open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

ธรรมสมัยใหม่ เพื่อความอยู่ดีมีสุข

ปกิณกะชีวิต
แดง ใบเล่


          เรื่องที่จะเขียนลำดับต้น ๆ นี้ ผู้เขียนคิดว่าคงจะไม่ยุติธรรมต่อท่านผู้อ่าน  แต่ผู้เขียนก็ยังจะขืนทำ..... 

กล่าวคือ จะขอเปิดเผยข้อมูลที่มาของความคิดที่จะเสนอท่านในบทความนี้ เสียตั้งแต่ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะเริ่มอ่าน  ที่จริงน่าจะเขียนให้จบเสียก่อนแล้วค่อยบอกที่มาทีหลัง  เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาเนื้อหาด้วยตัวท่านเอง โดยปราศจากอิทธิพลใด ๆ แล้วคิดวินิจฉัยเอาเองว่า ข้อคิดนั้นใช้ได้หรือใช้ไม่ได้  ผู้เขียนไม่น่าจะนำข้อมูลซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหา ยกขึ้นมาพูดก่อน เพราะอาจจะทำให้ท่านเขวได้.....แต่ผู้เขียนก็ยังจะขืนทำ ดังต่อไปนี้


ในโลกสมัยปัจจุบัน มี “คฤหบดีบุตร” (ศัพท์จากพระไตรปิฎก) หรือ “เสี่ย” (ศัพท์สามัญ)คนหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเขาเป็นคนน่าสนใจ อายุยังไม่มาก ยังเป็นคนหนุ่ม--แม้แกจะหัวล้านแล้ว  เขามีผลงานถูกใจผู้เขียนพอสมควร  ที่จริง ผู้เขียนรู้จักผลงานของเขามาก่อน ก่อนที่จะมาทราบในภายหลังว่า เขาเป็นคฤหบดีบุตร(เสี่ย)  แต่ ข้อมูลส่วนตัวดังกล่าวนี้ ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่างานของเขาด้อยลงในสายตาของผู้เขียน

ผลงานส่วนมากของเขา เป็นงานเชิงปรัชญา (--เชิงความคิดความอ่าน ที่สามัญชนเข้าใจได้ ไม่ใช่อาจารย์กีรติ บุญเจือ เท่านั้นที่จะอ่านรู้เรื่อง)

เขาเป็นคนสัญชาติอังกฤษ เรียนจบสาขาปรัชญามาจาก--ถ้าไม่จากออกฟอร์ด ก็เคมบริดจ์ ผู้เขียนจำไม่ได้และไม่อยากจะค้น กลัวจะเสียอารมณ์ในการเขียน  และข่าวสารนี้ก็ไม่สำคัญต่อการพิจารณาผลงาน  เขาเคยเล่าว่า เมื่อเขาเริ่มออกทำมาหากินด้วยตนเอง ในการสร้างรายการเชิงปรัชญาเผยแพร่ทางสื่อ และเขียนหนังสือ  ซึ่งสำหรับนักเขียนที่ประสบความสำเร็จด้านตลาด การขายหนังสือได้หนึ่งล้านดอลลาร์ ถือว่ามากแล้ว  แต่สำหรับคุณพ่อของเขา เขาเล่าว่า คุณพ่อเขาเห็นว่า เงินหนึ่งล้านดอลลาร์เป็นเรื่องจิบจ้อยเอามาก ๆ    

ต่อมาคุณพ่อเขาตาย เขาก็ได้รับมรดก  แต่เขาเล่าว่า เขาไม่เคยแตะต้องเงินมรดกเลย  เขาหาเงินใช้เองมาตั้งแต่ก่อนได้รับมรดก  และรายการสื่อของเขาก็ทำเงินรายได้ให้แก่เขามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเขาไม่จำเป็นจะต้องหยิบทรัพย์สินกองมรดกมาใช้

