open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พระเอกนางเอกตัวจริง ของการปฏิวัติฝรั่งเศส Heroes of the French Revolution


                                                                                                      โดย แดง ใบเล่
--นามปากกาของ นายปรีชา ทิวะหุต


หลังจากช่วงเวลาอันบ้าคลั่งสุดขีดอีกเหตุการณ์หนึ่งในการปฏิวัติฝรั่งเศส ผ่านพ้นไป อันได้แก่ ช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์เรียกกันว่า ยุคสยองขวัญ(la Terreur) ใกล้จะขมวดตัวอวสานลงนั้น  โรเบสปิแยร์ กับนักปฏิวัติคนสนิท  ถูกพวกปฏิวัติมุ้งเดียวกัน (คือมุ้ง จาโกแบ็ง Les Jacobins) จับตัวไปคุมขังไว้ บนศาลาเทศบาลนครปารีส  ซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่ตั้งศาลาเทศบาลปัจจุบัน  แต่ว่าอาคารหลังปัจจุบัน เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาแทนอาคารหลังเดิม ที่ถูกทุบทิ้งไปแล้ว


          เวลาเขียนเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ จะน่ากลัวอยู่อย่าง  คือ กลัวว่าท่านผู้อ่านจะนึกว่าผู้เขียนเป็นคนคร่ำครึ ชนิด old and boring  ทั้ง ๆ ที่ เราเปล่าซะหน่อย  ผู้เขียนเป็นเพียงนักเขียนผู้ใช้ทักษะของอาชีพ มาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์(และเรื่องอื่น ๆ)  แต่ผู้เขียนไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ชนิดที่เล่าเรียนมาในระบบ  อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็มีเพื่อนเป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพ  คือเรียนมาทางประวัติศาสตร์ และทำมาหากินเป็นครู(อาจารย์)สอนวิชาประวัติศาสตร์  เขาก็น่าจะนึกกลัว แบบที่ผู้เขียนกำลังรู้สึก  คือเขาน่าจะกลัวว่า คนจะเข้าใจว่าตัวเขาเป็นคนชนิด old and boring  เพราะฉะนั้น  จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดระยะเวลาที่คบกันมา เขาไม่เคยคุยกับเพื่อนฝูงเรื่องประวัติศาสตร์เลย  แล้วเขาชอบคุยเรื่องอะไรกับพวกเรา?  เขาจะคุยแต่เรื่อง เหตุการณ์ปัจจุบัน...ครับ  ท่านผู้อ่านที่มีเพื่อนเป็นนักประวัติศาสตร์  เคยลองสังเกตประเด็นนี้กันบ้างเปล่า?  นักประวัติศาสตร์บางคน ไม่ชอบคุยเรื่องประวัติศาสตร์ แต่จะชอบสนทนากับมิตรสหาย เรื่องเหตุการณ์ปัจจุบัน 

          นักประวัติศาสตร์อาชีพบางคน ก็เลี่ยงว่า ตนเป็นนักประวัติศาสตร์ระยะใกล้  ภาษาอังกฤษว่า recent history  ผู้เขียนเห็นว่า ถ้างั้นคุณก็เป็นนักหนังสือพิมพ์(journalist)ซีครับ  คุณจะไปแย่งอาชีพเขาเหรอ? 

          เพื่อตีตัวออกห่าง  แยกตัวเองออกจากยุคสมัยของโรเบสปิแยร์  ไม่ให้คนเข้าใจว่า เราคร่ำครึ  ก็ใคร่จะเรียนท่านผู้อ่านว่า  เมื่อผู้เขียนเดินทางไปเรียนหนังสือ ที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น  ไม่ได้เดินทางไปทางทะเล กับเรือเดินสมุทร์  แล้วไปขึ้นบกที่เมืองท่ามาร์เซย์...แบบที่นักเรียนฝรั่งเศสยุคดึกดำบรรพ์ ท่านเดินทางกัน  แต่ผู้เขียนเดินทางแบบบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สนามบินชาร์ล เดอ โกลล์ กรุงปารีส  ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของสายการบินแอร์ฟร้านซ์เที่ยวบินที่ AF 169  ซึ่งมีต้นทางมาจากโฮจิมินห์ ซิตี้ ในเวียดนาม  แวะกรุงเทพฯ แล้วบินตรงเข้าปารีส  เที่ยวบินเที่ยวนี้ยังคงบินอยู่ จนตราบเท่าทุกวันนี้...เหมือนเดิม  โปรดดูตารางเวลาการบิน  ที่ก็อปมาจากเว็บของ แอร์ฟร้านซ์  เมื่อเร็ว ๆ นี้

AF169
Départ prévu de Ho Chi Minh Ville (SGN) à 19:50, Ven. 25 juin 10
Arrivée prévue à Bangkok (BKK) à 21:20, Ven. 25 juin 10
Départ prévu de Bangkok (BKK) à 22:45, Ven. 25 juin 10
Arrivée prévue à Paris (CDG) à 06:00, Sam. 26 juin 10

          เที่ยวบิน AF 169 ของสายการบินแอร์ฟร้านซ์   ยังคงไปถึงปารีสเวลาเช้าตรู่  เช่นเดียวกับวันที่ผู้เขียนเดินทางไปถึง ในฐานะนักเรียน เมื่อหลายปีก่อนโน้น 

ตอนเย็นวันที่เดินทางไปถึง  ผู้เขียนก็ได้เที่ยวเล่น ด้วยการนั่งรถใต้ดินจากย่านการ์ติเย่ ละแต็ง อันเป็นถิ่นที่พำนัก  ไปโผล่ที่กลางกรุง โดยมิได้มีจุดหมายใด ๆ เฉพาะเจาะจง  รถใต้ดินเป็นวิธีเดินทางวิธีเดียว ที่คนหน้าใหม่จะไม่หลงทาง  เมื่อโผล่จากสถานีรถไฟใต้ดิน ขึ้นถึงมาที่ระดับถนน  เดินต่อไปอีกไม่ไกล ก็แลเห็นอาคารหลังงาม  ประดับไฟฟ้าสว่างไสว  ใกล้ ๆ กันนั้นมีป้ายชี้ไปที่ตัวอาคาร เขียนว่า “Hôtel de Ville”  ภาษาฝรั่งเศสของผู้เขียนยังไม่ดีพอ แม้จะเรียนภาษาฝรั่งเศสในเมืองไทยมาแล้วหกปี ก่อนที่จะเดินทางไปฝรั่งเศส  เมื่อเห็นป้ายนั้น  และเมื่อได้แลไปยังตัวอาคารอันสง่างาม  ก็นึกสงสัย และยังขำตัวเองอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้  คือ นึกสงสัยในใจเป็นภาษาไทยว่า โรงแรมอะไรของแ-ม่-ง วะ? 

          ที่จริงไม่ใช่โรงแรม  คำว่า Hôtel de Ville ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ศาลาเทศบาล  อาคารหลังงามหลังนั้น คือศาลาเทศบาลนครปารีส  บนชั้นสองของศาลาเทศบาล(หลังเดิม)เคยเป็นที่คุมขัง โรเบสปิแยร์ กับนักปฏิวัติรุ่นน้องคนสนิทของโรเบสปิแยร์ที่ชื่อ แซงต์ จุสต์ กับนักปฏิวัติกลุ่มเดียวกันอีกสี่ห้าคน  ก่อนที่เขาจะถูกนำไปตัดหัวด้วยเครื่องกิโยติน เมื่อวันที่ 10 เดือนแธร์มิโดร์(10 thermidor)  ตรงกับวันที่ 28 เดือนกรกฎาคม  ที่ ลานแห่งการปฏิวัติ(Place de la Révolution)  ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ลานแห่งความสมานฉันท์(place de la concorde)  ด้วยร่างกายที่บอบช้ำเพราะเสียเลือดมาก เนื่องจากถูกยิงกรามหัก  เขาพูดกับแซงต์ จุสต์ บนศาลาเทศบาลที่ถูกคุมขังอยู่ด้วยกัน ก่อนจะถูกนำไปตัดหัว ว่า อย่างน้อยที่สุด  เราก็ได้ทำสิ่งนี้  พลางเขาชี้ให้ แซงต์ จุสต์ ดูสิ่งหนึ่งที่เก็บไว้บนศาลาเทศบาล  สิ่งหนึ่งสิ่งนั้น ปัจจุบันนี้เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์การ์นาวาเลต์ กรุงปารีส (Musée Carnavalet – Paris) สิ่งนั้นก็คือ แผ่นป้ายจารึกคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ปี 1789 ” (La Déclaration des droits de l’Homme et du Citoyen de 1789 )

          บทความนี้ จะแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับ ชีวิต ของสิ่งไม่มีชีวิต สามสิ่ง”  อันมีกำเนิดมากับ การปฏิวัติฝรั่งเศส  คือ

1) คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง  ซึ่งได้กลายพันธ์ มาเป็นคำประกาศสิทธิมนุษย์ชน ขององค์การสหประชาชาติในปัจจุบัน 
2) เครื่องกิโยติน  ซึ่งได้กลายเป็นเครื่องประหารชีวิตนักโทษ ในประเทศฝรั่งเศสจนกระทั่งฝรั่งเศสยกเลิกโทษประหารชีวิต ในสมัยประธานาธิบดี ฟร็องซัวส์ มิตแตรังด์
3) เพลง ลา มาร์เซแยส  ซึ่งได้กลายเป็นเพลงชาติฝรั่งเศส  และมักจะเป็นบทเพลงที่ร้องกันทั่วโลก--เมื่อเกิดเหตุการณ์ประเภท ปฏิวัติ ๆ  ตั้งแต่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน จนถึงอิหร่าน  และเรื่อยไปในอัฟริกา และในละตินอเมริกา 

ทั้งสามสิ่งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า เป็น พระเอกนางเอกตัวจริง--ที่ยังมีชีวิตอยู่ ของการปฏิวัติฝรั่งเศส  นอกนั้น หัวหลุดจากบ่ากันหมดแล้ว  บางคนหากระดูกยังไม่เจอเลย  เช่น ปัญญาชนชื่อดัง อย่าง โรเบสปิแยร์  เป็นต้น  เพราะถูกนำไปฝังในหลุมศพรวม  ส่วนหลุยส์ที่ 16 ฝังอยู่ที่ วัดบาสิลิก แซงต์ เดอนีส์(Basilique Saint-Denis) ชานกรุงปารีส ด้านทิศเหนือ 



แผ่นป้ายจารึก คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง
ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์การ์นาวาเลต์  ปารีส  นั่งรถใต้ดินสาย 8
ลงที่ สถานี Chemin Vert Saint Paul  ส่วนรถเมล์ที่ผ่าน คือ
สาย 29, 69, 76, 96   แต่รถเมล์ถ้าไม่คุ้นอย่าขึ้นเลย  เดี๋ยวก็หลงตายหรอก...
(คนที่นั่นบอกมา)  พิพิธภัณฑ์นี้เก็บของใหญ่น้อยไว้ถึงเกือบ 5 แสนชิ้น 
เพราะฉะนั้น ถ้าไปแล้วหาแผ่นป้ายนี้ไม่พบ-โปรดอย่าว่ากัน นะครับ


























