open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พูดกันยังไง ฟังไม่เข้าใจ

พูดกันไม่เข้าใจ

ในหมู่คนที่ใบ้รับประทาน พวกเขาไม่ค่อยจะมีเรื่องวิวาทกันสักเท่าใด เพราะอย่างว่า--พวกเขาเป็นใบ้ เขาสื่อสารหรือสื่อความกันด้วยวาจาไม่ได้  พวกเขาเจรจากันด้วยภาษาใบ้ที่มีขีดจำกัดด้านการสื่อ  แต่สำหรับคนธรรมดาทั่วไปเช่นเราท่านทั้งหลาย  เราสื่อความโดยอาศัยการพูดจาระหว่างกันตลอดเวลา บางคนเป็นลูกอีช่างพูด ได้ยินเขานินทากันว่า ปัญญาชนบางคนแกพูดแม้กระทั่งระหว่างมีเพศสัมพันธ์ – คิดดูเด่ะ ขนาดไหน

เราทุกคน หรือแทบทุกคน เรามักจะเข้าใจว่า ถ้าคนเราได้ “จ้อกันไป-จ้อกันมา” เพียงเท่านี้ก็คือการได้ “สื่อ” “สื่อสาร” หรือ “สื่อความ” ระหว่างกันแล้ว  ความเข้าอกเข้าใจกัน ก็น่าจะเกิดขึ้นตามมา เนื่องจากว่าเราได้มีการพูดจากันแล้ว  โธ่ ช่างถนัดที่จะเข้าใจผิดประเด็นนี้กันจัง—ที่จริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก คือการพูดจาไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ผมเคยโมโหคนบางคน แล้วผมเลิกพูดกะมัน  ผลปรากฏว่า ตั้งแต่เลิกพูดด้วยระยะหนึ่ง นับปีเหมือนกัน มันเข้าใจผมมากขึ้นเยอะกว่าสมัยที่ยัง “จ้อ” กันอยู่ เยอะเลยคิดดูเด่ะ ไม่พูดกลับเข้าใจ แต่เวลาพูดกลับไม่เข้าใจ


ท่านว่า การ “สื่อ” ระหว่างคนด้วยกันนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะนึกทึกทักเอาได้ตามอำเภอใจ ว่าจะเกิดความเข้าใจตามมา  ท่านว่าตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว การ “สื่อ” ของคนเพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน ไม่เคยง่ายเลย  ไม่ใช่เรื่องลิงกินกล้วย หรือเต่ากินผักบุ้ง หรือหญ้าปากคอก  ผัวเมียที่อยู่กินกันมานานปี ทุกวันนี้ยังมีสิทธิเข้าใจผิดกันได้  แล้วยิ่งเวลานี้ที่เราแต่ละคน ต่างก็ถูกสุนามิข่าวสารถล่มตลอดเวลา – ถ้าเราตั้งตัวไม่ติด  เรากับผู้อื่นมีสิทธิจะเข้าใจผิดกันได้ไม่ยาก  ผู้รู้เตือนว่า ทุกวันนี้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องการบ้าน การงาน หรือการเมือง เราพึงระมัดระวังตัวเองไว้ก่อนเสมอ ว่า เวลาเราพูดอะไรออกไป คนอื่นมีสิทธิที่จะฟังผิดเพี้ยนได้กว่าครึ่งค่อน เราบอกว่า “หมา” คนฟังนึกว่า “แมว”  เราบอกว่า “ปลา” คนฟังนึกว่า “กุ้ง” และเราบอกว่า “ไก่” คนฟังนึกว่า “นกกะปูด” (ที่บ้านผม เขาเรียก นกคูด) – คิดดูเด่ะ

แล้ว  สำหรับสามัญมนุษย์ที่ไม่ใช่นักพูดหรือนักฟังอาชีพ  ปัญหาอยู่ตรงไหน?