ดังได้เล่าท่านผู้อ่านแล้วว่า ผู้เขียนรู้จักผลงานของบุคคลผู้นี้มาก่อน--และประทับใจมา ก่อนที่จะมารู้ทีหลังว่าเขาเป็นคฤหบดีบุตร  เขาใช้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ได้ดี  จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเขาก็คือ เขาคลุกคลีอยู่กับแนวคิดปรัชญาตะวันตกล้วน ๆ  เขาไม่มีปรัชญาตะวันออกแทรกปนอยู่ เหมือนนักคิดนักเขียนท่านอื่นทางตะวันตกในเวลานี้  สำหรับผู้เขียนนั้น ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่ายินดี  เพราะผู้เขียนก็อยากฟังการเสวนาของนักปรัชญาตะวันตกเพียว ๆ ที่เป็นคนยุคปัจจุบัน ว่าเขามองโลกสมัยใหม่อย่างไร  ทั้งนี้ เนื่องจากได้ฟังผู้รู้ชาวตะวันตกที่สมาทานปรัชญาตะวันออก พูด/เขียนมาหลายท่านแล้ว

อีกกระทงหนึ่ง ผู้เขียนรู้สึกดีใจ ที่ทราบว่าเขาอยู่ในกลุ่มภาษาอังกฤษ-ฝรั่งเศส-เยอรมัน  ในขณะที่ผู้เขียนอยู่ในกลุ่มภาษาไทย-อังกฤษ-ฝรั่งเศส-สเปน-สันสกฤต/ฮินดี-อินโดเนเซีย(กำลังเรียน)  เราสังกัดคนละกลุ่มภาษากัน  ดีแล้วล่ะ เราจะได้คิดไม่เหมือนกัน  ผู้เขียนจะได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากเขาได้ – เพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง แบ่งปัน กับท่านผู้อ่านงัยครับ

เขาไม่เคยพูดตรง ๆ ว่าเขามองโลกสมัยใหม่อย่างไร  แต่เราสามารถจับความเอาได้ไม่ยาก จากการพูดการเขียนของเขา  สิ่งที่จะนำมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านในบทความชิ้นนี้ ก็คือ  เรื่องที่เขาเคยแสดงความเห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า “มีคุณธรรมหรือหลักชีวิต ประการใดบ้างที่คนสมัยปัจจุบันจะพึงมี เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข”  เขาเห็นว่าคนปัจจุบัน ควรที่จะมีคุณธรรมสิบประการ คือ 1) ความยืดหยุ่น 2) รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา 3) การมีน้ำอดน้ำทน 4) ทำทาน 5) มีความสุภาพ 6) อารมณ์ขัน 7) มีสติรู้ตัว 8) อภัยทาน 9) ความหวัง 10) มั่นใจในตัวเอง       

เราจะไม่พิพากษากันนะว่า อะไรผิดอะไรถูก แต่ผู้เขียนจะนำประเด็นที่เขาพูด นำมาคิดพิจารณา  โดยที่หัวข้อคุณธรรมสิบประการนั้นผู้เขียนลอกของท่านมา – ลอกมาแต่เฉพาะหัวข้อคุณธรรมที่ท่านพูด  แต่การขยายความเป็นการขยายความจากใจของผู้เขียนเอง ถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษร เท่าที่รู้ที่คิดอยู่ในใจ ณ ขณะเวลาที่เขียน  จะไม่ตั้งคำถามเพื่อการค้นคว้าเข้าไปในกูเกิล  แต่ละหัวข้อจะเขียนให้จบจากความคิดหรือความจำ ภายในระยะเวลา “หนึ่งนั่ง” -- นี่เป็นสำนวนภาษาอังกฤษของนักเขียน  เขาเรียกว่า “one sit”  คือ จะไม่ลุกไปไหนจนกว่าจะเขียนจบ  แบบนี้เขาเรียกว่าเขียนให้จบภายใน “หนึ่งนั่ง”.....within one sit 

วิธีการนี้ ถ้าท่านผู้อ่านจะลอกเลียนนำไปใช้บ้าง เวลาท่านมีเรื่องจะต้องเขียน  ผู้เขียนไม่สงวนสิทธิ – เชิญลอกเอาไปตามสบาย และไม่ต้องอ้างอิงกลับมา นะครับ ไม่อยากดัง

เริ่มกันเลย.....

