับ
“So, the only
respect in which the idea of self ownership must give way comes when we’re
thinking about whether I own myself in the sense that I’ve a privileged claim
on the benefits that come from the exercise of my talent in a market economy.
And Rawls
said, on reflection, we don’t.”
--ศาสตราจารย์ แซนเดล
(เวลาวีดีโอที่ประมาณ 40:30 – 41:03)
“เพราะฉะนั้น สิ่งที่แนวคิดเรื่องเจ้าข้าวเจ้าของตัวเอง จะต้องหลีกทางให้
มีอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ได้แก่ ขณะเมื่อเราคิดว่าเราเป็นเจ้าของตัวของเราเอง เราสามารถจะคิดเลยต่อไปได้ไหมว่า เราแต่ผู้เพียงผู้เดียวเท่านั้น
ที่มีเอกสิทธิใน การใช้สิทธิเรียกร้อง-claim ต่อผลได้ทั้งมวล อันเกิดจากการใช้ทักษะความรู้ความสามารถของเรา
ในระบบเศรษฐกิจที่ใช้ตลาดเป็นที่กำหนดคุณค่า?
และ
รอลส์ ตอบปริศนานี้อย่างใคร่ครวญ ว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ”
บรรยายที่ได้ตัดตอน
คัดลอก มาแปล ผู้สรุปฯ ขอวิเคราะห์องค์ประกอบของความคิด ดังนี้
1) ความเป็นเจ้าของตัวเอง
2) การใช้สิทธิเรียกร้อง ต่อ “ผล” อันเกิดการใช้ทักษะความรู้ความสามารถของตน
3) ระบบเศรษฐกิจ ที่ใช้ตลาดเป็นตัวกำหนดค่าหรือราคา ของ “ผล” อันเกิดจากการใช้ทักษะความรู้ความสามารถของคน
ตามลักษณะนี้
ความคิดที่ ศ.แซนเดล แถลงไว้ ก็จะชัดเจนกระจ่างแจ้ง กล่าวคือ
1) เรายังคงเป็นเจ้าข้าวเจ้าของตัวเราเอง
รวมทั้งเราก็ยังคงเป็นเจ้าข้าวเจ้าของทักษะความรู้ความสามารถของเรา
2) แต่ว่า--ในส่วนของ การใช้สิทธิเรียกร้อง หรือ ข้อเรียกร้อง–
claim – ต่อ “ผล” อันเกิดจากการใช้ทักษะความรู้ความสามารถของเรานั้น
ยังคงเป็นปริศนาอยู่ว่า เราอาจจะไม่มีสามารถใช้สิทธิเรียกร้อง(claim)เอาผลนั้นได้ร้อยทั้งร้อย ซึ่งจะเกี่ยวกับประเด็นนี้เราจะได้พิจารณากัน
ต่อไป
3) ค่าหรือราคา ของ “ผล” อันเกิดจากการใช้ทักษะความรู้ความสามารถของเรา
มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด หรือเศรษฐกิจเสรี เป็นตัวกำหนดค่าหรือราคา อีกนัยหนึ่งคุณค่า/ราคา
เป็นเรื่องของอุปสงค์-อุปทาน demand – supply
(หมายความว่า มิได้มีคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ มาเป็นผู้กำหนด หรือมีคณะกรรมการที่มีหน้าที่ควบคุมราคาสินค้า
ที่เป็นสินค้าควบคุมราคา คอยกำหนดระดับราคา “ผลได้” อันเกิดจากการใช้ทักษะความรู้ความสามารถของเรา
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องค่อนข้างชัดเจนในสังคมอเมริกัน – ผู้สรุปภาษาไทย)
รอลส์
ตอบปริศนาเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้อง ที่เรามีต่อ “ผลได้” อันเกิดจากการใช้ทักษะความรู้ความสามารถของเราว่า
เราไม่อาจที่จะ ใช้สิทธิเรียกร้อง หรือตั้งข้อเรียกร้องต่อผลที่ได้ แบบร้อยทั้งร้อย
-----------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ: ผู้สรุปภาษาไทยมีข้อคิดจาก ภควคีตา
บทที่ 2 โศลกที่ 47 มาฝากท่านผู้อ่าน ดังนี้
We
have total control over our own actions, but no control over the fruit of those
actions -- the law of detachment from
outcome.
