open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

HV9/12 part 1 ให้เหตุผลเรื่องการต่อแต้ม

---------------------------------------------------------------------------------------
“เด็กจากไร่นาในไอดาโฮ สามารถนำข้อดีบางอย่างมาสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งชาวบอสตันไม่อาจให้ได้  ทำนองเดียวกัน นักศึกษาผิวดำก็อาจนำข้อดีบางอย่างมา ซึ่งนักศึกษาผิวขาวไม่มี  คุณภาพของประสบการณ์การศึกษาโดยรวม มีส่วนที่จะขึ้นอยู่กับความแตกต่างด้านภูมิหลัง และโลกทัศน์ ที่ติดตัวนักศึกษาทั้งหลาย เข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัย”

-ม.ฮาร์วาร์ด แถลงต่อศาล คดีถูกฟ้องเรื่องไม่ยุติธรรมใน
การรับนักศึกษา ปี 1978

----------------------------------------------------------------------------------------


การให้เหตุผลเรื่องการต่อแต้ม
ARGUING AFFIRMATIVE ACTION
Episode 09 part one

           ครั้งที่แล้ว ศ.แซนเดล กล่าวว่า อาจารย์ รอลส์ แบ่ง การใช้สิทธิเรียกร้อง ออกเป็นสองประเภท คือ

1)   การใช้สิทธิเรียกร้องตามความชอบธรรม/คุณความดี(moral deserts)
2)   การใช้สิทธิเรียกร้องตามที่ตนมีสิทธิ(entitlement) 

           แล้วอาจารย์ รอลส์ ยังเห็นอีกว่า การจัดสรรทรัพยากรอย่างยุติธรรม – distributive justice  ไม่เกี่ยวกับความชอบธรรมหรือคุณความดี  ซึ่งในครั้งนี้ ศ.แซนเดล จะได้ขยายความเรื่องนี้ ต่อไป

          ศ.แซนเดล อภิปรายเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้อง โดยยกอุทาหรณ์ การว่าจ้างและการรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โดยอภิปรายเกี่ยวกับ การให้เหตุผลเรื่องการต่อแต้มarguing affirmative action อันเป็นนโยบายคัดเลือกนักศึกษา ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ

          โดยยกคดีตัวอย่าง ปี 1996 กรณีที่หญิงผิวขาวชื่อ เชอรีล ฮ็ปวูด ถูกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ปฏิเสธไม่รับเข้าศึกษา ทั้ง ๆ ที่เธอได้คะแนนดี และเธอมีผลการทดสอบสูงกว่า ผู้สมัครจากชนกลุ่มน้อยหลาย ๆ คนที่ได้รับคัดเลือก  นางสาวฮ็ปวูด ได้นำเรื่องนี้ขึ้นฟ้องเป็นคดีในศาล โดยอ้างว่า โครงการต่อแต้มของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเจตนาช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยนั้น เป็นการละเมิดสิทธิของเธอ 

          ประวัติของนางสาว ฮ็ปวูด มีว่า เธอทำงานส่งตัวเองเรียนมัธยมปลาย  เธอไม่ได้มีพื้นเพมาจากครอบครัวมั่งคั่งร่ำรวย  ต่อมาเธอก็ส่งตัวเองเรียนวิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐคาลิฟฟอร์เนีย ที่ซาคราเมนโต  เธอได้เกรดเฉลี่ย 3.8 ที่นั่น  เมื่อเธอย้ายภูมิลำเนามาอยู่ในมลรัฐเทกซัส  เธอเข้าทดสอบข้อสอบสำหรับเข้าเรียนนิติศาสตร์ เธอได้คะแนนทดสอบดี และเธอสมัครเข้าเรียนใน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส  แต่ผลการพิจารณาใบสมัครปรากฏว่ามหาวิทยาลัยเท็กซัส ปฏิเสธไม่รับเธอเข้าศึกษา

