open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

HV10/12 part 2 จะยึดหลักเสรีภาพ หรือ จะใช้หลักความเหมาะสม

นักศึกษาหญิงผู้หนึ่งอภิปรายว่า สมมติว่าเธอมีธาตุแท้เหมาะสมที่จะเป็นภารโรง แต่เธอไม่ต้องการจะเป็นภารโรง  ซึ่งถ้าถือตาม อะริสโตเติล เธอก็จะทำอาชีพอื่นไม่ได้ เธอต้องทำงานภารโรง  ฉะนี้แล้ว จะไม่แปลว่าเธอขาดสิทธิเสรีภาพในชีวิต(individual right)      ละหรือ?

----------------------------------------------------

จะยึดหลักเสรีภาพ หรือจะใช้หลักความเหมาะสม
Episode 10 part 2

          อะริสโตเติล เสนอว่า ความยุติธรรมในการจัดสรรตำแหน่งหน้าที่การงานในบ้านเมืองนั้น  เรามีวิธีพิจารณาแยกเป็นสองประเด็น คือ กิจกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์อะไร  หรือมีธาตุแท้อะไร เป็นการให้เหตุผลแบบ teological reasoning – คือหาแก่น หรือแก่นสาร หาหัวใจของกิจกรรมให้ได้เสียก่อน  แล้วค่อยพิจารณาว่า ใคร บุคคลเช่นไร พึงได้รับเกียรติให้เข้ามารับตำแหน่ง

          ศ.แซนเดล ได้ยกตัวอย่างคดีดัง กรณีนายเคซี มาร์ติน นักกอล์ฟพิการยื่นฟ้ององค์การพีจีเอ ผู้กำกับดูแลการแข่งกอล์ฟมืออาชีพรายการหนึ่งในสหรัฐฯ  เพราะองค์กรนั้นไม่ยอมให้เขานั่งรถกอล์ฟเข้าแข่งขัน คดีนี้ขึ้นถึงศาลฎีกา(ศาลสูงสุด)สหรัฐฯ

          นักศึกษาลุกขึ้นอภิปรายเรื่องนี้  ด้วยการพิจารณาว่า อะไรคือ telos หรือวัตถุประสงค์ หรือจุดหมายปลายทาง หรือหัวใจ หรือธาตุแท้ของการเล่นกอล์ฟ  เพื่อขมวดลงสู่ประเด็นที่ว่า อะไรคือสาระสำคัญของการเล่นกอล์ฟกันแน่ -- ระหว่างการเดินในสนาม กับ การเหวี่ยงไม้กอล์ฟ: walking the court  vs.  swinging the club  

          ต่อจากนั้น ก็อภิปรายประเด็นที่สองตามปรัชญา teology ของ อะริสโตเติล คือ ใครควรได้รับเกียรติ – หมายความว่าได้รับรางวัลจากการแข่งขัน 

          คดีนี้ นักกอล์ฟมืออาชีพคนดังในอดีตหลายคน เช่น แจค นิคลอส เป็นต้น  ถูกศาลเชิญมาแสดงความคิดเห็น  ศ.แซนเดลชี้ประเด็นของคดีนี้ว่า ถ้าจะอนุญาตให้นั่งรถกอล์ฟเข้าแข่งได้ – นักกอล์ฟผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้นได้แสดงความหวั่นใจว่า การเล่นกอล์ฟจริง ๆ แล้วเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง-เหมือนฟุตบอล บาสเกตบอล หรือเปล่า?  หรือว่าเป็นเพียงเกมใช้ทักษะอย่างเดียว-เหมือนบิลเลียด  a sport or a skill game? (เวลาวีดีโอ 35:00)

          ผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐฯ อันเป็นตำแหน่งตัดสินความที่น่าเกรงขามในแผ่นดินสหรัฐฯ ผู้พิพากษาที่มีนามว่า อันโตนิน สกาเลีย  เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้  แสดงเหตุผลว่า (เวลาวีดีโอ 37:13)

                   “It is the very nature of a game to
                   have no object except amusement
                   (that is what distinguishes games
                   from productive activity).”

                                                Justice Antonin Scalia

                   “ธรรมชาติ ของประเพณี(เกม)การละเล่น คือ
                   เกมการละเล่นจะไม่มีวัตถุประสงค์อื่น นอกจากเพื่อความสนุกสนาน
                   (และนั่นคือประเด็น ที่แยกเกมการละเล่น
                   ออกจากกิจกรรมการผลิต)”

                                                ผู้พิพากษาศาลสูง นายอันโตนิน สกาเลีย

[หมายเหตุของผู้เขียนสรุปภาษาไทย- ผู้พิพากษา อันโตนิน สกาเลีย เคยเป็นอาจารย์กฎหมายที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย และที่มหาวิทยาลัยชิคาโก นอกเหนือจากประสบการณ์หน้าที่การงานอื่น ๆ ด้านกฎหมาย ท่านผู้นี้มีประวัติการตัดสินความที่ศาลฎีกา โดยเขียนคำพิพากษา ในแนวอนุรักษ์นิยม  ท่านผู้นี้ไม่เห็นด้วย กับนโยบายการต่อแต้มในระบบการศึกษาของอเมริกัน  สไตล์การเขียนคำพิพากษาของท่าน ค่อนข้างจิกกัด เฉียบขาด แหลมคม  การเป็นคนเชื้อสายอิตาลีของท่านนั้น ก็ไม่ใช่อิตาลีธรรมดา บรรพบุรุษของท่านมาจากเกาะซิชิลี อันเป็นดงมาเฟีย]

          ซึ่งความเห็นของผู้พิพากษา อันโตนิน สกาเลีย  ศ.แซนเดล ชี้ว่าเข้าข่ายแอนตี้ปรัชญา อะริสโตเติล ที่เกี่ยวกับ “เกม” หรือประเพณีปฏิบัติในสังคม-บ้านเมือง  ผู้พิพากษาสกาเลียเห็นว่าการเดินในสนาม ไม่ใช่สาระสำคัญของการเล่นกอล์ฟ  

          ศ.แซนเดล วิจารณ์ว่า ผู้พิพากษา สกาเลีย พลาดในการชี้สาระสำคัญของเกมการละเล่น เพราะท่านผู้พิพากษามองว่า เกมการละเล่น การกีฬา และเกมการแข่งขันที่ใช้กำลังกายทั้งหลาย  ล้วนแล้วแต่กระทำกันเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นการมองตามปรัชญาประโยชน์นิยม เพียงถ่ายเดียว

          แต่ตามครรลองของ อะริสโตเติล  การกีฬาไม่ได้เป็นไปเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น  แต่เกี่ยวข้องกับความนิยมยกย่องบางสิ่งบางอย่างด้วย  ประชาชนผู้ติดตามกีฬา ผู้เห็นคุณค่าของการกีฬา และผู้เล่นกีฬา ต่างรู้ข้อความจริงนี้  หรือจะกล่าวอีกลักษณะหนึ่ง ก็ได้ว่า การกีฬา  กับ การมหรสพ นั้น  แตกต่างกัน (sport  vs.  spectacle)

          ทั้งนี้เพราะ การกีฬา เป็นการฝึกฝนตนเอง ที่เรียกร้องต้องการ และให้ความนิยมยกย่อง-ให้คุณค่า-กับขีดความสามารถอันเป็นเลิศบางอย่างบางประการ  และคุณสมบัติ/คุณงามความดีบางอย่างบางประการดังกล่าว  ผู้คนที่นิยมยกย่องคุณงามความดี(หรือคุณสมบัติ)ชนิดนั้น ๆ คือ แฟนพันธ์แท้หรือแฟนผู้รู้ซึ้ง  แฟนพันธ์แท้ชมกีฬามิใช่เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเพียงสถานเดียว  แต่เขาชมเพื่อชื่นชมกับความเป็นเลิศในคุณสมบัติเฉพาะอย่าง บางประการนั้นด้วย

          ดังนั้น ประเด็นนี้บ่งว่า การอภิปรายเพื่อแสวงหา ว่าสาระสำคัญของการกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งคืออะไร  จึงเข้าข่ายเป็นการหาเหตุผลที่สมเหตุสมผล  เพราะเราอาจกำหนดรู้ได้ว่า หัวใจของกีฬาชนิดใดคืออะไร เช่น ในการประชุมภายในขององค์กรพีจีเอเอง ก็จะสามารถกำหนดออกมาได้ว่า แก่นแท้ของกอล์ฟคืออะไร เป็นต้น

          เพราะฉะนั้น องค์กรพีจีเอ ถึงได้แสดงความกังวล และยืนยันความเห็นของตนว่า การเดินในสนาม ด้วยตนเอง  ตลอดจนความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอันเกิดจากการเดินในสนาม เป็นองค์ประกอบสำคัญของการกีฬากอล์ฟ  มิใช่เป็นแค่ปัจจัยปลีกย่อย

          ศ.แซนเดล ปรารถนาจะให้นักศึกษาได้ช่วยกันคิดพิจารณา ว่า ทฤษฎีความยุติธรรมของอะริสโตเติล ถูกหรือผิด น่ารับฟังหรือไม่น่ารับฟัง  โดยที่ศ.แซนเดล เกริ่นให้ก่อนว่าท่านเห็นว่าเรื่องสำคัญที่เราน่าจะประท้วงอะริสโตเติล ก็คือ ถ้าความยุติธรรมเกี่ยวข้องกับความเหมาะสม - “fit” – คือเป็นเรื่องของการบรรจุคนที่เหมาะสม ลงในบทบาท เป็นรายการจับคู่ ที่จัดให้คุณงามความดี(คุณสมบัติของบุคคล)ได้รับเกียรติ ได้รับการยกย่อง อย่างเหมาะสมแล้วล่ะก้อ เสรีภาพจะยังมีอยู่หรือไม่?  ตามความคิดลักษณะนั้น เสรีภาพจะมีพื้นที่สถิตอยู่ที่ไหน? 

          ถ้าหากว่า บทบาททางสังคมบางบทบาทเหมาะสมกับตัวเรา วัตถุประสงค์ของชีวิตเราก็ควรที่จะเป็นตามนั้น  แล้วปรัชญา teology ของ อะริสโตเติล จะไม่ขัดกับหลัก เสรีภาพ ละหรือ?  ถ้าหากว่า ชีวิตคนจะต้องดำเนินไปตามธาตุแท้ของชีวิต? 

