open letter no 2

Chicago 2 why Chicago

Chicago 2 ทำไม ผมต้องดัดจริต ฟังวิทยุชิคาโก ด้วย? ๑.    ผมติดนิสัยชอบฟังวิทยุตปท. จากแดนไกลเป็นนิสัยมาแต่มัธยม เพื่อฝึกภาษา ประกอบกับมีผู...

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ตอน 2/3 Another day of my life in Bangkok, two years later.

                            อีกวันหนึ่งของข้าพเจ้าในกรุงเทพฯ-สองปีต่อมา
                                                                          
 --แดง ใบเล่

[ตอน 2/3]

ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดา  ผู้เขียนต้องการจะอ่านสำนวนคดีคดีหนึ่ง--ซึ่งตัวเองเกี่ยวข้องด้วย  โดยที่คดีดังกล่าวพิพากษาเสร็จสิ้นเป็นคดีแดงมานานแล้ว กลายบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์และบุคคลต่าง ๆ ในคดี ซึ่งผู้เขียนสนใจอยากอ่านเรื่องราว  คล้าย ๆ กับได้อ่านนิยายหนึ่งเรื่อง  การเดินทางไปศาลเริ่มจากสถานีรถไฟลอยฟ้าสยามสแควร์ ไปต่อรถใต้ดินที่ปากซอยอโศก โดยที่สถานีรถใต้ดินที่ซอยอโศกชื่อ สถานีสุขุมวิท

จากชื่อสถานที่ก็นึกเดาว่า ถ้าจะไปศาลที่ถนนรัชดาฯก็คงต้องลงรถไฟใต้ดินที่สถานีรัชดาฯ  แต่ปรากฏว่าเมื่อขึ้นบันไดเลื่อนมาถึงระดับผิวถนน จึงรู้ว่าศาลยังอยู่ไกลมาก  ผู้เขียนต้องเรียกมอไซด์ให้ไปส่งที่ศาล...ระยะทางจากสถานีรัชดาฯถึงศาลไม่ใช่ใกล้ ๆ 


ที่ศาล หลังจากได้นั่งอ่านสำนวนคดีอยู่นานสองสามชั่วโมง รับประทานอาหารเที่ยงอยู่กับโต๊ะที่เขาจัดไว้ให้อ่านเอกสารคดี ได้นั่งจดบันทึกและขอถ่ายสำเนาเอกสารบางส่วนไว้อ่านต่อที่บ้านขากลับจากศาลได้ทราบว่า เขามีรถกระป๋องบริการฟรี จากศาลไปยังสถานีรถใต้ดินใกล้ที่สุด คือ สถานีลาดพร้าว -ไม่ใช่สถานีรัชดาฯ  รถกระป๋องคันนั้นเขาตั้งชื่อว่า   “ตุลพาห”  คงจะแปลว่า ยานพาหนะที่จะนำไปหาตาชั่ง แหงเลย

การติดต่อธุระที่ศาลแพ่ง ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ว่องไว และมีไมตรี  ศาลได้ปรับปรุงระบบประชาสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กับประชาชนที่มาศาล ได้อย่างดีอย่างนึกไม่ถึง  คิดว่าถ้าไปขึ้นศาลฝรั่งเศส-ซึ่งใช้ระบบศาลระบบเดียวกับไทย ก็ไม่น่าจะได้รับการต้อนรับขับสู้(หมายถึง บริการประชาชน)ดีไปกว่านี้  เพราะว่าระบบราชการของฝรั่งเศส หรือ French bureaucracy นั้น เป็นที่ขึ้นชื่อลือชา น่าขนลุกขนพอง รู้กันทั่วไป

ครูสอนกฎหมายท่านหนึ่งสอนว่า Justice delayed is justice denied. หรือความยุติธรรมที่มาช้า เท่ากับปฏิเสธที่จะให้ความยุติธรรม  แต่ครูสอนกฎหมายอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษา เมื่อได้ยินคนวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินระยะหลัง ๆ ของศาลบางคดี-ในเชิงวิชาการ-ว่าสำนวนห้วนสั้นเกินไป ไม่ได้อ้างอิงนิติเหตุนิติผลเท่าที่ควร  ท่านก็แสดงปฎิกิริยาคือมี “reaction” ต่อคำวิจารณ์ว่า  “อยากได้เร็ว ๆ ก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ” 

ผู้เขียนนึกเห็นใจที่ท่านแสดงปฏิกิริยาอย่างนั้น  เพราะได้ลองใช้เหตุผลด้วยการเทียบเคียง(analogy)โดยเทียบคำพิพากษาคดีที่ไม่ซับซ้อนเกินไปบางคดี กับงานเขียนบ้า ๆ บอ ๆ ของตัวเอง ซึ่งบางชิ้นงานต้องใช้เวลาเขียนนานมาก เช่น งานวิจารณ์บทความเรื่อง “ความเป็นไทย สัญลักษณ์แห่งความดักดาน”  โดย คุณมุกหอม วงศ์เทศ นั้น  ผู้เขียนใช้เวลานั่งเขียนคำวิจารณ์อยู่นานนับเดือน (สนใจจะอ่านคำวิจารณ์ โปรดคลิกตามลิงก์ครับ http://pricha123.blogspot.com/2012/11/blog-post_30.html)   ส่วนวิจารณ์บทกวี ของ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข  ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษเท่าที่ตัวเองจะสามารถทำได้ เพื่อให้ฝรั่งอ่าน แต่ถ้าคนไทยจะอ่านบ้างก็ไม่จำกัดสิทธิ  ก็ใช้เวลาเขียนเป็นเดือนเหมือนกัน (สนใจอ่าน โปรดคลิกตามลิงก์ http://www.pricha123.blogspot.com/2013/05/thai-poetry-critique-of-poem-by.html ) ประมาณว่า สำหรับผู้เขียนแล้ว งานพวกนี้เขียนยากและจะเขียนได้ปีละสองสามบทเท่านั้น  เพราะฉะนั้น เมื่อมองจากประสบการณ์ของตัวเอง จึงเกิดความเห็นใจผู้เขียนคำพิพากษา ด้วยประการฉะนี้