ท่านว่า – และผู้เขียน(ผู้ค้นคว้าเรียบเรียง)บทความนี้ ก็เห็นด้วยกับท่าน ท่านว่า -- สำหรับสามัญมนุษย์แล้วละก้อ ปัญหามีสามประเด็นใหญ่ ๆ คือ.....

วาจาปราศรัยกันก็จริง แต่ใจจริงเราไม่ได้ตั้งใจจะพูดกับเขา  และฝ่ายเขาก็เช่นเดียวกัน เขาเจรจาอยู่กับเราก็จริงอยู่ แต่ใจจริงเขากำลังพูดให้คนอื่น-ที่ไม่ใช่เรา-ฟังต่างหาก  เช่น น้าหลานนั่งพูดเรื่องสำคัญกันสามคน  น้าพูดกับหลานคนที่หนึ่งก็จริง แต่เจตนาจะประชด(หรือ พูดแดก)หลานคนที่สองที่นั่งอยู่ด้วย  น้าแกไม่ได้ตั้งใจจะพูดกับหลานคนที่หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่แกกำลังแสดงอาการพูดอยู่กับหลานคนที่หนึ่ง  หรือที่ร้านกาแฟหรือร้านน้ำชาในหมู่บ้าน สมาชิกอบต.ท่านหนึ่งแถลงความคิดเห็นกับผู้ใหญ่บ้าน ที่นั่งอยู่ตรงหน้า ว่าจะต้องตัดถนนเลียบเขา แล้ววกลงมาชายทุ่ง  ที่จริงสมาชิกอบต.ท่านนั้น ไม่ได้พูดกับผู้ใหญ่ฯ แต่กำลังพูดจา “หาเสียง” กับลูกค้าในร้านหลาย ๆ คน ว่าโครงการนี้ดีจัง ทุกคนเตรียมตัวอุทิศที่ดินกันได้แล้ว เป็นต้น

ตัวอย่างที่ยกมาอาจจะไม่ดีนัก แต่เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดตลอดเวลาที่เรา “สื่อ” ไม่ว่าจะสื่อเรื่องการบ้าน การงาน หรือการเมือง  เราตอบคำถามนักข่าวที่สัมภาษณ์เราทางโทรทัศน์ มิใช่ด้วยเจตนาจะตอบคำถาม ๆ นั้น  แต่เพื่อพูดจาหาเสียงกับประชาชนในจังหวัดเราต่างหาก  รวมทั้งบางทีเราก็หาทางประกาศกับประชาชนทั่วไปว่า “เฮ้ย ต้องเลือกข้าง แล้วนะ” เป็นต้น – คิดดูเด่ะ

สรุปว่า ปัญหาข้อแรกที่คนพูดจากันไม่เข้าใจ คือ บุรุษที่หนึ่ง “I”  ไม่ได้พูดกับบุรุษที่สอง “You”  แต่กำลังพูดเพื่อให้บุรุษที่สาม “He, She, They” ฟังต่างหาก  ทำให้บุรุษที่สองซึ่งนั่งอยู่ตรงหน้าบุรุษที่หนึ่ง ไม่เข้าใจบุรุษที่หนึ่ง

ปัญหาข้อที่สองของการสื่อความ หรือสี่อสาร ระหว่างกันแล้วไม่เข้าใจกัน ก็คือ ผู้ฟังหูเป็นน้ำหนวก หรือบางทีหูอื้อ แต่ส่วนมากหูไม่ได้เป็นน้ำหนวกและไม่ได้อื้อ...แต่มักจะหูทวนลม

