open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทำไมคนชอบใช้สินค้าฟุ่มเฟือย

ปกิณกะชีวิต
โดย แดง ใบเล่

          ในฐานะเคยเป็นนักเรียนและเคยทำงานอยู่ในประเทศฟร็องโกโฟน – ฝรั่งเศสกับเบลเยี่ยม ผู้เขียนไม่น่าจะเป็นคนแอนตี้สินค้ามียี่ห้อ สินค้าตลาดบน สินค้าฟุ่มเฟือย  และตามจริงผู้เขียนก็ไม่ปฏิปักษ์ต่อสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะผู้เขียนก็คงเหมือนกับท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน ที่อาจจะเริ่มรู้จักสินค้าพวกนี้ มาก่อนที่เราจะรู้ภาษาฝรั่งเศสด้วยซ้ำ  


จำได้ว่าสมัยยังเด็ก ญาติผู้พี่เคยให้ของขวัญเป็นปากกามียี่ห้อ ที่สมัยนั้นถือกันว่าเป็นสินค้าตลาดบน คือ ปากกาเชฟเฟอร์ที่มีเอกลักษณะจุดขาวที่ปลอกปากกา  แล้วต่อมาปากกามียี่ห้อก็ได้กลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ที่ผู้เขียนจะขาดเสียมิได้  โดยที่ระยะหลังหันมาเสพติดปากกายี่ห้อวอเตอร์แมน

ทำวิจัยเล็ก ๆ แล้วพบว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับสินค้าฟุ่มเฟือยมีมาก  แต่ก็ยังไม่พบประเด็นที่ตัวเองสนใจ อันได้แก่ปมปริศนาที่ว่า “ทำไม คนชอบใช้สินค้าฟุ่มเฟือย”
        
         เราท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจตรงกัน ว่า สินค้าฟุ่มเฟือยเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดพิ
เศษ แยกจากสินค้าทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ตามตลาดนัดทั่วประเทศ เราอาจเห็นเสื้อผ้าราคาตัวละร้อยเก้าเก้า  แต่พอเราขึ้นห้างแล้วเราพบกับเสื้อยี่ห้อ ปิแอร์ กาแด็ง  ความรู้สึกของเรา – พูดเสียให้ถูกว่า ความรู้สึกของผู้เขียน – จะเปลี่ยนไปจากการได้พบเสื้อตัวร้อยเก้าเก้าในตลาดนัด

ได้รู้ศัพท์ใหม่ภาษาอังกฤษอยู่คำหนึ่งคือ คำว่า conspicuous consumption  ซึ่งท่านใช้อธิบายการอุปโภคบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย หมายความว่า มันไม่เหมือนกับการกินเพราะหิว ดื่มเพราะกระหาย มีปากกาไว้เขียนหนังสือ หรือมีรถยนต์ไว้เป็นยานพาหนะ  แต่เป็นการอุปโภคบริโภคด้วยเจตนาเพื่อแสดงความร่ำรวย หรือแสดงสถานภาพทางสังคม  ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนเหน็บปากกายี่ห้อคาร์เทียร์ไว้ที่กระเป๋าเสื้อ(--ตัวอย่างสมมติ) จริง ๆ แล้วผู้เขียนไม่ได้เหน็บไว้เขียน แต่เหน็บไว้เพื่อจะแสดงให้คนเห็นว่า ตัวผู้เขียนเป็นคนมั่งคั่งและมีสถานภาพทางสังคมสูง เป็นต้น

          เหมือนกับที่คนร่ำรวยบางคน ชอบไปกินหูฉลามตามภัตตาคาร หรือใช้รถยนต์ยี่ห้อเบ๊นซ์ หรือบีเอ็มดับบลิวเพื่อแสดงความเป็นเสี่ย  แต่คนยากคนจนก็มีสินค้าฟุ่มเฟือยของตนเหมือนกัน – ดูเหมือนวอลแตร์จะเคยพูดประเด็นนี้ คือพูดว่า คนจนก็มีของฟุ่มเฟือยของตัวเอง  เคยมีผู้รู้ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า คนจนชอบใช้ “สี”  เป็นสื่อแสดงความฟุ่มเฟือย  เพราะว่าสีเป็นของ “ฟุ่มเฟือย” ที่มีราคาถูก และบางทีคนจนก็ได้สีมาฟรี ๆ  ท่านว่าให้สังเกตตามสลัมใกล้ท่าเรือ ท่านยกตัวอย่างท่าเรือเมืองวาลปาไรโซ ประเทศชิลี  ชาวสลัมซึ่งมักเป็นกรรมกรท่าเรือ เขาจะทาสีบ้านของเขาด้วยสีสด ๆ ประเภทเขียวอึ่ง แดงแจ๋ เหลืองเข้ม อะไรประมาณนั้น  สีสด ๆ เหล่านี้ก็ได้จากสีที่เหลืออยู่กับก้นกระป๋องสี ที่เขาใช้ทาเรือ

