อะริสโตเติล
แนะนำว่าเราต้องตีความ “การเมือง” ให้แตกเสียก่อนว่า “telos” หรือ “วัตถุประสงค์” หรือ
“ธาตุแท้” ของการเมือง คือ อะไร
แล้วเราจึงค่อยหันไปพิจารณาว่า ผู้ใด จะพึงเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง
----------------------------------------------------
พลเมืองที่ดี คือ อย่างไร
Episode 10 part 1
อะริสโตเติล ผู้เห็นต่าง
หลังจากที่ได้ศึกษาทฤษฎี
หรือ“หลัก”ความยุติธรรมสมัยใหม่ ซึ่งพยายามแยกเรื่องความยุติธรรมกับเรื่องสิทธิ
ออกจากเรื่อง 1)คุณสมบัติ
(moral deserts) กับ 2)คุณธรรม(virtues) แล้ว ศ.แซนเดลก็ได้นำนักศึกษามาพบกับแนวคิดของอะริสโตเติล
ซึ่งเป็นนักคิดผู้ไม่เห็นด้วย กับหลักความยุติธรรมสมัยใหม่ของอาจารย์คานต์และอาจารย์รอลส์
ทั้งนี้ โดยที่อะริสโตเติลเห็นว่า
ความยุติธรรม ได้แก่ การมอบอะไรให้แก่ผู้ใด ตามคุณสมบัติ(moral deserts) และตามคุณธรรม(virtues) ของผู้นั้น
อย่างไรก็ดี นักปราชญ์ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกันว่า
เรื่องของความยุติธรรมนั้นคือเรื่องที่ว่าคนเสมอกัน ควรที่จะได้รับไปเท่า ๆ
กัน แต่ประเด็นที่เห็นต่างกันอยู่ที่ว่า เท่ากันในเรื่องอะไร?
ประเด็นนี้ อะริสโตเติล เห็นว่า
การพิจารณาเรื่องความยุติธรรมนั้น เราจะต้องคำนึงถึง “telos” อ่านว่า ทีโลส หรือวัตถุประสงค์ หรือธรรมชาติ หรือ ธาตุแท้ – ของสิ่งที่จะถูกนำมาจัดสรรแบ่งปัน โดยที่ telos จะมีความสำคัญเป็นตัวกำหนดเกณฑ์แห่งความยุติธรรม
ยกตัวอย่างเช่น ตามวัตถุประสงค์ หรือตามธรรมชาติ หรือตามธาตุแท้ของขลุ่ยแล้ว ขลุ่ยมีไว้เป่า ดังนั้น ขลุ่ยที่ดีที่สุดก็ควรที่จะตกแก่คนเป่าขลุ่ยที่มีฝีมือที่สุด
เพราะว่าการจัดสรรตามแนวนี้ เท่ากับเป็นการให้เกียรติ ให้การยอมรับ ให้คุณค่า แก่ฝีมือการเป่าขลุ่ย(เพราะ
ขลุ่ยมีไว้เป่า)
อีกนัยหนึ่ง
เป็นวิธีให้เกียรติหรือให้รางวัลต่อ คุณสมบัติ/คุณงามความดี/คุณธรรม อันได้แก่ ฝีมือเป่าขลุ่ยขั้นเทพ
แต่ว่า
การพยายามจะหาเหตุผลชนิด teological reasoning (-ของ อะริสโตเติล)
ให้แก่สถาบันสังคมและวิธีทำงานการเมือง ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หน้าที่ บริหารราชการแผ่นดิน ไม่ได้เข้าใจง่ายเหมือนการ
เป่าขลุ่ย และตำแหน่งหน้าที่ในงานการเมืองหนึ่งตำแหน่ง
ก็ไม่ใช่ขลุ่ยหนึ่งเลา
ศ.แซนเดล
ยกตัวอย่างสองเรื่อง ตัวอย่างแรกที่ อะริสโตเติล อภิปรายไว้กว้างขวาง คือ
ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองควรจะจัดสรรแบ่งปันอย่างไร กับตัวอย่างที่สอง ศ.แซนเดล ยกเรื่องกอล์ฟขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์
กล่าวคือ สมาคมกอล์ฟอาชีพในสหรัฐฯ ควรอนุญาตให้นักกอล์ฟพิการ-นายเคซี มาร์ติน เข้าแข่งขันกอล์ฟอาชีพ
ด้วยการนั่งรถกอล์ฟในสนาม แทนที่จะต้องเดินเหมือนคนอื่น ๆ หรือไม่?