          อาจารย์ รอลส์ ปฏิเสธความยุติธรรมตามหลัก teology ของ อะริสโตเติล ก็เพราะเห็นว่า จะเป็นภัยคุกคาม ต่อสิทธิอันเสมอภาคกันของพลเมือง (คือ ทุกคนเสมอภาคกัน ที่จะไปทางไหนก็ได้ ไม่ใช่จะต้องถูกผูกไว้กับ teological reasoning  หรือชีวิตถูกบังคับด้วยธาตุแท้ของชีวิต และ ความเหมาะสม)

          ประเด็นนี้ แสดงออกชัดเจนด้วยการที่ อะริสโตเติล เห็นชอบกับการมีทาส  ซึ่งเป็นธรรมเนียมในกรุงเอเธนส์ยุคนั้น  อะริสโตเติล บอกว่าในบ้านเมืองก็ควรที่จะมีทาสไว้ใช้ ภายใต้เงื่อนไขสองประการ คือ ประการที่หนึ่ง-เหตุผลด้านความจำเป็นในบ้านเมือง กล่าวคือประชาชนชาวเอเธนส์จะต้องมีเวลาว่าง มาอภิปรายกำหนดความเป็นไปในบ้านเมือง หรือมาทำงานการเมือง  เพราะฉะนั้น ประชาชนก็จำเป็นจะต้องหาคนมาช่วยทำงานบ้าน  ถ้าประชาชนมัวแต่กวาดบ้านถูบ้าน ทำกับข้าว และซักผ้ากันอยู่  หรือมัวแต่ทำงานก่อสร้าง อยู่ในเล้าเลี้ยงไก่ครบวงจร  หรืออยู่กับสายพานการผลิตอาหารกระป๋อง  ใครจะมาเอาใจใส่เรื่องบ้านเรื่องเมือง? 

          เหตุผลประการที่สอง-ก็คือ คนบางคนนั้น ธรรมชาติธาตุแท้ หรือ telos หรือวัตถุประสงค์ หรือจุดหมายปลายทาง หรือหัวใจของชีวิตเขานั้น ได้แก่ ความเป็นทาส  เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ต้องยอมให้เขาตกเป็นทาส  อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นปรากฏว่า คนบางคนมาเป็นทาส ไม่ใช่เพราะธาตุแท้ของเขาต้องเป็นทาส  ยุคสมัยนั้น-มีพวกทาสจำนวนหนึ่งที่ต้องตกเป็นทาสแก่เอเธนส์ เพราะตัวเองตกเป็นเมืองขึ้น เสียบ้านเสียเมืองถูกกวาดต้อนมา ไม่ใช่เพราะว่าธาตุแท้ของตนเหมาะที่จะเป็นทาส  อะริสโตเติล ยอมรับข้อเท็จจริงและความเป็นจริงดังกล่าวนั้น ว่า--จริงด้วย คนบางคนไม่ได้มีธาตุแท้แห่งความเป็นทาส แต่ถูกบังคับให้เป็นทาส(coersion)

          นักศึกษาหญิงผู้หนึ่งอภิปรายว่า สมมติว่า เธอมีธาตุแท้เหมาะสมที่จะเป็นภารโรง แต่เธอไม่ต้องการจะเป็นภารโรง  ซึ่งถ้าถือตาม อะริสโตเติล เธอก็จะทำอาชีพอื่นไม่ได้ เธอต้องทำงานภารโรง  ฉะนี้แล้ว จะไม่แปลว่าเธอขาดสิทธิเสรีภาพในชีวิต(individual right) ละหรือ?

          นักศึกษาชายคนหนึ่งชื่อ แพททริค อภิปรายว่า ตัวอย่างเรื่องการใช้รถกอล์ฟในสนามกอล์ฟ ทำให้เขาไม่เห็นด้วยกับการให้เหตุผลแบบ teological reasoning  เขาเชื่อว่าการเดินในสนามไม่ใช่สาระสำคัญของการเล่นกอล์ฟ  เขาเห็นว่าการคิดแบบ อะริสโตเติล จะไม่ช่วยให้เราตกลงอะไรกันได้  ไม่เอื้ออำนวยต่อการไปถึงข้อตกลง 

          ประเด็นนี้-ศ.แซนเดลเห็นด้วย โดยได้กล่าวทบทวน ย้อนเรื่องการพิจารณาว่าอะไรคือธาตุแท้ของการเล่นกอล์ฟ  ซึ่งการอภิปรายปมประเด็น ก็ไม่ใช่จะตกลงกันได้ง่าย ๆ  ศ.แซนเดล กล่าวว่า แล้วถ้าเป็นเรื่องการบ้านการเมือง ผลได้ผลเสียและเดิมพัน จะสูงและซับซ้อนกว่าเรื่องการเล่นกอล์ฟ  เราจะตกลงกันได้อย่างไรว่า การอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมือง มีธาตุแท้ หรือมีวัตถุประสงค์ หรือมีที่สุดแห่งที่สุดของการอยู่ร่วมกัน เป็นอะไร? 

          ศ.แซนเดล สรุปว่า ก็ในเมื่อเราตกลงกันไม่ได้ว่า ธาตุแท้ หรือวัตถุประสงค์ หรือจุดหมายปลายทาง หรือชีวิตที่ดี ของการมาอยู่เป็นบ้านเมืองของเราคืออะไร  ฉะนี้แล้ว เราก็จะวางรากฐานเรื่องความยุติธรรม และเรื่องสิทธิ ลงไว้กับการเมืองได้อย่างไร?

          ศ.แซนเดล กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้นี่เอง ที่ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ส่วนมาก จึงได้ยอมรับข้อวิตกเรื่องการตกลงกันยากนี้--มาตั้งแต่จุดเริ่มต้น แล้วลงความเห็นว่า ทั้งรื่องความยุติธรรม เรื่องสิทธิ และเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่พึงวางอยู่กับแนวคิดเรื่องธาตุแท้ หรือวัตถุประสงค์ ของการมาอยู่เป็นบ้านเมือง แบบใดแบบหนึ่งแบบเดียว โดยเฉพาะ

          แต่.....ควรที่จะทำเพียง วางกรอบเรื่องสิทธิ โดย เปิดโอกาส ให้ผู้คนเลือกเอาเอง ว่าทางชีวิตที่ดี และวัตถุประสงค์แห่งชีวิตตน คืออะไร เช่น ตามที่นักศึกษาหญิงคนหนึ่งอภิปรายว่า ถ้าธาตุแท้ของตนเองเหมาะที่จะเป็นภารโรง แต่ว่าตัวเองไม่ต้องการเช่นนั้น ตัวเองกลับปรารถนาวิถีชีวิตแบบอื่น จะให้เธอทำอย่างไร?  ประเด็นนี้นำเราย้อนกลับไปเรื่องเสรีภาพ  ว่าเอาเข้าจริง ๆ ตัวเราเองมิใช่หรือ ที่จะต้องเป็นคนกำหนดชีวิตตัวเอง ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะกับตน? 

          ศ.แซนเดล กล่าวสรุปการบรรยายว่า ประเด็นนี้ทำให้เราย้อนกลับไปหาการเผชิญหน้ากัน ระหว่าง อะริสโตเติล-ฝ่ายหนึ่ง กับ อจ.รอลส์และคานต์-อีกฝ่ายหนึ่ง  โดยที่ทั้งรอลส์และคานต์มีเหตุผลที่ดีว่า เนื่องจากผู้คนในสังคมหลายหมู่เหล่า ตกลงกันไม่ได้ว่าชีวิตที่ดีมีธาตุแท้หรือวัตถุประสงค์อันเป็นที่สุด ว่าอย่างไร  เราจึงไม่ควรอิงความยุติธรรมอยู่กับชีวิตที่ดีแนวใดแนวหนึ่งเพียงแนวเดียว นักปรัชญาทั้งสองจึงได้ปฏิเสธ teology ของ อะริสโตเติล

          ข้อด้อย ของปรัชญาแสวงหาธาตุแท้(teological reasoning)นั้น รอลส์กับคานต์ เห็นว่า

1) ถ้าคุณผูกความยุติธรรม ไว้กับธาตุแท้ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือชีวิตที่ดีสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง  หรือ
2) ถ้าคุณเห็นว่าความยุติธรรม เป็นเรื่องความเหมาะสม - “fit” - ระหว่างบุคคลกับตำแหน่ง/บทบาทของเขา

          ซึ่งก็จะหมายความว่า คุณไม่เว้นช่องไว้ให้แก่ เสรีภาพ  แล้วการที่คนจะมีอิสระเสรีได้นั้น ชีวิตเขาจะต้องไม่ขึ้นต่อบทบาทเดิม ๆ ใด ๆ หรือขนบธรรมเนียมใด ๆ หรือความเชื่อใด ๆ ที่บิดามารดาหรือสังคม กำหนดให้มา

          ในที่สุดแล้ว เพื่อที่เราจะตัดสินได้ว่า แนวทางกว้าง ๆ สองแนวนี้ แนวไหนเป็นฝ่ายถูก - อะริสโตเติล ถูก  หรือว่าคานต์กับรอลส์ ถูก  เราจำต้องวิเคราะห์ดูว่า 1) “สิทธิ” มาก่อน “ความดี” ใช่หรือไม่?  2) เสรีชน-คนที่มีเสรีภาพ มนุษย์อิสระ หรือคนที่ปลอดพันธะศิลธรรม คือคนเช่นไร?  ศ.แซนเดล จะได้บรรยายสองประเด็นนี้ ในตอนต่อไป

---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 10/12 part 2 จะยึดหลักเสรีภาพ หรือจะใช้หลักความเหมาะสม
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 10 เชิญตามลิงก์ครับ

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558

HV10/12 part 1 พลเมืองที่ดี คือ อย่างไร


อะริสโตเติล แนะนำว่าเราต้องตีความ “การเมือง” ให้แตกเสียก่อนว่า “telos” หรือ “วัตถุประสงค์”  หรือ “ธาตุแท้” ของการเมือง คือ อะไร  แล้วเราจึงค่อยหันไปพิจารณาว่า ผู้ใด จะพึงเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง

----------------------------------------------------

พลเมืองที่ดี คือ อย่างไร
Episode 10 part 1


อะริสโตเติล ผู้เห็นต่าง

          หลังจากที่ได้ศึกษาทฤษฎี หรือ“หลัก”ความยุติธรรมสมัยใหม่ ซึ่งพยายามแยกเรื่องความยุติธรรมกับเรื่องสิทธิ ออกจากเรื่อง 1)คุณสมบัติ (moral deserts) กับ 2)คุณธรรม(virtues) แล้ว  ศ.แซนเดลก็ได้นำนักศึกษามาพบกับแนวคิดของอะริสโตเติล ซึ่งเป็นนักคิดผู้ไม่เห็นด้วย กับหลักความยุติธรรมสมัยใหม่ของอาจารย์คานต์และอาจารย์รอลส์

          ทั้งนี้ โดยที่อะริสโตเติลเห็นว่า ความยุติธรรม ได้แก่ การมอบอะไรให้แก่ผู้ใด ตามคุณสมบัติ(moral deserts) และตามคุณธรรม(virtues) ของผู้นั้น

          อย่างไรก็ดี นักปราชญ์ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกนว่า เรื่องของความยุติธรรมนั้นคือเรื่องที่ว่าคนเสมอกัน ควรที่จะได้รับไปเท่า ๆ กัน  แต่ประเด็นที่เห็นต่างกันอยู่ที่ว่า เท่ากันในเรื่องอะไร? 