1)   ความยืดหยุ่น  คำไทยก็ดี อังกฤษก็ดี หรือแม้แต่ภาษาอินโดเนเซีย  คำว่าความยืดหยุ่นมีทั้งความหมายเชิงบวกและเชิงลบ  ความยืดหยุ่นที่ถือว่าเป็นคุณธรรมนั้น ท่านยึดเอาความหมายเชิงบวกของคำ ๆ นี้เป็นที่ตั้ง  ไม่ได้มุ่งประเด็นอยู่กับการยืดได้เหมือนยางยืด หรือน้าวได้เหมือนคันธนู หรือลู่ลมได้ไม่หักกลางลำเหมือนต้นอ้อ  ความหมายหลักของความยืดหยุ่นที่ถือเป็นคุณธรรมอันคนสมัยใหม่พึงมี อยู่ที่ขีดความสามารถที่จะดีดกลับที่เดิมได้ เช่น ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้ หรือสามารถรับน้ำหนักบันทุกได้มาก ไม่แตกหัก ครั้นโหลดของลงแล้ว ทุกอย่างคืนสภาพ  จะบอกว่าเป็นขีดความสามารถแห่งการคืนสภาพ ก็ไม่ผิด

ความยืดหยุ่นและขีดความสามารถในการคืนสภาพ ท่านว่าเป็นคุณสมบัติหรือคุณธรรมที่คนในโลกสมัยใหม่พึงมี

2)   รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  คุณธรรมข้อนี้ท่านว่า จะช่วยให้เราอยู่เย็นเป็นสุขได้ในโลกสมัยใหม่  เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกันกับ “รู้เขา-รู้เรา” ซึ่งเป็นความคิดเชิงยุทธศาสตร์หรือพิชัยสงคราม  แต่การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา--เป็นเรื่องธรรมมะ ที่อิงความเมตตากรุณาปรานี  ไม่ใช่จ้องจะห่ำหั่นกันอย่างในพิชัยสงคราม  คือเราพยายามจะรู้สึกถึงทุกข์ของเขา เช่นที่อดีตประธานาธิบดีคลินตันเคยพูดว่า “I feel your pain.” นั่นแหละตรงที่สุด  การรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อย่างน้อย ๆ ก็จะทำให้เราลดความรู้สึกติดลบกับเขาลงได้ไม่มากก็น้อย  และอย่างมากที่สุด ก็คือจะเกิดความทุกข์เวทนาเหมือนกับตัวเราเจ็บอย่างเขาจริง ๆ

การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะช่วยปรับทั้งความคิดและพฤติกรรมของเราเอง  ที่มีหรือที่จะมีต่อผู้อื่น  ทำให้ทั้งความคิดและพฤติกรรมของเราต่อเขา ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม อิงความเมตตากรุณา  ช่วยให้เรารู้จักแผ่เมตตาจิต การแผ่เมตตาไม่ก่อให้เกิดต้นทุนอะไรกับเรา แต่กลับจะช่วยให้ความดันเลือดลดลง จิตใจสงบขึ้น 

3)   มีน้ำอดน้ำทน  ความอดทนเป็นสิ่งที่คนสมัยใหม่บางคนมักจะขาด หรือพร่อง  ซึ่งบางทีสร้างผลเสียใหญ่โตและเรื้อรังยาวนาน  การที่คนเราได้สนองตัณหาทันทีทันควันใครว่าดี  นึกอะไรได้นั่นใครว่าดี  มันไม่ได้ดีเสมอไปทุกเรื่องดอก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเหตุปัจจัยโดยรอบ  น้ำอดน้ำทนทำให้เรารู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เช่น เด็กมันอายุยังไม่ถึงสิบแปดเลย เราต้องรู้จักรอก่อน ให้มันสิบแปดเสียก่อน เป็นต้น  บางท่านอาจนึกประนามตำหนิผู้เขียนว่า โห ทำไมเจรจาธรรมมะด้วยวิธีอัปรีย์อย่างนี้  คำตอบก็คือ โธ่ ไม่จัญไรแล้วมันไม่จำอ่ะ  อีกอย่างหนึ่ง ตัวเองก็จกเปรตเล็ก ๆ อยู่แล้ว – อย่าว่ากันนะ  พูดให้หรู – วิธีนี้อิงปรัชญาชนิด consequential ethics กล่าวคือ เล็งผลเลิศ/ผลดี  ปฏิบัติอย่างระยำ ๆ แต่เพื่อผลที่ดี