เมื่อถึงคราวที่เรายก
“telos” หรือวัตถุประสงค์ของตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ขึ้นพิเคราะห์ บางครั้ง เราก็ตกลงกันไม่ได้ว่า สาระสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานดังกล่าวนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง
การอภิปรายจะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะปรัชญาความยุติธรรมในการจัดสรรแบ่งปัน(distributive
justice) หรือไม่ได้จำกัดอยู่กับหลักการที่ว่า ใคร ควรได้ อะไร
แต่การพิจารณาตามแนว
อะริสโตเติล จะคลุมประเด็นเรื่อง “เกียรติ” ด้วย – ในแง่ที่ว่า คุณสมบัติใด ขีดความสามารถชนิดใดของตัวบุคคล
ที่ควรได้รับการยกย่องให้เกียรติ ศ.แซนเดล
ขนานนามปัญหานี้ของอะริสโตเติลว่า “honorific question”
ศ.แซนเดล
สรุปว่า ทุกวันนี้เวลาที่เราคิดเรื่องความยุติธรรมในการกระจาย จัดสรร แบ่งปัน(distributive
justice) เรามุ่งประเด็นการแบ่งปันเกี่ยวกับ:
รายได้ ทรัพย์สิน และโอกาสในชีวิต เป็นหลัก
สำหรับปรัชญาความยุติธรรมในการจัดสรรแบ่งปัน(distributive
justice)ของอะริสโตเติล กลับไม่ได้มองเรื่อง รายได้ ทรัพย์สิน
และโอกาสในชีวิต แต่จะเน้นพิจารณาเรื่อง “ตำแหน่งหน้าที่ในงานเมือง”
และ “การได้รับเกียรติ” ว่า ใคร พึงมีสิทธิ
จะขึ้นมาปกครองผู้อื่น? ใครพึงเป็นพลเมืองของรัฐ? ตำแหน่งทางการเมืองพึงจัดสรรไปอย่างไร?
เพื่อที่เราจะตีประเด็นนี้ให้แตก
อะริสโตเติล แนะนำว่า เราก็ต้องตี การเมือง ให้แตกเสียก่อนว่า “telos”
หรือ “วัตถุประสงค์” หรือ “ธาตุแท้” ของการเมือง คือ อะไร? แล้วเราจึงค่อยหันไปพิจารณาว่า ผู้ใดจะพึงเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง
คำถามระดับปฐมภูมิ – What is politics
about?
คำถามระดับปฐมภูมิ
จึงมีว่า What is politics about?