          ประเด็นนี้ อะริสโตเติล เห็นว่า การพิจารณาเรื่องความยุติธรรมนั้น  เราจะต้องคำนึงถึง “telos” อ่านว่า ทีโลส หรือวัตถุประสงค์ หรือธรรมชาติ หรือ ธาตุแท้ ของสิ่งที่จะถูกนำมาจัดสรรแบ่งปัน โดยที่ telos จะมีความสำคัญเป็นตัวกำหนดเกณฑ์แห่งความยุติธรรม ยกตัวอย่างเช่น ตามวัตถุประสงค์ หรือตามธรรมชาติ หรือตามธาตุแท้ของขลุ่ยแล้ว  ขลุ่ยมีไว้เป่า ดังนั้น ขลุ่ยที่ดีที่สุดก็ควรที่จะตกแก่คนเป่าขลุ่ยที่มีฝีมือที่สุด เพราะว่าการจัดสรรตามแนวนี้ เท่ากับเป็นการให้เกียรติ ให้การยอมรับ ให้คุณค่า แก่ฝีมือการเป่าขลุ่ย(เพราะ ขลุ่ยมีไว้เป่า)

          อีกนัยหนึ่ง เป็นวิธีให้เกียรติหรือให้รางวัลต่อ คุณสมบัติ/คุณงามความดี/คุณธรรม อันได้แก่ ฝีมือเป่าขลุ่ยขั้นเทพ

          แต่ว่า การพยายามจะหาเหตุผลชนิด teological reasoning (-ของ อะริสโตเติล) ให้แก่สถาบันสังคมและวิธีทำงานการเมือง ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  หน้าที่ บริหารราชการแผ่นดิน ไม่ได้เข้าใจง่ายเหมือนการ เป่าขลุ่ย  และตำแหน่งหน้าที่ในงานการเมืองหนึ่งตำแหน่ง ก็ไม่ใช่ขลุ่ยหนึ่งเลา 

          ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างสองเรื่อง ตัวอย่างแรกที่ อะริสโตเติล อภิปรายไว้กว้างขวาง คือ ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองควรจะจัดสรรแบ่งปันอย่างไร  กับตัวอย่างที่สอง ศ.แซนเดล ยกเรื่องกอล์ฟขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ กล่าวคือ สมาคมกอล์ฟอาชีพในสหรัฐฯ ควรอนุญาตให้นักกอล์ฟพิการ-นายเคซี มาร์ติน เข้าแข่งขันกอล์ฟอาชีพ ด้วยการนั่งรถกอล์ฟในสนาม แทนที่จะต้องเดินเหมือนคนอื่น ๆ หรือไม่?

          เมื่อถึงคราวที่เรายก “telos” หรือวัตถุประสงค์ของตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ขึ้นพิเคราะห์  บางครั้ง เราก็ตกลงกันไม่ได้ว่า สาระสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานดังกล่าวนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง  การอภิปรายจะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะปรัชญาความยุติธรรมในการจัดสรรแบ่งปัน(distributive justice) หรือไม่ได้จำกัดอยู่กับหลักการที่ว่า ใคร ควรได้ อะไร 

          แต่การพิจารณาตามแนว อะริสโตเติล จะคลุมประเด็นเรื่อง “เกียรติ” ด้วย – ในแง่ที่ว่า คุณสมบัติใด ขีดความสามารถชนิดใดของตัวบุคคล ที่ควรได้รับการยกย่องให้เกียรติ  ศ.แซนเดล ขนานนามปัญหานี้ของอะริสโตเติลว่า “honorific question”

          ศ.แซนเดล สรุปว่า ทุกวันนี้เวลาที่เราคิดเรื่องความยุติธรรมในการกระจาย จัดสรร แบ่งปัน(distributive justice)  เรามุ่งประเด็นการแบ่งปันเกี่ยวกับ: รายได้ ทรัพย์สิน และโอกาสในชีวิต เป็นหลัก 

          สำหรับปรัชญาความยุติธรรมในการจัดสรรแบ่งปัน(distributive justice)ของอะริสโตเติล กลับไม่ได้มองเรื่อง รายได้ ทรัพย์สิน และโอกาสในชีวิต  แต่จะเน้นพิจารณาเรื่อง “ตำแหน่งหน้าที่ในงานเมือง”  และ “การได้รับเกียรติ”  ว่า ใคร พึงมีสิทธิ จะขึ้นมาปกครองผู้อื่น? ใครพึงเป็นพลเมืองของรัฐ? ตำแหน่งทางการเมืองพึงจัดสรรไปอย่างไร?

          เพื่อที่เราจะตีประเด็นนี้ให้แตก อะริสโตเติล แนะนำว่า เราก็ต้องตี การเมือง ให้แตกเสียก่อนว่า “telos” หรือ “วัตถุประสงค์” หรือ “ธาตุแท้” ของการเมือง คือ อะไร?  แล้วเราจึงค่อยหันไปพิจารณาว่า ผู้ใดจะพึงเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง

คำถามระดับปฐมภูมิ – What is politics about?

          คำถามระดับปฐมภูมิ จึงมีว่า What is politics about?  หรือ เนื้อหาของการเมืองเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร? (เวลาวีดีโอ 5:50)  อะริสโตเติล ตอบว่าการเมืองเป็นเรื่องการสร้างนิสัย การอบรมบ่มเพาะนิสัยดี ๆ  การเมืองเป็นเรื่องของการปลูกฝังคุณธรรม-คุณงามความดีในหมู่พลเมือง  และการเมืองเป็นเรื่องของ ชีวิตที่ดี (the good life)  

          ดังนั้น “telos” ของการเมือง หรือจุดหมายปลายทาง(วัตถุประสงค์ หรือธาตุแท้)ของชุมชนการเมืองนั้น อะริสโตเติล บอกว่า ได้แก่การสำแดงให้ปรากฏในชีวิตจริง ไม่จำเพาะแต่เรื่องความมั่นคงในชีวิต เรื่องการทำมาหากิน เรื่องการค้าการขาย  แต่การเมือง—จะต้องเป็นหนทางที่จะสำแดงให้ปรากฏถึงชีวิตจริง อันเป็นชีวิตที่ดี(the good life)

          ศ.แซนเดล ตั้งข้อสังเกตว่า นักศึกษาคงจะเห็นแล้วว่า มิน่าเล่า--ทำไมนักคิดสมัยใหม่จึงไม่เห็นด้วยกับอะริสโตเติล เพราะทั้งอาจารย์คานต์และอาจารย์รอลส์ คนทั้งคู่เห็นว่า วัตถุประสงค์ของการเมือง ไม่ใช่การอบรมบ่มเพาะให้คนเป็นคนดี  การเมืองไม่ใช่การพยายามทำให้คนเป็นคนดี  แต่การเมืองเป็นเรื่องของ การเคารพสิทธิเสรีภาพของคน เพื่อที่เขาจะได้เลือกเอาเองว่า อย่างไรคือคุณธรรมความดี อะไรคือชีวิตที่ดี อะไรคือ “ดี”  ทั้งนี้โดยไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นให้เขาเสียเสรีภาพ/อิสรภาพ    

          ซึ่งประเด็นนี้ อะริสโตเติล ไม่เห็นด้วย (เวลาวีดีโอ7:17) โดย อะริสโตเติล มีความเห็นต่าง ว่า

          “บ้านเมืองใด ๆ ก็ดี ที่สมกับเป็นบ้านเป็นเมือง
          ไม่ได้เพียงเป็น บ้านเมืองแต่ชื่อ
          จะต้องดำรงไว้ ซึ่งเป้าประสงค์
          ที่จะส่งเสริม คุณธรรมความดี
          หาไม่แล้ว ลักษณะการอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเป็นเมืองนั้น ๆ 
          ก็จะถอยจมลง มีสภาพเพียงแค่ การรวมการเฉพาะกิจ”

-อะริสโตเติล

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ว่า:         “Any polis which is truly so called,
                                       and is not merely one in name, must
                                       devote itself to the end of
                                       encouraging goodness. Otherwise,
political association sinks into a
mere alliance.”
                                                   -Aristotle

[หมายเหตุของผู้สรุปภาคภาษาไทย – คำพูดของ อะริสโตเติล น่าจะยังทันสมัยดีอยู่  ท่านผู้อ่านรู้สึกบ้างไหมว่า คำพูดคำนี้ชวนให้เรานึกถึง “rogue states” อันได้แก่ประชาคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นชาติบ้านเมือง แต่จริง ๆ แล้ว-ไม่ใช่   หรืออาจจะชวนให้เรานึกถึงประเทศในนิยาย เช่น พาราสาวัตถี  ในเรื่องพระไชยสุริยา ของ สุนทรภู่ เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าน่าจะเข้าข่าย rogue state – หรืออย่างน้อย ๆ คำพูดนี้ของ อะริสโตเติล ก็ชี้ให้เราเห็นว่า การอยู่ด้วยกันเป็นชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ มาตั้งแต่สมัยกรีกโน่นแล้วล่ะ ม่ายงั้น อะริสโตเติล แกคงไม่ตั้งประเด็นขึ้นมาพูดหรอก --เอ๊ะ หรือว่ายังงัย?]