เรามีอำนาจเหนือการกระทำของเรา แต่-เราไม่มีอำนาจควบคุมผลของการกระทำเหล่านั้น
– นี่คือ กฎแห่งการปล่อยวางผลของการกระทำ
หมายความว่า คำพูดก็ดี
ความคิดความอ่านก็ดี การกระทำก็ดี ล้วนอยู่ในความควบคุมของเรา แต่ผลของคำพูดนั้น ผลความคิดความอ่านนั้น
และผลการกระทำนั้น อยู่นอกเหนืออำนาจเรา
เรื่องนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่าน
รวมทั้งตัวผู้สรุปฯเอง เราต่างคงเคยได้ยินกันมาก่อนแล้วว่า ทำอะไรให้ทำให้ดีที่สุด
แต่อย่าไปกะเกณฑ์ เล็งผลเลิศ ว่าผลของการกระทำจะต้องปรากฏออกมาอย่างนั้นอย่างนี้ จะเป็นอื่นไปไม่ได้
อนึ่ง ผู้เขียนชอบวลีที่ว่า
“กฎแห่งการปล่อยวางผลของการกระทำ”
ชอบมากกว่าที่พระบางรูปชอบเทศน์ว่า “ปล่อยวาง-ปล่อยวาง” ห้วน ๆ ด้วน ๆ ถ้าพูดอย่าง ภควคีตา ว่าปล่อยวางผลของการกระทำ
จะช่วยให้เราเข้าใจได้ลึกซึ้งกว่า
มันส่อความหมายด้วยว่าเราต้องทำอย่างสุดความสามารถ โดยไม่พะวักพะวนถึงผล
หมายเหตุ: คำแปลคำว่า claim ที่ ศ.แซนเดล
ใช้ในวีดีโอนั้น แปลตาม ราชบัณฑิตยสถาน – ศัพท์นิติศาสตร์ ว่า การใช้สิทธิเรียกร้อง
และ ข้อเรียกร้อง
ซึ่งผู้สรุปภาษาไทยเห็นว่า เป็นคำแปลที่ดี
-------------------------------------------------------------------------------------------
ลำดับที่สอง -ศ.แซนเดล
จะพิจารณาประเด็นที่สอง ที่ตั้งปริศนาว่า แล้วเกี่ยวกับความเพียรพยายามของคนล่ะ? What
about the effort?
ลำดับที่สองนี้
รอลส์ กำลังตอบคำถามข้อที่สองของพวกที่เชื่อเรื่อง ระบบคุณธรรม(meritocracy)—บุคคลพึงประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตนเองโดยไม่ใช้อภิสิทธิ์ ที่เห็นว่า
ก็ในเมื่อบุคคลได้ลงแรงเพียรพยายามสร้างทักษะความรู้ความสามารถขึ้นมา
เขาย่อมมีสิทธิที่จะได้รับผล จากการใช้ทักษะความรู้ความสามารถนั้น
รอลส์
บอกว่า ที่จริง พวกคุณผู้นิยมนับถือระบบคุณธรรม(meritocracy)--ใครดีใครได้--
บุคคลพึงใช้ความสามารถของตนเอง ทั้งหลายนั้น
ที่จริงคุณไม่ได้เชื่อเรื่องความขยันหมั่นเพียร
หรือความมานะพยายาม ซะหน่อย
เปล่าเลยครับ! ทั้งนี้ ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างคนงานก่อสร้างสองคน คนหนึ่งตัวใหญ่โตกำยำล่ำสันแข็งแรง
อีกคนหนึ่งตัวเล็กผอมแห้งแรงน้อยหย็องกรอด
คนงานคนแรกสามารถก่อกำแพงสี่ด้านได้ภายในหนึ่งชั่วโมง
เหงื่อยังไม่แตกเลย อีกคนหนึ่ง
ทำงานปริมาณเดียวกันนั้น เขาใช้เวลาถึงสามวันสามคืน เหงื่อไหลไคลย้อย
ศ.