หรือ เนื้อหาของการเมืองเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร? (เวลาวีดีโอ
5:50) อะริสโตเติล
ตอบว่าการเมืองเป็นเรื่องการสร้างนิสัย การอบรมบ่มเพาะนิสัยดี ๆ การเมืองเป็นเรื่องของการปลูกฝังคุณธรรม-คุณงามความดีในหมู่พลเมือง
และการเมืองเป็นเรื่องของ ชีวิตที่ดี
(the good life)
ดังนั้น
“telos” ของการเมือง หรือจุดหมายปลายทาง(วัตถุประสงค์
หรือธาตุแท้)ของชุมชนการเมืองนั้น อะริสโตเติล บอกว่า ได้แก่การสำแดงให้ปรากฏในชีวิตจริง
ไม่จำเพาะแต่เรื่องความมั่นคงในชีวิต เรื่องการทำมาหากิน เรื่องการค้าการขาย แต่การเมือง—จะต้องเป็นหนทางที่จะสำแดงให้ปรากฏถึงชีวิตจริง
อันเป็นชีวิตที่ดี(the good life)
ศ.แซนเดล
ตั้งข้อสังเกตว่า นักศึกษาคงจะเห็นแล้วว่า มิน่าเล่า--ทำไมนักคิดสมัยใหม่จึงไม่เห็นด้วยกับอะริสโตเติล
เพราะทั้งอาจารย์คานต์และอาจารย์รอลส์ คนทั้งคู่เห็นว่า วัตถุประสงค์ของการเมือง
ไม่ใช่การอบรมบ่มเพาะให้คนเป็นคนดี การเมืองไม่ใช่การพยายามทำให้คนเป็นคนดี แต่การเมืองเป็นเรื่องของ การเคารพสิทธิเสรีภาพของคน
เพื่อที่เขาจะได้เลือกเอาเองว่า อย่างไรคือคุณธรรมความดี อะไรคือชีวิตที่ดี อะไรคือ
“ดี” ทั้งนี้โดยไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นให้เขาเสียเสรีภาพ/อิสรภาพ
ซึ่งประเด็นนี้
อะริสโตเติล ไม่เห็นด้วย (เวลาวีดีโอ7:17) โดย อะริสโตเติล มีความเห็นต่าง
ว่า
“บ้านเมืองใด ๆ ก็ดี ที่สมกับเป็นบ้านเป็นเมือง
ไม่ได้เพียงเป็น บ้านเมืองแต่ชื่อ
จะต้องดำรงไว้
ซึ่งเป้าประสงค์
ที่จะส่งเสริม
คุณธรรมความดี
หาไม่แล้ว
ลักษณะการอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเป็นเมืองนั้น ๆ
ก็จะถอยจมลง มีสภาพเพียงแค่ การรวมการเฉพาะกิจ”
-อะริสโตเติล
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ว่า: “Any
polis which is truly so called,
and
is not merely one in name, must
devote
itself to the end of
encouraging
goodness. Otherwise,
political association sinks into a
mere alliance.”
-Aristotle
[หมายเหตุของผู้สรุปภาคภาษาไทย
– คำพูดของ อะริสโตเติล น่าจะยังทันสมัยดีอยู่ ท่านผู้อ่านรู้สึกบ้างไหมว่า คำพูดคำนี้ชวนให้เรานึกถึง
“rogue states” อันได้แก่ประชาคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นชาติบ้านเมือง
แต่จริง ๆ แล้ว-ไม่ใช่ หรืออาจจะชวนให้เรานึกถึงประเทศในนิยาย
เช่น พาราสาวัตถี ในเรื่องพระไชยสุริยา
ของ สุนทรภู่ เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าน่าจะเข้าข่าย rogue state – หรืออย่างน้อย ๆ คำพูดนี้ของ อะริสโตเติล ก็ชี้ให้เราเห็นว่า
การอยู่ด้วยกันเป็นชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ มาตั้งแต่สมัยกรีกโน่นแล้วล่ะ
ม่ายงั้น อะริสโตเติล แกคงไม่ตั้งประเด็นขึ้นมาพูดหรอก --เอ๊ะ หรือว่ายังงัย?]
และ อะริสโตเติล ยังเห็นต่อไปอีกว่า
“กฎหมาย ก็จะมีฐานะเพียงกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษร
คอยประกันสิทธิ ไม่ให้มนุษย์เบียดเบียนกันเอง
แทนที่ จะเป็นสิ่งที่กฎหมายควรจะเป็น คือเป็นวิถีชีวิต
เป็นคลองธรรมของชีวิต
ชนิดที่จะทำให้สมาชิกในบ้านเมือง
เป็นคนดี และเป็นคนยุติธรรม”
อะริสโตเติล
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ว่า: “Law
becomes a mere covenant, a
guarantor of man’s rights against
one another, instead of being –
as it should be – a way of life such
as will make the members of a polis
good and just.”