มากรุงเทพฯเที่ยวนี้ ได้พบเห็นขอทานและคนจรจัดประปราย แต่ไม่มากเหมือนเมื่อสองปีก่อน  ที่จำได้ชัดเจนมีอยู่สองราย เป็นคนจรจัดรายหนึ่ง-เพศหญิง กับขอทานคนหนึ่ง-ชายพิการ

ขอทานผู้เป็นชายพิการนั้น นุ่งโสร่งและสวมหมวกกลม ๆ จึงเดาว่าเป็นคนมุสลิม  เขานั่งขอทานอยู่ไม่ไกลจากทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟลอยฟ้า สถานีนานา  บนถนนสุขุมวิท  ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดนึกอยากพิสูจน์ ก็คงจะยังพบเขาอยู่แถวนั้น  บริเวณนั้นจะมีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางหนาตา  ผู้เขียนเชื่อว่าคนใจบุญมุสลิม และพุทธและอื่น ๆ ที่เดินผ่านไปมา  คงทำทานกับเขาพอสมควร

ในซอยย่อยจากซอยนานาเหนือ เป็นที่ชุมนุมร้านอาหารสไตล์ตะวันออกกลาง เช่น ร้านอัล-ฮุสเซน ซึ่งผู้เขียนเคยแวะรับประทานอาหารเมื่อมากรุงเทพฯครั้งก่อน  อีกร้านหนึ่งชื่อร้านเนฟแฟตีติ ใช้ชื่อราชินีอีจิปต์โบราณสมัยฟาโรห์ ก่อนที่อีจิปต์จะหันมานับถือศาสนาอิสลาม มาตั้งชื่อร้าน และยังมีอีกหลายร้าน  ร้านอาหารสไตล์ตะวันออกกลางเหล่านั้น ในครัวอาจมีคนพุทธทำหน้าที่แม่ครัวพ่อครัวอยู่บ้างก็ได้—ไม่แน่ดอก  แต่ว่าเข้าใจว่า ส่วนมากจะเป็นคนจากปากีสถานหรือตะวันออกกลางหรืออาจจะอินเดีย  ยกเว้นซาอุ-ซึ่งเขาไม่ให้คนของเขามาเที่ยวเมืองไทย

อาหารมุสลิมแถวนั้น ก็ไม่ได้เป็นตะวันออกกลางร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น การใช้ผงกะหรี่ประกอบอาหาร  ครั้งหนึ่งแม่ครัวถามผู้เขียนว่า จะให้ใช้ผงกะหรี่ทำแบบตะวันออกกลางหรือแบบอินเดีย  ซึ่งผู้เขียนก็ตอบว่า แบบอินเดีย  เพราะว่าถ้าเป็นแบบตะวันออกกลางเขาจะไม่คลุกผงกะหรี่ให้ทั่วข้าว  จะมีข้าวขาวให้เห็นเป็นหย่อม ๆ  ผู้เขียนเคยไปกินข้าวหมกเนื้ออูฐที่ ประเทศยูไนเต็ด อาหรับ เอมมิเรต แต่ไม่ใช่ที่ดูไบ เป็นอีกแคว้นหนึ่งซึ่งต้องนั่งรถข้ามทะเลทรายไป  โห-บ้าเปล่า ประมาณห้าสิบองศาเซลเซียสเห็นจะได้  หยั่งกะอยู่ในนรกหมกไหม้  เขาก็ไม่ได้คลุกผงกะหรี่ให้ข้าวเหลืองทั่ว จะเหลืองเป็นหย่อม ๆ  แต่กระนั้น ข้าวหมกเนื้ออูฐของเขาก็อร่อยมาก

มาเที่ยวนี้ มื้อแรกไปกินที่ร้านอัล-ฮุสเซน เลือกกินอาหารออกอินเดีย คือ สั่งโรตีแผ่นบาง ๆ ที่อินเดียเขาเรียก ชาปัตติ กินกับแกงถั่วที่เรียกว่า ดาล  ปรากฏว่าก็เป็นดาลที่ไม่ใช่รสชาติอินเดีย คือว่าเครื่องเทศไม่เข้ม  แต่ก็พอกินได้  เพื่อนชาวอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งสอนภาษาอยู่ที่กรุงเทพฯเล่าให้ฟังว่า อาหารแขก(อินเดีย)ที่กรุงเทพฯรสชาติเพี้ยน ไม่ออกรสแท้  ถ้าให้แท้เหมือนที่อินเดียเขาบอกว่า ให้ไปกินที่ปีนัง—เท็จจริงอย่างไรไม่รับประกัน ฟังเขามาแบ่งปันเล่าต่อ

