open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

HV10/12 part 2 จะยึดหลักเสรีภาพ หรือ จะใช้หลักความเหมาะสม

นักศึกษาหญิงผู้หนึ่งอภิปรายว่า สมมติว่าเธอมีธาตุแท้เหมาะสมที่จะเป็นภารโรง แต่เธอไม่ต้องการจะเป็นภารโรง  ซึ่งถ้าถือตาม อะริสโตเติล เธอก็จะทำอาชีพอื่นไม่ได้ เธอต้องทำงานภารโรง  ฉะนี้แล้ว จะไม่แปลว่าเธอขาดสิทธิเสรีภาพในชีวิต(individual right)      ละหรือ?

----------------------------------------------------

จะยึดหลักเสรีภาพ หรือจะใช้หลักความเหมาะสม
Episode 10 part 2

          อะริสโตเติล เสนอว่า ความยุติธรรมในการจัดสรรตำแหน่งหน้าที่การงานในบ้านเมืองนั้น  เรามีวิธีพิจารณาแยกเป็นสองประเด็น คือ กิจกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์อะไร  หรือมีธาตุแท้อะไร เป็นการให้เหตุผลแบบ teological reasoning – คือหาแก่น หรือแก่นสาร หาหัวใจของกิจกรรมให้ได้เสียก่อน  แล้วค่อยพิจารณาว่า ใคร บุคคลเช่นไร พึงได้รับเกียรติให้เข้ามารับตำแหน่ง

          ศ.แซนเดล ได้ยกตัวอย่างคดีดัง กรณีนายเคซี มาร์ติน นักกอล์ฟพิการยื่นฟ้ององค์การพีจีเอ ผู้กำกับดูแลการแข่งกอล์ฟมืออาชีพรายการหนึ่งในสหรัฐฯ  เพราะองค์กรนั้นไม่ยอมให้เขานั่งรถกอล์ฟเข้าแข่งขัน คดีนี้ขึ้นถึงศาลฎีกา(ศาลสูงสุด)สหรัฐฯ

          นักศึกษาลุกขึ้นอภิปรายเรื่องนี้  ด้วยการพิจารณาว่า อะไรคือ telos หรือวัตถุประสงค์ หรือจุดหมายปลายทาง หรือหัวใจ หรือธาตุแท้ของการเล่นกอล์ฟ  เพื่อขมวดลงสู่ประเด็นที่ว่า อะไรคือสาระสำคัญของการเล่นกอล์ฟกันแน่ -- ระหว่างการเดินในสนาม กับ การเหวี่ยงไม้กอล์ฟ: walking the court  vs.  swinging the club  

          ต่อจากนั้น ก็อภิปรายประเด็นที่สองตามปรัชญา teology ของ อะริสโตเติล คือ ใครควรได้รับเกียรติ – หมายความว่าได้รับรางวัลจากการแข่งขัน 

          คดีนี้ นักกอล์ฟมืออาชีพคนดังในอดีตหลายคน เช่น แจค นิคลอส เป็นต้น  ถูกศาลเชิญมาแสดงความคิดเห็น  ศ.แซนเดลชี้ประเด็นของคดีนี้ว่า ถ้าจะอนุญาตให้นั่งรถกอล์ฟเข้าแข่งได้ – นักกอล์ฟผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้นได้แสดงความหวั่นใจว่า การเล่นกอล์ฟจริง ๆ แล้วเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง-เหมือนฟุตบอล บาสเกตบอล หรือเปล่า?  หรือว่าเป็นเพียงเกมใช้ทักษะอย่างเดียว-เหมือนบิลเลียด  a sport or a skill game? (เวลาวีดีโอ 35:00)

          ผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐฯ อันเป็นตำแหน่งตัดสินความที่น่าเกรงขามในแผ่นดินสหรัฐฯ ผู้พิพากษาที่มีนามว่า อันโตนิน สกาเลีย  เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้  แสดงเหตุผลว่า (เวลาวีดีโอ 37:13)

                   “It is the very nature of a game to
                   have no object except amusement
                   (that is what distinguishes games
                   from productive activity).”