1)คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง ปี 1789

 เป็นเอกสารหัวใจชิ้นหนึ่งของการปฏิวัติฝรั่งเศส แพร่หลายรู้จักกันทั่วโลก  รับรองอย่างเป็นทางการในช่วงปฏิวัติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789  มีชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ยืนนาน  และมีกำเนิดมาจากชาติตระกูลอันสง่างาม ตั้งแต่ยุคยุโรปโบราณ สมัยกรีกและโรมันโน่นเลย

 เอกสารชิ้นนี้ ราวกับว่าจะมีชีวิตจิตวิญญาณของตนเอง  ได้กลายพันธุ์แตกแขนงและกิ่งก้านสาขา ออกปกแผ่ครอบคลุมโลกปัจจุบันทั้งโลก  เป็นพื้นฐานของคำประกาศสิทธิมนุษย์ชนขององค์การสหประชาชาติ ที่ยกร่างกันเมื่อ ค.ศ.1948  และเป็นแรงบันดาลใจของขบวนการเรียกร้อง สิทธิ หลากหลาย ในโลกในระยะหลัง  รวมทั้งการทำงานของเอ็นจีโอองค์กรสำคัญ ๆ ในโลกเวลานี้  เช่น  Amnesty International  และ  Human Rights Watch  เป็นต้น  คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับการบันทึกไว้ เป็นมรดกความทรงจำโลก(Mémoire du monde Memory of the World)โดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2003 / พ.ศ. 2546  เอกสารชิ้นนี้ ทำให้การปฏิวัติฝรั่งเศสสร้างสรรค์คุณค่าทอดเนื่องได้ยาวนาน  เป็นพยานหลักฐานยืนยันว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติสังคม (--ที่ผู้เขียนบทความนี้และเพื่อนฝูงถือ กันว่า เป็นการปฏิวัติสร้างสรรค์สังคมเพียงครั้งเดียว ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก  ส่วนเหตุการณ์อื่น ๆ ภายหลังจากนั้น ที่เรียกกันว่า ปฏิวัติ เช่น การปฏิวัติรัสเซีย  การปฏิวัติจีน  หรือการปฏิวัติคิวบา เป็นต้น  เป็นเพียงการเรียกขานที่ทำซ้ำและดัดแปลง  มิใช่งานสร้างสรรค์โดยแท้  หรือไม่ก็เป็นการทำหุ่นจำลอง จากการปฏิวัติฝรั่งเศส 

ผู้เขียนลองเคาะกูเกิ้ลภาษาอังกฤษดู  พบว่ามีหน้าเว็บเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ประมาณ 24 ล้านเว็บไซด์  ส่วนการปฏิวัติรัสเซียมีเพียง 5 แสนเว็บไซด์เท่านั้น  เพื่อความยุติธรรม ถ้าเราจะไม่ปรึกษากูเกิ้ลภาษาฝรั่งเศส--เนื่องจากอาจจะเข้าข้างการปฏิวัติฝรั่งเศส  เราลองสอบทานกับกูเกิ้ลภาษาที่เป็นกลาง และเป็นภาษาใหญ่ภาษาหนึ่งในโลก  ใช้กันมากกว่า 23 ประเทศทั้งในยุโรปและละตินอเมริกา คือ  กูเกิ้ลภาษาสเปน  ผู้เขียนลองเคาะคำว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส ในภาษาสเปน = La Revolución Francesa  พบว่า มีอยู่กว่า 1.5 ล้านเว็บไซด์  ครั้นเคาะคำว่า การปฏิวัติรัสเซียปี 1917 = La Revolución rusa de 1917  อันเป็นเหตุการณ์ที่ต่อมา ได้กลายเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า การปฏิวัติ บอลเชวิค ยึดตำราคอมมิวนิสต์-มาร์กซิสต์  พบว่ามีเพียง 9 หมื่นเว็บไซด์เท่านั้น  เพราะอะไร?  ด้วยเหตุใดจึงมีคนสนใจน้อยกว่ากันถึง 16 เท่าตัว?  ทั้ง ๆ ที่กลุ่มประเทศละตินอเมริกา เป็นดินแดนอันชุกชุมด้วยขบวนการ ปฏิวัติ ต่าง ๆ มากมาย
 
จะเป็นไปได้ไหมว่า  คนสมัยใหม่มีเวลาน้อยลง  จึงสนใจศึกษางานสร้างสรรค์ในต้นฉบับกัน มากกว่าที่จะศึกษางานทำซ้ำ งานดัดแปลง หรืองานทำหุ่นจำลอง?  นอกจากนั้นมรดกความทรงจำโลกที่ขึ้นทะเบียนไว้กับองค์การยูเนสโก จากแหล่งในประเทศรัสเซีย  ที่เป็นเอกสารเกี่ยวกับการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์รัสเซีย—กลับไม่มีเลย

ซึ่งเป็นเรื่องแปลก ที่การปฏิวัติพลิกสังคมอันถือกันว่า น้อง ๆ การปฏิวัติฝรั่งเศส กลับไม่ได้มีมรดกทางความคิด ตกทอดให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา 

ดังนั้น  ถ้าท่านผู้อ่านต้องการอ่านเอกสารต้นฉบับสักชิ้นหนึ่ง  เกี่ยวกับการปฏิวัติสังคม ที่เป็นผลจากการตกผลึกทางความคิด ของยุคฟ้าแจ้งจางปางในฝรั่งเศส(the French Enlightment)  ที่ไม่ใช่งานหุ่นจำลอง  งานทำซ้ำ  หรืองานดัดแปลง  ผู้เขียนขอเสนอว่า ท่านน่าที่จะอ่านเอกสารชิ้นนี้ “คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง ปี 1789” 

 เราลองมาดูกันดีกว่า ว่า ชีวิตของสิ่งนี้  เป็นมา และเป็นไปอย่างไร?

          เอกสารชิ้นเล็ก ๆ สั้น ๆ  ถ้าใช้ฟอนต์ Tahoma ขนาด 9  อันเป็นฟอนต์มาตรฐานฟอนต์หนึ่งในอินเตอร์เนต  เคาะคีย์บอร์ดพิมพ์ขึ้นจอ  เอกสารทั้งหมดจะมีขนาด 28 kb  ประกอบด้วยอักขระประมาณ 4 พันเศษ  ผู้เขียนบทความนี้ได้ย่อขนาดตัวอักษร  พิมพ์ต้นฉบับคำประกาศฯ ที่เป็นภาษาฝรั่งเศส  คัดลอกมาจากเว็บไซด์กระทรวงยุติธรรมฝรั่งเศส  แล้วพิมพ์ข้อความทั้งหมด ไว้ในกรอบ อยู่ถัดไปในบทความนี้  เพื่อท่านผู้อ่านผู้รู้ภาษาฝรั่งเศส จะได้สัมผัสเอกสารต้นฉบับโดยตรง  หรือท่านอื่น ๆ ก็สามารถสอบถามความหมายทางอ้อม ได้จากมิตรสหายผู้รู้ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย  หรือจากบริการแปลภาษาของ กูเกิ้ล

          เวลานี้ ที่ประเทศฝรั่งเศส คำประกาศสิทธิมนุษย์ฯ แผ่นนี้ ยังถือเป็นกฎหมาย  อยู่ใน กลุ่มกฎหมายรัฐธรรมนูญ ของฝรั่งเศส ที่คำศัพท์เทคนิคทางกฎหมายเรียกว่า  Le bloc de constitutionnalité

          คำประกาศสิทธิมนุษย์ฯ ประกอบด้วย preambule หรือ คำขึ้นต้น  ทำหน้าที่อารัมภบท  ถัดมา ก็จะเป็นบทบัญญัติทั้งหมด 17 มาตรา  คำขึ้นต้น แม้จะเป็นส่วนประกอบเบื้องต้น--ไม่ใช่ตัวมาตรา  แต่ที่จริง ก็มีตัวอย่างในฝรั่งเศสว่า  ตุลาการถือว่าคำขึ้นต้นของ คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง ปี 1789 เป็นบทบัญญัติกฎหมายด้วย--แม้จะไม่ใช่ตัวมาตราก็ตาม  เช่น เคยมีคำพิพากษาให้ร่างกฎหมายซึ่งขัดต่อ คำขึ้นต้น(preambule)ของ คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง  ถือเป็นอันใช้ไม่ได้  ให้ตกไป (คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส  เลขที่ 74-44 DC วันที่ 16 กรกฎาคม 1971)  และเรื่องแบบนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะแต่ในฝรั่งเศส  ในประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ประเทศอินเดีย  ศาลฎีกาของอินเดีย ก็เคยพิพากษาคดีตัวอย่าง  โดยอิง คำขึ้นต้น ของรัฐธรรมนูญอินเดียมาแล้วเช่นเดียวกัน (คำตัดสินศาลฎีกาอินเดียเลขที่ CASE NO. : Writ Petition (civil) 135 of 1970,  คดีตัดสินเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ.1973) 

          ใคร คือ ผู้ยกร่าง คำขึ้นต้น  ในคำประกาศสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง ปี
1789 ? 

ท่านผู้อ่านบางท่านคงได้ทราบเรื่อง ท่านเคานต์ มิราโบ นักการเมืองและนักปฏิวัติ ผู้แทนฐานันดรที่สาม จากเมืองเอ็ก-ซ็อง-โปรว้องซ์ ทางใต้ของฝรั่งเศส  ผู้เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโรเบสปิแยร์ทำนองว่า เขาเป็นคนเชื่อคำพูด ทุกคำที่ตนพูด-คน ๆ นี้ จะไปไกล   ในกาลต่อมา เมืองเอ็ก-ซ็อง-โปรวองซ์  ได้ตั้งชื่อถนนสายที่สวยที่สุดในเมือง ตามนามของท่านว่าถนน กูร์ มิราโบ   ถนนสายนั้น เรียงรายด้วยต้นปลาตานต้นใหญ่ทั้งสองฝั่งถนน  เดือนแรกที่ไปเรียนหนังสือในฝรั่งเศส ผู้เขียนก็ได้เดินทางจากกรุงปารีส ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม ที่มหาวิทยาลัยเอ็ก-ซ็อง-โปรว็องซ์  ก็ได้มีโอกาสไปเดินเล่น ที่ถนน กูร์ มิราโบ  และในกาลต่อ ๆ มา ก็ได้แวะเวียนไปเที่ยวอีกหลายครั้ง  ท่านเคานต์ มิราโบ เป็นคนยกร่างคำขึ้นต้น ให้แก่คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง ในการปฏิวัติฝรั่งเศส  ซึ่งมีเนื้อความบัญญัติ ด้วยภาษาฝรั่งเศสอันเราอาจถือได้ว่า เป็นตัวอย่างของการใช้ภาษาที่ดี  ใจความว่า 

Les représentants du peuple français, constitués en Assemblée nationale, considérant que l'ignorance, l'oubli ou le mépris des droits de l'homme sont les seules causes des malheurs publics et de la corruption des gouvernements, ont résolu d'exposer, dans une déclaration solennelle, les droits naturels, inaliénables et sacrés de l'homme, afin que cette déclaration, constamment présente à tous les membres du corps social, leur rappelle sans cesse leurs droits et leurs devoirs ; afin que les actes du pouvoir législatif et ceux du pouvoir exécutif, pouvant être à chaque instant comparés avec le but de toute institution politique, en soient plus respectés ; afin que les réclamations des citoyens, fondées désormais sur des principes simples et incontestables, tournent toujours au maintien de la Constitution et au bonheur de tous.