และ อะริสโตเติล ยังเห็นต่อไปอีกว่า

“กฎหมาย ก็จะมีฐานะเพียงกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษร
คอยประกันสิทธิ ไม่ให้มนุษย์เบียดเบียนกันเอง
แทนที่ จะเป็นสิ่งที่กฎหมายควรจะเป็น คือเป็นวิถีชีวิต เป็นคลองธรรมของชีวิต
ชนิดที่จะทำให้สมาชิกในบ้านเมือง
เป็นคนดี และเป็นคนยุติธรรม”

อะริสโตเติล

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ว่า:         “Law becomes a mere covenant, a                             
guarantor of man’s rights against
one another, instead of being –
as it should be – a way of life such
as will make the members of a polis
good and just.”

Aristotle


แล้ว อะริสโตเติล ก็วาด “บ้านเมือง”(polis) ในมโนนึกของตน ว่า

          “บ้านเมือง จึงไม่ใช่เพียงแค่ชุมชน
ที่มารวมกัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน  หรือรวมตัวกัน 
เพื่อป้องกันความอยุติธรรม อันอาจเกิดขึ้นได้ในหมู่เหล่า
หรือรวมกัน เพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง
วัตถุประสงค์ของบ้านเมือง
คืออยู่ร่วมกันเพื่อจะได้มีชีวิตที่ดี  และสถาบันต่าง ๆ ทางสังคมเป็นหนทาง(means)
อันจักนำไปสู่จุดหมายปลายทาง(ends)ที่จะทำให้คน ได้มีชีวิตที่ดี(good life)

อะริสโตเติล

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ว่า:         “A polis is not an association for
residents on a common site, or for
the sake of preventing mutual
injustice and easing exchange.
The end and purpose of a polis is
the good life, and the institutions of
social life are means to that end.”

Aristotle

[ข้อสังเกตของผู่สรุปภาษาไทย – จากคำพูดเหล่านี้ อาจทำให้เรานึกสงสัยว่า บางที อะริสโตเติล แกอาจจะหงุดหงิดกับคนในนครรัฐกรีกโบราณ มิใช่น้อย?  แกอาจจะเซ็งพอ ๆ กับที่ ขงจื้อ รู้สึกไม่พอใจลักษณะการอยู่ร่วมกันของคนจีนยุคโบราณ?  ขณะที่ในลุ่มน้ำยมุนา-คงคา กลับเสนอปรัชญาอีกแบบหนึ่ง คือให้มองเข้ามาภายในตนเป็นหลัก หรือถ้าจะเป็นจักรวรรดินิยม-ก็ต้องมาพร้อมกับค็อนเส็ป พระมหา“ธรรมราชา”  โดยที่จักรวาทินจะต้องเป็นกงล้อ “ธรรมจักร”  ไม่ใช่กงล้อรถรบแบบที่เราเห็นในหนังแขกเรื่อง มหาภารตะ?  แต่นั่นแหละ ถ้าเราคลิกดูหนังแขกอีกรอบ เราก็จะเห็นว่า เขาก็แสดงธรรมกันอยู่บนรถรบ  ไม่เชื่อก็ลองคลิกดูใหม่เด่ะ--เขาไม่ได้นั่งธรรมมาสน์ นะจะขอบอก เขาแสดงธรรมกันบนรถรบ  และทุกวันนี้รถถังที่อินเดียผลิตขึ้นใช้เอง ที่เป็นรถถังหลักของกองทัพบกอินเดีย ก็ตั้งชื่อตามตัวละครเอกในเรื่องมหามหาภารตะ ว่ารถถัง “อรชุน”]

          เมื่อทราบแล้วว่า - การเมืองคืออะไร  เราก็จะอ้างอิงถ่ายทอด ตีออกมาได้ว่า หลักความยุติธรรมในการแบ่งปัน จัดสรร ตำแหน่งทางการเมือง และเกียรติ – ควรจะเป็นอย่างไร?  บุคคลเช่นไร? คือ ผู้ที่ควรจะมีเสียงใหญ่ในทางการเมือง และถือได้ว่าเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางการเมือง(เวลาวีดีโอ 8:18)

          ต่อปริศนานี้ อะริสโตเติล ตอบว่า ผู้ที่ มีส่วนร่วมมากที่สุด ในการอยู่ร่วมกันเพื่อชีวิตที่ดี  พวกเขาเหล่านั้นพึงมีเสียงใหญ่ในทางการเมือง และพึงได้รับเกียรติ  ทั้งนี้เพราะบุคคลเช่นนั้น พวกเขาอยู่ในฐานะที่จะ “ให้ได้มากที่สุด” =ontribute most (8:47) ต่อจุดหมายปลายทางของ การเมืองเพื่อชีวิตที่ดี

          สรุปว่า อะริสโตเติล เห็นว่า ชาวนครรัฐกรีกจะมีชีวิตที่ดีได้ ก็ด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมือง  ศ.แซนเดล อวตารเข้านั่งในใจนักศึกษาแล้วตั้งคำถามว่า “พวกคุณบางคนอาจนึกสงสัยว่า ทำไม อะริสโตเติล จึงลงความเห็นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะได้มีชีวิตที่ดี  คนเราจะมีชีวิตที่งดงามและดี โดยไม่ต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ได้หรือ?” (9:30)

คนเราจะมีชีวิตที่งดงามและดี โดยไม่ต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ได้หรือ?”

          คำตอบจาก อะริสโตเติล มีสองประการ คือ  1) คนเราจะมีชีวิตเต็มตามธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ เขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในนครรัฐ(ในบ้านเมือง) และมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะว่า ในการเมืองเท่านั้น ที่คนเราจะมีโอกาสได้ใช้ขีดความสามารถของมนุษย์ คือ การได้ ใช้ภาษา เพื่ออภิปรายว่า อะไรถูกอะไรผิด อะไรยุติธรรมอะไรไม่ยุติธรรม อะไรดีอะไรชั่ว  

          มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่สมบูรณ์อยู่ในตัวเอง ที่จะอยู่ได้คนเดียวโดดเดี่ยว อยู่นอกชุมชนการเมือง (เช่น อยู่นอกหมู่บ้านที่มีระเบียบการปกครอง - a political community)  มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ ก็เฉพาะแต่ในชุมชนการเมืองเท่านั้น

“คนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ผู้ไม่
อาจรับแบ่งปันผลดี
อันเกิดจากการสมาคมทางการเมือง 
หรือเป็นผู้ไม่มีความจำเป็น ที่จะรับแบ่งปัน
ด้วยเหตุที่เขาเป็นคนสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง 
บุคคลเช่นนั้น ถ้าไม่ใช่เดรัจฉาน ก็คงเป็น เทวดา”

                                                อะริสโตเติล
                                                เวลาวีดีโอ 10:50
         
          ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ว่า:
                                      “A man who is isolated, who is
unable to share in the benefits of
political association, or who has
no need to share, because he’s
already self-sufficient, such a
person must be either a beast or a god.”

Aristotle  


          ทำไมหรือ มนุษย์จึงจะมีโอกาสได้ใช้ขีดความสามารถด้าน ภาษา อย่างเต็มที่  ก็เฉพาะในสังคมการเมือง?

          คำตอบจาก อะริสโตเติล ประการที่สองมีว่า 2) การได้อภิปรายลงรายละเอียดในประเด็นการเมือง-political deliberation  การได้มีชีวิตทางการเมืองในฐานะพลเมือง  การมีส่วนเข้าไปปกครองและถูกปกครอง  เหล่านี้จำเป็นต่อ “คุณงามความดี-virtue”  ความสุขไม่ใช่มีความสุขสันหรรษามากกว่ามีความทุกข์  แต่ความสุขเป็นกิจกรรมของจิตวิญญาณตามครรลองของ คุณงามความดี 

          อะริสโตเติลเห็นว่า ผู้ศึกษาการเมือง ต้องศึกษาเรื่องจิตวิญญาณ เพราะวัตถุประสงค์ประการหนึ่งของกฎหมายในบ้านเมืองที่ดี ก็คือ การอบรมบ่มเพาะจิตวิญญาณ

          ทำไม เราต้องมีชีวิตอยู่ในบ้านเมืองที่ดี และมีส่วนร่วมกับการเมือง เราจึงจะมีชีวิตที่ดีได้?  เราจะมีชีวิตที่ดีด้วยการนั่งศึกษาเอาจากตำรับตำราไม่ได้หรือ?  อะริสโตเติลตอบว่า ไม่ได้  เพราะคุณงามความดี ชีวิตที่ดี เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ คือ ต้องปฏิบัติ ต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ ไม่ใช่เรียนจากตำราเพียงอย่างเดียว  การปฏิบัติบูชาคือทางของ อะริสโตเติล

          เพราะฉะนั้น ก็จะคล้ายกับการเป่าขลุ่ย  ไม่มีใครเล่นดนตรีด้วยเครื่องดนตรีชนิดใดได้ ด้วยการนั่งอ่านตำรา  พ่อครัวคงไม่เป็นพ่อครัวฝีมือดีด้วยการนั่งอ่านตำหรับกับข้าว หรือคนเล่าเรื่องขำขันคงจะเป็นดาวตลกเดี่ยวไมโครโฟนไม่ได้ เพียงแค่นั่งศึกษาทฤษฎีการเล่าเรื่องชวนหัว เขาจะต้องลงมือทำ และ เรียนรู้จากการทำ

          เรียนรู้จากการทำ คืออย่างไร? ที่เวลาวีดีโอประมาณ 15:20 ศ.แซนเดล กล่าวว่า การเป็นนักดนตรีก็ดี เป็นดาวตลกก็ดี หรือเป็นพ่อครัวก็ดี  ในเรื่องเหล่านี้การเรียนรู้จากการลงมือทำ ก็คือ รู้จักที่จะ discerning the particular features of a situation ซึ่งผู้เขียนคำสรุปภาษาไทย เห็นว่า น่าจะแปลว่า “รู้จักจับประเด็น”  และ อะริสโตเติล เห็นว่านั่นคือหนทางแห่งคุณงามความดี ด้วย

          ศ.แซนเดล ตั้งคำถามว่า แล้วเรื่องนี้ การรู้จักจับประเด็น เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร?