คนที่อยู่ในโลกเกษตรโลกของคนทำสวน อย่างผู้เขียน จะเข้าใจเรื่องความมีน้ำอดน้ำทนโดยแทบจะไม่ต้องมีใครมาสอนมาบอก  ต้นไม้มันบอกเอง  ในชีวิตหนึ่งเรา(ผู้เขียน)ปลูกไม้ยืนต้นมาหลายชนิด เช่น กระถินเทพา เงาะ ทุเรียน มังคุด ม่วงมุด(ต้นไม้พันธ์ผสมระหว่าง มะม่วงกับละมุด กินอร่อยมาก ๆ) ละมุด ขนุน กล้วยน้ำว้า พืชสวนครัวเช่น โหระพา ตำลึง ฟักทอง ถั่วผักยาว ผักกาด ขมิ้น ยอดเหลียง เป็นต้น  ถ้าเราขาดความอดทน เราจะคบกับพืชผักและต้นไม้ ไม่ได้  กับคนบางคนก็เหมือนกัน ถ้าเราขาดความอดทน เราไม่มีวันจะคบเขาไม่ได้ดอก

4)   ทำทาน  คนที่อยู่ในโลกของไซเบอร์-โลกอินเตอร์เนต ถ้าไม่รู้จักการทำทาน ให้ไปตายซะ  ก่อนตายลองเคาะเข้าไปดูการค้าการขาย และเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทนในอินเตอร์เนต  ดูซิว่า กว่าเขาจะขายของได้ร้อยบาทเขาต้องแจกฟรีกี่บาท  คนขี้เหนียว หรือที่ท่านว่า – ขออภัย ตามสำนวนที่ว่า – ขี้ไม่ให้หมาแดก  แทบจะไม่มีที่จะอยู่ในโลกไซเบอร์ และแทบจะไม่มีที่จะหากินได้  เอาเถิด ที่พูดไปนั้นเป็นเรื่องทางโลกแท้ ๆ ไม่มีทางธรรมเลย  แต่บางครั้งตัวอย่างทางโลกช่วยให้เข้าใจทางธรรมได้  เพราะในที่สุดทางธรรมก็มีไว้เพื่อใช้กับทางโลก เช่น ประเด็นที่ว่า ธรรมใดจะช่วยให้เราอยู่เป็นสุขในโลกสมัยใหม่ เป็นต้น

ครูชั้นประถมของผู้เขียน อายุแปดสิบเก้าปีแล้ว  ผ่านชีวิตมีสามีมาสองสามคน – เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่คนใต้เขาไม่ถือสากัน  มีลูกสี่ห้าคน  ปัจจุบันท่านอยู่บ้านลำพังคนเดียวกับหมาสองสามตัว (แต่บ้านลูกอยู่ในสวนไม่ไกลกัน)  เวลานี้ผู้เขียนนับถือท่านเป็น “วีรสตรี”  ในวัยแปดสิบเก้าท่านรูปร่างผอมบาง เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ทำสวนครัวเป็นแนวยาวบนไหล่ถนนหน้าบ้าน และอุทิศผลผลิตให้แก่คนทั้งหลายที่ผ่านไปมา  บางครั้งผู้เขียนก็ไปเอาตะไคร้ที่นั่น  ท่านสอนผู้เขียนให้รู้จัก “ให้” แบบที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ต่างตอบแทน  คือให้ขาดไปเลย อย่ามีจิตคิดรั้งไว้ ไม่ว่าด้วยกิเลสหนา หรือกิเลสอย่างบาง 

5)   มีความสุภาพ  ความสุภาพกับมีมารยาท คือ หัวใจสำหรับโลกสมัยใหม่  โลกที่ทุกคน(เกือบทุกคน)มีสมาร์ทโฟน ซึ่งแปลว่าเข้าอินเตอร์เนตได้จากโทรศัพท์มือถือ--แม้ระหว่างอยู่บนเตียงนอน  ช่างเย้ายวนเหลือเกินและท้าทายความรู้สึก มันชวนให้คิดว่าทุก ๆ คนในโลกเสมือนจริงของเรานี้ ต่างก็อยู่บนเตียงมหึมาเตียงเดียวกันทั้งนั้นเลย  ดูซิดู เราใกล้ชิดสนิทสนมกันตั้งขนาดนั้น  เพียงแต่เอื้อมมือไปคลำกันไม่ได้เท่านั้นแหละ - พี่น้อง (ถ้าเอื้อมมือมาถึง ก็ต้องเป็นมือแม่นาคพระโขนง แล้วล่ะ) 