Aristotle
แล้ว อะริสโตเติล
ก็วาด “บ้านเมือง”(polis) ในมโนนึกของตน ว่า
“บ้านเมือง จึงไม่ใช่เพียงแค่ชุมชน
ที่มารวมกัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือรวมตัวกัน
เพื่อป้องกันความอยุติธรรม อันอาจเกิดขึ้นได้ในหมู่เหล่า
หรือรวมกัน เพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง
วัตถุประสงค์ของบ้านเมือง
คืออยู่ร่วมกันเพื่อจะได้มีชีวิตที่ดี และสถาบันต่าง ๆ ทางสังคมเป็นหนทาง(means)
อันจักนำไปสู่จุดหมายปลายทาง(ends)ที่จะทำให้คน ได้มีชีวิตที่ดี(good
life)”
อะริสโตเติล
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ว่า: “A
polis is not an association for
residents on a common site, or for
the sake of preventing mutual
injustice and easing exchange.
The end and purpose of a polis is
the good life, and the institutions of
social life are means to that end.”
Aristotle
[ข้อสังเกตของผู่สรุปภาษาไทย
– จากคำพูดเหล่านี้ อาจทำให้เรานึกสงสัยว่า บางที อะริสโตเติล
แกอาจจะหงุดหงิดกับคนในนครรัฐกรีกโบราณ มิใช่น้อย? แกอาจจะเซ็งพอ ๆ กับที่ ขงจื้อ
รู้สึกไม่พอใจลักษณะการอยู่ร่วมกันของคนจีนยุคโบราณ? ขณะที่ในลุ่มน้ำยมุนา-คงคา กลับเสนอปรัชญาอีกแบบหนึ่ง
คือให้มองเข้ามาภายในตนเป็นหลัก หรือถ้าจะเป็นจักรวรรดินิยม-ก็ต้องมาพร้อมกับค็อนเส็ป
พระมหา“ธรรมราชา” โดยที่จักรวาทินจะต้องเป็นกงล้อ “ธรรมจักร” ไม่ใช่กงล้อรถรบแบบที่เราเห็นในหนังแขกเรื่อง
มหาภารตะ? แต่นั่นแหละ
ถ้าเราคลิกดูหนังแขกอีกรอบ เราก็จะเห็นว่า เขาก็แสดงธรรมกันอยู่บนรถรบ ไม่เชื่อก็ลองคลิกดูใหม่เด่ะ--เขาไม่ได้นั่งธรรมมาสน์
นะจะขอบอก เขาแสดงธรรมกันบนรถรบ และทุกวันนี้รถถังที่อินเดียผลิตขึ้นใช้เอง
ที่เป็นรถถังหลักของกองทัพบกอินเดีย ก็ตั้งชื่อตามตัวละครเอกในเรื่องมหามหาภารตะ
ว่ารถถัง “อรชุน”]
เมื่อทราบแล้วว่า
- การเมืองคืออะไร เราก็จะอ้างอิงถ่ายทอด
ตีออกมาได้ว่า หลักความยุติธรรมในการแบ่งปัน จัดสรร ตำแหน่งทางการเมือง และเกียรติ
– ควรจะเป็นอย่างไร? บุคคลเช่นไร? คือ ผู้ที่ควรจะมีเสียงใหญ่ในทางการเมือง และถือได้ว่าเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางการเมือง(เวลาวีดีโอ
8:18)
ต่อปริศนานี้
อะริสโตเติล ตอบว่า ผู้ที่ มีส่วนร่วมมากที่สุด ในการอยู่ร่วมกันเพื่อชีวิตที่ดี พวกเขาเหล่านั้นพึงมีเสียงใหญ่ในทางการเมือง และพึงได้รับเกียรติ ทั้งนี้เพราะบุคคลเช่นนั้น พวกเขาอยู่ในฐานะที่จะ
“ให้ได้มากที่สุด” =ontribute most (8:47) ต่อจุดหมายปลายทางของ การเมืองเพื่อชีวิตที่ดี
สรุปว่า
อะริสโตเติล เห็นว่า ชาวนครรัฐกรีกจะมีชีวิตที่ดีได้ ก็ด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมือง ศ.แซนเดล อวตารเข้านั่งในใจนักศึกษาแล้วตั้งคำถามว่า
“พวกคุณบางคนอาจนึกสงสัยว่า ทำไม อะริสโตเติล
จึงลงความเห็นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมือง
เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะได้มีชีวิตที่ดี
คนเราจะมีชีวิตที่งดงามและดี โดยไม่ต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ได้หรือ?”