          คำว่า conspicuous consumption กับคำว่า status symbol หรือ สัญญลักษณ์แสดงสถานะ เป็นคำคู่กัน นักสังคมวิทยาผู้ให้กำเนิดคำสองคำนี้ ชื่อ ธอร์สไตน์ เว็บเบล็น (มรณะ 1929) เคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก และที่อื่น ๆ ท่านผู้นี้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ซึ่งยังคงเป็นคัมภีร์ของผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องการบริโภคเพื่อแสดงฐานะ ตลอดจนนักธุรกิจที่ต้องการสร้างสินค้าตลาดบน หนังสือชื่อ “The Theory of the Leisure Class”  ซึ่งสำหรับชนชั้นมั่งคั่งร่ำรวยแล้ว สินค้าฟุ่มเฟือยเป็น อุปกรณ์สำคัญ ในการอุปโภคบริโภคเพื่อแสดงความสุขสมบูรณ์  และเป็นเครื่องหมายแสดงสถานะทางสังคมอันสูง

          ที่น่าแปลกอยู่อย่างก็คือ เรื่อง สัญญลักษณ์แสดงสถานภาพ  กับ การบริโภคเพื่อแสดงความร่ำรวย  เป็นเรื่องแหลมคมในสังคมอเมริกัน  ผลงานการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ การตลาดเกี่ยวกับเรื่องนี้ และผู้สนใจเรื่องนี้ มีมากในสหรัฐอเมริกา  แต่กลับไม่เป็นประเด็นในยุโรป คือไม่ได้กลายเป็น “ปรากฏการณ์ทางสังคม” เหมือนที่เป็นอยู่ในสหรัฐฯ
 
เมื่อสองร้อยปีก่อน นักสังเกตการณ์ชาวฝรั่งเศสชื่อ นายอะเล็กซี เดอ ต็อควิลล์ นั่งเรือสำเภาฝรั่งไปศึกษาสภาพสังคมประชาธิปไตยอเมริกัน  แล้วเขียนหนังสือวิเคราะห์วิจารณ์เอาไว้ ชื่อหนังสือว่า De la démocratie en Amérique (ภาษาอังกฤษว่า Democracy in America)  ซึ่งก็เป็นผลงานคลาสสิคและเป็นแบบฉบับเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสหรัฐฯ -- และเกี่ยวกับสังคมอเมริกันโดยทั่วไป  แม้กระทั่งทุกวันนี้ หนังสือเล่มนี้ใช้เรียนและศึกษากันในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นที่ฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด หรือชิคาโก หรือที่อื่น ๆ  ทั้งนี้เพราะไม่มีใครเขียนได้ดีเท่า แถมประเด็นที่หนังสือเล่มนี้พยากรณ์ไว้บางเรื่องตั้งแต่เมื่อสองร้อยปีก่อน ก็ได้กลายเป็นจริงในระยะหลัง ๆ เช่น สงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ และคู่ปรปักษ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย เป็นต้น เรื่องหลังนี้ก็ยังคงเป็นจริงแม้ในปัจจุบัน  แต่เรื่องที่ เดอ ต็อควิลล์ เดาไม่ออกและคาดไม่ถึงก็มี ได้แก่ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา และผลงานวรรณกรรม(วรรณคดี)อันเลื่องชื่อของนักเขียนอเมริกัน