ผิดพลาดอย่างมหันต์ สำคัญผิดวินาศสันตะโร  การใช้วาจาและวางอารมณ์อยู่ในโซนสนิทสนม—ผิดเพี้ยนทั้งหมด  การใช้วาจากันเองหรือสนิทชิดเชื้อเกินไป รู้มั๊ย--มันจะผลักคนให้ออกห่าง แทนที่จะดึงให้เข้าใกล้  การใช้สำนวนพูดกะจะตีกิน เท่ากับเราขยับตัวเข้าไปอย่างกับจะนั่งตักเขา ซึ่งเขาจะขยับตัวหนี-ทันที  แต่เราอาจเห็นคนบางคนสนทนากันอย่างซี้กันมาก ๆ ตามหน้าแชท  แต่นั่นเป็นเพราะเขาเป็นเพื่อนกันจริง ๆ ในโลกจริง—ที่มิใช่โลกเสมือนจริง(virtual)  พยายามสุภาพและมีมารยาทไว้เถิด--ดีเสมอแหละ  จริง ๆ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร  อย่าซี้ซั้วกับคนในโลกเสมือนจริง ไม่ว่าจะบน platform ใด ระวังไว้ก่อนดีกว่า—ถ้าเราทำได้  แล้วเราจะมีมิตรที่ใฝ่หา และได้มิตรที่ดีกว่าที่คิด  แล้วมิตรที่ดีกว่าที่คิดนั้น เพียงเรามีคนสองคนก็จะดีกว่ามีมิตรทั่ว ๆ ไปเป็นหมื่นเป็นแสนเสียอีก     

6)   อารมณ์ขัน  ผู้เขียนเป็นคนใต้ คนใต้เป็นคนมีอารมณ์ขัน(--คงจะไม่ใช่เสมอไปทุกคน)  แต่ว่าคนท้องถิ่นอื่นในประเทศไทยและในโลก--ก็มีอารมณ์ขัน  เพียงแต่ผู้เขียนยกตัวอย่างกลุ่มคนที่ผู้เขียนรู้จักดีที่สุดเท่านั้นเอง  มั่ว ๆ พูดถึงคนที่เราไม่รู้จักเขาดี มีสิทธิผิดพลาดง่าย  แต่ผู้เขียนก็ทราบมาว่า ที่ขึ้นชื่อเรื่องอารมณ์ขันคือคนอังกฤษ  เขาถือกันทำนองว่า อารมณ์ขันทำให้คนเป็นคน  ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วย ว่า มนุษย์เราถ้าปราศจากอารมณ์ขันเสียอย่าง มันจะเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาไม่ได้ดอก--เรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนต้วนะครับ  นักปรัชญามหาเศรษฐีที่ผู้เขียนลอกหัวข้อธรรมมะของท่านมาขยายความนี้ ท่านถือสัญชาติอังกฤษ  มีชีวิตอยู่ในอังกฤษ และผ่านระบบการศึกษาอังกฤษ--ท่านเป็นคนมีอารมณ์ขันลึกมาก  (แต่ว่า ชีวิตท่านตั้งแต่เล็กจนอายุประมาณสิบสองขวบ โตอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์  และนั่นเป็นเหตุทำให้ท่านรู้ภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน)

อารมณ์ขันของคนแต่ละวัฒนธรรมย่อมต่างกัน  ในเอเซียเท่าที่ผู้เขียนได้สัมผัส พบว่า ตนเองชอบอารมณ์ขันของคนอินโดเนเซียมากกว่าเพื่อน  และคิดว่าเหตุนี้เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยให้การเรียนภาษาอินโดฯ ของผู้เขียนสะดวกขึ้น

7)   มีสติรู้ตัว  ความมีสติรู้ตัวเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับโลกที่คนถูกระดมยิงด้วยข้อมูลข่าวสารสารพัด  หรือถูกบีบคั้นจากสภาวะรอบด้าน--ทุกเรื่อง  คนส่วนใหญ่มีชีวิตโดยขาดสติ หมายความว่าเขาจะดำเนินชีวิตไปในโหมดโอโตไพล็อต  ผู้เขียนเกิดมาในประเทศไทยที่มีพลเมืองเพียง 17 ล้านคน  ในสมัยโน้น--ถ้าใครจะอยู่ในโหมดโอโตไพล็อต อันตรายก็มีไม่มากอย่างสมัยนี้