                                                Justice Antonin Scalia

                   “ธรรมชาติ ของประเพณี(เกม)การละเล่น คือ
                   เกมการละเล่นจะไม่มีวัตถุประสงค์อื่น นอกจากเพื่อความสนุกสนาน
                   (และนั่นคือประเด็น ที่แยกเกมการละเล่น
                   ออกจากกิจกรรมการผลิต)”

                                                ผู้พิพากษาศาลสูง นายอันโตนิน สกาเลีย

[หมายเหตุของผู้เขียนสรุปภาษาไทย- ผู้พิพากษา อันโตนิน สกาเลีย เคยเป็นอาจารย์กฎหมายที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย และที่มหาวิทยาลัยชิคาโก นอกเหนือจากประสบการณ์หน้าที่การงานอื่น ๆ ด้านกฎหมาย ท่านผู้นี้มีประวัติการตัดสินความที่ศาลฎีกา โดยเขียนคำพิพากษา ในแนวอนุรักษ์นิยม  ท่านผู้นี้ไม่เห็นด้วย กับนโยบายการต่อแต้มในระบบการศึกษาของอเมริกัน  สไตล์การเขียนคำพิพากษาของท่าน ค่อนข้างจิกกัด เฉียบขาด แหลมคม  การเป็นคนเชื้อสายอิตาลีของท่านนั้น ก็ไม่ใช่อิตาลีธรรมดา บรรพบุรุษของท่านมาจากเกาะซิชิลี อันเป็นดงมาเฟีย]

          ซึ่งความเห็นของผู้พิพากษา อันโตนิน สกาเลีย  ศ.แซนเดล ชี้ว่าเข้าข่ายแอนตี้ปรัชญา อะริสโตเติล ที่เกี่ยวกับ “เกม” หรือประเพณีปฏิบัติในสังคม-บ้านเมือง  ผู้พิพากษาสกาเลียเห็นว่าการเดินในสนาม ไม่ใช่สาระสำคัญของการเล่นกอล์ฟ  

          ศ.แซนเดล วิจารณ์ว่า ผู้พิพากษา สกาเลีย พลาดในการชี้สาระสำคัญของเกมการละเล่น เพราะท่านผู้พิพากษามองว่า เกมการละเล่น การกีฬา และเกมการแข่งขันที่ใช้กำลังกายทั้งหลาย  ล้วนแล้วแต่กระทำกันเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นการมองตามปรัชญาประโยชน์นิยม เพียงถ่ายเดียว

          แต่ตามครรลองของ อะริสโตเติล  การกีฬาไม่ได้เป็นไปเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น  แต่เกี่ยวข้องกับความนิยมยกย่องบางสิ่งบางอย่างด้วย  ประชาชนผู้ติดตามกีฬา ผู้เห็นคุณค่าของการกีฬา และผู้เล่นกีฬา ต่างรู้ข้อความจริงนี้  หรือจะกล่าวอีกลักษณะหนึ่ง ก็ได้ว่า การกีฬา  กับ การมหรสพ นั้น  แตกต่างกัน (sport  vs.  spectacle)

          ทั้งนี้เพราะ การกีฬา เป็นการฝึกฝนตนเอง ที่เรียกร้องต้องการ และให้ความนิยมยกย่อง-ให้คุณค่า-กับขีดความสามารถอันเป็นเลิศบางอย่างบางประการ  และคุณสมบัติ/คุณงามความดีบางอย่างบางประการดังกล่าว  ผู้คนที่นิยมยกย่องคุณงามความดี(หรือคุณสมบัติ)ชนิดนั้น ๆ คือ แฟนพันธ์แท้หรือแฟนผู้รู้ซึ้ง  แฟนพันธ์แท้ชมกีฬามิใช่เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเพียงสถานเดียว  แต่เขาชมเพื่อชื่นชมกับความเป็นเลิศในคุณสมบัติเฉพาะอย่าง บางประการนั้นด้วย