สำหรับผู้เขียน ถ้าจะให้ถ่อสังขารจากที่บ้านไปปีนัง  ขอมาเที่ยวกรุงเทพฯจะดีกว่า เพราะว่าที่กรุงเทพฯมี อาหารมุสลิมที่อร่อยที่สุดในโลก  เช่นที่ ร้านมะตะบะ บางลำพู เป็นต้น  ที่ตาเรียห์สแควร์ในกรุงไคโรก็ดี ที่ผู้เขียนเคยไปกินมา หรือที่ไหน ๆ เช่น อัลละหะบัดในอินเดียก็ดี ที่พาราณสี ที่กัลกัตตา ที่จันดีปุระ-ในรัฐโอริสสา หรือบนคาบสมุทร์อาระเบีย  ก็สู้ร้านมะตะบะที่บางลำพูไม่ได้ดอก  คือเป็นอาหารประเภทที่จะขออนุญาตท่านผู้อ่าน ตั้งชื่อเรียกตามอำเภอใจว่า อาหารไทยมุสลิม  เพราะถ้าจะเรียกว่าอาหาร มุสลิม เฉย ๆ ก็ไม่ถูก ครั้นจะเรียกว่าเป็นอาหาร ไทย เฉย ๆ ก็ไม่ใช่  เรื่องนี้เป็นเรื่องการครัว ไม่ใช่เรื่องเผ่าพงศ์(ethnicity)หรือชาติพันธุ์(race)  ผู้เขียนเห็นว่าเราน่าจะต้องเรียกการครัวหรือ “กุยซีน-cuisine” ชนิดพิเศษประเภทนี้ว่า “อาหารไทยมุสลิม”  จึงจะถูกต้องครบเครื่อง  และบรรพบุรุษของต้นตำหรับอาหารประเภทนี้นั้นอยู่เมืองไทยมานานมาก นานกว่าบรรพบุรุษบางคนของผู้เขียนเสียอีก

อาหารสไตล์นี้โคดถูกปากเลย  นี่พูดตามปากของผู้เขียน  ทั้งนี้ โปรดฟังเหตุผลให้ดี คือคิดว่าพ่อครัวแม่ครัวที่เขาปรุง อาหารไทยมุสลิม ได้นั้น เป็นเพราะเขารู้เรื่องเครื่องเทศทั้งสองทาง กล่าวคือ ทางอินเดียกับตะวันออกกลางรวมถึงพวกฝรั่งด้วย ซึ่งเป็นกลุ่ม เครื่องเทศแห้ง  ขอเรียกง่าย ๆ แล้วกันว่า dry spices เช่น ยี่หร่า กระวาน กานพลู เป็นต้น  คำว่าเครื่องเทศของอินเดียตะวันออกกลางและฝรั่ง จะหมายถึงเครื่องเทศที่ถูกทำให้แห้ง เพื่อเน้นกลิ่นของมันและทำให้เก็บรักษาได้นาน  และขณะเดียวกันครัวไทยมุสลิมก็จะรู้จักทางของ เครื่องเทศสด  หรือขอเรียกง่าย ๆ ว่า green spices ด้วย เช่น พริกชี้ฟ้า โหระพา ใบมะกรูด  เป็นต้น  ซึ่งอินเดียตะวันออกกลางและฝรั่งจะไม่คุ้นเคย และมักจะใช้ไม่เป็น
แล้วเมื่อค็อนเส็ปเรื่องเครื่องเทศสองสกุลนี้ผสมกันได้ เช่น ในครัวร้านมะตะบะ บางลำพู เป็นต้น จะไม่มีอาหารมนุษย์ไหนบนพื้นพิภพนี้สู้ได้ดอก  ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเอกของครัวโลกแล้วล่ะ 

แต่เอาเถอะ ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยไปกิน street food ยามย่ำค่ำใกล้ ๆ กับโรงแรมโนโวเทล กรุงปักกิ่ง หมายถึงโนโวเทลแห่งแรกที่นั่น  ได้เดินดูลักษณะอาหารหลายเจ้า ดูคล้ายอาหารมุสลิมที่เรารู้จัก โดยเฉพาะพวกปิ้ง ๆ ย่าง ๆ  ต่อมามีคนเขาพาไปเลี้ยงอาหารภัตตาคารที่ปักกิ่ง ก็เกิดความรู้สึกว่า “อาหารชาววัง” ที่ปักกิ่ง ได้รับอิทธิพลจากอาหารมุสลิม คือว่าเดาว่ามากับเส้นทางสายไหม จะผิดถูกอย่างไรไม่รับประกัน

แต่เรื่อง อาหารไทยมุสลิม นี้ไม่ใช่โม้เพ้อเจ้อ  ท่านผู้อ่าน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนมุสลิม ก็สามารถพิสูจน์ได้ง่าย ๆ ด้วยตัวท่านเอง พิสูจน์เอง รู้เอง ไม่ต้องมีใครมาจูงจมูก

วิธีพิสูจน์ง่าย ๆ ก็คือ ให้แกงเขียวหวานอะไรก็ได้ หม้อเล็ก ๆ ขึ้นมาหม้อหนึ่ง ใช้เครื่องแกงและเครื่องปรุงตามปกติของท่าน ไม่ต้องทำอะไรพิเศษ  หลังจากนั้น ให้ใช้ เครื่องเทศแห้ง ที่คลาสสิค คือ ยี่หร่า กระวาน กานพลู แค่นี้ก็พอสำหรับขั้นทดลอง ตำหรือบดละเอียด ใส่ลงไปในหม้อแกงเขียวหวานหม้อนั้น ตั้งไฟให้ร้อนไม่ต้องเดือด แล้วยกลง 