เมื่อเจ็ดแปดปีที่แล้ว ผู้เขียนนั่งเครื่องบินสายการบินลุฟฮันซาของเยอรมัน จากเมืองแฟรงเฟิร์ต จะมาเมืองมัทราส(เชนไน)ในประเทศอินเดีย เป็นเที่ยวบินกลางวันตลอดเส้นทาง  ผู้เขียนนั่งคุยถูกคอกับเพื่อนผู้โดยสารซึ่งเป็นชาวอังกฤษ เขาทำธุรกิจ outsourcing อยู่ที่มัทราส  ระหว่างทางขณะที่กำลังบินตามเส้นทางการบิน สงสัยว่านักบินจะบินอยู่ในโหมดโอโตไพล็อต ก็มีเหตุระทึกใจกลางอากาศ  กล่าวคือ มีเครื่องบินโดยสารอีกลำหนึ่งที่บินสวนทางมา บินมาเฉียดเครื่องบินลำที่เรานั่งอยู่ ให้เห็นกันชัด ๆ เลย และเครื่องบินลุฟฮันซาลำที่เรานั่ง--เบี่ยงหลบ ผู้โดยสารรู้สึกตัวกับแรงเหวี่ยงกันทั้งลำ  คนอังกฤษเขาเป็นคนไม่แสดงอารมณ์  ผู้เขียนนั่งวางเฉย มองเครื่องบินลำโตเบ้อเร้อ บินเฉียดผ่านเราไปโดยไม่โวยวาย  เคยฟังมาว่า หนังสือพิมพ์ลอนดอนไทม์ที่ขึ้นชื่อว่าไม่แสดงอารมณ์  เช่น ถ้าสมมติว่า โลกจะแตกพรุ่งนี้ เขาจะรายงานอย่างปราศจากอารมณ์ เรียบ ๆ ง่าย ๆ ว่า “พรุ่งนี้ เวลาสิบนาฬิกา สิบห้านาที โลกแตก”  เพื่อนผู้โดยสารชาวอังกฤษเขาคอมเม้นต์เหตุการณ์นั้นด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ กับผู้เขียนว่า “อย่างนี้กระมัง ที่เขาเรียก a near miss?”   
  
8)   อภัยทาน  ส่วนมากเราจะเห็นป้ายประกาศเขตอภัยทานตามริมคลองหน้าวัดในจังหวัดภาคกลาง ซึ่งเป็นดินแดนลุ่มแม่น้ำ เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำนครชัยศรี แม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง  แม่น้ำแต่ละสายจะมีลำคลองเชื่อมโยงถึงกันหมด  ตามหน้าวัดริมคลองต่าง ๆ เราจะพบป้ายประกาศเขตอภัยทาน ผู้เขียนแปลเอาเองว่า ปลาทั้งหลาย--แม้จะมีเวรมีกรรมกันกับคนเรามาแต่ชาติปางก่อน แต่คนจะมาจองเวรจองกรรมกับปลาเหล่านั้นหน้าวัดนี้ไม่ได้ โปรดให้อภัยแก่ปลา เป็นทานด้วยเถิด

แต่การทำทานด้วยการให้อภัย คนมักจะลืมทำแก่คนด้วยกัน  ส่วนมากจะทำกับปลาที่ว่ายอยู่หน้าวัดเท่านั้น  แต่อย่าว่ายออกมาพ้นเขตแล้วกัน—จะโดน(เราเตือนคุณแล้ว)  ตามปกติเรานิยมทำบุญตักบาตรมากกว่า ง่ายกว่าทำอภัยทานเยอะเลย หรือจะทำทานเป็นเหรียญแก่คนขอทาน ก็ง่ายกว่าทำอภัยทานแก่มนุษย์บางคน  เรื่องนี้ไม่มีใครจะมาบังคับผู้เขียนหรือท่านผู้อ่านได้ดอก  พระอินทร์มาเขียว ๆ เดี๋ยวนี้เราก็ไม่กลัว  อย่างไรก็ตาม ท่านว่าอภัยทานเป็นการปลดแอกตัวเราเอง  อภัยทานเป็นคุณแก่ตัวเรา มากกว่าที่จะเป็นคุณต่อคนที่เราให้อภัย  แล้วโลกสมัยนี้--โอกาสที่คนจะกระทบกระทั่งกันเป็นไปได้ง่าย และกระทบถึงกันได้หมดแม้อยู่สุดโลก  นึกดูแล้วกันว่า เราจะต้องแบกภาระเวรกรรมหนักแค่ไหน ถ้าเราไม่รู้จักให้อภัยเสียบ้าง(-ถ้าทำได้)
     