          เวลานั้น มหาวิทยาลัยเท็กซัส กำลังใช้นโยบาย “การต่อแต้ม”(affirmative policy)  อันเป็นนโยบายเผื่อแผ่ คำนึงถึงเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรมย่อย  ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ให้เหตุผลว่า มลรัฐเท็กซัสมีพลเมืองร้อยละสี่สิบ เป็นคนเชื้อสายอัฟริกัน-อเมริกัน และเชื้อสายเม็กซิกัน-อเมริกัน  จึงถือเป็นเรื่องสำคัญว่า เราในฐานะคณะนิติศาสตร์ จะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของประชากร  เพราะฉะนั้น เราจะไม่พิจารณาคะแนนทดสอบเพียงอย่างเดียว เราจะคำนึงถึงการกระจายจำนวนนักศึกษา ไปตามเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ด้วย      

          ผลจากนโยบายดังกล่าว ปรากฏว่า คนบางคนสอบได้คะแนนไม่ดีไปกว่า นางสาวฮ็ปวูด แต่กลับผ่านการพิจารณาคัดเลือก เข้าเป็นนักศึกษา  ส่วนเธอ-ถูกปฏิเสธ เธออ้างเหตุผลในคำฟ้องว่า เธอถูกปฏิเสธเพราะเธอเป็นคนผิวขาว(ฝรั่ง) ถ้าเธอสังกัดเชื้อชาติหรือกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ด้วยคะแนนสอบและคะแนนทดสอบที่เธอทำได้  เธอย่อมผ่านการคัดเลือก  ข้อมูลของการต่อสู้คดีในศาลพบว่า  สถิติการคัดเลือกนักศึกษาในปีนั้น นักศึกษาอัฟริกัน-อเมริกัน และนักศึกษาเม็กซิกัน-อเมริกัน ที่ได้คะแนนต่ำกว่า นางสาวฮ็ปวูด ผ่านการคัดเลือกจริง

          ศ.แซนเดล เชิญชวนให้นักศึกษาปล่อยวาง เรื่องกฎหมายและโรงศาลไว้ก่อน  โดยให้ลองคิดในแนวความยุติธรรมและศิลธรรม(justice and morality)ว่า “ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม”  การที่นางสาวฮ็ปวูด ยกเรื่องนี้ ขึ้นฟ้องเป็นคดีความ -- a legitimate complain เป็นเรื่องที่ชอบแล้วหรือ? สิทธิของเธอถูกละเมิด-โดยนโยบายรับนักศึกษา ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส หรือไม่? 

          ศ.แซนเดล ให้ทั้งนักศึกษาฝ่ายที่ตัดสินใจเข้าข้างคณะนิติศาสตร์ฯ  และนักศึกษาที่ตัดสินใจเข้าข้างนางสาวฮ็ปวูด ยกมือขึ้น—ผลการยกมือประเมินด้วยสายตา ประมาณได้ว่า ได้เสียงเท่า ๆ กัน

          ศ.แซนเดล จึงขอให้นักศึกษาแต่ละฝ่าย แสดงความคิดเห็น  นักศึกษาเก้าคนในห้องเรียน ซึ่งมาจากเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรมหลากหลาย เช่น คนผิวเขาว คนผิวดำ คนเอเชีย คนเชื้อสายละตินอเมริกา เป็นต้น  ลุกขึ้นอภิปรายเห็นด้วยและอภิปรายคัดค้าน โครงการต่อแต้มของมหาวิทยาลัยเท็กซัส  ทั้งนี้ โดยมีประเด็นอภิปรายต่าง ๆ เช่น