En conséquence, l'Assemblée nationale reconnaît et déclare, en présence et sous les auspices de l'Être Suprême, les droits suivants de l'homme et du citoyen. 

คำแปล—โดย ผู้เขียนบทความภาษาไทย บทนี้

ผู้แทนปวงชนชาวฝรั่งเศส  อันกอร์ปเป็นรัฐสภาแห่งชาติ  พิจารณาแล้วเห็นว่า ความโง่เขลาก็ดี  การละเลยหลงลืมก็ดี  หรือการดูหมิ่นสิทธิมนุษย์ชนก็ดี  เป็นปฐมเหตุแห่งความทุกข์ยากของสาธารณชน และของการฉ้อราษฏร์บังหลวงในรัฐบาลต่าง ๆ  จึงลงมติให้ บัญญัติเรื่องสิทธิตามธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ ติดตัวมนุษย์ ไว้ในคำประกาศอันเคร่งขรึมสำรวม  เพื่อว่า คำประกาศนี้จะเตือนบุคคลทุกหมู่เหล่าในสังคมอยู่เป็นอาจิณ  ให้รู้ถึงสิทธิแห่งตน และหน้าที่ของตน ไม่ลืมเลือน  เพื่อว่า การปฏิบัติอำนาจนิติบัญญัติ กับการปฏิบัติอำนาจบริหาร  จะถูกนำมาเทียบเคียงได้ทุกเมื่อ กับจุดมุ่งหมายของสถาบันทางการเมือง อันน่าเคารพกว่าเดิม  ทั้งนี้เพื่อว่า ข้อเรียกร้องทั้งหลายของพลเมือง  อันนับแต่นี้ต่อไป จะอ้างอิงอาศัยหลักการเรียบง่ายโต้แย้งมิได้  และจักมุ่งธำรงไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญและความสุขของปวงชนเป็นนิจ

ด้วยประการฉะนี้  รัฐสภาจึงรับรองและประกาศต่อหน้า และภายใต้พรของตัวตนยิ่งใหญ่  ว่าสิทธิต่อไปนี้ เป็นสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง 

--คำว่า ตัวตนยิ่งใหญ่ แปลซื่อ ๆ มาจาก  l’Être Suprême = Supreme Being  ซึ่งเป็นแนวความคิดที่คณะปฏิวัติสร้างขึ้นใหม่ เพื่อโปรโหมดแทนองค์พระผู้เป็นเจ้า  เพราะคณะปฏิวัติ ไม่ต้องการให้คนนับถือศาสนา และนับถือพระเจ้า อีกต่อไป) 

          ท่านเคาน์ มิราโบ นั้น ท่านมีชีวิตส่วนตัวที่ซุกซน ถ้าจะเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่น ท่านก็เป็นซามูไรประเภท ปะฉะดะ  แม้ท่านจะสูงวัยก็ตาม  ต่อมาท่านก็เลยถึงแก่ความตาย.....ด้วยโรค.....หนองใน

ต้นฉบับคำประกาศสิทธิมนุษย์ฯภาษาฝรั่งเศส  คัดลอกมาจากเว็บไซด์กระทรวงยุติธรรมฝรั่งเศส  เสนอไว้ถัดไป  โดยไม่ตัดทอน ดังนี้



26 août 1789
Les représentants du peuple français, constitués en Assemblée nationale, considérant que l'ignorance, l'oubli ou le mépris des droits de l'homme     sont les seules causes des malheurs publics et de la corruption des gouvernements, ont résolu d'exposer, dans une déclaration solennelle, les droits naturels, inaliénables et sacrés de l'homme, afin que cette déclaration, constamment présente à tous les membres du corps social, leur rappelle sans cesse leurs droits et leurs devoirs ; afin que les actes du pouvoir législatif et ceux du pouvoir exécutif, pouvant être à chaque instant comparés avec le but de toute institution politique, en soient plus respectés ; afin que les réclamations des citoyens, fondées désormais sur des principes simples et incontestables, tournent toujours au maintien de la Constitution et au bonheur de tous.
En conséquence, l'Assemblée nationale reconnaît et déclare, en présence et sous les auspices de l'Être Suprême, les droits suivants de l'homme et du citoyen.
Article premier - Les hommes naissent et demeurent libres et égaux en droits. Les distinctions sociales ne peuvent être fondées que sur l'utilité commune.
Article 2 - Le but de toute association politique est la conservation des droits naturels et imprescriptibles de l'homme. Ces droits sont la liberté, la propriété, la sûreté et la résistance à l'oppression.
Article 3 - Le principe de toute souveraineté réside essentiellement dans la Nation. Nul corps, nul individu ne peut exercer d'autorité qui n'en émane expressément.
Article 4 - La liberté consiste à pouvoir faire tout ce qui ne nuit pas à autrui : ainsi, l'exercice des droits naturels de chaque homme n'a de bornes que celles qui assurent aux autres membres de la société la jouissance de ces mêmes droits. Ces bornes ne peuvent être déterminées que par la loi.
Article 5 - La loi n'a le droit de défendre que les actions nuisibles à la société. Tout ce qui n'est pas défendu par la loi ne peut être empêché, et nul ne peut être contraint à faire ce qu'elle n'ordonne pas.
Article 6 - La loi est l'expression de la volonté générale. Tous les citoyens ont droit de concourir personnellement ou par leurs représentants à sa formation. Elle doit être la même pour tous, soit qu'elle protège, soit qu'elle punisse. Tous les citoyens, étant égaux à ces yeux, sont également admissibles à toutes dignités, places et emplois publics, selon leur capacité et sans autre distinction que celle de leurs vertus et de leurs talents.
Article 7 - Nul homme ne peut être accusé, arrêté ou détenu que dans les cas déterminés par la loi et selon les formes qu'elle a prescrites. Ceux qui sollicitent, expédient, exécutent ou font exécuter des ordres arbitraires doivent être punis ; mais tout citoyen appelé ou saisi en vertu de la loi doit obéir à l'instant ; il se rend coupable par la résistance.
Article 8 - La loi ne doit établir que des peines strictement et évidemment nécessaires, et nul ne peut être puni qu'en vertu d'une loi établie et promulguée antérieurement au délit, et légalement appliquée.
Article 9 - Tout homme étant présumé innocent jusqu'à ce qu'il ait été déclaré coupable, s'il est jugé indispensable de l'arrêter, toute rigueur qui ne serait pas nécessaire pour s'assurer de sa personne doit être sévèrement réprimée par la loi.
Article 10 - Nul ne doit être inquiété pour ses opinions, mêmes religieuses, pourvu que leur manifestation ne trouble pas l'ordre public établi par la loi.
Article 11 - La libre communication des pensées et des opinions est un des droits les plus précieux de l'homme ; tout citoyen peut donc parler, écrire, imprimer librement, sauf à répondre de l'abus de cette liberté dans les cas déterminés par la loi.
Article 12 - La garantie des droits de l'homme et du citoyen nécessite une force publique ; cette force est donc instituée pour l'avantage de tous, et non pour l'utilité particulière de ceux à qui elle est confiée.
Article 13 - Pour l'entretien de la force publique, et pour les dépenses d'administration, une contribution commune est indispensable ; elle doit être également répartie entre les citoyens, en raison de leurs facultés.
Article 14 - Les citoyens ont le droit de constater, par eux-mêmes ou par leurs représentants, la nécessité de la contribution publique, de la consentir librement, d'en suivre l'emploi, et d'en déterminer la quotité, l'assiette, le recouvrement et la durée.
Article 15 - La société a le droit de demander compte à tout agent public de son administration.
Article 16 - Toute société dans laquelle la garantie des droits n'est pas assurée ni la séparation des pouvoirs déterminée, n'a point de Constitution.
Article 17 - La propriété étant un droit inviolable et sacré, nul ne peut en être privé, si ce n'est lorsque la nécessité publique, légalement constatée, l'exige évidemment, et sous la condition d'une juste et préalable indemnité.

 
ลำดับต่อไป จะขอเสนอมาตราสำคัญ และมีชื่อเสียง ควรค่าน่าศึกษา ยกมาเป็นตัวอย่างสักสองสามมาตรา  คือ

Article premier - Les hommes naissent et demeurent libres et égaux en droits. Les distinctions sociales ne peuvent être fondées que sur l'utilité commune.

มาตราแรก มนุษย์ชนเกิดมา และมีชีวิตอยู่อย่างเสรี  เท่าเทียมกันในสิทธิ  ความแตกต่างทางสังคม จะก่อตั้งขึ้นได้ ก็ด้วยผลประโยชน์ร่วมสำหรับส่วนรวม

ถ้อยคำสำนวนที่ว่า มนุษย์ชนเกิดมา และมีชีวิตอยู่อย่างเสรี  เท่าเทียมกันในสิทธิ  มีต้นกำเนิดมาจาก กฎหมายยกเลิกอภิสิทธิ์ฐานันดรและระบบฐานันดร ลงวันที่ 4 สิงหาคม 1789  ซึ่งหมายความว่า เลิกหมดทุกฐานันดร ที่มีในฝรั่งเศสทั้งหมดสามฐานันดร  ไม่ได้แปลว่า เลิกฐานันดรของพวกผู้ลากมากดี  แต่ฐานันดรที่สาม—พวกโคกระบือ กับ Slumdogs ก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และเป็นปริโยสาน 

ก็แปลว่า ประเทศฝรั่งเศส จะไม่มีโคกระบือ หรือ Slumdogs อีกต่อไป (ในสายตาของกฎหมาย)  ฝรั่งเศสเรียกกฎหมายฉบับนั้นว่า ประกาศกำหนดยกเลิกอภิสิทธิ์ (Décret relatif á abolition des privilèges) มีศักดิ์กฎหมายคล้าย ๆ พ.ร.ก.  ระบบกฎหมายฝรั่งเศสก็คล้าย ๆ กับระบบกฎหมายไทย หรือจะพูดกลับกันเสียก็ไม่ผิด ว่า ระบบกฎหมายไทยก็คล้าย ๆ กับระบบกฎหมายฝรั่งเศส  คือกฎหมายทุกฉบับต่างก็มี “ศักดิ์ของกฎหมาย”  ว่าอยู่ระดับใด โดยที่ตัวรัฐธรรมนูญ กับกลุ่มกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ฝรั่งเศสรวมเรียกว่า Le bloc de constitutionnalité  จะเป็นกฎหมายศักดิ์สูงสุด เช่น คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนฯ เป็นต้น ก็จะสังกัดอยู่ใน “กลุ่มกฎหมายรัฐธรรมนูญ”  สำหรับของไทยนั้น ตัวอย่างกฎหมายในกลุ่ม  Le bloc de constitutionnalité น่าจะเป็น กฎมณเฑียรบาล   

ในระหว่างนั้น สภากำลังยกร่าง คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนฯ”  แต่เนื่องจากคำประกาศยกเลิกอภิสิทธิ์ฯ เร่งด่วนกว่า (มีรายละเอียดเยอะ นะว่า  ทำไมจึงเร่งด่วนกว่า  แต่จะไม่เล่า เพราะเดี๋ยวจะยาว) จึงประกาศออกมาก่อน  ส่วนประกาศสิทธิมนุษย์ฯ ก็ตามมา ในอีกประมาณยี่สิบกว่าวัน 

ประกาศกำหนดยกเลิกอภิสิทธิ์มี 18 มาตรา(จะไม่ขอลงรายละเอียด)  ผู้เขียนได้ศึกษาเอกสารต้นฉบับทั้งสองชิ้น เปรียบเทียบกัน เพื่อเก็บประเด็นมาเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่าน  แล้วจึงได้เห็นว่า มาตราแรกของประกาศสิทธิมนุษย์ฯ น่าจะมาจาก มาตรา 11 ในคำประกาศกำหนดยกเลิกอภิสิทธิ์ฯ (ผิดพลาดขออภัย-ครับ ไม่ได้ลอกมาจากไหน ศึกษาและสู่รู้ สรุปเอาเอง)

มาตราต่อไป ในประกาศสิทธิมนุษย์ฯ ที่จะยกมาอ่านด้วยกัน คือ มาตรา 6

Article 6 - La loi est l'expression de la volonté générale. Tous les citoyens ont droit de concourir personnellement ou par leurs représentants à sa formation. Elle doit être la même pour tous, soit qu'elle protège, soit qu'elle punisse. Tous les citoyens, étant égaux à ces yeux, sont également admissibles à toutes dignités, places et emplois publics, selon leur capacité et sans autre distinction que celle de leurs vertus et de leurs talents.