เพราะฉะนั้น แม้เราจะพูดดีอย่างไร คือเนื้อหาดีมีเหตุผล สำนวนโวหารก็ดีน่าฟัง น้ำเสียงก็นวลหู เขาก็จะไม่มีวันได้ยินที่เราพูด  หลาย ๆ ครั้งให้ลองสังเกตดู บางทีผู้ฟังเขาไม่ได้ฟังเราสักหน่อย  หรือฟังมั่งไม่ฟังมั่ง ได้ยินมั่งไม่ได้ยินซะล่ะมาก  ในการเจรจาความเราก็มัวแต่พูด ๆ ๆ ๆ ไม่ได้สนใจว่า คนฟังเขาฟังหรือเปล่า เช่น เราได้บอกเบอร์โทรศัพท์ไปแล้ว พอขอให้ฝ่ายเขาทวนเบอร์ให้เราฟัง  เขาทวนผิด ๆ ถูก ๆ เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจฟัง  เราเองก็เป็นเหมือนกัน บางทีเราก็ไม่ได้ฟังเขาพูด เพราะเรามัวแต่คิดจะเถียง

การฟัง บางทีมีปัญหาว่า สรุปแล้วเรากำลังฟังใครกันแน่  เรากำลังฟังฝ่ายตรงข้ามพูดหรือว่าเราฟังฝ่ายเราพูด มากกว่ากัน  หลายต่อหลายครั้งถ้าเราสังเกตตัวเราเอง จะพบว่า เรามักจะฟังแต่ฝ่ายเราพูด  เราไม่ฟังฝ่ายตรงข้ามพูด  ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติมนุษย์ ไม่ได้ผิดปกติอะไรเลย  เพียงแต่ว่าในกรณีที่มีการพูดจาเพื่อการปรองดอง ประนีประนอม ยอมความ โอนอ่อนผ่อนตาม ฯลฯ  เราต้องฟังให้ได้ยินที่ฝ่ายตรงข้ามพูด มิฉะนั้น การเจรจาเพื่อการปรองดองหรือประนีประนอม ก็เกิดขึ้นไม่ได้  เพราะไม่มีใครฟังใคร มีแต่ต่างคนต่างก็พูด  วงสนทนาที่มีแต่การ “พูด” อย่างเดียว ปราศจากการ “ฟัง”  การสื่อเพื่อความเข้าใจระหว่างกัน จะไม่เกิด

ในการเจรจาความ เวลามีการ “พูดจากัน”  ท่านว่า--หมายความว่าต้องมีการ “ฟัง” แทรกอยู่ด้วยนะพี่  ไม่ใช่ “พูด” กันอย่างเดียว ไม่มีใครฟังใคร  นี่คือปัญหาข้อที่สองของการสื่อความ

ประเด็นที่สามที่เป็นปัญหา ได้แก่ ความเข้าใจเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นความเข้าใจ ที่ผิด  ด้วยเหตุจากอาจจะฟังผิด หรือแปลความเพี้ยนไปจากที่ผู้พูดตั้งใจจะพูด  ท่านว่า-คนเรานั่งคุยที่โต๊ะเดียวกัน ก็ยังเข้าใจผิดกันได้  เช่น คนใต้ที่โต๊ะนั้นบอกว่า เขารู้สึก “บัดสี”  คนกรุงเทพฯอาจนึกสงสัยว่า ทำไมจึงรู้สึกรุนแรง ถึงขั้นกลายเป็นเรื่องบัดสีบัดเถลิง  ความไม่เข้าใจของคนกรุงเทพฯตรงนี้ เป็นเพราะคนกรุงเทพฯไม่เข้าใจ ว่า ความรู้สึก บัดสี ของคนใต้ เขาหมายความเพียงว่า เขารู้สึกละอายแก่ใจ เท่านั้นเอง  ที่จริงคนพูดภาษากลางด้วยกัน ก็มีสิทธิเข้าใจผิดกันได้ เช่น สำเนียงพูดคำว่า “หมา” กับคำว่า “มา” ของคนสุพรรณฯ เป็นต้น  หรือสำเนียงอีสานที่เกี่ยวกับการทำไร่ไถนา ที่ว่า คุณใช้ “ควาย” หรือใช้อะไรไถนากันแน่ เป็นต้น  ความเข้าใจผิดชนิดนี้อาจจะเป็นเหตุให้คนหนุ่มกรุงเทพฯหรือภูมิภาคอื่น ๆ รู้สึกระย่อที่จะแต่งงานกับสาวชนบทอีสาน  เพราะนึกเจียมตัวว่า สิ่งที่พ่อแม่ให้มากับตน คงไม่มีขีดความสามารถด้านการเกษตรกรรม ถึงขนาดนั้น เป็นต้น  ของพี่ไม่ใช่จักรกลการเกษตร นะน้อง

