ปกิณกะชีวิต
แดง ใบเล่
วิชาการหนังสือพิมพ์-Journalism-แบบตะวันตก หรือที่จริงก็คือแบบแองโกล-อเมริกัน
ซึ่งเป็นแม่บทใหญ่อยู่ในโลกอินเตอร์เนตปัจจุบันนี้ เขาสอนวิชาการหนังสือพิมพ์กันเป็นวิชาแห่งข่าวร้าย
ข่าวอัปมงคล และข่าวอุบาท อัปรีย์ จัญไรต่าง ๆ นานา เขาสอนกันว่าหมากัดคนไม่เป็นข่าว
ถ้าจะให้เป็นข่าวต้องคนกัดสุนัข เพราะว่ามันอัปรีย์ดี
ตามปกติ เรื่องอัปมงคลกับอัปรีย์
คือ “news” ในวิชาการหนังสือพิมพ์สมัยปัจจุบัน ให้ท่านลองสังเกตการณ์พาดหัวข่าว ถ้าไม่อัปรีย์จัญไรจะไม่ได้รับเกียรติขึ้นพาดหัวข่าว ยกเว้นเจตนาจะปรุงแต่งเรื่องข่าวดีให้มีอัปรีย์แทรกอยู่ด้วย เช่น พาดหัวติดลบ-แต่ข้างในเนื้อดี เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ทำเงินหายล้านหนึ่ง-นี่พาดหัวข่าวติดลบ
แต่ปรากฏว่าเด็กซื่อบื้อคนหนึ่งเก็บได้ แล้วนำไปคืนเจ้าของ เป็นต้น
ความเป็นนรกจกเปรต กับ ขี้กลากกินกบาล
คือวิชาและปฏิบัติการของการหนังสือพิมพ์ ในเวลานี้ ขออภัย—ไม่ได้จำกัดตัวอยู่แต่กับสื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิม
อย่าว่ากันนะ หากว่าได้ขยายออกกว้างครอบคลุมถึงกิจการข่าวต่าง
ๆ ที่ผ่านสื่อหลายชนิด ไม่ใช่สื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียว เช่น ข่าวในอินเตอร์เนตที่หน้ายาฮู
หรือข่าวทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เป็นต้น
คนเราเวลานี้ เราถูกระดมยิงด้วยข่าวสารสารพัดโดยที่จิตใจเราบางคน
หรือเราส่วนมากซึ่งก็รวมถึงผู้เขียนบทความนี้ด้วยผู้หนึ่ง อาจจะไม่พร้อมที่จะตั้งรับกับการระดมสาดกระสุนข่าวสารเข้าใส่มากมายขนาดนี้ และเอาเข้าจริง ๆ ความคิดอ่านของเรา--โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เราไม่สันทัด
ก็มักจะถูกตกแต่ง ปรุงขึ้นจากข่าวสารที่เราได้รับมา เรื่องนี้ร้อนถึงกระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เมื่ออินเตอร์เนตระบาดทั่ว
ต้องสร้างหนังสือคู่มือการรับฟังข่าว ขึ้นมาสอนในระบบการศึกษาฝรั่งเศส เพื่อสอนให้เด็กฝรั่งเศสตั้งรับกับสุนามิข่าวสารได้
ไม่เพลี่ยงพล้ำถูกสุนามิกลืนหายไป อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเพียงแต่ทราบข่าวเรื่องนี้ จริง ๆ
ก็ไม่เคยได้อ่านคู่มือดังกล่าว
คนในวงการหนังสือพิมพ์ทั่วโลกขี้ขลาดกันเอง เขาไม่กล้าคิดว่าข่าวดีก็หากินได้
ไม่จำเพาะแต่ข่าวร้าย
ก็เหมือนกับคนในวงการจิตวิทยาดั้งเดิม ที่สอนกันแต่เรื่องโรคจิต