(9:30)
คนเราจะมีชีวิตที่งดงามและดี
โดยไม่ต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ได้หรือ?”
คำตอบจาก
อะริสโตเติล มีสองประการ คือ 1) คนเราจะมีชีวิตเต็มตามธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์
เขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในนครรัฐ(ในบ้านเมือง) และมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะว่า ในการเมืองเท่านั้น
ที่คนเราจะมีโอกาสได้ใช้ขีดความสามารถของมนุษย์ คือ การได้ ใช้ภาษา เพื่ออภิปรายว่า
อะไรถูกอะไรผิด อะไรยุติธรรมอะไรไม่ยุติธรรม อะไรดีอะไรชั่ว
มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่สมบูรณ์อยู่ในตัวเอง
ที่จะอยู่ได้คนเดียวโดดเดี่ยว อยู่นอกชุมชนการเมือง (เช่น อยู่นอกหมู่บ้านที่มีระเบียบการปกครอง
- a political community) มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ ก็เฉพาะแต่ในชุมชนการเมืองเท่านั้น
“คนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว
ผู้ไม่
อาจรับแบ่งปันผลดี
อันเกิดจากการสมาคมทางการเมือง
หรือเป็นผู้ไม่มีความจำเป็น
ที่จะรับแบ่งปัน
ด้วยเหตุที่เขาเป็นคนสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง
บุคคลเช่นนั้น ถ้าไม่ใช่เดรัจฉาน
ก็คงเป็น เทวดา”
อะริสโตเติล
เวลาวีดีโอ 10:50
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ว่า:
“A man who
is isolated, who is
unable
to share in the benefits of
political
association, or who has
no
need to share, because he’s
already
self-sufficient, such a
person
must be either a beast or a god.”
Aristotle
ทำไมหรือ
มนุษย์จึงจะมีโอกาสได้ใช้ขีดความสามารถด้าน ภาษา อย่างเต็มที่ ก็เฉพาะในสังคมการเมือง?
คำตอบจาก
อะริสโตเติล ประการที่สองมีว่า 2) การได้อภิปรายลงรายละเอียดในประเด็นการเมือง-political
deliberation การได้มีชีวิตทางการเมืองในฐานะพลเมือง การมีส่วนเข้าไปปกครองและถูกปกครอง เหล่านี้จำเป็นต่อ “คุณงามความดี-virtue” ความสุขไม่ใช่มีความสุขสันหรรษามากกว่ามีความทุกข์
แต่ความสุขเป็นกิจกรรมของจิตวิญญาณตามครรลองของ
คุณงามความดี
อะริสโตเติลเห็นว่า
ผู้ศึกษาการเมือง ต้องศึกษาเรื่องจิตวิญญาณ เพราะวัตถุประสงค์ประการหนึ่งของกฎหมายในบ้านเมืองที่ดี
ก็คือ การอบรมบ่มเพาะจิตวิญญาณ
ทำไม
เราต้องมีชีวิตอยู่ในบ้านเมืองที่ดี และมีส่วนร่วมกับการเมือง
เราจึงจะมีชีวิตที่ดีได้?