9)   ความหวัง  ความหวังเป็นศิลธรรมในคริสต์ศาสนา  เข้าใจว่าจะอยู่ในพระคัมภีร์เก่า – ดิ โอลด์ เทสตาเมนต์ – จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น  คืออยู่ในกลุ่มธรรมมะ Faith-Love-Hope  นักปรัชญามหาเศรษฐีคนที่ผู้เขียนลักจำหัวข้อธรรมมะของท่านมานี้  ท่านเป็นคนยิวโดยกำเนิด ดั้งเดิมบิดาเป็นคนยิวอยู่ในอีจิปต์  ต่อมาย้ายมาอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์และอังกฤษ ประกอบอาชีพที่ปรึกษาทางการเงิน  เนื่องจากคนยิวก็นับถือพระคัมภีร์เก่าว่าเป็นคัมภีร์ของตนด้วย ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าท่านจะรู้จักธรรมมะแห่งความหวัง มานาน 

ผู้เขียนเห็นว่าคนเราถ้าสิ้นหวังเสียแล้ว ก็แทบจะสิ้นหมดทุกสิ่งทุกอย่าง  มีก็เหมือนไม่มี  คนเราถ้าไม่มีหวังอะไรก็ต้องรู้จักสร้างความหวังขึ้นมา  ตัวผู้เขียนเคยพบกับความสิ้นหวัง  แต่เรา—ทั้งตัวผู้เขียนเองและท่านผู้อ่าน จะต้องรู้จักสร้างความหวัง รู้จักหาเรื่องที่เราจะหวัง  ใครจะหาว่าเราหวังลม ๆ แล้ง ๆ ก็ช่างเขา หรือช่างมัน  แฟนงานเขียนของผู้เขียนท่านหนึ่ง  ครั้งหนึ่งได้พบกันโดยบังเอิญ  ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยสิ้นหวัง ท่านใช้คำว่า เวลานี้ไม่รู้จะหวังอะไรแล้ว และท่านเตรียมฆ่าตัวตายไว้เป็นขั้นเป็นตอนในช่วงเศรษฐกิจนรกแตก  แต่ต่อมาไม่นานหลังจากนั้น ท่านก็ได้พบกับความหวัง.....ซึ่งทำให้ท่านยังมีชีวิตเป็นสุขตามอัตภาพมาตราบจนเท่าทุกวันนี้  ผู้เขียนได้พบกับท่านครั้งล่าสุด เมื่อประมาณสี่ห้าเดือนก่อนนี่เอง ท่านเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เป็นคนละคน  อานุภาพของความหวังเราจะประมาทไม่ได้เลย  ผู้เขียนได้เรียนรู้เรื่องนี้จากผู้อ่านท่านดังกล่าว 

10) มั่นใจในตัวเอง  การเชื่อตัวเองกับความเย่อหยิ่งจองหอง คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน  ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่เป็นสุขในโลกสมัยนี้  ท่านว่าเราจะต้องมีธรรมมะข้อนี้  แต่ก่อนอื่น—คนที่มีความมั่นใจในตัวเอง ขี้มักจะถูกกล่าวหาว่าเย่อหยิ่งจองหองอยู่เนือง ๆ ซึ่งไม่เป็นการยุติธรรม  ความเย่อหยิ่งจองหองพองขน เป็นบาปหนาข้อหนึ่งในศาสนาคริสต์คาธอลิค พจนานุกรมฝรั่งเศส เปอติ โรแบร์ นิยามความเย่อหยิ่ง ไว้ว่า 

               Opinion très avantageuse, le plus souvent exagérée, qu’on a de                 sa valeur personnelle aux dépense de la considération due à                              autrui.

แปลว่า – ความคิดเห็นค่อนข้างเว่อ ๆ เกี่ยวกับคุณสมบัติของตัวเอง โดยมองข้ามคุณงามความดีของผู้อื่น  หรือจะแปลง่าย ๆ ว่า เว่อตัวเองเหยียดผู้อื่น

ลา บรุยแยร์ เป็นปราชญ์ฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 17 ที่มีคนนับถือมากผู้หนึ่ง  ท่านว่าไว้ว่า

               “Il faut définer l’orgueil une passion qui fait que de tout ce qui                  est au monde l’on estime que soi.”  La Bruyere