แซนเดล สรุปว่า คงไม่มีผู้สนับสนุน ระบบคุณธรรมนิยม(meritocracy)ผู้ใด ที่เห็นว่าความขยันหมั่นเพียรของคนงานคนที่สองผู้หย็องกรอด(เขาขยันอยู่ถึงสามวันสามคืน)
ควรได้รับการตอบแทนสูงกว่าคนงานคนแรก(เขาทำงานแค่ชั่วโมงเดียว)
เพราะฉะนั้น
จริง ๆ แล้ว ระบบคุณธรรมไม่ได้ให้คุณค่ากับความขยันหมั่นเพียร แต่พวกเขาเห็นค่าของ contribution ต่างหาก หมายถึง เห็นค่าของการมีส่วนร่วมอุดหนุน(หมายความว่า
งานของคุณมีส่วนมาร่วมอุดหนุนโครงการนี้เท่าไร)
ซึ่งการมีส่วนร่วมอุดหนุน
หรือมีส่วนให้(คุณให้เราเท่าไร)นี้ นำเรา วกกลับไปยังประเด็น
ทักษะความรู้ความสามารถ ที่เรามีอยู่แล้วกับตัว (สำหรับตัวอย่างคนงานก่อสร้าง
ก็คือสภาพร่างกาย) มันไม่เกี่ยวกับว่า ใครขยันใครขี้เกียจ ความเพียรไม่ได้มีค่า แต่ค่าอยู่ที่ ผลงานการมีส่วนร่วมอุดหนุน(contribution)
และ ส่วนร่วมอุดหนุน ก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติในตัวเรา
(สำหรับคนงานก่อสร้างคือ ร่างกายใหญ่โตแข็งแรง)
ความเพียรพยายามที่จะทำงานให้สำเร็จ
เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับความตั้งใจมุมานะของเรา แต่ว่า ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติติดตัวเราต่างหาก
เช่น เป็นคนงานก่อสร้างที่ร่างกายใหญ่โตกำยำล่ำสัน เป็นต้น ใช้ความเพียรนิดหน่อย-งานก็เสร็จ แต่คนตัวเล็กหย็องกรอด-ต้องใช้ความเพียรมากมายมหาศาล
เพื่อทำงานปริมาณเดียวกัน
ฉะนี้แล้ว
เราจะสรุปได้ไหมว่า ตามความเห็นของ รอลส์ การที่เราจะพึงมีพึงได้อะไรมา/หรือความชอบธรรมนั้น
ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความยุติธรรมในการกระจาย จัดสรร ทรัพยากร(distributive
justice) รอลส์ ตอบว่า ใช่แล้ว—ความยุติธรรมในการกระจาย
จัดสรร ทรัพยากร ไม่เกี่ยวกับการที่เราจะพึงมีพึงได้อะไร/ความชอบธรรม ไม่เกี่ยว
---------------------------------------------------------------------------------
ผู้เขียน
เคยไปอบรมภาษาอังกฤษ ให้กับทีมคนงานการเกษตร ซึ่งบริษัทจัดหางาน
คัดเลือกมาเพื่อส่งไปทำงานในภาคเกษตร ในประเทศอิสราเอล เมื่อปี 2552 พบว่า คนงานเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีร่างกายใหญ่โต
กำยำล่ำสัน แข็งแรงทุกคน
ที่ตัวเล็กหย็องกรอด(--แต่ขยัน) ไม่มีสักคนเดียว ความขยันเท่าที่ผู้เขียนทราบเวลานี้ ที่ยังเหลือคุณค่าทางแพ่ง
มีแต่ความขยันที่พวกหมอนวดอ่าง เธอเรียกกันว่า “สั้น-แต่ขยันซอย” เท่านั้น
----------------------------------------------------------------------------------------
เมื่ออภิปรายถึงตรงนี้
รอลส์ ได้แทรกแง่คิดใหม่ลงมาจัดรูปความเข้าใจให้กระจ่าง ระหว่างเรื่องสองเรื่อง
คือเรื่อง การที่เราจะพึงมีพึงได้อะไร/ความชอบธรรม กับการที่เรา มีสิทธิ
ที่จะได้อะไร(entitlement to legitimate expectation)
ยกตัวอย่างเกมสองประเภท เกมของโชค – the
game of chance เช่น เล่นหวยบอลโลกถูกรางวัลใหญ่ กับ เกมทักษะความรู้ความสามารถ
– the game of skill เช่น ทีมบอลเยอรมันเล่นชนะบอลโลกที่ประเทศบราซิล
เวลาเราเล่นหวยบอล
แล้วเกิดถูกรางวัลขึ้นมา เราย่อม มีสิทธิ ที่จะไปขึ้นรางวัลนั้น โดยที่เมื่อเริ่มลงเล่นเกมนี้ หรือเมื่อกำลังแทงหวยอยู่นั้น
เราไม่ได้มีความชอบธรรมใด ๆ ว่าเราจะต้องได้รับรางวัลใหญ่ แต่เมื่อเราเป็นผู้ถูกรางวัล เราย่อม มีสิทธิ
ตามกฎระเบียบของระบบรางวัลนั้น(entitlement to legitimate expectation) ที่จะไปขึ้นเอาเงินรางวัล
แต่
เวลาทีมบอลเยอรมันเล่นบอลชนะ(game of skill) เขา มีสิทธิ
(entitled to) ที่จะได้รับถ้วย(และเงินรางวัล) แล้วเขาสมควรจะได้รับรางวัลไหมล่ะ?