มาตรา 6 ฎหมายนั้น แสดงเจตจำนงของส่วนรวม  พลเมืองทั้งปวงมีสิทธิที่จะร่วมด้วยช่วยกัน บัญญัติกฎหมายได้ โดยการส่วนตัวหรือผ่านทางผู้แทน  กฎหมายต้องใช้เสมอหน้ากันกับทุกคน  ไม่ว่าในกรณีคุ้มครองหรือในกรณีลงโทษ  พลเมืองทั้งปวงซึ่งเสมอภาคกันต่อหน้าตัวบทกฎหมาย  ย่อมเสมอภาคกันในอันที่จะเข้ารับตำแหน่งอันทรงเกียรติ ในภาครัฐ ตามความสามารถแห่งตน  โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น นอกจากคุณสมบัติและฝีมือ  
          
ท่านผู้เสนอกฎหมายตัวบทนี้ คือ ตายีรังด์(Talleyrand) โดยได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก นักปรัชญายุคฟ้าแจ้งจางปาง ผู้หนึ่งคือ ฌัง-ฌาค รุสโซ 

ตายีรังด์ เป็นนักการเมืองและนักการทูตในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้มีชีวิตน่าสนใจศึกษา  และระยะหลัง ๆ นี้ ในฝรั่งเศส มีคนสนใจชีวิตและงานของท่านกันมาก  โดยผู้เขียนลองเคาะชื่อท่าน แข่งกับชื่อโรเบสปิแยร์ ใน กูเกิ้ลภาษาฝรั่งเศส เมื่อเร็ว ๆ นี้  พบว่าชื่อท่านผู้นี้ มีหน้าเว็บถึง 295,000  ส่วนชื่อโรเบสปิแยร์ มีหน้าเว็บ(กูเกิ้ลฝรั่งเศส) 254,000  ยังน้อยกว่า ตายีรังด์  ถึง 41,000 หน้า

เพื่อให้เรื่องยาวสั้นเข้า จะเล่าสรุปว่า ตายีรังด์  มาจากตระกูลขุนนาง แต่ทำหน้าที่ผู้แทนชนชั้นโคกระบือ และ Slumdogs (พวกฐานันดรที่สาม)  ท่านเคยเป็นพระมาก่อน และรุ่งเรืองในสมณศักดิ์  เมื่อเกิดเหตุวุ่นวายช่วงปฏิวัติ ก็สึกออกมามีเมีย  ต่อจากนั้น ท่านก็เข้าสู่วงการเมือง และมีอาชีพทางการเมือง รุ่งเรืองทุกยุคทุกสมัย  ไม่ว่าใครจะไปใครจะมา หรือใครจะหัวหลุดจากบ่า...ท่านจะรุ่งเรืองตลอด  มีการ์ตูนการเมืองปี 1815 วาดล้อเลียนท่านเอาไว้  เป็นรูปคนมี 6 หัว  หัวหนึ่งร้องว่า พระราชา จงเจริญ  อีกหัวหนึ่งร้องว่า สิทธิเสรีภาพ จงเจริญ  อีกหัวร้องว่า จักรพรรดิ จงเจริญ  อีกหัวร้องว่า ท่านกงสุลหมายเลข 1 จงเจริญ  และอีกหัวร้องว่า ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย จงเจริญ  ส่วนหัวที่หกคนวาดการ์ตูนเว้นเอาไว้  เพื่อให้ผู้อ่านเติมคำในช่องว่างกันเอาเอง

          อีกนัยหนึ่ง  ท่านจะเป็นประเภท ชนะไหนเข้าด้วย  ช่วยตะพึด   รึเปล่าเนี้ยยย...?  พูดจริงไม่พูดเล่นดีกว่า ว่า  คนยุคหลังสนใจท่าน  เพราะความที่ท่านมีประสบการณ์ข้ามยุคข้ามสมัย ข้ามรุ่น ข้ามสีสันทางการเมือง ข้ามทะเลบ้าแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส  รอดปลอดภัยทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้นำ นั่นเอง  

ถ้าท่านผู้อ่านเดินทางไปชมพิพิธภัณฑ์ ลูฟร์  แล้วหยุดยืนชมภาพเขียนขนาดมหึมา ของศิลปิน ฌาค หลุยส์ ดาวิด  วาดรูปนะโปเลียนสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศส ในภาพนั้น นะโปเลียนกำลังยกมงกุฎ เพื่อจะสวมแก่ โจเซฟิน  ในภาพเขียนการเมืองขนาดอภิบิ๊กภาพนี้  ขอให้ท่านมองไปที่ด้านขวามือของท่าน(ซ้ายของภาพเขียน) จะเห็นรูปกลุ่มคนสี่ซ้าห้าคน สวมเสื้อคลุมสีแดง หนึ่งในนั้น คือ ตายีรังด์ 

ส่วนจะเป็นคนไหนแน่ -- จะให้ง่ายและสะดวก และถ้าต่างฝ่ายต่างสะดวกตรงกัน  ท่านน่าจะนำตัวผู้เขียนเดินทางไปด้วย  แล้วจะชี้ให้ดู ว่า ตายีรังด์ คือคนไหนในภาพเขียนแผ่นใหญ่โตเท่าฝาผนังแผ่นนั้น รับรองว่าชี้ถูกตัวแน่ ไม่มั่วหรอก

นะโปเลียน ขยะแขยง ตายีรังด์  เป็นอันมาก  แต่ก็ยังอุตส่าห์เรียกใช้  นะโปเลียนเคยเรียก ตายีรังด์ ว่าเป็น “ขี้ ในถุงน่องไหม”   

Article 16 - Toute société dans laquelle la garantie des droits n'est pas assurée ni la séparation des pouvoirs déterminée, n'a point de Constitution.

มาตรา 16 สังคมใดไม่รักษากฎหมาย  ไม่แบ่งแยกอำนาจการปกครอง  สังคมนั้นหามีรัฐธรรมนูญไม่

มาตรา 16 นี้ ใคร ๆ อ่านก็ทราบว่า มาจาก ม็งเตสกิเออ  --ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว  ม็งเตสกิเออว่าไว้ เรื่องการแบ่งอำนาจการปกครองดูแลบ้านเมือง ออกเป็นสามขั้วอำนาจ  คือ  อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  อำนาจตุลาการ  โดยให้ทั้งสามอำนาจนี้ เสมอภาคกัน

ความคิดความเชื่อและการปฏิบัติการทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย หรือที่เป็นระบอบการปกครองสมัยใหม่--แม้ไม่ได้ใช้ชื่อ “ประชาธิปไตย”  ก็ยึดถือปฏิบัติเรื่องการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างที่ท่านว่ามา  รวมทั้งเป็นบรรทัดฐานการบริหารประเทศในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย  โดยที่ทางโน้นจะเรียกว่า เป็นเรื่อง “checks and balances”

ความคิดนี้  ปรากฏอยู่ในงานชิ้นเอกของ ม็งเตสกิเออ ชื่อ จิตวิญญาณของกฎหมาย  เรียกสั้น ๆ เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า De l’esprit des lois   และผู้เขียนขอยุติการแนะนำคำประกาศสิทธิมนุษย์ฯ ต่อท่านผู้อ่าน พอหอมปากหอมคอแต่เพียงเท่านี้  เพื่อเดินหน้าต่อไป  เล่าเรื่องชีวิตของสิ่งไม่มีชีวิต อันเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสชิ้นที่สอง  อะไรเอ่ย-ให้เดา? 

ใบ้ให้ก็ได้ว่า สิ่งของชิ้นนี้ไม่ได้เป็นพระเอก  แต่เป็น นางเอก  ในการปฏิวัติฝรั่งเศส

สำหรับ คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง นั้น  ผู้เขียนถือว่าเป็นพระเอกด้วยเหตุผลตลก ๆ ที่ว่า คำว่า สิทธิ หรือ droit ในภาษาฝรั่งเศส เป็นคำเพศชาย  แต่ สิ่งไม่มีชีวิต ลำดับที่สอง ที่จะเสนอต่อท่านผู้อ่าน  เป็นสิ่งไม่มีชีวิตที่ ใช้ปลิดชีวิต ของสิ่งมีชีวิต  ชื่อสิ่งนี้ในภาษาฝรั่งเศส เป็นคำนามเพศหญิง  ผู้เขียนจึงถือว่า เธอเป็น นางเอก ของการปฏิวัติฝรั่งเศส  เธอมีนามว่า ลา กิโยติน (la Guillotine)


2) เครื่องกิโยติน

          เมื่อผู้เขียนนั่งเครื่องบินโบอิ้ง 747 ไม่ได้เดินทางไปกับ เรือเดินสมุทร์ นะครับเจ๊ เที่ยวบินที่ AF 169  ของสายการบินแอร์ ฟร้านซ์  ทะยานขึ้นจากดอนเมือง ไปเรียนหนังสือที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น  ดีนะว่าระยะแรก ๆ ผู้เขียนไม่ได้ไปประกอบกรรมทำผิดคิดร้ายอะไรมากมาย  เพราะปีที่เดินทางไปถึง  โทษประหารชีวิตในฝรั่งเศส ยังไม่ได้ยกเลิก 

และนักโทษประหาร ยังคงถูกตัดหัวด้วยเครื่องกิโยติน  เครื่องมือในการประหารชีวิตนักโทษฉกรรจ์ตามกฎหมายฝรั่งเศส  ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ยุคปฏิวัติ เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนโน้น  โดยให้ใช้กิโยตินอย่างเป็นการถาวร ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 1792  และใช้เรื่อยมาจนถึงโลกสมัยปัจจุบัน  กระทั่ง ฝรั่งเศสยกเลิกโทษประหารชีวิตเมื่อปี 1981 / พ.ศ. 2524  กิโยตินก็ถูกปลดระวาง เออลี่รีไทร์ ไปโดยอัตโนมัต  ทั้งนี้ โดยได้รับใช้การประหารชีวิตนักโทษ ในคุกฝรั่งเศส ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 10 กันยายน 1977 / พ.ศ. 2520  ที่คุกโบแมท(la prison des Baumettes) เมืองมาร์เซย  