1)   การศึกษาขั้นพื้นฐานที่คุณภาพไม่เท่าเทียม ระหว่างเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ  ควรถูกนำเข้ามาพิจารณา เพื่อชดเชยคะแนนให้แก่คนกลุ่มน้อย หรือไม่?
2)   ความไม่ยุติธรรมทางประวัติศาสตร์ ที่เกิดจากการมีทาสและการแบ่งแยกผิว ควรถูกนำมาพิจารณาชดเชยคะแนน ให้แก่ผู้สมัครหรือไม่?
3)   การอ้างเหตุผลเชิงเห็นชอบ ว่า การคัดเลือกควรส่งเสริมความหลากหลายของประชากรนักศึกษา ฟังขึ้น(-สมเหตุสมผล) หรือไม่?
4)   การอ้างความหลากหลายดังกล่าว จะมาหักล้างข้อพิจารณาเรื่องความเพียรพยายามและความสำเร็จในการเรียน กับผลการทดสอบของผู้สมัคร ได้ละหรือ? ในเมื่อความหลากหลาย เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ของตัวผู้สมัครเอง? ซึ่งก็แปลว่า เป็นปัจจัยชนิดหลักลอย-อ้างเอาตามอำเภอใจ?
5)   เมื่อภารกิจที่ประกาศเปิดเผยของมหาวิทยาลัยมีว่า จะพยายามเพิ่มความหลากหลายของประชากรนักศึกษา ครั้นภารกิจดังกล่าวถูกยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุผล เพื่อปฏิเสธใบสมัครของคนผิวขาว ถือเป็นการละเมิดสิทธิกันหรือไม่?     

          ฝ่ายที่อภิปราย เห็นด้วย กับการนำเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรม มาร่วมเป็นปัจจัยพิจารณาคัดเลือกนักศึกษา  อ้างเหตุผลต่าง ๆ แบ่งชนิดเหตุผลออกได้สามประการ คือ

  1. Correctiveเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง/ปรับให้เสมอ คือ ปรับระดับความแตกต่างของพื้นฐานการศึกษา ให้เสมอกัน(ด้วยการให้แต้มเพิ่มแก่ผู้สมัครชนกลุ่มน้อย)  ซึ่งเหตุผลชนิดนี้ ก็เท่ากับพิจารณาคัดเลือกนักศึกษา โดยอาศัยผลการเรียนเป็นหลักนั่นเอง  แต่ว่า พิจารณาลึกลงไปถึงพื้นฐานที่แตกต่างกัน มาประกอบด้วย เพื่อที่จะประเมินผลการเรียนและ “แวว” ของนักศึกษาได้อย่างยุติธรรม

  1. Compensatory เพื่อชดเชย อ้างเหตุผลนี้เพื่อชดเชยต่อความผิดพลาดในอดีต หรือความไม่ยุติธรรมในประวัติศาสตร์

  1. Diversityเพื่อความหลากหลาย กล่าวคือ 1)ความหลากหลายช่วยให้ประสบการณ์การเล่าเรียนของนักศึกษารุ่มรวยขึ้น และ2)ความหลากหลายเป็นประโยชน์ต่อความแข็งแกร่งของสังคมส่วนรวม

          สำหรับการอภิปราย ไม่เห็นด้วย นั้น แนวทางไม่เห็นด้วยที่โดดเด่น ได้แก่ การไม่เห็นชอบกับเรื่อง compensatory – เพื่อชดเชยความผิดพลาดในอดีต  กล่าวคือ การต่อแต้มคนผิวดำและคนกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ด้วยเหตุผลเพื่อชดเชยความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ น่าจะไม่ยุติธรรมต่อนางสาวฮ็ปวูด เพราะว่า ตัวเธอเองจริง ๆ แล้วเป็นคนยุคปัจจุบัน เธอไม่ได้มีส่วนในการใช้แรงงานทาสหรือแบ่งแยกผิว  เธอไม่ได้ร่วมสร้างความผิดพลาดในอดีตแต่ประการใดเลย  เพราะฉะนั้น จะเป็นการยุติธรรมต่อเธอหรือ?

          อย่างไรก็ดี ศ.แซนเดล กล่าวว่า เพื่อสาดความกระจ่างแก่ประเด็นนี้ เราก็ต้องมาคิดดูว่า ความรับผิดชอบของสังคมส่วนรวมนั้น จะต้องรับผิดชอบข้ามยุคข้ามสมัย กันด้วยหรือ?