ฟังดี ๆ ไม่ฟังเดี๋ยวครูตี...  เราจะไปว่าครูท่านก็จะไม่ยุติธรรม เพราะครูบางคนท่านก็รู้เท่านั้น จะให้ท่านพูดมากกว่านั้นได้อย่างไร  แต่ครูบางคนรู้มากกว่านั้น และได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหาการเจรจาความกันแล้วไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะเรื่องการบ้าน การงาน หรือการเมือง ไว้ดังนี้...

1)    ฟังดี ๆ

คือฟังอย่างมีสติตลอดเวลา  ถ้าสติเราไม่หลุดระหว่างที่กำลังใจจดใจจ่อรับฟัง  เราจะได้ยินอะไรต่ออะไรเยอะมาก เช่น เราจะ “ได้ยิน” ถึงความคิดลึก ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ของเขา ว่าเป็นอย่างไร  เราจะ “ได้ยิน” อารมณ์ระหว่างเจรจาของเขา ว่าเขาอยู่ในอารมณ์ใด  เราจะ “ได้ยิน” ว่าจริง ๆ แล้วเขากำลังพยายามจะพูดคนละเรื่องเดียวกัน – แต่แนบเนียน

ฟังดี ๆ นอกจากจะทำให้เรา “ได้ยิน” ดีขึ้นแล้ว  บางทียังช่วยให้คนพูด เขาพูดได้ดีขึ้นด้วย เช่น ระหว่างที่กำลังฟัง เราอาจจะขัดจังหวะเขาอย่างสุภาพ บอกเขาว่าเราไม่เข้าใจที่เขาพูด เช่น “ขอโทษครับ ไม่ทราบผมฟังถูกหรือเปล่า คุณปีเตอร์กำลังบอกว่า.....” เป็นต้น  คนพูดเขาจะดีใจว่า มีคนฟังเขาพูด เขาไม่ได้กำลังร่ายเวทย์ให้วัวฟัง  ในโลกที่ไม่มีใครฟังใคร เช่นโลกยุคปัจจุบันนี้นั้น ผู้พูดจะเกิดปิติดีใจ นึกว่าเขากำลังได้พบกับเทวดา  การขัดจังหวะลักษณะนี้คล้ายกับผู้ฟังกำลังให้ศิลให้พร ให้กำลังใจคนพูด ไม่ต้องกลัวดอกว่าคนพูดเขาจะหงุดหงิดที่ถูกขัดจังหวะ เขาดีใจที่มีคนตั้งใจฟัง  

ข้อควรระวังก็คือ เวลาพูดทวนสิ่งที่เขาพูดมา ทวนสัญญาณกลับไปให้ตรงตามที่ได้ยิน อย่าได้แปลงสารเด็ดขาด พยายามทวนสัญญาณให้เหมือนที่เขาพูด ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  บางทีในคำพูดของเขา จะมีคำบางคำที่เป็นคำกุญแจอันแฝงการแสดงอารมณ์ เราอาจจะไม่ชอบคำชนิดนั้น แต่ขอให้ทวนสัญญาณใช้คำ ๆ นั้นกลับไป  จะทำให้เขาเห็นว่า เราตั้งใจฟังเขาจริง และเราเข้าใจสิ่งที่เขาพูดพอสมควร เพียงแต่เราอาจยังจับรายละเอียดบางอย่างไม่ได้เท่านั้น  เขาจะภูมิใจและพอใจ (ดีใจว่าตัวเขา “พูดดี-ดูซิคนฟังยังเข้าใจเลย”)