คำถามนี้เราถามได้กับ game of skill แต่จะถามไม่ได้กับ game
of chance และคำถามนี้เป็นคำถามเชิงความชอบธรรม เช่น
เล่นเก่งเล่นดี ก็เลยชนะได้รางวัลมา
กรณีนี้ความชอบธรรมมาก่อนสิทธิ (antecedent standard moral deserve)
ส่วนการถูกหวย
แล้วมีสิทธิที่จะไปขึ้นเงินนั้น สิทธิ
มาก่อนความชอบธรรมและจริง ๆ แล้วความชอบธรรมไม่เกี่ยว
“A just scheme answers to what
men are entitled to; it satistied their legitimate expectations as founded upon
social institutions. But what they are entitled to is not proportional to or
dependent upon their intrinsic worth.”
-John Rawls
ที่เวลาวีดีโอ 46:56
แปลยากอยู่
นะครับ แต่จะพยายาม -- ผิดพลาดบกพร่อง โปรดอภัยและช่วยกันค็อมเมนต์
แสดงความคิดเห็นของท่าน เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนนักอ่าน
“กฎกติกาที่ยุติธรรม
คอยกำกับให้คนรู้ว่าตนชอบที่จะมีสิทธิอะไรบ้าง
กฎกติกาที่ยุติธรรมสนองความคาดหวังที่เกิดขึ้นจากขนบธรรมเนียมในสังคม แต่สิ่งที่พวกเขาชอบที่จะมีสิทธิจะได้รับ
จะไม่ได้สัดส่วนพอดีหรือขึ้นอยู่กับ คุณค่าของตัวเขาแต่ประการใด”
-จอห์น
รอลส์
หมายเหตุ -ได้แปล social institutions ว่า ขนบธรรมเนียมในสังคม
-ได้แปล their intrinsic
worth ว่า คุณค่าของเขา
ทั้งนี้โดยคำนึงว่า คนตาบอด
คนขาเป๋ หรือคนตาดี ถูกลอตเตอรีแล้ว
ต่างมีสิทธิไปขึ้นเอารางวัล ได้เสมอกัน
ต่อมาอีก รอลส์ เห็นว่า
“The
principles of justice that regulate the basic structure … do not mention moral
desert, and there is no tendency for distributive shares to correspondence to
it.”
-John Rawls
“หลักยุติธรรม ที่กำกับโครงสร้างพื้นฐานอยู่นั้น...ไม่ได้คำนึงถึงความชอบธรรม และการปันส่วนได้เสียก็ปราศจากแนวโน้ม
ว่าจะสอดคล้องกับความชอบธรรม”
-จอห์น รอลส์
ทำไม
รอลส์ จึงแยกประเด็นคิดไว้น่าประหลาดเช่นนี้ เพราะมีข้อศิลธรรมเรื่องใดหรือที่เป็นปัญหา?