แปลว่า – “เราพึงนิยามความเย่อหยิ่งจองหองพองขน ว่าเป็นความยึดมั่นถือมั่นชนิดที่เห็นว่าโลกนี้ทั้งใบ จะมีดีก็แต่เฉพาะตัวกูคนเดียวเท่านั้น” ลา บรุยแยร์

ผู้เขียนเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองพอสมควร—หรือจะว่ามั่นใจมากก็ได้  เพราะฉะนั้น ก็เลยเป็นเป้าในแวดวงคนที่คบหาสมาคม ว่า “จองหอง”  --ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะความมั่นใจในตัวเอง หรือ confiance en soi (ก็อง ฟิ อ้อง อ็อง ซัว) ของผู้เขียน ไม่เข้าข่ายนิยามข้างบนทั้งสองนิยาม  เพียงแต่ว่า คนที่มันด่าผู้เขียนมันเอาขี้มาล่อให้กิน  แล้วผู้เขียนไม่ยอมกินขี้ของมัน  มันก็เลยด่าผู้เขียนว่า จองหอง  แต่–ขออภัย--ผู้เขียนลองเอาหัวแม่เท้าตรองดูแล้วเห็นว่า  ถ้าผู้เขียนไปกินขี้ของมันเข้า มันก็ต้องบอกว่า อะไรกันนี่-ขนาดขี้ยังกินอีก หมาชัด ๆ เลย

คนบัดซบพวกนี้ มันมี ตรรกะ หรือ logics อยู่ลอจิคส์เดียว ท่านเรียก “เหตุผลวิบัติชนิดตรรกบทปิดประตู”  พวกนักการเมืองที่มาจากนักโต้วาที มักจะใช้เหตุผลเข้าข่ายนี้  และพวกเขาจะมีระบบการให้เหตุผลอยู่เพียงระบบเดียว คือระบบตรรกบทปิดประตู เท่านั้น  ซึ่งเป็นเหตุผลวิบัติชนิดหนึ่ง  ผู้เขียนไม่พร้อมที่จะเสนอรายละเอียด ณ ที่นี้ เพียงแต่แนะนำชื่อการให้เหตุผลวิบัติชนิดนี้เอาไว้  เผื่อว่าท่านที่ยังไม่รู้จัก--แต่สนใจ จะได้ค้นคว้าเอาเองต่อไป

หมายเหตุ – สำหรับธรรมมะข้อสิบนี้ ผู้เขียนไม่สามารถเขียนจบภายใน “หนึ่งนั่ง”(one sit)          ตามที่ตั้งใจไว้ เพราะต้องลุกขึ้นไปเปิดพจนานุกรม เปอติ โรแบร์  เวอร์ชันเล่มใหญ่ เพื่อค้น      ความหมายของคำว่า เย่อหยิ่งจองหองในภาษาฝรั่งเศส  จากนั้นก็ต้องลุกขึ้นไปอ่านประวัติของ   ลา บรุยแยร์ ในสารานุกรม Encyclopedia of Literature เพื่อความชัวร์—ที่เล่าความทุกข์เล็ก ๆ         น้อย ๆ ในการทำงานมานี้ ก็เผื่อว่าท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเห็นใจ

         
          จบแล้วครับ และขออภัย.....จนเท่าบัดนี้ ก็ยังไม่ได้เปิดเผยให้ท่านผู้อ่านทราบเลยว่า มหาเศรษฐีนักปรัชญาแห่งยุคปัจจุบันชาวอังกฤษผู้นั้น ชื่ออะไร?  แบบว่าเขียนเพลิน ๆ ไปเรื่อยเปื่อย ก็เลยเผลอลืมบอกท่านผู้อ่านไป ว่าต้นความคิดชื่ออะไร  ลืมแล้ว ๆ กัน ก็แล้วกัน--อย่าว่ากันนะครับ โธ่ ชื่อนั้นสำคัญไฉน? แต่เอาเถอะ โอกาสหลังถ้านึกออก แล้วจะบอก



อ่านแล้ว ชอบ/ไม่ชอบ โปรดแชร์ลิงก์ให้เพื่อนฝูง ขอบคุณครับ  

------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ – บทความสั้น ชุดปกิณกะชีวิต ตั้งใจว่าจะเขียนเดือนละบทสองบท อาจพลาดพลั้งผิดนัดบ้าง โปรดอภัย จะโพสต์เผยแพร่ตลอดปี 2558 ครับ ที่หน้าบล็อก www.pricha123.blogspot.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น