ปรากฏการณ์มหัศจรรย์จะเกิดขึ้นกับแกงเขียวหวานธรรมดาหม้อนั้นของท่าน ที่แกงขึ้นจากเครื่องเทศสด(เครื่องแกงเขียวหวาน)  มันจะเข้าแขกและหอม กลายเป็น อาหารไทยมุสลิม ชนิดที่ผู้เขียนกำลังจินตนาการและย้อนระลึก มาแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน  โดยที่ท่านไม่ต้องเปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาอิสลาม

ในทางกลับกัน เมื่อท่านทำข้าวหมกไก่ขึ้นมาหม้อหนึ่ง หรือกระทะเล็ก ๆ กระทะหนึ่ง โดยใช้ผงกะหรี่ที่ท่านใช้อยู่ตามปกติ เช่น ผงกะหรี่มัทราส เป็นต้น  (แต่ที่อินเดียเขาไม่รู้จักผงกะหรี่ หรือ curry powder เพราะเขาเรียกส่วนผสมของเครื่องเทศว่าผง มัสซาลา  เรียกเต็มยศว่า กาเร็ม มัสซาลา)  หลังจากนั้นท่านก็ลองหั่นหรือบด เครื่องเทศสด เลือกมาแบบง่าย ๆ คือ พริกชี้ฟ้า โหระพา ใบมะกรูด แค่นี้พอสำหรับขั้นทดลอง  หั่นเสร็จก็โรยลงไป จะคลุกสักเล็กน้อยหรือแค่โรยหน้าก็ได้  ปาฎิหาริ์เล็ก ๆ จะเกิดแก่ข้าวหมกไก่หม้อนั้น คือจะเกิดกลิ่นและรส ที่จะสดชื่นขึ้น ไม่แห้งแล้ง ไม่เลี่ยน และใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น  อาหารมุสลิมหม้อหรือกระทะดังกล่าว จะกลายเป็น อาหารไทยมุสลิม  ตามลักษณะที่เรากำลังพูดถึง และเรานึกอยากจดทะเบียนสิทธิ์ไว้กับองค์การการค้าโลก  คิดไกลขนาดนั้น—นึกดู

ท่านผู้อ่านลองไปทำดู แล้วจะรู้เอง

แต่ถ้าเหตุผลที่ยกมานั้น ยังฟังไม่ขึ้น ท่านผู้อ่านต้องการจะพิสูจน์เพิ่มเติม  ก็จะขออนุญาตตั้งคำถามเล็ก ๆ กับท่านผู้เริ่มสนใจ แต่ยังคลางแคลงใจ ขอถามว่า: ใคร ๆ ก็รู้นะว่า เม็ดยี่หร่า เป็นเครื่องเทศแห้งที่รู้จักกันตั้งแต่ นครศรีธรรมราช เรื่อยไปจนถึงมัทราส(เชนไน) เรื่อยไปถึงบอมเบย์(มุมไบ) เรื่อยลงไปถึงอานันตะนาริโว เมืองหลวงของประเทศมาดากัสกา จนเรื่อยไปถึงการาจี และเรื่อยต่อไปในตะวันออกกลาง เรื่อยไปถึงไคโร-อีจิปต์ ลิเบีย ตูนิเซีย อัลจีเรีย  กระทั่งว่าเรื่อยไปถึงเมืองราบัตและคาซาบลังกา ริมมหาสมุทร์แอตแลนติคในประเทศมอรอคโค 

แต่จะขอถามว่า ท่านจะหาอาหารที่ประกอบจากเครื่องเทศชนิดสดชนิดนี้ คือการใช้ ใบยี่หร่า  โดยนำใบยี่หร่าสด มาแกงกับปลาดุกหรือปลาทราย ได้ที่ไหน?  แกงปลาทรายหรือปลาดุกกับใบยี่หร่า มีให้เรากินเฉพาะในเมืองไทย-เท่านั้น จริงมั้ย?  ภูมิภาคอื่นที่เอ่ยชื่อมาตั้งครึ่งค่อนโลก เขาทำไม่เป็นหรอก-ใช่เปล่า? เขารู้จักแต่ยี่หร่าในฐานะเครื่องเทศแห้งเท่านั้น

ที่ใต้ถุนศาลแพ่ง ถนนรัชดา มีร้านอาหารมุสลิมอยู่เจ้าหนึ่ง ที่นั่นผู้เขียนได้กินแกงเขียวหวานปลาดุกของเขา ซึ่งทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า เขาก็น่าจะแกงปลาดุกหรือปลาทรายกับใบยี่หร่า ได้อร่อย

วันต่อมา เมื่อเสร็จธุระสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนก็กลับไปที่ซอยนานาอีกครั้ง เพื่อฉลองด้วยการรับประทานอาหารภัตตาคารที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า restaurant ที่มาจากคำกิริยาว่า restorer แปลว่า ซ่อมแซม ฟื้นฟู  เพราะการได้กินอาหารในร้านที่เขาดูแลเราอย่างดีทั้งเรื่องอาหารและการบริการ เท่ากับว่าเราได้ฟื้นฟูตนเองจากความเหนื่อยยาก 