ศ.แซนเดล
ตอบว่า เรื่องแรก—ที่เป็นปัญหาปรัชญา--ก็คือ
เรื่องคุณค่าของความเพียร
ที่ได้อภิปรายไปแล้ว กับเรื่องที่สอง
เป็นการคิดคำนึงอีกระดับหนึ่ง เลยพ้นไปจากประเด็นเดิมเกี่ยวกับความเพียร ที่เคยตั้งคำถามว่าเป็นผลงานของฉันหรือไม่--ที่ฉันมีทักษะความรู้ความสามารถ
อันช่วยให้ฉันก้าวหน้าเกินหน้าเกินตาผู้อื่นทั้งหลาย
แต่เรื่องที่สองนี้
จะขยายวงปริศนาให้กว้างออกไปกว่านั้น กลายเป็นว่า เราอยู่อาศัยในสังคม ซึ่งให้คุณค่าแก่ทักษะความรู้ความสามารถของเรา
ยกตัวอย่างเช่น เพราะว่า เดวิด
เลตเตอร์แมน อยู่อาศัยในสังคมที่ชอบตลกขำขันแบบสัปดนนิด ๆ (a certain kind
of smutty jokes) ซึ่งการที่สังคมนิยมเช่นนั้น
ไม่ใช่ผลงานของ เดวิด เลตเตอร์แมน สักหน่อย แต่ว่า เขาโชคดี—ที่บังเอิญมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ทักษะความรู้ชนิดนั้น
เป็นที่นิยมชมชอบและเห็นคุณค่า ซึ่งเป็นเรื่องของโชคหรือความบังเอิญ
ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของ เดวิด เลตเตอร์แมน เลย
ปริศนาเชิงศิลธรรมข้อสอง
จึงแขวนอยู่กับสังคมที่เราอยู่อาศัย แล้วการเกิดมาอยู่ในสังคมแบบนั้น
จะไปตีขลุมนับเอาเป็นผลงานของเราไม่ได้ และไม่ใช่การกระทำที่เราจะไปอ้างเอาคุณงามความดีอะไรได้
(ยกเว้น เราเชื่อเรื่องบุญทำกรรมแต่ง แต่ชาติปางก่อน ซึ่งนักปรัชญาฝรั่งไม่เชื่อ –
ปรีชา)
ศ.แซนเดล
เน้นต่อไปว่า ถึงแม้เราจะสามารถพูดได้ว่า เรา-โดยตัวของเราเองเพียงผู้เดียวเท่านั้น
ที่เป็นเจ้าเข้าเจ้าของทักษะความรู้ความสามารถของเรา แต่—ผลประโยชน์หรือผลได้
อันเกิดจากการได้ใช้ทักษะความรู้ความสามารถ ก็ยังแขวนอยู่กับปัจจัยที่มีปัญหาด้านศิลธรรม
กล่าวคือ ผลประโยชน์หรือผลได้ดังกล่าว ซึ่งกำหนดคุณค่า ตั้งราคา ในตลาดเศรษฐกิจเสรี
ในที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับอะไร? ก็ขึ้นอยู่กับการที่คนทั้งหลายในสังคมนั้น “ต้องการ” อีกนัยหนึ่งขึ้นกับกฎของอุปสงค์อุปทาน(supply
and demand) และอุปสงค์อุปทานก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบ
หรือไม่ใช่การกระทำของเรา ไม่เกี่ยวกับพื้นฐานเรื่องความชอบธรรม(moral
deserts)ของเรา
แต่เป็นความประสงค์ ความต้องการ ของคนอื่นทั้งหลายในสังคม ต่างหาก
สรุปว่า
สิ่งที่ส้งคมเห็นว่าเป็น “ส่วนช่วยอุดหนุน”(contribution) ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ(เช่น การพูดตลก)ที่สังคมนั้น
ๆ แลเห็นคุณค่าและให้ค่า ศ.แซนเดล
กล่าวว่า พวกเราทั้งหลายส่วนมาก(หมายถึงคนในห้องเรียนห้องนั้น) โชคดีที่เรามีคุณสมบัติอันสังคมเห็นค่า คุณสมบัติเหล่านั้นจะช่วยให้เราสนองความต้องการของตลาด-ในสิ่งที่สังคมปรารถนาได้
เช่น ในสังคมทุนนิยมคุณสมบัติที่มีค่า ได้แก่ ผู้ที่มีจิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการ(entreprenial
drive) ในสังคมระบบราชการ ได้แก่ ผู้ที่เข้ากับผู้บังคับบัญชาได้ดี ในสังคมประชาธิปไตยมวลชน ได้แก่
ผู้ที่ดูดีเมื่อออกโทรทัศน์และพูดจาสั้น ๆ ห้วน ๆ ฉาบฉวย ในสังคมกฎหมาย ได้แก่
คนที่ผ่านโรงเรียนกฎหมายมา และสอบ LSAT ได้คะแนนดี เป็นต้น