          นางเอก คนนี้  ถ้าเธอได้ หายใจ รดหลังคอ ใครเมื่อใด ก็เป็นอันว่า เรียบร้อยเมื่อนั้น  ดังถ้อยแถลงของนายแพทย์ โจเซฟ อินญ็องซ์ กิโยแต็ง (Joseph Ignace Guillotin = ชื่อคน ภาษาฝรั่งเศส อ่านว่า กิโยแต็ง)  เจ้าของความคิดเครื่องกิโยติน ที่ได้แถลงไว้ต่อสภา ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส  ว่า 

« Le couteau tombe, la tête est tranchée à la vitesse du regard, l’homme n’est plus. À peine sent-il un rapide souffle d’air frais sur la nuque. »

ใบมีดตกลงมา  หัวขาดเพียงชั่วกระพริบตา  คนก็จะหาชีวิตไม่  เพียงแค่เขาจะรู้สึกว่า มีลมเย็นจากใบมีด โชยวาบผ่านหลังคอเขา เท่านั้น

โรแมนติค!  ท่านบรรยายสรรพคุณ นวัตกรรมใหม่ ของท่านได้อย่างสอดคล้องต้องตามปรัชญายุคฟ้าแจ้งจางปา พันกันมาเหมือนเถาแตง ทั้งสรรพคุณที่เกิดจากความสว่างทางปัญญาและอารมณ์ คือ ความคมกริบเฉียบขาด กับความรู้สึกที่ว่าเพียงแค่มีลมเย็นโชยวาบ ผ่านที่หลังคอ

คุณหมอกิโยแต็ง เป็นผู้แทนอยู่ในสภา และได้รับการสนับสนุนจาก ท่านเคาน์มิราโบ- นักการเมืองระดับเทพ  ให้เสนอการปรับปรุงกฎหมายอาญา ให้คนเสมอภาคกัน ต่อหน้าความตาย เมื่อถูกตัดสินประหารชีวิต 

โดยที่ กฎหมายเก่าลักลั่นไม่เสมอภาค  กล่าวคือ  กรณีถูกตัดสินประหารชีวิตตามกฎหมายเก่าของฝรั่งเศส  พวกฐานันดรชั้นสูงผู้ดีแปดสาแหรกและไฮโซ จะได้รับบริการตัดหัวด้วยมีดดาบอันคมกริบ  ส่วนพวกชนชั้นล่างลงมา โคกระบือและ Slumdogs จะโดนขวานจามคอ  โทษลอบปลงพระชนม์จะถูกดึงแขนขาฉีกออกจากร่าง  โทษแอนตี้พระเจ้า แพร่คำสอนของซาตาน เป็นพ่อมดหมอผี จะถูกเผาทั้งเป็น  โทษปล้นจะถูกแขวนคอ  ฯลฯ 

คุณหมอเสนอร่างกฎหมายใหม่ ให้ทุกคนที่โดนโทษประหารชีวิต  ตายด้วยการถูกตัดคอทุกคนและทุกโทษ  คือ ลักษณะการถูกสำเร็จโทษ จะมีเพียงสถานเดียวเสมอหน้ากันหมด  ทั้งนี้ ด้วยการคิดเครื่องมือสมัยใหม่ขึ้นมาตัดคอ ไม่ให้เจ็บปวด และศิวิไลซ์ ไม่ป่าเถื่อน 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านสภาฝรั่งเศส เมื่อ 6 ตุลาคม 1791  และได้ทดลองใช้เครื่องมือประหารที่คิดสร้างขึ้นใหม่กับศพหลายศพ  จนชัวร์แล้วว่า ฉับเดียวหัวขาด  นักโทษรายแรกถูกประหารชีวิตตามกฎหมายใหม่  ถูกตัดคอกับเครื่องตัดคอ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 1792  ซึ่งภายหลังได้ขนานนามเครื่องตัดหัวคน ตามนามท่านผู้เป็นต้นคิดนวัตกรรมใหม่นั้นว่า เครื่องกิโยติน  เป็นคำนามเพศหญิง  เล่ากันว่า นายแพทย์กิโยแต็ง เสียใจตลอดชีวิต  ที่ชื่อตนถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรียก นวัตกรรมใหม่ ชิ้นนี้   

กฎหมายอาญาก่อน พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) อันเป็นปียกเลิกโทษประหารฯในฝรั่งเศส  ได้กำหนดการประหารชีวิตในฝรั่งเศสไว้ตาม มาตรา 12  ความว่า

Article 12 Tout condamné à mort aura la tête tranchée.
มาตรา 12 ผู้ต้องโทษประหารชีวิตทุกคน  จะถูกตัดหัว

ส่วนที่ว่า ให้ตัดหัวกับเครื่องกิโยตินนั้น  ภาษากฎหมายบัญญัติว่า  “L’exécution au moyen d’une guillotine a été fixé par le décret du 20 mars 1792, encore en vigueur.“  แปลว่า การประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. ลงวันที่ 20 มีนาคม 1792  ยังคงบังคับใช้อยู่  ผลก็คือ ใช้เครื่องกิโยตินตัดคอนักโทษประหารมาเรื่อย ตลอดเวลา 189 ปี ตั้งแต่ปี 1792 จนถึงปี 1981

สรรพคุณที่ว่า เพียงรู้สึกว่า มีลมเย็นจากใบมีดโชยวาบผ่านหลังคอ  แล้วชีวิตก็จะหาไม่   และจะตายอย่างไม่เจ็บปวดนั้น  ก็ยังไม่มีผู้เข้าเครื่องกิโยตินรายใด กลับมาเล่ายืนยันว่า เจ็บหรือไม่เจ็บ-เจ็บป๊ะ?  และก็ยังไม่มีนักประวัติศาสตร์ท่านใด กล้าพิสูจน์ข้อเท็จจริงข้อนี้ด้วยตนเอง  ส่วนผู้เขียนบทความนี้ เป็นเพียงนักเขียนกิ้กก้อกธรรมดา ผู้หันมาเขียนเล่าเรื่องประวัติศาสตร์  เป็นแค่ story teller ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์โดยแท้ อีกนัยหนึ่งเป็น hybrid  ซึ่งก็จะเล่าประวัติศาสตร์ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้กระสัน นึกอยากจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงอะไรกับใครทั้งนั้นแหละครับ

กิโยติน สำคัญอย่างไร ต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส? 

ใครจะกล้าปฏิเสธว่า ถ้าขาดกิโยติน มาคอยอำนวยความสะดวกแบบฉับ ๆ ๆ ๆ เสียอย่าง  การปฏิวัติฝรั่งเศส อาจจะไปไม่รอด และไม่มีผลอย่างเช่นที่เป็นมา  รวมทั้ง คำประกาศสิทธิมนุษย์ชนและพลเมือง ปี 1789  ก็อาจไม่ได้มีชีวิตยืนยาวมาถึงปัจจุบันนี้  เพราะว่า การจะสังหาร หรือประหารชีวิตคนจำนวนมาก ๆ นับพันนับหมื่นคน ภายในเวลาเล็กน้อย ตามคำสั่งของคณะนักปฏิวัตินั้น  จะเป็นไปได้อย่างไรกัน? จะทำได้งัย? 

ปัญหาเทคนิคมีหลายระดับ  เช่น  จะหาเพชฌฆาตจำนวนมากมาจากไหน?  กับปัญหาสังคมการเมืองที่ว่า คนนับหมื่น ๆ คนเหล่านั้น จะนั่งรอให้ฆ่าหรือ?  ความรวดเร็วฉับไวในการประหารชีวิต  บวกกับ  ขีดความสามารถของอุปกรณ์ประหาร ที่สามารถบั่นคอได้ฉับ ๆ ๆ  มีส่วนผลักดันให้การปฏิวัติฝรั่งเศส ดำเนินไปอย่างที่ได้เป็นมา นางเอกกิโยติน  ได้มีบทบาทคมกริบเฉียบขาด ที่ใครจะมองข้ามเธอไปอย่างฉับฉวย(=ฉาบฉวย)มิได้  อนึ่ง  การประหารชีวิตแบบเก่า ด้วยการเอาขวานจามคอ  มีสิทธิที่จะเกิดเหตุทุลักทุเล  ดังตัวอย่างกรณีการประหารชีวิต ท่านหญิงซอลส์เบอรี ( Countess of Salisbury - Margaret Plantagenet) ในประเทศอังกฤษ  ตามคำสั่งพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดแห่งอังกฤษ เมื่อปี 1541  เรื่องราวพอจะนำมาเรียบเรียงบรรยายความเสียใหม่ เป็นภาษาไทย  ได้ว่า  







ภาพตัวอย่างอุปกรณ์และการประหารโดยเอาขวานจามคอ  
แบบที่ ท่านหญิงซอลส์เบอรี โดนที่อังกฤษ


“…...ท่านหญิงซอลส์เบอรี ผู้แทงหวยผิดเบอร์  ไปขึ้นเวทีพวกขบถ  เธอถูกจำขังอยู่ในหอคอยแห่งลอนดอนโดยปราศจากการไต่สวน  ด้วยข้อหาขบถต่อราชบัลลังก์  พระเจ้าเฮนรีที่แปด ให้นำเธอไปประหารชีวิต  เธอเป็นสตรีร่างเล็ก  แบบบาง  และป่วย  แต่เธอก็เป็นผู้ดี ผู้ภาคภูมิและดึงดื้อถือดี 

เมื่อจะถูกประหารชีวิต  ท่านหญิงฯผู้ภาคภูมิ  ถูกลากถูลู่ถูกังไปยังแท่นประหาร  อันเป็นเขียงไม้ ที่สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะ--เพื่อเธอ  ตั้งอยู่บนลานประหาร ในมุมหนึ่งของหอคอยแห่งลอนดอน  ครั้นถูกลากกระชากตัวไปถึงแท่นที่ประหาร  เธอถือดีปฏิเสธที่จะก้มศีรษะลงกับเขียง  จึงถูกผู้ช่วยเพชฌฆาตบังคับ ด้วยการกดศีรษะเธอลงกับเขียงนั้น เพื่อเพชฌฆาตอีกคนหนึ่ง จะได้เอาขวานจามคอ 

กระนั้น เธอก็ยังดึงดื้อ ดิ้นอยู่ไม่รู้จบ  เป็นเหตุให้เพชฌฆาตผู้อ่อนประสบการณ์  มือใหม่หัดขับ  ชั่วโมงบินน้อย  เงื้อขวานจามโครมเดียว พลาดจากคอมาลงที่ไหล่ของเธอ เป็นแผลลึกเหวอะหวะ 

แต่แล้ว เธอก็ยังอุตส่าห์ดิ้นสุดฤทธิ์ สะบัดตัวหลุดจากแท่นประหาร  วิ่งหนีไปพร้อมกับเลือดโทรมไหล่  เธอวิ่งไปโลด ๆ ๆ ๆ ท่านหญิงไปโลด ๆ  เพชฌฆาตมือใหม่แต่แรงดี  ถือขวาน เงื้อง่า ตามไล่ฟันท่านหญิงฯ ไปติด ๆ  เธอถูกจามด้วยขวานถึงสิบเอ็ดแผลกว่าจะตายลง 

ในขณะนั้น มีคนมาเป็นสักขีพยาน ชมการประหารชีวิตเธอ อยู่ราว 150 คน  และเธอก็อายุ 68 ปีแล้ว…..”  