ซึ่งอาหารเพื่อการฉลองโอกาสดีของเราท่านทั้งหลาย แตกต่างกันไปแล้วแต่จะนิยม  บางท่านนิยมฉลองด้วยการไปรับประทานอาหารภัตตาคารจีน บางท่านไปกินอาหารฝรั่งเศส  สำหรับผู้เขียนเมื่อมากรุงเทพฯเที่ยวนี้ นึกอยากฉลองโอกาสพิเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตนเองด้วยการกินอาหารแขก – แต่แกงถั่วไม่เอาแล้ว มันพื้น ๆ และสามัญสุด ๆ ก็เห็นเวลาคนเขาทำบุญที่อินเดีย เขาก็แกงถั่วหม้อเบ้อเร่อ แล้วตักแจก

ไม่รู้ว่านานกี่ปีแล้วที่ไม่ได้กิน คือ กูระหม่าแพะ   Wow!

ผู้เขียนไปที่ร้านอาหาร ซึ่งใช้ชื่อฝรั่งว่าร้าน Gulf Beach  มีคำบรรยายใต้ชื่อว่า ขายอาหารอาระบิค    โอมานี และอินเดีย  สรุปว่ารวมแขกอยู่ที่นั่นหลายแขก  ยกเว้นแขกชวามลายู พวกซาลามัต ดาตัง ซึ่งเป็นญาติผู้เขียนเท่านั้นที่ไม่ถูกรวมไว้ด้วย—ซึ่งก็แปลว่า ถ้าจะกิน นาซี โกเร็ง เป็นอันว่าชวด  แต่ว่าจำพวก บิระยานี คือข้าวผัดแขกแบบชมพูทวีป ทั้งที่พูดอูระดู(มุสลิม) และพูดฮินดี(ฮินดู)ล่ะก้อ...จะมีให้กินที่ร้านนั้น

ที่นั่น เมื่อมากรุงเทพฯครั้งก่อน ๆ ก็เคยไปมาครั้งหนึ่งแล้ว  แต่ครั้งนี้จะกิน “มัตตัน โคระมา”(ภาษาไทยว่า กูระหม่าแพะ) ฉลองซะหน่อย

เวลานั้น ช่วงเช้าประมาณ 10.00 น. ผู้เขียนเป็นลูกค้าคนเดียวในร้าน  พนักงานเสิร์ฟเชิญให้นั่งกับโต๊ะใหญ่--แต่ว่ามีผู้เขียนนั่งกินคนเดียว โดยมีท่านผู้อ่านร่วมรับประทานด้วย หมายความถึงในขณะที่ท่านกำลังอ่านอยู่ ณ บัดนี้.....กล่าวคือท่านผู้อ่านเป็น virtual guests  อีกนัยหนึ่ง ท่านคือแขกเสมือนจริง ณ บัดโน้น ไม่รู้ว่าเขียนหนังสือสร้างสถานการณ์สับสนไปเปล่า

คนเสิร์ฟนำเมนูมาให้ดู ซึ่งผู้เขียนแค่พลิกผ่านไปเร็ว ๆ พอเป็นพิธี แล้วแจ้งว่า ขอกูระหม่าแพะกับโรตี  เขาถามว่า จะเอาโรตีกี่แผ่น ผู้เขียนขอความชัดเจนว่า แผ่นโตแค่ไหน  คนเสิร์ฟทำมือเป็นวงกลมใหญ่แสดงขนาดโรตีให้ดู  เห็นแล้วผู้เขียนตอบว่า แผ่นเดียวพอ 
ถ้าท่านผู้อ่านได้ไปร่วมรับประทานด้วยจริง ๆ เราก็คงสั่งโรตีคนละแผ่นเท่านั้น  ก็แล้วแต่ว่าท่านจะมากันกี่คน.....

จากการเพียรทำธุระต่าง ๆ แต่ละเรื่องให้แล้วเสร็จ  ซึ่งบางเรื่องมีเป็นสิบขั้นตอน ต้องติดต่อหน่วยงานและบุคคลมากหน้าหลายตา  กินเวลานับสิบ ๆ วันกว่าจะบรรลุผล ชวนให้น่าเหน็ดเหนื่อยและเหนื่อยหน่ายมิใช่น้อย—ทั้ง ๆ ที่ทุกคนและทุกหน่วยงาน ให้ความอนุเคราะห์ด้วยดี

ที่โต๊ะอาหารร้านกัลฟ์บีช ผู้เขียนกวาดสายตาพิจารณาโต๊ะอาหารกลมใหญ่ เป็นโต๊ะกระจกใส แผ่นหนาสะอาดไม่มีที่ติ  จัดวางภาชนะอย่างอาหารฝรั่ง ใช้จานชามกระเบื้องสีขาวไร้ราคิน พร้อมกับแก้วน้ำใสปิ้ง  แต่ก็ไม่ได้เคาะแก้วฟังเสียง ว่าเสียงจะดังกังวานอย่างไร

พอได้จิบน้ำดื่มแล้วชั่วครู่  คนเสิร์ฟก็นำเครื่องเคียงซึ่งเป็นของดอง  ถ้าเป็นที่อินเดียเขาเรียกง่าย ๆ ว่า สลัด--ซึ่งมีต้นตอมาจากภาษาฝรั่งเศส  แต่เครื่องเคียงของอาหารแขกทุก ๆ ยี่ห้อแขกในเมืองไทยเขาเรียก “อาจาด”   วันนั้นอาจาดถูกจัดบรรจงเรียงมาบนจานเล็ก ๆ ที่เป็นจานสลัดแบบฝรั่ง วางเยื้องกับจานรับประทานอาหาร  อาจาดประกอบด้วยผักดองที่สะเด็ดน้ำมาแล้ว มีแตงดอง แคร็อทดอง หอมใหญ่สดฝาน ขิงดอง ต้นหอมสด และที่สำคัญคือ มีพริกสดนอนแนบมาด้วย

