open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

เพื่อนและมิตรภาพ

ปกิณกะชีวิต
โดย แดง ใบเล่



เรื่องเพื่อนฝูงมิตรสหาย เป็นประเด็นชีวิตที่เรามองข้าม เพราะถือเป็นเรื่องสามัญธรรมดา ใคร ๆ ก็รู้ ๆ กันอยู่แล้ว  กระทั่งมีเฟสบุคและโปรแกรมสังคมสัมพันธ์ต่าง ๆ ขึ้นมาในอินเตอร์เนต  เรื่องมิตรสหายเพื่อนฝูงจึงกลายเป็นประเด็นสะกิดใจ  หลาย ๆ คนถูกถากถางด้วยประโยคยอดนิยม ขออภัยถ้าน่าเบื่อ คือประโยคที่ว่า มีเพื่อนเป็นแสน-มีแฟนเป็นศูนย์   


          เรา หมายถึง ผู้เขียนและอาจจะรวมท่านผู้อ่านบางท่าน ก็เลยนึกสงสัยว่า สองเรื่องนี้เกี่ยวข้องเป็นเหตุเป็นผลแก่กันและกันหรือไม่  หรือว่าเเป็นคนละเรื่องเดียวกัน  หมายความว่า การที่เรามีเพื่อนเป็นแสน ไม่ได้เป็นเหตุให้เรามีแฟนเป็นศูนย์แต่ประการใด  และการที่เรามีแฟนเป็นศูนย์ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้เรามีเพื่อนเป็นแสน

          ถ้ากระนั้น ถ้ามันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน น่าจะหมายความว่ากระไร

          ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไร แต่ผู้เขียน-โดยสามัญสำนึกของตนเอง คิดว่า เพื่อนกับแฟน คงจะเป็นคนละเรื่อง แต่จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน คือประเภทมิตรภาพและความรัก ภาษากฎหมายท่านบอกว่า ถ้าแบ่งสิ่งของออกเป็น “ประเภท” จะหมายถึงกลุ่มใหญ่ และในกลุ่มใหญ่นั้นซอยย่อยแตกออกเป็น “ชนิด” ต่าง ๆ ได้นานาชนิด  ชนิดจึงหมายถึงสิ่งย่อยที่อยู่ในกลุ่มใหญ่

          ถ้าจะนับ เพื่อนกับแฟน สังกัดในประเภทของความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมซึ่งมี “อารมณ์รัก” เป็นแกน  ไม่ใช่ความสัมพันธ์ประเภทลูกค้า-คู่ค้า  นายจ้าง-ลูกจ้าง หรือผู้บังคับบัญชา-ผู้ใต้บังคับบัญชา  หรือความสัมพันธ์ทางการเมือง เช่น นายกเทศมนตรี-ประชาชน หรือประธานอบต.-ราษฎร

เพื่อนกินสิ้นทรัพย์แล้ว  แหนงหนี
หาง่ายหลายหมื่นมี              มากได้
เพื่อนตายถ่ายแทนชี-           วาอาตม์
          หายากฝากฝีใข้                  ยากแท้จักหา ฯ

          ท่านผู้อ่าน ทราบความโคลงโลกนิตบทนี้ดีอยู่แล้ว ผู้เขียนจึงเพียงยกขึ้นมาอ่านทวนกันเล่น ๆ และขอข้ามไปประเด็นอื่น