          ดังนั้น ประเด็นนี้บ่งว่า การอภิปรายเพื่อแสวงหา ว่าสาระสำคัญของการกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งคืออะไร  จึงเข้าข่ายเป็นการหาเหตุผลที่สมเหตุสมผล  เพราะเราอาจกำหนดรู้ได้ว่า หัวใจของกีฬาชนิดใดคืออะไร เช่น ในการประชุมภายในขององค์กรพีจีเอเอง ก็จะสามารถกำหนดออกมาได้ว่า แก่นแท้ของกอล์ฟคืออะไร เป็นต้น

          เพราะฉะนั้น องค์กรพีจีเอ ถึงได้แสดงความกังวล และยืนยันความเห็นของตนว่า การเดินในสนาม ด้วยตนเอง  ตลอดจนความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอันเกิดจากการเดินในสนาม เป็นองค์ประกอบสำคัญของการกีฬากอล์ฟ  มิใช่เป็นแค่ปัจจัยปลีกย่อย

          ศ.แซนเดล ปรารถนาจะให้นักศึกษาได้ช่วยกันคิดพิจารณา ว่า ทฤษฎีความยุติธรรมของอะริสโตเติล ถูกหรือผิด น่ารับฟังหรือไม่น่ารับฟัง  โดยที่ศ.แซนเดล เกริ่นให้ก่อนว่าท่านเห็นว่าเรื่องสำคัญที่เราน่าจะประท้วงอะริสโตเติล ก็คือ ถ้าความยุติธรรมเกี่ยวข้องกับความเหมาะสม - “fit” – คือเป็นเรื่องของการบรรจุคนที่เหมาะสม ลงในบทบาท เป็นรายการจับคู่ ที่จัดให้คุณงามความดี(คุณสมบัติของบุคคล)ได้รับเกียรติ ได้รับการยกย่อง อย่างเหมาะสมแล้วล่ะก้อ เสรีภาพจะยังมีอยู่หรือไม่?  ตามความคิดลักษณะนั้น เสรีภาพจะมีพื้นที่สถิตอยู่ที่ไหน? 

          ถ้าหากว่า บทบาททางสังคมบางบทบาทเหมาะสมกับตัวเรา วัตถุประสงค์ของชีวิตเราก็ควรที่จะเป็นตามนั้น  แล้วปรัชญา teology ของ อะริสโตเติล จะไม่ขัดกับหลัก เสรีภาพ ละหรือ?  ถ้าหากว่า ชีวิตคนจะต้องดำเนินไปตามธาตุแท้ของชีวิต? 

          อาจารย์ รอลส์ ปฏิเสธความยุติธรรมตามหลัก teology ของ อะริสโตเติล ก็เพราะเห็นว่า จะเป็นภัยคุกคาม ต่อสิทธิอันเสมอภาคกันของพลเมือง (คือ ทุกคนเสมอภาคกัน ที่จะไปทางไหนก็ได้ ไม่ใช่จะต้องถูกผูกไว้กับ teological reasoning  หรือชีวิตถูกบังคับด้วยธาตุแท้ของชีวิต และ ความเหมาะสม)

          ประเด็นนี้ แสดงออกชัดเจนด้วยการที่ อะริสโตเติล เห็นชอบกับการมีทาส  ซึ่งเป็นธรรมเนียมในกรุงเอเธนส์ยุคนั้น  อะริสโตเติล บอกว่าในบ้านเมืองก็ควรที่จะมีทาสไว้ใช้ ภายใต้เงื่อนไขสองประการ คือ ประการที่หนึ่ง-เหตุผลด้านความจำเป็นในบ้านเมือง กล่าวคือประชาชนชาวเอเธนส์จะต้องมีเวลาว่าง มาอภิปรายกำหนดความเป็นไปในบ้านเมือง หรือมาทำงานการเมือง  เพราะฉะนั้น ประชาชนก็จำเป็นจะต้องหาคนมาช่วยทำงานบ้าน  ถ้าประชาชนมัวแต่กวาดบ้านถูบ้าน ทำกับข้าว และซักผ้ากันอยู่  หรือมัวแต่ทำงานก่อสร้าง อยู่ในเล้าเลี้ยงไก่ครบวงจร  หรืออยู่กับสายพานการผลิตอาหารกระป๋อง  ใครจะมาเอาใจใส่เรื่องบ้านเรื่องเมือง? 