2)  พูดให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจ ไม่ใช่พูดให้เขางง

การพูดคุยหาทางออกเรื่องใด ๆ ก็ดี ไม่ใช่การ “โต้วาที” (debate) เพื่อเอาชนะคะคานกัน  ซึ่งมักจะทำโดยยกข้ออ้างต่าง ๆ (ชักแม่น้ำทั้งห้า ที่ไหลลงคนละทะเลมาอ้าง) และแข่งขันแสดงโวหาร  เพราะว่าในวงสนทนาหาทางแก้ไขสถานการณ์ร่วมกันนั้น จะเป็นเรื่องของการหาเหตุผลหรืออ้างเหตุผล มาสาดความกระจ่างให้แก่ประเด็นที่เป็นปัญหา หรือเป็น reasoned argument ซึ่งจะไม่ใช่การเอาชนะ หรือเป็นเวทีแห่งวาที  ขณะเดียวกันก็จะคุยกันสองฝ่าย เราไม่ได้พูดโชว์ฟอร์มหาเสียงกับฝ่ายที่สาม หรือประชาชนในจังหวัดเรา หรือนายทุนนายเงินของเรา  เราไม่ได้กำลังพูดให้บุคคลที่สามฟัง  เราเจรจากันระหว่าง “I” กับ “You”  ไม่มี “They”

การพูดจาโน้มน้าวกัน หรือแม้จะ “กล่อม” กัน ย่อมเกิดขึ้นได้ระหว่างนั่งคุย  แต่จะเป็นการที่ “I” โน้มน้าว “You” ไม่ใช่ ฉัน-พูด-กับคุณ แต่ฉันเจตนาจะโน้มน้าวประชาชน หรือนายทุนนายเงินของฉันต่างหาก-ไม่ใช่คุณ  หรือฉันวิวาทแข็งกร้าวต่อคุณ เพื่อให้นายทุนนายเงิน จ่ายเงินให้ฉันงาม ๆ 

ผู้รู้ท่านว่า-ถ้าจะเทียบกับศาล การเจรจาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และตกลงกันได้อย่างสมเหตุสมผลของเรานั้น  เปรียบความเสมือนหนึ่งว่า ทั้งสองฝ่ายอยู่ในฐานะผู้พิพากษาด้วยกันทั้งคู่ ไม่มีใครเป็นทนายความ  เป็นการหารือระหว่างผู้พิพากษาสองคน ที่ดูแลคดีเดียวกัน และจะต้องเขียนคำพิพากษาออกมาร่วมกัน  ลักษณะการเจรจาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะได้ข้อตกลงอันสมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย จะเป็นอย่างนั้น

3) พยายามพูดเข้าตัว-อย่าพูดออกไปนอกตัวตน

พูดง่าย ๆ ว่า ท่านผู้อ่านต้องพยายามด่าตัวเองเข้าไว้  อย่าเพ่นพ่านออกไปด่าฝ่ายตรงข้าม(หรือ นึกด่าผู้เขียน จำไว้นะ)  วิธีนี้เป็นผู้ดีมากเลย ใช้ได้ดีในระหว่างการเจรจาความ  พวก“ผู้ไม่ดี“  เขาไม่ประพฤติอย่างนี้ ผู้ไม่ดี  ชอบออกไปอาละวาดด่าทอฝ่ายตรงข้าม เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น  ฝ่ายตรงข้าม โคตรแม่ง  มันยังงั้นยังงี้  โห แม่ง...โคตร ๆ เลย  อะไรประมาณนั้น 