อาจารย์ท่านหนึ่ง ในโรงเรียนเก่าที่ผู้เขียนเคยเรียน คือ มหาวิทยาลัยชิคาโก ท่าน  
ประกาศแก่โลกเมื่อเจ็ดแปดปีก่อน ด้วยหนังสือขายดีเกี่ยวกับความว้าเหว่ของชีวิตคน ตีพิมพ์ปี 2551 ว่า การเข้าพวก เข้ากลุ่ม เข้าฝูงของมนุษย์ ถือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการวิวัฒนาการของสรรพชีวิต  แรงกระตุ้นให้เราคบเพื่อนคบฝูง คือ ความรู้สึกว้าเหว่ เดียวดาย ไร้ที่พึ่ง ซึ่งว่าที่จริงมีคุณอนันต์  และทำหน้าที่ให้กับมนุษย์เช่นเดียวกับ ความหิว ความกระหาย หรือความเจ็บปวด ความหิวผลักดันให้คนหาอาหาร ความว้าเหว่กระตุ้นให้คนหามิตร  อาการปวดฟันบังคับให้คนกินพาราเซ็ตตาม็อน—ประโยคท้ายผู้เขียนเติมเอาเองโดยพละการ

          ถ้าเด็กไม่มีความว้าเหว่คอยเตือนให้เข้าพวกเข้าฝูง  ท่านว่าเสือจะเอาไปกิน  เพราะเด็กที่ไม่รู้จักว้าเหว่  มันจะเที่ยวเดินเล่นอยู่คนเดียวในป่า  มันไม่คิดถึงใคร ไม่คิดถึงพ่อแม่ เที่ยวเดินเล่นเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย ๆ  เสือก็เลยเอามันไปกิน  วิชาประสาทวิทยาสมัยใหม่ – nuroscience – ท่านว่า มันไม่มีการปล่อยสาร โดปามีน ออกมาในสมอง 

          ดิจิทัลเทคโนโลยี ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสัมพันธภาพฉันท์มิตรของมนุษย์  เรื่องมิตรภาพ ที่ถูกละเลยมานาน จึงถูกกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีชนิดนี้ ให้กลายเป็นประเด็นชีวิตที่เด่นขึ้นมาในปัจจุบัน  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นนิมิตรหมายอันดี  ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะเห็นอย่างไร  นายมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ต้นคิดและเจ้าของกิจการเฟสบุค แกภาคภูมิใจว่าซอฟต์แวร์นี้ของแก ได้ช่วยมนุษย์จำนวนมากในโลก ให้ได้มีเพื่อนฝูงมิตรสหาย  แต่--แกเตือนว่าขอให้ใช้เป็นอะหลั่ยเท่านั้น ในชีวิตเรา ๆ ต้องมีเพื่อนที่เป็นมนุษย์ที่มีตัวตนจริง ๆ ที่พบเห็นและสังสรรค์กันจริง ๆ ไม่ใช่มีแต่เพื่อนเฟสบุค  เวลานี้แกแต่งเมียไปแล้ว เมียแกเป็นสาวชาวเกาหลี-ส่วนตัวแกเป็นคนยิว

          ในพระไตรปิฎก ซึ่งมีอยู่ “สามตะกร้า” ภาษาบ้าน ๆ เรียก พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม  ในพระสูตร--ซึ่งภาษาวัดเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สุตตันตปิฎก” อันเป็นฉบับรวมเทศน์ หรือ collection ของเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระอาจารย์ดัง ๆ สมัยโบราณ  มีเทศน์เกี่ยวกับเพื่อนและมิตรภาพเอาไว้  ขอคัดตรงจาก สุตตันตปิฎก ดังนี้


            ดูกรคฤหบดีบุตร มิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑
            มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ท่านพึงทราบว่า
            เป็นมิตรมีใจดี [เป็น มิตรแท้]

             ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้
            โดยสถาน ๔ คือ รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้
            ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ เมื่อกิจที่จำต้องทำเกิดขึ้นเพิ่มทรัพย์ให้
            สองเท่า [เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก] ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร มิตร
            มีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ

            ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตร
            แท้โดยสถาน ๔ คือ บอกความลับ [ของตน] แก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของเพื่อน ๑
            ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ๑ แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑ ดูกร
            คฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔
            เหล่านี้แล ฯ           
                                                                                            
            ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตร
            แท้โดยสถาน ๔ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยัง
            ไม่เคยฟัง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึง
            ทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ

            ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้
            โดยสถาน ๔ คือ ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน ๑ ยินดีด้วยความเจริญของ
            เพื่อน ๑ ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑ ดูกรคฤหบดี
            บุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ

                                                    --พระไตรปิฎก: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค


            เทศนาเรื่องนี้ดีอย่าง ตรงที่ท่านทำ check-list มาให้เลย  ว่ามิตรแท้แต่ละประเภทมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง (สถานใด)  ส่วนคำว่า คฤหบดีบุตร นั้น  ทำให้เราชัวร์ปึ้ก ว่าแบบนี้เทศน์ให้พวก “เสี่ย” ฟังแหงเลย  เพราะ เสี่ย ก็คือลูกของพวก เถ้าแก่  แต่ผู้เขียนเห็นว่าเราท่านผู้ที่บิดาไม่ได้เป็นเถ้าแก่ ตัวเราก็เลยไม่ได้เป็นเสี่ย  เราท่านสามัญชนคนธรรมดาทั้งหลายก็น่าจะลองฟัง ๆ คำเทศน์นี้ดู  แล้วคิดเอาเองว่าจะใช้ได้แค่ไหนเพียงใด – พระพุทธเจ้าสอนว่าให้คิดก่อนเชื่ออยู่แล้ว.....

          เช้าวันหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียน--มีเพื่อนไปด้วย--เดินอยู่ไม่ไกลจาก ถนนซัดเดอร์ สตรีท แหล่งรวมพลชุมชนคนแบกเป้ ในเมืองกัลกัตตา อินเดีย  สภาพคล้าย ๆ ถนนข้าวสารในกรุงเทพฯ  พอเอ่ยขึ้นมาอย่างนี้ท่านผู้อ่านเดาถูกเลยว่า ผู้เขียนคงไม่ได้พักโรงแรมห้าดาวแน่นอน.....

          ที่นั่น--ผู้เขียนได้พบกับโรงทานริมถนน เขาแกงถั่วมาตักแจกคนจน  และเพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านบางท่าน เดาเตลิดเปิดเปิง เถิดเทิงรำมะนาต่อไป ว่าผู้เขียนคงจะไปยืนต่อคิวแขก รอกินแกงถั่วฟรีแหงเลย ก็จะขอเบรคไว้ก่อนว่า เมนูนี้ - ผมไม่.....แกงถั่วไม่ชอบ ชอบกินกูระหม่าแพะ
                                                                                                
          โรงทานริมถนนในกัลกัตตา ชวนให้นึกถึง แม่ชี เทเรซา ผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งหลานชายเคยอาสาสม้ครไปช่วยงานกุศลของท่านที่นั่น  ผู้เขียนนึกถึงคำพูดแม่ชี ที่ว่า

                        ความยากจนใด จะยิ่งไปกว่าความว้าเหว่ ไม่มี
                        ความลำเค็ญใด จะยิ่งกว่าความรู้สึกว่าไม่มีใครรัก ไม่มีใครเมตตา ไม่มี

                                                                                 - แม่ชี เทเรซา แห่งกัลกัตตา

          ท่านผู้ที่เคยมีชีวิตผ่านยุคมิตรภาพทางจดหมาย(pen friends) มาจนถึงยุคเครือข่ายสังคมสัมพันธ์(social networking)  ท่านผู้นั้นย่อมเป็นพยานได้ว่า แม่ชี เทเรซา พูดความจริง

          ความจริงอีกประการหนึ่ง ที่เป็นคุณต่อภราดรภาพยุคเครือข่ายสังคมสัมพันธ์ ทางสื่อสมัยใหม่ เช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เป็นต้น  ได้แก่สิ่งที่ อะริสโตเติล เตือนสติไว้ตั้งแต่ประมาณยุคพุทธกาล ที่ว่า

         การนึกปรารถนา อยากจะเป็นเพื่อนกัน เกิดขึ้นไว
         แต่ มิตรภาพจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป เสมอ