          ตัวอย่างการประหารชีวิตในยุโรปยุคเก่า—ก่อนที่ฝรั่งเศสจะคิด เครื่องกิโยติน  มีกรณีที่ทุเรศทุรังกา ดังตัวอย่างกรณีการประหาร ท่านหญิงซอลส์เบอรี (Countess of Salisbury - Margaret Plantagenet) นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสบางท่านกล่าวว่า  กรณีที่ทุเรศกว่านั้น ยังมีอีก อุบาทว์มาก ๆ เลยแหละ     

          อย่าลืมว่า การประหารชีวิตในยุโรปยุคโบราณ--ก่อนที่จะมีอินเตอร์เนตนานมาก จะทำกันอย่างเปิดเผย  บางทีก็ใช้ลานสาธารณะในเมือง เป็นลานประหาร  จะมีคนมาชมการประหารชีวิตมากมาย  คล้าย ๆ กับจะเป็นรายการมหรสพชนิดหนึ่ง  เหมือนกับการให้ กลาดิเอเตอร์ ต่อสู้กับส้ตว์ร้าย หรือฆ่ากันเอง ให้ฝูงชนชมใน โคลีเซียม ในกรุงโรมโบราณ  เพราะฉะนั้น เรื่องราวเล่าขานที่บันทึกกันไว้ เกี่ยวกับการประหารชีวิต ที่ทุเรศทุรังกา จึงมีมากมายให้คนรุ่นหลังศึกษาได้  แม้กระทั่งในหนังสือประเภท “ถืออ่านมือเดียว”(one-hand read) เช่น เรื่องชีวิตรักของนักรักนามกระเดื่อง สำนวนสมัยนี้เขาเรียกนักรักผู้ยิ่งใหญ่   แต่ผู้เขียนรังเกียจคำคุณศัพท์คำว่า ยิ่งใหญ่  ตัวเองไม่เคยใช้-ถ้าใช้แปลว่า กำลังประชด  จึงขอละเว้น-ไม่นำมาใช้  นักรักอย่าง
คาซาโนวา ก็เคยชมการประหารชีวิตที่น่าหวาดเสียว ในลานสาธาณะกลางเมือง ที่ฝรั่งเศส ด้วยการใช้ม้าดึงแขนขาคนออกจากร่าง และเขียนเล่าไว้ในบันทึกของตน 

          เกี่ยวกับหนังสือประเภท “ถืออ่านมือเดียว”(one-hand read) ในฝรั่งเศสและในยุโรปนั้น  ถ้ามีท่านผู้อ่านขี้สงสัยบางท่าน ถามว่า แล้วอีกมือหนึ่ง-ทำอะไร?  ผู้เขียนก็จะไม่ตอบ หัวเด็ดตีนขาด-จะไม่ตอบ   

ลักษณะของเครื่องกิโยติน อันศิวิไลซ์ มีเหตุผลและมีมนุษยธรรม  มีองค์ประกอบ คือ

1) ส่วนฐาน  ทำหน้าที่เป็นแท่นสำหรับตั้งวงกบสูงประมาณ 4 เมตร  กว้างประมาณ 37 เซนติเมตร 
2) กรอบวงกบทั้งสองด้าน ทำร่องไว้ให้ใบมีดแล่นลงมาจากด้านบน โดยไม่ติดขัด  3) ใบมีดมีลักษณะใบเฉียง คมกริบสำหรับตัดหัว  มีแผ่นตะกั่วเพิ่มน้ำหนักประกบอยู่
ด้านบนซึ่งเป็นสันของใบมีด  ช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความแน่นอนของการบั่น  แผ่นตะกั่วเพิ่มน้ำหนักรวมกับใบมีดเฉียงคมกริบ ประกอบกันเป็นอุปกรณ์ชุดปฏิบัติการตัดหัว  น้ำหนักรวมกันประมาณ 40 กิโลกรัม 
4) เชือกสำหรับดึงถอดสลักชุดปฏิบัติการตัดหัว  มีลูกรอกรองรับเชือกเพื่อดึง
กระเดื่องปลดสลัก ที่ล็อคชุดใบมีดอยู่ให้หลุดออก  ปล่อยใบมีดหล่นลงมา  โดยปลายเชือกอีกด้านหนึ่งโยงมาที่เพชฌฆาต 
5) ช่องสอดศีรษะเพื่อการตัดคอ  อยู่ที่ส่วนล่างของวงกบ  ประกอบด้วยแผ่นไม้สองชิ้น  ชิ้นเคลื่อนไหวได้ กับ ชิ้นติดอยู่กับที่  ชิ้นเคลื่อนไหวได้อยู่ด้านบน สามารถดึงเลื่อนขึ้นไปตามร่องวงกบอีกร่องหนึ่ง--ไม่เกี่ยวกันกับร่องสำหรับใบมีดที่อยู่ภายในวงกบ  โดยแผ่นไม้ทั้งสองชิ้นนี้ถูกบากเว้าครึ่งวงกลม แบบพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว  เวลาประกับกันก็จะเป็นพระจันทร์เต็มดวง  ส่วนเว้าของแผ่นไม้ชิ้นล่างที่ติดอยู่กับที่  ใช้สำหรับวางคอนักโทษ  แทนที่จะวางคอกับเขียง อย่างการประหารชีวิตด้วยการใช้ขวานจามคอ 

เมื่อวางคอลงเรียบร้อยแล้ว  เพชฌฆาตก็จะกดแผ่นไม้ส่วนเคลื่อนไหวได้ลงจากด้านบน  ซึ่งก็บากตรงกลางเว้าเป็นพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวเช่นเดียวกัน  เมื่อประกบกันกับชิ้นล่าง  พระจันทร์ครึ่งเสี้ยวบวกกับพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว  กลายเป็นพระจันทร์เต็มดวง  โดยมีคอนักโทษอยู่ในช่องพระจันทร์เต็มดวงนั้น  ส่วนศีรษะที่จะต้องถูกตัดตามกฎหมายอาญาเดิมมาตรา 12  สอดพระจันทร์เต็มดวง โผล่อยู่ด้านหน้าเครื่องกิโยติน  โดยที่ตรงใต้ศีรษะคน  เขาจะวางตะกร้าใบโตไว้รองรับหัวที่หลุดแล้ว  ที่จะพลัดตกลงในตะกร้าอย่างเรียบร้อย  ไม่กระเด็นกลิ้งกระดอน เด้งดึ๋งไปให้เป็นที่อุจาด  สำหรับร่างกายที่อยู่อีกด้านหนึ่งของวงกบ  จะมีภาชนะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า คล้ายโลงเปิดฝา  ตั้งรองรับอยู่ด้านข้างกิโยติน  เพชฌฆาตจะพลิกตัวคนหัวขาดลงในภาชนะได้เลย 

สำหรับที่วงกลมพระจันทร์เต็มดวงนั้น  เมื่อไม่มีหัวคนสอดอยู่  แผ่นไม้เว้าครึ่งวงกลมสองชิ้นจะประกบกันเข้า ทำให้เราเห็นเป็นช่องหน้าต่างเล็ก ๆ กลม ๆ ด้านหน้า-ดังภาพ  ซึ่งต่อมามีชื่อเรียกช่องหน้าต่างกลม ๆ เล็ก ๆ นี้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า หน้าต่างกิโยติน(Fenêtre à guillotine)  ในปัจจุบันกลายเป็นภาษาช่าง ที่ใช้เรียกช่องหน้าต่างกลม ๆ แบบนี้  ซึ่งในประเทศฝรั่งเศส ก็มีคนชอบทำหน้าต่างบ้านแบบหน้าต่างกิโยติน ไว้กันไม่น้อย  

.


 “แม่ ๆ ไอ้เนี่ยะ  เค้าเอาไว้ ทำอะยัย อ่ะ?
ไว้ทำให้อะไร  มันกลายเป็น  ไม่มีอะไร...งัยลูก

 

6) แผ่นไม้สำหรับวางร่างผู้ถูกประหาร  คือแผ่นไม้ด้านหลังช่องหน้าต่างกิโยติน  ผู้ถูกประหารจะนอนคว่ำหน้าลง บนแผ่นกระดานแผ่นนี้ 

          มีรายละเอียดที่จะต้องกล่าวถึงอีกเล็กน้อย คือ เรื่อง ลักษณะของใบมีด  ตามต้นแบบแรกนั้น ใบมีดกิโยตินมีลักษณะตรง ไม่ได้เป็นใบมีดเฉียง  เนื่องจากเรื่องเครื่องกิโยตินนั้นเสนอกันมา ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งท่านก็เป็นช่างคนหนึ่งเหมือนกัน ได้ท้วงติงนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า  ถ้าใช้ใบมีดแบบตรง การตัดจะคม สู้ใบมีดแบบเฉียงไม่ได้  ทุกคนก็เห็นด้วย  และใบมีดเครื่องกิโยติน จึงทำเป็นใบมีดเฉียงแต่นั้นมา  เมื่อหลุยส์ที่ 16 ถูกนำไปเข้าเครื่องกิโยติน ก็ถูกบั่นเศียรด้วยใบมีดเฉียง ที่ตัวท่านเองแนะนำไว้--เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ 

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจ ก็จะมีเว็บไซด์ภาษาฝรั่งเศสเว็บหนึ่ง ชื่อว่า ศิลปะแห่งการตัดอย่างดี  (L’art de bien couper) ว่าด้วย กิโยตินโดยเฉพาะ
 
          La procédure กระบวนการตัดหัว/บั่นคอ 

เนื่องจากบทความนี้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์  ผู้เขียนไม่ได้กำลังเขียนหนังสือ ฮาว ทู  เพราะฉะนั้น กรรมวิธีการประหารด้วยเครื่องกิโยติน ก็น่าที่จะบรรยายโดยละเอียดได้บ้างเล็กน้อย  ไม่ต้องกลัวว่า จะเป็นการยุยงส่งเสริมให้คนสติไม่ดีลอกเลียนแบบ  นาย กุสตาฟ มาเซ่ ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงแห่งปารีส  ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการประหารชีวิต ระหว่างปี 1789 1884  ได้เขียนเล่ากระบวนการนี้ไว้  สรุปพอเป็นสังเขปได้ว่า  เมื่อเพชฌฆาตลงนามรับตัวนักโทษ ในหนังสือทะเบียนราชทัณฑ์แล้ว  เขาก็จะมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบนักโทษคนนั้น โดยเด็ดขาด  ความรับผิดชอบของเขา ก็คือ เขาจะปล่อยให้นักโทษมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้  และนี่ก็น่าจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมเพชฌฆาตมือใหม่  จึงต้องวิ่งไล่ฟัน ท่านหญิงซอลส์เบอรี  ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเรื่องโกรธแค้นกันเป็นส่วนตัว  เพราะว่าความตายของเธอ คือ ความรับผิดชอบของเขานั่นเอง    

 























สำหรับกรณีของเราที่ฝรั่งเศสนั้น  นักโทษจะถูกเชิญให้นั่งลงกับแท่นวางกิโยติน  เพื่อให้ผู้ช่วยเพชฌฆาต ใช้เชือกผูกข้อเท้าตรงเหนือตาตุ่มเล็กน้อย  และผู้ช่วยเพชฌฆาตอีกนายหนึ่ง ก็จะมัดหน้าแข้ง  โยงเชือกไปผูกกับเชือกที่ผูกข้อเท้า  จากนั้นจะให้นักโทษเอามือไผล่หลัง  แล้วจะมัดข้อมือนักโทษไผล่หลังไว้อย่างมั่นคง  กับมีเชือกมัดหัวไหล่ไว้แน่น แล้วโยงปลายเชือกผูกไว้กับเชือกมัดข้อมือ  ด้วยประการฉะนี้  หน้าอกก็จะแอ่นตั้งตรง และไหล่จะขยับเขยื้อนยาก  ดังนั้น ก็เป็นอันว่านักโทษจะขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้เพียงเล็กน้อย และด้วยความยากลำบาก 

          เมื่อได้เตรียมตัวนักโทษพร้อมสำหรับเครื่องกิโยตินแล้ว  ผู้ช่วยเพชฌฆาตจะประคองตัวนักโทษยืนขึ้น ที่แผ่นกระดานรองรับร่าง ในบัดนั้นจะกระดกให้ตั้งตรง  ถึงขั้นนี้ ตัวนักโทษจะยืนแนบอยู่กับแผ่นกระดาน  ซึ่งจะกระดกกลับลงโดยพลัน พร้อมกับตัวนักโทษ นอนพาดคอวางอยู่บนแผ่นไม้รูปจันทร์ครึ่งเสี้ยว  แล้วเพชฌฆาตก็จะกดแผ่นไม้ครึ่งเสี้ยวส่วนบน ลงมาล็อคคอนักโทษไว้กับเครื่องกิโยติน  คอของนักโทษก็พร้อมแล้ว สำหรับใบมีดอันคมกริบ ที่เพิ่มน้ำหนักด้วยแผ่นตะกั่ว รวมรวมน้ำหนักประมาณ 30-40 กิโลกรัม  รอเวลาให้เพชฌฆาตกระตุกเชือก ดึงกระเดื่องปลดสลัก ปล่อยใบมีดลงมา เป็นขั้นตอนต่อไป...                              