เราจะมีชีวิตที่ดีด้วยการนั่งศึกษาเอาจากตำรับตำราไม่ได้หรือ? อะริสโตเติลตอบว่า ไม่ได้ เพราะคุณงามความดี ชีวิตที่ดี เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์
คือ ต้องปฏิบัติ ต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ ไม่ใช่เรียนจากตำราเพียงอย่างเดียว การปฏิบัติบูชาคือทางของ อะริสโตเติล
เพราะฉะนั้น
ก็จะคล้ายกับการเป่าขลุ่ย
ไม่มีใครเล่นดนตรีด้วยเครื่องดนตรีชนิดใดได้ ด้วยการนั่งอ่านตำรา พ่อครัวคงไม่เป็นพ่อครัวฝีมือดีด้วยการนั่งอ่านตำหรับกับข้าว
หรือคนเล่าเรื่องขำขันคงจะเป็นดาวตลกเดี่ยวไมโครโฟนไม่ได้ เพียงแค่นั่งศึกษาทฤษฎีการเล่าเรื่องชวนหัว
เขาจะต้องลงมือทำ และ เรียนรู้จากการทำ
เรียนรู้จากการทำ
คืออย่างไร? ที่เวลาวีดีโอประมาณ 15:20 ศ.แซนเดล กล่าวว่า
การเป็นนักดนตรีก็ดี เป็นดาวตลกก็ดี หรือเป็นพ่อครัวก็ดี ในเรื่องเหล่านี้การเรียนรู้จากการลงมือทำ
ก็คือ รู้จักที่จะ discerning the particular features of a situation ซึ่งผู้เขียนคำสรุปภาษาไทย เห็นว่า น่าจะแปลว่า “รู้จักจับประเด็น” และ อะริสโตเติล เห็นว่านั่นคือหนทางแห่งคุณงามความดี
ด้วย
ศ.แซนเดล
ตั้งคำถามว่า แล้วเรื่องนี้ การรู้จักจับประเด็น เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร?
สรุปคำตอบ
ตามความคิด อะริสโตเติล ได้ว่า ทางเดียวที่เราจะได้มาซึ่งคุณงามความดี—อันเป็นองค์ประกอบของชีวิตที่ดี—ก็คือ
ได้ฝึกฝนการอภิปรายกับพลเมืองด้วยกัน ถึงแก่นแท้ของความดี และการอภิปรายดังกล่าวนั้น ก็คือเนื้อหาโดยแท้ของการเมือง แล้วการทรงคุณงามความดีทางแพ่ง อันได้แก่ การรู้จักที่จะอภิปรายจับประเด็นระหว่างพลเมืองด้วยกันถึงธรรมชาติ(แก่นแท้)ของความดี
เป็นเรื่องที่เราไม่อาจจะกระทำได้--ถ้าเรามีชีวิตโดดเดี่ยวอยู่นอกการเมือง
เพื่อที่เราจะได้เป็นคนเต็มคน
เราก็จะต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง
บุคคลผู้ทรงคุณงามความดีทางแพ่ง-civil virtue –
จึงเป็นบุคคลผู้น่าที่จะอยู่ในฐานะที่จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพึงได้รับเกียรติจากบ้านเมือง
ในที่สุด
เราจะเห็นว่า การหาเหตุผลเรื่องการจัดสรรตำแหน่ง หรือการกระจายแบ่งปันตำแหน่งบริหารบ้านเมือง
และการให้เกียรติในบ้านเมือง จึงเป็นการให้เหตุผลในสไตล์ teological โดยที่มีเรื่องของเกียรติเข้ามาเกี่ยว
เพราะว่าส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองก็คือ การหาทางกลั่นกรอง เพื่อให้เกียรติแก่คนที่ทรงคุณงามความดีทางแพ่ง
เช่น เพอริคลิส(Pericles) เป็นต้น (เขาเป็น รัฐบุรุษคนดังของกรีกโบราณ) เขาควรที่จะได้รับตำแหน่งสูงทางการเมือง
และมีเสียงใหญ่ในบ้านเมือง เพราะเขามีคุณงามความดีทางแพ่ง มีวิจารณญาณที่ดี อันจะนำมาซึ่งผลดีต่อพลเมืองทั้งปวง