-       อาจารย์ อะริสโตเติล

  ใครจะทราบความจริงข้อนี้ ได้ดีเท่าผู้เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนทั้งหลายอีกเล่า  มิตรภาพจะไม่เกิดเพียงเพราะเราได้สัมผัสปลายนิ้วลงบนหน้าจอครั้งสองครั้ง  มิตรภาพจะงอกงามขึ้นจากการได้เดินทางไปมาหาสู่กัน เกิดที่โต๊ะกาแฟ หรือระหว่างพักการประชุมสัมมนา หรือระหว่างการไปทัวร์ ชนิดล่องแก่งหรือแคมปิงหรือเดินเขา อะไรประมาณนั้น  กิจกรรมช่วยให้เราได้ก่อมิตรภาพ  ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า บ่อเกิดของมิตรภาพล้วนต้องใช้ “เวลา” ทั้งนั้น  ถ้าเราไม่มีเวลาหรือมีเวลาไม่ตรงกัน  มิตรภาพอาจจะก่อขึ้นยากกว่ากรณีที่ เราต่างก็มีเวลาด้วยกัน

ผู้เขียนเชื่อว่า มิตรภาพเป็นเรื่องของ slow life…..ส่วนคนที่มีชีวิต fast track ชนิดวิ่งร้อยเมตรทั้งหลาย ล้วนน่าเห็นใจ – มิตรภาพเป็นไปได้สำหรับพวกเขา  แต่คงจะต้องใช้ความเพียรเข้ม ๆ และอดทนมาก ๆ  ท่านที่สนใจเรื่องมิตรภาพและการมีเวลาจะเสีย น่าจะลองตอบคำถามนี้ดู – ตั้งแต่ออกจากโรงเรียน เราท่านมีเพื่อใหม่กี่คน

สำหรับท่านผู้อ่านที่รู้ภาษาฝรั่งเศส  จะคลิกฟังคำแนะนำสั้น ๆ จากนายดาวิด ลาโรช เรื่องวิธีสร้างมิตรภาพภายในสองนาที ที่ลิงก์นี้ดูเล่น ๆ ก็ได้นะครับ  พวกปัญญาชนจะไม่ชอบรายการประเภท self-help แบบนี้ รวมทั้งปัญญาชนฝรั่งเศสด้วย  แต่ผู้เขียนคิดว่าเราควรเปิดใจให้กว้างและคิดด้วยเหตุด้วยผล  รายการ self-help ถ้าไม่ถึงกับดูหมิ่นสติปัญญาผู้ชมก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย  สำหรับท่านที่ไม่รู้ภาษาฝรั่งเศส-ในตอนท้ายวีดีโอ เขาจะมีตัวอักษรขึ้นจอ ระบุประเด็นที่เขาเห็นว่า จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เราสร้างมิตรได้ไว  ท่านสามารถหยุดวีดีโอ แล้วลองเคาะหาคำแปลจากกูเกิ้ลดูแล้วกันครับ ไม่ยากหรอก และคงไม่เหลือบ่ากว่าแรง 

https://www.youtube.com/watch?v=Js-WXLY6kqU
หรือพิมพ์ในยูทูบว่า  Comment se faire des amis en moins de 2 minutes - 5 clés


จำเป็นจะต้อง “น่ารัก” หรือไม่ จึงจะมีเพื่อนกับเขาได้  ประเด็นนี้ อะริสโตเติล ตอบไว้เมื่อยุคพุทธกาล ว่า

         ความรัก  จะเกิดได้กับสิ่งที่น่ารัก เท่านั้น
 
-       อาจารย์ อะริสโตเติล

เอ๊ะ แล้วเราเป็น “สิ่งที่น่ารัก” รึเปล่าวะเนี้ยะ  สงสัยตัวเองฉิบหายเลย  บางท่านอาจนึกเอะใจขึ้นมาเช่นนั้น