บรมครูท่านหนึ่งสอนว่า ถ้าประเด็นใดเป็นปัญหาระหว่างเจรจา ให้รู้ไว้ว่า งัย ๆ ก็ต้องรับผิดชอบในปฐมเหตุ ด้วยกันทั้งคู่ ทั้งฝ่ายผู้ดีและฝ่ายผู้ไม่ดี  แต่ละฝ่ายต่างก็ต้องได้รับผลกระทบด้วยกัน มากน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  แต่แทนที่เรา ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ดี จะประณามฝ่ายตรงข้าม ท่านแนะให้พูดบรรยาย ผลกระทบ ของประเด็นนั้น ต่อตัวเรา หรือต่อฝ่ายเรา

แทนที่จะด่าเขาว่า “คุณตอแหล”
ให้พูดว่า “ที่คุณพูดมานั้น ได้ยินแล้วดิฉันรู้สึกเสียใจ”

แทนที่จะพูดว่า “คุณมีอคติ”
ให้พูดว่า “ผมรู้สึกเหมือนกำลังถูกประนาม”

หลักการก็คือ เราบรรยายความรู้สึกของเราเอง  ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับใคร  อนึ่ง ภายในจิตใจของแต่ละคน ย่อมเกิดอารมณ์ความรู้สึก ต่อสิ่งที่มากระทบได้ในลักษณะต่าง ๆ ไม่มีใครห้ามใครได้  ตัวเราเองยังห้ามตัวเองไม่ได้เลย  และเรื่องนี้ยากที่ผู้อื่นจะแทรกแซง  แต่ถ้าเราด่าเขาว่า เขาตอแหล—เขาจะมีปฏิกิริยาค้านหรือด่ากลับ  ซึ่งวิธีพูดถึงความรู้สึกของตนเอง แทนการด่าอีกฝ่ายหนึ่งที่โต๊ะเจรจานี้ ไม่ใช่การเลี่ยงประเด็นด้วยการหันไปใช้สำบัดสำนวน หรือแสดงโวหาร หรือเล่นลิ้น  เรื่องนี้เป็นเรื่องของการพรรณนาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในใจเรา ไม่ต้องคิดตอหลดตอแหลให้ปวดหัวเปล่า ๆ 

4) อย่าพล่าม

การพล่ามพูดเพ้อเจ้อ น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง พูดไม่ยอมหุบ  อาการโรคประสาทลักษณะนี้ โปรดไปรักษาตัวเสียก่อนที่จะมานั่งเจรจาความ ไม่ว่าจะเจรจาการบ้าน เจรจาการงาน หรือเจรจาการเมือง 

พูดมากเกินไปไม่ช่วยให้การสื่อดีขึ้น กลับจะทำให้คุณภาพของการสื่อเลวลง  ดูแต่เวลาที่เราสื่อข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือก็ดี ผ่านทางเฟสบุคก็ดี หรือทางทวีทเตอร์ก็ดี จะมีข้อบังคับ เช่นจำนวนคำที่จะเขียนทวีทเตอร์แต่ละครั้ง ที่กำหนดไว้ 140 อักขระ(โรมัน) ซึ่งเขียนภาษาอังกฤษได้ประมาณ 30 คำ นับว่าโขอยู่  หรือการส่งข้อความทางมือถือ ที่กำหนดไว้ 160 อักขระ เป็นต้น  กฎกติกาเล่านี้บังคับโดยอ้อมบ้างโดยตรงบ้าง ให้เราพูดตรงกับเรื่อง-อย่าพล่าม

ในโลกที่สื่อด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล-ดังตัวอย่างในย่อหน้าบน  เราได้ฝึกฝนตนเองโดยปริยายสำหรับผู้เขียนแล้ว ได้ประโยชน์มากจากประสบการณ์การเขียนในยุคอินเตอร์เนต และยุคโทรศัพท์มือถือ  ท่านที่เคยอ่านผลงานในอดีตเมื่อเทียบกับได้อ่านงานปัจจุบัน น่าจะเห็นชัดว่า ผู้เขียนใช้ภาษากระชับและมัธยัสถ์มากกว่าเดิม