เราต้องเตรียมอายนะทั้งห้า-ถ้าเชื่อแบบฝรั่ง(ประกอบด้วย ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย) หรืออายตนะทั้งหก-ถ้าเชื่อแบบไทย(คือตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย + ใจ)ให้พร้อมเสียก่อนเริ่มรับประทาน  การกินอาหารในโอกาสแห่งการฉลองวันนี้(นั้น)ของผู้เขียน จะขอซึมซับรสชาติอาหารด้วยปรัชญา ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม  อีกนัยหนึ่งกินแบบสโลว์ฟูด ด้วยคติชีวิตที่ยึดถือ สโลว์ไลฟ์ – slow life ซึ่งผู้เขียนได้สมาทานมาในระยะหลัง ๆ  กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จะเลือกวิธีทำที่ช้าที่สุดเสมอ

เริ่มต้นจากการมองเห็น คือ กินด้วยตา  ชำเลืองมองผักดองบนจานเล็กที่เขานำมาวางไว้ให้ ดูที่ริมจานด้านซ้ายมือ  เห็นขิงดองสีชมพูวางอยู่หนึ่งชิ้น ส่วนที่เรียงถัดมาคือแตงดองผ่าซีก วางเป็นระเบียบหกชิ้น ตบท้ายแถวด้วยแคร็อทดองสีแสดชิ้นหนึ่ง  บนแถวผักดองทั้งหลายมีหอมหัวใหญ่ฝานวางไว้สองแว่น ที่พาดอยู่บนชิ้นหอมหัวใหญ่คือต้นหอมสดสองต้น ปอกเปลือกนอกทิ้งเหลือแต่เนื้อในขาวสดแล้วเรียวขึ้นเป็นสีเขียวสด  เขาทำให้จานอาจาดมีสีสันในรสชาติด้วยพริกสดสีเขียวสองเม็ด วางขวางโลกมาบนจาน แนบอยู่กับแตงดอง

ผู้เขียนใช้มือหยิบแตงดองผ่าซีกขึ้นมาหนึ่งชิ้น  การกินอาหารแขก-ถ้าไม่ใช้มือกิน จะไม่อร่อย  แต่ว่ายัง...ยังครับ ยังไม่กัดแตงดองกินทันที  ฝรั่งซึ่งอาจจะรู้จักแขกดีกว่าเราด้วยซ้ำ เพราะเขาปกครองแขกอินเดียอยู่สี่ร้อยปี แขกอาหรับทั้งที่ตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ เขาก็ควบคุมดูแลนานนับร้อยปี  ส่วนแขกชวามลายูก็เหมือนกัน  เรียกว่าพวกแขกทั้งโลกเขากำกับไว้หมด  ฝรั่งเรียกการกินอาหารด้วยมือว่า กินด้วยนิ้ว – eating with fingers  เขาไม่ได้บอกว่า by hand  และถึงแม้เราจะถนัดซ้าย--แต่ถ้าเราจะคบกับแขก เราต้องใช้มือขวากินข้าวเสมอ ห้ามใช้มือซ้ายเด็ดขาด  ไม่ต้องถึงกับเป็นแขกมากมาย แค่แถวบ้านผู้เขียน ก็ถือเรื่องนี้กันไม่แพ้แขก แม้จะส่งของให้กัน ก็ต้องใช้มือขวาเสมอ

ผู้เขียนกินมือตามภาษาไทยเรียกก็จริงอยู่ แต่ว่าจริง ๆ แล้วผู้เขียนเริ่มรับประทานอาจาดโดยใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้มือขวา คีบแตงดองขึ้นมารออยู่ใกล้ปากหนึ่งชิ้น โดยที่วางระยะห่างให้จมูกได้กลิ่นเปรี้ยวอ่อน ๆ โชยมาจากแตงดองชิ้นนั้น  บังเอิญฆานประสาทยังดีอยู่ จึงได้กลิ่นเปรี้ยวบาง ๆ ของแตงดองได้ไม่ยาก  ผู้เขียนรู้สึกว่ารสเปรี้ยวเป็นรสที่ส่งกลิ่นได้ รสเค็มไม่มีกลิ่น

พอได้กัดแตงดองเข้าปากเท่านั้นแหละ ได้ยินเสียงเลย  เสียงของความกรอบ  ระหว่างที่เคี้ยวยังไม่แหลกจะได้ยินเสียงดังกรอบแกรบแว่วอยู่ในอุ้งปาก  เป็นอันว่าเรากำลังกินด้วยประสาทหู  พอกินแตงดองด้วยตา จมูก ลิ้นและหู ไปได้ชิ้นหนึ่ง ก็หันมากินของสด คือหอมหัวใหญ่ บิออกจากแว่นมาวงหนึ่ง กายสัมผัสก็คือนิ้วมือที่จับแว่นหอมใหญ่บิออก ส่วนจิตใจก็เริ่มทำงานประมวลผลการรับประทานอาจาด  และเริ่มนึกถึงอนาคตอันใกล้ว่า ถ้าได้มี กูระหม่าแพะ มาประกอบด้วย จะอร่อยแค่ไหน