          สำหรับประเด็นต่อไป การอ้างเหตุผลเรื่อง Diversityเพื่อความหลากหลาย  ซึ่งเห็นว่าความหลากหลายของประชากรนักศึกษา ช่วยให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์  มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็เคยโดนฟ้องคดีต่อแต้ม(affirmative case)มาก่อน เมื่อค.ศ.1978  และได้เคยแถลงต่อศาลว่า

“เราให้ความสำคัญกับความหลากหลายในหมู่นักศึกษา  ความเป็นเลิศทางวิชาการไม่เคยเป็นข้อพิจารณาเพียงประการเดียว ในการคัดเลือกนักศึกษาระดับปริญญาตรี  เมื่อสิบห้าปีก่อน ความหลากหลายหมายถึง นักศึกษาจากคาลิฟฟอร์เนีย นิวยอร์ค แมสซาจูเซตท์ นักศึกษาที่เป็นคนเมือง เป็นเด็กจากไร่นา นักไวโอลิน ศิลปินวาดภาพ นักฟุตบอล นักชีวะวิทยา นักประวัติศาสตร์ ฯลฯ  ปัจจุบันนี้ เราได้เพิ่มปัจจัยเรื่องเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรม แถมเข้ามาในบัญชีข้อพิจารณาเรื่องความหลากหลายด้วย”

          ข้อความตอนหนึ่ง ในคำแถลงต่อศาล ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ความว่า... (เวลาวีดีโอ 22.07)          

“When reviewing the large number of candidates able to do well in our classes race may count as a plus, just as coming from Iowa may count or being a good middle linebacker or pianist.”

“ระหว่างพิจารณาผู้สมัครจำนวนมาก ซึ่งต่างก็ล้วนมีศักยภาพที่จะเรียนกับเราได้ดีด้วยกันทั้งนั้น  ปัจจัยเชื้อชาติอาจเป็นข้อได้เปรียบก็ได้  เช่นเดียวกับปัจจัยที่ว่า เป็นคนมาจาก มลรัฐไอโอวา หรือเป็นนักฟุตบอลฝีเท้าดี หรือเป็นนักเปียนโน”  

“A farm boy from Idaho can bring something to Harvard College that a Bostonian cannot offer. Similarly, a black student can usually bring something a white student cannot offer. The quality of the educational experience of all students depends in part on these differences in the background and outlook that students bring with them.”  

“เด็กจากไร่นาในไอดาโฮ สามารถนำข้อดีบางอย่างมาสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งชาวบอสตันไม่อาจให้ได้  ทำนองเดียวกัน นักศึกษาผิวดำก็อาจนำข้อดีบางอย่างมา ซึ่งนักศึกษาผิวขาวไม่มี  คุณภาพของประสบการณ์การศึกษาโดยรวม มีส่วนที่จะขึ้นอยู่กับความแตกต่างด้านภูมิหลัง และโลกทัศน์ ที่ติดตัวนักศึกษาทั้งหลาย เข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัย”


          อย่างไรก็ดี ศ.แซนเดล กล่าวว่า การอ้างเหตุผลโดยอิงความหลากหลาย  จะเป็นข้ออ้างที่แข็งแรง น่าเชื่อถือ ก็ต่อเมื่อเหตุผลดังกล่าว ผ่านคำคัดค้านที่ทรงพลังข้อหนึ่ง ซึ่งนักศึกษาบางคนก็ได้เอ่ยถึงไปแล้วในระหว่างการอภิปราย กล่าวคือ เว้นเสียแต่ว่า เราจะเป็นพวกประโยชน์นิยม(Unitarianism)  เราย่อมเชื่อว่า สิทธิส่วนบุคคลจะถูกละเมิดไม่ได้เลยเป็นอันขาด 

          ดังนั้น คำถามก็คือ ในกรณีนี้สิทธิส่วนบุคคลถูกละเมิดหรือไม่? เมื่อเธอถูกปฏิเสธจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส  โดยที่คำปฏิเสธนั้นอ้างประโยชน์ส่วนรวมและสังคม ตามภารกิจที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสกำหนดขึ้นเอง—สิทธิส่วนบุคคลของนางสาวฮ็ปวูด ถูกละเมิดหรือไม่?

          ก็เธอมีสิทธิ-มิใช่หรือ? คนเราสมควรที่จะได้รับการพิจารณา ตามขีดความสามารถ ตามความสำเร็จ และตามความเพียรของเรา-มิใช่หรือ?  สิทธิในครรลองนี้กำลังถูกละเมิดหรือเปล่า?