จิตวิทยาเชิงบวกเพิ่งจะเกิดเมื่อไม่นานมานี้ แต่เวลานี้จิตวิทยาเชิงบวกก็กำลังยึดเวที แบ่งพื้นที่เวทีการเรียนการสอน
การประกอบอาชีพ มาจากจิตวิทยาแนวติดลบได้พอสมควร
ท่านที่สนใจโปรดเคาะหาคำว่า positive psychology ดูแล้วกัน วารสารของวงการพวกเขาก็มีแล้วนะ
ตัวผู้เขียนเอง ก็ได้พยายามตามมีตามเกิด
ศึกษาหาช่องทางที่จะเอาตัวเองให้รอดจากทะเลบ้าของข่าวสาร แหล่งที่ศึกษาขอความรู้มานั้นมีหลายแหล่ง อย่างไรก็ดีจะขอเล่าสู่กันฟัง
แบ่งปันกับท่านผู้อ่านบางท่าน ที่อาจจะกำลังคิดจะเอาตัวเองให้รอดจากสงครามข่าว
ที่เขาทำกันทุกกลุ่ม ทุกหมู่ ทุกฝักฝ่าย
วิธีการเอาตัวรอดของผู้เขียนไม่ใช่วิธีอันเป็นสากล หรือเป็นอกาลิโก ที่จะใช้ได้กับท่านผู้อ่านทุก
ๆ ท่าน จะขอเล่ามาพอเป็นตัวอย่างเท่านั้น แต่ละท่านคงต้องคิดอ่าน หาหนทางที่เหมาะกับตัวท่านเอง
วิธีของผู้เขียน มีดังนี้
๑. ตั้งสติไว้ก่อนเสมอว่า
ข่าวสารทุกข่าวไม่ว่ามาจากฝ่ายเรา หรือฝ่ายเขา หรือฝ่ายมัน จะต้องมีการ “ถอดรหัส”
เสมอหน้ากันหมดทุกแหล่ง ถามตัวเองดูว่า เขาพูดอย่างนี้-แปลว่าอะไร?
๒. ยามเช้า จะพยายามเมินหน้า-ไม่เหลือบตาแลพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน
ปฏิบัติเช่นนี้แล้วจะได้ไม่เปลืองอารมณ์ที่ยังสดชื่นไปกับเรื่องอัปมงคล
๓. พบอีเมลอัปรีย์
หรือข้อความอุบาทว์ในมือถือ ให้ลบทิ้ง อย่าเอามาเป็นอารมณ์ พลางหายใจเข้าออกเต็ม ๆ สามครั้ง
๔. พบข่าวอัปมงคลในหน้ายาฮู
หรือแหล่งอื่น ๆ ให้ลองถามตัวเองดูว่า ผู้ใดจะได้รับประโยชน์จากข่าวนี้ ข่าวนี้เพื่อประโยชน์ของใคร?
๕. อย่าไปถือสาหาความกับข่าวติดลบจนเกินไป
คิดเสียว่า พระพุทธเจ้าก็ยังโดนคนเดินตามด่าเลย สำมะหาอะไรกับเราท่านทั้งหลาย
๖. ให้มีสติรู้ตัวว่า
ตัวเราเองนั่นแหละเป็นต้นเหตุ นักหนังสือพิมพ์ท่านก็ป้อนสิ่งที่เราชอบ ให้เรากิน
เช่น เรากลัวอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์-ท่านก็หาข่าวไสยศาสตร์มาให้
เราชอบดูหมิ่นคนจน-ท่านก็หาข่าวขอทานมาให้
เราชอบอิจฉาคนรวย-ท่านก็ลงข่าวคนรวยกำลังซวย เราหมั่นใส้ผู้มีอำนาจ-ท่านก็ลงข่าวผู้มีอำนาจกำลังจะสิ้นฤทธิ์
เรานึกระแวงคนฉลาดด้วยเล่ห์กล-ท่านก็หาข่าวหมอผีเขมรเล่นตลบหลังนักการเมืองไทย มาให้เราอ่าน เราไม่ชอบความจริงอันชัดแจ้ง-ท่านก็หาข่าวตอแหลมาให้บริโภค
๗. แหล่งหลัก
ๆ ของข่าวโลก หรือข่าวชนิดอื่นใดก็ดี จะมีแหล่งอยู่ไม่กี่แหล่ง
เป็นหน้าที่ของเราจะต้องรู้สันดานของแหล่งข่าวแต่ละแหล่ง การรู้สันดานแหล่งข่าวจะช่วยให้เราถอดรหัสได้โดยอัตโนมัติ
เช่น ถ้าแหล่งนี้พูดว่า “ขาว” จะแปลว่า “ดำ” หรือถ้าพูดว่า “ม้า” จะแปลว่า “หมา”