ครู่หนึ่งต่อมา คนเสิร์ฟก็นำกูระหม่าแพะถ้วยหนึ่งมาให้  เขาตักแบ่งจากถ้วยใส่จานอาหารที่วางอยู่ตรงหน้าผู้เขียน โดยตักให้เราหนึ่งช้อน คือ เขาเสิร์ฟแบบฝรั่งกลาย ๆ

เรารู้ว่าอาหารจานนี้เป็นอาหารพิเศษของเรา  นานปีเราจึงจะได้กินสักครั้งหนึ่ง  เราจะไม่กระโจนลงไปจ้วงหรอก  นี่ไม่ใช่แกงเทโพหัวปลากุเราเค็มที่เราได้กินบ่อย ๆ  เราจะนั่งทำสมาธิจิ๋ว – mini meditation – ยุบหนอพองหนอสามคำรบ  เพื่อให้ร่างกายเรานิ่ง ให้อายตนะทั้งหกอยู่ในสภาพพร้อมที่จะรับรู้และเพลิดเพลินกับรสชาติอาหาร  เมื่อพร้อมแล้วจึงใช้อายตนะจักษุคือตา สแกนกูระหม่าแพะในจาน พลางหายใจลึกอีกสามครั้ง

กูระหม่านี่ ผู้ใหญ่ท่านบอกว่า เขาแกงเอามัน-ไม่ได้แกงเอาเค็ม  สิ่งที่เราสแกนเห็นหลังจากพิจารณาชิ้นเนื้อติดกระดูกบนจานแล้ว  ก็คือได้เห็นเนื้อหาหรือ texture ของอาหาร  แลเห็นความมันที่ไม่ถึงกับมันเยิ้ม แต่ก็เห็นว่ามัน  จึงพูดกับตัวเองว่า กูอ้วนแน่ ๆ และนึกต่อไปว่าจะต้องใช้เวลากี่วันหนอ จึงจะลด รีด ไขมันที่จะกินเข้าไป ณ บัดนี้ ออกได้หมด  ระหว่างนั้น ละสายตาจากจานอาหาร มองไปหน้าร้าน เห็นแขกโคดอ้วนคนหนึ่งในชุดกรอมร่างสีขาว เดินผ่านหน้าร้านไป  ส่วนที่เด่นสุดคือบริเวณหน้าท้อง ซึ่งโคดใหญ่โตมหึมา อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล เป็นอึ่งอ่างยักษ์ ที่อินเดียเขาเรียก เดลลี เบลลี่ – Delhi belly หรือพุงของชาวเดลลี

แค่เห็นหน้าท้องของแกแล้ว ก็รู้สึกว่าพุงเรายื่นออกมาโดยอัตโนมัติ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้กิน

เอาเถอะน่า นึกปลอบใจตัวเอง นานทีปีหน หันกลับมาสแกนกูระหม่าแพะใหม่อีกครั้ง  พลางเอื้อมมือไปฉีกโรตีที่เขาวางมาบนพาน จิ้มลงไปในจานกูระหม่าแล้วกวาดน้ำแกงข้น ๆ ขึ้นมาใส่ปาก  ความมันกับความเปื่อยยุ่ยของเนื้อ ผสมกับเนื้อแป้งโรตีที่ย่างมาสด ๆ ร้อน ๆ ทำให้เรารู้ว่าสวรรค์ที่ว่าไว้ในพระคัมภีร์นั้น มีจริง  และ...the rest is history – ส่วนที่เหลือก็เป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว สำนวนตลาดยอดนิยมสำนวนหนึ่งในวงการการเล่าเรื่องภาษาอังกฤษ ที่พูดกันออกมาเพื่อจะได้ไม่ต้องพูดหรือเขียน อะไรต่อไปอีก

ระหว่างที่กำลังรับประทานอาหาร  ผู้เขียนเห็นสตรีท่าทางภูมิฐานนั่งอยู่ที่โต๊ะเก็บเงิน  มีสตรีอายุอ่อนกว่าอีกสองคนรุมล้อมเธอ  คนทั้งสามกำลังมุงดูโทรทัศน์แขกผ่านดาวเทียม  และพากันยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กับเรื่องราวในโทรทัศน์  สตรีสาวคนหนึ่งในสองคนนั้นอุ้มเด็กอายุประมาณสองขวบ พอ ๆ กับหลานผู้เขียนที่ปักษ์ใต้  ซึ่งในเวลานั้นผู้เขียนก็ยังไม่หายสงสัยว่า แขกร้านนี้เป็นแขกอะไรแน่  แม้ว่าชื่อร้านจะออกอาหรับ ผู้เขียนก็ยังไม่กล้าปักใจว่าจะใช่  เพราะผิวพรรณคล้ำกว่าคนอาหรับโดยทั่วไป