แต่ว่า คนหน้าตาดี ใช่ว่าจะเป็นหลักประกันว่า จะมีมิตรภาพที่ดี  เพราะ อะริสโตเติล แบ่งมิตรภาพออกเป็นสามชนิดง่าย ๆ และไม่ได้เน้นเรื่องรูปร่างหน้าตา  การแบ่งคร่าว ๆ ของ อะริสโตเติล ช่วยเราได้มิใช่น้อย--ในการพิจารณาเรื่องเพื่อนและมิตรภาพ

         ชนิดแรก  ได้แก่ มิตรภาพที่เกิดจากความมีประโยชน์ต่อกัน
         -ซึ่งช่วยอธิบายให้เราทราบว่า ทำไมเมื่อเราออกจากงานหนึ่งไปทำงานที่อื่น
         มิตรภาพที่เคยมีในสำนักงานเดิม จึงจืดจางลงง่ายดาย

         ชนิดที่สอง  ได้แก่ มิตรภาพที่เกิดจากความเพลิดเพลินเจริญใจด้วยกัน
         -ซึ่งช่วยอธิบายว่า เมื่อวงแอโรบิคในสวนสาธารณะ ถูกยกเลิกไป
         มิตรภาพที่เคยมี จากการเดินไปกินน้ำเต้าหู้ด้วยกันหลังเลิกแอโรบิค ก็ย่อมจะเลิกรา

         ชนิดที่สาม ได้แก่ มิตรภาพที่เกิดจาก สิ่งใดดี  สิ่งนั้นน่ารัก
         -ซึ่งหมายความว่า ต่างฝ่ายต่างพอใจในตัวตน ของกันและกัน
         ช่วยอธิบายว่า ทำไมเพื่อนแก้ว จึงอยู่ยั้งยืนนาน

          จะอย่างไรก็ตาม ถ้าเราอยากเป็น ที่รัก ของใครสักคนหนึ่ง หรือสักสองสามคน  เราก็น่าที่จะหันมามองตน ดูซิว่าตัวเรามีอะไร น่ารัก บ้าง  เพราะ อะริสโตเติล บอกว่า ความรักจะเกิดแก่สิ่งที่น่ารักเท่านั้น  ยกตัวอย่างเรื่องรูปร่างหน้าตาอันเป็นสิ่งที่เห็นกันง่าย ๆ  ถ้าตัวเรา เนื้อตัวเป็นด่างเป็นดวง ปากก็ห้อย พุงก็ย้อย หน้าผากแคบ ย่นเหมือนลิง  ศัลยแพทย์ความงาม พากันทิ้งมีดผ่าตัด สิ้นหวัง…..

          เราคงต้องหันไปสร้างสรรค์ปรุงความ น่ารัก กับคุณสมบัติที่ไม่ใช่เรื่องของร่างกาย  ซึ่งโชคดีก็เป็นของเราอีก เพราะคนฉลาด ๆ ที่เขามองทะลุเรื่องร่างกายมีถมไป.....ถึงแม้ว่าคนฉลาด ๆ เหล่านั้นหลาย ๆ คน จะหน้าตาอัปลักษณ์ยิ่งกว่าเรา ก็ช่างมันเถิด 

          กรณีนี้ หากเป็นมิตรต่างแพศ ถ้ารักกันถึงขั้นแต่งก็อย่ามีลูกนะ--ขอร้อง   




บทความในชุดเดียวกัน please click here. 
ชอบ/ไม่ชอบ โปรดแชร์ลิงก์ไปให้เพื่อนด้วยครับ

--------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ – บทความสั้น ชุดปกิณกะชีวิต ตั้งใจว่าจะเขียนเดือนละบทสองบท อาจพลาดพลั้งผิดนัดบ้าง โปรดอภัย จะโพสต์เผยแพร่ตลอดปี 2558 ครับ ที่หน้าบล็อก www.pricha123.blogspot.com


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ5 มีนาคม 2558 เวลา 02:53

    อ่านแล้วรู้สึกได้ว่า ต้องย้อนกลับมาดูตัวเองเลย

    ตอบลบ