ไม่มีใครผู้ใด ที่สนใจประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาอย่างจริงจังและจริงใจ จะไม่รู้จักชื่อนักเขียนและนักวิจารณ์สังคมชาวฝรั่งเศสผู้นี้ (แต่ว่า เขาไม่ดังในฝรั่งเศส คฤหาสน์ที่อนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์สถานสำหรับเขา มีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันไปเยี่ยมชม คนฝรั่งเศสไม่นิยมไป)  ในสหรัฐฯนั้น ยังคงมีการหยิบหนังสือต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสของ เดอ ต็อควิลล์ ขึ้นมาแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยสำนวนใหม่ เป็นระยะ ๆ ในรอบสองร้อยปีที่ผ่านมา  สำนวนใหม่ล่าสุดแปลเมื่อปี 2010/2553

สหรัฐอเมริกาจัดตั้งประเทศ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 ด้วยถ้อยแถลงประกาศอิสรภาพ  ว่า

“เราเห็นว่า ความจริงต่อไปนี้ ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง คือ มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเสมอภาคกัน  พระผู้สร้างได้ประทานสิทธิบางประการอันมิอาจพรากไปได้จากตัวมนุษย์ ได้แก่ สิทธิในชีวิต สิทธิเสรีภาพ และสิทธิที่จะแสวงสุข.....”

We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable Rights, that among these are Life, Liberty and the pursuit of Happiness.--

ประเด็นที่บทความบทนี้จะหยิบขึ้นมากล่าวอ้าง ได้แก่ ประเด็นที่ว่า all men are created equal หรือ “มนุษย์ถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน”

คำขวัญนี้ เด็กนักเรียนอเมริกันท่องขึ้นใจแทบจะทุกคน  โดยเฉพาะนักเรียน โรงเรียนมัธยมอนุรักษ์นิยมสุด ๆ (หมายถึง อนุรักษ์นิยมแบบอเมริกัน) อย่างโรงเรียนเจฟเฟอร์สัน ไฮสกูล ที่กรุงวอชิงตัน จะท่องขึ้นใจทุกคนไม่มียกเว้น  ท่านผู้อ่านที่สนใจเป็นพิเศษ คลิกหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนนี้ดูเอาแล้วกัน

ในบ้านเมืองที่ดำเนินชีวิตสังคม ตามโหมดความคิดว่ามนุษย์ “ถูกสร้าง” ขึ้นมาเท่า ๆ กันซึ่งที่จริงหมายถึง “พระเจ้าสร้าง” เพราะในคำประกาศอิสรภาพ คำว่า “Creator” ใช้อักษรตัวใหญ่ขึ้นต้น  อย่างไรก็ดีในวันประกาศอิสรภาพ วันที่ 4 กรกฎาคม 1776 สหรัฐอเมริกายังคงเป็นสังคมทาส  คือคนไม่ได้เท่ากัน มนุษย์กลุ่มหนึ่งยังเป็นข้าทาสของคนด้วยกันอยู่เลย  แม้ปัจจุบันนี้ ตามความจริงอันประจักษ์แก่ตา ความแตกต่างในสังคมอเมริกัน ก็มีอยู่สูงกว่าในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วทุกประเทศ  คล้าย ๆ กับความแตกต่างทางสังคมในประเทศด้อยพัฒนา  ความไม่เท่าเทียมกันอันเห็นประจักษ์แก่ตา จึงน่าจะเป็นปมปัญหาสังคมที่สำคัญในสังคมอเมริกัน ดังเช่นที่เคยแสดงออกด้วยนวนิยายเรื่อง “The Grapes of Wrath” ของ จอห์น สไตเบ็ค และงานอื่น ๆ

เมื่อไม่เร็ว ๆ นี้ นายวิล สมิธ ดาราผิวดำผู้มั่งคั่งร่ำรวย มาเที่ยวฝรั่งเศส และได้รับเชิญออกโทรทัศน์  พิธีกรถามว่า คุณวิล สมิธ คุณมีรายได้มากมาย แต่คุณถูกรัฐบาลอเมริกันเก็บภาษีถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์  คุณรู้สึกอย่างไร  นายวิล สมิธ ตอบว่าเขาไม่ขัดข้อง ที่รัฐบาลสหรัฐฯจะเก็บภาษีเงินได้ของเขาเพื่อใช้ประโยชน์แก่ประเทศชาติ  พิธีกรฝรั่งเศสถามต่อว่า คุณทราบไหมว่าในประเทศฝรั่งเศส ถ้าคุณมีรายได้เกินปีละหนึ่งล้านดอลลาร์ รัฐบาลฝรั่งเศสจะเก็บภาษีเงินได้คุณถึงเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์  นายวิล สมิธ ย้อนถามพิธีกรว่า เท่าไรนะ  พิธีกรบอกว่าเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์  นายวิล สมิธ ร้องอุทานว่า โห-ขอให้พระเจ้าคุ้มครองสหรัฐอเมริกา!  