เป็นต้น
๘. ตัวผู้สื่อข่าวก็สำคัญ
เช่น แหล่งข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบีบีซี ผู้สื่อข่าวคือ นายโจนาธาน เฮด เราจำเป็นต้องรู้ข้อมูลบุคคลของคนผู้นี้บ้าง
ไม่มากก็น้อย ว่าเป็นใครมาจากไหน
รายละเอียดพวกนี้-สมัยนี้ไม่ได้เป็นภาระอะไรแก่เรามากมาย แค่เคาะคีย์บอร์ดครั้งสองครั้ง
เราก็พอจะรู้คร่าว ๆ หรือหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเขี่ย
ๆ ขีด ๆ ทีสองที ก็พอจะรู้เลา ๆ และเราเจาะละเอียดเฉพาะพื้นที่สำคัญที่เราสนใจ เราคงไม่อยากรู้หรอกว่า ผู้สื่อข่าว เอเอฟพี ประจำเม็กซิโกคือใครมาจากไหน
พูดภาษาสเปนได้เปล่า
๙. เราต้องมีแหล่งพึ่งพิงด้านข่าวสารที่พอจะไว้ใจได้
เอาไว้สอบยัน การรู้ภาษา ต่างประเทศหนึ่งหรือสองสามภาษา จะช่วยเราได้ เราไม่ต้องรู้จักจารชนที่ไหนหรอก
เพราะพวกจารชนก็หาข่าวเอาจากอินเตอร์เนตเหมือนกัน
ท่านว่าการสืบความลับเขาสืบกันทางอินเตอร์เนต 80-90% ส่วนที่เหลือจึงสืบจากพื้นที่ และสมัยนี้บางสิ่งบางอย่างถ้าสืบจากโลกรูปธรรมจริง
ๆ อาจไม่ได้ความอะไร
ข้อมูลมันอยู่ในรูปดิจิทัลอย่างเดียว
สำหรับผู้เขียนหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เชื่อถือ
และใช้เป็นที่สอบยันคือ.....ไม่ใช่ น.ส.พ.นิวยอร์ค ไทม์ นะครับ แต่เป็น เดอะ ไทม์ ออฟ อินเดีย
เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ที่ผู้เขียนเชื่อถือมากที่สุดเวลานี้
๑๐.
วันก่อน ได้ยิน รมต.มหาดไทยฝรั่งเศส พูดว่า
ไม่มีใครในฝรั่งเศสหรอก ที่ประกอบอาชญากรรมแล้วเราจะไม่รู้ ฟังแล้วน่าขนลุกขนพอง-ไม่ว่าคุณจะเป็นอาชญากรหรือไม่
เพราะว่า มันส่อถึงความเข้มในการตรวจตราโลกดิจิทัลของฝรั่งเศส
ซึ่งเป็นประเทศยุโรปที่อยู่ในระดับต้น ๆ ในการสอดส่องอินเตอร์เนต รวมทั้งสอดส่องการสื่อสารอิเล็คโทรนิค
เช่น คลื่นโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน เป็นต้น
ทุกวันนี้เขาดักจับคลื่นกันได้ทั่วไปหมด-ท่านผู้อ่านคงทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงกล้องวงจรปิด ก็แพ้อังกฤษ ใด้ยินมาว่า
ที่อังกฤษมีกล้องวงจรปิดหนึ่งกล้องต่อคนอังกฤษ 14 คน โรงเรียนนายร้อย
แซงต์-ซี ของฝรั่งเศสมีหลักสูตรสงครามอิเล็คโทรนิคส์ และอเมริกันเคยโวยวายเมื่อไม่นานมานี้ว่า
แฮคเกอร์ที่แฮคข้อมูลลับของอเมริกัน
แฮคกันมาจากเมืองอันเป็นที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยจีน ในเมืองจีน และการแฮคสมัยนี้
ไม่เลือกหน้าว่ามิตรหรือศัตรู--แฮคกันมั่วหมด
๑๑.