          คำตอบ คือ ไม่-เธอไม่มีสิทธิ  ไม่มีใครมี “ความชอบธรรม” ที่จะได้รับการคัดเลือก และประเด็นนี้ก็นำเรากลับไปยังเรื่อง ความชอบธรรม(deserts) กับ การมีสิทธิ(entitlement) นางสาวฮ็ปวูด ไม่มีความชอบธรรมที่จะได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์ใด ๆ ที่เธอเชื่อเอาเองว่าสำคัญ รวมทั้งเกณฑ์ที่เกี่ยวกับผลสำเร็จและความเพียรของเธอ

          ศ.แซนเดล ตั้งคำถามว่า เพราะเหตุไรเธอจึงไม่มีความชอบธรรม ที่จะได้รับการคัดเลือก?  ซึ่งศ.แซนเดล เห็นว่า สิ่งที่แฝงเร้นอยู่ในการอ้างเหตุผลเรื่องความชอบธรรม/ไม่ชอบธรรมในการบรรยายตอนนี้นั้น จะคล้ายกับการปฏิเสธเรื่องความชอบธรรม ของรอลส์ ที่ว่า “ความชอบธรรม ไม่ใช่พื้นฐานของความยุติธรรม ในการจัดสรรทรัพยากร”

          ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นิยามพันธกิจหรือภารกิจของมหาวิทยาลัยขึ้นมาแล้ว  หลังจากนั้นก็จะออกแบบนโยบายการคัดเลือกนักศึกษาให้สอดคล้องกับภารกิจดังกล่าว  คนที่ มีสิทธิ ได้ที่นั่งเรียนในมหาวิทยาลัย จะได้แก่ บุคคลที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับนโยบายคัดเลือกนั้น

          ศ.แซนเดล สรุปว่า (เวลาวีดีโอ 24:55)

But according to this argument, no one deserves that Harvard college defined its mission and designed its admission criteria, in the first place, in a way that prizes the qualities they happen to have in abundance whether those qualities are test scores or grades or the ability to play the piano or be a good middle line backer or to come from Iowa or to come from a certain minority group.

คำแปล: แต่ ตามครรลองการให้เหตุผลแนวนี้ ในเบื้องต้น-จะไม่มีใครที่สามารถอ้างความชอบธรรมได้ว่า ฮาร์วาร์ด จะต้องนิยามพันธกิจและออกแบบเกณฑ์การรับนักศึกษา ให้สอดคล้องกับคุณสมบัติที่ตน(ผู้สมัคร)มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคะแนนทดสอบ ผลการเรียน หรือการเล่นเปียนโน หรือการเป็นนักฟุตบอล หรือการที่มาจากรัฐไอโอวา หรือมาจากกลุ่มวัฒนธรรมย่อยกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด     

          หมายความว่า ไม่มีใครหรอก ที่จะ “ทรงความชอบธรรมมาแต่ต้น” จนทำให้ฮาร์วาร์ดต้องเขียนนโยบายและออกกฏเกณฑ์คัดเลือกนักศึกษา ให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของตนเอง  เพราะฉะนั้น ศ.แซนเดล จึงชี้ให้นักศึกษาฟังว่า ในที่สุดแล้วการอภิปรายเรื่องการต่อแต้ม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความหลากหลาย ก็จะนำเรา วกกลับไปยังข้อปรัชญาเรื่อง สิทธิ  ซึ่ง สิทธิ ก็นำเราวนกลับไปหาปัญหาปรัชญาที่ว่า...

          ความชอบธรรม/คุณความดี(moral deserts) เป็น หรือ ไม่เป็น  พื้นฐานของความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร?

          ซึ่งจะได้อภิปรายกันต่อไป ในการบรรยายคราวหน้า และศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาไปลองขบคิดข้อปรัชญาข้อนี้ ระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์

---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 09/12 part 1  การให้เหตุผลเรื่องการต่อแต้ม                                                                                 

ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 09/12 เชิญตามลิงก์ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น