คนมีเงินในสหรัฐฯ ได้อาศัยสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะบ้านอยู่อาศัยระดับหรู รถยนต์ และอุปกรณ์อื่น ๆ เป็นเครื่องสร้างความแตกต่าง ว่าฉันเป็นคนละชั้นกับเธอ  คนอเมริกันแทบทุกคนต่างก็พยายามที่จะทำตัว “ไม่เท่าเทียม” กับเพื่อนบ้าน  ความอิจฉาริษยามีอยู่เด่นชัด  ใครเกินหน้าเกินตาไม่ได้  แต่ว่าก็ว่าเถอะ ความรู้สึกทำนองนี้ก็ใช่ว่าจะมีอยู่แต่ในหมู่ชาวอเมริกัน เพียงแต่ว่าในสังคมอเมริกันซึ่งสั่งสอนให้ท่องจำกันมาตั้งแต่เด็ก ว่ามนุษย์ถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน  ความไม่เท่าเทียม-จึงเป็นที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ มากกว่าในสังคมที่ไม่ได้ท่องอาขยานบทนี้  แต่กลับท่องว่า อนิจจา วัตตสังขารา หรือบุญทำกรรมแต่ง เป็นต้น

บริษัท เบธเลแฮม สตีล เคยเป็นกิจการถลุงเหล็กทิ่อภิมหามหึมา ทำท่าคล้ายกับจะอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล  ต่อมาเจอเข้ากับโลกาภิวัฒน์ globalization สู้เหล็กญี่ปุ่นและเกาหลีไม่ได้ เวลานี้(2558)บนเนื้อที่อภิมหาอาณาจักรโรงงานเบธเลแฮม สตีล ส่วนที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์  รกร้างขึ้นสนิม อ้างว้างว้าเหว่ เหลือเตาถลุงเหล็กทำงานอยู่เพียงเตาเดียว  แลดูน่าหดหู่เอามาก ๆ (ดูจากวีดีโอสารคดี)  โลกาภิวัฒน์ได้เขย่าสถานภาพทางสังคมของคนอเมริกันบางส่วน  แล้วไม่ใช่เฉพาะคนในอุตสาหกรรมเก่าเท่านั้นที่โดนเขย่า เพราะผู้เขียนมีความรู้สึกประสาท ๆ เมื่อนำเรื่องธุรกิจเหล็ก มาคิดรวม ๆ ปน ๆ กับธุรกิจดอทคอม และธุรกิจอสังหาฯที่ล่มสลาย ได้ข้อสรุปว่า สถานภาพของคนอเมริกันโดยทั่วไปทุกวันนี้ ไม่มั่นคงกันเป็นวงกว้าง  ยกเว้นแต่ผู้มั่งคั่งร่ำรวยจริง ๆ ที่รวยเอารวยเอา    

นักจิตวิทยาที่ถือกันว่าเป็นบิดาของวิชาจิตวิทยาในสหรัฐฯ ได้แก่ อาจารย์วิลเลียม เจมส์ เคยสอนที่ฮาร์วาร์ด  ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ศักดิ์ศรีหรือความนับถือตนเองของคนเรา – self esteem - ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ คือ ความหวัง กับ ความสำเร็จ  ท่านว่าถ้าหวังมากแต่สำเร็จสมหวังน้อย ศักดิ์ศรีหรือความนับถือตนเองของเราก็จะด้อยถอยลง  ถ้าหวังน้อยแต่สำเร็จมาก ความนับถือตนเองจะสูง  ผู้เขียนรู้สึกว่าจะชอบสูตรนี้ ทุกวันนี้จึงหวังเพียงน้อย ๆ หวังอยู่สามอย่าง ภาวนาว่าขอให้สำเร็จสักสองอย่างก็ขอบคุณพระเจ้าแล้วล่ะ หมายความว่า จะไปไหว้พระเก้าวัดเจ็ดวัด