          เหตุผลประการที่สอง-ก็คือ คนบางคนนั้น ธรรมชาติธาตุแท้ หรือ telos หรือวัตถุประสงค์ หรือจุดหมายปลายทาง หรือหัวใจของชีวิตเขานั้น ได้แก่ ความเป็นทาส  เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ต้องยอมให้เขาตกเป็นทาส  อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นปรากฏว่า คนบางคนมาเป็นทาส ไม่ใช่เพราะธาตุแท้ของเขาต้องเป็นทาส  ยุคสมัยนั้น-มีพวกทาสจำนวนหนึ่งที่ต้องตกเป็นทาสแก่เอเธนส์ เพราะตัวเองตกเป็นเมืองขึ้น เสียบ้านเสียเมืองถูกกวาดต้อนมา ไม่ใช่เพราะว่าธาตุแท้ของตนเหมาะที่จะเป็นทาส  อะริสโตเติล ยอมรับข้อเท็จจริงและความเป็นจริงดังกล่าวนั้น ว่า--จริงด้วย คนบางคนไม่ได้มีธาตุแท้แห่งความเป็นทาส แต่ถูกบังคับให้เป็นทาส(coersion)

          นักศึกษาหญิงผู้หนึ่งอภิปรายว่า สมมติว่า เธอมีธาตุแท้เหมาะสมที่จะเป็นภารโรง แต่เธอไม่ต้องการจะเป็นภารโรง  ซึ่งถ้าถือตาม อะริสโตเติล เธอก็จะทำอาชีพอื่นไม่ได้ เธอต้องทำงานภารโรง  ฉะนี้แล้ว จะไม่แปลว่าเธอขาดสิทธิเสรีภาพในชีวิต(individual right) ละหรือ?

          นักศึกษาชายคนหนึ่งชื่อ แพททริค อภิปรายว่า ตัวอย่างเรื่องการใช้รถกอล์ฟในสนามกอล์ฟ ทำให้เขาไม่เห็นด้วยกับการให้เหตุผลแบบ teological reasoning  เขาเชื่อว่าการเดินในสนามไม่ใช่สาระสำคัญของการเล่นกอล์ฟ  เขาเห็นว่าการคิดแบบ อะริสโตเติล จะไม่ช่วยให้เราตกลงอะไรกันได้  ไม่เอื้ออำนวยต่อการไปถึงข้อตกลง 

          ประเด็นนี้-ศ.แซนเดลเห็นด้วย โดยได้กล่าวทบทวน ย้อนเรื่องการพิจารณาว่าอะไรคือธาตุแท้ของการเล่นกอล์ฟ  ซึ่งการอภิปรายปมประเด็น ก็ไม่ใช่จะตกลงกันได้ง่าย ๆ  ศ.แซนเดล กล่าวว่า แล้วถ้าเป็นเรื่องการบ้านการเมือง ผลได้ผลเสียและเดิมพัน จะสูงและซับซ้อนกว่าเรื่องการเล่นกอล์ฟ  เราจะตกลงกันได้อย่างไรว่า การอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมือง มีธาตุแท้ หรือมีวัตถุประสงค์ หรือมีที่สุดแห่งที่สุดของการอยู่ร่วมกัน เป็นอะไร? 

          ศ.แซนเดล สรุปว่า ก็ในเมื่อเราตกลงกันไม่ได้ว่า ธาตุแท้ หรือวัตถุประสงค์ หรือจุดหมายปลายทาง หรือชีวิตที่ดี ของการมาอยู่เป็นบ้านเมืองของเราคืออะไร  ฉะนี้แล้ว เราก็จะวางรากฐานเรื่องความยุติธรรม และเรื่องสิทธิ ลงไว้กับการเมืองได้อย่างไร?