          สรุปคำตอบ ตามความคิด อะริสโตเติล ได้ว่า ทางเดียวที่เราจะได้มาซึ่งคุณงามความดี—อันเป็นองค์ประกอบของชีวิตที่ดี—ก็คือ ได้ฝึกฝนการอภิปรายกับพลเมืองด้วยกัน ถึงแก่นแท้ของความดี  และการอภิปรายดังกล่าวนั้น ก็คือเนื้อหาโดยแท้ของการเมือง  แล้วการทรงคุณงามความดีทางแพ่ง อันได้แก่ การรู้จักที่จะอภิปรายจับประเด็นระหว่างพลเมืองด้วยกันถึงธรรมชาติ(แก่นแท้)ของความดี เป็นเรื่องที่เราไม่อาจจะกระทำได้--ถ้าเรามีชีวิตโดดเดี่ยวอยู่นอกการเมือง

          เพื่อที่เราจะได้เป็นคนเต็มคน เราก็จะต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง  บุคคลผู้ทรงคุณงามความดีทางแพ่ง-civil virtue – จึงเป็นบุคคลผู้น่าที่จะอยู่ในฐานะที่จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพึงได้รับเกียรติจากบ้านเมือง

          ในที่สุด เราจะเห็นว่า การหาเหตุผลเรื่องการจัดสรรตำแหน่ง หรือการกระจายแบ่งปันตำแหน่งบริหารบ้านเมือง และการให้เกียรติในบ้านเมือง จึงเป็นการให้เหตุผลในสไตล์ teological โดยที่มีเรื่องของเกียรติเข้ามาเกี่ยว  เพราะว่าส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองก็คือ การหาทางกลั่นกรอง เพื่อให้เกียรติแก่คนที่ทรงคุณงามความดีทางแพ่ง เช่น เพอริคลิส(Pericles) เป็นต้น  (เขาเป็น รัฐบุรุษคนดังของกรีกโบราณ) เขาควรที่จะได้รับตำแหน่งสูงทางการเมือง และมีเสียงใหญ่ในบ้านเมือง เพราะเขามีคุณงามความดีทางแพ่ง มีวิจารณญาณที่ดี อันจะนำมาซึ่งผลดีต่อพลเมืองทั้งปวง และทรงปัญญาในทางปฏิบัติ – practical wisdom  เนื่องจากการเมืองเป็นกระบวนการหาทางให้เกียรติคนผู้ทรงคุณงามความดีทางแพ่ง  เขาจึงสมควรได้รับเกียรติด้วยประการฉะนี้

ปรับทฤษฎีอะริสโตเติล เข้ากับการเล่นกอล์ฟ

          ศ.แซนเดล ทบทวนให้นักศึกษาฟังว่า ทฤษฎีความยุติธรรมของอะริสโตเติล นำไปสู่การอภิปรายกรณีปัจจุบันเกี่ยวกับการเล่นกอล์ฟ ของนักกอล์ฟพิการ นายเคซี มาร์ติน

          ทั้งนี้โดยที่ ด้านหนึ่ง--เป็นการให้เหตุผลเรื่องความยุติธรรมกับสิทธิ และในอีกด้านหนึ่ง--เป็นการพยายามกำหนดรู้ถึงแก่น และวัตถุประสงค์ของธรรมเนียมปฏิบัติของสังคม/บ้านเมือง 

          การสาธกดังกล่าวนี้ สามารถแสดงได้กระจ่าง ด้วยคดีขอใช้รถกอล์ฟในสนามกอล์ฟ ของนายเคซี มาร์ติน ซึ่งมุมมองด้านหนึ่งได้แก่ ประเด็นเรื่องแก่นกับวัตถุประสงค์ของธรรมเนียมการเล่นกอล์ฟ-ว่า การเล่นกอล์ฟ คือ อะไร?  กับมุมมองในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นเรื่องคุณสมบัติ(คุณงามความดี)ที่ควรได้รับการให้เกียรติในการเล่นกอล์ฟ-ว่า คืออะไร (เวลาวีดีโอประมาณ 17:53)
 
          คดีนี้ขึ้นถึงศาลฎีกา(ศาลสูงสุด)สหรัฐฯ ที่นายเคซี มาร์ติน นักกอล์ฟพิการ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสมาคมพีจีเอ ซึ่งเป็นผู้กำกับควบคุมการแข่งขันกอล์ฟรายการหนึ่ง ในสหรัฐฯ  ด้วยเหตุที่สมาคมฯบอกปัดคำขออนุญาตใช้รถกอล์ฟ ในระหว่างการแข่งขันกอล์ฟ  คดีนั้นทำให้เกิดการอภิปรายถึงวัตถุประสงค์ของการเล่นกอล์ฟ (คือ teology ของการเล่นกอล์ฟ คือ อะไร) กับประเด็นที่ว่า ความสามารถที่จะเดินในสนามกอล์ฟ เป็นสิ่งจำเป็นต่อเกมกอล์ฟ (คือเป็น virtue)ใช่หรือไม่?

          เมื่อ ศ.แซนเดล สอบถามในชั้นเรียน ผลปรากฏว่านักศึกษาส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ นาย เคซี มาร์ติน ใช้รถกอล์ฟในสนามกอล์ฟได้  ศ.แซนเดล จึงขอให้แต่ฝ่ายลุกขึ้นอภิปรายแสดงเหตุผล ซึ่งนักศึกษาทั้งสองฝ่ายก็แสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง 

          ในที่สุด ศ.แซนเดล สรุปประเด็นทิ้งท้ายเป็นคำถาม ว่า กอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องการความสมบูรณ์ของร่างกายเหมือนกับ บาสเกตบอล ฟุตบอล และเบสบอล ใช่หรือไม่?  หรือว่ากอล์ฟไม่ได้มีสาระสำคัญแห่งการเป็นกีฬาแต่อย่างไดเลย  แต่ว่า--กอล์ฟมีลักษณะเป็น “เกม” ชนิดหนึ่งคล้าย ๆ กับบิลเลียด คือ ลูกบอลอยู่นิ่ง ๆ กับที่ แล้วคนพยายามทำให้มันไปลงรู  คนร่างกายไม่สมประกอบก็อาจเล่นบิลเลียดได้ดี  การเดินไม่ใช่สาระสำคัญของการเล่นเกมบิลเลียด  กอล์ฟจะเข้าข่ายเดียวกันนี้หรือเปล่า? 

          ประเด็นนี้ ศ.แซนเดล จะได้วิสัชนาต่อไปในการบรรยายคราวหน้า

---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 10/12 part 1  พลเมืองที่ดี                                                                                    
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 10 เชิญตามลิงก์ครับ


วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

HV9/12 part 2 อะริสโตเติล: งานนี้มีวัตถุประสงค์แท้จริง ว่าอย่างไร


อะริสโตเติล: งานนี้มีวัตถุประสงค์แท้จริง ว่าอย่างไร
Episode 09 part two


          ศ.แซนเดล เปิดการบรรยายด้วยการทบทวนว่า ครั้งที่แล้วจบการบรรยายด้วยการอภิปราย เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย กับมาตรการการต่อแต้ม โดยพิจารณาว่าการอ้างเหตุผลเพื่อการต่อแต้ม แบ่งออกได้เป็นสามประการ คือ

  1. Corrective argument ต่อแต้มเพื่อปรับคะแนนผลการเรียน ให้ตรงตาม ความหมายแท้จริง ของคะแนนสอบ ให้คะแนนสอบเป็นเครื่องแสดงศักยภาพแท้จริง โดยพิจารณาถึงพื้นฐานที่แตกต่างกันของนักเรียนมาประกอบด้วย  ทั้งนี้เพื่อที่จะประเมินผลการเรียน และ “แวว” ของนักศึกษาให้ได้แม่นยำยิ่งขึ้น

  1. Compensatory argumentต่อแต้มเพื่อชดเชยความผิดพลาดในอดีต หรือความไม่ยุติธรรมในประวัติศาสตร์

  1. Diversity argument – ต่อแต้มเพื่อความหลากหลาย  แสดงตัวอย่างด้วยคดีที่นางสาวฮ็ปวูด ฟ้องต่อศาลเพื่อประท้วงนโยบายต่อแต้มของมหาวิทยาลัยเท็กซัส เมื่อปี 1990 ซึ่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ก็ได้เถียง(แสดงเหตุผล)ว่า ตนมีพันธกิจทางสังคม ที่จะต้องผลิตผู้นำให้แก่วงการกฎหมายในรัฐเท็กซัส  เพราะฉะนั้น ตนก็ต้องรับนักศึกษาให้สอดคล้องกับโครงสร้างเผ่าพงศ์(ethnicity) และชาติพันธุ์(racial background)ของประชาชนในรัฐเทกซัส  อีกนัยหนึ่งเพราะว่าพันธกิจทางสังคมของมหาวิทยาลัยเทกซัส เป็นไปเพื่อยังผลดีให้เกิดแก่ส่วนรวม(common good)

          ครั้งที่แล้ว ได้พิจารณาข้อโต้แย้ง ต่อการอ้างเหตุผลเรื่องการต่อแต้มของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ในประเด็น ยังผลดีให้เกิดแก่ส่วนรวม  และจบลงโดย ศ.แซนเดล กล่าวว่า อาจารย์ รอลส์ ไม่เห็นด้วยกับการยกเหตุผลเรื่อง ผลดีแก่ส่วนรวม(common good) ตามข้อ 3. มาเป็นเหตุผลใหญ่-ถ้าหากว่าสิทธิส่วนบุคคลถูกละเมิด  แม้จะถูกละเมิดโดยอ้างว่า เพื่อส่งเสริมผลดีแก่ส่วนรวม ก็ตาม  

          “สิทธิอะไรหรือ ที่กำลังจะถูกละเมิด” ศ.แซนเดล ตั้งปริศนา
          What right might be at stake? (เวลาวีดีโอ 29:00)

          นางสาวฮ็ปวูด เธอ มีสิทธิ พึงจะได้รับการพิจารณารับเข้าเป็นนักศึกษา บนพื้นฐานของปัจจัยต่าง ๆ ที่ตัวเธอเองสามารถควบคุมได้  การเป็นคนผิวขาว-เป็นปัจจัยที่เธอควบคุมไม่ได้  แล้วทำไมจะมาพิจารณาตัดสินเธอ ด้วยปัจจัยที่เธอไม่อาจรับผิดชอบได้ ด้วยเล่า?

          นักศึกษาคนหนึ่งลุกขึ้นอภิปรายว่า มหาวิทยาลัย เช่น ฮาร์วาร์ด เป็นสถาบันเอกชน ย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดพันธกิจของตนได้ตามใจปรารถนา  ครั้นได้ตั้งพันธกิจขึ้นแล้ว เมื่อนั้นเราจึงอาจสามารถระบุว่า คุณสมบัติใดพึงเป็นปัจจัยในการพิจารณาคัดเลือก เพื่อรับเข้าเป็นนักศึกษา  เพราะฉะนั้น การที่นางสาวฮ็ปวูดถูกมหาวิทยาลัยปฏิเสธ ก็ไม่ได้มี สิทธิ ประเภทใด ๆ ของเธอที่ถูกละเมิด 

          จากเหตุผลนี้ ก็เกิดคำถามตามมาว่า  สถาบันการศึกษา/และสถาบันเอกชนทั้งหลาย สามารถกำหนดพันธกิจอย่างไรก็ได้ ตามอำเภอใจหรือ?