แล้วถ้าคนเราหวังสามอย่าง สมหวังสองอย่าง กับอีกคนหนึ่ง หวังหกอย่าง สมหวังสี่อย่าง ศักดิ์ศรีก็จะเท่า ๆ กัน  เพียงแต่ว่าคนโลภมากที่หวังหกอย่าง จะเหนื่อยมากกว่าผู้เขียน-ซึ่งหวังเพียงสามอย่าง--แต่แล้วในที่สุดศักดิ์ศรีเท่ากัน  ส่วนพวกที่ศักดิ์ศรีน้อยจริง ๆ คือคนที่หวังสามอย่าง-สำเร็จอย่างเดียว กับพวกที่หวังหกอย่าง-สำเร็จสองอย่าง  พวกหลังนี้ เวรกรรมจริง ๆ เลย เหนื่อยมากแต่ศักดิ์ศรีน้อย

สังคมอเมริกันส่งเสริมให้คนหวังเยอะ ๆ หวังมาก ๆ หวังสูง ๆ เขาเรียกว่า ความฝันแบบอเมริกัน หรือ the American Dream:
 
-move into a better house
-get a better car
-buy better clothes

ซึ่งในโลกที่ยิ่งทีจะยิ่งไม่แน่นอนขึ้นทุกวัน ชาวอเมริกันก็จะเป็นชนชาติที่จะเสี่ยงประสาทกินยิ่งขึ้นทุกที และจะขาดศักดิ์ศรี ขาดความนับถือตนเองยิ่งขึ้นทุกที  เพราะชีวิตพวกเขาจะเสี่ยงต่อความผิดหวังมากยิ่งขึ้น  ความคิดข้อนี้-ผู้เขียนดัดจริตคิดขึ้นเป็นเชิงคำถาม มิใช่คำยืนยันหรือคำพยากรณ์หรือสาปแช่ง ว่าชีวิตพวกเขา-และอาจจะหมายถึงพวกเราบางคนด้วย จะกลายเป็นเช่นนั้น

สถานภาพทางสังคม หรือศักดิ์ศรีนั้น ว่ากันที่จริงก็เป็นเรื่องการที่ คนอื่นมองเรา  ท่านว่าเวลามีคนมาสนใจเรามาก ๆ เรารู้สึกว่าเรามีค่า เช่น เรามีเพื่อนในเฟสบุคเป็นแสน เป็นต้น  ครั้นมิตรสหายดิจิทัลทั้งหลายปิดประตูหน้าเฟสบุค ไม่ให้เราเข้า เราเหลือเพื่อนแค่สามคน เราก็จะรู้สึกว่า ตัวเองด้อยค่า  อาจารย์ วิลเลียม เจมส์ บอกว่า ไม่มีอะไรทรมานเท่าการ ถูกเมิน  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า น่าจะจริงของท่าน  เพราะในทางศาสนาก็มีการลงโทษ ขับไล่ออกจากหมู่คณะที่เรียกว่า บัพพาชนียกรรม  หรือในกฎหมายโบราณของไทย ก็มีการลงโทษด้วยการขับออกเสียจากเมือง ไล่ไปให้ไกลชนิดอย่าให้ได้ยินเสียงกลอง เป็นต้น  ปัจจุบันการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาสมัยใหม่ มีการลงโทษเพียงห้าอย่าง ตามมาตราสิบแปด คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน  โทษแบบโบราณที่ว่า ให้ขับออกจากเมือง อย่าให้ได้ยินเสียงกลองนั้น ถูกยกเลิกไปนานแล้ว