การที่สังคมชอบแบบนั้นแบบนี้
ไม่ได้เกิดจากการกระทำของเรา ถ้าหากว่า
เราไปเกิดในสังคมประเภท หากิน-เก็บกิน(hunter-gatherer)คุณสมบัติทั้งหลายเหล่านั้นของเรา
จะไร้ค่าลงทันที
ชีวิตเราคงไปไม่ไกลในสังคมชนิดหากิน-เก็บกิน แต่พวกเราบางคนก็คงจะพัฒนาคุณสมบัติแบบอื่นขึ้นมา
กระนั้นก็ดี
ถึงแม้ว่าเราจะ มีสิทธิ(entitled) ต่อการจัดสรรของสังคมเพียงน้อยนิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเป็นคนด้อยคุณความดี(-ทักษะความรู้ความสามารถ)
รอลส์ บอกว่า เพียงแต่ว่า เรามีคุณธรรมหรือคุณความดี(-ทักษะความรู้ความสามารถ) ที่สังคมนั้นไม่เห็นค่า
เท่านั้นเอง
ฉันใดก็ฉันนั้น—นี่เป็นข้อสรุปปรัชญาเรื่องความชอบธรรมฯ
กับเรื่องการมีสิทธิฯ
เรามีสิทธิฯที่จะได้รับประโยชน์ตามที่กฎระเบียบสังคมให้คำมั่นไว้
ว่าเราจะต้องได้เมื่อเราได้ใช้ทักษะความรู้ความสามารถ ในทางกลับกัน ในสังคมที่เรากำลังมีชีวิตอยู่นี้
ผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งจากสังคมไปน้อย ก็ไม่ได้แปลว่า ตัวตนของเขาเองด้อยค่า เขาเพียงแต่ขาดคุณสมบัติที่สังคมเราต้องการ ตัวเราผู้ได้รับส่วนแบ่งมากก็เช่นเดียวกัน เราก็ไม่ได้มีความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น
ว่าเราชอบธรรมแล้ว ที่เกิดอยู่ในสังคมเช่นนี้ที่ให้คุณค่าแก่คุณสมบัติที่เรามี หากเราเข้าใจเช่นนั้นก็แปลว่าเรากำลังหลอกตัวเอง
ศ.แซนเดล
กล่าวทิ้งท้ายว่า เราพูดกันมาเฉพาะเรื่องรายได้และความมั่งคั่ง เรายังไม่ได้อภิปรายกันเรื่องโอกาสในชีวิต
และเรื่องเกียรติยศ เช่น การจัดสรรที่นั่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำ
การที่นักศึกษาทั้งหลายในที่นี้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดเป็นลูกหัวปี และได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถกันมา
จนได้เข้ามาเรียนที่ฮาร์วาร์ด แต่ รอลส์
ถามว่า แล้วความชอบธรรมของพวกคุณคืออะไร?
คุณได้รับประโยชน์ที่ขึ้นอยู่กับโอกาสในชีวิตที่คุณมี
ศ.แซนเดล ถามว่า ที่นั่งในมหาวิทยาลัยเรา
ถูกจัดสรรให้เป็นรางวัล เป็นเกียรติ เป็นความขอบธรรม แก่ผู้ที่สมควรจะได้ เพราะเขาขยันหมั่นเพียร(work
hard) หรือว่าจัดสรรให้ เป็นสิทธิ
แก่ผู้ที่--เมื่อเขาได้รับไปแล้ว เขาจะทำงานเป็นประโยชน์แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม(คือ
ปันรายได้ไปไห้ ผ่านระบบภาษี)
คำถามนี้
ใช้ถามได้กับรายได้จำนวนมากของ ไมเคิล จอร์แดน เดวิด เลตเตอร์แมน และผู้พิพากษาจูดี
ตลอดจนถึง ถามได้กับผู้ที่ได้ที่นั่งเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหลาย แล้วเราจะได้อภิปรายประเด็นนี้กันต่อไป
ในเรื่อง Affirmative Actions ในการบรรยายครั้งถัดไป
---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 08/12 part 2 " ในชีวิตฉันนั้น ฉันสมควรจะมี
สมควรจะได้ อะไรบ้าง”
ท่านสามารถชมต้นฉบับวิดิทัศน์
และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับการบรรยาย episode 08/12 ได้ตามลิงก์ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น