          ในอดีต มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยมีโควตารับนักศึกษาที่มีลักษณะปฏิปักษ์ต่อคนยิว – anti Jewish quota โดยอ้างเหตุผลว่า มหาวิทยาลัยมีพันธกิจที่จะผลิตนักศึกษาออกไปทำงาน ในสังคมส่วนรวม ซึ่งลักษณะงานเหล่านั้นไม่มีคนยิวทำอยู่  มหาวิทยาลัยเท็กซัสในอดีตที่ยังมีโควตา ไม่รับ คนผิวดำ ก็อ้างสังคมส่วนรวมเหมือนกัน

          คำถามมีว่า--การอ้างสังคมส่วนรวมเพื่อปฏิเสธคนยิวกับคนผิวดำในอดีต  กับการอ้างสังคมส่วนรวมมาเป็นเหตุผลเรื่องการต่อแต้มในยุคปัจจุบัน(ซึ่งเป็นเหตุให้คนผิวขาว ที่มีผลการเรียนดี กลับไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย)—เป็นหลักการเดียวกันหรือเปล่า?

          ผลการอภิปรายสรุปว่า นโยบายกีดกันคนยิวกับคนผิวดำในอดีต แฝงการตัดสินไว้แต่ต้น(=แฝงอคติ)ว่า ทั้งสองพวกเป็นคนด้อยค่า  ส่วนนโยบายต่อแต้มในปัจจุบัน แม้จะใช้คนเป็นเครื่องมือสนองนโยบายทางสังคมก็จริงอยู่  แต่การต่อแต้ม ไม่ได้เห็นว่า คนกลุ่มวัฒนธรรมย่อย หรือเผ่าพงศ์ใด(ethnic group) โดยตัวเองเป็นคนด้อยค่า 

          ศ.แซนเดล ทบทวนความจำให้แก่ชั้นเรียนว่า การอภิปรายประเด็นนี้ทั้งหมดนั้น เกิดจากปัญหาปรัชญาเบื้องต้น ที่ว่า

          “เป็นสิ่งที่ถูกที่ควรหรือไม่ ที่หลักศิลธรรมเรื่องความยุติธรรมในการกระจายทรัพยาการในสังคม พึงผูกอยู่กับคุณธรรม/คุณสมบัติของบุคคล(moral deserts)” – Whether distributive justice should be tied to moral deserts or not?  (เวลาวีดีโอ 36:10) 

          ซึ่งอาจารย์ รอลส์ เห็นว่า “ใช่แล้ว ไม่เป็นการยุติธรรม ที่หลักศิลธรรมเรื่องการกระจายทรัพยากร จะควรอิงคุณธรรม/คุณสมบัติของบุคคล”

          ศ.แซนเดล กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ – Big Issue – ของปรัชญาการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งสรุปได้ว่า

“ การแยกพิจารณาปัญหาเรื่องความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ออกเสียจากเรื่องคุณธรรมและคุณสมบัติ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หรือเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา ละหรือ?

ประเด็นนี้ อันที่จริงแล้ว เป็นประเด็นที่แบ่งแยกปรัชญาการเมืองสมัยใหม่(ในโลกตะวันตก)  ออกจากแนวความคิดปรัชญาการเมืองโบราณ(ในโลกตะวันตก)”         

“Is it possible, is it desirable, to detach the question of distributive justice from the question of moral desert or virtue? In many ways this is an issue that seperates modern political philosophy from ancient political thought.”   (เวลาวีดีโอ 38:45)

          ศ.แซนเดล บรรยายว่า การแยกเรื่องนี้ออกจากกันนั้น อาจารย์รอลส์กระทำลงด้วยเหตุผลเรื่องความเสมอภาค – egalitarian reason  กล่าวคือ ถ้าเราแยกเรื่องคุณธรรมไว้ต่างหากแล้ว โอกาสที่จะพิจารณาเรื่องความเสมอภาค ก็จะเปิดกว้างขึ้น

          อย่างไรก็ดี นักคิดแนวเสรีนิยม - Libertarian right theorists  ก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกันกับนักคิดแนวเสมอภาคนิยม ว่า ไม่สมควรที่จะนำความยุติธรรม มาเป็นรางวัลตอบแทนแก่คุณธรรมหรือคุณงามความดี  แต่...ทั้งนี้ด้วยเหตุผลอะไร? (เวลาวีดีโอ 40:40)

          ศ.แซนเดล กล่าวว่า นักคิดเหล่านั้นเห็นว่า การนำความยุติธรรมมาผูกเข้ากับเรื่องคุณธรรมความดี จะทำให้เราละเลยเรื่องเสรีภาพ  ตลอดจนไม่เคารพต่อความเป็นอิสระของมนุษย์

          ศ.แซนเดล เห็นว่า การที่เราจะตีประเด็นนี้ให้แตก เราต้องหันไปดูนักปรัชญาผู้มีความเห็นต่างไปจากนักคิดเหล่านั้น  ซึ่งผู้ที่มีความเห็นต่างก็คือ อะริสโตเติล


อะริสโตเติล – ผู้เห็นต่าง

          ความยุติธรรมในการแบ่งปันจัดสรรทรัพยากร - อะริสโตเติล เห็นดังนี้

“ความยุติธรรมขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ คือ 1) สิ่งของ และ 2) บุคคลผู้ที่จะได้รับสิ่งของนั้น  กล่าวโดยทั่วไปก็คือ บุคคลผู้เสมอกัน พึงได้รับอย่างเสมอกัน”

Justice involves two factors: things and the persons to whom the things are assigned. In general we say that persons who are equal should have equal things assigned to them.”
                                      -Aristotle


          เกิดคำถามตามมาว่า ได้รับเสมอกัน-หมายความว่า “เสมอกัน”  ในแง่ใด?

          ซึ่ง อะริสโตเติล ตอบว่า ขึ้นอยู่กับสิ่งของที่เราจะจัดสรร เช่น จะจัดขลุ่ยให้ใคร ก็ต้องพิจารณาว่าคุณธรรม/คุณงามความดีเช่นไร จึงจะทำให้คน ๆ นั้นได้ขลุ่ยไป  โดยที่ อะริสโตเติล เห็นว่า “ขลุ่ยที่ดีที่สุด พึงตกแก่คนที่มีฝีมือเป่าขลุ่ยเก่งที่สุด” 

          การจัดสรรขลุ่ยโดยวิธีอื่น จะไม่ยุติธรรม  เช่น จัดสรรโดยความร่ำรวย – ให้ขลุ่ยตกแก่คนที่จ่ายเงินจำนวนสูงสุด  หรือจัดสรรโดยอาศัยชาติกำเนิด – มอบขลุ่ยแก่พวกผู้ลากมากดี  หรือจัดสรรโดยยึดความหล่อเป็นเกณท์ – ให้ขลุ่ยแก่คนหล่อที่สุด  หรืออาศัยดวง – นำขลุ่ยมาออกหวย เพื่อให้ขลุ่ยตกแก่คนดวงเฮงที่สุด

          ทำไมถึงอาศัยเกณฑ์นี้?  หมายถึงเกณฑ์ที่ว่า ต้องให้ขลุ่ยที่ดีที่สุด แก่คนที่มีฝีมือเป่าขลุ่ยได้อย่างเก่งสุด  อะริสโตเติล ให้เหตุผลว่า เพราะว่านั่นคือ “วัตถุประสงค์ของขลุ่ย” – That’s what flutes are for. (เวลาวีดีโอ 46:30)

          การให้เหตุผลโดยยึดวัตถุประสงค์อันเป็นที่สุด(end)ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเป้าประสงค์บั้นปลาย หรือธรรมชาติแท้จริงของของสิ่งนั้น เรียกว่า TELEOLOGICAL REASONING (เวลาวีดีโอ 47:57)  และการอ้างหลักยุติธรรมโดยยึด ที่สุด หรือ เป้าประสงค์ หรือ ธรรมชาติธาตุแท้ ของสิ่งที่จะจัดสรรแบ่งปัน มาเป็นเกณฑ์เพื่อความเป็นธรรมนั้น ท่านเรียกว่า teleological moral reasoning  ซึ่งเป็นหลักของ อะริสโตเติล

          ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างการให้เหตุผลแบบ teleological reasoning อันเป็นตัวอย่างที่ถูกอกถูกใจนักศึกษา ด้วยการเล่าเรื่องจากหนังสือสำหรับเด็ก “วินนี่ เดอะ พู”  ซึ่งรุ่นพี่ที่โรงเรียนเก่าของผู้เขียนสรุปภาษาไทยผู้หนึ่ง คือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านก็ชอบเรื่องนี้ – โดยท่านได้ทำหนังสือเกี่ยวกับ วินนี เดอะ พู เอาไว้  และที่จริงผู้เขียนสรุปภาษาไทยก็ได้รู้จัก วินนี่ เดอะ พู เป็นครั้งแรก จากรุ่นพี่ท่านนี้-ซึ่งต่างก็เคยสังกัดวงดนตรีไทยโรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วยกันมา 

          ศ.แซนเดล เล่าว่า วันหนึ่ง วินนี เดอะ พู เดินอยู่ในป่า แล้วได้ยินเสียงหึ่ง ๆ อยู่บนยอดไม้  วินนี เดอะ พู นั่งลงที่โคนต้นไม้แล้วคิดคำนึงว่า เสียงหึ่ง ๆ นี้ต้องมีความหมายอะไรสักอย่าง ถ้ามีเสียงหึ่ง ๆ แสดงว่าต้องมีใครสักคนก่อกำเนิดเสียง แล้วเหตุผลที่เกิดเสียงหึ่ง ๆ เท่าที่ฉันรู้ ก็คือ เธอผู้ทำเสียงหึ่ง ๆ จะต้องเป็นผึ้ง  แล้วเหตุผลแห่งการเป็นผึ้งเท่าที่ฉันรู้ ก็คือ ต้องทำน้ำผึ้ง  แล้วเหตุผลเดียวที่ทำน้ำผึ้ง ก็คือ เพื่อให้ฉันจะได้กินน้ำผึ้ง