ผู้เขียนมีรุ่นพี่ผู้เป็นที่เคารพนับถืออยู่ในหมู่บ้านที่ปักษ์ใต้  พี่แกเคยบอกเตือนว่า คนเรา ๆ ก็ต้องรู้นะว่า คนอื่นเขามองเราอย่างไร  จำมาเล่าแบบคำต่อคำเลยนะเนี่ยะ  ส่วนพี่ชายผู้เขียน ซึ่งตั้งรกรากในกทม. นาน ๆ จึงจะมาเยี่ยมผู้เขียนสักครั้งหนึ่ง ก็เคยบอกผู้เขียนว่า  ถ้ามึงอยากให้คนบ้านเรานับถือมึง  มึงต้องนั่งรถเบ๊นซ์มา  บางครั้งผู้เขียนก็กลับบ้านด้วยการนั่งรถเบ๊นซ์ไป แต่ก็ไม่มีใครเคารพนับถือ เพราะว่ารถเบ๊นซ์คันนั้น เป็นรถทัวร์

สินค้าฟุ่มเฟือยทำหน้าที่ให้เราคล้ายกาแฟสำเร็จรูป คือ ทำให้ผู้อื่นยอมรับโดยสำเร็จรูปในทันทีว่า เราเป็นคนมีคุณค่าเป็นคนมีราคา  โดยที่ผู้อื่นทั้งหลายหาได้ล่วงรู้ไม่ว่า จิตใจที่อยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์หรู  เสื้อผ้ามีราคา  และคฤหาสน์หลังงาม  หวั่นไหวประหวั่นพรั่นพรึงต่อสายตาของผู้อื่น มากแค่ไหนเพียงใด  และทำไม มีเหตุผลอะไรหรือ--เขาจึงได้หวาดกลัวต่อสายตาผู้อื่นมากขนาดนั้น    

สรุปว่า สถานภาพของชีวิตคนเรา จะเป็นอเมริกันหรือไม่ก็แล้วแต่ เราเห็นว่า การมองของผู้อื่น เป็นเรื่องสำคัญต่อความเป็นความอยู่ของตัวเราเอง  เมื่อผู้เขียนเหน็บปากกามียี่ห้อไว้ที่กระเป๋าเสื้อ ที่จริงผู้เขียน-โดยตัวของตัวเอง-ก็ไม่ได้ละโมบโลภมากอะไรกับปากกาด้ามนั้น แต่ว่าต้องการให้ผู้อื่นมองว่าตัวเองเป็นคนมีสถานภาพสูง  ถ้าผู้เขียนไปอยู่ที่หมู่บ้านคนป่าบนเกาะกาลิมันตันของอินโดเนเซีย  ผู้เขียนก็ไม่จำเป็นต้องเหน็บปากกายี่ห้อเชฟเฟอร์หรือวอเตอร์แมน  เพื่อนผู้เขียนเขาก็ไม่ต้องขี่เบ๊นซ์หรือบีเอ็มดับบลิว เพื่อแสดงความมั่งคั่งร่ำรวย เพื่อส่อความอุดมสมบูรณ์อูฟูเป็นขนมถ้วยฟู  เราต่างก็ไม่ต้องอุปโภคแบบ conspicuous consumption

“การมองของผู้อื่น” เป็นข้อเท็จจริงระดับคาดเชือกสำหรับการพิจารณาประเด็นการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย  “ผู้ชม”(audience)ต่างหากที่สำคัญสำหรับรถเบ๊นซ์ หรือปากกาวอเตอร์แมนหรือการทาสีบ้านฉูดฉาดในสลัมท่าเรือ  เมื่อเราเปลี่ยน “ผู้ชม” เช่น เปลี่ยนนิวาสน์สถานไปอยู่ในป่ากาลิมันตัน  audience ของเรากลายเป็นคนป่าคนดอย รถเบ๊นซ์กับปากกาวอเตอร์แมน อาจจะสู้ลูกปัดปลาสติกสีฉูดฉาดแวววาวไม่ได้  ลูกปัดสีสดใสจะช่วยให้คนป่ามองเราดี ปฏิบัติต่อเราด้วยดี ชื่นชมเรา นึกสรรเสริญเรา เดินแห่แหนล้อมหน้าล้อมหลังเรา 

แล้วถ้าอยู่มาวันหนึ่ง เราวิ่งหนีเสือในป่า จนลูกปัดกระจุยกระจาย โดนกิ่งไม้และเรียวหนาม เกี่ยวหลุดกระเจิงจากร่าง กระเด็นกระดอนหายไปในห้วยหนองในทางป่า  เรากลายเป็นคนไร้ลูกปัด อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตเรา  ผู้ชม-คนป่าคนดอยทั้งหลายก็จะมองเราเลว ปฏิบัติต่อเราอย่างร้าย ดูหมิ่นดูแคลนเรา นึกลบหลู่เรา ห่างเหินเมินเฉยต่อเรา