เวลาโกรธ หรือเวลาโกรธ-โลภ-กลัว-หลง ขอให้รู้ตัว  ท่านว่าโกรธโลภกลัวหลงได้ครับเพราะบางทีเราไม่ได้เจตนา มันเป็นไปเอง  พระอุปัชฌาย์ของผู้เขียนสอนอย่างนั้น  แต่เราต้องรู้ตัวว่า เรากำลังโลภแล้วนะ กำลังโกรธแล้วนะ กำลังหลงแล้วนะ  ซึ่งผู้เขียนก็เชื่อตามคำพระ คือ เชื่อว่าการมีสติรู้ตัว เป็นคุณต่อการสื่อความ

การพูดจาในช่วงเวลาโกรธโลภกลัวหลง ถ้าพูดแบบไม่รู้ตัว จะเสียหายหลายแสน  ผู้เขียนเคยเสียหายมาเป็นล้าน อาจจะเล่าเว่อร์ ๆ ไปนิด  แต่ก็ยังรวยไม่ขึ้นตราบกระทั่งบัดนี้ – คิดดูเด่ะ  โดยที่คำพระนั้นก็เพิ่งจะมาเชื่อเอาเมื่อตอนจนลงแล้ว  สมัยที่ยังรวย ๆ อยู่ไม่เคยเชื่อหรอก  ก็เลยนำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง กับมิตรสหายท่านผู้อ่านทั้งหลาย ไม่อยากเห็นท่านประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับตัว  อยากเห็นคนอื่นได้ดีกว่าตัว(--จริงใจเปล่า?)

ยิ่งพูดมากขึ้นเท่าไร โอกาสที่จะประนีประนอม รอมชอม ปรองดองกันได้  หรือที่ภาษาทางวิชาการบอกว่า การได้มาซึ่งข้อตกลง  ก็จะริบหรี่ลงไปเท่านั้น

ที่พูดออกไปนั้น เราพูดด้วยเจตนาประสงค์ผลอะไร? กำลังเล็งเห็นผลอะไร?  ท่านให้มีสติรู้ตัวเสียก่อน แล้วค่อยพูดออกไป  คำพูดที่เรายังไม่ได้พูด--ยังอยู่ในปาก มันจะยังเป็นสมบัติของเรา  ครั้นมันหลุดออกจากปากเราไปแล้ว มันจะกลายเป็นสาธารณสมบัติ ใคร ๆ ก็มีสิทธิที่จะหยิบไปใช้ได้

บางที สมัยที่เรายังร่ำรวยแต่งี่เง่าอยู่นั้น  เราตกลงซื้อรถกระบะมือสองไปแล้วในราคาสามแสนบาท  แต่เรายังพล่ามไม่หยุด ดันพูดออกไปว่า รถคันนี้สี่แสนยังจะซื้อเลย พูดเพื่อโชว์ความร่ำรวย  ผลปรากฏว่าแทนที่จะตกลงกันได้ในราคาที่คุยกันไว้สามแสน คนขายก็เลยเกิดอาการลังเลใจ อิดเอิ้อน.....ไม่ต้องเล่าต่อจะดีกว่า

5)    ฟังด้วยตา

ในการค้นคว้าเขียนบทความเรื่องนี้  สิ่งที่ผู้เขียนค้นพบใหม่ ซึ่งอาจจะเก่าแล้วสำหรับท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน แต่ยังใหม่และมีค่าต่อผู้เขียน และปรารถนาจะแบ่งปันกับท่านผู้อ่านบางท่าน ผู้ที่ยังค้นไม่สะดุดพบประเด็นนี้ ก็คือเรื่อง “การฟังด้วยตา” 