          ศ.แซนเดล สรุปทิ้งท้ายว่า การที่อะริสโตเติลเห็นว่า การคิดคำนึงเรื่องความยุติธรรม จะต้องให้เหตุผลจาก ส่วนปลายสุด  หรือจาก วัตถุประสงค์  จะเป็นการถูกต้องหรือไม่ อย่างไร?  เราจะได้พิจารณากันต่อไป เมื่อเราศึกษาเรื่อง “การเมือง” ของ อะริสโตเติล


---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 09/12 part 2  อะริสโตเติล: มีวัตถุประสงค์แท้จริง ว่าอย่างไร                                                                                
ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 09/12 เชิญตามลิงก์ครับ


วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

HV9/12 part 1 ให้เหตุผลเรื่องการต่อแต้ม

---------------------------------------------------------------------------------------
“เด็กจากไร่นาในไอดาโฮ สามารถนำข้อดีบางอย่างมาสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งชาวบอสตันไม่อาจให้ได้  ทำนองเดียวกัน นักศึกษาผิวดำก็อาจนำข้อดีบางอย่างมา ซึ่งนักศึกษาผิวขาวไม่มี  คุณภาพของประสบการณ์การศึกษาโดยรวม มีส่วนที่จะขึ้นอยู่กับความแตกต่างด้านภูมิหลัง และโลกทัศน์ ที่ติดตัวนักศึกษาทั้งหลาย เข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัย”

-ม.ฮาร์วาร์ด แถลงต่อศาล คดีถูกฟ้องเรื่องไม่ยุติธรรมใน
การรับนักศึกษา ปี 1978

----------------------------------------------------------------------------------------


การให้เหตุผลเรื่องการต่อแต้ม
ARGUING AFFIRMATIVE ACTION
Episode 09 part one

           ครั้งที่แล้ว ศ.แซนเดล กล่าวว่า อาจารย์ รอลส์ แบ่ง การใช้สิทธิเรียกร้อง ออกเป็นสองประเภท คือ

1)   การใช้สิทธิเรียกร้องตามความชอบธรรม/คุณความดี(moral deserts)
2)   การใช้สิทธิเรียกร้องตามที่ตนมีสิทธิ(entitlement) 

           แล้วอาจารย์ รอลส์ ยังเห็นอีกว่า การจัดสรรทรัพยากรอย่างยุติธรรม – distributive justice  ไม่เกี่ยวกับความชอบธรรมหรือคุณความดี  ซึ่งในครั้งนี้ ศ.แซนเดล จะได้ขยายความเรื่องนี้ ต่อไป

          ศ.แซนเดล อภิปรายเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้อง โดยยกอุทาหรณ์ การว่าจ้างและการรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โดยอภิปรายเกี่ยวกับ การให้เหตุผลเรื่องการต่อแต้มarguing affirmative action อันเป็นนโยบายคัดเลือกนักศึกษา ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ

          โดยยกคดีตัวอย่าง ปี 1996 กรณีที่หญิงผิวขาวชื่อ เชอรีล ฮ็ปวูด ถูกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ปฏิเสธไม่รับเข้าศึกษา ทั้ง ๆ ที่เธอได้คะแนนดี และเธอมีผลการทดสอบสูงกว่า ผู้สมัครจากชนกลุ่มน้อยหลาย ๆ คนที่ได้รับคัดเลือก  นางสาวฮ็ปวูด ได้นำเรื่องนี้ขึ้นฟ้องเป็นคดีในศาล โดยอ้างว่า โครงการต่อแต้มของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเจตนาช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยนั้น เป็นการละเมิดสิทธิของเธอ 

          ประวัติของนางสาว ฮ็ปวูด มีว่า เธอทำงานส่งตัวเองเรียนมัธยมปลาย  เธอไม่ได้มีพื้นเพมาจากครอบครัวมั่งคั่งร่ำรวย  ต่อมาเธอก็ส่งตัวเองเรียนวิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐคาลิฟฟอร์เนีย ที่ซาคราเมนโต  เธอได้เกรดเฉลี่ย 3.8 ที่นั่น  เมื่อเธอย้ายภูมิลำเนามาอยู่ในมลรัฐเทกซัส  เธอเข้าทดสอบข้อสอบสำหรับเข้าเรียนนิติศาสตร์ เธอได้คะแนนทดสอบดี และเธอสมัครเข้าเรียนใน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส  แต่ผลการพิจารณาใบสมัครปรากฏว่ามหาวิทยาลัยเท็กซัส ปฏิเสธไม่รับเธอเข้าศึกษา

          เวลานั้น มหาวิทยาลัยเท็กซัส กำลังใช้นโยบาย “การต่อแต้ม”(affirmative policy)  อันเป็นนโยบายเผื่อแผ่ คำนึงถึงเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรมย่อย  ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ให้เหตุผลว่า มลรัฐเท็กซัสมีพลเมืองร้อยละสี่สิบ เป็นคนเชื้อสายอัฟริกัน-อเมริกัน และเชื้อสายเม็กซิกัน-อเมริกัน  จึงถือเป็นเรื่องสำคัญว่า เราในฐานะคณะนิติศาสตร์ จะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของประชากร  เพราะฉะนั้น เราจะไม่พิจารณาคะแนนทดสอบเพียงอย่างเดียว เราจะคำนึงถึงการกระจายจำนวนนักศึกษา ไปตามเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ด้วย      

          ผลจากนโยบายดังกล่าว ปรากฏว่า คนบางคนสอบได้คะแนนไม่ดีไปกว่า นางสาวฮ็ปวูด แต่กลับผ่านการพิจารณาคัดเลือก เข้าเป็นนักศึกษา  ส่วนเธอ-ถูกปฏิเสธ เธออ้างเหตุผลในคำฟ้องว่า เธอถูกปฏิเสธเพราะเธอเป็นคนผิวขาว(ฝรั่ง) ถ้าเธอสังกัดเชื้อชาติหรือกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ด้วยคะแนนสอบและคะแนนทดสอบที่เธอทำได้  เธอย่อมผ่านการคัดเลือก  ข้อมูลของการต่อสู้คดีในศาลพบว่า  สถิติการคัดเลือกนักศึกษาในปีนั้น นักศึกษาอัฟริกัน-อเมริกัน และนักศึกษาเม็กซิกัน-อเมริกัน ที่ได้คะแนนต่ำกว่า นางสาวฮ็ปวูด ผ่านการคัดเลือกจริง

          ศ.แซนเดล เชิญชวนให้นักศึกษาปล่อยวาง เรื่องกฎหมายและโรงศาลไว้ก่อน  โดยให้ลองคิดในแนวความยุติธรรมและศิลธรรม(justice and morality)ว่า “ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม”  การที่นางสาวฮ็ปวูด ยกเรื่องนี้ ขึ้นฟ้องเป็นคดีความ -- a legitimate complain เป็นเรื่องที่ชอบแล้วหรือ? สิทธิของเธอถูกละเมิด-โดยนโยบายรับนักศึกษา ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส หรือไม่? 

          ศ.แซนเดล ให้ทั้งนักศึกษาฝ่ายที่ตัดสินใจเข้าข้างคณะนิติศาสตร์ฯ  และนักศึกษาที่ตัดสินใจเข้าข้างนางสาวฮ็ปวูด ยกมือขึ้น—ผลการยกมือประเมินด้วยสายตา ประมาณได้ว่า ได้เสียงเท่า ๆ กัน

          ศ.แซนเดล จึงขอให้นักศึกษาแต่ละฝ่าย แสดงความคิดเห็น  นักศึกษาเก้าคนในห้องเรียน ซึ่งมาจากเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรมหลากหลาย เช่น คนผิวเขาว คนผิวดำ คนเอเชีย คนเชื้อสายละตินอเมริกา เป็นต้น  ลุกขึ้นอภิปรายเห็นด้วยและอภิปรายคัดค้าน โครงการต่อแต้มของมหาวิทยาลัยเท็กซัส  ทั้งนี้ โดยมีประเด็นอภิปรายต่าง ๆ เช่น

1)   การศึกษาขั้นพื้นฐานที่คุณภาพไม่เท่าเทียม ระหว่างเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ  ควรถูกนำเข้ามาพิจารณา เพื่อชดเชยคะแนนให้แก่คนกลุ่มน้อย หรือไม่?
2)   ความไม่ยุติธรรมทางประวัติศาสตร์ ที่เกิดจากการมีทาสและการแบ่งแยกผิว ควรถูกนำมาพิจารณาชดเชยคะแนน ให้แก่ผู้สมัครหรือไม่?
3)   การอ้างเหตุผลเชิงเห็นชอบ ว่า การคัดเลือกควรส่งเสริมความหลากหลายของประชากรนักศึกษา ฟังขึ้น(-สมเหตุสมผล) หรือไม่?
4)   การอ้างความหลากหลายดังกล่าว จะมาหักล้างข้อพิจารณาเรื่องความเพียรพยายามและความสำเร็จในการเรียน กับผลการทดสอบของผู้สมัคร ได้ละหรือ? ในเมื่อความหลากหลาย เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ของตัวผู้สมัครเอง? ซึ่งก็แปลว่า เป็นปัจจัยชนิดหลักลอย-อ้างเอาตามอำเภอใจ?
5)   เมื่อภารกิจที่ประกาศเปิดเผยของมหาวิทยาลัยมีว่า จะพยายามเพิ่มความหลากหลายของประชากรนักศึกษา ครั้นภารกิจดังกล่าวถูกยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุผล เพื่อปฏิเสธใบสมัครของคนผิวขาว ถือเป็นการละเมิดสิทธิกันหรือไม่?     