          ใกล้บ้านท่านผู้อ่านที่สุด ที่ท่านจะพบเครื่องกิโยติน  น่าจะเป็นกิโยตินที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ กับที่ กรุงฮานอย ในเวียดนาม  ฝรั่งเศสไปปกครองที่ไหนก็จะนำกิโยตินไปด้วย  ปัจจุบันจึงมีเครื่องกิโยตินอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่โฮจิมิน ซิตี้ หนึ่งเครื่อง  กับที่ฮานอยอีกสองเครื่อง  กิโยตินที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ฮานอย  อยู่ในสภาพที่ดีกว่าเครื่องกิโยตินที่โฮจิมินห์ ซิตี้  ในการปราบปรามผู้แข็งขืนต่อระบอบการปกครองของฝรั่งเศสนั้น  บางครั้ง เขาจับญวณขบถ ระดับแกนนำได้นับสิบ ๆ คน ซึ่งก็ถูกประหารชีวิต  ดังนั้น  ความคมกริบของใบมีดกิโยติน  กับ ศิลปะแห่งการตัดอย่างดี ( L’art de bien couper = The art of fine cut ) มีส่วนช่วยงานการเมืองของฝรั่งเศส ในการปกครองเมืองญวน ได้ไม่น้อยเลย


          โรเบสปิแยร์ สร้างประวัติศาสตร์อะไร ไว้กับกิโยติน? 

ได้เรียนท่านผู้อ่านไว้แล้วว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงออกไอเดียเป็นประวัติศาสตร์ ให้ใบมีดกิโยตินมีลักษณะเฉียง  เพื่อจะได้ตัดได้ดีขึ้นกว่าใบมีดแบบตรง ที่เป็นของเจ้าของความคิดเดิม  เพื่อความยุติธรรมและความสมบูรณ์ของข้อมูล ก็จะขอยกตัวอย่างข้างฝ่ายพวกปฏิวัติบ้าง ว่าฝ่ายนี้ มีอะไรที่เป็นประวัติศาสตร์ เกี่ยวข้องกับเครื่องกิโยตินบ้าง? 

กรณีตัวอย่างก็คงไม่พ้น โรเบสปิแยร์  นักปฏิวัติที่มีชื่อเสียงของเรา  ก่อนจะถูกพวกปฏิวัติมุ้งเดียวกัน จับตัวและเอาไปประหารชีวิต โดยปราศจากการไต่สวนพิจารณาคดี  โรเบสปิแยร์ มีบาดแผลโดนยิงกรามหักมาแล้ว ในไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา  แต่ไม่มีหลักฐานพอจะให้นักประวัติศาสตร์สรุปได้เป็นเสียงเดียวว่า  เขาถูกยิง หรือว่าเขาพยายามจะฆ่าตัวตาย

ประเด็นนี้จึงยังค้างไว้อย่างนั้น  โรเบสปิแยร์ เป็นคนแต่งตัว เนี้ยบ”  แม้จะไม่หรูหรา  เขาจะใช้ผ้าพันคอผืนใหญ่สีขาวสะอาดเป็นประจำ  เขาได้ใช้ผ้าพันคอนั้น ซับเลือดและพันศีรษะประคองกรามหักเอาไว้  เมื่อเขาถูกนำมายังลานประหาร ที่ ปลาส เดอ ลา เรฟโวลูซิย็ง (ลานแห่งการปฏิวัติ)  จัตุรัสแห่งนี้เปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง  กระทั่งในปี 1830 จึงได้ใช้ชื่อปัจจุบันว่า ปลาส เดอ ลา ก็องกอร์ด (จตุรัสแห่งความสมานฉันท์)  ปัจจุบันรถเมล์ผ่านหลายสาย  เช่นสาย 24, 42, 52, 72  เป็นต้น 

ปรากฏว่า ในวันนั้น เมื่อเพชฌฆาตผู้มีนิวาสถานอยู่นอกเมือง  เดินทางเข้ามาทำงานยังจัตุรัสแห่งการปฏิวัติ ในกรุงปารีส  เขารู้สึกแปลกใจว่า  ฝูงชนที่มาชมการประหารในวันนี้ ทำไมแต่งตัวดีผิดสังเกต  คนแต่งตัวดี ๆ ทั้งนั้นที่มาชมการประหารชีวิตกันในวันนี้  ไม่เหมือนวันก่อน ๆ ที่ฝูงชนค่อนข้างจะแต่งตัวมอซอ (พวก Slumdogs)  ตัวเพชฌฆาตเองยังไม่รู้ว่า วันนี้-เป็นวันประหาร โรเบสปิแยร์  นักปฏิวัติชื่อดัง และประหารนักปฏิวัติคนสำคัญอีกหลายคนเช่น  แซงต์ จุสต์  ซึ่งเป็นคู่หู(และคู่เกย์) ของโรเบสปิแยร์  เป็นต้น

          เมื่อ โรเบสปิแยร์  ถูกคุมตัวลงจากเกวียนบรรทุกนักโทษประหาร ซึ่ง มารี อังตัวแน็ต ก็เคยถูกบรรทุกด้วยเกวียนเล่มนี้ มาเข้าเครื่องกิโยติน  ผ้าพันคอสีขาวของเขาชุ่มด้วยเลือดจากบาดแผลที่กราม  ระหว่างกำลังถูกคุมตัว เดินไปยังยกพื้นที่ตั้งกิโยติน  ได้มีผู้มีเมตตาจิต ไม่ปรากฏนามผู้หนึ่ง  ถอดผ้าพันคอสะอาดของตัวเอง ยื่นให้โรเบสปิแยร์ไว้ซับเลือด โรเบสปิแยร์ รับมาแล้วพูดเบา ๆ กล่าวคำว่า แมกซิ  (Merci)  หรือ “ขอบคุณ”--ในภาษาฝรั่งเศส

เราจะไม่ขอลงรายละเอียดมากเกินไป  เพราะเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงไม่ใช่พวกซาดิสต์  ผู้เป็นสานุศิษย์ของ ท่านมากีส์ เดอ ซาด  ขอข้ามไปถึงตอนที่โรเบสปิแยร์อยู่ที่เครื่องกิโยตินแล้ว-ก็แล้วกัน  ถึงตอนนั้น  เพชฌฆาตไม่สามารถที่จะแกะผ้า ที่พันกรามหักของโรเบสปิแยร์ ไว้กับศีรษะของเขาออกได้ โดยไม่ทำให้กรามมันห้อยลงมา และสร้างความเจ็บปวดมหันต์  เพชฌฆาตจึงให้เขานอนหงาย บนแผ่นกระดานรองรับร่าง ที่เครื่องกิโยติน  ตามปกตินักโทษจะต้องนอนคว่ำหน้า ดังภาพที่เสนอไว้ และดังได้บรรยายให้ท่านทราบแล้ว  เพราะว่า ท่านผู้คิดค้นเครื่องประหารชนิดนี้ ไม่ต้องการสร้างความเจ็บปวด  หรือความหวาดเสียวให้เกิดแก่นักโทษ  นักโทษจึงจะนอนคว่ำหน้า และมองไม่เห็นใบมีด  ...เพียงแค่เขารู้สึกว่า มีลมเย็นจากใบมีด โชยวาบผ่านหลังคอเท่านั้น

กรณีของโรเบสปิแยร์ จึงเป็นเพียงกรณีเดียว  ที่ประวัติศาสตร์แห่ง ศิลปะการตัดอย่างดี the Art of Fine Cut  ได้บันทึกไว้ว่า ถูกตัดคอใน ท่านอนหงายหน้า มองเห็นใบมีดหล่นลงมา แบบจะ ๆ  และโรเบสปิแยร์ ก็ร้องเสียงดังลั่นโหยหวน  สนั่นก้องจตุรัสแห่งการปฏิวัติ  ตลอดเวลาที่เขากำลังนอนหงายหน้า ขึ้นมองชุดใบมีดกิโยติน ที่ล็อคไว้ด้วยสลัก  ห้อยอยู่ด้านบนวงกบของนวัตกรรมใหม่แห่งการประหาร  กระทั่งเพชฌฆาต กระตุกเชือกปลดกระเดื่องล็อค  ปล่อยใบมีดเลื่อนลงมาด้วยความเร็ว ตัดฉับ!  