          ศ.แซนเดล กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้นี่เอง ที่ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ส่วนมาก จึงได้ยอมรับข้อวิตกเรื่องการตกลงกันยากนี้--มาตั้งแต่จุดเริ่มต้น แล้วลงความเห็นว่า ทั้งรื่องความยุติธรรม เรื่องสิทธิ และเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่พึงวางอยู่กับแนวคิดเรื่องธาตุแท้ หรือวัตถุประสงค์ ของการมาอยู่เป็นบ้านเมือง แบบใดแบบหนึ่งแบบเดียว โดยเฉพาะ

          แต่.....ควรที่จะทำเพียง วางกรอบเรื่องสิทธิ โดย เปิดโอกาส ให้ผู้คนเลือกเอาเอง ว่าทางชีวิตที่ดี และวัตถุประสงค์แห่งชีวิตตน คืออะไร เช่น ตามที่นักศึกษาหญิงคนหนึ่งอภิปรายว่า ถ้าธาตุแท้ของตนเองเหมาะที่จะเป็นภารโรง แต่ว่าตัวเองไม่ต้องการเช่นนั้น ตัวเองกลับปรารถนาวิถีชีวิตแบบอื่น จะให้เธอทำอย่างไร?  ประเด็นนี้นำเราย้อนกลับไปเรื่องเสรีภาพ  ว่าเอาเข้าจริง ๆ ตัวเราเองมิใช่หรือ ที่จะต้องเป็นคนกำหนดชีวิตตัวเอง ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะกับตน? 

          ศ.แซนเดล กล่าวสรุปการบรรยายว่า ประเด็นนี้ทำให้เราย้อนกลับไปหาการเผชิญหน้ากัน ระหว่าง อะริสโตเติล-ฝ่ายหนึ่ง กับ อจ.รอลส์และคานต์-อีกฝ่ายหนึ่ง  โดยที่ทั้งรอลส์และคานต์มีเหตุผลที่ดีว่า เนื่องจากผู้คนในสังคมหลายหมู่เหล่า ตกลงกันไม่ได้ว่าชีวิตที่ดีมีธาตุแท้หรือวัตถุประสงค์อันเป็นที่สุด ว่าอย่างไร  เราจึงไม่ควรอิงความยุติธรรมอยู่กับชีวิตที่ดีแนวใดแนวหนึ่งเพียงแนวเดียว นักปรัชญาทั้งสองจึงได้ปฏิเสธ teology ของ อะริสโตเติล

          ข้อด้อย ของปรัชญาแสวงหาธาตุแท้(teological reasoning)นั้น รอลส์กับคานต์ เห็นว่า

1) ถ้าคุณผูกความยุติธรรม ไว้กับธาตุแท้ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือชีวิตที่ดีสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง  หรือ
2) ถ้าคุณเห็นว่าความยุติธรรม เป็นเรื่องความเหมาะสม - “fit” - ระหว่างบุคคลกับตำแหน่ง/บทบาทของเขา

          ซึ่งก็จะหมายความว่า คุณไม่เว้นช่องไว้ให้แก่ เสรีภาพ  แล้วการที่คนจะมีอิสระเสรีได้นั้น ชีวิตเขาจะต้องไม่ขึ้นต่อบทบาทเดิม ๆ ใด ๆ หรือขนบธรรมเนียมใด ๆ หรือความเชื่อใด ๆ ที่บิดามารดาหรือสังคม กำหนดให้มา

          ในที่สุดแล้ว เพื่อที่เราจะตัดสินได้ว่า แนวทางกว้าง ๆ สองแนวนี้ แนวไหนเป็นฝ่ายถูก - อะริสโตเติล ถูก  หรือว่าคานต์กับรอลส์ ถูก  เราจำต้องวิเคราะห์ดูว่า 1) “สิทธิ” มาก่อน “ความดี” ใช่หรือไม่?  2) เสรีชน-คนที่มีเสรีภาพ มนุษย์อิสระ หรือคนที่ปลอดพันธะศิลธรรม คือคนเช่นไร?  ศ.แซนเดล จะได้บรรยายสองประเด็นนี้ ในตอนต่อไป

---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 10/12 part 2 จะยึดหลักเสรีภาพ หรือจะใช้หลักความเหมาะสม
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 10 เชิญตามลิงก์ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น