และทรงปัญญาในทางปฏิบัติ – practical wisdom เนื่องจากการเมืองเป็นกระบวนการหาทางให้เกียรติคนผู้ทรงคุณงามความดีทางแพ่ง
เขาจึงสมควรได้รับเกียรติด้วยประการฉะนี้
ปรับทฤษฎีอะริสโตเติล เข้ากับการเล่นกอล์ฟ
ศ.แซนเดล
ทบทวนให้นักศึกษาฟังว่า ทฤษฎีความยุติธรรมของอะริสโตเติล นำไปสู่การอภิปรายกรณีปัจจุบันเกี่ยวกับการเล่นกอล์ฟ
ของนักกอล์ฟพิการ นายเคซี มาร์ติน
ทั้งนี้โดยที่
ด้านหนึ่ง--เป็นการให้เหตุผลเรื่องความยุติธรรมกับสิทธิ และในอีกด้านหนึ่ง--เป็นการพยายามกำหนดรู้ถึงแก่น
และวัตถุประสงค์ของธรรมเนียมปฏิบัติของสังคม/บ้านเมือง
การสาธกดังกล่าวนี้
สามารถแสดงได้กระจ่าง ด้วยคดีขอใช้รถกอล์ฟในสนามกอล์ฟ ของนายเคซี มาร์ติน
ซึ่งมุมมองด้านหนึ่งได้แก่
ประเด็นเรื่องแก่นกับวัตถุประสงค์ของธรรมเนียมการเล่นกอล์ฟ-ว่า การเล่นกอล์ฟ คือ อะไร? กับมุมมองในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นเรื่องคุณสมบัติ(คุณงามความดี)ที่ควรได้รับการให้เกียรติในการเล่นกอล์ฟ-ว่า
คืออะไร (เวลาวีดีโอประมาณ 17:53)
คดีนี้ขึ้นถึงศาลฎีกา(ศาลสูงสุด)สหรัฐฯ ที่นายเคซี
มาร์ติน นักกอล์ฟพิการ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสมาคมพีจีเอ ซึ่งเป็นผู้กำกับควบคุมการแข่งขันกอล์ฟรายการหนึ่ง
ในสหรัฐฯ ด้วยเหตุที่สมาคมฯบอกปัดคำขออนุญาตใช้รถกอล์ฟ
ในระหว่างการแข่งขันกอล์ฟ คดีนั้นทำให้เกิดการอภิปรายถึงวัตถุประสงค์ของการเล่นกอล์ฟ
(คือ teology ของการเล่นกอล์ฟ คือ อะไร) กับประเด็นที่ว่า
ความสามารถที่จะเดินในสนามกอล์ฟ เป็นสิ่งจำเป็นต่อเกมกอล์ฟ (คือเป็น virtue)ใช่หรือไม่?
เมื่อ
ศ.แซนเดล สอบถามในชั้นเรียน ผลปรากฏว่านักศึกษาส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ นาย เคซี
มาร์ติน ใช้รถกอล์ฟในสนามกอล์ฟได้ ศ.แซนเดล จึงขอให้แต่ฝ่ายลุกขึ้นอภิปรายแสดงเหตุผล ซึ่งนักศึกษาทั้งสองฝ่ายก็แสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง
ในที่สุด
ศ.แซนเดล สรุปประเด็นทิ้งท้ายเป็นคำถาม ว่า กอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องการความสมบูรณ์ของร่างกายเหมือนกับ
บาสเกตบอล ฟุตบอล และเบสบอล ใช่หรือไม่? หรือว่ากอล์ฟไม่ได้มีสาระสำคัญแห่งการเป็นกีฬาแต่อย่างไดเลย
แต่ว่า--กอล์ฟมีลักษณะเป็น “เกม”
ชนิดหนึ่งคล้าย ๆ กับบิลเลียด คือ ลูกบอลอยู่นิ่ง ๆ กับที่
แล้วคนพยายามทำให้มันไปลงรู คนร่างกายไม่สมประกอบก็อาจเล่นบิลเลียดได้ดี การเดินไม่ใช่สาระสำคัญของการเล่นเกมบิลเลียด กอล์ฟจะเข้าข่ายเดียวกันนี้หรือเปล่า?
ประเด็นนี้
ศ.แซนเดล จะได้วิสัชนาต่อไปในการบรรยายคราวหน้า
---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 10/12 part 1 พลเมืองที่ดี
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน
ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 10 เชิญตามลิงก์ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น