เสียงร้องโหยหวนของ โรเบสปิแยร์  จึงสะดุดกึก  หยุดลงทันควัน  ปล่อยให้ความสงัดวังเวง ครอบงำจัตุรัสแห่งการปฏิวัติ...ดุจจะชั่วนิรันดร์


3) เพลง ลา มาร์เซยแยส  บทเพลงแห่งการปฏิวัติ

          เพลงนี้เกิดเมื่อปี 1792  ในช่วงเวลาระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส 

ขณะนั้น สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่เพิ่งจะเกิดใหม่  ประกาศสงครามกับประเทศออสเตรีย  เพลงนี้ ท่านผู้ประพันธ์ตั้งใจแต่งให้กับ กองพลแห่งแม่น้ำไรห์  ของฝรั่งเศส (l'armée du Rhin) ซึ่งกองพลนี้ ทำหน้าที่เป็นทัพหน้าของฝรั่งเศส สู้รบกับต่างชาติคือออสเตรียและพวกเยอรมันในเวลานั้น 

ผู้แต่งเป็นนายร้อยทหารช่าง  ประจำอยู่ที่ค่ายทหาร เมืองสตราสบูร์ก ชื่อ รูเจต์ เดอ ลิสล์ (Rouget de Lisle)  ประพันธ์เพลงระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน 1792 ในทันที ที่ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับออสเตรีย  ที่ว่าท่านผู้นี้ประพันธ์นั้น หมายถึงการแต่งเนื้อเพลง  ส่วนทำนองเพลง ไม่อาจจะหาข้อยุติได้ว่า คีตกวีผู้ใดเป็นผู้แต่ง 

ตามชี้ทมิวสิคอันเป็นประวัติศาสตร์นั้น  ปรากฏชื่อเพลงว่า Chant de Guerre, pour l’Armée du Rhin แปลว่า เพลงศึก สำหรับกองพลแห่งแม่น้ำไรน์

ต่อมาภายหลัง เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น ลา มาร์เซยแยส  ซึ่งน่าจะแปลว่า ชาวมาร์เซยย์

ทั้งนี้เนื่องจาก กรมผสมจากเมืองมาร์เซย  ซึ่งเป็นกองทัพฝรั่งเศสภาคใต้  ได้นำเพลงนี้ไปร้องเป็น เพลงเดิน(เพลงมาร์ช) ของตน  ถือกันว่า ลา มาร์เซยแยส  ได้วางแบบฉบับเพลงเดิน(เพลงมาร์ช) ในยุโรป 

อีกสามปีต่อมา เมื่อ 14 กรกฎาคม 1795  สภาฝรั่งเศสก็รับ เพลงศึก ของกองพลแห่งแม่น้ำไรห์ (le Chant de Guerre pour l’armée du Rhin) เป็นเพลงชาติ  ใช้ชื่อเพลงอย่างทางการว่า ลา มาร์เซยแยส   เพราะเห็นว่า เป็นชื่อมีมงคล ที่แสดงความสมานฉันท์แห่งชาติ  โดยที่กองทัพภาคใต้ ใช้เพลงที่คนทางอีสาน(นายทหารช่าง เมืองสตราสบูร์ก) ในเขตมณฑลอัลซาสและลอเร็น อยู่ทางภาคอีสานของฝรั่งเศส เป็นผู้ประพันธ์ 

ในเวลาต่อมา แม้ว่าประวัติเพลงชาติฝรั่งเศส จะผันผวนไปบ้างตามภาวะการเมือง  แต่ในที่สุดแล้ว ลา มาร์เซยแยส  อันเป็นเพลงศึก—ก็ได้กลายเป็นเพลงชาติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ผู้เขียนเริ่มรู้จักกับเพลง ลา มาร์เซยแยส เมื่อแรกเรียนพิเศษภาษาฝรั่งเศส ในชั้นมัธยม ที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ  ดูเหมือนจะมีเนื้อเพลง อยู่ในหนังสือเรียน ที่ในสมัยนั้นใช้หนังสือ กูร์ เดอ ลองก์  ของ โมเชย์ เป็นบรรทัดฐาน

ต่อมา เมื่อเรียนธรรมศาสตร์ ก็ได้รู้จักกับ เพลงมาร์ช ม.ธ.ก.  ซึ่งใช้ทำนอง ลา มาร์เซยแยส แต่มีเนื้อเพลงเป็นภาษาไทย  โดยท่านผู้ประพันธ์เนื้อเพลงภาษาไทย เป็นคนใต้ บ้านเดียวกันกับผู้เขียน ท่านคือ คุณทวีป วรดิลก  ปัจจุบัน บ้านเดิมที่ลูกหลานญาติพี่น้องของท่านอยู่กันสืบมา ซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่ค่อนไปทางนอกเมือง  ทว่าปัจจุบัน เขตเทศบาลคลุมถึงแล้ว  บ้านหลังนั้น อยู่ห่างจากบ้านสวนของผู้เขียนประมาณ 9.5 กิโลเมตร  ใช้เวลาเดินเท้าไปทางนอกทุ่ง (หรือ ลัดทุ่ง) จากบ้านผู้เขียน ประมาณสองชั่วโมงเศษก็ถึง  ปัจจุบัน ผู้เขียนก็ยังคงใช้เส้นทางนอกทุ่ง เดินเข้าเมืองเป็นครั้งคราว ในยามที่นึกอยากเดินเล่นระยะไกล  แต่ว่าทุ่งนาเกือบจะทั้งหมด ได้กลายเป็นสวนไปหมดแล้ว  และเส้นทางในปัจจุบัน ก็เป็นเส้นทางคอนกรีตเส้นเล็ก ๆ ลัดเลาะไปตามสวน  ซึ่งถ้าเป็นยางพาราเขาเรียก ป่ายาง ถ้าเป็นปาล์มเขาเรียก ป่าปาล์ม แต่ถ้าเป็นผลไม้ เขาจะเรียกว่า “สวน” เช่น สวนทุเรียน สวนเงาะ สวนมังคุด  คำว่า “ป่า” ที่ใช้เรียกสวนบางชนิดนั้น เป็นคำไทยโบราณ ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง เช่น ป่าหมาก ป่าพลู เป็นต้น  ระยะทางตอนที่ใกล้เขตเทศบาล ก่อนจะถึงบ้าน คุณทวีป วรดิลก  จะลาดยาง    




ชี้ทมิวสิคช่วงต้น เพลง ลา มาร์เซยแยส



 


















ลา มาร์เซยแยส เป็นเพลงชาติ ที่มีเนื้อเพลงสื่อความหมายดุเดือดเลือดพล่าน  ยิ่งกว่าเพลงชาติเพลงอื่นใด  แม้กระทั่งเพลงชาติคอมมิวนิสต์ทั้งหลายที่ลมสลายไปแล้ว--และที่ยังคงอยู่  ก็ไม่ดุเดือดเท่า  บทบาทนานาชาติของเพลงนี้มีมาก เช่น ได้กลายความหมายจากการเป็นเพลงศึก มาเป็นบท เพลงแห่งการปฏิวัติ ในรัสเซีย  เป็นบทเพลงของพวกบอลเชวิคในช่วงปี 1917 โดยมีชื่อภาษารัสเซียว่า "Otrechemsya ot starogo mira"  แต่มีเนื้อร้องที่แตกต่างไปจากเพลงต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส  ที่จริงเพลงนี้มีมากมายหลายเวอร์ชั่น  ตั้งแต่ในญี่ปุ่น  ในประเทศจีน ในอินโดเนเซีย  ในประเทศไทย(เพลงเดิน ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง) ในออสเตรเลีย (เพลงประจำทีมฟุตบอล เมืองบริสเบน)  ไปจนถึงในสเปน และในละตินอเมริกา
 
ที่เมืองชัม(Cham) ในแคว้นบาวาเรีย ในเยอรมันนีปัจจุบัน  หอระฆังที่ศาลาเทศบาลเมืองเล็ก ๆ แห่งนั้น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ นิโคลาส ลัคเนอร์  นายทหารฝรั่งเศสเชื้อสายเยอรมัน แคว้นบาวาเรีย  ผู้เคยเป็นแม่ทัพกองพลแห่งแม่น้ำไรห์ และเคยดำรงตำแหน่ง จอมพลแห่งกองทัพฝรั่งเศส  (Maréchal de France)  หอระฆังที่นั่น จะตีเป็นทำนองเพลง ลา มาร์เซยแยส  เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านผู้นั้น เป็นประจำทุกวัน เวลา 12.05 น. ตรง  ท่านผู้นี้ไม่ได้รับการยกย่องในฝรั่งเศสมากนัก  คณะปฏิวัติให้นำท่านไปตัดหัวด้วยเครื่องกิโยติน เมื่อ 1794 เนื่องจากไม่พอใจกับผลงาน  

กรณีนี้ เป็นที่เยาะเย้ยในประเทศอังกฤษสมัยนั้น  ซึ่งบอกว่า ที่ประเทศเรา ถ้าแม่ทัพทำงานไม่น่าพอใจ เราจะปลดเขาแล้วเปลี่ยนแม่ทัพเสียใหม่  แต่เราจะไม่นำเขาไปตัดหัว

          เนื้อเพลงมีทั้งหมด 7 ตอน (couplet) พร้อมกับสร้อยเพลง  จะเสนอเนื้อเพลงสักหนึ่งตอน คือ ตอนแรกอันมีชื่อเสียงรู้จักกันมากที่สุด  พร้อมกับคำแปลภาษาไทย (ผู้เขียนแปลเอง-ผิดพลาดขออภัย และท้วงติงกันได้ผ่านหน้าบล็อก หรือหน้าเฟสบุค ครับ)




Premier couplet
Allons enfants de la Patrie,
Le jour de gloire est arrivé !
Contre nous de la tyrannie,
L'étendard sanglant est levé, (bis)
Entendez-vous dans les campagnes
Mugir ces féroces soldats ?
Ils viennent jusque dans vos bras
Égorger vos fils, vos compagnes !

บทแรก
ลูกของแผ่นดินพ่อ  จงเดินหน้า
วันแห่งเกียรติยศ  มาถึงแล้ว!
ระหว่างเรากับทรราช
ผืนธงเปื้อนเลือด โบกสะบัด (ซ้ำ)
ได้ยินไหม  ในทุ่งนา
เสียงกองทหารอันดุร้าย?
พวกมันมาถึง ช่วงแขนเราแล้ว
เพื่อปาดคอลูกชายของเรา  ย่ำยีบ้านไร่นาเรา!



Refrain :
Aux armes, citoyens
Formez vos bataillons
Marchons, marchons !
Qu'un sang impur
Abreuve nos sillons !

สร้อย:
พลเมืองทั้งหลาย  จงจับอาวุธ
จัดกองกำลังของพวกท่าน
เดินไป  เดินไป!
เอาเลือดชั่ว
มารดรอยไถของเรา!






----------------------------------------------------------------------------------------
ปริศนาส่งท้าย ท่านผู้อ่านคิดว่า คำประกาศสิทธิมนุษย์ฯ  
หรือ เครื่องกิโยติน
                             หรือเพลง ลา มาร์เซยแยส 
อย่างไหนจะผลักดันขับเคลื่อนการปฏิวัติ  ได้ดีกว่ากัน?

--------------------------------------------------------------------------------------- 


เรื่องแนวปรัชญา-ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องที่เราอ่านแล้ว จะได้อะไรเป็นเนื้อเป็นหนัง หรือได้รับประโยชน์ที่สามารถ ชั่ง ตวง วัด หรือนับจำนวนได้  แต่ว่า – ข้อคิดแนวปรัชญา หรือธรรมมะ เป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่ตายไปอย่างโง่เขลา  กระนั้นก็ดี การที่มนุษย์คนหนึ่ง อันได้แก่เราท่านทั้งหลาย ไม่ตายไปอย่างโง่เขลา ก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โภชผลอะไร ที่จะชั่ง ตวง วัด หรือนับได้

เพราะฉะนั้น ประเด็นเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนบุคคลเป็นสำคัญ  กล่าวคือ คนบางคนเขาชอบที่จะไม่ตายไปอย่างโง่เขลา  ถึงแม้ตอนเด็ก ๆ คุณยายจะพร่ำพูดให้ได้ยินตอนเช้า ๆ เรื่อยเลยว่า


Ignorance is bliss.
หรือ    “สุขใด จะเสมอด้วยโง่ ไม่มี”  ก็ตาม


ขอบคุณ ที่ท่านสนใจแวะชม  และขอบคุณ—คุณยาย



แดง ใบเล่
บทความชิ้นนี้ ปรับข้อมูลให้ทันสมัย และปรับปรุงขึ้นใหม่
เมื่อเดือนมิถุนายน 2557

จาก บทความขนาดยาว เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่เคยเผยแพร่
เมื่อสามสี่ปี ก่อนหน้านี้


            Email: pricha123@yahoo.com
            Blog: www.pricha123.blogspot.com




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น