นี่คือผลของการคิดว่า คุณค่าของเราขึ้นอยู่กับการมองของผู้อื่น ซึ่งเขาจะมองเราดีตราบเท่าที่ลูกปัดยังประดับกายเราอยู่  เพราะฉะนั้น ทำไมเราไม่ลองทบทวนโลกทัศน์ของเราเสียใหม่ล่ะว่า  เรายกย่องความคิดคนอื่น มากเกินไป  หรือเปล่า  ชีวิตเราขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้อื่นหรือ เขาจะไปสวรรค์ลงนรกกับเราหรือ  สมมติว่าค่ำวันหนึ่ง ท่านผู้อ่านขึ้นเวทีร้องเพลง พอร้องจบลง ผู้ชม-หรือ-audience-หน้าเวทีพากันปรบมือเกรียวให้ท่าน.....

ท่านจะยังภูมิใจอยู่หรือไม่ ถ้าหากท่านทราบว่า ผู้ชมที่ปรบมือเกรียวให้ท่าน ที่จริงเป็นคนหูหนวกทั้งนั้นเลย

ก่อนที่จะจบบทความนี้ ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปยังย่อหน้าแรกสุด ที่บอกว่าผู้เขียนไม่ได้หลับหูหลับตาแอนตี้สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าตลาดบน  จะขอยกตัวอย่างว่า เวลานี้ที่ปารีสมีอาชีพเล็ก ๆ อยู่อาชีพหนึ่ง ทำหน้าที่ช็อปปิ้งสินค้าตลาดบนสินค้ามียี่ห้อและคุณภาพสูงส่วนมากจะเป็นเครื่องแต่งกายสตรี ตั้งแต่หัวถึงตีน  ลูกค้าของนักช็อปมืออาชีพเหล่านี้จะเป็นสตรีที่มั่งคั่งหรือมีรายได้สูง  แต่ไม่ชอบไปเดินช็อปปิ้งหรือไม่มีเวลาจะเดินเลือกซื้อหาเครื่องแต่งตัวด้วยตนเอง  จึงใช้บริการนักช็อปมืออาชีพซึ่งจะกว้างขวางในวงการห้องเสื้อและร้านค้าตลาดบน  สตรีที่ใช้บริการนักช็อปมืออาชีพผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคนในวงการสื่อไฮโซ บอกว่า นักช็อปของเธอไปเลือกหาเสื้อผ้า กระเป๋าถือ รองเท้า ฯลฯ ครบชุดสำหรับเธอสวมไปงานแต่งงานงานหนึ่ง  นักช็อปสรรหามาให้เธอเลือกสามเซ็ท  เธอเลือกเอาหนึ่ง ในที่สุดเธอก็ได้เครื่องกายตามต้องการ—ถูกใจ เธอตัดสินใจได้ภายในสองชั่วโมง  ซึ่งถ้าจะให้เธอไปเที่ยวเดินหาซื้อเอง เธอบอกว่าใช้เวลาสองสัปดาห์เธอก็ไม่แน่ใจว่าจะหาสิ่งของได้ถูกใจ  และเธอไม่มีเวลาจะไปเที่ยวเดินหา

การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยของบุคคลผู้นี้  อาจจะไม่เป็น conspicuous consumption ก็ได้  เพราะสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นสิ่งจำเป็นต่อการประกอบอาชีพของเธอ  หรือท่านผู้อ่านจะเห็นว่าอย่างไร     



ชอบ/ไม่ชอบ โปรดแชร์ลิงก์ให้เพื่อน ขอบคุณครับ


--------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ – บทความสั้น ชุดปกิณกะชีวิต ตั้งว่าจะเขียนเดือนละบทสองบท อาจพลาดพลั้งผิดนัดบ้าง โปรดอภัย จะโพสต์เผยแพร่ตลอดปี 2558 ครับ ที่หน้าบล็อค www.pricha123.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น