ทุก ๆ วันเราต้องมีเวลาพักใจเพื่อพักสมอง ทุกวันนี้คนที่มีสติรู้ตัว
เขากำหนดลมหายใจเพื่อพักใจกันเกือบจะทั้งโลก
เพราะวิธีนี้เป็นช่องทางเล็ก ๆ ที่เหลืออยู่ และยังพอจะบำบัดรักษาเยียวยาจิตใจให้เราได้
ทำที่ไหน เวลาใดก็ได้ นั่งอยู่กับโต๊ะผ่อนลมหายใจยาว ๆ
สักสามครั้งเจ็ดครั้ง ก็โอเคแล้ว
แต่ให้ทำบ่อย ๆ และทำทุกครั้งที่มีอะไรมากระทบจิตใจ บางทียังจะช่วยให้สมรรถนะทางเพศ
ดีขึ้นได้ด้วยนะครับ
๑๒.
ผู้เขียนบริโภคทะเลข่าวสาร อย่างทางสายกลางดังนี้ 1)ฟังวิทยุบีบีซีวันละสองชั่วโมงตอนเย็นและย่ำค่ำ-หลังจากเดินออกกำลังกาย
โดยฟังจากเครื่องรับวิทยุคลื่นสั้นแบบดั้งเดิม ฟังไปเรื่อย ๆ แบบฟังมั่งไม่ฟังมั่ง
ทำงานบ้านไปด้วย 2)ฟังวิทยุฝรั่งเศส-ราดิโอ
ฟร้องซ์ แองแตร์นาซิย็องนาล วันละประมาณหนึ่งชั่วโมง-กลางวันหรือกลางคืน ฟังจากสมาร์ทโฟนซึ่งได้ลงแอพของ
RFI-Radio France International เอาไว้ 3)เช็คข่าวสารจาก เดอะ
ไทม์ ออฟ อินเดีย เป็นครั้งคราว 4)สุดท้ายคือใช้อินเตอร์เนตสัปดาห์ละสองสามครั้งเท่านั้น
โดยใช้ที่ร้านเนตตามแต่จะสะดวก ที่บ้านไม่ติดอินเตอร์เนต
ที่เปิดเผยข้อมูลการรับข่าวสารมานี้
ก็เพื่อประโยชน์ของท่านผู้อ่าน ให้ได้เห็นสิ่งที่ผู้เขียนปฏิบัติจริง แต่ก็เป็นเพียงคร่าว
ๆ ไม่ถึงกับทำเป้ะ ๆ ๆ ๆ ไปหมด
เพราะบางทีก็อ่าน นสพ.สเปนบ้าง หรือฟังวิทยุจีนอีกบ้าง
หรือดูโทรทัศน์อินโดเนเซียรายการบันเทิง บ้าง และที่สำคัญคือรายการบันเทิงอย่างใหม่ที่ชมประจำ
คือรายการของพวกยูทูบเบอร์หลาย ๆ คน ทั้งอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เม็กซิกันและอินโดเนเซีย โอกาสหลังจะได้คัดรายการของยูทูบเบอร์พวกนี้
ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน มาเขียนเล่าที่บล็อกนี้ครับ
ขอให้ท่านผู้อ่าน—และตัวข้าพเจ้าโชคดี มีชีวิตรอดอยู่ในทะเลข่าวสารที่ส่วนมากไร้สาระและอัปมงคล ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น
ชอบ/ไม่ชอบ โปรดแชร์ลิงก์ให้เพื่อนด้วยครับ
--------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ – บทความสั้น ชุดปกิณกะชีวิต
ตั้งใจว่าจะเขียนเดือนละบทสองบท อาจพลาดพลั้งผิดนัดบ้าง โปรดอภัย
จะโพสต์เผยแพร่ตลอดปี 2558 ครับ
ที่หน้าบล็อก www.pricha123.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น