          ฝ่ายที่อภิปราย เห็นด้วย กับการนำเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรม มาร่วมเป็นปัจจัยพิจารณาคัดเลือกนักศึกษา  อ้างเหตุผลต่าง ๆ แบ่งชนิดเหตุผลออกได้สามประการ คือ

  1. Correctiveเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง/ปรับให้เสมอ คือ ปรับระดับความแตกต่างของพื้นฐานการศึกษา ให้เสมอกัน(ด้วยการให้แต้มเพิ่มแก่ผู้สมัครชนกลุ่มน้อย)  ซึ่งเหตุผลชนิดนี้ ก็เท่ากับพิจารณาคัดเลือกนักศึกษา โดยอาศัยผลการเรียนเป็นหลักนั่นเอง  แต่ว่า พิจารณาลึกลงไปถึงพื้นฐานที่แตกต่างกัน มาประกอบด้วย เพื่อที่จะประเมินผลการเรียนและ “แวว” ของนักศึกษาได้อย่างยุติธรรม

  1. Compensatory เพื่อชดเชย อ้างเหตุผลนี้เพื่อชดเชยต่อความผิดพลาดในอดีต หรือความไม่ยุติธรรมในประวัติศาสตร์

  1. Diversityเพื่อความหลากหลาย กล่าวคือ 1)ความหลากหลายช่วยให้ประสบการณ์การเล่าเรียนของนักศึกษารุ่มรวยขึ้น และ2)ความหลากหลายเป็นประโยชน์ต่อความแข็งแกร่งของสังคมส่วนรวม

          สำหรับการอภิปราย ไม่เห็นด้วย นั้น แนวทางไม่เห็นด้วยที่โดดเด่น ได้แก่ การไม่เห็นชอบกับเรื่อง compensatory – เพื่อชดเชยความผิดพลาดในอดีต  กล่าวคือ การต่อแต้มคนผิวดำและคนกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ด้วยเหตุผลเพื่อชดเชยความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ น่าจะไม่ยุติธรรมต่อนางสาวฮ็ปวูด เพราะว่า ตัวเธอเองจริง ๆ แล้วเป็นคนยุคปัจจุบัน เธอไม่ได้มีส่วนในการใช้แรงงานทาสหรือแบ่งแยกผิว  เธอไม่ได้ร่วมสร้างความผิดพลาดในอดีตแต่ประการใดเลย  เพราะฉะนั้น จะเป็นการยุติธรรมต่อเธอหรือ?

          อย่างไรก็ดี ศ.แซนเดล กล่าวว่า เพื่อสาดความกระจ่างแก่ประเด็นนี้ เราก็ต้องมาคิดดูว่า ความรับผิดชอบของสังคมส่วนรวมนั้น จะต้องรับผิดชอบข้ามยุคข้ามสมัย กันด้วยหรือ?

          สำหรับประเด็นต่อไป การอ้างเหตุผลเรื่อง Diversityเพื่อความหลากหลาย  ซึ่งเห็นว่าความหลากหลายของประชากรนักศึกษา ช่วยให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์  มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็เคยโดนฟ้องคดีต่อแต้ม(affirmative case)มาก่อน เมื่อค.ศ.1978  และได้เคยแถลงต่อศาลว่า

“เราให้ความสำคัญกับความหลากหลายในหมู่นักศึกษา  ความเป็นเลิศทางวิชาการไม่เคยเป็นข้อพิจารณาเพียงประการเดียว ในการคัดเลือกนักศึกษาระดับปริญญาตรี  เมื่อสิบห้าปีก่อน ความหลากหลายหมายถึง นักศึกษาจากคาลิฟฟอร์เนีย นิวยอร์ค แมสซาจูเซตท์ นักศึกษาที่เป็นคนเมือง เป็นเด็กจากไร่นา นักไวโอลิน ศิลปินวาดภาพ นักฟุตบอล นักชีวะวิทยา นักประวัติศาสตร์ ฯลฯ  ปัจจุบันนี้ เราได้เพิ่มปัจจัยเรื่องเชื้อชาติและกลุ่มวัฒนธรรม แถมเข้ามาในบัญชีข้อพิจารณาเรื่องความหลากหลายด้วย”

          ข้อความตอนหนึ่ง ในคำแถลงต่อศาล ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ความว่า... (เวลาวีดีโอ 22.07)          

“When reviewing the large number of candidates able to do well in our classes race may count as a plus, just as coming from Iowa may count or being a good middle linebacker or pianist.”

“ระหว่างพิจารณาผู้สมัครจำนวนมาก ซึ่งต่างก็ล้วนมีศักยภาพที่จะเรียนกับเราได้ดีด้วยกันทั้งนั้น  ปัจจัยเชื้อชาติอาจเป็นข้อได้เปรียบก็ได้  เช่นเดียวกับปัจจัยที่ว่า เป็นคนมาจาก มลรัฐไอโอวา หรือเป็นนักฟุตบอลฝีเท้าดี หรือเป็นนักเปียนโน”  

“A farm boy from Idaho can bring something to Harvard College that a Bostonian cannot offer. Similarly, a black student can usually bring something a white student cannot offer. The quality of the educational experience of all students depends in part on these differences in the background and outlook that students bring with them.”  

“เด็กจากไร่นาในไอดาโฮ สามารถนำข้อดีบางอย่างมาสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งชาวบอสตันไม่อาจให้ได้  ทำนองเดียวกัน นักศึกษาผิวดำก็อาจนำข้อดีบางอย่างมา ซึ่งนักศึกษาผิวขาวไม่มี  คุณภาพของประสบการณ์การศึกษาโดยรวม มีส่วนที่จะขึ้นอยู่กับความแตกต่างด้านภูมิหลัง และโลกทัศน์ ที่ติดตัวนักศึกษาทั้งหลาย เข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัย”


          อย่างไรก็ดี ศ.แซนเดล กล่าวว่า การอ้างเหตุผลโดยอิงความหลากหลาย  จะเป็นข้ออ้างที่แข็งแรง น่าเชื่อถือ ก็ต่อเมื่อเหตุผลดังกล่าว ผ่านคำคัดค้านที่ทรงพลังข้อหนึ่ง ซึ่งนักศึกษาบางคนก็ได้เอ่ยถึงไปแล้วในระหว่างการอภิปราย กล่าวคือ เว้นเสียแต่ว่า เราจะเป็นพวกประโยชน์นิยม(Unitarianism)  เราย่อมเชื่อว่า สิทธิส่วนบุคคลจะถูกละเมิดไม่ได้เลยเป็นอันขาด 

          ดังนั้น คำถามก็คือ ในกรณีนี้สิทธิส่วนบุคคลถูกละเมิดหรือไม่? เมื่อเธอถูกปฏิเสธจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส  โดยที่คำปฏิเสธนั้นอ้างประโยชน์ส่วนรวมและสังคม ตามภารกิจที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสกำหนดขึ้นเอง—สิทธิส่วนบุคคลของนางสาวฮ็ปวูด ถูกละเมิดหรือไม่?

          ก็เธอมีสิทธิ-มิใช่หรือ? คนเราสมควรที่จะได้รับการพิจารณา ตามขีดความสามารถ ตามความสำเร็จ และตามความเพียรของเรา-มิใช่หรือ?  สิทธิในครรลองนี้กำลังถูกละเมิดหรือเปล่า?

          คำตอบ คือ ไม่-เธอไม่มีสิทธิ  ไม่มีใครมี “ความชอบธรรม” ที่จะได้รับการคัดเลือก และประเด็นนี้ก็นำเรากลับไปยังเรื่อง ความชอบธรรม(deserts) กับ การมีสิทธิ(entitlement) นางสาวฮ็ปวูด ไม่มีความชอบธรรมที่จะได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์ใด ๆ ที่เธอเชื่อเอาเองว่าสำคัญ รวมทั้งเกณฑ์ที่เกี่ยวกับผลสำเร็จและความเพียรของเธอ

          ศ.แซนเดล ตั้งคำถามว่า เพราะเหตุไรเธอจึงไม่มีความชอบธรรม ที่จะได้รับการคัดเลือก?  ซึ่งศ.แซนเดล เห็นว่า สิ่งที่แฝงเร้นอยู่ในการอ้างเหตุผลเรื่องความชอบธรรม/ไม่ชอบธรรมในการบรรยายตอนนี้นั้น จะคล้ายกับการปฏิเสธเรื่องความชอบธรรม ของรอลส์ ที่ว่า “ความชอบธรรม ไม่ใช่พื้นฐานของความยุติธรรม ในการจัดสรรทรัพยากร”

          ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นิยามพันธกิจหรือภารกิจของมหาวิทยาลัยขึ้นมาแล้ว  หลังจากนั้นก็จะออกแบบนโยบายการคัดเลือกนักศึกษาให้สอดคล้องกับภารกิจดังกล่าว  คนที่ มีสิทธิ ได้ที่นั่งเรียนในมหาวิทยาลัย จะได้แก่ บุคคลที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับนโยบายคัดเลือกนั้น

          ศ.แซนเดล สรุปว่า (เวลาวีดีโอ 24:55)

But according to this argument, no one deserves that Harvard college defined its mission and designed its admission criteria, in the first place, in a way that prizes the qualities they happen to have in abundance whether those qualities are test scores or grades or the ability to play the piano or be a good middle line backer or to come from Iowa or to come from a certain minority group.

คำแปล: แต่ ตามครรลองการให้เหตุผลแนวนี้ ในเบื้องต้น-จะไม่มีใครที่สามารถอ้างความชอบธรรมได้ว่า ฮาร์วาร์ด จะต้องนิยามพันธกิจและออกแบบเกณฑ์การรับนักศึกษา ให้สอดคล้องกับคุณสมบัติที่ตน(ผู้สมัคร)มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคะแนนทดสอบ ผลการเรียน หรือการเล่นเปียนโน หรือการเป็นนักฟุตบอล หรือการที่มาจากรัฐไอโอวา หรือมาจากกลุ่มวัฒนธรรมย่อยกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด     

          หมายความว่า ไม่มีใครหรอก ที่จะ “ทรงความชอบธรรมมาแต่ต้น” จนทำให้ฮาร์วาร์ดต้องเขียนนโยบายและออกกฏเกณฑ์คัดเลือกนักศึกษา ให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของตนเอง  เพราะฉะนั้น ศ.แซนเดล จึงชี้ให้นักศึกษาฟังว่า ในที่สุดแล้วการอภิปรายเรื่องการต่อแต้ม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความหลากหลาย ก็จะนำเรา วกกลับไปยังข้อปรัชญาเรื่อง สิทธิ  ซึ่ง สิทธิ ก็นำเราวนกลับไปหาปัญหาปรัชญาที่ว่า...

          ความชอบธรรม/คุณความดี(moral deserts) เป็น หรือ ไม่เป็น  พื้นฐานของความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร?

          ซึ่งจะได้อภิปรายกันต่อไป ในการบรรยายคราวหน้า และศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาไปลองขบคิดข้อปรัชญาข้อนี้ ระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์

---------------------------------------------------------------------------------
จบ--สรุปภาษาไทย Episode 09/12 part 1  การให้เหตุผลเรื่องการต่อแต้ม                                                                                 

ชมต้นฉบับวิดิทัศน์--และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับตอน 09/12 เชิญตามลิงก์ครับ