ครูสอนการฟังท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า เวลาฟังให้ใช้ตาสังเกตอากัปกิริยาของผู้พูด มือไม้ของเขาเคลื่อนไหวอย่างไร สีหน้าของเขาเป็นอย่างไร ตาของเขาหลุกหลิกหรือเปล่า ออกอาการทางตาอย่างไรบ้าง แล้วปากล่ะ เขาใช้กล้ามเนื้อบังคับริมฝีปากและบริเวณปาก มากเกินไปหรือเปล่า  บ่าและไหล่มีอาการอย่างไร  เขาขยับตัวอย่างไร ท่าทางระหว่างพูดเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ออกอาการปกป้องตนเอง(defensive) ทำท่าเย่อหยิ่งจองหอง(arrogance) แสดงความรำคาญ(annoyed) รู้สึกเคือง(irritated) ท่าทางสบาย ๆ(happy) ท่าทางสับสนงุนงง(confused) มีอาการเป็นกังวล(worried) ฯลฯ สรุปว่าให้ใช้ตาสังเกตอากัปกิริยาของผู้พูด

เราต้องตีความเอาเอง รู้เอาเอง ว่าอาการเหล่านั้นเราควรเข้าใจว่าอย่างไร  การสื่อความในเรื่อง การบ้าน การงาน และการเมือง แต่ละครั้งแต่ละเรื่อง ในวงเจรจาแต่ละวง เราผู้มีส่วนร่วมในการพูดจา ต้องฟังด้วยตาให้เห็นอาการต่าง ๆ และก็ต้องมีสติรู้ตัวด้วยเหมือนกันว่า ตัวเราเองก็กำลังออกงิ้ว กำลังแสดงอาการให้ผู้ฟังได้เห็นด้วยตาของเขาอยู่เหมือนกัน  แล้วอากัปกิริยาของเราจะทำให้เขางงหรือเปล่า

ท่านว่า เราต้องแยกให้ออกระหว่างการออกอาการที่มีสติ หรือมี conscious กับการออกอาการที่สติไม่ได้บังคับ หรืออาการ unconscious  หรือออกอาการแบบไม่รู้สึกตัว ซึ่งอาการที่แสดงออกมาแบบไม่รู้ตัวนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เขาพูด เช่น กำลังพูดแบบวาจาปราศัยน้ำใจเชือดคอ หรือเปล่า เป็นต้น 

วิธีฝึกฝนเรื่องนี้ ทำได้ง่ายมาก เริ่มด้วยการสังเกตการพูดจาทางโทรทัศน์ ทั้งของโฆษก และของแขกรับเชิญ


แดง ใบเล่ 
                        www.pricha123.blogspot.com
                       Email: pricha123@yahoo.com


หมายเหตุ: เรื่องแนวปรัชญาไม่ใช่เรื่องที่เราศึกษาแล้ว จะได้อะไรเป็นเนื้อเป็นหนัง หรือได้รับประโยชน์ที่สามารถ ชั่ง ตวง วัด หรือนับจำนวนได้  แต่ว่า – ข้อคิดแนวปรัชญา หรือธรรมมะ เป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่ตายไปอย่างโง่เขลา  กระนั้นก็ดี การที่มนุษย์คนหนึ่ง อันได้แก่เราท่านทั้งหลาย ไม่ตายไปอย่างโง่เขลา ก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โภชผลอะไร ที่จะชั่ง ตวง วัด หรือนับได้

เพราะฉะนั้น ประเด็นเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนบุคคลเป็นสำคัญ  กล่าวคือ คนบางคนเขาชอบที่จะไม่ตายไปอย่างโง่เขลา  ถึงแม้ตอนเด็ก ๆ คุณยายจะพร่ำพูดให้ได้ยินตอนเช้า ๆ เรื่อยเลยว่า

Ignorance is bliss.
หรือ“สุขใด จะเสมอด้วยโง่ ไม่มี”  ก็ตาม


ขอบคุณ ที่ท่านสนใจแวะชม  และขอบคุณ—คุณยาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น