สักครู่หนึ่งต่อมา เด็กเริ่มดิ้นอยู่ในอ้อมแขนคนอุ้ม  แล้วก็ร้องว่า “ปานี ปานี” ซึ่งในภาษาฮินดีและภาษาอูระดูด้วย แปลว่า “น้ำ”  เด็กร้องจะกินน้ำ คนที่กำลังอุ้มเด็กร้องบอกคนด้านนอกที่ยืนอยู่ใกล้ตู้เย็นขนาดใหญ่ว่า “ปานี ปานี”  คน ๆ นั้นเปิดตู้เย็นหยิบน้ำดื่มออกมาขวดหนึ่ง รีบนำมามอบให้พลางบอกว่า “ปานี ปานี” 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกเดาอย่างพอมีเหตุผลว่าพวกนี้ไม่ใช่อาหรับ แต่น่าจะมาจากปากีสถานที่พูดอูระดู  ส่วนชื่อร้านที่ออกอาหรับกับคำบรรยายว่าขายอาหารอาระบิค  น่าจะเป็นการโฆษณาหาลูกค้ามากกว่า  และที่บอกว่าขายอาหารอินเดียก็น่าจะเป็นการเรียกลูกค้าเช่นเดียวกัน  บุคลากรทั้งหลายน่าจะมาจากปากีสถาน อันนี้เป็นการเดาสุ่มเล่น ๆ ของผู้เขียน โดยอาศัยข้อมูลจากเด็กสองขวบมาช่วยไขปริศนา  ความเป็นจริงอาจเป็นไปได้มากมายหลายทาง  ท้ายที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลรายละเอียดสำหรับท่านผู้อ่าน ก็จะเรียนว่า อาหารมื้อนั้นเช็คบิลล์จำนวนสองร้อยเจ็ดสิบบาท ผู้เขียนทิปคนเสิร์ฟไปสามสิบบาท รวมเป็นสามร้อยบาทถ้วน กูระหม่าแพะของเขาอร่อยดีครับ  แต่ก็เป็นคนรสชาติกันกับกูระหม่าของร้านมะตะบะที่บางลำพู ซึ่งมีกลิ่นหอมสดชื่น ใกล้ชิดธรรมชาติ ในสไตล์ ไทยมุสลิม  ที่ไม่ซ้ำแบบใครในโลก       

ขอย้อนกลับไปตอนต้น ตอนหัวรุ่ง เมื่อออกจากบ้านพักมาแจ้ง(สว่าง)ที่ สน.ตลิ่งชัน แล้วนั่งรถเมล์เบอร์ 89 สวนผัก-เทคนิค แล่นมาบนถนนราชพฤกษ์ช่วงฟ้าสางแล้ว  ผู้เขียนนั่งตอนหน้าสุด ครั้นเหลือบตาขึ้นดูเหนือศีรษะ เยื้องกับที่นั่งคนขับ เหนือกระจกหน้ารถมีป้ายเล็ก ๆ เขียนว่า “คำสั่งเมีย”  ข้อความเป็นดังนี้

ก่อนออกจากบ้าน ห้ามพกเงินเกินยี่สิบบาท
ไม่ห้ามกินเหล้ากับเพื่อน แต่ห้ามออกตังค์
ตอนเย็นห้ามกลับบ้านเกินทุ่มครึ่ง ฝ่าฝืนนอนหน้าบ้าน
ตอนเช้าไม่ควรลืม ซักผ้าถูบ้านล้างชาม ก่อนออกไปทำงาน

อ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้น ว่าคนแถบชานเมืองเขามีอารมณ์ขัน  นั่งนึกปลื้มกับภาษาที่คล้ายภาษากวีของคนชานเมืองฝั่งธนฯ  ทึกทักเอาเองต่อไปว่า เขามีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ใกล้กับคนต่างจังหวัดเช่นเรา  แต่ต่อมา-ปรากฏว่าวันหลังเมื่อนั่งรถร้อนสาย 124 ศาลายา-สนามหลวง ก็ได้พบข้อความเดียวกัน ปิดไว้ในตำแหน่งเดียวกัน ก็เลยเดาว่า คงจะปิด “คำสั่งเมีย” บนรถร้อน(ไม่-แอร์)หลายสาย

บนรถแอร์ ที่วิ่งบนถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี เช่น เบอร์ 515 เบอร์ 556 เบอร์ 170 เป็นต้น  ไม่ปรากฏว่ามี “คำสั่งเมีย” แปะไว้เหนือที่นั่งคนขับ  สงสัยว่าคนขับรถแอร์เขาไม่มีเมียกันหรือว่าอย่างไร  หรือว่าเกรงใจผู้โดยสาร เพราะว่าผู้โดยสารรถแอร์ กับ คนขึ้นรถร้อน เป็นคน ๆ ละรสนิยมกัน  คนขึ้นรถร้อนมีเมีย แต่ผู้โดยสารรถเมล์แอร์ อาจจะเป็นพวกคนเมืองประเภท aspiring social climbers เขาจะมีภรรยา           เอ้ะ...หรือว่ายังงัย--สวัสดีครับ และขอบคุณที่อ่าน

เรื่องสุดท้าย ของการเดินทางมากรุงเทพฯเที่ยวนี้เป็นเรื่องเศร้า  ท่านผู้อ่านที่เป็นคนใจอ่อน ตลอดจนท่านที่มีหัวใจบาง ๆ โปรดยุติการอ่านแต่เพียงเท่านี้ และเลิกติดตาม  เพราะตอนที่สามซึ่งเป็นตอนสุดท้าย  เหมาะจะโพสต์ไว้ที่ศาลาคนโศกมากกว่าครับ

จบตอนที่ 2/3  Another day of my life in Bangkok, two years later. อีกวันหนึ่งของข้าพเจ้าในกรุงเทพฯ-สองปีต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น